Oppa Gungnam Style!!
เพลงนี้ แล่นเข้ามาในหูผม ระหว่างนั่งเขียนต้นฉบับนี้อยู่…มันลอยมาแต่ไกล…คนเปิดเพลงจะรู้ไหมว่า
ช่างบังเอิญจริงๆ ราวกับรู้ว่า ผมกำลังจะนั่งเขียนเรื่องราว ของรถยนต์จากประเทศเดียวกันกับเจ้าของเพลงนี้
ไม่ต้องเลยครับคุณผู้อ่าน ไม่ต้องมานั่งนึกเอาผม ไปเต้นท่าเดียวกับ อีตา PSY เชียวนะ! ไม่อยากไปปรากฎตัว
นอบหมอบในลิฟต์ ให้ใครก็ไม่รู้ ยืนคร่อม แล้วก็ทำท่าเด้งเป้าไปมา ซ้ายๆ ขวาๆ อยู่บนหัว แค่นึกเห็นภาพ
นั่นก็ชวนให้ ตับเสื่อม ไวกว่ากินเหล้าแล้ว!
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ท่าเต้นควบม้า ใน Music Video บ้าๆรั่วๆ พร้อมกับเพลง Pop Dance ร่วมสมัย แนวตื๊ดๆ
ที่ใครๆ ฟังแล้วต้องนึกถึงภาพหน้าตากวนตีน ของ นักร้องตี๋หนุ่มเกาหลี ร่างอวบระยะสุดท้าย อย่าง PSY ได้ทันที
จะกลายเป็นเพลงที่โด่งดังอย่างรวดเร็วและฉับพลัน ยังไม่ทันจะข้ามปี Clip Video ของเขาบน Youtube.com
ก็มีคนคลิกเข้าไปเปิดดูแล้ว เป็นล้านๆ ครั้ง!
ปฏิเสธไม่ได้ด้วยว่า วันนี้ เกาหลีใต้ กลายมาเป็น หนึ่งในผู้สร้างสารพัดกระแสใหม่ๆ ให้ชาวโลกได้ตื่นตาตื่นใจ
กันเป็นว่าเล่น ไม่มีหยุดหย่อน จากละครโทรทัศน์ สู่การท่องเที่ยว จากเครื่องใช้ไฟฟ้า ธรรมดาๆ สู่สินค้า IT
ที่อาจหาญฟัดเหวี่ยงกับคู่ต่อกรระดับโลก ชนิดมันส์ถึงแก่น
ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่า หนึ่งในสิ่งที่มีส่วนช่วยวางรากฐานให้เกาหลีใต้ กลายเป็นประเทศที่ผู้คนทั่วโลกรู้จัก
และเริ่มให้การยอมรับมากขึ้น นอกเหนือจากธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า นั่นคือ อุตสาหกรรมยานยนต์ โดยมี Hyundai
Motor เป็นหัวหอกสำคัญที่สุด เริ่มมาตั้งแต่ยุค 1970 บุกตลาดอเมริกาครั้งแรก ทศวรรษ 1980 กว่าจะเป็นที่ยอมรับ
อย่างจริงจัง ก็เพิ่งจะเกิดขึ้นในช่วงปี 2008 – 2009 นี่เอง !
ปฏิเสธไม่ได้อีกด้วยว่า รถยนต์ Hyundai เข้ามาตั้งหลักสร้างสีสันในตลาดรถยนต์เมืองไทย นานมากแล้ว ในยุค
ของพระนครยนตรการ ผู้จำหน่ายรายเก่า ก่อนจะหายหน้าไปหลายปี ตั้งแต่หลังช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ราวๆปี 2000
และเพิ่งจะกลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง เมื่อปี 2007 นี่เอง
ปฏิเสธไม่ได้ว่า Hyundai H-1 คือรถตู้ที่สร้างยอดขายและรายได้ เป็นกอบเป็นกำ ให้ Hyundai Motor Thailand
ภายใต้การดูแลของ บริษัท Sojitsu จากญี่ปุ่น มากที่สุด ต้องถือว่าเก่งมากๆ ที่ประคับประคอง ขายกันมาได้เรื่อยๆ
ตั้งแต่ปี 2007 จนถึงวันนี้ ยอดขายยังไม่แผ่วเท่าไหร่เลย
แต่พอมาเป็นตลาดรถยนต์นั่งในบ้านเรา มันกลับเป็นเรื่องตรงกันข้าม…
แล้วก็ปฏิเสธไม่ได้อยู่ดีอีกนั่นแหละว่า มิใยที่ ทุกฝ่ายจะพยายามผลักดันกันจนสุดความสามารถ พยายามโน้มน้าว
เจรจา สรรหารถยนต์รุ่นใหม่ๆ มาทำตลาดในบ้านเรา แต่หนทางก็ไม่ได้เรียบง่าย เหมือนพิ้นผิวกระดาษถ่ายเอกสาร
ยอดขายที่เกิดขึ้น มันก็สะท้อนให้เห็นได้จาก ปริมาณของ รถยนต์นั่ง Hyundai รุ่นใหม่ๆ ที่คุณผู้อ่านพบเห็นได้
บนท้องถนน ทั้งช่วงเช้าก่อนเข้าทำงาน และช่วงเย็น ขณะกำลังขับรถกลับบ้านนั่นแหละ! อาจเยอะขึ้น แต่ยังไม่มาก
ที่สำคัญ รถยนต์นั่ง Sedan 4 ประตู คันที่คุณกำลังจะได้อ่านบทความรีวิวอยู่นี้ ก็เป็นอีกรุ่นหนึ่ง ที่ประสบชะตากรรม
ไม่แตกต่างไปจาก Hyundai Sonata พี่ชายรุ่นใหญ่ ที่คนอเมริกันเขาอึ้งใส่ แต่คนไทยยังเฉยชา
มันช่างตรงข้ามกับกระแส เกาหลีฟีเวอร์ที่เกิดขึ้นในบ้านเรา เวลานี้ โดยสิ้นเชิง!
คำถามก็คือ ทำไม? มันเกิดอะไรขึ้น?
รถไม่ดี? ไม่จริง ข้อนี้ขอเถียง! Hyundai ยุคใหม่ ขับมาทุกรุ่น ช่วงล่าง “เทพ” กว่ารถญี่ปุ่นบางค่ายเสียอีก
บริการไม่ดี? อืมมม ก็ไม่จริงเท่าไหร่ แม้จะมีอยู่บ้าง แต่เสียงบ่นก็ยังถือว่าน้อยกว่าค่ายอื่นๆ อยู่ในตอนนี้
การตลาดไม่ดี? ข้อนี้ยังกังขาอยู่…ผมก็ไม่รู้ตื้นลึกหนาบางเท่าไหร่นัก
แต่…มันต้องมีสาเหตุสิ! เกิดอะไรขึ้น?
ทำไม รถเก๋งอย่าง Elantra รถรุ่นที่ ผมเคยพูดเอาไว้ให้ทาง Hyundai ฟังว่า ถ้าเอาเข้ามา มันจะขายได้แน่ๆ
รถคันนี้ ได้รับรางวัล North American Car of the Year ในปี 2012 มาแล้วด้วยนะ รถที่ขายดีเป็นอันดับต้นๆ
ในตลาดเกาหลีใต้ บางเดือนขายได้เป็นอันดับ 1 ด้วยซ้ำ เป็นหนึ่งในรถยนต์ที่ช่วยพลิกภาพลักษณ์ของ
แบรนด์ Hyundai ครั้งใหญ่ ในเวทีสากล…
แต่พอมาขายในบ้านเรากันจริงๆ กลับขายได้น้อยมาก ตัวเลขยอดขาย เดินไปได้ช้ามาก พอๆ กับ เหล่าบรรดา
ลูกหอยทากหัดเดิน!
ความจริงทั้งหมด ซ่อนเร้นอยู่ใน เส้นสายอันลื่นไหล รอให้ผม สัมผัส และเล่าให้คุณๆ ได้อ่านกัน ณ บัดนี้
สำหรับ Hyundai Motor แล้ว Elantra (หรือที่ใช้ชื่อในการทำตลาดบางประเทศ ว่า Avante และ/หรือ Lantra)
คือรถยนต์อีกรุ่นหนึ่ง ที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของตนในตลาดโลก นอกจากพี่ชายคนกลาง อย่าง Sonata
เพราะ Elantra / Avante คือหัวหอกหลักในการบุกตลาดรถยนต์ขนาดเล็ก แต่ถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่สุด ตลอดกาล
นั่นคือกลุ่ม Compact Class (C-Segment) ซึ่งเต็มไปด้วยคู่แข่งระดับพระกาฬ ตั้งแต่ฟากยุโรป อาทิ Volkswagen
Golf , Renault Megane , Opel/Vauxhall Astra , Peugeot 308 , Fiat Bravo ไปจนถึงคู่แข่งฟากญี่ปุ่นอย่าง
Toyota Corolla , Honda Civic , Nissan Sylphy/Sentra , Mazda 3/Axela , Mitsubishi Lancer หรือแม้แต่
คู่แข่งชาวอเมริกัน อย่าง Chevrolet Cruze และ Ford Focus ใหม่ เป็นต้น
เป็นไงครับ เห็นแต่ละชื่อแล้ว เหนื่อยแทนเลยไหมละ? แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ Hyundai ยี่หระ ประการใดทั้งสิ้น
เพราะนับตั้งแต่ เปิดตัวรุ่นแรก รหัสรุ่น J1 (รูปด้านบนสุด เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร 1.6 ลิตร และ 1.8 ลิตร) เมื่อเดือน
ตุลาคม 1990 จนถึง ปลายอายุตลาดของ รุ่นที่ 4 ในปี 2010 เวลาผ่านไป 20 ปี Hyundai Elantra (ในบางตลาด
เช่นเกาหลีใต้ บ้านเกิด จะใช้ชื่อ Hyundai Avante) ทำยอดขายสะสมทั่วโลกได้มากถึงกว่า 6 ล้านคัน ! ถือว่า
ทำผลงานได้ดีเด่นเลยทีเดียว เมื่อต้องคิดด้วยว่า Elantra / Avante กำเนิดมาในช่วงที่ เกาหลีใต้ พยายามสร้าง
การยอมรับของทั้งผู้บริโภค และผู้คนในแวดวงอุตสาหกรรมรถยนต์ ดังนั้น ตัวเลขยอดขายที่มากขนาดนี้
ถือได้ว่า ประสบความสำเร็จในระดับไม่ธรรมดา
ส่วนหนึ่ง ต้องยกให้คุณงามความดีของตัวรถในแต่ละรุ่น ที่ไม่มีอะไรซับซ้อน แต่ตอบโจทย์การใช้งานของ
ผู้บริโภคได้ครบถ้วน แถมยังมีคุณภาพของตัวรถ อยู่ในระดับเทียบเคียงรถญี่ปุ่น ในราคาย่อมเยาว์กว่าคู่แข่ง
คิดดูเอาแล้วกันว่า ขนาด Toyota และ Honda เอง ยังต้องหาซื้อ Elantra ใหม่ไปชำแหละ วิเคราะห์ ศึกษา
ข้อมูล มาช่วยในการพัฒนา Toyota Corolla รุ่นต่อไป และ Honda Civic FB รุ่นปัจจุบันนี่แหละ!
คนไทย เริ่มรู้จักชื่อของ Elantra เป็นครั้งแรก เมื่อบริษัทลูกของกลุ่มพระนครยนตรการ (PNA) ในชื่อ UAS
(United Auto Sales Thailand) นำแบรนด์ Hyundai มาเปิดตลาดบ้านเรา อย่างเป็นทางการ ในงานมหกรรม
ยานยนต์ เดือนธันวาคม 1991 ณ Central ลาดพร้าว ตั้งราคาขายคันละ 474,000 – 568,000 บาท แน่นอนว่า
ด้วยราคาที่เหมาะสม ภาษีรถยนต์นำเข้าที่ถูกลงในช่วงรัฐบาล ฯพณฯ อานันท์ ปัณยารชุน ในตอนนั้น
ทำให้ Elantra เริ่มโลดแล่นบนถนนเมืองไทย เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
หลังจากนั้น รุ่นที่ 2 รหัสรุ่น J2 ก็เข้ามาสานต่อ ในปี 1995 มากันครบทั้ง รุ่น Sedan กับ Station Wagon
หรือที่เรียกว่า Touring Wagon (เปิดตัวตามหลังมา ในอีกไม่กี่เดือน) วางเครื่องยนต์ 1.6 และ 1.8 ลิตร
(ในยุโรป จะมีเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร จาก Hyundai Tiburon / Coupe ให้เลือกแทนรุ่น 1.8 ลิตร อีกด้วย)
ในยุคนั้น Elantra โลดแล่นบนถนนเมืองไทย จำนวนหลายพันคันอยู่ บางคัน ยังอยู่รอดมาถึงทุกวันนี้
แต่เมื่อ Hyundai Motors ตัดสินใจไม่ต่อสัญญากับ United Auto Sales ช่วงปี 2000 การทำตลาด
รถยนต์ทุกรุ่น จึงต้องยุติลงไปโดยปริยาย Elantra / Avante XD เจเนอเรชัน 3 ซึ่งมีทั้งแบบ Sedan และ
Hatchback 5 ประตู เปิดตัวในเดือนเมษายน 2000 และรุ่นที่ 4 Elantra / Avante HD เปิดตัวในเดือน
เมษายน 2006 จึงต้องถูกเว้นวรรค ไม่ได้เข้ามาทำตลาดในบ้านเราโดยปริยาย กระนั้น ทั้ง 2 รุ่น ก็ยัง
ทำยอดขายสะสมได้ดีมาก ในระดับรุ่นละเกือบ 1 ล้านคัน ทั่วโลก โดยยอดขายในสหรัฐอเมริกานั้น
มีเพียงช่วงปี 2006 – 2009 เท่านั้น ที่มีตัวเลขต่ำกว่าระดับ 100,000 คัน/ปี พอหลังจากนั้น ตัวเลขก็
กลับมาทะยานขึ้นเกินระดับดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง เฉพาะปี 2011 ที่ผ่านมา Hyundai ขาย Elantra ใน
สหรัฐฯ ได้มากถึง 172,669 คัน!
ตัวเลขยอดขายที่สูงขึ้น แถมฝ่ายบริหารยังกำหนดให้ Elantra ใหม่ เป็น 1 ใน 4 รถยนต์รุ่นที่ต้องเปิดตัว
ตามแผน 24/7 version 2.0 (7 รุ่นรถยนต์ใหม่ในช่วง 24 เดือน) โดยเริ่มต้นมาตั้งแต่ All-new Tucson,
Sonata และซาลูนรุ่นหรสุดอย่าง Equus ทั้งหมดนี้ ถือเป็นทั้งกำลังใจและแรงกดดัน ให้ทีมงานพัฒนา
รุ่นเปลี่ยนโฉมใหม่ทั้งคันของ Elantra ในรหัสโครงการ MD ต้องแบกรับไว้ มากพอสมควร อีกทั้งเป็น
ช่วงเวลาแห่งการยกเครื่องงานออกแบบของ Hyundai กันเสียใหม่ทั้งหมด ให้เป็นแนวทางเดียวกันกับ
รถยนต์รุ่นอื่นๆ นั่นคือ “Fluidic Sculpture” หรือปฏิมากรรมอันลื่นไหล ซึ่งสะท้อนแนวเส้นสายที่
โฉบเฉี่ยวอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
คิดได้ดังนี้ ทีมงานของ Hyundai ณ ศูนย์การออกแบบ Hyundai North American Design Center
ในเมือง Irvine มลรัฐ California จึงเลือกจะเพิ่มธีมการออกแบบของ Elantra ใหม่ ตามแนวคิด
“WIND CRAFT” อันหมายถึง การสรรสร้างปฏิมากรรมชั้นเลิศ จากการเคลื่อนไหวของกระแสลม
เช่นเดียวกับ SUV รุ่น Tuscon และ Sedan ขนาดกลางรุ่น Sonata รวมทั้ง Sedan ขนาดกลางค่อนใหญ่
รุ่น 5G Grandeur เพื่อช่วยให้แนวเส้นสาย Graphic ด้านข้างของรถ สะท้อนบุคลิกที่พริ้วไหวอย่าง
เปี่ยมพลัง
ในที่สุด รุ่นปัจจุบันที่เห็นอยู่นี้ รหัสรุ่น MD ก็พร้อมออกสู่สายตาสาธารณชนเป็นครั้งแรก ในงาน Busan
International Motor Show เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2010 เพียงแต่ในช่วงเปิดตัว Hyundai ยังไม่พร้อม
จะให้เห็นภายในห้องโดยสาร เนื่องจากตัวรถยังอยู่ในขั้นตอนสุดท้าย ก่อนการพัฒนาจะแล้วเสร็จ
เลยยังต้องใช้ฟิล์มสีดำ ปิดกระจกหน้าต่างมืดมิดไว้ก่อนจัดแสดงบนแท่นหมุนกลางเวที
แต่หลังจากนั้นไม่นานนัก Hyundai ก็พร้อม เริ่มการผลิต Elantra MD ที่โรงงาน Ulsan ใน เกาหลีใต้ และ
เริ่มส่งมอบสู่ลูกค้าชาวเกาหลีใต้ได้เป็นครั้งแรก พร้อมเปิดตัวเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2010 จากนั้น จึงเริ่ม
ส่งออกไปทำตลาดที่สหรัฐอเมริกา ในฐานะ รถรุ่นปี 2011 เมื่อช่วงรอยต่อระหว่างสิ้นปี 2010 – มกราคม 2011
ทันทีที่ผ้าคลุมถูกเปิดออก สายตาแทบทุกคู่ก็หันมาจับจ้อง Hyundai อีกครั้ง เพราะหลังจากที่พวกเขาทำให้
โลกรถยนต์ สั่นสะเทือนด้วยการออกแบบของ Sonata รุ่นล่าสุดแล้ว มาคราวนี้ Elantra หรือ Avante ใหม่
ก็ยิ่งสร้างความคื่นตาตะลึงใจ ให้ทุกผู้คนที่พบเห็น ด้วยแนวเส้นสายแบบ Fluidic Sculpture Design อัน
เป็นธีมในการออกแบบของ Hyundai ในช่วง 2-3 ปีมานี้
หลังจากนั้น Elantra ตัวถัง Hatchback 5 ประตู ก็คลอดตามออกมาห่างๆ และล่าสุด ตัวถัง Coupe 2 ประตู
ถูกเผยโฉมในงาน Busan International Motor Show เดือนเมษายน 2012 เพื่อเตรียมทำตลาดในปี 2013
วางเครื่องยนต์ Nu 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2.0 ลิตร
แต่อย่าเพิ่งคาดหวังเลยครับ สำหรับตัวถัง Coupe เพราะเมืองไทย แค่ได้ตัวถัง Sedan มาขายได้
ในท้ายที่สุดเนี่ย ก็เรียกว่า โชคดียิ่งกว่าได้โชคทองจากซองมาม่าซะอีก!
เพราะในตอนแรกนั้น Hyundai Motor Thailand ยังไม่มีวี่แวว ว่าอยากนำ Elantra ใหม่เข้ามาขาย เพราะใน
ช่วงที่เชิญสื่อมวลชน ไปเยือนสำนักงานใหญ่ของ Hyundai ที่กรุงโซล เกาหลีใต้ ยังมีการออกข่าวว่า จะนำ
Sedan รุ่นเล้กกว่า อย่าง Accent เข้ามาเปิดตัว ในงาน Motor Expo 2011 เวลาผ่านไปเพียง 2 เดือน การณ์
กลับตาลปัตร กลายเป็นว่า Hyundai ส่งข่าวเชิญสื่อมวลชน ร่วมงานเปิดตัว Elantra ใหม่ กันในช่วงเดือน
พฤศจิกายน 2011 แทน
แต่เนื่องจากตอนนั้น ประเทศไทย กำลังประสบกับวิกฤติมหาอุทกภัยเขตพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง รวมทั้ง
กรุงเทพมหานครบางส่วน อย่างหนัก แม้แต่ โรงแรมในย่านรัชดาภิเษก ที่ตั้งใจจะใช้เป็นสถานที่จัดงาน
กลับโดนน้ำท่วมไหลบ่าเข้ามาบริเวณด้านหน้า เกิดความไม่สะดวกต่อการจัดงาน จนต้องประกาศยกเลิก
งานแถลงข่าวกันกลางคัน ซ้ำร้าย บ้านของทีมงาน Hyundai หลายๆคนเอง ก็โดนผลกระทบจากน้ำท่วม
ครั้งนั้นไปด้วยอย่างช่วยไม่ได้
สุดท้าย กว่าทุกอย่างจะลงตัว Hyundai ก็ต้องเลื่อนกำหนดการมาเปิดตัวกันในวันที่ 13 มีนาคม 2012 ที่
สนามแข่งรถ มอเตอร์สปอร์ตแลนด์ หรือแดนเนรมิต(เก่า) ถนนพหลโยธิน เป็นการทดแทน
ตัวรถมีความยาว 4,530 มิลลิเมตร กว้าง 1,775 มิลลิเมตร สูง 1,445 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,700 มิลลิเมตร
น้ำหนักตัวรถโดยประมาณอยู่ที่ 1,200 – 1,230 กิโลกรัม ความจุถังน้ำมันเชื้อเพลิง 48.5 ลิตร
ถ้าเปรียบเทียบกับรุ่นที่แล้ว ซึ่งยาว 4,505 มิลลิเมตร กว้าง 1,775 มิลลิเมตร สูง 1,480 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ
2,650 มิลลิเมตร จะพบว่า ตัวรถยาวขึ้นกว่าเดิม 25 มิลลิเมตร กว้างเท่าเดิม เตี้ยลง 35 มิลลิเมตร แต่เพิ่ม
ความยาว ระยะฐานล้อ 50 มิลลิเมตร เท่ากับว่า ตัวรถยาวขึ้น ฐานล้อยาวขึ้น และเตี้ยลง ช่วยให้ตัวรถดู
เพรียวยาวขึ้นกว่าเดิมชัดเจนมาก
และถ้าเปรียบเทียบกับคู่แข่งสำคัญในตลาดแล้ว อย่าง Honda Civic FB ใหม่แล้ว จะพบว่า Elantra ใหม่
ยาวกว่ากัน แค่ 5 มิลลิเมตร กว้างกว่ากัน 20 มิลลิเมตร สูงกว่า 10 มิลลิเมตร แต่มีระยะฐานล้อยาวกว่า
30 มิลลิเมตร
ต่อให้เปรียบเทียบกับ Toyota Corolla ALTIS รุ่นปัจจุบัน ที่ใกล้จะตกรุ่นใน 1-2 ปีข้างหน้านี้ Elantra ใหม่
ก็ยังมีความยาวเท่ากัน กว้างกว่า 15 มิลลิเมตร เตี้ยกว่า 35 มิลลิเมตร และระยะฐานล้อก็ยังยาวกว่ามากถึง
100 มิลลิเมตร!
เส้นสายตัวถังทั้งคัน ร่างขึ้นภายใต้ Theme การออกแบบ ที่เรียกว่า WIND CRAFT หลังจากผ่านการทดสอบ
ในอุโมงค์ลม ของศูนย์วิจัยและพัฒนา R&D Hyundai Kia Motors ที่ Namyang (ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดใน Asia)
ปรากฎว่า Elantra ใหม่ มีค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศต่ำเพียง Cd 0.28 ซึ่งถือว่า ต่ำกว่าเกณฑ์ทั่วไป
ที่พบได้ในรถยนต์ Sedan พิกัดเดียวกัน รุ่นอื่นๆ
ด้านหน้ารถ ถูกออกแบบให้มีกระจังหน้า เป็นแบบ Hexagonal คล้ายคลึงกับเพื่อนพ้องร่วมตระกูล ทั้ง Tuscon
และ Hyundai Veloster พร้อมกับออกแบบช่องรับอากาศที่เปลือกกันชนล่าง ให้ดูยิ้มแฉ่ง เรียกแขกตลอดเวลา
พ่นสีดำ ตกแต่งด้วยโครเมียมนิดหน่อย มือจับประตูพ่นสีเดียวกับตัวรถ มีไฟเลี้ยวที่กรอบกระจกมองข้างแบบ
LED มาให้เฉพาะรุ่นท็อป 1.8 G ส่วนไฟตัดหมอก มีมาให้เฉพาะรุ่น 1.8 G และ 1.8 S ไม่มีในรุ่น 1.8 E ส่วน
ล้อและยางนั้น รุ่นเกียร์ธรรมดา 1.8 E จะใช้กระทะล้อเหล็ก พร้อมฝาครอบจากโรงงาน สวมด้วยยางขนาด
195/65 R15 แต่ในรุ่น 1.8 S และ 1.8 G จะสวมด้วยล้ออัลลอย ขนาด 17 นิ้ว พร้อมยางขนาด 215/ 45 R17
บั้นท้ายของรถ มีแผงทับทิมที่เปลือกกันชนหลัง ติดมาให้ 2 ฝั่งซ้าย – ขวา มีไล่ฝ้าหลัง และเสาอากาศวิทยุ ฝังไว้
ในกระจกบังลมหลัง เหมือนกัน ชุดไฟท้าย มีแนวด้านข้างที่โอบเข้ามายังด้านข้างมากพอสมควร คล้ายกับ
แนวเส้นประติมากรรม ช่วยทำให้รถดูเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าจะจอดอยู่กับที่ นิ่งๆ เฉยๆ
ในรุ่น 1.8 G ตัวท็อป ที่คุณเห็นอยู่นี้ จะเป็นรุ่นเดียวเท่านั้น ที่ใช้ รีโมทกุญแจ Keyless-Go พร้อมระบบ
กันขโมย Immobilizer แค่พกกุญแตรีโมทเอาไว้ เดินเข้าใกล้รถ กดปุ่ม เพื่อ ปลด หรือสั่งล็อกบานประตู
การติดเครื่องยนต์จะใช้วิธีกดปุ่ม Start ขนาดใหญ่ ที่บริเวณฝั่งขวาของคอพวงมาลัย หน้าตากุญแจ ก็จะ
เหมือนกันกับทั้งใน Hyundai Tucson และ Hyundai Sonata ใหม่ นั่นเองละส่วนรุ่น เกียร์ธรรมดา
1.8 E และเกียร์อัตโนมัติ 1.8 S จะใช้กุญแจแบบพับได้ พร้อมรีโมทสั่งล็อกหรือปลดล็อกในตัว
การเข้า – ออกจากพื้นที่ผู้โดยสารด้านหน้า ยังคงทำได้ดี พอกับรถยนต์ญี่ปุ่นในพิกัดเดียวกันทั่วไป
ไม่ได้รู้สึกลำบากยากเย็น หรือต้องก้มตัวเยอะแยะมากนัก ถ้ามีการปรับเบานั่งลงไปในตำแหน่ง
ต่ำสุดแล้ว ตั้งแต่แรก แต่ถ้าเป็นหุ่น Heavy Weight อย่าง ตาแพน Commander CHENG ละก็…
ผมว่า น่าจะมีบ่นนิดหน่อยบ้างเหมือนกัน
พื้นที่วางแขน ฝั่งบานประตูคนขับ วางได้สบายกำลังดี อาจเพราะผมปรับตำแหน่งเบาะให้กดลงต่ำ
เตี้ยสุดติดพื้นรถ เท่าที่จะทำได้ แต่ถ้าฝั่งของผู้โดยสาร บางคนอาจสัมผัสว่า ตำแหน่งวางแขนบน
แผงประตู จะเตี้ยไปสักนิด เพราะ ไม่สามารถปรับเบาะให้กดลงต่ำได้
เบาะนั่งทั้งด้านหน้าและหลัง หุ้มด้วยผ้าลาย Sport ที่ชื่อว่า Knit Black ซึ่งเป็นลวดลายที่ดูคล้ายกับ
เบารถญี่ปุ่นในยุคปัจจุบันนี้ ผ้าเบาะ ให้สัมผัสที่ดีมากๆ และไม่เก็บฝุ่นมากเท่ากับรถยนต์ที่ใช้ผ้าหุ้มเบาะ
ในยุคก่อน
เฉพาะรุ่น 1.8 G ที่เห็นอยู่นี้ เบาะนั่งฝั่งคนขับ สามารถปรับระดับต่างๆ ด้วยสวิชต์ไฟฟ้าได้มากถึง
10 ทิศทาง แถมด้วยสวิชต์ปรับตำแหน่งดันหลัง เพื่อช่วยลดโอกาสปวดหลังลงนิดหน่อย หลังจาก
ลองใช้งานจริง ขอแนะนำว่า ปรับให้ดันหลังแค่นิดๆ ก็พอ อย่าดันจนเยอะมากไม่เช่นนั้น อาการ
ปวดหลังจะถามหา เป็นเช่นนั้นไป! การซัพพอร์ตบริเวณไหล่ ทำได้กำลังดี ไม่มากไม่น้อยไป
เบาะรองนั่ง มีความยาวพอกันกับรถญี่ปุ่นทั่วไป คือออกจะสั้นนิดๆ แต่ใครที่คุ้นชินกับรถญี่ปุ่น
อยู่แล้ว คุณจะไม่พบปัญหาเลย การขับบขี่ทางไกล นั่งสบายใช้ได้ พื้นที่เหนือศีรษะมีพอประมาณ
เข็มขัดนิรภัยคู่หน้า เป็นแบบ ELR 3 จุด เป็นแบบ ปรับระดับ สูง – ต่ำได้
การเข้า – ออก พื้นที่ผู้โดยสารด้านหลัง อาจต้องใช้ความระมัดระวังสักหน่อย ต้องก้มหัวลงไปมาก
กว่าปกติเล็กน้อย มิเช่นนั้น ศีรษะ อาจโขกเข้ากับขอบหลังคาได้ แต่การลุกออกจากรถ ทำได้อย่าง
สบายๆ ไม่ยากเย็นอย่างที่คิด แม้ว่าแนวโค้งของเสากรอบประตูจะดูเหมือนมีขนาดเล็ก แต่การติดตั้ง
เบาะรองนั่ง ในตำแหน่งเตี้ยกำลังดี ไม่เตี้ยมากเกินไป ทำให้ผมยังลุกเข้าออกจากประตูคู่หลังได้อยู่
พื้นที่วางแขนบนแผงประตูด้านข้าง สามารถวางแขนได้ในตำแหน่งพอดี แต่กระจกหน้าต่างของ
บานประตูคู่หลัง จะเลื่อนเปิดลงได้ แค่เกือบสุดหมดบาน ขาดขอบด้านบนซ้ายอีกนิดเดียวจริงๆ
เบาะหลัง ของทุกรุ่น จะมี พนักศีรษะตอนหลังปรับระดับสูง-ต่ำได้ มีพื้นที่วางแขนพับเก็บได้ พร้อม
ช่องวางแก้วติดตั้งมาให้ 2 ตำแหน่งในตัว แต่ไม่มีฝาปิด ในเวอร์ชันต่างประเทศ จะมีการติดตั้ง ระบบ
Heater อุ่นตูด ที่เบาะรองนั่ง แต่เวอร์ชันไทย มันไม่ใช่ของจำเป็น เลยไม่มีมาให้
พนักพิงด้านหลัง นั่งสบาย กำลังดี ฟองน้ำ นุ่มและแน่นในระดับเหมาะสม เหมือนเช่นเบาะหน้า
ที่พักแขนแบบพับเก็บได้ ออกแบบมาไม่พอดีต่อการวางแขน เตี้ยไปนิดเดียวจริงๆ
เบาะรองนั่งด้านหลัง ยังสั้นไปนิดนึง ถ้านั่งโดยสารในระยะทางไม่ไกลนักละก็ นั่งได้สบายๆ แต่
ถ้าต้องเดินทางไกลแล้วละก็ ควรให้บรรดาลูกสมุนตัวน้อยประจำบ้านของคุณ ยึดครองพื้นที่เบาะหลัง
ไปเลย จะดีกว่า
เข็มขัดนิรภัยที่ให้มา เป็นแบบ ELR 3 จุด 2 ตำแหน่ง ซ้าย – ขวา และแบบ ELR 2 จุด 1 ตำแหน่ง
คาดเอว ตรงกลาง และมีมือจับสำหรับโหนตัว เหนือช่องทางเข้าประตูให้ ทั้ง 2 ฝั่ง
พื้นที่วางขา ของผู้โดยสารด้านหลังนั้น ใหญ่โต เหลือเฟือ ต่อให้ผู้ขับขี่จะตัวใหญ่จนต้องเลื่อนเบาะ
ถอยร่นมามากแค่ไหน ก็จะยังมีพื้นที่วางขาเหลือให้ผู้โดยสารด้านหลังได้แน่ๆ ถือว่ามีพื้นที่ส่วนนี้
ใหญ่ ไม่น้อยหน้าคู่แข่งในพิกัดเดียวกันรุ่นอื่นๆเลย
ส่วนพื้นที่เหนือศีรษะนั้น ถ้าคุณตัวสูง 170 เซ็นติเมตร พอๆกับผม แล้วนั่งบนเบาะหลังในลักษณะ
แนบชิดแผ่นหลังและบั้นท้าย เข้ากับเบาะหลังพอดีเป๊ะ ศีรษะของคุณจะเฉี่ยวกับขอบเพดานหลังคา
ด้านบนพอดี ถือว่า พื้นที่เหนือศีรษะ แทบไม่เหลือเลย และคุณอาจต้องนั่งก้มหัวไปตลดทาง หากคุณ
ตัวสูงเกินกว่านี้
นอกจากนี้ เบาะนั่งด้านหลังยังสามารถแบ่งพับได้ในอัตราส่วน 60 : 40 เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บของ
ด้านหลังรถให้มากขึ้น แต่ถ้าจะพับเบาะจากภายในรถเลยนั้น ยากครับ หาคันโยกเท่าไหร่ ก็ไม่เจอ
ผมพยายามควานหาในตอนแรก ก็หลงเข้าใจผิดว่า เบาะหลังพับไม่ได้
พอเปิดฝาประตูห้องเก็บของด้านหลังเท่านั้นแหละ ถึงบางอ้อ กันเลย
ฝาประตูห้องเก็บของด้านหลัง เปิดได้จากคันโยกที่พื้นรถข้างเบาะคนขับและก้านโยกเปิดฝาถังน้ำมัน
ในรถ และสวิชต์ไฟฟ้า ปลดล็อกบริเวณ ฝั่งขวา ของไฟส่องป้ายทะเบียนหลัง หรือไม่ก็กดสวิชต์บน
รีโมทกุญแจ แล้วแช่ไว้ 1-2 วินาที ฝาประตูก็จะปลดล็อก แต่ไม่ดีดขึ้นมาทันที ต้องให้เราเปิดยกเอง
อาจไม่สะดวกสำหรับผู้ที่ถือข้าวของพะรุงพะรัง แต่มันก็ลดความเสี่ยงจาการที่เจ้าของรถ จะโดน
ฝากระโปรงหลัง ยกดีดเสย Uopper Cut เข้าที่ปลายคาง แบบที่เจอได้ใน Mercedes-Benz และ
BMW รุ่นใหม่ๆ
พอเปิดฝาประตูหลังแล้ว ก็จะพบก้านโยก ปลดล็อกพนักพิงเบาะหลังทั้ง 2 ฝั่ง อยากให้พับนิดเดียว
โยกฝั่งซ้าย จะเหลือเบาะหลังให้นั่งได้อีก 2 คนแบบเบียดๆ แต่ถ้าจะมีผู้โดยสารด้านหลังอีกแค่เพียง
คนเดียว ก็โยกเฉพาะฝั่งขวา ก็ได้ กระนั้น ถ้าคิดจะใส่จักรยาน โดยถอดแค่ล้อหน้า ไม่ถอดชิ้นส่วนอื่น
อาจต้องพับเบาะลงทั้ง 2 ฝั่ง และต้องใช้วิชาตัวเบา กับการคำนวนจัดการพื้นที่กันสักหน่อย
พื้นที่ห้องเก็บของด้านหลัง มีความจุ 420 ลิตร ตามมาตรฐานของ SAE สหรัฐอเมริกา แต่ถ้าคำนวน
ตามมาตรฐาน VDA ของเยอรมัน จะมีขนาด 485 ลิตร ซึ่งมีขนาดใหญ่โต มากพอจะใส่ถุงกอล์ฟ
ได้แน่ๆแล้วอย่างน้อยๆ ห็ 2 ใบ ถ้ายกพื้นห้องเก็บของด้านล่างขึ้นมา จะพบ ยางอะไหล่แบบบาง
วางอยู่โดยมี โฟมสำหรับเสียบยึด แม่แรง และอุปกรณ์ถอดน็อตล้อ แถมมาให้
ดูผิวเผิน เหมือนขนาดห้องเก็บของ ไม่น่าจะใหญ่โตได้…เอาอย่างนี้ครับ เรามีเครื่องมือในการวัด
ให้คุณผู้อ่าน ได้เห็นเลยว่า ห้องเก็บของด้านหลัง ใหญ่โตเพียงใด…..
นี่ไงครับ! ตาแพน Commander CHENG! ของเรา น้ำหนักล่าสุด 150 Kg. กิโลกรัม..!!!!!
เจ้าตัวใส่หน้ากาก Dark Veder Mask ลงไปนอนอย่างสบายใจเฉิบ!
คงไม่ต้องสาธยายอื่นใดกันอีกในประเด็นนี้นะครับ! อ้อ! แล้วไม่ต้องถามด้วยว่า ตาแพน
ของเรา ลุกออกมาได้ด้วยวิธีการใด? บอกได้คำเดียวว่า ตอนเข้าไป มักกง่ายกว่าตอนออกมา
เสมอ! โพสต์ให้ดูเฉพาะภาพนี้แล้วกัน ตอนที่แพนพยายามจะถ่างขา และลากตัวเองออกมา
ผมก็ถ่ายภาพเก็บไว้ด้วย แต่ เป็นภาพระดับ 18+ เด็กและเยาวชน ควรได้รับคำแนะนำว่า
อย่าดูเลย เดี๋ยวสำลักมื้อเย็น! ดังนั้น ขอเก็บไว้ดูเป็นรูปส่วนตัวดีกว่า เนาะ แหะๆๆ
การตกแต่งภายใน ใช้โทนสีดำเป็นหลัก ประดับด้วย Trim พลาสติกสีเงิน ให้มีอารมณ์ของรถยนต์
แบบ Sport Sedan แต่ยังมีการแซมด้วยแนวเส้นโครเมียมบางๆ เพื่อให้ดูหรูหรา นิดๆ แผงหน้าปัด
เล่นแนวเส้น Graphic แปลกตา สอดรับกับเส้นสายภายนอก แผงควบคุมกลางถูกออกแบบในลักษณะ
Y Shape เพื่อสร้างบรรยากาศของรถยนต์ในยุคอนาคต เพื่อความล้ำสมัย แผงบังแดด เพิ่มกระจก
แต่งหน้าไฟส่องแต่งหน้ามาให้ ทั้ง 2 ฝั่ง ติดตั้งสวิชต์ เปิด-ปิดได้ บนเพดานหลังคา คล้ายกับใน SUV
รุ่น Tucson (แต่อะไหล่แผงบังแดดเป็นคนละเบอร์กัน ใส่แทนกันไม่ได้) ในรุ่นเกียร์อัตโนมัติ 1.8 S
และ 1.8G จะมีไฟอ่านแผนที่ และช่องเก็บแว่นตามาให้
มองจากมุมนี้ แผงควบคุมกลาง ดูคล้ายกับสัญลักษณ์ เด็กสวมเขา ของศิลปินเพลงชื่อดังอย่าง Jamiroquai
อยู่บ้างเหมือนกัน!
จากฝั่งขวา มาทางด้านซ้าย
การะจกหน้าต่าง เปิด-ปิดได้ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า หน้าต่างบานคนขับเพียงตำแหน่งเดียว ที่สามารถเลื่อน
เปิด-ปิด แบบ One-Touch ด้วยการกดปุ่มเพียงครั้งเดียว กระจกมองข้างเป็นแบบปรับด้วยสวิชต์ไฟฟ้า
พร้อมไล่ฝ้าในตัว แต่ขอโทษนะครับ พับด้วยมือนะจ้ะ ผมหาสวิชต์พับกระจกมองข้างไม่เจอจริงๆ
ใครที่ใช้รุ่นนี้อยู่ช่วยบอกผมสักหน่อยเถิด ว่ามันอยู่ตรงไหน?
ก้านสวิชต์ไฟหน้าและสวิชต์ไฟเลี้ยว กับไฟสูง อยู่ฝั่งขวาของคอพวงมาลัย เหมือนรถญี่ปุ่นทั่วไปซะที
มีระบบเปิด-ปิด ไฟหน้า อัตโนมัติมาให้ แม้ว่า ไฟหน้าจะเป็นแบบ ฮาโลเจน ก็ตาม
พวงมาลัยแบบ 4 ก้าน เฉพาะรุ่นเกียร์อัตโนมัติ 1.8 S และ 1.8 G เท่านั้น ที่จะสามารถปรับระดับได้ ทั้ง
สูง – ต่ำ และระยะใกล้ – ห่าง (รุ่น 1.8 E เกียร์ธรรมดา ปรับได้แค่สูง -ต่ำ เท่านั้น) นอกจากนี้ยังหุ้มหนัง
มาให้ทั้งพวงมาลัยกับหัวเกียร์ ทั้ง 2 รุ่นย่อย และเฉพาะรุ่น 1.8 G เท่านั้น ที่ติดตั้ง สวิชต์ควบคุมชุด
เครื่องเสียงบนก้านพวงมาลัยทั้งฝั่ง ซ้าย-ขวา กับแป้นคันเร่งกับเบรก แบบสปอร์ต ทำจากอะลูมีเนียม
คอพวงมาลัยฝั่งซ้าย มีก้านสวิชต์ ระบบใบปัดน้ำฝน พร้อมที่ฉีดน้ำล้างกระจก
เสียดายที่ไม่มีระบบล็อกความเร็วอัตโนมัติ Cruise Control มาให้ ทั้งที่รถระดับราคานี้ ควรมีมาให้ได้แล้ว!
มาตรวัดต่างๆ อ่านง่ายสบายตา การเลือกใช้ตัวเลขสีขาว และมีพื้นสีดำ ประดับด้วยแนวเส้นสีฟ้า
ช่วยให้ไม่ต้องลดสายตาจากพื้นถนนนานนัก แถมยังอ่านข้อมูลได้สบายตา ถ้าจ้าไป ก็สามารถ
เลือกกดปุ่ม เพิ่ม-ลดระดับแสงสว่าง ในยามค่ำคืนได้
จอแสดงข้อมูลตรงกลาง บอกตำแหน่งเกียร์ ปริมาณน้ำมันในถัง อุณหภูมิในระบบน้ำหล่อเย็น อัตรา
สิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ทั้งแบบเฉลี้่ย และ Real Time ระยะทางที่น้ำมันในถังเหลือพอจะพารถแล่นได้
Trip meter บอกระยะทาง ที่เราตั้งเองได้ Odo Meter บอกระยะทางที่รถแล่นมาแล้วทั้งหมด การ
ปรับตั้งค่า ต้องกดที่สวิชต์ บนก้านพวงมาลัยฝั่งขวาล่าง ซึ่งไม่สะดวกนัก โอกาสที่จะเผลอไปกดเปลี่ยน
Mode ตั้งค่า Set 0 ใหม่ อย่างไม่ตั้งใจ มีสูง
นอกจากนี้ มีโหมด ECO ซึ่งจะบอกถึงลักษณะการขับที่ประหยัด ขึ้นอยู่กับลักษณะการเหยียบคันเร่ง
ถ้าขับแล้วใช้เชื้อเพลิงคุ้มค่า ไฟ ECO สีเขียว จะโผล่ขึ้นมา นอกจากนี้ ยังมีไฟเตือนระบบพวงมาลัย
EPS ให้อีกด้วย
ด้านบนสุดของแผงควบคุมกลาง รูปตัว Y ติดตั้งนาฬิกา Digital เล่นระดับกับงานออกแบบจนดูมีราคา
แต่ยังไงๆ Hyundai ก็ยังคงใช้่แสงสีฟ้าในการแสดงข้อมูลบนแผงหน้าปัดทั้งหมด ในรถยนต์ของตน
ทุกรุ่นทุกคันอยู่ดี
ชุดเครื่องเสียง ในรุ่นเกียร์อัตโนมติ จะเป็นแบบ Type-1 เป็นวิทยุ AM/FM พร้อมเครื่องเล่น CD / MP3
แบบ 1 แผ่น ออกแบบในสไตล์ Built – in มาให้เป็นส่วนหนึ่งร่วมกันกับแผงควบคุมกลาง โดยรุ่นเกียร์
อัตโนมัติ ทั้ง S และ G จะมีช่องเสียบเชื่อมต่อ เครื่องเล่น iPod และ ช่องเสียบ USB ติดตั้งอยู่หลังฝาปิด
ใต้สวิชต์เครื่องปรับอากาศ เฉพาะรุ่น 1.8 G เท่านั้น ที่จะมีสวิชต์ควบคุมเครื่องเสียง บนก้านพวงมาลัย
ทั้งฝั่งซ้าย และขวา คุณภาพเสียงถือว่า ใช้ได้ ไม่เลวร้าย รับฟังเพลงได้อรรถรสระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ถึง
ขั้นดีเลิศประเสริฐศรี อีกทั้งการปรับระดับเสียง หรือเข้าถึงการปรับค่าต่างๆ ผ่านสวิชต์ของวิทยุ ยังคง
ใช้งานยากไปหน่อย ต้องอาศัยการเดาสุ่ม ว่า หมุนสวิชต์แล้ว ต้องหาปุ่ม Enter เพื่อยืนยันคำสั่งให้เจอ
สวิชต์เครื่องปรับอากาศ แบบ Manual นั้น หน้าตา ละม้าย คล้ายกับเครื่องทำน้ำอุ่นรุ่นล่าสุด จริงๆแล้ว
ในรุ่นท้อป 1.8 G น่าจะติดตั้งเครื่องปรับอากาศ อัตโนมัติ พร้อมหน้าจอ Digital แยกฝั่งซ้าย -ขวามาให้
ได้แล้ว แต่เวอรฺ์ชันไทยทุกรุ่น จะใช้สวิชต์เครื่องปรับอากาศแบบมาตรฐานที่เห็นนี้เหมือนกันหมด
ส่วนช่องแอร์นั้น มาแปลก และแหวกแนวกว่ารถยนต์รุ่นอื่นๆในตลาด เพราะเล่นติดตั้งช่องแอร์คู่กลาง
ไว้ขนาบข้าง สวิชต์เครื่องปรับอากาศ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ หลายคนบอกว่า ต่ำเกินไป แต่การทำความเย็น
ก็ยังคงรวดเร็วดี
ช่องเก็บของพร้อมฝาผิดได้ เมื่อยก ลิ่มสวิชต์เล็กๆ ขึ้น ฝาจะเปิดออก เห็นทั้งช่องวางโทรศัพท์มือถือ
ช่องเสียบชาร์จไฟ สำหรับเครื่องเล่นต่างๆ และชาร์จไฟเข้าโทรศัพท์ได้ในตัว
กล่องเก็บของ บริเวณผู้โดยสารฝั่งซ้าย มีขนาดพอประมาณ ไม่ใหญ่ ไม่เล็ก จุคู่มือ และเอกสารกรมธรรม์
และทะเบียน ประจำรถ ก็จะเหลือพื้นที่ให้ใส่ข้าวของจุกจิกอย่างอื่น อีกนิดหน่อย ไม่มากนัก
ข้างลำตัวผู้ขับขี่และผู้โดยสารด้านหน้า เป็นช่องวางแก้ว 2 ตำแหน่ง มีแบบหลุมลึกมาให้อีก 1 ตำแหน่ง
เผื่อจะวางถ้วยกาแฟทรงสูง กล่องเก็บของมีขนาด “ใหญ่มาก” ใส่กล่อง CD ได้ 10 แผ่น แน่ๆ แถมยังมี
ช่องวางโทรศัพท์ ขนาดเล็ก ที่พอใช้งานได้ มาให้อีก 1 ตำแหน่ง ทว่าฝาปิดด้านบน ซึ่งออกแบบมาเป็น
พื้นที่วางแขนในตัว กลับไม่อาจทำเต็มหน้าที่ของมันได้ อันที่จริงน่าจะออกแบบมาให้สามารถปรับ
เลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง ได้อีกนิดนึง ก็จะลงตัว สมบูรณ์แบบแล้ว
ทัศนวิสัยด้านหน้านั้น ตำแหน่งเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar คล้ายคลึงกับ Honda City MY 2008 ที่ผมใช้อยู่
คือ ยื่นล้ำไปด้านหน้าพอสมควร แต่ยังไม่มากเท่า Honda Civic FD หรือ Toyota Prius การมองเห็นทาง
ข้างหน้า รวมทั้งการกะระยะ ยังคงทำได้ด้วยดี
แต่เมื่อมองมาที่ เสาหลังคา A-Pillar ฝั่งขวา พบว่า มีการบดบัง ขณะเลี้ยวอยู่ในโค้งขวา บนถนนสวนกัน
สองเลน จนหมด รถคันที่แล่นมา หรือคนเดินข้ามถนน ในช่วงเข้าโค้ง แทบมองไม่เห็นเลย เหมือนกับ
City ใหม่อีกเช่นกัน
ส่วนฝั่งซ้ายนั้น กลับกลายเป็นว่า มองเห็นรถที่จะเลี้ยวกลับ ได้ดี มองเห็นรถที่กำลังจะแล่นออกจากซอย
ได้ดี ไม่มีปัญหาอะไร
อีกทั้ง ทัศนวิสัยด้านหลัง เสาหลังคา C-Pillar คู่หลัง ก็มีขนาดพอเหมาะ ไม่บดบังทัศนวิสัยอย่างที่คาดไว้
ในตอนแรก มองเห็นรถจัดรยานยนต์ ที่แล่นตามมาฝั่งซ้าย ได้พอสมควร ช่วยให้ถอยเข้าจอดได้ง่ายกว่า
รถยนต์ในพิกัดเดียวกันหลายคัน แต่ยังต้องมีการเปิดกระจกหน้าต่าง หันไปเล็งอีกเล็กน้อยอยู่ดี
********** รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ **********
แม้ว่าในตลาดโลก Elantra / Avante จะมีเครื่องยนต์ Gamma 1.6 ลิตร ให้เลือก สำหรับลูกค้าที่ไม่ได้ต้องการ
ความแรงมากมายนัก แต่สำหรับเวอร์ชันไทยแล้ว Hyundai Motor Thailand สั่งเข้ามาขายเพียงแค่แบบเดียว
และเป็นขุมพลังหลักสำหรับ รถรุ่นนี้ ในตลาดทั่วโลกอีกด้วย เป็นเครื่องยนต์รหัส Nu บล็อก 4 สูบ DOHC
16 วาล์ว 1,797 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 81 x 87.2 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.3 : 1 พร้อมระบบแปรผันวาล์วที่
หัวแคมชาฟต์ทั้งฝั่งวาล์วไอดี และวาล์วไอเสีย Dual CVVT พร้อมระบบแปรผันท่อทางเดินไอดี VIS
(Variable Induction System)
เครื่องยนต์ Nu ถูกพัฒนาขึ้น เพื่อแทนที่ ขุมพลังแบบ Beta 2,000 ซีซี ใน Elantra สำหรับตลาดอเมริกาเหนือ
และตลาดส่งออก รุ่นเดิมก่อนหน้านี้ โดย ใช้เสื้อสูบทำจากอะลูมีเนียม ส่วนฝาสูบ Crank และ Liner ในส่วน
กระบอกสูบ ทำจากเหล็กหล่อ ช่วยลดน้ำหนักเครื่องยนต์ลง 33.6 กิโลกรัม แต่ยังมีความแข็งแรงทนทาน
เท่าเดิม ในระบบขับวาล์ว มีทั้ง Roller swing arms และชุดตัวปรับตั้ง Hydraulic Lash Adjusters (HLA)
อีกทั้งยังมีการเปี่ยนมาใช้ระบบคันเร่งและลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้า เป็นรุ่นแรกในตระกูล Elantra อีกด้วย
กำลังสูงสุด 150 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 178 นิวตันเมตร (18.1 กก.-ม.) ที่ 4,700 รอบ/นาที
Hyundai เคลมว่า ขุมพลังใหม่นี้ ประหยัดน้ำมันขึ้น 2% แรงขึ้น 2% และ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ลงได้ถึง 30%
ส่งแรงบิดสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยระบบส่งกำลัง ที่มีมาให้ถึง 2 รูปแบบ ทั้งเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ แบบ
ขั้นบันได Step-Gate พร้อมโหมด Sport ใช้ Torque Converter ช่วยในการทำงานของเกียร์ มีมาให้ในรุ่น 1.8 S
และ 1.8 GLS อัตราทดเกียร์ มีดังนี้
เกียร์ 1 ………………………..4.400
เกียร์ 2 ………………………..2.726
เกียร์ 3 ………………………..1.834
เกียร์ 4 ………………………..1.392
เกียร์ 5 ………………………..1.000
เกียร์ 6 ………………………..0.774
เกียร์ถอยหลัง ………………3.440
อัตราทดเฟืองท้าย ………..3.270
แต่ที่พิเศษ เอาใจลูกค้าที่รักความสะใจ นั่นคือ เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ พร้อมคลัชต์แห้งแผ่นเดียว สำหรับรุ่น 1.8 E
ถือเป็นครั้งแรกของ Hyundai นับตั้งแต่กลับมาเปิดตลาดในเมืองไทยอีกครั้ง รวม 4 ปี ที่เริ่มมีรถยนต์นั่ง คันเล็ก
เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ ออกขายให้กับลูกค้าคนไทย (ไม่นับรถตู้ H-1 นะครับ)
ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้ทำรีวิวของรุ่นเกียร์ธรรมดา แต่เราก็มีตัวเลขอัตราทดเกียร์และเฟืองท้าย มาให้ได้ศึกษากัน ดังนี้
เกียร์ 1 ………………………..3.615
เกียร์ 2 ………………………..1.962
เกียร์ 3 ………………………..1.294
เกียร์ 4 ………………………..1.024
เกียร์ 5 ………………………..0.860
เกียร์ 6 ………………………..0.756
เกียร์ถอยหลัง ………………3.583
อัตราทดเฟืองท้าย ………..4.188
สมรรถนะจะเป็นอย่างไรนั้น เราได้ทำการทดลองจับเวลากันตามมาตรฐานดั้งเดิม คือใช้เส้นทางในช่วง
กลางคืน เปิดแอร์ พัดลมเบอร์ 1 เปิดไฟหน้า และ นั่ง 2 คน ได้แก่ผู้เขียน กับ คุณกล้วย BnN แห่งรายการ
The Coup Channel ของเรา ผู้ซึ่งกดนาฬิกาจับเวลาได้แม่นยำระดับแชมป์ประจำย่านศรีนครินทร์ และ
บางนา มาช่วยจับเวลาเหมือนกันกับทุกครั้งในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา และผลลัพธ์ที่ได้ มีดังนี้
เอาละ เราจะมาเปรียบเทียบกันเฉพาะรถยนต์ในกลุ่ม พิกัด 1.8 ลิตร กันก่อน
จากตัวเลขทั้งหมดจะเห็นว่า ในเกมจับเวลา 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง Elantra ทำตัวเลขออกมาได้น่าทึ่ง
คือ เป็นอันดับ 2 เป็นรองแค่เพียง Toyota crolla ALTIS 1.8 CVT เท่านั้น! แต่ ถ้านับรวมตัวเลขจากเกม
จับเวลา อัตราเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงด้วย จะพบเรื่องน่าประหลาดใจยิ่งกว่านั้นก็คือ Elantra
ทำตัวเลขออกมา เร็วที่สุด ในกลุ่ม 1.8 ลิตร ทุกคัน!! ไม่ต้องไปนับรวมรถยนต์กลุ่มเครื่องยนต์ 1.6 ลิตรเลย
ยังไงๆ Elantra ก็แรงที่สุด ชนะชาวบ้านเขาไปหมดสิ้น!
เรื่องที่ชวนให้ อึ้ง ทึ่ง เหวอ ยังไม่หมดแค่นี้ ลอง มาดูภาพในมุมกว้าง กินอาณาบริเวณ เลยเถิดไปรวมกับ
รถยนต์กลุ่ม 2.0 ลิตร บ้าง แน่นอนละครับ Elantra 1.8 เกียร์อัตโนมัติ ยังช้ากว่า Civic 2.0 ลิตร อยู่ราวๆ
0.2 วินาที ในทั้ง 2 เกมจับเวลา แต่ความแตกต่างกัน มันไม่มากมายอย่างที่คิด!
นอกนั้น Elantra ก็จะกินหัว Mitsubishi Lancer EX กับ Mazda 3 จนเรียบวุธ ถ้าจะพ่ายก็มีเพียงแค่
บรรดาขุนพล Diesel Turbo ทั้ง Chevrolet Cruze 2.0 LTZ เครื่องใหม่ กับ Ford Focus TDCi รุ่นเดิม
แถม ความเร็วสูงสุด ก็ยังทำได้ในระดับ 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง แม้ว่าจะด้อยกว่าตัวเลขที่เคลมไว้ใน
แค็ตตาล็อก 1-2 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่นั่นถือว่า พอแล้ว สำหรับรถยนต์ระดับนี้
นับว่า ขุมพลัง Nu นี่ไม่กระจอกอย่างที่คิด ใครที่เคยปรามาสขุมพลังรถยนต์เกาหลีว่า ไม่แรงและ
ไม่ประหยัดน้ำมัน เห็นทีจะได้เวลาบ้วนคำพูดเก่าๆ เขวี้ยงทิ้งลงถังขยะกันได้แล้ว ! อัตราเร่งของ
Elantra ใหม่ เป็นตัวอย่าง และบทพิสูจน์ที่ดีในความพยายาม ยกระดับตัวเอง ในด้านวิศวกรรม
เครื่องยนต์ ของทีวิศวกรที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนา Hyundai Kia Motors ที่ Namyang เป็นอย่างดี!
ที่สำคัญ ตัวเลขที่ได้ทั้งหมด สะท้อนให้เราได้เห็นถึงสัมผัสในการขับขี่จริง อย่างซื่อสัตย์เป็นที่สุด!
แรงดึงขณะออกตัว หรือเร่งแซง ถือว่าใช้ได้เลยทีเดียว มันไม่มีคำว่าอืดให้เราเห็นเลยในช่วงแรก
ที่พุ่งทะยานออกตัวไปข้างหน้า อัตราเร่ง ช่วงการเปลี่ยนเกียร์ ต่อเนื่อง ไปลื่น ไหลลื่นใช้ได้เลยทีเดียว
มั่นใจได้เลยว่า ในจังหวะคับขัน Elantra ใหม่ จะพาคุณพ้นจากสถานการณ์ไม่พึงประสงค์ ได้อย่าง
รวดเร็ว คล่องแคล่ว และฉับไวเกินกว่าที่คาด ยิ่งโดยเฉพาะในช่วงรอบกลางๆ จะยิ่งสัมผัสถึงแรงบิด
ที่หลั่งไหลออกมาให้เรียกใช้งานได้อย่างทันท่วงที เพียงแต่ว่า ในช่วงรอบปลายๆ ก็จะเหี่ยวหน่อยๆ
กว่าจะเรียกความเร็วสูงสุด มาให้ใช้ ก็หืดขึ้นคออยู่บ้างเหมือนกัน เป็นธรรมดา
คันเร่งไฟฟ้าไม่ช้า ไม่หน่วง ทำงานถวายชีวิต”มาก” แตะปุ๊บ มาปั๊บ ข้อดีก็คือ รับประกันได้เลยว่า ทันทีที่
คุณเริ่มคิดและสั่งเครื่องยนต์ มันจะรีบกระวีกระวาด ส่งแรงบิดมาให้คุณสัมผัสที่ปลายเท้าแทบจะทันที
น้ำหนักและความไวของคันเร่ง ต้านเท้าแบบรถยุโรป จนน้องบอม Rhino Mango มือตัดต่อของทีมงาน
The Coup Channel ในเว็บเรา บอกว่า “การตอบสนองของคันเร่ง กับเกียร์ Aggressive มาก! ไวมาก”
คันเร่งออกแบบมาในลักษณะ Piano Paddle Type คือ เป็นแป้นเหยียบของ เปียโน เหมือนรถยุโรป
อย่าง BMW เลยนี่หว่า แต่ข้อด้อยก็มีอยู่เหมือนกัน คือความนุ่มนวลในการออกรถ จะหายไป
คุณจำเป็นต้องค่อยๆ บรรจง ออกแรงหัวแม่โป้งเท้าขวา เกร็งกันจนฉี่เหนียว เพื่อให้รถออกตัวแบบ
ไม่กระโชกโฮกฮากเกินไป
การเก็บเสียงในช่วงความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถือว่าทำได้ดี แต่หลังจากนั้นไป เสียงลม
มีผลเข้ามาเพิ่มขึ้นทีละระดับๆ ขณะที่การเก็บเสียงเครื่องยนต์ ซึ่งฟังได้ตอนกลางคืนนั้น ถือว่า
ทำได้ดีในแบบที่รถยนต์พิกัดเดียวกันนี้ ควรจะเป็น
ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยแบบ แร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฟฟ้า EPS (Electronics
Power Steering) รัศมีวงเลี้ยว 5.3 เมตร ในช่วงความเร็วต่ำ หรือช่วงหมุนพวงมาลัยตอนรถหยุดนิ่ง น้ำหนักจะ
เบา แต่พอมีแรงต้านที่มือนิดๆ พอๆกับพวงมาลัยไฟฟ้าของ Toyota Corolla ALTIS Minorchange และ
Honda Civic FB ใหม่ เพียงแต่วงพวงมาลัยจะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ใหญ่กว่ากันนิดเดียว ต้องสังเกตดีๆ จึงจะพบ
ข้อดีก็คือ ช่วยให้ หมุนพวงมาลัยขณะถอยเข้าจอดได้ง่ายขึ้น ด้วยมือเพียงข้างเดียว และช่วยให้พารถ ลัดเลี้ยวไป
ตามตรอกซอกซอยต่างๆ สะดวกง่ายดายเหมือนรถญี่ปุ่นทั่วไป กระนั้นระยะฟรี ซ้าย-ขวา ก็มีอยู่พอสมควร
ประมาณไม่น่าเกิน 15-20 องศา จากตำแหน่งพวงมาลัยตั้งตรง
ยิ่งใช้ความเร็วสูงขึ้น พวงมาลัยจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นไปด้วย รุ่นเกียร์อัตโนมัติ พวงมาลัยจะเบากว่ารุ่นเกียร์
ธรรมดานิดนึง แต่มันตอบสนอง “ไวมากๆ” ถ้าคิดจะเปลี่ยนเลนกระทันหัน อาจต้องระวังนิดนึง ไม่ต้อง
เลี้ยวเยอะ ถ้าขับบนไฮเวย์ เปลี่ยนเลนซ้าย หรือขวา เลี้ยวไม่เกิน 45 องศา ถือว่า ไว และทำหน้าที่ได้ดีมาก
บังคับเลี้ยวได้เฉียบคมพอประมาณเลยทีเดียว ลัดเลาะบนทางโค้งได้มั่นใจใกล้เคียงพวงมาลัยแบบเพาเวอร์
ไฮโดรลิก แต่การตอบสนองก็ยังไม่ถึงกับเป็นธรรมชาติอย่างที่พวงมาลัยเพาเวอร์แบบไฮโดรลิก เขาเป็นกัน
พูดง่ายๆคือ พวงมาลัย ทำหน้าที่ได้ดี แต่ยังไม่เนียน และยังไม่เป็นธรรมชาติพอ ยังเหลือสัมผัสแบบ
พวงมาลัยไฟฟ้ามาให้พบอยู่ดี นั่นแหละ ตาแพน Commander CHENG! ของเรา ค้นพบว่า ถ้าจะต้องเลี้ยว
ลัดเลาะไปมา หักพวงมาลัย 90 องศา กลับไปกลับมา บนลานโล่งๆ แบบ Gymkana การตอบสนองของ
พวงมาลัย ยังไม่ไวพอ less Responsive ไปหน่อย จัดอยู่ในระดับ กลางๆค่อนข้างดี แต่ยังไม่ถึงกับดีที่สุด
สำหรับรถยนต์ในพิกัด C-Segment ที่ตั้งใจทำออกมาในแนวติดสปอร์ตหน่อยๆ แบบนี้ ขอแนะนำให้ทาง
วิศวกรของ Hyundai อ้างอิงการเซ็ตพวงมาลัย จาก Volkswagen Golf หรือ Skoda Superb เอาไว้
น่าจะช่วยให้การตอบสนองของพวงมาลัยไฟฟ้า เป็นธรรมชาติมากขึ้นกว่านี้อีก
ระบบกันสะเทือนหน้า แบบแม็คเฟอร์สันสตรัต ด้านหลังแบบ ทอร์ชันบีม CTBA (Couple Torsion Beam Axle)
พร้อมเหล็กกันโคลง เส้นผ่าศูนย์กลาง 23 มิลลิเมตร ถูกปรับแต่งมาให้มาในแนวทั้งนุ่ม ทั้งหนึบ มากที่สุด เท่าที่
จะเป็นไปได้ แต่ก็เกาะจิกโค้งได้ดี จึงไม่น่าแปลกใจว่าการตอบสนองในภาพรวม มาในแนวนุ่ม มีช่วงยุบตัวของ
ช็อกอัพเยอะใกล้เคียง Nissan Sylphy แต่ ก็ยังคงความหนึบและเข้าโค้งได้ดี โค้งได้ค่อนข้างนุ่มนวล นิ่ง และ
มั่นใจได้ในแบบ Hyundai ยุคใหม่ ที่ทำช่วงล่างมาได้ดีมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม เยอะมาก เพียงแต่ในรุ่นเกียร์ธรรมดา
หากต้องอัดเข้าโค้งแรงๆ หรือว่าใช้ความเร็วหน้าโค้งมากๆ หากปล่อยให้เข้าโค้งไปทั้งที่ความเร็วค่อนข้างสูง
ตัวรถจะออกอาการ Understeer (หน้าดื้อ) ปรากฎชัดเจน ซึ่งส่วนหนึ่งก็คงเป็นเพราะใช้ยางหน้าแคบ ที่มีพื้นที่
หน้ายาง สัมผัสกับพื้นถนนน้อยกว่า
แต่ในรุ่นเกียร์อัตโนมัติเอง แม้จะใช้ยางหน้ากว้างกว่า และชัดเจนว่าจิกเกาะพื้นถนนรวมทั้งเข้าโค้งได้ดีกว่า แต่
ยังปรากฎอาการ Understeer หลงเหลือให้เห็นอยู่ และมันก็ยังคงชัดเจน ตามประสารถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้า
อยู่บ้าง เป็นธรรมดา
กระนั้น ในช่วงความเร็วต่ำ ความนุ่มนวลที่จะพบได้ ก็ใกล้เคียงกันกับ Hyundai Sonata ใหม่อยู่บ้างเหมือนกัน
การซับแรงสะเทือน จากพื้นถนนขรุขระ และลูกระนาด ยังทำได้ดีในระดับที่เท่ากันกับรถญี่ปุ่นเจ้าตลาด อีกทั้ง
การทรงตัวในช่วงความเร็วสูง ต่อให้คุณจะใช้ความเร็วช่วง 140 – 170 กิโลเมตร/ชั่วโมง บอกได้เลยว่า รถยังนิ่ง!
มั่นใจใช้ได้ บนทางโค้งยาวๆ ในบางช่วงของทางด่วน สายอุดรรัถยา คุณยังสามารถ พารถแล่นเข้าไปในโค้ง
ด้วยความเร็ว 160 – 170 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ด้วยช่วงล่างเดิมๆ ต่อให้เป็นโค้งรูปเคียว จากจุดตัด พระราม 9
แยกไปเชื่อมกับทางด่วนขั้นที่ 1 ที่โค้งซ้าย โรงแรมเมอเคียว ด้วยความเร็ว 80 – 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง คุณก็ยัง
พาเจ้า Elantra ใหม่เลี้ยวและพุ่งตัวผ่านออกจากโค้งได้อย่างสบายๆ
คือ เหมือนว่าช่วงล่างของ Elantra ใหม่ จะเซ็ตมาให้อยู่กึ่งกลางระหว่าง ช่วงล่างแนวนุ่มๆ ของ Sonata ใหม่
กับช่วงล่างที่เซ็ตมาให้เข้าโค้งได้สนุกในระดับพอประมาณ อย่าง Sonata รุ่นที่แล้ว จากนั้น จึงค่อยปรับให้
ตอบสนองได้กระชับขึ้น และ ไวขึ้นนิดหน่อย
สิ่งที่ผมต้องขอ ใส่ไว้เป็นหมายเหตุ ในเรื่องระบบกันสะเทือน ที่พบจากรถคันที่เราทดลองคือ อาการดิ้นเล็กๆ
ที่เกิดขึ้นในแทบทุกรอยต่อพื้นทางด่วนเลย มันก่อความรำคาญมากๆ เราพบว่า มันเป็นอาการดิ้นที่เกิดขึ้นมา
จาก Dunlop LM703 ซึ่งมีแก้มยางที่ค่อนข้างนุ่มไป การเกาะถนนยังบนพื้นผิวที่ลื่น ยังไม่ดีเท่าที่ควร แต่ถ้า
บนพื้นแห้งๆ ในโค้งละก็ อยู่ในเกณฑ์พอยอมรับได้ ขอแนะนำว่า ถ้าคุณซื้อ Elantra ใหม่มา แล้วพบว่า ยาง
ติดรถ เป็นรุ่นดังกล่าว ผมว่า ถอดทิ้ง แล้วหายาง Dunlop ตัวอื่น หรือยางยี่ห้ออื่น ขนาดเท่าๆกัน สวมใส่แทน
ไปเลยจะช่วยให้การสาดเข้าโค้ง หรือการใช้ความเร็วบนทางด่วน ทำได้มั่นใจกว่านี้อีก “มาก”
ระบบห้ามล้อ เป็นดิสก์เบรก 4 ล้อ คู่หน้า มีครีบระบายความร้อน พร้อมระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-Brake
System) กับระบบเสริมแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน PBA (Power Brake Assist) แต่ในรุ่นท็อป 1.8 G จะเพิ่มตัวช่วย
เข้ามามากมายทั้งระบบ ควบคุมเสถียรภาพด้วยอีเล็กโทรนิคส์ ESP (Electronic Stability Program) ซึ่งมีทั้งระบบ
จัดการเสถียรภาพ VSM (Vehicle Stability Management) ทำงานเหมือนๆ กับระบบ VSC ของ Toyota ติดตั้ง
รวมเข้าไปอยู่ในชุดระบบ ESP อีกด้วย แถมยังมีระบบช่วยขี้นทางลาดชัน HAC (Hill Assist Control) ในกรณีที่
ผู้ขับขี่ ถอนเท้าจากเบรก ระบบจะยังล็อกค้างตัวรถไว้บนเนิน 2-3 วินาที รอให้ผู้ขับขี่ เหยียบคันเร่ง นำรถเคลื่อน
ขึ้นเนินต่อไปได้
การตอบสนองของระบบห้ามล้อนั้น ในช่วงความเร็วต่ำ ขณะใช้งานในเมือง คลานไปตามสภาพการจราจรติดขัด
ถือว่า ทำงานได้ดี ไม่แตกต่างจากรถยนต์รุ่นอื่นๆ สามารถ ชะลอรถให้หยุดนิ่งลงอย่างนิ่มนวลได้ง่ายดาย แต่ถ้า
ในช่วงความเร็วเดินทาง ถึงความเร็วสูงแล้ว หากแค่แตะแป้นเบรก เพื่อชะลอรถ นั่นไม่มีอะไรให้กังวล มันยัง
ทำงานได้ดีเหมือนรถยนต์ทั่วไป
แต่ถ้าคุณเหยียบเบรกจากช่วงความเร็วสูง ด้วยแรงเหยียบประมาณ 30 – 40 % ของระยะแป้นเบรก ถึงแม้ว่ารถ
จะชะลอตัวลง พยายามหน่วงความเร็วให้ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง ก็จะเกิดอาการ Fade พอสมควร เหมือนกับเบรก
จับไม่ไหว ต้องถอนเท้าออกจากแป้นเบรก แล้วเหยียบซ้ำ แช่ลงไปอีกครั้ง จึงจะชะลอรถลงต่อได้อย่างปลอดภัย
ช่วงปลายๆ จะลื่นหน่อยๆ ถ้าเปลี่ยนผ้าเบรกให้ดีกว่านี้ การชะลอรถอย่างกระทันหัน จากช่วงความเร็วสูง จะ
ดีกว่านี้ได้แน่ๆ
ลงจากรถ เดินมาดมกลิ่นผ้าเบรก ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะการเบรกจากความเร็วสูงแบบนั้น รถทุกคัน ย่อม
ต้องมีกลิ่นจากผ้าเบรกมาแตะจมูกกันบ้าง กระนั้น ในรถคันสีขาวนี้ กลิ่นจากจานเบรกฝั่งขวา มากกว่าฝั่งซ้าย
ด้านโครงสร้างตัวถัง วิศวกร Hyundai พยายามลดทอนเสียง การสั่นสะเทือน และอาการสะท้าน หรือที่รู้จัก
กันในชื่อย่อ NVH (Noise , Vibration & Harshness) ด้วยสารพัดวิธีการ แต่หนึ่งในแนวทางที่พวกเขาเลือก
ก็คือ การเพิ่มตำแหน่งที่ต้องใช้เหล็กเกรด high-strength steel (ซึ่งก็เป็นผลผลิตของกลุ่ม Hyundai Steel อัน
เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำในเครือของ Hyundai Group เองด้วยนั่นแหละ) ติดตั้งในส่วนต่างๆของตัวรถเพิ่ม
เป็น 37% จากโครงสร้างทั้งคัน โดยเฉพาะในส่วนที่เชื่อมยึดต่อเนื่องกับระบบกันสะเทือนด้านหลัง มีการ
เสริมคานนิรภัยที่บานประตูด้านข้างทั้ง 4 บาน มาให้ ส่วนอุปกรณ์ความปลอดภัยนั้น ทุกรุ่นมีถุงลมนิรภัย
ฝั่งคนขับมาให้ แต่เฉพาะรุ่นท็อป 1.8 G จะมีถุงลมนิรภัยฝั่งผู้โดยสารแถมเพิ่มให้อีก 1 ใบ ซึ่งอันที่จริงแล้ว
ในเมืองนอก เขามีรุ่น ติดตั้ง ม่นถุงลมนิรภัยด้านข้างมาให้ด้วย เสียดายว่า เราไม่ได้เห็นออพชันชิ้นนี้
ใน Elantra เวอร์ชันไทย
ส่วนการทดสอบการชนนั้น ถึงแม้ Elantra รุ่นนี้ จะไม่ได้ทำตลาดในยุโรป เพราะเปิดทางให้รุ่น i30
Hatchback ที่พัฒนาเพื่อตลาดยุโรปโดยเฉพาะ เข้าไปรับหน้าที่แทน แต่ก็มีการทดสอบการชนของ
ทั้งหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐอย่าง NHTSA ของทางเกาหลีใต้ KNCAP หรือแม้แต่ในออสเตรเลีย
ANCAP ซึ่ง Elantra ใหม่ ็ผ่านมาตรฐานขั้นสูงสุด ในทุกการทดสอบ
อย่างไรก็ตาม ในออสเตรเลีย เคยมีกระแสในเรื่องที่ Hyundai ช่วยเหลือสนับสนุน ด้านการเงิน
ให้กับทาง ANCAP โดยมีการเชื่อมโยงว่า มีส่วนทำให้ Elantra ได้คะแนนสูงสุด 5 ดาวด้วยหรือไม่
ซึ่งทาง ANCAP ก็ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดแล้วว่าไม่จริง อยากรู้เพิ่มเติม Search Google ครับ
********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย *********
ความประหยัดน้ำมันกับรถยนต์เกาหลี ยังเป็นเรื่องที่หลายคนกังขา บ้างก็บอกว่า พอกันกับรถญี่ปุ่นนั่นแหละ
แต่ ในช่วงก่อนหน้านี้ Elantra เอง ก็เคยมีข่าวไม่ดีออกมาจากฝั่งสหรัฐอเมริกาว่า ทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
ได้ไม่ดีเท่าที่โฆษณาไว้ จนลูกค้าที่นั่นตัดสินใจฟ้องร้องดำเนินคดีเอาเรื่องจนถึงที่สุด
อย่างไรก็ตาม ถ้าถามว่า แล้ว Elantra มันกินน้ำมันแค่ไหน? คงไม่มีวิธีใดดีไปกว่าจะตอบคุณด้วยการทดลอง
ให้ดูกันจะจะไปเลยอย่างนี้แล้วละ
เหมือนเช่นเคย เหมือนที่ปฏิบัติกับรถยนต์ทุกคันที่เรานำมาทำบทความรีวิว ผมพา Elantra ไปเติมน้ำมัน
เบนซิน 95 Techron ที่สถานีบริการน้ำมัน Caltex บนถนนพหลโยธิน ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์
ในช่วงกลางคืน
เราเติมน้ำมันกันแบบเขย่ารถ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานดั้งเดิมที่ว่า หากเป็นรถยนต์นั่งที่มีเครื่องยนต์
ความจุกระบอกสูบ ต่ำกว่า 2,000 ซีซี ลงมา หากไม่ใช่รถยนต์ประเภท Premium หรือ Niche market ต้อง
ทำการเขย่ารถ อัดกรอกน้ำมันลงไปให้เต็มทุกครั้ง ทุกคัน อีกทั้งน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์เบนซิน
ก็ต้องเป็น น้ำมัน เบนซิน 95 เท่านั้น ไม่ใช้ แก็สโซฮอลล์ เนื่องจากการเก็บข้อมูลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
เราใช้น้ำมันเบนซิน 95 กันมาลอด และ Elantra ก็เช่นกัน หนีข้อบังคับนี้ไม่พ้น
สักขีพยาน ยังคงเป็นน้องโจ๊ก V10ThLnD ตามเดิม แต่มีสักขีพยาน จากทางบ้าน เพิ่มเข้ามาอีก 1 คน
คือ คุณ Besthuafoo คุณผู้อ่าน ที่ติดตามเรามานานแล้ว พอดีจังหวะว่าง เลยแวะมาเยี่ยมเยียน และ
ร่วมสังเกตุการณ์ กันที่ปั้มน้ำมัน ไม่ได้ร่วมเดินทางไปกับเราด้วย
เมื่อเติมน้ำมันกันจนเต็มปรี่แล้ว เราก็พร้อมออกเดินทาง คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ไว้
ที่เบอร์ 1 แต่เร่งน้ำยาแอร์จนเกือบสุด ออกรถ ไปเลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน ลัดเลาะไปตามซอย
อารีย์ ออกปากซอยโรงเรียนเรวดี เลี้ยวซ้าย สู่ถนนพระราม 6 ไปเลี้ยวขวาขึ้นทางด่วน มุ่งหน้ายาวๆ
ไปจนสุดปายทางด่วนสายเชียงราก ที่ด่านบางปะอิน เลี้ยวกลับย้อนขึ้นทางด่วนสายเดิม ขับกลับมา
เข้ากรุงเทพฯ อีกครั้ง ด้วยมาตรฐานเดิมคือ ใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ และ นั่ง 2 คน
จากการเปิด GPS หาความเพี้ยนของมาตรวัดพบว่า ความเร็วบนมาตรวัด 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง จริงๆ
แล้วจะอยู่ที่ 96 กิโลเมตร/ชั่วโมง ความเร็วมาตรวัด 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง ความเร็วจริงบน GPS อยู่ที่
106 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถือเป็นค่ามาตรฐานที่พบได้ในรถยนต์ทั่วไป
เราลงทางด่วนที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เลี้ยวซ้าย เข้าสู่ถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับรถที่ใต้สถานีรถไฟฟ้า
BTS อารีย์ เลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex อีกครั้ง เพื่อเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron ให้เต็ม
ออกมาจนถึงคอถัง เหมือนเช่นในช่วงเริ่มต้นทำการทดลอง
ยืนยันให้ดูเลยว่า เราเติมน้ำมันกันจนถึงปากคอถังจริงๆ เขย่ารถกันทั้ง เที่ยวไป และเที่ยวกลับ เพื่อ
อัดกรอกน้ำมันลงไป แทนที่อากาศในถัง ให้เต็มล้นปรี่ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ รุ่นนี้เขย่าง่าย แป๊บเดียวเสร็จ
เอาละ เรามาดูตัวเลขที่ Elantra คันนี้ทำได้กันดีกว่า
ระยะทางแล่นทั้งหมด บนมาตรวัด 91.8 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 6.15 ลิตร
คำนวนแล้ว ได้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 14.92 กิโลเมตร/ลิตร
ถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่เลว ความประหยัดน้ำมันขณะแล่นทางไกลของ Elantra ใหม่ ยังอยู่ในระดับกลางๆ
ระหว่างเพื่อนพ้องในกลุ่มรถยนต์นั่ง Compact C-Segment คือ ไม่เลวร้าย แต่ก็ไม่ได้ดีมาก อยู่ในเกณฑ์
มาตรฐานรถเก๋งยุคใหม่ ไม่น่าเกลียด ยิ่งเมื่เทียบกันในตารางอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง คุณจะเห็นได้ชัดเจนครับ
ที่แน่ๆ Elantra 1.8 ประหยัดกว่า Ford Focus ใหม่ 1.6 ลิตร (14.1 กิโลเมตร/ลิตร) Mitsubishi Lancer
ทั้งรุ่น Cedia 1.6 ลิตร CVT (14.2 กิโลเมตร/ลิตร) และรุ่น EX 1.8 กับ 2.0 ลิตร (12.8 กิโลเมตร/ลิตร)
ส่วนการใช้งานจริงนั้น เนื่องจาก มือของผม ไปกดโดนปุ่ม Reset Trip บนพวงมาลัย โดยบังเอิญ ทำให้
ไม่สามารถนำตัวเลขระยะทางที่แล่นไปทั้งหมด จากน้ำมัน 1 ถัง มารายงานคุณผู้อ่านได้ครบถ้วน แต่
จากการใช้ตัวเลขก่อนถูกกด Set 0 บน Trip Meter มารวมกับตัวเลขครั้งสุดท้าย ก่อนเติมน้ำมันเข้าไป
เพื่อให้รถยังพอแล่นส่งคืนถึงสำนักงานใหญ่ Hyundai ย่านซอยคอนแวนท์ สีลม จะได้ ตัวเลขอยู่ที่
ประมาณ 520 – 530 กิโลเมตร ต่อการเติมน้ำมัน 1 ถังเต็มๆ
********** สรุป **********
เอามาประกอบขายในไทย กดราคาให้ต่ำลงกว่านี้ รับรอง ขายดียิ่งกว่านี้อีกเยอะ!
การใช้ชีวิตร่วมกับรถคันนี้ 5 วัน 4 คืน ทำให้ผม ยังคงยืนยันได้เต็มปากว่า ทุกวันนี้ นอกเหนือจาก
วงการดนตรีของเกาหลีใต้ จะพัฒนาตัวเองได้เร็วแล้ว อุตสาหกรรมรถยนต์ของเกาหลีใต้ ก็กำลัง
จะเริ่มได้รับการยอมรับในตลาดโลกมากขึ้นแบบก้าวกระโดดด้วยเช่นกัน
นับจาก Elantra รุ่นแรก จนถึงวันนี้ Hyundai เลือกจะรักษาแนวทางให้รถคันนี้เป็น C-Segment
ที่เน้นการขับขี่ ที่ต้องสนุกและสบายไปพร้อมๆกับการที่จะต้องมีห้องโดยสารใหญ่โต พอให้
ฝรั่งมังค่าตัวเบ้อเร่อเบ้อร่านั่งกันได้ 4-5 คนไม่อึดอัด
มาวันนี้ Elantra ใหม่ ก็ยังทำหน้าที่ของมันได้ดี เหมือนเช่น รถรุ่นแรก J1 ที่มาเปิดตัวในเมืองไทย
เมื่อปี 1991 นั่นละ คือ Elantra รุ่นที่ผมชอบที่สุด คราวนี้ Hyundai ยกระดับ Elantra ในใจผม จาก
ที่เคย ดร็อปลงไปในช่วงรุ่น XD และ HD ให้กลับมาเป็น Elantra ที่ผมโปรดปรานได้ ในรุ่น MD
อันเป็นรุ่นปัจจุบัน
ยืนยันให้อีกเสียงเลยว่า Elantra ใหม่ ไม่ใช่รถที่เลวร้าย ไม่ใช่รถที่ “แค่งั้นๆ” แต่มันมีคุณงามความดี
ที่มากมาย เป็นรถนำเข้าที่ดีพอให้คุณจ่ายเงินเป็นเจ้าของได้อย่างสบายใจ เมื่อเทียบกับ บรรดาคู่แข่ง
จากทั้งฝั่งญี่ปุ่น หรืออเมริกัน ที่มาในรูปแบบรถยนต์ประกอบในประเทศไทย
เริ่มตั้งแต่ อัตราเร่งที่ดุดันเกินคาด จากขนาดเครื่องยนต์แค่ 1.8 ลิตร ปั่นกำลังได้เท่าๆกับเครื่อง 2.0 ลิตร
ใน Honda Civic เป็นรองแค่เพียง Toyota Corolla ALTIS 1.8 กับ 2.0 และ Chevrolet Cruze 2.0 LTZ
Diesel Turbo เท่านั้น ที่เหลือ Elantra ฟาดเรียบ!
ช่วงล่าง เซ็ตมาดี สมกับที่เป็นพี่น้องรวมตระกูล Hyundai ในระยะหลังๆ ซึ่งต่างก็มาพร้อมกับช่วงล่าง
ที่ดีเกินหน้าเกินตากว่ารถญี่ปุ่นบางรุ่นด้วยซ้ำ ยังมีความนุ่มนวล แถมความคล่องตัว และบุคลิกขับสนุก
แฝงมาให้พบนิดๆ คุณภาพวัสดุที่ใช้ ส่วนใหญ่ ทำได้ดีมาก โดยเฉพาะผ้าหุ้มเบาะ ที่น่าชมเชย แถม
การเก็บเสียง ก็ถือว่า จัดอยู่ในเกณฑ์ดีใช้ได้ หากใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่สำคัญ
เป็นรถนำเข้าสำเร็จรูปแท้ๆ จากโรงงาน Ulsan ในเกาหลีใต้ ดังนั้น เรื่องคุณภาพการประกอบถือว่า
อยู่ในระดับแนวหน้าของโลก เพราะนี่คือโรงงานใหญ่สุดของ กลุ่ม Hyundai เขาแล้วละ!
สิ่งที่ยังต้องปรับปรุง มีอยู่บ้าง นิดหน่อย ก็คือ
– เซ็ตพวงมาลัยไฟฟ้า ให้มีการตอบสนองที่ “เป็นธรรมชาติ เหมือนกับพวงมาลัยเพาเวอร์ไฮโดรลิก
เพิมกว่านี้อีกนิด” ระยะฟรี ลดลงจากนี้อีกนิดเดียว อย่าไปดู Toyota Corolla ALTIS และ Honda Civic
ว่าเขาเซ็ตอย่างไร แต่ให้ดู Volkswagen Golf GTi เป็น Benchmark ไว้ นั่นแหละดี! และถ้าได้พวงมาลัย
ที่มีเส้นผ่าศนย์กลาง เล็กลงกว่านี้อีกสัก 1-2 มิลลิเมตร ก็จะช่วยเพิ่มความกระชับในการบังคับรถยิ่งขึ้น
– เปลี่ยนผ้าเบรกใหม่ ใช้ของเกรดดีขึ้น ให้ทนต่อการหน่วงรถลงมาจากย่านความเร็วสูง ได้ดีกว่านี้
มั่ใจกว่านี้ และลดอาการ Fade ของผ้าเบรก ลงไปให้ได้มากกว่านี้
– ปรับขนาดพื้นที่เหนือศีรษะของผู้โดยสารด้านหลัง ให้มีแอ่งเว้า เพิ่มขึ้นจากนี้อีกนิด เพื่อให้พอมี
พื้นที่ว่าง เหนือศีรษะ สำหรับคนที่มีส่วนสูง ในช่วง 170 – 175 เซ็นติเมตร (เพราะจะให้ปรับเปลี่ยน
แก้ไขตัวถัง คงต้องรอรุ่นต่อไปสถานเดียว)
– เปลี่ยนตำแหน่ง ช่องแอร์คู่กลาง ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อกระจายความเย็นถึงผู้โดยสารด้านหลัง
ให้เพิ่มขึ้นจากเดิม เพราะสำหรับประเทศเมืองร้อนนั้น ในตอนกลางคืนแอร์ทำงานได้ดีแล้ว แต่
พอเจออากาศตอนกลางวันเข้าไป แอร์ก็ต้องใช้เวลานานอยู่เหมือนกัน กว่าจะทำความเย็นขึ้นมา
จนถึงระดับที่เย็นสบายกำลังดี
– ปรับตำแหน่งของพนักวางแขนเบาะหลัง ให้สามารถวางแขนได้จริง กับผู้คนทุกสรีระ
– เปลี่ยนยางติดรถ จาก Dunlop LM703 ออกไปที มันทำให้รถมีอาการดิ้นเมื่ผ่านรอยต่อพื้นผิวทางด่วน
เสียจน น่ารำคาญมาก! แค่ยางชุดเดียว จะทำให้รถกลับมาขับมั่นใจอย่างที่วิศวกรอยากให้เป็นได้แน่นอน
ผมมองว่า มีเพียงแค่ไม่กี่ประเด็นเท่าที่เห็นอยู่นี้เท่านั้น ที่คิดว่าควรจะปรับปรุงเพิ่มเติม
แต่เหนือสิ่งอื่นใด อุปสรรคสำคัญ ที่ทำให้ Elantra และรถเก๋ง Hyundai รุ่นอื่นๆ ทำตลาดในบ้านเรา
ค่อนข้างยาก คือ เรื่องการตั้งราคา….ที่แพงในสายตาของผู้บริโภค
นี่เป็นปัญหาใหญ่ที่ยังค้างคาใจชาว Hyundai Motor Thailand เขามาหลายปีแล้ว
จริงอยู่ว่า Tucson มีค่าตัวที่แพงกว่าชาวบ้านเขานิดหน่อย แต่นั่นยังพอทำยอดขายได้เรื่อยๆ ผิดกับ
Sonata และ Elantra ที่ต้องไปสู้รบปรบมือกับบรรดาเจ้าตลาดฝั่งญี่ปุ่น ซึ่งเป็นรถประกอบในบ้านเรา
และมีค่าตัวถูกกว่ากันชัดเจน ถ้าไม่โดนสอยมาจนหงายเงิบ ก็คงเป็นเรื่องแปลกแล้วละ
ไม่ต้องอื่นไกล ดูราคาของ Elantra ใหม่ เป็นตัวอย่าง…
Hyundai Elantra 1.8E 5MT ราคา 899,000 บาท
Hyundai Elantra 1.8S 6AT ราคา 1,088,000 บาท
Hyundai Elantra 1.8G 6AT ราคา 1,198,000 บาท
ปัญหาก็คือ ค่าตัวของรุ่น 1.8 E เกียร์ธรรมดา กับ 1.8 S เกียร์อัตโนมัติ ออพชันต่างกันน้อยมาก แต่ตั้งราคา
ห่างกันไกลเหลือเกิน ความแตกต่างมันมีแค่ เกียร์อัตโนมัติ ไฟตัดหมอกหน้า พวงมาลัยเพิ่มการปรับระยะ
ใกล้ – ห่าง ได้ ลำโพง 6 จุด ไฟอ่านแผนที่พร้อมกล่องเก็บแว่นกันแดด และแค่นั้น! ถึงขั้นทำให้ราคาต่างกัน
มากถึง 189,000 บาท เลยเชียวเหรอ โอเค ค่าเกียร์แพงอยู่ เข้าใจได้ แต่ ถ้าจะตั้งราคาขนาดนี้ ออพชัน
พวกระบบ ESP และถุงลมนิรภัยฝั่งผู้โดยสาร ก็ควรจะติดเพิ่มเข้ามาอีกสักหน่อย
นั่นหมายความว่า ถ้าอย่างได้ข้าวของครบๆ คุณต้องเล่นรุ่นท็อป 1.8 G เท่านั้น ซึ่ง จากราคาตั้งขายนี้ เพิ่มเงิน
อีกนิดหน่อย ก็เล่น Chevrolet Cruze 2.0 LTZ Diesel Turbo เครื่องใหม่ ที่แรงสะใจกว่าเดิม หรือจะ
เบี่ยงไปในแนวรักโลก อย่าง Toyota Prius ตัวถูก หรือเพิ่มอีก 100,000 บาท ก็เอื้อมขึ้นไปเป็นเจ้าของ
Toyota Camry 2.0 ลิตร ได้แล้ว
และต่อให้มองต่ำลงมา ค่าตัวระดับนี้ เจอ Ford Focus 2.0 GDi ที่อัพออพชันมาซะแน่นคันรถขนาดนั้น
ถ้าออพชันไม่สำคัญ กลุ่ม C-Segment อีกหลายคัน ก็ยังรอให้คุณเลือกช็อปปิง กันได้อยู่
ตาแพน Commander CHENG! เปรียบเอาไว้ได้ โดนใจผมมากเลย…
“ไม่เห็นยาก…มันก็เหมือนพาแฟนไปกินร้านอาหารเกาหลีดีๆที่อร่อยมาก หรู บริการดี แต่ราคาแพงกว่า
ร้านญี่ปุ่นที่ไปอุดหนุนเป็นประจำอยู่โข..คือคุณจะคิดมากแล้วก็จะถามตัวเองว่าคุ้มหรือวะ จนกระทั่งคุณ…
1) โดนแฟนบังคับไป..ซึ่งคุณก็จำเป็นต้องไป..เสียเงินแพง..แต่ก็อาจมีรู้สึกดี แต่แตกต่างและยอมรับได้
2) ตัดใจ ไปกินบุฟเฟ่ญี่ปุ่น แล้วก็คิดว่า…เออมันก็ร้านเดิมๆ…แต่ท้ายสุดตอนหลัง ก็กินอิ่มเหมือนกัน
แถมมีเงินเหลือไว้ไปแดกไอติมต่อกับดูหนังสักเรื่อง”
(ปล. นี่เกลาจากข้อความจริงบน Facebook ของผมแล้วนะ…)
ถ้าขนาด ตาแพนของเรา ยังมองแบบนี้ แล้วเราจะแก้ปัญหานี้กันอย่างไร?
มีทางเดียวคือ Hyundai ต้องหาทางนำรถยนต์มาประกอบในประเทศไทย ซึ่งพวกเขาเคยลองมาแล้วกับ
Sonata รุ่นก่อน ผลลัพธ์หนะหรือ? กว่าจะผลักดันยอดขายกันได้ หืดขึ้นคอเลยทีเดียว ไม่น่าแปลกใจว่า
ทางเกาหลีใต้ กับ Sojitsu (ตัวแทน Hyundai ที่มาทำตลาดในบ้านเราตอนนี้) เขาคงจะเข็ด…
เพราะต่อให้จ้างโรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ ก็มิได้หมายความว่าจะช่วยให้ราคาขายปลีก กดลงต่ำมา
ได้มากนัก ยิ่งในเมื่อ ราคาขายปลีก อาจต่างกันไม่มากเท่าไหร่ หากเทียบกับการสั่งนำเข้ารถยนต์ใหม่
สำเร็จรูปทั้งคันจากเกาหลีใต้ หรือประเทศอื่นๆในแถบ ASEAN ซึ่งก็แค่ทำเรื่อง ดำเนินพิธีการสั่งรถยนต์
เข้ามาขาย ย่อมง่ายดายและสะดวกกว่า การพูดคุยหาซัพพลายเออร์ สั่งชิ้นส่วนเข้ามาประกอบขายในไทย
แต่ในเมื่อ Hyundai ตั้งสโลแกนว่า New Thinking , New Posibility อันหมายความได้ว่า แนวคิดใหม่
ย่อมก่อเกิดความเป็นไปได้ใหม่ๆอันหลากหลาย ผมก็เลยอยากตั้งคำถามกับ Hyundai …..เปล่าครับ
ไม่ใช่ ในเมืองไทย หรือทาง Sojitsu หรอก แต่จะถามไปถึง สำนักงานใหญ่ ริมทางด่วน ชานกรุง
Seoul เลยนั่นแหละ ว่า…
จะรออีกเมื่อไหร่ ถึงจะเริ่มมองเห็นประเทศไทย เป็นประเทศที่มีศักยภาพในการทำตลาดจริงจังเสียที?
ไทย อาจขายรถได้ไม่เยอะเท่าสหรัฐอเมริกา และยุโรป (ซึ่งทุกวันนี้ ทุกโรงงานที่คุณมีอยู่ ก็ผลิตกัน
แทบไม่ทัน งานล้นมืออยู่แล้ว) แต่อย่าลืมว่า ตลาดในแถบนั้น ยังมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ แถมยุโรป
ที่คุณตั้งใจจะบุกนักบุกหนานั้น กำลังเจอภาวะวิกฤติอย่างหนักอยู่ 2 ปีข้างหน้า คือช่วงเวลาสาหัส
จะไปจีน ถึงขั้นทำรถรุ่นพิเศษขายที่นั่นโดยเฉพาะ แต่ยอดขาย ก็ไปได้ดีเป็นบางรุ่น อย่างที่เห็นอยู่
ไม่ลองมองมาทาง ASEAN ให้เต็มรูปแบบกว่านี้สักหน่อยหรือ?
ศักยภาพในการเติบโตของตลาดรถยนต์กลุ่ม ASEAN ยังมี Protential ใหม่ๆ Posibility ใหม่ๆ
รอให้เข้ามาตักตวงไปได้อีกเยอะ แถม ประเทศไทยเราเอง ก็ยังมีแรงงานชั้นดี บางครั้งยังประกอบรถ
เนี้ยบกว่าชาวเกาหลีเองด้วยซ้ำเลยเถอะ! ถ้าไม่รีบเข้ามาวันนี้ แล้วเมื่อไหร่จะเข้ามาเต็มตัวเสียที?
ขนาด Ford ที่ยอดขายน้อยกว่า GM ในบ้านเรา ขายได้ในอันดับกลางๆ ของตลาด เขาเริ่มแล้วนะ
เขาก็มาตั้งโรงงานใหม่เอง อีกแห่งในเมืองไทยแล้วนะ Hyundai เกาหลีละ? มัวแต่สวมชุดฮันบก
กันอยู่หรือยังไง?
หรือจะต้องรอให้ทุกอย่าง สายเกินไป? เหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับ Hyundai ในเมืองไทยเมื่อกาลก่อน?
————————————-///———————————–
ขอขอบคุณ / Special Thanks to
คุณสฤษฎร์พร สกลรักษ์ พี่แกะ
และทีมงานทั้งฝ่ายประชาสัมพันธ์ , Marketing และ Product Planing
บริษัท Hyundai Motor (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ และอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆอย่างดียิ่ง
—————————————————–
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ยกเว้นภาพถ่ายายละเอียดทางวิศวกรรม ลิขสิทธิ์เป็นของ
Hyundai Motor Company ประเทศเกาหลีใต้
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
15 พฤศจิกายน 2012
Copyright (c) 2012 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
November 15th,2012
แสดงความเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! Click here!