นับตั้งแต่เริ่มทำบทความรีวิวรถลงใน Internet เมื่อปี 2001 จวบจนกระทั่งวันนี้ ปี 2012
อีก 1 คำถามที่ผมต้องเจออยู่บ่อยๆ พอกันกับคำถามที่ว่า เคยลองขับรถมาแล้วทั้งหมด
กี่รุ่นกี่คัน นั่นคือ….มีรถยนต์คันไหนบ้างไหม ที่ผมถึงขั้น…”ไม่อยากคืนกุญแจ”…?
เป็นคำถามที่ยากจะตอบชะมัด เพราะตามปกติแล้ว ผมมักจะไม่ค่อยรู้สึกรู้สาอะไรกับ
บรรดารถยนต์รุ่นใหม่ๆ มากเกินไปกว่า การติดต่อขอยืมนำมาทดลองขับ แล้วเขียน
เล่ากลั่นกรองเรียงร้อยมาเป็นบทความให้คุณๆได้อ่านกัน ไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องอยากได้
หรือครอบครอง ผมออกจะเป็นคนแปลกอยู่นิดหน่อย ที่ไม่ค่อยอยากได้รถยนต์รุ่นใหม่
รุ่นใดกันบ่อยๆ
เพราะต่อให้เป็นคนบ้ารถมากขนาดไหน แต่ในชีวิตประจำวัน ผมมองรถยนต์ เป็น
เหมือนวัตถุ ที่เราใช้งานเพื่อการขนส่งทั้งคน สัตว์ สิ่งของ ไปยังจุดหมายที่ต้องการ
เป็นวัตถุที่มนุษย์สร้างข้น เพื่อตอบสนองความต้องการในด้านต่างๆ ตามแต่ว่าจะ
จินตนาการ หรือสรรหามาเติมแต่งบรรจงสร้าง ในรูปแบบใด
ต่อให้แบรนด์จะหรู เริด อลังการ ดาวล้านดวง ขนาดไหน ผมก็ไม่สนใจ เพราะภาพ
เหล่านี้ เป็นสิ่งที่นักการตลาด พยายามยัดเยียดใส่ลงไปในตัวรถ และการจดจำของ
ผู้คน เพื่อหวังผลด้านยอดขาย และรายได้กับผลกำไรที่จะตามมา
แต่มันก็มีอยู่บ้างละ ที่บางครั้ง รถยนต์บางคัน จะทำให้ผม ประทับใจได้มากมาย
เกินกว่ารถยนต์ทั่วๆไป จนถึงขั้นเกิดอาการไม่อยากคืนกุญแจ และมีบางครั้ง ผม
ถึงกับต้องเขียนกันลงไปในบทความเลยทีเดียว คุณผู้อ่านหลายๆคน ก็เริ่มอยากรู้
ขึ้นมาบ้างว่า มีรถคันไหนบ้าง ที่คุณ J!MMY ไม่อยากคืนกุญแจ? มันดูราวกับเป็น
การการันตีไปในตัว ว่ารถรุ่นนั้น มันต้องมีอะไรดีสักอย่าง ที่ทำให้คนอย่างผม ซึ่ง
ไม่ค่อยอยากได้อยากมีอะไรกับใครเขาเท่าไหร่ ถึงขั้นประทับใจ มากกว่าปกติ
ในแต่ละปี มักจะมีรถยนต์ประเภทดาวรุ่งประเภทนี้ หลุดเข้ามาให้ผมได้รู้สึก มากจน
อยากจดจำแบบนี้ ไม่กี่คันนักหรอกครับ
ยิ่งถ้ารถคันนั้น เป็นผลผลิตของ บริษัทรถยนต์ตราดาว Mercedes-Benz ด้วยแล้ว
แทบจะนับได้เลยละ ว่ามีอยู่เพียงคันเดียว นั่นคือ Mercedes-Benz ML280 CDI
Generation ที่ 2 ซึ่งเพิ่งจะตกรุ่นไปหมาดๆ นั่นละ คือ SUV ที่ทำให้ผมยอมรับ
ในคุณภาพ และมาตรฐานการทำรถยนต์ของ Mercedes-Benz ยุคหลังปี 2000
ที่เต็มไปด้วยระบบสายไฟระโยงระยางมากมายก่ายกองเกินกว่าที่ช่างข้างถนน
จะซ่อมแซมได้เอง อีกครั้ง
แต่วันนี้ ผมกำลังคิดว่า ความรู้สึกไม่อยากคืนกุญแจ มันเกิดขึ้นแล้ว อีกครั้ง กับ
รถยนต์ค่ายตราดาว!
ครั้งแรกที่เห็นรูปโฉมของ C-Class Coupe ลงบนเว็บไซต์ Headlightmag.com ของเรา
ในช่วงเช้าวันหนึ่ง ผมจำได้ดีเลยว่า นั่งพิมพ์ความเห็นพูดคุยกับน้องๆ The Coup Team
ไปว่า “มันช่างดูเหมือน Honda Accord Coupe รุ่นปัจจุบันเสียเหลือเกิน ราวกับโขลก
ออกมาบล็อกแม่พิมพ์บั้นท้ายเดียวกันเป๊ะ” แต่ก็ยอมรับนะ ว่า สวยและลงตัวใช้ได้
วันเวลาผ่านไป สื่อมวลชนสายรถยนต์ในต่างประเทศ เริ่มทะยอยกันนำรถยนต์ Coupe
2 ประตู รุ่นล่าสุดนี้ไปลองขับ บทความจากโลกฝั่งตะวันตก เริ่มเผยแพร่กันออกมา เสียง
ตอบรับส่วนใหญ่ กลับแตกต่างไปจากรีวิวของ Mercedes-Benz รุ่นอื่นๆ ในช่วง 5 ปีมานี้
จนต้องจับตามองกันเลยทีเดียว!
แหงละสิ ก็พวกเขาต่างเขียนกันถึงขั้นว่า “รถคันนี้ ขับดี แถมยังขับสนุกยิ่งกว่า C-Class
รุ่นมาตรฐาน และ Mercedes-Benz คันไหนๆ ที่พวกเขาเคยเจอมา” ยิ่งถ้าเป็นรุ่นแรงสุด
C63 AMG Black Edition ด้วยแล้ว สื่อฝรั่งหลายสำนักถึงขั้นออกปากชมเลยว่า ถ้าให้ต้อง
เลือกเจ้าหมอนี่ กับ BMW M3 ใหม่ พวกเขาพร้อมใจจะตรงรี่เข้าไปหากุญแจ ของ เจ้า
Mercedes-Benz คันนี้ และรีบพุ่งเข้าไปนั่งหลังพวงมาลัย เพื่อพามันกลับบ้าน!
เฮ้ย! มันจะเจ๋งได้ถึงขนาดนั้นกันเลยเชียวเหรอ?
เป็นไปได้หรือ ที่ Mercedes-Benz จะทำรถที่ขับสนุกไม่แพ้ BMW หรือบางที
อาจจะเหนือกว่าในบางด้านด้วยซ้ำ!? ทั้งที่สร้างจากพื้นฐานเดียวกับ E-Class Coupe
รถที่เราเคยเจอประสบการณ์ไม่ค่อยสู้ดีนักมา…เนี่ยนะ?
ในโลกที่ทุกอย่าง ล้วนแล้วแต่เป็นไปได้นั้น..มันได้เกิดขึ้นแล้วครับ!
แล้ว C-Class Coupe ใหม่ ทำให้ผม กับสื่อมวลชนต่างประเทศ รู้สึกได้ถึงขนาดนั้นเลย
เชียวเหรอ? อะไรที่ทำให้ทุกสิ่ง มันแปรเปลี่ยนไปได้มากขนาดนี้
เรามาหาคำตอบกันครับ!
นับตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกในปี 1992 (หรืออันที่จริง จะเหมารวมตั้งแต่ ตระกูล 190E ในปี 1982 ไปด้วย
ก็ย่อมได้นะ) ไม่มีใครปฏิเสธได้ลงหรอกครับว่า C-Class คือรถยนต์ Mercedes-Benz ที่มียอดขาย
สะสมมากที่สุดทั่วโลก มันมากเสียยิ่งกว่า พี่ชายคนกลางอย่างตระกูล E-Class ซึ่งถือว่าเป็นรถยนต์
รุ่นคู่บุญบารมีของค่ายเสียด้วยซ้ำ ทุกเจเนอเรชันที่เปิดตัวออกมา ตั้งแต่รุ่น W202 เมื่อเดือนพฤษภาคม
1993 เจเนอเรชันที่ 2 รุ่น ตาถั่ว ในเดือนมีนาคม 2000 และล่าสุด เจเนอเรชันที่ 3 รหัส W204 ที่เปิดตัว
ในตลาดโลก มาตั้งแต่ วันที่ 18 มกราคม 2007 ล้วนแล้วแต่ได้รับความนิยมอย่างสูงทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น
ตัวถัง Saloon หรือ Sedan 4 ประตู และ Station Wagon (หรือ Estate 5 ประตู)
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่สำคัญก็คือ ยอดขายของ รถยนต์ในกลุ่ม Premium Compact Coupe 2 ประตู นั้น
ยังดูเหมือนจะไม่ค่อยได้รับการเหลียวแลเท่าที่ควร เพราะในอดีต Mercedes-Benz มองไว้ว่า ลูกค้าน่าจะ
สนใจ รถสปอร์ตเปิดประทุนขนาดเล็ก หรือไม่ก็เป็นรถยนต์ Coupe ขนาดกลาง ระดับ E-Class Coupe
ไปเลยมากกว่า ยอดขายรถยนต์ในกลุ่มนี้จึงยังไม่เติบโตเท่าที่ควร
จนกระทั่ง ทศวรรษ 1990 เมื่อตลาดเริ่มให้ความสำคัญ และพากันเรียกร้องรถยนต์ Coupe 2 ประตูคันเล็ก
ราคากำลังดี BMW ซึ่งเริ่มทำ 3-Series ด้วยตัวถัง Coupe 2 ประตู มาตั้งแต่แรก ก็เก็บเกี่ยวยอดขายไปได้
เยอะมาก ขณะเดียวกัน ยอดขายรถยนต์ Coupe 2 ประตู ขนาด E-Class ก็เริ่มลดลงเรื่อยๆ
Daimler-Benz (ในสมัยที่ยังไม่รวมกิจการเป็น DaimlerChrysler เมื่อปี 1998 แล้วมาแยกทางเมื่อ 2-3 ปี
มานี้) จึงตัดสินใจ ยุบ E-Class Coupe ทิ้งไป (ก่อนจะเอากลับมาทำขายใหม่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา) แล้วสร้าง
รถยนต์ Coupe 2 ประตู คันใหม่ บนพื้นฐานโครงสร้างวิศวกรรมของ C-Class แต่แยกเป็นรุ่นใหม่ออกมา
วางตำแหน่งทางการตลาดให้ก้ำกึ่งกัน คือ แยกออกมาเดี่ยวๆ บนพื้นฐานโครงสร้างวิศวกรรมของ C-Class
แล้ววางตำแหน่งการตลาดไว้ ให้คั่นกลางระหว่าง C-Class และ E-Class ใช้ชื่อว่า CLK เพื่อหวังจะจับกลุ่ม
ลูกค้าที่คิดจะซื้อ BMW 3-Series แบบ Coupe และ Cabriolet รวมทั้ง เพื่อให้ลูกค้าที่อยากได้ E-Class
ตัวถัง Coupe ยังคงไม่หนีไปซื้อรถยี่ห้ออื่น โดยนำเส้นสายภายนอก ของ E-Class W210 New Eyes
มาใช้กับรถยนต์รุ่นนี้ CLK เผยโฉมครั้งแรกในงาน Geneva Motor Show เดือนมีนาคม 1996 และ เริ่มขาย
กันจริงจัง ในเดือนสิงหาคม 1996 ตลอดอายุตลาดจนถึงปี 2002 CLK รุ่นแรก ทำยอดขายสะสมทั่วโลกได้
มากถึง 230,000 คันครองส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ Premium Compact Coupe ได้มากถึง 35 เปอร์เซนต์
ในช่วงนั้น และถือเป็นรถยนต์ Coupe ที่ขายได้มากที่สุด เท่าที่พวกเขาเคยทำมาก่อนหน้านี้ และเมื่อพวกเขา
ตัดสินใจสร้าง CLK รุ่นที่ 2 รหัสรุ่น C209 ออกสู่สายตาชาวโลกครั้งแรก เมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2002 ยอดขาย
ก็ยิ่งพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ
ในระหว่างนั้น DaimlerChrylser เอง ก็ตัดสินใจ สร้าง C-Class ตัวถัง Hatchback 3 ประตูขึ้นมา เพื่อหวัง
เจาะตลาดหนุ่มสาวยุคใหม่ อันเป็นกลุ่มลูกค้าเดียวกับที่ BMW 1-Series หมายปองเอาไว้ นำออกขาย
ในปี 2001 และมียอดขายสะสมมากเกินคาด ถึง 320,000 คัน (จนถึงวันหมดอายุทำตลาด)
เมื่อเวลาผ่านไป ปัญหาสำคัญ ก็เริ่มโผล่ขึ้นมาให้เราได้เห็น ในความเป็นจริง ลูกค้าส่วนใหญ่ที่ซื้อ C-Class
Coupe รุ่นเดิม อันเป็นตัวถัง Hatchback ท้ายตัด คือกลุ่มผู้หญิง ขณะที่ลูกค้ากลุ่มผู้ชายเอง ก็ยังอยากได้บุคลิก
แบบรถสปอร์ต ปราดเปรียว จาก รถยนต์ Coupe 2 ประตูขนาดเล็ก มากกว่านี้ พวกเขามองและคาดหวังจะเห็น
Mercedes-Benz ผลิต รถยนต์ Coupe 2 ประตู ที่สามารถท้าชนกับ BMW 3-Series Coupe ได้ดีกว่านี้
อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือความสับสนของสาธารณชน อย่าว่าแต่ลูกค้าเลยครับ พนักงานขายของบรรดา
ผู้จำหน่ายทั่วโลกเอง ก็ยังจดจำชื่อรุ่นอันแสนจะสับสนอลหม่านของบรรดารถยนต์ 2 ประตูจากค่ายตราดาวกัน
แทบไม่หวาดไหว จะไม่ให้งงได้ยังไงละครับ CL = S-Class Coupe รุ่นใหญ่ มี CLS เป็น Coupe 4 ประตู
ส่วน CLC ก็เป็น C-Class Coupe บั้นท้าย Hatchback แถมยังมี CLK Coupe / Cabriolet รุ่นขายดี อีก
เยอะไปหน่อยไหม?
ดังนั้น แทนที่จะพัฒนา CLK รุ่นต่อไป คราวนี้ Daimler AG จึงตัดสินใจ ยุติบทบาท CLK แล้วเริ่มลงมือ
สร้างตัวถัง Coupe ให้กับทั้ง C-Class และ E-Class เอาไปเลย ตระกูลละ 1 รุ่น โดยทั้งคู่จะใช้พื้นตัวถัง
(แพล็ตฟอร์ม) ร่วมกันกับ C-Class W204 ในปัจจุบัน และเพื่อลดความสับสน โดยในระหว่างรอให้ทั้ง
2 รุ่น เตรียมการผลิตขายกันเสร็จนั้น Mercedes-Benz ก็จัดการ ปรับโฉม Mimorchange ครั้งใหญ่ ให้
กับ C-Class Coupe และใช้ชื่อว่า CLC-Class ออกขายในเดือนมกราคม 2008 ไปพลางๆก่อน
งานออกแบบ C-Class Coupe น่าจะเสร็จสิ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2008 เพราะจากหลักฐานที่สืบค้นได้
ในอินเตอร์เน็ต ระบุว่า สำนักงานลิขสิทธิ์ และเครื่องหมายการค้า เยอรมัน German Patent and Trade Mark
Office (DPMA)ได้ขึ้นทะเบียนรับรองสิทธิบัตรงานออกแบบ ของ C-Class Coupe ไว้อย่างเป็นทางการ เมื่อ
วันที่ 23 ตุลาคม 2008 อันเป็นช่วงเวลาหลังการออกสู่ตลาดของ CLC-Class เพียงแค่ 9 เดือน เท่านั้น
C-Class Coupe ทุกคัน จะถูกขึ้นสายการผลิตที่โรงงานของ Mercedes-Benz ใน Bremen เยอรมันี
ถือเป็นครั้งแรกของ กลุ่ม Daimler AG ที่มีการผลิตรถยนต์มากถึง 4 รุ่น บนสายพานการผลิตเดียวกันทั้ง
C-Class Saloon Estate Coupe และ Compact SUV รุ่น GLK ซึ่งต้องอาศัยระบบการจัดการและ
การขนส่งชิ้นส่วนอะไหล่จากผู้ผลิต มาถึงโรงงาน อย่างมีประสิทธิภาพมาก เพื่อรองรับความต้องการของ
ลูกค้าจากทั่วโลก ที่แตกต่างกัน ทั้ง สี แบบตัวถัง ขนาด อุปกรณ์ตกแต่งในแต่ละคัน
หลังตกเป็นเป้าสายตาของเหล่าบรรดาช่างภาพ Spyshots มานานเกือบ 1 ปี Daimler AG ก็พร้อม
เผยภาพถ่ายอย่างเป็นทางการของ C-Class Coupe ใหม่ เป็นครั้งแรก เมื่อวัน Valentine ปี 2011
(14 กุมภาพันธ์ 2011) แล้วจึงนำฝูงรถคันจริง ไปจัดงาน เปิดผ้าคลุมสู่สายตาชาวโลกเป็นครั้งแรก
ณ งาน Geneva Auto Salon เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2012
การเปิดตัวออกสู่ตลาด เพื่อขายจริง เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในเยอรมัน และยุโรป โดย มีการเปิดรับจองตั้งแต่
วันที่ 26 มีนาคม 2011 ด้วยราคาเริ่มต้น 33,290.25 ยูโร (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มของเยอรมันี 19%)
ในรุ่นถูกสุด C 180 BlueEFFICIENCY Coupe ส่วนรุ่น C250 BlueEFFICIENCY Coupe
ที่มีสเป็กใกล้เคียงกับบ้านเรามากที่สุด มีราคาพื้นฐานเริ่มต้น 41,174.00 ยูโร การส่งมอบรถยนต์ถึงมือ
ลูกค้าชาวยุโรป เริ่มต้นขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน 2011 จากนั้นจึงมีการเปิดตัวเข้าสู่ตลาดสหรัฐอเมริกา
ในเดือนกันยายน 2011
ส่วนตลาดเมืองไทย Mercedes-Benz Thailand ออกข่าวการเปิดตัว C-Class Coupe ในบ้านเรา
เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2011 ซึ่งถือว่า ทำเวลาได้รวดเร็วมากๆ เพราะมีการเปิดตัวก่อนตลาด
สหรัฐอเมริกา และตลาดอื่นๆในภูมิภาคเอเซีย กันเลยทีเดียว
ในช่วงแรกที่เปิดตัว MBTh สั่งเข้ามาเฉพาะรุ่นตกแต่งพิเศษ อัดออพชันมาค่อนข้างเยอะ ในชื่อรุ่นว่า
Mercedes-Benz C 250 BlueEFFICIENCY Coupe Edition 1 (ชื่อจะยาวกันไปไหน? ตั้งราคาไว้
สูงถึง 4,269,000 บาท ซึ่งอีกนิดเดียว ก็จะใกล้กับราคาของ E250 CGI BlueEFFICIENCY Coupe
กันแล้ว
แต่เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2011 หรืออีก 1 เดือนถัดมา Mercedes-Benz Thailand ประกาศยุทธการ
อัดกลับผู้นำเข้าอิสระรายย่อย ด้วยกลยุทธ์ทุกรูปแบบเท่าที่พอจะทำได้ ทำให้ราคาของรถรุ่นนี้ ถูกหั่นลงมา
เหลือ 4,099,000 บาท ส่วนใครที่อยากได้ ชุดแต่งและอุปกรณ์ AMG Package แต่ไม่จำเป็นต้องใช้
เครื่องยนต์แรงมากนัก ก็ยังมี C180 Coupe AMG Package ให้สั่งจองในราคาเริ่มต้นเพียง
3,299,000 บาท เท่านั้น
ความจริงข้อหนึ่งที่อยากให้ทราบกันไว้ก็คือ C-Class Coupe ถูกสร้างขึ้นบนพื้นตัวถัง และงาน
วิศวกรรมร่วมกับ C-Class W204 และ E-Class Coupe รุ่นล่าสุด นั่นหมายความว่า แท้จริงแล้ว
C-Class Coupe ถือเป็นเวอร์ชัน เปลี่ยนเปลือก เปลี่ยนกระดอง ของ E-Class Coupe ที่มาในแนว
กระชับ และเน้นบุคลิกขับสนุกกว่า E-Class Coupe นั่นเอง
C-Class Coupe มีความยาวตัวรถตลอดทั้งคัน 4,590 มิลลิเมตร กว้าง 1,770 มิลลิเมตร สูง 1,406
มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,760 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหน้า (Front Track) อยู่ที่ 1,549
มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหลัง (Rear Track) 1,552 มิลลิเมตร
เมื่อเปรียบเทียบกับตัวถัง Saloon หรือ Sedan 4 ประตู ซึ่งมีความยาว 4,581 มิลลิเมตร กว้าง 1,770
มิลลิเมตร (ไม่รวมกระจกมองข้าง ถ้ารวม ก็จะกว้างเป็น 2,020 มิลลิเมตร) สูง 1,447 มิลลิเมตร และ
ระยะฐานล้อยาว 2,760 มิลลิเมตร แล้ว จะพบว่า รุ่น Coupe จะยาวกว่า Saloon 8 มิลลิเมตร และ
เตี้ยกว่ารุ่น Saloon ราวๆ 50 มิลลิเมตร ขณะที่ความกว้าง และระยะฐานล้อ จะเท่ากันทั้ง 2 ตัวถัง
แม้จะดูเหมือนว่าภายนอก คล้ายคลึงกัน แต่หากพิจารณาดูดีๆ จะเห็นชัดเจนว่า ชิ้นส่นวตัวถังที่ยัง
สามารถใช้ร่วมกันได้ระหว่างตัวถัง Saloon Estate และ Coupe นั้น มีเพียงแค่ ฝากระโปรงหน้า กับ
โป่งซุ้มล้อคู่หน้า รวมท้งชุดเปือกกันชนหน้า และ โครงสร้างห้องเครื่องยนต์ เท่านั้น ที่เหลือ ไม่อาจ
ใช้ร่วมกันได้ ตั้งแต่เสาหลังคาคู่หน้า จรดบั้นท้ายของตัวรถ
ด้วยการออกแบบอย่างจงใจ ทำให้ C-Class Coupe ใหม่ ลู่ลมตามหลักอากาศพลศาสตร์ โดยมีค่า
สัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศต่ำมากๆ เพียง Cd 0.26 อีกทั้งยังต้านกระแสลมปะทะด้านข้าง
ได้ดีกว่ารถยนต์ขนาดเล็กทั่วไปคันอื่นๆในขนาดตัวถังระดับเดียวกัน Cd x A = 0.55 m2
ครั้งแรกที่ผมเห็นเส้นสายตัวถังของ C-Class Coupe ใหม่ ผมโพล่งออกมาอย่างไม่คิดมากเลยว่า
หน้าตาของมัน เหมือน Honda Accord Coupe รุ่นปี 2007 – 2012 มากๆ แต่ดูเหมือนว่า ผมคงจะ
ไม่ใช่คนเดียวที่คิดอย่างนี้แน่ๆ เพราะแม้แต่ กองบรรณาธิการนิตยสาร Car and Driver ของสหรัฐฯ
เองก็คิดเห็นเช่นเดียวกัน
ก็แหงละ ดูแนวเส้นเสาหลังคาหลัง C-pillar สิครับ เหมือนไหมละ? โอเค อาจจะบอกว่า C-Class
ทำออกมาได้สวยกว่า กระนั้น มันยังมีความคล้ายคลึงใกล้เคียงกันมากอยู่ดี ขณะเดียวกัน ก็ไม่อาจ
ปฏิเสธได้ว่า การที่นักออกแบบ ตวัดปลายปากกาให้เสาหลังคา C-Pillar ออกมาในลักษณะนี้ ช่วย
แยกความแตกต่างของ C-Class Coupe ออกจากรถคันอื่นที่แล่นไปพร้อมๆกัน ตามท้องถนนได้ดี
เพียงแต่ว่า สิ่งที่ทำให้ผมยอมรับในเส้นสายของรถคันนี้ได้อย่างหน้าชื่นตาบานก็คือ เมื่อนำเส้นสาย
แนวเหลี่ยมสัน มาผสานไว้กับพื้นที่ครึ่งคันหน้าของ C-Class Face-lifted ผลลัพธ์ที่ได้ กลับออกมา
อย่างลงตัว โดยไม่ต้องแก้ไขอะไรทั้งสิ้น ปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปหนะดีแล้ว สวยหมดจด สวนจนจบ
ครบถ้วนกระบวนความ สวยเรียบๆ แต่เฉียบขาด อาจไม่หวือหวาและน่าหลงไหลสำหรับใครหลายๆ คน
เท่า E-Class Coupe แต่ ด้วยความลงตัวแบบนี้แหละ เส้นสายเรียบง่าย แต่เฉียบคมของ C-Class
Coupe จะไม่เบื่อตาง่ายๆ อยู่ได้อีกนานโดยดูไม่เก่า ไม่ล้าสมัยง่าย คอยดูกันไปว่าคำพูดผมจะจริงไหม?
C-Class Coupe รุ่นที่ Mercedes-Benz Thailand นำเข้าสำเร็จรูปทั้งคัน จากโรงงาน Bremen
ประเทศเยอรมันี มาจำหน่ายในบ้านเรา มีชื่อเรียกเต็มยศว่า Mercedes-Benz C250 BlueEFFICIENCY
Coupe Edition1 ซึ่งจะมีการตกแต่งด้วยอุปกรณ์พิเศษ สำเร็จรูปมาจากโรงงาน ไม่ว่าจะเป็น ชุดแต่ง Aero
Part รอบคันจาก AMG bodystyling ทั้งกันชนหน้า-หลัง และสเกิร์ตข้างล้ออัลลอย AMG ลาย 7 ก้าน
ขนาด 18 นิ้ว สวมใส่ยางคู่หน้า ขนาด 225/40 R18 และยางคู่หลัง ขนาด 255/35 R18 ถ้ามองเข้าไป
จะเห็น จานเบรกคู่หน้า มีสัญลักษณ์ Mercedes Benz บนชุดคาลิเปอร์ พร้อมช่วงล่างแบบ Sport ที่ถูก
ปรับแต่งเป็นพิเศษ ให้ต่ำลงกว่ามาตรฐาน 15 มิลลิเมตร และ ปลายท่อไอเสียแบบ Stanless ปัดเงา
การเข้าออกจากตัวรถ ใช้กุญแจรีโมทคอนโทรล KEYLESS GO พร้อมระบบกันขโมย Immobilizer
พกกุญแจไว้กับตัว แล้วเดินไปดึงมือจับเพื่อเปิดประตูได้ทันที หรือถ้าปิดประตู ก็ใช้นิ้วแตะบนมือจับ
ประตูจะล็อกให้เองโดยอัตโนมัติ ส่วนการติดเครื่องยนต์ เชื่อว่าน่าจะมีแถม แป้นวงกลม แปะลงไป
บนสวิชต์ติดเครื่องยนต์ ที่คอพวงมาลัยฝั่งขวามือ แต่ถ้าไม่มีมาให้ ก็ใส้กุญแจรีโมทนี่ละครับ เสียบ
เข้าไปในรู แล้วบิดเพื่อติดเครื่องยนต์ตามปกติ
บานประตูคู่หน้า เปิดกางออกได้ ไม่เท่ากับ CLC-Class แต่ก็ถือว่ากว้างพอแล้ว ในการใช้งานจริง
ช่องทางเข้า-ออก มีขนาดไล่เลี่ยกับ CLC-Class อยู่นิดหน่อย ต้องสังเกต หรือเอาสายวัดมาทาบ
จึงจะรู้ว่า ต่างกันนิดเดียวจริงๆ การเข้า-ออก ทำได้สบาย ตามสไตล์รถยนต์ Coupe 2 ประตู
แผงประตู ยังคงออกแบบให้มีช่องใส่ของ และพื้นที่วางแขน คล้ายกับรุ่น Saloon และ Estate
เพียงแต่จะมีความยาวเพิ่มขึ้นมา ตามความยาวของบานประตูคู่หน้า เท่ากับว่า การวางแขน
บนแผงประตูคู่หน้า ก็ยังคงความสบายได้ไม่แพ้ C-Class W204 คันอื่นๆ
เบาะนั่งออกแบบมาให้เน้นบุคลิกสปอร์ต ทุกตำแหน่งจะหุ้มด้วยหนัง ARTICO สีดำ ตกแต่งด้วย
ตะเข็บสี Porcelain (ซึ่งจริงๆแล้ว มันก็คือ หนังเทียม นั่นละครับ แต่ถ้ามองในแง่ความทนทาน
หลังผ่านการใช้งานแล้วหลายปี หนังเทียมแบบนี้ จะทนสภาพอากาศร้อนและการใช้งานหนัก
ของคนไทยได้ดีกว่า หนังแท้)
เบาะนั่งคู่หน้า ยกชุดมาจาก E-Class Coupe ทั้งดุ้น! ชนิด “สำเนาถูกต้อง” ปรับระดับได้ด้วยสวิชต์
ไฟฟ้า บนแผงประตูทั้ง 2 ฝั่ง เอกลักษณ์ที่หาไม่ได้ในรถยนต์ยี่ห้ออื่น แถมคราวนี้ ยังมีสวิชต์ปรับ
ตำแหน่งตัวดันหลังมาให้ จะเลือกปรับสูง-ต่ำ หรือดันมากดันน้อย ก็ทำได้ อีกทั้งมีสวิชต์ Memory
จำตำแหน่งเบาะคู่หน้าร่วมกับตำแหน่งพวงมาลัยปรับระดับสูง – ต่ำ และ ใกล้ -ไกล ด้วยไฟฟ้า กับ
ตำแหน่งกระจกมองข้าง ร่วมกัน ได้อีก 3 ตำแหน่ง มีให้ครบทั้งเบาะคนขับและผู้โดยสาร! แต่แค่
ไม่มีระบบ Multi-Contour เหมือนใน E-Class Coupe เท่านั้น
ตำแหน่งเบาะนั่ง ถือว่าทำได้ดี นั่งสบาย และถูกสรีรศาสตร์ อาจจะมีพนักศีรษะที่ดันหัวผมอยู่บ้าง
เล็กน้อย แต่ยังอยู่ในเกณฑ์เดียวกันกับบรรดารถยุโรปส่วนใหญ่ ทั้ง Volvo ตำแหน่งวางแขนยัง
ทำได้ดีเหมือนเช่นเดียวกับรุ่น Saloon กับ Estate ทั้งบนแผงประตู และบน ฝาปิดกล่องคอนโซล
ที่คั่นกลางระหว่างผู้ขับขี่และผู้โดยสาร แต่ถ้านั่งนานๆ แอบมีเมื่อยนิดๆ กระนั้น ก็ไม่มากนัก
เพราะจะคาดหวังให้เบาะนั่งของ Mercedes-Benz มีฟองน้ำหนานุ่มเหมือน Pizza ขอบชีส
หรือสบายเท่าโซฟาที่บ้าน คงต้องหันไปหา S-Class CL-Class และ M-Class ใหม่ เท่านั้น!
พื้นที่เหนือศีรษะ ใกล้เคียงกับ C-Class Saloon และ Estate เพียงแต่ ระยะห่างของ แผงบังแดด
กับใบหน้าของคุณ จะถูกลดลงมาให้อยู่ใกล้กันมากขึ้น จากการออกแบบกระจกบังลมหน้าให้ลาดเอียง
กว่าทั้ง 2 ตัวถัง นิดหน่อย บางคน อาจรู้สึกอีดอัดทางสายตา แต่ผมมองว่า มันยังดีกว่า CLC-Class
บั้นท้าย Hatchback 3 ประตู รุ่นนั้น ก็แล้วกัน!
แต่สิ่งที่ผมออกจะแอบเสียดายเล็กๆ ก็คือ C-Class Coupe คันนี้ ไม่มีแขนยื่นเข็มขัดนิรภัยมาให้
อย่างที่ Mercedes-Benz Coupe 2 ประตูรุ่นอื่นๆ เขามีกัน เมื่อก่อน ผมก็สงสัยแหละครับ ว่าเขาจะ
ติดตั้งแขนยื่นเข็มขัดฯ มาให้ทำไมให้เกะกะ พอวันนี้ ผมว่าผมเพิ่งจะเริ่มเข้าใจแล้วละ ว่า การหัน
เอี้ยวตัว แล้วใช้มือซ้าย ดึงเข็มขัดนิรภัยมาคาดนั้น มันช่างยากเย็นเอาเรื่องเลยแหะ! ถ้ามีมาให้
ก็คงจะสะดวกกว่านี้
ส่วนเข็มขัดนิรภัยนั้น เป็นแบบลดแรงปะทะ และดึงกลับอัตโนมัติ Pre-tensioner & Load Limiter
ทำงานร่วมกับระบบ PRE-SAFE ทั้ง 4 ที่นั่ง ทั้งเบาะหน้า และเบาะหลัง แต่ไม่มีสวิชต์ปรับตำแหน่ง
เข็มขัดมาให้ นั่นหมายความว่า คุณต้องปรับเบาะนั่งให้พอดีกับสรีระของคุณเอง เฉกเช่นเดียวกับ
Mercedes-Benz รุ่นอื่นๆ
การเข้าออกห้องโดยสารด้านหลังนั้น ทำได้สะดวกขึ้น เพราะชุดฐานเบาะคู่หน้า ติดตั้งระบบเลื่อน
เบาะขึ้นมาข้างหน้า ด้วยกลไกไฟฟ้า ที่เรียกว่า EASY-ENTRY ระบบนี้ ถูกติดตั้งมาเป็นอุปกรณ์
มาตรฐาน สำหรับ C-Class Coupe ทุกคัน ยกชุดมาจาก E-Class Coupe ด้วยนั่นแหละ!
แค่ดึงมือจับโลหะสีเงินบริเวณด้านข้างพนักพิงเบาะคู่หน้า ทั้งฝั่งซ้าย และขวา เบาะจะเลื่อนขึ้นไป
ข้างหน้าได้ด้วยไฟฟ้า เพื่อเปิดทางให้ผู้โดยสารมุดเข้าไปนั่งบนเบาะหลัง ด้วยมาดไฮโซยิ่งขึ้น!
ข้อดีของระบบนี้ก็คือ มันดูเท่มาก ทำให้รถของคุณ ดูคล้ายกับรถยนต์ต้นแบบ ยุค 1990 – 2000
มันจะช่วยให้คุณมีเรื่องคุยอวดเพื่อนฝูงในวงเหล้าได้ดี ทว่า ปัญหาของมันก็คือ ถ้าคุณจำเป็นต้อง
วิ่งหนีใครก็ตาม ที่คิดจะมายืม หรือมาทวงเงินจากคุณ กว่าจะรอให้เบาะคู่หน้า เลื่อนขึ้นมาจนสุด
เจ้าหนี้ก็น่าจะวิ่งไล่ตามคุณมาทันถือปืนขึ้นเล็งยิงแน่ๆ ถ้าจะใช้ระบบอัตโนมือ ลากเบาะให้มัน
เลื่อนเร็วขึ้น ก็ทำไม่ได้อีก มันเป็นระบบที่ใช้งานจริง อืดอาดมาก ให้หอยทากเดินแข่งกับเบาะ
ยังจะเร็วเสียกว่า!
เบาะหลังถูกออกแบบมาให้นั่งได้เพียง 2 คน เหมือนเช่นทั้งใน BMW 3-Series กับ Audi A5
อันเป็นคู่แข่งหลัก ส่วนพื้นที่ตรงกลางนั้น เว้นว่างไว้ เป็นถาดพลาสติก Recycle ใส่ของจุกจิก
และช่องวางแก้ว 2 ตำแหน่ง พร้อมฝาเลื่อนเปิด-ปิดได้ ถ้ากลัวว่าผู้โดยสารด้านหลังจะร้อน คุณ
จะเห็นว่า มีช่องแอร์ ที่้ด้านหลังกล่องเก็บของคอนโซลกลาง 2 ช่อง ต่อเชื่อมกับเครื่องปรับอากาศ
มาให้ จากโรงงาน ผนังด้านบน เหนือกระจกหน้าต่างฝั่งซ้าย และ ขวา มีช่องตะขอสำหรับแขวน
เสื้อผ้า เก็บซ่อนอยู่ ต้องกดให้เผยออกมาใช้งานได้ เพดานด้านบน มีไฟส่องสว่าง และไฟสำหรับ
อ่านหนังสือ แยกฝั่งซ้าย – ขวา มาให้ แถมยังมีช่องสำหรับติดตั้งเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก มาตรฐาน
ISOFIX มาให้ ทั้งฝั่งซ้ายและขวา ที่สำคัญ ชุดเบาะหลังก็ยกมาจาก E-Class Coupe เช่นกัน!
ผมพบว่า การพาสารร่าง (อันตุ้ยนุ้ย) ของตนเอง เบียดเข้าไปนั่งบนพื้นที่เบาะหลังของ C-Class
Coupe ไม่ใช่เรื่องที่ยากลำบากอะไรนัก ที่สำคัญก็คือ ต่อให้ผมปรับเบาะคู่หน้า ให้อยู่ในตำแหน่ง
ที่ผมใช้ในการขับขี่ ผมก็สามารถนั่งบนเบาะหลังได้ โดยมีพื้นที่วางขา Leg Room เหลือพอสมควร
อีกทั้ง การออกแบบให้เพดานหลังคา มีส่วนโค้งเว้า ทำให้มีพื้นที่เหนือศีรษะ เพียงพอสำหรับผู้ที่
ตัวสูงระดับ ไม่เกิน 175 เซ็นติเมตร เพราะตัวของผม ซึ่งสูง 170 เซ็นติเมตรเอง ก็เริ่มจะเฉี่ยวๆ
กับเพดานหลังคาแล้ว เหลืออีกเพียงนิดเดียวเท่านั้น ขณะที่เบาะรองนั่งเองก็ถือว่า ยาวในระดับ
เหมาะสม เพราะถ้ายาวกว่านี้ Leg Room ก็จะเหลือน้อย นั่งไม่สบาย พนักพิงหลัง ก็ออกแบบ
มาได้ค่อนข้างดี คือ นั่งนานสัก 1-2 ชั่วโมงได้โดยไม่น่าบ่น แต่ถ้าเกินกว่านี้ ก็คงต้องจอดแวะพัก
กันบ้างเป็นธรรมดา ส่วนตำแหน่งการวางแขนนั้น ทำได้ดี เช่นเดียวกันกับแผงประตูคู่หน้า
ถือเป็นรถยนต์ Coupe 2 ประตู ที่ออกแบบมา เผื่อการเดินทางสำหรับ 4 คนได้ลงตัวยิ่งกว่าเจ้า
E-Class Coupe ที่มีหลังคาลาดลงสวยๆ เก๋ๆ แต่ผมนั่งเบาะหลังแล้วหัวติดเพดาน หากคุณคิด
ว่าจะมีผู้โดยสารมานั่งร่วมทางมากกว่า 2 คนบ่อยๆ แล้วละก็ C-Class Coupe คือคำตอบที่
ดีกว่า E-Class Coupe แน่นอน
นอกจากนี้ เบาะแถวหลังทั้ง ฝั่งซ้าย และ ขวา ของรุ่น Coupe ทุกรุ่น สามารถแบ่งพับได้ เพื่อเพิ่ม
พื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง ยกเว้นรุ่น C 180 BlueEFFICIENCY ที่จะไม่มีมาให้ และหาก
อยากได้ ต้องสั่งติดตั้งเพิ่มเติมเอง
การดึงพับพนักพิงเบาะหลังลง คุณต้องเปิดฝากระโปรงหลัง ได้ทั้งจากสวิชต์ไฟฟ้าในรถบริเวณ
แผงประตูฝั่งคนขับ หรือกดสั่งการจากรีโมทกุญแจโดยตรง ระวังตอนฝากระโปรงหลังเปิดให้ดี
เพราะมันยังคงดีดตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว เหมือนเช่น Mercedes-Benz รุ่นใหม่ๆ ที่ไม่ได้ติดตั้ง
ระบบยกและปิดฝากระโปรงหลังอัตโนมัติด้วยไฟฟ้า มันอาจดีดใส่หน้าให้คุณ หงายเงิบ ง่ายๆ
จากนั้น เหนือช่องทางเข้าห้องเก็บของ คุณจะเห็นคันโยก 2 ฝั่งติดตั้งอยู่ อยากพับเบาะไหน ก็
ดึงคันโยกฝั่งนั้น เพื่อปลดล็อกและพับพนักพิงลงไปได้ตามอัธยาศัย
เสาคำฝากระโปรงหลัง หุ้มด้วยพลาสติก เก็บงานเรียบร้อย มีไฟสีแดงส่องสว่าง เพื่อการมองเห็น
ในยามค่ำคืน ของผู้ขับรถคันที่แล่นมาจากข้างหลัง ให้เห็นว่า คุณกำลังเปิดฝากระโปรงหลังอยู่
และถ้าในกรณีรถเสีย หรือยางแตก ต้องเปลี่ยนยางข้างทาง ยังมีป้ายสามเหลี่ยมสะท้อนแสง
มาให้จากโรงงาน อีกด้วย
ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง มีความจุ 450 ลิตร ตามมาตรฐานการวัดของ VDA เยอรมัน ใส่ของได้
เยอะเอาเรื่องกว่าที่คิดอยู่ ผนังฝั่งซ้าย จะซ่อนอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้น First Aid Kits ส่วน
ฝั่ขวา จะซ่อนบรรดากล่องฟิวส์ ของอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในรถ และเมื่อยกพื้นห้องเก็บของขึ้นมา
คุณจะพบยางอะไหล่ พร้อมล้ออัลลอย และเครื่องมือพื้นฐาน จำพวก แม่แรงยกรถ ติดตั้งฝังเก็บ
มาให้เรียบร้อยอย่างดี แถมมีไฟส่องสว่างในห้องเก็บของ ดวงเล็กๆมาให้อีก 1 ดวง
ในเมื่อผมเคยวิพากษ์วิจารณ์การออกแบบแผงหน้าปัดของ C-Class W204 รุ่นแรกก่อนปรับโฉมกัน
ชนิดที่ว่า เละไม่มีชิ้นดี แถมยังบอกว่า พวงมาลัยรุ่นนั้น มันช่างคล้ายกับเอาพวงมาลัยของรถกระบะ
Mitsubishi L-200 Strada มาดัดแปลงให้ดูเห่ยๆกว่าเดิม
คราวนี้ ทีมออกแบบของ Daimler AG ก็เลยทำการบ้านกันใหม่ จนสำเร็จเป็นแผงหน้าปัดดีไซน์ใหม่
ที่ดูสวยงามน่าใช้กว่าของเดิม ม๊ากกกกกกกกกกกกกกกกกกกกก! นอกจากจะติดตั้งในรุ่นปรับโฉม
Minorchange หรือ Face lifted ของ C-Class W204 ทั้ง Saloon และ Estate แล้ว ยังเผื่อแผ่
ผลบุญ มาติดตั้งให้กับรุ่น Coupe อีกด้วย และถือเป็นแผงหน้าปัดของ Mercedes-Benz ที่วางตำแหน่ง
อุปกรณ์ต่างๆ ได้สัมพันธ์ ลงตัว กับงานดีไซน์ มากที่สุด ในสายตาของผม ทั้งที่ว่า หากดูกันดีๆ แล้ว
ตำแหน่งสวิชต์ แม้แต่ช่องแอร์ ก็ยังอยู่ในพิกัดเดียวกันกับแผงหน้าปัดของ E-Class Coupe ไม่มีผิด!
เทียบกันได้ ช็อตต่อช็อต!
นอกจากนั้นยังเป็นครั้งแรกในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์โลก ที่มีการตกแต่งภายใน ทั้งแผงหน้าปัด
บริเวณคอนโซลหน้า และแผงข้างประตู ด้วยแผง Trim แบบ Piano Lacquer สีขาวมุกแบบ Porcelain
(พอซเลน) ซึ่งเป็นสีพิเศษสุดเฉพาะรุ่น Edition 1 เท่านั้น
กระนั้น เมื่อคุณแหงนหน้ามองขึ้นไปบนเพดาน บรรดาอุปกรณ์ปลีกย่อยเล็กๆน้อย จำพวก แผงบังแดด
พร้อมกระจกแต่งหน้า และไฟแต่งหน้า ฝังอยู่บนเพดาน รวมทั้งกระจกมองหลังแบบตัดแสงอัตโนมัติ
พร้อมไฟอ่านแผนที่ สีขาวนวล ใต้กระจกมองหลัง และไฟส่องสว่างภายในห้องโดยสารด้านหน้า
คือชิ้นส่วนอะไหล่ที่ยกชุด และใช้ร่วมกันได้ ทั้ง C-Class W204 และ E-Class Saloon W212 รวมทั้ง
E-Class Coupe ใหม่ อีกด้วย!
ดังนั้น ใครที่ชอบเที่ยวไปด่า Toyota ว่าชอบใช้ชิ้นส่วนอะไหล่ ร่วมกันแบบสหกรณ์? แล้วเที่ยวดูถูก
รถญี่ปุ่นอยู่ได้นั้น เปิดหูเดตาได้แล้วนะจ้ะ เพราะผู้ผลิตรถยนต์ฝั่งยุโรปทั้ง Mercedes-Benz BMW
Volvo Audi Volkswagen เขาก็แชร์อะไหล่ร่วมกันระหว่างรุ่น เหมือนๆกันมาตั้งนานแล้วเลยแหละจ้า!
พวงมาลัย ออกแบบใหม่ เป็นแบบ 3 ก้าน สไตล์สปอร์ต หุ้มด้วยหนัง Nappa และตกแต่งแบบทูโทน
ด้านล่างหุ้มด้วยหนังสีพอร์สเลน โครเมี่ยมที่ก้านกลางแบบที่ Mercedes-Benz นำมาใช้เป็นครั้งแรก
ใน CLS-Class ใหม่ พร้อมสวิชต์ Multi-Function ฝั่งขวาควบคุมการทำงานของทั้งชุดเครื่องเสียง และ
สั่งการโทรศัพท์ผ่านระบบ Bluetooth ส่วนฝั่งซ้าย ไว้ควบคุม จอแสดงข้อมูลบนชุดมาตรวัด รวมทั้ง
ปรับระดับสูง – ต่ำได้ และระยะใกล้ – ห่างจากตัวผู้ขับขี่ (Telescopic) ได้ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า เชื่อมกับ
หน่วยความจำตำแหน่งเบาะคนขับ และกระจกมองข้าง รวม 3 ตำแหน่ง ซึ่งติดตั้งอยู่บนแผงประตู
นอกจากนี้ยังมีแป้นเปลี่ยนเกียร์บริเวณด้านหลังพวงมาลัย (Steering-wheel Gear Shift Paddles)
พร้อมสวิชต์เลือกโปรแกรมการขับขี่แบบ “M” (Manual) ให้ผู้ขับขี่เลือกเปลี่ยนเกียร์ได้เอง
สวิชต์กระจกหน้าต่างไฟฟ้า เป็นแบบ One-Touch กดเลื่อนลง นิ้วกระดิกจนสุด เพียงครั้งเดียว
ติดตั้งมาให้ในบานประตูทั้ง 2 ฝั่ง กระจกมองข้าง เป็นแบบ ปรับและพับเก็บได้ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า
ยกมาจาก C-Class W204 รุ่นมาตรฐาน นั่นละครับ มีไฟเลี้ยวในตัว ฝังอยู่ด้านนอก ของกรอบ
กระจกมองข้าง และถ้าเลื่อนสวิชต์ปรับกระจกมองข้างไปยังฝั่งซ้าย ขณะเข้าเกียร์ถอยหลัง ตัว
กระจกมองข้างฝั่งซ้าย จะปรับระดับลง เพื่อสะท้อนภาพพื้นที่รอบข้างตัวรถฝั่งซ้ายให้ ส่วน
สวิชต์เปิด – ปิดไฟหน้า อยู่ฝั่งขวามือ ใต้ช่องแอร์ฝั่งคนขับ
สิ่งที่ยังต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง และท่าจะยังไม่เกิดขึ้นง่ายๆ ในช่วง 2-3 ปีนี้ ก็คือ ก้าน
สวิชต์ควบคุมระบบล็อกความเร็วคงที่อัตโนมติ Cruise Control พร้อมระบบ ตั้งล็อกความเร็วรถ
ไม่ให้เกินกำหนด SPEEDTRONIC ยังคง ติตตั้งอยู่สูงกว่า ก้านไฟเลี้ยว ที่คอพวงมาลัยฝั่งซ้าย
คนที่ไม่คุ้นชินกับรถนัก อาจจะเผลอ เปิดระบบ Cruise Control ได้เอง ทั้งที่ตั้งใจจะเปิดไฟ
เพื่อเลี้ยวขวาก็เป็นได้ อันนี้พบได้ใน Mercedes-Benz รุ่นใหม่ๆ แทบจะทุกรุ่น ดังนั้น อยาก
เห็นความเปลี่ยนแปลงตรงนี้จังเลย
ตำแหน่งนั่งขับ ยังคงแอบเยื้องกันอยู่นิดๆ พวงมาลัยเยื้องไปทางซ้ายมือ นิดๆ ไม่เยอะนัก
ส่วนตำแหน่งคันเร่ง แบบแป้นเท้าของ Piano ก็ยังติดตั้งเยื้องไปทางขวาหน่อยๆ ตามสไตล์
ของ Mercedes-Benz
ส่วนอุปกรณ์มาตรฐาน ที่คุณควรรับรู้ไว้ว่า Mercedes-Benz Thailand เขาใส่มาให้คุณด้วย
ใน C250 Coupe คันนี้ มีทั้ง ไฟหน้าแบบ Bi-Xenon พร้อมระบบฉีดน้ำทำความสะอาดชุด
ไฟหน้า มาพร้อมระบบปรับตำแหน่งโคมไฟหน้าตามการเลี้ยวของพวงมาลัย ALS (Active
Light System) ระบบไฟส่องสว่างอัจฉริยะ ILS (Intelligent Light Syetem) ระบบ
ปรับไฟสูงอัตโนมัติ Adaptive High Beam Assist) และระบบไฟหน้าส่องสว่างอัตโนมัติ
เมื่อขับเข้าสู่พื้นที่มืด (ไฟหน้า Auto Headlamp) และกระจกมองข้าง รวมทั้ง กระจกมองหลัง
ตัดแสงอัตโนมัติ ในยามค่ำคืน ไฟท้าย ไฟตัดหมอก และ Daytime Running Light เป็น LED
และที่จะพบได้เฉพาะในรถรุ่น Edition 1 เท่านั้น นั่นคือ แป้นเบรก แป้นคันเร่ง และ
แป้นพักเท้าทำจาก Stanless พร้อม ปุ่มกันลื่น สีดำ ติดตั้งจากโรงงาน
ชุดมาตรวัด เป็นแบบ 3 วงกลม ติดตั้งจอแสดงข้อมูล สี ขนาด 4.5 นิ้ว ซ้อนตรงกลางมาตรวัด
ความเร็ว Multi Information System เปลี่ยนแสดงผลแบบกราฟฟิก สีสันสดสวย แสดงข้อมูล
ได้ครบ เป็นทั้งมาตรวัดความเร็วแบบตัวเลข Digital มาตรวัดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย
หรือแบบ Real Time แจ้งระยะทางที่พอให้น้ำมันในถัง พารถแล่นต่อไปได้ แสดงตำแหน่ง
และชื่อถนน เป็นภาษาอังกฤษ พร้อมเข็มทิศนำทางในตัว อีกทั้งยังเป็นจอสำหรับ เปลี่ยน
เพลง หรือคลื่นวิทยุ จากชุดเครื่องเสียง มีระบบแจ้งเตือนนำรถเข้าตรวจเช็คที่ศูนย์บริการ
ASSYST PLUS รวมทั้งระบบเตือนคนขับ พักระหว่างทาง ATTENTION ASSIST ซึ่งจะ
ขึ้นสัญญาณเตือนเป็นรูป กาแฟ (หรือเรียกว่า หน้าจอ Starbucks) เมื่อคนขับไม่ได้พักนาน
ไปแล้ว แสดงระดับของผ้าเบรก แจ้งเตือนความดันลมยาง และอุณหภูมิภายนอก
เหมือนเช่น Mercedes-Benz รุ่นใหม่ๆ ในระยะหลังๆมานี้ แถบขีดบนมาตรวัดความเร็ว
บอกความเร็วได้จริง ในขณะที่ แถบขีด บนมาตรวัดรอบ อย่าไปสนใจ เพราะอ่านลำบาก
แบ่งช่องไฟแล้วมึนหัวมากๆ ใช้วิธีกะเก็งเอาตามตำแหน่งของเข็มมาตรวัดไปเลยจะดีกว่า
ส่วนการปรับแสงสว่างของชุดมาตรวัด มองหาก้านหมุนเล็กๆ ฝั่งซ้าย ใต้ชุดมาตรวัดเอาไว้
ปรับได้ตามความเหมาะสม เพราะไฟจะสว่าง หรือหรี่ลง พร้อมกันทั้งแผง และมีมาตรวัด
อุณหภูมิน้ำหล่อเย็นมาให้ เคียงข้างมาตรวัดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิง บนวงกลมซ้ายสุด
ด้านบนสุด ตรงกลาง ของแผงหน้าปัด จะเป็นไฟสัญญาณ เหลือง และแดง เชื่อมต่อกับ
ระบบเซ็นเซอร์ กะระยะขณะถอยหลัง PARKTRONIC สำหรับเตือนระยะห่างจากทั้ง
ด้านหน้ารถ และด้านหลังรถ (ไฟสัญญาณสำหรับด้านหลัง จะติดตั้งไว้ ตรงกลางเพดาน
ห้องโดยสาร) คราวนี้ มาพร้อมกับระบบ Parking Guidance คอยให้คำแนะนำว่าต้อง
หมุนพวงมาลัยแค่ไหน ขณะถอยหลังเข้าจอด ติดตั้งครั้งแรกสำหรับ C-Class เวอร์ชันไทย
ถัดลงมา เป็นจอมอนิเตอร์ สี TFT 7 นิ้ว จากเดิม ออกแบบให้พับเก็บได้ คราวนี้ ฝังมาให้
ตายตัวอยู่กับแผงหน้าปัดกันไปเลย
สวิชต์ไฟฉุกเฉิน อยู่ในตำแหน่งที่เตี้ยไปนิดนึง ต้องใช้เวลา ราวๆ วินาทีหนึ่ง ในการมองหา
ว่าจะต้องเปิดตรงไหน จนเจอ ในกรณีที่คุณเบรกกระทันหัน จนถึงขั้นรถหยุด ไฟฉุกเฉิน
จะติดสว่างขึ้นมาเอง เพื่อเตือนรถคันข้างหลังว่า อย่ามาชนตูดฉันนะ!
เครื่องปรับอากาศ จะเป็นแบบอัตโนมัติ แยกฝั่งซ้าย – ขวา แบบ THERMATIC ธรรมดา 2 ฝั่ง
และมีช่องแอร์ สำหรับผู้โดยสารตอนหลังมาให้ด้วย แต่ใต้ช่องแอร์ด้านหลัง จะไม่มีสวิชต์ปรับ
อุณหภูมิแยกฝั่งมาให้ อย่างที่ E-Class Coupe เขามี เย็นเร็วสะใจ จนหนาวสั่นแหงกๆ กันเลย
ชุดเครื่องเสียง เป็นแบบ Harman Kardon Logic 7 ยกตัวท็อปกันมาเลยคราวนี้ เล่นได้ทั้ง
CD / MP3 / WMA พร้อมช่องเชื่อมต่อ Media Interface ทั้ง USB AUX และ iPhone
ทั้งหลาย ซึ่งรองรับการใช้งานหลากหลาย ทั้งการโทรศัพท์ หรือฟังเพลงแบบไร้สาย ผ่านระบบ
Bluetooth มีระบบการโอนย้ายสมุดโทรศัพท์ ไปไว้ให้ใช้งานได้ที่ตัวรถ นอกจากนั้นยังมีระบบ
Multimedia ใหม่ COMAND Online ซึ่งสามารถเชื่อมต่อ Internet ได้ ขึ้นอยู่กับรุ่นของ
มือถือที่คุณใช้ เป็นครั้งแรก พร้อมหน้าจอแสดงผลแบบสามมิติ และระบบสั่งการด้วยเสียงจาก
สวิชต์บนพวงมาลัย LINGUATRONIC อีกด้วย
การควบคุมต่างๆ ก็ยังคงต้องทำผ่านสวิชต์วงกลมแบบหมุนและกดได้ อยู่ดี ลักษณะของเมน
ก็ยังต้งใช้วิธี เลื่อนจากบน ลงล่าง ตามเคย ไม่ง่ายในการทำความคุ้นเคยจนใช้งานได้คล่อง
และที่ผมเองก็ไม่รู้มาก่อนด้วย นั่นก็คือ การแสดงข้อมูลไฟล์เพลงทั้งบน CD และจาก USB นั้น
สามารถแสดงเป็นภาษาอังกฤษ และญี่ปุ่นได้ ทั้งบนหน้าจอมอนิเตอร์ และหน้าจอสีบนมาตรวัด
อย่างถูกต้อง แต่ไม่สามารถแสดงผลภาษาเกาหลีกับภาษาไทย ได้แต่อย่างใดทั้งสิ้น
คุณภาพเสียง จัดอยู่ในเกณฑ์ดีมาก แต่ยังไม่ถึงขั้นดีเยี่ยม การฟังเพลงนั้น ขอแนะนำให้เปิด
โหมด Logic 7 ไว้ เพื่อช่วยให้ได้ยินรายละเอียดเสียง เล็กๆน้อยๆ ต่างๆ ได้กระจ่างชัดขึ้น
เพียงแต่ เสียงใส ยังควรจะใสื ได้มากกว่านี้อีกนิดเดียว แต่ภาพรวม ถือว่า ทำได้ขนาดนี้ก็
ดีถมถืดเพียงพอแล้ว
นอกจากจะแสดงผลให้กับชุดเครื่องเสียงแล้ว จอ Monitor สี ยังแสดงข้อมูลหน้าจอของระบบ
นำทางผ่านดาวเทียม GPS Navigation System ติดตั้งสำเร็จรูปมาจากโรงงาน
การแสดงผลเลือกได้ทั้งช่วงกลางวัน หรือ กลางคืน (Night Mode) การนำทางแบ่งเป็น 2 จอ
คือ จอแผนที่ฝั่งซ้าย และจอแสดงคำแนะนำ ชี้ทิศทางที่ระบบคำนวนไว้ให้ อยู่ฝั่งขวา นอกจากนี้
ยังมีการอัพเดทภาพกราฟฟิกบนหน้าจอแผนที่ โดยมีรูปอาคารสำคัญๆ ปรากฎให้เห็นบนจอ
หรือถ้ารถกำลังจอดอยู่บนอาคาร ก็จะมีภาพกราฟฟิกแสดงตำแหน่งของรถ ในตัวอาคารได้ด้วย!
และที่พิเศษกว่านั้นคือ หากคุณขึ้นทางด่วน ระบบจะแจ้งให้คุณทราบได้ว่า ทางลงที่ใกล้ที่สุด
อยู่ห่างออกไปกี่กิโลเมตร มีการแสดงข้อมูล ของจุดแวะพัก POI (Point of InterestX เป็นรูป
กราฟฟิก เช่นในภาพประกอบ จะมีทั้งสัญลักษณ์ Shell กับ Esso ให้ดูไว้ด้วย และยังเชื่อมต่อ
เข้ากับระบบ COMMAND Online ได้อีกด้วย
ถึงแม้จะใช้งานแอบยากนิดนึง ไม่มากนักก็ตาม แต่รูปภาพกราฟฟิก ก็ถูกอัพเกรดให้ดูสวยงามขึ้น
ความคลาดเคลื่อนในการนำทางดีขึ้นนิดนึง ระบบนำทางนี่เป็นออพชันที่ผมเชื่อว่า น่าจะมีแค่
เฉพาะ MBTh ที่จะให้คุณได้ใช้งานกันจริงๆ โดยไม่ต้องไปดัดแปลงอะไรให้วุ่นวาย ในภายหลัง
กล่องคอนโซลเก็บของ ข้างผู้ขับขี่และผู้โดยสารคู่หน้า ยังคงมีหน้าตาเหมือนกับ C-Class ใหม่ คือ
มีสวิชต์กดเปิด อยู่ด้านข้าง ใครที่ไม่รู้ ก็คลำหาสวิชต์เปิดกันเข้าไป กว่าจะเจอก็อุทานแกมประชด
ออกมาว่า “แหม! ไม่ซ่อนให้หาเจอยากกว่านี้ไปเลยละ?” เปิดกางออกมาแยกฝั่งซ้าย – ขวา จะเห็น
ช่องเสียบ Flash Drive USB และ ช่องเสียบต่อ iPod กับ iPhone มาให้ แต่พื้นที่การวางกล่อง CD
จะหายไป ซึ่งคงต้องทำใจ แล้วหาทางเปลี่ยนไปใส่ในช่องเก็บของ ณ แผงประตูด้านข้างแทน
แต่ผมสงสัยเรื่องหนึ่ง คือ ช่องเล็กๆ โล่งๆที่เห็นอยู่ ข้างช่องวางแก้ว 2 ตำแหน่งแบบมีฝาเลื่อน
เปิด-ปิดได้นั้น เขาออกแบบมาไว้ใช้ทำอะไรกัน? จะให้ใส่โทรศัพท์เคลื่อนที่ มันก็ใส่ได้แค่
โทรศัพท์รุ่นพระเจ้าเหายังเยาว์พรรษา เครื่องเล็กๆกว่าฝ่ามือ ทารกเหมือนของข้าพเจ้า และ
มันไม่ค่อยอเนกประสงค์เท่าไหร่ เรื่องนี้ สงสัยมานานแล้ว
และออพชันที่ถือเป็นลูกเล่นสำคัญอีกรายการหนึ่ง นั่นก็คือ มีการติดตั้งหลังคา Sunroof แบบ
กระจกโปร่งแสง Panoramic Glass SunRoof เลื่อนยกกระดกขึ้น หรือปรับเลื่อนเปิดถอยหลัง
ไปจนสุดกระจกหลังคาบานหลังก็ย่อมได้ ทั้งหมดนี้ ควบคุมด้วยสวิชต์ไฟฟ้า บนแผงควบคุม
ไฟอ่านแผนที่ เหนือเพดาน ใกล้กับกระจกมองหลัง
ตอนกลางวัน บอกเลยนะครับว่า ขับรถได้ โดยไม่ร้อนอบอ้าวแต่อย่างใด เพราะเครื่องปรับอากาศ
ทำงานได้ดี เย็นได้เร็ว และมีแผงม่านตาข่ายโปร่ง กรองแสงได้อีก 1 ชั่้น เก็บซ่อนได้หากคุณ
ไม่ต้องการรับแสงแดดจากดวงอาทิตย์
ทัศนวิสัยด้านหน้า แม้จะมีการปรับปรุงกระจกบังลมหน้าให้ลาดเอียงกว่ารุ่น Saloon และ Estate
แต่การมองทางข้างหน้า ก็ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด ยังคงมองเห็นรถคันข้างหน้า รวมทั้ง
พื้นผิวถนนได้ชัดเจน เว้นแต่ถ้าคุณจะปรับตำแหน่งเบาะคนขับจนต่ำสุด ทั้งที่สรีระร่างของคุณ
ก็เป็นคนตัวเล็กมาแต่กำเนิดอยู่แล้ว ยังไงๆ ก็มองไม่เห็นพื้นถนนแน่ๆ หากเป็นเช่นนั้น
การออกแบบแผงหน้าปัด และการติดตั้งหน้าจอมอนิเตอร์ COMMAND ในแนวระนาบเดียวกัน
ช่วยให้ผู้ขับขี่รับรู้ข้อมูลได้ตามต้องการ และลดการละสายตาจากพื้นถนนข้างหน้าได้ในระดับหนึ่ง
เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งขวามือ มีการบดบังรถที่แล่นสวนมาจากทางโค้งขวา แบบสวนกัน
สองเลน อยู่นิดหน่อย กระนั่น ก็ยังถือว่าไม่มากนัก กระจกมองข้าง ยกมาจากรุ่น Saloon ทั้งดุ้น
การมองเห็นรถคันที่แล่นตามมาอยู่ในเกณฑ์พอใช้ได้ ยกเว้นขอบล่างฝั่งขวา ของกระจกข้าง
ที่แอบมีพื้นที่ด้านในของกรอบกระจกมองข้าง บดบังการมองเห็นไปนิดนึง แต่ยังพอรับได้
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีความพยายาม บีบความกว้างของเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ทั้งฝั่งซ้าย
และขวา ลงมาเพื่อช่วยในด้านทัศนวิสัย โดยเฉพาะการมองเห็นขณะเลี้ยวกลับรถ แต่ผมพบว่า
เสาหลังคา A-Pillar ฝั่งซ้าย มันยังพอจะบดบังอยู่บ้างในบางจังหวะ และบางทางเลี้ยวกลับ
ก็ไม่บดบังเลย กระจกมองข้างเองก็ทำหน้าที่ของมันได้หลอกตานิดๆ แต่ยังไม่ถึงกับมากนัก
ทว่า สิ่งที่น่าชมเชยคือ ทัศนวิสัยด้านหลัง แม้ว่าเสาหลังคาคู่หลัง C-Pillar จะค่อนข้างหนา
และบดบังทัศนวิสัยไปนิดหน่อย แต่ด้วยการลากเส้นตัวถังของฝ่ายออกแบบ ทำให้นอกจาก
จะมีภายนอกที่ลงตัวแล้ว การมองเห็นด้านหลัง ขณะถอยหลังเข้าจอด ยังทำได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การมีปลายแหลมยื่นไปทางด้านหลังของกรอบกระจกหน้าต่าง มีผลทางจิตวิทยา
เพื่อช่วยให้ผู้ขับขี่ รู้สึกว่า ทัศนวิสัยโปร่ง กระนั้น การเปลี่ยนเลนไปทางด้านซ้ายหรือขวา ก็ยัง
เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังสำหรับรถคันนี้อยู่ดี เหมือนเช่นรถคันอื่นๆ
********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********
ในตลาดทั่วโลก C-Class Coupe จะมีขุมพลังให้เลือกทั้งหมด 5 รุ่นย่อย แบ่งเป็นขุมพลังเบนซิน
3 ขนาด และแบบ Diesel Turbo 2 ขนาด ดังนี้
– C180 BlueEFFICIENCY เครื่องยนต์ M271 บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,796 ซีซี หัวฉีด
อีเล็กโทรนิกส์ พ่วง Turbo 115 กิโลวัตต์ /156 แรงม้า (HP) ที่ 5,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
250 นิวตันเมตร / 25.47 กก.-ม. ที่ 1,600 รอบ/นาที รุ่นเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ อัตราเร่ง 0 – 100
กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 9.0 วินาที ความเร็วสูงสุด 225 กิโลเมตร/ชั่วโมง อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
เฉลี่ย 6.7 – 7.3 ลิตร / 100 กิโลเมตร ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 157 – 169 กรัม / กิโลเมตร
ส่วนรุ่นเกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ 7G-TRONICS PLUS 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 8.9 วินาที
อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 6.5 – 7.0 ลิตร / 100 กิโลเมตร และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราวๆ
150 – 162 กรัม / กิโลเมตร
– C250 BlueEFFICIENCY เครื่องยนต์ M271 บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,796 ซีซี หัวฉีด
อีเล็กโทรนิกส์ พ่วง Turbo 150 กิโลวัตต์ /204 แรงม้า (HP) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
310 นิวตันเมตร / 31.58 กก.-ม. ที่ 2,300 รอบ/นาที เกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ 7G-TRONICS
PLUS อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 7.2 วินาที ความเร็วสูงสุด 240 กิโลเมตร/ชั่วโมง
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 6.5 – 7.0 ลิตร / 100 กิโลเมตร ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
152 – 163 กรัม / กิโลเมตร
– C350 BlueEFFICIENCY เครื่องยนต์ V6 สูบ DOHC 24 วาล์ว 3,498 ซีซี หัวฉีดอีเล็กโทรนิกส์
อีเล็กโทรนิกส์ 225 กิโลวัตต์ / 306 แรงม้า (HP) ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 370 นิวตันเมตร
/ 37.70 กก.-ม. ที่ 3,500 รอบ/นาที เกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ 7G-TRONICS PLUS อัตราเร่งจาก
0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 6.0 วินาที ความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง อัตราสิ้นเปลือง
เชื้อเพลิงเฉลี่ยราวๆ 6.5 – 7.0 ลิตร / 100 กิโลเมตร ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 159 – 164
กรัม / กิโลเมตร
– C220 CDI BlueEFFICIENCY ขุมพลัง Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,143 ซีซี Common Rail
Turbo 125 กิโลวัตต์ / 170 แรงม้า (HP) ที่ 3,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 400 นิวตันเมตร / 40.76
กก.-ม. ที่ 1,400 รอบ/นาที อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 8.4 วินาที ความเร็วสูงสุด 232
กิโลเมตร/ชั่วโมง (เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ) และ 8.1 วินาที ความเร็วสูงสุด 231 กิโลเมตร/ชั่วโมง
(เกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ 7G-TRONICS PLUS) อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 4.4 – 5.1 ลิตร /
100 กิโลเมตร ในรุ่นเกียร์ธรรมดา และ 4.9 – 5.3 ลิตร/100 กิโลเมตร ในรุ่นเกียร์อัตโนมัติ ปล่อย
ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 117 – 133 กรัม / กิโลเมตร ในรุ่นเกียร์ธรรมดา และ 128 – 139 กรัม /
กิโลเมตร ในรุ่นเกียร์อัตโนมัติ
– C250 CDI BlueEFFICIENCY ขุมพลัง Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,143 ซีซี Common Rail
Turbo 150 กิโลวัตต์ / 204 แรงม้า (HP) ที่ 4,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 500 นิวตันเมตร / 50.95
กก.-ม. ที่ 1,600 รอบ/นาที รุ่นเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ ทำ 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 7.0 วินาที
ความเร็วสูงสุด 240 กิโลเมตร/ชั่วโมง อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 4.9 – 5.4 ลิตร / 100 กิโลเมตร และ
ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 128 – 143 กรัม / กิโลเมตร ส่วน รุ่นเกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ
7G-TRONICS PLUS อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 8.1 วินาที ความเร็วสูงสุด เท่ากันที่
240 กิโลเมตร/ชั่วโมง อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 4.9 – 5.3 ลิตร / 100 กิโลเมตร ปล่อยก๊าซ
คาร์บอนไดออกไซด์ 128 – 139 กรัม / กิโลเมตร
อ่านตัวเลขดูแล้ว มึนไปเลยไหมครับ?
แต่สำหรับเวอร์ชันไทยแล้ว เพื่อให้สะดวกต่อการสั่งสต็อกอะไหล่ เพื่อให้สะดวกต่อการซ่อมบำรุง
และเหมาะกับตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลในบ้านเรา ที่กลุ่มลูกค้าให้ความนิยมในเกียร์อัตโนมัติ
เกือบ 90% ดังนั้น ขุมพลังที่ Mercedes-Benz Thailand สั่งเข้ามาทำตลาดในบ้านเรา คือ รุ่น C250
BlueEFFICIENCY วางเครื่องยนต์รหัส M271 รุ่น DE18LA บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,796 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 82 x 85 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 9.3 : 1 มาพร้อมเทคโนโลยี ระบบฉีด
จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดอีเล็กโทรนิกส์ ตรงเข้าห้องเผาไหม้แบบ Direct Injection และคราวนี้ ก็ถอด
Supercharge ออก แล้วติดตั้ง Turbocharger เข้าไปทำหน้าที่อัดอากาศแทน
กำลังสูงสุด 150 กิโลวัตต์ หรือ 204 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 310 นิวตันเมตร
(31.58 กก.-ม.) ที่ รอบระหว่าง 2,000 – 4,300 รอบ/นาที
ส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหลัง ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะลูกใหม่ 7G-TRONICS PLUS
ที่มีการเปลี่ยนมาใช้ Torque Converter Lock-up Clutch รุ่นใหม่ กับชุด Hydraulic circuit ใหม่
ให้การตอบสนองได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ทนทานและลดระดับเสียงรบกวนให้น้อยลง
อัตราทดเกียร์ มีดังนี้
เกียร์ 1………………….4.38
เกียร์ 2………………….2.86
เกียร์ 3………………….1.92
เกียร์ 4………………….1.37
เกียร์ 5………………….1.00
เกียร์ 6………………….0.82
เกียร์ 7………………….0.73
เกียร์ถอยหลัง R1………3.42
เกียร์ถอยหลัง R2………2.23
เฟืองท้าย……………….3.07
ส่วนน้ำมันเกียร์นั้น เอกสารประชาสัมพันธ์ของ Daimler AG ระบุชัดเจนว่า มีการเปลี่ยนมาใช้
น้ำมันเกียร์ชนิดใหม่ FE-ATF ซึ่งมีการลดความหนืด และมีการใส่สารเพิ่มประสิทธิภาพเข้าไป
ทำให้การใช้งาน ยาวนานขึ้น และมีอายุการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์อัตโนมัติลูกใหม่นี้ ที่ระดับ
ทุกๆ 125,000 กิโลเมตร
ในเมื่อตัวเลขของโรงงานผู้ผลิต ในเยอรมัน บอกมาว่า ทำอัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ได้ในเวลา 7.2 วินาที ความเร็วสูงสุด 240 กิโลเมตร/ชั่วโมง อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 6.5 – 7.0
ลิตร / 100 กิโลเมตร และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ประมาณ 152 – 163 กรัม / กิโลเมตร
ผมก็อยากรู้ว่าตัวเลขอัตราเร่งหนะ จะทำได้จริงตามนี้เลยหรือเปล่า
เราจึงลองจับเวลา ทำอัตราเร่งในตอนกลางคืน เปิดแอร์ เปิดไฟหน้า นั่ง 2 คน คือผม ในฐานะ
ผู้ขับขี่ และคุณกล้วย BnN แห่ง The Coup Channel เป็นคนช่วยจับเวลาให้ตามเคย ตัวเลขที่ได้
ออกมา เมื่อเทียบกับทั้ง C-Class W204 รุ่นอื่นๆ ที่เราเคยทำรีวิวกันไป รวมทั้งตัวเลขของคู่แข่ง
มีดังต่อไปนี้…
หากดูจากตัวเลขแล้ว อัตราเร่ง ของ C250 Coupe ที่ใช้เกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ จะด้อยกว่ารุ่น Saloon
เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ เครื่องยนต์เดียวกัน ที่เราเคยทำการบันทึกตัวเลขกันไว้ ราวๆ 0.2 วินาที ซึ่ง
อาจจะบอกว่า น้ำหนักตัวมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ก็อาจเป็นไปได้ แต่ นั่นก็ยังไม่ใช่คำอธิบายที่ดีนัก
เพราะเมื่อเครื่องยนต์รุ่นนี้ ได้เกียร์รุ่นใหม่ลูกนี้ เราก็คาดหวังตัวเลขอัตราเร่งที่ดีกว่านี้อีกนิดนึง แต่
ถึงกระนั้น ตัวเลขที่ออกมา ก็ไม่ถือว่าด้อย หรือเสียหาย แต่อย่างใด มันเกาะกลุ่มอยู่กับ BMW 320d
E90 เลยด้วยซ้ำ! แม้จะด้อยกว่า BMW 325i Coupe E92 เครื่องยนต์เดิม 6 สูบ 0.4 วินาที (ช่วง 0-100
กิโลเมตร/ชั่วโมง) และ 0.1 วินาที (ช่วง 80 -120 กิโลเมตร/ชั่วโมง) และด้อยกว่า Lexus IS250 ก็ตาม
ขณะที่ความเร็วสูงสุด เกาะอยู่ในกลุ่ม และทำผลงานค่อนข้างดี คือ ตัวเลขออกมา ตรงกับที่ผู้ผลิต
แจ้งเอาไว้ในแค็ตตาล็อก เมืองนอก ดังนั้น ถือว่า แค่ทำตัวเลขเกาะกลุ่มกันได้แบบนี้ ถือเป็นเรื่องที่
ผมยอมรับได้แล้วครับ
อย่างไรก็ตาม ตัวเลข กับการใช้งานจริง บางครั้ง มันก็แตกต่างกันมากพอจะหลอกความรู้สึกของคุณ
ได้ง่ายๆ กรณีนี้ ก็เช่นกัน C250 Coupe คันนี้ ออกตัวได้อย่างรวดเร็วใช้ได้ คล่องแคล่ว และตอบสนอง
ได้ไว ไม่อืดอาด ไม่ชักช้า แรงดึงให้หลังติดเบาะ พอจะมีอยู่ ในระดับเดียวกันกับ รถยนต์ในพิกัดนี้
คันอื่นๆ ที่ใช้เครื่องยนต์ เบนซิน พ่วง Turbocharger เหมือนๆกัน ส่วนการเร่งแซงนั้น หายห่วง
ไปได้เลย ไม่ว่าจะเปลี่ยนเกียร์ช่วย หรือแค่เหยียบคันเร่งลงไป ครึ่งหนึ่ง หรือจะกดให้จมมิด
เกียร์จะทำงานไวพอประมาณ และรถจะพุ่งออกไปอย่างรวดเร็ว คุณสามารถเปลี่ยนเกียร์ลงมา
ได้ 2 ตำแหน่ง ในเวลาห่างกันไม่นานนัก
การเปลี่ยนเกียร์ แม้จะราบรื่น และนุ่มนวล พอให้คุณยังสัมผัสได้ว่า เกียร์กำลังทำงาน โดยเปลี่ยน
ตำแหน่งเกียร์ให้อยู่ แต่การตอบสนองของคันเร่งไฟฟ้านั้น ต่างออกไป มันขึ้นอยู่กับว่า คุณเหยียบ
ลงไปในลักษณะใด ถ้าคุณเพิ่มน้ำหนักเท้าลงไปช้าๆ อย่างต่อเนื่อง คันเร่งจะทำงานทันกับเท้าคุณ
แต่ถ้าเหยียบพรวดพราดลงไปอย่างกระทันหัน สมองกลก็จะ lack เล็กน้อย ก่อนจะทำงานให้คุณ
ตามบัญชาสั่งการ
เอาง่ายๆ ถ้าเปรียบเทียบกับ MINI Cooper S Coupe ที่เราเพิ่งทำรีวิวกันไปเมื่อ เดือนก่อนๆ เท่าที่
มานั่งวัดเวลา จากคลิปที่เราถ่ายทำกันมา จะพบว่า ด้วยน้ำหนักที่เบากว่า จะทำให้ MINI พุ่งแซง
C250 และออกนำไปนิดหน่อย เป็นเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง แต่ ช่วงหลังจากพ้น 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ขึ้นไปแล้ว C-Class Coupe C250 จะค่อยๆ แซงขึ้นหน้า MINI Cooper S Coupe และทิ้งช่วง
ไปได้ห่างไกลในความเร็วสูงสุด….
นี่คือตัวอย่างของ ประโยชน์จากการทดลองความเร็วสูงสุดคือ คุณจะได้รู้ถึงศักยภาพที่ซ่อนอยู่ ซึ่งถ้า
คุณขับช้าๆเรื่อยๆ ในความเร็วทั่วไป คุณจะไม่มีทางรับรู้ความแตกต่างนี้ได้เลย! เพียงแต่ว่า เพื่อความ
ปลอดภัยของคุณ เราได้ทดลองให้คุณทราบแล้วนะครับ และเราก็ไม่สนับสนุนให้คุณไปทดลองเอง
บนถนนหลวงอื่นๆเองใดๆทั้งสิ้น (และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้เรา เลิกถ่ายคลิปความเร็วสูงสุดให้คุณ
ได้ดูกันมาได้ราวๆ 1 ปี กว่าๆ แล้ว)
การเก็บเสียงนั้น ยังคงทำได้ดี จนกระทั่งถึงระดับความเร็ว 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง เช่นเดียวกับ E-Class
Coupe Elegance เสียงกระแสลมไหลผ่านตัวรถ จะเริ่มดังขึ้น ไปตามความเร็วของรถ ในภาพรวม
ถือว่า ไม่รบกวนโสตประสาทขณะขับขี่มากมายเลยแต่อย่างใด
ภาพรวมแล้ว อัตราเร่ง ก็ไม่ต่างจาก C-Class และ E-Class รุ่นที่ใช้ตัวเลขตามท้ายว่า 250 กันเท่าใดนัก
เลยครับ แต่สิ่งที่จะทำให้ C-Class Coupe แตกต่างไปจาก Mercedes-Benz รุ่นอื่นๆ ที่ผมเคยเจอมา
นั้น มันอยู่ที่ บุคลิกการขับขี่ อันส่งผลมาจากการปรับปรุงพวงมาลัย และระบบกันสะเทือนต่างหาก!
ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พีเนียน ปรับน้ำหนักตามความเร็วรถ (Speed-Sensitive
Sports Steering) คือตัวแปรสำคัญที่พลิกบุคลิกการขับขี่ ของ C-Class Saloon ที่เราคุ้นเคย ให้
กลายเป็นรถยนต์ Coupe ที่ขับสนุก ในช่วงความเร็วต่ำกว่า 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง พวงมาลัยจะเบามาก
หมุนได้คล่องมือ สะดวกมากสำหรับการหาที่จอดรถ ถึงจะเบามือ แต่ก็อยู่ในเกณฑ์ที่หนืดกว่า Toyota
Corolla Altis กับ Suzuki Swift อีกพอสมควร
ทว่า พอเข็มความเร็ว เพิ่มขึ้นเกินกว่า 40 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป พวงมาลัยจะเริ่มหนืดขึ้น ตึงมือขึ้น
อย่างชัดเจนจนสัมผัสได้ในทันทีที่คุณเริ่มบังคับเลี้ยวไปตามโค้งเล็กๆในตรอกซอกซอย ยิ่งพอเข้าสู่
ช่วงความเร็วสูง บนทางด่วน มอเตอร์เวย์ บูรพวิถี หรือถนนมิตรภาพ พวงมาลัยจะหนืด ตึงมือยิ่งขึ้น
และให้ความมั่นใจในการขับขี่มากๆ ไม่วอกแวก ระยะฟรีน้อย แต่พอเหมาะกำลังดี
นี่แหละ คือพวงมาลัยในแบบที่ผมต้องการจากทั้ง Mercedes-Benz และผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นๆทั่วไป
มานานกลายปี ในที่สุด พวกเขาก็ทำมันออกมาขายพวกเราจนได้! Bravo!!!! ไชโย!!! อยากให้รักษา
คุณงามความดีในข้อนี้เอาไว้อย่างนี้ ไม่ต้องไปเปลี่ยน ไม่ต้องไปปรับปรุงแก้ไขอะไรทั้งสิ้น!
ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบ แม็คเฟอร์สันสตรัต ส่วนด้านหลังเป็นแบบ Multi-Link พร้อม
เทคโนโลยีช็อกอัพแบบ AGILITY CONTROL ที่ปรับช่วงล่างไปตามสภาพความเร็วในการขับขี่
ที่สำคัญ C250 Coupe ถูกเปลี่ยนมาใช้สปริง กับช็อกอัพ แบบ Sport ทำให้เตี้ยลงกว่า รุ่นปกติ
15 มิลลิเมตร ซึ่งนี่คือ อุปกรณ์มาตรฐานอีกรายการหนึ่ง ที่จะอยู่ในรถรุ่น Edition 1 ทุกคัน
ในช่วงความเร็วต่ำ การขับขี่ผ่านพื้นผิวถนนขารุขระ และลูกระนาดตามตรอกซอกซอยต่างๆนั้น ผม
สัมผัสได้ว่า กำลังแล่นผ่านหลุมบ่อ ฝาท่อระบายน้ำต่างๆ แต่จะไม่ได้สัมผัสอาการสะเทือนโดยตรง
เพราะช่วงล่างดูดซับแรงสะเทือนไว้ได้เกือบหมด จนเหลืออาการตึงตังพอเป็นพิธีเท่านั้นเลย ซึ่ง
นี่แหละ คือบุคลิกของช่วงล่างใน Mercedes-Benz รุ่นเก่าๆ แบบที่ผู้ใหญ่หลายๆคนคุ้นเคย
แต่พอใช้ความเร็วสูงบนทางด่วน อาการหน้าลอย ที่เคยพบเจอใน C-Class Saloon และที่ถึงกับ
เคยเหวอหวาดผวามาแล้วใน E-Class Coupe กลับมลายหายไปหมดสิ้น! แทนที่ด้วย ความนิ่ง
มั่นคง หนักแน่น มั่นใจ และพร้อมจะทำหน้าที่ไปตามความต้องการของผู้ขับขี่ ด้านหน้าไม่
ปรากฎอาการหน้าลอยอีกต่อไป และต่อให้ใช้ความเร็วสูงถึง 200 – 240 กิโลเมตร/ชั่วโมง ผมก็
ยังมั่นใจ และแอบลองๆ ปล่อยมือจากพวงมาลัยประมาณ เสี้ยววินาที เพื่อดูความนิ่งของรถ
และพบว่า นี่คือ Mercedes-Benz ในระดับราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาทลงมา ที่ตอบสนองต่อการ
ขับขี่ย่านความเร็วสูงได้ดีที่สุด
ถ้านำการปรับเซ็ตพวงมาลัย กับระบบกันสะเทือน มาผสานเรื่องบุคลิกของโครงสร้างแชสซีแล้ว
คุณจะพบว่า C-Class Coupe มีอาการ แอบซน และพร้อมจะตอบสนองให้คุณได้ในทุกจังหวะ
เปรียบเสมือน ผู้หญิงเก่งๆ คนหนึ่ง ที่รองรับอารมณ์ของคุณได้ทุกรูปแบบตามต้องการ ขณะที่
ใน E-Class Coupe Elegance คุณจะต้องทำตัวเป็นผู้ชายเก่งๆ ที่จะรองรับอารมณ์ของรถได้
นี่คือ C-Class จากโรงงาน ที่นับได้ว่า ถูกปรับเซ็ตมาจนเหมาะกับพื้นถนนประเทศไทยที่สุดแล้ว
เกะถนนดีกว่ารุ่น Saloon ที่เคยลองมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในย่านความเร็วสูง กับการเข้าโค้งแบบ
สาดหนักๆ จัดเต็ม ความแตกต่างมันมากจนคุณจะสัมผัสได้เลย แต่ที่น่าชื่นชมก็คือ ถึงจะขับสนุก
มากแค่ไหน แค่ก็ไม่ได้สูญเสียความนุ่มนวลตามแบบฉบับของ Mercedes-Benz ไปมากเลย ถือว่า
สามารถตอบสนองการใช้งานได้ครอบจักรวาล ขึ้นอยู่กับว่า ใครจะเป็นคนขโมยกุยแจไปได้ก่อน
ถ้าเป็นคุณพ่อบ้าน คว้ากุญแจได้ก่อน ก็จะสนุกกับการขับขี่ ลัดเลาะไปตามทางโค้งต่างๆ ทั้งเขาใหญ่
ดอยอ่างขาง ดอยตุง เชียงราย ฯลฯ ฟัดเหวียงกับ BMW 3-Series Coupe ชนิดเฉือนเข้าเส้นกัน
เลยทีเดียว ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ E-Class Coupe Elegance จะไม่มีวันให้คุณได้
แต่ถ้าเป็นคุณแม่บ้าน ชิงกุญแจได้ เอาไปขับจ่ายตลาด หรือช้อปปิง ก็จะสำราญกับกับความสุนทรีย์
ของช่วงล่างที่นุ่มแน่นกำลังดี ขณะที่วิ่งซอกแซกไปตามถนนตะปุ่มตะป่ำ ในตรอกซอกซอยแถบ
สุขุมวิทได้ โดยไม่มีบ่น!
ระบบห้ามล้อ เป็น ดิสก์เบรก ทั้ง 4 ล้อ โดยจานเบรกคู่หน้า มีรูระบายความร้อนมาให้ คาลิเปอร์
มีสัญลักษณ์ Mercedes-Benz แปะหราอยู่ ติดตั้งสารพัดเทคโนโลยีช่วยเหลือ ตั้งแต่ระบบรวม
โปรแกรมควบคุมเสถียรภาพ ESP (Electronic Stability Program) ซึ่งรวมระบบป้องกันล้อล็อก
ABS (Anti Lock Braking System) กับระบบป้องกันล้อหมุนฟรี ASR (Acceleration Skid
Control) ระบบ เพิ่มแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน BAS (Brake Assist System) พร้อมระบบ
ADPATIVE BRAKE ซึ่งจะทำงานในทันทีที่เซ็นเซอร์พบว่า ผู้ขับขี่ถอนคันเร่งอย่างฉับพลัน
แรงดันน้ำมันเบรกเบรก จะถูกปรับเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับ การเบรก
หยุดรถอย่างฉุกเฉิน และเมื่อผู้ขับขี่เหยียบเบรกอย่างรุนแรง ภายในเสี้ยววินาที ระบบนี้จะ
ช่วยชะลอความเร็ว และหยุดรถได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ ด้วยระยะเบรกที่สั้นกว่า และใช้เวลา
น้อยกว่าปกติ
ส่วนระบบเบรกมือ ใช้แบบ เบรกจอดไฟฟ้า พร้อมระบบ Adaptive Hold ถ้าเข้าเกียร์ D แล้ว
ขับไปตามสภาพการจราจรติดขัด เมื่อเหยียบเบรกจนสุด เบรกมือจะทำงานเอง คุณก็ปล่อยเท้า
ออกจากแป้นเบรกได้ทันที จนกว่ารถจะเคลื่อนตัวไปข้างหน้า ก็ค่อยเหยียบคันเร่งต่อ
การตอบสนองของระบบเบรก ทำได้ดีน่าประทับใจไม่แพ้ E-Class Coupe Elegance รวมทั้ง
เหล่า Mercedes-Benz คันอื่นๆ ในช่วง 2 ปีมานี้ด้วยกัน แป้นเบรกอาจจะมีสัมผัสที่แตกต่างกัน
กับ E-Class Coupe เล็กน้อย ตรงที่ มีระยะเหยียบที่เหมาะสม และน้ำหนักการตอบสนองของ
แป้นเบรก ออกไปในแนว เอาใจคนชอบขับรถมากกว่านิดหน่อย เหยียบแค่ไหน ระบบเบรก
ก็จะทำงานแค่นั้น ที่นุ่มเท้า เหมือนมีแรงต้าน พร้อมจะช่วยชะลอความเร็วตลอดเวลา ไม่ว่าจะ
แล่นอยู่ในเมือง หรือต้องหยุดรถกระทันหัน ไปจนถึงการชะลอความเร็วจากระดับ เกินกว่า
200 กิโลเมตร/ชั่วโมงลงมา เบรกก็ยังไม่แสดงอาการ Fade ให้เห็น ยังคงเป็นรถยนต์อีกคันที่
ผมชื่นชอบการปรับตั้งระบบห้ามล้อ
อีกประการสำคัญที่ทำให้ C-Class Coupe กลายเป็นรถยนต์ 2 ประตู รุ่นใหม่ ที่มีการขับขี่ได้ดีขนาดนี้
ย่อมหนีไม่พ้นเรื่องการออกแบบโครงสร้างตัวถัง อันเกี่ยวเนื่องไปจนถึงความแข็งแรงของโครงสร้างตัวถัง
กว่า ร้อยละ 70 ของ โครงสร้างเหล็กใน C-Class Coupe ใช้เหล็กแบบ High Strength ซึ่งเบา
กว่าเหล็กทั่วไป แต่ เหนียว แข็งแรง และทนต่อแรงกระแทกได้ดีกว่ากันมากถึง 3 หรือ 4 เท่า ขึ้นอยู่กับ
เกรดและชนิดของเหล็ก ว่าทนและรองรับแรงดันได้ขนาดไหน ส่วนอีก ร้อยละ 20 ที่เหลือ ใช้เหล็กที่
เกรดสูงกว่านั้น คือ Ultra-high-strength High-tech Alloy ซึ่งจะถูกใช้ในบริเวณที่เกี่ยวข้องกับ
การรักษาสมดุลให้โครงสร้างบริเวณนั้น ต้องคงสภาพเดิมให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้
นอกเหนือจากนี้ การกำหนดใช้วัสดุให้ถูกต้องและเหมาะสมกับหน้าที่ของมัน คือสิ่งที่จะช่วยทั้งเสริม
ความแข็งแกร่งให้โครงสร้างตัวถัง ไปพร้อมกับลดน้ำหนักตัวลง ซึ่งจะช่วยให้การขับขี่มีเสถียรภาพ
และลดการใช้เชื้อเพลิงได้ในทางอ้อม ตัวอย่างก็คือ ฝากระโปรงหน้าทำจาก Aluminium ทำให้เบากว่า
ฝากระโปรงหน้าแบบที่ทำจากเหล็กประมาณ 9.2 กิโลกรัม นอกจากนี้ ชิ้นส่วนตัวถังบริเวณ เหนือซุ้ม
ล้อคู่หน้า คาน Cross Member ที่ซ่อนอยู่หลังเปลือกตัวถังภายนอก ด้านหน้า ยังทำจาก Aluminium
ขณะที่บานประตูทำจากเหล็ก และพื้นที่ใส่ล้ออะไหล่ ทำจาก Plastic ชนิดเหนียวพิเศษ
ส่วนอุปกรณ์ความปลอดภัยสำหรับ C250 Coupe Edition 1 เวอร์ชันไทยนั้น มีการติดตั้งระบบ PRE-SAFE
มาให้ เช่นเดียวกับ C-Class และ E-Class ทุกรุ่น ซึ่งจะทำงานในทันทีที่ ระบบตรวจสอบพบว่าผู้ขับขี่กำลัง
เหยียบเบรกกระทันหัน เข็มขัดนิรภัยจะตรึงแน่นขึ้น เพื่อรั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารเอาไว้กับเบาะ กระจก
หน้าต่างไฟฟ้า และซันรูฟ จะถูกเลื่อนปิดเองอย่างรวดเร็วโดยอัตโนมัติ เตรียมพร้อมให้ทุกระบบความ
ปลอดภัยทั้ง ถุงลมนิรภัยคู่หน้า ด้านข้าง และม่านลมนิรภัย รวม 6 ใบ พนักศีรษะ NECK-PRO ป้องกัน
การบาดเจ็บที่กระดูกต้นคอ เข้าประจำที่ พร้อมทำงานเพื่อปกป้องู้ขับขี่และผู้โดยสารให้ได้มากที่สุด
เท่าที่จะเป็นไปได้
หลังจากผ่านขั้นตอนมากมาย ก็ได้เวลาทดสอบการชน Mercedes-Benz เริ่มจำลองการทดสอบการชน
บนระบบคอมพิวเตอร์ มาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ยุคนั้น พวกเขาทดสอบจำลองบนหน้าจอกัน 200 ครั้ง/ปี
แต่พอมาเป็นปี 2000 ตัวเลขก็เพิ่มเป็น 1,500 ครั้ง และในปี 2010 การทดสอบการชนจำลองที่เรียกว่า
Virtual Crash Test ก็เกิดขึ้นมากถึง 50,000 ครั้ง! นับตั้งแต่เริ่มใช้วิธีการนี้มา ไม่เพียงแค่นั้น หากย้อน
กลับไปเปรียบเทียบกับ C-Class รุ่นแรก หรือ 190E รุ่นตัวถัง W201 ในปี 1982 คอมพิวเตอร์สามารถ
จำลองได้เพียงแค่ 25,000 Elements แต่ในทุกวันนี้ คอมพิวเตอร์ สามารถจำลองโครงสร้างตัวถังของ
C-Class รุ่น W204 ได้มากถึง 2 ล้าน Elements ให้ความละเอียดของลายเส้นได้ในระดับละเอียดสุด
3 มิลลิเมตร!
ด้วยการออกแบบโครงสร้างทั้งหมดข้างต้น ทำให้ C-Class Coupe ผ่านการทดสอบการชนในระดับดีเยี่ยม
โดยเฉพาะ จากทาง EuroNCAP (European New Car Assesment Program) ซึ่งตัดเกรดรถคันนี้เอาไว้
สูงถึง 5 ดาวเต็ม โดยได้คะแนนด้านการปกป้องผู้ขับขี่และผู้โดยสาร 90% การปกป้องผู้โดยสารเด็ก 79%
คะแนนการปกป้องคนเดินถนน 57% และการทำงานของอุปกรณ์นิรภัยภายในรถ 86% รายละเอียดต่างๆ
เพิ่มเติม คลิกเข้าไปดูได้ที่ www.euroncap.com
********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********
ถึงแม้เราจะรู้กันอยู่แล้วว่า ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของ C250 CGI BlueEFFICIENCY Saloon
เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ จะอยู่ที่ 13.14 กิโลเมตร/ลิตร แต่ต่อให้ C 250 BlueEFFICIENCY Coupe
คันนี้ จะใช้ขุมพลัง M271 เหมือนกับรุ่น Saloon แต่การติดตั้งเกียร์อัตโนมัติ 7G-TRONICS ทำให้ผม
อยากรู้ว่า เกียร์ลูกนี้ จะมีส่วนช่วยให้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของ รุ่น Coupe จะดีขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน?
เราจึงทำการททดลองโดยใช้มาตรฐานเดิม คือ นำรถมาเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron ที่สถานีบริการ
น้ำมัน Caltex พงษ์สวัสดิ์บริการ ริมถนนพหลโยธิน ช่วงสถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ เติมเต็มถัง และ
เอาแค่หัวจ่ายตัดก็พอ เพราะรถคันนี้ มีขนาดเครื่องยนต์ พิกัด 2,000 ซีซี ก็จริง แต่กลุ่มลูกค้าที่คิดจะ
ซื้อรถรุ่นนี้ ไม่น่าจะมองเรื่องอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเป็นประเด็นหลักในการตัดสินใจ เราจึงเลือก
ทำการทดลองแค่ เติมน้ำมันให้หัวจ่ายตัด ก็พอแล้ว ส่วนสักขีพยานในการทดลองวันนี้ คือ น้องต๊อบ
(Philozophy) จาก The Coup Team ของเรานั่นเอง น้ำหนักตัวอยู่ที่ 60 กิโลกรัม ผู้ขับ 95 กิโลกรัม
เมื่อเติมน้ำมัน เสร็จ เราเซ็ต 0 บน Trip Meter ที่มีมาให้แค่ Trip A อย่างเดียว ไม่มี Trip B แถมให้
คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ แล้วเปิดเครื่องปรับอากาศ เอาไว้ที่เบอร์ 1 – 2 ปรับอุณหภูมิเอาไว้ที่
ระดับ 25 องศาเซลเซียส ออกรถช้าๆ จากปั้ม Caltex เลี้ยวลัดเลาะไปตามซอยอารีย์ ไปโผล่ท้ายซอย
ที่โรงเรียนเรวดี แล้วเลี้ยวขวาขึ้นทางด่วน บนถนนพระราม 6 มุ่งหน้าไปยังปลายสุดของทางด่วน
สายเหนือ อุดรรัถยา เลี้ยวกลับที่ปลายด่าน บางปะอิน อยุธยา แล้วขึ้นทางด่วน มุ่งหน้า ย้อนกลับ
มายังทางด่วนสายเดิม ด้วยมาตรฐานเดิม คือ วิ่งเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ และนั่ง 2 คน
เมื่อลงทางด่วนที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิแล้ว เราเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ ถนนพหลโยธิน เราขับรถเลี้ยวกลับ
บริเวณหน้าโชว์รูม เบนซ์ราชครู แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปเติมน้ำมัน เบนซิน 95 Techron ที่ปั้ม Caltex
แห่งเดิม หัวจ่ายเดิม และพนักงานเติมน้ำมันก็คือคนเดิม
บอกไว้เป็นข้อมูลนิดนึงว่า ถังน้ำมันของ C-Class Coupe ทุกรุ่น มีความจุ 59 ลิตร และมีปริมาณ
น้ำมันสำรอง 8 ลิตร (ซึ่งน่าจะพาคุณแล่นไปถึงปั้มน้ำมันถัดไปได้ อีก ในระยะทาง 80 กิโลเมตร
หากตีเฉลี่ย 10 กิโลเมตร/ลิตร) ยกเว้น C350 และ C63AMG ที่จะใช้ถังขนาด 66 ลิตร และมี
น้ำมันสำรองในถังประมาณ 14 ลิตร (C350 จะมีสำรอง 8 ลิตร เช่นเดียวกับรุ่นอื่นๆ)
เรามาดูตัวเลขที่ได้กันดีกว่า ระยะทางที่ C-Class C250 BlueEFFICIENCY Coupe คันนี้ แล่นไป
ทั้งหมดบน Trip Meter ของแผงหน้าปัด อยู่ที่ 93.9 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 6.17 ลิตร
เมื่อหารกันออกมาแล้ว จะได้ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 15.21 กิโลเมตร/ลิตร
นับว่าทำตัวเลขได้ดีขึ้นกว่ารถรุ่นเดิม ทั้งที่ใส่ยางหน้ากว้างขึ้น ซี่งตามหลักแล้วควรจะกินน้ำมัน
มากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ
แต่ต้องไม่ลืมว่า ความพยายามในการปรับปรุงให้ตัวรถมีชิ้นส่วนที่เบากว่าเดิมในหลายๆจุด
รวมทั้ง การเปลี่ยนมาใช้เกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ 7G-TRONICS PLUS ยังช่วยลดทอนให้
รอบเครื่องยนต์ ที่ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง จากเดิม 2,400 รอบ/นาที ในรุ่น Saloon
เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ ลงมาเหลือแค่ 2,000 รอบ/นาที เมื่อรอบเครื่องยนต์ลดลง การฉีด
จ่ายเชื้อเพลิงก็ย่อมลดลงด้วย ทำให้ตัวเลขอัตราสิ้นเปลือง ประหยัดขึ้นจากรุ่น Saloon
อย่างชัดเจน
ตัวเลขที่ออกมา ใช่เพียงแค่ดูสวยงาม แต่หลังเติมน้ำมันเสร็จ ผมเริ่มลองขับขี่ใช้งานจริง ทั้งจับเวลา
หาอัตราเร่ง และความเร็วสูงสุด ไป 1 ครั้ง ไต่ขึ้นไปแตะ 210 กิโลเมตร/ชั่วโมง อีก 2 ครั้ง ที่เหลือ
ขับเรื่อยๆ ความเร็ว ไม่เกิน 140 – 150 กิโลเมตร/ชั่วโมง แถมด้วยการขับไปกลับ บางนา – ชลบุรี
อีก 2 รอบ (ไปถ่ายรูป 2 วันติด) มีขับไปแจ้งวัฒนะ รวมทั้งแถว บางขุนพรหม ฯลฯ กว่าที่ไฟสัญญาณ
เตือนน้ำมันหมดจะขึ้น ผมก็ขับรถไปแล่ถึง 553 กิโลเมตร! นั่นหมายความว่า น้ำมัน 1 ถัง ถ้าขับดีๆ
เนียนๆ คุณสามารถจะใช้งานได้ไกลถึง 600 กิโลเมตร ได้แน่ๆ! ถือว่าประหยัดเอาเรื่องเลยทีเดียว
เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์เบนซิน พร้อมระบบส่งกำลังของ C และ E-Class รุ่นอื่นๆ ที่เคยมีมา แถม
ยังเป็นตัวเลขความประหยัด ระดับเดียวกับ รถญี่ปุ่น เครื่องยนต์ 1,500 ซีซี อีกด้วย!!!
********** สรุป **********
นี่แหละ! Mercedes-Benz ที่ผมอยากจะเห็น และอยากให้เป็นมาตั้งนานแล้ว!
ผมหมดข้อกังขา หมดข้อสงสัย ว่าทำไม สื่อมวลชนต่างประเทศ ถึงพากันชื่นชมรถยนต์
Coupe 2 ประตูรุ่นใหม่คันนี้ ยิ่งโดยเฉพาะถ้าเป็นเวอร์ชันสุดบ้าพลังอย่าง C63 AMG
Black Edition (ที่ Mercedes-Benz Thailand ก็สั่งเข้ามาขายแล้วเช่นกัน)
พวกเขาส่วนใหญ่ ไม่เว้นแม้แต่ BBC Top Gear ต่างเลือกที่จะขับ C-Class Coupe
มากกว่าจะเลือก M3 รุ่นปัจจุบัน
ก็แหงละ! ขนาดเวอร์ชัน “กลางๆ เน้นไปในแนว Premium” ยังทำผลงานได้ดีขนาดนี้
แล้วถ้าเป็นรุ่นที่แรงกว่านี้ จะยิ่งน่าตื่นตาตื่นใจขนาดไหน!?
เพราะแม้จะเป็นรถยนต์ที่ใช้โครงสร้างวิศวกรรมร่วมกับ E-Class Coupe แต่ทันทีที่คุณเริ่ม
ออกรถ และพามันขึ้นทางด่วน ในช่วงยามดึก ลองสาดเข้าโค้งแรงๆสักครั้ง หรือเหยียบให้
เกินกว่า 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไปสักนิดนึง เอาแค่ 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว
ที่คุณจะเริ่มสัมผัสได้ ถึงอีกด้านอันแตกต่างกันอย่างชัดเจน อาจไม่ถึงกับขั้นฟ้ากับเหว แต่ก็
ต่างกันเหมือนคุณ กับเพื่อน ยืนอยู่คนละริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เลยนั่นแหละ!
มันช่างต่างกันมากจริงๆ และรถคันนี้ เปลี่ยนความคิดของผมที่ว่า Mercedes-Benz เป็น
รถผู้ใหญ่ ขับสบายๆ ขับไม่สนุก ทิ้งไว้เพียงความหลัง
เพราะในขณะที่ E-Class Coupe เริ่มออกอาการให้หวั่นใจ ช่วงหลังความเร็ว 160 กิโลเมตร/
ชั่วโมงขึ้นไป แต่ C-Class Coupe กลับยังคงนิ่งสนิท และไม่มีอะไรเกิดขึ้นมากไปกว่าเสียง
ของกระแสลมที่ไหลผ่านตัวรถไป แม้จะเดินทางด้วยความเร็วระดับ 220 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ก็ตาม แถมการเขาโค้ง ก็ยังทำได้ดี นิ่ง และประเสริฐมาก ถ้าลงจากทางด่วนแล้ว อยากหา
ของกินยามดึกในเยาวราช หรือสามย่าน การขับช้าๆ แล้วคลานไปบนลูกระนาด หลังเต่า
และหลุมบ่อต่างๆ ก็ยังเป็นเรื่องที่น่าอภิรมย์ อยู่ดี ไม่ว่าคุณต้องการจะเล่นบทบู๊ หรือบทบุ๋น
การตอบสนองอันคล่องแล่ว ว่องไว ทันใจ และลงตัวของ C-Class Coupe ก็จะช่วยพาคุณ
ผ่านพ้นสถานการณ์ต่างๆ ได้ด้วยความบันเทิงเริงใจยิ่ง
การเปลี่ยนเกียร์ ก็ไหลลื่น อัตราเร่ง แม้จะด้อยกว่าพี่ๆน้องๆ ร่วมตระกูล แต่ก็แค่นิดเดียว
แถมยัง “ประหยัดน้ำมันที่สุดในบรรดา รถยนต์ กลุ่ม Premium Compact ที่ใช้เครื่องยนต์
เบนซิน” ต่อให้เหยียบหนักๆ บ่อยกว่าปกติ เข็มน้ำมันก็ร่วงช้า ยิ่งถ้าขับเรื่อยๆ ชิลๆ ยิ่ง
ประหยัดเข้าไปใหญ่
แถมออพชันที่ Mercedes-Benz Thailand จัดเต็มมาให้คราวนี้ เรียกได้ว่า ล่อตาล่อใจบรรดา
คนบ้าออพชัน ให้สามารถเอาไปคุยโวกับเพื่อนฝูงได้ ไม่แพ้รถจากผู้ค้าอิสระรายย่อย เพราะ
ชุดตกแต่ง Edition 1 ก็ถือว่าแตกไลน์มาจาก AMG กันโดยตรง ได้ล้อ AMG มาใส่ ได้ระบบ
นำทางผ่านดาวเทียม พร้อมแผนที่ประเทศไทย ใช้งานได้เสร็จสรรพ เครื่องเสียงก็ไม่ขี้เหร่
ของเล่นก็เยอะใช้ได้
C-Class Coupe จึงเป็นเหมือนบทพิสูจน์ ครั้งสำคัญ ที่ทำให้ชาวโลกได้เห็นว่า Mercedes-Benz
ก็สามารถทำรถขับสนุกๆ เจ๋งๆ ออกมาขาย ประชากรวงกว้าง ได้โดยที่พวกเราทั้งหลาย อาจยัง
ไม่จำเป็นต้องเอื้อมไปถึง C63 AMG Black Edition หรือ SLS AMG ก็สามารถสัมผัสการขับขี่
ที่ทั้งสนุก และสบาย ไปพร้อมๆกัน ได้อย่างลงตัว น่าประทับใจ ทั้งอัตราเร่งที่ไม่แรงไม่อืด
จนเกินไป ประหยัดน้ำมันพอกับ Toyota Vios / Yaris Honda City / Jazz และ Mazda 2
ผมมองว่า พวกเขาน่าจะทำรถแบบนี้ ออกมาตั้งนานแล้ว น่าจะปรับเซ็ตพวงมาลัยและช่วงล่าง
ให้ดีเยี่ยมในระดับราคาของมันอย่างนี้ มานานแล้ว ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่เราอาจได้เห็น
Mercedes-Benz ทำงานชั้นดี ในราคาที่เศรษฐีเต็มใจจ่าย ง่ายขึ้นอย่างนี้ ในอนาคตต่อไป
โอ้! เขียนมาแต่ข้อดี แล้วมันมีข้อที่ควรปรับปรุงกันบ้างไหมละเนี่ย?
มีสิครับ! ยังไงก็มี เพราะต่อให้ผมจะประทับใจใน รถคันนี้แค่ไหน C-Class Coupe
ก็ยังคงมีจุดที่ควรปรับปรุงอยู่บ้าง เหมือนเช่นรถยนต์ทุกคัน ทุกยี่ห้อ ทุกรุ่น ในโลกนี้
1. คันเร่งไฟฟ้า ยังมีบางช่วงที่ตอบสนองได้ไม่ฉับไวเท่าที่ควร ยังเป็นคันเร่งที่มีลักษณะ
เหมือนกับคันเร่งไฟฟ้าของทั้ง Mercedes-Benz BMW และ Volvo คือ ถ้าเหยียบแบบ
ค่อยๆกดลงไป การตอบสนองจะต่อเนื่อง Smooth ดี แต่ถ้าต้งการอัตราเร่งแบบปัจจุบัน
ทันด่วน จนต้องกดคันเร่งลงไป จะจมมิด หรือแค่ครึ่งเดียว กดป๊าบ! จะต้องรอราวๆ
เกือบๆ 1 วินาที เป็นอย่างต่ำ ในการตอบสนอง ต่อความต้องการอย่างกระทันหันของ
ผู้ขับขี่ ผมอยากเห็นการสนองตอบที่ทันอกทันใจกว่านี้ เร็วกว่านี้อีกนิดนึง
2. พนักศีรษะ ค่อนข้างดันหัวนิดนึง และปรับระดับได้แค่ สูง – ต่ำ ซึ่งในการขับขี่
ทางไกล ผมจะเกิดอาการปวดต้นคอขึ้นมานิดนึงเหมือนกัน แม้จะไม่มากนัก และอยู่
ในระดับพอยอมรับได้ แต่หากมีการปรับปรุง ก็น่าจะดีกว่านี้ได้อีก
3.ระบบ COMMAND ก็ยังคงใช้งานยากตามเคย ไม่รู้ว่า เมื่อไหร่ เวอร์ชันใหม่ ที่ใช้งาน
ง่ายกว่านี้ จมีกำหนดคลอดในปี 2012 นี้ จะมาโผล่ในเมืองไทยกันเสียที อย่าไปกลัวว่าจะ
เหมือนคู่แข่งเขาเลย เพราะ BMW เอง แม้จะปรับปรุง iDrive ให้ใช้งานง่ายขึ้นกว่าเดิม
มากแล้ว แต่มันก็ยังคงใช้งานยาก และยังไม่ User Friendly พอๆกันอยู่ดีนั่นแหละ!
4. ก้านสวิชต์ ระบบ Cruise Control และระบบจำกัดความเร็ว ปรับตั้งเองได้ ยังคง
อยู่บนคอพวงมาลัย ฝั่งซ้าย ใกล้กับก้านสวิชต์ไฟเลี้ยว โอกาสที่ผู้ขับขี่จะเผลอไป
โยกสวิชต์ ผิดก้าน ยังพอมีอยู่ อย่างน้อย ตาแพน Commander CHENG ผู้คร่ำหวอด
ของเรา ก็เผลอมาแล้วกับตัว ดังนั้น ถ้าย้ายมาอยู่ฝั่งขวามือแทน ก็น่าจะดีขึ้น?
เท่าที่ผมเจอในช่วงเวลา 5 วัน 4 คืน มีเพียงแค่นี้
ทีนี้ เมื่อมาดูคู่แข่งในพิกัดเดียวกัน คุณจะมีทางเลือกอื่นใดได้บ้าง?
BMW 3-Series Coupe
ถ้าจะชกกันให้ตรงรุ่น คงต้องเป็น 325i Coupe ซึ่งมีค่าตัวแพงกว่า (อยู่ที่ 4,699,000 บาท) ตัวเลข
บนแค็ตตาล็อกบอกให้คุณรู้ได้ว่า แรงม้ามากกว่า แรงบิดมากกว่า แต่ตัวเลขอัตราเร่งที่ออกมา ทำได้
แค่เฉือน C250 Coupe Edition 1 ไปได้แค่ ราวๆ 0.2 – 0.4 วินาที โดยประมาณ แต่กินน้ำมันกว่ากัน
ชัดเจน ไม่เช่นนั้น ก็ต้องมองรุ่น 320i Coupe ซึ่งมีค่าตัวย่อมเยาลงมาเหลือ 3,799,000 บาท แต่อย่า
คาดหวังว่า ออพชันจะเพียบ เพราะมันก็คงจะไม่ได้เยอะไปกว่ากันนัก ส่วนเรื่องสมรรถนะ ถึงผม
จะไม่เคยลองขับ แต่มั่นใจได้ว่ายังไงก็ด้อยกว่า เว้นเสียแต่ว่า จะเป็นขุมพลังใหม่ 4 สูบ จากยุโรป
ที่วางอยู่ใน 5-Series รุ่นปัจจุบัน แต่นั่น ก็ทำได้แค่พอให้เขม่นๆกันบนทางหลวงได้ แต่จะไปทาบ
C-250 คงจะยาก เพราะถ้าไม่ใช่ 320d Coupe ที่แรงและประหยัดกว่า แถมยังแพงกว่านี้อีกมาก ก็
อย่าได้มาคุยกันให้เสียเวลาเลย
Audi TT
ตอนนี้ อยู่ในช่วงปลายอายุตลาด ปัญหาสำคัญของ Audi ในไทยคือ ถ้าจะซื้อจากทางยนตรกิจ
ซึ่งมีเครื่องไม้เครื่องมือที่จะดูแลคุณในปัญหาเชิงลึกได้ครบกว่า ก็ต้องทำใจกับราคาอะไหล่
และค่าตัวของรถ เมื่อเทียบกับออพชันที่ได้มา ค่อนข้างน้อย และไม่คุ้มค่า จนหลายคนต้อง
หันไปหาผู้ค้าอิสระรายย่อย Grey Market เป็นการทดแทน ที่สำคัญไปกว่านั้น ลูกค้าบางคน
ที่ไม่รู้เรื่องรถมากนัก ยังมาถามผมเลยว่า ทุกวันนี้ โชว์รูม Audi เหลืออยู่ที่ไหนในกรุงเทพฯ
จะให้ผมตอบว่าอะไรดีละเนี่ย?
Nissan 370Z
คันนี้ ก็จะดิบไปเลย ผมอาจจะเคยขับ 350Z แต่ ยังไม่เคยลองขับ 370Z ดังนั้น ผมคงบอกได้
เพียงแต่ว่า สำหรับใครที่อยากได้สมรรถนะในแนวสะใจ ไม่ได้เน้นหรูอะไรมากนัก นี่คือ
ตัวเลือกที่เหมาะมาก แม้ว่า Nissan Motor Thailand จะแปะป้ายราคาเอาไว้ 5 ล้านกว่าบาทก็ตาม
แต่ Grey Market ก็ยังคงมีทางเลือกให้คุณ ในราคาที่ถูกกว่ากันมากโขอยู่
Subaru Impreza WRX STi
เอาเงิน 3.6 ล้านบาท ไปแลกกับ รถยนต์ Hatchback ที่ซ่อนพิศสงไว้ใต้เปลือกนอกหน้าตาบ้านๆ
คนส่วนใหญ่อาจมองว่า ไม่เท่ ไม่คุ้ม แต่สำหรับคนรักในการขับขี่ และเน้นสมรรถนะที่ลดทอน
ความดิบจากรุ่นเดิม แต่แรงและเร็ว แถมยังมั่นใจกว่ารถรุ่นก่อนหน้า WRX STi ก็ยังคงเป็นอีก
ทางเลือกที่น่าสนใจ แต่จะคุ้มหรือไม่ ต้องไปตัดสินกันเอาเอง
สารภาพด้วยความสัตย์จริงว่า ตัวเลือกทั้งหมด ในระดับราคา 3.5 – 5 ล้านบาท และยังต้องเป็น
รถยนต์ Premium Sport Coupe หรือจะเน้นตัวแรง ผมนึกออกเพียงแค่นี้จริงๆ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาของการ ซื้อ C-Class Coupe ในตอนนี้ มันไม่ได้อยู่ที่ว่า จะเปรียบเทียบกับ
คู่แข่งรุ่นไหน เพราะลูกค้าที่มีเงินเยอะ ส่วนใหญ่ เห็นงานออกแบบแล้ว มักจะตัดสินใจเด็ดขาด
ว่า “นี่แหละ ฉันจะซื้อรุ่นนี้!”
แต่มันไปอยู่ที่ว่า “จะซื้อกับใคร ระหว่าง Mercedes-Benz Thailand กับ ผู้นำเข้าอิสระรายย่อย
ที่เราเรียกกันว่า Grey Market?”
เรื่องนี้ เป็นปัญหาโลกแตก ที่เถียงกันไม่จบไม่สิ้น มันขึ้นอยู่กับว่า คุณ มองปัญหา ในฐานะ “ใคร”?
เอาอย่างนี้แล้วกัน…..
สมมติว่า คุณเป็นเจ้าของสูตรทำข้าวหมูแดง อันเป็นบรรพบุรุษตกทอดมาช้านาน และคุณก็
เปิดร้านขายข้าวหมูแดง บนอาคารพาณิชย์ 2 คูหา ลูกค้าแน่นร้าน ขายดี เสียภาษีถูกกฎหมาย
และด้วยความใส่ใจของคุณ ที่ว่า ทุกอย่างต้องสะอาด พนักงานต้องดูแลลูกค้าดี ที่สำคัญเหนือ
สิ่งอื่นใดคือ ข้าวหมูแดงของคุณ อร่อยขั้นเทพ ทำให้ลูกค้าแน่นร้าน ไม่ขาดสาย เพียงแต่ว่า
ด้วยความละเอียดของคุณ ทั้งความใส่ใจกับวัตถุดิบ และการอบรมเด็กในร้าน ทำให้ต้นทุน
ของคุณสูงขึ้น ไปๆมาๆ จากเดิม จานละ 20 บาท ก็ต้องค่อยๆเขยิบขึ้นมาเป็น 25 30 35 และ
40 บาท ในทุกวันนี้ ลูกค้าเริ่มบ่นว่า ทำไมแพงขึ้น แต่คุณเองก็พูดไม่ออก
วันหนึ่ง จู่ๆ ห้องแถวข้างๆคุณ ที่ปิดร้างมานาน มีคนเข้ามาเซ้งต่อ แล้วก็เริ่มก่อสร้างปรับปรุง
ให้ดูสะอาด และใหม่ขึ้น จนผ่านไป 1-2 สัปดาห์ คุณก็พบว่า คนพวกนั้น มาตั้งร้านขายข้าว
หมูแดง “แข่งกับคุณ ประจันหน้ากับคุณ ห่างกันแค่ไม่ถึง 1 ก้าวย่างของฝ่าเท้าจิ้งจก!!” แถม
ตั้งราคาท้าชนจนหงายหลังผผึ่ง จานละแค่ 25 บาท ! แต่ให้ปริมาณเท่ากัน รสชาติ เหมือนๆกัน
เป็นธรรมดาครับ ลูกค้าผู้ไม่รู้ อาจจะอยากลองเข้าไปอุดหนุนสักครั้ง ทีนี้ บางรายก็แฮปปี้
มีความสุข ที่ได้จ่ายในราคาถูกกว่า ข้าวหมูแดงร้านของคุณ และลูกค้าเอง ก็ไม่สนใจจะรู้
หรอกครับว่า ถึงจะอร่อยพอๆกัน แต่วัตตุดิบ เกรดของเนื้อหมู เกรดของไข่ กับกุนเชียง
ที่คุณใช้ มันต่างกันกับร้านใหม่ ความใส่ใจในองค์ประกอบรอบข้าง ตั้งแต่ ความสะอาด
ของร้าน ยันคุณภาพของเด็กเสิร์ฟ มันต่างกัน!
ซ้ำร้าย ถ้าคุณคิดว่า เดี๋ยวลูกค้า ก็รู้เองแหละ ว่าความจริงเป็นเช่นใด ก็ต้องบอกว่า เสียใจด้วย
เพราะลูกค้าหลายคน ไม่สน! เขาสนแค่ว่า 25 บาท ที่เขาจ่ายไป มันถูกกว่า จ่ายให้คุณจานละ
40 บาท อย่างชัดเจน ปริมาณเท่าๆกันเลย แถมรสชาติ ก็เหมือนกันอีก
เรื่องนี้ เขียนขึ้น จากการได้ไปเห็น ร้านข้าวหมูแดง 2 ร้าน บนถนนสีลม ที่ฝ่ายผู้มาหลัง
จงใจเปิดร้านติดกัน จนร้านแรก ต้องเขียนป้ายแปะหน้าร้านกันเลยว่า “อย่าเข้าร้านผิด
ดูให้ดีๆของแท้อยู่ที่นี่” คือ ทั้งหมดที่ผมเขียน เป็นเรื่องสมมติ และไม่ใช่เรื่องจริงหรอก
แต่ผมเขียนเทียบให้อ่านนั่นละว่า ภาพกับบรรยากาศ ในช่วงที่ผ่านมา มันก็ไม่ต่างจากนี้
เท่าใดนัก
ดังนั้น การเลือกว่าจะกินข้าวหมูแดงร้านไหนดี ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของคุณ ถ้าอยาก
กินร้านแรก original แท้ๆ ก็ต้องจ่ายแพงหน่อย แต่สบายใจว่าจะได้ของดี ถึงแม้อาจจะมี
โอกาสเจอเด็กเสิร์ฟทำตัวไม่ดี อยู่บ้าง ในบางขณะ แต่ก็จะไม่มากมายนัก
ขณะเดียวกัน ถ้าอยากจะจ่ายถูกๆ แค่ 25 บาท ก็อยากบอกว่า ต้องเผื่อใจไว้บ้าง เพราะคุณ
ต้อง บริหารความเสี่ยงด้วยตัวคุณเอง
อ่านมาถึงบรรทัดสุดท้ายนี้ คุณจะเลือกอุดหนุน ข้าวหมูแดงร้านไหน ระหว่างร้านแรก
หรือร้านที่มาเปิดใหม่ ตัดสินใจกันเอาเองตามอัธยาศัย ครับ….! ผมขอไม่มีส่วนร่วมด้วย
แต่ประการใดๆ ทั้งสิ้น
เพราะทั้งหมดนั้น มันก็คิอ เงินของคุณเอง!
———————————–///————————————-
ขอขอบคุณ
บริษัท Mercedes-Benz Thailand จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย เป็นผลงานของผู้เขียน
ยกเว้น ภาพถ่ายจากต่างประเทศ และภาพวาด เป็นลิขสิทธิ์ของ Daimler AG เยอรมัน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
28 พฤษภาคม 2012
Copyright (c) 2012 Text and Pictures Except some studio shot & Illustration
from Daimler AG.Use of such content either in part or in whole without permission
is prohibited.First publish in www.Headlightmag.com
May 28th,2012
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome , CLICK HERE!