ภาพ : พชร เอี่ยมตระกูล  และ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศญี่ปุ่น

6 พฤษถาคม 2003

ใครที่ได้ไปเดินเที่ยวในงานมิตซูบิชิ ฟัน แฟร์ เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2003 แล้วได้พบเห็นรถยนต์ขนาดเล็กทรงกล่องครึ่ง หน้าตาเรียบๆ ทั้งสีแดงและสีเงิน
ทางผู้จัดงานเปิดโอกาสให้ได้ลองขับกัน แต่ถ้าใครไม่ได้ลอง เพียงเพราะคิดไปว่า รถเล็กๆแบบนี้ เอาไว้แค่ขับจ่ายกับข้าวหน้าปากซอยก็พอแล้ว จะเซ็ตให้มีสมรรถนะดี
คงเป็นไปไม่ได้

ต้องขอบอกว่า เสียใจด้วย เพราะคุณพลาดโอกาสที่จะเรียนรู้ว่า รถคันเล็กๆ คันนี้ ไม่ได้มีไว้จ่ายกับข้าวอย่างเดียว

อีเค-สปอร์ต เปิดตัวครั้งแรกเมื่อ 2 กันยายน 2002 เป็นรถยนต์ในกลุ่ม KEI-JIDOSHA หรือ K-CAR ซึ่งกฎหมายญี่ปุ่นกำหนดให้มีขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 660 ซีซี
64 แรงม้า (PS) ถูกพัฒนาขึ้นจาก อีเค-แวกอน K-CAR รุ่นยอดนิยมของบรรดาคุณแม่บ้านและวัยรุ่นสุภาพสตรี

สาเหตุที่มิตซูบิชิต้องเพิ่มเวอร์ชันแรงของ อีเค-แวกอน ในชื่อ อีเค-สปอร์ต เนื่องจาก อีเค-แวกอน มุ่งเน้นตลาดคุณแม่บ้านและวัยรุ่นสุภาพสตรีแนวอ่อนหวานมากเกินไป จนลืม
ตลาดรถยนต์คันจิ๋วสำหรับลูกค้าที่เท้าหนักกว่าปกติ ซึ่งมิตซูบิชิไม่มีรถยนต์รุ่นใหม่ๆมาสืบต่อจากตระกูล มินิกา ดันแคน (MINICA DANCAN) มานานแล้ว ลำพังจะปล่อยให้
มินิกา ท็อปโป หรือเวอร์ชันหลังคาทรงสูงของมินิกา ทำตลาดสู้กับซูซูกิ แวกอน-อาร์ และ ไดฮัทสุ มูฟ ก็เหนื่อยหนัก

เดิมที ek แวกอนถูกพัฒนาขึ้นโดยทีมงานที่นำโดย Mr.AIKAWA TETSURO : STRATEGIC PROJECT LEADER แต่ในการปรับปรุง ek แวกอนให้กลายเป็น
ek สปอร์ตนั้นทีมออกแบบที่นำโดย Mr.IWAO MORII : PROJECT MANAGER (MINICAR) ,แผนกพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นผู้รับช่วงสานต่อโครงการนี้เอง

 

สเป็กในญี่ปุ่นเป็นอย่างไร

อีเค-สปอร์ต ใช้โครงสร้างตัวถังและงานวิศวกรรมพื้นฐานร่วมกับ อีเค-แวกอน โดยมีตัวถังที่ยาว 3,395 มิลลิเมตร กว้าง 1,475 มิลลิเมตร สูง 1,550 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ
ยาว 2,340 มิลลิเมตร แตกต่างจากอีแค-แวกอน ด้วยชุดไฟหน้าแบบ DISCHARGE ออกแบบขึ้นใหม่ ชุดกันชนพร้อมกระจังหน้าทรงสปอร์ตสไตล์โมเดิร์น และสเกิร์ตหน้า
ในตัว เสริมสเกิร์ตข้าง ที่มีสัญลักษณ์วงรี 6 วง ซ้อนเป็นตัว SSS (SIMPLE,STYLISH,SPORT) และสปอยเลอร์หลังพร้อมไฟเบรกดวงที่ 3 ด้วยเหตุที่ต้องเปลี่ยนชุด
ไฟหน้า ส่งผลให้แผ่นตัวถังเหนือซุ้มล้อหน้าต้องถูกเปลี่ยนตามไปด้วย นอกจากนี้ยังมีเสาอากาศเหนือกระจกบังลมหน้า ปรับเปลี่ยนตำแหน่งได้ 4 ทิศทาง 180 องศา ชุดกันชน
ท้ายทรงสปอร์ตแบบใหม่ และล้ออัลลอย ลายสปอร์ต 2 ลาย

 

 

 

 

ภายใน ตกแต่งด้วยโทนสีดำตัดน้ำเงิน ชุดมาตรวัดความเร็วแบบดิจิตอลพร้อมมาตรวัดรอบแบบเข็มอนาล็อก รวมอยู่ในชุดเดียวกัน ติดตั้งอยู่ตรงกลางแผงหน้าปัด เบาะนั่ง
เป็นแบบ BENCH SEAT เบาะรองนั่งของทั้งคนขับและผู้โดยสารยาวต่อเนื่องเป็นชุดเดียวกัน วัสดุหุ้มเบาะเป็นสีน้ำเงิน พร้อมปักสัญลักษณ์ SSS ส่วนรุ่น RS จะติดตั้ง
เบาะนั่งคู่หน้า RECARO แยกชิ้น จากโรงงาน และมีชุดเครื่องเสียงพร้อมเครื่องเล่น CD/MD เป็นออพชันพิเศษ

 

 

 

 

ด้วยความปลอดภัย ไม่แตกต่างจาก ek แวกอน มาครบทั้ง ถุงลมนิรภัยคู่หน้า และเข็มขัดนิรภัยลดแรงปะทะและดึงกลับอัตโนมัติ แกนพวงมาลัยและแป้นเบรกยุบตัวได้เมื่อ
เกิดการชน จุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็กมาตรฐาน ISOFIX นอกจากนี้ บริเวณโครงหลังคารอบคันยังบุวัสดุที่ลดการบาดเจ็บของผู้โดยสารเมื่อถูกแรงเหวี่ยงไปกระแทกถูกอีก
ด้วย ทั้งหมดนี้ทำให้ eK-แวกอน ผ่านมาตรฐานการทดสอบการชนแบบครึ่งหน้าของ JNCAP ที่ความเร็ว 50 กิโลเมตร/ชั่วโมงอย่างง่ายดาย เช่นเดียวกับการทดสอบการ
เปลี่ยนเลนกระทันหันตามมาตรฐานของ สมาพันธ์มาตรฐานอุตสาหกรรมยานยนต์ของเยอรมัน หรือ VDA ที่ความเร็วสูงถึง 64 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขณะที่คู่แข่งทำได้เพียงแค่
58 กิโลเมตร/ชั่วโมงเท่านั้น

——————-

 

 

รายละเอียดทางเทคนิค และผลการทดลองขับ

ek สปอร์ต แบ่งการตกแต่ง 3 ระดับ ทั้งรุ่น Z  R และ RS โดยรุ่น Z จะยืนหยัดกับเครื่องยนต์รหัส 3G83 3 สูบเรียง SOHC 12 วาล์ว 657 ซีซี จ่ายเชื้อเพลิงด้วยระบบ
ECI-MULTI 50 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 6.3 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที เชื่อมได้เฉพาะเกียร์อัตโนมัติ 3 จังหวะ ทั้งแบบ F3A11 สำหรับรุ่น
ขับเคลื่อนล้อหน้า และ W3A11 กับรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา ยกชุดมาจากเวอร์ชันคุณแม่บ้านของ อีเค-แวกอน

ส่วนรุ่น R และ RS จะใช้รหัส 3G83 เช่นเดียวกัน แต่เป็นเวอร์ชันแรงกว่า ด้วยระบบอัดอากาศ เทอร์โบ และอินเตอร์คูลเลอร์ ช่วยระบายความร้อน เพิ่มศักยภาพขึ้นชน
เพดานกฎหมายญี่ปุ่นที่ระดับ 64 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 9.5 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที เชื่อมได้เฉพาะเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ทั้งแบบ F4A12
สำหรับรุ่นขับเคลื่อนล้อหน้า และ W4A12 กับรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา

คันที่นำเข้ามาให้ทดลองขับเป็นรุ่น R เทอร์โบ อินเตอร์คูลเลอร์ ขับเคลื่อนล้อหน้า ใช้เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะรุ่น F4A12 ที่ถูกเซ็ตอัตราทดเกียร์มาดังนี้

เกียร์ 1 2.846
เกียร์ 2 1.581
เกียร์ 3 1.000
เกียร์ 4 0.685
เกียร์ถอยหลัง 2.176
เฟืองท้าย 5.514

ความรู้สึกแรกทันทีที่เริ่มออกรถ แทบไม่แตกต่างจากรถยนต์ขนาดเล็กทั่วไป บังคับง่าย คล่องตัว ทัศนวิสัยดีมาก ตามสไตล์รถทรงกล่องที่มีกระจกรอบคัน จนกระทั่งเริ่ม
ออกสู่ถนนวิภาวดีรังสิต และเริ่มลองเร่งแซงรถคันอื่น สังเกตว่าอัตราเร่งในช่วง 0-60 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะขึ้นเร็วพอๆกับรถยนต์คอมแพกต์ทั่วๆไปเลยทีเดียว

 

 

 

 

การทดลองวัดอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทดลอง 4 ครั้ง ได้ผลดังนี้

ครั้งที่ 1…19.40 วินาที
ครั้งที่ 2…19.17 วินาที
ครั้งที่ 3…19.25 วินาที
ครั้งที่ 4…19.12 วินาที

เฉลี่ย…19.23 วินาที

ความจริงแล้ว อัตราเร่งของ อีเค-สปอร์ต น่าจะทำได้ดีกว่านี้ โดยอยู่ที่ระดับ 16-17 วินาที เพราะน้ำหนักตัวของรถเบาเพียง 850 กิโลกรัม แต่ด้วยน้ำหนักตัวของผู้ร่วมทดสอบ
ทั้ง 3 คน รวม 223 กิโลกรัม รวมทั้งสภาพอากาศในขณะทดสอบนั้น เป็นช่วงบ่ายโมง ค่อนข้างร้อน อุณหภูมิอยู่ในระดับ เกิน 33 องศาเซลเซียส จึงมีผลให้ตัวเลขออกมาเป็น
อย่างที่เห็น

จากนั้นจึงทดลองหาอัตราเร่ง 80-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง และ 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทดลองอย่างละ 4 ครั้ง แยกทดลองออกจากกัน โดยทุกครั้งที่ทดลอง จะเหยียบ
คันเร่งจนสุด ให้เกียร์เปลี่ยนกลับไปอยู่ในตำแหน่ง 3 เพื่อเร่งความเร็ว ผลที่ได้ มีดังนี้

80-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง   80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ครั้งที่ 1…6.63 วินาที  และ 16.73 วินาที
ครั้งที่ 2…6.89 วินาที  และ 15.44 วินาที
ครั้งที่ 3…6.50 วินาที  และ 15.49 วินาที
ครั้งที่ 4…6.83 วินาที  และ 16.05 วินาที

เฉลี่ย…6.71 วินาที  และ 15.92 วินาที

ความเร็วสูงสุดในแต่ละเกียร์ (เกียร์จะเปลี่ยนเองเมื่อทำงานถึง 6,500 รอบ/นาที)
เกียร์ 1  41 กิโลเมตร/ชั่วโมง
เกียร์ 2  75 กิโลเมตร/ชั่วโมง
เกียร์ 3 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง

 

 

 

 

ความเร็วสูงสุดที่ เกียร์ 4 อยู่ที่ 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 5,500 รอบ/นาที โดยปิดแอร์ช่วย แต่เมื่อเปิดแอร์ รอบเครื่องยนต์จะตกลงมาเล็กน้อย อยู่ที่ระดับ 5,400
รอบ/นาที ขณะที่ความเร็วสูงสุด จะป้วนเปี้ยนแถวๆ 137-139 กิโลเมตร/ชั่วโมง และกว่าจะทำได้ถึงนั้น ค่อนข้างช้า แต่ไม่ถึงกับต้องลุ้นจนหืดขึ้นคอนัก

น่าสังเกตว่าอัตราเร่งในช่วงเกียร์ 1 และ 2 นั้น ขึ้นได้เร็วทันใจ แต่พอเข้าสู่ความเร็วตั้งแต่ 80-120 กิโลเมตร ความเร็วจะไหลขึ้นได้ช้า อีกทั้งในช่วงที่ใช้ความเร็ว
100 กิโลเมตร/ชั่วโมง รอบเครื่องยนต์ยังสูงถึงระดับ 4,000 รอบ/นาที (ดูภาพประกอบ) ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราแรงบิดสูงสุดนั้น มาถึง ณ รอบเครื่องยนต์ 3,500 รอบ/นาที
ในภาพรวม ถือได้ว่าอัตราเร่งในช่วงตีนต้น ฉับไวและทันใจ แต่ถ้าในช่วงพ้นจาก 3,000 รอบ/นาที ขึ้นไป จะขึ้นช้าลง

 

 

 

ระบบกันสะเทือนหน้าแบบแมคเฟอร์สันสตรัท หลังคานบิด 3 จุดยึด ที่ถูกปรับจูนให้รองรับกับรูปแบบการขับขี่ที่สปอร์ตขึ้น ตอบสนองได้อย่างน่าประหลาดใจ
เพราะในช่วงระหว่างเดินทาง เมื่อแล่นผ่านถนนปูน รับแรงขึ้นมาจากรอยต่อของพื้นถนนน้อยมากๆ แถมเมื่อเมื่อเจอคอสะพาน ตัวรถมีอาการโยนตัวน้อยมากๆ
ยิ่งเมื่อผสานเข้ากับระบบพวงมาลัยที่นิ่งมาก ไม่มีอาการแกว่งหรือสั่นเป็นเจ้าเข้า ยิ่งทำให้รสชาติการขับขี่สนุกมากยิ่งขึ้น

 

 

 

 

 

เคล็ดลับของการตอบสนองที่แน่นหนึบแบบนี้ หาได้ไม่ยากเย็น เพราะหากมุดเข้าไปดูบริเวณซุ้มล้อหลัง จะเห็นเสาทองเหลือง ติดตั้งในแนวฉาก ยึดอยู่บนชุดเหล็กกันโคลง
ส่วนด้านบน ยึดติดกับพื้นตัวถัง เรียกกันในชื่อ เสายึดเหล็กกันโคลง ซึ่งมีส่วนช่วยอย่างมาก ไม่ให้ตัวรถเกิดอาการโยนตัว ลดอาการท้ายแกว่งลงได้เล็กน้อย

ระบบเบรกหน้าดิสค์ แบบมีรูระบายความร้อน คู่หลังเป็นดรัม เสริมด้วยเอบีเอส 4 เซ็นเซอร์ 3 วงจร และระบบช่วยเหยียบเบรกในยามฉุกเฉิน BREAK ASSIST
ทำงานได้อย่างเหมาะสมกับสมรรถนะของตัวรถ และเพียงพอแล้วสำหรับรถยนต์ขนาดเล็กที่มีกำลังเพียงเท่านี้ ไม่จำเป็นต้องใช้ดิสก์เบรก ทั้ง 4 ล้อ แต่อย่างใด
ส่วนยางขนาด 155/55R14 อาจจะเล็กไปสักหน่อย ถ้าได้ยางหน้ากว้างกว่านี้อีกเล็กน้อย หรือเปลี่ยนมาใช้ยางขนาด 165/55R14 เช่นเดียวกับรุ่นขับ 4 ล้อ
จะทำให้ไม่ต้องลุ้นขณะสาดโค้งมากนัก

 

 

 

 

********** สรุป **********
ขับสนุกเหมือนเล่นรถบังคับวิทยุ

สิ่งที่เราเห็น ไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดเสมอไป อีเค-สปอร์ต ไม่ใช่รถยนต์คันจิ๋วทั่วๆไปที่เราเคยรู้จัก เพราะด้วยสมรรถนะที่มีอยู่ ไม่เพียงแต่ช่วยให้ขับฝ่ากระแสธารจราจร
ในชั่วโมงเร่งด่วนเพียงเท่านั้น แต่ยังให้ความคล่องตัวและความสนุกได้อย่างไม่น่าเชื่อ อัตราเร่งที่ทันใจ พวงมาลัยบังคับได้เฉียบคม แม่นยำ และไม่เบามือมาก ระบบกัน
สะเทือนตอบสนองได้ดี แน่นหนึบไม่ยวบยาบอย่างที่คิด ระบบเบรกยังไว้ใจได้ ทุกการตอบสนองนั้น เรียกได้ว่าดีเท่าที่รถยนต์ขนาดเล็กคันหนึ่งพึงจะทำได้ และเรียกได้ว่าเป็น
รถยนต์ขนาดเล็กที่ขับสนุก เหมือนเล่นรถบังคับวิทยุ

ปัญหาสำคัญของอีเค-สปอร์ต ไม่ได้อยู่ที่ตัวรถ แต่กลับไปอยู่ที่โอกาสในการทำตลาด เพราะหากมิตซูบิชิจะนำเข้ามาขายจริง ยังมีอุปสรรคสำคัญรออยู่ข้างหน้า ทั้งจากภาค
รัฐบาลที่ไม่ได้ส่งเสริมรถยนต์ขนาดเล็กอย่างจริงจัง ทำให้ค่อนข้างยากที่เราจะได้เห็นการลดภาษีนำเข้าสำเร็จรูป หรือแม้แต่ภาษีการประกอบรถยนต์นั่งอัตราที่ถูกลงเพื่อช่วย
กระตุ้นให้รถยนต์จิ๋วเหล่านี้ได้มีโอกาสเข้ามาทำตลาดในไทย ซึ่งจะช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงภายในประเทศในแต่ละปีลงได้จำนวนไม่น้อยเลย

อีกปัญหาหนึ่ง อยู่ที่กระแสสังคม ซึ่งยังมองรถยนต์ เป็นเครื่องมือวัดฐานะและแบ่งชนชั้นทางสังคม จากการตัดสินเพียงแค่รูปทรงภายนอกที่ได้พบเห็น รวมทั้งยังติดยึดค่านิยม
เก่าๆ ว่ารถยนต์คันจิ๋วเหล่านี้ มีความปลอดภัยน้อย ทั้งที่ผู้ผลิตรถยนต์ในปัจจุบันต่างพัฒนาเทคโนโลยีของรถยนต์จิ๋วเหล่านี้ ให้ใกล้เคียงกับรถยนต์นั่งระดับสูงกว่าไปแล้ว

เมื่อใดที่รัฐบาลไทย และคนไทย เปลี่ยนทัศนคติได้เมื่อไหร่ รถยนต์จิ๋วเหล่านี้ จะกลับมาเกิดในเมืองไทยได้อีกครั้งเหมือนอย่างในยุครุ่งเรืองของซูซูกิ ฟรอนเต เมื่อ 20 ปี
ที่แล้ว และไดฮัทสุ มิรา เมื่อ 12 ปีก่อน อย่างแน่นอน

 

 

 

——————-

SPECIFICATION
MITSUBISHI eK-SPORT

แบบตัวถัง
แฮตช์แบ็คทรงกล่อง 5 ประตู
เครื่องยนต์
3 สูบ SOHC12 วาล์ว อินเตอร์คูลเลอร์ เทอร์โบ
ความจุกระบอกสูบ
657 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก
65 X 66 มิลลิเมตร
อัตราส่วนการอัด
8.5 : 1
กำลังสูงสุด
64 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด
9.5 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที
ระบบส่งกำลัง
อัตโนมัติ 3 และ 4 จังหวะ
ระบบขับเคลื่อน
ล้อหน้า / 4 ล้อตลอดเวลา
ระบบบังคับเลี้ยว
แร็กแอนด์พิเนียน พร้อมเพาเวอร์
ระบบกันสะเทือนหน้า
แมคเฟอร์สันสตรัท
ระบบกันสะเทือนหลัง
คานบิด 3 จุดยึด
ระบบเบรกหน้า / หลัง
ดิสก์/ดรัม พร้อมเอบีเอส และ BREAK ASSIST

——————————————————

ขอขอบคุณ
คุณปกครอง ทองรักษ์ (อดีต) ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์
คุณสุรีย์พร คำมา และคุณ นิติ โมราวรรณ (อดีต) เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์
คุณทัศนะ สุขสุคนธ์ ครูฝึกช่าง แผนกเทคนิกและอบรม สำนักงานบริการ
บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด
และคุณพัชร เอี่ยมตระกูล

 

J!MMY

สงวนลิขสิทธิ์

เผยแพร่ครั้งแรก : 26 พฤษภาคม 2003 ใน Pantip.com ห้องรัชดา 

ปรับปรุงครั้งล่าสุด : 21 กุมภาพันธ์ 2009 สำหรับ www.headlightmag.com

——————————————————————–