ตั้งแต่วันที่ Honda เปิดตัว Brio ในเมืองไทย เป็นครั้งแรกในโลก เมื่อเดือนมีนาคม 2011 ที่ผ่านมา ปฏิกิริยาของลูกค้า
กลุ่มเป้าหมาย ไปจนถึงผู้คนในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ และผู้คนในสังคมทั่วไป ต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์น้องเล็ก
สุดท้อง คันใหม่ของ Honda กันอื้ออึงคะนึง
ถือเป็น Honda รุ่นแรก ในรอบหลายปี ที่มีเสียงก่นด่า มากกว่าเสียงชื่นชม มันดังขรมเสียจนผมเองก็เริ่มรู้สึกผิดสังเกต
ว่า ทำไม เสียงบ่นว่า มันดังเยอะกว่าเสียงสรรเสริญได้ถึงเพียงนี้…ไม่ต้องอื่นไกล ขนาดว่า น้อง Toyd หนุ่มน้อย ปากจัด
แถมกัดเจ็บแสบ แห่ง The Coup Team ของเรา ยังสับรถคันนี้เอาไว้เละเทะแทบไม่มีชิ้นดี เพียงแค่ได้เห็น และลองนั่ง
รถคันจริง ในวันเปิดตัว เท่านั้นเลย…
ถึง Toyd จะวิพากษ์วิจารณ์ Brio ในแบบเดียวกับที่เขาทำกับรถคันอื่นๆ แต่ สีหน้าที่ผมเห็นระหว่างที่พวกเขากำลังเดิน
ดูรถกันนั้น มันไม่ใช่สีหน้าของ Toyd ในแบบปกติ ที่วิจารณ์แค่เพียงขำขำ เอาความครื้นเครงเป็นหลัก หากแต่ เป็น
สีหน้าที่เต็มไปด้วยความรู้สึกไม่ดีอย่างหนักหน่วง เกิดขึ้นกับรถคันนี้ ในฐานะผู้บริโภคคนหนึ่ง เหมือนเราๆท่านๆ
ไม่ต้องอื่นไกล ตาเอก Backseat Driver น้องใหม่ แต่ประสบการณ์โชคโชน จนเกือบเข้าขั้นโชกเลือด ของทีม The coup
ถามผมด้วยสายตาขี้เล่นปนยียวน กวนอวัยวะเบื้องล่างอย่างที่สุด แทบจะในทันทีที่เจ้าตัวรู้จากปากผมว่า ผมกำลังจะนำ
หนูน้อยน้องเล็กสุดในสายการผลิตของ Honda ในเมืองไทย มาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันราวๆ 1 สัปดาห์ ว่า…
“รถมันจะหักไหมพี่?” (^_^)
หูยยยย! เอกเอ้ย! ขนาด K-Car 660 ซีซี คันกระเปี๊ยก ตั้งแต่ Subaru R1. Mitsubishi eK-Sport หรือแม้แต่ Honda Life
ทั้งรุ่น Turbo และรุ่นธรรมดา ก็เคยผ่านมือ ผ่านก้นเนียนๆของพี่มาหมดแล้ว ดังนั้น กะอีแค่ Brio เนี่ย มันต้องรับน้ำหนักตัวพี่
ไหวสิ! พี่ก็ไม่ใช่ พญาคชสาร Commander CHENG นะ รายนั้นหนะเหรอ แค่หย่อนก้นลงไปในเบาะหลังฝั่งซ้ายของ Brio
เจ้าเปี๊ยกน้อย ก็ทรุดฮวบลงไปในทันที! อันที่จริงแล้ว ไม่ใช่แค่ Brio หรอก ต่อให้เป็น Nissan March , Mazda 2 ,Ford
Fiesta Toyota Vios กับ Yaris หรือ Suzuki Swift รถอะไรก็ตาม ที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก พี่ท่านเข้าไปนั่งลงได้เมื่อไหร่ เจ้า
ช็อกอัพ กับสปริง จะถูกกดทับอย่างหนัก จนแบนแต๊ดแต๋แทบทรุดจนปริออกมาจากซุ้มล้อด้วยกันทั้งนั้นแหละ!
เห็นแล้วขำ ปนสงสารรถ เป็นยิ่งลักษณ์..เอ้ย ยิ่งนัก!
กระนั้น ถ้ามองกันลึกๆ คำถามของตาเอก ก็น่าจะเกิดขึ้นจาก มุมมองที่เจ้าตัวได้เห็นและสัมผัสกับ Brio เป็นมุมมองที่
ผมเชื่อว่า ผู้คนทั่วไป ต่างก็น่าจะมองรถคันนี้ ด้วยสายตาที่ไม่แตกต่างไปจากนี้เท่าใดนัก…โดยปกติ ของมนุษย์เรา เมื่อ
ได้เห็นในสิ่งที่เราไม่ชอบ ไม่ถุกใจ ไม่ถูกชะตา ความคิดแง่ลบก็จะเกิดขึ้น กับสิ่งที่เราเห็นอยู่ตรงหน้า ทำให้ไม่อยาก
หรือไม่คิดเปิดใจกว้าง เพื่อยอมรับในแง่มุมด้านอื่นๆ ที่เรายังไม่อาจได้พบเห็นหรือสัมผัส
ทุกคนมีสิทธื์จะคิด และมองวัตถุ คน หรือสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเรา ในแง่ใดก็ได้ทั้งสิ้น ทั้งบวก หรือลบ ตามแต่จิตใจ พื้นฐาน
ทางความคิด อารมณ์ และบรรยากาศรอบตัว จะนำพาไป แต่ ถ้าผมจะคิด แบบที่คนอื่นคิด นั่นก็คงไม่ใช่ผม ไม่ใช่คนที่
ทำเว็บ Headlightmag.com มาให้คุณอ่านกันในตอนนี้
แล้วผมก็เริ่มสงสัยขึ้นมาว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา “เรามีอคติกับเจ้าเปี๊ยกน้อยคันนี้ไปหรือเปล่า?” หรือว่าเป็นเพราะ
ตัวรถเอง เป็นเช่นที่ผู้คนเขาคิดกันจริงๆ หรือมีเหตุผลอื่นใดแอบแฝงซ่อนอยู่ โดยที่ เราๆท่านๆ ก็ไม่อาจล่วงรู้?
ดังนั้น เราจึงตัดสินใจ นำเจ้า Brio มาอยู่ด้วย รวมแล้ว 3 คัน ในเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อจะได้รู้ซึ้งถึงคำตอบที่แท้จริงกัน
ไปเลย รีวิวนี้ น่าจะช่วยให้หลายๆคน คลายความสงสัยในหลายๆเรื่อง อันเกี่ยวเนื่องจาก รถรุ่นนี้ไปได้ และเชื่อแน่ว่า
มันจะพาทุกๆคน ไปค้นพบกับคำตอบที่ว่า รถรุ่นนี้ จะเหมาะกับใคร และ Honda ควรทำอะไรต่อไปจากนี้
เราคงต้องเริ่มกันจาก แนวคิดในการพัฒนา ว่าเหตุใด Honda ถึงตัดสินใจทำ Brio ออกมา แล้วทำไมรุปลักษณ์ของมัน
จึงออกมาเป็นอย่างที่เห็นกันอยู่…?
ครั้งแรกที่ผมได้ยินว่า Honda กำลังคิดจะทำรถยนต์ขนาดเล็กกว่า City และ Jazz ในตลาดบ้านเรา ก็คงต้องย้อนกลับไป
ในงานวันเปิดตัว Ford Everest และงานฉลองครบรอบ Ford 100 ปี ในเมืองไทย เมื่อต้นปี 2004 ณ ศูนย์การประชุม
แห่งชาติ สิริกิติ์
ระหว่างกำลังนั่งพูดคุยกันในช่วง Q & A พี่สุชีพ แห่งหนังสือพิมพ์ ผู้จัดการ หรือ Manager ASTV ในปัจจุบัน เดิน
เข้ามาทักทาย แล้วกระซิบถามผมว่า “รู้เรื่องที่ Honda จะทำรถเล็ก หรือยัง?” ผมเอง งงเต๊กเลย ไม่คิดว่า Honda จะ
มีโครงการแบบนี้กับเขาด้วย ในช่วงนั้น ได้ยินมาว่า Honda เรียกผู้ผลิตชิ้นส่วนบางราย เข้าไปพูดคุย เพื่อลองดูถึง
ความเป็นไปได้ ในการผลิตรถยนต์นั่งขนาดเล็กในพิกัด A-Segment หรือ Sub-B Segment
นับแต่นั้น ผมก็ได้แต่เฝ้ารอดูว่า จะมีความคืบหน้าอื่นใดออกมาจากนี้หรือไม่ จนกระทั่ง มีการประกาศโครงการ
ECO – Car จากทางรัฐบาล พลเอก สรยุทธ์ จุลานนท์ ออกมา Honda เป็นหนึ่งในผู้ผลิตรายแรกๆ ที่ยื่นขอเข้าร่วม
โครงการนี้ด้วย
Takahiro Higuchi : LPL large Project Leader หัวหน้าทีมพัฒนา Honda Brio กล่าวว่า “เมื่อปี 1996
Honda เปิดตัว Honda City Sedan รุ่นแรกซึ่งเป็นรถยนต์ที่มีความสำคัญในภูมิภาคนี้อย่างยิ่ง จนถึงวันนี้ 15 ปี
ผ่านไปตลาดรถยนต์ในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก ยังคงขยายตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้น มุมมองของ
ลูกค้าที่มีต่อบทบาทการใช้รถยนต์ในชีวิตได้เปลี่ยนแปลงไป และจากความต้องการของลูกค้าที่มีมากขึ้น
ล่าสุด Hondaได้ตัดสินใจว่าถึงเวลาแล้วที่พวกเขายจะกลับไปยังจุดเริ่มต้น และจับตามองตลาดด้วยมุมมองใหม่
เพื่อสร้างรถยนต์ขนาดเล็กยุคใหม่ ซึ่งจะช่วยสร้างประสบการณ์และความสุขกับการเป็นเจ้าของรถให้กับลูกค้า
ด้วยเป้าหมายที่มีอยู่ในใจเรานี้ เราจึงเริ่มนำความคิด เข้าสู่กระบวนการพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ขึ้นมาเป็นรูปร่าง
ขั้นตอนแรก เราได้เข้าไปศึกษาตลาดกลุ่มเป้าหมายของเราในภูมิภาคเอเซีย โดยได้เข้าไปพูดคุยกับผูเคนใน
แต่ละพื้นที่ เพื่อรวบรวมประสบการณ์ต่างๆ ในสภาพแวดล้อม ที่กลุ่มคนเหล่านั้นจะใช้งานรถรุ่นใหม่ ซึ่งจาก
การเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับรูปแบบของความต้องการ และคุณค่าที่ลูกค้าคาดหวังในรถยนต์ขนาดเล็ก เราได้นำมา
กำหนดเป็นแนวทางของโครงการพัฒนารถรุ่นใหม่ ซึ่งผลลัพธ์ท้ายสุดคือ รถที่รวบรวมเทคโนโลยีของ Honda
และประสบการณ์ที่มีในการพัฒนารถยนต์นั่งขนาดเล็ก เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งรถคันนี้ จะผสมผสานการออกแบบ
ที่ล้ำสมัย และมีความเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น เข้ากับการออกแบบภายในที่โปร่งสบายไว้ด้วยกัน”
Higuchi-san ยังกล่าวต่อไปอีกว่า ” เมื่อเราได้ไปศึกษาตลาดเป้าหมาย เพื่อดูสภาพแวดล้อม การจราจร และพูดคุย
กับผู้คนว่า รถยนต์มีบทบาทต่อการใช้ชีวิตของเขาทั้งหลายอย่างไร เราพบว่า สิ่งที่ลูกค้าพูดถึงอยู่ตลอดเวลา ต่อ
ความต้องการในรถยนต์ มีอยู่เพียง 3 ข้อหลัก ซึ่งกลายมาเป็นแนวคิดในการพัฒนา Brio นั่นคือ
– รูปลักษณ์ที่โดดเด่น
– ห้องโดยสารที่โปร่งสบาย
– ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง
จากความต้องการต่างๆเหล่านี้ Honda ได้หาหนทางที่จะพัฒนารถยนต์นั่งขนาดเล็กรุ่นใหม่ ให้สามารถอำนวย
ความสะดวกในการเดินทางส่วนตัว โดยเป็นรถที่ผสมผสานระหว่าง การจัดวาง (Packaging) ที่ลงตัว มีคุณภาพ
กับประสิทธิภาพความประหยัดน้ำมันที่โดดเด่น
เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ทีมของ Higuchi-san ได้เริ่มพัฒนา Brio ใหม่ ขึ้นในรหัสโครงการ 2CV
บนพื้นตัวถัง หรือ Platform ของ Honda Jazz โดยนำมาลดทอนขนาดความยาวตัวถังให้สั้นลง เพื่อเพิ่มความ
คล่องตัวในการขับขี่ จากนั้น จึงพัฒนาทุกสัดส่วนของตัวรถ ให้มีพื้นที่ใช้สอยกว้างขวาง และสะดวกต่อการ
ใช้งาน ภายใต้แนวคิด Man Maximum , Machine Minimum หรือ เน้นอรรถประโยชน์ของห้องโดยสาร ให้
มากที่สุด พร้อมกับการลดขนาดและความซับซ้อนด้านโครงสร้างวิศวกรรมและเครื่องยนต์ ลงให้น้อยที่สุด
แนวทางการออกแบบ Man Maximum , Machine Minimum นี้ ถือเป็นแนวทางที่ Honda ยึดถือมาตั้งแต่เริ่มต้น
ออกแบบ Honda Civic รุ่นแรก ซึ่งออกสู่ตลาดเมื่อปี 1972 ซึ่งเป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบ อันแสดงถึงการนำ
หลักการนี้มาใช้ให้เป็นรูปธรรม เพราะในขณะที่ รถยนต์นั่งขนาดเล็กจากผู้ผลิตญี่ปุ่นในยุคนั้น ส่วนใหญ่
เป็นรถยนต์นั่ง Sedan ไม่ว่าจะเป็น 2 หรือ 4 ประตู Honda เลือกที่จะออกแบบ Civic รุ่นแรก ให้เป็นแบบ
Two-Box , One Motion wedge หรือ รถทรง 2 กล่อง ด้านหน้าเส้นสายแนวลิ่ม ที่ไม่เคยมีมาก่อนในญี่ปุ่น
และแน่นอนว่า เมื่ออกสู่ตลาดแล้ว ก็ได้รับความนิยมอย่างสูง จนกลายเป็นมาตรฐานของรถยนต์ขนาดเล็ก
ของ Honda ในกาลต่อมา รวมถึง Honda Fit / Jazz ที่เปิดตัวตามหลังออกมาจากนั้น 29 ปี (เปิดตัวในญี่ปุ่น
ครั้งแรก เดือนพฤษภาคม 2001 และนำมาประกอบพร้อมเปิดตัวในไทยครั้งแรก เดือนพฤศจิกายน 2003)
ทุกวันนี้ Honda ทำยอดขาย Fit / Jazz ใน 115 ประเทศ ทั่วโลกไปแล้ว มากถึง 3.5 ล้านคัน (ตัวเลขเมื่อเดือน
ตุลาคม 2010) แสดงให้เห็นถึงการยอมรับของผู้บริโภคทั่วโลก ต่อแนวทางการสร้างรถในแบบที่เน้นความ
สะดวกสบายของผู้โดยสารจากพื้นที่ใช้สอยเป็นสำคัญของ Honda ได้อย่างดี
ด้านการออกแบบ ทีมของ Higuchi-san วางแนวคิดในการออกแบบว่า “Micro Metropolitan Jet” ฟังดูแล้ว
ชวนให้งุนงงอยู่ไม่น้อย ว่า Honda คิดจะเอาบุคลิกของเครื่องบิน Jet ที่พวกเขาทำขายอยู่ มาแปลงร่างใส่
ในรถยนต์นั่งขนาดเล็กหรืออย่างไรกัน?
ครับ ก็เป็นเช่นนั้นแหละ! ลองนึกถึงสภาพการเดินทางในเมือง คุณต้องการความคล่องแคล่ว และว่องไว
ในการบังคับเลี้ยว อัตราเร่งที่ต้องเหมาะสมกับการใช้งาน อีกทั้งต้องมีห้องโดยสารที่โปร่งสบายที่สุด เท่าที่
ขนาดของตัวรถทั้งคันจะเอื้ออำนวย นอกจากนี้ ยังต้องคงรักษาความภาคภูมิใจในการเป็นเจ้าของรถยนต์
Honda อันเป็นคุณค่าสำคัญที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อรถยนต์ยี่ห้อนี้ และเหนือสิ่งอื่นใด ทั้งหมดที่กล่าวมา
ข้างต้น จะต้องถูกรวบรวมเข้าไว้ด้วยกัน ในราคาขายปลีก ซึ่งต้องถูกที่สุดเท่าที่ทุกข้อจำกัดจะเอื้ออำนวยให้
และนี่ก็จะเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ Honda นำแนวคิด Man Maximum , Machine Minimum มาช่วยให้ความต้องการ
ของ Higuchi-san และทีมของเขา เป็นความจริง ในเอกสารสำหรับแจกสื่อมวลชนของ Brio ระบุเอาไว้ว่า
“แทนที่เราจะออกแบบตัวถัง และพื้นที่ห้องโดยสารให้เหมาะกับเครื่องยนต์ ทีมออกแบบของ Honda จะเริ่ม
จากการวางตำแหน่งของผู้โดยสารก่อน จากนั้นจึงติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ตามแต่ละวัตถุประสงค์ที่ต้องการ และ
แทนที่เราจะเริ่มจากรูปทรงอันเป็นเอกลักษณ์พิเศษ เราจะเริ่มจากโครงสร้างต้นแบบสำหรับการใช้งานที่
จำเป็น การออกแบบรูปลักษณ์ภายนอก อาจจะไม่เป็นที่ดึงดูด เมื่อเวลาผ่านไป แต่โครงสร้างอันยอดเยี่ยม
ทั้งด้านสมรรถนะ ยานยนต์ที่มาจากการสร้างสรรค์อย่างแท้จริง และตอบสนองการใช้งาน จะสามารถอยู่ได้
ยั่งยืน”
อีกเอกลักษณ์หนึ่งที่สำคัญของการออกแบบ จาก Honda คือ การจัดวาง หรือ Packaging ที่มีประสิทธิภาพ
ช่วยให้พื้นที่ห้องโดยสารซึ่งดูจากภายนอกตัวรถ เหมือนจะเล็ก กลับให้สัมผัสที่ใหญ่โต กว้างสบายเมื่อ
ได้เข้าไปนั่งจริงๆ นั่นหมายถึง การใช้ความพยายามอย่างหนัก ในการเพิ่มพื้นที่ห้องโดยสารให้มีความจุ
มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยลดพื้นที่บางส่วน ซึงไม่สอดคล้องกับการใช้งานออกไป อีกทั้งยังมีการ
ลดความหนาของแผงประตู เพื่อเพิ่มพื้นที่การโดยสารให้มากที่สุด อีกทั้งยังออกแบบบริเวณด้านล่าง
ของแผงหน้าปัด และคอนโซลกลาง รวมถึงพนักพิงเบาะหลัง ให้มีลักษณะเว้าโค้ง เพื่อเพิ่มพื้นที่วางขา
สำหรับผู้โดยสารทกตำแหน่ง
ตำแหน่งอุปกรณ์ต่างๆ บนแผงหน้าปัดและภายในห้องโดยสาร ให้สะดวกต่อการใช้งาน ถูกหลักสรีรศาสตร์
โดยให้ความสำคัญกับความสวยงาม ในภาพรวม เป็นเรื่องรองลงไป แต่ขอเพียงต้องสอดคล้องกับเส้นสาย
ภายนอกของตัวรถไปด้วยกัน เท่านั้นก็พอแล้ว
หลังจากผ่านวันเวลาอันยาวนาน ในการสร้างรถรุ่นนี้ขึ้นมา Honda เผยโฉมเวอร์ชันต้นแบบ ในสไตล์ล้ำอนาคต ใช้ชื่อว่า
Honda New Small Concept จัดแสดงครั้งแรกในโลก ณ งาน Auto Expo 2010 ในกรุง นิวเดลิ ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่
5 มกราคม 2010 ซึ่งอันที่จริง เมื่อย้อนเวลากลับไปดู จะพบว่า Honda เผยให้เห็น แนวเส้นที่แท้จริงของ รถจากโครงการ
รหัส 2CV มาต้ั้งแต่ตอนนั้นแล้ว ยิ่งเมื่อผมมาดูรถคันนี้ใกล้ๆ อีกครั้ง ในงาน Bangkok Ingternational Motor Show เดือน
มีนาคม 2010 ก็พบว่า มันน่าจะเป็นรถที่ดูสวย ในส่วนครึ่งคันหน้า แต่ครึ่งคันหลัง ก็ยังไม่ถือว่าน่าเกลียดแต่อย่างใด ยัง
คิดว่า พอยอมรับได้
แต่อย่างว่าครับ ขึ้นชื่อว่ารถต้นแบบ เมื่อต้องผลิตขายจริง เส้นสายที่าสวยงาม จะต้องถูกลดทอนลง ด้วยเหตุผลทั้งด้าน
การผลิต ต้นทุน การยอมรับของผู้บริโภค ฯลฯ อีกมากมาย สุดท้ายแล้ว Honda ก็เผยโฉม เวอร์ชัน “ใกล้เคียงรุ่นจำหน่าย
จริงมากที่สุด” ในชื่อ Honda Brio Prototype เป็นครั้งแรกในโลก ในงาน Motor Expo เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2010
และนี่เป็นครั้งแรก ที่พวกเขาเปิดตัวรถคันนี้ ด้วยชื่ออย่างเป็นทางการว่า Brio
เหตุผลที่ Honda เลือกใช้ชื่อ Brio ให้กับรถเล็กคันนี้ เพราะมันเป็นคำที่มาจากภาษาฝรั่งเศส มีความหมายถึงความ
ปราดเปรียว ชาญฉลาด และทันยุคสมัย เป็นคำที่ Honda ตั้งใจใช้สื่อถึงบุคลิกของ น้องเล็กคันใหม่รุ่นนี้ นั่นเอง
ปฏิกิริยาของผู้บริโภคส่วนใหญ่ ออกมาในเชิงลบมากกว่าบวก ส่วนใหญ่ตำหนิที่งานออกแบบบั้นท้ายของรถซึ่ง
สั้นไปหน่อย และการใช้สีเขียว ที่ดูแล้ว หมือนสีโปรโมทของ Mazda 2 hatchback ที่คลอดออกมาก่อนหน้านั้น 1 ปี
เรื่องสีในการโปรโมทนั้น เป็นเรื่องที่พูดลำบาก เพราะต้องมีการเตรียมศึกษา และวิจัยแนวโน้มความเปลี่ยนแปลง
ด้านรสนิยมของตลาดกันแรมปี กรณีของ Brio เอง ก็เช่นกัน เหตุผลที่เลือกใช้สีเขียว ก็เพื่อสื่อถึงความสดใส สดใหม่
มีชีวิตชีวา เพียงแต่ว่า โทนสีที่ใช้ในตอนแรกนั้น ดันไปเหมือนกับ Mazda 2 จนในที่สุด ต้องเปลี่ยนโทนสี ให้เขียว
แนวมะนาว เป็น Fresh Lime อย่างที่เห็น ในเวอร์ชันจำหน่ายจริง อย่างทุกวันนี้
เมื่อทุกอย่าง พร้อมสำหรับการทำตลาดจริง Honda ก็ต้องมาประสบกับเหตุที่ไม่คาดฝัน เมื่อเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่
และตามด้วยคลื่นสึนามิ ถล่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น อย่างหนัก เมื่อวันศุกร์ที่ 11 มีนาคม 2011 ก่อนที่งาน
เปิดตัวรถยนต์ขนาดเล็กรุ่นใหม่ล่าสุดของ Honda จะถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกที่กรุงเทพฯ เพียงแค่ 7 วันเท่านั้น!
ผลกระทบที่เกิดขึ้นสำหรับ Honda นั้น ค่อนข้างหนักหนากว่าผู้ผลิตรถยนต์ร่วมชาติรายอื่นๆ เพราะเขตภัยพิบัติ
ดันอยู่ใกล้กับ ศูนย์วิจัยและพัฒนา Honda R&D ที่ Utsunomiya ในจังหวัด Tochigi (ซึ่งผมเคยไปเยือนที่นั่นแล้ว
2 ครั้ง ในปี 2005 กับ 2007) แรงสั่นสะเทือนครั้งนั้น ทำให้ฝ้าเพดานห้องอาหาร Canteen ของศูนย์ฯ ถล่มลงมา
ทับวิศวกร ผู้ซึ่งเป็นเพื่อนกับ หนึ่งในทีมออกแบบ Brio เสียชีวิต 1 ราย นี่ยังไม่นับกับบริษัทซัพพลายเออร์ ต่างๆ
ของ Honda ในละแวกใกล้เคียง โดยเฉพาะ ผู้ผลิตด้านชิ้นส่วนอีเล็กโทรนิคส์ และกล่อง ECU ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เขต
ภัยพิบัติมากกว่า ทำให้การจัดส่งชิ้นส่วนเหล่านี้ ชะงักงันไปเป็นเดือน และสถานการณ์นี้ แม้เกิดกับทุกค่าย แต่
Honda เจอหนักสุด เพราะชิ้นส่วน Brio ที่เกี่ยวข้อง ก็มีส่วนรับผลกระทบจากเรื่องนี้ไปเยอะ ทำให้การผลิตที่
ดรงงานอยุธยา ต้องลดปริมาณลงไปด้วย ทำให้ไม่มีรถที่จะส่งมอบให้ลูกค้าไป แทบทุกรุ่น และแน่นอนว่า
กระทบกับการเปิดตัว ของ Brio ด้วย
อย่างไรก็ตาม Atsushi Fujimoto ประธานของ Honda automobile Thailand มองว่า ถึงญี่ปุ่นจะเจ็บปวดขมกลืน
กับเหตุการณ์นี้มากขนาดไหน แต่ Honda ยังต้องดำเนินกิจกรรมต่างๆ ต่อเนื่องไปตามปกติ เพื่อให้ชาวโลกได้
รู้ว่า ยังไงก็ตาม ญี่ปุ่น จะอดทนต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคครั้งใหญ่นี้ไปให้ได้อย่างดีที่สุด จึงตัดสินใจร่วมกันกับทีม
ผู้บริหารของ Honda เดินหน้า เปิดตัว Brio เป็นครั้งแรกในโลก ที่เมืองไทย เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2011 ที่ผ่านมา
ณ Royal Paragon Hall @ Siam Paragon
ผู้คนทั้งวงการอุตสาหกรรมรถยนต์ในเมืองไทย ต่างพากันวิเคราะห์และประเมินกันว่า ยังไงๆ Brio น่าจะ
ทำตัวเลขยอดขายได้สูงอยู่ ทั้งจากเหตุผลเรื่องค่าตัว อุปกรณ์ความปลอดภัย และที่สำคัญที่สุดคือ “ชื่อชั้นอัน
แข็งแกร่งของแบรนด์ Honda ในเมืองไทย”
แต่เมื่อรถเปิดตัวออกมาแล้ว Brio ต้องเผชิญกับปัญหาสำคัญ 2 ข้อใหญ่ คือ เปิดตัวรถแล้วกลับไม่อาจส่งมอบได้
เพราะปัญหาชิ้นส่วนจากญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้อง ส่งมาไม่พอ หรือไม่ได้เลย ทุกอย่าง ก็ดูชะงักงันไปหมด จนเพิ่งจะ
เริ่มกลับมาฟื้นตัว และเริ่มส่งมอบรถกันได้ ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมากันนี่เอง
อีกทั้งปัญหาจากการรับรู้ของผู้บริโภคต่อรถคันใหม่ ที่มีเสียงในแง่ลบ สะท้อนได้จากยอดสั่งจองของลูกค้า ใน
งาน Bangkok International Motor Show ปลายเดือนมีนาคม – ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ตัวเลขยอดสั่งจองรวม
ตลอด 12 วัน มีเพียงแค่ 1,190 คัน เท่านั้น พลิกความคาดหมายไปมาก เพราะ Honda ตั้งความหวังเอาไว้ว่า Brio
น่าจะได้รับความสนใจจากลูกค้าทั่วประเทศ เทียบเท่าระดับเดียวกันกับ Honda Civic 3 ประตู เคยทำเอาไว้เมื่อ
เดือนสิงหาคม 1993 (ครั้งนั้น ยอดจองทุบทำลายสถิติของวงการรถยนต์เมืองไทย 3 วัน 9,000 คัน!) กลับกลาย
เป็นว่า Nissan March รถเล็ก จากค่ายมวยรอง แถมยังออกสู่ตลาดล่วงหน้า Brio ถึง 1 ปีเต็ม ก็ยังเก็บยอดจองไป
ได้มากกว่ากันชัดเจน ด้วยตัวเลข 2,044 คัน สะท้อนให้เห็นแนวโน้มบางอย่าง ที่ส่อเค้าลางว่า อาการน่าเป็นห่วง
และทั้งหมดนั้น คือ การสรุปเรื่องราวความเป็นมา และสถานการณ์หลังเปิดตัว ให้คุณได้รับทราบกันก่อนที่เราจะ
เริ่มพาคุณ ไปลงลึกในรายละเอียดทั้งคันของ Brio นับจากบรรทัดนี้ เป็นต้นไป….
Brio มีความยาวตัวถัง จากหน้าจรดหลัง 3,610 มิลลิเมตร กว้าง 1,680 มิลลิเมตร สูง 1,485 มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อ
สั้นเพียง 2,345 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหน้า (Tread Front) 1,480 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหลัง 1,465 มิลลิเมตร
ระยะห่างจากพื้นดินถึงพื้นตัวถัง 150 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวเปล่าอยู่ที่ 920 กิโลกรัม ในรุ่นเกียร์ธรรมดา และ 950 กิโลกรัม
ในรุ่นเกียร์ CVT
จากตัวเลขทั้งหมดนี้ คุณจะสังเกตได้ว่า Brio มีความกว้างไล่เลี่ยกันกับรถยนต์ พิกัด B-Segment ทั่วไป และกว้างเท่ากัน
กับรถยนต์นั่ง Compact Size C-Segment) จากญี่ปุ่น ช่วงยุคปี 1985 – 1995 หลายๆรุ่นเลยทีเดียว หากมองแค่ความกว้าง
จากซ้ายไปขวา ตัวรถก็ไม่ได้แคบอย่างที่คิด เมื่อเทียบกับ Jazz รุ่นปัจจุบันแล้ว Brio จะมีตัวถังสั้นกว่า 290 มิลลิเมตร
ขณะที่ระยะฐานล้อ จะสั้นกว่า 155 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหน้า เท่ากัน ที่ 1,490 มิลลิเมตร ส่วนความกว้างตัวรถ
ลดลงจาก Jazz แค่ 15 มิลลิเมตร
แต่ถ้าเทียบขนาดตัวถังกับคู่แข่งอย่าง Nissan March แล้ว (ยาว 3,780 มิลลิเมตร กว้าง 1,665 มิลลิเมตร สูง 1,515 มิลลิเมตร
ระยะฐานล้อ 2,450 มิลลิเมตร) จะพบว่า มีเพียง ประเด็นเรื่องความกว้างตัวถังภายนอกเท่านั้น ที่ Brio จะกว้างกว่า March
20 มิลลิเมตร แต่ตัวเลขนอกเหนือจากนั้น march มีขนาดตัวถังใหญ่กว่า Brio ทั้งหมด
อย่าลืมว่า การพัฒนา Brio นั้น วิศวกรของ Honda เริ่มต้นโครงการ ด้วยการวางตำแหน่งการตลาดในพิกัด Sub B-Segment
หรือ แทบควรจะถูกเรียกว่าเป็น A-Segment พิกัด 800 – 1,200 ซีซี เสียด้วยซ้ำ ดังนั้นขนาดตัวถังของรถยนต์ในกลุ่มนี้ จึง
ต้องเล็กกว่า B-Segment อย่าง March ก็ถูกต้องแล้ว
เพียงแต่ว่า พอมาถึงเมืองไทย ช่วงที่รับาลไทย พึ่งจะประกาศเปิดโครงการ ECO Car กัน ต้องไม่ลืมว่า Nissan เองก็ใช้วิธี
ตีตั๋วเด็ก เพื่อนำ March ซึ่งเป็นรถยนต์ในพิกัดตัวถัง B-Segment เหมือนกับ Toyota Yaris กับ Honda Jazz (ซึ่งใหญ่สุด
ในกลุ่ม B-Segment Hatchback) มาทำตลาดในบ้านเรา โดยกดราคาขายปลีกให้ถูกลงกว่าชาวบ้านเขา โดยยอมแลกกับการ
วางเครื่องยนต์เล็กกว่าเพื่อน จึงทำให้ ในเมืองไทย Brio กลายเป็นคู่แข่งที่เสียเปรียบ Marchb ในเรื่องขนาดตัวถังไปอย่าง
ช่วยไม่ได้จริงๆ
เส้นสายภายนอก สร้างขึ้นบนแนวคิด Double Tri-Angle Form แสดงถึงความเคลื่อนไหว และบุคลิกติดสปอร์ต รูปลักษณ์
ด้านหน้า ถูกออกแบบให้ดูกว้าง แล่ให้น้ำหน้ักกับความสมดุลย์ บริเวณไฟหน้า หระจังหน้า และเปลือกกันชนหน้า ซึ่งถูก
ออกแบบให้มีช่องรับอากาศขนาดพอเหมาะ แต่มีแนวเส้นแผ่ไปทางด้านข้าง และพ่นเป็นสีดำ จึงทำให้ด้านหน้าของตัวรถ
ดูกว้าง และเตี้ย
เมื่อมองจากด้านข้าง เน้นแนวเส้นจากขอบปลายมุมกันชนหน้า ให้ความรู้สึกของการพุ่งไปข้างหน้า ชุดไฟหน้ามีขนาด
ใหญ่ จนนึกถึง Civic ตาโต รุ่นปี 1995 ฝังชุดไฟเลี้ยวรวมไว้ด้วยกันกับชุดไฟใหญ่และไฟสูง พื้นข้างในพ่นสีดำ กระจก
ด้านข้าง มีจุดเริ่มต้นในระดับต่ำ และสอดรับกับแนวเส้นครึ่งคันหน้า จนดูลงตัวมาก สำหรับรถเล็กขนาดนี้ โดยไม่ต้อง
ออกแบบให้มีกระจกหน้าต่าง โอเปร่า หรือหูช้างแบบที่พบได้ใน Honda Jazz แต่อย่างใด
ซุ้มล้อทั้ง 4 มีโป่งยื่นออกมาคลุมในขนาดที่เหมาะสม เส้นคาดข้างตัวถัง ไล่จากใต้ไฟหน้า พาดขึ้นไปในแนวเฉียง
จนถึงมุมของประตูคู่หลัง ทำให้ตัวรถดูล้ำสมัย สรุปแล้ว ครึ่งคันหน้า ออกแบบมาได้ ลงตัวมาก และจะยิ่งดูดีกว่านี้
ถ้า Honda จะยอมพ่นสีดำ บริเวณเสากรอบประตูทั้ง 4 บาน แม้ว่าจะเพิ่มต้นทุน และระยะเวลาในการผลิต ขึ้นมา
อีกสักหน่อย แต่จะช่วยทำให้ Brio กลายเป็นรถที่ดูลงตัวดีในใจของผู้บริโภคเพิ่มมากกว่าที่เป็นอยู่นี้ได้อีก
ส่วนบั้นท้ายรถนั้น คือจุดที่หลายๆ คน ซึ่งผมได้พูดคุยด้วย พากันไม่ชอบใจ เรียกได้ว่า ตั้งแต่ Brio เปิดตัวออกมา ผมเจอ
เพียงแค่ 2 คนเท่านั้น ที่บอกกับผมว่า บั้นท้ายของ Brio หนะ สวย คนหนึ่ง เป็นลูกค้า ที่เดินอยู่ในงาน Motor Show และ
ผมได้ยินลอยผ่านเข้ามา อีกคนหนึ่ง ก็คงเป็นใครอีกสักคนหนึ่งที่ผมเคยพูดคุยด้วย
ชุดไฟท้ายที่หลายๆคนมองว่าไม่สวยนั้น เหตุผลมาจากความพยายามจะขยายแนวเส้นสายออกไปทางด้านข้างของตัวรถ
ให้ได้มากที่สุด เพื่อช่วยเสริมให้บั้นท้ายของรถ ดูกว้างกว่าขนาดตัวที่แท้จริงของมัน อีกทั้งมีการติดตั้งสปอยเลอร์ด้านหลัง
เหนือกระจกบังลมหลังจาก เพื่อช่วยเพิ่มบุคลิกสปอร์ต และช่วยเรื่องของอากาศพลศาสตร์ เล็กน้อย
เพื่อให้สะดวกต่อการควบคุมต้นทุนการผลิตมากที่สุด Brio จึงมีกระทะล้อให้เลือก 2 รูปแบบ แต่ใช้ยางแบบเดียวกัน โดย
ในรุ่นถูกสุด จะใช้ล้อเหล็ก สีเงิน แบบไม่มีฝาครอบ ขนาด 14 นิ้ว ส่วนรุ่น V อันเป็นรุ่นตกแต่งแบบอุปกรณ์ครบครัน
จะใช้ล้ออัลลอยขนาด 14 นิ้ว แบบ 5 ก้านคู่ ที่ออกแบบมาให้ก้านค่อนข้างบาง ด้วยเหตุผลในเรื่องของน้ำหนัก ที่จำเป็น
ต้องลดทอนลงให้เบาที่สุดเท่าที่จะยังคงเหลือความแข็งแรงเอาไว้ อีกทั้งต้องมีส่วนช่วยลดแรงเสียดทาน และช่วยเรื่อง
อากาศพลศาสตร์ อีกด้วย สวมเข้ากับยาง Michelin ENERGY XM2 สเป็กพิเศษ OEM ขนาด 175/65R14 (ซึ่งประเดี๋ยว
เราจะมาคุยกันถึงเรื่องของยางติดรถชุดนี้)
การเข้าออกจากรถนั้น Brio รุ่น V ให้กุญแจ พร้อมสวิชต์รีโมทคอนโทรล และระบบ Immobilizer ฝังมาให้ในตัว หน้าตานี่
เหมือนกับ กุญแจของ Honda City กับ Jazz ใหม่ ไม่มีผิด มีครั้งนึง ผมรีบออกจากบ้าน แล้วคว้ากุญแจ City คันที่บ้าน
มาโดยไม่ทันมองว่า พวงกุญแจด้านหลังมันไม่ใช่ของ Brio นี่หว่า การติดเครื่องยนต์ ใช้วิธีบิดกุญแจที่คอพวงมาลัย
เหมือนเคย และจะมีสัญญาณกันขโมยมาให้ เฉพาะในรุ่น V ทั้งเกียร์ธรรมดา และ เกียร์อัตโนมัติ รุ่นล่างสุด ไม่มี
มาให้แน่นอน แต่มีระบบ Immobilizer มาให้ครบทุกรุ่น
ตั้งข้อสังเกตไว้ว่่า มือจับประตูทั้ง 4 บาน ค่อนข้างบอบบางกว่ารถทั่วไปนิดหน่อย แค่จับและโยกเฉยๆ ก็สามารถ
ให้ตัวได้แล้ว ทั้งที่ Jazz กับ City ก็ยังออกแบบมาได้แข็งแรงกว่านี้ชัดเจน
ในเมื่อ ห้องโดยสารของ Brio ทุกรุ่น ตั้งแต่ถูกสุด ยันแพงสุด จะมีหน้าตาเหมือนกันเปี๊ยบ ดังนั้น เราจึงขอนำเสนอ
แต่ห้องโดยสารของรุ่นเกียร์อัตโนมัติ เพื่อความสะดวกในการเขียนรีวิวของผม และความสะดวกในการอ่านของ
คุณผู้อ่านนะครับ
ทันทีที่เปิดประตูคู่หน้าออกมา การเข้าออกจากรถ ทำได้ค่อนข้างดี และไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ไม่ว่า สรีระของคุณ
จะสูงใหญ่ หรืออ้วนมักกักขนาดไหนก็ตาม คุณก็ยังคงสามารถเข้าออก จากรถผ่านประตูคู่หน้าของ Brio ได้ดีพอกัน
กับ Jazz และ City ใหม่นั่นแหละครับ
แต่สิ่งที่ผมไม่อาจยอมรับได้ก็คือ การออกแบบ แผงประตูด้านข้าง ที่เผยให้เห็นถึงเนื้อเหล็กของแผงประตูกันเลย
ทีเดียว เพราะในการใช้งานจริง เสียงของวัตถุที่เราวางไว้บริเวณช่องวางของที่แผงประตู อันเป็นจุดที่เห็นสีตัวถังรถ
กันเลยนั้น ถ้ามันสะเทือนไปตามการขับขี่ เสียงของวัตถุที่กระทบกับแผงข้างแบบนี้ จะดังและก่อความรำคาญให้ผม
ได้มากกว่า เสียงของวัตถุที่กระทบกับแผงพลาสติกแบบทั่วไป
ผมยังคงความเห็นเดิมเอาไว้ ด้วยความสงสัยว่า ทีม Interior Designer คงจะได้แรงบันดาลใจจากสถาปนิกชาวไทย
ยุคใหม่ๆ ไปเยอะมากๆ เพราะหลังๆมานี้ พวกเขาพยายามเน้นใช้คำว่า “สัจจะวัสดุ” คือ เปลือยให้เห็นเนื้อแท้ของ
วัสดุนั้นๆ ออกตามสื่อต่างๆกันเยอะขึ้นมากในช่วง 3-4 ปีมานี้ แม้จะเป็นคำที่มีมาให้ได้ยินนานแล้ว แต่ผมก็ไม่คิด
มาก่อนว่า Honda จะเอาแนวคิดนี้ มาใช้กับการออกแบบแผงประตู ทั้งคู่หน้า และคู่หลังด้วย สรุปว่า เป็นเหมือนกัน
หมดทั้ง 4 บานเลยนั่นแหละ!
ผมไม่รู้ว่าการออกแบบเช่นนี้ จะทำให้ต้นทุนของแผงประตูมันจะถูกลงแค่ไหนกันนัก แต่ขอทีเถอะ อย่าพยายาม
ใช้มุขนี้ เหมือนกับ Ford Ka หรือพวกรถเล็ก A-Segment จากยุโรปที่ลดต้นทุนไม่เก่งเท่าญี่ปุ่นกันนักเลยครับ
ของแค่นี้ ออกแบบแผงประตูให้มันเต็มพื้นที่ ปิดบังเนื้อเหล็กจะดีกว่า ข้อนี้ ผู้บริโภคหลายๆคนเขารับไม่ได้นะ
พื้นที่โดยสารด้านหน้า ไม่เลวร้ายเลย มันแทบมีตำแหน่งนั่งขับ ไม่ต่างจาก Honda Jazz และ City ใหม่เลย ใครที่คุ้นเคย
กับตำแหน่งเบาะนั่งของรถยนต์ทั้ง 2 รุ่นดังกล่าว น่าจะชื่นชอบ Brio ได้ไม่ยาก เพราะการจัดวางตำแหน่ง และความสูง
ของเบาะนั่ง แทบจะไม่ต่างกันกับรถทั้ง 2 รุ่นเลย
เบาะคู่หน้า ถูกออกแบบให้พนักศีรษะรวบเป็น ชิ้นเดียวกันกับพนักพิงหลัง มาในสไตล์ที่ดูคล้ายเบาะคู่หน้าของรถสปอร์ต
2 ประตู ขุมพลัง Hybrid อย่าง Honda CR-Z อยู่บ้างเหมือนกัน แต่ไม่ถึงกับดูดีเท่า ถึงจะดูบ้านๆ และไม่มีลูกเล่นอะไรนัก
แถมเบาะรองนั่ง ก็ยังมีขนาดแค่กำลังดี เหมือนกับใน Jazz และ City คือถ้ายาวได้มากกว่านี้อีกนิดก็จะดี เพราะเบาะรองนั่ง
สั้นไปเล็กน้อย แต่เบาะนั่งคู่หน้าของ Brio กลับไม่ทำให้ผมปวดหลัง หรือเมื่อยแผ่นหลัง เมื่อต้องขับรถทางไกล แต่อย่างใด
เพียงแต่ว่า ถ้าเป็นไปได้ คราวหลัง ในรุ่นท็อป ช่วยใส่เบาะนั่งเฉพาะฝั่งคนขับแบบปรับระดับสูง-ต่ำได้ มาให้สักหน่อยก็จะ
ดีกว่า และถ้าจะให้ดี พนักวางแขน ช่วยแถมมาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานในรุ่นท็อปได้ก็จะยิ่งน่าปลาบปลื้ม ถ้ามันไม่ไหว
ก็ทำเป็นอุปกรณ์ชุดแต่ง ยังได้อยู่
ตำแหน่งเบาะนั่งคู่หน้า โดยเฉพาะเบาะคนขับ ปรับได้แค่เลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง และปรับพนักพิงให้เอนนอนได้ราวๆ
80 องศา โดยประมาณ แค่นั้น ไม่มีก้านโยกใดๆ ที่จะช่วยให้สามารถปรับระดับสูง – ต่ำ ใดๆ ได้เลย แปลว่า เบาะของ Brio
ปรับสูง – ต่ำ ไม่ได้ ซึ่งจริงๆแล้ว รถสมัยนี้ อย่างน้อย ในรุ่นท็อป ตำแหน่งเบาะคนขับ ก็ควรจะมีให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน
ได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม น่าแปลกที่ ผม และ The Coup Team ทุกคน แทบไม่มีใครบ่นเรื่องตำแหน่งนั่งขับของ Brio กันเลย ถือเป็น
รถเก๋งรุ่นแรก ที่ไม่มีเบาะปรับระดับสูง – ต่ำมาให้ แต่เราไม่ยักบ่นกันในประเด็นนี้แต่อย่างใด มีแต่จะบอกว่า ตำแหน่งนั่งขับ
ถูกจัดวางมาอย่างลงตัวดีมาก สำหรับทั้งการก้าวเข้า – ออกจากรถ และเป็นความสูงในระดับที่เหมาะสมกับการขับขี่ ดีพอแล้ว
ส่วนพื้นที่เหนือศีรษะ ก็ไม่เป็นปัญหาอีกเช่นกัน โล่ง โปร่งสบายพอประมาณ
เข็มขัดนิรภัยสำหรับเบาะคู่หน้า เป็นแบบ ELR 3 จุด ตามปกตินิยม ข้อดีก็คือ Honda ให้มาเป็นแบบดึงกลับอัตโนมัติ หรือ
Load Limiter จากโรงงาน แต่ข้อด้อย ก็คือ มันไม่อาจปรับระดับสูง – ต่ำได้ (ซึ่ง Nissan March ก็มีปัญหานี้เหมือนกัน) ดังนั้น
สำหรับบางคน เข็มขัดนิรภัยก็อาจจะพาดถูกคอได้ นั่นเป็นเพราะว่า ตำแหน่งเบาะนั่ง และเข็มขัดนิรภัย ถูกล็อกมาตายตัว
ขณะที่คุณสามารถเข้า – ออกจากเบาะหน้าได้อย่างสบายๆ พอย้ายมาเป็นเบาะหลัง ทุกสิ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้น
ตรงกันข้าม ผลจากการออกแบบให้ความยาวระยะฐานล้อ และความยาวของตัวรถในภาพรวม อยู่ในพิกัด
เดียวกันนี้ จึงส่งผลให้ ทางเข้าออกประตูคู่หลัง ต้องมีขนาดเล็ก และคับแคบตามไปด้วย
ส่วนแผงประตูด้านหลัง นอกจากจะมีชิ้นส่วนท่อนล่าง เปลือยให้เห็นผิวเหล็ก เหมือนบานประตูคู่หน้าแล้ว
สวิชต์กระจกหน้าต่างไฟฟ้า ก็ยังยกเอาของ Honda Civic รุ่นเก่าๆ มาใช้ ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องผิดนะ เหตุผลที่ทาง
ทีมวิศวกร Honda ต้องทำแบบนี้ เพราะว่า ในเมื่อต้องมีรุ่นราคาถูก ที่ใช้กระจกแบบมือหมุนสำหรับบานประตู
คู่หลังมาให้ การจะออกแบบสวิชต์กระจกไฟฟ้า ให้ติดตั้งอยู่บนพนักวางแขนไปเลยนั้นก็ดูจะไม่เข้าที ในเรื่อง
ของความง่ายในขั้นตอนเตรียมการผลิต การกลับไปติดตั้งสวิชต์ แบบเดิม จะช่วยลดปัญหาเรื่องนี้ลงไปได้ใน
มุมของผู้ผลิต แต่กระจกหน้าต่าง มันเลื่อนลงไปได้ไม่หมดจนถึงขอบบนของแผงประตูคู่หลัง อันนี้ต้องทำใจ
ด้านหลังของพนักพิงเบาะหน้าฝั่งซ้าย มีช่องใส่หนังสือมาให้เพียงช่องเดียว ทั้งที่รถยนต์สมัยก่อน มีมาให้ 2 ฝั่ง
ด้วยข้อจำกัดที่บีบให้ช่องทางประตูคู่หลัง มีขนาดเล็กกว่าที่ควรเป็น ทำให้การลุกเข้า – ออกจากเบาะหลัง
ไม่สะดวกเอาเสียเลย แค่ต้องการจะลุกออกจากเบาะหลัง หากต้องเหวี่ยงขาออก ขาของคุณ ก็จะมาติดอยู่
ที่บริเวณโคนเสาหลังคาคู่กลาง B-Pillar ซึ่งสุดท้ายก็ ต้องมานั่งทำความสะอาดเพิ่มเติม นี่ถ้าถ้าความยาว
ตัวถังเพิ่มได้มากกว่านี้อีกนิด น่าจะพอทุเลาปัญหาลงได้ แต่นั่นก็คงต้องรอรถรุ่นต่อไปกันแล้วละ วันนี้
คงแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม เรื่องที่น่าเหลือเชื่อ ก็เกิดขึ้น เมื่อตาแพน Commander CHENG ของเรา สามารถ ยัดร่างกาย
ที่มีน้ำหนักมากถึง 140 กิโลกรัม เข้าไปนั่งบนเบาะหลังของ Brio ได้อย่างไม่ยากเย็นเลย แต่โปรดสังเกต
ดูซุ้มล้อหลังให้ดีสิครับ จะพบว่า แทบไม่ต้องคิดเอา Brio ไปโหลดเตี้ยแต่อย่างใด เพราะแค่ตาแพนขึ้นไป
นั่ง ช็อกอัพก็รับน้ำหนักกดทับมหาศาล ส่งผลให้รถยุบลงไปจนแบนแต๊ดแต๋ อย่างที่เห็น
นี่ถ้าช็อกอัพกับสปริงมันพูดได้ มันคงร้องว่า “โอ้ยยย ใครก็ได้ ช่วยเอาหมอนี่ไปเก็บที่ไหนก็ได้ทีเถอะ
คนหรือช้างวะเนี่ย? หนักชิบหาย! “
พื้นที่นั่งด้านหลัง ไม่ได้คับแคบอย่างที่วิตกกันไปก่อนหน้านี้ ข้อแรกท่ี่ต้องตำหนิกันตรงๆเลยคือ พนักพิง
ของเบาะหลังนั้น ออกแบบมา เตี้ย และเหมาะกับรองรับการโดยสารของเด็กๆ เท่านั้น เพราะเมื่อผมนั่ง
ลงไป พบเลยว่า ด้านบนสุดของพนักศีรษะเบาะหลัง มันรองรับได้เต็มที่สุดคือ บริเวณแผ่นหลัง ระหว่าง
รักแร้ทั้ง 2 ข้างของผม ยังไม่ถึงระดับแขนเลยเสียด้วยซ้ำ! ผมว่าเตี้ยเกินไป และดูเหมือนว่า ทีมออกแบบ
จะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการดดยสารบนเบาะหลัง ในรถรุ่นนี้ มากเท่าที่ควรจะเป็นเลย มุมเอียง ก็
ยังไม่ถึงกับเอียงมากนัก ฟองน้ำด้านหลัง ช่วยให้พนักพิง นุ่มแค่พอยืดหยุ่นได้ สรุปว่า พนักพิงเบาะหลัง
ไม่สูงพอที่จะรองรับสรีระของผู้ใหญ่เลย หากต้องนั่งโดยสารกันจริงๆ จะพบว่า ตำแหน่งของพนักพิงเบาะ
หลัง จะยังอยู่ใกล้กับฝากระจกประตูห้องเก็บของด้านหลังอีกต่างหาก
เบาะรองนั่งแม้จะสั้นไปหน่อย แต่ก็ยังพอนั่งได้ ฟองน้ำ นุ่มพอประมาณ ส่วนพื้นที่เหนือศีรษะด้านบน
มีน้อยมาก แทบจะเฉี่ยวหัวผมไปเลย ส่วนเข็มขัดนิรภัยสำหรับเบาะหลัง เป็นแบบ ELR 3 จุด ทั้งฝั่งซ้าย
และขวา กับแบบ 2 จุดสำหรับผู้โดยสารตรงกลางเบาะ ติดตั้งมาตายตัว เช่นเดียวกับเข็มขัดนิรภัยคู่หน้า
บางคนอาจสงสัยว่า เบาะหลังมีพื้นที่เพียงแค่นี้ แล้วพื้นที่วางขาจะใหญ่พอหรือไม่ ผมก็เลยลองเข้าไปนั่ง
บนเบาะหลังของ Brio แล้วยกกล้องถ่ายภาพในมุมสูง บันทึกภาพนี้มาให้ดูกัน ดังนั้น ชัดเจนนะครับว่า
Brio มีพื้นที่วางขาเพียงพอ แต่ต้องยอมรับด้วยว่า ส่วนหนึ่ง มันมาจากการที่ ทีมออกแบบ เลือกจะใช้วิธี
ทำส่วนโค้งเว้าให้กับด้านหลังของพนักพิงเบาะคู่หน้า เพื่อช่วยเพิ่มพื้นที่วางขา อีกทางหนึ่ง
แล้วความกว้างละ? เบาะหลังสามารถจะรองรับผู้โดยสารได้เต็มที่ กี่คน?
เท่าที่ The Coup Team ของเราทดลองกัน มันก็ออกมาอย่างที่เห็นอยู่ข้างบนนี้แหละครับ คือรองรับได้ 3 คนแน่ๆละ
แต่ต้องนั่งกันกระเบียดกระเสียดหน่อย และควรเป็นคนที่มีสรีระเล็กกว่า ตาแพน Commander CHENG! ฝั่งขวานี่
ราวๆ ครึ่งหนึ่ง จึงจะนั่งกันได้ 3 คน แบบที่ เจ้า Toyd ไม่ต้องนั่งชันขึ้นมา โดยที่แผ่นหลังไม่พิงเบาะ อย่างที่เห็นอยู่นี้
ประตูห้องเก็บของด้านหลัง เป็นกระจกบังลมหลัง ชิ้นเดียว ที่สามารถยกเปิดขึ้นได้ และค้ำยันด้วยช็อกอัพไฮโดรลิก เพียง
1 ต้น เท่านั้น!! ไม่มีแผ่นเหล็กขึ้นรูปเป็นโครงสร้างล้อมรอบแต่อย่างใด ลักษณะแบบนี้ ชวนให้นึกถึง ฝากระจกหลัง ของ
บรรดารถกระบะ ต่อหลังคาไฟเบอร์ ที่เฟื่องฟูกันในบ้านเรา ยุคปี 1984 – 1990 ไปจนถึง Daihatsu Mira รุ่นเสริมหลังคา
ไฟเบอร์กลาส เมื่อปี 1991 – 1997
ประเด็นที่ทำให้ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยเริ่มไม่แน่ใจว่า มันจะทำหน้าที่ของมันได้ดีจริงหรือ? ก็คือ ความทนทานของมัน
ทั้งจากการใช้งาน และจากการรองรับแรงกระแทกในรูปแบบต่างๆ แม้ว่า บานกระจกหลังชุดนี้ จะผลิตขึ้นในลักษณะของ
กระจกแบบ Laminated Tempered ซึ่งก็ถือว่า มีความทนทานในระดับหนึ่ง แต่ในสภาวะการใช้งานของคนไทย ซึ่งมักจะ
ปิดประตูห้องเก็บของด้านหลังกันแรงๆ ไม่ค่อยยั้งมือกันเท่าไหร่ ต่อให้วิศวกร Honda จะยืนยันกับผม เมื่อครั้งที่เราเจอกัน
ในงานทดลองขับ ณ จังหวัดเชียงราย ว่าผ่านการทดสอบมาแล้วอย่างดี แต่จนถึงตอนนี้ เราทุกฝ่าย ก็ได้แต่รอการพิสูจน์ จาก
กาสรใช้งานจริงของผู้ที่ซื้อรถไปใช้งานในล็อตแรกๆ ว่าพบปัญหาอะไรอย่างไรบ้างหรือไม่? นอกเหนือจาก การรายงาน
เข้ามา ของสมาชิก Headlightmag.com ของเรา บนกระทู้ใน Webboard ว่า มี Brio คันหนึ่ง โดนหินที่กระจกหลัง จนแตก
และต้องเคลมเปลี่ยนทั้งบาน ซึ่งเราก็ยังไม่ทราบรายละเอียดข้อเท็จจริง ว่าเป็นอย่างไร และลักษณะการแตก เป็นแบบไหน
นอกจากนี้ การมีช็อกอัพค้ำยันเพียงแค่ต้นเดียวนั้น ถึงจะมองได้ว่า ช่วยลดภาาระค่าใช้จ่าย ในกรณีที่ต้องเปลี่ยน เมื่อมันพัง
จากการใช้งานเป็นเวลานานๆ หรือด้วยเหตุใดก็ตาม อีกทั้ง วิศวกรของ Honda บอกว่า ผ่านการทดสอบมาแล้วอย่างดี แต่ใน
แง่ของการทำหน้าที่ค้่ำยันนั้น มันก็คงต้องเป็นรูปแบบอย่างที่เห็นอยู่นี้ นั่นละครับ
พื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง มีขนาดเล็ก แทบจะเรียกได้ว่า เล็กที่สุด เท่าที่ผมเคยเจอมาในบรรดารถยนต์ประกอบ
ในประเทศไทย ยุค 10 ปีให้หลังมานี่เลยทีเดียว การที่ตัวรถสั้นกว่า Nissan March ถึง 17 เซ็นติเมตรนั้น ทีมวิศวกรของ
Honda บอกว่า ไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย เพราะถ้าไม่พับเบาะหลังลงไป คุณก็สามารถใส่กระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่ได้
1 ใบเขื่อง หรือ ไม่ ก็ใส่กระเป๋าเดินทางแบบผ้า พร้อมซิปรูด ได้ 2 ใบ เพียงพอสำหรับคน 2 คน จะขับรถไปเที่ยวตาม
ต่างจังหวัด…
หรือจะแบกชายหนุ่มตัวสูง 180 เซ็นติเมตร อย่าง ตาเคี้ยง (เป็นผู้อ่านของเรา เป็นมือล้างรถที่ผมไว้ใจเป็นการส่วนตัว
มากที่สุด และตอนนี้ ก็เพิ่งเปิดร้านล้างรถชื่อว่า Wash Planet ตรงตึก Boss ถนนพระราม 4 ไปหยกๆ) คนที่เห็นอยู่นี้
ก็ยังพอได้สบายๆ อยู่ เพียงแต่ ปิดฝาหลังไม่ได้และตาเคี้ยง ก็นั่งทนอยู่ได้แค่ไม่เกิน 2 นาที ก่อนจะร้องบอกพวกเราว่า
“ช่วยเอาผมออกจากรถนี่ที!!!”
สิ่งที่ผมสงสัยคือ การที่ทั้ง Nissan และ Honda ไม่ติดตั้ง แผ่นพลาสติก บริเวณขอบด้านล่าง ตรงกลอนประตู ของห้อง
เก็บของด้านหลัง และปล่อยมันเปลือยให้เห็นเนื้อเหล็กกันแบบนี้ จะช่วยลดต้นทุนลงไปได้เยอะมากเลยใช่ไหม?
เพราะดูเหมือน ทั้ง 2 ค่าย ไม่สนใจกันเลยว่า ถ้าลูกค้าใช้งานไป แล้วต้องขนของ พอเผลอไม่ได้ระวัง เป็นรอยขีดข่วน
จะเป็นอย่างไร?
พนักพิงเบาะหลังของ Brio สามารถพับได้ แม้ว่าจะมาในรูปแบบเดียวกับ Nissan March คือต้องพับพนักพิงลงทั้งชิ้น
ไม่สามารถแบ่งพับได้ทั้ง 2 ฝั่งแต่อย่างใด นั่นหมายถึงว่า เมื่อใดที่ต้องพับเบาะ คุณจะไม่อาจเดินทางไปพร้อมกัน 3 คน
รวมทั้งสัมภาระได้ และจำเป็นต้องเดินทางได้เพียงแค่ 2 คน เท่านั้น ถือเป็นข้อดี และด้อย ของรถทั้ง2 รุ่น ที่เหมือนกัน
แต่ในเมื่อพับเบาะได้แล้ว ผมเองก็อยากรู้ว่า Brio จะจุของได้เยอะแค่ไหน เราก็เลย ขนเอาข้าวของต่างๆ เท่าที่พอจะ
ค้นหามาได้จากบ้านของน้องต๊อบ น้องในทีม The Coup ของเรา ตั้งแต่ ถุงกระดาษธรรมดา ไปจนถึง จักรเย็บผ้า
พัดลมขนาดใหญ่ ไม่เว้นแม้แต่ หุ่นลองเสื้อ พร้อมขาตั้งเป็นเหล็ก ใส่เข้าไปจนแน่นเอี๊ยด
สรุปว่า Brio สามารถบรรทุกของได้เยอะมากมายกว่าที่คิด แต่มีข้อแม้แค่ว่า คุณต้องพับเบาะหลังลงมาด้วย มิเช่นนั้น
ก็จะแทบไม่เห็นคุณประโยชน์ที่ซ่อนอยู่นี้เอาเสียเลย ถ้าคุณมีลูกหลาน และต้องย้ายของเข้าหอพัก หากไม่ได้ยก
ตู้เย็นไปด้วย ต่อให้มีโทรทัศน์ 14 นิ้ว อีก 1 เครื่อง Brio ก็น่าจะรองรับ งานบรรทุกข้าวของในลักษณะนี้ได้แน่ๆ
เมื่อยกพื้นห้องเก็บของขึ้นมา จะพบว่า Honda ให้ยางอะไหล่ มาเป็นล้อเหล็ก ในรุ่นถูกสุด พร้อมเครื่องมือประจำรถ
ใส่ซองมาให้ อย่างที่เห็น เพียงแค่นั้น ขณะที่พื้น ก็ใช้วัสดุไม่ต่างจากรถยนต์สมัยนี้รุ่นอื่นๆ ทั่วไป แต่อย่างใด
ทีมออกแบบพยายามวาดเส้นสาย ให้แผงหน้าปัดดูกว้าง และช่วยเสริมความรู้สึกกว้างของตัวรถให้เกิดขึ้นเด่นชัดเจน
มีโค้งเว้าเยอะ เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอย ให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ และเน้นให้สามารถใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน
แผงหน้าปัด ขึ้นรูปจากพลาสติก Recycle เช่นเดียวกับรถยนต์ในปัจจุบันทั่วไป ถึงแม้เนื้อวัสดุก็ไม่ได้แตกต่างอะไร
ไปจากรถยนต์ขนาดเล็กรุ่นอื่นๆเท่าใดนัก แต่ว่า การกัดขึ้นลวดลายบนผิวชิ้นงาน และการเลือกใช้โทนสีน้ำตาล ตัดกับ
สีเบจ และสีดำ นั้น แม้ Honda จะบอกว่า มันช่วยเพิ่มความรู้สึกในด้านคณภาพให้สูงขึ้นกว่ารถยนต์ระดับเดียวกัน แต่
ในความเป็นจริง มันกลับทำให้ผู้บริโภคหลายๆคนที่ไม่รู้เรื่องรถยนต์มาก่อน มองว่า เป็นของราคาถูก ดู Look Cheap
ทั้งที่จริงๆแล้ว มันก็ไม่ได้เลวร้ายถึงขนาดนั้น
คงหลีกเลี่ยงได้ยาก ถ้าทีมออกแบบ จำเป็นต้อง ฟังเสียงทั้งผู้บริโภคชาวอินเดีย ซึ่งมีรสนิยมศิลปะ แบบหนึ่ง กับกลุ่ม
ผู้บริโภคชาวไทย ซึ่งมีรสนิยมทางศิลปะ อีกแบบหนึ่ง ที่แตกต่างกัน แล้วพยายาม สมาส สนธิ ควบรวม ผสมผสาน
หรือจะ “ซั่ม” เอาทุกความต้องการของ ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายหลักของรถรุ่นนี้ ทั้ง 2 ชนชาติ เข้าไว้ด้วยกัน ผลลัพธ์
ที่ออกมา ก็จะออกมาเป็นอย่างที่เห็นอยู่นี้นั่นละครับ
มองขึ้นไปบนเพดานหลังคา ที่ใช้วัสดุ recycle ตามสมัยนิยม จะพบ แผงบังแดด 2 ชิ้น มีกระจกแต่งหน้ามาให้เฉพาะ
ฝั่งคนขับหนะจริงอยู่ แต่ ถ้าสังเกตให้ดี จะพบว่า มีการออกแบบให้ เพดานหลังคา ในช่วงที่จะต้องรองรับการปิดพับ
แผงบังแดด ให้มีหลุมเว้า เตรียมไว้รองรับกระจกแต่งหน้า ฝั่งซ้ายมือมาให้ด้วย ก็ได้แต่หวังว่า เราจะได้เห็นกระจก
แต่งหน้า บานละไม่กี่บาทบนแผงบังแดดฝั่งซ้าย ในรุ่นท้อปของ Brio Minorchange ซึ่งจะมาเมื่อไหร่ ก็ยังไม่รู้
ส่วนกระจกมองหลัง ชวนให้นึกถึง ชิ้นงานของอะไหล่ตัวเดียวกันนี้ ที่ติดตั้งอยู่ในรถยนต์ Honda ยุคทศวรรษที่ 1990
บางรุ่น แต่เอาเถิด ขอให้มันทำหน้าที่ของมันได้ดี ไม่หลอกตามากมาย ก็เกินพอแล้ว
การจัดวางตำแหน่งอุปกรณ์ต่างๆ บนหน้าปัด เน้นให้สะดวกกับการควบคุม ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่ หรือผู้โดยสารฝั่งซ้าย
ตำแหน่งของช่องแอร์ เลยถูกจัดวางเอาไว้่ ในแบบที่ชวนให่นึกถึง แผงหน้าปัดของ Honda Integra / Acura RSX รุ่น
สุดท้าย (2001 – 2007) เอาไว้ ไม่น้อยเลยทีเดียว และช่องแอร์ในตำแหน่งดังกล่าว ออกแบบเอาไว้ เพื่อให้ ลมเย็น
สามารถเป่ามือผู้ขับขี่ได้ ช่วยลดปริมาณเหงื่อที่ชื้นแฉะเต็มฝ่ามือ จากความตื่นเต้นตกใจในขณะขับขี่
พวงมาลัยแบบ 3 ก้านสไตล์ สปอร์ต คือ สิ่งหนึ่ง ที่ผมชื่นชอบใน Brio เพราะไม่คิดว่า รถเก๋งคันกระเปี๊ยก ราคาคันละ
4 – 5 แสนบาท จะให้พวงมาลัย ที่มีลวดลายคล้ายกับพวงมาลัยของรถสปอร์ต Hybrid อย่าง Honda CR-Z ได้มากขนาดนี้
แถมมันก็ยังจับกระชับมือ วงไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไป ช่วยให้การควบคุมรถทำได้ คล่องแคล่ว ถนัดถนี่มากขึ้น และยังดีที่
สามารถ ปรับระดับ สูง – ต่ำได้ แม้เพียงเล็กน้อยก็ตามที ขณะเดียวกัน คันเกียร์ และแป้นพลาสติกสีเงิน ฐานคันเกียร์
ยกชุดมาจาก Honda Jazz แบบไม่ต้องคิดมาก
สวิชต์กระจกหน้าต่างไฟฟ้า ทั้ง 4 บานนั้น เฉพาะฝั่งคนขับ ที่จะสามารถกดเลื่อนลงแบบ One-Touch ได้ แต่ ไหนๆก็ไหนๆ
ทำไม Honda ถึงไม่ยอมใส่ ระบบ One Touch ฝั่งขาขึ้น มาให้ด้วยเลยพร้อมกัน ต้นทุนมันจะแพงขึ้นไปอีกสักเท่าใดเชียว?
ชุดมาตรวัด เป็นแบบ 3 ช่อง ตรงกลาง เป็นมาตรวัดความเร็ว ช่องซ้ายเป็นมาตรวัดรอบเครื่องยนต์ และช่องขวา เป็นศูนย์รวม
สารพัดสัญญาณเตือน ที่มีมาให้ในปริมาณเหมาะสม ไม่มากไม่น้อยเกินไป ใช้พื้นสีขาว ตัวเลขเป็นสีส้ม เรืองแสงในยาม
ค่ำคืน ชวนให้นึกถึงชุดมรตรวัดของ Honda City รุ่นล่าสุด คันที่ผมใช้อยู่เหลือเกิน
ข้อดีก็คือ มาตรวัดความเร็ว อ่านง่าย และมีระยะห่างของตัวเลข กับขีดแบ่งระดับความเร็วที่เหมาะสม แต่มาตรวัดรอบนั้น
เล็กไปหน่อย ต้องเพ่งกันพอสมควร ผมกำลังสงสัยว่า จะออกแบบมาให้เป็นช่อง จนดูเหมือน Toyota Hilux VIGO ก่อน
ปรับโฉม Minorchange แบบนี้กันทำไม ไฉน จึงไม่ออกแบบให้ เป็นแบบ ไม่ต้องมีช่องแบ่ง ให้เสียเวลา และสะดวกต่อ
การผลิตอีกมากกว่า แถมไม่มีมาตรวัดอุณหภูมิ หล่อเย็นมาให้ มีแค่สัญญาณสีแดงเตือน ถ้าน้ำในหม้อน้ำ อุณหภูมิสูงจัด
จนรถตัวร้อน (Overheat) หลายยี่ห้อ พยายามลดต้นทุนในส่วนนี้ ซึ่งผมมองว่า พอเกิดปัญหาจริง เราต้องรอจนกระทั่ง
รถเกิดอาการตื้อ และขึ้นสัญาณไฟเตือนสีแดงนี่เสียก่อน เมื่อถึงตอนนั้น ความเสียหาย มันก็อาจเกิดขึ้นไปมากแล้ว
แต่ถ้าเป็นแบบเข็มวัดเหมือนรถยนต์สมัยก่อน มีข้อดีที่ว่า ถ้าเราเห็นเข็มความร้อน ขึ้นสูงกว่าปกติ เราอาจจะเริ่มรู้ตัว
และชะลอรถเข้าข้างทางลงมาได้เร็ว ก่อนที่ฝาสูบจะโก่ง หรือน้ำในหม้อน้ำแห้งเหือดไปหมด นั่นก็น่าจะช่วยรักษา
เครื่องยนต์ได้มากกว่า
อยากขอฝากผู้ผลิตรถยนต์ทุกรายไว้ตรงนี้เลยนะครับ อย่าเอามาตรวัดอุณหภูมิน้ำหล่อเย็น ออกจากชุดมาตรวัด ของ
รถยนต์รุ่นต่อไปเลย ทั้ง Toyota Honda Nissan และอีกหลายๆค่าย เลยนั่นแหละ!
นอกจากนี้ ยังมี ไฟสัญญาณ ECO มาให้ ซึ่งจะสว่างขึ้น เมื่อกำลังขับขี่อย่างประหยัดน้ำมัน หรือพูดง่ายๆก็คือ ยามใด
ที่คุณเหยียบคันเร่งให้แผ่วเบา เดี๋ยวไฟ ECO ก็จะติดขึ้นมาเอง เพียงแต่ ผมกับ ตาแพน Commander CHENG! เราทั้งคู่
สงสัยว่า ตกลงแล้ว ไฟ ECO นี่ มันจะติดขึ้นมาเมื่อใดกันแน่ เพราะแม้แต่ ขณะที่เราเหยียบคันเร่งกันถึงระดับ 120 ถึง
130 กิโลเมตร/ชั่วโมง แค่ถอนเท้าเบาๆ ไฟ ECO ก็ติดขึ้นมา แล้วไอ้การขับรถด้วยความเร็วดังกล่าว นี่มัน ECO ตรงไหน
กันละเนี่ย?
อาจบอกกได้โดยสรุปคือ ไฟจะติดขึ้นมา ถ้าสัญญาณไฟฟ้า ที่ส่งไปจากคันเร่ง ทำให้ กล่อง ECU มันรู้ว่า ผู้ขับขี่ ถอนเท้า
จากคันเร่ง หรือเหยียบคันเร่ง ให้ลิ้นปีกผีเสื้อ เปิดออก รับอากาศ เข้ามาผสมกับน้ำมัน อยู่ในระดับที่กำหนด นั่นเองละครับ
ชุดเครื่องเสียง มี Front ขนาด 2 DIN พร้อมลำโพง 45 วัตต์ 4 ชิ้น ติดตั้งอยู่ในตำแหน่งที่สะดวกต่อการใช้งาน โดยไม่จำเป็น
ต้องมีสวิชต์ควบคุมบนพวงมาลัยแบบ Multi-Function แต่อย่างใด เพียงแค่ยื่นมือไปกดปุ่ม Power ตำแหน่งขวาสุด ล่างสุด
หน้าปัดวิทยุจะขึ้นข้อความต้อนรับว่า “Welcome to Honda” มาให้ มีช่อง USB และ AUX สำหรับเสียบเครื่องเล่น MP3
หรืออุปกรณ์ไฟล์เพลงดิจิตอลอื่นๆ อยู่ในตำแหน่งเดียวกับ Honda Jazz รุ่นปัจจุบัน คือ มีสายเสียบเชื่อมอยู่ที่บริเวณช่อง
วางแก้วน้ำ แต่ไม่มีช่องใส่ CD มาให้ ถือว่า กล้าเล่นมุขเดียวกับ Honda City รุ่นปัจจุบันเลยทีเดียว
และถ้าภาครับวิทยุ ไม่ชัดเจน ก็แค่เปิดกระจกหน้าต่างคนขับ เอื้อมมือขึ้นไป ดึงเสาอากาศขึ้น แบบเดียวกับรถยนต์นั่งบ้านๆ
เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ได้เลย
คุณภาพเสียง จัดอยู่ในเกณฑ์บ้านๆ ทั่วไป พอใช้ได้ แอบใส และเก็บรายละเอียดเสียงใสได้ดีกว่าที่คิด ส่วนเสียงเบส ไม่ต้อง
ไปคาดหวังอะไรทั้งสิ้น กรุณานึกถึง เสียงที่ออกมาจาก วิทยุกระเป๋าหิ้ว พร้อมเครื่องเล่น CD รุ่นกลางๆ จาก SONY เอาไว้
นั่นละครับ ประมาณนั้นละ ไม่ได้วิเศษวิโส อลังการบ้านบึ้มแต่อย่างใด แต่ที่แน่ๆ เสียงที่ออกมา ก็ฟังแล้วรื่นหูกว่า ชุดวิทยุ
ใน Nissan March นิดนึง
สวิชต์เครื่องปรับอากาศ ออกแบบมาในสไตล์ ด่านเจดีย์สามองค์ เห็นหน้าตาทื่อมะลื่อแบบนี้ แต่ทีมออกแบบเขาก็ทำการบ้าน
มาอย่างดีนะครับ ดูตำแหน่งการจัดวางเสียก่อน สวิชต์พัดลม ไว้เปิดแอร์ ใช้งานบ่อยหน่อย ก็ต้องไว้ด้านบนสุด ส่วนสวิชต์
เร่งหรือลดน้ำยาแอร์ ใช้งานบ่อยรงลงมา แต่ก็ควรติดตั้งใกล้มือคนขับ เขาก็เลยจับมาไว้ ในตำแหน่ง ขวาล่าง ส่วนช่องทาง
ระบายลมเย็น ในเมื่อส่วนใหญ่ คนไทยจะใช้แค่ ให้แอร์เป่าหน้า กับเพิ่มการเป่าเท้า ควบคู่กันไป ดังนั้น ก็ทำออกมาให้ใช้
แค่ 2 ตำแหน่ง เพียงพอ มีสวิชต์ A/C On-Off สำหรับตัดการทำงานของคอมเพรสเซอร์แอร์มาให้ด้วย ถูกใจผู้การพญาคชสาร
อย่าง Commander CHENG! ของเรานักละ! แอร์เย็นเร็วดีครับ เปิดได้ไม่เท่าไหร่ ก็เริ่มหนาวได้เหมือนกัน แถมมีฝ้าขึ้นมา
ให้เห็นบนกระจก เหมือน Honda รุ่นใหม่ๆ บางรุ่นอีกต่างหาก (-_-‘)
ข้างลำตัวผู้ขับขี่ ทำไมตำแหน่งเบรกมือ กับพลาสติกที่อยู่โดยรอบของมัน และช่องวางแก้วน้ำ สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง
1 ตำแหน่ง มันช่างมีหน้าตาคล้ายกับที่ผมเคยเห็นใน Honda Jazz กับ City ใหม่ ยังไงก็ไม่รู้ เอาละ ถ้ามันทำงานได้ดี
จะเอามาใช้ร่วมกันอีกสักรุ่นหนึ่ง เพื่อให้ต้นทุนประหยัดลง ผมว่า ก็ไม่เสียหายนะ
ช่องเก็บของพร้อมฝาปิด บนแผงหน้าปัดฝั่งผู้โดยสารด้านหน้าซ้าย มีขนาดใหญ่มากพอจะให้คุณใส่ เอกสารประจำรถ
รวมทั้ง กล้องถ่ายรูป ขนาด DSLR-Like ได้สบายๆ เพียงแต่ควรตั้งวางในแนวดิ่ง ไม่ใช่วางในแนวนอน
สิ่งที่อยากจะขอตำหนิ เป็นประการต่อมาคือ ความละเอียดเรียบร้อย ในการประกอบ และการขึ้นรูปชิ้นส่วนพลาสติก
โดยปกติแล้ว Honda รุ่นหลังๆมานี้ ไม่ค่อยมีปัญหานี้ ให้ผมต้องตำหนิมากมายนัก แต่กับ Brio ผมงุนงงว่า Honda
ปล่อยให้ความไม่ประณีตแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?
ทำไม ชิ้นงานพลาสติกของช่องเก็บของฝั่งผู้โดยสาร ถึงได้มีสภาพ เผยอออกมาอย่างที่เห็นอยู่ในรูปข้างบนนี้?
ถือเป็นเรื่องที่ ผมมองว่า ไม่ควรเกิดขึ้น กับบริษัทรถยนต์ ที่มีประสบการณ์มากแล้ว ในด้านการควบคุมบริหารจัดการ
ด้านต้นทุน และคุณภาพ ให้ควบคู่สอดคล้องไปด้วยกัน สภาพแบบนี้ ชวนให้นึกถึงชิ้นงานที่ติดตั้งอยู่ในรถยนต์จาก
ผู้ผลิตท้องถิ่นในประเทศจีน จำพวก BYD Geely หรืออะไรเทือกๆนี้ ซึ่งถ้าเป็นฝีมือพวกเขา ผมก็คงจะต้องขอตำหนิ
แบบเดียวกันนี้ แน่นอน ไม่มีข้อยกเว้น หรือละเว้น
ฝากทำการแก้ไขและปรับปรุงด้วยนะครับ เพราะ Brio ทั้ง 4-5 คัน ที่ผ่านมือผมมา เป็นแบบนี้ เหมือนกันหมดทุกคัน!
********** ทัศนวิสัย **********
ตามปกติ ใน Full Review ของรถยนต์ทุกรุ่น ผมมักจะนำเสนอภาพถ่ายมุมมองจากตำแหน่งคนขับ มาให้ชมกันในการ
พูดถึงเรื่องทัศนวิสัยของรถยนต์แต่ละรุ่น ว่ามีจุดบอดตรงไหน มองเห็นเส้นทางข้างหน้า ด้านข้างเป็นอย่างไร ถ้าหาก
ต้องเลี้ยวกลับรถ เสาหลังคาคู่หน้าจะบดบังทัศนวิสัยหรือไม่ ที่ผ่านมา
รถยนต์ทั่วไป มักไม่ค่อยมีปัญหาอะไรน่าเป็นห่วงมากในเรื่องประเด็นนี้ รถยนต์ทุกรุ่น ที่ถุกสร้างขึ้นมา แทบทุกบริษัท
จะมีค่ามาตรฐาน ในการวัด และมองประเด็นในเรื่องทัศนวิสัยกันอย่างละเอียดยิบ ซึ่งต้องสอดคล้องกับรูปลักษณ์ตัวรถ
ภายนอก ที่ออกแบบและอนุมัติกันไว้ก่อนหน้านี้แล้วด้วย
อันที่จริงแล้ว สำหรับ Honda Brio ในส่วนครึ่งคันหน้ารถ จากตำแหน่งเบาะนั่งคนขับ การมองเห็น ก็ดูจะไม่มีอะไรให้
เป็นปัญหากับผู้ขับขี่เลย ทัศนวิสัยด้านหน้าหนะ ดี อาจจะมองไม่เห็นฝากระโปรงหน้า แต่กะเก็งได้ว่า มุมของรถจะ
อยู่ตรงไหน ดังนั้นตลอดการขับขี่ ผมจึงไม่รู้สึกเครียด หรือกังวลอะไรมากมายเลย
เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งขวา แอบมีการบดบังรถที่แล่นสวนมาในโค้งขวาของถนนแบบ 2 เลน นิดหน่อย กระจมองข้าง
มีขนาดใหญ่กำลังดี ไม่เล็ก ไม่ใหญ่เกินไป แม้ว่า มีขอบมุมฝั่งขวา อาจโดนขอบมุมพลาสติกสะท้อนเข้ามาบ้าง แต่ก็แค่
นิดเดียว แทบไม่มีผลอะไรเลย
เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งซ้าย ไม่มีการบดบังรถที่แล่นสวนมา ขณะกำลังเลี้ยวกลับรถแต่อย่างใด และกระจกมองข้าง
ฝั่งซ้าย ก็ทำหน้าที่ของมันได้ดีสมตัว ถือว่า ภาพรวม ของทัศนวิสัยด้านหน้ารถ มองเห็นชัดเจน สะดวกต่อการควบคุม และ
ไม่มีผลต่อการขับขี่ ไม่ว่าสรีระของคุณจะเป็นอย่างไรก็ตาม
ส่วนทัศนวิสัยด้านหลัง ในมุมปกติที่ผมมักถ่ายทำมาให้คุณได้เห็นกัน มักเป็นมุมของเสาหลังคา C-Pillar ด้านหลัง ว่าจะ
บดบังรถจักรยานยนต์ หรือ รถที่แล่นมาจากทางด้านหลังมากน้อยเพียงใด ถ้ามองจากรูปนี้ จะเห็นว่า โชคดีที่การออกแบบ
พื้นที่กระจกหน้าต่างรอบคัน ดูโปร่ง และโล่งตา ดังนั้น ในวันที่แดดจ้า ไม่มีฝนตก ไม่มีหมอกลง ทัศนวิสัยของ Brio จะ
ถือได้ว่า เป็นรถยนต์ Hatchback ที่มีทัศนวิสัยโปร่ง สบายตาที่สุดในเมืองไทยตอนนี้
ฟังดูดีเนอะ แต่ ยังครับ มันยังไม่จบ…
เพราะสาเหตุที่ผมถึงขั้นต้องขอแยกประเด็นนี้ ออกมานำเสนอ ให้คุณได้เห็นกันเด่นชัดขึ้นมากกว่า ทุกรีวิวในรอบ 7-8 ปี
ที่ผ่านมา เนื่องจาก มีประเด็นขึ้นมาว่า ความพยายามในการลดต้นทุน เพื่อให้ทำราคาขายปลีกได้ ส่งผลให้ทีมวิศวกรของ
Honda จำเป็น และแทบน่าจะจำใจ ตัดใบปัดน้ำฝนด้านหลัง ออกไป ไม่มีติดตั้งไว้ให้กับ Brio สำหรับตลาดเมืองไทยเลย
และนั่นจึงกลายเป็นประเด็นที่ถูกนำมาถกเถียงกันค่อนข้างมากตามเว็บบอร์ดต่างๆ ในอินเตอร์เน็ต
ผมก็เลยคิดว่า จะขอยกเอาสิ่งที่ผมเจอมากับตัวเอง และเกิดขึ้นจริงทั้งหมด มานำเสนอกันตรงนี้ เพื่อให้คุณผู้อ่าน ได้
เห็นความจริงกันว่า สำหรับ Brio แล้ว ใบปัดน้ำฝนหลัง มันจำเป็นแค่ไหน?
จากการใช้งานจริงของผม ตลอด 1 สัปดาห์ ผมพบว่า ในสภาพอากาศปกติ หากคุณเหลียวมองไปทางด้านหลังทัศนวิสัย
ของ Brio มันก็ดูโปร่งตาดีอยู่ ในแบบที่มันควรจะเป็นอยู่แล้ว เผลอๆ ถ้ามองไปขณะที่รถแล่นอยู่ มันเป็นภาพที่ชวนให้
นึกถึง ภาพยนตร์ Hollywood เก่าๆ ยุคที่ Frank Sinatra กับ Marilyn Monrow
ทว่า เมื่อใดที่ฝนตก จะหนักเบาแค่ไหน ถ้ามีน้ำเจิ่งนอง และมีดินโคลนทราย ถูกล้อยาง ดีดขึ้นมา เจอกับกระแสอากาศ
หมุนวนทางด้านหลังรถ สภาพของกระจกยังลมด้านหลัง เมื่อมองจากภายนอกรถ แทบจะมองไม่เห็นคนที่นั่งอยู่ในรถ
เลยด้วยซ้ำ ภาพที่เห็นข้างบนนี้ คือสภาพของ Brio ที่เจอฝนหนักมาติดกัน 2 วัน และผมลองไม่ล้างรถดู เพื่อจำลองว่า
ถ้าเจ้าของรถ ไม่มีเวลานำรถไปล้าง มันจะมีสภาพเป็นเช่นใด ผลออกมา กระจกบังลมหลัง ก็…เป็นอย่างที่เห็นครับ
เป็นไปตามที่เราคิดเอาไว้ทุกประการ
ถ้าฝนไม่ตก ในช่วงระหว่างวัน ยังมีแสงแดดอยู่ ต่อให้บั้นท้ายจะเขรอะไปด้วคราบดินและน้ำแค่ไหน คุณจะยังพอ
มองเห็นรถคันที่แล่นตามมา ได้ทั้งจากการหันไปดูเอง หรือมองจากกระจกมองหลัง แม้จะไม่ชัดใสแจ๋วก็ตามที
ถ้าเป็นช่วงฝนตกตอนกลางวัน คุณจะยังพอมองเห็น รถที่แล่นมาจากด้านหลังได้บ้าง แต่ถือว่าน้อยมาก จะตกเบา
หรือตกหนัก ล้อจะดีดน้ำ และเศษดิน โคลน ทราย ขึ้นมารวมเข้ากับอากาศ หมุนวนทางด้านท้ายรถ บางส่วนของมัน
ก็จะต้อง เกาะติดแหมะหนึบอยู่กับกระจกบังลมด้านหลัง อันเป็นเรื่องธรรมดาของรถยนต์ท้ายตัดทุกคันจะต้องเจอ
หากเป็นช่วงกลางคืน ฝนไม่ตก แต่กระจกบังลมด้านหลังเขรอะอยู่ ผมมองเห็นแสงไฟหน้า ของรถคันที่แล่นตามมา
เป็นแสงพร่า ไม่ชัดเจน แสงจะฟุ้ง จนบางครั้ง แยกความแตกต่างค่อนข้างยาก กระนั้นก็ยังพอมองได้อยู่
แต่ถ้าเป็นช่วงที่ฝนตกหนักๆ ตอนกลางคืน ถ้าคุณใช้รถในเมือง คุณจะเห็นแสงไฟหน้าของรถคันที่แล่นตามมา
ในสภาพลำแสงอย่างที่เห็นอยู่นี้ แล้วลองคิดดูว่า ถ้าเป็นพวกคนขี่จักรยานยนต์ หรือรถยนต์ ที่ลืม หรือจงใจ ที่จะ
ไม่เปิดไฟหน้าขึ้นมาละ คุณจะมีทางเห็นพวกเขาจากกระจกหลังหรือไม่??
ชัดเจนเลยว่า การไม่มีใบปัดน้ำฝนด้านหลังมาช่วย ทำให้ทัศนวิสัยในการขับขี่ ท่ามกลางสภาพฝนตก ไม่ว่าจะเป็น
กลางวัน หรือกลางคืน ของ Brio ถือว่า เลวร้ายครับ ผมต้องขับ Brio ในคืนที่ฝนตกด้วยความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ
เพราะผมแทบมองไม่เห็นรถที่ขับตามมาทางด้านหลังเท่าใดนัก
ถึงตรงนี้ ผมขอ ยืนยัน และยืนกราน กันตรงนี้เลยว่า ผมอยากเห็น Honda นำใบปัดน้ำฝนหลัง มาติดตั้งให้กับ Brio
รุ่นปรับโฉมหรือปรับอุปกรณ์ MY 2012 และถ้าทำได้อยากให้ทำออกมาเป็นอุปกรณ์ตกแต่ง สำหรับลูกค้าที่หลวมตัว
ซื้อไปขับแล้วในช่วงนี้
ในเมื่อ Honda ต้องการจะบอกว่า ตนเองห่วงใยผู้บริโภคชาวไทย ด้วยการใส่ถุงลมนิรภัยคู่หน้า มาให้ในรถยนต์ ทุกรุ่น
ทุกคัน ตั้งแต่รุ่นที่เปิดตัวในปี 2011 นี้เป็นต้นไป ทั้ง Jazz ตามด้วย Brio ต่อด้วย City Minorchange กับ Civic ใหม่ ที่ใกล้
จะคลอดเต็มแก่ในปีนี้ (ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ดีมากๆเลยนะ) คำถามก็คือ เหตุไฉน จึงละเลยที่จะติดตั้ง อุปกรณ์ความปลอดภัย
“ขั้นพื้นฐาน” อย่างใบปัดน้ำฝนด้านหลัง มาให้ในรถยนต์ท้ายตัด ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ชิ้นนี้อย่าง Brio กันละ?
ต่อให้วิศวกรชาวญี่ปุ่น อ้างว่าได้มีการทดสอบแล้ว พบว่า ทัศนวิสัย เมื่อไม่มีใบปัดน้ำฝน แม้จะมีฝุ่นเกาะ เขรอะ แต่ก็
ยังอยู่ในวิสัยที่ “พอยอมรับได้?” ผมก็จะย้อนกลับกันตรงนี้แหละว่า ใช่สิ! คุณไม่ได้มาขับรถในเมืองไทยนี่ครับ แน่ละ
ประเทศญี่ปุ่น ฝุ่นผงที่ติดเข้ามายังบั้นท้าย ของรถท้ายตัด ขณะขับรถในช่วงฝนตก มันน้อยกว่าที่เมืองไทยชัดเจน
ผมไปญี่ปุ่น ในช่วงฝนตกอยู่ 2 ครั้ง และผมก็ได้เห็นสภาพที่ว่านี้กับตาตัวเองมาแล้ว ว่ามันไม่หนักเท่าเมืองไทย โปรด
อย่าลืมว่า ถนนเมืองไทย ฝุ่น ดิน เศษบ้าบออะไรไม่รู้ มันเยอะกว่าบนถนนในญี่ปุ่นซึ่งสะอาดกว่าบ้านเราชัดเจน
แล้วสำหรับลูกค้าที่ซื้อ Brio ไปแล้วละ? การติดตั้งใบปัดน้ำฝนหลังเข้าไป พอจะทำได้ไหม?
คำตอบก็คือ ได้ แต่ยุ่งยากนิดหน่อยครับ เพราะงานนี้ คุณจำเป็นต้องเปลี่ยนกระจกหลังทั้งบาน!
เนื่องจาก ถ้ามองกันที่วิธีการแล้ว การติดตั้งชุดใบปัดน้ำฝนหลัง คุณจำเป็นต้อง “เจาะรูที่กระจก” เพื่อติดตั้งแกนมอเตอร์
ให้เชื่อมกับชุดใบปัด (นี่เรายังไม่นับการติดตั้งชุดสายไฟ ซึ่งอาจต้องแกะแผงพลาสติกบริเวณผนังห้องโดยสาร เพื่อร้อย
สายไฟ เข้าไปซ่อนไว้ ก่อนจะเดินสายไฟต่อเนื่องไปยังบริเวณคอพวงมาลัย) เท่ากับต้องเจาะกระจก ข่าวร้ายก็คือ กระจก
ชิ้นนี้ เป็นแบบ Laminated Tempered ซึ่งถูกออกแบบมาให้ เมื่อเกิดการกระแทก จะแตกละเอียด เป็นเม็ดข้าวโพด แต่
มีชั้นฟิล์มแผ่นนึง ที่กันเอาไว้ ไม่ให้กระจกร่วงลงมาทำให้เกิดการบาดเจ็บ เว้นแต่ว่า ถ้าชนรุนแรงจริงๆ ก็ร่วงลงมาได้
แต่จะไม่แตกเป็นเสี่ยงๆแบบปากฉลาม กระจกประเภทนี้ ถ้าเจาะแล้ว กระจกก็แตกเลย เพราะมันไม่ได้ถูกออกแบบ
มาเผื่อการเจาะรูแบบนี้ได้ ซึ่งประเด็นนี้ ก็คงต้องฝากใครก็ได้ ไปทำการบ้านกันต่อในประเด็นนี้ที ว่าเราจะช่วยเหลือ
ลูกค้าที่ซื้อ Brio ไปก่อนหน้านี้แล้วได้อย่างไรบ้าง?
อย่างไรก็ตาม เพื่อเห็นแก่ความปลอดภัยในการขับขี่ของลูกค้า ท่ามกลางสภาพอากาศที่แปรปรวนของบ้านเรา
โปรดใส่ใบปัดน้ำฝนหลัง มาให้เป็น “อุปกรณ์มาตรฐาน สำหรับ Brio ทุกคัน นับจากนี้ไป ด้วยเถอะครับ!!!!”
********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ *********
ขุมพลังที่วางอยู่ใน Honda Brio เป็นเคริ่องยนต์ใหม่ รหัส L12B3 บล็อก 4 สูบ SOHC 16 วาล์ว 1,198 ซีซี เส้นผ่าศูนย์กลาง
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 73.0 x 71.6 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.2 : 1 พร้อมระบบแปรผันวาล์ว i-VTEC จ่ายเชื้อเพลิงด้วย
หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ PGM-FI ผ่านเข้าไปทาง ระบบลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้า DBW (Drive-By-Wire Electronics Throttle Control)
หรือพูดง่ายๆก็คือ ใช้คันเร่งไฟฟ้า นั่นเอง
จริงอยู่ว่าเป็นเครื่องยนต์รุ่นใหม่ แต่หลายๆคนคงสงสัยว่า ทำไมหน้าตามันคุ้นๆ เหมือนเคยเห็นที่ไหนมาก่อน เฉลยให้ก็ได้ ว่า
จริงๆแล้ว L12B3 ก็เป็นเครื่องยนต์ที่ถูกปรับปรุงมาจาก ขุมพลัง L15A ในรถยนต์พิกัด B-Segment Sub Compact Sedan &
hatchback ทั้ง Honda City และ Fit/Jazz ใหม่ นั่นเอง! เพียงแต่ว่า มีรายละเอียดบางอย่าง แตกต่างจากเครื่องยนต์ L15A
ตัวเดิม อยู่พอสมควร อะไหล่รอบเครื่องบางรายการ ใช้กับ Jazz / City รุ่นปัจจุบันได้ แต่หลายชิ้น ถูกสร้างขึ้นเป็นของ Brio เอง
เพื่อให้ผ่านมาตรฐานข้อกำหนดของรถยนต์ขนาดเล็กกลุ่ม ECO Car ทีมวิศวกรของ Honda ก็เลยนำเครื่องยนต์ L15A ซึ่งเดิม
มีความจุกระบอกสูบอยู่ที่ 1,496 ซีซี มาหั่นลดลงออกไปจนเหลือ 1,198 ซีซี นำระบบแปรผันวาล์ว i-VTEC เข้ามาใช้
หัวเทียนเป็นแบบมีประสิทธิภาพในการจุดระเบิดสูง High-ignitability ประกอบด้วยอีเล็กโทรด 2 ชั้น ชั้นบนทำจาก Iridium
Alloy ชั้นล่างทำจาก Platinum โครงสร้างของอีเล็กโทรดแบบนี้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจุดระเบิด อีกทั้งมีการติดตั้ง
ระบบหมุนเวียนไอเสีย EGR (Exhaust Gas Recirculation) รวมทั้งการจัดวางท่อร่วมไอเสีย ซึ่งทนความร้อน ลดการสูญเสีย
ความร้อน ให้ต่อตรงกับ ระบบฟอกไอเสีย Catalytic Converter ทำให้ ระบบฟอกไอเสีย ร้อนเร็วขึ้น ทำงานได้เร็วขึ้น และ
ลดปริมาณก๊าซพิษ ขณะเริ่มติดเครื่องยนต์ใหม่ๆ ได้ดีขึ้น
ลูกสูบ มีพื้นผิวเคลืแอบสาร MoS2 เป็นลักษณะแบบ จุด วางเรียงทะแยงมุม เพื่อช่วยให้ฟิล์มน้ำมันเครื่อง เกาะตัวกับจุด
ที่ผิวด้านข้างลูกสูบ ได้ดีขึ้น ช่วยลดแรงเสียดทานขณะทำงานได้ดีขึ้น อีกทั้งยังมีการใช้น้ำมันเครื่องแบบความหนืดต่ำ
(0W-20) เครื่องยนต์ L12A ใช้ โซ่ขับเคลื่อนแกนแคมชาฟต์ ออกแบบให้มีหน้ากว้างของโซ่ ที่แคบ ลดน้ำหนักให้เบาลง
และมีระบบปรับตั้งความตึงของสายพานอัตโนมัติ เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกัน ระหว่างทำงานในรอบเครื่องยนต์ที่
แตกต่างกัน โดยจะตั้งความตึงหน่อยของสายพานให้คงที่ รอบความเร็วต่ำ ก็จะช่วยลดแรงเสียดทานในเครื่องยนต์ลง
ได้อีก
กำลังสูงสุด 90 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 110 นิวตัน-เมตร (11.2 กก.-ม.) ที่ 4,800 รอบ/นาที
เครื่องยนต์ L12A เชื่อมต่อกับระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยทางเลือกของระบบส่งกำลัง 2 แบบ ทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ
มีในรุ่นย่อย S และ V ซึ่งถูกออกแบบให้วัสดุพื้นผิวของคลัชต์ สามารถใบช้สารละลายอนินทรีย์ในการผลิต ช่วยลดผล
กระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีอัตราทดเกียร์ดังต่อไปนี้
เกียร์ 1 3.461
เกียร์ 2 1.869
เกียร์ 3 1.171
เกียร์ 4 0.853
เกียร์ 5 0.727
เกียร์ R 3.307
อัตราทดเฟืองท้าย 4.294
ถ้าใครเน้นขับรถในเมืองเป็นหลัก และถามหาเกียร์อัตโนมัติ คงต้องเลือกรุ่น V ตัวท็อป ซึ่งเป็นรุ่นเดียวที่ติดตั้ง
เกียร์อัตโนมัติ มาให้ โดยเป็นเกียร์แบบ อัตราทดแปรผัน CVT ซึ่งถือเป็นการกลับมาอีกครั้ง ของ เกียร์สายพาน
สำหรับ Honda หลังจากที่ดูเหมือนว่าพวกเขาแอบเข็ดไปกับเสียงของผู้บริโภคในเรื่องความทนทานจากสมัย
ที่มันเคยถูกนำมาใช้กับ Honda Jazz ในบ้านเราเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2003
การกลับมาของเกียร์ CVT ครั้งนี้ ถือเป็นไฟลท์บังคับ เพื่อให้สมรรถนะในภาพรวมของรถทั้งคัน ผ่านมาตรฐาน
ข้อกำหนดด้าน ECO Car ของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะด้านอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง อย่างไรก็ตาม เกียร์ CVT ลูกนี้
จะมีระบบทอร์คคอนเวอร์เตอร์มาใช้ พร้อมด้วยระบบล็อกอัพคอนโทรลที่พัฒนาขึ้นใหม่ ช่วยถ่ายทอดกำลังได้เต็มที่
มีอัตราทดตั้งแต่ 2.419 จนถึง 0.421 เกียร์ถอยหลัง 2.537 ถึง 1.516 และมีอัตราทดเฟืองท้ายที่ 4.619 มาพร้อม
คันเกียร์และฐานคันเกียร์ จาก Honda Jazz แบบยกมาเลยทั้งดุ้น แต่ไม่มีไฟบอกตำแหน่งเกียร์ ที่ฐานรองเกียร์ เพราะ
มีมาให้แล้วบนมาตรวัดความเร็วแทน
ใครที่สงสัยเรื่องความทนทานของเกียร์ วิศวกรชาวญี่ปุ่นของ Honda ตอบคำถามนี้เอาไว้ว่า มันถูกออกแบบมาให้
ใช้งานได้นานราวๆ 240,000 กิโลเมตร…เอ่อ เอาเข้าจริง จะถึงหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับนิสัยของคนขับด้วยว่า ชอบ
ออกรถกระชากๆ หรือกระทืบคันเร่งที รถพุ่งจนน้ำหมากกระจายเป็นประจำหรือเปล่า? เพราะอย่างที่เราเคยบอก
เอาไว้แล้วในบทความรีวิวอื่นๆว่า การขับรถที่ใช้เกียร์ CVT ควรออกตัวอย่างนุ่มนวลไว้ก่อน หลังจากนั้น จะซัด
เต็มเหนี่ยว ก็ไม่มีใครว่า…
ตัวเลขสมรรถนะเป็นอย่างไรบ้าง เรามาดูผลการจับเวลา ตามมาตรฐานเดิมของเรา กันดีกว่าครับ เราใช้เวลากลางคืน
ในการจับเวลาหาอัตราเร่ง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน คือ ผม (95 กิโลกรัม) และ เจ้ากล้วย BnN (หนัก 50 กิโลกรัม) ตัวเลข
ที่ออกมา เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง มีดังนี้
ตัวเลขออกมานั้น มีทั้งเป็นไปตามคาด และ ต่างไปจากที่คาดเล็กน้อย
มาดูตัวเลขที่เป็นไปตามความคาดหมายของทั้งผม และ The coup Team กันก่อน อัตราเร่งในรุ่นเกียร์อัตโนมัติ CVT
ยืนยันตัวเลขได้ดีว่า Brio ทำผลงานได้ดีกว่า March อย่างชัดเจน แสดงถึงความกระฉับกระเฉงของเครื่องยนต์ ที่มี
บุคลิกการทำงาน ในแบบที่เราคุ้นเคยกันดี จากทั้งใน Jazz และ City รุ่นปัจจุบัน เพียงแต่มีพละกำลังด้อยกว่า ตาม
พิกัดความจุกระบอกสูบแค่นั้นเลย
ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบตัวเลขกันกับ รถยนต์ที่มีขนาดกระบอกสูบมากกว่า ในพิกัด 1,500 ซีซี ด้วยกันแล้ว อัตราเร่ง
ของ Brio CVT ทำอัตราเร่ง ทั้งจากจุดหยุ่นิ่ง ถึง 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง และช่วงเร่งแซง 80 -120 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ไม่เพียงแค่ดีกว่า March CVT แต่ยังเร็วกว่า Mazda 2 Sedan เกียร์อัตโนมัติ ไปจนถึง Toyota Avanza และ
แน่นอนครับ Chevrolet Aveo 1.4 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ
ถือได้ว่า อัตราเร่งของ Brio ที่ออกมาดีกว่า March นั้น ส่วนหนึ่ง คงต้องยกให้ ประสิทธิภาพของเกียร์ CVT
ที่ทำหน้าที่ของมันออกมาได้ดีสมตัว ดูเหมือนว่า น่าจะมีการสูญเสียกำลังในระบบขับเคลื่อนน้อย และมี
แรงเสียดทานน่าจะน้อย จึงทำให้ตัวเลขในภาพรวม ออกมาดีใช้ได้อย่างที่ควรจะเป็น
ส่วนตัวเลขที่ ต่างไปจากที่คาดหมายไว้เล็กน้อย นันคือตัวเลขของรุ่นเกียร์ธรรมดา
เมื่อดูจากตัวเลขทั้งหมดแล้ว ผมเชื่อว่า หลายคนคงสงสัยว่า ในเมื่อ Brio มีถึง 4 สูบ แรงม้าและแรงบิดในแค็ตตาล็อก
ก็มากกว่า March แล้วทำไม ตัวเลขในรุ่นเกียร์ธรรมดา ถึงออกมาในระดับที่ ใกล้เคียงกันกับ March ?
ตาแพน Commander CHENG! แห่ง The Coup Team ของเรา วิเคราะห์ไว้ว่า เมื่อลองมาดูอัตราทดเกียร์ธรรมดาของทั้งคู่
จะพบว่า March ทดเกียร์ 1 เอาไว้ที่ 3.727 : 1 ซึ่งจัดกว่า Brio ที่ทดไว้ 3.461 : 1 ขณะเดียวกัน เกียร์ 2 ของ March ถูกทด
เอาไว้ที่ 2.048 : 1 ส่วน Brio ทดเอาไว้ที่ 1.869 และด้วยอัตราทดเกียร์ที่จัดกว่านี่ละ จุึงทำให้ March สามารถทำอัตราเร่ง
80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ในระดับที่ใกล้เคียงกับ Brio
ยิ่งเมื่อมาดูกันที่เกียร์ 3 การที่ March ใช้รอบเครื่องยนต์ในเกียร์ 3 สูงกว่า แต่ได้ความเร็วสูงสุดในเกียร์ 3 ต่ำกว่า Brio นั่น
หมายความว่า March มีอัตราทดเกียร์ที่ จัดกว่า Brio และมันเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไม Brio และ March จึงทำอัตราเร่งในช่วง
80 – 120 กิดลเมตร/ชั่วโมง ใกล้เคียงกันมาก ถ้า Honda เซ็ตอัตราทดเกียร์ 3 ให้จัดกว่านี้สักหน่อย Brio ก็อาจจะสวนเจ้า
กระจงน้อยที่เกียร์ 3 ได้ไม่ยากนัก
ส่วนอัตราเร่งช่วง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมงนั้น ความกว้างของช่วงแรงบิด ตั้งแต่รอบต่ำๆ จนถึง 5,000 รอบ/นาที ของ
March น้่าจะมีค่อนข้างมาก จึงทำให้ตัวเลขออกมา สูสี Brio กันขนาดนี้ อย่างไรก็ตาม จนถึงวันนี้ เรายังไม่เห็นใคร
นำทั้ง Brio และ march เอาไปขึ้น ไดนาโมมิเตอร์ เพื่อหาค่าแรงม้าที่ลงสู่ล้อขับเคลื่อนจริงๆ กันเลย ดังนั้นจึงยังต้อง
รอดูตัวเลขในประเด็นนี้กันก่อน ซึ่งก็ไม่รู้ว่า เราต้องรอกันอีกนานหรือไม่? ไม่มีใครบอกได้
ทั้งหมดนั่นคือเรื่องของตัวเลขในตาราง แต่เมื่อพูดถึงการขับขี่ใช้งานจริง อัตราเร่งของ Brio CVT ผมถือว่า ดีกว่า
Nissan March นิดหน่อย คือ ไม่รู้สึกว่าอืดจนเกินให้อภัยแต่อย่างใด จะว่าไปแล้ว อัตราเร่งจากจุดหยุดนิ่ง ถือว่า
ทำได้ดีกว่าที่ผมคาดคิดไว้สักหน่อยด้วยซ้ำ โดยที่เราต้องไม่ลืมว่า Brio ใช้เครื่องแค่ 1,200 ซีซี สัมผัสได้ว่า การ
ออกตัว Brio CVT จะพุ่งมากกว่า March เกียร์ CVT ชัดเจน
ทันทีที่เหยียบคันเร่งไฟฟ้า เสียงเครื่องยนต์จะดังเข้ามามาก เข็มความเร็วค่อยๆกวาดขึ้นไปอย่างช้าๆ กว่าที่ผมจะ
สัมผัสถึงอาการพุ่งไปข้างหน้า (ซึ่งก็มีเพียงเล็กน้อย) ต้องรอกันจนถึง 4,000 รอบ/นาทีขึ้นไป และต่อให้เหยียบ
เพิ่มมากไปกว่านี้ หรือรถอยากจะพุ่งไปมากกว่านี้ มันก็คงได้แต่ทำใจ แล้วหันมาบอกคุณว่า “นายจ๋า ขอโทษนะ
วิศวกร เขาล็อกมาให้ฉันรับใช้นายได้แค่ 140 – 145 กิโลเมตร/ชั่วโมง”
ส่วนช่วงจังหวะในการเร่งแซงนั้น ถ้าอยากพารถและตัวคุณเอง ผ่านพ้นสถานการณ์ข้างหน้าให้เร็วที่สุด เหยียบ
คันเร่งให้จมมิด แช่ต่อเนื่องไว้ แต่ไม่ต้องนานมาก แรงบิดทั้งหมดเท่าที่เครื่องยนต์มีแรงทำ จะถูกส่งตรงสู่ล้อ
อย่างรวดเร็ว คันเร่งไฟฟ้า ตอบสนองไวใช้ได้ ไม่อืด ไม่ล่าช้า อันที่จริง คันเร่ง ก็ทำหน้าที่ของมันได้ดีเหมือนกับ
คันเร่งไฟฟ้าของ Jazz และ City ใหม่ นั่นละครับ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับลักษณะการเหยียบคันเร่งของคุณ ถ้าค่อยๆป้อน
คันเร่งให้รถไต่ความเร็วขึ้นไป ความนุ่มนวลของเกียร์ CVT อาจทำให้คุณคิดว่ารถมันอืด แต่คุณเอง ก็ต้องท่องไว้
ในใจตลอดเวลา ว่าคุณกำลังขับรถยนต์ เครื่อง 4 สูบ 1,200 ซีซี
ถ้าอยากได้อัตราเร่งที่ทันใจกว่านี้อีกหน่อย ขอเรียนเชิญไปขับรุ่นเกียร์ธรรมดา ซึ่งคุณจะสัมผัสจากแรงดึงได้ว่า
มันก็ไวขึ้น เร่งดีขึ้นกว่ารุ่น CVT นิดหน่อย สะท้อนออกมาได้จากตัวเลขในตารางนั่นละครับ ถ้าจำเป็นต้องรีบ
แซงรถคันข้างหน้า ในสถานการณ์คับขัน ขณะอยู่ที่เกียร์ 5 บางครั้ง ผมว่าเกียร์ 4 อาจจะไม่พอ และต้องพึ่งพา
เกียร์ 3 กันเลย
สิ่งที่ช่วยให้ผมชื่นชอบเกียร์ธรรมดาของ Brio ก็คือ การเข้าเกียร์ ทำได้อย่างแม่นยำ คันเกียร์ตอบสนองถือว่า
เป็นรอง Mazda 2 เกียร์ธรรมดา ดีกว่า Nissan March และใกล้เคียงกับ Ford Fiesta เกียร์ธรรมดาอยู่ไม่น้อย
แต่ ความกระชับในการเข้าเกียร์ และ Shift feeling จะกระเดียดไปทาง คันเกียร์ของ Mazda 2 มากกว่า ทว่า
ยังไม่ดีเท่า แรงที่ใช้ในการเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ อยู่ในระดับเหมาะสม ไม่มาก ไม่น้อยเกินไป ให้สัมผัสที่
ดีสมราคา อีกทั้งระยะแป้นคลัชต์ ก็ตั้งมาในระยะที่พอดี ไม่สูง ไม่ต่ำเกินไป แต่ที่แน่ๆรุ่นเกียร์ธรรมดา ก็
โดนล็อกความเร็วสูงสุด ไว้ที่ระดับเดียวกัน 145 กิโลเมตร/ชั่วโมง บนมาตรวัด หรือ 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง
บน GPS เหมือนกัน
ผมเป็นห่วงในเรื่องของการเร่งแซง ขณะขับรถออกต่างจังหวัดกันมากๆ เพราะได้พบความจริงว่า ความเร็ว
ในระดับที่ Honda ล็อกมาให้ เพื่อความปลอดภัยนั้น มันน้อยไปหน่อย เพราะในบางครั้ง การเร่งแซงรถขับช้า
หรือรถบรรทุกที่แล่นอยู่ข้างหน้านั้น สมมติว่า คุณแล่นมาด้วยความเร็ว 100 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง แล้วเจอ
รถบรรทุก แล่นอยู่ข้างหน้า บนถนนสวนกัน 2 เลน โจทย์ก็คือ คุณจำเป็นต้องแซงขึ้นหน้า ก่อนถึงโค้งขวา ซึ่ง
รอคุณอยู่ข้างหน้า ทันใดนั้น คุณเห็นรถบรรทุกพ่วง ลงเนิน และเข้าโค้งสวนทางกับคุณมาแต่ไกล
ถ้าเป็นรถทั่วไป หรือแม้แ Brio คุณอาจจะเปลี่ยนจากเกียร์ 5 ลงไปเป็นเกียร์ 4 ช่วยดึงแรงบิดรอบสูงๆ ออกมา
ใช้ได้ก็จริง แต่ นั่นเท่ากับว่า ความเร็วในช่วงเร่งแซง ยังไง ก็จะไม่เกิน 140 แน่ๆ หมายความว่า ต่อให้คุณแซง
รถบรรทุกพ้นแล้วก็จริง แต่คุณก้ไม่อาจเร่งให้รถพุ่งขึ้นไปข้างหน้า และรีบตบเข้าเลนซ้าย ได้เร็วกว่านี้อีกแล้ว
ระยะเวลาในช่วงที่ Brio พ้นรถบรรทุกมาแล้ว และจะต้องตบเข้าเลนซ้าย ก็จะนานขึ้น โอกาสที่จะ จ้ะเอ๋ กับ
รถบรรทุกคันที่แล่นสวนมา ก็จะสูงขึ้น ยิ่งถ้าเป็นรุ่น CVT แล้ว เหยียบกันจนตีนแทบจะทะลุไปกระทืบห้อง
เครื่องยนต์กันอยู่แล้ว มันก็ทำได้แค่นั้นละครับ
ถึงจุดนี้ ผมยังยืนยันว่า สำหรับตลาดเมืองไทย ประเทศที่ คนจำนวนไม่น้อย ขับรถกันเร็วกว่าที่คนญี่ปุ่นจะ
คาดคิด ขอแนะนำให้ทีมวิศวกร Honda ยกระดับ ความเร็วที่ตั้งใจจะล็อกเอาไว้ จาก 140 เป็น 160 กิโลเมตร/
ชั่วโมง ด้วยเถอะครับ เพื่อให้ยังมีระยะเหลืออีกมากพอให้รถไต่ความเร็วขึ้นไปได้ และพาผู้ขับขี่ พ้นจาก
สถานการณ์คับขันได้ ไวๆ ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง กับการล็อกความเร็วสูงสุด สำหรับรถเล็กๆแบบนี้ แต่ระดับ
ของความเร็วที่จะล็อก ควรจะเผื่อเอาไว้ถึงช่วงที่จะต้องไต่ความเร็วขึ้นไป เพื่อเร่งแซงด้วย จะดีกว่าครับ
แม้ว่า Brio จะมีข้อให้ตำหนิ และต้องปรับปรุงหลายอย่าง แต่สิ่งหนึ่งที่ผมต้องขอยกเอาไว้เลยว่า นี่คือจุดเด่นของ
เจ้า Brio จนผมไม่อยากให้คุณพลาดการทดลองขับไปเลย คือ ประสิทธิภาพการขับขี่ และการควบคุมรถ ซึ่งทีม
วิศวกรตั้งใจทำงานในจุดนี้อย่างมาก โดยมุ่งเน้นไปที่ความคล่องตัว และความสบายในการขับขี่ ควบคู่ไปด้วยกัน
ผลลัพธ์ออกมา มันลงตัวเกินกว่าที่ผมจะคาดคิดว่า นี่คือรถขนาดเล็ก ราคาคันละ 3 – 5 แสนบาท
เพราะผมเอง ก็เพิ่งมารู้ในภายหลังว่า วิศวกรขาวญี่ปุ่น หนึ่งในทีมพัฒนาช่วงล่างของ Brio นั้น โดยปกติแล้ว เป็น
นักแข่งรถในญี่ปุ่น ด้วย!!!
พวงมาลัยเป็นแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ไฟฟ้าผ่อนแรง EPS (Electronics Power Steering) ถูกปรับตั้ง
อัตราทดเฟืองพวงมาลัยมาค่อนข้างดี และเหมาะอย่างมากในการขับขี่ในเมือง เพราะมีน้ำหนักเบา หมุนเลี้ยวได้
คล่องแคล่วว่องไว บังคับเลี้ยวได้ตามใจสั่ง คิดจะพา Brio คันน้อยของคุณ มุดไปในซอกหลืบรูไหน ก็ทำได้อย่าง
ง่ายดาย สมใจนึก และแน่นอนว่า พวงมาลัยในช่วงความเร็วต่ำ คล่อง และขับสบาย เบาแรง อีกทั้งยังตอบสนอง
ดีกว่า พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้าของ Nissan March ในแทบทุกด้าน รัศมีวงเลี้ยว แคบมาก ที่ 4.5 เมตร ช่วยให้
การเลี้ยวกลับรถ ทำได้อย่างคล่องแคล่ว แม้ในซอยที่แคบๆ จนรถสวนกันได้ 2 คันเท่านั้น Brio สอบผ่านได้สบายๆ
ยิ่งถ้าคุณมีโอกาสได้เข้าโค้งต่อเนื่องกัน เหมือนเช่นที่ผมเคยมีโอกาสพาเจ้า Brio ลัดเลาะขึ้น – ลง บนเส้นทาง
ขึ้นสู่พระตำหนักดอยตุง มาแล้ว เมื่อครั้งไปร่วมทริปกับทาง Honda (ในรีวิวฉบับ Exclusive First Impression)
คุณจะพบว่า การทดเฟืองพวงมาลัยมาในลักษณะนี้ ช่วยให้คุณสนุกกับการเข้าโค้งไปมาอย่างมากเกินคาดคิด!
หักซ้ายปุ๊บ ขวาปั๊บ ตามต่อเนื่องกัน บุคลิกของพวงมาลัยแบบนี้ ผมไม่มีโอกาสพบเจอใน Nissan March คัน
ที่เรานำมาทำรีวิวกัน แต่อย่างใด
กระนั้น เมื่อมีข้อดี ย่อมต้องมีข้อความปรับปรุงเพิ่มเติมตามมา ปัญหาของพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า ใน Brio
ก็คือ ถ้าคุณประทับใจในความเบาสบายของพวงมาลัย ณ ช่วงความเร็วต่ำ พอคุณเริ่มเร่งความเร็วรถให้สูงขึ้น
พวงมาลัย ก็ไม่ได้มีการปรับความหนืดไปตามความเร็วของรถที่เพิ่มขึ้นอย่างที่รถยนต์ทั่วไปเขาเป็นกัน อีก
นัยหนึ่ง พวงมาลัยมีน้ำหนักเบา พอกันเลย ไม่ว่าจะขับคลานๆในเมือง หรือขับเร็วๆ บนทางด่วน หรือไฮเวย์
ถึงแม้ว่า ในช่วงความเร็วสูงสุด (ความเร็วบนมาตรวัด 145 กิโลเมตร/ชั่วโมง ความเร็วจริง 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง)
ผมจะสามารถปล่อยมือจากการบังคับควบคุมพวงมาลัยได้นานถึง 10 วินาที (ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง
นะครับ) และรถก็ยังคงวิ่งตรงแหน่วต่อไป โดยไม่สนใจว่าคนขับจะปล่อยมือจากการบังคับรถไปเมื่อไหร่ ก็ตาม
แต่สิ่งที่ผมอยากเห็นการปรับปรุงเพิ่มเติมอีกนิดคือ ในเมื่อ พวงมาลัยเพาเวอร์ เป็นแบบไฟฟ้า นั่นหมายความว่า
มันสามารถปรับจูนได้ผ่านคอมพิวเตอร์ ง่ายขึ้นอีกต่างหาก ทำสักหน่อยเถอะครับ ปรับจูนให้เพิ่มความหนืด และ
ตึงมือขึ้นมากกว่านี้อีกหน่อยเถอะ ถ้านึกตัวอย่างไม่ออกว่า ควรเซ็ตให้มีน้ำหนักประมาณไหน ไม่ต้องไปค้นหา
ที่อื่นใดให้เมื่อยตุ้ม ให้มองไปที่ 2 ศรีพี่น้อง ทั้ง Fit / Jazz และ City ใหม่ ก็ได้เลย นั่นละ น้ำหนัก และความหนืด
ค่อนข้างลงตัวมากที่สุดแล้ว ทั้งในย่านความเร็วต่ำ และความเร็วสูง
ระบบกันสะเทือนหน้าแบบแม็คเฟอร์สันสตรัต ด้านหลังเป็นแบบ ทอร์ชันบีม รูปตัว H ซึ่งเป็นรูปแบบพื้นฐานที่
พบได้ในรถยนต์ขนาดเล็กทั่วไป ไม่ใช่แต่เฉพาะของ Honda แต่เป็นเกือบทุกค่าย เหตุผลเพราะ ต้นทุนไม่แพง
ปรับประยุกต์ใช้ได้ง่าย เซ็ตปรับแต่งได้สบาย
อาจเป็นเพราะเหตุผลที่ว่า หนึ่งในทีมวิศวกรที่ปรับแต่งช่วงล่าง เป็นนักขับรถแข่ง อยู่แล้ว คาดว่า เจ้าตัวคงจะนำ
ความชื่นชอบของตนใส่ลงมาให้กับ Brio ไม่ว่าจะเป็น การปรับมุม Kingpin ของระบบกันสะเทือนหน้าให้เยื้อง
ไปทางด้านหลังมาเป็นพิเศษ มีมุม caster กว้าง 3.6 องศา และมีการเพิ่มระยะ Caster trail 25 มิลลิเมตร จากจุด
กึ่งกลาง เลยทำให้น้องเล็กของ Honda คันนี้ ถือได้ว่า มีช่วงล่างที่ปรับเซ็ตมา “ลงตัวกับขนาด รุปแบบสภาพถนน
และกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ได้เหมาะสมที่สุดรุ่นหนึ่งเท่าที่ Honda เคยทำรถขายในเมืองไทย”!!
ไม่ได้ยกยอกันจนโอเวอร์แต่อย่างใด เพราะอย่างที่ได้บอกไปแล้วในบทความ Exclusive First Impression ช่วง
ก่อนหน้านี้ ว่าผมได้พบคุณสมบัติอันเด่นเด้งนี้โดยบังเอิญ ในขณะที่ขับลัดเลาะไปตามทางโค้ง ช่วงขาขึ้นและ
ขาลงจากพระตำหนักดอยตุง ผมยังสามารถใช้ความเร็วในโค้งเหล่านั้นที่ระดับ 60 – 70 กิโลเมตร/ชั่วโมง แถม
ในขณะเข้าโค้ง ตัวรถ ก็แทบไม่มีอาการสะบัดออก หรือท้ายเหวี่ยงปัดเป๋ใดๆให้หวาดเสียวเล่นเลย
ใครที่ใช้ถนนสายนี้บ่อยๆ คงพอนึกออกว่า แต่ละโค้งที่เราแล่นผ่านไปนั้น ต้องอาศัยการหักเลี้ยวล่วงหน้า และ
ความแม่นยำในการอด่านไลน์โค้ง อย่างต่อเนื่อง คือทันทีที่คุณอยู่ในโค้งขวา คุณต้องอ่านไลน์โค้งซ้าย ซึ่งรออยู่
ข้างหน้า ให้ขาด ถาอ่านไม่ขาด แล้วต้องมาเพิ่มวงเลี้ยวกันในโค้ง กับสภาพผิวถนนแบบนั้น ความเสี่ยงต่อการที่
รถ จะหลุดออกไปแปะกับหน้าผา ลงข้างทาง หรือลงเหวเบื้องล่างกันไปเลย มีสูงมากๆ
แต่ Brio ก็ได้พิสูจน์คุณค่า เรื่องความมั่นใจในระบบกันสะเทือนของมัน ให้ผมได้รับรู้แล้ว เป็นอย่างดี และถือ
เป็นข้อดีที่เด่นชัดที่สุดของ รถรุ่นนี้ ยิ่งถ้าคิดว่า รถที่คุณกำลังขับอยู่นี้ เป็น ECO Car ด้วยแล้ว การปรับช่วงล่าง
จนออกมาได้ดีขนาดนี้ ต้องขอชมเชยว่า ทำการบ้านเกี่ยวกับสภาพถนนในเมืองไทยมาค่อนข้างดีกว่าที่คิด
แต่พอนำรถมาใช้งานจริง ในช่วงความเร็วต่ำ ช่วงล่างของ Brio ก็จะมีนิสัยเหมือนกับช่วงล่างของ Honda ทุกรุ่น
ทั่วๆไป คือ แข็งหน่อย กระเด้งในความเร็วต่ำ แม้ว่า Brio จะซับแรงสะเทือนจากหลุมหรือบ่อที่มีมุมแหลมคม
ด้วยยางแก้มหน้า กับการเซ็ตช็อกอัพช่วยแล้ว ก็ยังมีอาการให้สัมผัสได้นิดหน่อย อีกนัยหนึ่งคือ ถ้า Brio คันนั้น
เพิ่งออกมาใหม่ๆ ป้ายแดง ความแน่น และนุ่มกำลังดีของช่วงล่าง จะเหมือนกับ City และ Jazz ที่เพิ่งจะถูกขน
มาจากโรงงาน เพิ่งส่งเข้าโชว์รูมนั่นละครับ แต่พอใช้ไปสักพัก พอจะเดาได้ว่า มันอาจจะแข็งขึ้น และมีเสียง
รบกวนจากพื้นถนนมากขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป อันเป็นเรื่องปกติของรถยนตืแทบทุกคัน เพียงแต่ว่า ของ Honda
จะเป็นชัดเจนกว่าใครเขานิดนึง
ขณะแล่นด้วยความเร็วสูง ถ้าไม่มีลมปะทะด้านข้างเลย ยืนยันว่า Brio นั้น นิ่ง และไว้ใจได้กว่า March ในระดับ
ความเร็วเท่ากัน คุณยังสามารถปล่อยมือจากพวงมาลัยได้ แม้ใช้ความเร็ว 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง อย่างที่เห็นไปแล้ว
ในรูปข้างบน
เพียงแต่ว่า หากมีลมปะทะด้านข้างขณะใช้ความเร็วสูงอยู่ สิ่งที่จะทำให้ผมหวั่นใจใน Brio คงมีเพียงแค่น้ำหนัก
พวงมาลัยที่เบาจนทำให้ผมต้องใช้สมาธิในการควบคุมมากขึ้นปกว่ารถยนต์ทั่วไปที่มีขนาดใหญ่กว่ากันนิดหน่อย
แต่นั่นก็ไม่เท่ากับการที่ผมต้องเพ่งเล็ง เกร็งมือ กับพวงมาลัยของ March
แต่น่าเสียดายว่า ผมไม่รู้ว่า การทรงตัวของ Brio ณ ความเร็วระดับ 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะเป็นเช่นใด เมือเทียบกับ
March เพราะเรื่องน่าเศร้าก็คือ วิศวกรชาวญี่ปุ่นของ Honda ล็อกความเร็วของเจ้าเปี๊ยกนี่ไว้แค่ 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง
(ความเร็วบนมาตรวัด 145 กิโลเมตร/ชั่วโมง) เท่านั้น
อีกประเด็นหนึ่งที่อยากจะฝากเอาไว้สักหน่อย ถึงแม้ว่า Brio จะมีช่วงล่างที่เซ็ตมาได้ลงตัวมากเกินคาดคิด สำหรับ
รถระดับราคานี้ แต่ในขณะขับขี่ใช้งานจริง อยากให้คุณผู้อ่าน เพิ่มความระมัดระวังกันนิดนึง ในขณะลงสะพาน
หรือเจอเนินลูกระนาดต่างๆ ควรจะค่อยๆขับผ่านไปอย่างนุ่มนวล ไม่เช่นนั้น คุณจะได้ยินเสียงดัง “ตึง!” จากชุด
ระบบกันสะเทือนหน้า ดังมาก อันเนื่องมาจาก ระยะยืดตัวของช็อกอัพ (Stroke) นั้น มีน้อยไปหน่อย ทำให้เมื่อ
วงจรการทำงานของระบบกันสะเทือน มาถึงจังหวะที่ล้อคู่หน้า พาให้รถลงหลุมบ่อ หรือช่วงที่ต้องลงจากคอสะพาน
ซึ่งออกจะชันนิดนึง ช็อกอัพจะต้องยืดตัวตามไปด้วย ทำให้เกิดเสียงดังค่อนข้างรุนแรงได้
อย่างไรก็ตาม ใครที่ลองขับมาแล้ว บอกว่าช่วงล่างของ Brio ห่วย ผมก็อยากจะถามกลับไปว่า จริงๆแล้ว อาการร่อน
ที่คุณพบเจอมานั้น ต้นตอที่แท้จริงหนะ มันมาจากอะไรกันแน่…?
ผมพอจะจับอาการได้ว่ามันมาจาก 2 สาเหตุครับ….
1. Brio มีขนาดค่อนข้างเล็ก หน้ารถค่อนข้างสั้น ตัวก็มีความสูงพอประมาณ รถรูปทรงข้าวปั้นแปะสาหร่ายแบบนี้ เจอ
กระแสลมปะทะด้านข้าง แม้เพียงเล็กน้อย ก็จะก่อให้เกิดอาการวูบได้แล้ว มันเป็นเรื่องปกติ ที่เราคงต้อวงได้แต่ทำใจ
2. มันมีส่วนมาจากยางติดรถ……
เล่าสู่กันฟังนิดนึงดีกว่า
ยางที่ติดรถมาให้นั้น เป็นยางใหม่ล่าสุดของ Michelin นั่นคือ ENERGY XM2 ใหม่ ขนาด 175/65 R14 ซึ่งแม้ว่า ทาง
Michelin จะพึ่งลงโฆษณาในเว็บของเรา (แบนเนอร์ซ้ายสุด ในเว็บหลัก) แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า จะช่วยให้ผม
ยั้งมือจากการพูดถึงยางรุ่นนี้ลงได้เลย
เท้าความกันก่อนนิดนึง ตาเอก Backseat Driver แห่ง The Coup Team ของเรา เพิ่งกลับมาจากทริปที่ Michelin
พาไปทดลองประสิทธิภาพยาง ENERGY XM2 ไปหมาดๆ เมื่อวันเสาร์ – อาทิตย์ (2 – 3 กรกฎาคม) ที่ผ่านมานี้เอง
ตาเอกได้มีโอกาสคุยกับวิศวกรของทาง Michelin ซึ่งเขาก็เล่าให้เราฟังว่า ยางรุ่นนี้ ที่ใส่มาให้กับ Brio นั้น เป็นยาง
ENERGY XM2 ขนาดพิเศษ ซึ่ง ผลิตขึ้นตาม Requirement ของ Honda โดยเฉพาะ ทาง Honda ต้องการยางที่มี
แรงเสียดทานกับพื้นผิวถนน (Rolling Resistance) ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ขณะเดียวกัน การแล่นทางตรง ก็ต้อง
มั่นใจได้ในระดับที่ผู้ใช้รถเล็กควรจะได้รับ
ผมอาจจะค่อนข้างโชคดี หรือโชคร้ายก็ไม่รู้ ที่ต้องพบเจอแต่ฝนตกถนนลื่น เกือบจะแทบตลอดทุกวันที่ได้นำ Brio
มาใช้ชีวิตด้วยกันรวมถึง 3 คัน ซึ่งนั่นหมายถึง ยางใหม่รุ่นนี้ รวมทั้งหมด 3 ชุด ที่ผ่านมือผมไป ยังไม่นับกับยางที่
ติดอยู่ในรถคันที่ผม ขับขึ้น – ลงเขา จาก
การเกาะถนน บนทางเรียบๆ ตรงๆ โล่งๆ จะเป็นพื้นปูน หรือพื้นยางมะตอย ก็ไม่มีปัญหา อาจมีเสียงยางรบกวนเข้ามา
ได้บ้าง กรณีที่แล่นผ่านผิวทางด่วน ช่วงที่เป็นทางราบ พื้นปูน แถวเลยเชียงราก ขาเข้ากรุงเทพฯ มานิดนึง ตรงนั้นเป็น
บริเวณืที่ผมใช้ในการลองฟังเสียงยาง เพราะผิวทางมันแสนสุดจะห่วยแตก อันนี้ก็เป็นเรื่องปกติที่พอจะยอมรับกันได้
แต่การเปลี่ยนเลนกระทันหันนั้น ผมกลับพบปัญหาว่า ยางรุ่นนี้ มีแก้มยางที่นุ่มไปหน่อย ถึงขั้นออกอาการบิดเบี้ยวมาก
กว่าที่ยางทั่วไปจะพึงส่งอาการให้สัมผัสได้ทั่วทั้งคันรถ คือมีผลต่อการเปลี่ยนเลนกระทันหันอย่างมาก
ดังนั้น ข้อสรุปสำหรับผมในเรื่องยางก็คือ ถ้าคุณเป็นคนขับรถเรื่อยๆ เรียบง่าย และใช้ชีวิตในเมืองเป็นหลัก ต้องการ
ความประหยัดเป็นหลัก ใช้ยาง ENERGY XM2 ไปก็พอได้อยู่ แต่ ถ้าคุณเป็นคนขับรถเร็วแบบผม หรือเป็นพวกชอบมุด
เล่นโค้งเรื่อยๆ ขอแนะนำให้คุณเปลี่ยนยางติดรถทิ้งไปโดยด่วน! ถ้ายังรักจะคบหากับ พี่บีเบนดั้ม ก็ขอให้ลองเปลี่ยน
ไปใช้ยาง Pilot Sport ไปเลย จะดีกว่าครับ เพียงแต่ว่า อย่าลืมเปลี่ยนกระทะล้อ เป็นล้ออัลลอย ขอบ 15 นิ้วไปด้วย
เชื่อได้ว่าการขับขี่จะดีกว่า Brio เดิมๆ จากโรงงาน ชัดเจนแน่ๆ!! แต่ถ้าล้อ 16 นิ้ว ก็อาจจะขับช้าๆ ได้ไม่สบายก้นนัก
ระบบห้ามล้อเป็นแบบ หน้าดิสก์เบรก หลังดรัมเบรก ตามมาตรฐานของรถยนต์ขนาดเล็กอย่างนี้ มีระบบป้องกันล้อล็อก
ABS (Anti Lock Braking System) มาให้ พร้อมกับระบบกระจายเรงแบรกตามน้ำหนักบรรทุก EBD (Electrinics Brake
Force Distribution) ซึ่งนาย Tee Abuser มือแต่งรถรุ่นน้อง ละแวกตัวรอบข้างผม และตาแพน ซึ่งมีโอกาส มุดๆ ก้มๆ เงยๆ
กับ Brio คันที่เรานำมาทำรีวิวกัน ยืนยันให้แล้วว่า จานเบรกของ Brio เป็นจานของรถรุ่นนี้โดยเฉพาะ ส่วน คาลิปเปอร์
เป็นรหัส 15 CL กับผ้าเบรก เหมือนกับชิ้นที่ใส่อยู่ใน Honda Jazz รุ่นแรก (รหัสรุ่น GD) และ ยังเหมือนกับ Honda Civic
1992 รหัสรุ่น EG เวอร์ชันที่ใช้เครื่องยนต์คาร์บิวเรเตอร์ (ถ้าเป็นเครื่องยนต์หัวฉีด จะเป็นคนละแบบกัน) ดังนั้น หมดห่วง
เรื่องหาผ้าเบรกนอกศูนย์บริการ ไปได้สบายๆ
ไม่ว่าจะชะลอความเร็วในช่วงขับคลานๆในเมือง หรือจะต้อง เบรกหนักๆ ต่อเนื่อง จากช่วงความเร็วสูง ระบบเบรก
ก็ตอบสนองมาได้ดี เหมือนกับ ระบบเบรกของ City และ Civic ตอนออกจากโชว์รูมมาได้ไม่กี่สัปดาห์ ทำงานนุ่มนวล
บังคับรถให้หยุดในแบบที่ต้องการได้ ไม่ยากเย็น และต่อให้ซัดลงเขามาเร็วๆ จนต้องเบรกช่วย หากคุณไม่ได้เหยียบ
เบรกอย่างต่อเนื่อง ผมว่าไม่น่ามีปัญหา เพราะในรถบางคัน ที่ทำเช่นนั้นลงมา ในทริปสื่อมวลชนที่เชียงราย มีกลิ่น
ผ้าเบรกลอยมากระทบจมูกนิดหน่อย เป็นปกติของรถใหม่ๆ ที่ผ้าเบรก ยังทำงานไม่เข้าที่ดีนัก ใช้ไปสักพัก ก็จะดีขึ้น
ในภาพรวมแล้ว แม้จะต้องมีการปรับปรุงส่วนนั้นนิด ส่วนนี้หน่อย แต่ ณ วันนี้ เราเห็นช่องทางอย่างหนึ่ง ที่ทาง Honda
สามารถจะพา Brio ไปต่อยอดได้ นั่นคือ ตลาดของกลุ่มคนที่อยากได้รถเล็กๆ เอาไว้ไปโมดิฟาย ทำรถแข่งกันต่อ หรือไม่
ก็อาจเป็นวัยรุ่น ที่อยากได้รถขับสนุก เอามาเปลี่ยนยางล้อ อัพเกรดสมรรถนะของมัน อย่างเช่นที่ น้อง Tee Abuser น้อง
ที่ถนัดนักกับเรื่องการแข่งรถ ประเภท ดริฟท์ เคยแยกแยะให้ผมฟัง หลังจากมุดดูส่วนนั้นส่วนนี้ของรถจนแทบจะพรุน
ไปทั้งคันแล้วว่า ถ้าคิดจะเอา Brio ไปโมดิฟายต่อเพิ่มเติมหนะ ไม่ยากเลย มีตั้งแต่การนำ Turbocharger ที่น่าจะใส่ด้วยกัน
ได้ลงตัว เช่น IHI VF035 ซึ่งปกติ ติดตั้งมาใน Legacy รุ่นเก่าๆ หรือ Mitsubishi L200 Strada 2.8 ลิตร (ที่ไม่ใช่ VG Turbo)
มาวาง (แต่มีข้อแม้ว่า ต้องเป็นรุ่นเกียร์ธรรมดาเท่านั้น เพราะเกียร์ CVT ลูกนี้ไม่อาจจะทนแรงบิดที่เพิ่มขึ้นมากขนาดนั้น
เป็นเวลานานๆ ได้แน่ๆ) หรือจะเป็นการยกเครื่องยนต์ L15A Set Turbo มาวางกันง่ายๆ สบายๆ อาจต้องดัดแปลงแท่น
เครื่องยนต์เล็กน้อย เพราะแท่นเครื่องยนต์ของ L12B3 กับ L15A ต่างกันนิดหน่อย แต่ถ้าถึงขั้นคิดจะเอามาวาง K20A
อาจต้องคิดให้ดีๆ เพราะไม่น่าจะเป็นงานง่ายๆ เผลอๆ ต่อให้ระเบิดซุ้มล้อกัน ก็อาจจะวางไม่ได้ ดังนั้นต้องคิดให้ดีๆ
อ้อ! อย่าลืมทำช่วงล่าง และระบบเบรกให้ดีขึ้นกว่านี้ด้วยก็แล้วกัน และถ้าเสริม Roll bar ด้วยได้ จะยิ่งดีเข้าไปอีก!
สรุปแล้ว เรามาจัด Honda Brio One Make Race กันเถอะ!!!!!! <—– พูดจริงๆนะครับ Honda ผมไม่ได้ล้อเล่น!!
รถของคุณ มี Protential ในด้านนี้จริงๆ!
ในเรื่องการออกแบบนั้น ทีมวิศวกรของ Honda พยายามอย่างมาก ในการลดแรงเสียดทาน และควบคุมจัดการกับ
กระแสลมที่ไหลผ่านตัวรถไป เพื่อช่วยให้ตัวรถ ใช้น้ำมันได้คุ้มค่าทุกหยด การออกแบบล้ออัลลอย 14 นิ้ว ให้มีก้าน
บางลงกว่าเดิม ก็เพื่อช่วยให้น้ำหนักล้อ เบาขึ้น ยิ่งพอใส่ยาง Energy XM2 เข้าไป ทีนี้ แรงเสียดทานก็ยิ่งน้อยลง
ถึงขนาดว่า ผมลอง ปล่อยเกียร์ว่าง ให้รถจากความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไหลจากระยะ 1 กิโลเมตร จะถึงด่าน
เก็บเงินปลายทางด่วนเส้นเชียงราก พอไปถึงหน้าด่าน รถก็ยังคงไหลต่อเนื่องไป และไม่มีทีท่าจะหยุด จนผมต้อง
เป็นฝ่ายเหยียบเบรกเอง ไม่เช่นนั้น คงได้ชนอาคารด่านเก็บเงินแน่ๆ
การออกแบบให้กระแสลมไฟลผ่านใต้ท้องรถได้ราบเรียบที่สุด ก็มีผลต่อแรงเสียดทานของรถด้วยเช่นกัน ทีมวิศวกร
ของ Honda จึงออกแบบให้มีแผ่นวัสดุ ผิดใต้ท้องรถ ทั้งบริเวณ ใต้ห้องเครื่องยนต์ ใต้ท้องรถ ทั้งด้านหน้า กล้าง และ
หลัง แผ่นปิดที่กาบข้าง และซุ้มล้อ แถมยังเพิ่มสปอยเลอร์ขนาดใหญ่ เหนือฝากระจกห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง
เป็นอุปกรณ์มาตรฐานทุกรุ่สน เพื่อช่วยควบคุมกระแสลมหมุนวนที่ด้านท้ายรถ ให้ม้วนไหลผ่านไปได้ดีขึ้น
เมื่อจัดการเรื่องอากาศไหลผ่านรถแล้ว ก็ต้องจัดการกับเสียงรบกวนที่เกิดจากทั้งกระแสลม ไปจนถึงเสียงจากห้อง
เครื่องยนต์ และพื้นถนนอีกด้วย วิศวกร Honda จึงพยายามติดตั้งวัสดุซับเสียง ตามจุดต่างๆของตัวรถ อย่างที่
ปรากฎในภาพสไลด์พรีเซ็นเตชันข้างบนนี้
ในความเป็นจริง เสียงที่รอดเข้ามายังห้องโดยสาร ขณะรถจอดสงบนิ่ง ติดเครื่องยนต์ไว้ ถือว่าเงียบดี เหมือนกับ
City ใหม่ ตอนออกรถช่วง 2-3 เดือนแรก แต่เมื่อรถต้องใช้ความเร็วเพิ่มขึ้น เสียงจากพื้นถนน ก็เริ่มลอดเข้ามาบ้าง
พร้อมกับเสียงจากซุ้มล้อคู่หลัง ที่เริ่มปรากฎให้ได้ยินชัดเจนขึ้น ตามรูปแบบสภาพถนนที่ต่างกันไป ถามว่า เงียบ
สงบมากหรือไม่ คงต้องบอกว่า ห้องโดยสาร ก็เงียบได้ เท่าที่ราคาของรถจะเอื้ออำนวยด้านการควบคุมต้นทุนครับ
จะให้เงียบแบบ Lexus หรือ Acura กับค่าตัวรถแค่นี้ คงเป็นไปไม่ได้
********** ความปลอดภัย **********
อีกหนึ่งประเด็นที่หลายคน เป็นห่วงเป็นใย คือเรื่องความปลอดภัยจากการชน เรื่องนี้ ทีมวิศวกรของ Honda ย้ำกับผม
ในวันที่เราไปลอง Brio น้อยกันที่เชียงราย ว่า พวกเขา ได้พยายามออกแบบโครงสร้างตัวถังของ Brio ให้แข็งแรง และ
มีการกระจายแรงปะทะ อย่างเหมาะสม รวมทั้งให้ความสำคัญกับการทดสอบการชนมาอย่างดี เพื่อให้ผ่านมาตรฐาน
ข้อกำหนดการทดสอบที่เข้มงวด ของโครงการ ECO Car ซึ่งระบุไว้ชัดเจนเลยว่า ต้องมีความปลอดภัยหลังทดสอบ
การชนตามมาตรฐานของ UNECE Reg. 94 (01) และ Reg. 95 (02)
Honda ใช้เทคโนโลยีการออกแบบโครงสร้างตัวถังนิรภัยแบบ ACE หรือ Advanced Compatibility Engineering
ซึ่งใน Brio นั้น ทีมวิศวกร เน้นให้โครงสร้างตัวถังแข็งแกร่ง ด้วยการใช้ เหล็กแบบ High Tensile Steel มากเกินกว่า
50 % ของโครงสร้างตัวถัง ทั้งคันรถ (ส่วนสีแดง จากในภาพข้างบนนี้) ข้อดีของเหล็กประเภทนี้คือ น้ำหนักเบา มี
ความแข็งแกร่งสูง มีความเหนียว และทนต่อแรงกระแทกสูงๆ ได้ดี และเป็นเหล็กที่ผู้ผลิตรถยนต์ในยุคนี้ นิยมนำมา
ใช้กับรถยนต์รุ่นใหม่ของตน แม้ว่ามันจะมีราคาแพงขึ้นกว่าเหล็กธรรมดาทั่วไปก็ตาม
นอกจากนี้ โครงสร้างตัวถังของ Brio ยังถูกเสริมความแข็งแกร่ง บริเวณจุดยึดช็อกอัพ ทั้งคู่หน้า และคู่หลัง ให้ทนรับ
แรงกระทำ ที่จะเกิดขึ้น มากเป็นพิเศษ โดยจุดยึดช็อกอัพคู่หน้า จะอยู่ใกล้กับ โครงสร้าง ACE ด้านข้างของตัวรถกับ
ผนังห้องเครื่องยนต์ ส่วนคู่หลังนั้น ใช้วิธีการติดตั้ง Trailing Arm เข้ากับบริเวณโครงสร้างพื้นตัวถังที่ต้องการความ
แข็งแรงสูง นอกจากนี้ ยังเชื่อมต่อกับ Closed cross section bracket เพื่อเพิ่มความแข็งแรงในการยึดเหนี่ยวและ
ทำงานร่วมกัน ระหว่างโครงสร้างตัวถัง กับระบบกันสะเทือน
ส่วนบั้นท้ายนั้น มีการเสริมความแข็งแรงของกรอบประตูห้องเก็บของด้านหลังเป็นพิเศษ โดยจะมีลักษณะเป็น
แผงขนาดใหญ่ โดยรอบทั้งหมด ใช้เหล็กแผ่นหนา เชื่อมระหว่างช่องล้ออะไหล่ เข้ากับโครงสร้างแผงหน้าตัด
ของกรอบประตูคู่หลัง เพื่อเสริมความแข็งแรงในภาพรวมให้กับชิ้นส่วนโครงสร้างด้านหลัง
และถ้าคุณดูภาพข้างบนนี้ จะพบว่า Brio เวอร์ชันไทย จะมีการติดตั้งคานกันชนหน้าเพิ่มเติมเข้ามาให้ (ไม่มีแสดงไว้
ในภาพคอมพิวเตอร์กราฟฟิคทั้งหมดนี้) ซึ่งขนาดของมัน และการออกแบบตำแหน่งจุดยึดกับเฟรมด้านหน้าของมัน
ก็ใหญ่พอที่จะรองรับได้ ทั้งการชนในความเร็วต่ำ และการส่งกระจายแรงปะทะจากการชน ในความเร็วที่สูงขึ้น จนถึง
60 กิโลเมตร/ชั่วโมง อันเป็นความเร็วมาตรฐานทั่วๆไป ที่ ใช้ในการทดสอบการชน ดังนั้น ถ้ามองเรื่องการชนด้านหน้า
เพียงอย่างเดียว ผมมองว่า Brio น่าจะรับมือได้ดี ไม่มีอะไรให้น่าเป็นห่วงเลย
นอกเหนือจากโครงสร้างตัวถังแล้ว ภายในห้องโดยสารของ Brio ยังมีการติดตั้งถุงลมนิรภัยคู่หน้ามาให้ ครบทั้ง 3 รุ่น
ตั้งแต่รุ่นถูกสุด โดยเป็นถุงลมนิรภัยแบบอัจฉริยะ i-SRS ซึ่งมีโครงสร้างการเย็บถุงลม ที่เป็นขดลวดเกลียว และมีวาล์ว
ควบคุมการปล่อยก๊าซ ที่จะควบคุมแรงดันให้ปล่อยก๊าซไปยังถุงลมได้เร็วกว่าถุงลมนิรภัยแบบปกติ และมีระยะเวลาใน
การพองตัว ยาวนานขึ้นด้วย เผื่อไว้ในกรณีที่มีการชนซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ไม่ว่าจะมาจากด้านใดก็ตาม ยิ่งกว่านั้น การลดมุม
องศาของถุงลม ที่จะพองตัวไปยังผู้โดยสาร ยังสามารถลดแรงกระแทก และเพิ่มพื้นที่ ให้สามารรถรองรับแรงกระแทก
ได้กว้างขึ้น ให้เหมาะสมกับผู้ขับขี่ กับผู้โดยสารด้านหน้าในลักษณะการชนทุกรูปแบบ
เข็มขัดนิรภัยคู่หน้า เป็นแบบ ELR 3 จุด Pretensioner & Load Limiter ซึ่งเคยพบแต่ในรถแพงๆ ตอนนี้ ถูกนำมาติดตั้ง
กับ Brio แล้ว โดย จะทำงานทันทีที่มีการชนเกิดขึ้นที่ด้านหน้า และมีการผ่อนแรงดึงรั้งตัวผู้โดยสารกับเบาะเป็นจังหวะ
ตามระดับของแรงกดที่กำหนดไว้ ช่วยลดแรงกดบริเวณหน้าอกจากการดึงกลับของเข็มจัดนิรภัย
และเพื่อลดการบาดเจ็บของกระดูกต้นคอ จากแรงเหวี่ยงขณะเกิดอุบัติเหตุ พนักศีรษะ จึงถูกออกแบบให้มีโครงสร้าง
แบบดูดซับแรงกระแทกเอาไว้ รองรับอีกชั้นหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ต้องเน้นย้ำไว้ตรงนี้เลยว่า
– ถุงลมนิรภัย จะไม่ทำงาน เมื่อได้รับแรงกระแทกจากด้านข้าง หรือด้านหลังของตัวรถ แต่จะทำงานเมื่อเกิดการชน
ด้วยแรงกระแทกที่รุนแรง ที่บริเวณด้านหน้ารถเท่านั้น
– หน้าที่ของถุงลมนิรภัย คือเสริมความปลอดภัย และต้องทำงานร่วมกับเข็มขัดนิรภัย ดังนั้น ทุกครั้งที่ขึ้นรถ ควรจะคาด
เข็มขัดนิรภัยให้ถูกวิธีไว้เสมอ
ถังน้ำมันติดตั้งอยู่ใต้เบาะหลัง ในตำแหน่งที่วิศวกร พยายามให้อยู่ไกลจากบั้นท้ายรถให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และ
มีการออกแบบ พื้นที่รองรับ การเคลื่อนตัวเข้ามาชิดกับโครงสร้างแอ่งเว้าของพื้นตัวถัง เมื่อเกิดการชนจากด้านหลัง ใน
ความเร็วระดับ 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ด้วยการออกแบบโครงสร้างตัวถังทั้งหมดนี้ ทำให้ Brio ผ่านการทดสอบการชนแบบเต็มหน้า ความเร็ว 55 กิโลเมตร/ชั่วโมง
การชนแบบครึ่งพื้นที่ด้านหน้า ด้วยความเร็วถึง 64 กิโลเมตร/ชั่วโมง รวมทั้งการชนด้านข้าง ที่ความเร็วระดับ 50 กิโลเมตร/
ชั่วโมง ผ่านตามข้อกำหนดของ องค์การสหประชาชาติ ว่าด้วยเรื่องมาตรฐานของยานพาหนะ ด้านความปลอดภัย (UNECE
Reg. 94 กำหนดให้ต้องผ่านการทดสอบจากการชนด้านหน้า แบบไม่เต็มหน้าที่ความเร็ว 56 กิโลเมตร/ชั่วโมง และ Reg. 95
หรือการชนด้านข้าง ด้วยความเร็ว 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง) อันเป็นมาตรฐานที่ ประเทศไทย นำมาใช้ในการกำหนด มาตรฐาน
ของรถยนต์ ECO Car ในบ้านเรา จึงอาจถือได้ว่า Brio ผ่านการทดสอบ การชนแล้ว และผ่านมาตรฐานความปลอดภัยเหล่านี้
มาเรียบร้อย ดังนั้น สำหรับโครงสร้างตัวถังด้านหน้านั้น น่าจะพอหายกังวลใจไปได้แล้วนะครับ
ส่วนด้านหลังรถ ที่หลายคนเป็นห่วงกันนั้น Honda ได้ทำการทดสอบการชน ด้วยความเร็ว 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง อัดเข้าไป
เต็มพื้นที่ด้านหลัง และพบว่า โครงสร้างบริเวณด้านหลัง ยังสามารถรองรับ และปกป้องผู้โดยสาร ได้อยู่ และถังน้ำมัน
ก็ไม่มีการแตกปริออกหรือรั่วจนเกิดประกายไฟแต่อย่างใด
และที่ความเร็ว 4 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือช่วงเข็นรถ เปลือกกันชนด้านหลัง สามารถยุบและคืนรูปได้ ดังนั้น จึงแทบไม่เกิด
ความเสียหายใดๆกับเปลือกกันชนหลังเองเลย
สิ่งที่ผมแอบเป็นห่วงอยู่ในเวลานี้ กลับไม่ใช่การป้องกันผู้โดยสารคู่หน้า เพราะเท่าที่ดูจากโครงสร้าง ต้องถือว่า ทีมวิศวกร
ได้พยายามทำการบ้านเรื่องการชนด้านหน้า มาเป็นอย่างดี สำหรับรถยนต์ระดับราคา 3 – 5 แสนบาท ดังนั้นเรื่องการชน
ด้านหน้า ผมไม่กังวลเลย หากมีการชนเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแบบชนท้ายรถคันข้างหน้า แบบเต็มหน้า หรือเฉียงเอา
ครึ่งหน้ารถ เข้าปะทะ ยังไงๆ โครงสร้างตัวถัง ACE ก็น่าจะช่วยปกป้องผู้โดยสารได้พอตัว
แต่สิ่งที่ผมยังคาใจ ก็คือ การปะทะจากด้านหลังของตัวรถ ต่อให้ Honda จะบอกว่า ได้มีการทดสอบการชนด้านหลัง
อย่างที่เห็นไปแล้วข้างบนนี้ ทว่า ในสภาพการใช้งานจริงของลูกค้าในเมืองไทยนั้น น่าจะแตกต่างจากสภาพของ
สถานการณ์จำลอง ในการทดสอบการชน อยู่เยอะ เพราะ ในเมืองไทย Brio มักจะต้องถูกไล่กวด จากรถกระบะ
หรือ SUV บ้าพลัง ที่เดี่ยวนี้ มีกันแทบจะครบทุกยี่ห้อกันแล้ว ถ้าเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น ซึ่งน่าจะเกิดที่สี่แยก ใน
ขระที่รถกำลังจอดติดไฟแดงใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงนี้
เราคงต้องรอให้มีอุบัติเหตุกรณีศึกษาเกิดขึ้นก่อน เมื่อถึงเวลานั้น เราก็จะได้พิสูจน์ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงว่า
โครงสร้างของ Brio นั้น สามารถปกป้องชีวิตของผู้โดยสารด้านหลัง ได้ดีแค่ไหน?
********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********
ในเมื่อ Brio มีขนาดตัวรถ ค่อนข้างเล็ก ขนาดเครื่องยนต์ ก็ต่ำกว่า 2,000 ซีซี และแถมยังเป็นรถยนต์ที่มีผู้คน เฝ้ารอดู
ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง อย่างใจจดจ่อ ดังนั้น เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับเมื่อครั้งที่เราทำการทดลอง
Nissan March เราก็จะทำการทดลองแบบเดียวกันนี้กับ Brio ทั้งรุ่นเกียร์ธรรมดา และอัตโนมัติ CVT
เราใช้มาตรฐานดั้งเดิมก็คือ นำรถมาเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron แบบมาตรฐาน (ไม่ใช่แก็สโซฮอลล์) ที่สถานีบริการ
น้ำมัน Caltex ถนนพหลโยธิน ฝั่งตรงข้ามเบนซ์ราชครู และซอยอารีย์ กรอกน้ำมันลงไปจนเต็ม จากนั้น ก็ช่วยกันเขย่ารถ
เพื่ออัดกรอกน้ำมันเข้าไปในถังให้เอ่อแน่นขึ้นมาถึงคอถัง ตรงปากทางหัวรับน้ำมัน
ใช้เวลาเขย่าราวๆ 20 กว่านาที น้ำมันก็เอ่อขึ้นมาจนถึงระดับที่เราตั้งใจ อย่างที่เห็น ว่าไม่สามารถเติมลงไปได้อีกแล้ว
จึงเป็นอันยุติ สักขีพยานของเราครั้งนี้ ก็ยังคงเป็นน้องโจ๊ก V10ThLnD จาก The coup Team ของเรานี่เอง น้ำหนัก
อยู่ที่ 70 กิโลกรัม ผู้เขียนหนัก 95 กิโลกรัม
จากนั้น เราก็เซ็ต 0 บน Trip Meter ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ คาดเข็มขัดนิรภัย แล้วขับออกจากปั้ม Caltex เลี้ยวรถกลับ
ไปเข้าซอยอารีย์ ลัดเลาะมาออกถนนพระราม 6 ขึ้นทางด่วน มุ่งหน้าไปยังปลายทางด่วนอุดรรัถยา (เชียงราก) ไปจน
สุดปลายทางที่อยุธยา แล้วเลี้ยวกลับที่ปลายทางด่วน จ่ายเงินขึ้นทางด่วนย้อนเส้นทางกลับมาตามเดิม ใช้ความเร็วคงที่
110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน ตามมาตรฐานเดิมของเรา
พอลงทางด่วนที่อนุเาาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย กลับเข้าสู่ถนนพหลโยธินอีกครั้ง เลี้ยวกลับหน้าโชว์รูมเบนซ์ ราชครู
พุ่งเข้าไปในสถานีบริการน้ำมัน Caltex แห่งเดิม เพื่อเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron ที่ตู้เดิม และหัวจ่ายเดิม เหมือนเช่น
ทุกครั้งที่เราทำการทดลองกันมา
พอหัวจ่ายตัด เราก็เริ่มเขย่ารถ เพื่ออัดกรอกน้ำมันลงไปให้ได้เยอะมากที่สุด เหตุที่เราทำเช่นนี้ ก็เพื่อที่จะให้น้ำมัน
เข้าไปอยู่ในถัง แทนที่อากาศในถัง ให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อลดความเสี่ยงในตัวแปรเรื่องปริมาณน้ำมัน
ที่เติมเข้าไป ซึ่งอาจมีผลให้การทดลองผิดเพี้ยนไปไกลกว่าที่รถควรจะทำตัวเลขออกมาได้
มาดูผลการทดลอง ในรุ่น CVT กันดีกว่าครับ
ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมด 92.8 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 5.56 ลิตร
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 16.69 กิโลเมตร/ลิตร ตัวเลขด้อยกว่า Nissan March CVT (17.2 กิโลเมตร/ลิตร) ชัดเจน
ผมได้แต่เก็บความสงสัยเอาไว้ ว่าทำไมตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของ Brio CVT จึงด้อยกว่า March CVT?
คิดอยู่ว่า อยากจะทำการทดลองใหม่ ซ้ำอีกรอบ แต่ในเมื่อครั้งแรก เราควบคุมตัวแปรกันอย่างดี วันทดลอง รถก็ไม่ติด
เคลื่อนตัวได้อย่างสบายๆ และการเติมน้ำมัน ก็ไม่มีอะไรขาดตกบกพร่องแต่อย่างใด เท่ากับว่า การทดลองนี้ ต้อง
ถือว่าสมบูรณ์ในตัวของมันเอง ผมจึงเลือกจะปล่อยผ่านออกมาให้คุณได้อ่านกันในตอนนี้
แล้วเลือกที่จะมาลุ้นกับอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงในรุ่นเกียร์ธรรมดาแทน
หลังนำรถรุ่นเกียร์ CVT ไปแลกเปลี่ยนมาเป็นรุ่นเกียร์ธรรมดา คันสีเงิน เสร็จเรียบร้อย เราก็พา Brio น้อย มุ่งหน้า
ตรงดิ่งมาจากบางนา มาเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron กันที่สถานีบริการน้ำมัน Caltex ฝั่งตรงข้ามซอยอารีย์ กัน
ตามเดิม เหมือนที่เคยทำมาก่อนหน้านี้
และเราก็เขย่ารถกันเข้าไป กรอกน้ำมันให้เข้าไปอัดแน่นกันอยู่ในถัง จนล้นเอ่อขึ้นมาถึงคอถังกันแบบนี้ เช่นเดียวกัน
กับรถรุ่น CVT ที่ทำการทดลองไปข้างบนนี้ เราไม่ใช้น้ำมันเบนซิน 91 หรือ แก็สโซฮอลล์ในการทดลอง ด้วยเหตุผล
ที่ว่า เราทำการเก็บตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ด้วยน้ำมันเบนซิน 95 ซึ่งถือว่า ดีที่สุดในตลาด
และเพื่อตัดปัญหาที่ว่า รถบางรุ่น เติม 91 ได้ แต่บางรุ่น เติมไม่ได้ เราจึงเลือกใช้ เบนซิน 95 กันมาตลอด เพื่อลดความ
ปวดเศียรเวียนเกล้าดังกล่าวข้างต้น
เมื่อเติมน้ำมันเรียบร้อยแล้ว เราก็เซ็ต 0 บน Trip Meter คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ ออกรถมุ่งหน้าไป
ตามเส้นทางเดิมไม่ผิดเพี้ยน คือ เลี้ยวรถกลับ บนถนนพหลโยธิน ไปเข้าซอยอารีย์ ลัดเลาะไปออกถนนพระราม 6
ขึ้นทางด่วน ที่ด่านพระราม 6 มุ่งหน้าตรงไปยังปลายสุดสายทางด่วนเชียงราก หรืออุดรรัถยา ที่อยุธยา แล้วเลี้ยวกลับ
มาย้อนขึ้นทางด่วนเส้นเดิม ขับรถมุ่งหน้ากลับเข้า กรุงเทพฯ อีกครั้ง เรารักษาความเร็วระดับ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง
เปิดแอร์ นั่ง 2 คน เหมือนเคย และสักขีพยาน ก็ยังคงเป็นน้องโจ๊ก V10hLnD คนเดิม เหมือนรุ่น CVT เปี๊ยบ
เพียงแต่ ในวันที่เราทดลอง อาจมีฝนโปรยปรายลงมาบ้าง กระนั้น เรายังคงรักษาความเร็วที่ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีปัญหาอะไรทั้งสิ้น
เมื่อลงทางด่วนอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย มุ่งหน้ามาตามถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับรถอีกครั้ง ที่หน้าโชว์รูม
เบนซ์ราชครู เลี้ยวซ้าย พุ่งเข้าปั้ม Caltex เพื่อเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron กันเช่นเคยตามเดิม
เมื่อหัวจ่ายตัดแล้ว เราก็ยังต้องช่วยกันเขย่ารถ เพื่อกรอกน้ำมันให้อัดแน่นลงไปในถัง
สำหรับการทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงนั้น ถ้าจะให้ตัวเลขที่ออกมา มีความผิดเพี้ยนไปจากความจริงที่รถทำได้
น้อยที่สุด การเลือกวิธีการเติมน้ำมัน ก็มีส่วนสำคัญ ถ้าคุณเลือกจะใช้วิธีเขย่ารถ ในตอนแรกที่เติมน้ำมันเข้าไป
คุณก็ควรจะเขย่ารถเหมือนกัน เมื่อต้องเติมน้ำมันกลับเข้าไปในถัง หลังเสร็จสิ้นการทดลอง แต่ถ้าเลือกที่จะใช้
วิธีเติมน้ำมัน เอาแค่หัวจ่ายตัด นั่นเท่ากับว่า ตอนเติมน้ำมันกลับเข้าไป อีกครั้ง ช่วงที่ขับเสร็จแล้ว คุณก็ควรจะ
เติมน้ำมันแค่ให้กัวจ่ายตัดด้วยเช่นกัน ไม่เช่นนั้น ตัวเลขจะสิ้นเปลืองมากเกินไปกว่าที่คุณจะตกใจเสียอีก
เมื่อเขย่า อัดกรอกน้ำมันลงไป จนน้ำมันเอ่อขึ้นมาถึงคอถังแบบนี้ และเมื่อเขย่าแล้ว น้ำมันก็ไม่ไหลย้อนลงไปอีก
นั่นเท่ากับว่า การเติมน้ำมัน เพื่อการทดลองในครั้งนี้ เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว
ทีนี้ เรามาดูตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของรุ่นเกียร์ธรรมดา กันดีกว่า
ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมด บนมาตรวัด Trip Meter 92.7 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 5.78 ลิตร เติมเพิ่มมากขึ้นกว่ารุ่น CVT อีกแหะ!
ดังนั้น อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง รุ่นเกียร์ธรรมดา จึงออกมาอยู่ที่ 16.03 กิโลเมตร/ลิตร ด้อยกว่า March เกียร์ธรรมดาไปไกล
ผมเริ่มสงสัยแล้วละว่า ทำไม Brio ถึงมีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ด้อยกว่า March? แถมเรื่องที่น่าตลกกว่านั้น
ก็คือว่า Brio รุ่นเกียร์อัตโนมัติ CVT กลับทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงได้ ประหยัดกว่ารุ่น เกียร์ธรรมดา ทั้งที่
โดยหลักการแล้ว มันควรกลับกัน คือ เกียร์ธรรมดา ควรจะประหยัดกว่าเกียร์อัตโนมัติ
ถ้าจะบอกว่า เพียงแค่การลดจำนวน กระบอกสูบลงไป 1 ห้อง ทำให้ผลลัพธ์ของ March ประหยัดกว่า เพราะ
การจ่ายเชื้อเพลิง จากเดิมที่ต้องจ่ายผ่านหัวฉีด 4 สูบ เหมือนเครื่องยนต์ Brio และรถยนต์ขนาดเล็กทั่วไป ก็
ลดลงเหลือเพียงแค่ 3 สูบ นั่นก็อาจจะมองได้แต่เพียงภาพคร่าวๆ
เหตุผลส่วนหนึ่งที่สันณิษฐานไว้ ก็คือ ในความเร็วรถเท่ากัน ความเร็วรอบเครื่องยนต์ของรุ่นเกียร์ธรรมดา
สูงกว่ารุ่นเกียร์ CVT ค่อนข้างมาก แต่กระนั้น เมื่อเทียบกับรถยนต์รุ่นอื่นที่เราเคยทำรีวิวกันมา ทั้ง March ,
Mazda 2 และ Fiesta ผมถือว่า ตัวเลขครั้งนี้ ออกจะแปลกไปสักหน่อย แต่ในเมื่อ เราควบคุมตัวแปรต่างๆ
อย่างดีที่สุดเท่าที่เราพอจะทำได้แล้ว แต่ตัวเลขออกมาแบบนี้ ก็เท่ากับว่า Brio ประหยัดน้ำมันกว่ารถยนต์
ทั่วๆไปจริง แต่ยังด้อยกว่า Nissan March อย่างชัดเจน
********** สรุป **********
ข้าวปั้นแปะสาหร่าย ที่คล่องและแรงกว่า March…แต่ก็เสียวตูดกว่า!
นี่เป็นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งผมต้องใช้เวลา คิดและกลั่นกรอง กับบทความทดลองขับ อย่างมาก ไม่แพ้ครั้งไหนๆ ก่อนหน้านี้
รวมทั้งบทความที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ไป
เมื่อใดก็ตามที่ผมจะต้องจับพวงมาลัยรถรุ่นใด สิ่งที่ผมจะทำหลังจากทำความคุ้นเคยกับรถแล้ว ก็คือ มองหาทั้งสิ่งดี
และสิ่งด้อย เพื่อจะนำมาเขียนสรุป ในบทความ ด้วยเจตนา เพียง 2 อย่าง
1. อยากให้คุณผู้อ่าน ได้รับทราบข้อดี และข้อด้อย อย่างตรงไปตรงมา ปราศจากอคติ เพื่อให้ยอมรับได้ในรายละเอียด
ต่างๆ ของรถที่คุณกำลังพิจารณาตัดสินใจใช้เงินเก็บ กู้เงินผ่อน เพื่อเป็นเจ้าของรถยนต์ที่หมายตาเอาไว้ ด้วยเจตนา
อันบริสุทธิ์ใจ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ เพียงเท่านั้น
2. อยากให้ผู้ซึ่งทำงานเกี่ยวข้องกับรถยนต์รุ่นนั้นๆ ได้มีข้อมูล Feedback ที่ตรงไปตรงมา เพื่อจะได้นำไปหาทาง
แก้ไขปรับปรุงให้รถยนต์รุ่นต่อจากนี้ไป ดีขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคยอมรับ และนั่นจะเป็นผลดีๆ ย้อนกลับมาหาคุณ
ในภายหลัง มันอาจใช้เวลานานหน่อย แต่คุ้มค่า ที่จะทำเช่นนั้น
นั่นคือสิ่งที่ผมอยากจะใช้พื้นที่ตรงนี้ ในการยืนยันถึงเจตนารมณ์ของตัวเอง และ The Coup Team กันอีกสักครั้ง
เพื่อให้ความมั่นใจว่า ทั้งหมดนี้ เราทำไป ด้วย “ความสัตย์จริง ปราศจากอคติแอบแฝงใดๆทั้งสิ้น ทุกอย่าง เกิดขึ้น
จากผลที่ตัวรถ แสดงออกมาเองล้วนๆ”
ผมไม่ชอบโจมตีใคร โดยไม่จำเป็น เพราะรีวิวที่ผมทำอยู่นี้ ไม่ได้ตั้งใจเขียนขึ้น เพื่อประณาม หรือบอกให้ผู้บริโภค
ยุติการซื้อรถรุ่นนั้นๆ ไปเลย ผมรู้ดีว่า 2-3 ปีมานี้ รีวิวของเรา มันเริ่มมีผลกับการตัดสินใจซื้อรถยนต์ของหลายๆคน
มากขึ้น และนั่น ยิ่งเป็นงานยาก ในการจะต้องรักษาสมดุลย์ ระหว่างข้อดี และข้อด้อย ไม่ว่ารถคันนั้นจะดีจริงหรือไม่
คนที่ไม่เห็นด้วย ก็มักจะติฉินนินทา ถึงขั้นหาว่า “สื่อมันก็เป็นอย่างนี้ละจิมมี่ มันคงจะไปรับเงินใครเขามาเหมือน
สื่อคนอื่นๆแหละ”
ซึ่งถ้าใครมองอย่างนั้นได้จริง ผมคงต้องขอด่าว่า “ไอ้กร๊วก!” จุดประสงค์ที่ผมทำบทความมา ก็เพื่อให้รู้ว่า บทความที่
เขียนโดยไม่ต้องมีเรื่องเงินมาเกี่ยวข้องเลยหนะ มันจะออกมาเป็นยังไงโว้ย! ดังนั้น ผมไม่เคยรับเงินใต้โต๊ะสกปรก
จากใคร รีวิวของผมไม่ได้มีไว้ขายใคร และต่อให้ใครมาลงโฆษณากับเรา ถ้ารถของเขาออกมาเป็นอย่างไร จะดีหรือ
ด้อยตรงไหน ผมก็จะเขียนอย่างตรงไปตรงมาเหมือนกันไม่มีการเลือกที่รักมักที่ชัง หรือเลือกปฏิบัติทั้งสิ้นแบบนี้ละ!
คนอื่น จะเป็นอย่างไร ผมไม่รู้ และไม่สนใจ”
แต่พอเขียนแบบตรงไปตรงมา คนที่ซื้อรถรุ่นนั้นๆ มาใช้ ก็จะไม่พอใจ และเอาผมไปด่าว่าเสียหาย อย่างที่คลับรถยนต์
บางแห่ง เมื่อไม่กี่ปีก่อน ซึ่งผมก็เข้าใจได้อยู่ว่า ในเมื่อ มุมมองของผม ไปโจมตีความเชื่อ และความคิด ในการตัดสินใจ
ซื้อรถของพวกเขา ก็ย่อมจะต้องมีคนที่ไม่เห็นด้วย ออกมาปกป้องความคิด ด้วยวิธีการเขียนระบายด่าทอผม เป็นธรรมดา
และครั้งนี้ ผมกำลังคิดว่า บรรดาชาวคลับ Brio สารพัดคลับทั้งหลาย ที่มีอยู่เยอะแยะเต็มไปหมด ก็คงจะทำเช่นเดียวกัน
กับผมแหงๆ ผมว่า ตัวเองคงไม่น่ารอดพ้นชะตากรรมนี้ไปได้ ตามเคย
ผมรู้ดีว่า หลังอ่านรีวิวฉบับนี้จบ ปฏิกิริยาของคุณผู้อ่าน คงจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่า คุณเป็นใคร?
ก่อนอื่น ถ้าคุณเป็นคุณผู้อ่านธรรมดาๆ คิดจะมองหารถยนต์ขนาดเล็ก 1 คัน ไว้ขับใช้งานในเมืองใหญ่ๆ แล้วละก็
ข้อความข้างล่างนี้ คือสิ่งที่ผมอยากจะบอกกับคุณครับ…
หลังจากที่ผมได้ใช้ชีวิตกับ Brio ถึง 3 คัน ตลอด 1 สัปดาห์เต็มๆ ทำให้ผมได้มั่นใจมากยิ่งขึ้นที่จะตอบว่า “เปล่าหรอก
ผู้บริโภค ไม่ได้มีอคติ มากเกินไปกับรถคันนี้หรอก เพราะบางส่วน มันก็เป็นจริงอย่างที่ผู้บริโภคเขามองกันนันแหละ”
เพียงแต่ว่า คนส่วนใหญ่ มองแต่ข้อเสียของมัน จนมองไม่เห็นข้อดีของมันเลย ต่างหาก!
ถ้าถามคนทั่วไป ว่า Brio มีข้อเสียอะไรบ้าง โอ้! ตอบกันสนุกปากเลยครับ บั้นท้ายของมันยังไงละ ใครๆก็ตอบได้ มันช่าง
สั้นกุดอะไรได้ขนาดนั้น เหตุผลก็มีกันต่างๆนาๆ กันไป บ้างก้ว่า ไม่สวยละ ออกแบบได้อุบาทว์บ้างละ บ้างก็เป็นห่วงว่า
ถ้าโดนรถมาเสยบั้นท้ายเข้าไป จะมีชีวิตรอดกลับบ้านหรือไปถึงโรงพยาบาลหรือไม่ วัสดุก็ Look cheap บ้างละ สีพรรณ
สรรพางค์ของห้องโดยสาร ก็ดูไม่เข้าท่าบ้างละ ฯลฯ
แต่..ลองถามว่า แล้วข้อดีของ Brio ละ คืออะไร? หลายคนนึกนานมาก นึกไม่ออก บางคนก็ตอบว่า “ศูนย์บริการทั่วไทย”
โห! พี่ นั่นแสดงว่า นึกไม่ออกกันจริงๆแล้วใช่ไหมนั่น?
เอ้า! มาว่ากันเลยดีกว่า ข้อดีของ Brio ที่ผมเจอมานั้น ก็คือความคล่องแคล่ว และมั่นใจได้ในการขับขี่ ยิ่งโดยเฉพาะว่า
ถ้าคุณชอบขับรถด้วยแล้ว การจัดวาง Pacakging ต่างๆ รวมทั้งออกแบบครึ่งคันหน้า เรียกได้ว่า ลงตัว ตำแหน่งนั่งขับ
ไม่มีใครบ่นเรื่องนี้กันเลย เพราะมันลงตัวมากๆ แม้จะไม่มีก้านปรับระดับสูง-ต่ำของเบาะคนขับมาให้ ผมก็มองว่า
มันกลายเป็นของไม่จำเป็นกับรถคันนี้ไปเลยแหะ
ห้องโดยสารเอง ก็มีขนาดใหญ่กว่าที่คิด ผมเข้าไปนั่งแล้ว ไม่รู้สึกอึดอัดเลย เหมือนอารมณ์เข้าไปนั่งใน City
คันที่บ้านผม แต่ท้ายสั้นกว่า แค่นั้น! ยกเว้น พนักพิงเบาะหลัง ที่ควรจะมีความสูงมากกว่านี้ และหนากว่านี้
อีกหน่อยจะดีมาก
ถ้ามองในด้านการขับขี่ ประเด็นนี้ถือได้ว่า เป็นจุดแข็งของ Brio เพราะว่า มันคล่องแคล่วกว่า March อัตราเร่ง
มีมาให้ พอฟัดเหวี่ยงได้ดี ถ้าท่องเอาไว้ว่า เป็นเครื่องยนต์แค่ 1,200 ซีซี พวงมาลัยตอบสนองดีกว่า March ชัดเจน
ช่วงล่าง ให้ความมั่นใจ ขณะใช้ความเร็วในช่วง 80 – 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ดีกว่า March ชัดเจน โดยเฉพาะบน
พื้นทางหลวง ที่ไม่เรียบ และมีลักษณะเป็นคลื่น Wave คันเร่งไฟฟ้าตอบสนองได้ไวดี เซ็ตช่วงล่างได้น่าประทับใจ
เข้าโค้งสนุกใช้ได้เลย แม้จะแอบกระด้างไปนิดหน่อย ในบางช่วงที่เจอหลุมบ่อ แต่ก็นิ่งสนิทดีในความเร็วสูง ถ้า
ไม่เจอลมปะทะด้านข้าง แต่การตอบสนองของแป้นเบรก ก็ยังไม่ถึงกับดีเท่า March ซึ่งหน่วงความเร็วได้ดีกว่า
และเร็วกว่ากันนิดหน่อย
ที่สำคัญ Brio เป็นรถที่มีคุณลักษณะ พร้อมให้นำไปแต่งต่อ ในฐานะ รถบ้านแต่งเท่ๆ ใส่ล้ออัลลอย เพิ่มสเกิร์ต รอบคัน
ทำขอบประตูให้เป็นสีดำ แค่นี้ ก็หล่อแล้ว! หรือยิ่งถ้าจะเอาไปโมดิฟาย ลงแข่งในสนาม หรือแค่จะขับขำขำแบบ
Sunday Racing ก็ยิ่งเหมาะสมเข้าไปใหญ่เลย เนื่องจากตัวรถมี Potential ที่เอื้อ ให้นำไปเล่นสนุกต่อยอดได้อีกเยอะ
เรียกได้ว่า เป็น ECO Car ที่ออกมาเพื่อ เอาใจคนชอบขับรถอย่างแท้จริง!
นั่นละ ข้อดีทั้งหมดของ Brio ที่ผมค้นพบ…
แล้วข้อที่ควรปรับปรุงเพิ่มเติมละ?
แทบทั้งหมด ไม่ใช่เรื่องของสมรรถนะ แต่อยู่ที่ การออกแบบ ชิ้นส่วน และการประกอบเป็นหลัก
ประการแรก ที่ปัดน้ำฝนด้านหลัง ช่วยใส่มาให้ด้วย มาพร้อมกระจกบังลมหลัง แบบใหม่ที่แข็งแรงขึ้นกว่านี้อีกนิดก็ดี
ถ้าไม่คิดจะใส่ไล่ฝ้า ก็ต้องมีใบปัดน้ำฝนหลังเป็นอุปกรณ์ “มาตรฐานในทุกรุ่น”
ต่อด้วย ความยาวของห้องเก็บของด้านหลัง คงแก้อะไรไม่ได้แล้ว จนกว่าจะถึงรุ่นเปลี่ยนโฉม Full Model Change กัน
ซึ่งบอกได้เลยว่า น่าจะอีก 4-5 ปีขึ้นไป หรือไม่เช่นนั้น คงต้องรอ Brio Sedan ซึ่งก็คงมีอีก 2 – 3 ปีขึ้นไป
ไม่เพียงเท่านั้น หากคิดว่า บั้นท้ายของ Brio จำเป็นต้องสั้นแบบนี้ ช่วยเพิ่ม คานกันชนหลังมาให้อีกสักชิ้นหนึ่ง
แต่นั่น ก็อาจจะทำให้ต้องเพิ่มความยาวของเปลือกกันชนหลัง ออกมาอีกเล็กน้อย แต่นั่น ก็น่าจะเป็นผลดีในเชิง
จิตวิทยา ในความคิดของลูกค้ามากกว่า ว่าบั้นท้ายยาวขึ้นอีกนิดนึง มีคานกันชนหลังแถมมาให้ เชื่อว่าจะช่วยลด
ทอนความไม่สบายใจทุกครั้งที่เห็นบั้นท้ายของ Brio ลงไปได้เยอะเลยทีเดียว
แผงประตู ช่วยทำให้มันเต็มแผง อย่าให้เห็นสีตัวถังแบบนั้นออกมาอีกเด็ดขาด สำหรับคนไทยแล้ว การซื้อรถคือ
เรื่องใหญ่โต เหมือนการซื้อบ้าน ดังนั้น พวกเขาจะใส่ใจในทุกรายละเอียดมากๆ และต้องการความคุ้มค่าที่สุด
ดูดีที่สุด จากเงินที่เขาจ่ายให้คุณไป เช่นเดียวกัน การเก็บรายละเอียด ชิ้นงานขอบพลาสติกต่างๆ ควรจะประณีต
และทำออกมาให้ดูเรียบร้อย เหมือนรถรุ่นที่ใหญ่กว่า ไม่ใช่ปล่อยให้ฝาช่องเก็บของ Glove compartment เผยอ
ออกมาแบบนั้น มันดูไม่ใช่ Honda ในแบบที่คนไทยคาดหวังเลย
พนักพิงหลัง ที่เบาะหลัง ช่วยเพิ่มความสูงของมัน ให้รองรับกับแผ่นหลังของผู้ใหญ่ ตัวสูง 170 เซ็นติเมตรสักหน่อย
ก็น่าจะเพียงพอต่อการรองรับ สรีระของเด็กเล็กๆ พร้อมเบาะนิรภัยได้เช่นเดียวกัน
ที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การจัดแบ่งซอยรุ่นย่อย สำหรับการเลือกของลูกค้า จริงๆแล้ว รุ่นท็อป ทุกวันนี้ ควรจะมีค่าตัว
ระดับ 489,000 บาท ด้วยซ้ำ เพื่อที่จะได้เผื่อช่องว่าง สำหรับการทำรุ่นท็อป อัดอุปกรณ์เต็มพิกัด ขายในราคา 525,000
ถึง 530,000 บาท แต่ทุกวันนี้กลับกลายเป็นว่า ใครที่อยากได้เกียร์อัตโนมัติ จะโดนผลักไสให้ไปซื้อรุ่นท็อปเท่านั้น
เท่ากับว่า ผู้บริโภค ไม่มีทางเลือกมากเท่าที่ควร และนั่น ก็ทำให้ลูกค้าจำนวนไม่น้อย ยอมเลือกจะไปจบกับ March
ไปอย่างน่าเสียดาย
ท้ายที่สุด กรอบประตูสีดำ เหมือนเวอร์ชัน Prototype อย่างน้อยๆ ควรมีในรุ่นท็อป 1 รุ่น เอาไว้เป็นตัวชูโรง เรียกลูกค้า
เข้าโชว์รูม แม้จะทำให้ต้นทุนเพิ่มแต่คิดว่าคงไม่น่าจะมากนัก หากเทียบกับปริมาณยอดขายที่น่าจะตามมาหลังจากนี้
และจะให้ดี รุ่นท็อปควรมีที่วางแขนพับเก็บได้ จาก jazz รุ่นเก่า แถมมาให้ด้วยจะดีมาก
ทั้งหมดนี้ ก็เป็นข้อเสีย เท่าที่ผมพอจะค้นพบในช่วงเวลานั้นๆที่ใช้ชีวิตอยู่กับ Brio
ทีนี้ ถ้าคุณเป็นคนของ Honda ไม่ว่าจะทำงานอยู่ใน Honda Automobile Thailand หรือ Asian Honda Motor ผมก็คงต้อง
เรียนกันตามจริง ในฐานะคนคุ้นเคยกัน และไม่คิดที่จะเหยียบย้่ำเพื่อนฝูงกันให้จมธรณีดิน หากแต่ อยากจะเห็นเพื่อน
ได้มองเห็นความจริง เพื่อจะนำไปใช้ในอนาคต
มีอยู่ 1 คืน ที่ผม กับตาเอก Backseat Driver แห่ง The Coup Team ของเรา ในฐานะที่เคยทำงานในอุตสาหกรรมรถยนต์
มาก่อน เรานั่งพุดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกันเรื่อง Brio อย่างหนักหน่วง และเราทั้งคู่ ก็ได้สรุปความเห็นกันออกมาว่า
การเปิดตัว Brio ครั้งนี้ เรามองว่า Honda ต้องรับมือกับปัญหามากมาย อย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยซึ่ง
ไม่อาจควบคุมได้ อย่างแผ่นดินไหว และสึนามิ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ทำให้ทุกอย่างรวนเละเทะไปหมด
จนถึงขั้นมีปัญหาการจัดส่งชิ้นส่วน ลามมาถึงปัญหาด้านการประกอบ (เพราไม่มีชิ้นส่วนจัดส่งมาจากญี่ปุ่น) และผลกระทบ
ก็ไปหล่นแหมะอยู่กับลูกค้า ทำให้หลายราย เลือกที่จะถอนจอง และหนีไปซื้อ Nissan March แทนก็มี
อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ การวางกลยุทธ์ในระดับโลก มองกันในระดับรากเหง้าของปัญหาก็คือ Honda มองเห็น
โครงการ ECO Car ว่า น่าจะเป็นช่องทางใหม่ ในการใช้สิทธิประโยชน์ซึ่งทางภาครัฐเปิดโอกาสให้ ทำรถยนต์ราคาประหยัด
ออกมาขาย แต่ปัญหาคือ คู่แข่งอย่าง Nissan มองเห็นเรื่องนี้ และวางกลยุทธ์ ไว้ ไกลกว่าที่ Honda จะมองเห็น
ขณะที่ Nissan ตั้งใจจะทำ March และ รถเล็กในตระกูลร่วมกัน 3 รุ่น ให้ได้มากถึง 1,000,000 คัน นั่นหมายความว่า
ปริมาณของชิ้นส่วนอะไหล่ที่สามารถใช้ร่วมกันได้ของรถทั้ง 3 รุ่นนี้ จะมีมากมายมหาศาล มากเพียงพอให้ ผู้ผลิต
ชิ้นส่วนอิ่มหนำสำราญใจ เพียงพอที่จะลดราคาต่อชิ้น (Cost per unit) ของแต่ละชิ้นส่วนลงได้ต่ำกว่าราคาที่ Honda
จะได้รับจากผู้ผลิตชิ้นส่วนของตน ตามหลักการที่ว่า “ยิ่งผลิตมาก ราคาต้นทุนต่อชิ้น จะยิ่งถูกลง”
แต่ Honda เอง ยังมองแค่ว่า จะทำอย่างไร ถึงจะขายรถยนต์ขนาดเล็กแบบนี้ ให้ได้ถึงระดับ 100,000 คัน ภายใน
เวลา 5 ปี ตามแผนการสนับสนุน ECO Car ของรัฐบาล และเมื่อมองในระดับมหภาคแล้ว เราก็คาดไว้ในตอนแรก
ว่า Honda น่าจะส่งรถคันนี้ไปขายไกลถึงยุโรป แต่เปล่าเลย มันไม่ใช่เช่นนั้น Honda กลับเลือกที่จะมองแค่ทำรถ
ออกมาตอบโจทย์ เฉพาะตลาดในประเทศไทย อินเดีย เป็นหลัก ดังนั้น ยอดรวมที่ Honda คาดหวังไว้คือ ถ้าขาย
ในตลาดทุกแห่ง โดยมีไทย และอินเดีย เป็นหลัก ได้ 300,000 คัน ก็ดีใจแล้ว ต่อให้คิดเล่นๆว่า มี Brio Sedan
โผล่ขึ้นมาอีกรุ่นหนึ่ง ยอดรวมทั้งหมด ก็ไม่น่าจะดีไปกว่า 500,000 – 600,000 คันไปได้
และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ เราได้เห็นความพยายามในการลดต้นทุนของ Honda โผล่มาในหลายจุดของงานออกแบบ
ทั้งภายนอก และภายในตัวรถ มันเป็นสิ่งที่เห็นแล้วน่าหงุดหงิดใจยิ่งนัก แต่ ก็ต้องทำใจ เพราะ ดูเหมือนว่า Honda เอง
ก็ได้พยายามอย่างหนัก ที่จะลดต้นทุนลงไปให้ต่ำ แต่ยังต้องทำให้ลูกค้าสัมผัสได้ ว่ายังใช้วัสดุ และอุปกรณ์ ที่ดูดีพอใช้
ซึ่งพวกเขาทำได้ดีที่สุดแล้ว ณ เวลานี้ ไม่อาจดีได้กว่านี้อีก ไม่เช่นนั้น ราคาขายปลีก ก็จะต้องแพงขึ้นไปกว่านี้อีก
และนี่ก็ดุเหมือนว่าน่าจะเป็นอีกเหตุผลเช่นกัน ที่ทำให้ Honda เอง ไม่อาจจะขยายความยาวของตัวรถ ให้เพิ่มขึ้นไป
กว่านี้ อีกนิดหน่อย อย่างน้อย ก็ให้ใกล้เคียงกับ March ซึ่งยาวกว่าถึง 17 เซนติเมตร เพราะในความจริงของการพัฒนา
รถยนต์นั้น การเพิ่มความยาวตัวถ้ัง หรือระยะฐานล้อ อีกเพียงแค่ 1 เซ็นติเมตร นั่นหมายถึง ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสูงนับ
ล้านๆบาทเลยทีเดียว
แต่ใช่ว่า Brioจะมีคู่แข่งที่ต้องรับมือ เพียงแค่นี้ เพราะนับจากนี้ไป จนถึงปี 2014 กองทัพรถยนต์กลุ่มนี้ จะเริ่มทะยอยพากัน
เปิดตัวสู่ตลาดเมืองไทย และทุกคนต่างล้วนมีแนวโน้มจะแย่งยอดขายของ ทั้ง March กับ Brio ได้สบายๆ เพราะทุกคัน
ที่คุณจะได้อ่านข้างล่างนี้ ราคาขายปลีก จะอยู่ในช่วง 400,000 – 530,000 บาท ทั้งสิ้น!!!
เริ่มกันตั้งแต่เดือนกันยายนนี้ Nissan จะส่งระเบิดลูก 2 ถล่มตลาด ECO Car ด้วยการส่ง March ในตัวถัง Sedan ที่ถูกออกแบบ
ขึ้นมาใหม่ทั้งคัน ภายใต้รหัสโครงการ L02B ซึ่งเปิดตัวไปแล้วในเมืองจีนด้วยชื่อ Nissan Sunny (ชื่อที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับ
รากกำเนิดที่มาของรถคันนี้เอาซะเลย แค่เอาชื่อของรถเก๋งที่ประสบความสำเร็จมากสุดของพวกเขามาสวมลงไปดื้อๆแค่นั้น)
โดยรถคันนี้ จะถูกเปิดตัวในตลาดเมืองไทย ภายใต้ชื่อ Nissan ALMERA (ไอ้หยา นี่ก็เรื่องบ้าๆอีกแล้ว เอาชื่อของ Sunny NEO
Sedan ทั้งในยุโรป และในไทย มาใช้เป็นชื่อรถที่มีตำแหน่งการตลาดด้อยกว่าเนี่ยนะ? ญี่ปุ่นกับฝรั่ง คิดอะไรกันอยู่วะเนี่ย??)
งานนี้ Nissan ตั้งใจดันยอดขายอย่างมาก เพราะการเอา Sub-Compact Sedan ที่มีตัวถังยาวสุดในตลาด มาวางเครื่องยนต์ของ
March แค่ 3 สูบ 12 วาล์ว 1,200 ซีซี ไม่เน้นความแรง เท่ากับว่า พวกเขาต้องการวางตำแหน่งการตลาดของ Almera ใหม่ ให้
เป็นรถยนต์ Sedan 4 ประตู ที่มีค่าตัวถูกสุดในตลาด อย่าลืมนะครับว่า คนไทยส่วนใหญ่ในประเทศนี้ ถ้าไม่ซื้อรถกระบะแล้ว
ยังไงๆ ก็จะขอเลือกรถเก๋ง Sedan ที่เน้นประหยัดน้ำมันก่อน โดยไม่สนว่ามันจะแรงมากแรงน้อยแค่ไหนก็ตาม เชื่อเถอะว่า
มันจะเป็นรถเก๋ง ที่ไม่โดนใจคนบ้ารถอย่างพวกเราเสียเลย แต่จะขายดีถล่มทะลายจนหลายค่ายต้องทำท่า “กวางเหลียวหลัง”
เท่านั้นยังไม่พอ Suzuki Motor ที่มาตั้งโรงงานมูลค่า 9,500 ล้านบาทในจังหวัดระยองแล้ว ก็เตรียมจะปล่อย Suzuki Swift รุ่น
Full Model change ใหม่ทั้งคัน ประกอบในไทย ครั้งแรก ให้ดูกันในงาน Motor Expo ธันวาคมนี้ และน่าจะเริ่มขายจริงกันได้
ในเดือนมีนาคม 2012 รุปร่างหน้าตา จะเหมือนเวอร์ชันญี่ปุ่น เปี๊ยบ! แต่วางเครื่องยนต์ 1.3 ลิตร ซึ่งนั่นหมายความว่า Swift จะ
กลายเป็น ECO car ที่มีขนาดตัวถังใหญ่ที่สุดในตลาด และเผลอๆ มีแนวโน้มว่า จะมี Handling น่าจะดีที่สุดในกลุ่มนี้ด้วย!!
ยังครับ ยังไม่จบ Mitsubishi Motors ก็กำลังตั้งโรงงานผลิต เพื่อเตรียมปล่อย Sub-Compact Hatchback ของพวกเขาออกมา
ในเดือนมีนาคม 2012 ประธานใหญ่ Osamu Masako ประกาศลั่นไว้แล้วว่า ค่าตัวในรุ่นถูกสุดจะต้องอยู่ที่แถวๆ 400,000 บาท
เปิดตัวดับเครื่องชน Swaift กันพอดี
ส่วนพี่ใหญ่อย่าง Toyota ยังคงเดินหน้าค่อยๆ พัฒนา ECO Car ของตนในรูปแบบ Sub-Compact Hatchback เครื่องยนต์
1,200 ซีซี บนพื้นตัวถังของ Vitz / Yaris รุ่นปัจจุบัน และใช้ชิ้นส่วนต่างๆร่วมกับ Vios รุ่นต่อไป (เปิดตัวราวๆ มีนาคม 2013)
อย่างไม่รีบร้อน เพราะพวกเขามองว่า อยากเปิดตัวให้ได้ราวๆ ปลายปี 2013 นั่นยังมีเวลาให้พวกเขา ศึกษาคู่แข่งทุกค่ายอีก
นานอย่างเหลือเฟือ!
คำถามคือ เมื่อสิ่งที่จะเกิดขี้นต่อจากนี้ไป เต็มไปด้วยความน่าตื่นตาตื่นใจสำหรับลูกค้า แต่กลับกลายเป็นเรื่องน่าหวาดหวั่นใจ
ของคน Honda คำถามก็คือ แล้ว Brio ละ ควรจะทำตัวอย่างไรในสภาพการแข่งขันที่จะดุเดือดเลือดพล่านยิ่งกว่าทุกศึกใดๆ
ที่พวกเขาเคยเจอมา?
ต่อไปนี้ คือคำแนะนำจาก J!MMY , Commander CHENG และ ตาเอก Backseat Driver จาก Headlightmag.com ถึงชาว
Honda ซึ่งเราเชื่อมั่นว่า น่าจะช่วยพยุงให้ Brio ผ่านช่วงเวลาที่น่าเป็นห่วงนี้ ไปได้ด้วยดี
ข้อแรกเราอยากเห็นการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ทั้งหมด วางตำแหน่งตัวรถใหม่ พร้อมกับปรับทัพ เสริมรุ่นย่อย หรือ
เพิ่มความคุ้มค่าให้ผู้บริโภคได้เปรียบเทียบกับ March ให้ลงตัวได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ทำอย่างไรก็ได้ ให้ ผู้บริโภคเห็นว่า การ
เริ่มต้นมีรถยนต์คันแรกในชีวิต ด้วย Brio เป็นการเริ่มต้นที่ดี เพราะแนวทาง “ชีวิตที่ลงตัว” นั้น มัน “ธรรมดา” และไม่ก่อ
ให้เกิด Impact ใดๆ กับผู้บริโภคเลย พวกเขามองไม่ออกว่า มัน “ลงตัว” อย่างไร ในเมื่อพวกเขาเห็นแต่ความ “ไม่ลงตัว” ใน
ตัวรถอย่างที่เป็นอยู่ ดังนั้น การเปลี่ยนมาใช้แนวทาง ในฐานะ รถยนต์สำหรับคนที่เริ่มต้นมีรถกับเขาเป็นคันแรก น่าจะพอ
ช่วยให้ Brio ยังประคับประคองยอดขายไปได้อยู่
เห็นได้ชัดเลยว่าคุณจำเป็นต้องหาความแตกต่าง จาก March ให้เจอ เพราะแคมเปญเปิดตัวในช่วงแรกนั้น ทุกวันนี้ แทบ
ไม่มีใครจดจำเลยว่า หมาก ปริญญ กับ ญาญ่า เป็นพรีเซ็นเตอร์ ให้ Brio ด้วย การจดจำได้ ณ วันนี้ เหลือน้อยมากๆ ดังนั้น
การหาความต่างให้กับ Brio เป็นสิ่งสำคัญ และผมเริ่มมองว่า การวางตัวเองให้เป็น “รถคันแรก สำหรับคนชอบขับรถ” ไม่ว่า
จะเป็นแนวธรรมดา หรือแนวสปอร์ต คือสิ่งที่ Honda ควรจะเร่งทำอย่างรีบด่วน เพื่อที่จะสร้างภาพลักษณ์ใหม่ ในใจลูกค้า
ขึ้นมาให้ได้ มันคือ หนทางหนึ่ง ที่ยังเหลืออยู่ และดูน่าจะเหมาะสมที่สุด ถ้าคิดที่จะรักษายอดขาย ให้พอฟัดเหวี่ยงกับ March
ได้ ตลอดอายุตลาดนับจากนี้ไป
ข้อต่อมา การทำตลาดร่วมกับ คาราบาว ไม่ใช่คำตอบในการดึงลูกค้ากลุ่มใหม่ให้เข้ามาหา Honda ที่ดีนัก ต่อให้บอกว่า นี่คือ
วิธีการหาลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ที่ Honda อยากเข้าถึง แต่ในความจริง กลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบ คาราบาวนั้น แม้จะมีหลายกลุ่ม มากๆ
แต่ส่วนใหญ่ คือกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบความ “แมนๆ ทรหด สู้งาน สู้ชีวิต ลุยๆ” ซี่งไม่ได้สอดคล้องกับภาพลักษณ์ของ Brio เอง
แต่อย่างใด และในอดีตที่ผ่านมา กลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้ จะนิยมชมชอบ ในรถกระบะ มากกว่า การจะเปลี่ยนพฤติกรรมลูกค้า
ให้เปลี่ยนจากรถกระบะ มาเป็น Brio นั้น แทบเป็นไปไม่ได้เลย ต่อให้จะบอกว่า แอบหวังให้ลูกค้ากลุ่มนี้ ซื้อ Brio ให้
ลูกชาย หรือลูกสาวขับขี่ไปเรียน ผมว่ามันก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ หรือถ้ามีจริง ก็คงมีน้อยมากๆ นี่ไม่ใช่วิธีที่ดีในการสร้าง
Brand Awareness ให้เกิดกับแบรนด์ Honda และตัว Brio เองเลย แม้แต่น้อย อยากให้ Honda ทบทวนเรื่องนี้อย่างจริงจัง
แผนระยะยาว? Brio Sedan 4 ประตู!! เล่นไม่ยากเลย ก็แค่ เอา Brio ทั้งคันมาเป็นพื้นฐาน (เพราะครึ่งคันหน้า มันดีอยู่แล้ว)
มาแก้ไขส่วนที่เป็นจุดด้อย ต่อบั้นท้ายให้ยาวออกไป อีกนิดหน่อย แต่ต้องดูสมส่วน อย่าให้บั้นท้ายยาวเฟื้อย เป็นเหมือน
Honda City ZX หรือ Nissan ALMERA เด็ดขาด อย่าลืมทำไฟท้ายให้สวยสะเด็ด สอดรับกับด้านหน้าของรถด้วยละ อย่า
ทำไฟท้ายเด็กแนว เหมือน Honda รุ่นอื่นๆ ออกมาอีกเชียว ถ้ารถออกมาดูสวยงามลงตัว และวางกลยุทธ์ในการพัฒนา
รวมทั้งขอแผนการตลาด ที่เจ๋งกว่าปัจจุบัน เดี๋ยวยอดขาย ก็จะกลับเข้ามาหา Honda เอง
รีบหน่อยนะครับ อย่าให้ช้าไปกว่า ปลายปี 2013 เพราะเมื่อถึงเวลานั้น สถานการณ์ต่างๆ จะย่ำแย่จนเกินเยียวยา!
อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณคิดว่า จะลงหลักปักฐานด้วยการตัดสินใจเลือก Brio และยังสงสัยอยู่ว่า 3 รุ่นย่อยที่มีอยู่ในตอนนี้
ควรจะเลือกซื้อรุ่นไหนดีกว่ากัน? คำตอบ กลับไม่ใช่เรื่องยากเย็นอย่างที่คิดกัน
รุ่นพื้นฐาน S เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ ราคา 399,900 บาท คือรุ่นที่เหมาะมาก สำหรับการนำไปใช้เป็นทั้งรถบริษัท
ขับติดต่องานในกรุงเทพฯ หรือในเมือง อีกทั้งยังเป็นรถที่เหมาะสำหรับการนำไปตกแต่งต่อ ถึงขั้นทำเป็นรถแข่งในสนาม!
แค่ถอดข้าวของในรถออก เสริม Roll bar ทั้งคัน เอา Turbocharger รุ่นที่เหมาะสม มาติดตั้งเข้าไป ก็แรงขึ้นได้อีกพอสมควร
ส่วนช่วงล่าง กับระบบเบรก ทำเพิ่มจากเดิมอีกหน่อย แค่นี้ก็ได้รถแรงไม่บานปลายแถมยังป้ายแดงเถือก ไว้ขับเล่นขำขำแล้ว
หรือถ้าคิดจะยกเปลี่ยนเครื่องยนต์เป็น L15A จาก Jazz / city ก็ย่อมได้อีกเหมือนกัน แต่ถ้าถึงขั้นจะยกเครื่องยนต์ K20A
มาวาง ก็น่าจะต้องศึกษาดูความเป็นไปได้ให้มากกว่านี้กันอีกสักนิด
รุ่นท็อป V เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ ราคา 469,500 บาท คือรุ่นที่เหมาะกับลูกค้าซึ่งคุ้นชินกับการขับรถเกียร์ธรรมดา
และไม่อยากใช้รถเกียร์อัตโนมัติ มีอุปกรณ์ต่างๆมาให้ ครบ เทียบเท่ารุ่นท็อป ในราคาที่ถูกกว่าถึง 39,000 บาท ถือเป็น
รุ่นที่เรามองว่าเป็น Best buy สำหรับคนที่คิดว่า รับได้กับอัตราการกินน้ำมันที่อาจจะด้อยกว่า Nissan March เกียร์ธรรมดา
เกือบๆ 2 กิโลเมตร/ลิตร และออพชันที่อาจจะเหลื่อมล้ำไปกว่า March นิดหน่อยในภาพรวม เพราะถ้าต้องการอุปกรณ์เท่ากัน
คุณสามารถมองหา March เกียร์ธรรมดา 1.2 E ได้ในราคาถูกกว่านี้ คือ 430,000 บาท
สิ่งที่คุณจะได้เพิ่มขึ้นมาจาก รุ่น S ก็คือ ล้ออัลลอย 14 นิ้ว รวม 4 วง ไม่รวมล้ออะไหล่หลังรถ เซ็นทรัลล็อก กุญแจรีโมท กระจก
มองข้างปรับด้วยสวิชต์ไฟฟ้า แผงสวิชต์เครื่องปรับอากาศแบบเมทัลลิค ช่องจ่ายไฟสำรอง วิทยุ CD/MP3 แบบ 2DIN (คือรุ่น S
จะไม่มีวิทยุมาให้เลย) ช่อง USB AUX ลำโพงคู่หน้า และสัญญาณกันขโมย ดังนั้น ถ้าต้องการรุ่นเกียร์ธรรมดา ให้มองรุ่น V
ไปเลยจะคุ้มค่ากว่าอย่างชัดเจน
รุ่นท็อป V เกียร์ CVT ราคา 508,500 บาท กลายเป็นรุ่นที่ Honda อยากขายมากที่สุด และตั้งราคาไว้สูงโด่งที่สุด ทั้งที่
เมื่อเทียบอุปกรณ์ต่างๆแล้ว เงิน 39,000 บาท ที่เพิ่มขึ้นมาจากรุ่นเกียร์ธรรมดา ก็ถือเป็นค่าเกียร์อัตโนมัติ CVT ซึ่งก็ไม่น่าจะ
แพงได้ถึงขนาดนี้ หากคุณต้องการ Brio เกียร์อัตโนมัติ นี่คือ ทางเลือกเดียวที่คุณจำเป็นต้องเลือก (เพราะมีอยู่แค่รุ่นเดียวที่
ติดตั้งเกียร์อัตโนมัติ CVT มาให้) ซึ่งเมื่อเทียบอุปกรณ์ประจำรถทั้งหมดแล้ว ต่อให้คุณเลือก March รุ่น 1.2 EL คุณก็ยังจ่าย
เพียง 494,000 บาท ถูกกว่ากัน 14,500 บาท
ทั้งหมดนี้คือราคาจากเว็บไซต์ของทั้ง www.honda.co.th และ www.nissan.co.th ณ วันที่ 17 สิงหาคม 2011 เมื่อรีวิวนี้
ออกสู่สายตาสาธารณชน ราคา และอุปกรณ์ต่างๆ อาจมีการเปลี่ยนแปลงหลังจากนี้ ดังนั้น ควรจะสอบถามจากพนักงานขาย ใน
โชว์รูมของทั้ง 2 ยี่ห้อ เพื่อข้อมูลที่อัพเดทกว่านี้
แต่สำหรับวันนี้ ถ้าคุณ ยังตัดสินใจไม่ได้ซะที แล้วเดินมาถามผมว่า “ระหว่าง March กับ Brio ควรจะเลือกคันไหนดีกว่ากัน?”
คกำตอบที่ผมจะมีให้คุณได้ในตอนนี้ ก็คือ ถามใจคุณเลยครับว่า ซื้อรถแล้ว จะเอาไปแต่งต่อหรือใช้ขับไปทำงาน แบบเดิมๆ?
1. ถ้าชอบรถเดิมๆ เอาไปแต่งในแนวสวยๆ เก๋ๆ เดินเข้าโชว์รูม Nissan ไปเลยครับ “March จบกว่าในแทบทุกประเด็น”
ยกเว้นสมรรถนะการขับขี่ ที่ Brio ทำได้ดีกว่า ส่วน March ทำได้แค่ใกล้เคียง Brio แต่ไม่ดีเท่า
2. แต่ถ้าคิดจะซื้อรถเอาไว้ขับคนเดียว มีเพื่อนมานั่งข้างๆบ้าง หรือคิดจะซื้อเอาไปแต่งต่อ เป็นรถแข่งตัวน้อยคันเล็กๆ
วิ่งดุ๊กๆๆ อย่างมั่นใจ เอาไปเปลี่ยนเครื่องยนต์ หรือไม่ก็จับยัด Turbocharger ให้แรงกว่านี้ ทำช่วงล่างอีกสักหน่อย ก็สนุก
กับความเป็นรถเล็ก แนว Extreme ได้ดังใจที่คุณจะพามันไป ถ้าความต้องการของคุณ ออกมาเป็นแบบนี้ Brio คือรถเล็กที่คุณ
ควรจะจ่ายเงินเพื่อเป็นเจ้าของมากกว่า…
ถ้าคุณรับได้กับบั้นท้ายที่สั้นจุ๊ดจู๋ แถมดูน่าหวั่นใจ ของมันนะ!
——————————————///——————————————-
ขอขอบคุณ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Honda Automobile (Thailand ) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ
————————————————
บทความของรถยนต์ในกลุ่มตลาดเดียวกัน ที่ควรอ่านเพิ่มเติม
รวมบทคตวามทดลองขับรถยนต์ในกลุ่ม ECO Car (Sub-B Segment / A-Segment 1,000 – 1,300 cc.)
————————————————
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน ภาพวาดกราฟฟิกทั้งหมด เป็นลิขสิทธิ์ของ Honda Motor Co.
ประเทศญี่ปุ่น ส่วน ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
19 สิงหาคม 2011
Copyright (c) 2011 Text and Pictures (All Illustration is own by Honda Motor Co.)
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
August 19th,2011