ในฐานะคนที่ติดตามเรื่องราวในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก วิธีการทำตลาดรถยนต์
อีกรูปแบบหนึ่งที่ผมมักจะพบเจออยู่เรื่อยๆ เป็นระยะๆ จากหลายๆบริษัท ทั้งฝั่งยุโรป และ
ฝั่งอเมริกัน และฝั่งญี่ปุ่น นั่นคือ การนำรถยนต์รุ่นที่ไม่ประสบความสำเร็จมากนักในอดีต
ย้อนกลับมาทำตลาดใหม่ ในปัจจุบัน รวมทั้งการเอาชื่อรุ่นเก่าๆ กลับมาหากินใหม่อีกครั้ง

บ้างก็ประสบความสำเร็จ บ้างก็ยังพอเอาตัวรอดได้ และมีไม่น้อยที่ต้องม้วนเสื่อกลับไป

ในระดับสากล เท่าที่พอจะนึกออกเป็นตัวอย่างได้ ก็มี Ford Taurus ซึ่งเคยขายดิบขายดี
ในช่วงแรกที่เปิดตัวในปี 1986 ก่อนที่กระแสจะเริ่มซาในอีก 10 ปีถัดมา เพราะดันไป
เปลี่ยนโฉมใหม่ ให้โค้งมน เสียจนกลุ่มลูกค้าชาวอเมริกันพากันเมิน ในที่สุด พอ Ford
เอาชื่อนี้กลับมาใช้อีกครั้งกับ Sedan รุ่นใหญ่ของพวกเขา มันก็พอจะมียอดขายได้เรื่อยๆ

คู่รักคู่แค้นของ Ford อย่าง GM ก็นิยมใช้วิธีการนี้อยู่บ่อยๆ ตัวอย่างได้แก่ Chevrolet ซึ่ง
เคยทำตลาด Chevrolet Impala และ Malibu จนโด่งดังในยุคปลายทศวรรษ 1950 ก่อนจะ
ค่อยๆเลือนหายไปกับกาลเวลา ช่วงทศวรรษ 1990 สุดท้าย ราวๆ ปี 1997 Chevy ขุดเอาชื่อ
Malibu กลับมาใช้อีกครั้ง กับรถยนต์นั่งขนาดกลางรุ่นใหม่ของตน และพอจะมียอดขาย
ไปได้เรื่อยๆ เพียงแต่ว่า รุ่นล่าสุด ดูจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก ขณะที่ Impala
ก็ดูจะยังไปไปได้เรื่อยๆ ในตลาดรถยนต์นั่งขนาดใหญ่สุด ของกลุ่ม Mass ไปงัดข้อกับ
Toyota Avalon และ Nissan Maxima

ข้ามมาฝั่งยุโรป Volkswagen เป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้ พวกเขาเคยขาย รถยนต์ Coupe
2 ประตู อย่าง Scirocco ในช่วงปลายทศวรรษ 1970 ความนิยมค่อยๆเสื่อมลง จนต้อง
เปลี่ยนชื่อมาเป็น Corrado ในปี 1990 ก่อนจะต้องตายจากไป จนกระทั่ง VW ได้ฤกษ์
ขุดเอา Scirocco กลับมาปัดฝุ่นสร้างตำนานอีกครั้ง จนขายดิบขายดี ไปทั่วโลก

แม้แต่ BMW เอง ก็ยังเคย ต้องปลดชื่อ 6-Series ออกจากสายการผลิตในช่วงปี 1988
เพื่อแทนที่ด้วย 8-Series ในปีเดียวกัน ก่อนจะพบว่า มันขายไม่ดีเลย เพราะตัวรถเอง
สุดท้าย ชื่อ 6-Series ก็กลับมาโลกแล่นอีกครั้งในช่วงปี 2003 – 2004 ตราบจนถึงปัจจุบัน

ในประเทศไทยของเราเอง ก็มีเรื่องราวลักษณะนี้ปรากฎให้เห็นกันอยู่เรื่อยๆ Suzuki
เป็นตัวอย่างแรกที่ผมนึกถึง พวกเขาเคยส่ง Swift Sedan (ตลาดญี่ปุ่น เรียกว่า Cultus
Sedan) มาประกอบขายในบ้านเรา เมื่อราวๆ ปี 1993 มียอดขายพอไปวัดไปวาได้
แต่เนื่องจากขาดความต่เนื่องในการทำตลาด อีกทั้งรถยนต์รุ่นถัดไปอย่าง Cultus
Cresent ที่คลอดในปี 1996 ต้องถูกสั่งนำเข้าสำเร็จรูปทั้งคันมาขายจากญี่ปุ่น ใน
ชื่อ Esteem ราคาก็เลยแพงกว่าชาวบ้าน แล้วต้องม้วนเสื่อกลับไป จนกระทั่งวันนี้
ชาวญี่ปุ่น มาองทั้งดุ้น ส่ง Swift กลับมาเปิดตลาดรวมทั้งประกอบขายในบ้านเรา
กันอีกครั้ง แน่นอนว่า ขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

Nissan เอง ก็มีเรื่องราวแบบนี้เกิดขึ้นในบ้านเราเช่นเดียวกัน เมื่อช่วงปี 1985
ผู้จำหน่ายรายเก่าอย่าง สยามกลการ ยังเคยนำชิ้นส่วนของ March รุ่นแรก K10
มาประกอบขาย แต่เนื่องจากออพชันแทบไม่มี ภายในจืดชืด เทียบความน่าใช้
กับคู่แข่งอย่าง Toyota Starlet หรือแม้แต่ March เวอร์ชันญี่ปุ่นเอง ที่จัดเต็มมา
มากกว่า ก็เลยหาลูกค้าอุดหนุนไม่ค่อยได้ กลายเป็นความล้มเหลวจนต้องเลิก
ทำตลาดไป

พอถึงปี 2010 คราวนี้ ญี่ปุ่นมาลุยเอง ส่ง March ใหม่ K13 รหัสโครงการ B02A
กลับมาอีกครั้ง ประกอบขายในฐานะ ECO Car รายแรกของเมืองไทย ขายกัน
ระเบิดเทิดเทิงจนทำให้ Nissan เมืองไทย ผ่านพ้นสถานการณ์ที่น่าหวาดหวั่นใจ
มาได้ อย่างโล่งอก ในรดับหนึ่ง

ถึงวันนี้ Nissan กำลังทำแบบเดียวกัน อีกครั้ง กับรถยนต์ รุ่นดังในอดีต ที่หลายคน
อาจไม่รู้จัก แต่ถ้าย้อนถามคนรุ่นน้องชายของคุณพ่อคุณแม่เรา บางคน อาจพอนึกออก

รถยนต์ที่คุณกำลังจะได้อ่านเรื่องราวทั้งหมด….ต่อจากนี้

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2010 ในวันที่ โครงการพัฒนา รถยนต์นั่งระดับ C-Segment ของ
Nissan เริ่มเล็ดรอดแพร่งพราย มาให้ ผมและ The Coup Team ได้ยินกัน เราต่าง
พากันสงสัยอยู่ว่า นอกเหนือจาก รหัสโครงการ L12F ที่ปรากฏชัดเจนแล้ว ทำไม
ถึงต้องมี รหัสโครงการ B12D โผล่เข้ามาให้เรางุนงงสงสัยกันได้?

คำถามที่ผุดขึ้นมาในหัวของพวกเราในตอนนั้นคือ รหัส B12D ที่โผล่เข้ามา เป็นรหัส
ที่ Nissan จงใจใช้เรียกรถยนต์คันเดียวกันกับ L12F แต่ถือเป็นรหัสโครงการ “ที่เป็น
ทางการ” มากกว่า รหัสเดิมของมัน นี้หรือเปล่า?

หรือว่าจะเป็นรถยนต์ อีกรุ่นหนึ่ง ที่พัฒนาขึ้น ควบคู่ไปกับ L12F บนพื้นฐานของ
โครงสร้างวิศวกรรมร่วมกัน?

ปริศนา ถูกคลี่คลายจนกระจ่างแจ้งไปเปลาะหนึ่ง ในวันที่ Nissan เปิดตัวรถยนต์นั่ง
Hatchback 5 ประตู พิกัด C-Segment หน้าตา คล้ายคลึงกับรถยนต์คันที่คุณจะได้เห็น
ในบทความรีวิวนี้ สู่สายตาชาวจีนเป็นกลุ่มแรกในโลก ณ งาน Auto Shanghai เมื่อ
วันที่ 19 เมษายน 2011 ในชื่อ TIIDA

นี่ไง รถยนต์ที่ถูกพัฒนาขึ้นในรหัส B12D !!

เอาละ คำถามต่อมาก็คือ..ตกลงแล้ว รถคันนี้ จะถูกนำเข้ามาประกอบขายในเมืองไทย
ของเราหรือเปล่า?

HOMY DEMIO มือขวาของผม นักขุดเจาะโครงการพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ ไปได้
ข้อมูลที่ยืนยันว่า B12D จะมาประกอบขายในเมืองไทย ควบคู่กันกับ L12F แต่จะ
เปิดตัว ช่วงไตรมาสแรก ปี 2013 หลังจาก L12F เปิดตัวล่วงหน้าไปก่อน (คือจะสลับ
กับเมืองจีน เพราะที่นั่น B12D เปิดตัวไปก่อน L12F ค่อยตามมา)

ผมฟังแล้วนึกภาพอย่างงุนงง เพราะนั่นเท่ากับว่า Nissan จะมีรถยนต์ C-Segment
ถึง 2 รุ่น มาประกอบขายในบ้านเราเลยเชียวนะ แล้วทำไมไม่จับรวบให้เป็นรุ่นเดิยว
แต่มี 2 ตัวถังไปเลยละ?

พอ Nissan เผยโฉม L12F ในชื่อ Sylphy เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2012 ในงาน ปักกิ่ง
มอเตอร์โชว์ หรือ Beijing International Automobile Exhibition ที่ประเทศจีน 
จิ๊กซอร์ชิ้นใหญ่ ก็ปรากฎขึ้นมาให้เราได้พบว่า มันเป็นไปตามคาด

Nissan พัฒนาทั้ง Sylphyและ TIIDA B12D (Pulsar) ขึ้นบนโครงสร้างวิศวกรรมใหม่
ร่วมกันทั้งหมด แต่จับแยก ชื่อรุ่น และกลุ่มลูกค้าออกไปให้แตกต่าง และสร้างความแตกต่าง
ออกจากกันให้มากที่สุดจะเป็นไปได้ แต่ยังคงต้องควบคุมเรื่องต้นทุนให้เหมาะสม เพื่อขาย
ในราคาแข่งขันกับชาวบ้านเขาได้

เพราะ Sylphy จะจับกลุ่มลูกค้าทั่วไป เน้นผู้หญิง มากถึง 60% ผู้ชาย 40% ทั้ง 2 กลุ่ม
เป็นมนุษย์เงินเดือนการศึกษาดี หรือมีอาชีพการงาน เป็นผู้บริหารระดับกลาง เจ้าของกิจการ
SME เพิ่งเริ่มเติบโต ใช้อุปกรณ์ Gadget รุ่นใหม่ตลอด ชอบความภูมิฐาน แต่กลุ่มลูกค้าของ
B12D จะต่างออกไป เป็นกลุ่มคนกลุ่มใกล้เคียงกัน แต่ จะไม่ถึงกับเน้นความภูมิฐานมากเท่า
กลุ่มลูกค้า Sylphy มีวิธีคิดค่อนข้างอิสระกว่า เน้นความสปอร์ต และใช้ชีวิตในรถยนต์คันเดียว
ค่อนข้างมากกว่ากลุ่มแรก มักเป็นคนโสดมากกว่ามีครอบครัวแล้ว

จนกระทั่งในที่สุด พอได้รับการยืนยันว่า B12D จะมาประกอบขายในเมืองไทย ก็เหลือแค่
เรืองชื่อรุ่น ว่าจะใช้ชื่ออะไร ที่แน่ๆ Nissan เอง ก็ออกมาบอกว่า จะเลิกใช้ชื่อ TIIDA
ในระดับสากล เพราะมันไม่ประสบความสำเร็จ ในตลาดโลกเลย เหลือไว้แค่ในจีนกับไต้หวัน
เท่านั้น ดังนั้น จะเหลือชื่ออะไรให้เลือกใช้กันอีกละ?

พองาน Motor Expo เดือนพฤศจิกายน 2012 ที่ผ่านมา ผมเดินไปที่บูธ Nissan
แล้วพบเห็นรูปโฉมคันจริง ของ B12D พร้อมกับป้ายชื่อรุ่นแปะหราว่า Pulsar
ผมก็ดีใจ….ไชโย! ดีแล้วละ ที่ไม่ได้ใช้ชื่อ Sylphy Sport ตั้งแต่แรก เหมือนที่เคย
ได้ยินมาก่อนหน้านั้น ไม่กี่เดือน

แต่การกลับมาใชื่อ Pulsar ในตลาดเมืองไทยอีกครั้ง มันมีเหตุผลอะไร แล้วทำไม
Nissan จึงเลือกใช้ชื่อ Pulsar กับเจ้า B12D คันนี้

เพื่อให้คุณผู้อ่านได้รู้จักที่มาของ Pulsar อย่างแท้จริง ผมจำเป็นต้องทำตัวเป็น
โดราเอมอน (ซึ่งทุกวันนี้ สรีระร่างของผมก็อ้วนฉุ จนแทบจะถอดพิมพ์เขียว
ของเจ้า “เหมียวยนต์” ตัวนี้ มาอยู่แล้ว) พาคุณนั่ง Time Machine ย้อนกลับไป
ให้ไกลยิ่งกว่าเดิมอีกสักหน่อย

ไม่ต้องย้อนไปไกลมากหรอก…กลับไปหยุดอยู่แค่ปลายทศวรรษ 1960 ถึงช่วง
รอยต่อเข้าสู่ ทศวรรษ 1970 ก็แล้วกัน!

ช่วงปลายทศวรรษ 1960 Nissan มีปัญหาต้องขบคิดอยู่ 2 เรือง ประการแรกก็คือ คู่แข่ง
ตัวฉกาจอย่าง Toyota เปิดตัว Publica รถยนต์นั่งขนาดเล็ก 700 – 800 ซีซี ออกมา จน
ขายดิบขายดี ยิ่งเมื่อรวมยอดขายกับ Corolla ที่คลอดออกมาในปี 1968 แล้ว ทำให้
Toyota แซงหน้า Nissan ขึ้นมาเป็นยักษ์หมายเลข 1 อุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่นจนได้
ส่วนประการที่ 2 ก็คือ พวกเขายังบุกตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็กในยุโรป ไม่สำเร็จ

ในตอนนั้น Nissan คิดจะแก้เกม พวกเขามีแผนจะผลิตรถยนต์นั่งขนาดเล็กขับเคลื่อนล้อหน้า
กันอยู่แล้ว แต่เมื่อ Nissan กับ Prince Motor ควบรวมกิจการกันในปี 1966 ทำให้ทั้งคู่
ยังมีเรื่องวุ่นๆต้องสะสางในองค์กร กว่าที่ Nissan จะเริ่มออกรถยนต์ตามแผน สู่ตลาดได้ ก็ต้อง
รอกันถึงปี 1970 และนั่นคือ ที่มาของ Nissan Cherry หรือ Datsun 100A , 120A ,
F10,E10 รถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้า รุ่นแรกในประวัติศาสตร์ของ Nissan Motor

จะใช้ชื่ออะไรก็ตามแต่ ก็ต้องบอกได้เพียงว่า Nissan ยังทำการบ้าน ตามดูแนวโน้มของ
ตลาดโลกไม่ทันเท่าไหร่ เพราะเมื่อถึงต้นทศวรรษ 1970 รถยนต์ท้ายตัด เริ่มได้รับความ
นิยมในยุโรปมากขึ้น แม้แต่ Honda ยังเลือกทำ Civic รุ่นแรกในปี 1972 ให้เป็นรถยนต์
ท้ายตัด Hatchback

ถึงแม้จะว่า Nissan จะส่ง Cherry F-II ออกมางัดข้อสู้อีกครั้งในปี 1974 แต่ดูเหมือนว่า
จะได้รับความนิยมไม่มากนัก ในที่สุด Nissan ก็ตัดสินใจ พัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ ที่มีขนาด
ใหญ่ขึ้น แต่ก็ต้องอยู่ในพิกัด Compact เพื่อต่อกรกับ Volkswagen Golf , Fiat
Ritmo / Strada , Peugeot 104 , Citroen VISA , Renault 5 ฯลฯ

รุ่นแรกของ Pulsar เปิดตัว เมื่อเดือนพฤษภาคม 1978 มีให้เลือกทั้งตัวถัง Hatchback 3
หรือ 5 ประตู Coupe 2 ประตู และ Station Wagon แบบท้ายสั้น ในชื่อ Pulsar Van เป็น
อีกความพยายามของ Nissan ที่จะบุกตลาด รถยนต์ขนาดเล็ก ท้ายตัด ขับเคลื่อนล้อหน้า
ในยุโรป โดยพวกเขาเลือกใช้ชื่อ Pulsar สำหรับทำตลาดในญี่ปุ่น และยังคงใช้ชื่อ Cherry
สำหรับตลาดยุโรปต่อไป แต่ยังมีการส่งไปชิมบางในตลาดอเมริกาเหนือ ด้วยชื่อ Datsun
310 ทั้งแบบ Hatchback และ Coupe วางขุมพลังตระกูล A-Series ต่อเนื่องมาจาก 
Cherry ส่วนตลาดญี่ปุ่นเอง ก็มีรุ่น Langley Hatchback ออกมาเสริมทัพ เป็นครั้งแรก

ในตอนเปิดตัว ความแตกต่างที่ชัดเจน ระหว่าง ตระกูล Sunny และ Pulsar ก็คือระบบ
ขับเคลื่อน เพราะในขณะนั้น Sunny ยังต้องใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหลัง จนกว่าจะถึงรุ่น B11
ปี 1981 แต่ Pulsar เกิดมาเป็นรถขับเคลื่อนล้อหน้ากันตั้งแต่เริ่มโครงการ ภาพรวมถือว่า
แม้จะต้อง สร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภค ถึงข้อดีของรถยนต์ขับล้อหน้า ว่า ขับขี่ง่าย ใช้
ชิ้นส่วนน้อยกว่า ประหยัดน้ำมันกว่า (ทั้งที่จริงๆแล้ว ประโยชน์ส่วนใหญ่ มีแต่ในมุม
ของผู้ผลิต ทั้งด้านลดการใช้ชิ้นส่วนกับตัวรถ ลดการสต็อกอะไหล่ไปได้อีกเพียบ และ
ลดต้นทุนการพัฒนากับการลิตลงได้อีกมากโข) แต่ก็ถือว่า มียอดขายในระดับน่าพอใจ

รุ่นที่ 2 รหัสรุ่น N12 เปิดตัวในเดือน เมษายน 1982 ถือเป็นรุ่นสำคัญของตระกูล Pulsar
เพราะนอกจากจะมีตัวถัง Hatchback 3 หรือ 5 ประตู แล้ว ยังเพิ่ม ตัวถัง Sedan 4 ประตู
คลอดออกมาในอีก 2 เดือนให้หลัง (มิถุนายน 1982) นอกจากขายในชื่อ Pulsar Sedan
แล้ว ยังนำไปตกแต่งเป็นเวอร์ชันเรียบง่าย ไฟหน้าแบบสี่เหลี่ยม 4 ดวง ทำตลาดในชื่อ
Nissan Liberta Villa (คันที่ 4 แถวซ้ายของภาพข้างบนนี้ ถือเป็นรุ่นย่อมเยาลงมา ของ
Nissan Violet Liberta ซึ่งก็เป็นเวอร์ชันตกแต่งเรียบง่ายของ Nissan Stanza JX และ
Auster ในญี่ปุ่น ซึ่งบ้านเรา เคยรู้จักในชื่อ Stanza FX นั่นเอง)

ไม่เพียงเท่านั้น  ยังมี ตัวถัง Coupe 2 ประตู ไฟหน้า Pop-up ใช้ชื่อว่า Pulsar EXA
คลอดออกมาพร้อมกัน ทำตลาดนอกญี่ปุ่นในชื่อ Pulsar NX และได้รับความนิยม
ด้วยการออกแบบทรงจรวดทางเรียบ เหลี่ยมสันไปทั้งคัน ในเวลาต่อมา ถูกติดตั้ง
เครื่องยนต์ Turbo E15ET จนถือเป็นเวอร์ชันแรงที่สุดของรุ่น รวมทั้งยังมีรุ่น
เปิดประทุน ตามออกมาในจำนวนจำกัด ไม่มากนัก เมื่อปี 1985

แต่รุ่น N12 ถือเป็นรุ่นสำคัญที่ทำให้ Pulsar เป็นที่รู้จักทั่วโลก มากยิ่งขึ้น ก็เพราะ
GM Holden แห่งออสเตรเลีย มาทำข้อตกลง ขอนำไป “ร่วมผลิตขาย” ในดินแดน
Down Under โดยใช้ชื่อว่า Holden Astra (1st Generation) ช่วงปี 1982

และไม่เพียงเท่านั้น Nissan ยังทำข้อตกลงร่วมมือกับ Alfa Romeo S.p.A นำ
Pulsar ไปประกอบขายเอง โดยวางเครื่องยนต์ 4 สูบ SOHC 1.2 ลิตร เพื่อขาย
ทำตลาดแทน Alfasud อันโด่งดัง เปิดตัวในอิตาลี เดือนกรกฎาคม 1987 ใช้ชื่อ
AlfaRomeo ARNA แต่เนื่องจาก ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร จากปัญหาจุกจิก
ของตัวรถและการไม่ยอมรับของชาวอิตาเลียนมากเท่าที่ควร ทั้งด้านคุณภาพของ
การประกอบ และปัญหาสนิม ที่ AlfaRomeo ในยุค 1970 – 1980 ตอนกลาง แทบ
ทุกคันต้องเจอ ทำให้ โครงการความร่วมมือยุติลงในปี 1986 และไม่มีการสานต่อ

Pulsar รุ่นนี้ ถูกสั่งเข้ามาประกอบขายในเมืองไทย ช่วงปี 1984 แต่ขายไม่ค่อยดีนัก
เพราะลูกค้าในช่วงนั้น ต่างพากันบ่นถึงความจุกจิก ของ ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า พอเจอ
ออพชันน้อย และรถมีปัญหากันบ่อยๆ บ่อยๆ ลกค้าก็เริ่มบอกต่อ ปากต่อปาก หนักมากเข้า
สยามกลการ ผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ Nissan ในเมืองไทย ตอนนั้น ตัดสินใจ สั่งลา
ด้วยการออกรุ่นย่อยพิเศษ ตกแต่งเหมือนรุ่นท็อปในญี่ปุ่น Nissan Pulsar Milano X1
5 ประตู สีทูโทน แดงคาดดำ ในช่วงกลางปี 1986 ก่อนจะค่อยๆ ยุติการผลิตไปในปี
1987 ปล่อยให้ชื่อ Pulsar ค่อยๆ เลือนหายไปจากตลาด ในช่วงเวลาเดียวกับที่ ศึก
แย่งชิงบรรลังก์ สยามกลการ ในตระกูล พรประภา เริ่มรุนแรงขึ้นพอดี และกว่าที่ศึกนี้
จะสงบ ก็ปาเข้าไปอีกหลายปีให้หลัง

แต่ในเมืองนอก ชื่อของ Pulsar ยังคงทำตลาดต่อเนื่องไปได้ รุ่นที่ 3 รหัสรุ่น N13 เปิดตัว
เมื่อเดือน พฤษภาคม 1986 ถือเป็น Pulsar ที่มีความหลากหลายด้านตัวถัง และความน่า
ปวดกบาลเรื่องชื่อรุ่น มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา จนทำให้คว้ารางวัล Car of The Year ของ
ญี่ปุ่น ประจำปี 1986 – 1987 ไปครอง!

หัวหน้าวิศวกร ผู้ออกแบบ รุ่น N13 ตัดสินใจ ไม่ตามกระแสรถยนต์ทรงลิ่มสุดโฉบเฉี่ยว
และเลือกจะเดินมาในแนวทางการสร้างรถยนต์ที่เน้นความประหยัด ที่ง่ายต่อการเป็น
เจ้าของ ทำให้ รุ่น Sedan 4 ประตู กับ Hatchback 3 และ 5 ประตู ออกมาในรูปทรงกล่อง
เหลี่ยมๆ จุดเด่นอยู่ที่ การติดตั้งระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ Triple Viscous Full Auto Full Time
4WD เป็นรายแรกในโลก ในเดือนกุมภาพันธ์ 1987 กับรุ่น Hatchback 3 ประตู Milano
X1-E

นอกจากนี้ ตัวถัง Coupe 2 ประตู รุ่น EXA ยังถูกแยกออกไปเป็นรุ่นใหม่ พัฒนาโดย
ทีม Nissan Design International ใน California สหรัฐอเมริกา ให้มีฝาท้าย 2 แบบ
ทั้ง ฝาท้ายแบบ Notchback และฝาท้ายแบบ Canopy Wagon เจ้าของรถสามารถ
เลือกซื้อฝาท้ายเพิ่ม มาถอดเปลี่ยนใช้งานได้เองที่บ้าน! เช่นเดียวกับ หลังคาถอดเปิดออก
ได้ 2 ฝั่ง แบบ T-Bar roof ถือเป็นไอเดียแหวกแนวในสมัยนั้นเลยทีเดียว

ส่วน Liberty Villa (แนว Comfort สบายๆ) และ Langley (แนว Sport) ก็ถูกออกแบบ
ให้มีตัวถัง Sedan และ Hatchback 3 ประตู ในสไตล์ โฉบเฉี่ยวกว่าชัดเจน โดยเฉพาะ
Langley นั้น ถึงขั้น ออกภาพยนตร์โฆษณาในญี่ปุ่น ด้วยแคมเปญ Skyline’s Mini
ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ ปนญี่ปุ่น แบบ แจปลิชๆ ได้ความว่า เป็น Nissan Skyline รุ่น
ย่อมเยา นั่นเอง! ตัวถัง Sedan ของ Langley ถูกนำไปผลิตขายในออสเตรเลีย
ด้วยชื่อ Pulsar Vector ใน มาเลเซีย และ นิวซีแลนด์ ใช้ชื่อ Langley ในกรีซยังคง
ใช้ชื่อ Cherry ต่อไป แต่ในยุโรป บางประเทศ จะเปลี่ยนมาใช้ชื่อ Sunny กันแล้ว

รุ่นที่ 4 รหัสรุ่น N14 เปิดตัวในเดือน สิงหาคม 1990 ถือเป็นอีกรุ่นที่มีการเปลี่ยนแปลง
ครั้งใหญ่ เมื่อ Nissan ตัดสินใจ ยุบรุ่นที่ซับซ้อน และไม่ทำกำไรมากพอเท่าที่ควร อย่าง
Liberta Villa และ Langley ทิ้งไป เหลือทางเลือกเอาไว้แค่ 3 ตัวถังหลัก คือ Sedan 4
ประตู hatchback 5 ประตู ที่ใช้ชิ้นส่วนตัวถังร่วมับ Sedan ได้มากจนถึง บานประตูคู่หลัง
และรุ่น Hatchback 3 ประตู ท้ายตัดตรงแหน่ว ซึ่งเปิดตัวออกมาก่อน Volkswagen Golf
Mk-III ดังนั้น งานออกแบบของ Pulsar รุ่นนี้ จึงไม่ได้ไปลอกเลียนแบบบั้นท้ายของ
Golf อย่างที่หลายคนเข้าใจกัน

รุ่น N14 เป็น Pulsar ที่โดดเด่นมากที่สุด เพราะ มีเวอร์ชันแรง เปิดตัวออกมาพร้อมกัน
นั่นคือ Nissan Pulsar GTi-R รหัสรุ่น E-RNN14 เพื่อให้ผ่านกฎ Homologation และ
นำไปเข้าร่วมการแข่งขันแรลลีโลก WRC (World Rally Cross) ได้ ในกลุ่ม Group A
จุดเด่นก็คือ เป็น Pulsar รุ่นเดียวที่วางเครื่องยนต์ SR20DET บล็อก 4 สูบ DOHC
16 วาล์ว 1,998 ซีซี พ่วง urbo Charger และ Intercooler แรงสะใจถึง 230 แรงม้า (PS)
ที่ 6,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 29 กก.-ม. (280 นิวตันเมตร) ที่ 4,800 รอบ/นาที และ
ใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ATTESA 4WD และคว้าชัยชนะมาได้หลายต่อหลายสนาม

Pulsar รุ่น N14 ถูกส่งไปขายในยุโรป ด้วยชื่อ SUNNY โดยยกเลิกชื่อ Cherry ทิ้งไป
แม้แต่รุ่น GTi-R ก็นยังถูกเรียกว่า Nissan Sunny GTi-R ส่วนตัวถัง Station Wagon
Nissan ไม่ได้พัฒนาให้ Pulsar รุ่นนี้ เลยต้องไปยก Nissan Sunny California หรือ
AD Van ที่คนไทยรู้จักกันดีในชื่อ Nissan NV (Van) ไปขายในชื่อ Sunny Traveller
แทน ตระกูล N14 ได้รับความนิยมใน ยุโรป และออสเตรเลีย ระดับหนึ่ง ไม่ถึงกับมากนัก

รุ่นที่ 5 รหัสรุ่น N15 เผผยโฉมในญี่ปุ่นก่อน เมื่อเดือนมกราคม 1995 ถูกสร้างขึ้น โดยใช้
พื้นฐานงานวิศวกรรม ร่วมกับ Nissan Sunny B14 จึงไม่น่าแปลกใจว่า แม้จะมีตัวถัง Sedan
4 ประตู ของตนเอง แต่ตัวถัง Hatchback 3 และ 5 ประตู นั้น จะถูกนำไปขายในโชว์รูมของ
เครือข่ายจำหน่าย Sunny ในญี่ปุ่น ในฐานะ รุ่น Hatchback ของ Sunny ภายใต้ชื่อ Nissan
LUCINO

อย่างไรก็ตาม รุ่น 5 ประตู จะไม่ค่อยถูกเน้นโปรโมทในช่วงเปิดตัวมากนัก เพราะ Nissan
เลือกจะรอให้ถึง เดือนพฤษภาคม 1996 แล้วค่อยเปิดตัว Pulsar Serie S-RV / Lucino S-RV
เวอร์ชันตกแต่งในแนว Sub-Compact SUV เพื่อหยั่งเชิงตลาด และออกมาให้ลูกค้าที่ชอบ
ชีวิตอิสระ ท่องเที่ยว ได้เป็นเจ้าของ SUV ขับสวยๆ พอลุยได้นิดๆหน่อยๆ ในราคาไม่แพง
งานนี้ ได้ ศิลปินนักร้องชื่อก้องญี่ปุ่น อย่าง Namie Amuro มาเป็น Presenter ให้เลยทีเดียว

แม้ว่ามีเครื่องยนต์ SR18DE 1.8 ลิตร 140 แรงม้า (PS) เป็นตัวชูโรง แต่ยังไม่สะใจวัยรุ่น
จึงมีการปรับโฉม Minorchange ในเดือนกันยายน 1997 เพิ่มเครื่องยนต์ใหม่ SR16VE
4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,596 ซีซี พร้อมระบบแปรผันวาล์ว NEO VVL 175 แรงม้า (PS)
ที่ 7,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 161 นิวตันเมตร ที่ 7,200 รอบ/นาที เป็นตัวหลัก นี่ยัง
ไม่นับ เวอร์ชันพิเศษ SR16VE N1 ที่ปรับปรุง โดยบริษัทลูกของ Nissan อย่าง Autech
ที่ยกระดับให้แรงขึ้นเป็น 200 แรงม้า (PS) ที่ 7,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 18.4 กก.-ม.
(181 นิวตันเมตร ) ที่ 7,600 รอบ/นาที ตามออกมาในจำนวนจำกัด 1,000 คัน กระจาย
ตามรุ่น Lucino และ Serie กันไป ในปี 1998 เพื่อให้ผ่านกฎ Homologation และลง
แข่งขันในรายการต่างๆ ประกบ Honda Civic Type R ได้เต็มภาคภูมิ จนถือเป็น
เครื่องยนต์ 1.6 ลิตร ไร้ระบบอัดอากาศ จากโรงงาน ที่แรงที่สุดเท่าที่เคยผลิตขายมา
(ไม่นับเครื่องยนต์ จากอู่โมดิฟาย)

นอกจากนี้ Pulsar รุ่นนี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลง สำหรับตลาดส่งออกด้วย เพราะเป็นรุ่นแรก
ที่ถูกยกเลิกชื่อ ทั้ง Cherry และ Sunny ออก แล้วทำตลาดในยุโรปด้วยชื่อใหม่ ALMERA
เป็นครั้งแรกที่ชื่อนี้ ถูกใช้ ในปี 1995 มีครบทั้ง 3 ตัวถัง เหมือนเวอร์ชันญี่ปุ่น มีการปรับ
โฉมในปี 1998 ตามหลังตลาดญี่ปุ่น ไม่นานนัก รวมทั้งยังมีตัวถัง Compact MPV ในชื่อ
Nissan Tino ตามอกมา และส่งไปขายในยุโรป ด้วยชื่อ Nissan Almera Tino เมื่อช่วงปี
2000

แม้ว่ายอดขายในยุโรป จะยังพอถูไถไปได้ แต่ด้วยยอดขายที่ลดลงเรื่อยๆ ในญี่ปุ่น ทำให้
Nissan ตัดสินใจ ยกเลิกการทำตลาด Pulsar ในญี่ปุ่น เมื่อ 31 สิงหาคม 2000 ในทันทีที่
Nissan เปิดตัว Bluebird Sylphy หรือ Sunny NEO ในเมืองไทย (เปิดตัวบ้านเราเมื่อ
16 กันยายน 2000) อันเป็น ส่วนหนึ่งของ ตระกูล Compact C-Segment ของ Nissan
ที่จะมุ่งไปทำตลาดกับกลุ่มลูกค้าที่สูงวัย เพื่อประกบ Toyota Premio / Allion

ถือเป็นการยุติบทบาทชื่อ Pulsar ไปในเวลา 22 ปี ที่อยู่ในตลาดญี่ปุ่น….

แต่ในตลาดโลก Pulsar ยังคงมีขายอยู่ เพียงแต่ไม่ได้ใช้ชื่อเดิมของตนเป็นหลักอย่างเคย
เพราะต้องเปลี่ยนชื่อ ไปตามแต่ละตลาดที่เข้าไปขาย รุ่น N16 ถูกเปิดตัวในยุโรปด้วยชื่อ
ALMERA ต่อไป เมื่อเดือนมกราคม 2000 ยังคงถูกสร้างขึ้นบนพื้นตัวถัง MS-Platform
ร่วมกันกับ Bluebird Sylphy รุ่นแรก (Sunny NEO ในบ้านเรา) รวมทั้ง รถยนต์รุ่นใหญ่
กว่า อย่าง Primera เจเนอเรชันสุดท้าย (ปี 2001) และ Almera Tino ที่เปิดตัวไล่เลี่ยกัน
ในช่วงนั้น โดยประกอบขายกันที่โรงงาน Sunderland ในอังกฤษ

ส่วนตลาด ออสเตรเลีย ยังคงใช้ชื่อ Pulsar ต่อไป เพราะเป็นชื่อที่ ชาวออสซี่ คุ้นเคยกว่า
ขณะที่เมืองไทย นอกจาก Sunny Neo แล้ว ช่วงยุคปลายสมัยของ สยามกลการ ยังมี
การนำ Sunny NEO มาวางเครื่องยนต์ QG18DE 1.8 ลิตร 120 แรงม้า (PS) แล้ว ใส่
เปลือกกันชนหน้า ไฟท้ายกรอบขาว ล้ออัลลอยลายยุโรป ออกขายในชื่อ Nissan
Sunny Almera เมื่อเดือนมีนาคม 2002

ปี 2003 มีการปรับโฉม Minorchange ให้มีเส้นสาย โค้งมนยิ่งขึ้น ปรับปรุงเครื่องยนต์
ช่วงล่าง และเพิ่มระบบนำทางเข้าไปให้กับเวอร์ชันยุโรป รวมทั้งบรรดา Sport Version
ทั้งหลาย

ปัญหาของ ตระกูล N16 ก็คือ ในขณะที่รถรุ่นก่อน (N15) ได้ชื่อว่ามีขนาดห้องโดยสาร
กว้างใหญ่มาก แต่รุ่น N16 กลับตรงกันข้าม ห้องโดยสาร เล็ก และคับแคบ พื้นที่วางขา
ด้านหลัง ไม่มากพอ เมื่อเทียบกับขนาดตัวรถที่ไม่ได้ใหญ่โตไปกว่าเดิม อีกทั้งขุมพลัง
ก็ยังกินน้ำมัน ซึ่งก็เป็นปัญหาเดียวกับ Sunny NEO และ Sunny Almera ในบ้านเรา

กระนั้น Nissan ยังไม่อาจแก้ปัญหานี้ได้เต็มที่นัก เพราะยังต้องปัดกวาดเช็ดถูบ้านตนจาก
การร่วมกิจการกันเป็น Renault-Nissan Alliance ในปี 1999 ขณะเดียวกัน Nissan
ก็ยังดำเนินกลยุทธ์ ด้านตัวรถยนต์ ผิดพลาด พัฒนารถยนต์ Compact รุ่นใหม่ อย่าง
TIIDA ให้เอาใจตลาดญี่ปุ่นเป็นหลัก แล้วยังพยายาม ดึงดัน ให้ประเทศอื่นๆ สั่งนำ
เข้าไปผลิตขาย ทั้งที่ตลาดอื่นๆ ไม่ได้ชื่นชอบ รถยนต์อย่าง TIIDA มากนัก

เมื่อรวมเข้ากับปัญหาภายในต่างๆ รวมทั้งเหตุผลที่ว่า Almera เพิ่งปรับโฉมเมื่อปี
2003 ยังทำตลาดไม่คุ้มต่อการลงทุนปรับโฉมเท่าใดเลย ทำให้ Almera ยังคงต้อง
ทำตลาดกันอยู่ต่อไปอีก 4 ปี แม้ว่า TIIDA จะเปิดตัวออกสู่ตลาดโลก ในปี 2004 แต่
กว่าที่ Nissan จะเลิกทำผลิตและทำตลาด Almera N16 ในยุโรป เวลาก็ล่วงเลยไปถึง
29 พฤศจิกายน 2006 โดยที่ Nissan ก็ยัง นำ Tiida ไปขายในยุโรป ช้ากว่าตลาดอื่นๆ
ทั่วโลก…ช้ากว่าแม้กระทั่งเมืองไทย!

แต่อย่างที่ทราบกันดีครับ TIIDA ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จากการออกแบบมา
ด้วยแนวคิด เอาใจคนญี่ปุ่นเป็นหลักมากขนาดนั้น รวมทั้ง การวางตำแหน่งของตัวรถใน
ตลาด คร่อมกลาง คาบเกี่ยว ระหว่าง รถยนต์ Sub-Compact หรือกลุ่มB-Segment
อันได้แก่ Toyota Vios / Yaris , Honda City / Jazz , Mazda 2 , Ford Fiesta
ฯลฯ กับกลุ่ม C-Segment Compact Class อันได้แก่ Toyota Corolla Altis ,
Honda Civic , Mazda 3, Chevrolet Cruze , Ford Focus ฯลฯ

ทำให้ Nissan จะต้อง พลิกแนวทางการทำรถยนต์ Compact C-Segment รุ่นต่อไป
โดยหันมาฟังเสียงจากผู้บริโภค มากขึ้นกว่าที่เคยมีมา เพื่อหวังจะเอาชนะ คู่แข่งให้ได้

หลังการพัฒนาเสร็จสิ้นลง Nissan เลือกที่จะเปิดตัว B12D ครั้งแรกในโลก ที่งานแสดง
รถยนต์ Auto Shanghai เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2011 โดยขึ้นสายการประกอบที่โรงงาน
 Dongfeng Nissan Huadu ใน Guangzhou (กวางเจา) ออกสู่ตลาดในเดือนถัดมา
(พฤษภาคม 2011) เป็นแห่งแรก ภายใต้ชื่อ TIIDA

แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่า Hatchback คันนี้ไม่ประสบความสำเร็จในแดนมังกรมากนัก
ซึ่งส่วนหนึ่ง ก็เป็นผลจากกรณีพิพาททางการเมืองระหว่าง จีน และญี่ปุ่น บนเกาะเตียวหยู
จนเกิดปัญหาลูกโซ่ผู้บริโภคจีน บอยคอต สินค้าญี่ปุ่น ส่งผลกระทบต่อบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่น
ในประเทศจีนอย่างรุนแรง เป็นหลัก กระนั้น Nissan ก็มีแผนจะส่ง B12D ออกสู่ตลาด
ในกว่า 130 ประเทศทั่วโลก ให้ได้ภายในสิ้นปี 2014

เมื่อเปิดตัวที่จีนแล้ว Nissan ก็ส่ง B12D เข้าไปขายใน ไต้หวัน เป็นแห่งที่ 2 โดย
ใช้ชื่อในการทำตลาดว่า Nissan BIG TIIDA (คือจะบอกลูกค้าว่า ตัวถังใหญ่กว่าเดิม
อย่างชัดเจนเลยใช่ไหม?) เริ่มออกจำหน่ายเมื่อ เดือนมกราคม 2013 ที่ผ่านมา

ประเทศไทย ถือเป็นประเทศลำดับ 3 ในโลก ที่ได้มีโอกาสนำ รถยนต์ในรหัสโครงการ
B12D เข้ามาประกอบขายในบ้านเรา ทั้งเพื่อป้อนตลาดในประเทศ และเพื่อการส่งออก
ไปยังออสเตรเลีย เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2013 ที่ผ่านมา เพียงแต่ว่าคราวนี้
ในบ้านเรา จะได้รู้จักกับ B12D กันในนามว่า PULSAR!

เหตุผล ไม่มีอะไรมากครับ แค่ว่าก่อนหน้าการเปิดตัวจะเกิดขึ้น ในช่วงครึ่งหลังของปี
2012 มีความสับสนกันเรื่องชื่อรุ่นสำหรับตลาดบ้านเรา เพราะในตอนแรก ดูเหมือนว่า
รถยนต์คันนี้จะถูกกำหนดให้ใช้ชื่อ Sylphy Sport แต่ เมื่อผู้บริหาร และฝ่ายการตลาดได้
วิเคราะห์กันแล้ว คิดว่า เป็นชื่อที่ไม่เหมาะสมในการทำตลาดเมืองไทย ดังนั้น พวกเขาจึง
เลือกใช้ชื่อ Pulsar อันเป็นชื่อของรถยนต์นั่ง ที่เคยถูกยกเลิกไปในตลาดญี่ปุ่น และตลาด
ทั่วโลก ของ Nissan ให้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง

ถือเป็นการกลับมาอีกคราของ ชื่อ Pulsar ในประเทศไทย ในรอบ เอ่อ…ถ้านับจากปี 1988
อันเป็นปีสุดท้ายที่ Pulsar Milano X1 ยังทำตลาดเหลืออยู่ ก็ ปาเข้าไป 25 ปีแล้วนะนั่น!!

ส่วนตลาดถัดจากเมืองไทย ที่มีกำหนดจะได้เป้นเจ้าของ Pulsar กัน นั่นคือ Australia
ซึ่ง Sylphy Sedan ที่ผลิตจากเมืองไทย และส่งไปขายที่ดินแดน Down Under ล่วงหน้า
ไปก่อนแล้วนั้น ก็จะกลับมาใช้ชื่อ Pulsar Sedan อีกครั้งหนึ่ง เหมือนกับรุ่น Hatchback
กันอีกด้วย พวกเขาเพิ่งเริ่มยิงภาพยนตร์โฆษณาออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไปแล้ว
เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเปลี่ยนชื่อ เป็น Pulsar แต่ลักษณะการจัดวาง Package ของตัวรถ
ก็ยังคงยึดแนวทางเดียวกันกับ TIIDA 5 ประตู รุ่นเดิมเลยนั่นแหละ เพียงแต่ว่า  จำเป็น
ต้องขยายขนาดตัวถังให้กว้างขึ้น และยาวขึ้น

เพราะอย่างที่ได้เล่าไปในย่อหน้าข้างต้นว่า TIIDA รุ่นเดิม ถูกวางตำแหน่งการตลาดไว้
แปลกประหลาดกว่าชาวบ้านเขา คือ คร่อมกลาง ระหว่าง รถยนต์ Sub-Compact 
B-Segment และกลุ่ม C-Segment Compact Class จนลูกค้าสับสนไปหมด
พากันนำไปเปรียบเทียบกับ Honda Jazz จนเข้าใจผิดว่าราคาแพงกว่าคู่แข่ง

ในเมื่อ แนวทางเดิม มันพาให้ TIIDA เจ๊งบ๊ง ในแทบทุกตลาดที่เข้าไปขาย ยกเว้นญี่ปุ่น
กับจีน ที่โปรดปรานปลาบปลื้มเป็นพิเศษ คราวนี้ ก็ถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยนขนาดและพิกัด
ตัวรถ ให้ยกระดับกลับขึ้นมาเป็นผู้เล่นในตลาด C-Segment เต็มตัวตามเดิมกันเสียที

แต่เมื่อสำรวจกลุ่มลูกค้าที่ซื้อ TIIDA ไป ส่วนใหญ่จะชื่นชอบในความยาวของห้องโดยสาร
ซึ่งอเนกประสงค์ และยาวพอกันกับ Nissan Cima (รุ่นปี 2001 – 2009) Sedan หรูสุด
ดังนั้น เท่ากับว่า สิ่งที่ Nissan ควรจะทำ ก็คือ การรักษา Packaging แบบเดิมใน TIIDA
ไว้ให้ครบ แต่ปรับขนาดให้ใหญ่โตขึ้น เพื่อเอาใจตลาดทั่วโลกเป็นหลัก โดยไม่ต้องสนใจการ
กำหนดความกว้างของตัวรถยนต์ เพื่อการเสียภาษีของรัฐบาลญี่ปุ่นกันอีกต่อไปแล้ว เพราะเท่าที่
เห็นอยู่ ดูเหมือน Nissan เอง ก็ยังไม่คิดจะส่ง Pulsar กลับไปขายในญี่ปุ่นตอนนี้แน่ๆ

ประเด็นนี้ สะท้อนได้จาก ขนาดตัวถังของ Pulsar ที่ยาวขึ้นจากเดิม 4,240 มิลลิเมตร ใน
TIIDA รุ่นเดิม เป็น 4,295 มิลลิเมตร เพิ่มความกว้างขึ้นจาก 1,695 มิลลิเมตร เป็นระดับ
1,760 มิลลิเมตร สูงถึง 1,520 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ ยาวขึ้นเป็น 2,700 มิลลิเมตร ซึ่ง
เทียบเท่ากันได้กับทั้ง Sylphy และ Honda Civic FD รุ่นก่อน

ถ้าจอดเทียบกัน 2 คัน อย่างที่ผมทำมาแล้ว จะเห็นแค่ว่า ตำแหน่งการโป่งพองของหลังคา
ต่างกัน TIIDA จะเน้นหลังคาให้โค้งมนสมส่วน เพื่อความสบายของผู้โดยสาร แต่ Pulsar
จะโป่งขึ้นบริเวณด้านหน้า และลาดไหลลู่ไปทางด้านหลัง ดูเผินๆ อาจเหมือนไม่ต่างกันนัก
แต่คุณจะค้นพบความต่างทั้งหมดนี้ได้ ทันทีที่ก้าวย่างเข้าไปลองนั่งในห้องโดยสาร ไม่ว่า
จะเป็นเบาะใดก็ตาม

เมื่อนำไปเทียบกับคู่แข่งที่ “ตรงรุ่นอย่างแท้จริง” ซึ่งมีเพียง 2 รุ่น พอจะฟัดกันได้ นั่นคือ Ford
Focus 1.6 ลิตร ใหม่ ชัดเจนว่า ขนาดตัวรถยาวกว่ากว้างกว่า Pulsar คือ 4,358 มิลลิเมตร
กว้างก็มากกว่า อยู่ที่ 1,823 มิลลิเมตร. สูงน้อยกว่า 1,484 มิลลิเมตร.แต่ระยะฐานล้อยาวระดับ
2,658 มิลลิเมตร.นั่นล่ะที่สั้นกว่า

แต่โดยรวมแล้วเส้นสายที่เพรียว และขนาดตัวถังที่ยาวและกว้างขึ้น มีส่วนทำให้หน้าตาของ
Focus จะดูเพรียว สปอร์ต แต่แอบมีมัดกล้ามนิดหน่อย ให้ดูสปอร์ตกว่า Pulsar ส่วนคู่แข่ง
อีกรายหนึ่ง ที่ตรงรุ่นกันชัดๆเลย ก็คือ Mazda 3 รุ่น 1.6 ลิตร ที่เทียบกันกับ Pulsar ได้ แต่รุ่น
2.0 ลิตร นั้น ยังไม่มีพิกัดกัดกันสายตรง Mazda 3 Hatchback มีความยาวถึง 4,460 – 4,490
มิลลิเมตร กว้าง 1,755 มิลลิเมตร สูง 1,470 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,640 มิลลิเมตร

อีกประเด็นสำคัญในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ก็คือ Nissan เลือกที่จะ ปรับปรุงบุคลิกของรูปลักษณ์
ภายนอกให้ดูโฉบเฉี่ยว เอาใจหนุ่มสาวทั่วโลก มากยิ่งกว่าเดิม ที่เคยเอาใจ ชาย-หญิง วัยคุณน้า
ชาวญี่ปุ่น อายุเฉลี่ย 40 ปี ที่ชอบความ Premium สบายๆ จนขายแทบไม่ออกในตลาดนอกญี่ปุ่น

เส้นสายภายนอก ออกแบบตามแนวคิด Fluidity & Brisk หรือ ความพริ้วไหว ผสานกับปราดเปรียว
คล่องแคล่ว ซุ้มล้อทั้ง 4 ถูกออกแบบให้มีเส้นวงรี ขณะเดียวกัน เส้นขอบกระจกหน้าต่างด้านล่าง
หรือเส้น Waist Line นั้น Nissan อ้างว่าได้รับอิทธิพลจากแนวเส้นขอบกระจกด้านล่าง ตำแหน่ง
เดียวกันของ Nissan Farilady Z (370Z รุ่นปัจจุบัน)

ผมกลับมองว่า ดูกี่ครั้งๆ ดูยังไงๆ Pulsar ก็ช่างดูคล้ายกับการนำ Premium Mid-Size SUV อย่าง
Nissan Murano รุ่นปัจจุบัน (รุ่นที่ 2)  มาปรับย่อตัวถังกันใหม่ ให้สอดรับกับขนาดและข้อจำกัด
ของตัวรถยนต์ในกลุ่ม C-Segment มากกว่า

จะว่าไปแล้ว การที่ Pulsar ใหม่ จะดูคล้ายกับ Murano มากกว่า 370Z มันก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย
เพราะอย่างน้อย ก็ยังมีกลิ่นอายจากพี่น้องร่วมค่าย อัดแน่นเต็มทุกอณูของตัวรถอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าชิ้นส่วนตัวถังด้านหน้า ถูกออกแบบอย่างจงใจให้แตกต่างจาก Sylphy
เพื่อให้ภายนอกของรถยนต์ทั้ง 2 รุ่นตัวถังไปตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าคนละกลุ่ม
เป้าหมายกันชัดเจน กระนั้น Pulsar ก็ยังมีแนวเส้นขอบกระจังหน้า และการวางตำแหน่ง
แนวเส้นของชุดไฟหน้า ในแนวทางเดียวกัน คือเป็น กระจังหน้าทรง กางเกงในเป้าขยาย!
แบบโครเมียม เหมือนกันทุกรุ่นย่อย

เราอาจจะต้องเห็นกระจังหน้าแบบนี้กันไปอีกพักใหญ่ เพราะตอนนี้ Nissan นำแนวเส้น
ของกระจังหน้าอย่างนี้ ไปใช้กับรถยนต์นั่ง ขับเคลื่อนล้อหน้า แทบทุกรุ่นของตน ตั้งแต่
Almera Sylphy Pulsar และยังรวมถึง Teana ใหม่ ที่มีกำหนดคลอดในบ้านเรา ใน 
เดือนสิงหาคมนี้อีกด้วย! ดูเหมือนจะเหลือก็แค่ March เท่านั้นละ ที่ยังคงใช้กระจังหน้า
ในสไตล์ของตนอยู่ต่อไป จนกว่า march รุ่นใหม่ จะเปิดตัวในปี 2015 รวมทั้ง รถยนต์นั่ง
รุ่นใดก็ตาม ที่จะต้องทำตลาดผ่านแบรนด์ Infiniti ในอนาคต เช่น Skyline Fuga Cima
ฯลฯ ซึ่งจะใช้กระจังหน้า ในสไตล์เอกลักษณ์ที่ต่างจากนี้ยิ่งขึ้นไปอีก

ทุกรุ่น จะมีมือจับประตู และ กระจกมองข้าง สีเดียวกับตัวถัง พร้อมไฟเลี้ยว LED ที่กรอบ
ด้านนอกของกระจกมองข้าง กระจกไล่ฝ้าหลัง พร้อมใบปัดน้ำฝนหลัง แต่ในรุ่น 1.8 V ทั้ง
แบบธรรมดา และรุ่น V Navi จะยกระดับขึ้นดด้วยชุดไฟหน้าแบบ Bi-Xenon Projector
ปรับระดับได้โดยอัตโนมัติ ขณะที่รุ่น 1.6 ลิตรทุกคัน จะเป็นไฟหน้า Halogen ก็จริง แต่ก็
ปรับระดับได้ด้วยเหมือนกัน จากสวิชต์บนแผงหน้าปัด

อุปกรณ์ ที่แตกต่างกัน ของทั้ง 2 รุ่น ยังมีให้เห็นกันอีก คือล้ออัลลอย ในรุ่น 1.8 V ทุกรุ่น
ทั้ง ตัวท็อปและรองท็อป เป็นล้อ 17 นิ้ว สวมยาง Continental Premium Contact 2
ขนาด 205/50 R17 ซึ่งมีลวดลายที่สวยงามและเหมาะกับบุคลิกของ Pulsar มากกว่าล้อ
17 นิ้วลายเรียบๆ ที่เราเคยเห็นกันในภาพถ่ายช่วงงาน Motor Expo ปลายปี 2012
ล้อลายนั้น น่าจะเหมาะไปใส่ใน Sylphy มากกว่า

แต่ถ้าใครอยากได้ ชุดแต่ง Aero Part รอบคัน ทั้งสเกิร์ตหน้า สเกิร์ตข้าง สปอยเลอร์หลัง
และสเกิร์ตหลัง จากโรงงาน Nissan เขาก็จัดให้คุณ ด้วยรุ่น 1.6 SV ที่ยังมีไฟท้ายแบบ
รมดำ รวมทั้ง ล้ออัลลอย 16 นิ้ว เหมือนรุ่นอื่นๆ นั่นแหละ แต่พ่นสีเทาดำ จนดูดุขึ้น

แต่อย่าได้ไปดูยางติดรถนะ..เขาใส่ ยางโลกสวย Bridgestone ECOPIA 195/60R16
อันแสนจะนุ่มนิ่ม มาให้…เฮ้อ…กลุ้ม!

ระบบกลอนประตู ของรุ่น 1.8 V และ 1.6 V จะใช้ รีโมทกุญแจแบบ Keyless Smart Entry 
ถ้าต้องการปลดล็อก เปิดประตู ต้องพกรีโมทรูปข้าวสารเสกสีดำ นี้ไว้กับตัว แล้วต้องกดปุ่มสีดำ บน
มือจับ เพื่อสั่งปลดล็อก แล้วจึงจะเปิดประตูได้ แต่ถ้า จะล็อกประตู ก็กดปุ่ม สีดำ อีกครั้งหนึ่ง แต่
ยังมีสวิชต์ ล็อก – ปลดล็อก มาให้ กระนั้น กลับไม่มีสวิชต์เปิดฝากระโปรงหลัง อย่างรีโมทของ
Sylphy พร้อมทั้งฝังกุญแจสำรองไว้ในชุดรีโมท แต่ต้อง เลื่อนสลักล็อก เพื่อดึงออกมาใช้ในยามที่
แบ็ตเตอรีของรีโมทอ่อนกำลังไฟลง หน้าตาของมัน ก็เหมือนกับ รีโมทกุญแจสหกรณ์รุ่นอื่นๆ
ของ Nissan ในช่วง 2-3 ปีมานี้แหละครับ

เมื่อเปิดประตูเข้ามา คุณจะพบว่า หากมองผิวเผิน ความแตกต่างระหว่าง Pulsar กับ Sylphy เฉพาะ
บริเวณผู้โดยสารด้านหน้า มีเพียงแค่โทนสีเท่านั้น เพราะ Sylphy จะใช้สีเบจ ในการตกแต่งห้อง
โดยสาร แต่ Pulsar จะใช้สีดำ เป็นหลัก ตั้งแต่แผงหน้าปัด แผงประตู รวมทั้ง เบาะนั่ง ส่วนการ
ลุกเข้า – ออก จากตัวรถ ยังถือว่า ให้ความสบายเหมือนกันกับ Sylphy เบาะคนขับในตำแหน่ง
ต่ำสุด จะเตี้ยกว่า เบาะฝั่งซ้ายของผู้โดยสารในตำแหน่งต่ำสุด เหมือนกับ Sylphy อีกนั่นละ

แต่ถ้าสังเกตดีๆ จะพบอีกว่า แผงประตูของ Pulsar นั้น จะเหมือนกันกับ Sylphy เฉพาะครึ่งท่อนล่าง
แค่นั้น ที่เหลือ บริเวณครึ่งท่อนบนทั้งหมด แม้ว่าตำแหน่งวางแจนจะสบาย ในตำแหน่งเหมือนกัน
มีการบุฟองน้ำหนาๆมาให้บริเวณตแหน่งวางแขน และมีช่องใส่ของจุกจิก รวมทั้งขวดน้ำดื่มขนาด
7 บาท เท่ากัน แต่ งานออกแบบจะไม่เหมือนกับ Sylphy ตำแหน่งของ ด้ายเย็บตะเข็บต่างๆ รวมทั้ง
Trim ตกแต่งแผงประตู ลายอะลูมีเนียม ถึงจะคล้ายกัน แต่ไม่เหมือนกัน ลองไปสังเกตกันดูครับ

ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ไหนๆ ตั้งใจจะออกแบบให้แตกต่างกันแล้ว ทำไม ไม่เปลี่ยนไปใช้ ชุด
แผงหน้าปัดแบบเดียวกับเวอร์ชันจีนไปเลยละ จะมาใช้แผงหน้าปัดเดียวกับ Sylphy ทำไมกัน?
เปลืองงบประมาณโดยใช่เล่นหรือเปล่าเนี่ย?

โครงสร้างเบาะนั่งคู่หน้า ยกชุดมาจาก Sylphy แบบไม่ต้องคิดมาก ยกเว้นสีของเบาะหนังเป็น
สีดำ นั่นหมายความว่า พนักศีรษะ ก็จะดันหัวคุณนิดๆอยู่ดีเหมือนกัน พนักพิงหลัง ก็จะมีปีก
ด้านข้างที่มาในแนวกระชับ และมีพื้้นที่ดันหลัง ตรงกลางพนักพิง ที่ดีขึ้นกว่า TIIDA เช่นกัน

กระนั้น โดยรวมแล้ว ให้สัมผัสที่เหมือนๆกัน คือ ถ้าไม่คุ้นชิน นั่งครั้งแรก จะรู้สึกอึดอัด และ
แอบเมื่อย บริเวณช่วงกลางแผ่นหลัง แต่ถ้าคุ้นชินแล้ว อาการต่างๆ ก็จะลดน้อยลงไปเอง แต่
จะไม่หายไปทั้งหมด ส่วนพื้นที่เหนือศีรษะ ยังคงความโปร่ง โล่ง พอสมควร ขณะเดียวกัน
เบาะรองนั่ง ก็ยังให้การรองรับ ที่ดีใช้ได้เหมือนกัน

สิ่งที่ผมอยากเห็นการปรับปรุงคือ ตำแหน่งเบาะผู้โดยสารฝั่งซ้าย ถ้าเป็นไปได้ ควรลดระดับ
ลงมาให้เตี้ยกว่านี้อีกนิด หรือไม่ก็ออกแบบให้าสามารถปรับระดับได้ เหมือนเบาะคนขับที่
ปรับระดับได้เพียงฝั่งเดียว ด้วยจะดีมาก เพราะตำแหน่งเบาะหน้าฝั่งซ้าย สูงเหมือนกับทั้ง
Sylphy และ Corolla Altis รุ่นปัจจุบันกันเลยทีเดียว

การลุกเข้า – ออกจากบานประตูคู่หลัง ทำได้ดีมาก แม้ว่าช่วงประตู อาจจะสั้นกว่า TIIDA
รุน Hatchback เดิม นิดนึง แต่นั่นกลับไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใดเลย คนตัวใหญ่อย่างผม
และ ตาแพน Commander CHENG ยังสามารถลุกเข้า – ออกได้ สบายดังเดิม แผงประตู
ด้านข้าง ก็ยังวางแขนได้ดีเหมือนเช่นแผงประตูคู่หน้า แต่ กระจกหน้าต่าง ก็ไม่สามารถ
เลื่อนลงได้สุด อีกตามเคย เป็นแบบนี้เหมือน Sylphy ไม่มีผิด

การโดยสารบนเบาะหลัง ให้สัมผัสที่แตกต่างอย่างดีกว่า Sylphy อย่างชัดเจน เพราะใช้
เบาะนั่งคนละชุดกัน! นั่นหมายความว่า พนักพิงหลังของ Pulsar ถือว่า สบายกำลังดีแล้ว
มีมุมเอนมากพอสมควร ส่วนพนักศีรษะ แม้จะต้องยกขึ้นมาใช้งาน จึงจะไม่โดนขอบ
ด้านล่างของพนักศีรษะ ทิ่มตำต้นคอ แต่นั่งแล้วถือว่า สบายใช้ได้เลยทีเดียว

แถมพนักวางแขนแบบพับเก็บได้ พร้อมช่องวางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง ที่มีมาให้ ติดตั้งอยู่ใน
ระดับเหมาะสม วางแขนได้สบายกำลังดี จนผมอยากให้เอาไปติดตั้งไว้ใน Sylphy ชะมัด

ส่วนเบาะรองนั่ง ก็นั่งได้เต็มต้นขาของผม แต่สำหรับบางคนถ้านั่งหลังแบบไหลตัวนิดๆ
อาจสั้นไป กระนั้น พื้นที่วางขา ยังคงมีขนาดใหญ่มาก พอกับ TIIDA รุ่นเดิม เลยทีเดียว

พื้นที่เหนือศีรษะ สำหรับคนตัวสูง 171 เซ็นติเมตรอย่างผม ถือว่า เหลือในระดับพอดี
เฉี่ยวกัวนิดๆ แต่ยังเอานิ้ว สอดแทรกเข้าไปตรงกลางได้ 3 นิ้ว แนวนอน ถือว่ายังมีพื้นที่
เหนือศีรษะเหลือได้อยู่ สำหรับคนตัวสูงไม่เกิน 175 เซ็นติเมตร

บนเพดานหลังคา มีมือจับ หรือที่เราเรียกว่า “ศาสดา” (เครื่องมือยึดเหนี่ยวทางจิตใจ
ในยามที่คนขับมันเกิดบ้าระห่ำ) มาให้ 3 ตำแหน่ง แต่ไฟส่องสว่างกลางห้องโดยสาร
ขอบอกว่า นอกจากจะใช้ร่วมกับ Nissan Sylphy ได้แล้ว หน้าตามันยังคุ้นๆว่าจะใช้
ร่วมกันกับ Nissan รุ่นใหม่ๆ แถมรวมรุ่นเก่าก่อน กันได้อีกหลายรุ่น เป็นไฟในเก๋ง
แบบ สหกรณ์ กันไปแล้ว!

สิ่งที่ Sylphy ไม่มีให้คุณแน่ๆ ก็คือ เบาะหลัง สามารรถแบ่งพับได้ในอัตราส่วน 60 : 40
เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บของด้านหลัง ให้ใหญ่โตขึ้น มาในแนวเดียวกับ TIIDA แต่ต้อง
เข้าใจก่อนว่า พับเบาะได้ แต่พื้นห้องเก็บของด้านหลัง จะเตี้ยมาก ดังนั้น จึงไม่อาจ
พับเบาะลงไปในลักษณะ Flat Floor หรือให้ ด้านหลังของพนักพิง เบาะหลัง เชื่อมต่อ
กับพื้นห้องเก็บของได้เลยแต่อย่างใด

แต่สิ่งที่ผมเพิ่งค้นพบอีกเรื่องก็คือ แม้ว่าเบาะหลังของ TIIDA 5 ประตู จะปรับเอนได้
แต่เบาะหลังของ Pulsar ทุกรุ่น “ปรับเอนไม่ได้” นะครับ ไม่เข้าใจว่า จะถอด Option
นี้ออกทำไม หรือผลวิจัยตลาดบอกว่า คนไม่ค่อยใช้ ไม่ค่อยรู้ว่ามีเบาะปรับเอนได้ใน
รถของตน?

ฝาประตูห้องเก็บของด้านหลัง ใช้กลอนไฟฟ้า เชื่อมการทำงานกับระบบล็อกประตูทั้งคัน
มีช็อกอัพค้ำยันมาให้รวม 2 ต้น ครบ 2 ฝั่ง การออกแบบชุดไฟท้ายให้มีขนาดใหญ่ ทำให้
มีส่วนกินพื้นที่เข้าไปยังช่องทางเข้าของห้องเก็บของ ซึ่งอาจจะเล็กไปหน่อย เมื่อเทียบ
กับคู่แข่งในตลาดด้วยกัน เช่นเดียวกับ แนวขอบกันชน ที่จรดกับขอบประตูห้องเก็บของ
ซึ่งค่อนข้างสูงจากพื้นถนนอยู่พอสมควร หากต้องยกสัมภาระเข้าไปยังท้ายรถ อาจต้อง
ออกแรงยกกันสักนิดนึง กระจกบังลมหลัง มีไล่ฝ้า และใบปัดน้ำฝน พร้อมที่ฉีดน้ำล้าง
กระจกมาให้ ทุกรุ่น อย่างที่ควรจะเป็น

ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง มีขนาด ความจุ 310 ลิตร เมื่อยังไม่ได้พับเบาะแถวหลังลงไป
มีแผงบังสัมภาระด้านหลัง  ที่คุณจะปล่อยให้มันนอนนิ่งเป็นอิสระก็ได้ หรือจะเอาเชือก
ที่ติดมาด้านข้าง ไปแขวนห้อยไว้กับฝาประตูห้องเก็บของ เมื่อยกเปิดขึ้นมา ฝาบังสัมภาระ
ก็จะยกตัวขึ้นตามมาให้เห็นดังเช่นในรูป

และเมื่อยกพื้นห้องเก็บของ ทำจาก Future Board แต่หุ้มด้วยผ้า คลุมทับเอาไว้อีกชั้นหนึ่ง
ขึ้นมา จะพบ ยางอะไหล่ เป็นล้อเหล็ก ขนาดเดียวกับยางติดรถพร้อมแม่แรง และบรรดา
เครื่องมือประจำรถ ติดตั้งมาให้เรียบร้อยเสร็จสรรพ

ไม่ต้องมาถามผมนะครับว่า พับเบาะแล้ว ความจุจะเพิ่มได้เป็นอีกกี่ลิตร เพราะผมได้ใช้
ความพยายามอย่างมาก ในการค้นหาข้อมูลดังกล่าวให้คุณแล้ว ในเว็บไซต์ของ Nissan
ณ ประเทศ ที่มี Pulsar เริ่มทำตลาดไปแล้ว โชคร้าย ที่ ในขณะนั่งเขียนบทความรีวิวนี้ ผม
พบว่า ดูเหมือนจะมีเพียงประเทศจีน ไทย และกำลังจะตามมาด้วย Australia เท่านั้น ที่จะ
มีรถยนต์รุ่นนี้ ทำตลาด เว็บ Australia ไม่ต้องพูดถึง ไม่มีข้อมูลมากพอ ลองค้นในเว็บ  
Nissan.com.cn ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของ Nissan ในประเทศจีน ก็ต้องใช้เวลาอยู่พักใหญ่ กว่า
จะพบว่า นอกเหนือจากตัวเลข 310 ลิตร ซึ่งมีอยู่ด้านหลังแค็ตตาล็อก ภาษาไทยแล้ว คุณจะ
ไม่เจอตัวเลขความจุ ห้องเก็บของด้านหลัง เมื่อพับเบาะแถวหลังทั้ง 2 ฝั่ง แต่อย่างใด!

ไม่เข้าใจจริงๆว่า ตัวเลขแค่นี้ จะกั๊กอะไรกันนักกันหนา ขนาด ไฟส่องสว่างในห้องเก็บ
สัมภาระด้านหลัง ก็ยังไม่มีรูปถ่ายในแค็ตตาล็อก ต้องไปไล่เจอกันเอาเองในตารางข้อมูล
ท้ายเล่ม ถึงพบว่า เออ ใส่มาให้ด้วยนะ!

Nissan นี่จริงๆเลย ให้ตายเถอะ กี่ปีๆ ผ่านไป ก็ยังคงทำตัวเหมือนเดิม คือ มีของดี แต่ดัน
ไม่ยอมโฆษณา! ไอ้ Gimmick เล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ มันเอามาโฆษณาได้ สร้างการรับรู้
ของผู้คนได้ ไม่ทำ! ชักสงสัยว่า ประเด็นนี้ คนญี่ปุ่น หรือคนไทย ใครกันแน่ ที่มีนโยบาย
ชวนให้จับเอาหัวโขกผนังหินอ่อน หน้าออฟฟิศ ชั้น 15 ตึกนันทวัน ซะจริงๆเลยเชียว!

เมื่อก้าวขึ้นมานั่งบนรถ แม้ว่าแผงหน้าปัดจะยกชุดมาจาก Sylphy ทั้งดุ้น ไม่ผิดพิมพ์เขียว
จนทำให้ผมนึกเฉลียวสงสัยว่า นอกจากเหตุผลด้านต้นทุนการผลิตแล้ว ทำไม Nissan จึง
ไม่ทำแผงหน้าปัดจาก TIIDA เวอร์ชันจีน เป็นเวอร์ชันพวงมาลัยขวา เพื่อสร้างความต่าง
ให้เกิดขึ้นระหว่าง Pulsar กับ Sylphy กันเสียเลย? ทีแผงประตู ยังทำได้ละ?

แต่ก็ป่วยการจะหาคำตอบครับ เพราะ Nissan เป็นบริษัทที่มี Logic การสร้างรถยนต์ที่
ควรถูกเรียกว่า “ผู้ผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ระดับ Mass ที่แอบใส่ความเป็น Indies ลงไป
ในรถยนต์ของพวกเขา โดยที่เราไม่รู้ตัว” ขนาด TIIDA Hatchback รุ่นที่แล้ว ถ้าคิดจะ
ติดระบบ Cruise Control เอง รุ่น 1.8 ลิตรทำได้ แต่รุ่น 1.6 ลิตร ทำไม่ได้นะคร้าบบ!
อะไรมันจะน่ามึนงงได้มากไปกว่านี้อีก?

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า พอเปลี่ยนมาใช้สีดำแล้ว แผงหน้าปัดชุดนี้ กลับดูดี
มากขึ้นยิ่งไปกว่าตอนที่เป็นสีเบจ อยู่ใน Sylphy ด้วยซ้ำ แม้จะเป็นคนละแนวทาง

มองขึ้นไปด้านบน คุณจะพบว่า นอกจาก กระจกมองหลัง แบบตัดแสงได้ด้วยระบบ
อัตโนมือ ของคุณเอง ติดตั้งบนกระจกบังลมหน้า แล้ว แผงบังแดด ทั้ง 2 ฝั่ง ซ้าย-ขวา
ยังมีกระจกแต่งหน้า พร้อมไฟแต่งหน้ามาให้ ครบถ้วน! แถมยังมี ช่องเก็บแว่นกันแดด
บุด้านในด้วยผ้า มาให้อีก ไม่นับไฟอ่านแผนที่มาให้ 2 ตำแหน่ง ขอปรบมือให้ ณ จุดนี้!

ส่วนตำแหน่งคนขับนั้น นอกเหนือจาก การตกแต่งด้วยสีดำแล้ว แทบจะหาความแตกต่าง
จาก Sylphy ได้ยากมาก ยกเว้น บางอุปกรณ์ ที่ถูกติดตั้งเพิ่มเข้ามาเป็นพิเศษ ให้กับ Pulsar
1.8 V โดยเฉพาะ แค่นั้น จนสามารถยกบทความ Sylphy มา Copy แล้วแปะใส่ในบทความ
รีวิว Pulsar ครั้งนี้ได้เลยด้วยซ้ำ แต่อันที่จริง เพื่อให้เห็นความแตกต่าง จากบทความ รีวิว
Nissan Sylphy ผมจะทำ ไฮไลต์ สีแดง เอาไว้ให้ ในหัวข้อที่มีความแตกต่างจาก Sylphy
เพื่อเน้นย้ำให้ชัดเจนก็แล้วกันนะครับ

จากฝั่งขวา ของแผงหน้าปัด มายังแผงควบคุมกลาง

กระจกหน้าต่างไฟฟ้าทั้ง 4 บาน เฉพาะบานคนขับ เป็นแบบ One-Touch เลื่อนขึ้น – ลง
ได้ด้วยการกด หรือดึงสวิชต์ขึ้น เพียงครั้งเดียว มีสวิชต์ล็อกกันไม่ให้ผู้โดยสาร เปิดใช้งาน
หน้าต่าง 3 บาน และมีสวิชต์ Central Lock ควบคุมได้จากแผงเดียวกัน

ใต้ช่องแอร์ ฝั่งคนขับ มีทั้งสวิชต์ ปรับความสว่างของชุดมาตรวัด และสวิชต์ กระจกมองข้าง
ปรับและพับไฟฟ้า ยกชุดจาก TIIDA มีระบบพับเก็บเองเมื่อดับเครื่องยนต์ มาให้ครบทุกรุ่น!
(ต่างจาก Sylphy ที่จะมีให้ตั้งแต่รุ่น 1.6 V ขึ้นไป)

สวิชต์เปิดฝากระโปรงหลัง ย้ายจากพื้นรถ มาอยู่ฝั่งขวาของคอพวงมาลัย ส่วนมือจับดึงเปิด
ฝาถังน้ำมันและฝากระโปรงหน้า อยู่ชิดใกล้ติดกัน ถัดลงไปอีก ทางด้านล่างฝั่งขวา ของชุด
แผงหน้าปัด รวมทั้งสวิชต์ปรับระดับไฟหน้า Halogen สูง – ต่ำ ที่มีมาให้ในรุ่น 1.6 ลิตร
ทุกรุ่น ยกเว้นรุ่น 1.8 ลิตร ที่จะมี ชุดไฟหน้าแบบ Bi-Xenon Projector ปรับระดับสูง ต่ำ
ได้เอง อัตโนมัติ (ต่างจาก Sylphy ที่มีเฉพาะไฟหน้า Halogen และมีสวิชต์ปรับระดับ
สูง  ต่ำมาให้ ทุกรุ่นทุกคัน)

ก้านสวิชต์ไฟหน้า ไฟเลี้ยว และไฟสูง อยู่รวมกันที่ฝั่งขวาตามมาตรฐานรถญี่ปุ่นทั่วไป
มีขนาดใหญ่จนนึกถึงก้านสวิชต์ของรถยนต์อย่าง Chevrolet เลยทีเดียว ส่วนฝังซ้าย
ก็ยังคงเป็นที่อยู่ของ ก้านสวิชต์ใบปัดน้ำฝนแบบตั้งเวลาปัด และหน่วงเวลาปัดตาม
ความเร็วของรถได้ (แต่ยังไม่มี Rain Sensor) ส่วนใบปัดน้ำฝน เป็นแบบ Flat blade
ไร้โครงเหล็ก เหมือนกับ Sylphy ถ้าจะยกใบปัดขึ้นมาตั้งตรง ทำไม่ได้นะครับ แต่
ถ้าจะเปลี่ยนใบปัด ก็ต้องมีกรรมวิธี ซึ่งพอจะศึกษาได้จากคู่มือผู้ใช้รถอีกที อย่าได้
ถามมาที่ผม เพราะ ทาง Nissan ไม่ได้แนบคู่มือมาให้ผมนั่งอ่านแต่อย่างใด

พวงมาลัย 3 ก้าน แบบ Telescopic ปรับระดับสูง – ต่ำ ได้ 40 มิลลิเมตร และปรับระยะ
ใกล้ – ห่าง จากตัว ได้ 30 มิลลิเมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลาง และเส้นรอบวงเหมาะสมมาก
คนทั่วไปจะจับพวงมาลัยนี้ได้กำลังพอดี ไม่หนาอวบอ้วน หรือบางจ๋องเกินเหตุ

และต้องขอจุดพลุไชโย ฉลองที่ Nissan นำพวงมาลัยแบบ Telescopic มาใส่ในรถยนต์
ระดับบ้านๆ ประกอบในประเทศไทยกันเสียที หลังจากสงวนไว้แต่ใน รถสปอร์ต รุ่น
GT-R เท่านั้น!

อีกประเด็นสำคัญที่ทำให้ Pulsar รุ่น ท็อป แตกต่างจาก Sylphy รุ่นท็อป ชัดเจนคือ…
ระบบควบคุมความเร็วคงที่ Cruise Control ซึ่งในช่วงแรก ผมก้ไม่เข้าใจว่า ทำไม Nissan
ไม่ยอมติดตั้งมาให้ใน Sylphy เสียที จนกระทั่ง Nissan Pulsar เปิดตัวออกมานี่แหละ
ถึงได้บางอ้อ บางคอแหลม บางน้ำเปรี้ยว กันเลยว่า ออพชันนี้ “กั๊กไว้ให้กับ Pulsar” นั่นเอง
ติดตั้งฝั่งขวาของแป้นพวงมาลัยนั่นละ

ได้แต่หวังว่า ในรุ่นปรับปรุงอุปกรณ์ ที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องจากนี้ ปีละครั้ง ช่วยใส่มาให้กับ
ลูกค้าที่ซื้อ Sylphy รุ่น 1.8 ลิตรด้วยเสียทีเถิด แล้วตั้งราคาขายเป็น 936,000 ถึง 
940,000 บาท ก็ไม่มีใครด่าหรอก!

ส่วนฝั่งซ้ายของแป้นพวงมาลัยนั้น เป็นที่อยู่อาศัย ของทั้ง สวิชต์เลือกเมนู หน้าจอ
Multi Information Display ตรงกลาง ถัดลงมา เป็นสวิชต์ควบคุมชุดเครื่องเสียง
และในรุ่น 1.8 V Navi จะเพิ่ม สวิชต์ควบคุม การใช้งานโทรศัพท์ รับ-วางสาย
มาให้เป็นพิเศษ

ฝั่งซ้ายของคอพวงมาลัย เป็นสวิชต์ ติดและดับเครื่องยนต์ แบบ Push Start ยกมาจาก
Sylphy March Almera และ Cube

ชุดมาตรวัด ยกมาจาก Sylphy ทั้งดุ้น เป็นแบบ Analog เรืองแสง ปรับความสว่างได้
ตามใจชอบ ยังคงเลือกใช้ Font ตัวเลข ที่ง่ายต่อการอ่านข้อมูล ขณะขับขี่ ลดเวลา
ในการละสายตาจากถนนได้ดี

มาตรวัดรอบเครื่องยนต์ ออกแบบให้อยู่ฝั่งซ้าย มาตรวัดความเร็วไว้ฝั่งขวา มีมาตรวัด
อุณหภูมิน้ำหล่อเย็นกลับคืนมา อย่างที่รถยนต์ทั่วไปควรมีกันเสียที หลังจากที่เคย
หายไปใน TIIDA มาแล้วรอบนึง! และมีระบบหน้าจอแจ้งตำแหน่งเกียร์มาให้ด้วย
ตามธรรมเนียมของรถยนต์สมัยนี้

ตรงกลางเป็นจอ Multi-Information Display แสดงข้อมูลทั้ง Trip Meter A และ B
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงขณะขับขี่ ทั้งแบบ Real Time และแบบเฉลี่ย ความเร็วเฉลี่ย
ระยะทางที่น้ำมันในถังยังเหลือพอให้แล่นต่อไปได้ รวมทั้งมาตรวัดอุณหภูมินอกรถ
และนาฬิกา Digital ทั้งหมดนี้ ควบคุมและเลือกเปลี่ยนได้จาก สวิชต์ด้านบนสุดฝั่งซ้าย
ของพวงมาลัย

สวิชต์ไฟฉุกเฉิน ติดตั้งอยู่ในตำแหน่งเหมาะสม สะดวกต่อการใช้งานในวินาทีเร่งด่วน
คือติดตั้งอยู่ตรงกลาง ระหว่าง ช่องแอร์คู่กลาง ก็เหมือนกับ Sylphy นั่นแหละ!

ด้านความบันเทิง ชุดเครื่องเสียงในรุ่น 1.6 V และ SV หน้าตาเหมือนกันครับ คือเป็น
วิทยุ AM/FM พร้อมเครื่องเล่น CD / MP3 1 แผ่น มีหน้าจอสี LCD 4.3 นิ้ว พร้อมช่อง
เสียบเชื่อม AUX และ USB มาให้ แบบเดียวกับที่พบได้ใน Sylphy 1.8 V ธรรมดา
เพียงแต่ว่า ต่อเชื่อม Bluetooth ไม่ได้ มาพร้อมลำโพง 4 ชิ้น คุณภาพเสียง จัดอยู่ใน
เกณฑ์ดี ฟังได้ แต่เสียงใสไม่ได้ใสเท่ากับเครื่องเสียงของ City 2008 ที่ผมใช้อยู่
แต่ภาพรวมถือว่า สอบผ่าน

ส่วนเครื่องเสียง ในรุ่น 1.8 V Navi เป็นแบบเดียวกับ Sylphy 1.8 Navi ตัวท็อป คือเป็น
วิทยุ AM/FM พร้อมเครื่องเล่น CD / MP3 1 แผ่น พร้อมช่องเสียบเชื่อม AUX กับ USB
มาให้ แต่ เพิ่มหน้าจอมอนิเตอร์ สี แบบ Touch Screen ขนาด 5.8 นิ้ว พ่วงด้วย ระบบ
นำทางผ่านดาวเทียม GPS พร้อมข้อมูลแผนที่ ใส่ไว้ใน SD Card จาก NAVTEQ และ
Bosch

บอกเลยว่า ใช้งานง่ายมากๆ ไม่ต้องรอนาน แค่หมุนๆปุ่ม กดคลิ๊ก! เลือก หมุน เลื่อน
หน้าจอ ทันใจ และนำทางได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ แม้ว่าแผนที่จะยังไม่ครบถ้วน
แต่บนถนนสายหลักๆ รายละเอียด ก็อัพเดทใช้ได้ ที่เยี่ยมมากๆ ก็คือ ถ้าคุณขับรถอยู่
ภาพในระบบนำทาง จะ Zoom Out ออกห่างให้คุณได้เห็นภาพว่า จากจุดที่ขับอยู่นั้น
ต่อไป จะถึงตำแหน่งแห่งหนใด พอคุณชะลอรถจนหยุดนิ่งภาพหน้าจอ จะ Zoom In
เข้ามาให้ใกล้ขึ้น เพื่อให้คุณเห็นตำแหน่งรอบตัว หรือถ้าต้องการ Zoom in-out เอง
ก็สามารถเลื่อนภาพแผนที่เข้าใกล้ หรือห่างได้ ด้วยการหมุนสวิชต์วงกลมฝั่งขวา ซึ่ง
ทำหน้าที่เป็นเหมือนสวิชต์ เลือกคำสั่ง ของทั้ง วิทยุ โทรศัพท์ ฯลฯ ในตัว

การเชื่อมต่อกับ โทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านทาง Bluetooth ได้ง่าย แม้ว่าคุณจะใช้โทรศัพท์
ระบบ Andriod ก็ตาม นอกจากนี้ หน้าจอยังแสดงข้อมูลเพลง รวมทั้งรายชื่อของผู้คน
ในสมุดโทรศัพท์ เป็นภาษาอังกฤษก็ได้ ไทยก็ได้ ภาษาญี่ปุ่นก็ได้อีก แถม ยังมีหน้าจอ
แสดงคะแนนการขับประหยัด รวมทั้งแสดงกราฟให้ดูกันเล่นๆด้วย

ถือเป็นระบบนำทางติดตั้งจากโรงงาน ที่ผมขอชมเชยอีก 1 ชุด เท่าที่เคยเจอมา ในบรรดา
รถยนต์ประกอบในประเทศ ทุกรุ่น ทุกแบบ ทุกยี่ห้อ ณ ตอนนี้

เครื่องปรับอากาศ เป็นแบบอัตโนมัติ Digital แยกฝั่งซ้าย -ขวา และมีช่องแอร์ สำหรับ
ผู้โดยสารด้านหลัง 2 ช่อง แยกมาให้ มีตั้งแต่รุ่น 1.6 V ขึ้นมา ยกเว้นแค่รุ่นล่างสุด 1.6 S 
เพียงรุ่นเดียว ที่ยังคงเป็นเครื่องปรับอากาศแบบมาตรฐานอยู่

ถัดลงไป เป็นช่องเขี่ยบุหรี่ ยกออกไปเทขยะข้างนอกได้ พร้อมช่องเสียบอุปกรณ์ไฟฟ้า
สำหรับชาร์จแบ็ตเตอรี โทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์ Gadget อื่นๆ

ส่วน ฐานคันเกียร์ ประดับด้วย Trim ลาย Carbon Fiber look alike ขลิบขอบด้วยสีเงินเงาๆ
ที่ดูดีมีชาติตระกูล แต่บางคนอาจไม่ชอบ ซึ่งก็ต้องแล้วแต่รสนิยม

ทุกรุ่นให้กล่องเก็บของพร้อมฝาปิด แบบเป็นพื้นที่วางแขนในตัว มาให้เสร็จสรรพ ถึงแม้ว่า
ฝาด้านบน จะเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง เพื่อหวังรองรับการวางแขน แต่เอาเข้าจริงแล้ว มันก็
แค่พอวางได้แบบเฉียดๆ ยังไม่ถึงกับวางแขนได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่าที่ควร ด้านในกล่อง
มีช่องเสียบ USB และ AUX พร้อมฝาปิดมาให้ อีกทั้งยังมีช่องวางเศษเหรียญถัดจากคันเกียร์
และช่องวางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง พร้อมฝาเลื่อนปิดมาให้ เหมือนกันทั้ง 2 รุ่นย่อย ติดตั้งไว้ข้าง
เบรกมือ ซึ่งก็ไม่ยอมย้ายฝั่งมาทางด้านขวา ให้ใกล้มือคนเอเซีย ยังคงติดตั้งไว้ฝั่งซ้ายเหมือน
รถรุ่นพวงมาลัยซ้าย เพราะขี้เกียจย้ายฝั่งกันอยู่ดี นี่ก็จะยังเป็นสิ่งที่ Nissan อาจโดนลูกค้า
ตำหนิได้ ทั้งใน Sylphy และ Pulsarใหม่

แต่สิ่งที่น่าชมเชยก็คือ ในรุ่น 1.8 V Navi จะติดตั้ง Sunroof เลื่อนเข้า – ออกได้ด้วยสวิชต์
ไฟฟ้ามาให้ การทำงาน ใช้สวิชต์สีดำ ใกล้ไฟอ่านแผนที่ฝั่งซ้ายเพียงชิ้นเดียว ควบคุมได้ครบทั้ง
เลื่อนเปิด-ปิด ยกกระดก ระบายอากาศ กระจกด้านบน แม้จะกรองแสง แต่สียังไม่เข้มเท่าที่ควร

ถือเป็นรถยนต์นั่งประกอบในประเทศไทย ราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท รุ่นแรกในรอบหลายปีที่ติดตั้ง
Sunroof มาให้ และถ้าย้อนประวัติศาสตร์ดูดีๆ Nissan เคยทำแบบนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง เพียงแต่
พวกเขาติดตั้ง Sunroof แบบกลไก ให้กับ รถกระบะ Nissan BigM King Cab เมื่อราวๆ ปี
1995!

ทัศนวิสัยด้านหน้า ก็เหมือนกับ Sylphy คือ มองทางข้างหน้าเห็นได้ชัดเจน โปร่งกำลังดี
ถ้ายกเบาะให้สูงกว่าปกติ ก็จะมองเห็นฝากระโปรงหน้า เหมาะกับคุณผู้หญิงที่มีปัญหา
การกะระยะ ขณะจอดรถ แต่ถ้าปรับเบาะลงมาจนสุด ก็จะไม่ค่อยเห็นฝากระโปรงหน้า

มองมาทางขวาเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งขวา อาจมีการบดบัง รถคันที่แล่นสวนมา
บนทางโค้งขวา ของถนนสวนกัน 2 เลน อยู่บ้าง แต่ก็ไม่มากมายนัก ยังพอยอมรับได้
กระจกมองข้าง ออกแบบให้กรอบด้านใน เบียดพื้นที่การมองเห็นของกระจกเข้ามา
น้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ทำให้การทองเห็นรถคันที่แล่นมาข้างๆ ชัดเจนขึ้น

มองมาทางซ้าย เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งซ้าย มีการบดบังรถที่แล่นสวนทางมา
ขณะที่คุณกำลังเลี้ยวกลับ ในบางรูปแบบของจุดเลี้ยวกลับ แต่กระจกมองข้างฝั่งซ้าย
ก็มีการบดบังรถที่แล่นมาทางด้านซ้าย น้อยเช่นเดียวกันกับ Sylphy

แต่ทัศนวิสัยด้านหลังนี่แหละ คือจุดที่ Pulsar จะแตกต่างจาก Sylphy เพราะรูปแบบ
ของเสาหลังคาคู่หลัง C-Pillar ที่ไม่เหมือนกัน กระนั้น กระจก Opera บานถัดจาก
ประตูคู่หลัง ที่เพิ่มเข้ามา อาจช่วยให้คุณมองเห็น SV ที่แล่นมาทางด้านซ้ายดีขึ้น
แต่ ขอบด้านล่างที่สูงไปสักหน่อย ทำให้พื้นที่ของเสา C-Pillar ทั้งหมดบดบังเหล่า
จักรยานยนต์ ได้เต็มคัน การถอยหลัง หรือ การเปลี่ยนเลนเข้าช่องคู่ขนาน ควรเพิ่ม
ความระมัดระวัง แม้ว่า กระจกบังลมหลัง จะโปร่งกว่า รถยนต์ 5 ประตูหลายรุ่นก็ตาม

********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

Pulsar เวอร์ชันไทย จะใช้เครื่องยนต์หลักลูกเดียวกันกับ Pulsar ออสเตรเลีย TIIDA โฉมเดียวกันนี้
ในจีน และ Sylphy เวอร์ชันญี่ปุ่น จีน กับอเมริกาเหนือ ซึ่งในประเทศทั้ง 3 นั้น จะมีเครื่องยนต์ให้เลือก
เหมือนกัน ร่วมกัน เพียงแค่แบบเดียว

นั่นคือเครื่องยนต์รหัส MRA8DE บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,798 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก
79.7 x 90.1 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 9.9 : 1 หัวฉีด EGI คุมด้วยกล่อง ECCS-32bit พร้อมระบบ
แปรผันวาล์ว CVTC (Continous Variable Valve Timing Control) กำลังสูงสุด 131 แรงม้า (PS) 
ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 174 นิวตันเมตร (17.8 กก.-ม.) ที่ 3,600 รอบ/นาที 

แต่เวอร์ชันไทย ก็จะมาในมุขเดียวับ Sylphy คือต้องมีขุมพลัง พิกัด 1.6 ลิตร มาให้เลือกอีกด้วย
เป็นเครื่องยนต์เดิม ที่ประจำการมาก่อนหน้านี้แล้วใน TIIDA และ TIIDA Latio รหัส HR16DE
บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,598 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 78.0 x 83.6 มิลลิเมตร อัตราส่วน
กำลังอัด 9.8 : 1 หัวฉีด EGI คุมด้วยกล่อง ECCS-32bit พร้อมระบบแปรผันวาล์ว CVTC เช่นกัน
แต่เป็น HR16DE เวอร์ชันใหม่ 2 หัวเทียน/ 1 สูบ กำลังสูงสุด 116 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 154 นิวตันเมตร (15.7 กก.-ม.) ที่ 4,000 รอบ/นาที

ทั้ง 2 ขุมพลัง ทำงานร่วมกับระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยเกียร์อัตโนมัติ แบบอัตราทด
แปรผัน X-tronic CVT เพียงแบบเดียว ไร้เงาของเกียร์ธรรมดามาให้ทั้งสิ้น อัตราทด
เกียร์ อยู่ที่ 4.006-0.550 : 1 เกียร์ถอยหลัง 3.771 : 1 ส่วนอัตราทดเฟืองท้ายนั้้น ต่างกัน
รุ่น 1.8 ลิตร จะอยู่ที่ 3.514 : 1 ขณะที่รุ่น 1.6 ลิตร จะอยู่ที่ 3.754 : 1

ซึ่งก็คือเกียร์อัตโนมัติ CVT จาก Jatco ลูกเดียวกันกับที่ติดตั้งใน Nissan March รวมทั้ง
Suzuki Swift และ Mitsubishi Mirage เลยทั้งดุ้น อย่างที่ได้บอกไปแล้วในบทความเรื่อง
Full Review : Nissan Sylphy นั่นเอง!

สมรรถนะจะเป็นอย่างไรบ้างนั้น เรายังคงทำการจับเวลาตามมาตรฐานดั้งเดิม คือ จับเวลา
ในตอนกลางคืน เปิดแอร์ พัดลมเบอร์ 1 นั่ง 2 คน น้ำหนักจะไม่เกิน 160 กิโลกรัม และเปิด
ไฟหน้า และผลลัพธ์ที่ได้ออกมา เมื่อเทียบกับ คู่แข่งในพิกัดเดียวกัน มีดังนี้

เมื่อเห็นตัวเลขแล้ว คุณอาจแปลกใจว่า ทำไม Pulsar 1.8 ลิตร ถึงทำตัวเลขออกมาได้ด้อยกว่า
พี่ชายร่วมตระกูล อย่าง Sylphy ทั้ง 1.6 ลิตร และ 1.8 ลิตร ที่ใช้ทั้ง Platfoem เครื่องยนต์ 
ระบบส่งกำลัง และชิ้นส่วนวิศวกรรมแทบจะทั้งหมด ยกชุดถอดสลับสับเปลี่ยนกันได้หลายชิ้น

ถ้าเป็นรุ่น 1.8 ลิตร คำตอบก็พอจะมีให้เห็นอยู่บ้าง จากการใส่ล้ออัลลอยขนาด 17 นิ้ว ซึ่งมี
น้ำหนักเพิ่มขึ้นชัดเจน หน้ายางที่กว้างขึ้น แรงเสียดทานก็เยอะขึ้น เครื่องยนต์ออกแรง
เท่าเดิมหรือมากกว่าเดิมนิดหน่อย แต่นอกเหนือไปจากนี้ ผมก็ยังแปลกใจเหมือนกันละครับ

ส่วนรุ่น 1.6 ลิตรนั้น ถ้าเปรียบเทียบกับ Sylphy 1.6 CVT และ TIIDA 1.6 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ
4 จังหวะ แล้ว การรอจังหวะให้รถออกตัวเพียงเสี้ยววินาที ของ Pulsar 1.6 ให้ผลลัพธ์ออกมา
กลายเป็นว่า ช่วง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ช้ากว่า Sylphy 1.6 ลิตร 0.93 วินาที แต่ช้ากว่าเจ้า
TIIDA 1.6 ลิตร ถึง 0.74 วินาที กระนั้น ในช่วงเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถึงแม้ว่า
Pulsar 1.6 CVT จะช้ากว่า Sylphy 1.6 CVT ที่ 0.73 วินาที แต่ยังเร็วกว่า TIIDA 1.6 เดิม แม้
ว่าจะเป็นเพียงแค่ 0.35 วินาที ก็ตาม

ตัวเลขอัตราเร่งของ Pulsar เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งในพิกัด C-Segment ด้วยกันคันอื่นๆ
ก็ต้องบอกว่า ยังเร็วกว่า Chevrolet Cruze 1.8 ลิตร , Mazda 3 รุ่น 1.6 และ 2.0 ลิตร กับ
Mitsubishi Lancer EX 1.8 ลิตร แถมตัวเลขนั้น ยังไปอยู่ในเกณฑ์ไล่เลี่ยกับ Honda Civic
1.8 ลิตร FB รุ่นปัจจุบัน แต่ ก็ยังไม่ไวเท่า Toyota Corolla AALIS 1.8 CVT ทำได้แค่เสมอ
Altis 1.6 G เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ เท่านั้น

ส่วนความเร็วสูงสุดนั้น โดยปกติแล้วที่เราเจอมาในการทดลอง รถยนต์ Hatchback ท้ายตัด
มักมีความเร็วสูงสุด น้อยกว่ารถยนต์ Sedan เว้นเสียแต่ในบางกรณีเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้
ตัวเลขที่ คุณได้เห็นบนมาตรวัดของ Pulsar ทั้ง 2 รุ่น ก็คงไม่มีอะไรให้อธิบายเพิ่มเติม
ไปมากกว่านี้อีก

ขอย้ำเหมือนเช่นเคยว่า การทดลองความเร็วสูงสุดให้ดูนั้น เกิดขึ้นในระยะเวลาอันนั้น
ไม่ได้กดแช่ยาวๆ และเน้นคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเอง รวมทั้งผู้ร่วมใช้เส้นทาง
อย่างเข้มงวด โปรดอย่านำไปทำการทดลองด้วยคนเองโดยเด็ดขาด เพราะนอกจากจะ
ผิดกฎหมายแล้ว ยังอาจก่ออันตรายถึงชีวิต ทั้งต่อตนเองและผู้บริสุทธิ์อื่นๆอีกด้วย! และ
หากเกิดเหตุการณ์ใดๆขึ้น เราจะไม่รับผิดชอบในทุกกรณี! เพราะถือว่า นำไปทำกันเอง
ทั้งที่เราก็ได้เตือนและห้ามปรามกันแล้ว

Pulsar ไม่ใช่เพียงแค่สร้างขึ้นบนพื้นตัวถังเดียวกัน และใช้เครื่องยนต์ร่วมกันกับ Sylphy เท่านั้น
หากแต่ยังใช้ระบบบังคับเลี้ยว ระบบกันสะเทือน และระบบห้ามล้อ ร่วมกันอีกด้วย

ระบบบังคับเลี้ยวยังคงเป็น พวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบกลไก
โดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้า EPS (Electronics Power Steering) รัศมีวงเลี้ยว 5.2 เมตร ถ้าพูดกันตรงๆ
ก็คือ ในรุ่น 1.6 ลิตร นั้น พวงมาลัย ตอบสนองได้เบา หมุนได้คล่องแคล่ว กระชับ แต่แม่นยำ ใน
ช่วงความเร็วต่ำ ขณะขับคลานๆในเมือง เหมือน Sylphy 1.6 ลิตร เลยนั่นแหละครับ

แต่ถ้าเป็นรุ่น 1.8 ลิตร ล้อ 17 นิ้ว จะมีส่วนช่วยเพิ่มน้ำหนักที่คุณจะต้องหมุนพวงมาลัย มากขึ้น
นิดเดียว อย่างสัมผัสได้ แม้จะยังไม่ถึงกับหนักหนาอย่างคู่แข่ง ความคล่องตัวก็จะลดน้อยลง
ไปนิดนึง ไม่มากนัก พอให้จับอาการได้อยู่

แต่ในช่วงความเร็วสูง พวงมาลัยของ รุ่น 1.8 ลิตร จะโดดเด่นขึ้นกว่า รุ่น 1.6 ลิตร ก็เพราะว่า
ในขณะที่ การตอบสนอง ทั้งช่วงการควบคุมรถ หรือการเลี้ยวเข้าโค้ง ของ Pulsar 1.6 ลิตร
จะเหมือนกับ พวงมาลัยของ Sylphy 1.6 ลิตร ไม่มีผิดเพี้ยนเลย ทั้งน้ำหนัก การต้องเลี้ยง
พวงมาลัยขณะอยู่ในโค้ง ระยะฟรี สัมผัสในขณะเริ่มเลี้ยวพวงมาลัยเข้าโค้ง

แต่ Pulsar 1.8 ลิตร จะต่างออกไป เพราะแม้น้ำหนักจะยังเบาอยู่ แต่สังเกตได้เลยว่า มันจะ
หากต้องหักเลี้ยวแรงๆ ในความเร็วไม่สูงมากนัก หน้ายางจะช่วยยึดเกาะถนน จนสามารถ
เลี้ยวผ่านทางโค้งหักศอก ด้วยความเร็ว 40 – 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้สบายๆ ถ้าคุณไม่เติม
คันเร่งเข้าไปจนรถออกอาการหน้าดื้อ ไปเสียก่อน นอกจากนี้ การถือพวงมาลัยตรงๆนั้น
ด้วยระยะฟรีที่เหมาะสม ช่วยให้ On Center feeling นิ่ง ปล่อยมือจากพวงมาลัยได้ สบายๆ

แต่ถ้าถามว่า ยังต้องปรับปรุงอะไรอีกไหม ผมก็จะยังคงยืนยันความเห็นเดิมเหมือนใน
บทความรีวิว Sylphy นั่นแหละครับว่า ช่วยเพิ่มน้ำหนักของพวงมาลัย ให้หนักกว่านี้ ใน
ช่วงที่ใช้ความเร็วเกินกว่า 80 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป โดยรักษาความเบาะสบายในการ
บังคับเลี้ยวช่วงความเร็วต่ำแบบนี้เอาไว้ และเซ็ตให้การทำงาน ให้เป็นธรรมชาติกว่านี้
ใกล้เคียงกับพวงมาลัย แบบเพาเวอร์ไฮโดรลิกมากกว่านีอีกนิดนึง เพียงเท่านี้ ถือว่า
ลงตัวดีเพียงพอแล้ว

ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบแม็คเฟอร์สันสตรัต ด้านหลัง เป็นแบบทอร์ชันบีม ซึ่งก็แทบจะ
ยกชุดมาจาก Sylphy เลยทั้งดุ้น ก็จริงอยู่ และในภาพรวมแล้ว หากเป็นรุ่น 1.6 ลิตร ที่ใช้ล้อยาง
ขนาด 16 นิ้ว การตอบสนอง มันก็แทบจะไม่แตกต่างจาก Sylphy เลยเช่นกัน คือ ในช่วงที่ใช้
ความเร็วต่ำ มันก็ไม่ด้ถึงกับนุ่มไปกว่าชาวบ้านเขานัก ขณะขับผ่านหลุมบ่อ ฝาท่อ ลูกระนาด
ในซอยอารีย์ ยังคงพบอาการสะเทือนเข้ามาเล็กๆ แบบเดียวกับที่พบได้ใน Sylphy ล้อ 16 นิ้ว
ส่วนช่วงความเร็วสูง ถึงมีอาการโยนตัวออกชัดเจน แต่ รถก็ยังจิกอยู่ในโค้งได้ดีอยู่เหมือนเดิม
เว้นเสียแต่ว่า คุณจะเพิ่มความเร็วจนมากเกินไป หรือสภาพยางย่ำแย่เกินทน

ในรุ่น 1.6 ลิตร ผมยังคงใช้ความเร็วสูงสุดในโค้งได้แค่ระดับ 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง บนทางด่วน
ช่วงทางโค้งรูปเคียว จากอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ วกเข้าทางแยกตัว Y ช่วงโรงแรมเมอเคียว และ
เข้าโค้งได้ที่ความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง พอดี บนทางโค้งซ้ายยาวๆ จากช่วงทางเชื่อม กับ
ทางด่วนขั้นที่ 1 เพื่อมุ่งหน้าขึ้นสู่ทางยกระดับบูรพาวิถี

อย่างไรก็ตาม การตอบสนองของรุ่น 1.8 V จะแตกต่างออกไปนิดหน่อย ซึ่งนั่นก็เป็นผลมาจาก
การเปลี่ยนล้อและยางมาเป็นขนาด 205/50R17 นั่นละครับ

พอหน้ายางกว้างขึ้นนิดนึง น้ำหนักของล้อเพิ่มขึนนิดนึง การเกาะถนนในภาพรวม ก็เลยดีขึ้น
อย่างชัดเจน ในช่วงความเร็วเดินทาง จนถึงความเร็วสูง ถ้าคิดว่า Sylphy เดิมๆ ล้อ 16 นิ้ว นิ่งแล้ว
Pulsar 1.8 V กับ ล้อ 17 นิ้ว ยิ่งจะนิ่งกว่ากันชัดเจน ผมยังคงสามารถปล่อยมือจากพวงมาลัยได้
ทั้งที่ใช้ความเร็วระดับ 170 กิโลเมตร/ชั่วโมง ต่อให้มีกระแสลมด้านข้าง ถ้าไม่รุนแรงนัก ยังไงๆ
Pulsar กับล้อ 17 นิ้วจากโรงงาน ก็จะยัง “เอาอยู่”

ยิ่งในช่วงเข้าโค้ง คุณจะยิ่งสัมผัสได้เลยว่า ยาง Continental Premium Contact2 ทำงาน
อย่างเต็มที่ ช่วยให้รถสามารถเลี้ยวขวับ ได้ตามต้องการ นิ่งและมั่นใจได้มากกว่ารุ่นล้อ 16 นิ้ว
บนทางโค้งขวา รูปเคียว ของทางด่วนขั้นที่ 2 เหนือมักกะสัน ช่วงเชื่อมต่อจากพระราม 9 ไป
ยังโค้งซ้าย โรงแรมเมอเคียว ผมพา Pulsar เข้าโค้งนี้ได้ที่ความเร็ว 95 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่ง
อันที่จริง ช่วงก่อนออกจากโค้ง ทำได้ถึง 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง และนั่นเป็น Limit ของรถพอดี
และสามารถพารถเข้าโค้งได้ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง บนทางโค้ง ที่เชื่อมจากทางด่วนขั้นที่ 1 ขึ้น
บูรพาวิถี

แต่ โลกนี้มีหลายด้าน เมื่อมีด้านดี บางครั้ง มันก็ต้องแลกมากับสิ่งที่อาจไม่พึงประสงค์กันบ้าง
ใครที่คาดหวังว่าช่วงล่างจะนุ่มเหมือน Sylphy ละก็ อาจไม่ป็นอย่างที่คิดนัก เนื่องจาก ในการ
ขับขี่ช่วงความเร็วต่ำ ทั้งบนถนนสายหลักๆในกรุงเทพฯ หรือตามตรอกซอยซอยต่างๆ ล้อและ
ยาง ขนาด 17 นิ้ว ย่อมส่งผลต่อการดูดซับแรงสะเทือนจากพื้นผิวถนนเข้ามายังผู้โดยสารเพิ่ม
มากขึ้นจนเห้นความแตกต่างชัดเจน เช่นเดียวกัน

ถ้าเจอรอยต่อพื้นผิวถนน ยังถือว่า ไม่เท่าไหร่ พอรับได้ แต่ถ้าเจอหลุมบ่อเล็กๆ ปากหลุมจะ
กว้างแค่ไหน ส่วนลึกสุดของหลุม จะลึกเท่าไหร่ หรือเนินลูกระนาดที่แข็งกระด้างสักหน่อย
Pulsar 1.8 V จะออกอาการสะเทือนขึ้นมาเต็มๆ อาการที่พบ มันชัดเจนว่าไม่ได้มาจากช่วงล่าง
แต่เป็นที่ยางล้วนๆ ดังนั้น ถ้าอยากให้รถดูหล่อ สวย ล้อเต็มซุ้มล้อมากขึ้น ก็คงต้องทำใจ กับ
ความแข็งกระเทือนในช่วงคลานไปตามตรอกซอกซอย ที่จะเพิ่มเข้ามามากกว่ารุ่น 1.6 ลิตร
อยู่สักหน่อย

ระบบห้ามล้อ เป็นดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ คู่หน้า มีรูระบายความร้อน เสริมด้วยระบบป้องกันล้อล็อก ABS
(Anti-Lock Braking System) ระบบกระจายแรงเบรกตามน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronics
Brake Force Distribution) และระบบเพิ่มแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน Brake Assist มาให้ในสไตล์
เดียวกันกับ Sylphy ไม่มีผิด คือให้มาเกือบครบทกรุ่นย่อย ยกเว้นแค่รุ่น 1.6 S พื้นฐาน เท่านั้น ถือว่า
น่าเสียดาย ไหนๆจะติดตั้งมาให้แล้ว ก็ควรจะมีติดตั้งมาครบทุกรุ่นไปเลย เหมือนเช่น ถุงลมนิรภัย ที่
อุตส่าห์ ใส่มาให้ครบทั้ง 2 ฝั่ง และครบทุกรุ่นย่อย! ตามแบบ Sylphy เปี๊ยบ!

ระบบเบรก ทำงานได้ดีมาก จนไม่แตกต่างไปจาก Sylphy เท่าใดเลย ในช่วงความเร็วต่ำ ยังคง
มีน้ำหนักแป้นเบรกที่อยู่ในเกณฑ์ดี เบรกได้ตามสั่ง อยากได้แค่ไหน จัดได้ตามนั้น อยากให้
รถหยุดสนิทอย่างนุ่มนวลก็สามารถ กะเก็งน้ำหนักเท้าลงไปบนแป้นเบรกได้อย่างง่ายดาย
ต่อให้เป็นช่วงความเร็วสูง ก็ยังทำงานได้อย่างดี หน่วงความเร็วลงมาได้ไว แทบจะในทันที
ที่เริ่มเหยียบแบรก แป้นเบรก Linear หนักแน่น มั่นใจได้ดี

และเช่นเดียวกันกับ Sylphy ถ้าคุณเหยียบแป้นเบรกลงไป จนสุด คุณจะสัมผัสได้ว่า มีสวิชต์
ที่จะสั่งการให้ระบบ ABS EBD และ Brake Assist เริ่มทำงานในทันทีที่ผู้ขับขี่ เหยียบเบรก
กระทันหัน หรือเหยียบแป้นเบรกจนสุดระยะเหยียบ ดัง “ตึ๊ก” ที่เท้าขวาของคุณ จะทำให้รถ
รู้ว่า คุณอาจกำลังต้องการแรงเบรกอย่างปัจจุบันทันด่วน และเข้าทำหน้าที่ช่วยเหลือคุณใน
เวลาเพียงเสี้ยววินาที

ด้านความปลอดภัย Nissan ก็ยังคง ไม่เปิดเผยรายละเอียดเรื่องโครงสร้างตัวถังมากมาย
ในสไตล์เดียวกันกับ ตอนเปิดตัว Sylphy ไม่มีผิดเพี้ยน เรารู้กันเท่าที่ Nissan พิมพ์ข้อมูล
แจกในแค็ตตาล็อก ว่า ยังคงออกแบบโครงสร้างตัวถังในแนวทาง Zone Body Concept
เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ขับขี่และผู้โดยสาร อีกทั้งยังมีการออกแบบฝากระโปรง
ด้านหน้า ให้มีโครงสร้างพิเศษ ยุบตัวได้ เมื่อเกิดการชน กับโครงร่างมนุษย์ เพื่อช่วยลด
การบาดเจ็บ ของคนเดินถนน เมื่อถูก Pulsar ชนระหว่างข้ามถนนตัดหน้า โดยไม่ยอม
ดูตาม้าตาเรือ ให้ดีๆเสียก่อน

อันที่จริง ตามปกติ Nissan จะไม่ค่อยหวงข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาด้านวิศวดรรมของ
โครงสร้างตัวถังพื้นฐาน แต่ก็ไม่เข้าใจว่า เหตุใด Nissan จึงเปิดเผยข้อมูล ดังกล่าว
จากรุ่น Sylphy กับ Pulsar น้อยกว่าที่เคยเป็นไปมาก

ส่วนอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยนั้น Nissan ให้ถุงลมนิรภัยคู่หน้า เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน
มาตั้งแต่รุ่นถูกสุด 1.6 S เกียร์ธรรมดา ด้วยซ้ำ (แต่น่าจะให้ ระบบเบรก ABS + EBD มา
ให้กับรุ่นเกียร์ธรรมดาด้วยเลยจะน่ายกย่องกว่านี้) เข็มขัดนิรภัย ทุกตำแหน่งเป็นแบบ
ELR 3 จุด คู่หน้าปรับระดับสูง – ต่ำได้ ทุกรุ่น แต่ทุกรุ่นย่อย ยกเว้น 1.6 S ตัวล่างสุด จะ
เป็นแบบ ลดแรงปะทะ พร้อมระบบดึงกลับอัตโนมัติ Pre-tensioner & Load Limiter
และระบบป้องกันเด็กเปิดประตูคู่หลังได้เอง (Child Lock) ตามปกติ รวมทั้งยังมี
พนักศีรษะแบบ Anti-Whiplash ออกแบบมาให้มีระยะใกล้กับศีรษะผู้ขับขี่และ
ผู้โดยสารมากขึ้น (จนดันกบาลมากกว่าปกติ)

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

จริงอยู่ว่า Sylphy 1.6 และ 1.8 ลิตร ซึ่งใช้ขุมพลังและเกียร์ลูกเดียวกัน อาจทำผลงานด้าน
ความประหยัดน้ำมันออกมาได้ ดีในอันดับต้นของกลุ่ม ทว่า สำหรับ Pulsar แล้ว มันอาจ
ไม่ได้มีผลตัวเลขออกมาสวยหรูเริดอย่างที่คุณ หรือใครจะคาดคิด…

เหมือนเช่นรถยนต์ทดลองขับ ทุกคัน ตามธรรมเนียม ผมยังคงนำ Pulsar ทั้ง 2 คัน ไป
เติมน้ำมัน เบนซิน 95 Techron ที่สถานีบริการ Caltex ถนนพหลโยธิน ใกล้กับสถานี
รถไฟฟ้า BTS อารีย์ เหมือนเช่นเคย เรายังคงทำการทดลองในตอนกลางคืน

และในเมื่อ Pulsar จัดอยู่ในกลุ่ม C-Segment หรือ Compact Hatchback ซึ่งยังคงเป็นกลุ่ม
รถยนต์ประเภทที่ ผู้บริโภคจะซีเรียสกับตัวเลข อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเเพลิงมากพอกันกับพวก
ECO Car หรือ B-Segment ดังนั้น เราจึงต้องเขย่า ขย่มรถ เพื่อค่อยๆ กรอกน้ำมันลงไปใน
คอถัง กันอย่างช้าๆ และต่อเนื่อง การเติมน้ำมันใน Sonic ด้วยวิธีนี้ จะใช้เวลานาน เอาเรื่อง
เพื่อให้เต็มถังน้ำมันขนาด 52 ลิตร (ไม่รวมคอถัง)

สักขีพยานที่มาช่วยในการทดลองครั้งนี้ ในรุ่น 1.8 V จริงๆแล้ว เป็นน้อง BestHuaFoo
คุณผู้อ่านของเรา แต่เนื่องจากว่า ในวันที่เราทดลองกัน น้ำมันในปั้ม Caltex หมดลง
หลังจากเราเติมน้ำมันรอบแรกกันเสร็จ ทำให้ต้องรอรถน้ำมัน มาส่ง จนถึงราวๆ ตี 1
น้อง Best ทนไม่ไหว เลยขอลากลับบ้านก่อน โชคดี ที่เพื่อนสนิทของผม ตาถัง แวะ
มาเจอกันที่ปั้ม Caltex พอดี เลยอยู่เป็นเพื่อน และช่วยขย่มรถแทนในช่วงปิดท้าย
ส่วนรุ่น 1.6 SV เป็นตาหลุยส์ แห่งร้านป็ดย่างแมนดาริน ทองหล่อ ก็เพื่อนกลุ่ม
เดียวกันกับพวกเราตรงนี้ที่ช่วยกันทดลองรถมาตลอดหลายปีที่ผ่านมานั่นละครับ
น้ำหนักแต่ละคน จะไม่เกิน 70 กิโลกรัม

เมื่อเติมน้ำมันเสร็จแล้ว เราก็คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ แล้ว ออกรถ จากปั้ม มุ่งหน้า
ไปเลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน เลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์ ทะลุไปยังซอยข้างโรงเรียนเรวดี เลี้ยวซ้าย
เข้าสู่ถนนพระราม 6 เลี้ยวขวา ขึ้นทางด่วนสายเชียงราก ไปลงปลายสุดทาง ที่ด่านบางปะอิน แล้ว
เลี้ยวกลับ ย้อนมาขึ้นทางด่วนสายเดิม มุ่งหน้าย้อนกลับมาทางเดิม

ใช้ความเร็วไม่เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ และ นั่ง 2 คน ตามมาตรฐานดั้งเดิมที่เรา
ยึดถืออย่างเคร่งครัด เพื่อให้การทดลอง อยู่บนมาตรฐานเดียวกัน เหมือนเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา

เมื่อลงทางด่วนที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย กลับเข้าสู่ถนนพหลโยธินอีกครั้ง มุ่งหน้าไป
เลี้ยวกลับ บริเวณ สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ หน้าโชว์รูม เบนซ์ราชครู แล้วเลี้ยวซ้าย เข้าสถานี
บริการน้ำมัน Caltex เพื่อเติมน้ำมันเบนซิน Techron 95 อีกครั้ง ที่ปั้มเดิม และใช้หัวจ่ายเดิม

และแน่นอน ครั้งแรก ตอนออกสตาร์ต เติมน้ำมันกันอย่างไร ในตอนจบ เราก็ต้องทำ
แบบเดียวกัน นั่นคือการเขย่าอัดกรอก น้ำมันลงไปในถังให้เต็มเอ่อ ขึ้นมาถึงคอถัง
แบบนี้ โดยไม่เหลือพื้นที่ใอากาศอยู่ในถัง หรือถ้ามี ก็ต้องน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

เมื่อเติมน้ำมันกันจนเสร็จแล้ว ก็ได้เวลามาคำนวน หาตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองของแต่ละรุ่นกันละ!

รุ่น 1.8 V Navi

ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด 93.0 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 6.22 ลิตร
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 14.95 กิโลเมตร/ลิตร

ทำไมมันถังได้กินน้ำมันกว่า Sylphy 1.8 ลิตร มากขนาดนี้?

บอกได้เลยครับว่า ล้ออัลลอยขนาด 17 นิ้ว นั่นละ คือต้นเหตุสำคัญ ยิ่งน้ำหนักของล้อ
เพิ่มมากขึ้น มันยิ่งเป็นภาระให้กับระบบขับเคลื่อนที่เพิ่มขึ้น จึงช่วยไม่ได้ที่จะทำให้
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ของ Pulsar 1.8 ลิตร กับล้อ 17 นิ้ว ด้อยกว่า Sylphy 1.8 ลิตร
กับล้อ 16 นิ้ว ราวๆ 0.7 กิโลเมตร/ลิตร

ตามด้วยรุ่น 1.6 SV

ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด 92.6 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 5.84 ลิตร
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 15.85 กิโลเมตร/ลิตร

เมื่อเทียบกันแล้ว ตัวเลขของรุ่น 1.6 SV จะด้อยกว่า TIIDA 1.6 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ
4 จังหวะ อยู่ราวๆ 0.1 กิโลเมตร/ลิตร ซึ่งก็มีผลมาจากตัวถังที่ใหญ่ขึ้น แถมมีชุดแต่ง
Aeropart รอบคัน แต่เมื่อเทียบกับ Sylphy 1.6 ลิตร แล้ว Pulsar 1.6 SV จะทำตัวเลข
ออกมาด้อยกว่ากันราวๆ 1 กิโลเมตร/ลิตร เลยทีเดียว

แต่ถ้าต้องเปรียบเทียบกับคู่แข่งทั้งหมด “ทุกรุ่นในตลาด” ยังไงๆ Pulsar 1.6 ลิตร
ก็ยังทำตัวเลขได้เป็นอันดับต้นๆของกลุ่ม ขณะที่ รุ่น 1.8 ลิตร นั้น ด้อยกว่า ไม่ว่าจะเป็น
Honda Civic 1.8 ลิตร ,  Toyota Corolla Altis 1.8 ลิตร , Chevrolet Cruze
1.8 LT พูดกันตรงๆก็คือ Pulsar 1.8 ลิตร น่าจะทำตัวเลขได้ประหยัดมากกว่านี้ อีก
สักหน่อย ย่างน้อย ถ้าพ้น 15 กิโลเมตร/ลิตรขึ้นมา มันยัง ดูเป็นตัวเลขที่ยังไม่น่าเกล่ยด
มากนัก ไม่ใช่หล่นลงมาต่ำกว่า 15 กิโลเมตร/ลิตร อย่างนี้

ส่วนใครที่สงสัยว่า แล้วคู่แข่งอย่าง Ford Focus ใหม่ ทำไมยังไม่มีตัวเลขการทดลอง
กันเสียที? เอาอย่างนี้ครับ สำหรับคนที่อยากรู้กันจริงๆละก็ ตัวเลขของรุ่น 2.0 ลิตร
อยู่ที่ 15.4 – 15.6 กิโลเมตร/ลิตร ส่วนรุ่น 1.6 ลิตร นั้น กินจุกว่าตามคาด คือ ทำได้แค่
14.1 กิโลเมตร/ลิตร ทั้ง 2 ตัวถัง

ดังนั้น ถ้ารวมตัวเลขของ Focus ใหม่เข้าไปในตารางด้วยแล้ว ชัดเจนว่า งานนี้ หากนับกัน
เฉพาะรถยนต์ Hatchback 5 ประตู พิกัดไม่เกิน 1.8 ลิตร Pulsar ทั้งรุ่น 1.6 และรุ่น
1.8 ลิตร ก็ยังคงประหยัดน้ำมัน มากที่สุด เมื่อเทียบกับ Ford Focus 1.6 ลิตร และ
Mazda 3 รุ่น 2.0 ลิตร อยู่ดี!! (แต่ถ้าเทียบกับ Focus 2.0 แล้ว งานนี้ Pulsar ก็จะ
ทำตัวเลขได้ ก้อยกว่ากัน ราวๆ 0.5 – 0.6 กิโลเมตร/ลิตร คุณจะซีเรียสกับตัวเลขนี้
กันไหมละ?) 

แล้วน้ำมัน 1 ถัง จะพาให้ Pulsar แล่นได้ไกลแค่ไหน?

อาจจะน้อยกว่า Sylphy 1.6 และ 1.8 ลิตร อยู่นิดหน่อยครับ มาตรวัดที่เห็นนี้ เป็นของ
รุ่น 1.8 ลิตร แต่ ผมถือว่า สามารถใช้ข้อมูลร่วมกันได้ เนื่องจาก ตัวเลขก่อนที่จะต้อง
เติมน้ำมันกลับเข้าไปอีกครั้ง ช่วงใกล้ขีดแดง นี่คือตัวเลขที่เกิดขึ้นจริง 405 กิโลเมตร
ขับใช้งานทั้งในเมือง เจอรถติดโหดๆ และบนทางด่วนข้ามฟากเมือง ความเร็วที่ใช้
แปรปัน ตั้งแต่ 0 – ท็อปสปีด น้ำมัน 1 ถัง น่าจะพาให้ Pulsar แล่นไปได้ราวๆ 450 –
500 กิโลเมตร ถ้าขับแบบเนียนๆ แล้ว

********** สรุป **********
ส้มตำ Sylphy ตัวถัง 5 ประตู อยู่กึ่งกลางระหว่าง Ford Focus และ Mazda 3 รสไม่จัดจ้าน แต่ก็อร่อยได้

จะมีวิธีไหน ที่ช่วยทำให้คนที่ไม่รู้เรื่องรถยนต์มากนัก หรืออาจจะรู้ดี แต่ยังไม่มีโอกาสสัมผัส
ได้เข้าใจลักษณะนิสัยของรถยนต์สักรุ่นหนึ่งได้ดีไปกว่า การอธิบายและถ่ายทอดออกมาด้วย
การเปรียบเทียบบุคลิกของรถยนต์ กันได้อีกละ?

เมื่อครั้งที่ TIIDA เปิดตัวในบ้านเรา ผมเปรียบเทียบมันเป็น “ไอ้ติ๋ม” เด็กประหลาดๆ ใครๆก็
ไม่ชอบขี้หน้า โดนแกล้งบ่อยๆ ทำตัวแปลกแยก นั่งอยู่กลางห้อง ไม่มีอะไรเด่น จนกระทั่ง
เพื่อนสักคนในกลุ่มของคุณ ไปนอนค้างคืนเพื่อทำรายงานที่บ้านของเขา จนได้พบว่า ไอ้ติ๋ม
มีกลองชุดตั้งอยู่ในห้องนอน และสะสมหนังสือโป๊ไว้ในระดับเปิดร้านขายได้เลย นั่นแหละ
เพื่อนๆ ถึงจะเริ่มเห็นความดีของมัน แต่ยังไงๆ ไอ้ติ๋ม ก็ยังคงเป็น ตี๋ญี่ปุ่นเชยๆ ที่อยากทำตัว
Modern ร่วมสมัย อยู่ดี

มาในวันนี้ “ไอ้ติ๋ม” โตแล้ว ดันอยากแต่งตัวให้เป็นวัยรุ่นขึ้นมานิดนึง ไปหาเสื้อสูท ARMANI
อย่างหล่อ มาสวมคลุมทับ ใส่รองเท้า Onisuka Tiger รุ่นแพงๆ เปลี่ยนแว่นสายตาเสียใหม่ ให้
ดูเท่ขึ้นกว่าเดิม อีกทั้งนิสัยใจคอ และการมองโลกยังดีขึ้นด้วยตามเวลาที่เปลี่ยนไป

ถ้าจะให้ผมเปรียบย่อหน้าข้างบนนี้กับ Pulsar ถึงจะใกล้เคียงอยู่ แต่มันยังแค่เพียงการมองอย่าง
ผิวเผินจากภายนอก เมื่อเทียบกับสิ่งที่ตัวรถ แสดงฝีมือให้ผมได้เห็นออกมา ตลอดระยะเวลา
10 กว่าวันที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน ทั้ง 2 คัน

จู่ๆ ผมก็นึกถึง ส้มตำขึ้นมา….อาหารหลักของคนไทย มีใครบ้างไม่รู้จัก และใครบ้างที่ไม่เคยกิน?

เอาละ! ผมได้ข้อสรุปละ!

Pulsar เปรียบเสมือน ส้มตำ ที่นำทุกความต้องการของทั้งลูกค้า TIIDA รุ่นก่อน และความต้องการ
ของคนใน Nissan สำนักงานใหญ่ที่ Yokohama มาตำๆๆ โขลกๆๆ คลุกเคล้าให้เข้ากัน โดยใช้
ส่วนผสมหลัก ที่มาจาก Sylphy จนออกมา พวกเขาหวังให้มันอร่อย ถูกปากทุกคนที่ได้ชิม ซึ่งก็
ต้องยอมรับว่า การใช้ส่วนผสมเครื่องปรุงหลักจาก งานวิศวกรรมของ Sylphy มันทำให้นักชิม
อย่างผม มั่นใจว่า เราจะได้เห็น คุณภาพ ความสะอาด และถูกหลักอนามัย ของส้มตำจานนี้แน่ๆ

อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณคาดหวังจะเห็น Pulsar เปรี้ยวเด็ดเผ็ดไฟแล่บ คงต้องบอกว่า ในความจริง
รสชาติของส้มตำจานนี้ ก็มิได้เผ็ดร้อนจนแสบปาก หากแต่ มันเหมือนคุณใส่พริกขี้หนูลงไป
ในส้มตำเพียงครึ่งเม็ด…หรือเต็มที่ ก็พริกเม็ดเดียว เพื่อให้พอมีรสชาติ จากพริกอยู่บ้าง ให้ทั้ง
คนที่ชอบ และไม่ชอบกินรสเผ็ด ร่วมหัวกันจกส้มตำจานเดียวกัน ได้อย่างอร่อย กำลังดี

เพราะ Sylphy ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เป็น รถยนต์นั่ง C-Segmen สำหรับทุกๆคนทั่วโลก และ
Pulsar เอง ก็ถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานวิศวกรรมของ Sylphy เพียงแค่ว่า มีตัวถัง Top Hat แบบ
Hatchback 5 ประตู ครอบทับลงไปบน Platform เดียวกัน ดังนั้น บุคลิกการขับขี่ต่างๆ จึง
แทบจะเหมือนกันไปหมด หากเป็นรุ่น 1.6 ลิตร ส่วนรุ่น 1.8 ลิตร การได้ล้อและยาง 17 นิ้ว
มาสวมแทน ล้อ 16 นิ้ว ช่วยเพิ่มบุคลิกการขับขี่ ให้แม่นยำ และมั่นใจได้เพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย

เหมือนเหยาะ น้ำปลาแท้ ตราทิพรส ลงไปในส้มตำ สัก 2 เหยาะ นั่นแหละ แค่นั้น!

สำหรับคนที่ชอบ ส้มตำรสจัด แซ่บเข้าไปถึงคอหอย ชนิดที่ว่า กินน้ำกลั้วคอแล้วยังไม่หายเผ็ด
Pulsar อาจไม่ถูกปาก คนที่ชอบขับรถมันส์ๆ แนว Hardcore เอาแรงเข้าไว้ก่อน อย่างแน่นอน
แต่ถ้าอยากได้รถยนต์ และไม่อยากได้ Sylphy ที่ดูเหมาะสมกับลูกค้าระดับเจ้าของกิจการ SME
และพนักงานออฟฟิศมีครอบครัวแล้ว ทั่วๆไป ก็คงจะต้องเป็น Pulsar นี่แหละ เว้นเสียแต่ว่า
คุณอยากลองสำรวจดูคู่แข่งในระดับเดียวกันบ้าง ว่าเขาจะทำส้มตำออกมาถูกปากคุณหรือเปล่า?

คู่แข่งในตลาด มีใครบ้าง?

ถ้าจะให้ประกบเปรียบเทียบกันแบบ มวยถูกคู่ เวลานี้จะมีตัวเลือกในตลาดเพียงแค่ 2 รุ่นเท่านั้น
ที่ถือว่า ท้าชนกับ Pulsar ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย มากที่สุด หากไม่นับบรรดา C-Segment Sedan
คันอื่นๆ ซึ่งต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ Sylphy เขาไปงัดข้อกันเอาเอง

– Ford Focus Hatchback เบนซิน 1.6 ลิตร และ เบนซิน GDi 2.0 ลิตร

ถ้าคุณคิดจะซื้อ Focus 2.0 ลิตร ก็คงต้องสารภาพตามตรงว่า Focus 2.0 มีสมรรถนะดีกว่า Pulsar
1.8 ลิตร ในทุกด้าน แบบที่ผมเอง ก็ไม่มีข้อกังขา อัตราเร่งก็เร็วกว่า (0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง มี
9.4 วินาที 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง มี 6.7 วินาที) ประหยัดน้ำมันกว่าราวๆ 0.6 กิโลเมตร/ลิตร
(จากการทดลองของเรา วิ่ง 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน ได้ๆ 15.4 กิโลเมตร/ลิตร)
ช่วงล่างก็ดีที่สุดในกลุ่ม C-Segment ของเมืองไทย พวงมาลัย ก็ตอบสนองได้แม่นยำ เอาใจ
คนชอบขับรถอย่างชัดเจน อยู่ในกลุ่มต้นๆของตลาด เบรก ผมว่า ดีกว่า Pulsar นิดหน่อย
ไม่มากนัก…Option อุปกรณ์ประจำรถ จัดมาเต็มแน่นเหนือรถยนต์ทุกรุ่นในพิกัดเดียวกัน
ชนิดว่า มากันครบๆ เต็มๆ ล้นๆ คุ้มๆ เลยทีเดียว (แต่ไม่ยักแถม ระบบเตือนรถที่แล่นตาม
มาทางด้านข้าง แบบรุ่น Sedan 2.0 มาให้เนี่ยสิ จะกั๊กไว้ทำไม? คำนวนราคาขายปลีกแล้ว
กลัวไม่ได้กำไร?)

แต่ถ้าคุณกำลังเทียบอยู่กับ รุ่น 1.6 ลิตร ด้วยกันแล้วละก็ Pulsar จะมีข้อได้เปรียบเหนือชั้นขึ้นมา
อย่างน้อยๆ 3 เรื่อง คือ ห้องโดยสารก็ใหญ่กว่า นั่งสบาย ไม่อึดอัดเท่า Focus ทั้ง 2.0 และ 1.6 ลิตร
อัตราเร่งของ Pulsar ดีกว่า (focus 1.6 ลิตร ทำ 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ 12.5 วินาที 80 – 120
กิโลเมตร/ชั่วโมง ทำได้ใน 9.8 วินาที ไปช้าที่การทำงานของคันเร่งไฟฟ้า) แถมยังประหยัดน้ำมัน
กว่า Focus 1.6 (ทำได้ 14.1 กิโลเมตร/ลิตร) แม้ Focus จะได้เปรียบเรื่อง ออพชันที่จัดเต็มไม่แพ้
รุ่น 2.0 ลิตร โดยเฉพาะด้านอุปกรณ์ความปลอดภัยก็ตาม

กระนั้น Focus จะมาตกม้าตาย ด้วยปัญหาเรื่องบริการหลังการขาย ที่ต้องอาศัยโชคชะตาของคุณ
ด้วยว่า ชาติที่แล้ว ไปทำบาปกรรมอะไรกับ Henry Ford ผู้ก่อตั้งบริษัทเขาไว้หรือเปล่า เพราะถึง
ต่อให้คุณแน่ใจเลยว่า บรรพบุรุษคุณไม่ได้เกี่ยวข้องกับชายผู้นี้แน่ๆ นั่นก็มิได้รับประกันว่าคุณ
จะหลุดรอดพ้นจากความน่าปวดหัว จากศูนย์บริการของ Ford เสมอไป ถ้าแค่เช็ครถตามระยะ
การรับประกัน การดูแลพื้นฐานเบื้องต้นก็มักจะขาดความรอบคอบ ละเลย เรื่องเล็กๆน้อยๆ
ไปบ้าง ต้องคอยย้ำ และจ้ำจี้จ้ำไชกันสักนิด บางศูนย์บริการที่ดีจริงๆ หากมีเรื่องต้องเคลม
เปลี่ยนชิ้นส่วน ก็ยังมาพลาดเรื่อง การรออะไหล่ค่อนข้างนานในบางกรณี ต้องมีรายการโทร
เข้าไปจี้ไปเร่ง หรือแม้แต่ใช้เส้นสายกำลังภายในช่วย ในบางกรณีเหมือนกัน แต่ถ้าโชคร้าย
เจอปัญหาจากตัวรถขึ้นมา ไมว่ากรณีใดๆ ทำใจได้เลยว่า อาจต้องงัดตำราพิชัยสงครามซุนวู
ประกบเล่มกับพงศาวดาร สามก๊ก มาสู้รบต่อกรกับผู้เกี่ยวข้อง เขาอยู่อย่างหนัก กว่าจะจบได้
ก็รอไปหลายเดือน บางเคส ล่อไปครึ่งปี บางเคสก็นานกว่านั้น บางเคสป่านนี้ก็ไม่จบ เผลอๆ
อาจต้องพ่วงประกบเล่มกับ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แถมบางราย อาจต้องแถม
ประมวลกฎหมายอาญา ให้ไปนั่งอ่านศึกษากันด้วยซ้ำ…ตกลงแล้ว นี่ซื้อรถ หรือจะสอบเป็น
ผู้พิพากษากันแน่วะเนี่ย? (ฮา)

จริงอยู่ว่า ต่อให้ศูนย์บริการของ Toyota หรือ Honda ก็ยังมีเรื่องพวกนี้ให้เราได้ยินบ้าง แต่
กับ Ford แล้ว มันใช่เรื่องเหรอ? ที่ผมต้องได้ยินใครสักคนบ่นให้ฟัง เรื่องพวกนี้ อย่างน้อย
สัปดาห์ละ 4 ครั้ง โดยเฉลี่ย ไม่ซ้ำกันบ้าง ซ้ำกันบ้าง เป็นแบบนี้ มาตั้งแต่ก่อตั้งเว็บของเรา
4 ปีแล้ว ก็ยังมีเสียงบ่นก่นด่าจากลูกค้าในปริมาณเท่าเดิม น้อยลงกว่าเดิมแค่นิดเดียว

สำหรับ Focus ใหม่ เท่าที่มีเคสมาถึงผม ก็คงจะมีเรื่อง ข้อความ Transmission Malfunction
ขึ้นโชว์ บนหน้าปัด และเกียร์ทำงานไม่ได้ สุดท้าย จบลงด้วยดี ว่า Ford เคลมเปลี่ยนกลอ่ง
สมองกลเกียร์ให้ไปฟรีๆ ซึ่งนั่นก็เป็นโชคดีของลูกค้า 2-3 รายที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น

ถ้า Ford แก้ปัญหาบริการหลังการขาย และปรับ Attitude การมองลูกค้า ของคนในองค์กร
กันเสียใหม่ทั้งหมด Ford จะกลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของ Nissan ในทันที! เพราะปัญหา
ทั้งหมดที่เกิดขึ้นหนะ สาเหตุมันอยู่ที่ ประเด็นนี้ แค่นั้น!

– Mazda 3 Hatchback 1.6 & 2.0 ลิตร

มีเพียง 3 ประการ ที่ทำให้ผมยัง Happy กับ Mazda 3 ใหม่ นั่นคือ ช่วงล่าง ที่นุ่มและแน่น
มากยิ่งขึ้น ทรงตัวในโค้งดีขึ้น และโครงสร้างตัวถัง ที่ลดทอนการบิดตัวลงได้เยอะกว่าเดิม
และตำแหน่งนั่งของคนขับ รวมทั้งแผงหน้าปัด ที่ออกแบบมาได้ดี นอกนั้น พวงมาลัย ก็
เบาพอกันกับ Pulsar แต่ การรักษาเสถียรภาพขณะถือตรง รวมทั้ง On Center Feeling ยัง
ด้อยกว่า Pulsar นี่ยังไม่นับเรื่องอัตราเร่ง และอัตราสิ้นเปลืองที่ยังไงๆ ก็ด้อยกว่า Pulsar
ทั้ง 2 ขุมพลัง

ส่วนปัญหาเรื่องศูนย์บริการ หลายปีมานี้ เสียงบ่นเรื่องศูนย์บริการ Mazda มีมาให้ได้ยิน
อยู่เรื่อยๆ แต่น้อยลงไปกว่าสมัย กิจกมลสุโกศล มากแล้ว พวกเขาพยายามทำงานกันดีขึ้น
การเช็คระยะ เข้าที่ศูนย์ฯแห่งไหนก็ตาม เท่าที่ผมเคยลองสุ่ม ติดตามลูกค้าเข้าไปดูเอง
ถึงในศูนย์ฯ ก็ทำหน้าที่ได้ดีพอสมควร จนอยู่ในระดับที่แอบดีกว่า Nissan ในบางศูนย์ฯ
แต่ ถ้าต้องเจอปัญหาลึกๆ แก้ยากๆ และต้องค้นหาสาเหตุนานๆ ทีมเทคนิคของ Mazda
สำนักงานใหญ่ ยังขาดคนเก่งหลายๆคน ที่จะช่วยวิเคราะห์ปัญหาให้ลูกค้าได้พร้อมกัน
หลายๆเคส ต้องรอผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมีเพียงไม่กี่คน รู้สึกว่านับได้ไม่น่าเกิน นิ้วมือคน
1 คน คอยดูแลปัญหาต่างๆ ทั่วเมืองไทย ซึ่งก็หนักไปหน่อย เมื่อเทียบกับการเจริญ
เติบโตของแบรนด์ ที่จะเกิดขึ้นในพักหลังมานี้ และที่จะเกิดขึ้นต่อไปจากนี้ รวมทั้ง
Attitude ของ ดีลเลอร์ บางรายต่อลูกค้าที่เจอปัญหาแก้ยากๆ อาจมองลูกค้าว่าน่ารำคาญ
เรื่องมาก ทั้งที่จริงๆแล้ว ปัญหามันแก้ง่ายนิดเดียว ถ้าเจอ Defect Mazda จะเคลมได้
ง่ายกว่า Ford

แล้วถ้าถามถึงศูนย์บริการของ Nissan บ้างละ? มีศูนย์ฯ ดีๆ ดีบ้างไม่ดีบ้าง และไม่ดีเลย
อยู่หลายแห่ง กระจายกันไป แต่ว่า บริการต่างๆ ยังจัดอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง คือไม่ได้
ถึงกับแย่มาก แต่ก็ยังไม่เทียบเท่ากับ เจ้าตลาดอย่าง Toyota Honda และ Isuzu นัก หาก
ทำได้ดีที่สุดก็แค่ระดับใกล้เคียงกัน แต่ถ้าสนิทกับช่างในศูนย์บริการแห่งใดแล้ว คุณจะ
สัมผัสได้ถึงบริการแบบ “เพื่อนที่แสนดี” อย่างที่เคยเป็นมา เรื่องเล็กๆน้อยๆ ก็อาจจะ
ไม่คิดเงิน ช่วยใส่โน่น นี่ นั่นให้หน่อย ถ้าไม่ลำบากมากนัก เขาก็จัดการให้คุณได้ แต่
ถ้าถามถึงความเก่งของช่าง ยังพอหาช่างเก่งๆ ได้อยู่ หรือบางที ผมยังต้องพึ่งพาฝ่าย
เทคนิคของสำนักงานใหญ่เอาเองเลยด้วยซ้ำ การเคลมชิ้นส่วนที่มีปัญหา ยากง่าย
พอกันกับ Mazda โดยทั่วไป

แต่ถ้าคุณ มั่นใจแล้วว่าจะเลือก Pulsar คำถามต่อมาก็คือ รุ่นย่อยไหน จะเหมาะกับคุณ?

จากราคาขายในทุกโชว์รูม ดังต่อไปนี้

1.6 S CVT          ราคา  776,000 บาท
1.6 V CVT          ราคา  839,000 บาท
1.6 SV CVT        ราคา  872,000 บาท
1.8 V CVT          ราคา  925,000 บาท
1.8 V CVT Navi  ราคา  976,000 บาท

เมื่อแยกตามรุ่นย่อยแล้ว Pulsar ไม่มีรุ่น 1.6 S เกียร์ธรรมดามาให้แต่อย่างใด ออกจะน่าเสียดาย
สำหรับคนชอบรถยนต์ Hatchback แต่อยากได้เกียร์ธรรมดา ในตลาดตอนนี้ ไม่เหลือตัวเลือก
แบบที่ว่านี้อีกต่อไปแล้ว เพราะทุกรุ่น เป็นเกียร์อัตโนมัติ ทั้งหมด

รุ่นพื้นฐาน 1.6 S CVT ตั้งราคาขาย เท่ากับ Sylphy 1.6 S CVT พอดีเป๊ะ ตกแต่งภายในด้วยเบาะ
ผ้า สีดำ พวงมาลัย และหัวเกียร์ เป็นยูรีเทน พวงมาลัยปรับได้ 4 ทิศทาง มีถุงลมนิรภัยคู่หน้ามาให้
กระจกหน้าต่างไฟฟ้า มี Jam-Protection ให้เฉพาะคนขับ นอกนั้น อุปกรณ์ที่ให้มา ก็เหมือนกัน
กับ Sylphy 1.6 S เลยทั้งหมด แต่ไม่มีระบบเบรก ABS มาให้

รุ่น 1.6 V จะยกระดับขึ้นมา ด้วย ไฟตัดหมอกคู่หน้า วัสดุหุ้มเบาะ “หน้งแท้และหนังสังเคราะห์”
พวงมาลัย หุ้มหนัง พวงมาลัย Multi Function ควบคุมได้แค่หน้าจอ Multi Information Display
และเครื่องเสียง เพิ่มพนักวางแขนเบาะหลังพร้อมที่วางแก้ว 2 จุด เครื่องปรับอากาศ อัตโนมัติ
ปรับอุณหภูมิแยกฝั่งซ้าย-ขวา พร้อมช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง แผงบังแดดคู่หน้าพร้อม
กระจกส่องหน้า มีฝาปิด และช่องเสียบการ์ดเฉพาะฝั่งด้านคนขับ (พร้อมไฟส่องสว่าง) กุญแจ
รีโมท Smart Keyless Entry พร้อมระบบ Immobilizer และปุ่มติดเครื่องยนต์ Push Start ส่วน
เครื่องเสียง จะเป็นวิทยุ CD MP3 แบบ 1 แผ่น พร้อมช่อง AUX สำหรับอุปกรณ์ต่อพ่วง พร้อม
ช่อง USB หน้าจอสี LCD  จอ 4.3 นิ้ว ปิดท้ายด้วย ระบบเบรก ABS + EBD + Break Assist
อุปกรณ์ที่ให้มานี่ ก็แทบจะพอๆกับรุ่น 1.8 กันแล้วด้วยซ้ำ ถือเป็นรุ่นที่คุ้มราคาใช้ได้

รุ่น 1.6 SV อันเป็นตัวท็อป จะเพิ่มอุปกรณ์จากรุ่น 1.6 V แค่ ชุดแต่ง Aero Part รอบคัน มีทั้ง
สเกิร์ตหน้า สเกิร์ตข้าง สเกิร์ตหลัง สปอยเลอร์หลัง ไฟท้ายแบบใสรมดำ สไตล์สปอร์ต และ
ไฟเบรกดวงที่สามแบบ LED  แบบใสรมดำ (ถ้าไม่นับรวม สัญลักษณ์ SV ที่ฝากระโปรงท้าย
เข้าไปอีก 1 รายการด้วยนะ นั่นมันเป็นสิ่งที่ต้องใส่มาให้อยู่แล้วมิใช่หรือ?)

ส่วนรุ่น 1.8 V จะยกระดับขึ้นมาด้วย ชุดโคมไฟหน้าแบบ Bi-Xenon Projector ปรับระดับ
สู ง- ต่ำ อัตโนมัติ ตัดชุด Aero Part และไฟท้ายรมดำ จากรุ่น 1.6 SV ออกไปแทบทั้งหมด
เหลือไว้แค่เพียง สปอยเลอร์หลังเท่านั้น แต่เพิ่มพวงมาลัย Multi Function ควบคุมหน้าจอ
Multi Information Display ชุดเครื่องเสียง และระบบ Cruiser Control มีลำโพงให้ 6 ชิ้น
หัวเกียร์หุ้มหนัง และมีกล้องมองหลังมาให้เป็นพิเศษ

ปิดท้ายกันด้วยรุ่นท็อป 1.8  V Sunroof  Navi แน่นอนครับ เพิ่ม Sunroof สวิชต์ไฟฟ้า มาให้
เพิ่มชุดเครื่องเสียงแบบ หน้าจอ มอนิเตอร์สี 5.8 นิ้ว ส่วนสวิชต์ พวงมาลัย Multi Information
Display จะเพิ่มระบบควบคุมระบบเชื่อมต่อโทรศัพท์แบบไร้สาย Bluetooth มาให้เป็นพิเศษ
รวมทั้งเพิ่ม ระบบนำทางผ่านดาวเทียม GPS Navigation System แค่นั้น!

ผมกับ ตาแพน Commander CHENG! เรานั่งวิเคราะห์ดุระหว่างการถ่ายทำคลิปวีดีโอ ลองขับ
Pulsar กัน จนค้นพบว่า ถ้าคุณมี ใครสักคน พร้อมจะเป็นสปอนเซอร์ ออกเงินซื้อรถใหม่ให้
คุณ ทั้งคัน 1.8 V Navi คือรุ่นที่แพงก็จริง แต่คุณจะได้ความคุ้มค่าแทบทั้งหมด

แต่ถ้าคุณต้องออกเงินเอง รุ่น 1.6 V ธรรมดา ก็ให้อุปกรณ์มาครบ เทียบเท่ากับรุ่น 1.6 SV
แล้วด้วยซ้ำ โดยไม่จำเป็นต้องขยับขึ้นไปเล่นรุ่น SV แต่อย่างใด เว้นเสียแต่ว่า คุณเกิด
กิเลส อยากได้ ชุดแต่ง Aero Part ครบๆ จากโรงงาน แล้วก็ชุดไฟท้ายแบบรมดำ ซึ่งก็ต้อง
ลองถามตัวเองดีๆว่า อยากได้จริงหรือเปล่า บางที ขอเป็นของแถมจากเซลส์ หรือเพิ่ม
ราคาส่วนต่างกันเอาเอง ก็ไม่แน่ว่าอาจจะถูกกว่า เป็นไปได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณเป็นคนชอบขับรถเร็วๆ แรงๆ และชอบสมรรถนะในการขับขี่ การได้
กดคันเร่งออกตัวเอี๊ยดให้ล้อฟรีทิ้งนิดๆ เป็นความซาดิสม์สะใจส่วนบุคคล เฉกเช่นผู้การ
จอมเกิน Commander CHENG ของเรา และมีเงินราวๆ 1.1 – 1.2 ล้านบาท เตรียมรอพร้อม
เซ็นใบจองแล้ว….

ผมแนะนำให้รอดู Pulsar TURBO!!

คุณอาจสงสัยว่า มันจะมาจริงเหรอ?

ตอบกันตรงๆ ยังไม่มีใครบอกได้ ว่ามันจะมา หรือไม่มา แม้แต่ผมก็ยังไม่แน่ใจนักหรอกว่า
มันจะมาหรือไม่ ที่แน่ๆ ถ้ามันจะมา นั่นย่อมไม่ใช่ปี 2013 หรือก่อน กลางปี 2014 แน่ๆ

แต่จะว่าไปแล้ว ผมเห็นบางสิ่งที่ Nissan ปล่อยออกมาให้เป็นข้อน่าฉงน ชวนให้ติดตามกัน
ต่อไปเล็กๆ แล้วละ เขาปล่อยมันออกมาโล่งโจ้งเลย…

ถามจริง! ที่อ่านมาทั้งหมดหนะ คุณไม่ได้สังเกตกันเลยเหรอว่า ทำไมรุ่น 1.8 V Navi ที่ผม
นำมาลองขับกันหนะ ไม่มีชุดสปอยเลอร์ Aero Part รอบคัน อย่างที่รุ่น 1.6 SV เขามีกัน?

เป็นไปได้ไหม ว่าเขาจะเก็บเอาไว้ แถมให้ เมื่อถึงวันที่ Pulsar จะมีรุ่นเครื่องยนต์ Turbo?

แล้วถ้ามาจริง จะวางเครื่องยนต์อะไร?

แหงละครับ MR16DDT 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1.6 ลิตร ฉีดจ่ายตรง DIG (Direct Injection
Gasoline) พ่วง Turbo พร้อม Intercooler 190 แรงม้า (PS) ที่ประจำการอยู่แล้วใน Juke
กับ TIIDA เวอร์ชันจีน อยู่นี่ไง! มันวางได้พอดีเป๊ะเลยนะนั่น!

อย่างไรก็ตาม ถึงวันนี้ ยังไม่มีใครตอบผมได้ ว่ามันจะมา หรือไม่มา แต่ถ้าจะมา

ถ้า Australia เขาจะมีรุ่น Turbo SSS และมันจะถูกผลิตส่งออกจากเมืองไทยไป คำถามคือ
แล้วใครกันละ ที่จะบล็อกไม่ให้คนไทย หมดสิทธิ์ได้ใช้?

ผมเชื่อมั่นว่า คนไทย และประธานคนล่าสุด Kimura-san อยากให้ Pulsar Turbo มีขายใน
บ้านเรา แต่ คนที่ยังหวั่นใจนั่น มักจะเป็นคนญี่ปุ่น ที่ยังไม่กล้าพอจะง้างดาบซามูไร ออกมา
ฟาดฟันคู่แข่ง ในกลุ่ม C-Segment ที่เน้นสมรรถนะการขับขี่ กันเสียที

เฮ้ย! Nissan ควรจะมี Halo-Car เอาไว้ สักคัน เพื่อให้ผู้เป็นเจ้าของ ได้ซื้อมาขับอย่างเป็นสุข
และสามารถเอาไว้คุยข่ม พวกที่ใช้่ Honda Civic 2.0 ลิตร , Ford Focus TDCi กับ GDi 2.0 ลิตร
หรือแม้แต่ Chevrolet Cruze 2.0 Diesel Turbo กันในวงสนทนา ได้เสียทีเหอะ! ความภูมิใจ
ของผู้ที่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์กลุ่มนี้หนะ อยู่ที่ว่า ม้าศึกคู่กายของตนหนะ มีดีพอที่จะทาบรัศมี
หรือเอาชนะชาวบ้านเขาได้ แม้เพียงแค่ ปลายจมูกกันชนหน้ารถก็ตามเถอะ!

แน่นอน ยอดขายมันไม่ได้สวยหรูนักแน่ๆ แต่ถ้าขายได้เดือนละ 100 – 200 คัน เมื่อรวมกับ
ยอดขายของ ทั้ง Sylphy และ Pulsar ต่อเดือน ทั้งโครงการ มันก็น่าจะพอถัวเฉลี่ยผลกำไร
กันได้อยู่แหละน่า!

เหมือนที่ใครคนหนึ่ง พึ่งบอกกับผมไว้ เมื่อไม่นานมานี้ว่า มันเป็นรถยนต์ที่ Nissan อาจไม่ถึงขั้น
Must have แต่มันก็ Nice to have!… Very very nice to have ด้วยเหอะ!

ถึงตอนนี้ ใครรอไม่ไหว เงินถึง และบ้าจริง ซื้อ Pulsar 1.6 V แล้วหาเครื่อง MR16DDT พร้อมเกียร์
ยกชุดมาจาก Juke เวอร์ชันญี่ปุ่น มาวางไปเลย ขนหน้าแข้งคนรวยไม่ร่วงหรอก แต่จะคุ้มกับความแรง
ที่ได้มาหรือไม่นั้น คงต้องไปนั่งกดเครื่องคิดเลข กันเอาเอง!

แต่ผม เลือกที่จะรอ รอด้วยความหวัง โคตรจะลมๆแล้งๆ เลยละว่า Pulsar Turbo ควรจะมา

รอด้วยความหวังที่ว่า สักวันนึง พ่อครัวใหญ่ใน Nissan จะปรุงส้มตำ ที่ถูกปากคนไทยที่รักใน
การขับรถอย่างจริงจัง ออกมา ในราคาที่สมเหตุสมผล มาให้เราได้ลิ้มชิมรสกันเสียที

อารมณ์เดียวกับการ รอเนื้อคู่ นั่นละ เราไม่รู้หรอกว่ามันจะมาเมื่อไหร่ แต่จู่ๆ จะโผล่มา ก็เล่น
โผล่มาโดยไม่ทันให้เราตั้งตัว

(แต่อย่าตั้งความหวังมากไป เดี๋ยวเกิดไม่เป็นไปตามนั้น จะเสียใจเปล่าๆ)

ผมเชื่อ เช่นนั้น!

————————–///————————–

ขอขอบคุณ / Spacial Thanks to :
ฝ่ายการตลาด
บริษัท Nissan Motors (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ และอำนวยความสะดวกด้านต่างๆอย่างดียิ่ง

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ และลิขสิทธิ์ภาพถ่ายในไทย เป็นผลงานของ ผู้เขียน
ภาพวาด หรือ ภาพคอมพิวเตอร์กราฟฟิค Illustration เป็นของ Nissan Motor Co.Ltd.
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมด ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
22 พฤษภาคม 2013

Copyright (c) 2013 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
May 22nd,2013

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! Click Here!