นับตั้งแต่เปิดเว็บไซต์ Headlightmag.com มา…ไม่สิ…อันที่จริงต้องบอกว่า ตั้งแต่จับพลัดจับพลูเข้ามา
สู่บ้านทรายทอง…เอ้ย! แวดวงรถยนต์ ตอนนี้ ก็ปาเข้าไป 11 ปีแล้วละ มีบริษัทรถยนต์อยู่หลายราย
ที่ยืนเคียงค้างผม ตั้งแต่ก่อนที่เว็บไซต์นี้จะเกิดขึ้น ช่วงเวลาอันยากลำบากของผม จนถึงวันแรกที่
เว็บไซต์ เปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการ เรื่อยมาจนถึงวันนี้ ความสัมพันธ์ของเรา ไม่เคยมีปัญหา
ไม่เคยมีเรื่องให้ขุ่นข้องหมองใจ เราให้เกียรติซึ่งกันและกัน ยอมรับในจุดยืน และหน้าที่ของ
ซึ่งกันและกัน และที่สำคัญ พวกเขายังยอมรับได้กับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาได้ขนาดนี้
ทั้งที่ถ้าเป็นคนอื่น เขาคงจะเลิกคบกับผมกันไปแล้วละ
และหนึ่งในบริษัทรถยนต์ที่ผมพูดถึงข้างบนนี้ ก็คือ Mitsubishi Motors
ครับ บริษัทเดียวกับที่ทำรถออกมาดีหลายๆรุ่น แต่ก็มีบางครั้งที่ชอบทำตัวให้โดนลูกค้าด่า เช่นเรื่องศูนย์บริการฯ
ดีๆ หาได้น้อย (หายากยิ่งกว่า หาร้านขายยาตอนตี 2) ไปจนถึงการทำตลาดของ Lancer EX เนี่ยแหละ!
ผมก็เห็นความตั้งใจของคนทำงานหลายๆคน ที่คิดอยากจะแก้ไขปรับปรุงบริษัทให้มันดีขึ้น ภายใต้สารพัด
ข้อจำกัดจำเขี่ยที่ล้วนแต่ให้ต้องจำใจ ทำใจกัน แต่ต่อให้จะกดดันในการงานแค่ไหน เวลาพวกเขา Relax กัน
ก็ช่างสุดแสนจะ ฮา ถึงขั้น “รั่วๆ” เลยด้วยซ้ำ เป็นบรรยากาศที่ผมจำได้ว่า ไม่ค่อยพบเจอความเป็นกันเอง
มากถึงขนาดนี้จากบริษัทข้ามชาติรายไหนๆ ในวงการใดๆ ก็ตาม
ดังนั้น แม้จะพึ่งทำบทความ Exclusive First Impression ลองขับ Triton และ Pajero Sport 2.5 VG Turbo
เสร็จเป็นรายแรกก่อนใครในสยามประเทศ (อีกแล้ว) แต่เมื่อทาง พี่แตน PR ลูกสองของค่าย Mitsubishi
โทรมาบอกว่า รถพร้อมแล้วนะ ล็อกคิวไว้ให้แล้ว ผมก็เลยรีบคว้ามาทำ Full Review กันก่อนเลย
ทั้งที่ตามปกติแล้ว ที่ผ่านมา ผมมักไม่ค่อยทำรีวิวทดลองขับ รถยนต์รุ่นปรับโฉม Minorchange เท่าใดนัก
เหตุลก็เพราะว่า ถ้ารถมีการปรับปรุง แค่เปลี่ยนหน้าตา แต่ไม่ได้มีการปรับรุงระบบส่งกำลัง ก็ดูจะไม่ค่อย
มีประโยชน์ ในการนำมาทำรีวิวใหม่ มากเกินไปกว่า ทำเอาไว้ เพื่อทดแทนรีวิวเก่าๆ ซึ่งถูกขังลืมเอาไว้
ในเว็บไซต์เก่าที่ผมเคยโดนหลอกให้เอารีวิวไปลง
แต่ สำหรับคราวนี้ Pajero Sport และ Triton ใหม่ ในคราวนี้ ผมคิดว่า ควรจะทำรีวิวกันอีกครั้ง เพราะ
Mtisubishi Motors ตัดสินใจฮึดสู้ด้วยการปรับปรุงเครื่องยนต์ ติดตั้ง Turbo แบบแปรผันครีบ มาให้
ในรุ่นเครื่องยนต์ 2.5 ลิตร แรงขึ้นเป็น 178 แรงม้า (PS) แล้วถอดเครื่องยนต์ 3.2 ลิตรเดิมในรุ่นท็อป
ออกไป เพื่อให้เครื่องยนต์ใหม่ ทำตลาดแทนที่ไปเลย
และทั้งหมดนั้น ก็คือที่มา ที่ทำให้ผม ต้องตัดสินใจ “เอาวะ!” ตื่นขึ้นมาสัมผัสโลกยามเช้า ก่อน 8 โมง
เพื่อจะถ่อสังขารไปหาตาโจ๊ก…หนึ่งใน The Coup Team ให้น้องเขา ช่วยบึ่งรถขึ้นทางด่วน เพื่อไปรับ
เจ้าน้ำตาลช็อกโกแล็ตขม คันนี้ จากพี่มุ่ย ด้วยกัน เหตุเพราะการเดินทางไปทุ่งรังสิตนั้น ผมเข็ดแล้ว
กับการขึ้น Taxi หรือรถตู้..กลัวจะเป็นศพอยู่บนโทรลเวย์เหมือนเช่นก่อนช่วงปีใหม่นั้น…
พี่มุ่ย เป็น หนึ่งในลูกน้องของพี่แตน PR ของ Mitsubishi Motors ต้อนรับเรา 2 คนด้วยเสียงอันแหลมม๊ากกก
แถมยัง ดังม๊ากกกกก ไม่แพ้กับความแหลมของเสียง คือคาดว่า คนทำงาน ชั้น 4 ของตึกสำนักงานใหญ่แห่ง
ทุ่งรังสิต ก็คงจะรู้กันเลยว่า จิมมี่ มาเยือน เพราะเสียงของพี่มุ่ยนั้น กึกก้องกัมปนาท ปะทะกำแพงตึก ฟังชัด
จนหลายๆคน ที่กำลังเดินไปกินข้าวเที่ยง ณ โรงอาหารด้านหลังออฟฟิศ ถึงกับมองมาทางเรา 3 คน เลยทีเดียว
และกุญแจของ เจ้าน้ำตาล ก็อยู่ในมือของพี่มุ่ย พร้อมจะส่งมอบเพื่อนเก่าที่คุ้นเคยให้เราได้ทดลองขับกัน
แบบเต็มๆอีกครั้ง
เพื่อนเก่าที่มักจะมาพร้อมฟ้าผ่า ฝนฟ้าคะนองได้ในแทบทุกครั้งที่ยืมรถรุ่นนี้มาทำรีวิวกันเลย ครั้งนี้ก็เช่นกัน
ฟ้าผ่า กับฝนฟ้าทั่วกรุงเทพฯ กลางเดือนกุมภาพันธ์ เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นเท่าไหร่ ก็ใครจะไปนึกละ
ว่า การนำ Pajero Sport กลับมาทำรีวิวอีกรอบในครั้งนี้ ก็ต้องเจอเหตุการณ์ฟ้าผ่า ฟ้าคะนองต่อหน้าต่อตา
เหมือนเช่นเมื่อครั้งยืมรถมาทำรีวิว เมื่อปี 2008 ไม่มีผิด!!! ครั้งนั้น เจอทั้งฟ้าแลบฟ้าร้อง รวมทั้งเจอการ
ฉกคิวรถทดลองขับไปต่อหน้าต่อตาแบบสายฟ้าผ่า จากคนที่ผมไม่เคยนึกเลยว่าจะทำแบบนั้นไปได้ลงคอ
(แถมพอเอาไปขับเสร็จ ก็เขียนบทความสั่วๆให้โดนคนอ่านด่าเล่นๆ จนเจ้าตัวผูกใจเจ็บอีกต่างหาก ทั้งที่
ไม่ได้ดูตัวเองเลยว่า ไอ้ที่เขียนไปหนะ เขาไม่ได้เรียกว่าบทความ เขาเรียกว่า “สำรอกทางแป้นพิมพ์” สุดท้าย
พอรับความคิดจากคนอ่านไม่ได้ ก็แอบปล่อยทิ้งไว้นานให้คนลืม แล้วค่อยลบความเห็นของคนอ่านเหล่านั้น
ออกไปจนเกลี้ยงกันเลยทีเดียว อย่านึกนะว่าไม่รู้)
เอาละ ใครจะสำรอก สำราก จนโดนคนอ่านเขาสำนวด นั่นไม่สำคัญ เรื่องที่เราควรจะคุยกันต่อไป นั่นคือ
เมื่อเปลี่ยนเครื่องยนต์แล้ว ตัวเลขสมรรถนะทั้งอัตราเร่ง และอัตราสิ้นเปลือง จะออกมาเป็นอย่างไร ดีขึ้น
กว่าเก่าหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน รายละเอียดทั้งหลาย อยู่ข้างล่างนี้แล้ว….
Mitsubishi Pajero Sport เป็นรถยนต์ตรวจการอเนกประสงค์ (SUV Sport Utility Vehicle) ที่ดัดแปลงขึ้นบน
พื้นฐานโครงสร้างวิศวกรรมและเฟรมแชสซีของรถกระบะ รุ่น Triton และถูกออกแบบมาเพื่อให้สามารถ
ใช้งานได้ทั้งบนถนนเรียบ และในถิ่นทุรกันดาน ซึ่งรถยนต์ประเภทนี้ ชื่อเรียกของทางภาครัฐในการจัดเก็บ
ภาษี หรือกำหนดกรอบนโยบายต่างๆที่เกี่ยวข้อง คือ PPV ((Pickup truck base Passenger Vehicle) ซึ่งเป็น
คำที่คนไทยกำหนดเรียกกันขึ้นมาเอง และไม่มีการใช้ในต่างประเทศแต่อย่างใด รถยนต์กลุ่มนี้ มักมีให้เลือก
ทั้งรุ่ขับเคลื่อน 4 ล้อ จะแบบ Part Time คือเลือกปรับระบบขับเคลื่อนเองได้จากในรถ หรือ Full Time ซึ่ง
ต้องขับเคลื่อน 4 ล้อกันตลอดเวลา (เช่น Toyota Fortuner) รวมทั้งยังมีรุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง ให้เลือกด้วย
นั่นหมายความว่า คู่แข่งโดยตรงที่ Pajero Sport ต้องต่อกรด้วยคือ Toyota Fortuner กับ Ford Everest นี่เรายัง
ไม่นับ รถดัดแปลงอย่าง TR Adventure หรือ TR Exciter ที่ตกรุ่นกันไปเยอะแล้ว รวมทั้ง TR AllRoader
ซึ่งยังทำตลาดอยู่ในตอนนี้ อย่างเหงาหงอย และไม่ใช่คู่ปรับของ รถยนต์จำพวก Urban SUV ซึ่งสร้างขึ้น
บนพื้นฐานของรถเก๋ง อย่าง Honda CR-V,Chevrolet Captiva,Ford Escape/Mazda Tribute,Nissan X-Trail
Toyota RAV4,BMW X1,BMW X3,Volvo XC60,Volvo XC90,Audi Q5 ฯลฯ แต่อย่างใด
Pajero Sport รุ่นปัจจุบัน ถือกำเนิดขึ้น ในฐานะรุ่นเปลี่ยนโฉมใหม่ Full Model Change ของ Mitisbishi L200
Strada G-Wagon รถยนต์ SUV/PPV ที่ดัดแปลงมาจากโครงสร้างของทั้ง Mitsubishi L200 Strada เดิม กับ
Mitsubishi Challenger รุ่นปี 1996 เพื่อสานต่อภาระกิจ ในการแย่งชิงส่วนแบ่งยอดขายจาก Toyota Hilux
Sport Rider ในขณะนั้น G-Wagon เปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2001 (พร้อมกับ Lancer Cedia)
แต่ตลอดเวลาหลายปีในช่วงนั้น G-Wagon ทำยอดขายได้ไม่น่าพอใจ จน Mitsubishi Motors ที่ญี่ปุ่น เขา
แทบจะถอดใจ
แต่จู่ๆ เมื่อ Toyota Fortuner ที่เปิดตัวเมื่อเดือนกันยายน 2004 เกิดฮิตเปรี้ยงปร้าง ผู้บริหาร Mitsubishi จึงตัดสินใจ
ว่า “เอาวะ! ฮึดสู้กันอีกสักครั้งก็แล้วกัน” และนั่นคือที่มาของ การพัฒนา Pajero Sport รุ่นนี้ในช่วงปี 2005 – 2008
ภายใต้รหัสโครงการ CR45 ที่เริ่มต้นล่าช้ากว่า โครงการพัฒนา Triton ไปพักใหญ่
นับตั้งแต่เปิดตัวในเมืองไทยเป็นครั้งแรก แก่บรรดาสื่อมวลชนทั้งหลาย เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2008 ที่โรงแรม
Grand Hyatt Erawan ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่อยู่ในตลาด แทบไม่มีการปรับโฉม Minorchange ใดๆเลย มีแค่เพียง
การกระตุ้นตลาดด้วย บรรดารุ่นพิเศษ อันน่าเวียนหัว เช่น รุ่น White Pearl ที่คลอดออกมาได้แทบจะทุกช่วงเวลา
ที่จะมีงานแสดงรถยนต์ทั้ง Bangkok Motor Show หรือ Motor Expo
ถึงกระนั้น ยอดขายก็ไม่ค่อยจะแผ่วเท่าใดนัก ล่าสุด Pajero Sport ก็ทำตัวเลขยอดขายเป็นสถิติ โค่น Toyota ลงมา
จากเจ้าตลาดกลุ่มนี้ ได้เป็นผลสำเร็จ เมื่อเดือนมกราคม 2011 ที่ผ่านมา ด้วยตัวเลขรวม 1,154 คัน ขณะที่ Fortuner
เจ้าตลาด ซึ่งปกติทำยอดขายเฉลี่ย 1,500 – 1,600 คัน/เดือนนั้น เปิดมา ตัวเลขก็หล่นฮวบลงไปหลือ 734 คัน
บางคนก็ค่อนขอด กระแนะกระแหนว่า อีโธ่! ขายแซงได้แค่เดือนเดียว ทำมาเป็นคุย Fortuner เขา
ขายแซงกันไปตั้งไกลโขแล้ว ดูปริมาณรถสะสมบนท้องถนนดีกว่า ผมก็คงไม่ขอเถียงด้วย เพราะ
จะว่าไปแล้ว Mitsubishi เองก็มีปัญหาคาราคาซัง ในเรื่องศูนย์บริการที่ติดอยู่ในกลุ่ม ซึ่งผมขอตั้งชื่อ
ให้ว่า “กลุ่มที่สมควรโดนลูกค้าด่า” เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น การที่ยอดขายจะแซงขึ้นมาได้นั้น น่าจะ
มีเหตุผล 2 อย่างด้วยกัน ข้อแรกคือ Toyota อาจจะมีการผลิตและส่งมอบ Fortuner น้อยกว่าปกติ
ส่วข้อที่ 2 ก็คือ Mitsubishi เพิ่งจะเปิดตัว Pajero Sport เครื่องยนต์ใหม่ 2.5 VG Turbo กันตั้งแต่
13 มกราคม 2011 ที่ผ่านมา ปริมาณรถล็อตแรกที่ปล่อยเข้าโชว์รูมทั่วประเทศ ก็ต้องเยอะกว่าปกติ
ดังนั้นตัวเลขจึงพุ่งขึ้นมามากกว่าปกติอย่างที่เห็น
แต่ไม่ว่าจะมีเหตุผลอื่นใดอีกหรือไม่ การตัดสินใจยก 2 เครื่องยนต์เดิมทิ้งไป เพื่อแทนที่ด้วย
เครื่องยนต์ 2.5 ลิตร รหัสเดิม บล็อกเดิม แต่เป็น เวอร์ชันใหม่ VG Turbo นี้ นับเป็นการตัดสินใจ
ซึ่งเกิดขึ้นจากการศึกษาพฤติกรรม และความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก
เรื่องมันมีอยู่ว่า Pajero Sport รุ่นเดิม มีปัญหาหลักๆ คือ อัตราเร่ง ยังสู้ชาวบ้านเขาไม่ค่อยจะได้
แม้ว่าเครื่องยนต์ จะมีความจุกระบอกสูบ 3.2 ลิตร พ่วง Turbo แล้วก็ตาม ส่วนรุ่น 2.5 ลิตรเดิม
แทบไม่ต้องพูดถึง มันอืดเกินไปสำหรับลูกค้าคนไทย ที่ปากบอกว่า ขับรถตามกฎ แต่เอาจริงๆ
ก็ซิ่งนรกแตก กันเลยทีเดียว!
นอกจากนี้ ยังมีลูกค้าจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว ที่บ่นว่า ต้องเสียภาษีประจำปีแพงเอาเรื่อง จาก
รถที่ใช้เครื่องยนต์ 3.2 ลิตร จ่ายภาษีต่อทะเบียนกันที่ขนส่งฯ แต่ละปี โดนภาษีกันจนหูตูบเลยทีเดียว
ดังนั้น โจทย์ของทีมวิศวกรชาวญี่ปุ่นก็คือ ในเมื่อคู่แข่ง ก็เริ่มจะเน้นความแรงขึ้นเรื่อยๆ อัตราเร่ง
ของรุ่นเดิม ก็สู้คู่แข่งยังไม่ได้ แต่ขณะเดียวกัน ลูกค้าจำนวนมาก ก็เริ่มเรียกหาความประหยัดเพิ่ม
มากยิ่งขึ้น จากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก ที่มีแนวโน้มจะสูงขึ้นในปีนี้ และอาจส่งผลต่อ
ราคาน้ำมันในประเทศไทยปีนี้ค่อนข้างเยอะ ดังนั้น การใช้เครื่องยนต์ ที่มีความจุกระบอกสูบเยอะ
จึงลดน้อยลง ดูได้จากยอดขายของ Pajero Sport ในพักหลัง แทบไม่ค่อยมีใครถอยรุ่น 3.2 4WD
กันเท่าไหร่เลย ส่วนใหญ่จะไปเซ็นใบจองรุ่น 2.5 GT 2WD เดิม มากกว่า แถม
เหตุผลต่างๆประกอบเข้าด้วยกัน ทำให้พวกเขาเริ่มมองว่า “งั้น เรามาทำเครื่องยนต์ 2.5 ลิตรเดิม
ให้มันแรงขึ้น ด้วยการเอา Turbo แปรผันครีบ หรือ VG Turbo มาวางแทนทีทั้งเครื่องยนต์ 3.2 ลิตร
และ 2.5 ลิตรเดิม ไปเลยจะดีกว่าไหม” เครื่องเดียว แต่มีให้เลือกทั้ง 2 ระบบขับเคลื่อน รวม 4 รุ่นย่อย
ตามเดิม แต่รถแรงขึ้น ลูกค้าเองก็ยังเสียภาษีประจำปี ต่อทะเบียน ในอัตราที่ถูกลง
ทั้งหมดนั่นละครับ คือที่มาของ Pajero Sport เครื่องยนต์ใหม่ 2.5 VG Turbo
มิติตัวถังยาว 4,695 มิลลิเมตร กว้าง 1,815 มิลลิเมตร สูง 1,840 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,800 มิลลิเมตร
มุมไต่ 36 องศา มุมจาก 25 องศา สามารถไต่ทางชันได้สูงสุด 35 องศา ด้วยเกียร์ 4LLc และสามารถนำถ
แล่นตะแคงในแนวเอียงได้ 45 องศา ยืนอยู่บนพื้นฐานโครงสร้างตัวถังนิรภัย กระจายแรงปะทะ แบบ RISE Body
(Reinforced Impact Safety Evolution)
มีข้อสังเกตเล็กน้อยในเรื่องน้ำหนักตัวรถเปล่าๆ ในรถรุ่นเดิม 3.2 ลิตร 4WD หนักอยู่แถวๆ 2,100 – 2,110 กิโลกรัม
ส่วนรุ่น 2.5 ลิตร 4×2 อยู่ที่ 1,930 – 1,940 กิโลกรัม พอมาเป็นรุ่น 2.5 VG Turbo รุ่น 4WD เบาขึ้นกว่าเดิมตั้งแต่
20 – 50 กิโลกรัม มาอยู่ที่ 2,060 และ 2,080 กิโลกรัม แต่ในรุ่น 2WD กลายเป็นว่า หนักกว่าเดิม 10 – 20 กิโลกรัม
ตามแต่ละรุ่นย่อย มาอยู่ที่ 1,940 – 1,960 กิโลกรัม ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่า รุ่น 4WD ใช้เครื่องยนต์ 2.5 ลิตร
ที่มีน้ำหนักเบากว่า 3.2 ลิตรเดิม ขณะที่รุ่น 2WD เครื่องยนต์ 2.5 ลิตรบล็อกนี้ ต้องพ่วงเชื่อมกับชิ้นส่วนต่างๆ
ที่มีน้ำหนักรวมกันเพิ่มขึ้นนิดหน่อย โดยเฉพาะ Turbo ลูกใหม่ น้ำหนักตัวที่มากขนาดนี้ ถือว่าหนักกว่า
Toyota Fortuner นิดหน่อย และมีผลกับอัตราเร่ง และอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง อยู่เหมือนกัน
ความแตกต่างจากรุ่นเดิมนั้น หากมองกันแต่ภายนอก คงบอกยากมากถึงมากที่สุด เพราะแทบไม่แตกต่างอะไร
ไปจากรุ่นเดิมมากมายนักเลย นอกจากว่า ต้องสังเกตกันดีๆ จึงจะพบว่า ในรุ่น GT ทั้ง 2WD และ 4WD มีการ
ติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มขึ้นมา นิดหน่อย ทั้ง ไฟหน้าแบบ HID พร้อมระบบฉีดน้ำล้างไฟหน้า กดทำงานบนปุ่มที่หัว
ก้านสวิชต์ใบปัดน้ำฝนนั่นเอง มีระบบ ปรับระดับลำแสงไฟหน้ารถอัตโนมัติ ตามน้ำหนักบรรทุก Auto Leveling
พร้อมระบบ Headlamp with Auto Lighting Control เปิด – ปิด ไฟหน้าอัตโนมัติ ตามสภาพแสงภายนอกรถ (ต้อง
หมุนก้านไฟหน้า-ไฟเลี้ยว ไปที่ตำแหน่ง Auto ระบบนี้จึงจะทำงาน) ส่วนรุ่น GLS ไฟหน้ายังเป็นแบบฮาโลเจน
เหมือนเดิม และไม่มีระบบฉีดน้ำล้างไฟหน้ามาให้ โดยรุ่น GT จะมีไฟตัดหมอกหน้า และสปอยเลอร์ด้านหลัง
มาให้เป็นพิเศษ
นอกจากนี้ ยังมี ระบบปัดน้ำฝนอัตโนมัติ โดยมี เซ็นเซอร์ตรวจจับปริมาณน้ำฝน หรือ Rain Sensor แบบรถยุโรป
ชั้นดี ส่วนที่ปัดน้ำฝนด้านหลัง มีระบบหน่วงเวลามาให้อีกด้วย
แถมมีเซ็นเซอร์กะระยะขณะถอยหลังมาให้ 4 จุด ที่กันชนหลัง พร้อมสวิชต์ตัดการทำงาน ที่ใต้วิทยุบนหน้าปัด
ขอเมาท์สักหน่อยว่า เสียงสัญญาณเตือนเข้าใกล้วัตถุเกินไป เบากว่ารถคันอื่น และทำงานช้ากว่ารถคันอื่นอยู่บ้าง
พอสมควร และเฉพาะรุ่น GT 4WD จะมีล้ออัลลอยขนาด 17 นิ้ว x 7.5 J ลายเดียวกับรุ่นส่งออก พร้อมยางขนาด
265/65 R17 ขณะที่รุ่น 2WD ทุกรุ่น จะใช้ล้ออัลลอยลายเดิม 16 นิ้ว x 7.0 J พร้อมยางขนาด 265/70 R16
ทุกรุ่น มีไฟเบรกดวงที่ 3 เหนือกระจกบังลมหลัง มีโป่งข้างเหนือซุ้มล้อ พร้อมกันโคลนมาให้ (ตรงนี้ชอบมาก
ขอบอก ไม่ค่อยได้เห็นในรถใหม่ป้ายแดงมานานมากแล้ว) มีแผงกันกระแทกใต้กันชนหน้า บันไดข้าง ที่ช่วยให้
ขึ้นลงสะดวกมากสำหรับชาว สว. (สูงวัย) ทั้งหลาย ส่วนรางหลังคา Rack Roof นั้น มีมาให้ในรุ่น 4WD ทุกรุ่น
ส่วน 2WD จะมีเฉพาะรุ่น GT เท่านั้น
อีกประเด็นก็คือ ดูป้ายทะเบียนรถครับ ถ้า Pajero Sport คันไหน ใช้ป้ายทะเบียนหมวด “ญจ” และหลังจากนี้
นั่นหมายความว่า เป็นรุ่น 2.5 VG Turbo แล้วนั่นเอง นี่เขยนเอาไว้เผื่อพวกพ่อค้ารถมือสองจะใช้ในการจำแนก
รุ่นปีของรถเอาไว้กันตรงนี้เลย อีกหน่อยจะได้ไม่ต้องมาปวดกบาลกันอีก
รถที่เราได้รับมาทำรีวิวในคราวนี้ จะมีแต่รุ่น GT เท่านั้น รุ่น 4WD เป็นคันสีน้ำตาล C06 Quartz Brown อันเป็น
สีใหม่ สำหรับรุ่น VG Turbo โดยเฉพาะ ส่วนคันสีเงินเป็นรุ่น 2WD อันที่จริง สีน้ำตาล ควรจะฮิตในบ้านเรา
ได้ตั้งนานแล้ว ปล่อยให้สีขาวมุก W54 White Pearl ได้รับความนิยมเพียงลำพังกันอยู่ได้ เรื่องนี้ไม่อยากจะ
โทษใคร นอกจาก ความ “ชักช้า ยืดยาด อืดอาด” ของ สีตราพัด Kansei Paint ที่นำสีน้ำตาล เบอร์นี้ มาขายผู้ผลิต
รถยนต์ ทั้ง Mitsubishi Motors และ Honda (ใส่ในรุ่น City ไงครับ เบอร์เดียวกันเลยด้วย) ช้ามากกกกกกกกกก
กุญแจรถ คือจุดแรกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน คราวนี้ ไม่ว่าจะเป็น รุ่นย่อยไหนก็ตาม ทุกรุ่นจะเปลี่ยนมา
ใช้กุญแจแบบมี รีโมทคอนโทรลในตัว สั่งล็อก หรือปลดล็อกประตูทุกบานได้ทันที พร้อมระบบป้องกันการโจรกรรม
Immobilizer อย่างไรก็ตาม เฉพาะรุ่น GT 2WD และ 4WD เท่านั้น ที่จะมี สัญญาณกันขโมย แถมมาให้อีกชั้นหนึ่ง
และเพื่อให้เห็นกันอย่างชัดเจนว่า รุ่น 2WD ก็จะได้กุญแจหน้าตาแบบเดียวกันนี้เป๊ะ เลยต้องถ่ายรูปมาให้ดู
เพื่อยืนยันให้คุณผู้อ่าน เห็นด้วยตาของตัวเอง กันอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นรุ่น GT หรือ GLS ถูกสุด ก็ตาม
เมื่อเปิดประตูรถออกมา ก็จะพบบรรยากาศอันแสนจะคุ้นเคย (สำหรับผม) การก้าวเข้า – ออกจากรถนั้น แม้ว่า
ตัวรถค่อนข้างสูงมาก แต่ในเมื่อมีบันไดข้างมาให้ ถ้าอยู่ในตำแหน่งฝั่งคนขับ แค่เพียงใช้เท้าซ้ายเหยียบบันได
ยกตัวขึ้นไป แล้วหย่อนตัวลงนั่ง บนเบาะ กวาดขาทั้งสองข้างเข้ามาวางบน พื้นที่วางขา เป็นอันเสร็จพิธี
แต่ถ้าอยู่ฝั่งซ้าย ก็ใช้เท้าขวา เหยียบบันไดข้าง แล้วยกตัวขึ้น หย่อนก้นลงบนเบาะ กวาดขา 2 ครั้ง เข้าไปวาง
บนพื้นรถ เป็นอันเรียบร้อย
เสียดายอย่างเดียวคือ ทำไมไม่มีมือจับโหนขึ้นรถ ตรงเสาหลังคา A-Pillar แบบที่ Pajero แท้ๆ รุ่นก่อนๆ เคยมีมาให้
นั่นจะช่วยให้ผู้สูงวัย หรือแม้แต่เด็กๆ ก้าวขึ้นไปนั่งในรถได้ง่ายดายขึ้นเยอะเลย
แผงประตูด้านข้าง ตกแต่งแบบ ทูโทน เหมือนรถรุ่นเดิม ประดับด้วย ลายโครเมียม เช่นเดียวกับ มือเปิดประตู
ตำแหน่งวางแขน ใช้งานได้จริง ช่องใส่เอกสาร และวางขวดน้ำขนาดเล็กนั้น มีขนาดใหญ่พอประมาณ วาง
ข้าวของและเครื่องดื่มได้จริง
เบาะนั่งคู่หน้า ในรุ่นใหม่ เพิ่มระบบปรับตำแหน่งเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง และปรับเอน ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า มาให้
ครบแล้วทั้ง เบาะคนขับ กับ เบาะผู้โดยสารฝั่งซ้าย จากเดิมที่มีแค่ฝั่งคนขับเพียงอย่างเดียว แต่จะมีเฉพาะรุ่น GT
ทั้ง 2WD กับ 4WD เท่านั้น ไม่มีในรุ่น GLS (แต่เสียดายที่ไม่มีระบบจำตำแหน่งเบาะมาให้) เช่นเดียวกับวัสดุ
หุ้มเบาะนั่งทั้งคัน รุ่น GT 2WD และ 4WD จะใช้หนัง กับหนังสังเคราะห์ มาหุ้มเบาะให้ แต่ในรุ่น GLS จะยัง
เป็นเบาะผ้าลายเดิมอยู่ดี
ถ้าถามว่านั่งสบายไหม คงต้องบอกว่า สำหรับผมแล้ว มันนั่งสบายพอใช้ได้ แต่ต้องปรับดีๆ และเน้นให้ เบาะรองนั่ง
ไม่เงยมากนัก พนักพิงหลัง ควรตั้งเกือบตรง จะช่วยลดอาการปวดหลัง บริเวณกลางลำตัวฝั่งขวาได้ พื้นที่เหนือศีรษะ
ไม่ใช่ปัญหา มีที่ว่างมากพอ ส่วนการวางตำแหน่งมือ พวงมาลัย และขา กับแป้นเหยียบนั้น แม้พวงมาลัย จะปรับระดับ
สูง – ต่ำได้ แต่ถ้าหากได้พวงมาลัยแบบปรับระยะใกล่ – ไกล มาช่วย ก็น่าจะทำให้สามารถปรับเบาะ และตำแหน่งนั่งขับ
เข้ากับสรีระของผู้คนได้หลากหลายมากขึ้นกว่านี้อีก แต่ที่เป็นอยู่นี้ ไม่ถือว่าเลวร้ายแต่อย่างใด
ในรุ่น GT จะติดตั้ง ถุงลมนิรภัยคู่หน้า และ เข็มขัดนิรภัย 3 จุด ELR แบบ ดึงกลับอัตโนมัติ และลดแรงปะทะ
Pretensioner & Load Limiter มาให้ครบทั้ง เบาะคนขับ และผู้โดยสารด้านหน้า แต่ในรุ่น GLS ของทั้ง 2 ระบบ
ขับเคลื่อน จะถูกตัดทอนออกไป เหลือเพียงแค่เฉพาะเบาะคนขับเพียงตำแหน่งเดียวเท่านั้น
ทางเข้าประตูห้องโดยสารด้านหลังนั้น มีขนาดใหญ่โต แถมมาในแบบสี่หลี่ยม แน่นอนว่า ถือเป็นรูปแบบ
ที่เอื้ออำนวยความสะดวกในการเข้า-ออก จากตัวรถมากที่สุด แถมยังมีบันไดข้าง ต่อเนื่องยาวมาจากประตูคู่หน้า
ด้วยอีกต่างหาก การลุกเข้า – ออก ก็ใช้วิธีเดียวกันกับภาพก่อนหน้านี้นั่นเอง
แผงประตูด้านข้าง ตกแต่งแบบเดียวกับบานประตูคู่หน้า ช่องใส่ขวดน้ำ มีขนาดใหญ่พอสำหรับขวดน้ำดื่ม 7 บาท
แต่อาจจะไม่เยอะพอสำหรับการวางเอกสารใหญ่ๆ ซึ่งเหลือพื้นที่ไว้แค่เพียง ช่องใส่หนังสือด้านหลังพนักพิง
เบาะหน้าฝั่งซ้าย เท่านั้น ไม่มีฝั่งขวามาให้แต่อย่างใด
เบาะนั่งด้านหลัง พยายามจะออกแบบให้นั่งสบาย มีฟองน้ำ ดันหลังออกมาชัดเจน เบาะรองนั่ง สั้นไปหน่อย
แต่ต้องทำใจกับรถยนต์ SUV ถ้าทำเบาะรองนั่งด้านหลังให้ยาวมากขึ้น พื้นที่วางขาจะน้อยลง เลยต้องยอม
และออกมาเป็นอย่างที่เห็น พื้นที่เหนือศีรษะ ถือว่ายังโปร่งโล่งอยู่ ถ้าคุณจำเป็นต้องโดยสารที่เบาะด้านหลัง
นอกจากจะต้องคาดเข็มขัดนิรภัยแล้ว พนักศีรษะ ก็ควรถูกปรับระดับขึ้นอย่างน้อย 1- 2 จังหวะเสมอๆ ส่วน
พื้นที่วางขา มีค่อนข้างมาก ยืดขาได้ แต่แม้จะไม่ถึงกับต้องนั่งชันขามากนัก แต่อาจมีบ้าง ทำได้ดีที่สุดคือแค่นี้
เข็มขัดนิรภัยสำหรับเบาะแถวกลาง จะเป็นแบบ ELR 3 จุด 2 ตำแหน่ง ฝั่งซ้าย และขวา ส่วนตรงกลางจะยังเป็น
แบบ ELR 2 จุด 1 ตำแหน่ง
ตรงกลางเบาะนั่งมีที่วางแขน พร้อมช่องวางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง พับเก็บได้ ที่วางแขนหนะใช้งานได้จริง แต่
ช่องวางแก้วน้ำนั้น เหมาะกับเครื่องดื่มแบบกระป๋องแคน เท่านั้น เพราะะวางได้พอดีๆ ถ้าเป็นขวดน้ำดื่ม 7 บาท
เกรงว่าอาจมีกระเด็นกระดอนขณะรถแล่นอยู่ก็เป็นได้ ที่วางแขนบนแผงประตูก็วางแขนได้ดี ไม่มีปัญหา
ส่วนภาพหลังจากนี้ไป คงต้อขอใช้ภาพถ่ายจากรุ่น GT 4WD เพียงคันเดียว เพราะในเมื่อ รายละเอียดข้างใน
ของทั้ง GT 4WD และ GT 2WD เหมือนกันหมดอย่างกับแกะขนาดนี้ จึงแทบไม่จำเป็นต้องให้คุณทนดูภาพ
เล่นเกมจับผิดหาความต่าง Photohunt กันอีกต่อไป
เบาะนั่งแถว 2 ของ Pajero Sport ทุกรุ่น เป็นแบบแยก 2 ชิ้น ในอัตราส่วน ซ้าย 60 % ขวา 40 % ปรับเลื่อนขึ้นหน้า
และถอยหลังได้สุด เท่าที่เห็นอยู่จากในภาพข้างบนนี้ เช่นเดียวกับพนักพิงที่ปรับเอนนอน และปรับตั้งชันสูงสุด
ได้ตามเท่าที่เห็นเหมือนกัน ซึ่งก็ถือว่า เยอะมากอยู่
การพับเบาะแถว 2 เพื่อเข้าไปนั่งด้านหลังนั้น แค่ดึงคันโยกตรงด้านข้างพนักพิงหลังทั้ง 2 ฝั่ง (ซึ่งเอาไว้
ปรับพนักพิงให้เอนหรือตั้งชันได้นั่นละ) แล้วโน้มชุดเบาะมาด้านหน้า พนักพิงเบาะจะพับลงมา พร้อมกับ
ชุดเบาะจะยกตัวคว่ำไปข้างหน้า เพือให้สะดวกต่อการปีนเข้าไปนั่งในเบาะแถว 3 ลักษณะจะเหมือนกุ้งโดน
น้ำร้อนลวก เหมือนที่ผมเคยเขียนเอาไว้ในรีวิวเมื่อปี 2008
เบาะนั่ง แถว 3 จะแบ่งเป็น 2 ฝั่ง พนักศีรษะ สามารถยกขึ้นให้สูงได้ถึงเพดานหลังคา ปรับเอนได้และตั้งชันได้
เพียงเท่าที่เห็นอยู่ในรูป มีไฟส่องสว่างด้านหลังมาให้ เช่นเดียวกับ ช่องแอร์ และสวิชต์พัดลม สำหรับผู้โดยสาร
แถว 3 ติดตั้งอยู่ฝั่งขวามือุ ถ้าจะเปิดใช้ ต้องกดปุ่ม รูป พัดลม REAR ที่ใต้แผงวิทยุก่อน ระบบจึงจะทำงาน
เข็มขัดนิรภัยของเบาะแถว 3 จะเป็นแบบ ELR 3 จุด ครบทั้ง 2 ตำแหน่ง ให้มาครบทุกรุ่น พร้อมทั้งมีช่องวางแก้ว
มาให้ 2 ตำแหน่ง เหนือซุ้มล้อฝั่งขวามือ
ขอยืนยันเหมือนเดิมว่า เบาะแถว 3 เหมาะกับการเดินทางในระยะไม่ไกลนัก ไม่เช่นนั้นจะเมื่อยมาก เพราะต้องนั่งชันขา
นอกจากนี้ ถ้าคุณคิดจะพับเบาะแถว 3 เพื่เพิ่มพื้นที่เก็บสัมภาระด้านหลัง ก็ยังมีกรรมวิธีการที่ดูซับซ้อนนิดๆ
กล่าวคือ เมื่อพับเบาะแถว 2 แล้ว ต้องดึงสลักปลดล็อกเบาะรองนั่ง แถว 3 ก่อน จึงจะพับเบาะรองนั่ง ตีลังกา
หงายขึ้นมาเป็นพื้นห้องเก็บของ จากนั้น ค่อยเดินอ้อมมาเปิดฝาประตูห้องเก็บของด้านหลัง ซึ่งค่ำยันด้วย
ช็อกอัพไฮโดรลิค เป็นมาตรฐาน แล้วค่อยดึงสลักปลดล็อกพนักพิงเบาะหลัง ที่้านหลังของตัวพนักพิง เพื่อพับ
ตัวเบาะลงไป
ตอนพับลงหนะไม่เท่าไหร่ แต่ตอนยกเบาะขึ้นเนี่ย ถ้าต้องย้อนวิธีการกันใหม่ ทีละสเต็ป ก็คือ ต้องเปิดประตู
ผู้โดยสาร เอื้อมไปดึงสลักล็อก ที่ซ่อนอยู่ ณ เบาะรองนั่งแถว 3 ให้ปลดล็อกเสียก่อน จากนั้น เดินอ้อมไปดึง
พนักพิงเบาะแถว 3 ให้ตั้งกลับขึ้นมา แล้วค่อย เดินย้อนกลับไปที่ประตูผู้โดยสาร ดึงเบาะรองนั่งขึ้น แล้วดัน
ด้วยแรงพอประมาณ คว่ำเบาะรองนั่ง กลับไปล็อกตัวอยู่ในตำแหน่งปกติ ฟังดูแล้ววุ่นวายดีไหมครับ?
พื้นห้องเก็บของด้านหลัง ยังมีฝาปิด เมื่อเปิดขึ้นมาดูจะพบว่าเป็นกล่องใส่ของอเนกประสงค์ เหมาะกับการ
ซื้ออาหารสดมาใส่เอาไว้ ขณะที่ยังต้องเดินทางกลับกรุงเทพฯ เพื่อไม่ให้กลิ่นเล็ดรอดขึ้นมารบกวนผู้โดยสาร
และยังมีช่องเสียบอุปกรณ์จ่ายไฟ 12V มาให้ที่ผนังฝั่งขวามืออีกด้วย ส่วนยางอะไหล่ เก็บไว้ใต้ท้องรถแบบ
รถกระบะแทน โอกาสถูกถอดยางอะไหล่ ก็พอมีอยู่ โปรดระมัดระวังกันด้วย
ภายในห้องโดยสาร แทบไม่ได้มีอะไรแตกต่างไปจากรุ่นเดิมเท่าใดเลย เป็นบรรยากาศที่แสนจะคุ้นเคย
เพราะแผงหน้าปัดนั้น เป็นคนละชุดกับ Triton ประดับตกแต่งด้วยครึ่งท่อนบนสีดำ มลวดลายเล็กน้อย
เพื่อลดการสะท้อนของแสงแดดขึ้นกระจกบังลมหน้า ขณะขับรถตอนกลางวัน ส่วนครึ่งท่อนล่างใช้
โทนสีเบจ เหมือนสีเบาะนั่งนั่นเอง มีการตกแต่งด้านข้างทั้ง 2 ฝั่งของแผงควบคุมกลาง และแป้นเกียร์
รวมทั้งแผงประตูทั้ง 4 บาน ด้วยพลาสติก Glossy สีเงิน
แผงบังแดด มีกระจกแต่งหน้าพร้อมฝาปิดมาให้ในรุ่น GT 2WD และ 4WD ครบทั้ง 2 ฝั่ง แถมยังมี
ไฟอ่านแผนที่ รวมไว้เป็นหนึ่งเดียวกับไฟสอ่งสว่างในห้องโดยสาร รวม 3 ตำแหน่ง คือ หน้า กลาง หลัง
เช่นเดียวกับกล่องเก็บแว่นตา ก็ยังคงมีมาให้เฉพาะในรุ่น GT2WD & 4WD เท่านั้น ตามเดิม
บริเวณ Cockpit คนขับ แทบไม่ได้มีอะไรที่แตกต่างไปจากรุ่นเดิมนัก ยกเว้นแค่ว่า พวงมาลัยแบบ 3 ก้าน
ทรงเดียวกับ Lancer EX ตอนนี้ มีการติดตั้งระบบควบคุมความเร็วคงที่ อัตโนมัติ หรือ Cruise Control
มาให้ ซึ่งนอกจากจะใช้งานง่าย ให้สัมผัสของปุ่มที่น่มนวลดีแล้ว ยังล็อกความเร็วได้ดีแบบเดียวกับ
รุยุโรป ที่พารถพุ่งขึ้นเนินไป แม้รถจัยังอยู่ในเกียร์ D ก็ตาม เฉพาะรุ่น GT 4WD จะมีแป้นเปลี่ยนเกียร์
ยวก – ลบ Paddle Shift ยกมาจาก Lancer EX มาให้
พวงมาลัยทุกรุ่น ปรับระดับสูง – ต่ำได้ แต่ปรับระยะใกล้ – ไกล ไม่ได้ แกนพวงมาลัย ยุบตัวได้เมื่อเกิดการชน
และถ้าเปรียบเทียบกัน จะพบว่า สิ่งที่ขาดหายไปในรุ่น GT 2WD ก็มีแค่ แป้น Paddle Shift เท่านั้น ที่เหลือ
เหมือนกันหมด กระจกหน้าต่างเปิด – ปิดด้วยสวิชต์ไฟฟ้าทั้ง 4 บาน เฉพาะบานคนขับ เป็นแบบ One-Touch
ทั้งเลื่อนขึ้น – ลง ที่สำคัญ กระจกหน้าต่างจะยังสามารถเลื่อนขึ้น – ลงได้หลังจากดับเครื่องยนต์ไปแล้วอีก
ภายในเวลา 30 วินาที ส่วนกระจกมองข้าง ทั้งปรับและพับได้ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า มีขนาดใหญ่โตพอดีๆ ด้านข้าง
ของคันเกียร์ในรุ่น 2WD จะกลายสภาพเป็นช่องใส่ของจุกจิก เหมาะเอาไว้วางรีโมทคอนโทรล กุญแจ หรือ
แม้แต่โทรศัพท์เคลื่อนที่
ชุดมาตรวัดไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆมากเกินไปกว่า เพิ่มคำว่า Sonar Off มาให้เชื่อมกับระบบเซ็นเซอร์
กะระยะที่กันชนด้านหลังรถ 4 ตำแหน่ง ใต้ไฟเตือนเบรกมือ
ส่วนรุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อ แน่นอนว่า สัญญาณไฟแจ้งระบบขับเคลื่อน ต้องถูกตัดออกไป เพราะไม่จำเป็น
สำหรับรุ่น 2WD แหงละ ในเมื่อเลือกระบบขับเคลื่อนไม่ได้ แล้วจะสัญญาณไฟแจ้งมาให้โดนลูกค้าด่าเล่น
กันทำไม จริงไหมครับ?
เรื่องดีๆ ที่ผมอยากจะเขียนถึงในรถคันนี้อยู่เรื่องหนึ่งคือ ชุดเครื่องเสียงที่ติดตั้งมาให้จากโรงงาน ประกอบ
ไปด้วย วิทยุ AM/FM เล่น CD / DVD / VCD / MP3 ได้ 1 แผ่น จาก ALPINE มีลำโพงมาให้ 6 ชิ้น และมี
จอ Monitor แบบ Touch Screen ซึ่งเชื่อมต่อได้กับทั้งระบบนำทาง Navigation System และโทรทัศน์ (ไป
ติดตั้งกันต่อเอาเอง) ซึ่งใช้งานยากลำบากอย่างน่าปวดกบาลอยู่เหมือนกัน ต้องกดที่หน้าจอค้าง 2 วินาที เพื่อให้
จอภาพแสดงผลขึ้นมา ยืนยันคำเตือนว่า คุณจะไม่ยุ่งกับมัน ขณะขับรถ เมื่อกด YES ปุ่ม หน้าจอจะดับมืด
และเปลี่ยนโหมด เป็นเมนูการทำงานให้คุณ การปรับสีปรับหน้าจอตามต้องการ ละเอียดมาก จนน่าปวดกบาล
ถึงจอมอนิเตอร์จะใช้งานยากมากกกกก แต่สิ่งที่ประเสริฐจนต้องเขียนชมกันเลยคือ ชุดคุณภาพเสียงที่ขับ
ออกมาให้คุณได้ยินผ่านทางลำโพง ยิ่งเมื่อผม นำแผ่น DVD การบันทึกเสียง ของ Joe Hisaishi นักประพันธ์
เพลงชาวญี่ปุ่น (ซึ่งแต่งเพลงดังไว้เยอะมาก ตั้งแต่เพลงโฆษณา Toyota Corolla และ Nissan Skyline V36
ในญี่ปุ่น เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง Kikujiro ที่คอหนังอินดี้บ้านเราคุ้นเคย ไปจนถึงเพลงประกอบ
ภาพยนตร์การ์ตูนหลายๆเรื่อง จาก STUDIO GHIBLI อันลือลั่น) Joe ร่วมงานกับวง London Symphony
Orchrestra ทำอัลบั้มรวมผลงานเพลงของตนออกมา และอัลบั้มนี้ มี DVD แถมมาให้ ซึ่งมีเพลงโหดๆ
อย่าง End of the World หรือ วันสิ้นโลก มาอยู่ด้วย และแทร็กนี้ ปกติแล้ว ถ้ามีรถคันไหน ซึ่งมีชุดเครื่องเสียง
ที่เล่น DVD ได้ ในช่วงตั้งแต่ ตุลาคม เป็นต้นมา ผมก็จะจับแผ่นนี้ ยัดเข้าเครื่องไป เพื่อฟังว่า เครื่องเสียง
จะรับกับการบันทึกเสียงแบบนั้นไหวไหม
แม้ว่า แผ่นอัลบั้มชุดนี้ จะบันทึกเสียงมาในระดับที่ ยังไม่ถึงขั้น Audiophile แต่ก็เรียกว่า ใกล้เคียงไม่แพ้กันเลย
และชุดเครื่องเสียงของ Pajero Sport ก็สามารถขับพลังเสียง ออกมาได้อย่างดี พร้อมกับคุมโทนเสียงออกมา
ได้น่าประทับใจ ถ้าคิดเสียว่า นี่คือชุดเครื่องเสียงติดรถยนต์จากโรงงาน ระดับราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาทแล้ว
Alpine ทำผลงานได้ดีมากกว่าที่คาดไว้จริงๆ
ที่เขียนถึงขนาดนี้ ทั้งที่รีวิวครั้งก่อน ผมไม่ได้เขียนถึงเท่าไหร่ เป็นเพราะว่า ในรถรุ่นเดิมนั้น ผมไม่ได้มีโอกาส
สัมผัสชุดเครื่องเสียงอย่างจริงจังนัก มาค้นพบคุณงามความดีของมัน ก็ในวันที่คืนรถไปแล้ว คราวนี้ เมื่อมีจังหวะ
ได้ทดลองกันเต็มๆ เลยต้องขอเขียนเล่าให้อ่านกันตรงนี้ไว้สักหน่อย
ใครที่บอกว่า ลำโพงน้อยไป มันควรจะมากว่านี้เป็น 8 ลำโพง 12 ลำโพง เอาให้กระหื่มรอบทิศทางเฉกเช่น
ในโรงภาพยนตร์ อยากจะบอกว่า ในความจริงแล้ว ถ้าคุณนั่งดูคอนเสิร์ต จะพบว่า ลำโพงส่วนใหญ่ จะอยู่
ด้านหน้า ติดกับเวที หรือไม่ก็แขวนลอยขึ้นไป เหนือเวที แล้วต้องมีลำโพงมอนิเตอร์ เพื่อให้ศิลปินได้ฟัง
ว่า ดนตรีที่ตนทั้งร้องทั้งเล่นอยู่นั้น มันเพี้ยนเสียงหรือไม่ ไม่ค่อยมีใครเขาเอาลำโพง มาแปะอยู่ด้านหลัง
ฮอลล์ กันเท่าใดนัก ยกเว้นในบางกรณีที่มีข้อจำกัดต่างๆเกิดขึ้น ก็เท่านั้น ซึ่ก็ต้องว่ากันเป็นรายๆไป
ในฐานะ คนที่เคยทำเพลงมาก่อน เคยเข้าๆ ออกๆ ห้องบันทึกเสียงมาบ้าง อยากจะบอกว่า ชุดเครื่องเสียง
ALPINE ที่ติดมากับ Pajero Sport รุ่น GT เป็นชุดเครื่องเสียง ที่ดีที่สุดในบรรดารถยนต์กลุ่ม SUV / PPV
ระดับราคาไม่เกิน 1,5 ล้านบาท และถ้าจะให้นับกันจริงๆ ก็กล้าพูดเลยว่า ดีที่สุดในรถยนต์นั่งทุกรุ่น ซึ่ง
มีระดับราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท โอเค มันยังพอมีข้อติบ้าง คือตำแหน่งการติดตั้งวิทยุ ก็เหมือนกับ
Triton นั่นละครับ เตี้ยไปหน่อย ต้องละสายตาจากถนนลงมามองวิทยุ ซึ่งไม่ดีเลย
อีกข้อเสียของมันก็คือ ใช้งานช่างยากเย็นอะไรได้ขนาดนี้ จะปรับโทนเสียงกันที ต้องคลำหาปุ่มกันอยู่
ตั้งนาน จนเพิ่งถึงบางอ้อว่า ปุ่มเข้าโหมดปรับเสียงทุ้ม เสียงแหลม อยู่ใต้ปุ่มหมุนวงกลมขนาดใหญ่ที่สุด
นั่นเอง ใช้งานยากเย็นเหลือเกิน ต่อให้มีรีโมทคอนโทรลแถมมาให้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะช่วยเพิ่ม
ความสะดวกสบายขึ้นเท่าใดเลย สิ่งที่อยากจะขอเพิ่มเติม ในการปรับโฉม Minorchange ครั้งต่อไป หรือ
เปลี่ยนโฉมใหม่ Full Modelchange ก็คือ สวิชต์ควบคุมชุดเครื่องเสียงบนพวงมาลัย มีเฉพาะในรุ่น 4WD
GT ก็ยังดี (วะ)
เรื่องที่น่ายินดีก็คือ ชุดเครื่องเสียง ALPINE ชุดนี้ ไม่ได้มีมาให้แค่รุ่น 4WD GT หากแต่ยังมีติดตั้งมาให้ใน
รุ่น 2WD GT อย่างที่เห็นในภาพข้างบนนี้อีกด้วย ซึ่งนั่นทำให้โอกาสที่หลายๆคนจะได้สัมผัสกับคุณภาพ
เสียง ระดับใกล้เคียงชุดเครื่องเสียงติดรถยนต์ชั้นเลิศระดับโลก ระดับพรีเมียมนั้น เข้าถึงได้ง่ายขึ้นเยอะ
แต่ในรุ่น GLS ซึ่งเรามิได้นำมาทดลองขับกันในรีวิวนี้ จะเปลี่ยนวิทยุมาให้ เป็นแบบใหม่ AM / FM
เล่นแผ่น CD / MP3 ได้ แผ่นเดียว แต่มีช่อง USB และเสียบต่อ AUX ได้ เรื่องน่าแปลกก็คือ รุ่น GT
กลับไม่ยักมีช่องเสียบ USB มาให้เลย?? อะไรกันเนี่ย???
เช่นเดียวกัน เครื่องปรับอากาศของรุ่น GT ทั้ง 4WD และ 2WD เป็นสวิชต์อัตโนมัติอย่างที่เห็น แต่ในรุ่น
GLS ยังเป็นสวิชต์มือบิดหน้าตาเห่ยๆ เหมือนที่พบได้ในรถกระบะ Triton นั่น ละครับ
ลิ้นชักใส่เอกสาร ฝั่งผู้โดยสารตอนหน้าด้านซ้าย มีขนาดใหญ่พอประมาณ พอให้วางซองคู่มือรถ เอกสาร
กรมธรรม์ประกันภัย ได้สบายๆ และถ้าจะวางปืนสักกระบอก ก็พอได้อยู่ แต่ก็คงจะวางข้าวของเยอะกว่านี้
ไม่ได้แล้ว
กล่องเก็บของข้างคนขับและผู้โดยสารฝั่งซ้าย มีขนาดใหญ่โตมาก! จะใหญ่ไปไหน มีฝาปิด และมี
ถาดใส่ของซ่อนอยู่อีก 1 ชั้น ก่อนจะถึงช่องใหญ่ แยกเปิดได้ตามต้องการ จากตัวล็อกฝั่งซ้าย และ ขวา
ด้านบนเป็นที่วางแขนในตัว แค่พอวางได้ ไม่ถึงกับวางได้เต็มที่นัก ในรุ่น GLS จะบุด้วยผ้าหุ้มเบาะ
แต่ถ้าเป็นรุ่น GT จะบุด้วยหนังสังเคราะห์ เหมือนเบาะหนังของรถ
ด้านทัศนวิสัยต่างๆก็ยังเหมือนเดิม ด้านหน้า มองทางเห็นชัดเจน เห็นฝากระโปรงหน้าด้วยแม้ว่า
คุณจะปรับตำแหน่งเบาะให้ต่ำลงมาจนสุดแล้วก็ตาม มุมมองไม่ได้แตกต่างไปจาก Triton และ
Pajero Sport รุ่นก่อนเลย
เสาหลังคา A-Pillar ด้านหน้าฝั่งขวา ไม่ได้บดบังทัศนวิสัยเท่าใดเลย กระจกมองข้างมีขนาดใหญ่โต
อันที่จริง มันก็เป็นกระจกมองข้าง จากรถรุ่นเดิม..เปล่าหนะ ผมไม่ได้หมายความแค่ Pajero Sport
และ Triton รุ่นเดิม แต่ผมยังหมายรวมถึง Strada และ G-Wagon รุ่นโบราณกาลนั่นเลยต่างหาก!!
เสาหลังคา A-Pillar ฝั่งซ้าย ไม่ค่อยมีการบดบังทัศนวิสัยตอนเลี้ยวกลับรถมากนัก และกระจกมองข้าง
ก็มองทุกอย่างที่เคลื่อนไหวด้านข้างรถ ได้ชัดเจนดี ซึ่งถือเป็นรถที่ผมค่อนข้างจะชื่นชอบ และไม่มี
ปัญหาใดๆกับกระจกมองข้างเลย
ส่วนทัศนวิสัยด้านหลังนั้น เสาหลังคา C-Pillar ของ Pajero Sport จะไม่บดบัง ทัศนวิสัยด้านหลัง
มากเท่ากับ Toyota Fortuner แต่การเชื่อมต่อของกระจกบังลมหลัง กับกระจกหน้าต่างด้านข้าง
บานสุดท้าย กลับไม่มี และถูกปิดทึบด้วยโครงสร้างเสาหลังคา D-Pillar ขนาดใหญ่ แน่นอนว่า
จุดนี้ Fotuner จะทำคะแนนดีกว่ากัน นิดเดียว ทั้งที่ภายในรถของ Pajero Sport จะโปร่งกว่าเยอะ
ก็ตามที
********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********
การปรับโฉม Minorchange ครั้งนี้ ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงหลักๆอยู่ที่ การถอดเครื่องยนต์เดิม ทั้งแบบ
4M41 Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 3,200 ซีซี 165 แรงม้า (PS) และ 4D56 Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว
2,477 ซีซี 140 แรงม้า (PS) เวอร์ชันเก่า ออกไปทั้งหมด!
เพื่อจะนำเครื่องยนต์ 4D56 เวอร์ชันใหม่ ปรับปรุงจากพื้นฐานเครื่องยนต์ตัวเดิม เป็นแบ Diesel 4 สูบ
DOHC 16 วาล์ว 2,477 ซีซี ความกว้างกระบอกสูบ x ช่วงชัก : 91.1 x 95.0 มิลลิเมตร ฉีดจ่ายเชื้อเพลิง
ด้วยระบบหัวฉีด Direct Injection Di-d Common Rail มาวางให้แทน และวางครบทุกรุ่น!
การปรับปรุงเครื่องยนต์ คร่าวๆ ที่ทาง Mitsubishi Motors แจ้งให้ทราบ โดยหลักๆ ก็คือ เปลี่ยนมาใช้
Turbo แบบแปรผันครีบ จาก IHI เพื่อรับอากาศเข้า ได้ตามรอบเครื่องยนต์ ในรอบต่ำ ครีบหรือ Vane
จะกางออกแคบๆ เพื่อเพิ่มแรงอัดอากาศเข้าไปในเทอร์โบ แต่ในรอบเครื่องยนต์ที่สูงขึ้น ครีบจะกาง
ออกกว้างขึ้น เพื่อรักษาแรงอัดอากาศให้ไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เครื่องยนต์สามารถเรียกแรงบิด
ในรอบกลางและรอบสูงๆ อย่างต่อเนื่อง รถรุ่นนี้ ไม่ได้มีการติดตั้ง เวสต์เกต มาให้
มีการลดอัตราส่วนกำลังอัดลงมาจาก 17.0 : 1 เหลือ 16.5 : 1 ออกแบบท่อร่วมไอดี ให้เป็นแบบ Twin
Intake Manifold ออกแบบให้ท่อไอดีสำหรับแต่ละกระบอกสูบ มี 2 ท่อแยก ท่อหนึ่ง ส่งอากาศเข้า
ด้านข้าง สำหรับวาล์วไอดีตัวแรก อีกท่อหนึ่ง ส่งอากาศเข้าทางด้านบนกระบอกสูบโดยตรง สำหรับ
วาล์วไอดีตัวที่ 2 เพื่อช่วยกันสร้างการหมุนวนของส่วนผสมไอดี ในรูปแบบ Cyclone Effect เพื่อให้
การจุดระเบิด เกิดขึ้นสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ส่งผลให้เครื่องยนต์มีกำลังต่อเนื่องตั้งแต่
รอบต่ำ จนถึงรอบสูงๆ
มีการเปลี่ยนหัวฉีด จากเดิม ซึ่งมีรูหัวฉีด 6 รู ขนาด 0.153 มิลลิเมตร ลดลงมาเหลือ 0.150 มิลลิเมตร
แล้วเพิ่มเป็น 7 รูหัวฉีด เพื่อให้ สามารถฉีดเชื้อเพลิงออกมาละเอียด เป็นฝอยละอองได้มากที่สุด
ใช้ กล่องสมองกล ECU (Engine Control Unit) ขนาด 32 Bit เป็นตัวควบคุมการจ่ายเชื้อเพลิง
ประกับแบริ่ง มีการโมดิฟายใหม่ ลูกสูบ มีการปรับปรุง ให้สามารถรับแรงระแทกแล้ว เคลื่อนที่ลง
โดยไม่มีการตกข้าง เพิ่มความเสถียรของลูกสูบในการเคลื่อนที่ขึ้น – ลงมากขึ้น จุดที่รองรับแรงระเบิด
จะเพิ่มจาก 50.8 เป็น 55 มีการลดพื้นที่ของรูบนหัวลูกสูบ จากความสูง 18 มิลลิเมตร เหลือ 16.8 มิลลิเมตร
ทั้งหมดนี้ ทำให้พละกำลังสูงสุด เพิ่มขึ้นจากเดิม 140 แรงม้า (PS) ที่ 4,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด
32.7 กก.-ม. หรือ 321 นิวตัน-เมตร (N-m) / 2,000 รอบ/นาที ในรถรุ่น 2.5 ลิตร 2WD รุ่นก่อน ให้แรง
ขึ้นไปอีกเป็น 178 แรงม้า (PS) ที่ 4000 รอบ/นาที ซึ่งถือว่า เป็นเครื่องยนต์ Diesel 2.5 ลิตร ในรถกระบะ
และ SUV ดัดแปลง ที่แรงที่สุดในเมืองไทย ในขณะนี้ (อย่างน้อย ก็จนกว่า Ford Ranger และ Mazda
BT-50 ใหม่ จะเปิตัวในช่วงปลายปีนี้นั่นแหละ)
ส่วนแรงบิดสูงสุดนั้น จะขึ้นอยู่กับระบบส่งกำลังที่แตกต่างกัน สำหรับ Pajero Sport แล้ว ในเมื่อมีให้เลือก
เฉพาะเกียร์อัตโนมัติ เท่านั้น แรงบิดสูงสุด จึงน้อยกว่า รุ่นเกียร์ธรรมดา ที่อยู่ใน รถกระบะ Triton จาก
400 นิวตันเมตร (40.76 กก.-ม.) ที่ 2,000 รอบ/นาที เหลือ 350 นิวตันเมตร (35.66 กก.-ม. ที่ รอบเครื่องยนต์
ตั้งแต่ 1,800 – 3,500 รอบ/นาที หากดูแค่ตัวเลขแรงบิด นี่เท่ากับว่า เครื่องยนต์ 2.5 ลิตร VG Turbo ใหม่นี้
มีแรงบิดสูงสุด พอกันกับ เครื่องยนต์ 3.2 ลิตรที่เพิ่งปลดประจำการออกไปเลยเชียวนะนั่น!
การปรับปรุงเครื่องยนต์ใดๆ นั้น จำเป็นจะต้องคำนึงถึงการปล่อยมลพิษ ให้ผ่านมาตรฐานไอเสีย
ที่บังคับใช้กันอยู่ อย่าง มาตรฐาน Euro-III และจะต้องเผื่อกันไปถึงมาตรฐาน Euro-IV ที่จะบังคับ
ใช้กันในไทย ปี 2012 ซึ่งตอนนี้ เครื่องยนต์ใหม่ 4D56 VG Turbo ตัวนี้ ก็ผ่านมาตรฐานไอเสีย
EuroIII แล้วเช่นเดียวกัน และสามารถรองรับการยกระดับมาตรฐานขึ้นไปในช่วงปลายปีนี้ได้อีกด้วย
ในรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ ส่งกำลังด้วย เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ ควบคุมด้วยสมองกล INVECS-II พร้อม
โหมดบวก – ลบ Sportronic ที่คันเกียร์ และเพิ่ม แป้นเปล่ยนเกียร์แบบ Paddle Shift บนพวงมาลัย
ครั้งแรกของ รถ SUV บนพื้นฐานของรถกระบะดัดแปลง (PPV) มีอัตราทดเกียร์ มีดังนี้
เกียร์ 1……………………..3.789
เกียร์ 2……………………..2.057
เกียร์ 3……………………..1.421
เกียร์ 4……………………..1.000
เกียร์ 5……………………..0.731
เกียร์ถอยหลัง………………3.865
เกียร์ Hi…………………….1.0
เกียร์ Low………………….1.9
อัตราทดเฟืองท้าย………….3.917
แรงบิดทั้งหมดจะถูกส่งไปยังระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบไฟฟ้า Super Select 4WD หรือ SS4 ที่ยกชุด
มาจาก Mitsubishi Pajero แท้ๆ ซึ่งเราเคยทำรีวิวกันไปเมื่อปี 2008 แล้วเช่นกัน การเปลี่ยนระบบขับเคลื่อน
ใช้คันเกียร์ข้างๆ เกียร์อัตโนมัติ นั่นละครับ ระบบนี้ ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆจาก Pajero Sport
รุ่นก่อนหน้านี้
ระบบ Super Select 4WD หรือ SS4 ถึงแม้จะเปิดโอกาสให้ผู้ขับขี่เลือกได้ว่า จะใช้ระบบขับเคลื่อน 2
หรือ 4 ล้อ แต่ก็มีโหมดการขับขี่ให้เลือกหลักๆ อยู่ 4 แบบ
– 2H สำหรับขับขี่ทั่วไป บนพื้นถนนลาดยางแห้งๆ เครื่องยนต์จะส่งกำลังไปยังล้อหลัง 100 %
– 4H สำหรับขับขี่บนพื้นถนนเปียกลื่น แต่จำเป็ต้องใช้ความเร็ว จะมีชุด Center Differential Lock และ VCU หรือ
Viscous Coupling Unit ช่วยกระจายแรงบิดไปสู่ล้อหน้าและหลัง ตามอัตราส่วน หน้า 50 % หลัง 50 %
– 4HLc (4 Hi Differential LOCK) ใช้ขณะขับในทางฝุ่น ทางลูกรัง โดยชุด เพลากลาง Center Differential จะล็อก
อัตราส่วนการกระจายแรงบิดไปยังล้อหน้า – หลัง ในอัตราส่วน หน้า 50 % หลัง 50 %
– 4LLc (4 Low Differential LOCK) เหมาะสำหรับการขับขี่ปีนป่ายบนเส้นทางทุระกันดาร โหมดนี้ จะใช้อัตราทด
เฟืองสูง เพื่อช่วยส่งแรงบิดไปยังล้อในการปีนป่ายเส้นทางต่างๆ ตามต้องการ และล็อกการกระจายแรงบิด เหมือน
กับ 4HLc เพียงแต่จำกัดความเร็วสูงสุดเอาไว้เท่านั้น
ส่วนรุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อ จะส่งกำลังสู่ล้อคู่หลัง ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ควบคุมด้วยสมองกล
INVECS-II พร้อมโหมดบวก -ลบ Sportronic ที่คันเกียร์ แต่ไม่มีแป้น Paddle Shift มาให้ โดย
เป็นเกียร์ลูกเก่า ที่ประจำการมาก่อนแล้วใน Pajero Sport และ Triton รุ่นเดิม อัตราทดเกียร์มีดังนี้
เกียร์ 1……………………..2.842
เกียร์ 2……………………..1.495
เกียร์ 3……………………..1.000
เกียร์ 4……………………..0.731
เกียร์ถอยหลัง………………2.720
อัตราทดเฟืองท้าย………….4.100
มาดูกันดีกว่า ว่าขุมพลังใหม่ จะทำตัวเลขออกมาได้แรงกว่าเดิมแค่ไหน คราวนี้เรายังคงทำการทดลอง
จับเวลาหาอัตราเร่งกันในตอนกลางคืน เปิดไฟหน้า เปิดแอร์ และนั่งเพียง 2 คน คือผม (95 กิโลกรัม)
และ เจ้ากล้วย BnN แห่ง The Coup Tam ของเรา (48 กิโลกรัม) และผลลัพธ์ที่ได้ เทียบกับทั้งรถรุ่นเก่า
และคู่แข่งในตลาดที่เหลืออยู่ มีดังนี้
เป็นไงครับ ตัวเลขที่ออกมา เป็นไปได้อย่างไรใช่ไหม? อย่าว่าแต่คุณผู้อ่านเลย ผมเอง กดคันเร่งเอง
เจ้ากล้วยเอง ที่กดนาฬิกาจับเวลา เราต่างก็ไม่อยากเชื่อเหมือนกันนั่นแหละ! แต่ก็คงต้องเชื่อ เพราะ
มันเป็นไปแล้ว…
เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราเร่งของรถรุ่นเดิม 3.2 GT แล้ว พบว่า เครื่องยนต์ 2.5 VG Turbo ใหม่ ทำตัวเลข
ได้เร็วกว่าถึง 1.32 วินาที !!! นี่เรายังไม่ต้องนับ เครื่องยนต์ 2.5 ลิตร เวอร์ชันเก่าด้วยซ้ำ รายนั้น ตัวเลขของ
รถรุ่นใหม่ เร็วกว่าถึง 2.53 วินาที ซึ่งถือเป็นความแตกต่างที่เยอะมากๆๆๆๆ และต้องไม่ลืมด้วยว่า นี่ขนาด
เป็นรุ่น 4WD ที่มีภาระในระบบขับเคลื่อนค่อนข้างมากแล้วด้วยซ้ำ (ตอนจับเวลา ใช้โหมด 2WD)
แล้วถ้าจะเปรียบเทียบกับ คู่แข่ง อย่าง Toyota Fortuner ละ? หากเทียบกับรุ่น 3.0 ลิตร 4AT AWD แล้ว
2.5 VG Turbo 4WD จะทำตัวเลขได้ดีกว่ากัน 1.03 วินาที เลยทีเดียว แต่ถ้าเทียบกับรุ่น 3.0 ลิตร 4AT 2WD
ที่น่าประหลาดใจคือ 2.5 VG Turbo 4WD ยังอุตส่าห์จะทำตัวเลขได้ดีกว่าเขา ถึง 0.2 วินาที เสียอีกแหนะ
แทบไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับ Ford Everest เลยแต่อย่างใด รายนั้นหนะ ปล่อยให้เขา Rest ever ต่อไป
จนกว่ารถรุ่นใหม่จะคลอดในอีก 1 ปีข้างหน้า ซึ่งนั่นก็ดีแล้ว
ถ้าเช่นนั้น เราจะบอกว่า Pajero Sport 2.5 VG Turbo กลายเป็น SUV บนพื้นฐานรถกระบะ ที่แรงสุดใน
ตลาดเมืองไทย ตอนนี้ได้แล้วใช่ไหม? ถ้าดูจากตัวเลขที่ออกมา คำตอบ ก็คงต้องเป็นไปตามนี้
แต่ถ้าคุณไม่มีนาฬิกาจับเวลาอยู่ในมือ เหมือนอย่างพวกเราละ? คุณอาจจะไม่รู้สึกว่ามันแรงขึ้น ซึ่ง
ก็ไม่แปลก มีรถยนต์หลายคัน ที่เรานำมาทดลองขับแล้ว ให้สัมผัสจากอัตราเร่ง ได้น่าหาวเรอมากๆ
แต่พอเข้าสู่เกมจับเวลา กลับกลายเป็นว่า ทำตัวเลขออกมาได้เร็วสุดในตลาด ตัวอย่างก็มีให้เห็น เช่น
Nissan X-Trail และคราวนี้ Pajero Sport ก็เป็นรถที่อยู่ในข่ายเดียวกันนี้ อย่างไม่ต้องสงสัย
ก็ดูอัตราเร่งจากจุดออกตัวสิครับ เนือยเสียยิ่งกว่าอะไรดี กว่าจะรอให้ Turbo แปรผัน เริ่มทำงานก็ต้องมี
1,500 รอบ/นาที เริ่มสังกตได้ว่ามันทำงานจริงๆ คือช่วง 1,800 รอบ/นาที และกว่าจะเห็นแรงบิดสูงสุด
ดึงหลังคุณให้ติดเบาะ เข็มวัดรอบ ก็ต้องแตะ 2,000 รอบ/นาที กันเสียก่อนนั่นละ คนขับถึงจะเริ่มเห็น
ความแตกต่าง จากรถรุ่นเก่าชัดเจน
ซึ่งก็เป็นอย่างที่เคยบอกเอาไว้แล้ว ในบทความ First Impression ว่า วิศวกรของ Mitsubishi จงใจแก้ไข
ปัญหาอัตราเร่งแซง เป็นหลัก เมื่อโจทย์มาเป็นแบบนั้น คำตอบเป็นแบบนี้ ก็ดูจะถือว่าตอบโจทย์ถูกต้อง
แต่ดูเหมือนว่า ทีมวิศวกรจะลืมทำการบ้านไปอีกข้อ นั่นคือ ทำอย่างไร ให้รถ พุ่งออกตัวจากจุดหยุดนิ่ง
ได้ไวกว่ารถรุ่นเดิม?
ทันทีที่กดคันเร่งปุ๊บ ควรจะต้องสัมผัสได้เลยว่า แรงบิดหนะ มารออยู่ที่เท้าแล้ว ไม่ใช่ต้องให้รอกันจนถึง
แถวๆ 2,000 รอบ/นาที ก่อน จึงจะเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ อย่างที่เป็นอยู่
ตาแพน Commander CHENG! ของเรา เปรียบเปรยบุคลิกของเครื่องยนต์ใหม่ ใน Pajero Sport ตัวนี้ ว่า
“การตอบสนอง มันไม่ต่างอะไรกับความพยายามของพ่อแม่วัย 40 ปี พยายามปลุกลูกชายอายุ 14 – 15 ปี
ให้ลุกขึ้นจากเตียงนอน ในเช้าวันจันทร์ ทันทีที่เจ้าหนูตื่นขึ้นมา เท้าก็เหยียบเข้ากับกองหนังสือเรียน
ที่ตัวเองวางเรี่ยราดเอาไว้บนพื้นห้อง และนั่นก็ทำให้เจ้าหนู นึกขึ้นได้ว่า “เช้านี้กรูมีสอบวิชาเลข นี่หว่า!”
ทันทีที่เจ้าหนูระลึกได้ เจ้าตัวก็จะพุ่งลงมาจากเตียง เข้าห้องน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ แต่งตัว จัดผม
และลงมากินมื้อเช้าอย่างกระวีกระวาด ทุกอย่างเกิดขึ้นต่อเนื่อง จนผู้เป็นบิดา มารดา ถึงกับงงไปเลยว่า
ลูกตัวเอง ไปทำอะไรมา จู่ๆ ก็รีบร้อนด่วนจี๋ เป็นรถด่วนชินคังเซ็น ไม่รู้ว่าไป อมฮอลล์ มาหรือไง?”
ใช่ จริง และไม่เถียงเลย มันก็เหมือนกับที่ผมเคยเขียนเอาไว้ในบทความ First Impression ของรถรุ่นนี้
นั่นละ ว่า บุคลิกตอนออกตัว ช่างเหมือนกับ เครื่องยนต์ 4D56 เวอร์ชันเก่า 140 แรงม้า (PS) ไม่มีผิด
เมื่อเหยียบคันเร่งลงไป จะเหยียบแค่ 1 ใน 3 เหยียบครึ่งหนึ่ง หรือเต็มมิดติดเหล็กรถก็ตาม รถจะค่อยๆ
ออกตัวอย่างเนือยๆ ง่วงๆ จนกระทั่งพอถึงรอบเครื่องยนต์ที่ Turbo แปรผัน จะได้ฤกษ์ทำงาน เท่านั้นแหละ
พละกำลังจึงจะไหลออกมาจากเครื่องยนต์ ลงสู่ล้อขับเคลื่อนกันเต็มๆ แถมยังไหลขึ้นไปได้ดีนถึงช่วงปลาย
แถวๆ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง เสียอีกต่างหาก
หลังจากพ้นช่วง 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็นต้นไป อันเป็นช่วงเกียร์ 5 แล้ว ก็ไม่ต้องแปลกใจครับ ที่จะต้อง
ใช้เวลานิดหน่อย เพื่อไต่ขึ้นไปแตะความเร็วสูงสุด ที่ 190 กิโลเมตร/ชั่วโมง ณ รอบเครื่องยนต์ สูงระดับ
3,600 รอบ/นาที และทุกอย่าง ก็จบลงที่ตรงนั้น
แต่เพียงแค่นี้ ผมก็อึ้ง อ้าปากเหวอ และก็พูดไม่ออก Mitsubishi did it!! เพราะจากที่เราเคยทดลองจับเวลา
และเก็บข้อมูลกันมา ยังไม่เคยมี SUV บนพื้นฐานรถกระบะจากโรงงาน หรือ PPV คันใด ที่สามารถทำ
ความเร็วสูงสุด “บนมาตรวัด” ขึ้นไปแตะ 190 กิโลเมตร/ชั่วโมงได้เลยมาก่อน นี่เรายังไม่นับพวกรถที่
ถูกนำไปโมดิฟาย จูนกล่อง เพิ่มเติม จนแรงทะลุโลก บ้าพลังกันเข้าไป แต่อย่างใด เพราะรถพวกนั้น
ทะลุ 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง กันมาตั้งนานแล้ว นี่เรากำลังพูดถึง รถบ้านๆ เดิมๆ Standard จากโรงงาน
และไม่มีการปรับแต่งอะไรทั้งสิ้น
ที่สำคัญ ถ้าคุณคิดจะเร่งแซง ขณะใช้ความเร็ว 80 หรือ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป แทบไม่ต้องยุ่งกับ
แป้น Paddle Shift ที่มีมาให้แต่อย่างใด เพียงแค่เหยียบคันเร่งลงไป ครึ่งหนึ่ง หรือเกือบสุด เท่านั้นก็พอ
Turbo แบบแปรผันครีบ ก็พร้อมจะพาคุณพุ่งทะยาน ฉีกนำรถคันอื่นๆ บนถนน ขึ้นไป ได้อย่างง่ายดาย
นิสัยคล้ายๆ ช่วงเร่งแซงของ Toyota Fortuner อยู่พอสมควร
แต่ถ้าคิดจะเล่นแป้น Paddle Shift (เฉพาะรุ่น 4WD) แล้ว การตอบสนอง ยังไม่ถึงกับไวนัก แต่ก็ไม่ช้า
จนเกินไป พอให้เล่นสนุกได้ และทำงานเปลี่ยนเกียร์ให้รวดเร็วปานกลาง แต่อย่าถึงขั้น คาดหวังว่ามัน
จะต้องไวแบบรถสปอร์ต อันนั้นก็ดูจะเป็นการคาดหวังมากเกินจริงไปหน่อย ถ้าต้องการจะออกจากโหมด
บวก – ลบ มี 2 วิธี คือ ผลักคันเกียร์ไปที่โหมด บวก – ลบ แล้วดึงกลับมาอยู่ในตำแหน่ง D ตามเดิม หรือไม่
ให้กดแป้น Paddle Shift ฝั่งบวก (ขวามือของผู้ขับขี่ 2 วินาที) ระบบก็จะเปลี่ยนกลับไปอยู่ในโหมด D
ตามปกติ ดังเดิม
อย่างไรก็ตาม นั่นคือการตอบสนองที่คุณจะพบได้ในรุ่น 4WD ทว่าเมื่อเป็นรุ่น 2WD หลายๆคนคงคาดว่า
น่าจะเห็นตัวเลขอัตราเร่งที่่ดีขึ้นจากเดิม ซึ่งความจริงแล้ว ก็ดีขึ้นจริง แต่น่าแปลกว่า ทั้งที่น้ำหนักตัวก็เบากว่า
ภาระในระบบขับเคลื่อนก็น่าจะน้อยกว่า แต่ทำไม ตัวเลขอัตราเร่งถึงออกมาด้อยกว่ารุ่น 4WD อย่างที่เห็น?
ขณะที่อัตราเร่งของรุ่น 4WD ได้เกียร์ลูกใหม่เข้ามาช่วย ทำให้แม้ว่าช่วงออกตัวจะอืด ตามบุคลิกประจำของ
เครื่องยนต์ Diesel แต่ตัวเลขที่ออกมาก็ยังดีกว่า เดิม และดีกว่า Fortuner ชัดเจน
เหตุผลก็คือ การยืนหยัดใช้เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะลูกเดิม กับรถรุ่น 2WD นั่นเอง ในอดีตที่ผ่านๆมา เกียร์ลูกนี้
ก็ทำผลงานได้ไม่ถึงกับน่าพอใจนัก แถมพอนำมาวางเชื่อมกับเครื่อง 2.5 VG Turbo ผมพบว่า ในรถคันสีเงิน ช่
วงทดลองจับเวลา หาอัตราเร่ง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง พอเหยียบคันเร่งจมปุ๊บ เกียร์ สับสนมากว่า “กรูจะ
เปลี่ยนเป็นเกียร์อะไรให้มรึงดี ไอ้คนขับ?” ครั้นจะเปลี่ยนเป็นเกียร์ 2 รอบก็จะจัดเกินไป เพราะความเร็วสูงสุด
ของเกียร์ 2 อยู่ที่ 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง สมองกก็เลยคิดว่า ถ้าจะต้องเปลี่ยนเกียร์กันบ่อยๆ มีหวังได้กลับบ้านเก่า
กันไวแหงๆ เลยตัดสินใจเปลี่ยนลงให้แค่เพียงเกียร์ 3 แม้ว่าจะต้องใช้เวลาลากขึ้นนานหน่อย แต่อย่างน้อย
ก็ยังดีกว่าให้เกียร์พังเร็ว
ทำให้เมื่อเหยียบคันเร่งจมมิด เพื่อสั่งให้ Torque Converter ทำงาน เกียร์ก็จะเปลี่ยนลงมาเป็นเกียร์ 3 ให้
และรถก็จะเอื่อยเฉื่อย อยู่ราวๆ 1 วินาที (80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่เกียร์ 4 รอบเครื่องยนต์อยู่ที่ 1,500 รอบ/นาที
เหมือนกับเกียร์ 5 ของรุ่น 4WD เป๊ะ!) และต้องรอให้รอบเครื่องยนต์เร่งขึ้นไปอยู่ในระดับ 2,000 รอบ/นาที
จึงจะพบแรงบิดมหาศาล ไหลมาเทมาเป็นน้ำประปา
แต่ถ้าลองเปลี่ยนมาเร่งจาก 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง เกียร์ จะเปลี่ยนลงมาเป็นเกียร์ 2 ให้ลากต่อเนื่องขึ้นไปได้
จนถึง 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง จึงตัดเปลี่ยนขึ้นเป็นเกียร์ 3 ให้ หรือถ้าเปลี่ยนมาเร่งในช่วง 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
แม้เกียร์จะตเปลี่ยนจาก 4 ลง เกียร์ 3 ให้ แต่ในจังหวะนั้น รอบเครื่องยนต์ จะอยู่ในช่วง Power Band ของมัน
เอง พอดีๆ ดังนั้น รอบเครื่องก็จะกวาดขึ้น และแรงบิด ก็จะถูกส่งต่อไปยังล้อคู่หลังได้ต่อเนื่องเหมือนกัน
กับการออกตัวช่วง 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ซึ่งนั่นก็ยังหมายความต่อไปอีกว่าในการไต่ความเร็วขึ้นไปยังระดับ 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง รุ่น 2WD ก็จะ
ไต่ขึ้นไปได้อย่างต่อเนื่อง เร็วกว่ารุ่น 4WD อยู่นิดนึง ขึ้นอยู่กับว่า คุณจะเริ่มเหยียบคันเร่ง เพื่อเร่งแซง
ในช่วงความเร็วใด สรุปว่า ถ้าเหยียบในช่วง 60 และ 100 ถ้วน รถก็จะพุ่งปรู๊ดขึ้นไป แต่ถ้าเร่งในช่วง 80
รถจะเนือยๆ ต้องรอรอบเครื่องยนต์ถึงช่วงแรงบิดสูงสุดก่อน แต่ไม่ว่ายังไงก็ตาม ความเร็วสูงสุดท่ทั้ง 2 รุ่น
ทำได้คือ 190 กิโลเมตร/ชั่วโมง เหมือนกัน โดยรุ่น 4WD รอบเครื่องยนต์จะอยู่ที่ 3,600 รอบ/นาที ส่วนรุ่น
2WD จะอยู่ที่ 3,800 รอบ/นาที
อีกปัญหาหนึ่งที่มีลูกค้าบ่นมาเยอะในรถรุ่นก่อน คือเสียงเครื่องยนต์อันดังกระหึ่ม ไม่แพ้ Isuzu กระบะรุ่น
มังกรทอง (ก่อน D-Max) นั่นเลย ทีมวิศวกรก็ช่วยกันแก้ไข จนตอนนี้ ในรอบเดินเบา นอกจากจะมีรอบ
เครื่องยนต์ที่ต่ำลงกว่าเดิมแล้ว เสียงเครื่องยนต์ในรอบเดินเบา ก็ยังเบาลงตามไปด้วย เพียงแต่ว่า ในช่วง
ความเร็วเดินทาง ตั้งแต่ 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป เสียงเครื่องยนต์ ที่เล็ดรอดเข้ามาในห้องโดยสารนั้น
ยังถือว่าค่อนข้างดัง ยิ่งถ้าใช้ความเร็วสูงขึ้นไป เสียงของระบบจ่ายเชื้อเพลิง กับพัดลม จะดังขึ้นเรื่อยๆ
ดังจนคนที่ไม่คุ้นเคย อาจเข้าใจผิดว่า เครื่องมีปัญหาเรือเปล่า แต่ไม่ต้องตกใจครับ เสียงพัดลมในห้อง
เครื่องยนต์ มันดังแบบนี้แหละ ตามปกติของมันเลย และจะต้องเร่งเสียงเพลงจากเครื่องเสียงให้ดังขึ้น
เพื่อกลบแข่งกับเสียงเครื่องยนต์ หากใช้ความเร็วต่ำกว่า 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง เสียงเครื่องยนต์ยังถือว่า
เบา และไม่มีปัญหาเท่าใดนัก
ส่วนเสียงลมที่ปะทะ และไหลผ่านตัวถังรถไปนั้น ยังถือว่า พอมีให้ได้ยินอยู่บ้างนิดหน่อย ในช่วงความเร็ว
ระดับ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป มีมาให้ด้ยินแผ่วเบา ตามปกติวิสัย ของรถยนต์คันใหญ่ พื้นที่ต้านลมมีเยอะ
เพียงแต่ว่า ถ้าเพิ่มการเก็บเสียงให้ดีกว่านี้ได้อีกสักหน่อย ก็จะประเสริฐมาก เน้นย้ำในประเด็นนี้ว่า เสียง
ลมปะทะ ไม่ดังเท่าไหร่เลย แต่เสียงเครื่องยนต์ในรอบสูงๆ หนะ มันดังกลบเสียงลม และเสียงเพลงไป
ได้เหมือนกัน
พวงมาลัยแบบ แร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ไฮโดรลิก ช่วยผ่อนแรง รัศมีวงเลี้ยว 5.6 เมตร ยังคงทำหน้าที่
ได้ดีเหมือนเดิม ไม่มีผิดเพี้ยน หนืดและหนักทั้งในความเร็วต่ำและความเร็วสูงอย่างไร ก็เป็นไปตามนั้น ต้อง
ไม่ลืมว่า รูปแบบของรถ เป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่ง จะทำพวงมาลัยให้ตอบสนองไวแบบรถสปอร์ต ก็ไม่ถูก เพราะ
ถ้าผู้ขับ เผลอละความสนใจจากถนน หากพวงมาลัยไวเกินไป ผู้ขับขี่ที่ตกใจ อาจจะหักพวงมาลัยไวเกิน และ
รถอาจจะพลิกคว่ำได้ นี่คือสาเหตุที่ต้องเซ็ตให้มีระยะฟรีอย่างเหมาะสม เหมือนที่เป็นอยู่นี้ ดังนั้นผมถือว่าเป็น
พวงมาลัยที่ดี ไม่ไวมาก ระยะฟรี พอประมาณ ไม่เยอะ ไม่น้อยจนเกินไป นิ่งและเสถียรในช่วงความเร็วสูง
(และจะดีกว่านี้ ถ้าไม่ตั้งศูนย์ล้อ จากโรงงาน มาให้กินซ้ายหน่อยๆ อย่างที่เป็นอยู่นี้ซะที)
อย่างไรก็ตาม พวงมาลัยของรุ่น 2WD จะมีช่วงระยะฟรีที่สัมผัสได้ว่า ไม่หนืดมากเท่ารุ่น 4WD (เป็นเฉพาะ
แค่ช่วงความเร็วต่ำเท่านั้น ที่เหลือ ในช่วงความเร็วเดินทาง ก็เหมือนกันนั่นแหละ) มีอัตราทดพวงมาลัยที่ยาว
และน้ำหนักพวงมาลัยที่ไว้ใจได้ แต่สำหรับคุณสุภาพสตรี อาจจะต้องใช้แรงในการหมุนพวงมาลัยช่วงหา
ท่จอดรถ เยอะกว่ารถทั่วไปสักหน่อย
ระบบกันสะเทือน อยู่บนพื้นฐานดั้งเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ด้านหน้า เป็นแบบ อิสระ ปีกนกคู่ คอยล์สปริง
พร้อมเหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลัง เป็นแบบ 3 Link Torque Arm พร้อมคอยล์สปริงและเหล็กกันโคลง ยังคง
ให้ความน่าประทับใจ เหมือนครั้งเก่าที่เราเคยทำรีวิวรถรุ่นแรกไปเมื่อปี 2008 มาวันนี้ ทุกการตอบสนองก็ยังคง
ดีมาก และดีที่สุดในกลุ่มตลาด SUV ดัดแปลงจากรถกระบะ เหมือนเดิม
แม้จะใช้โครงสร้างเฟรมแชสซี และระบบกันสะเทือนร่วมกับ Triton ซึ่งว่ากันตามหลักการแล้ว ไม่น่าจะทำให้
รถหนีไปจากบุคลิกกระเด้งสะเทือนในแบบรถกระบะได้มากนัก แต่พอลองขับจริงๆแล้ว แค่เพียงระยะสั้นๆ
คุณจะรู้ได้เลยว่า มันแตกต่างกันจากรถรุ่นอื่น หรือแม้กระทั่งตัวของ Triton เองจริงๆ!
การดูดซับแรงสะเทือน จากพื้นถนน ยังคงทำได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ และครองตำแหน่งรถที่มีช่วงล่าง ดีที่สุดในกลุ่ม
ตามเดิมอยู่ต่อไป เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับ Toyota Fortuner แล้ว บนพื้นถนน ลักษณะเดียวกัน ซึ่งเป็นเส้นทาง
ที่เราใช้กับรถยนต์ทุกคันที่นำมาทดลองขับ ทั้งในเมือง และบนทางหลวง ไม่ว่าจะมีลูกระนาด ไม่ว่าหลุมบ่อจะเป็น
อย่างไร Pajero Sport ยังคงให้ความนุ่มนวล แต่หนักแน่นและ “นิ่ง” กว่า Fortuner ซึ่งมีอาการกระเด้งนิดๆ ในบาง
ลักษณะถนน เสียด้วยซ้ำ ที่สำคัญ ถ้าวัดกันเฉพาะการตอบสนองของช่วงล่างด้านหลัง Pajero Sport จะมีอาการ
กระเด้ง “น้อยกว่า ช่วงล่างด้านหลังของ CR-V รุ่นปัจจุบัน!” (ยืนยันได้จาก ตาแพน Commander CHENG ของเรา
ในฐานะที่ ครอบครัวเพิ่งถอย CR-V 2.4 ลิตรมาหมาดๆ และจนถึงตอนนี้ เจ้าตัวยังบ่นว่า “ทำไมพ่อกรูไม่ยอมซื้อ
Pajero Sport วะ?”)
ส่วนการเข้าโค้งนั้น ยังคงทำได้เหมือนเดิม ในโค้ง ตัว S ทางลงทางด่วนพระราม 6 นั้น ทั้ง 2 รุ่น
ใช้ความเร็วได้ในระดับ 75 แต่ไม่เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ด้วยยางติดรถ แบบเดียวกัน แต่คนละขนาด
ถ้าได้ยางตดรถที่ดียิ่งกว่านี้ ก็อาจจะได้การยึดเกาะถนนที่ดีขึ้นไปอีก แต่อย่างว่าครับ ราคาจะแพงขึ้น
และอาจสูญเสียคุณสมบัติในด้านอื่นๆไป เช่นเสียงจากพื้นถนนอาจจะดังขึ้น
ระบบเบรกเป็นแบบ หน้าดิสก์ หลังดรัม ทุกรุ่นตั้งแต่รุ่นถูกสุด ติดตั้งระบบป้องกันล้อล็อก ABS
(Anti-Lock Braking System) และระบบกระจายแรงเบรก EBD (Electronics Brake Force
Distribution) มาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานจากโรงงาน ยังคงให้การตอบสนองที่ถือว่านุ่มนวล
ดีมากๆ แป้นเบรกต้องการเหยียบแค่ไหน ก็ชะลอรถลงได้ตามเท่าที่ต้องการ และต่อให้คุณ
ซัดมาจากความเร็ว 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง เมื่อต้องเหยียบเบรกลงไป 2 ใน 3 ของแป้น เพื่อ
ชะลอความเร็ว นอกจากแป้นเบรกจะยังนุ่มเท้าแล้ว การหน่วงความเร็ว ยังทำได้ไว กำลังดี
ส่วนระยะเบรกนั้น หากยังคงเป็นเหมือนเดิม อย่างที่ผมเข้าใจอยู่นี้ หมายความว่า ระยะ
เบรกจาก 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง จนถึงจุดหยุดนิ่งนั้น Fortuner จะใช้ระยะทาง 43 เมตร
ขณะที่ Pajero Sport จะอยู่ที่ราวๆ 45 เมตร ฟังดูเหมือนจะยาว แต่ถ้าจะบอกว่า มันก็ยาว
พอกันกับระยะเบรกของ Mercedes-Benz S-Class รุ่น W140 ละ? คุณจะยังมองว่ายาว
อีกไหม?
********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********
อีกปรเด็นสำคัญ ที่ผมเชื่อว่าคุณผู้อ่านน่าจะอยากรู้ก็คือ เครื่องยนต์ใหม่ 2.5 VG Turbo จะยังคงให้
ความประหยัด แบบเดียวกับที่เครื่องยนต์ในรถรุ่นเดิม เคยทำได้ หรือเปล่า?
เราจึงทำการทดลองกันตามมาตรฐานเดิม เพียงแต่มีเรื่องจะต้องชี้แจงกันสักหน่อย แม้ว่าในการทดลอง
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ของรถยนต์ ที่ใช้เครื่องยนต์ Diesel เราจะยังคงใช้บริการจากปั้มน้ำมัน Shell
ปากซอยอารีย์ ตามเดิม ไมได้เติมน้ำมันจาก ปั้ม Caltex เช่นเดียวกับที่ทำการทดลองรถยนต์ ใช้เครื่องยนต์
เบนซินแต่อย่างใด
ทว่า น้ำมันเชื้อเพลิงที่เราเคยทำการทดลองในรถรุ่นก่อน เครื่องยนต์ 3.2 ลิตร และ 2.5 ลิตร 140 แรงม้า (PS)
เมื่อปี 2008 ตอนนั้น เป็น Shell V-Power Diesel แบบมาตรฐาน ขณะที่น้ำมันซึ่งเราใช้ในการทดลองครั้งนี้
กลายเป็น Shell V-Power Diesel B5 ซึ่งมีส่วนผสมของ Bio Diesel เจือปนอยู่ประมาณร้อยละ 5 ตามสูตร B5
ซึ่งก็เหมือนกันกับรถยนต์ ขุมพลัง Diesel คันอื่นๆ ที่ผมทำการทดลอง ในรอบ 2 ปี ช่วงตั้งแต่เปิดเว็บไซต์ มานี้
ผู้ร่วมทำการทดลองและสักขีพยานในคราวนี้ เป็นตาโจ๊ก V10ThLnD ซึ่งก็ถือว่าเป็นแขกประจำของ ผมและ
The Coup Team อีกคนหนึ่ง ที่มาช่วยทดลองจับอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงกันบ่อยขึ้นในระยะหลังๆมานี้
(เพราะตอนนี้ ดูเหมือนจะมีตาโจ๊กนี่แหละที่ว่างสุด) ผู้เขียน น้ำหนัก 95 กิโลกรัม ส่วนตาโจ๊ก น้ำหนักตัว
60 กิโลกรัม
เราเติมน้ำมัน V-Power Diesel B5 กันเพียงแค่ให้หัวจ่ายตัดก็พอแล้ว ตัดสินใจไม่เขย่ารถ เพราะผู้ตัดสินใจ
ซื้อรถยนต์กลุ่มนี้ มองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินใจเท่านั้น แตกต่างจาก
กลุ่มรถกระบะ และรถยนต์นั่ง พิกัดต่ำกว่า 2,000 ซีซี ลงไป ซึ่งใหความสำคัญมากเป็นพิเศษ เมื่อเติมน้ำมัน
เสร็จ เราเซ็ต 0 บน Trip Meter A ที่หน้าปัด ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ แล้วออกเดินทาง ลัดเลาะไปตามซอย
อารีย์ ก่อนจะไปขึ้นทางด่วนที่ด่านพระราม 6 มุ่งหน้ายาวๆ ไปลงทางด่วนสายอุดรรัถยา เลยเชียงราก แล้ว
เลี้ยวกลับรถที่ปลายทางด่วน ย้อนมาขึ้นทางด่วนสายเดิม ขับกลับมาลงทางด่วนที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
รักษาความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง ผ่านระบบ Cruise Control ที่ต้องขอชมเชยว่า สามารถรักษาความเร็ว
ทั้งรอบเครื่องยนต์ และความเร็วของรถ ขณะขึ้น และลงทางลาดชัน หรือสะพานสูงๆ เอาไว้ ได้อย่างดีเยี่ยม
แบบเดียวกับรถยุโรปไม่มีผิดเพี้ยน! ช่วยให้เรารักษามาตรฐานตัวแปรในการทดลองของเราคือ ใช้ความเร็ว
110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คนได้อย่างเคร่งครัดมากขึ้น
แม้จะมีการจราจรติดขัดตรงหน้าด่านประชาชื่นนิดหน่อย (ซึ่งมักมีเป็นประจำจนแก้ไม่หาย ไม่รู้ทำไม
ต้องเอาช่อง Easy Pass ไปไว้ตรงกลาง ถึง 2 ช่องเลยทีเดียว ปิดโอกาสของคนที่จะจ่ายเงินในระบบปกติ
ไป 2 ช่องทาง แทนที่จะทำแค่ ช่องทางเลนกลาง 1 ช่อง และเลนขวาสุด 1 ช่อง แถมพนักงานเก็บเงิน
หลายๆคนยังชักช้า ยืดยาด ทอนเงินต้วมเตี้ยมเป็นเต่าคลาน บางวัน รถก็ตีดวินาศสันตะโร ท้ายแถวเกือบ
ถึงแจ้งวัฒนะกันเลย ก็ยังไม่เห็นจะมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นเลยสำหรับพนักงานเก็บเงินทางด่วน ด่าน
ประชาชื่นเนี่ย! ดีแต่วันที่เราทดลองตัวเขกัน รถยังไม่ค่อยติดมากนัก ไม่เช่นนั้น สงสัยแย่แน่ๆ)
เราก็ย้อนกลับมายัง ปั้ม Shell ปาซอยอารีย์ แห่งเดิม และเติมน้ำมัน V-Power Diesel B5 ที่หัวจ่ายเดิม
เติมแค่หัวจ่ายตัดเช่นเดิม และต่อจากนี้คือตัวเลขที่รุ่น 4WD (ใช้โหมด ขับเคลื่อน 2 ล้อ และเปิดระบบ
Cruise Control ขณะทำการทดลอง) ทำได้จริง
ระยะทางบนมาตรวัด 94.1 กิโลเมตร (เพี้ยนจากเดิม แค่ 100 เมตร)
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ มากถึง 9.19 ลิตร
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 10.23 กิโลเมตร/ลิตร…!!
เฮ้ย!! ทำไมมันเป็นอย่างนี้ไปได้? รถรุ่นก่อนหน้านี้ ประหยัดกว่านี้เยอะเหมือนกันนะ เห็นตัวเลขแล้ว เล่นเอา
เซ็งนิดหน่อย เพราะคาดว่า อย่างน้อยๆ ตัวเลขความประหยัดของเครื่องยนต์ใหม่นี้ น่าจะอยู่ในระดับเดียวกันกับ
รถยนต์ประเภทนี้ทั่วๆไปรุ่นอื่นๆ ซึ่งมักอยู่แถวๆ 11 – 12 กิโลเมตร/ลิตร สำหรับการขับทางไกล
คำถามก็เลยเกิดขึ้นว่า แล้ว ถ้าเราจะลองปรับรูปแบบการขับสักนิดนึงละ? แม้ว่าจะยืนอยู่บนมาตรฐานเดิม
คือวิ่ง 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คนตามเดิม แถมผู้โดยสาร ผู้ร่วมทดลอง หรือสักขีพยาน ก็จะ
ยังคงเป็นตาโจ๊ก V10 ThLnD น้ำหนัก 60 กิโลกรัม รวมกับผู้ขับขี่น้ำหนัก 95 กิโลกรัมตามเดิมด้วย เพียงแต่
เปลี่ยนจากรุ่น 4WD เป็น 2WD เปลี่ยนเวลาทดลอง จากตอนบ่าย เป็นช่วง 3 ทุ่ม และเปลี่ยนจากการขับรถ
ด้วยการล็อกความเร็วที่ระบบ Cruise Control เป็นการขับแบบเลี้ยงคันเร่งตามปกติ เหมือนไม่มี Cruise Control
ตัวเลขจะออกมาเป็นอย่างไร?
เราก็เลยทำการทดลอง ตามข้อกำหนดดังกล่าว ส่วนที่เหลือ ก็พยายามรักษาตัวแปรให้เหมือนกันทั้งหมด
ทั้งการเติมน้ำมัน Shell V-Power Diesel B5 จนเต็มถัง เอาแค่หัวจ่ายตัดก็พอ ที่ปั้มน้ำมัน Shell ปากซอย
อารีย์ ถนนพหลโยธิน พอ Set 0 บน Tri Meter A (มีมาให้ทั้ง Trip A และ B) แล้ว ก็ติดเครื่องยนต์ ออกรถ
ช้าๆ มุ่งหน้าลัดเลาะไปขึ้นทางด่วนพระราม 6 รักษาความเร็วให้ได้ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ เปิด
ไฟหน้า นั่ง 2 คน ไปจนถึงปลายสุดทางด่วนอุดรรัถยา หรือเส้นเชียงราก เลี้ยวกลับย้อนมาขึ้นทางด่วน
เส้นเดิม
เราขับย้อนกลับมาลงที่ปลายทางด่วนอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพหลโยธิน มุ่งหน้ากลับมา
เติมน้ำมัน Shell V-Power Diesel B5 ที่ปั้มเดิม เติมแค่หัวจ่ายตัด และแน่นอนครับ หัวจ่ายเดิมด้วย ตาม
มาตรฐานเดิมเป๊ะ
มาดูตัวเลขกันดีกว่า ว่ารุ่น 2WD GT จะกินน้ำมันเท่าไหร่
ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมด บน Trip Meter A อยู่ที่ 94.0 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 8.58 ลิตร โอเค ลดลงจากเดิมนิดหน่อย
แต่พอคำนวนดูแล้ว อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยอยู่ที่ 10.95 กิโลเมตร/ลิตร สรุปว่า มันแทบไม่ได้แตกต่าง
มากมายขนาดนั้น มากสุดก็คือ ดีขึ้นกว่ารุ่น 4WD แค่ราวๆ 0.5 กิโลเมตร/ลิตร เท่านั้นเลย
ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะขับรถรุ่นนี้ โดยเปิดใช้ หรือไม่เปิดใช้ Cruise Control ขณะวิ่งทางไกล ตัวเลขแทบไม่ได้
แตกต่างกันมากมายแต่ประการใด และถึงแม้ว่า ตัวเลขจะยังอยู่เกินระดับ 10 กิโลเมตร/ลิตร อันเป็น ขีดต่ำสุด
ที่ผมพอจะยอมรับได้ แต่ถ้าลองเอาตัวเลขนี้ ไปถามผู้บริโภคทั่วไป แทบทุกคนที่ได้ยิน จะพากันอุทานออกมา
คำแรกพร้อมกันเลยว่า “แดกกว่าเดิมอยู่เหมือนกันนะ!” กลายเป็นว่า แก้ปัญหาเรื่องอัตราเร่งอืดอาดได้ แต่ความ
ประหยัดน้ำมันกว่าคู่แข่ง อันเคยเป็นจุดเด่น ก็ลดน้อยถอลงไปด้วย
และถ้าถามว่า ในรุ่น 4WD น้ำมัน 1 ถัง จะแล่นได้ประมาณ กี่กิโลเมตร จากที่ใช้งานมาคร่าวๆ ทั้งลองอัตราเร่ง
แล่นจากบางนาไปธุระแถวรัตนาธิเบศน์ วิ่งวนในระบบทางด่วนหลายครั้ง เบ็ดเสร็จแล้ว ตัวเลขคร่าวๆ หลังจาก
เข็มน้ำมันลดลงเหลือ 1 ใน 3 คือ 367.2 กิโลเมตร ดังนั้น หมายความว่า หากขับต่อไป น้ำมัน 1 ถัง คงแล่นได้
ราวๆ 500 กิโลเมตร ถ้าเท้าขวาคุณไม่หนักเกินไปอย่างเท้าผม เพราะความเร็วที่ผมใช้กับรุ่น 4WD นั้น ป้วนเปี้ยน
แถวๆ 80 – 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็นหลัก และค่อนข้างไปทาง 120 – 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง หลายต่อหลายครั้ง
ส่วนรุ่น 2WD นั้น ยอมรับเลยว่า ขับค่อนข้างเร็วพอสมควร ในหลายๆจังหวะ และทำให้เข็มน้ำมันลดลงไป
ค่อนข้งเร็ว กระนั้น ในวันส่งคืนรถ เข็มน้ำมันยังอยู่ที่ระดับ 1 ใน 3 ของถัง และน้ำมันที่ใช้ไปนั้น แล่นได้
384.8 กิโลเมตร ดังนั้น ถ้าคุณเป็นคนเท้าไม่หนัก ขับเรื่อยๆ ผมว่า น้ำมัน 1 ถัง คุณอาจแล่นไปได้ ราวๆ 550
กิโลเมตร ก่อนที่น้ำมันจะเกลี้ยงถังชนิดแล่นต่อไม่ได้เลย ความเร็วที่ใช้ พอกัน แต่มช่วงจังหวะให้เหยียบมิด
เร่งแซงบ่อยครั้งกว่า
********** สรุป **********
แก้ไขช่วงออกตัว ให้จี๊ดจ๊าดกว่านี้ และประหยัดน้ำมันกว่านี้ แค่นั้นเลยจริงๆ !!
นับตั้งแต่วันพฤหัสที่ 17 กุมภาพันธ์ จนถึง วันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เป็นเวลานานถึง 8 วัน 7 คืน
ที่ผมใช้ชีวิตอยู่กับเจ้า กีฬาเล่นว่าวแถวสนามหลวง ทั้ง 2 คัน (ก็ชื่อรุ่น มันแปลได้ตามนี้จริงๆนี่นา! ไม่เชื่อ
ก็ไปเปิด Dictionary กันเลยสิว่า คำว่า Pajero หนะ มันแปลว่าอะไร?)
ไม่ต่างอะไรกับการ กลับมาพบเจอเพื่อนเก่า ใช้ชีวิตด้วยกัน 1 สัปดาห์ เพื่อจะพบว่า เพื่อนเรา คนนี้ ถึงแม้
จะยังคงมีบุคลิกภาพที่ดี ยังคงดูสุขุม อบอุ่น เป็นผู้นำครอบครัวที่ดี รักการเดินทาง ดูฟุตบอลเป็น คือดูแบบ
เอาสนุก ไม่ใช่บ้าพนันบอลถึงขั้นต้องไปซื้อตั๋วนั่งดูในสนาม แล้วไปมีเรื่องชกต่อยกับเขา การงานมั่นคง
มีรสนิยมที่ดี ซื่อสัตย์ ไว้ใจได้ (แม้ว่าครอบครัวที่ให้กำเนิดเขามา อาจจะมีภาพลักษณ์ไม่ดีมาก่อนก็ตาม)
กระนั้น เพื่อนคนเดิมของผมคนนี้ มันมีนิสัย แรงขึ้น ปราดเปรียวขึ้น แต่ก็กินเยอะขึ้นกว่าเดิมสักหน่อย
จนพุงเริ่มออกนิดๆ
ครับ Pajero Sport ยังคงคุณงามความดีอันเป็นจุดเด่นของมันเอาไว้เช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็นช่วงล่าง ที่ให้การ
ซับแรงสะเทือนได้ดีที่สุดในกลุ่ม ขับสบาย ชิลๆ มีห้องโดยสารที่อเนกประสงค์ สำหรับผู้โดยสาร 7 คน
(แต่เบาะแถวหลัง แอบนั่งแค่พอได้เท่านั้น) หรือถ้าจะเป็นบทบู๊หน่อย ก็พร้อมจะลุยกับคุณได้อย่าง
มั่นใจ ถ้าคิดว่าอาไม่อยู่ หลุดแน่ๆ โครงสร้างนิรภัยของ Mitsubishi ก็ถือเป็นเรื่องที่หายห่วงไปได้ว่า
ยังไงๆ โอกาสรอดจะสูงกว่ารถยี่ห้ออื่น พวงมาลัยที่ตอบสนอง เหมาะสมกับลักษณะของรถ ไม่เบาไป
ไม่หนืดเกิน เบรกก็นุ่มนวลดี หน่วงความเร็วลงมาได้มั่นคงมาก สำหรับรถในกลุ่มนี้
และที่สำคัญก็คือ มันแรงขึ้นจริงๆ อัตราเร่งจากที่เราวัดกันมา ถือว่า ตัวเลขในนาฬิกาจับเวลา ไวกว่า
Toyota Fortuner 3.0 ลิตร ไปแล้วชัดเจน และนั่นทำให้ ตอนนี้ Pajero Sport กลายเป็น SUV บนพื้นฐาน
โครงสร้างรถกระบะ หรือ PPV ที่เร็วที่สุด แรงที่สุด ในเมืองไทย ขณะนี้ โดยเฉพาะในช่วงอัตราเร่งแซง
ที่ไม่ทำให้คุณผิดหวัง ถ้าคุณรู้จังหวะของมันสักหน่อย ว่าควรจะเร่งแซง ในช่วงความเร็วใด ถึงจะเรียก
ประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ 2.5 ลิตร VG-Turbo ออกมาใช้งานได้ครบถ้วนตามตั้งใจ
อย่างไรก็ตาม คุณจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่า เพื่อนคนนี้ มันแรงกว่า Toyota Fortuner ถ้าไม่มีนาฬิกาจับเวลา
อยู่ในมือ เพราะในช่วงออกตัว จนถึง 2,000 รอบ/นาที Pajero Sport ทั้ง 2WD และ 4WD ออกตัวเนือยๆง่วงๆ
เหมือนกับ รถรุ่นเดิมที่วางเครื่องยนต์ 2.5 ลิตร 140 แรงม้า (PS) ไม่มีผิด แทบไม่มีความแตกต่างกันเลย สิ่งที่
ลูกค้าต้องการจะเห็นจากการปรับปรุงในครั้งนี้คือ ทันทีที่เหยียบคันเร่ง จะต้องสัมผัสได้แล้วว่า เหมือนมี
พละกำลังมารออยู่แล้ว ที่คันเร่ง และแค่เพียงเหยียบ พละกำลังเหล่านั้นจะต้องไหลมาเทมา ดุจลาวาพุ่งพล่าน
ไม่ใช่ออกตัวเหมือน แรงดันน้ำบาดาล ในฤดูแล้ง ที่ภาคอีสาน แบบนั้นมันใช้ไม่ได้
สิ่งที่อยากเห็นการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังจากนี้ ก็คงจะมีแค่ การปรับปรุงช่วงออกตัว ทันทีที่เหยียบคันเร่ง
รถจะต้องมีแรงบิดมารออยู่ที่เท้าแล้ว ไม่ใช่ต้องรอให้ถึง 2,000 รอบ/นาที รถถึงจะพุ่งโผนโจนทะยาน
ไปข้างหน้า
อีกเรื่องหนึ่งซึ่งอยากจะเห็นการปรับปรุงก็คือ ทำอย่างไรให้ตัวรถ มีน้ำหนักเบากว่านี้นิดนึง และมีอัตรา
สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ดีกว่านี้ เพราะว่า แม้ Pajero Sport 4WD จะกินน้ำมันที่ระดับ 10.23 กิโลเมตร/ลิตร
ถือว่ามีตัวเลขด้อยกว่า Toyota Fortuner ซึ่งกินน้ำมัน 10.63 กิโลเมตร/ลิตร ไปไม่มากนัก แต่หากเทียบกับ
รุ่นเครื่องยนต์ 3.0 2WD ของ Fortuner 3.0 กับ Pajero Sport 2.5 2WD แล้ว จะพบว่า อัตราสิ้นเปลือง
ค่อนข้างแย่กว่า Fortuner 2WD ชัดเจนมากไป สิ่งที่เราคาดหวังคือ อย่างน้อยๆ 12 กิโลเมตร/ลิตร คือ
ตัวเลขที่เราสมควรจะได้เห็นกัน จาก SUV ร่างใหญ่อย่างนี้ เพราะถือเป็นเรื่องน่าแปลกว่า Pajero Sport
รุ่นเดิม ยังประหยัดน้ำมันกว่ารุ่นใหม่ด้วยซ้ำ และกลับกลายเป็นว่า งานนี้ คุณต้องเลือกว่า ต้องการพละกำลัง
หรือความประหยัดน้ำมันมากกว่ากัน ซึ่ง พูดกันตรงๆก็คือ ลูกค้าคนไทย อยากได้ทั้งความแรง และความ
ประหยัดมาควบคู่กันต่างหาก!
และนั่นดูจะเป็นเพียงแค่ 2 สิ่ง ที่ผมอยากจะเห็นในการปรับปรุง Pajero Sport ใหม่ ในรุ่นต่อไป
อ่านมาถึงตรงนี้ ถ้ายังเลือกไม่ถูกว่าควรจะซื้อรถยนต์ SUV ในกลุ่ม On & Off Road SUV ที่ดัดแปลงตัวถัง
และภายในห้องโดยสาร จากรถกระบะ ตัวเลือกในตลาดที่เหลืออยู่ตอนนี้ มีเหลือเพียง 2-3 รายการเท่านั้น
Toyota Fortuner เจ้าตลาด ที่ยังถือว่าขายดีที่สุด เพราะมียอดขายสะสมมากที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา
แม้ว่าจะมี จุดเด่นที่เชื่อกันมานาน คืออัตราเร่ง ที่ไหลต่เนื่องตั้งแต่ช่วงต้น รอบกลาง และช่วงปลายๆ เพราะ
แรงบิดสูงสุดพี่ท่านมาอย่างต่อเนื่องในแบบ Flat Torque และนั่นก็ทำให้ ลูกค้าที่ซื้อไป แฮปปี้กับความ
บ้าพลังของรถ เป็นอันมาก มีกำหนดจะปรับโฉมอีกที ไตรมาส 3 ปีนี้ (2011)
Ford Everest ถึงจะยังไม่เคยลองขับรุ่นใหม่ล่าสุด แต่ในเมื่อ เราเคยมีประสบการณ์กับรุ่นก่อนปรับโฉม
Minorchange ซึ่งใช้เครื่องยนต์ ช่วงล่าง เกียร์ และพวงมาลัยเหมือนกัน พวงมาลัยล้สมัยกว่าชาวบ้านจริง
อัตราเร่ง ไม่่ถึงกับดีมาก แต่รถกลับคล่องตัวอย่างประหลาดขณะมุดไปตามการจราจรติดขัดในเมือง!!
แปลกแต่จริง ตอนนี้ ปายอายุตลาดแล้วไม่น่าจะเกิน 2 ปี คงได้เห็นรถรุ่นใหม่ เปลี่ยนโฉมตาม Ranger T6
TR AllRoader เป็นกระบะดัดแปลงมาจาก Chevrolet Colorado ซึ่งผมเองก็ยังไม่รู้ว่า ทำไมเราต้องจ่ายเงิน
เป็นล้านบาท เพื่อซื้อรถรุ่นนี้ แม้ว่า ไทยรุ่งฯ จะพยายามปรับปรุงมาตรฐานของตัวเองมาอย่างไร แต่ก็
ดีขึ้นได้อย่างช้าๆ คุณภาพการประกอบในรถรุ่นก่อนๆ คือสิ่งที่ผู้บริโภคหลายคนยังเป็นห่วงอยู่ ตั้งแต่
ชิ้นงานไม่เรียบร้อย ไปจนถึงนำฝนซึมเข้ารถ แล้วหยดติ๋งๆ เหมือนกับหลังคาบ้านเก่าๆ ที่ไม่ได้ทา
Shell Flint Coat นั่นคือสิ่งที่เรายังกังขาว่ารถรุ่นใหม่ จะดีขึ้นแล้วหรือยัง อย่างไรก็ตาม ในเมื่อเรายัง
ไมได้มีโอกาสทดลองสมรรถนะ เราจึงไม่ขอออกความเห็นถึงรถที่เรายังไม่เคยได้ลองขับ จะดีกว่า
แต่ถ้าในตอนนี้ คุณคิดแล้วว่า จะเลือก Pajero Sport แน่ๆ คุณก็คงอยากรู้ว่า จะเล่นรุ่นย่อยไหนดี ถึงจุดนี้
มาดูใบราคาอย่างเป็นทางการ (ไม่นับส่วนลดที่คุณต้องไปต่อรองกับพนักงานขายตามแต่ละโชว์รูมกันเอาเอง)
จะเห็นว่า Pajero Sport มีให้คุณเลือก 4 รุ่นย่อยเหมือนเดิม ดังต่อไปนี้
4WD 2.5 VGT GT / 5AT 1,312,000 บาท
4WD 2.5 VGT GLS / 5AT 1,157,000 บาท
2WD 2.5 VGT GT / 4AT 1,142,000 บาท
2WD 2.5 VGT GLS / 4AT 987,000 บาท
ถ้าอยากได้ สีขาวประกายมุขเพิ่มเงินอีก 15,000 บาท (เพราะขั้นตอนการพ่นสีขาวมุก ต้องใช้เวลานานกว่า
สีรถปกติทั่วๆไป ไม่ใช่แค่ Mitsubishi หรอกครับ แต่เป็นเช่นเดียวกันนี้ ทุกยี่ห้อนั่นแหละ)
ถ้าระดับความแตกต่างของราคาเป็นเช่นนี้ ก่อนอื่น ต้องถามตัวเองให้ดีว่า ในชีวิตที่ผ่านมา และต่อจากนี้ไป
จะใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ บ่อยแค่ไหน ชอบเดินทางไปในถิ่นทุรกันดานบ่อยพอให้ใช้ระบบขับเคลื่อน
4 ล้อ แบบ Part Time เช่นนี้ ถึง 10 ครั้ง / ปี หรือไม่
หากคำตอบคือ ใช่ คงต้องดูรุ่น 4WD ไป และเลือกตามงบประมาณที่คุณมีอยู่ แต่ถ้าคำตอบคือ ไม่บ่อย
ขอแนะนำให้มองหารุ่น 2WD ไป อย่างไรก็ตาม แม้ว่าป้ายราคารุ่นถูกสุด จะเริ่มต้นแค่ 987,000 บาท
แต่หากมองถึงอุปกรณ์ต่างๆที่เพิ่มเข้ามาแล้ว โดนตัดออกไปพอสมควรเลยทีเดียว ดังนั้นไม่ว่าจะเลือก
ระบบขับเคลื่อนแบบใด รุ่น GT หรือรุ่นท็อป คือทางเลือกที่คุ้มค่าสุด เสมอ รองลงไปคือ รุ่นถูกสุด
2.5 2WD GLS และถ้าถ้าคิดว่าอยากประหยัดเงิน หรือคิดว่าชุดเครื่องเสียง ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ขอแนะนำ
ให้ลองฟังระบบเสียงของรุ่น GT เสียก่อน พนันได้เลยว่า คุณจะเปลี่ยนใจแน่ๆ!
แถมไว้ให้เป็นข้อมูลกันอีกนิด ใครอยากรู้ว่า ต้องเสียภาษีประจำปีเท่าใดนั้น ผมลองเปิดลิ้นชักหน้ารถแอบดูจาก
เอกสารประจำรถพบว่า รถคันทดลองขับ เสียภาษีในนามนิติบุคคล ปีแรก เสียภาษีอยู่ที่ 9,619 บาท แต่จากข้อมูล
โดยคุณผู้อ่านหลายๆท่าน ทักท้วงมา ผมก็ต้องเข้ามาแก้ไขให้ถูกต้องว่า หากจดทะเบียนในนามบุคคลธรรมดา
น่าจะถูกกว่านี้ อยู่แถวๆ 6,000 กว่าบาท ซึ่งเมื่อ เวลาผ่านไป ก็จะลดลงไปเรื่อยๆ ดังนั้น มันก็น่าจะอยู่ในวิสัย
ที่คุณคงจะพอรับได้บ้าง อย่างน้อย ก็ถูกกว่ารุ่น 3.2 ลิตรแล้วกัน (รายนั้น คุณผู้อ่านบอกว่า ปีละ 7,700 บาท)
ท้ายที่สุดนี้ เรื่องที่อยากจะฝาก คงหนีไม่พ้นเรื่องเดิมๆ นั่นคือ โชว์รูมผู้จำหน่ายและศูนย์บริการทั้งหลาย
ของ Mitsubishi Motors ที่มีถึงกว่า 138 แห่งทั่วไทย (เฉพาะในกรุงเทพ ก็มี 40 กว่าแห่ง และกำลังเพิ่มขึ้น
เรื่อยๆ) เอาเข้าจริงแล้ว ในจำนวนนี้ จะมีศูนย์บริการที่ดูแลลูกค้าดี ซ่อมเก่ง ช่างชำนาญ งานหนักเบาเราสู้
และที่สำคัญ แก้ปัญหาได้จบหมดทุกเรื่อง กันสักกี่แห่ง?
ขนาดเขียนด่าไปชุดใหญ่ ในรีวิว Lancer EX ก็ยังมิวาย มีเสียงบ่นจากลูกค้ามาให้ได้ยินเรื่อยๆเหมือนเคย
อยู่ดี อย่าให้ถึงกับต้องยกเคสมาเล่าสู่กันฟังที่นี่เลย เดี๋ยวลูกค้าเขาจะพาลถอดใจกันไปเปล่าๆ เพราะอย่างน้อย
ในคอลัมน์ “แฉให้ฟัง หลังเข้าศูนย์ฯ” ของเรา ก็ยังมีโชว์รูมและศูนย์บริการ Mitsubishi แถวศรีนครินทร์ ที่
ดีเด่นโดดเด้ง ทำคะแนนภาพรวม แซงหน้า ศูนย์บริการ Honda บางพลี มาแล้ว แสดงว่า เรายังพอมีหวัง
ฝากผีฝากไข้กับศูนย์ฯ ของ Mitsubishi กันได้อยู่บ้าง อาการยังไม่หนักหนาเท่า Ford
ดังนั้น ก็ขอฝากถึงผู้จำหน่ายทั้งหลายว่า คุณคือตัวแทนแบรนด์ Mitsubishi ทั้งแบรนด์ในสายตาลูกค้า
กรุณาทำตัวให้ดีหน่อย ไม่ใช่แต่จะเน้นยอดขาย แล้วไม่ใส่ใจชะตากรรมลูกค้าเลย อย่างที่ผ่านมา เพราะ
รถดีๆ อนาคตควรจะดี มันจะมาพังพินาศ หมดอนาคต เพราะดีลเลอร์อย่างพวกคุณหลายๆรายนี่แหละ!
ถ้ายังทำตัวกันไม่ดีอีก แล้วมีใครมาฟ้องผม คราวนี้แหละ เดี๋ยวผมจะฝากบอกผ่านไปทางท่านประธาน
ให้ปลดดีลเลอร์ แบบล้างบาง กันเลย
ดีไหม?
————————————–///————————————–
ขอขอบคุณ
คุณผกามาศ ผดุงศิลป์ (พี่แตน) คุณธิราพร ย้อยแสง (พี่จิม) และภควดี ละอองศรี (พี่มุ่ย)
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ฝ่ายการตลาด รวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
บริษัท Mitsubishi Motors (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ และการประสานงานในด้านต่างๆ อย่างดียิ่ง
—————————————
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพวาดต่างๆ เป็นของ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
27 กุมภาพันธ์ 2010
Copyright (c) 2011 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
Febuary 27th,2011
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่ี่นี่