ช่วงปี 2011 – 2013 ถือเป็นช่วงเวลาที่ตลาดรถยนต์ขนาดกลาง ที่เรียกว่ากลุ่ม D-Segment พิกัดเครื่องยนต์
2,000 – 3,500 ซีซี มีสีสันขึ้นมาอีกครั้ง เพราะเป็นจังหวะเวลาที่ผู้เล่นหน้าสำคัญในตลาด ต่างเริ่มทะยอย
เปลี่ยนโฉมใหม่กับรถยนต์ของตนกันอย่างต่อเนื่อง

ปี 2012 Toyota เริ่มเปิดศึก เปลี่ยนโฉมใหม่ให้กับ Camry กันก่อน จากนั้น ข้ามมาเป็นคิวของ Honda
Accord เจเนอเรชันที่ 9 เปิดตัว วันที่ 11 มีนาคม 2013 ก่อนจะปิดท้ายด้วย Nissan Teana ใหม่ ในเดือน
สิงหาคม 2013 ที่จะถึงนี้

กระนั้น บรรดาผู้เล่นรายเล็กทั้งหลาย ต่างก็ยังแอบหวังจะเห็นแบรนด์ของตน เบียดเสียดเยียดยัดเข้าไป
แย่งชิงก้อนเค้กส่วนแบ่งการตลาดรถยนต์กลุ่ม D-Segment นี้กันอยู่เรื่อยๆ เช่น Subaru Legacy หรือ
Skoda Superb

Hyundai เอง ก็เป็นหนึ่งในผู้เล่นกลุ่มหลัง พวกเขาเลือกจะเปิดตัว Sonata Sport กันมาก่อนใคร ตั้งแต่
วันที่ 9 มีนาคม 2011 ก่อนที่โลกจะโกลาหล จากผลของแผ่นดินไหว และสึนามิ ถล่มญี่ปุ่น รวมทั้ง
มหาอุทกภัยจากฝีมือปล่อยน้ำอันแสนจะเฮงซวยของมนุษย์ ในเมืองไทย เดือนตุลาคม 2011

แต่ดูเหมือนว่า ผลตอบรับที่ย้อนกลับมา ในช่วง 2 ปีหลังออกสู่ตลาด จะยังไม่ค่อยดีเท่าที่ควร

เพราะเมื่อดูตัวเลขยอดขายนับตั้งแต่การเปิดตัวในเดือนมีนาคม 2011 เป็นต้นมา ปรากฎผลลัพธ์
ที่น่าใจหายอยู่ไม่น้อย

ตลอดทั้งปี 2011 Hyundai Motor Thailand ขาย Sonata Sport ใหม่ไปได้ เพียง 136 คัน และพอ
สิ้นสุดปี 2012 ก็ทำยอดขาย Sonata Sport ไปได้อีก 121 คัน รวมแล้ว เวลานี้ Hyundai Sonata
Sport โลดแล่นอยู่บนท้องถนนเมืองไทยทั้งหมด 257 คัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยกว่า ยอดขายเฉลี่ย
ของรถยนต์กลุ่ม D-Segment Sedan ในบ้านเรา แต่ละเดือน ที่ระดับ 300 คัน/รุ่น/เดือน เสียอีก!

คำถามก็คือ เกิดอะไรขึ้น? รถยนต์ ที่ฝรั่งอั้งม้อ ชาวอเมริกันยกย่องให้ว่าเป็นคู่ปรับที่น่าสะพรึงกลัว
ของ Toyota Camry และ Honda Accord กลับมีชะตากรรม ที่แตกต่างจาก ญาติผู้พี่ร่วมสำนัก
อย่าง รถตู้ Hyundai H-1 และ SUV อย่าง Hyundai Tucson กันไกลลิบ? ราคาแพงไป? หรือ
สมรรถนะยังไม่โดนใจ? ออพชันไม่คุ้มกับราคา หรือว่าคู่แข่งน่าสนใจกว่า?

คำตอบที่คุณสงสัย รอคอยอยู่ด้านล่างของบทความรีวิวนี้ เหมือนเช่นเคย

เพียงแต่ ก่อนที่เราจะพูดคุยกันถึง Sonata Sport ใหม่ ผมก็อยากจะขอพาคุณ นั่งไมท์แมชชีน
ย้อนเวลา กลับไปดูอดีตที่ผ่านมาของ Sonata กันเล็กน้อย เพื่อที่จะให้คุณได้รู้ว่า แท้จริงแล้ว
รากฐานของ Sonata นั้น มันไม่ใช่รถยนต์กระจอกๆ ธรรมดาๆ ไก่กาอาราเร่ เพราะมีรถยนต์
อย่าง Ford Cortina และสุดยอดนักออกแบบรถยนต์ชื่อก้องโลก Giorgetto Giugiaro
เข้ามาเกี่ยวข้องกับการถือกำเนิดของ Sonata ในช่วงแรกๆอยู่ด้วย….!!!!!!!!

แล้วมันมาเกี่ยวกันได้ยังไงละเนี่ย??

 

Sonata ถือเป็นรถยนต์รุ่นสำคัญ 1 ใน 2 รุ่น ที่สร้างให้ Hyundai เติบโตมาได้ทุกวันนี้
นอกเหนือไปจากตระกูล Pony/Excel/Accent และการย้อนอดีตไปถึงจุดกำเนิดของ
Hyundai ก็มีความสำคัญมากพอให้คุณได้รู้ว่า เบื้องหลังที่ทำให้ Hyundai ทำ Sonata
ออกมาได้ดีนั้น มันมีหลายสาเหตุประกอบกัน

ประวัติความเป็นมาของ Hyundai นั้นยาวนานมาก ไม่แพ้ประวัติศาสตร์รถญี่ปุ่น หรือรถยุโรป
เลยนั่นแหละ ถ้าจะให้ย้อนกลับไปถึงวันที่ พ่อค้านักสู้จอมวิสัยทัศน์ อย่าง Chung Ju-Yung
ลืมตาขึ้นมาดูโลก เมื่อ 25 พฤศจิกายน 1915 นั่นก็นานเกินเหตุ

สรุปให้สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ก็คงต้องเล่ากันเพียงว่า หลังจากผ่านร้อนผ่านหนาว สู้ชีวิตกันมา
แทบทุกรูปแบบ จากเด็กคนหนึ่ง ที่ทนทำงานหาเลี้ยงครอบครัว จนทนไม่ไหว หนีออกจากบ้าน
สำเร็จในครั้งที่ 3 เมื่ออายุ 16 ปี เข้ากรุงโซล เป็นลูกจ้างร้านค้าข้าว เมื่ออายุ 18 ปี แล้วก็ออกมา
เปิดร้านค้าข้าวเอง ในปี 1937 ตอนอายุ 22 ปี พอโดนกองทัพญี่ปุ่นที่บุกเข้ามาในตอนนั้น บีบ
ให้เลิกทำ หันไปขับรถบรรทุก จนเปิดกิจการขนส่งเองได้ ทำไปทำมาเลยเถิดไปถึงขั้น ประมูล
รับงานก่อสร้างขนาดใหญ่ของประเทศเกาหลีใต้ ไม่เว้นแม้แต่ทางด่วนในเมืองไทย (ชนะการ
ประมูลเมื่อปี 1965) และกลายเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ หรือ Chaebol (แชร์โบล) ใน
เกาหลีใต้ไปแล้ว

ในที่สุด เขาก็คิดว่า จะเอาดีทางด้านอุตสาหกรรมรถยนต์กันละ Chung Ju-yung และน้องชาย
Chung Se-yung จึงก่อตั้งบริษัท Hyundai Motor Company เมื่อเดือนธันวาคม 1967 
เป็นหนึ่งในกิจการในเครือของ กลุ่ม Hyundai 

พวกเขาเริ่มต้นเก็บเกี่ยวประสบการณ์ใน 8 ปีแรก ด้วยการทำข้อตกลง กับ Ford Motor Company
ในการนำเข้าชิ้นส่วนอะไหล่แบบ Semi-Knock Down (SKD) ไปเกาหลีใต้ เพื่อประกอบรถยนต์
Sedan ขนาดกลาง Ford Cortina และรุ่นใหญ่ Ford Granada สำหรับขายในเกาหลีใต้ พวกเขาก็
ใช้เวลาเพียงแค่ 6 เดือนเท่านั้น ในการเนรมิต พื้นที่ในเมือง Ulsan ให้กลายเป็นโรงงานประกอบ
รถยนต์ขนาดยักษ์ ถือว่า เป็นโรงงานที่สร้างเสร็จเร็วที่สุด ในบรรดาโรงงานของ Ford 118 แห่ง
ทั่วโลก ในขณะนั้น

นั่นหมายความว่า Ford ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ให้กับ Hyundai เยอะมาก ตั้งแต่
พิมพ์เขียว รายละเอียดด้านเทคนิคเชิงลึกของรถ คู่มือการประกอบ รวมทั้งการฝึกอบรมวิศวกร
ของ Hyundai เองด้วย ถือเป็นองค์ความรู้ที่มีคุณค่าอย่างมาก และถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากๆ
ของ Hyundai เพื่อจะเดินหน้าสู่แผนการขั้นต่อไปของพวกเขา

8 ปีจากประสบการณ์ในการร่วมงานกับ Ford ทำให้ Hyundai คิดว่า ถึงเวลาแล้ว สำหรับการทำ
รถยนต์ของตัวเองอย่างจริงจัง เป็นจังหวะประเหมาะพอดี กับที่ รัฐบาลเกาหลีใต้ในปี 1973 เกิด
คิดการณ์ใหญ่ พวกเขาต้องการจะ ผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์เกาหลีใต้ ให้เกิดได้บนเวทีโลก
จึงเรียกผู้ผลิตรถยนต์ 4 ค่าย ทั้ง Hyundai Kia Daewoo และ Ssangyong มาเสนอแผน
ระยะยาว เพื่อให้พร้อมที่จะมีรถยนต์เกาหลีใต้แท้ๆ ภายในปี 1975

Hyundai ก็เลยไปจ้าง อดีตประธานของ Austin – Morris ในเครือ British Leyland จากอังกฤษ
ชื่อ George Turnbull มาเป็น Vice president ของตน ซึ่ง George ก็ชวนผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค
ในวงการรถยนต์อังกฤษอีก 6 คน มาช่วยกันทำงานทั้งในฐานะที่ปรึกษา และวิศวกรสร้างรถยนต์
แถมยังจ้างสุดยอดนักออกแบบรถยนต์มือหนึ่งของโลก ชาวอิตาเลียน Giorgetto Giugiaro มา
ร่วมงานด้วย นอกจากนี้ ยังทำข้อตกลงกับ Mitsubishi Motors ในการขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยี
และสั่งซื้อเครื่องยนต์ ไปติดตั้งในรถนยนต์ของตน

ในที่สุด Hyundai Pony รถยนต์ขนาด Sub-Comapct Hatchback 5 ประตู ที่ Giugiaro
ออกแบบเปลือกตัวถังขึ้นมาใหม่ทั้งหมด สวมครอบทับพื้นตัวถัง เครื่องยนต์ ระบบกันสะเทือน
ของ Mitsubishi Lancer รุ่นแรก ก็เปิดตัวสู่สายตาชาวโลกครั้งแรกในงาน Turin Motor Show
ครั้งที่ 55 เมื่อ ปี 1974 พอปลายปี 1975 การผลิตเพื่อจำหน่ายจริงด้วยชิ้นส่วนกว่า 90 % ทำใน
เกาหลีใต้ ก็พร้อมแล้ว และในเดือนมกราคม 1976 Hyundai Pony ก็ออกสู่ตลาดเกาหลีใต้เป็น
ครั้งแรก

แม้ว่าชาวอังกฤษทั้ง 6 จะลาออกไปในปี 1977 และลูกหลานของ Pony ก็สืบเชื้อสายต่อเนื่อง
มาเป็น Excel และ Accent จนถึงปัจจุบัน แต่ความสัมพันธ์กับอาจารย์ Giorgetto Giugiaro
ยังคงดำเนินต่อไปด้วยดี งานชิ้นต่อไป ก็คือ การพัฒนารถยนต์ ขนาดกลาง ที่จะต้องทำตลาด
แทน Ford Cortina ในเกาหลีใต้

เดือนกรกฎาคม 1983 ทั้งคู่ก็ได้ร่วมกันให้กำเนิด Hyundai Stella รถยนต์ Sedan ขนาดกลาง
ที่ใช้พื้นตัวถังที่ดัดแปลงจาก Ford Cortina นิดหน่อย แต่ใช้เครื่องยนต์ จาก Mitsubishi Motors
ตระกูล 4G บล็อก 4 สูบ SOHC 8 วาล์ว คาร์บิวเรเตอร์ ทั้งแบบ 4G33 1,499 ซีซี 94 แรงม้า (PS)
และ 4G33 1,587 ซีซี 100 แรงม้า (PS) ขับเคลื่อนล้อหลัง ก็ตาม ถึงจะดูเรียบๆ ง่ายๆ เชยๆ แต่
ใครจะไปนึกละว่ารถเก๋งหน้าตาทื่อมะลื่อแบบนี้ จะมีกระจกหน้าต่างไฟฟ้า กับระบบเซ็นทรัลล็อค มาให้
จากโรงงาน เหนือกว่ารถยนต์ระดับเดียวกันคันอื่นๆ ในยุคสมัยนั้นกันเลยทีเดียว! 

เดือน พฤศจิกายน 1985 เวอร์ชันหรูขึ้นกว่าเดิมของ Stella คือ Hyundai Sonata รุ่นแรก ออกสู่
ตลาด รวมถึงเบาะหลังปรับเลื่อนขึ้นหน้า หรือถอยหลังด้วย สวิชต์ไฟฟ้ามาให้จากโรงงานอีกด้วย!
และนี่คือจุดเริ่มต้นของการใช้ Namplate “Sonata” ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ในยุคนั้น Sonata
ยังเป็นเพียงแค่ Hyundai Stella ในเวอร์ชันที่ตกแต่งประทินโฉมระดับประโคมด้วยโครเมียม
แวววาวรอบคัน ในตอนนั้น รหัสรุ่น ของ Sonata โฉมแรกนี้คือ “Y”

รุ่นที่ 2 รหัสรุ่น Y2 เปิดตัวครั้งแรก ในกรุงโซล เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 1988 ก่อนทะยอยเปิดตัว
ในสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย ช่วงปี 1988 ในฐานะ รถยนต์รุ่นปี 1989  ถูกเปลี่ยนโฉมใหม่
ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นทั้งคัน และมีเส้นสายที่เหลี่ยมสันร่วมสมัยมากขึ้น เครื่องยนต์ มีให้เลือก
5 ขนาด ตลอดอายุตลาด ได้แก่ ขุมพลัง 4 สูบ SOHC 1.8 ลิตร จาก Mitsubishi ตระกูล Sirius
105 แรงม้า (PS) เครื่องยนต์ 4 สูบ SOHC 2.0 ลิตร จาก Mitsubishi ตระกูล Sirius เช่นกัน แรง
เพิ่มเป็น 110 แรงม้า (PS) ตามด้วยขุมพลังหลักสำหรับทั่วโลก ยกเครื่องยนต์ 4G63 2.0 ลิตร
ของ Mitsubishi Motors มาลงอีกเช่นกัน 131 แรงม้า (HP) ตามดัวย 4G64 บล็อก 4 สูบ 2.4
ลิตร 110 แรงม้า (HP) และแรงสุด เป็นขุมพลัง 6G72 บล็อก V6 3.0 ลิตร 146 แรงม้า (PS)
มีทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และอัตโนมัติ 4 จังหวะ รุ่นนี้เป็นรุ่นแรกที่ถูกสั่งเข้ามาจำหน่ายในบ้านเรา

พฤษภาคม 1993 เจเนอเรชันที่ 3 คลอดออกมาด้วยรูปลักษณ์ที่โค้งมนขึ้น ในตลาดเกาหลีใต้เรียกว่า
รุ่น Sonata-II รหัสรุ่น Y3 ยังคงวางขุมพลังจาก Mitsubishi Motors บล็อกเดิมแทบจะทั้งหมด เริ่ม
ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม ทำตลาดถึงเดือนกุมภาพันธ์ 1996 จึงปรับโฉม Minorchange
ครั้งใหญ่ ในชื่อ Sonata-III เส้นสายดู แปลกประหลาดมากขึ้น ทำตลาดถึง เดือนมีนาคม 1998 ก็ถึง
เวลาของการเปลี่ยนโฉมใหม่ทั้งคัน เป็นรุ่นที่ 4 ในชื่อ Sonata EF ออกสู่ตลาดในยุคที่เกาหลีใต้กำลัง
เผชิญกับสภาพเสรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงพอดี แต่ ยังคงสร้างยอดขายและรายได้ให้ Hyundai ได้
อย่างต่อเนื่อง Sonata EF ทำตลาดจนถึงเดือนมกราคม 2001 จึงมีการปรับโฉม Minorchange
เป็นรุ่นไฟหน้าไข่แฝด ย้ายป้ายทะเบียนหลังมาไว้บนฝากระโปรงหลัง รถรุ่น EF ไม่มีการนำเข้ามาขาย
ในบ้านเรา แต่มีการสั่งนำเข้ามาไม่กี่คัน เพื่อเป็นรถของสถานฑูตเกาหลีใต้ประจำประเทศไทย

เจเนอเรชันที่ 5 รหัสรุ่น NF  ถือเป็นรุ่นที่มีการเปี่ยนแปลงใหม่หมดทั้งคัน พลิกโฉมจากหน้าจรดหลัง
จรดหลัง สู่ความเหลี่ยมสันเต็มรูปแบบ ใช้พื้นตัวถังใหม่ รวมทั้งเครื่องยนต์ใหม่ รหัส Theta 4 สูบ
2.4 ลิตร 164 แรงม้า (BHP) และ V6 3.3 ลิตร 237 แรงม้า (BHP)  ที่ Hyundai พัฒนาขึ้นเอง
เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ เมื่อเดือนสิงหาคม 2004 มีบุคลิกความเป็น World Car ขึ้นมากกว่าเดิม งานนี้
นิตยสารรถยนต์ในยุโรปบางฉบับ ถึงขั้น นำรถไปจอด ปิดโลโก้เอาไว้ แล้วให้ผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมา
ทายว่าเป็นรถอะไร ปรากำว่า แทบไม่มีใครเชื่อสายตาเลยว่า นี่แหละ Hyundai!

รุ่น Minorchange เปิดตัวสู่สายตาชาวโลกในงาน Chicago Auto Show ปี 2008 และใน
เกาหลีใต้เอง ก็เรียกรถรุ่นนี้ว่า Sonata Transform เพราะมีการปรับโฉมใหญ่ ให้ดูสดใหม่
และทันสมัยมากขึ้น งานนี้ถึงขั้น เปลี่ยนชุดไฟหน้า กระจังหน้า ไม่เว้นแม้แต่แผงหน้าปัด ยังถูก
เปลี่ยนใหม่แทบทั้งหมด ทำตลาดจนถึง ปี 2010

นับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อ 26 ปีที่ผ่านมา Hyundai สามารถทำสถิติยอดขายผ่านหลัก 1 ล้านคันได้สำเร็จ
เมื่อปี 1994 จากนั้น ก็ผ่านหลัก 4 ล้านคัน ในปี  2007 และล่าสุด เมื่อปี 2011 ที่ผ่านมา Sonata
ได้ทำลายสถิติยอดขายทะลุ 5 ล้านคัน ได้ในที่สุด ถือเป็นรถยนต์ Hyundai รุ่นที่ 3 ซึ่งทำลายสถิตินี้
สำเร็จ ตามหลัง Hyundai Pony/Excel/Accent เมื่อปี 2001 และ Hyundai Elantra เมื่อปี 
2008 ในจำนวนนี้ กว่าครึ่งหนึ่ง หรือราวๆ 2.7 ล้านคัน เป็นยอดขายในประเทศเกาหลีใต้เองโดยลำพัง
และปัจจุบันนี้ ยอดขายของ Sonata 2 ใน 3 เป็นตัวเลขจากตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดใหญ่
ที่สำคัญที่สุดของรถยนต์รุ่นนี้

อย่างไรก็ตาม หลังการเปิดตัว Sonata รุ่น NF ไปได้เพียง 1 ปี โครงการพัฒนา Sonata รุ่นต่อไป ในรหัส YF
ก็เริ่มต้นขึ้น ในช่วงปี 2005 คราวนี้ Hyundai ทุ่มงบประมาณเพื่อการพัฒนา Sedan รุ่นเอกคันใหม่ของตน
มากมายมหาศาลถึง 450 พันล้านวอน หรือ 372 ล้านเหรียญสหรัฐฯ กันเลยทีเดียว

ความท้าทายสำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งก็คือ การออกแบบ Sonata YF ใหม่ ให้ปรากฎออกสู่สายตาชาวโลก
แบบพลิกความคาดหมาย กระชากทุกสายตาให้หันมามองรถคันนี้ ด้วยเส้นสายที่รังสรรค์ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด
ไม่ซ้ำใคร จากแนวการออกแบบล่าสุดของพวกเขาที่เรียกกันว่า Fluidic Sculpture Design

แล้วทำไมต้องเป็น Fluidic Sculpture?

เรื่องมันมีอยู่ว่า หากย้อนไปดูงานออกแบบของ Hyundai ในยุคก่อนหน้านี้ จะพบความน่าเบื่อ
และไม่มีเอกลักษณ์ของแบรนด์ ชนิดที่ ผู้คนเขาจดจำแทบไม่ได้เลยว่า นี่คือรถยนต์จาก Hyundai
พวกเขาจึงคิดได้ว่า ถึงเวลาจะต้องแก้ปัญหานี้กันได้แล้วเสียที ในช่วงปี 2005 – 2006 จึงได้เริ่ม
มีการพัฒนาแนวทางการออกแบบรถขึ้นมาใหม่ หา Theme การออกแบบ ของตัวเองให้เจอ

พวกเขา ได้ค้นพบแรงบันดาลใจจาก แนวเส้นสายที่โค้งมน และสร้างความรู้สึกเคลื่อนไหว
อย่างต่อเนื่อง จากพื้นผิวสัมผัสของ ผ้า หรือผืนธงที่กำลังพริ้วไหว แนวเส้นโค้งตามสันขอบ
ของแก่งและหน้าผา ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แรงบันดาลใจเหล่านี้ สะท้อนออกมาเป็นงาน
ออกแบบที่เรียกว่า Fluidic Sculpture Design ซึ่งหมายถึง การสร้างพื้นผิวที่พริ้วไหว 
ก่อให้เกิด ความลื่นไหล ลงบนตัวรถ แม้ในยามจอดสงบอยู่กับที่ นั่นเอง

เมื่อการพัฒนาเข้าใกล้ช่วงเปิดตัว ภาพถ่าย Spyshot ที่หลุดออกไปสู่โลก Internet ส่งสัญญาณ
ให้ผู้คนทั่วโลกรู้สึกช็อคกับสิ่งที่พวกเขาได้พบเห็น ไม่มีใครเชื่อเลยว่า นี่คือ รถยนต์เกาหลีใต้
ไม่มีใครเชื่อเลยว่า นี่คือ Hyundai ที่พวกเขาเคยก่นด่าดูถูกดูแคลนว่าออกแบบห่วยแตก ไร้ซึ่ง
รสนิยม ไร้เอกลักษณ์ของตนเอง

วันที่ 1 กันยายน 2009 พวกเขาเริ่มประกาศเปิดรับจอง Sonata ใหม่ ในช่วง Pre-Order นี้
ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2009 เป็นต้นไป ยอดการสั่งจองที่มากมาย ทำให้ Hyundai เริ่ม
มั่นใจขึ้นว่า พวกเขา เดินมาถูกทางแล้ว

ยิ่งเมื่อเวอร์ชันจำหน่ายจริง เปิดตัวสู่สายตาชาวโลกเป็นครั้งแรก ที่เกาหลีใต้ เมื่อวันที่
21 กันยายน 2009 ตามติดด้วยการเปิดตัว ในตลาดอเมริกาเหนือ ณ งาน Los Angeles
Auto Show วันที่ 2 ธันวาคม 2009 (ในฐานะรถยนต์รุ่นปี 2011) แทบทุกสายตาต่าง
พากัน อึ้ง ทึ่ง ตะลึงตึงตึง กันไปเลย

เวอร์ชันตลาดโลก จะยังคงผลิตที่โรงงานในเมือง Asan ที่เกาหลีใต้ ส่วนตลาดอเมริกา
เหนือ จะขึ้นสายการผลิตในโรงงานของ Hyundai Motor America ที่เมือง Montgomery
มลรัฐ Alabama ส่วนในเมืองจีน จะผลิตที่โรงงานของ Hyundai ในเมือง Beijing อีกทั้ง
ยังมีโรงงานใน Indonesia เพื่อผลิตออกขายในประเทศอีกด้วย 

สำหรับ Sonata ในเมืองไทยนั้น รุ่นแรก ที่เปิดตัว เป็นรุ่น Y2 นำเข้ามาพร้อมกับการเปิดตัว
แบรนด์ Hyundai อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก โดยบริษัท United Auto Sales จำกัด ในกลุ่ม
PNA พระนครยนตรการ เผยโฉมสู่สาธารณชนครั้งแรก ในงาน มหกรรมยานยนต์ เมื่อช่วง
ปลายเดือน พฤศจิกายน – ต้นเดือนธันวาคม 1992 ร่วมกับ Hyundai Excel และ Elantra รุ่น
แรกสุด เวอร์ชันไทย เป็นเครื่องยนต์ 4G63 ของ Mitsubishi Motors อะไหล่แลกเปลี่ยนกัน
ใช้งานได้

รุ่น Y2 ขายในบ้านเรากันสั้นๆ เพียง 1 ปี ต่อมา ในปี 1993 Sonata-II ก็เข้าสู่ตลาด ในช่วงงาน
มหกรรมรถยนต์ ปลายปี 1993 และเป็นรุ่นที่ขายดิบขายดี เพราะงานวิศวกรรมคล้ายรุ่นเดิม แต่เปลี่ยน
ตัวถัง ให้ดูโค้งมน หรูหรามีระดับมากขึ้น พอล่วงเข้าปี 1996 รุ่นปรับดฉม Minorchange ไฟหน้า
และกระจังหน้าทรงแปลกตา ก็ถูกสั่งเข้ามาขายในช่วงสั้นๆ ก่อจะค่อยๆ หายไปจากตลาด
ในปี 1998 ช่วงที่สวิกฤติเศรษฐกิจของบ้านเรา กำลังสุกงอมได้ที่

กว่าที่ Sonata จะกลับมาอีกครั้ง ต้องรอข้าม รุ่น EF ไป แถมรุ่น NF เอง ก็เข้ามาเปิดตัวใน
จังหวะเวลาที่แปลกสักหน่อย เพราะ Sojitsu บริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ และอุตสาหกรรม
ของญี่ปุ่น เพิ่งจะดีลกับทาง Hyundai Motor เกาหลีใต้ นำแบรนด์ Hyundai กลับมา ซึ่ง
รุ่น Sonata อยู่ในแผนการเปิดตัวช่วงแรก เดือนพฤศจิกายน 2007 แต่ก็มียอดขายไม่ถึงกับ
หวือหวานัก จนกระทั่ง ต้องนำมาติดระบบก๊าซ CNG จึงสามารถระบายสต็อกออกไปได้
จนหมดเกลี้ยงอย่างรวดเร็ว

Sonata Sport รุ่นปัจจุบัน ถือเป็น Sonata รุ่นที่ 4 ที่มีขายในประเทศไทย ออกสู่ตลาดใน
บ้านเราครั้งแรก เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2011 มานี้เอง 

 

Sonata Sport มีขนาดตัวถังใหญ่ขึ้นกว่ารุ่นเดิมอย่างชัดเจน ด้วยความยาว 4,820 มิลลิเมตร
กว้าง 1,835 มิลลิเมตร สูง 1,470 มิลลิเมตร และระยะฐานล้อยาวถึง 2,795 มิลลิเมตร น้ำหนัก
รถทั้งคันโดยประมาณอยู่ที่ 1,440 กิโลกรัม

เมื่อเปรียบเทียบกับ Sonata NF รุ่นเดิม ที่มีความยาว 4,800 มิลลิเมตร กว้าง 1,832 มิลลิเมตร
สูง 1,475 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,730 มิลลิเมตร จะพบว่า รถรุ่นใหม่ ยาวขึ้นแค่ 20 มิลลิเมตร
กว้างขึ้นแค่ 3 มิลลิเมตร สูงขึ่น 5 มิลลิเมตร แต่มีระยะฐานล้อยาวขึ้นถึง 65 มิลลิเมตร

ด้านหน้าของตัวรถ ถูกออกแบบขึ้น โดยได้รับแรงบันดาลใจมากจาก สายตาของเหยี่ยว ที่ดูมาดมั่น
แสดงออกถึงความภาคภูมิใจในตนเอง เส้นสายภายนอก แสดงออกถึงการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง
แม้ในขณะที่ รถจะจอดนิ่ง สนิท

ทุกรุ่น มีกระจังหน้าเป็นแบบ โครเมียม ลายขั้นบันได ไฟตัดหมอกด้านหน้า และไฟเลี้ยวที่กรอบ
กระจกมองข้าง แบบ LED มาให้ แต่เฉพาะรุ่น 2.0 G ตัวท็อปเท่านั้น ที่จะมีไฟหน้าแบบ HID
(High Intensity Discharge Headlamp) มาให้จากโรงงาน แบบไม่ต้องไปถอดหาเปลี่ยนเอาเอง
ส่วนรุ่น 2.0 S ก็ใช้ไฟหน้า ฮาโลเจน กันต่อไป  

จุดเด่นในงานออกแบบของ Sonata Sport นั้น มีด้วยกัน 3 ตำแหน่ง นั่นคือ แนวเส้นหลังคา และ
กรอบกระจกหน้าต่าง แบบ 6 Windows ดุจรถยุโรปชั้นดี เพิ่มความโฉบเฉี่ยวด้วย แนวเส้นสัน
พาดผ่านลำตัวด้านข้าง และไฟท้ายทรงล้ำยุค ที่ช่วยให้งานออกแบบของรถคันนี้ ยัคงดูได้นาน
และยังไม่เบื่อตาง่ายๆ

แต่ความต่าง ที่คุณสามารถแยกบนถนนได้ ว่ารุ่นใดเป็นรุ่นใด ก็คือ หากเป็นรุ่นท็อป 2.0 G ล้อ
จะเป็น อัลลอย ใหญ่ถึง 18 นิ้ว พร้อมยางขนาด 225/45 R18  และมีแผ่นบังโคลนซุ้มล้อแถมให้
ห้องโดยสารเป็นเบาะหนังสีดำ แต่ถ้าเป็นรุ่น 2.0 S ล้ออัลลอยจะมีขนาดเล็กลง เหลือ 17 นิ้ว
สวมเข้ากับยางขนาด 215/55 R17 และมีห้องโดยสารสีเบจ

การเข้า – ออกจากรถ ใช้ รีโมทกุญแจ Keyless-Go พร้อมระบบกันขโมย Immobilizer แบบเดียวกัน
กับทั้ง Hyundai Tucson และ Hyundai Elantra ใหม่ แค่พกกุญแตรีโมทเอาไว้ เดินเข้าใกล้รถ กดปุ่ม
เพื่อ ปลด หรือสั่งล็อกบานประตู การติดเครื่องยนต์จะใช้วิธีกดปุ่ม Start ขนาดใหญ่ ที่บริเวณฝั่งขวา ใกล้ๆ
คอพวงมาลัย ส่วนมือจับประตูทั้ง 4 บานของทุกรุ่น เป็นแบบพลาสติก ฉาบเคลือบด้วยโครเมียม

เมื่อเปิดประตูกางออก จะพบว่า ห้องโดยสาร ถูกตกแต่งในโทนสีที่ต่างกัน รุ่น 2.0 G ตัวท็อป จะใช้
สีดำ เป็นโทนหลัก แซมประดับด้วย ลวดลายสีเงินอะลูมีเนียม ส่นรุ่น 2.0 S จะใช้สีเบจ เป็นโทนสี
หลัก เพื่อสร้างบรรยากาศสว่างไสวภายในรถ ตัดสลับด้วย Trim ลายไม้สีเข้ม ที่แผงประตู 

การลุกเข้า-ออก นั้น อาจต้องระมัดระวังศีรษะเล็กน้อย เนื่องจาก เสาหลังคาที่โค้งมนมากๆ และ
อยู่ในตำแหน่งที่เตี้ยพอประมาณ อาจทำให้หัวของคุณโจกกับเสากรอบประตู ก็เป็นไปได้

แผงประตู ออกแบบมาให้วางแขนได้ในระดับกำลังดี มีช่องใส่ขวดน้ำขนาด 7 บาท ช่องใส่เอกสาร
และไฟสัญญาณสีแดง เพื่อเตือนให้รถคันข้างหลัง แล่นตามมาในตอนกลางคืน เห็นว่าคุณกำลัง
เปิดประตูอยู่ สไตล์เดียวกับรถยุโรปกันเลยทีเดียว

เบาะนั่งคู่หน้าและคู่หลัง มีโครงสร้างหลักที่เหมือนกัน แต่รายละเอียดจะต่างกันนิดหน่อย
ตามแต่ละรุ่นย่อย รุ่น 2.0 G ตัวท็อป จะหุ้มหนัง สีดำ แต่ในรุ่น 2.0 S จะเป็นเบาะผ้า 
สลับหนัง และเป็นสีเบจ ซึ่งนั่งสบายไม่แพ้กัน

พนักพิงเบาะหน้า ออกแบบมาดีในระดับหนึ่ง นั่งขับนานๆแล้วไม่ปวดหลัง แต่อาจมีเมื่อย
บ้างนิดๆ ไม่มากนัก ขึ้นอยู่กับสรีระของแต่ละคน มีปีกด้านข้าง รองรับสรีระร่างของผู้ขับขี่
พนักศีรษะ นุ่มกำลังดี พื้นที่เหนือศีรษะ สำหรับผู้ขับขี่ และผู้โดยสารด้านหน้า ไม่มีปัญหา
เบาะรองนั่งคู่หน้า แม้ว่าจะมีขนาดยาวพอสมควรแล้ว แต่ถ้ายาวเพิ่มกว่านี้ไปอีกนิดนึง ก็จะ
รองรับขาพับได้เต็มพื้นที่ กว่านี้ สรุปว่า เบาะ Teana J32 ยังดีกว่ากันนิดนึง

รุ่น 2.0 G เบาะคู่หน้า  ทั้ง 2 ฝั่ง จะปรับตำแหน่งได้ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า ทั้งหมด แถมมีหน่วย
ความจำ ตำแหน่งเบาะนั่ง และกระจกมองข้าง มาให้เป็นพิเศษ  แต่ในรุ่น 2.0 S จะมีเบาะ
ปรับด้วยไฟฟ้ามาให้แค่ ฝั่งคนขับเท่านั้น และไม่มีหน่วยความจำตำแหน่งเบาะมาให้
ส่วนรุ่น 2.0 G จะมีสวิชต์ปรับดันหลังด้วยไฟฟ้ามาให้อีกด้วย

เข็มขัดนิรภัย เป็นแบ ELR 3 จุด ลดแรงปะทะ และดึงกลับอัตโนมัติ  

เช่นเดียวกับบานประตูคู่หน้า การเข้า – ออก จากบานประตูคู่หลัง อาจต้องเพิ่มความรมัดระวัง
ศีรษะจะไปชนกับกรอบเสาโครงตัวถังได้ ต้องก้มหัวเพิ่มขึ้นนิดนึง ขอบทางเข้าด้านล่าง ติดแผ่น
Sculpt Plate มาให้เหมือนกันกับคู่หน้า  แผงประตูด้านข้าง วางแขนได้ในตำแหน่งพอดีๆ แต่มี
ช่องใส่ของจุกจิกแถมมาให้นิดหน่อยเท่านั้น บริเวณโดยรอบมือจับประตู จะตกแต่งด้วย Trim
แบบ Glossy บริเวณที่ต้องสัมผัสกับแขน จะแซมด้วยหนังสังเคราะห์ และถ้าสังเกตดีๆ จะพบ
ว่ามีช่องแอร์ สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง ติดตั้งอยู่ด้านหลังกล่องเก็บของ คอนโซลกลาง มาให้
อีกด้วย บานกระจกหน้าต่างไฟฟ้า เลื่อนลงได้ ไม่สุดขอบล่าง

ด้านหลังพนักพิงเบาะคู่หน้า มีทั้งช่องใส่หนังสือ 2 ฝั่ง และมุมเว้า ทำเอาไว้ เพื่อหลบให้มี
พื้นที่วางขาเพิ่มมาอีกนิดนึง และมีช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง มาให้ทั้ง 2 รุ่น

เบาะนั่งด้านหลัง ออกแบบเน้นความสบายในการเดินทาง มากเท่าที่จะเป็นไปได้ ฟองน้ำนุ่ม
สบายกำลังดี พนักศีรษะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ และรองรับศีรษะได้ในระดับกำลังดี ไม่ดันหัว
มากเกินเหตุ นั่งแล้วแอบจมลงไปเหมือนนั่งบนโซฟาในห้องรับแขกนิดหน่อย

เบาะรองนั่งด้านหลัง นั่งได้เต็มพื้นที่ก้น ขา และน่องจนถึงขาพับพอดี การวางแขนบนแผงประตู
ด้านข้าง และที่วางแขนแบบพับเก็บได้ พร้อมช่องวางแก้ว 2 ตำแหน่ง (แต่ไม่มีฝาปิดมาให้ ซึ่งควร
จะมีมาให้ได้แล้ว) ก็ทำได้ดี และไม่มีอะไรให้ต้องตำหนิกัน พื้นที่วางขาสำหรับผู้โดยสารด้านหลัง
ก็ยังมีมากในระดับที่รถยนต์ขนาดกลาง D-Segment ทั่วไปควรจะมี ไม่ด้อยไม่น้อยหน้าไปกว่า
คู่แข่งใครอื่นเขานัก

พื้นที่เหนือศีรษะ ต้องทำใจว่า ในเมื่อแนวเส้นหลังคามันโค้งสวยขนาดนี้ ต่อให้ทำแอ่งเว้าหลบ
บนเพดานให้แล้ว พื้นที่เหนือศีรษะ ก็จะพอดีกับคนตัวสูง 171 เซ็นติเมตรอย่างผม แต่ถ้าสูงกว่า
ก็ไม่รับประกัน อาจมีปัญหาศีรษะติดเพดานก็เป็นไปได้ ต้องลองไปทดลองนั่งกันดูเอาเอง ส่วน
เพดานหลังคา มีไฟอ่านหนังสือ ติดตั้งมาให้ตรงกลาง แยกได้อิสระทั้ง 2 ฝั่ง

เข็มขัดนิรภัยสำหรับผู้โดยสารด้านหลง ในเวอร์ชันไทย ยังคงเป็นแบบ ELR 3 จุด ทั้งซ้ายและขวา
ส่วนตรงกลาง จะเป็น ELR คาดเอว 2 จุด ตามเดิมที่เคยเป็นมา 

นอกจากนี้ พนักพิงเบาะหลัง ยังสามารถแบ่งพับได้ ทั้งฝั่งซ้าย และฝั่งขวา ในอัตราส่วน 60  40
เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บของด้านหลัง และช่วยให้สามารถวางสัมภาระที่มีความยาว ทะลุเข้ามา
ยังห้องโดยสารได้ ถ้าจำเป็นอีกด้วย 

การพับเบาะหลังนั้น ต้องเปิดฝาประตูห้องเก็บของด้านหลังก่อน ไม่ว่าจะใช้รีโมทกุญแจ หรือกด
สวิชต์บนฝั่งขวาของแผงหน้าปัด รวมทั้ง สวิชต์ที่แถบโครเมียมบริเวณช่องใส่ป้ายทะเบียนหลัง
เมื่อฝาประตูยกขึ้นมา ก็จะพบคันโยก ดึงปลดล็อกพนักพิงเบาะหลังทั้ง 2 ฝั่ง เลือกใช้งานได้ตาม
อัธยาศัย มีการบุวัสดุซับเสียงที่แผงประตูห้องเก็บของด้านหลัง เพื่อความสวยงามเรียบร้อย ส่วน
ช่องทางเข้าห้องเก็บของด้านหลัง ถือว่ามีขนาดใหญ่โตใช้ได้ และมีไฟเบรกดวงที่ 3 เป็น LED

ห้องเก็บสัมภาระด้านหลังมีขนาดใญ่โตถึง 455 ลิตร ตามมาตรฐาน VDA เยอรมัน แม้จะสามารถยัดร่าง
คนอ้วนประมาณ ผม ลงไปนอนได้ 2 คนสบายๆ ก็ตาม แต่ บริเวณซุ้มล้อก็กินพื้นที่เข้ามาในห้องเก็บของ
อยู่บ้าง ตามสมควร ดังนั้น ตอ่ให้วางถุงกอล์ฟได้หลายใบ ก็ควรจัดการพื้นที่กันให้ดี

เมื่อยกพื้นห้องเก็บของด้านหลังขึ้นมา จะพบยางอะไหล่ ขนาดเล็ก พร้อมเครื่องมือประจำรถ และแม่แรง
ติดตั้งอยู่ช่องโฟมอย่างดี แถมมาให้จากโรงงาน

แผงหน้าปัดถูกออกแบบมาให้สอดคล้องกันกับรูปร่างภายนอกของตัวรถ และกลายเป็นหนึ่งใน
แผงหน้าปัดรถยนต์ Hyundai ที่สวยที่สุด เท่าที่พวกเขาเคยสร้างขึ้นในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา!
รุ่น 2.0 G จะตกแต่งด้วยสีดำล้วน คลิบด้วยแถบสีเงิน ส่วนรุ่น 2.0 S จะตกแต่งท่อนล่างของแผง
หน้าปัด ด้วยสีเบจ แถบครอบช่องแอร์ทุกตำแหน่งบนหน้าปัด ของทั้ง 2 รุ่น เป็นวัสดุเงา แบบ
Hi-Glossy สีดำ

มองขึ้นไปบน เพดาน ทั้ง 2 รุ่นย่อย จะติดตั้ง แผงบังแดด แบบมีคลิปเสียบนามบัตร กระจกแต่งหน้า
พร้อมบานเลื่อนเปิด – ปิด และมีไฟแต่งหน้า แบบมีสวิชต์ เปิด – ปิด ฝังไว้ที่เพดานหลังคา ตรงกลาง
เหนือกระจกมองหลัง มีไฟอานแผนที่ 2 ฝั่ง ซ้าย และขวา รวมทั้งมีกล่องเก็บแว่นกันแดด แถมมาให้
ทั้ง 2 รุ่น

ส่วนกระจกมองหลังนั้น รุ่น 2.0 S เป็นแบบธรรมดา พื้นฐาน ตัดแสงด้วยก้านโยกอัตโนมือ ส่วนรุ่น
2.0 G จะเป็นกระจกมองหลังแบบตัดแสงได้อัตโนมัติ ในยามค่ำคืน

แต่การประกอบบางชิ้นงานยังไม่เรียบเนี๊ยบเท่าที่ควร รอยต่อชิ้นส่วนบนแผงหน้าปัด และ
ชิ้นงานวัสดุ รวมทั้ง ความนุ่มนวลในการทำงานของชิ้นส่วนต่างๆ ยังไม่ Smooth มากพอ
Hyundaio ยังมีการบ้านกลับไปทำในเรื่องนี้กันอีกสักหน่อยอยู่ดี

จากบานประตูฝั่งขวา เลื่อนเข้ามาทางฝั่งซ้าย

แผงสวิชต์ กระจกหน้าต่างไฟฟ้าทั้ง 4 บาน มีสวิชต์แบบ One-Touch กด-ยก ขึ้นลง ครั้งเดียวเฉพาะ
ฝั่งคนขับ สวิชต์ปรับกระจกมองข้างและพับกระจกมองข้างด้วยไฟฟ้า เป็นแป้นวงกลม ล้อมรอบด้วย
วงแหวนปัดเงา ชวนให้ผมคันไม้คันมือ กดเล่นคลึงเล่นอยู่เรื่อยๆ ไม่รู้ทำไม มีสวิชต์ ล็อก-ปลดล็อก
ทั้งกระจกหน้าต่างไฟฟ้า และระบบ Central Lock แยกมาให้ครบถ้วน ไม่มีอะไรให้ตำหนิ

ใกล้มือจับประตู ของรุ่น 2.0 G เป็นสวิชต์ จำตำแหน่งปรับเบาะคนขับด้วยไฟฟ้า 3 ตำแหน่ง ใต้ช่อง
แอร์ฝั่งขวาด้านคนขับ มีสวิชต์ ปรับแสงสว่างของไฟบนมาตรวัด 

พวงมาลัย 4 ก้าน สไตล์รถบ้าน หน้าตาคล้ายพวงมาลัยของ Hyundai รุ่นใหม่ๆ ในยุคหลังมานี้ มีสวิชต์
Multi-Function เยอะ ฝั่งซ้าย ควบคุมชุดเครื่องเสียง แต่ฝั่งขวา ของรุ่น 2.0 G เท่านั้น ที่จะมีระบบล็อก
ความเร็ว Cruise Control มาให้ อีกทั้งยังควบคุม จอ Multi Information Display บนมาตรวัด 
ทั้ง 2 รุ่น มีแป้นเปลี่ยนเกียร์ Paddle Shift มาให้ ติดตั้งด้านหลังพวงมาลัย ฝั่งซ้าย เปลี่ยนเกียร์ลงต่ำ (-) 
ฝั่งขวาตบเกียร์ขึ้นสูง (+)  สามารถปรับระดับได้ทั้ง สูง – ต่ำ หรือ ใกล้ -ห่าง จากผู้ขับขี่ แต่เฉพาะรุ่น 2.0 G
เท่านั้น ที่จะหุ้มหนังบนวงพวงมลัย และหัวเกียร์ มาให้ ส่วนรุ่น 2.0 S จะประดับด้วยสีเบจเหมือนสีเบาะนั่ง

ที่น่าดีใจคือ ก้านสวิชต์บนคอพวงมาลัย ติดตั้งในตำแหน่งเดียวกับรถญี่ปุ่นเลย ฝั่งขวาเป็นก้านไฟเลี้ยว
และไฟสูง ทั้งแบบกระพริบ และแช่ยาว ถ้ายกก้านไม่สุด ไฟเลี้ยวจะกระพริบแค่ 3 ครั้ง แบบรถยุโรป
ส่วนฝั่งซ้าย จะเป็นระบบควบคุมปัดน้ำฝน พร้อมที่ฉีดน้ำล้างกระจก แบบตั้งหน่วงเวลาได้ เหมือนกัน
ครบทั้ง 2 รุ่น ส่วนสวิชต์ไฟฉุกเฉิน อยู่ใต้ช่องแอร์กลาง ฝั่งขวา พยายามออกแบบให้เอื้อมมือไปใช้งาน
ได้ใกล้ที่สุดเท่าที่ทำได้ แต่ตำแหน่งยังไม่เด่นพอเมื่อต้องใข้งานจริงๆ

แป้นคันเร่ง เป็นแบบ Organ Type เหมือนแป้นเหยียบของ ออร์แกน ดุจรถยุโรปชั้นนำ เพื่อ
เพิมความปลอดภัย และป้องกันปัญหา พรมไปติดที่คันเร่ง อันอาจเกิดอุบัติเหตุได้

ชุดมาตรวัดทรงกลม พร้อมกรอบทรงกระบอกพลาสติกชุบโครเมียม ล้อมรอบ แบบ Super Vision
ฝั่งซ้ายเป็นมาตรวัดรอบ ตรงกลางวัดรอบเป็นจอ Digital วัดอุณหภูมิน้ำในระบบหล่อเย็น  ฝั่งขวา
เป็นมาตรวัดความเร็ว มีจอตรงกลางเป็นมาตรวัดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงและบอกตำแหน่งเกียร์

คั่นกลางมาตรวัดทั้ง 2 ฝั่ง ด้วย จอ Multi Informtion Display ทันทีที่กดปุ่มติดเครื่องยนต์ไปที่ตำแหน่ง
ON จะมีสัญลักษณ์ประจำรุ่น SONATA ค่อยๆสว่างขึ้นพร้อมไฟเตือนระบบต่างๆ จากนั้นมาตรวัด
จะค่อยๆ สว่างขึ้นจนครบ จอ MID แสดงข้อมูลทั้งระยะทางรวม Odo Meter ระยะทาง Trip Meter
ทั้ง A กับ B อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงแบบ Real-Time และแบบเฉลี่ย, ความเร็วเฉลี่ย, ระยะทางที่
สามารถขับต่อไปได้ด้วยน้ำมันที่เหลือ, เวลาการทำงานของเครื่องยนต์ และเข้าสู่โหมด ECO เพื่อ
เปิด หรือปิดระบบ จอ MID นี้ ควบคุมได้จาก สวิชต์ บนพวงมาลัยฝั่งขวาล่าง และสามารถตั้งค่าได้
แม้ในขณะรถกำลังแล่น ยกเว้นความเร็วเฉลี่ย ที่คุณจะต้องจอดรถก่อนถึงจะตั้งค่าใหม่ได้

การติดเครื่องยนต์นั้น จะต้องเหยียบเบรกก่อน ระบบจึงจะข้ามขั้นตอน จาก ON เพื่อติดเครื่องได้
เพื่อความปลอดภัย

ความแตกต่างสำคัญอีกประการหนึ่ง อยู่ที่ อุปกรณ์ด้านความบันเทิง

รุ่น 2.0 G (ภายในสีดำ) จะติดตั้งเครื่องเสียง ชั้นดีมาให้ เป็นวิทยุ AM/FM พร้อมเครืองเล่น CD/MP3
แบบ 6 แผ่น Built-in มีช่องเชื่อมค่อ AUX และ USB พร้อมหน้าจอ Digital ขนาดใหญ่ เรืองแสงสีฟ้า
ตามสไตล์ Hyundai มีสายต่อพ่วง iPod มาให้ ลำโพง 7 ชิ้น รวม Sub-Woofer และมีแอมปลิฟายเออร์
มาให้จากโรงงาน เสร็จสรรพ

ส่วนรุ่น 2.0 S (ภายในสีเบจ) จะให้ชุดเครื่องเสียง เป็นวิทยุ AM/FM พร้อมเครื่องเล่น CD/MP3
แบบ แผ่นเดียว Built in อีกเช่นกัน แต่ตำแหน่งสวิชต์ และหน้าจอ จะไม่เหมือนกับรุ่น 2.0 G เลย
มีช่องเชื่อมค่อ AUX และ USB พร้อมสายต่อพ่วง iPod มาให้ แต่ไม่มี Sub-Woofer และ ไม่มี
แอมปลิฟายเออร์ อีกทั้งลำโพง ก็เป็นแบบ 6 ชิ้น หน้ากากวิทยุ จะไม่เหมือนกัน หน้าจอ Digital
เรืองแสงสีฟ้าก็มีขนาดเล็กกว่าตามธรรมเนียม

อันที่จริง คุณภาพเสียง จัดอยู่ในเกณฑ์ ดีใกล้เคียงกัน แน่นอนว่ารุ่น 2.0 G จะได้เสียงที่เต็มแน่น
เต็มอิ่มกว่า แต่ก็ไม่มากมายอย่างที่คิด ภาพรวมจัดอยู่ในเกณฑ์ดี ใช้ได้ แต่ยังไม่เทพสุดในกลุ่ม
แค่ใกล้ๆเกือบๆละ อีกนิดนึง และสวิชต์ต่างๆ ยังเยอะมาก และใช้งานไม่ User Friendly นัก

เครื่องปรับอากาศในรุ่น 2.0 G จะเป็นแบบอัตโนมัติ ขณะที่รุ่น 2.0 S จะเป็นแบบ Manual อัตโนมือ
ของคุณเอง ไม่มีระบบแยกฝั่งซ้าย – ขวา มาให้เลย ความเย็นนั้น ไม่ใช่ปัญหา เย็นฉ่ำกำลังดี แต่ใน
ช่วงที่รถยังร้อนนั้น อาจต้องใช้เวลาสักหน่อย กว่าจะรอให้เย็นในระดับที่เราพึงพอใจ สวิชต์เครื่องปรับ
อากาศนั้น ถูกออกแบบขึ้นราวกับว่า ได้แรงบันดาลใจจาก แผงควบคุมของ Volvo อยู่เหมือนกัน

ช่องเก็บของ ฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย Glove Compartment มีขนาดใหญ่พอให้ใส่คู่มือผู้ใช้รถยนต์
และเอกสารประจำรถยนต์ ต่างๆ ใกล้เคียงกับขนาดของ กล่องเก็บของใน Honda City รุ่นปัจจุบัน
เวลาเปิดใช้งาน ฝากล่อง อาจตกลงมากระทบกับหัวเข่าได้ โปรดระมัดระวังตามความเหมาะสม

ส่วนบริเวณคั่นกลางระหว่างผุ้ขับขี่และผู้โดยสารด้านหน้า เป็นกล่องเก็บของ แบบ 2 ชั้น พร้อม
ฝาปิด ทำหน้าที่เป็น พื้นที่วางแขนให้ผู้ขับขี่ เลื่อนเข้า – ออกได้เสร็จสรรพ วางตำแหน่งมาได้ดี
รวมทั้งมีช่องใส่เศษเหรียญ หรือปากกา และช่องวางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง พร้อมฝาเลื่อนเปิด-ปิด
และถาดใส่ของจุกจิก อีก 2 ตำแหน่ง ถือว่า ช่องวางของทั้ง 2 รุ่น ให้มาเยอะพอสมควรเลยทีเดียว

 

แต่เหนือออพชันอื่นใด Hyundai จัดเต็มด้วยการติดตั้ง หลังคากระจก Panoramic Sun-Roof
ส่องสว่างให้กับผู้โดยสารทั้งด้านหน้าและด้านหลัง มาให้ทั้ง 2 รุ่นย่อย อีกทั้งชุด Sub Roof
บานหน้า ยังสามารถเลื่อน เปิด – ปิด หรือยกระบายอากาศได้ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า บริเวณไฟ
อ่านแผนที่ ด้านหน้าได้อีกด้วย ถือว่า เป็นรถยนต์ พิกัด D-Segment เพียงคันเดียวในตลาด
ที่ให้ Sunroof  มาแบบครบองค์ประชุมกันขนาดนี้

ทัศนวิสัยด้านหน้านั้น การมองเห็นถือว่าจัดอยู่ในเกณฑ์ปกติ เพียงแต่ ด้วยแนวของเสาหลังคา
คู่หน้า A-Pilaaer ที่ลาดเอียง ทำให้ขอบด้านบนกระจกบังลมหน้า อยู่ใสนตำแหน่ง ต่ำลงมา
ลักษระเดียวับ Honda City หรือรถยนตืที่มีพื้นที่การมองเห็นค่อนข้างตีบ สำหรับบางคน อาจ
รู้สึกอึดอัด แต่ถ้าปรับเบาะลงไปยังตำแหน่งต่ำสุด ก็จะช่วยลดปัญหาดังกล่าวลงไปได้บ้าง

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งขวา มีการบดบังรถที่แล่นสวนมา ในยามที่ต้องแล่นสวนกัน
บนทางโค้งขวา ถนนเลนเดียว อาจต้องใช้ความระมัดระวังเพิ่มเติมจากปกติ ส่วนกระจก
มองข้างนั้น แม้ว่า ด้านในของกรอบกระจกจะไม่บดบังกินพื้นที่ขอบกระจกด้านนอก
แต่การที่ กระจกถูกออกแบบมาให้ เห็นรถยนต์และวัตถุที่เคลื่อนตัวรอบๆคันรถ ใกล้
กว่าความจริง ก็อาจทำให้บางคนที่ไม่คุ้นชิน ร้สึกได้ว่าหลอนสายตาอยู่บ้าง อาจต้อง
ทำความคุ้นเคยสักระยะหนึ่งจึงจะเริ่มชิน 

กระจกมองข้างฝั่งซ้าย ก็จะมองเห็นรถคันที่แล่นตามมาใกล้กว่าความจริง เป็นแบบนี้
เช่นเดียวกันกับฝั่งขวา ขณะที่ เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งซ้าย จะไม่บดบังรถที่กำลัง
แล่นสวนมา ขณะเตรียมเลี้ยวกลับรถ มากมายนัก แต่ต้องขึ้นอยู่กับสภาพของจุดรอ
กลับรถด้วย หากไม่มีเกาะกลางถนน การเลี้ยวกลับรถ จะไม่น่าเป็นห่วง แต่ถ้ามีเกาะ
แถมมีเสารถไฟฟ้า BTS ขึ้นมาด้วย เช่นถนนพหลโยธิน อาจต้องใช้ความระมัดระวัง
เพิมมากขึ้นเป็นพิเศษ 

 

แต่ทัศนวิสัยด้านหลังนั้น เหมือนจะตีบตัน แต่ก็มองเห็นรถคันที่แล่นตามมาจาก
ทางฝั่งซ้าย ได้ง่ายกว่าที่คิด อาจติดขัดอยู่บ้าง ตรงที่ กระจกโอเปร่าสามเหลี่ยม มี
ขนาดของเสาหลังคา C-Pillar บริเวณนั้น หน้าเกินไปสักหน่อย ทำให้อาจมอง
ไม่เห็นจักรยานยนต์ หรือจักรยานขนาดเล็กที่แล่นมาด้านข้าง ควรใช้ความ
ระมัดระวังเพิ่มจากปกติด้วยครับ

มองสายตาลุงคนขับ Taxi คันข้างๆแล้ว อยากถามว่า..”ลุง ไม่เคยเห็น Hyundai หรือไง?”

********** รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

เครื่องยนต์ ที่วางใน Sonata Sport เวอร์ชันไทย มีให้เลือกเพียงแบบเดียว บล็อกเดียวกันกับ Sonata ใหม่
ในทุกตลาดหลักทั่วโลก แถมยังเป็นบล็อกเดียวกับที่เราเคยพบกันมาแล้วใน Hyundai Tucson นั่นแหละ!

เป็น เครื่องยนต์ Theta-II บล็อก 4 สูบ  DOHC 16 วาล์ว 1,998 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 86 x 86 มิลลิเมตร
(ห้องเผาไหม้แบบ Square) อัตราส่วนกำลังอัด 10.5 :1 เสื้อสูบและฝาสูบ ทำจากอะลูมีเนียมทั้งหมด พร้อม
ระบบแปรผันวาล์วที่หัวแคมชาฟต์ทั้งฝั่งวาล์วไอดี และไอเสีย CVVT (Continuous Variable Valve Timing)

กำลังสูงสุด 165 แรงม้า (PS) ที่ 6,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 198 นิวตันเมตร (20.2 กก.-ม.) ที่ 4,600 รอบ/นาที

ส่งกำลังสู่ล้อขับเคลื่อนคู่หน้า ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ แบบ ขั้นบันได Step-Gate พร้อมโหมด Sport
บวก -ลบ ใช้ Torque Converter ช่วยในการทำงานของเกียร์ อัตราทดเกียร์ มีดังนี้

เกียร์ 1 ………………………..4.212
เกียร์ 2 ………………………..2.637
เกียร์ 3 ………………………..1.800
เกียร์ 4 ………………………..1.386
เกียร์ 5 ………………………..1.000
เกียร์ 6 ………………………..0.722
เกียร์ถอยหลัง ………………..3.385
อัตราทดเฟืองท้าย ………….2.890

สมรรถนะจะเป็นอย่างไรนั้น เราได้ทำการทดลองจับเวลากันตามมาตรฐานดั้งเดิม คือใช้เส้นทางในช่วง
กลางคืน เปิดแอร์ พัดลมเบอร์ 1 เปิดไฟหน้า และ นั่ง 2 คน และผลลัพธ์ที่ได้ เมื่อเทียบกับคู่แข่ง มีดังนี้

(ตัวเลขเฉลี่ย 0-100 ในตาราง Skoda Superb ผมพิพม์ผิดเองนะครับ ไฟล์ต้นฉบับ แก้ไม่ได้แล้ว เป็น Excel เวอร์ชันเก่า)

ถ้าเทียบตัวเลขกันแค่ในตารางทั้งหมดนี้ คงพอจะเห็นได้ว่า อันที่จริง ตัวเลขของ Sonata Sport 2.0 ลิตร
ออกมาดีขึ้นกว่ารถรุ่นก่อนอย่างชัดเจน และดีเพียงพอเมื่อเทียบชั้นกับคู่แข่งในพิกัดเดียวกัน แน่นอนว่า
ดีกว่า Honda Accord 2.0 ลิตร เจเนเรชัน 8 ที่เพิ่งตกรุ่นไป ไม่ว่าจะเป็นเกมจับเวลาอัตราเร่งจาก 0 – 100
กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือช่วงเร่งแแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม Sonata Sport ก็ยังทำตัวเลขออกมาด้อยกว่า Toyota Camry 2.0 (รุ่นเก่า) และ Nissan Teana
2.0 รุ่นปัจจุบัน อยู่นิดนึง ไม่มากนัก ตามมาเป็นอันดับ 3 ในกลุ่ม แต่ ต้องบอกกันไว้ก่อนว่า ตัวเลขผลของ
การทดลองนี้ อ้างอิงกับรถในช่วงรุ่นปี 2011 – 2012 ในเมื่อปี 2013 รถรุ่นใหม่ของคู่แข่งจะทะยอยคลอด
กันออกมา ก็คงต้องนั่งอัพเดทตัวเลขกันอีกครั้งหนึ่ง ในอนาคต

ในการใช้งานจริง อัตราเร่งช่วยออกตัว กระฉับกระเฉง ใช้ได้เลยทีเดียว การออกตัว เร่งแซง ทำได้
อย่างฉับไว จากความช่วยเหลือของเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ ที่พยายามจะทำงานอย่างเกือบจะเรียก
ได้ว่า ถวายชีวิต พอๆกันกับ เกียร์ของ Hyundai Tucson

หากจะต้องอาศัยจังหวะคาบลูกคาบดอก พารถเข้าไปแทรกตัวในช่องว่าง แค่ เหยียบคันเร่งเบิ้ลเ
ต็มมิดเท้าลงไปครั้งเดียว แล้วบังคับรถด้วยพวงมาลัยไปตามทิศทางที่ต้องการแค่นี้ รถจะแทรกตัว
ไปในช่องว่างระหว่าง รถในเลนข้างๆ ได้สบายๆ อาจมีแอบลุ้นนิดนึง แต่ไม่ต้องกังวลมากนัก
ดังนั้น พละกำลังในช่วง 3,000 – 4,500 รอบ/นาที จะค่อนข้างดีมาก

แต่หลังจาก 140 – 150 กิโลเมตร/ชั่วโมง คือ พอหมดเกียร์ 4 ปุ๊บ ก็หมดเรี่ยวแรง เหี่ยวหายไปหมดเลย
เหมือนคนหมดแรง เหมือนอัตราทด เกียร์สุดท้าย ถูกเซ็ตมาให้มัน เป้นเกียร์ Over Drive จริงๆ คือ
เอาไว้ทดเพื่อให้เน้นวิ่งทางไกล ประหยัดน้ำมันไปเรื่อยๆ เพียงอย่างเดียว ไม่เหลือจังหวะเรี่ยวแรง
ให้เร่งแซงใดๆต่อไป ถ้าจะเร่งแซง ต้องเล่นกับคันเร่ง หรือโหมดบวกลบ ที่แป้น Paddle Shift เท่านั้น

สรุปแล้ว บุคลิกของเครื่องยนต์นั้น ในช่วงออกตัว ให้แรงดึงที่นเร้าอารมณ์ได้เหมือนกัน แต่พอช่วง
รอบปลายๆ ก็ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นอีกต่อไป มันเหี่ยวเหมือนกับชายชราที่เพิ่งทำตัวซู่ซ่ากับสาวน้อย
แต่ดันเกิดเหี่ยวขึ้นมา ควานหาไวอะกร้าริมขอบหัวเตียง แต่ก็หาไม่เจอ

ผมอยากได้เครื่องยนต์ 2.4 ลิตร หรือไม่ก็ 2.0 ลิตร Turbo มาวางลงในตัวถังทรงสปอร์ตแบบนี้ จะช่วย
ให้ Sonata Sport กลายเป็นรถที่น่าสนใจขึ้นมาในสายตาลูกค้ามากกว่านี้อีกมาก!

การเก็บเสียง ถือว่าทำได้ดีในทุกย่านความเร็ว แม้แต่ความเร็วสูง เก็บเสียงลมได้ดีกว่า Teana แต่
การเก็บเสียงยางจากพื้นถนน ยังด้อยกว่า Teana อยู่ดี

ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยเป็นแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฟฟ้า EPS
(Electronics Power Steering)

พวงมาลัย มีน้ำหนัก ใช้ได้ ไม่เบาไม่หนักเกินไป แต่มันพยายามจะไว พยายามจะสปอร์ต การบังคับ
เลี้ยวในช่วงการขับขี่ปกติทั่วไป ทำได้ดี กระนั้น บางจังหวะ เมื่อหมุนพวงมาลัยช่วงขาไป ยังไม่มี
ปัญหาอะไร แต่พอหมุนพวงมาลัยกลับ มันเหมือนมีอาการ Delay มันควรมีความเสถียรทั้งหมุนไป
และกลับ มากกว่านี้ ความแม่นยำในการบังคับเลี้ยว ควรมีเพิ่มมากกว่านี้อีกสักหน่อย

ข้อที่ควรปรับปรุงก็คือ ขณะที่หมุนพวงมาลัยตอนรถหยุดนิ่งสนิท (ซึ่งอันที่จริง เป็นเรื่องควรหลีกเลี่ยง
แต่ในเมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็จำเป็นต้องทำ ไม่ว่ากัน เพราะไม่ใช่เรื่องเสียหายร้ายแรง) ผมพบว่า ขณะ
หมุนพวงมาลัยไม่ว่าจากขวาไปซ้าย หรือซ้ายไปขวา จะมีอาการสั่นตึ๊กๆๆ จนสัมผัสได้ชัดเจน และ
ทำให้การหมุนพวงมาลัย ไม่เนียนต่อเนื่องกัน อย่างที่พวงมาลัยแบบไฮโดรลิกเขาเป็นกัน

ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบแม็คเฟอร์สันสตรัต ด้านหลังเป็นแบบ Multi-Link แต่ในรุ่น 2.0 G
Hyundai อ้างว่า ใสช็อกอัพแบบ Sport แบบ A.S.D (ซึ่งผมก็ยังหาคำแปลไม่ได้ว่า มันแปลว่าอะไร!)

การตอบสนองของระบบกันสะเทือนนั้น โดยบุคลิกหลักแล้ว Sonata Sport ใหม่ ถูกปรับแต่งมาให้
แตกต่างไปจาก Sonata รุ่นก่อนนิดหน่อย ในขณะที่รถรุ่นเดิม เน้นความนุ่มกำลังดี แต่คล่องแคล่ว
ในแบบรถยนต์นั่งขนาดกลางจากยุโรป (ซึ่งมักจะมีตัวถังแทรกกลาง ระหว่าง Toyota Corolla และ
Camry)

แต่มาคราวนี้  Hyundai ยกระดับ Sonata ใหม่ ขึ้นไปฟาดฟัน กับ Camry ใหม่อย่างเต็มตัว นั่นหมายถึง
การปรับแต่งระบบกันสะเทือน ก็คงต้องไปในทิศทางนั้นด้วย คือ เน้นความนุ่มสบาย ในการขับขี่ทางไกล
แต่แอบมีอาการตึงตังเล็กๆ นิดเดียว ขณะขับขี่ไปตามสภาพการจราจรในเมือง ซึ่งจะว่าไปแล้ว Sonata ใหม่
ก็ยังมีความตึงตังน้อยกว่า Honda Accord รุ่นใหม่ล่าสุด อยู่นิดนึง แต่ก็ไม่ถึงกับนุ่มเหมือนใน Camry และ
Nissan Teana ใหม่

ทว่า ในช่วงความเร็วสูง ระดับ 140 – 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง รถจะยังคงแล่นไปตามพื้นถนนได้ เหมือนยัง
ไม่มีกระแสลมมายกด้านหน้ามากเท่าไหร่ ต้องรอให้ความเร็วพ้นหลัก 180 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไปแล้ว
นั่นละครับ ถึงจะเริ่มพบว่า หน้ารถเบาขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในข่ายที่พอจะควบคุมได้อยู่ หน้ารถยังไม่ได้ลอย
มากจนน่ากลัวถึงขั้นต้องชะลอความเร็วลงมา แต่ถ้า พ้นจาก 180 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป ผมว่า ไม่ค่อย
น่าสิวิไลซ์ เท่าไหร่แล้ว ส่วนหนึ่ง เพราะว่า กว่าที่จะไต่ความเร็วจาก 160 ไปยัง ความเร็วสูงสุด ระดับ
201 กิโลเมตร/ชั่วโมงนั้น ต้องใช้เวลานานกว่ารถทั่วไปมากๆๆๆ ทำให้ผมต้องใช้เวลา อยู่ในช่วงรอยต่อ
ดังกล่าว นานกว่ารถทั่วไป และทำให้ผม สังเกตได้ว่า รถคันนี้ ยังต้องมีการปรับปรุงเรื่องอากาศพลศาสตร์
โดยเฉพาะ ชิ้นเปลือกกันชนหน้า เพื่อเพิ่มแรงกดด้านหน้ารถให้มากขุึ้นกว่านี้อีกนิดนึง แค่นั้นผมว่า
น่าจะช่วยให้ การทรงตัวย่านความเร็วสูงเกิน 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง  น่าจะมั่นใจได้มากยิ่งขึ้นกว่านี้อีก

ส่วนการเข้าโค้งนั้น ตัวรถค่อนข้างเป็นกลางขึ้น ไม่ได้แยกท่อนเลี้ยว เหมือน Sonata รุ่นเดิม (ซึ่งมีนิสัย
หัวรถเลี้ยวก่อน ห้องโดยสารเลี้ยวตาม และห้องเก็บของเลี้ยวปิดท้าย) แต่อย่างใด คราวนี้โครงสร้างของ
Sonata Sport ทำออกมาได้ดีขึ้น รถเลี้ยวตามกันอย่างต่อเนื่อง มีอาการเป็นกลาง และแอบหน้าดื้อนิดๆ
ตามธรรมดาของรถขับเคลื่อนล้อหน้า บุคลิกของรถเปลี่ยนไปจาก Sedan ขนาดกลางที่คล่องแคล่ว
กลายมาเป็น Sedan ขนาดใหญ่ขึ้น สำหรับผู้ใหญ่มากขึ้น ไม่ถึงกับอุ้ยอ้าย แต่ก็ไม่ถึงกับคล่องแคล่ว
แบบที่รถรุ่นเก่าเคยเป็น

อย่างไรก็ตาม ใครที่สงสัยว่า แล้วความแตกต่างระหว่างล้อขนาด 18 นิ้ว กับ 17 นิ้ว จะมีผลต่อความนุ่มนวล
และการขับขี่มากน้อยแค่ไหน ผมเฉลยให้เลยก็ได้ครับว่า “มีผลจริง ” เพราะหากเน้นการขับขี่ในเมือง
รุ่นที่ใช้ล้อ 17 นิ้ว จะได้ยางติดรถยนต์จากโรงงาน เป็นยาง Hankook รุ่น Optima ซึ่งมีความยืดหยุ่นสำหรับ
การขับขี่ในเมืองที่ใช้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ข้อด้อยก็คือ ถ้าคุณเข้าโค้งบนทางด่วน ด้วยความเร็วสูง และโค้งนั้น
มีลักษณะการราดยางมะตอยเป็นลอนคลื่น ไม่สม่ำเสมอกัน ยาง Hankook รุ่นนี้ จะมีการให้ตัวเกิดขึ้นชัดเจน
จนส่งอาการขึ้นไปถึงพวงมาลัย และรวมทั้งโครงสร้างของรถชัดเจน คือรถจะมีอาการดีดดิ้นปรากฎให้เห็น
เล็กน้อย ขณะเข้าโค้ง อีกทั้งการบังคับรถ ในทางตรงเองก็ตาม หากเจอพื้นผิวที่ไม่เรียบเพียงนิดเดียว อาการ
ก็จะส่งขึ้นมาให้สัมผัส นิดๆ เหมือนกัน และสร้างอาการหลอกๆ ให้เราเข้าใจผิดในตอนแรกว่า ตัวรถ แยกท่อน
เลี้ยวตาม เหมือนกับ Sonata รุ่นก่อน
ทั้งที่ความจริงแล้ว รถรุ่นใหม่นี้ เวลาเลี้ยวเข้าโค้ง ตัวรถจะผ่านโค้งไปพร้อมกันทั้งก้อน ไม่ได้แยกท่อนเลี้ยว
แต่อย่างใด

ขณะที่รุ่นล้อ 18 นิ้วนั้น จะสวมยาง Kumho มาให้ แม้ว่าความตึงตังจากพื้นถนน จะมีเพิ่มขึ้น แต่ก็เล็กน้อย
ไม่สะดุ้งสะเทือนมากมายเกินเหตุแต่อย่างใด แถมพอต้องเข้าโค้งด้วยความเร็วสูง ความมั่นใจก็เพิ่มขึ้นกว่า
รุ่นล้อ 17 นิ้วชัดเจน เพียงแต่ว่า ลำพังตัวของยางรุ่นนี้เอง การเข้าโค้ง อาจจะทำได้ไม่ถึงกับดีนัก เพราะว่า
ยางที่ติดรถคันนี้มา ผ่านฝีเท้าผู้คนมามากแล้ว นับตั้งแต่วันเปิดตัวที่สนาม MotorSport Land ที่แดนเนรมิตเก่า
ร่องรอยบนดอกยางด้านนอก สะท้อนให้เห็นว่า อดีตที่ผ่านมา ยางทั้ง 4 เส้น ถูกกระทำชำเรามาไม่เบาเลยทีเดียว

ระบบห้ามล้อ เป็น ดิสก์เบรก มีครีบระบายความร้อนมาให้ครบทั้ง 4 ล้อ พร้อมตัวช่วยมาตรฐาน ได้แก่ระบบป้องกัน
ล้อล็อกขณะเบรกกระทันหัน ABS (Anti-Lock Brake System) กับระบบกระจายแรงเบรกตามน้ำหนักบรรทุก
EBD (Electronic Brake Force distribution) และระบบเพิ่มแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน Brake Assist
มีมาให้ครบทั้งสองรุ่น แต่ระบบควบคุมเสถียรภาพ ESP (Electronic Stability Program) และระบบช่วย
ออกตัวบนทางลาดชัน HSA (Hill Start Assist) จะมีมาให้เฉพาะในรุ่น ท็อป 2.0 G เท่านั้น

แป้นเบรก ของรถทั้ง 2 คัน ตอบสนองได้ดี หน่วงความเร็วลงมาอย่างชัดเจนและหนักแน่นในแบบ
รถยนต์จาก Asia ที่พยายามจะเป็นรถยุโรป ในช่วงความเร็วต่ำ จะเลี้ยงแป้นเบรกให้รถหยุดอย่าง
นุ่มนวล เป็นเรื่องไม่ยากเลย ส่วนในช่วงความเร็วสูง ถือว่า ทำได้ดี

ในเมื่อรู้ตัวเลขความแรงแล้ว เรามาดูตัวเลขความประหยัดของ Sonata Sport กันสักหน่อยดีกว่า
ว่าจะกินจุหรือไม่ และแค่ไหน ด้วยวิธีการทดลองตามมาตรฐานดั้งเดิมของ Headlightmag.com
คือการพารถไปเติมน้ำมัน เบนซิน 95 Techron ที่สถานีบริการน้ำมัน Caltex บนถนนพหลโยธิน
ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ ในช่วงกลางวัน

แน่นอนว่าในเมื่อ Sonata Sport มีขนาดตัวถังค่อนข้างใหญ่ แม้จะเป็นรถยนต์ขนาดกลาง แต่
สายตาผู้คนต่างล้วนมองว่า เป็นรถยนต์ขนาดใหญ่ (เกือบที่สุดในสายการผลิตของตน) ดังนั้น
เราจึงเติมน้ำมัน ด้วยวิธี เติมเสร็จแล้วให้หัวจ่ายตัด ก็พอ ไม่ต้องเขย่ารถให้เมื่อยตุ้ม

ผู้เป็นสักขีพยาน และผู้ช่วยของผมในการทดลองวันนี้ คือ ตาถัง เป้นเพื่อนกลุ่มของเรา ที่ไม่ได้
มีเวลาว่างมาพบเจอกันมานานมาก และเมื่อก่อน ก็เคยช่วยผมทดลองรถร่วมกันอยู่บ่อยๆ ตอนนี้
เจ้าตัว ไปขับเครื่องบิน อยู่ สายการบิน Thai Smile เรียบร้อยแล้ว! 

ต้องบอกกันไว้ก่อนว่า เราทำการทดลองนี้ไว้ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2011 แล้ว ในตอนนั้น เรายังใช้เวลา
ในช่วงกลางวัน เพื่อทำการทดลองอัตราสิ้นเปลืงเชื้อเพลิงกันอยู่ เนื่องจากสภาพการจราจรยังคง
ไม่หนาแน่นมากนัก แต่ในปัจจุบันนี้ ได้เปลี่ยนมาทดลองในช่วงกลางคืนเรียบร้อยแล้วทั้งหมด
เพื่อหลีกเลี่ยงสภาพการจราจรติดจัด ที่หน้าด่านเก็บเงินทางด่วน ตรงประชานุกูล ซึ่งเจ้าหน้าที่
ด่านทางด่วนบริเวณนั้น ไม่ค่อยใส่ใจที่จะเก็บเงินค่าผ่านทางให้เร็วขึ้นเลยซะที ทำให้ปริมาณ
รถติดสะสมยาวต่อเนื่องในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนเป็นประจำ

อีกทั้งเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา ที่ผมต้องพบเจอพวกขับรถไร้มารยาท ชอบจี้ตูด พอจะหลบให้
ก็เร่งเร้าให้หลบเร็วๆ จะรีบไปตายโหงตายห่านที่ไหนกันก็ไม่รู้

เมื่อเราเติมน้ำมันจนเต็มถัง (เอาแค่หัวจ่ายตัดพอ ให้เหมือนกันกับรถยนต์คันอื่นๆในพิกัด
เดียวกันนี้) เราก็ คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ ออกรถ ไปเลี้ยวกลับบนถนน
พหลโยธิน เลี้ยวซ้ายลัดเลาะไปตามซอยอารีย์ ออกปากซอยโรงเรียนเรวดี เลี้ยวซ้าย มุ่งสู่
ถนนพระราม 6 ไปเลี้ยวขวาขึ้นทางด่วน ขับกันยาวๆ ไปจนสุดปายทางด่วนสายเชียงราก
อุดรรัถยา ที่ด่านบางปะอิน เลี้ยวกลับย้อนขึ้นทางด่วนสายเดิม ขับกลับมาเข้ากรุงเทพฯ
กันอีกครั้ง ด้วยมาตรฐานเดิมคือ ใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ และ นั่ง 2 คน 

จากนั้น เราลงทางด่วนที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ  เลี้ยวซ้าย เข้าสู่ถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับ
ที่ใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex อีกครั้ง เพื่อเติม
น้ำมันเบนซิน 95 Techron ให้เต็มถัง เอาแค่หัวจ่ายตัดพอ เหมือนครั้งแรกที่เริ่มต้นทดลอง

และต่อจากนี้ คือตัวเลขที่ Sonata Sport ทำได้

รุ่น 2.0 ลิตร ล้อ 18 นิ้ว
ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด 92.5 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับเฉลี่ย 6.46 ลิตร
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 14.31 กิโลเมตร/ลิตร

 

รุ่น 2.0 ลิตร ล้อ 17 นิ้ว
ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด 91.5 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับเฉลี่ย 6.63 ลิตร
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 13.80 กิโลเมตร/ลิตร

แม้ว่า ผลการทดลองของทั้ง 2 รุ่น จะแตกต่างกันอยู่ แต่ในเมื่อความต่าง มันอยู่ในช่วง
0.5 กิโลเมตร/ลิตร จังยึงถือว่า ยอมรับได้การความเพี้ยนดังกล่าว อันเกิดจากสภาพการ
จราจร ไปจนถึงอุรหภูมิ สภาพอากาศ และปัจจัยอื่นๆ ที่ควบคุมไม่ได้

เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขกับคู่แข่งแล้วจะพบว่า Sonata Sport ใหม่ ประหยัดกว่ารถรุ่นเดิม
และยังประหยัดกว่า Camry 2.0 รุ่นก่อน (แต่จะประหยัดพอกันกับรุ่นใหม่) รวมทั้ง
Nissan Teana 2.0 CVT แต่ยังทำตัวเลขได้ ด้อยกว่า Honda Accord 2.0 ลิตร G8
ไปตามความคาดหมาย แต่ถือว่า ตัวเลขความปรหยัด อยู่ในเกณฑ์ ปานกลางของกลุ่ม
และค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับรถรุ่นก่อนๆ

********** สรุป **********
ดีขึ้นทั้งคัน น่าใช้น่าเป็นเจ้าของกว่าเดิม แต่มาพลาดท่า เรื่องราคาขายปลีก!

 
สมัยก่อน เวลาที่เราพูดถึงรถยนต์เกาหลีใต้ หลายคนจะรู้สึกว่า เป็นรถยนต์ราคาถูก คุณภาพก็
พอใช้ได้ งั้นๆ ไม่มีอะไรโดดเด่น ไปกว่า เรื่องของราคา ใครสักคนจะซื้อ มีสิทธิ์โดนคนใน
ครอบครัว และคนรอบข้าง พากันตแปะเครื่องหมายคำถามไว้กลางหน้าผากคุณเลยว่า มันจะ
ไหวเหรอ มันจะดีจริงเหรอ?

แต่สำหรับผม และคนที่เคยสัมผัสกับ Hyundai มาก่อน ก็คงต้องบอกว่า วันนี้ ทุกอย่างเปลี่ยนไป
Hyundai กลายเป็นรถยนต์ที่มีคุณภาพดีขึ้นมากพอให้ซื้อหามาใช้งานได้อย่างสบายใจแล้ว และ
กลายเป็นว่า ถ้านึกถึงรถที่มีช่วงล่างดีๆ จากย่าน Asia แล้ว Hyundai จะเกาะอยู่ในกลุ่มอันดับ
ต้นๆ ที่ผมนึกถึงในเรื่องนี้ก่อนเสมอ! เสียอย่างเดียว งานออกแบบ ยังสู้ชาวบ้านเขาไม่ได้

ยิ่งวันนี้ Sonata Sport ใหม่ ถูกยกระดับขึ้นไป ให้กลายเป็นผู้เล่นระดับโลก เต็มภาคภูมิ ยิ่งกว่าที่เคย
และสิ่งที่ทำให้รถรุ่นนี้ ก้าวข้ามเส้นเขตแดนเดิมๆเหล่านั้นมาได้ ก็คือเส้นสายการออกแบบตัวถัง
รุปลักษณ์ภายนอก และความสบายในการนั่งโดยสาร ทั้งเบาะหน้า และเบาะหลัง นั่นแหละ!
มันพลิกภาพลักษณ์ของ Sonata รุ่นเก่า ที่ดูทื่อๆ เชยๆ เหมือนไปลอกงานออกแบบชาวบ้านเขา
คันละนิดคันละหน่อย มาตลอดทั้งคันเรื่อยๆ จนกลายเป็นรถยนต์เกาหลี ที่มีเอกลักษณ์ของ
ตัวเองอย่างโดดเด่น ขับไปไหนคนก็เหวอ ว่า นี่เหรอวะ Hyundai ทำไมมันสวยอย่างนี้!?

อัตราเร่ง ก็เกาะกลุ่มกับชาวบ้านเขาได้แล้ว อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ก็พอกันกับรถเก๋งเครื่องยนต์
2.0 ลิตร ในยุคปัจจุบันกันใช้ได้ ด้อยกว่ากันแค่เศษจุดทศนิยม 1-2 ตำแหน่ง แค่นั้น แถมช่วงล่าง
ก็ยังให้ความนุ่มสบายในการขับขี่ที่ใช้ได้

มันเห็นได้ชัดเลยว่า Hyundai พยายามอย่างมากกกกกก ในการพัฒนา Sonata ใหม่ ขึ้นมาเพื่อ
ฟาดฟัสคู่แข่งในระดับสากลมากขนาดไหน และภาพรวมแล้ว พวกเขาก็ทำออกมาได้ดีมากๆเลย


มันสวยมากจนผมแอบกังวลใจนิดหน่อย เพราะเมื่อใดที่รถคันหนึ่ง ถูกออกแบบมาจนสวย และ
ดูลงตัว จนไม่ต้องแก้ไขอะไรแล้ว พอมาเป็นรถรุ่นต่อไป งานออกแบบมักจะห่วยลง ทำไม่ได้ดี
เท่ารุ่นก่อน หรือไม่ก็เปลี่ยนแนวทางจนดูแย่ลงไปเลย

ปัญหาก็คือ วันนี้ รูปลักษณ์ของ Sonata ใหม่ สวยสะท้านสายตาผู้คนกันมากขนาดนี้ แล้วรุ่นถัด
จากนี้ต่อไปละ? ทีมออกแบบของ Hyundai จะยังคงรักษาความโดดเด่นแบบนี้ได้ต่อไปอีกนาน
แค่ไหน แล้ว Sonata รุ่นต่อไป จะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร

ผมละอยากรู้จริงๆเลยเชียว!

แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ประเด็นที่ผมอยากรู้มากเท่ากับว่า เป็นไปได้ไหมที่ Hyundai จะหาเครื่องยนต์ที่
แรงและประหยัดกว่านี้ มาทำตลาดส่งออกกันเสียที เป็นไปได้ไหมที่จะมีเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร ที่
ทั้งแรง ประหยัด ลดแรงเสียดทานในระบบ เพิ่มความประหยัดเชื้อเพลิง มากยิ่งขึ้นกว่านี้ได้อีก?

หรือไม่เช่นนั้น ก็เอารุ่นเครื่องยนต์ Turbo เข้ามาขายในเมืองไทยกันไปเลย ได้ความแรง
ได้ความสปอร์ต สมกับภาพลักษณ์ทางการตลาดที่วางเอาไว้กันแน่ๆ

การเซ็ตพวงมาลัย ที่ควรปรับปรุงการทำงานของระบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ไฟฟ้า
ให้ทำงานได้ดี และไว้ใจได้กว่านี้ หนืดกว่านี้อีกนิดเดียว ในช่วงความเร็วสูง และการปรับแต่ง
รายละเอียดของตัวรถ ในด้านต่างๆ อย่างที่คอมเมนท์ไว้ข้างบนๆ ก็จะยิ่งช่วยให้ Sonata ใหม่
สมบูรณ์แบบยิ่งไปกว่าเดิม รวมทั้งการเลือกใช้ยางติดรถ ที่มีคุณภาพการยึดเกาะถนน ดีกว่า
ยางติดรถจากโรงงานที่เป็นอยู่ และการเก็บงาน ประกอบในห้องโดยสารให้เนี้ยบขึ้นอีกหน่อย

นอกนั้น ผมก็ไม่รู้จะหาข้อตำหนิอะไรกับรถรุ่นนี้ได้อีก ถ้ามองแต่เฉพาะลักษณะทางการภาพ
ของตัวรถเพียงอย่างเดียว โดยังไม่ข้ามไปเล่นในประเด็นอื่นๆ 

คู่แข่งในตลาดตอนนี้?

Toyota Camry
เจ้าตลาดอันดับ 1 ที่ยังคงครองใจมหาชนคนรักซีดานรุ่นใหญ่กันต่อไป แน่นอนว่า รุ่น 2.0 ลิตร
และ 2.5 HYBRID คือรุ่นที่ครองยอดขายไปได้เยอะสุด ถ้าเทียบกับ Sonata Sport แล้ว ต้องเทียบ
กับรุ่น 2.0 ลิตร ซึ่งแม้จะมีอุปกรณ์มาให้น้อยกว่า Sonata อยู่บ้าง แต่ด้วยป้ายราคาแถวๆ 1.2-1.3
ล้านบาท จึงยังทำให้ลูกค้าพอจะยอมรับได้ ยิ่งรุ่นใหม่ อัตราเร่ง ก็ดีกว่า Sonata แต่ไม่มากนัก
แค่เศษเสี้ยวหลักวินาที ยิ่งมีรุ่น EXTREMO เอาใจลูกค้าที่ชอบอุปกรณ์แต่งเสร็จๆครบๆ จาก
โรงงานมายั่วกันเห็นๆ ก็ยิ่งทำให้ลูกค้าจำนวนมาก ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

Honda Accord G9
เพิ่งเปิดตัวโฉมใหม่ทั้งคันไปหมาดๆ ๆมาคราวนี้ Hona จัดเต็มในรุ่น 2.0 EL และ EL Navi มาก
จนคู่แข่งทั้งหลาย ถึงขั้นหันมามองเลยทีเดียว ราคาเริ่มต้น 1,299,000 บาท ก็ถือว่า ประจัญหน้า
กับ Camry 2.0 ลิตร โดยตรง แบบไม่หวั่นเกรงศักดิ์ศรีอีกต่อไป แต่สมรรถนะจากเครื่องยนต์
อาจต้องทำใจ ว่าน่าจะไม่หนีจากรุ่น G8 แบบ 2.0 ลิตร ส่วนอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ก็คงจะ
หนีไม่พ้นช่วง 13-14 กิโลเมตร/ลิตรพอกัน ต้องรออีกพักหนึ่ง ถึงจะรู้ผลกันว่าเป็นอย่างไร

Nissan Teana
แม้ว่ารุ่นใหม่ ใกล้จะคลอดเต็มแก่ในเดือนสิงหาคม 2013 ที่จะถึงนี้ แต่รุ่นปัจจุบันยังมีภายใน
ห้องโดยสาร ที่โอ่อ่า และหรุหราสวยงามที่สุดในกลุ่มอยู่ดี รุ่น 2.0 Sport Series ภายในสีดำ จะ
ยังคงเป็นรุ่นที่ขายดีในใจลูกค้าอันดับต้นๆ กันอยู่เช่นเคย อัตราเร่ง ไม่เลวร้าย ทาบรัศมีกับ
Camry 2.0 ลิตร ได้สบายๆ ส่วนอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ได้แถวๆ 12-13 กิโลเมตร/ลิตร ก็ดีใจ
กันจะแย่แล้ว การขับขี่ มาในแนวนุ่มๆ ผู้ใหญ่ๆ แต่การใช้เกียร์ CVT นั้น เพิ่งจะเพิ่มระบบ
ระบายความร้อนของน้ำมันเกียร์มาให้รุ่น Minorchange ดังนั้น ปัญหา เหยียบแช่ Top Speed
นานๆ แล้วจะเข้า Save mode น่าจะหมดไป ซะที

Skoda Superb
นี่ก็เป็นรถดีที่คนไทยลืมอีกคันหนึ่ง ค่าตัวอยู่ในระดับเดียวกัน แม้เครื่องยนต์ไซ์เล็กกว่า แต่มี
Turbo พ่วง ก็การันตีความแรงไม่แพ้ใครและความประหยัดน้ำมันที่สุดในกลุ่ม แถมสมรรถนะ
การทรงตัว ยังคงดีเลิศเลอ ตามแบบฉบับของรถยนต์ในกลุ่ม Volkswagen กันได้เลย เพียงแต่
การบริการหลังการขายนั้น ก็ยังเป็นไปตามรูปแบบบริษัทขนาดเล็ก คือดูแลลูกค้าดีที่สุดเท่าที่
ทำได้ แต่ยังพอมีเคสหลุดรอดออกมาบ้าง ต้องใช้เวลาและลงทุนลงแรงมากกว่า Hyundai ใน
การกลับมายิ่งใหญ่ในสยามประเทศอีกครั้ง

ถ้าตัดสินใจได้แล้วว่าจะเอา Sonata Sport จริงๆ ควรซื้อรุ่นไหนดี?

จริงอยู่ว่า รุ่นท็อป 2.0G นั้น ให้อุปกรณ์มาเยอะกว่า รวมทั้งมีระบบควบคุมเสถียรภาพ ESP และ
ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HSA มาให้ด้วย ซึ่งถือเป็นสิ่งที่รถยนต์ระดับนี้ควรจะมีมาให้กัน
เป็นอุปกรณ์มาตรฐานกันได้แล้ว แต่ด้วยค่าตัวที่แตะระดับ 1,870,000 บาท ทำให้เสียเปรียบคู่แข่ง
ในกลุ่ม D-Segment ประกอบในประเทศ ไปไม่น้อย ยิ่งถ้าคิดว่าเป็นเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร โดย
ไม่ได้ดูเรื่องสมรรถนะกันแล้ว บอกเลยว่า ค่าตัวแพงไปมากกว่าที่ลูกค้าคิดกัน

รุ่นที่น่าสนใจคือ 2.0 S แม้ว่าจะได้ล้ออัลลอย 17 นิ้ว 5 ก้านคู่ ลายบ้านๆ ไม่มีระบบ ESP ไม่มี
HSA พนักศีรษะนิรภัย Parking Sensor , Cruise Control แผ่นบังโคลนซุ้มล้อ ไฟหน้า HID
ตั้งระดับอัตโนมัติ เบาะผู้โดยสารด้านหน้าฝั่งซ้าย ปรับแบบกลไก ไม่มี Memory Seat ฝั่ง
คนขับ และชุดเครื่องเสียง ก็ลดลำโพงลงเหลือ 6 ชิ้น หน้าจอก็ไม่เหมือนกันกับรุ่น 2.0 G
ภายในก็เป็นสีเบจ อาจแพงกว่าคู่แข่งอยู่สักหน่อย แต่ถือว่า เป็นตัวเลือกที่ พอรับได้ ยกเว้น
ถ้าคุณเป็นคนบ้าออพชัน อยากได้ข้าวของมาแบบจัดเต็ม ครั้งเดียวแล้วจบเลย มองรุ่น 2.0 G
ซึ่งมีค่าตัวแพงกว่า Honda Accord ใหม่ ตัวท็อป 2.4 TECH….โอ้….

นี่ไงครับ ปัญหาของ Sonata Sport คือ ราคาขายปลีก ที่แพงไป เมื่อเทียบกับคู่แข่งในระดับ
เดียวกันของมัน ถ้ารถคันนี้ ถูกตั้งราคาระดับที่ตัวท็อป ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท จะยังมีลูกค้าเดิน
เข้ามาอุดหนุนออกจากโชว์รูมไปเยอะกว่านี้มาก แต่นี่เล่นตั้งราคากันแบบไม่สนใจลักษณะนิสัย
การซื้อรถของคนไทยเท่าที่ควร ผลลัพธ์จึงออกมาเป็นอย่างนี้ 

มาถึงจุดนี้ Sonata Sport อาจไม่จำเป็นต้องส่งมาขึ้นไลน์ประกอบขายในประเทศไทย ถ้าตัวเลข
ยอดขายยังคงน้อยนิดอยู่เยี่ยงนี้ แต่ถ้าเมื่อใด ที่ บริษัทแม่ในเกาหลีใต้ เกิดคิดได้ขึ้นมา ว่า ควร
จะหันมาดูตลาด ASEAN อย่างจริงจังเสียที ถึงวันนั้น นโยบาย อาจเปลี่ยนแปลงไปอีก และเรา
อาจได้เห็น Sonata กลับมาประกอบขายในเมืองไทยอีกครั้ง เหมือนเมื่อช่วงปี 2007 – 2008 ก็
อาจเป็นไปได้ และเมื่อนั้น ค่าตัวก็น่าจะถูกลงไปกว่านี้ได้อีก แม้จะไม่มากนัก

ซึ่ง ก็ไอ้คำว่า ถูกลงไปไม่มากนัก นี่ละ ที่ทำให้ Hyundai ยังคงเลือกนำเข้า Sonata มาจากเกาหลีใต้
เช่นเคยอยู่อย่างนี้กันต่อไปเรื่อยๆ ราคาขายปลีก ก็เลยยังแพงกว่าชาวบ้านชาวช่องเขาอยู่อย่างนี้ไง!

เห็นแล้วก็ได้แต่บอกว่า คราวต่อไป อยากให้ผู้บริหารทั้งชาวญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ กรุณา
ศึกษาและทำความรู้จักคนไทยให้มากกว่านี้ รู้ให้ลึกซึ้งว่าเขาต้องการอะไร จัดให้ตามนั้น
หรือเอาเท่าที่เป็นไปได้ดีที่สุด แต่ต้องดีกว่าปัจจุบันนี้ แค่นี้แหละ ปริมาณประชากรของ
Hyundai ยุคใหม่ บนถนนเมืองไทย ก็จะเพิ่มมากขึ้นยิ่งกว่านี้อีก

ไม่เชื่อ ก็ลองทำดู!

—————————///—————————

 

ขอขอบคุณ / Special Thanks to
คุณสฤษฎร์พร สกลรักษ์ พี่แกะ 
และทีมงานทั้งฝ่ายประชาสัมพันธ์ , Marketing และ Product Planing
บริษัท Hyundai Motor (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ และอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆอย่างดียิ่ง

—————————————————–

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ยกเว้นภาพวาด Sketch และภาพถ่ายรถรุ่นก่อนๆ ลิขสิทธิ์เป็นของ
Hyundai Motor Company ประเทศเกาหลีใต้
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
14 มีนาคม 2013

Copyright (c) 2013 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
March 14th,2013

แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! / CLICK HERE