เมื่อปี 2005
ผมเคยบอกมิตซูบิชิไปแล้ว ตั้งแต่ก่อนเจ้าไทรทัน จะเปิดตัวในเมืองไทยเป็นแห่งแรกในโลก
ในกระทู้รีวิว ก่อนเปิดตัวของไทรทัน กระทู้นี้…
topicstock.pantip.com/ratchada/topicstock/V3669568/V3669568.html
ความคิดเห็นที่ 52
สิ่งที่ผมอยากเห็น และอยากให้มี
ด้วยความเชื่อส่วนตัว จากมุมมองและประสบการณ์ว่า
ถ้ามีแล้ว น่าจะดีกว่าไม่มี
คือ
1. ได้โปรดนำเครื่อง 2.5 ลิตร เวอร์ชัน 140 แรงม้า
มาวางลงรุ่นขับเคลื่อนสองล้อด้วยทีเถอะ
2. แล้วถ้าจะให้ดีช่วยหาเกียร์อัตโนมัติที่รับแรงบิดได้
กำลังดี แต่ควรเป็นเกียร์คนละลูกกับรุ่น 3.2 ลิตร
มาสวมให้กับเครื่อง 2.5 ลิตร 140 แรงม้า ทั้งรุ่น
ขับสอง และ ขับสี่ล้อด้วย!
3. และ ในกรณีของไทรทันแล้ว
ถ้าจะทำรุ่น ขับสองล้อ ยกสูง ผมว่าจะยิ่งเข้าท่าเลย เพราะรูปทรงของรถ เอื้ออำนวยอย่างมากให้เล่นมุขนี้ได้แล้วซะที!
และผมบอกไว้ตรงนี้เลยว่า
ผมเชื่ออย่างมากด้วยสัญชาตญาณของผมว่า
ถึงแม้จะไม่มี 3 ข้อนี้ในตอนเปิดตัวแน่ๆละ
แต่มิตซูบิชิ จะทำในสิ่งที่ผมเขียนไว้นี้แน่ๆ!
อย่างน้อย ข้อใดข้อหนึ่ง หรือสอง หรืออาจจะทั้งสามข้อเลย
ก็เป็นไปได้ รอดูกันต่อไป ผมเชื่อว่าปีหน้า เราอาจจะได้เห็นกัน
และแล้ว ในที่สุด
ก็เป็นอย่างที่ผม และหลายๆคน คาดการณ์กันไว้
ว่า ยังไงๆ ต้องมีมาแน่นอน
เพียงแต่ มาในเวลาที่ผมไม่คิดว่าจะเป็นช่วงนี้ของปีนี้
คือ คิดว่า น่าจะมีมาตั้งแต่ช่วง งานบางกอกอินเตอร์เนชันแนล มอเตอร์โชว์ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
หรือไม่ ก็เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
หรือไม่ก็ รอกันถึง มอเตอร์โชว์ ไบเทค มีนาคม 2007 กันไปข้างนึงเลย
แต่ กลับเลือกจะเปิดตัวในช่วงปลายปี
ในงาน มหกรรมยานยนต์ Motor Expo ที่ผ่านมา
ท่านสุภาพบุรุษ และสุภาพสตรีครับ
T R I T O N – P L U S
อันที่จริงแล้ว
มิตซูบิชิ จัดทริป ทดลองขับ ให้กับสื่อมวลชน
ก่อนการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ประมาณไม่เกิน 1 เดือน
แต่ ผมเอง หาเวลาว่างไปร่วมด้วย ไม่ได้เลย
จนกระทั่งหลังงาน Motor Expo 2006 นั่นละครับ
ถึงได้พอจะหาเวลาว่างได้
เรานัดกันกับทาง พี่ปรีดา พีอาร์ของมิตซูบิชิว่า
เป็น วันพุธ 13 ธันวาคม 2006
และ คราวนี้ ผมก็ชวน ตา “ถัง” ไปร่วมทดลองขับไทรทันพลัส ด้วย
ตอนแรกตั้งใจว่า จะทดลองขับทั้งสองรุ่น
คือทั้งรุ่นเกียร์ธรรมดา และเกียร์อัตโนมัติ
ทว่า ในวันนั้น
รถทดสอบกลุ่มนี้ ยังติดปัญหาบางประการกับทาง
กรมสรรพสามิต
เลยต้องรอทางเจ้าหน้าที่ มาเซ็นเอกสารบางอย่างให้เรียบร้อยเสียก่อน
ผมก็ได้แต่รอจนกระทั่งถึง บ่าย 2 โมง
ระหว่างนั้น ก็นำเจ้า มาสด้า BT-50
ที่ยืมมาเพื่อทดลองขับด้วยเช่นเดียวกัน
ไปถ่ายรูป ที่ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต
จนกระทั่งทางมิตซูบิชิพร้อมแล้ว
ผมและตาถัง ก็เลยขับเจ้า BT-50
กลับไปที่สำนักงานใหญ่ของมิตซูบิชิ อีกครั้ง
และเมื่อคำนวนดูเวลาแล้ว
ถ้าจะต้องลุยรวดเดียว 2 คัน เวลาไม่พอแน่ๆ
กว่าจะจบได้ มี 5 โมงเย็นแน่นอน
เราจึงจำเป็นต้องเลือก
มานั่งดูทางเลือกกันแล้ว
ในเมื่อ รุ่น เครื่องยนต์ 2.5 ลิตร คอมมอนเรล เทอร์โบ อินเตอร์คูลเลอร์ 140 แรงม้า (PS)
เกียร์ธรรมดา ขับสี่ล้อ
เราเคยทำการทดลองขับ และทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงไปแล้ว โดยครั้งนั้น เราปลดระบบขับสี่ล้อออก
นั่นหมายความว่า ตัวเลข 13.4 กิโลเมตร/ลิตร
ที่ทำเอาไว้นั้น น่าจะเพียงพอแก่การนำมาอ้างอิงกันต่อได้
ขณะเดียวกัน ไทรทัน พลัส ยังถือเป็นครั้งแรก ที่มีการนำ
เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ มาใช้กับ
เครื่องยนต์ 2.5 ลิตร คอมมอนเรล เทอร์โบ อินเตอร์คูลเลอร์ 140 แรงม้า (PS)
ซึ่ง เรายังไม่เคยลองมาก่อน
อีกทั้งยังถือเป็นรุ่นท็อป ในกลุ่ม ขับสองยกสูง ไทรทัน พลัสนี้อีกด้วย
ตัวนี้แหละ น่าสนใจ และควรค่าแก่การที่เราจะใช้เวลา
3 ชั่วโมงต่อจากนี้ ในการค้นหาสมรรถนะของไทรทัน พลัส กันมากกว่า
บทสรุปของเรา จึงไปตกอยู่กับเจ้าคันสีเทาอ่อนๆ ที่ไม่ใช่สีเงิน คันนี้นี่เอง
นั่นเองครับ
ถ้าจะถามว่า แบ็กกราวนด์นี้ ผมถ่ายที่ไหน?
ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า
การแอบใช้ ลานด้านหลังสำนักงานใหญ่ของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ทุ่งรังสิตนั่นเองละครับ เป็นแบ็กกราวนด์
คอนเทนเนอร์ สวยๆเหล่านี้ละครับ สวยดี และเข้ากันกับบุคลิกของตัวรถ
จนผมเอง ไม่ต้องไปหาโลเกชันถ่ายรูปที่ไหนไกลๆอีกเลย
งานเสร็จได้เร็ว ดังใจต้องการ
ถ้ามองจากภายนอกแล้ว
ไทรทันพลัส แทบไม่มีอะไรที่แตกต่างจากรุ่นมาตรฐาน
ขับสี่ล้อ เท่าไหร่เลย
ยกเว้น
1. ไฟตัดหมอกหน้า ที่มีมาใส่ในเบ้าเปลือกกันชนหน้า(ซะที)
2. กันชนหลัง ออกแบบใหม่ ดีไซน์ พยายามให้เข้ากับตัวรถ แต่ผมว่ามันแปลกไปสักหน่อย
ยิ่งถ้าเป็นภายในห้องโดยสารแล้ว
แทบไม่ต่างกันเลยครับ…
จนถึงวันนี้
ผมกับน้องถังก็ยังยืนยันว่า ในบรรดารถกระบะที่มีขายในบ้านเรา
ห้องโดยสารของไทรทัน ออกแบบ มาได้ดีที่สุด
และมีคุณภาพในการ “ประกอบ” ได้ดีที่สุด
ส่วน”วัสดุ”นั้น ก็พอๆกัน ไม่หนีกันกับรถกระบะรุ่นใหม่คันอื่นๆ
เบาะผ้า ใช้ผ้าแบบเดียวกันกับรถที่ส่งไปขายในยุโรปแท้ๆ
เบาะคนขับ นั่งขับนานๆ ก็ไม่เมื่อยล้าเท่าใดนัก
ถ้าจะเพลีย ก็อาจจะมีบ้าง ตามธรรมดาของรถกระบะ
ที่สร้างขึ้นในโครงสร้างลักษณะ Body on Frame
และมีระบบกันสะเทือนด้านหลังเป็นแหนบ
แต่ ก็ต้องถือว่า เหนื่อยและเพลียน้อยกว่ารถกระบะรุ่นเก่าๆมากๆ
นอกจากจะมีประตูบานหลังที่เข้าออกได้สะดวกมากๆแล้ว…
ส่วนเบาะหลัง
ผมก็ยังยืนยันว่า
เป็นรถกระบะ 4 ประตุ ที่มีเบาะนั่งด้านหลัง
นั่งสบายที่สุดในตลาด
เพราะพนักพิง ทำมุมเอียงมากว่ารถกระบะทั่วไป และเอียงในระดับที่เหมาะสม กำลังดี
แถมมีที่วางแขนพร้อมช่องวางแก้วน้ำพับเก็บได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม
กระจกหน้าต่างของบานประตูคู่หลัง
ไม่สามารถเปิดลงได้จนสุดครับ
ความแตกต่างที่ชัดเจนสุดระหว่างรุ่นขับเคลื่อนสี่ล้อ และ ขับสองยกสูงอย่างไทรทัน พลัส
อยู่ที่ อุปกรณ์ บนแผงหน้าปัดนี่เอง….
ในเมื่อชุดเฟืองขับเคลื่อนที่ล้อหน้า ไม่ได้รับการติดตั้งมาให้ด้วย
จะมีคันเกียร์ทรานสเฟอร์ สำหรับเลปี่ยนระบบขับเคลื่อนกันทำไม
พื้นที่ว่างเปล่า ตรงคันเกียร์จึงเกิดขึ้น
ขอบอกว่า ช่องวางของที่เห็นข้างคันเกียร์นั้น
ใหญ่พอสำหรับการวาง กล้อง Canon PowerShot S3 IS ผมได้สบายๆเลยทีเดียว!1
(แต่จะเด้งกระดอนระหว่างขับขี่หรือเปล่า อันนี้ผมทไม่ได้ทดลองมาให้ครับ)
คันที่ผมขับ เป็นรถทดลองประกอบครับ
ดังนั้น มีเรื่องแปลกๆนิดหน่อยว่า ไม่มีถุงลมนิรภัยฝั่งคนขับมาให้ ทั้งที่คันจำหน่ายจริง จะมีติดตั้งมาให้
ส่วนเบาะคนขับปรับด้วยไฟฟ้า จะมีเฉพาะรุ่น ขับเคลื่อนสี่ล้อ 3.2 GLS ตัวท็อป ครับ
———————-
ความแตกต่างสำคัญอยู่ที่นี่ครับ
จอมอนิเตอร์
พร้อมวิทยุ / เครื่องเล่น CD / VCD / DVD จาก Panasonic
ให้คุณภาพเสียง ใช้ได้ครับ
การทำงาน ก็ถือว่า ฟังก์ชันพื้นๆ ง่ายในระดับหนึ่งครับ
แต่ถ้าจะเอาระดับการใช้งานลึกๆ ยังไง ผมต้องเปิดคู่มือครับ
แต่หน้าตาของ ฟรอนท์ ดูเชยมากๆ
ไม่สวยเท่าไหร่เลย
ถ้าคุณซื้อ ไทรทัน พลัส วันนี้
นอกจากจะได้รถ และเครื่องเล่น DVD พร้อมจอ อย่างที่เห็นแล้ว
คุณยังจะต้องได้รับ รีโมทคอนโทรล 2 ชุด!
ฝั่งซ้าย ไว้คุมเครื่องเสียง
ฝั่งขวา ไว้เปิดและควบคุมจอ
เล่นเอาผมงงไปเลย
อุปกรณ์พื้นฐาน ก็มีมาครับ
ผมคงไม่ต้องอธิบายเพิ่ม
ส่วนแผงประตูนั้น ผมเองก็อยากได้แผงด้านข้างเป็นผ้า
แต่เมื่อวันที่ผมไปเจอฝนตก ในคืนที่นำไทรทัน 3.2 ลิตร
กลับมาทดลองขับต่อที่บ้าน เมื่อปีที่แล้ว
ผมจึงตัดสินใจได้ว่า เขาคิดถูกแล้วละว่า แผงประตูสำหรับรถกระบะ ขึ้นรูปกันโล่งๆแบบนี้ ก็โอเคนะ พอรับได้
***รายละเอียดทางวิศวกรรมและการทดลองขับ***
เครื่องยนต์ที่ติดตั้งอยู่ในไทรทัน พลัส รุ่นแรกที่เปิดตัวนั้น
มีเพียงขนาดเดียว
คือ
เครื่องยนต์ รหัส 4D56 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,500 ซีซี DI-D Hyper Common Rail Turbo + “Inter Cooler”
แรงม้าสูงสุด 140 แรงม้า (Ps)/ 4,000 รอบต่อนาที
แรงบิดสูงสุด 321 นิวตัน-เมตร (N-m) / 2,000 รอบ/นาที
สาเหตุที่มิซูบิชิ ไม่นำเครื่องยนต์ 3.2 ลิตร มาวางในไทรทัน พลัส ด้วย
ก็เนื่องจากว่า ผลสำรวจวิจัยตลาดส่วนหนึ่ง เจอมาว่า
ลูกค้ากำลังอยู่ในอารมณ์ที่คำนึงถึงความประหยัดน้ำมัน มากกว่าความแรง
อีกทั้ง รุ่น 2.5 140 แรงม้า ก็ถือว่า ให้อัตราเร่งที่เหมาะสมกำลังดี
ควบค่ไปกับความประหยัดอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องทำรุ่น 3.2 ลิตร
ออกมาขายด้วย แต่อย่างใด
และผมก็เชื่อด้วยว่า หลังจากนี้ ก็คงไม่มีรุ่น ไทรทัน พลัส 3.2 ลิตร ออกมา
จาก MMTh เองแน่ๆ
มาดูตัวเลขสมรรถนะกันดีกว่าครับ
หลังจากที่ได้ทดลองขับแบบเต็มไป
โดย ตาถัง เป็น co-pilot ช่วยจับเวลา และบันทึกตัวเลข
ส่วนผม หน้าที่ก็คือ กดคันเร่ง กับ กดแป้นเบรก
ใช้ถนนเส้นด้านหลัง ม.ธรรมศาสตร์ เป็นถนนในการทดลอง
เดี๋ยวนี้ รถเยอะมากกว่า 1-2 ปีก่อน ครับ
ไม่สะดวกในการใช้เป็นเส้นทางสำหรับทดสอบรถ
อีกต่อไป ในความเห็นผมนะ
ตัวเลข ในแถบขวาสุด คือตัวเลขของ ไทรทัน พลัส ครับ
ถ้าดูเปรียบเที่ยบกับรุ่น เกียร์ธรรมดา
พอจะใช้ตัวเลขในรุ่น 2.5 140 แรงม้า (PS) 4WD อ้างอิ้งกันได้ และตัวเลขของรุ่นเกียร์อัตโนมัติที่ออกมา
ก็ด้อยกว่าเกียร์ธรรมดากันแค่นิดเดียว ตามคาดไว้
ดังนั้น ผมว่าผมคิดถูกแล้วที่ไม่ได้ทดลอง รุ่นเกียร์ธรรมดาให้
เพราะตัวเลขคงออกมาไม่หนีกันไปจากตัวเลขเดิม
ของ 2.5 4WD เกียร์ธรรมดา ที่เคยทำเอาไว้แล้วแน่ๆ
ถ้าจะถามว่าอัตราเร่งเป็นอย่างไร
ผมว่า ก็เป็นไปตามคาด
คือ แรงในระดับปานกลาง สำหรับก๊วนรถกระบะทุกรุ่นทุกขนาดเครื่องยนต์ในตลาด
และถือว่า อืดนิดนึงนะ สำหรับรถกระบะ 2.5 ลิตร คอมมอนเรล ด้วยกันแล้ว
แต่ถือว่า ณ วันที่ได้ทดลองขับนี้ จากที่ผ่านมือผมมา
เครื่อง 2.5 ลิตร 140 แรงม้า ของไทรทัน
ยังคงแรงเป็นอันดับ 3 ของกลุ่มที่ใช้เครื่องยนต์ 2.5 ลิตร
ในบ้านเรา โดยมีอันดับ 1 เป็น Vigo 2.5 IC ที่มีแรงม้า น้อยกว่าชาวบ้านเขา แต่มีแรงบิดที่ดีไม่แพ้คู่แข่ง
ตามมาเป็นที่ 2 ด้วย มาสด้า BT-50 / ฟอร์ด เรนเจอร์
ที่จะรายงานตัวเลขกันในรีวิวครั้งต่อไป…
(ถ้า นิสสัน นาวาราเปิดตัวเมื่อไหร่ ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า
ด้วยพละกำลังที่สูงแบบบ้าระห่ำถึง 174 แรงม้า (PS)
และแรงบิดมหากาฬ 403 นิวตันเมตร น่าจะแซงไทรทัน ขึ้นไปอยู่ อันดับ 1
และทิ้งให้ไทรทัน 2.5 ร่วงลงไปอยู่อันดับ 4 ในกลุ่ม
2.5 ลิตร)
สิ่งที่ผมกับตาถัง ตั้งข้อสังเกตุเหมือนกันคือ
เวลา 3 วินาทีแรก ในการออกตัว หมดไปอย่างไร้ค่า
เข็มวัดรอบกวาดขึ้นไป แต่กว่าล้อจะหมุนเต็มกำลัง
ก็ต้องรอกัน 2-3 วินาที คือรอให้รอบเครื่องยนต์
ไต่ขึ้นไปถึงระดับ 2,000 รอบ/นาที
อันเป็นช่วงที่เทอร์โบบูสต์อัดอากาศเข้าเครื่องได้เต็มกำลัง
เวลาที่เสียไปคาดว่าน่าจะมาจากการทำงานของเกียร์
เพราะดูเหมือนว่า น่าจะมีการสูญเสียกำลังในระบบขับเคลื่อนพอสมควร
อย่างไรก็ตาม จะโทษว่าเป็นที่เกียร์ อัตโนมัติ 4 จังหวะ
ว่าอย่างนั้น มันก็ไม่เชิงอีกนั่นละ
เพราะเมื่อ เราได้ทดลองในช่วงอัตราเร่งแซง
80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ผมพบว่า ตัวเลขของอัตราเร่งแซง นั้น
ทำได้ดีกว่า รุ่นเกียร์ธรรมดา ที่ขับโดย ตา Ton99
ในกระทู้ฟูลรีวิว ของไทรทัน ครั้งที่แล้วอยู่ เล็กน้อย
ลองดูอัตราทดเกียร์ เทียบกันสักหน่อยไหมครับ
Triton Plus 5MT 4AT
เกียร์ 1 4.313 2.842
เกียร์ 2 2.330 1.495
เกียร์ 3 1.436 1.000
เกียร์ 4 1.000 0.731
เกียร์ 5 0.789 –
เกียร์ R 4.220 2.720
ทดเฟืองท้าย เท่ากันหมดที่ 4.100
ดังนั้น ถ้าคุณผู้ฟังรู้สึกว่า ในยามที่ต้องรีบร้อนออกตัว
อย่างรีบเร่ง แล้วรู้สึกว่า ไทรทัน มันเหมือนจะอืดๆ ไม่ทันใจ
ไม่ต้องไปโทษใคร เพราะนั่นคือผลจากการทำงานของเกียร์อัตโนมัติ นั่นละส่วนหนึ่ง
อ้อ จะว่าไปแล้ว ขอแก้ไขตัวเลขในตารางนิดนึงนะครับ
สำหรับความเร็วสูงสุด
ที่ถ่ายมา ทำได้ตามนี้ครับ
ดังนั้น ในตัวเลขที่เขียนว่า 175 นั้น เขียนผิดนะครับ
คืออันที่จริง มันขึ้นไปได้จากในมาตรวัดได้อีกนิดแหละครับ
แต่ ผมมองว่า มันไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญสำหรับคนขับรถกระบะ
เพราะการขับรถกระบะวยความเร็วที่สูงขนาดนี้
คือเรื่องที่อันตรายมากๆ
และไม่ควรเอาชีวิตเข้ามาเสี่ยง
แต่บอกตรงๆว่า ขณะใช้ความเร็วสูงระดับนี้
ไทรทันให้การยึดเกาะถนนที่มั่นใจได้ดีมากครับ
นิ่งขนาดไหน
ดูเอาแล้วกันว่า ผมสามารถถือกล้องถ่ายภาพนี้ไป ในขณะที่ตายังมองถนนอยู่
แล้วก็แค่กดชัตเตอร์…
ถ่ายช็อตนี้ ผมเผื่อไว้แค่ 2 ครั้งเท่านั้น
และทั้ง 2 ครั้ง ครั้งแรก เบลอนิดเดียวจริงๆ
ครั้งที่ 2 ไม่เบลอเลย ……
ช่วงล่างไทรทัน ถือว่าดีใช้ได้ครับ
ต้องยกความดีให้กับระบบกันสะเทือนหน้าแบบปีกนกคู่
การตอบสนองของพวงมาลัย
มีระยะฟรีน้อย คมและฉับไวกว่า BT-50
แหงละ ก็เป็นแบบ แร็คแอนด์พีเนียน ฟันเฟืองตัวหนอน
พร้อมระบบเพาเวอร์ช่วยผ่อนแรง และปรับน้ำหนักขึ้น
ตามความเร็วรอบเครื่องยนต์ นี่นา
ไม่น้อยหน้า Vigo และ D-Max/ Colorado แน่ๆ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงขับขี่ด้วยความเร็วต่ำ
พวงมาลัยของไทรทัน จะเบากว่า D-Max/ Colorado นิดนึง
อีกทั้ง ขณะขับขี่ทางไกล อย่างที่ผมเคยเขียนบอกไว้นั่นละครับว่า
โช้คอัพ ถูกปรับแต่งให้แข็งขึ้นจากสมัย สตราดาเยอะ
แต่ยังพยายามรักษาความนุ่มนวลให้เหลือไว้อยู่
สังเกตได้จากอากัปกิริยาขณะเจอคอสะพาน
ยังพอจะพบอาการหน้าเด้งนิดๆ แต่ ถือเป็นปกติของ
รถกระบะที่มีความสูงของตัวรถในลักษณะนี้
ส่วนด้านหลัง ยังคงเป็นตับแหนบ ที่แข็งเหมือนเดิม
การบาลานซ์ความนุ่มนวลระหว่างด้านหน้าและด้านหลังรถ
ทำได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ช่วงล่างถือว่านิ่งดีแน่ๆ
เพราะถ้าไม่นิ่ง ถังน้อย คงถ่ายภาพนี้มาไหวกว่านี้แล้วละครับ
การตอบสนองของระบบเบรก ให้ความมั่นใจที่ดี
แต่น่าสังเกตว่า การจับตัวของชุดผ้าเบรกค่อนข้างตื้น
คือ เหยียบปุ๊บ ไม่ต้องเหยียบลงไปจนสุด
กดลงไปแค่ 1 ใน 3 น้ำหนักของจานเบรกก็กดลงไปบนจานน่าจะมากแล้ว
ไม่ถึงกับต้องเผื่อระยะเบรกไว้สักนิดนึง อย่างที่ BT-50 เป็น
*** ทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ***
เนื่องจาก คราวนี้ ผมกับตาถังน้อย เดินทางไปทดลองขับ
กันไกลถึงสำนักงานใหญ่ของมิตซูบิชิ ที่รังสิต
งานนี้ จึงต้องมีการดัดแปลงเส้นทางจากเดิม
เพื่อให้เหมาะสม
ในช่วงเที่ยง ระหว่างรอความพร้อมจากทางมิตซูบิชิ
ผมได้ลองขับขึ้นไปทางเส้นที่จะพาเราไปจังหวัดนครสวรรค์
อันเป็นเส้นเดิมที่เคยใช้ในการทดลองไทรทัน ทุกรุ่น
แต่ปรากฎว่า มีการทำถนน และ มีการจราจรที่ เคลื่อนไปได้เรื่อยๆ
แต่ด้วยความเร็วแค่ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง กำลังดี
จึงไม่อาจใช้ถนนเส้นเดิมในการทดลองได้
เพราะผมต้องการควบคุมคันเร่งไว้ที่ระดับ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง
เปิดแอร์ และนั่งกัน 2 คน ตามมาตรฐานในการทดลองเดิม
ทั้งหมดที่มีมา
จะขับไปทางถนนมิตรภาพ ก็ดูจะไกลเกินไป
ขาเข้าหนะไม่เท่าไหร่
แต่ขากลับเนี่ยสิ น่าเป็นห่วงกว่า
ตอนนั้น ทั้งปริมาณรถ สภาพถนนอันดูไม่จืด
และถึงขั้นต้องให้องค์การ NASA มาออกใบรับรอง certificate ยืนยันว่า
“นี่ คือ ถนน ไม่ใช่พื้นผิวดาวอังคาร หรือดาวพลูโต”
เอาอย่างนี้แล้วกัน
ขับจากสำนักงานมิตซูบิชิ รังสิต ไปออกเส้นเชียงราก
ขึ้นทางด่วน ย้อนกลับไปยัง ถนนพระราม 6
แล้ววกขึ้นทางด่วนกลับมาลงเชียงรากใหม่
แล้วค่อยย้อนกลับมายังถนนวิภาวดีรังสิต
ไปกลับรถที่สะพานลอยฟ้า บริเวณ ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต
แล้วค่อยกลับมาที่สำนักงานใหญ่ของมิตซูฯ อีกครั้งหนึ่ง
อันที่จริง ต้องไปกลับรถที่ ม.กรุงเทพ
แต่ผมเองไม่ทราบมาก่อนว่า สะพาน fly over แห่งนี้
ไม่มีทางกลับรถ
ผมก็เลยทำผิดกฎจราจร ด้วยการลักไก่นิดหน่อย แหะๆ…
ตัวอย่างไม่ดีนะครับ อย่าทำตามอย่าง
ผมทำผิดไปแล้วครับ
เอาละ บ่ายคล้อยมากแล้ว รีบเติมน้ำมันเลยดีกว่า
น้ำมันที่เราใช้ เป็นน้ำมันเชลล์
จากปั้มด้านหลังสำนักงานของมิตซูบิชิ นั่นเองละครับ
ปั้มแห่งเดิมที่เราเติมกันประจำ
เช่นเดียวกันกับรถกระบะ และรถที่มีขนาดเครื่องยนต์
ต่ำกว่าระดับ 2,000 ซีซี ลงไปทุกรุ่น
ผมจับเขย่ารถทั้งหมดครับ
เพราะลูกค้าที่ซื้อรถใน 2 กลุ่มนี้
คำนึงถึงเรื่องอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงกันมากๆ
มากกว่าคนที่มีอันจะกินพอจะซื้อรถที่มีเครื่องยนต์ใหญ่โตกว่านี้ครับ
เขย่าไม่นานนัก ก็เต็มล้นปรี่ออกมา ชนิดเขย่าไม่ลง
ที่ปากถังน้ำมันของไทรทัน มีช่องทางเล็กๆ
ให้น้ำมันสามารถไหลย้อนกลับมาได้ด้วย
แล้วเราก็มุ่งหน้าออกสู่เส้นทางที่วางเอาไว้
ความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ไทรทัน พลัส 4AT ทำได้ดังนี้
ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ทำได้ดังนี้
ใช้เวลากัน ชั่วโมงกว่าๆ
ก็กลับมาถึงจุดเริ่มต้นอีกครั้ง
เราเติมน้ำมันที่หัวจ่ายเดิม
และด้วยคุณน้าคนเดิม ครับ
อิอิ
ตัวเลขบนมาตรวัดระยะทาง Trip A ขึ้นไปว่า
เราแล่นไปทั้งหมด 136 กิโลเมตร
เติมน้ำมันกลับเข้าไป ก็ยังคงต้องเขย่ากันอีกครั้ง จนเต็มขึ้นมาถึงคอถัง
ตัวเลขที่ออกมา ก็คือ
ระยะทางที่แล่นไป 136 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 10.81 ลิตร
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 12.59 กิโลเมตร/ลิตร
เมื่อลองเทียบกับรุ่นอื่นๆที่เคยทำการทดลองมาก่อนหน้านี้
คราวนี้ เราไม่ได้ใช้เครื่อง GPS จับ เหมือนอย่างตอนที่ตา Ton99 มาช่วยในคราวนั้นนะครับ
ดังนั้น ตัวเลขจาก GPS จึงขอตัดออกไป
อ้อ ตัวเลข ของ รุ่น 2.5 116 แรงม้า เกียร์อัตโนมัติ
ผมใส่ผิดนะครับ ที่ถูกต้องเป็น 15.107 กม./ลิตร นะครับ
*** สรุป ***
ขับสองยกสูง ที่ทุกคนรอคอย
น่าซื้อมาใช้มาก โดยเฉพาะเกียร์ธรรมดา ที่มาแบบฟูลออพชัน
ไม่ต่างจากรุ่นท็อป เกียร์อัตโนมัติ ที่อืดกว่า และกินน้ำมันกว่า รุ่น 3.2 อัตโนมัติ นิดหน่อย
วันที่ผมได้ขับไทรทันคันจริง เมื่อปีที่แล้ว
นั่นคือวันที่ผม เริ่มต้น รอ ไทรทัน ขับสองยกสูง
มาวันนี้ ไทรทัน ขับสองยกสูง ถูกเรียกว่า ไทรทัน พลัส
ชื่อรุ่น คุณลูกค้าอย่างเราๆ ไม่ต้องคิดมาก
เพราะพวกญี่ปุ่น และฝ่ายการตลาด
รวมทั้งเอเจนซี โฆษณา คิดกันมาจนตาเหลือกหมดแล้ว
ในที่สุดก็ไปคิดกันมาได้ว่า
โคลต์ ซับ-คอมแพกต์ แฮตช์แบ็ก 5ประตู 1.5 ลิตร
ในญี่ปุ่น มีรุ่นตัวถังยาวที่เพิ่มคุณสมบัติต่างๆให้อีกเล็กน้อย
ในชื่อ โคลต์ พลัส
ไฉนเลย ก็ควรจะตั้งชื่อให้มันคล้องจองกับบริษัทแม่เขาสักหน่อยก็แล้วกัน
สรุปว่า เอาชื่อ ไทรทัน พลัส นี่แหละ!!
เล่นง่ายดีเนอะ!
แต่จะใช้ชื่อนี้ ก็ยังอุตส่าห์มีการคิดค้น กันมาได้ว่า
อักษรแต่ละตัวของ PLUS มันมาจากอะไรบ้าง
และ จะยิ่งดี ถ้าเราจะมาสรุปว่า มิตซูบิชิ ทำรถออกมาได้ตามที่ลูกค้าคาดหวังหรือไม่….
เรียงกันไปทีละหัวข้อเลยดีกว่า
P = Performance
จะว่ากันไปแล้ว รุ่นเกียร์ธรรมดา มีภาษีดีกว่า
รุ่นเกียร์อัตโนมติ แน่นอน
แม้ดูตัวเลขอัตราเร่งแล้ว จะไม่แตกต่างกันไกลมากนัก
พอฟัดพอเหวี่ยงกัน
และยังคงแรงอยู่ในอันดับ 3 จากที่ผมทดลองรถกระบะมา
แต่ถ้าดูอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงแล้ว ตัวเลขที่ห่างกันเกือบ 1 กิโลเมตร/ลิตร นั้น สำหรับผม ถือว่า มีนัยยะสำคัญซ่อนเร้นอยู่
และแม้ว่า ความเร็วจะไต่ขึ้นไปค่อนข้างเร็วใช้ได้ในภาพรวม
ทว่า พอพ้นจาก 160 กิโลเมตร/ชั่วโมงไปแล้ว
แรงบิดหายไปพร้อมกับสายลม ที่ไหลเวียนผ่านตัวถังแล้วหรือ? กว่าจะลากขึ้นไปที่ เหนื่อยหอบเอาเรื่อง
ผิดกับ Vigo ที่ ลากได้ยาวต่อเนื่อง ในลักษณะ Flat Torque คือมีแรงบิดต่อเนื่องตั้งแต่รอบต่ำยันรอบสูงๆ
ทำให้เร่งแซงได้วสบายขึ้น
คือเอาเข้าจริง เครื่องยนต์ของไทรทัน ผมว่า ยังถือเป็น
จุดด้อย เพียงเดียวเท่านั้น ของรถทั้งคัน ที่น่าจะปรับปรุง เพื่อลบจุดอ่อนลงไปให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
เพราะในเมื่อสามารถ ลบความเชื่อเรื่องกินน้ำมันมาก
มาจากสตราด้าได้แล้ว ก็น่าจะต่อยอดในเรื่องความแรง
กันได้ ไม่ต้องให้แรงมาก เอาแค่ ให้มีอัตราเร่งในช่วงออกตัว และช่วงกลางสำหรับเร่งแซง ดีขึ้นอีกสัก 0.5-1 วินาที ก็พอแล้ว
L = Luxury
หรู? ไอ้ความว่าหรู นี่พูดตรงๆนะ ผมละคนนึงครับ ที่โคตรเบื่อเลย
กับบริษัทรถยนต์แห่งใดก็ตาม ที่ชอบเอาคำว่า “หรู”
มายัดเยียดให้ผู้บริโภคได้อ่าน ได้รับรู้ ในคำโฆษณาของ
รถที่ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อตอบโจทย์ในแนวทางหรูในทิศทางนั้น
จะมาอ้างว่า “หรูแบบสปอร์ตๆ” มันก็ดูจะเป็นการเอาสีข้างเข้าแถกไปสักหน่อย
และมิตซูบิชิ ก็เป็นหนึ่งในนั้น
คือ ผมไม่รู้ว่า หมดหนทางในการสรรหา คิดค้นคำใหม่ๆมาใช้เรียก ห้องโดยสารของไทรทัน ที่เต็มไปด้วย
ความดีเด่น งาม และประณีต ในการตกแต่ง
การเอาใจใส่เลือกวัสดุ ให้เหมาะสมกับต้นทุน
และรูปแบบการใช้งาน ไปจนถึง
การออกแบบให้สวยงาม มาในมาดสปอร์ต ลงตัว
แบบนี้ กันแล้วเหรอ?
ย่อหน้าข้างบนนี้ คือิ ทั้งชม และด่า ไปในเวลาเดียวกัน
เครื่องเล่น DVD นี่ละ คือตัวเรียกลูกค้าที่ดีทีเดียว
U = Utility
ความอเนกประสงค์
ช่องเก็บของต่างๆ ไม่ถึงกับเยอะ
แต่ก็ถือว่ากำลังดี และมีในตำแหน่งที่ผมเองคาดไม่ถึง
กระบะหลังหนะ มันขนของได้เยอะ ไม่ต่างกับคู่แข่งหรอก
เพียงแค่ว่า แนวของกระบะด้านหลัง มัน ล้ำสมัยไปหน่อย ก็เท่านั้น
S = Safety
แม้กระทั่งรุ่นเกียร์ธรรมดา ก็ยังติดตั้ง ถุงลมนิรภัยฝั่งคนขับ
และเบรก ABS + EBD มาให้ด้วย
นี่แหละ อีกสิ่งหนึ่งที่จะทำให้ลูกค้าหันมามอง ไทรทัน พลัสกัน
และเมื่อได้ลองขับแล้ว
ผมค่อนข้างมั่นใจที่จะแนะนำว่า
ถ้าคิดจะซื้อไทรทัน พลัส
และเป็นคนที่ให้ความสำคัญในเรื่องอัตราเร่ง และความประหยัดควบคู่กันแล้ว
รุ่นท็อปของ เกียร์ธรรมดา ทั้ง 2 ตัวถัง
เมกะแค็บ กับ 4 ประตู ก็เพียงพอแล้ว
ไม่ต้องถึงขั้นเอารุ่นเกียร์อัตโนมัติหรอกครับ
เพราะเอาเข้าจริง
มันต่างกันแค่เกียร์เท่านั้นเอง
นอกนั้น คุณจะได้อุปกรณ์เหมือนกันแทบจะทุกประการ
สาเหตุสำคัญในความคิดของผม
เป็นเพราะตัวเลขอัตราเร่ง และอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
ของรุ่นเกียร์ธรรมดา
2.5 ลิตร 140 แรงม้า ถือได้ว่า ดีกว่า เกียร์อัตโนมัตินิดหน่อย
แถมรุ่นเกียร์อัตโนมัติ ยังกินน้ำมันกว่ารุ่น 3.2 เกยร์อัตโนมัติ เสียด้วยเนี่ยสิ!?
เล่นเอาผมงงไปเลย เพราะนี่ก็น่าจะเป็นอีกครั้งหนึ่ง
ที่พอจะให้เราได้เห็นันว่า
เมื่อมองกันที่ตัวถังขนาดเท่ากันแล้ว
เครื่องเล็กกว่า ไมได้หมายความว่าต้องประหยัดกว่าเสมอไป
นอกนั้น ไม่มีอะไรน่าห่วงกับไทรทัน รถกระบะที่ภาพรวมแล้ว
ถือได้ว่า ดีกว่ารถกระบะคู่แข่งทั่วไป
เชื่อว่าหลังจากนี้
ยอดขายของไทรทัน จะกลายเป็นว่า รุ่น พลัส น่าจะขายดีที่สุด
ในหมู่รถกระบะขับสองยกสูง
แต่อย่างที่บอกนะครับว่า
ข้อด้อยของไทรทัน พลัสที่ควรปรับปรุง
ผมว่ามี 2 ข้อคือ
1. เครื่องยนต์ อย่างที่บอกไป ขออัตราเร่งที่ดีกว่านี้
อีกนิดเดียว ความเร็วปลายไม่ต้อง แค่นี้พอเหลือๆ 1
2. การสูญเสียกำลังในระบบเกียร์อัตโนมัติ น่าจะทำได้ดีกว่านี้อีกสักหน่อย
นอกนั้น เหลือแต่การหมั่นควบคุมดูแลกันของชาวแหลมฉบัง
อันเป็นที่ตั้งของโรงงานมิตซูบิชิ
ว่าให้รักษามาตรฐานคุณภาพการประกอบอย่างนี้เอาไว้
และพัฒนาให้ดีขึ้นยิ่งไปอีก
และอย่าลืม ปรับปรุง ความเชื่อมั่นของแบรนด์กันด้วยละ!
————————————–///————————————–
ขอขอบคุณ พี่ปรีดา และทีมพีอาร์ของ
บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย จำกัด
สำหรับความเอื้อเฟื้อและความช่วยเหลือ
ในครั้งนี้และตลอด 1 ปีที่ผ่านมาครับ
และขาดไม่ได้
ขอขอบคุณ น้อง “ถัง”
สำหรับการสละเวลามาร่วมทดลองรถกันถึง 3 รุ่น 4 คัน
ตลอด ตั้งแต่วันอังคาร จนถึง วันศุกร์ที่ผ่านมานี้
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์
เผยแพร่ครั้งแรก ใน www.pantip.com ห้องรัชดา 17 ธันวาคม 2006
ดัดแปลงแก้ไข เพื่อนำมาเผยแพร่ครั้งที่ 2 ใน www.headlightmag.com
31 มีนาคม 2009