“ไอ้จิม มึงจะเขียนด่ากู กูไม่ว่านะ แต่มึงช่วยเขียนถึง Fiesta ดีๆหน่อยแล้วกัน”

คำพูดของ “เข่ง” เพื่อนสมัยเรียนของผม ซึ่งทำงานอยู่ในฝ่ายการตลาดของ Ford Sales (Thailand)
ดังลั้นขึ้น กลางออฟฟิศ ของสำนักงานชั้น 20 ตึกเลครัชดา แน่นอนว่าประโยคดังกล่าว ลอยเข้าหู
ของบรรดาพนักงานบริษัทรถยนต์เชื้อชาติและสัญชาติอเมริกันขนานแท้ แห่งนี้ ในเย็นวันที่ผมนำ
เจ้า Fiesta 1.4 ลิตร 1 ใน 4 คันที่เราทะยอยยืมมาทำรีวิว ไปคืนทาง Ford โดยทั่วกัน

จะว่าไปแล้ว ผมออกจะเสียดายอยู่นิดหน่อย ร่างของเข่ง ถึงจะอยู่ห่างจากผมไม่มากนัก
แค่เพียงมี พาร์ทิชันกั้นคอกทำงาน เท่านั้น ที่กั้นขวาง

กระนั้น มันก็อยู่ห่างไกลพอที่จะทำให้รอดพ้นจากการโดนผม เหวี่ยงลูกแป ใส่ก้นเหี่ยวๆของมัน
เป็นอย่างยิ่ง ช่างเป็นโชคดีของ เข่ง อะไรเช่นนี้…..

และเพียงประโยคนี้แหละ ที่ทำให้ผม ตัดสินใจในเสี้ยววินาทีนั้นเองว่า ตัวละคร ประจำบทความ
รีวิวรถของผม ในคราวนี้ จะไม่ได้มีเพียงแค่ตาโป่ง จาก ตาโป่ง PR สุดหล่อ (ไม่มีเหล่าเต้ง) ของ Ford
เพียงคนเดียว…

ไอ้เข่ง เนี่ยแหละ…จะโดนไปด้วย!! หึหึหึ

ก็รู้ทั้งรู้กันอยู่แล้วว่า ต่อให้ เพื่อนจะนั่งทำงานอยู่ในบริษัทรถยนต์ แต่ ข้าพเจ้า ก็ยังคงยืนยัน
เจตนารมณ์ดั้งเดิมที่ว่า  รถแต่ละคัน มีทั้งด้านดี และด้านด้อย ถ้าด้านไหนดี เราก็ต้องชมเชย
ถ้าด้านไหนด้อย เราก็ต้องตำหนิ แต่ ต้องติเพื่อก่อ ไม่ใช่ ด่าทอเพื่อทำลายล้างให้ฉิบหายวายป่วง
จมธรณีดินกันไปเลย อันนั้น ก็คงเป็นเรื่องของสื่อมวลชนรุ่นเก่าๆ ที่เขาเสียผลประโยชน์
จากการที่โฆษณาถูกถอดออก เขามักนิยมทำกัน เพื่อตีหัวเข้าบ้าน ไม่ใช่แค่คนในวงการรถยนต์
ด้วยกันเท่านั้น แต่คุณผู้อ่าน ก็คงจะรู้ดีว่าเป็นใครกันบ้าง โดยที่ไม่ต้องสืบสาวอะไรกันต่อ
(อันที่จริง Ford เองก็เคยโดนมาแล้ว เมื่อไม่กี่ปีก่อนนี่นา?)

ดังนั้น Headlightmag.com เอง ก็จะไม่มีวันทำแบบนั้น ต่อให้รถจะดีเด่น ขั้นเทพขนาดไหน
ก็ยังมีจุดให้ต้องติกันได้อยู่ดี และต่อให้รถที่เลวร้ายหาดีแทบไม่ได้ อย่าง Tata Xenon เราก็ยัง
อุตส่าห์ เห็นข้อดีของมันจนได้…เช่น พื้นที่ห้องเครื่องยนต์ใหญ่มาก พอจะให้คุณใส่รองเท้า
ผ้าใบที่เปียกแฉะ เข้าไปอบข้างใน ระหว่างที่คุณติดเครื่องขับรถไปไหนต่อไหน เมื่อถึงที่หมาย
รองเท้าจะแห้งทันใจพอดีๆ!! (มีคนของ หนังสือ “นักเลงรถ” เขาลองมาแล้วนะเออ! ได้ผลด้วย!
นี่ข้าพเจ้าเห็นกับตาเลยนะ ถึงได้กล้าเขียน! คริคริ)

ฉะนั้น ต่อให้เข่งจะพูดประโยคแรกสุดของบทความนี้ กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง เจตนาข้าพเจ้าจะยัง
เหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง อย่ามากล่อมเสียให้ยากเลยเข่ง แม้ว่าบริษัทแกจะลงโฆษณา
เว็บฉัน 3-4 แบนเนอร์ควบ เลยก็ตาม ฉันก็ยังจะเขียนถึงรถของบริษัทแก ตามจริงแบบนี้อยู่ดี

หึหึหึหึหึ

อันที่จริง เข่งเอง ก็เคยเป็น พระเอก (จำเป็น) มาแล้วครั้งหนึ่ง ในรีวิว Ford Focus เมื่อปีที่แล้ว
และครั้งนั้น ผมก็ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า ถ้าทำรีวิว ออกมา “ตรงๆ จริงๆ” กันถึงขนาดนั้น แล้ว Focus
ยังขายไม่ได้อีก เข่งก็ควรจะลาออกไปอยู่บ้าน เลี้ยงลูก เลี้ยงเมีย ได้แล้ว..

ผลก็คือ หลังจากที่รีวิวฉบับนั้น ออกไป เราได้เห็น Focus TDCi บนถนนหนาตาขึ้นกว่าเก่า..
ดังนั้น เราก็ควรจะแสดงความยินดี ที่เข่งจะไม่โดนเจ้านาย และเพื่อนพ้องร่วมงาน บนชั้น 20
อาคารเลครัชดา เตะโด่งถีบส่ง ไปเลี้ยงลูกเมีย อยู่ที่บ้าน แต่ประการใด…

คุณกรู ดีใจ กับ คุณมรึง ด้วย อิอิ

แต่ที่ได้รับอานิสงค์ไปด้วย เกินกว่าผมจะคาดหมาย กลับกลายเป็น Focus 1.8 ที่ผมเคยติเอาไว้
เสียจนผู้ที่อุดหนุน รุ่น 1.8 ไปก่อนหน้ารีวิวผมครั้งนั้น จะคลอด ถึงขั้น ไม่พอใจกันเอาเรื่อง
เลยทีเดียวนั้น กลับขายดีขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย อีกด้วยต่างหากแหนะ

ไม่ว่ากัน และไม่เป็นไร ความคิดเห็นของผม คือความคิดเห็นของผม ความคิดเห็นของคุณ
ก็คือความคิดเห็นของคุณ มันอาจจะแตกต่างกันได้ และมันไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน
เพียงแต่ วันนี้ ผมอาจจะยังยืนยันความเห็นเดิมของผม ที่มีต่อ Focus ทุกรุ่น…

ทว่า…ผมมีความคิดเห็นที่เปลี่ยนไป…กับเจ้าเปี๊ยกฝูงใหม่ของ Ford Sales Thailand ที่เห็นอยู่นี้
และมันทำให้ผมนึกถึง ความคิดเห็นของ เข่ง ซึ่งเจ้าตัว พูดให้ฟัง เมื่อครั้งที่ ยังเหลือเวลาอีก
ราวเดือนเศษๆ ก่อนที่ Fiesta จะพร้อมเปิดตัวอย่างเป็นทางการ…

ครั้งนั้น ผมกับเข่ง เราไปเจอกันโดยบังเอิญที่ร้าน Vintage สีลม อันเป็นภัตตาคารอาหารอิตาเลียน
ซึ่งเพื่อนของผม และเข่งเอง หลายๆคนร่วมหุ้นเปิดกันอยู่ ใกล้สถานีตำรวจนครบาล บางรัก และ
เมื่อถูกถามถึง Fiesta เข่ง ก็เล่าให้ฟัง ถึงประสบการณ์ ในการขับ Fiesta เป็นครั้งแรกของตนว่า

“ตอนที่เขาให้พนักงานในบริษัทลองขับกัน เขาจัดให้มีรถของคู่แข่งในตลาดทั้งหมด มาเปรียบเทียบ
กันให้เห็นด้วย บนถนนลื่น กูลองเทียบดูแล้ว ระหว่าง Honda Jazz เนี่ย ลื่นปรื๊ด หลุดออกไปเลย แต่
Fiesta ผ่านโค้งไปได้สบายๆ กูอยากให้มึงได้ลอง จริงๆ รถมันดีมากๆเลยนะเว้ย!”

ตอนนั้น ผมคิดในใจว่า “ก็แหงละสิ เข่ง Fiesta ของแก มันมี ESP มาให้รายแรกในบรรดารถยนต์กลุ่ม
B-Segment ของเมืองไทย นี่หว่า บนถนนลื่นๆ ยังไง รถของบริษัทแกมันก็ต้องรอดจากพื้นลื่นๆ ได้ดี
กว่าชาวบ้านเขาอยู่แล้ว แกไปอยู่ไหนมาฟะ? ถึงเพิ่งจะมาเห็นคุณงามความดีของระบบ ESP เนี่ย?

ก่อนหน้านี้ ไม่เห็นแกจะเอา ESP ไปแปะใส่ Laser Tierra กับเขาบ้างเลย? “

ส่วนประโยคหลังที่บอกว่า อยากให้ผมลองเนี่ย ผมก็ไม่รู้จะพูดยังไงเลยจริงๆ

 

ก็เพราะว่า กว่าที่ผมจะได้มีโอกาสทดลองขับ Fiesta กับใครเขาเนี่ย เวลามันก็ผ่านพ้นหลังการเปิดตัว
มาเดือนเศษๆ คุณมาร์ค หรือ คุณธนบดี กุลทล ผู้จัดการฝ่ายการตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ของ Ford
ซึ่งเคยบอกว่า จะรีบหารถให้ผมได้ทดลองขับเร็วๆ ก็ไม่อาจทำได้ เพราะติดขัดปัญหาบางประการ
ซึ่งจะไปว่าเขาก็ไม่ได้ เพราะตอนนี้ ทราบมาว่า ได้บินไปรับตำแหน่งที่สูงขึ้น ถึงประเทศจีนแล้ว
(และต้องขอแสดงความยินดีอย่างยิ่งเอาไว้ตรงนี้)

แถมในช่วงที่ Ford ติดต่อเชิญไปลองขับ Fiesta ทริปใหญ่กันที่ภูเก็ต ผมก็ไม่ว่างในวันที่ตาโป่ง PR ตี๋น้อย
แสนขยันของ Ford ระบุไว้ หนำซ้ำ ผมเองก็ยังไม่รู้อีกว่า โป่งจัดเตรียมทริปนี้ ในรอบอื่นสำรองเอาไว้ให้แล้ว
ถึงกระนั้น เจ้าตัว ก็มิได้บอกกับผม เพราะว่าผม แจ้งกับโป่งช้าเกินไปว่า ไม่สะดวกไปร่วมงานด้วย 
(อ่านแล้วงงไหมครับ?)

ดังนั้น ในเมื่อ เราไม่อาจทดลองขับเป็นรายแรกได้ เราก็ขอลองขับเป็นรายสุดท้ายกันไปเลยดีกว่า
สรุปแล้ว ดูเหมือนว่า ผมอาจจะเป็น สื่อมวลชนสายรถยนต์ในไทย รายสุดท้าย ที่ได้มีโอกาสลองขับ
Fiesta จนได้ในที่สุด

เอ้า! ก็ที่ผ่านมา เราเป็นรายแรกกันมาตลอด งานนี้ ขอแข่งเป็นรายสุดท้ายบ้าง ก็คงไม่เป็นไรหนอกเนาะ!

ท้ายที่สุด ก็ต้องเป็น พ่อมดโป่ง นี่แหละ ที่พยายามหาทางล็อกรถเอาไว้ให้ผมเป็นคิวต้นๆ (หลังจากที่
ชาวบ้านชาวช่องเขาขับกันไปหมดทั้งบ้านทั้งเมืองแล้ว) ซึ่งนั่นจึงทำให้ คุณผู้อ่าน ได้เห็นรีวิว Fiesta
จากสื่อต่างๆมากมายก่ายกองกันเต็มไปหมด…และยังไม่เห็น Ful Review จาก J!MMY ในตอนนั้นซะที

 

แต่…ผมเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า ไม่น่าจะมีใคร บทความไหน ที่นำเสนอข้อมูล และรายละเอียด รวมทั้ง
ข้อดี ข้อเสียของ Fiesta อย่างตรงไปตรงมา ละเอียด เยอะ ยาวเฟื้อย เป็นมหากาพย์ อย่างที่คุณจะได้
สัมผัสกันข้างล่างนี้อีกแล้ว แค่อารัมภบทอย่างเดียว ก็ใช้เนื้อที่ข้างบนนี้ไปจนหมดสิ้น

เพราะคราวนี้ โป่งได้จัดเตรียม Fiesta ให้เราได้ลองขับกัน มากถึง 4 รุ่นย่อย 4 คัน ในสภาพที่ไม่ซ้ำกัน
ตั้งแต่ใหม่ซิงๆ วิ่งมาไม่เท่าไหร่ ไปจนถึงสภาพที่น่าเป็นห่วง เพราะรถสั่นเป็นเจ้าเข้าในรอบสูงๆ
และทั้ง 4 คัน ก็ช่วยให้เราเข้าใจในบุคลิกความเป็น Fiesta อย่างถ่องแท้ ถึงเนื้อโครงสร้างเหล็กโบรอน
เลยทีเดียว

งานนี้ ถ้าคนเขียน นั่งเขียนจนตาเหลือก ตาแห้ง จนต้องไปให้ พี่หมอจักษุแพทย์ ประจำบ้านของผม
ตรวจเช็คอาการกันแล้ว เชื่อว่า คุณผู้อ่าน ก็คงต้องใช้เวลานั่งอ่านกันตาแทบถลนออกนอกเบ้าแหงๆ

ถ้าพร้อมแล้ว……..

ช้าก่อน!
ตามธรรมเนียมของ Full Review ใน Headlightmag.com ขอนำคุณผู้อ่าน ย้อนกลับไปดูเรื่องราว
ความเป็นมา กว่าที่ Ford จะทำคลอด Fiesta รุ่นนี้ออกมาให้คุณได้เลือกเป็นเจ้าของกันสักหน่อย
เพื่อให้ได้รู้ว่า Fiesta ที่คุณหลงรักหัวปักหัวปำนั้น แท้จริงแล้ว เกือบจะเป็นโครงการที่ อดีตเจ้าชีวิต
ใน Ford Motor Company ไม่ค่อยอยากจะให้เกิดขึ้นมาเท่าใด ช่างผิดจาก สำนวน ในเอกสาร
ข่าวแจกสำหรับสื่อมวลชนที่ ทีม PR ของ Ford ในสหรัฐฯ เขียนขึ้นมาเมื่อปี 2006 เป็นอันมาก!

เรื่องของเรื่องก็คือ ในเอกสารข่าวแจกสำหรับสื่อมวลชน ฉบับดังกล่าว เมื่อแปลเป็นไทยแล้ว ระบุเอาไว้ว่า
“เรื่องราวของ โครงการนี้ เริ่มต้นเมื่อปี 1972 Fiesta ถือเป็นเป้าหมายส่วนตัวที่ Henry Ford II ผู้ซึ่งเชื่อมั่นใน
รถยนต์ขนาดเล็ก อยากให้เกิดขึ้นเป็นจริง เขาได้วางเป้าหมายให้มีการพัฒนารถยนต์ขนาดเล็ก สำหรับโลกขึ้น
ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน เขาได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจแทบทุกขั้นตอน เพื่อให้รถเล็กรุ่นใหม่คันนี้
มีอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า มีราคาที่เหมาะสม และมีต้นทุนที่ถูก เพื่อให้ทำกำไรได้”

แต่ในอีกด้านหนึ่ง Lee Iacocca อดีตประธานบริษัท Ford ในยุค 1970 ที่โดน Henry Ford II ผู้สืบทอดกิจการ
ต่อจาก Henry Ford คนปู่ สั่งปลดดื้อๆ อย่างอื้อฉาว และไร้เหตุผล ทั้งที่เจ้าตัวก็เป็น บิดาผู้ให้กำเนิดรถสปอร์ต
ระดับตำนานอีกรุ่นของวงการอย่าง Ford Mustang รวมทั้ง Fiesta แต่ท้ายที่สุด Iacocca คนนี้ ก็ได้ เข้าไปเป็น
ผู้กุมบังเหียน บริษัท Chrysler ที่กำลังจะลงหลุมฝังศพ ให้กลับขึ้นมาโลดแล่นได้ใหม่อย่างน่าอัศจรรย์ ความดัง
ของ ไอเอคอกคา ในช่วงเวลานั้น ก็พอกันกับ Carlos Ghosn จาก Renault-Nissan ในทุกวันนี้ เลยทีเดียว! เขา
ได้เขียนเล่าเรื่องราวเบื้องหลัง ลงในหนังสืออัตชีวประวัติของตนเองที่ชื่อว่า Iacocca An Autobiography
(Lee Iacocca with William Novak) ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 1984 และมีการแปลเป็นภาษาไทย โดย พิสัย คุณะสมาน
ปรากฎความตอนหนึ่งมีอยู่ว่า

“สำหรับเฮนรีแล้ว รถเล็ก เป็นเหมือนลางมรณะ สำนวนที่เขาชอบพูดอยู่เสมอก็คือ “รถเล็กมีรายได้น้อย” และ
“นับเป็นเวลากว่า 20 ปีที่พวกหัวฝักถั่วที่บริษัทฟอร์ด ได้ให้เหตุผลในการคัดค้าน ไม่ให้เราผลิตรถเล็ก แม้แต่
ผู้บริหารระดับสูงทางด้านกิจการยุโรป ก็ยังคัดค้านรถ Fiesta โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Phil Caldwell คัดค้านอย่าง
รุนแรงว่า มันจะเป็นการสูญเปล่า และขายไม่ออก หรือแม้จะขายได้ก็ไม่มีกำไร”

ไม่ว่า ความจริงแล้ว Henry Ford II จะมี Passion หรือไม่ชอบขี้หน้ารถเล็กก็ตาม (ซึ่งเราก็คงไม่อาจล่วงรู้ได้
เพราะ เจ้าตัว ก็ถึงแก่กรรมไปนานแล้วตั้งแต่ปี 1987) Iacocca บอกกับ Henry Ford II ว่า “แม้แต่เจ้าหน้าที่
ของเราเองในยุโรป ก็ยังไม่ต้องการให้ผลิตรถรุ่นนี้ ผมต้องการการสนับสนุนของคุณ เราไม่ต้องการคาดคะเน
เหมือนกรณีรถ Edsel (ที่พังพินาศย่อยยับใน 3 ปี หลังเปิดตัวเท่านั้น และทำเอา Ford สูญเงินไปนับพันล้าน
เหรียญสหรัฐฯ – ผู้เขียน) แต่ถ้าคุณไม่สนับสนุนผมทั้งจิตใจและวิญญาณแล้ว ก็ขอให้ลืมมันเสีย”

ในที่สุด เขาก็ยอมใจอ่อน และอนุมัติให้มีการสร้างรถยนต์รุ่นใหม่ เมื่อเดือนกันยายน 1972 ภายใต้รหัส
โครงการ “Bobcat” ด้วยเงินลงทุนกว่า 870 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของ Ford นับ
ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท จนถึงยุค 1980 เป็นต้นมา และยังถือเป็นการลงทุนนอกสหรัฐ ครั้งใหญ่ที่สุดอีกด้วย
เพื่อการผลิตรถยนต์ท้ายตัด Hatchback ขับเคลื่อนล้อหน้า ขนาดเล็กรุ่นนี้ เพียงลำพัง

ขณะเดียวกัน Ford เอง ก็เริ่มเจรจากับรัฐบาลสเปน จนต่อมา ได้มีการให้ข้อเสนอพิเศษด้านภาษีต่างๆ
จนในปี 1973 Ford เลือกเมืองเล็กๆที่ชื่อ Almussafes ใกล้กับเมือง Valencia ตั้งโรงงานผลิตรถรุ่นใหม่นี้
สมใจอยาก

หลังจากนั้น ในเดือนธันวาคม 1973 สงครามในตะวันออกกลาง ระหว่างอาหรับและอิสราเอล ทำให้ปัญหา
ราคาน้ำมันทั่วโลกพุ่งถีบตัวสูงที่สุด เป็นประวัติการณ์ จนทีมผู้บริหารของ Ford ร่วมกันเปิดไฟเขียว อนุมัติ
ให้โครงการ Bobcat เดินหน้าต่อไป ขณะที่ การก่อสร้างโรงงานในสเปน ก็เริ่มขึ้นอีกไม่กี่เดือนหลังจากนั้น
ทีมวิศวกร และทีมออกแบบของ Ford European vehicle engineering centres ทั้งใน Cologne เยอรมันี และ
ใน Dunton อังกฤษ รวมทั้ง Studio ออกแบบใน Turin ประเทศอิตาลี ต่างช่วยกันพัฒนารถเล็กคันใหม่นี้

ส่วนชื่อรุ่นสำหรับทำตลาดจริงนั้น กว่าจะมีการคัดเลือก ก็ล่วงเข้าสู่ปี 1974 มีชื่อมากมายให้ทีมผู้บริหารเลือก
โหวตกันกว่า 50 ชื่อ อาทิ Amigo (Isuzu เอาไปใช้ในภายหลัง) Bambi, Bebe, Bravo (Fiat เอาไปใช้หลังจากนี้)
Strada (ทั้ง Fiat และ Mitsubishi ก็เอาชื่อนี้ไปใช้ในภายหลัง) Bolero (Nissan เอาไปใส่ใน March รุ่นพิเศษ)
Cherie (ชื่อนี้ Nissan ครองอยู่ในตอนนั้น) Tempo (ถูกกนำไปใช้กับFord Sedan ขนาดเล็กในปี 1983) Chico,
Fiesta, Forito, Metro (ชื่อนี้ British-Leyland เอาไปตั้งชื่อรถ Austin Metro ของตนช่วงปี 1980) Pony (Hyundai
ใช้ชื่อนี้กับ Hatchback 5 ประตูของตนหลังจากนั้นไม่นานนัก) และ Sierra (Ford เอาชื่อนี้ไปใช้กับ รุ่นเปลี่ยน
โฉมของรถยนต์ขนาดกลาง Cortina ในปี 1982 ก่อนจะแทนที่ด้วย Mondeo ในปี 1993 – ปัจจุบัน)

ต่อให้ ผลโหวตของคณะกรรมการบริหารจะชอบชื่อ Bravo แต่ในเมื่อ Henry Ford II เป็นเหมือน พระเจ้า
ของบริษัท ในช่วงนั้น ประกาศิตของเขา ที่ว่าจะให้ใช้ชื่อ Fiesta ตามความชอบส่วนตัว จึงถือเป็นเด็ดขาด
เขาปิดห้องทำงานส่วนตัว บนชั้น 12 ของอาคาร Global Headquarter ที่ Dearborn มลรัฐ Michigan เพื่อ
ใช้เวลาตามลำพัง เลือกชื่อนั้นชื่อนี้ไปมา จนได้ข้อสรุปว่า “ชื่อ Ford กับ Fiesta ไปด้วยกันได้ดี มันดูมี
ชีวิตชีวา มีสีสัน และไม่หยุดนิ่ง…Bobcat จะต้องใช้ชื่อ Fiesta.”

18 ตุลาคม 1976 Ford Fiesta คันแรก ก็คลอดจากสายการผลิต หลังจากนั้นอีก 1 สัปดาห์ 25 ตุลาคม 1976
Henry Ford II และกษัตริย์ Juan Carlos ร่วมกัน ทำพิธีเปิดสายการผลิต Fiesta รุ่นแรกอย่างเป็นทางการ
ถือเป็นจุดเริ่มต้นของตำนานรถยนต์ขนาดเล็กเชื้อสายอเมริกัน สัญชาติยุโรป

รถรุ่นแรกถือว่า เปิดตัวออกมาได้ อย่างถูกที่ ถูกเวลา โดนใจกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย อันเป็นนักขับสุภาพสตรี
ซึ่งมียอดซื้อรถยนต์ มากถึง 20 เปอร์เซนต์ จากยอดขายรถยนต์ทั้งหมดในยุโรป ช่วงเวลานั้น Fiesta รุ่นแรก
กลายเป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อกับ Volkswagen Polo Honda Civic และ Renault 5 ในยุคนั้น ช่วงแรกที่เปิดตัว
ติดตั้งเครื่องยนต์ Ford Kent OHV เป็นเครื่องยนต์ 4 สูบ OHV 8 วาล์ว 957 ซีซี ทั้งรุ่นกำลังอัดต่ำ 40 แรงม้า (PS)
กับรุ่นกำลังอัดสูง 45 แรงม้า (PS) และเครื่องยนต์ 4 สูบ OHV 8 วาล์ว 1,117 ซีซี 53 แรงม้า (PS) ในรุ่นตกแต่ง
หรูสุด (ghia) ขับเคลื่อนล้อหน้าด้วยเกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ แบบ BC4

การตัดสินใจยอมเชื่อ Lee Iaccoca ของ Henry Ford II ทำให้ Fiesta เจเนอเรชันแรก หรือ รุ่น Mk-I ประสบ
ความสำเร็จด้วยดี เพียงปีแรกที่ออกสู่ตลาด ในปี 1976 Ford ขาย Fiesta ไปได้มากถึง 67,172 คัน และพอเข้าสู่
ปี 1977 อันเป็นปีแรกที่ทำตลาดแบบ “ครบ 12 เดือน” ตัวเลขก็พุ่งขึ้นไปถึง 312,839 คัน ปี 1978 ก็ยิ่งขายดีขึ้น
เป็น 349,104 คัน

นอกจากนี้ Ford ยังส่ง Fiesta เข้าไปทำตลาดในอเมริกาเหนือ เมื่อปี 1977 วางเครื่องยนต์ Kent 4 สูบ OHV 8 วาล์ว
1.6 ลิตร 84 แรงม้า (PS) ใช้เกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ เอาใจกลุ่มลูกค้า ผู้เลือกซื้อรถยนต์ราคาประหยัด ไว้ใช้งานใน
ชีวิตประจำวัน รวมทั้งกลุ่มที่นิยมนำรถไปปรับแต่ง เพื่อลงแข่ง ในรายการ Showroom Stock C road racing อันเป็น
รายการแข่งขันระดับ เริ่มต้นของ Sports Car Club of America (SCCA) ดังนั้นแม้จะถูกปลดประจำการในปี 1980
เพื่อหลีกทางให้กับ Ford Escort รุ่นปี 1981 แต่ Fiesta รุ่นแรก ก็ทำยอดขายสะสมในสหรัฐฯ ได้มากเกือบ 300,000 คัน

9 มกราคม 1979 ยอดผลิตของ Ford Fiesta แตะหลัก 1,000,000 คันได้เรียบร้อย และจากนั้น อีก 11 วันถัดมา
Fiesta ก็สร้างชื่อในวงการ MotorSport เมื่อ นักขับดาวรุ่งระดับตำนานของวงการแรลลีโลก WRC ชาวฟินแลนด์
อย่าง Ari Vatanen คว้าแชมป์ในรายการ Monte Carlo Rally อันโด่งดัง เป็นผลสำเร็จ ด้วย Fiesta ที่ตกแต่งพิเศษ
วางเครื่องยนต์ 4 สูบ OHV 1.6 ลิตร คาร์บิวเรเตอร์คู่ของ Weber ระบบจุดระเบิดไฟฟ้า และระบบอ่างน้ำมันเครื่อง
แบบ dry sump 155 แรงม้า (PS) ที่ 7,250 รอบ/นาที ใช้เกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ แบบทดชิด Close-ratio เชื่อมกับ
เฟืองท้ายแบบ mechanical-hydraulic locking

เจเนอเรชันที่ 2 หรือ Mk-II (รูปขวาบนสุด) ออกสู่ตลาด เมื่อ ฤดูร้อน ปี 1983 ยังคงมีตัวถัง Hatchback 3 ประตู
เพียงแบบเดียว เหมือนรุ่นแรก วางเครื่องยนต์ตั้งแต่ 957 ซีซี 45 แรงม้า (PS) 1,117 ซีซี 49 – 53 แรงม้า (PS)
ไปจนถึงรุ่น XR2 เครื่องยนต์ 1,597 ซีซี 96 แรงม้า (PS) แถมมีเครื่องยนต์ Diesel 1,608 ซีซี 54 แรงม้า (PS)
ให้เลือกด้วย นอกเหนือจากจะใช้เกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ BC4 และเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ BC5 แล้ว ในปี
1984 ยังมีรุ่นกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผัน CVT ในชื่อ CTX ออกมาให้เลือกใช้ด้วย ยอดขายตั้งแต่ปี 1983
(รวมรุ่นก่อนหน้านี้ด้วย) ทำได้ 341,639 คัน ตลอดอายุตลาดที่เหลือ ทำยอดขายต่ำสุดในปี 1985 คือเพียง
346,978 คัน ส่วนยอดขายสูงสุด อยู่ในปี 1988 ที่ 388,703 คัน

เจเนอเรชัน 3 หรือรุ่น Mk-III (คันสีแดง รูปกลางซ้าย) เปิดตัวในปี 1990 ด้วยงานออกแบบที่ร่วมสมัยมากขึ้น
มีเครื่องยนต์ให้เลือกมากถึง 11 แบบ ตั้งแต่ 999 ซีซี 45 แรงม้า (PS) จนถึง เครื่องยนต์ Zetec 1,796 ซีซี 105 –
130 แรงม้า (PS) และแรงสุดด้วยรุ่น 1,596 ซีซี Turbo 133 แรงม้า (PS) แถมมีเครื่องยนต์ Diesel 1,753 ซีซี
60 แรงม้า (PS) ที่สำคัญคือ เริ่มมีตัวถัง 5 ประตูให้เลือก นั่นเลยยิ่งทำให้ยอดขายของ Fiesta “พุ่งกระฉูด”
ทะลุขึ้นไปเป็น 618,361 คัน ปี 1991 ขายได้เพิ่มขึ้นเป็น 624,186 คัน พอปี 1992 ยิ่งขายดีขึ้นไปเป็น
648,781 คัน และถือว่าเป็นตัวเลขที่ดีที่สุดเท่าที่ Fiesta รุ่นนี้เคยทำได้ เพราะ 3 ปีที่เหลือ  ขายได้ป้วนเปี้ยน
แถว 500,000 กวาคัน / ปี

เจเนอเรชันที่ 4 หรือรุ่น Mk-IV (คันสีม่วง รูปกลางขวา) ถือเป็นการปรับโฉมใหญ่แบบ Big-Minorchange บน
โครงสร้างของรถรุ่นเดิม เปิดตัวเมื่อปี 1995 และกลายมาเป็น รถยนต์ขายดีที่สุดในเกาะอังกฤษ ช่วงปี 1996 – 1998 
แม้จะถอดเครื่องยนต์ที่มีกำลังเกินกว่า 100 แรงม้า (PS) ออกทั้งหมด เหลือแค่ เครื่องยนต์ 1,299 ซีซี แรงตั้งแต่
50-60 แรงม้า (PS) ตามด้วยขนาด 1,242 ซีซี 75 แรงม้า (PS) แรงสุดกับ 1,388 ซีซี 90 แรงม้า (PS) แถมด้วย
Diesel 1,753 ซีซี 60 แรงม้า (PS) และเครื่องยนต์ Diesel ตระกูลใหม่ Endura-D:1,753 ซีซี 75 แรงม้า (PS)
ทำยอดขายในปี 1995 (พร้อมรุ่นก่อนหน้านั้น) ได้ 540,052 คัน พอล่วงเข้าปี 1996 Fiesta ก็ทำสถิคิยอดขาย
สูงสุด คือ 602,964 คัน หลังจากนั้น ตั้งแต่ปี 1997 ยอดขายค่อยๆลดลงเหลือ ระดับ 300,000 – 484,000 คัน
ตลอดอายุตลาดที่เหลือ

ปี 1999 ปรับโฉมเล็กน้อย ปรับไฟหน้าให้มีความแหลมคมข้างบน ตามแนวทาง New Edge Design ของ
Ford of Europe ที่นำมาใช้ครั้งแรก กับ Ford Ka ปี 1996 และ Ford Focus รุ่นแรก ปี 1998 และเมื่อ 
ปรับโฉมแล้ว กลับขายได้ลดลงเหลือเพียง 275,989 คัน ในปี 2001 อันเป็นปีสุดท้ายที่รถรุ่นนี้ยังมีขายอยู่ 

เจเนอเรชันที่ 5 หรือรุ่น Mk-V (คันสีเขียว รูปล่างซ้าย) เปิดตัวครั้งแรกเมื่อ 1 เมษายน 2002 และถือเป็น
การเปลี่ยนตัวถังใหม่ทั้งคัน โดยยึดแนวทาง New Edge Design แต่แฝงความเรียบง่าย มีเครื่องยนต์ให้เลือก
ใหม่หมดจด 7 ขนาด ตั้งแต่ Duratec 1,299 ซีซี 60 แรงม้า (PS) จนถึง Duratec 20 1,998 ซีซี 150 แรงม้า (PS)
ส่วนรุ่น Diesel มีให้เลือกทั้งแบบ Duratorq DLD-414 1,398 ซีซี TDCi 68 แรงม้า (PS) และ Duratorq DLD-416
1,560 ซีซี TDCi 90 PS (เปิดตัวเมื่อปี 2005 จนหมดอายุตลาด)

และนั่นก็ส่งผลถึงยอดขายด้วย ปี 2002 Fiesta ใหม่ ทำยอดขาย (รวมกับรถรุ่นเดิมด้วย) ได้ 306,244 คัน
ปีถัดมา 2003 ตัวเขขยับขึ้นเป็น 324,978 คัน ปี 2004 ขายได้ 345,213 คัน และ ปี 2005 ตัวเลขก็เพิ่มขึ้นอีก
เป็น 358,931 คัน ถือว่า Fiesta รุ่น Mk-V ได้รับความนิยมและช่วยกอบกู้ตัวเลขยอดขายขึ้นมาได้อย่างมาก

 

ความสำเร็จของ Fiesta ในระยะเวลาที่ผ่านมา กอปรกับผลวิจัยตลาด ถึงแนวโน้ม การเจริญเติบโต ของตลาดรถยนต์
ในกลุ่ม B-Segment ทำให้ Ford ตัดสินใจที่จะส่ง Fiesta ไปบุกตลาดโลก ในฐานะ World Car คันใหม่ อีกรุ่นหนึ่ง
นอกเหนือจาก Ford Mondeo และ Ford Focus เพื่อเจาะตลาดรถยนต์ในกลุ่ม B-Segment อย่างเต็มตัว

ตลาดกลุ่มนี้มันหวานหอมขนาดนั้นเลยเหรอ?

ครับ อย่าบอกนะว่าที่ผ่านมา คุณไม่เคยได้ยินคำว่า B-Car B-Segment หรือ Sub-Compact กันบ้างเลย รถยนต์
ในพิกัดนี้ ซึ่งมักมีขนาดเครื่องยนต์ ตั้งแต่ 1,200 ยัน 1,600 ซีซี หรือบางที อาจก้าวข้ามเกินไปกว่านั้น ในบางคัน
กำลังมียอดขายพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ นี่ไม่ใช่แค่แนวโน้มการเติบโตของยอดขาย Toyota Vios Honda City Toyota Yaris
Honda Fit/Jazz Mazda 2 และ Chevrolet Aveo ในบ้านเราเท่านั้น หากแต่ผมกำลังพูดถึง การเจริญเติบโต ในระดับ
ทั่งโลก!

ผลการวิจัยตลาด ของ Ford ระบุว่า ยอดขายรถยนต์ขนาดเล็กทั่วโลกมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นจาก 23 ล้านคัน
ในปี 2002  ไปอยู่ที่ประมาณ 38 ล้านคัน ในปี 2012 ซึ่งถือเป็นตัวเลขกว่า 45 เปอร์เซนต์ จากประมาณการ
ยอดขายรถยนต์ ที่ระดับ 85 ล้านคัน เฉพาะในสหรัฐอเมริกาเอง ยอดขายมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นจากระดับ
800,000 คัน / ปี เป็น 3.4 ล้านคัน / ปี ภายในปี 2012 หรือขยายตัวระดับ 25 เปอร์เซนต์

ข้อเท็จจริงก็คือ นอกเหนือจากตลาดรถยนต์กุ่ม Crossover SUV แล้ว กลุ่มรถยนต์ขนาดเล็กนี่ละ ที่จะยังมีการ
เจริญเติบโตในตลาดรถยนต์สหรัฐอเมริกาต่อไป โดกลุ่มลูกค้าที่ซื้อรถยนต์ในกลุ่มนี้ อายุตั้งแต่ 13 – 28 ปี
ที่เรียกกันว่า กลุ่ม “Millennials” มีจำนวนรวมกันราวๆ 1.7 พันล้านคนทั่วโลก ส่วนในสหรัฐอเมริกา จำนวน
ประชากรกลุ่มนี้คิดเป็นร้อยละ 28 จากสถิติสำมะโนประชากรเมืองลุงแซมเลยทีเดียว!

Jim Farley, Ford’s group vice president, Marketing and Communications เล่าว่า ลูกค้ากลุ่ม Millennials 
ใส่ใจความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พวกเขาคุ้นเคยกับการใช้เทตโนโลยีสมัยใหม่ในชีวิตประจำวัน และมีความต้องการ
สินค้าที่ “ดีที่สุดในกลุ่ม” จากผู้ผลิตชั้นนำทั่วโลก และในแต่ละวัน กลุ่มลูกค้า Millennials กว่า 11,000 ราย จะโตขึ้น
และอยู่ในวัยที่พร้อมจะขับรถยนต์ได้ แถมเมื่อพวกเขาคิดจะซื้อรถยนต์สักคัน กว่าครึ่งหนึ่งของคนกลุ่มนี้ จะ
พุ่งเป้ามาที่รถยนต์ขนาดเล็กก่อนเพื่อน Ford มองว่ากลุ่ม Millennials นี่แหละ ที่จะกลายเป็นพลังขับเคลื่อน
เศรษฐกิจ และมีกำลังซื้อสูงในอนาคต อีกทั้งจะยังเป็นผู้กำหนดแนวทางการพัฒนาสินค้าและบริการต่างๆใน
วันข้างหน้า”

นี่ละ คือสาเหตุที่ทำให้ Ford ตัดสินใจ สร้าง Fiesta ใหม่ ขึ้นมา ไม่ใช่แค่หวังให้โดนใจลูกค้าวัยรุ่นในยุโรป
หากแต่ยังคาดหวังให้โดนใจลูกค้ากลุ่ม Millennials ทั่วโลก อีกด้วย และหนทางหนึ่งที่จะทำให้คนรุ่นใหม่
หันมามอง Ford ก็อยู่ที่ งานออกแบบนั่นเอง

หลังจากประสบความสำเร็จกับแนวทาง New Edge Design ซึ่งเริ่มใช้ครั้งแรกใน Ford Ka เมื่อปี 1996 และ
Ford Focus ในปี 1998 มาวันนี้ Ford of Europe ในฐานะแม่งานโครงการพัฒนา Fiesta ใหม่ ได้นำแนวทาง
การออกแบบ Kinetic Design มาใช้กับ Fiesta หลังจากนำมาใช้ครั้งแรก ในรถยนต์ต้นแบบ Ford Iosis ซึ่ง
กลายมาเป็น Ford Mondeo รุ่นล่าสุด รวมทั้ง Ford Kuga Ford S-Max มินิแวน และการปรับโฉม Minorchange
ให้กับ Ford Focus รวมถึง รุ่นเปลี่ยนโฉมใหม่ทั้งคันของ Ford Focus ในปี 2012 อันเป็นแนวทางซึ่งทำให้ตัวรถ
มีลวดลายกราฟิกรอบคัน แบบ Bold Graphic Elements ที่ดูโฉบเฉี่ยว สะดุดตา มีชีวิตชีวา และเร้าอารมณ์กว่าเดิม

Martin Smith ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบของ Ford อธิบายว่า “Kinetic design ไม่ใช่แค่การนำเส้นสายของรถยนต์
รุ่นหนึ่งมา “ตัดแล้วแปะ” ลงบนรถยนต์รุ่นอื่นๆ หากแต่เป็นการตีความใหม่ ถึงรากฐานการออกแบบของรถยนต์
แต่ละรุ่น ภายใต้แนวทางเส้นสายเดียวกัน รถยนต์ขนาดเล็กที่มีพื้นฐาน Kinetic Design จะต้องสะท้อนมุมมอง
บนพื้นฐานเดียวกัน ทว่าแตกต่างไปจากรถยนต์ขนาดใหญ่กว่า และยังรวมถึงองศาการมองที่ต่างกันอีกด้วย ”

Christopher Svensson ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบ ของ Ford  ประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกและแอฟริกา กล่าวว่า
“เราเริ่มต้นออกแบบโดยตั้งใจว่าจะสร้างสรรค์รถยนต์ขนาดเล็กในฝันที่เร้าใจและอยู่เหนือความคาดหมายทั้งหมด”
นั่นจึงทำให้ Fiesta เป็นรถยนต์ที่ไม่ว่าใครได้เห็นแล้ว จะจดจำได้ในทันทีว่านี่คือรถรุ่นใหม่ของ Ford ขณะเดียวกัน
รถคันนี้ยังมีลักษณะโดดเด่นมากพอสำหรับการดึงดูดความสนใจจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ด้วยการออกแบบและพัฒนา
รถยนต์ ให้มีลักษณะตรงตามความต้องการที่แตกต่างกันของลูกค้าทั่วโลก เฟียสต้าใหม่จึงแฝงไปด้วยกลิ่นอายของ
ความมั่นใจ ขณะที่สีสันทันสมัยสะดุดตาสะท้อนความเป็นตัวของตัวเองและการมีบุคลิกเฉพาะตัวเช่นกัน พื้นผิว
ทั้งหมดและลายเส้นที่เคลื่อนไหวต่อเนื่องแสดงให้เห็นถึงความสอดคล้องลงตัว มอบความรู้สึกมีชีวิตชีวา และ
สะท้อนพลังแห่งการเคลื่อนไหว”

เมื่องานออกแบบรถคันจริงเสร็จเรียบร้อยแล้ว วิธีการหนึ่งที่ผู้ผลิตรถยนต์ฝั่งยุโรป มักจะทำกันในการส่งเสริม
การขายรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ก็คือ การทำรถต้นแบบ ที่ใช้เค้าโครงเส้นสายจากรถรุ่นใหม่ ที่ยังอยู่ในสตูดิโอ ออกแบบ
มาอวดโฉมต่อสาธารณชน ยั่วน้ำลาย และสร้างกระแสข่าวลือกันเล่นๆ แทงกั๊กคู่แข่ง ให้เห็นว่า รถรุ่นใหม่ที่มี
กำหนดจะคลอดในอีก 1 – 2 ปีข้างหน้า จะมีรูปลักษณ์อย่างไร?

งานนี้ ทีมออกแบบของ Ford studios ทั้งในเมือง Dunton ประเทศอังกฤษ และ ในเมือง Cologne ที่เยอรมันี
จึงต้องเร่งทำงาน เพื่อช่วยกันสร้างรถต้นแบบ คันแรก ออกสู่สายตาชาวโลก

หลังจากซุ่มเงียบ สร้างรถต้นแบบขึ้นมาจากภาพสเก็ตช์ันอย่างขะมักเขม้น ในที่สุด Ford Verve Concept
คันแรก สี Hot magenta พร้อมล้อ 18 นิ้ว 12 ก้าน พร้อมไฟหน้าแบบ Projector Beam 2 ดวง กับไฟ LED
อีก 1 ดวง รวมทั้ง ไฟท้ายแบบ LED หลังคา Panoramic Glass Roof  พร้อมโครงสร้างตัวถังแบบไร้เสากลาง
(B-Pillarless) และไร้เสากรอบประตู (Frameless doors) ภายในห้องโดยสาร ตกแต่งให้ล้ำสมัย แต่อยู่บน
พื้นฐานจาก Fiesta เวอร์ชันจำหน่ายจริง ก็ถูกเผยแพร่ภาพถ่ายชุดแรกบน Internet เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2007
และถูกนำไปจัดแสดงครั้งแรกในโลก บนแท่นหมุน ในงาน Frankfurt Motor Show 2007

เท่านั้นยังไม่พอ อีกเพียง 2 เดือนให้หลัง Ford ก็ทำเซอร์ไพรส์ ระลอกที่ 2 ด้วยการเปิดตัว Ford Verve Concept
Sedan ซึ่งเผยให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คราวนี้ รถยนต์ขนาดเล็กรุ่นใหม่ของ Ford จะไม่ได้มีเพียงแค่ ตัวถังท้ายตัด
เอาไว้ทำตลาดยุโรป เหมือนแต่ก่อน อีกต่อไป เพราะคราวนี้ พวกเขา เล่นส่งรถต้นแบบคันนี้ บินไปเปิดผ้าคลุม
กันถึงในงาน Guangzhou International Auto Show เมื่อ 19 พฤศจิกายน 2007 เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่า
คราวนี้ รถยนต์ B-Segment Sub-Compact Class ของ Ford จะกลายมาเป็นรถยนต์สำหรับตลาดทั่วโลก ในแบบ
World Car อย่างแท้จริง

Chelsia Lau หัวหน้าทีมนักออกแบบของ Ford Motor China ผู้รับผิดชอบดูแลการปรับปรุงงานออกแบบของ
รถยนต์ขนาดเล็กรุ่นใหม่ ให้เหมาะสมกับตลาดเอเซีย-แปซิฟิก กล่าวไว้เมื่อครั้งที่นำรถคันสีม่วง Frosted Grape
คันนี้มาโชว์ในเมืองไทย ในงานแถลงข่าวก่อนงาน Bangkok International Motor Show จะเริ่มขึ้น เมื่อวันที่
20 มีนาคม 2008 ว่า “Verve Concept Sedan คันนี้ ถือเป็นผลงานจากการนำแนวคิดการออกแบบ Kinetic Design
หรือ จลนศิลป์ มาใช้ในรถยนต์ขนาดเล็กเป็นครั้งแรก เพื่อสื่อถึงความปราดเปรียว เร้าอารมณ์ และความประณีต
พิถีพิถันในการออกแบบ หรือที่ทีมนักออกแบบให้คำจำกัดความว่า เปี่ยมพลังพร้อมทะยาน (Energy in Motion) 

แต่ทุกอย่าง หาใช่จบลงเพียงแค่นั้น เพราะในวันที่ 13 มกราคม 2008 ในงาน NAIAS (North American Internatinal
Auto Show หรือ Detroit Auto Show) ที่ Cobo Hall ฝ่ายปฏิบัติการณ์รถยนต์นั่ง Ford ในอเมริกาเหนือ ได้เปิดผ้าคลุม
Ford Verve Concept Sedan US version ออกมา เพื่อประกาศว่า รถเล็กรุ่นนี้ จะบุกตลาดอเมริกาเหนือด้วยเช่นกัน!

Derrick Kuzak, Ford’s group vice president, Global Product Development กล่าวว่า “รถยนต์ในกลุ่ม Verve
concept family แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ ของ Ford ในมาตรฐานใหม่ของรถยนต์ขนาดเล็ก ทั้งในด้านคุณภาพ
การออกแบบ และความสะดวกสบาย รถต้นแบบเหล่านี้ เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ความแข็งแกร่งของเราในฐานะ
ผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลก จะสร้างคุณประโยนชน์ให้กับผู้บริโภคทั่วโลกได้อย่างไร”

ความแตกต่าง จาก Verve Concept Sedan คันก่อนหน้านี้ อยู่ที่ ชุดเปลือกกันชนหน้า และ ฝากระโปรงหน้าแบบใหม่
ซึ่งต้องออกแบบขึ้นเพื่อให้สอดรับกับกระจังหน้า ขนาดใหญ่กว่ารุ่นอื่นๆ ส่วนภายในห้องโดยสาร ก็เปลี่ยนโทนสี
มาเป็นเทา ดำ แดงสด สอดรับกับสีตัวถังภายนอก ที่เปลี่ยนมาเป็นโทนสีแดงไวน์

ในงานเดียวกันนี้ Ford ยังได้นำ Verve 3 ประตู มาอวดโฉมในงาน เพื่อทดสอบปฏิกิริยาลูกค้า และผู้เข้าชมงาน
ในขั้นสุดท้าย ก่อนออกสู่ตลาดจริง หากเสียงตอบรับดี ก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง แค่เพียงเดินหน้าทำแผนการตลาด
กันต่อไป แต่ถ้าเสียงตอบรับไม่ดี ก็อาจต้องปรับกลยุทธ์กันใหม่…โชคดี ที่ลูกค้าชาวอเมริกัน สนใจใน Verve รุ่น
Hatchback กันไม่น้อย ทำให้ Ford ตัดสินใจนถ Fiesta 5 ประตู มาผลิตขายในสหรัฐอเมริกาด้วย

และทิ้งช่วงไปหลังจากนั้น เพียง 1 เดือน Ford ก็ประกาศ เผยภาพถ่ายคันจริงของ Ford Fiesta เวอร์ชันยุโรป
อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2008 ซึ่งถือว่า เร็วกว่าผู้บริโภคจะคาดคิดเอาไว้มากๆ

Martin Smith ,Executive Director of  Design ของ Ford of Europe อธิบายว่า “Verve Concept เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า
เราจะนำแนวทาง Kinetic design มาใส่ในรถยนต์ขนาดเล็กได้อย่างไร และนั่นก็ทำให้เกิดคำถามตามมามากมาย
หนึ่งในคำถามยอดฮิตก็คือ ‘คุณจะสร้างรถคันนี้ออกมาขายจริงได้ไหม? สำหรับผมแล้ว Fiesta ใหม่คือคำตอบที่
ชัดเจนแล้วว่า “เราทำได้” เพราะนี่คือ Ford Verve ในโลกแห่งความจริง”

การเปิดตัวมีขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกในงาน Geneva Auto Salon เมื่อ 3 มีนาคม 2008 แต่กว่าจะพร้อมขายจริง
ต้องรอให้สายการผลิตที่โรงงานในเมือง Cologne เยอรมันี พร้อมผลิตในเดือนสิงหาคม 2008 ตามด้วยโรงงานใน
เมือง Valencia ประเทศสเปน เป็นโรงงานแห่งที่ 2 ชาวยุโรปคือลูกค้ากลุ่มแรกที่ได้เป็นเจ้าของ Fiesta ใหม่ ซึ่ง
มีเพียงตัวถัง Hatchback 3 และ 5 ประตู เท่านั้น

จากนั้น 17 พฤศจิกายน 2008 Ford Fiesta Sedan เวอร์ชันตลาดโลก ถูกเผยแพร่ภาพถ่ายออกไปเป็นครั้งแรก โดย
ประเทศจีน อันเป็นตลาดใหญ่ และถือเป็นหน่งในเป้าหมายหลักสำหรับตัวถัง Sedan จะเป็นประเทศแรกที่ได้
ทำตลาด Fiesta ตัวถังนี้ โดย Fiesta เวอร์ชันจีน คันแรก ได้คลอดออกมาจากโรงงาน Changan Ford Mazda
Automobile Company ณ เมือง Nanjing เมื่อ 15 มกราคม 2009 จากนั้น จึงมีการเปิดตัวสู่สายตาชาวจีนอย่างเป็น
ทางการเมื่อ 2 เมษายน 2009 ด้วยรูปโฉม ที่เหมือนกับ Fiesta เวอร์ชันยุโรป นั่นเอง 

จากนั้น ทวีปอเมริกาเหนือ (สหรัฐอเมริกา และแคนาดา) คือกลุ่มประเทศลำดับถัดมาที่ Ford เปิดตัว Fiesta
สู่ตลาดรถยนต์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยในแคนาดา เริ่มเปิดตัวเมื่อเดือนมิถุนายน 2010 ตามติดด้วย
สหรัฐอเมริกา ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2010 ออกสู่ตลาดในฐานะรถยนต์รุ่นปี 2011

Fiesta US Version จำเป็นจะต้องมีงานออกแบบที่แตกต่างไปจากเวอร์ชันหลักสำหรับตลาดทั่วโลกเล็กน้อย
เปลือกกันชนหน้า มาในสไตล์โฉบเฉี่ยว ร่วมสมัยมากกว่า พื้นที่้ช่องรับอากาศด้านหน้า จะไม่ใหญ่โตเท่า
เวอร์ชันอื่นๆ ไฟตัดหมอก เป็น Daytime-Running-Light ในตัว แนวตั้ง ทะแยงมุม พร้อมกรอบโครเมียม
สะดุดตา กระจังหน้า รูขนาดเล็ก สีเดียวกับตัวถัง

ส่วนตัวถัง Sedan จะมีกระจังหน้าลายโครเมียม แบบซี่นอน พร้อมทั้งชุดไฟท้าย แบบไฟเบรกล้อมรอบ
ไฟเลี้ยวและไฟถอยหลัง ต่างจากเวอร์ชันตลาดโลกและเมืองไทย ซึ่งแยกตำแหน่งไฟเบรก กับไฟเลี้ยว
อย่างชัดเจน มีเครื่องยนต์ให้เลือกเพียงแบบเดียว คือ บล็อก 1.6 ลิตร พร้อมเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และ
เกียร์อัตโนมัติ Dual Clutch PowerShift พร้อมกับล้ออัลลอย และโทนสีตัวถังที่ โดดเด่นเป็นพิเศษ สำหรับ
ตลาดกลุ่มนี้โดยเฉพาะ

Kevin George รับหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมปรับปรุงงานออกแบบของ Fiesta สำหรับตลาดอเมริกาเหนือ  
เพื่อปรับปรุงด้านหน้ารถให้รองรับกับข้อกำหนดด้านการชนของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ  ขณะที่ยังต้อง
รักษาแนวเส้นสายดั้งเดิมจากยุโรปเอาไว้ พร้อมกับสร้างความแตกต่างให้กับเวอร์ชันอเมริกาเหนือ
ไปพร้อมๆกัน กล่าวอย่างติดตลกว่า “ผมต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี เพื่อที่จะปรับโฉมให้ออกมาดู
ราวกับว่าผมไม่ได้ทำอะไรกับมันเลย”

Fiesta US Version เปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกในงาน Los Angeles Auto Show เดือนธันวาคม 2009
แม้ว่าก่อนหน้านี้ จะมีการปล่อยแผนการตลาด ออกมาตามสื่อต่างๆ เช่นการเปิดโอกาสให้ทดลองขับ ไปถึง
การเล่นกลยุทธ์โฆษณาประชาสัมพันธ์ บน Social Media แต่เมื่อผ่านพ้นงานเปิดตัวแล้ว Ford ก็ “จัดหนัก”
อัดงบโฆษณาเต็มพิกัด ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการ เข้าร่วมสนับสนุน รายการโทรทัศน์จำนวนมาก
รวมถึงการสนับสนุนสื่อ Social Media ใน Internet จนกลายเป็นสื่อหลักในการทุ่มโปรโมท Fiesta ใหม่
อาทิ การสาธิตเรื่องเหล็กโบรอน ผ่านคลิปใน youtube การเปรียบมวยเชิงพิลึกพิลั่นระหว่าง Fiesta กับ
Lamboghini Gallardo หรือเชิญผู้ชนะจากรายการ The American Idol มาร่วมออกแบบ Fiesta ในสไตล์
ของพวกเขาเอง แม้กระทั่งการจัด Fiesta World Tour พิสูจน์ความทนทานรอบโลก ซึ่งก็มีมาแวะที่
เมืองไทยอยู่ 1 สัปดาห์ หรือเอาใจกลุมคนบ้า Gadget โดยออก Application บน iPad ไปหมาดๆ

ที่หนักหนาไปกว่านั้น ทาง Ford Europe เอง ก็เล่นสนุกกับเขาด้วย โดย นำ Fiesta ไปให้ รายการโทรทัศน์
อันดับ 1 ของอังกฤษ ทั้งด้านรถยนต์ และวาไรตี้ อย่าง BBC Top Gear โดย Jeremy Clarkson นำไปขับหนี
การไล่ล่าของ Chevrolet Corvette กลางห้างสรรพสินค้าในอังกฤษ แถมยังปิดท้าย้วยการนำ Fiesta ไปเข้า
ร่วมการซ้อมรบจริง กับหน่วยราชนาวี แห่งสหราชอาณาจักรอีกด้วย!! บ้ากันเข้าไป!! และทั้งหมดนั้น เป็น
เพียงแค่บางส่วนจากแผนโปรโมททั้งหมด ที่ Ford ทุ่มงบแทบจะเรียกว่าไม่อั้น เพื่อแจ้งเกิดรถเล็กคันนี้
ในเวทีสากล

การพา Fiesta จากยุโรป ออกมาบุกตลาดรถยนต์ B-Segment Sub-Compact ทั่วโลกในครั้งนี้ นับเป็นอภิมหา
โครงการขนาดยักษ์ ที่ Ford เอง ก็คาดหวังจะให้ รถยนต์รุ่นนี้ ประสบความสำเร็จในระดับสากล แทบทุก
ประเทศที่เข้าไปเปิดตัว และหนึ่งในตลาดที่ Ford หมายมั่นปั้นมือเอาไว้ก็คือภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค
โดยเฉพาะ ประเทศไทย นั่นเอง

สำหรับเมืองไทย การเปิดตัว Fiesta ใหม่นั้น ถือเป็นภาระกิจที่มีความสำคัญมาก ต่ออนาคต และชะตากรรม
ของ Ford ในบ้านเรา ตลอด 5 ปีนับจากนี้ เพราะถือเป็น 1 ใน 3 รถยนต์รุ่นสำคัญ ที่ Ford ตั้งเป้าจะเพิ่ม
ยอดขาย และการเจริญเติบโตในไทยให้ได้

อีกทั้ง Ford เองก็ยังมองเมืองไทย ในฐานะฐานการผลิตที่สำคัญ และมีกำลังการผลิตมากพอสำหรับการ
ส่ง Fiesta ไปทำตลาด ทั้งใน ภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เลยไปจนถึง ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ Ford ตัดสินใจ เลือกให้โรงงาน Auto Alliance Thailand หรือ AAT จัหวัดระยอง
เป็นฐานการผลิตอีกแห่งหนึ่ง เพื่อสานต่อแผนบุกตลาดระดับโลกของ Fiesta ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
โรงงาน AAT เพิ่งมีพิธีเปิดสายการผลิต Fiesta อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2010

ดังนั้น ก็คงต้องขอนำเรื่องราวข้อมูลของโรงงาน Auto Alliance มาให้ได้อ่านเสริมความรู้กันสักหน่อย

บริษัท Auto Alliance (Thailand) จำกัด ก่อตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 1995 ในฐานะบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท
Ford Motor Companyสำนักงานใหญ่ ใน Dearborn มลรัฐ Michigan สหรัฐอเมริกา ในอัตราส่วน 50 เปอร์เซนต์
ตามด้วย Mazda Motor Corporation สำนักงานใหญ่ ตั้งอยู่ที่เมือง Hiroshima ประเทศญี่ปุ่น สัดส่วนการถือหุ้น
45 เปอร์เซนต์ และสุดท้าย Mazda Sales (Thailand) ถือหุ้นอยู่ 5 เปอร์เซนต์ ซึ่งในทางปฏิบัติ เท่ากับว่า ทั้ง 2 ฝ่าย
ต่างถือหุ้นฝ่ายละเท่ากัน

โรงงานตั้งอยู่บนที่ดินขนาด 529 ไร่ (ประมาณ 847,562 ตารางเมตร) ของนิคมอุตสาหกรรม Eastern Seaboard
อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง มีพื้นที่โรงงานและตัวอาคาร รวม 203.94 ไร่ (ประมาณ 326,314 ตารางเมตร)
สร้างเสร็จในเดือนตุลาคม 1997 โรงงานนี้ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
หรือ BOI โดยมีสัดส่วนเงินลงทุนในเบื้องต้น 500 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 17,000 ล้านบาท) เพื่อขึ้น
สายการผลิตรถกระบะ Mazda B-Series Fighter และฝาแฝดอย่าง Ford Ranger รวมทั้ง รถยนต์นั่ง Sedan ทั้ง
Mazda 323 และ Ford Laser เมื่อเดือนพฤษภาคม 1998 ทั้งเพื่อจำหน่ายในประเทศไทย และเพื่อส่งออกไป
ยังประเทศต่างๆ โดยรถยนต์นั่ง จะถูกส่งไปยังประเทศในภูมิภาคอาเซียน ส่วนรถกระบะนั้น ส่งออกไป
ทำตลาดทั่วโลก ยกเว้น ประเทศในเขตอเมริกาเหนือ จากนั้น ก็มีการย้ายสายการผลิตรถยนต์นั่งทั้งหมด
ไปไว้ที่ โรงงานของ Ford ใน Philipines ปล่อยให้โรงงาน AAT ในบ้านเราประกอบแต่รถกระบะตามลำพัง

นับตั้งแต่ปี 1995 – 2007 ทั้ง Ford และ Mazda ร่วมกันลงทุนในโรงงาน AAT ระยอง แห่งนี้ไปแล้วประมาณ
1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ ประมาณ 34,000 ล้านบาท และในเดือนตุลาคม 2007 หลังการวิเคราะห์ และ
ประเมินมาอย่างรอบคอบ ถึงอนาคตการทำตลาด รถยนต์ระดับ B-Segment ในเมืองไทย และอาเซียน ทั้ง
Ford และ Mazda ตัดสินใจประกาศเตรียมแผนเพื่อตั้งสายการผลิตรถยนต์นั่งอีกครั้งหนึ่ง (จากเดิมที่
เคยถอนออกไปก่อนหน้านี้ หลายปีแล้ว มูลค่าการลงทุนเพิ่ม อยู่ที่ 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ
17,000 ล้านบาท รวมแล้ว ทั้ง Ford และ Mazda ต่างช่วยกันลงทุน ในโรงงานแห่งนี้ไปแล้ว เยอะมากถึง
1,5000ล้านเหรียญสหรัฐ – 51,000 ล้านบาท

การประกาศนี้ เกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2007 โดยจะต้องสร้างโรงงานใหม่ขึ้นมา เป็นโรงงานที่ 2 บนที่ดิน
แปลงเดิม และเมื่อโรงงานหลังใหม่ เสร็จสมบูรณ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ได้เสด็จฯพระราชดำเนินทรงเปิดโรงงานรถยนต์นั่ง แห่งนี้ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2009 (แน่นอนว่า
เพื่อผลิต Mazda 2 ก่อนในช่วงแรก จากนั้น จึงจะเริ่มผลิต Ford Fiesta เป็นลำดับถัดมา ตามข้อตกลง
ร่วมกันของทั้ง Ford และ Mazda)

ปัจจุบัน โรงงาน Auto Alliance มีส่วนการผลิตต่างๆ ครบทุกแผนก ได้แก่ การขึ้นรูปรถยนต์ การประกอบตัวถัง
การพ่นสี การประกอบเครื่องยนต์ การประกอบรายละเอียด และส่วนบรรจุชิ้นส่วนรถยนต์ (CKD) สำหรับ
ส่งออกไปยังโรงงานอื่นๆ ในเครือ ตามประเทศต่างๆ มีกำลังการผลิตต่อปีปัจจุบัน 275,000 คัน ในจำนวนนี้
มีรถยนต์ประกอบสำเร็จรูป เสร็จทั้งคัน CBU (Complete Built Unit) จำนวน 220,000 คัน และ ชิ้นส่วน CKD
(Complete Knocked-Down) อีก 55,000 คัน

รถยนต์ที่โรงงาน AAT ผลิตในปัจจุบันนี้ มีด้วยกันมากถึง 5 รุ่น รวม 13 ตัวถัง ได้แก่ รถกระบะ Ford Ranger
สำหรับตลาดทั่วโลก (Global market version) รถยนต์ตรวจการอเนกประสงค์ Ford Everest ตามด้วย รถกระบะ
Mazda BT-50 รถยนต์นั่ง Mazda 2 ทั้ง Sedan & Hatchback และรถยนต์นั่ง Ford Fiesta Sedan & Hatchback
และในเดือนนี้ จะเริ่มการประกอบ Mazda 3 เจเนอเรชันที่ 2 รุ่นใหม่ล่าสุด เพื่อทำตลาดในประเทศไทยอีกด้วย

โรงงาน AAT ระยอง ผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกไปยัง 130 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศหลักๆที่อุดหนุน และรับ
รถยนต์จากประเทศไทยเข้าไปขาย มีทั้งประเทศในเอเชียแปซิฟิก ยุโรป ออสเตรเลีย อเมริกาใต้ และแอฟริกา
มีจำนวนซัพพลายเออร์ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ป้อนให้กับบริษัทฯ 187 ราย เป็นบริษัทไทยถึง 142 ราย

Fiesta จะถูกผลิตขึ้นในโรงงานผลิตรถยนต์นั่ง AAT หลังใหม่ ที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จ และมีเทคโนโลยีอันทันสมัย
บนเนื้อที่ 70,000 ตารางเมตร โรงงานแห่งใหม่นี้ได้ติดตั้งเทคโนโลยีล่าสุดในการผลิตรถยนต์ ด้วยระบบและ
กระบวนการผลิตรถยนต์แบบอัตโนมัติ รวมถึงการมีสายการผลิตเพื่อการขึ้นรูปตัวถัง การพ่นสี การเก็บรายละเอียด
และการประกอบรถยนต์ขั้นสุดท้ายแบบครบวงจร

ไม่เพียงเท่านั้น ในส่วนของ โรงพ่นสี ยังใช้เทคโนโลยีการพ่นสีแบบซ้อนทับ 3 ชั้น แล้วอบสีเพียงครั้งเดียว
(Three Layer Wet Paint System) ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตระดับโลกและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถลด
ปริมาณสารอินทรีย์ไอระเหย และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งของเสียจากการผลิตได้เป็นอย่างดี ขณะ
เดียวกันยังให้คุณภาพสีที่ติดอยู่ับพื้นผิวตัวรถ ความเงางาม และความทนทาน ที่ดียิ่งขึ้นด้วย

ขณะที่การเตรียมสายการลิตยังดำเนินไปอยู่นั้น Ford Sales Thailand ก็เริ่มแผนการตลาด เพื่อเตรียม
โหมกระแสโปรโมท Fiesta ใหม่ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การสั่งนำเข้า Ford Verve Concept Sedan เข้ามา
อวดโฉมในบ้านเรา ณ งาน Bangkok International Motor Show เดือนมีนาคม 2008 จากนั้น ในงาน
Motor Expo เดือนธันวาคม 2009 Ford นำ Fiesta คันจริง แต่เป็นรถสเป็กต่างประเทศ มาอวดโฉม
เพื่อบอกแก่ผู้บริโภคว่า “ปีหน้าเจอกัน”

ล่วงเข้าสู่ปี 2010 มีกระแสเรียกร้องการเปิดตัว Fiesta ช่วงต้นปี แต่เอาเข้าจริงแล้ว Ford ทำได้แค่เพียง
นำ Fiesta ทั้งรุ่น Hatchback 5 ประตู และ Sedan 4 ประตู มาอวดโฉมกันอีกครั้ง และปล่อยรายละเอียด
ให้ทราบในเบื้องต้นเพียงนิดหน่อย ในงาน Bangkok International Mator Show เมื่อเดือนมีนาคม 2010

สาเหตุที่ไม่อาจเปิดตัวได้เลยในทันทีนั้น เนื่องจาก Ford ตัดสินใจยอมรอ เกียร์อัตโนมัติ PowerShift
6 จังหวะ จากโรงงาน GETRAG ใน เม็กซิโก ส่งมาถึงเมืองไทยกันก่อน แทนที่จะใช้เกียร์อัตโนมัติ
4 จังหวะ ขายขัดตาทัพไป ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่เรื่องดีอีกเหมือนกัน เพราะแม้จะเสียโอกาสการขาย แต่ก็
ถือว่า มาครั้งเดียว ให้ของดีๆมาครบครันไปเลยจะดีกว่า

ปัญหาต่อมา ก็คือ ความวุ่นวายทางการเมือง จากฝีมือของกลุ่มคนเสื้อแดง ในช่วงเดือนพฤษภาคม
มีผลกระทบต่อเนื่องมาจาก การประกาศกศอัยการศึก ห้ามออกนอกบ้าน หลัง 18.00 น. ปรากฎว่า
ชิ้นส่วนอะไหล่ต่างๆ ที่จะต้องนำมาใช้ในการประกอบรถ Fiesta เกิดการสะดุด ทำให้ไม่สามารถ
นำมาประกอบรถยนต์ได้ทันเวลา

และประการสุดท้าย AAT กับ Ford ตัดสินใจร่วมกัน ทดสอบหาข้อบกพร่อง ของรถที่ผลิตขึ้นมา
จากโรงงาน AAT อย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อแก้ไขปัญหาที่อาจจะพบได้ก่อนส่งมอบรถให้ลูกค้า
ซึ่งอาจใช้เวลานานกว่าปกติทั่วไปนิดหน่อย

ดังนั้น Ford Sales Thailand จึงทำได้แต่เพียง หากิจกรรมการตลาด มาปูทางสู่การเปิดตัว Fiesta อย่าง
ต่อเนื่อง ตั้งแต่การแถลงข่าว เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2010 (หลังงานแถลงข่าว เปิดสายการผลิตที่โรงงาน
AAT เพียงวันเดียว) Ford จัดกิจกรรม เอาตาจอห์น วิญญู พลอย หอวัง และ กันต์ กันตถาวร มาเป็น
เซเลบ ร่วมสนุกกับโครงการถ่ายภาพ Snap Shot อัพโหลดที่ www.facebook.com/FordFiestaThailand
แล้วเขียนคำบรรยายความประทับใจ เพื่อชิงรางวัล Ford Fiesta รุ่นท็อป 1 คัน หรือแพ็ตเก็จท่องเที่ยว

ไปจนถึงจะเป็นการทำหนังสั้น 5 ตอนรวด Things will Change ที่ดูยังไง๊ยังไง ก็ไม่เข้าท่า ไม่เข้าตา
ทั้งสองข้างของข้าพเจ้าอยู่ดี ทั้งกบ CG เอย เลี้ยวกลับรถมาถ่ายรูปเซเลบ บน Hummer H3 กลางถนน
นราธิวาสราชนครินทร์ เอย หรือเนื้อเรื่องที่ดูแล้วชวนให้คิดถึงหนังฉายตามงานแต่งงาน ฯลฯ ดูแล้ว
หงุดหงิดตาชะมัด!

ทั้งหลายทั้งปวง ล้วนแล้วแต่ เชื่อมโยงเข้าสู่ งานประกาศ เปิดตัว Fiesta ในเมืองไทย อย่างเป็นทางการ
เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2010 ที่ลานด้านหน้า ห้างสยามพารากอน พร้อมกับการเปิดตัวภาพยนตร์โฆษณา
ถ่ายทำในเมืองไทย ที่สุดท้าย ฉายไปได้ 4 เดือน ก็ต้องถอดออก แล้วนำภาพยนตร์โฆษณาจากต่างประเทศ
ซึ่งถ่ายทำได้เข้าท่ากว่าเป็นไหนๆ มาออกอากาศกันแทน อยู่ในตอนนี้ 

และผลลัพธ์ที่ออกมา แม้ว่าจะโดนลูกค้า ด่าทอในด้านต่างๆ ตั้งแต่ ความผิดพลาดในการระบุรายละเอียด
ลงในภาพยนตร์โฆษณา ไปจนถึงปัญหาจากการประกอบในช่วงแรกของ AAT แต่วันนี้ Ford ก็พยายาม
เข็น Fiesta ให้มียอดขายดีขึ้นเรื่อยๆ

เดือนแรกที่ออกสู่ตลาดเต็มเดือน คือ กันยายน 2010 ทำยอดไปได้ 838 คัน ถือว่าต่ำกว่าเป้าหมาย เดือนละ
1,500 คัน ที่วางไว้ เพราะกำลังการผลิตยังไม่เพียงพอต่อการส่งมอบ เดือนถัดมา ตุลาคม 2010 ขายได้เพิ่ม
เป็น 961 คัน เดือนพฤศจิกายน 2010 ทำได้ 1,413 คัน เดือนธันวาคม 2010 ตัวเลขก็พุ่งขึ้นเป็น 1,613 คัน
ส่วนในเดือนมกราคม 2011 ที่ผ่านมา Ford ทำยอดขาย Fiesta ไปได้ 1,239 คัน รวมทั้ง 2 ตัวถัง ถือว่า
เป็นการเริ่มต้นที่ไม่เลว เมื่อเทียบกับแบรนด์ ที่ยังไม่ค่อยถูกใจลูกค้าคนไทยเท่าใดนัก 

มิติตัวถังของรุ่น Hatchback 5 ประตูนั้น ยาว 3,950 มิลลิเมตร กว้าง 1,722 มิลลิเมตร สูง 1,454 มิลลิเมตร
ระยะฐานล้อ 2,489 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหน้า 1,473 – 1,478 มิลลิเมตร ส่วนความกว้างช่วงล้อหลัง
1,460 – 1,465 มิลลิเมตร

การตกแต่งของรุ่น Hatchback 5 ประตู นั้น จะมีด้วยกัน 3 รุ่นย่อย คือ 1.4 Style 4AT (คันสีเงินที่เห็นอยู่นี้)
1.6 Trend PowerShift และ 1.6 Sport PowerShift (คันสีแดง ในบทความนี้) และไม่มีรุ่นเกียร์ธรรมดา

แม้ว่าทั้ง 2 รุ่นที่เห็น จะมีมือจับเปิดประตูสีเดียวกับตัวถัง พลาสติกครอบกระจกมองข้าง แบบมีไฟเลี้ยว
มาให้ในตัว สปอยเลอร์หลัง เหนือกระจกบังลมด้านหลัง ใบปัดน้ำฝนหลัง และไฟเบรกดวงที่ 3 กับ
แผงทับทิมสีแดง ที่ขอบกันชนหลังทั้งฝั่งซ้าย – ขวา ขอบประตูเป็นสีดำเหมือนกันทุกรุ่น

แต่การตกแต่งที่แตกต่างกัน ระหว่างรุ่น Style กับรุ่น Sport ก็คือ แผงพลาสติกสีดำ ตรงเปลือกกันชนหลัง
หากเป็นรุ่น Style จะเป็นแบบเรียบ ธรรมดา ถ้าเป็นรุ่น Sport จะมีลวดลายด้านล่าง ให้ดูสปอร์ตขึ้นมา
อีกเล็กน้อย

 

ส่วนด้านหน้า เห็นได้ชัดเจนว่า รุ่น Sport จะแถม ไฟตัดหมอก พร้อมกรอบล้อมรอบแบบโครเมียมมาให้
รวมทั้งจะมี ขณะที่รุ่น Style ไม่มี นอกจากนี้ ลวดลายของช่องรับอากาศ บริเวณเปลือกกันชนหน้า ก็ยัง
ไม่เหมือนกัน รุ่น Style จะมาเป็นแบบเรียบง่าย แนวเส้นตรงนอน 3 เส้น ซ่อนอยู่ด้านใน แต่ในรุ่น
Sport ช่องรับอากาศด้านหน้า จะเป็นลาย รังผึ้งแบบช่องห่าง แถบสีดำ บริเวณรอบๆกรอบป้ายทะเบียน
มีลวดลายเพิ่มขึ้นมานิดหน่อย ขณะเดียวกัน ยังเพิ่มช่องสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า แบบโครเมียม 2 ฝั่ง ใต้
แถบคาดช่องรับลมสีดำ เพื่อเพิ่มความดุดันอีกเล็กน้อย (แต่มันไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ในสายตาของผม)
ช่องรับอากาศด้านหน้าแบบ ดุดันขึ้น จะมีติดตั้งมาให้เฉพาะรุ่น Sport เท่านั้น

รุ่น Style จะให้กระทะล้อเหล็ก พร้อมฝาครอบ แบบ Full Wheel cover ขนาด 15 นิ้ว สวมด้วยยางขนาด
185/55 R15 แต่ในรุ่น Sport จะให้ ล้ออัลลอย ขนาด 16 นิ้ว ลาย 5 ก้านคู่ พร้อมยางขนาด 195/50 R16
จากโรงงาน และเพียงแค่นี้ ก็ทำให้รุ่น Sport กับ Style ดูแตกต่างกันมากในทันทีที่เห็น

อีกประเด็นหนึ่งที่แตกต่างกัน แต่คุณจะไม่ทราบ จนกว่าได้อ่านตารางข้อมูลทางเทคนิค ก็คือ ในรุ่น
1.6 Sport PowerShift มีน้ำหนักตัว 1,153 กิโลกรัม ส่วนรุ่น 1.4 Style เกียร์อัตโนมัติ หนัก 1,127 กิโลกรัม
และทั้งหมดนั้น เป็นน้ำหนักตัวรถเปล่าๆ

ส่วนตัวถัง Sedan นั้น มีความยาวเพิ่มขึ้นเป็น 4,291 มิลลิเมตร ที่เหลือ เท่ากับรุ่น Hatchback 5 ประตูทั้งหมด
ไม่ว่าจะเป็น ความกว้าง 1,722 มิลลิเมตร สูง 1,454 มิลลิเมตร และระยะฐานล้อ 2,489 มิลลิเมตร

การตกแต่งของรุ่น Sedan 4 ประตู นั้น จะมีด้วยกัน 4 รุ่นย่อย คือ 1.4 Style 5MT (คันสีขาวในบทความนี้)
1.4 Stylr 4AT ตามด้วย 1.6 Trend PowerShift (คันสีทองในบทความนี้)  และ 1.6 Sport PowerShift

งานออกแบบตัวถัง Sedan นั้น มาในรูปแบบ 6 Windows หรือ 6 หน้าต่าง (มองจากกระจกหน้าต่าง
ด้านข้างรถทั้ง 2 ฝั่ง รวม 6 บาน) ซึ่งแม้ว่า Audi จะเป็นรถยนต์ซึ่งใช้แนวทาง 6 Windows จนประสบ
ความสำเร็จในเรื่องสร้างการจดจำ แต่ Ford เอง ก็มีวิธี สร้างรถยนต์ Sedan แบบนี้ ให้แตกต่างออกไป
และเส้นสายแบบนี้ ถูกนำมาใช้ร่วมกันหมด กับตัวถัง Sedan 4 ประตู ของรถยนต์ Ford จากยุโรป
ทั้ง Ford Mondeo Ford Focus รุ่นปัจจุบัน และรุ่นต่อไป รวมทั้ง Fiesta ใหม่นี้ด้วย  

ความแตกต่างระหว่าง รุ่นย่อยทั้ง 4 นั้น ก็คล้ายคลึงกันกับ รุ่น Hatchback 5 ประตู นั่นละครับ รุ่น 1.6 Sport
คือรุ่นเดียวที่จะได้ใส่เปลือกกันชนหน้า ที่มีทั้งไฟตัดหมอกพร้อมล้อมกรอบโครเมียม กับช่องรับอากาศ
ด้านหน้า ลายรังผึ้ง และแถบสีดำคาด บริเวณช่องใส่ป้ายทะเบียนหน้า มีลวดลายสอดรับกับ ช่องสี่เหลี่ยม
ด้านไม่เท่า แบบโครเมียมทั้ง ฝั่งซ้าย – ขวา  รวมทั้ง ยังสวมล้ออัลลอย 16 นิ้ว พร้อมยางขนาด 195/50 R16

แต่ที่เหลือ ไม่ว่าจะเป็นรุ่น Trend หรือ Style จะใช้เปลือกกันชนหน้าลายตะแกรงสี่เหลี่ยมฝังใน รวมทั้ง
แถบคาดดำบริเวณป้ายทะเบียนหน้า แบบธรรมดา ไม่มีอะไรหวือหวา อีกทั้งจะไม่มีสปอยเลอร์ด้านหลัง
พร้อมไฟเบรกดวงที่ 3 มาให้ แต่อย่างใด กลายเป็นว่า สปอนเลอร์ คือของสงวน เฉพาะลูกค้าในรุ่น 5 ประตู
ไปเสียอย่างนั้น มีไฟเล้ยวที่กะกมองข้างมาให้ แต่ไม่มีไฟตัดหมอกหน้าแถมมาแต่อย่างใด

ในรุ่น 1.6 Trend (คันสีทองในบทความนี้) จะให้ล้ออัลลอย 15 นิ้ว พร้อมยางขนาด 185/55 R15 ส่วนรุ่น
1.4 Style ทั้งเกียร์ธรรมดา และอัตโนมัติ จะได้ยางขนาดเดียวกัน เพียงแต่ กระทะล้อเป็นแบบ ล้อเหล็ก
สีดำ แปะฝาครอบล้อ Full Wheel Cover ลายเดียวกับรุ่น 5 ประตู 1.4 Style เลยนั่นแหละ

อีกความน่าสนใจในการตกแต่งภายนอกของ Fiesta แต่ละรุ่นย่อย อยู่ที่ การกำหนด เฉดสี สำหรับลูกค้า
ซึ่งคัดเลือกมาจากเฉดสี สำหรับ Fiesta ทุกรุ่นทั่วโลก รวม 14 สี แม้ว่าจะไม่มีสีแปลกๆ แสบๆ ที่หลายคน
อยากได้ เช่นสีเขียวมะนาว (สำหรับ ยุโรป และอเมริกาเหนือ) สีเหลือง (เฉพาะอเมริกาเหนือ) หรือสี
ฟ้าสว่างสดใส (มีในยุโรปเป็นหลัก) แต่ สีที่มีมาให้ใน Fiesta เวอร์ชันไทย ต้องถือว่า น่าชมเชยอยู่บ้าง
เหมือนกัน

สีตัวถัง ของรุ่น Sedan และ Hatchback 1.4 Style จะเป็นเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ หรืออัตโนมัติ 4 จังหวะ
ก็มีให้เลือกแค่ 4 สี คือ สีขาว Cool White (ที่เห็นอยู่นี้) สีดำ Black Mica สีเงิน Highlight Silver และ
สีเทา Metropolitan Grey ทั้ง 4 สี Grey Scale ถือเป็นมาตรฐานของสีตัวถังสำหรับรถที่ขายดีในเมืองไทย
ซึ่งมันก็มักขายดีกันอยู่แค่ 4 สีนี้แหละ

แต่ในรุ่นย่อยอื่นๆ จะมีสีพิเศษประจำรุ่น ที่แตกต่างกันออกไป ชนิดที่ว่า ถ้าเห็นสีปุ๊บ จะรู้เลยว่า
เป็นรุ่นย่อยไหน เช่นในรุ่น Sedan 1.6 Sport จะมี สี Phantom Blue เพิ่มเข้ามาให้อีก 1 สี แต่ใคร
ที่เลือกรุ่น Sedan 1.6 Trend จะโชคดีกว่าเล็กน้อย เพราะยังมีสี Sparkling Gold อันเป็นสีประจำ
รุ่นย่อยนี้ เพิ่มเข้ามาให้อีก 1 ทางเลือก (และเป็นสีที่คุณเห็นอยู่ในรถทดสอบของบทความนี้

ขณะเดียวกัน รุ่น Hatchback 5 ประตู 1.6 Trend และ Sport จะมีสีพิเศษ เพิ่มเข้ามาอีก 3 สี ได้แก่
สีแดง True Red (สีเบอร์เดียวกันกับ สีแดง ของ Mazda MX-5 และ เป็นสีที่อยู่ในรถรุ่น 1.6 Sport
ในบทความนี้) สีส้ม Chil Orange และ สีน้ำเงิน Aurora Blue โดยจะไม่มี 2 สี ทั้ง Phantom Blue
กับ Sparkling Gold ของรุ่น Sedan 1.6 Trend แต่อย่างใด

ฟังดูเหมือนสับสนอลหม่านดี แต่นี่คือ กลยุทธ์ การสร้างความแตกต่าง ที่ผมอยากเห็นผู้ผลิตรถยนต์
หลายๆค่าย ในบ้านเรา เอาไปใช้เป็นแนวทางเสียบ้าง ไม่ใช่ออกรถมาแต่เฉพาะ 4 สี Grey Scale
เพื่อหวังยอดขายกันอย่างเดียว ในฐานะคนดู เราเบื่อสีเหล่ากันเต็มทนแล้ว

การเปิดประตูเข้า – ออกจากรถนั้น ใช้กุญแจรีโมทคอนโทรล แบบมีสวิชต์ สั่งล็อก – ปลดล็อกได้ในตัว
เฉพาะในรุ่น Sport และ Trend สามารถตั้งค่ากำหนด เพื่อเซ็ตให้ระบบ ช่วยพับกระจกมองข้างได้เมื่อล็อกรถ
โดยอัตโนมัติ

ไม่ใช่แค่รุ่นแพงสุด อย่าง 5 ประตู 1.6 ลิตร Sport เท่านั้นที่ใช้กุญแจรีโมทแบบนี้ แต่ไม่ว่าคุณจะซื้อ Fiesta
รุ่นใดเขาก็จะให้กุญแจรีโมทคอนโทรลพร้อม Immobilizer แบบเดียวกันนี้ เหมือนกันทั้งหมด ครบทุกรุ่น 
ตั้งแต่รุ่นถูกสุด เพียงแต่ อาจจะไม่มีระบบพับกระจกมองข้างเองอัตโนมัติ เท่านั้น

เมื่อเปิดประตูรถ คุณจะพบบรรยากาศการตกแต่งที่ ดูเผินๆ เหมือนจะแน่นหนา สัมผัสได้ในทันทีว่า
ทีมออกแบบภายในของ Ford จงใจใช้เส้นสายจำนวนมาก เพื่อเพิ่มรายะเอียดลงบนพื้นผิวของทั้ง
แผงหน้าปัด แผงประตู ไม่เว้นแม้แต่ หัวเกียร์ ความพยายามดังกล่าว แม้จะทำให้ห้องโดยสารของ
Fiesta ดูดีมีชาติตระกูลกว่าคู่แข่งหลายๆรายในพิกัดเดียวกัน  แต่การเลือกใช้วัสดุที่ดีขึ้นกว่า รถยนต์
คู่แข่ง เพียงนิดหน่อย หรือเท่าเทียมกันในบางชิ้น กลับทำให้ภายในของ Fiesta เหมือนจะดูเป็น
รถยนต์ราคาถูกกันต่อไปอยู่ดี

เฉพาะในรุ่น 1.6 Sport ทั้ง Sedan และ Hatchback ถ้าเป็นตอนกลางคืน เมื่อคุณ กดรีโมท เปิดประตูรถ
หรือว่าดับเครื่องยนต์ก็ตาม นอกจากไฟในห้องโดยสารจะค่อยๆ ติดสว่างขึ้นมาแล้ว ยังมีไฟส่องสว่าง
บริเวณพื้นที่วางขาด้านหน้าอีกด้วย ช่วยอำนวยความสะดวกในกรณีที่คุณหรือผู้โดยสารด้านข้าง อาจ
เผลอทำสิ่งของขนาดเล็ก ตกหล่นลงไปบนพรมปูพื้น จะได้มีแสงสว่างพอจะส่องหาของได้ง่ายขึ้น

และยิ่งเมื่อมองดูภายในห้องโดยสารของรุ่นถูกสุด อย่าง 1.4 ลิตร Style แล้ว เมื่อรายละเอียดสิ่งละอัน
พันละน้อย ถูกตัดออกไป ความโล่งเตียน ก็บังเกิด

การเข้า – ออก จากเบาะคู่หน้าของ Fiesta Hatchback อาจต้องระวังหัวไปโขกกับเสาหลังคาคู่หน้า
อันโค้งมนและลาดเอียงสักนิดหน่อย เนื่องจากความจงใจในการออกแบบเส้นสายของเสาหลังคา
คู่หน้า (A-pillar) ให้ทอดยาวไปจรดเส้นกึ่งกลางล้อหน้า เพื่อช่วยให้ระยะยื่นหน้า (Front – overhang)
ของรถดูสั้นลง ทำให้ต้องออกแบบแนวขอบหลังคา ลาดเอียงโค้งมนรับกับเสาหลังคาคู่หน้าด้วย
ฝั่งคนขับ ประเด็นนี้ ไม่เป็นปัญหาเลย ถ้าคุณปรับตำแหน่งเบาะคนขับให้ลงต่ำจนสุด แต่สำหรับ
ผู้โดยสารฝั่งซ้าย อาจต้องก้มกัวกันให้ดีนิดนึง

ส่วนการเข้า – ออกจากเบาะคู่หน้า ของ Fiesta Sedan นั้น เหมือนกับรุ่น Hatchback ทุกประการ
เหตุผลนั่นเพราะว่า ทั้ง 2 ตัวถัง ใช้ โครงสร้างเหล็ก บริเวณตั้งแต่ ห้องเครื่องยนต์ด้านหน้า
มาจนถึง เสาหลังคากลาง B-Pillar และ ประตูผู้โดยสารคู่หลัง ร่วมกันทั้งหมด

เรื่องที่น่าตำหนิมีเพิ่มขึ้นมาอีก 1 เรื่อง นั่นคือ การหายตัวไป ของสวิชต์กลอนล็อกประตู แม้ว่า Fiesta
ทุกคันจะมีระบบเซ็นทรัลล็อก มาให้ โดยการกดปุ่มล็อกให้ไฟสีเหลืองสว่างขึ้นมา ใต้แผงสวิชต์ควบคุม
ตรงกลาง (ติดกับตำแหน่งไฟฉุกเฉิน Hazzard Lamp) แต่ทีมออกแบบ ได้ตัดปุ่ม หรือ เดือยล็อกประตู
ออกไป ซึ่งยากลำบากพอสมควร สำหรับคนที่ขี้หลงขี้ลืมล็อกประตู เป็นนิจ เพราะมันเป็นความเคยชิน
ที่เราจะต้องคอยส่องดูว่า ประตูล็อกแล้วหรือยัง ขณะออกรถ หรือแม้แต่ตอนออกจากรถ ขณะเดียวกัน
ขณะติดไฟแดง ถ้าคนในรถ อยากจะเปิดประตูออกไปเดี๋ยวนั้น ก็ทำได้เลยทันที และนั่นก็ไม่ใช่
เรื่องดีเท่าใดนัก เช่นถ้าสมมติจู่ๆ คุณกับแฟน ทะเลาะกันในรถ เมื่อติดไฟแดง หล่อนจะออกจากรถ
คุณคงห้ามเอาไว้ไม่ทัน เจ้าหล่อนก็คงหุนหันพลันแล่น เปิดประตูซุ่มซ่าม ในจังหวะที่ มอเตอร์ไซค์
พลีชีพ แล่นเข้ามาประชิด คงมีเลือดตกยางออกกันบ้างละ

อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องขอตำหนิก็คือ หากคุณสังเกตรถยนต์ทั่วๆไป จะพบว่า แผงประตูทั้ง 4 บานนั้น
มักจะถูกติดตั้งมาจนชิด สนิทพอดีกับ แผ่นพลาสติกบุรอบเสาหลังคากลาง B-Pillar  แต่ Fiesta ใหม่
การติดตั้งแผงประตู เผยให้เห็นระยะห่างที่มากไป จนเห็นเนื้อเหล็ก สีตัวถังได้ชัดเจน พอจะมีทาง
เป็นไปได้ไหมที่ ฝ่ายวิศวกรการผลิตของ AAT จะช่วยลดระยะห่างช่องว่าง (Gap หรือ Tolerance)
ดังกล่าว ให้ลดน้อยลง ไม่ให้ดูห่างกันจนน่าเกลียดอย่างที่เป็นอยู่ แถมบางคัน ระยะห่างฝั่งซ้าย – ขวา
ยังแอบไม่เท่ากันอีกต่างหากแหนะ!

ชุดเบาะนั่ง ของ Fiesta ตั้งแต่รุ่นถูกสุด ยันรุ่นแพงสุด ใช้โครงสร้างเบาะ ฟองน้ำ พนักพิง และเบาะรองนั่ง
เหมือนกันทั้งหมด โครงสร้างพนักพิงหลังค่อนข้างใหญ่นิดๆ มีพื้นที่รองบั้นท้าย และต้นขา อยู่ในเกณฑ์ดี
ผมยังไม่พบเจอปัญหาปวดหลังรุนแรงอะไร จากเบาะนั่งของ Fiesta อาจจะมีเพียงอาการเมื่อยนิดๆหน่อยๆ
เมื่อขับรถในเวลานานๆ ซึ่งจะว่าไปแล้ว อาการก็ไม่ได้มากมายอะไรนัก  ส่วนพนักศีรษะมีขนาดใหญ่ แต่
ก็พอจะมีอาการดันหัวบ้างนิดๆ แต่ไม่ถึงกับมากนัก

เบาะนั่งของผู้ขับขี่ สามารถปรับระดับสูง – ต่ำ ได้ 55 มิลลิเมตร ให้เหมาะสมกับสรีระของคนทั่วโลก
ที่แตกต่างกัน อีกทั้งยังสามารถปรับเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลังได้อีก 286 มิลลิเมตร และไม่ว่าจะปรับ
ตำแหน่งเบาะอย่างไร ก็จะมีพื้นที่เหนือศีรษะเพียงพอสำหรับผู้ขับขี่ ส่วนใหญ่ หัวไม่ติดเพดาน
หลังคา แผงควบคุมเครื่องปรับอากาศ และชุดคอนโซลกลาง บริเวณคันเกียร์ ไม่เบียดเข่าซ้ายมากนัก

แต่ข้อเสียก็คือ เบาะนั่งฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย ในเมื่อ ถูกติดตั้งมาตายตัว ปรับเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลังได้
แต่ไม่อาจปรับระดับสูง – ต่ำได้ ดังนั้น การวางแขนที่แผงประตูฝั่งซ้าย ก็อาจจะทำไม่ได้สะดวกนัก
เพราะแขนจะลอยขึ้นมาเล็กน้อย มาแนวเดียวกับ Ford Focus กันเลย งานนี้ควรแก้ตำแหน่งวางแขน
ที่แผงประตูด้วย แม้จะมีช่องใส่ของมาให้ แต่ถ้าวางแขนไม่ได้เลย หรือไม่สบายเท่าที่ควร ก็ไม่มีประโยชน์

อีกทั้ง ฟองน้ำหุ้มเบาะก็ยังถือว่ามาในแนวแข็ง เมื่อเทียบกับคู่แข่งคันอื่นๆ การใช้ฟองน้ำแข็งๆ
มีข้อดีคือ เมื่อผ่านเวลาไปหลายปี และผ่านการใช้งานรองรับ บั้นท้ายของสมาชิกในบ้าน
เบาะนั่งที่ใช้ฟองน้ำค่อนข้างแข็งสักหน่อย จะคงรูปเอาไว้ได้นานกว่า ฟองน้ำแบบนุ่ม
อย่างไรก็ตาม ต้องแลกกันว่า คุณจะอยากได้เบาะนั่งที่คงสภาพนานๆ หรือว่า ความนุ่มสบาย
ขณะเดินทางไกล เพราะในรถยนต์ระดับราคาต่ำกว่า 7 แสนบาทลงมา หาได้ยากที่จะมีเบาะนั่ง
ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการทั้ง 2 ข้อดังกล่าวได้ครบถ้วน

ส่วนวัสดุที่ใช้ในการตกแต่งเบาะนั่งนั้น เป็นผ้ามาให้ครบทุกรุ่น และต้องขอแก้ไขข้อมูลนิดหน่อย
หลังจากได้รับการทักท้วงจากกลุ่มผู้ใช้รถ Fiesta ทั้งหลาย  จึงต้องมาแก้ไขอัพเดทให้ว่า มีเบาะหนัง
มาให้เฉพาะรุ่น Sedan 1.6 Sport เท่านั้น

เบาะนั่งในรุ่น 5 ประตู 1.6 ลิตร Sport PowerShift จะเป็นผ้าลาย “Dotts” มาในโทนสีเข้ม สลับกับ
ผ้า ‘Mondus Max’ Syracuse bolsters.ลายฝีเย็บตะเข็บแบบ Fairland ทั้งเบาะหน้า และหลัง

ส่วนเบาะนั่งในรุ่น 4 ประตู 1.6 Trend PowerShift จะเป็นผ้าลาย Serk อันเป็นลวดลายวงกลม
คล้ายกับ หยดน้ำที่เพิ่งกระทบผิวน้ำ จนเกิดคลื่นเล็กๆ กระจายแผ่ออกไป เป็นลายที่จะพบได้
ในกระเบื้องบุผนัง ยุคใหม่ๆ จากบางค่าย

และ เบาะนั่งในรุ่น 5 ประตู 1.4 ลิตร Style 4AT และ 4 ระตู 1.4 ลิตร Style 5MT เป็นลาย Vario
อันเป็นผ้าสีเข้ม ลายเรียบๆ ไม่หวือหวา แต่ดูดี

การเข้าออกจากพื้นที่ห้องโดยสารด้านหลัง ก็ทำได้ไม่ถึงกับสะดวกงายดายนัก แต่ถ้าเทียบกับรถยนต์
แบบ Hatchback ท้ายตัดด้วยกัน คงต้องถือว่า Fiesta มีพื้นที่ช่องทางเข้าประตู ที่เอื้ออำนวยต่อการ
เข้า – ออก มากที่สุด คือ พอกันกับ Honda Jazz ดีกว่า Mazda 2 กับ Toyota Yaris

อย่างไรก็ตาม ต่อให้คุณกดล็อกประตู จากระบบเซ็นทรัลล็อกแล้ว แต่ถ้าผู้โดยสาร คิดจะเปิดประตู
ก็ยังทำได้อยู่ ที่สำคัญ ผมอาจจะตาฝาด หรือเบลอก็ได้ แต่ผมยังหาสวิชต์ ล็อกกันเด็กเปิดประตู ที่
บานประตูหลังทั้ง 2 ฝั่ง ไม่เจอเลยจริงๆ จนได้รับแจ้งจากกลุ่มผู้ใช้ Fiesta มาช่วยกันให้ข้อมูลว่า มัน
ไม่ได้อยู่ไหนไกลเลย ใต้สลักล็อกที่บานประตูหลังนั่นละครับ ต้องใช้เครื่องมือแหย่ๆ ไขๆ เอา
ต้องขอบคุณสำหรับการช่วยกันอัพเดทมา ณ ที่นี้ เพราะ เวาที่เราอยู่ับรถนั้น น้อยกว่าพวกคุณมากๆ
ดังนั้น ความละเอียด จึงทำได้แค่เพียงเวลาจะเอื้ออำนวย 

กระจกหน้าต่าง คู่หลัง แม้จะเปิด – ปิด ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า แต่ก็ไม่สามารถเลื่อนลงหมดครบทั้งบานได้
แม้แต่รุ่นเดียว แผงประตูสำหรับผู้โดยสารแถวหลัง ยังเป็นอีกจุดหนึ่งที่ควรปรับปรุงเพิ่มเติม เพราะ
การวางแขน ขณะนั่งบนเบาะหลังนั้น ยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร คือ เป็นแผงประตู ที่ออกแบบมา
โดยคิดเพียงว่า เบาะหลัง น่าจะเป็นตำแหน่งนั่งของเด็ก กระนั้นก็เถอะ กฎหมายในยุโรปเอง
ก็กำหนดให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ต้องน่า เบาะนิรภัยสำหรับเด็ก ถ้าเช่นนั้น เท่ากับว่า Ford ออกแบบ
แผงประตู้านข้าง มารองรับผู้โดยสารอายุแค่ 13 – 18 ปีเท่านั้นเองหรือ? เพราะตำแหน่งวางแขน
ยังเตี้ยไปนิดนึง เมื่อเราใช้งานจริง ทดลองนั่งด้านหลังจริง ยังพบว่า วางแขนค่อนข้างลำบากอยู่ดี

ส่วนประตูคู่หลัง และช่องทางเข้า – ออก จากเบาะหลังของตัวถัง Sedan นั้น ก็ยชุดมาจากรุ่น
Hatchback 5 ประตูเลยทั้งดุ้นนั่นละครับ ไม่ได้แตกต่างอะไรกันเลย การเข้า – ออก พอจะทำได้
อย่างไม่ลำบากยากเย็นเกินไปนัก แต่ก็ไม่ได้มีช่องทางเข้า – ออก ใหญ่เท่ากับคู่แข่งคันอื่นในตลาด

และในรถยนต์กลุ่ม B-Segment Sedan อย่างนี้ Honda City คือรถที่คุณสามารถจะเข้าออกจากพื้นที่นั่ง
ด้านหลัง ได้อย่างสะดวกสบายที่สุด

ถ้าสังเกตดูให้ดีจะพบว่า แนวคิดของการใช้ประตูคู่หลัง ร่วมกันกับรุ่น Hatchback 5 ประตู นั้น
เป็นแนวทางที่ผู้ผลิตรถยนต์ ฝั่งยุโรป ทั่วไปนิยมทำกัน เนื่องจากใช้บานประตู และ กรอบประตู
ร่วมกัน ช่วยลดต้นทุนได้เยอะ ไม่ต้องพัฒนาโครงสร้างในส่วนนี้เพิ่มเติมอีก

ชิ้นส่วนที่ใช้ร่วมกันได้นั้น มีทั้งบานประตู แผงประตู สวิชต์กระจกหน้าต่างไฟฟ้า รวมทั้ง
ชุดบานกระจกหน้าต่าง คิ้วขอบยางต่างๆ ทั้งที่บานประตู และที่โครงสร้างตัวถัง ไปจนถึง
กลอนประตู

อีกสิ่งหนึ่งที่อยากให้สังเกตคือ ช่องใส่หนังสือ ด้านหลังพนักพิงเบาะคู่หน้า มีมาให้ครบทั้ง
ฝั่งซ้าย และขวา ไม่เหมือนรถยนต์หลายๆรุ่น ในสมัยนี้ ที่ลดต้นทุน โดยให้มาแค่เฉพาะ
ฝั่งซ้ายเพียงอย่างเดียว เนื่องจาก ไม่ค่อยได้ใช้งานกันเท่าใดนัก

แม้ตัวเลขจะออกมาว่า Fiesta ใหม่ มีพื้นที่ว่างเหนือศีรษะ 953 มิลลิเมตร สำหรับผู้โดยสาร
ด้านหลัง พร้อมพื้นที่ว่างช่วงไหล่ตอนหลัง 1,297 มิลลิเมตร และพื้นที่วางขา 823 มิลลิเมตร  
แต่เมื่อนั่งโดยสารกันจริงๆ แล้ว พื้นที่ด้านหลังของ Fiesta ก็มีสภาพ ไม่ได้แตกต่างไปจาก
Mazda 2 ทั้ง Sedan และ Hatchback เท่าใดเลย นั่นหมายความว่า นั่งไม่ค่อยสบายเท่าที่ควร

เบาะนั่งแถวหลังของ Fiesta ถึงจะนุ่มกว่า Mazda 2 ชัดเจน แต่เมื่อต้องนั่งในท่าเดียวกันกับ
Mazda 2 เปี๊ยบ จึงทำให้ไม่ค่อยสบายนัก เป็นเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นตัวถัง Hatchback
5 ประตู หรือว่า Sedan ก็ตาม พนักพิงหลังนั้น ยังพอทำใจได้อยู่ ว่ายังพอหาความนุ่มจากฟองน้ำได้
บ้างนิดหน่อย ส่วนพื้นที่เหนือศีรษะ ถึงจะมีไม่มากนัก แต่ยังไม่ถึงขั้นหัวติดเพดาน สำหรับคน
ตัวสูงบางคน อาจจะมีเส้นผมเฉี่ยวเพดานกันบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะถ้าน้องบอม หรือ
Rhino Mango แห่ง The Coup Team ของเรา ซึ่งสูง 180 เซ็นติเมตร ยังไม่มีปัญหากับพื้นที่
เหนือศีรษะ ผมว่า นั่นก็พอจะเป็นเครื่องยืนยันอย่างหนึ่งได้ว่า คุณอาจไม่น่าเจอปัญหาดังกล่าว

แล้วปัญหามันอยู่ที่ไหนกันละ? บอกให้เลยตรงนี้แหละ ว่า มีด้วยกัน 4 ประเด็น ที่ Ford
ควรจะเอาไปปรับรุง ใน Fiesta รุ่นต่อไป

ประการแรก การใช้ชุดเบาะร่วมกัน ทั้งรุ่น Hatchback 5 ประตู และ Sedan 4 ประตู แม้ว่าจะ
ทำให้ประหยัดต้นทุนในการพัฒนา และการผลิตลงไปได้เยอะ แต่ข้อเสียจะอยู่ที่การออกแบบ
เบาะรองนั่ง สั้นเกินไป

ประการต่อมา พื้นที่วางขาค่อนข้างน้อย เนื่องจากระยะฐานล้อ ยังถือว่าสั้นกว่าคู่แข่งรุ่นอื่นๆ
ในตลาด เพราะปัจจุบันนี้ Toyota Vios Honda City แค่ 2 รุ่นนี้ ระยะฐานล้อ ก็ยาวถึงระดับ
2,550 มิลลิเมตร กันแล้ว ส่วน Fiesta เอง อยู่ที่ 2,489 มิลลิเมตร ซึ่งถือว่า น้อยกว่าเพื่อนเขา
พอสมควรเลยทีเดียว ทำให้มีปัญหา พื้นที่ความยาวห้องโดยสารค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบ
กับคู่แข่ง และนั่นก็ส่งผลถึงพื้นที่วางขาของผู้โดยสารตอนหลังโดยตรง

อันที่จริง ระยะฐานล้อที่เหมาะสม และไม่ก่อให้เกิดความอัดในการเดินทาง หรือผลกระทบ
ต่อ การบังคับควบคุมรถ น่าจะอยู่ที่ระดับ 2,500 มิลลิเมตร พอดีๆ เหมือนเช่นรถยนต์ที่ได้ชื่อ
ว่ามีสมรรถนะดี และมีความสมดุลย์ในการควบคุม เมื่อเทียบกับคู่แข่งในพิกัดเดียวกันอย่าง
Peugeot 405 และ Toyota Soluna Vios รุ่นที่แล้ว 

นอกจากนี้ พนักศีรษะ รูปตัว L คว่ำ นั้น แม้ว่าจะได้รับความนิยมในหมู่ผู้ผลิตรถยนต์ เพราะ
ออกแบบง่าย ติดตั้งง่าย ผลิตง่าย ประหยัด และรองรับศีรษะ ได้หลากหลายความสูง แต่ว่า
มีข้อแม้ก็คือ คุณต้องยกขึ้นใช้งาน ไม่เช่นนั้นแล้ว ขอบด้านล่างของมัน จะทิ่มตำต้นคอ
จนก่อความรำคาญไปโดยตลอด และนั่นก็ทำให้ผมคิดว่า ทำไมไม่ลองทำพนักศีรษะ แบบ
เดียวกับ เบาะแถว 3 ของ Honda Stream รุ่นแรกไปเลย คือ ฝังเป็นชิ้นเดียวกันกับพนักพิง
เบาะหลัง พอยกขึ้นมา ก็ดูแยกชิ้น แถมยังทำพนักพิงให้มีขนาดเล็กลงได้อีก ที่เหลือก็แค่
ทำแกนให้ยึดแน่นหนากับพนักพิง เพื่อให้ผ่านข้อกำหนดการทดสอบการชน ไม่น่าจะยาก
เกินไปนะผมว่า

และประการสุดท้าย Fiesta ไม่มีมือจับ ที่เพดานหลังคามาให้แต่อย่างใด มีเพียงขอเกี่ยว
สำหรับไม้แขวนเสื้อผ้าพับเก็บได้มาให้เท่านั้น ไม่รู้ว่าเรื่องแค่นี้จะแถมมาให้เนี่ย มันจะ
เพิ่มต้นทุนกันอีกเท่าไหร่นักเชียว? ข้อนี้ ทำตัวเหมือนกันเลยทั้ง Fiesta และ Mazda 2

ส่วนอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยที่มีมาให้นั้น Fiesta ทุกรุ่น จะติดตั้งถุงลมนิรภัยฝั่งคนขับ เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน
โดยในรุ่น Trend และ Sport จะมีถุงลมนิรภัยฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย เพิ่มมาให้อีกด้วย ทำงานร่วมกับเข็มขัดนิรภัย
แบบ ELR ยึด 3 จุด พร้อมด้วยระบบดึงกลับอัตโนมัติแบบผ่อนแรงดึง 2 จังหวะ Pretensioner & Load Limiter
เป็นอุปกรณ์มาตรฐานที่ได้รับการติดตั้งทั้งบริเวณผู้ขับขี่และผู้โดยสารด้านหน้า ส่วนเบาะหลัง ติดตั้งเข็มขัดนิรภัย
ELR ยึด 3 จุด 2 ตำแหน่ง อุปกรณ์ดึงกลับจะทำงานด้วยการดึงเข็มขัดนิรภัยจนแน่นเพื่อจัดตำแหน่งของผู้โดยสาร
ให้สอดคล้องกับการทำงานของถุงลมนิรภัย คุณสมบัติพิเศษอีกประการหนึ่งของระบบผ่อนแรงดึง 2 จังหวะ นั่นคือ
การช่วยลดแรงดึงของเข็มขัดนิรภัยลงเล็กน้อย เพื่อลดโอกาสที่ผู้โดยสารจะได้รับบาดเจ็บบริเวณหน้าอกในกรณี
ที่เกิดการชน

นอกจากนี้ ยังติดตั้งยางรองพรมซ้อนอยู่ใต้พรมรองเท้า ซึ่งช่วยลดแรงกระแทกบริเวณขาช่วงล่างในกรณีที่เกิดการชน
และมีระบบเตือนการคาดเข็มขัดนิรภัยทั้งด้วยสัญญาณไฟบนแผงหน้าปัด และเสียงร้องเตือน

นอกจากนี้ เบาะนั่งแถวหลัง ยังสามารถแบ่งพับได้ในอัตราส่วน 60 : 40 เพื่อเปิดพื้นที่ว่าง
สำหรับสัมภาระขนาดใหญ่ หรือ ยาว หรือทั้ง 2 อย่าง…Ford ใส่เบาะหลังแบบแบ่งแยก
พับพนักพิงลงมาได้ มาให้ครบทุกรุ่น ไม่ว่าคุณจะซื้อรุ่นท็อป 5 ประตู 1.6 ลิตร Sport
PowerShift

ไปจนถึงรุ่น 5 ประตู 1.4 ลิตร Style 4AT อันเป็นรุ่นถูกสุดของตัวถัง 5 ประตู ก็ยัง
มีมาให้ไม่ขาดตกบกพร่องเลยสักรุ่นเดียว

ใช่เพียงแค่ตัวถัง 5 ประตูเท่านั้น แต่ รุ่น 4 ประตู ก็ยังมีเบาะหลังพับได้ มาให้อีกด้วย
ครบทุกรุ่น ไม่ว่าจะเป็น 1.6 Trend PowerShift คันสีทอง คันนี้…

หรือจะเป็นรุ่น 1.4 ลิตร Style เกียร์ธรรมดา 5MT ก็มีมาให้ครบถ้วน เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน
ไปเลยทั้งหมด ทุกรุ่นย่อย

วิธีการพับเบาะ ก็ไม่อยากอะไร มองหาตัวปลดล็อก ที่ไหล่ข้าง พนักพิงฝั่งซ้าย หรือ ขวา
ยกปลดล้อก แล้วก็พับพนักพิงลงมา เพียงเท่านี้ พื้นที่วางสัมภาระ ก็จะเพิ่มขึ้นได้อีกเยอะ

Fiesta 5 ประตู Hatchback ทุกคัน มีพื้นที่ห้องเก็บสัมภาระขนาด 281 ลิตร แต่เมื่อพับเบาะหลัง
ลงมาแล้วทั้ง ฝั่งซ้าย -ขวา จะมีพื้นที่จุข้าวของได้สูงสุดถึง 965 ลิตร อย่างไรก็ตาม เมื่อพับเบาะ
หลังลงแล้ว ด้านหลังของพนักพิง ไม่สามารถพับราบเป็นแนวเดียวกันกับพื้นเบาะ อย่างที่
Honda Jazz เขาทำได้ อย่างว่าละ Jazz เป็นรายเดียวที่ทำเช่นนั้นได้จริงๆ เพราะเขาเล่นย้าย
ถังน้มัน ไปไว้ใต้เบาะคู่หน้า ซึ่งดูเหมือนว่าจะไม่มีใครลงทุนทำแบบนั้น

ขณะเดียวกัน ความสูงของพื้นที่เก็บสัมภาระจะอยู่ที่ 702 มิลลิเมตร จากพื้นรถ และช่องทางเข้า
ฝากระโปรงหลังขนาดใหญ่ที่มีความสูง 606 มิลลิเมตร กว้าง 996 มิลลิเมตร ช่วยให้บรรทุกและ
ขนถ่ายสัมภาระได้ดีพอประมาณ

เมื่อยกพรมพื้นห้องเก็บของขึ้นมา จะพบยางอะไหล่ Continental สวมกับล้อเหล็กสีดำ มาให้
และอันที่จริงแล้ว ดูดีๆ จะพบว่ามีสายคาด รัดสิ่งของบางอย่างไว้ ซึ่งผมไม่แน่ใจว่า เขาทำมา
ไว้ให้รัดตรึงสิ่งของบางประเภทเอาไว้อยู่กับที่หรือเปล่า

อย่าตกใจถ้า สีที่พ่น ดูจางกว่าสีตัวถังรถ เพราะสมัยนี้ เขาจะพ่นสีตัวรถกันแค่ 80 เปอร์เซนต์
จากตัวถังรถทั้งคัน แน่นอนว่า ช่วยประหยัดสีที่ใช้พ่นไปได้เยอะ เก็บไปพ่นรถคันต่อๆไป
ได้อีก ที่สำคัญ ยังช่วยลดการก่อปะญหาด้านสิ่งแวดล้อมทางอ้อมอีกด้วย

และเพื่อยืนยันว่า รุ่น 5 ประตู 1.4 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ ก็จะมียางอะไหล่ กับข้าวของมาให้
แบบเดียวกันนี้ เลยต้องบันทึกภาพมาให้ชมกันเป็นขวัญตา ว่ามันเหมือนกันเป๊ะจริงๆ
ไม่มีรุ่นไหน ด้อยกว่ากันแต่อย่างใด

ถ้าคุณคิดว่า พื้นที่ขนาดนั้น ก็น่าจะเพียงพอสำหรับคุณ เพราะไม่ได้ขนข้าวของไปไหนมาไหน
เยอะมากเกินไปกว่าการช้อปปิง ซื้อรองเท้า กระเป๋า เสื้อผ้า พื้นที่ห้องเก็บของ ในรุ่น 5 ประตู
ก็ถือว่า รองรับการใช้งานในชีวิตประจำวันได้

แต่ถ้าใครที่คิดว่า แค่นั้นหนะไม่พอ คงต้องมาดูกันที่รุ่น Sedan กันบ้าง

แม้ว่า Fiesta Sedan 4 ประตู จะมีพื้นที่ห้องเก็บสัมภาระใหญ่โตขึ้นกว่ารุ่น Hatchback มาอยู่ที่
ระดับ 430 ลิตร และมีความสูงของพื้นที่เก็บสัมภาระ 711 มิลลิเมตร  และดูจากรูป เหมือนว่า
ห้องเก็บของจะมีขนาดใหญ่ และมันเบียดบังพื้นท่เบาะหลังไปมากโขอยู่เหมือนกับ Mazda 2 Sedan

ดูเหมือนว่า Ford ได้พยายามออกแบบช่องทางเข้าห้องเก็บของให้มีขนาดใหญ่มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
แถมยังมีการ ร่นพื้นที่ฝากระโปรงหลัง ให้เข้าใกล้กับด้านข้างของตัวรถมากที่สุด แต่ด้วยข้อจำกัดด้าน
ขนาดความกว้างของตัวถัง ที่แคบกว่าเพื่อนฝูงเขานิดนึง ทำให้ช่องทางเข้า – ออก ห้องเก็บของนั้น
ยังไม่ถึงกับรองรับ สัมภาระที่กว้างมากๆ ได้ง่ายนัก

ถ้าคิดจะซื้อ โทรทัศน์ สักเครื่อง แล้วแบกเข้าห้องเก็บของด้านหลัง แล้วละก็ หากเป็น LCD TV
ขนาด 32 นิ้ว นั่นไม่ใช่ปัญหา แต่ถ้าใหญ่กว่านั้นแล้วละก็ จับยัดเข้ามาทาง ประตูผู้โดยสารแถวหลัง
จะง่ายกว่า

เมื่อยกพรมปูพื้นขึ้นมา ก็เจอยางอะไหล่ Continental ขนาด 175/65 R14 หน้าตาเหมือนกันเป๊ะ
ระบุด้วยสติ๊กเกอร์ว่า ใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ระบุบนกระทะล้ออย่างที่เห็น
ในภาพเป็นรุ่น Sedan 1.6 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ

ส่วนรุ่น Sedan 1.4 ลิตร เกียร์ธรรมดา ก็มีมาให้เหมือนกัน เท่าเทียมกัน ถ้าสังกตดีๆจะพบว่า
พื้นเหล็กบริเวฯแอ่งเก็บยางอะไหล่ของ ทั้งรุ่น Hatchback กับ Sedan จะพิมพ์ลายนูนมา
เหมือนกันเปี๊ยบ สิ่งที่ต่างกันก็คือ ความยาวของ แอ่งล้ออะไหล่นั่นเอง แน่นอนว่ารุ่น Sedan
จะต้องมีขนาดยาวกว่าชัดเจน

(Hatchback 5 ประตู 1.6 Sport)

งานออกแบบภายในห้องโดยสารนั้น ปัญหาโลกแตกของผู้ผลิตรถยนต์ประการหนึ่งคือ ถ้าจะออกแบบ
ให้มีจำนวนปุ่มน้อยๆ ลูกค้าที่ซื้อรถไปจะมองว่า ไม่ค่อยคุ้มค่าเท่าไหร่ แต่ถ้ามีปุ่มเยอะเกินไป การใช้งาน
ก็จะลำบาก และถูกมองว่า ไม่เป็นมิตรกับผู้ใช้ (User Friendly) เท่าที่ควร ดังนั้น ทำอย่างไรจึงจะมีจำนวน
สวิชต์ ที่เหมาะสม ไม่มาก ไม่น้อยเกินไป ใช้งานง่าย เข้าถึงง่าย และมีเท่าที่จำเป็นต้องมี

ทีมออกแบบของ Ford ก็เลยมุ่งเน้นไปที่การจัดวางตำแหน่งอุปกรณ์ต่างๆ ให้สะดวกต่อการใช้งาน ภายใต้
แนวทาง HMI (Human Interface) ในครั้งแรกที่ผมเห็นแผงหน้าปัดของ Fiesta ผมคิดว่า “สงสัยทีมออกแบบ
ต้องไปเอาแรงบันดาลใจมาจาก โทรศัพท์มือถือแน่ๆเลย หน้าตาของปุ่มกด มันช่างคล้ายกันกับปุ่มของ
โทรศัพท์ Nokia และ Motorola รุ่นเก่าๆ หลายรุ่นเลยทีเดียว”

(Hatchback 5 ประตู 1.4 Style)

ใช่ครับ ผมเข้าใจถูกแล้วละ พวกเขาออกแบบ Fiesta ใหม่ จากแนวคิดของโทรศัพท์มืถือจริงๆด้วย!
Niko Vidakovic, Chief Interior Designer, Ford of Europe บอกว่า “กลุ่มลูกค้ายุคใหม่ ที่เติบโตมาพร้อมกับ
สินค้า IT จำพวกโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบพกพาต่างๆ จะรู้สึกเหมือนอยู่ในบ้าน เมื่อ
เข้าไปนั่งอยู่ในรถคันนี้”

สิ่งที่ทำให้เรารับรู้ได้เลยว่าพวกเขาออกแบบแผงหน้าปัดจากโทรศัพท์มือถือ ก็คือ แผงควบคุม ICE หรือ
In-Car Entertainment ที่มีปุ่มสวิชต์ มีหน้าตาเหมือนปุ่มบนโทรศัพท์มือถือ Nokia รุ่นเก่าๆ หลายรุ่น
วางในตำแหน่งทำมุมกันอย่างพอดี แถมปุ่มกดที่มีลักษณะเว้าออกจากแผงควบคุม ทำหน้าที่เสมือนปุ่มกด
บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ ช่วยให้ใช้งานได้ง่ายยิ่งขึ้น

(Sedan 4 ประตู 1.6 Trend)

Ford พยายามออกแบบ แผงควบคุม ให้มีจำนวนสวิชต์ อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม มีปริมาณสวิชต์
ไม่มากไม่น้อย ดูรู้สึกว่า “เต็มแผง” ขณะเดียวกัน ก็ใช้งานไม่ถึงกับยากจนเกินไป สัมผัสบนปุ่ม ทำมา
ค่อนข้างใช้ได้ สำหรับรถยนต์ในระดับราคานี้

ที่สำคัญ เมื่อคุณนั่งอยู่ในตำแหน่งคนขับ และเอื้อมมือไปกดปุ่มบนแผงควบคุม คุณจะสัมผัสได้เลยว่า
ตำแหน่งนี้ละ เหมาะสมที่สุดแล้วสำหรับแผงสวิชต์ เหล่านี้

ถ้าสังเกตดูดีๆ อุปกรณ์ที่ Ford จะติดตั้งมาให้กับ Fiesta ทุกรุ่น เป็นพื้นฐานนั้น ได้แก่ แผงบังแดด
แบบ มีกระจกแต่งหน้า พร้อมฝาปิด มาให้ครบทั้ง 2 ฝั่ง แต่ไม่มีไฟแต่งหน้า ต้องใช้ไฟอ่านแผนที่
ซึ่งต้องเป็นไฟในเก๋งไปพร้อมกัน มีเฉพาะรุ่น 5 ประตู 1.6 Sport ส่วนรุ่นอื่น เป็นไฟในเก๋งมาให้แค่นั้น 

(Sedan 4 ประตู 1.4 Style เกียร์ธรรมดา)

นอกจากนี้ยังมี ช่องเก็บของที่แผงประตูคู่หน้าขนาดใหญ่ สามารถใส่ขวดน้ำขนาด 1.5 ลิตร หรือ
ใส่แผนที่ได้ ช่องเก็บของใต้เบาะนั่งด้านหน้า ช่องเก็บของด้านหน้าคันเกียร์ ช่องเก็บของด้านหลัง
คอนโซล ตาข่ายเหนือศีรษะ เอาไวใส่ กระเป๋าสตางค์ นามบัตร ฯลฯ และ ที่เก็บบัตรจอดรถตรง
กระจกหน้า

จริงๆแล้ว Ford น่าจะให้ ไฟส่องสว่างในห้องโดยสาร ตรงกลางเพดานหลังคามาอีกจุดหนึ่ง
เพื่อให้บรรยากาศภายในห้องโดยสารสว่างไสวกว่านี้ เพื่อช่วยให้ใครก็ตามที่ทำของหล่น
หาของเจอ แม้จะเป็นเวลาค่ำมืดแล้วก็ตาม ยิ่งพอเป็นเบาะแถวหลัง ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ขับรถไป
หันไปมองที มืดสนิท คิดว่าอยู่ในแดนสนธยา

(Hatchback 5 ประตู 1.6 Sport)

ตำแหน่งของอุปกรณ์ ในตำแหน่งคนขับนั้น ไล่จากขวา มา ซ้าย สวิชต์กระจกหน้าต่างไฟฟ้า
มีมาให้ครบทั้ง 4 บานทุกรุ่น เฉพาะฝั่งคนขับจะเป็นแบบ One-Touch ขึ้น – ลงได้ เพียงการกด
หรือยกขึ้น ครั้งเดียวจนสุด ถัดขึ้นไป ติดกับมือจับเปิดประตู เป็นสวิชต์กระจกมองข้างปรับด้วย
ไฟฟ้า มีมาให้ครบทุกรุ่น แต่จะมีเฉพาะรุ่น 1.6 Sport และ 1.6 Trend ทั้ง 2 ตัวถังเท่านั้น ที่จะมี
ระบบพับกระจกมองข้างด้วยไฟฟ้ามาให้ ซึ่งคุณสามารถตั้งค่าการพับได้ ในเมนูย่อยของระบบ
แสดงข้อมูลในรถ (กรุณาไปลองใช้งานกันเอาเองตามคู่มือ)  สวิชต์ เปิดไฟหน้าแบบมือบิด อยู่
ด้านใต้ช่องแอร์ฝั่งขวามือของคนขับ

พวงมาลัยปรับระดับ สูง – ต่ำ และระยะใกล้ – ไกล จากตัวผู้ขับได้ ในรุ่น 1.6 Sport ทั้ง 2 ตัวถัง
จะตกแต่งด้วยลายสีเงิน มีสวิชต์ควบคุการทำงานของชุดเครื่องเสียงมาให้ ที่ฝั่งซ้ายของแป้น
พวงมาลัย แป้นฐานเกียร์ และคันเกียร์ ของรุ่น 1.6 Sport ทั้ง 2 ตัวถังจะล้อมกรอบด้วยลาย
โครเมียมขึ้นเงา ช่องแอร์ของทุกรุ่น ฝั่งซ้ายสุด และขวาสุดเป็นแบบวงกลม หมุน และปิดได้
เหมือนกับรถยุโรปขนาดเล็กหลายรุ่นในตอนนี้

(Hatchback 5 ประตู 1.4 Style เกียร์อัตโนมัติ)

พอมาเป็นรุ่น Hatchback 5 ประตู กับ Sedan 1.4 Style การตกแต่งอันสวยงาม กลับหดหายไปเสียแทบจะสิ้น
กรอบชุดมาตรวัด จากสีเงิน ก็กลายเป็นสีดำ พวงมาลัย จากเดิมที่ตกแต่งด้วยสีเงิน มีสวิชต์ควบคุม เครื่องเสียง
ก็ถูกถอดออก คันเกียร์ ก็แตกต่างกัน ดีหน่อยตรงที่ยังมีโหมด บวก / ลบ ให้เล่นได้ พวงมาลันเป็นทรงเดียวกัน
แต่เป็นแบบยูรีเทนสีดำ

(Sedan 4 ประตู 1.6 Trend) 

และถ้าคุณคิดว่า จะซื้อรุ่น Trend เพื่อหวังให้ภายในตกแต่งดูดีมีชาติตระกูลใกล้เคียงกับรุ่น Sport ละก็
ขอแสดงความเสียใจด้วยครับ คุณคิดผิด พวกเขาก็จะติดตั้งพวงมาลัยยูรีเทนสีดำแบบเดียวกัน มาให้
มีเพียงคันเกียร์ และฐานรองเกียร์เท่านั้น ที่ใช้ร่วมกับรุ่น Sport ได้ นอกนั้น แม้แต่กรอบชุดมาตรวัด
ยังเป็นสีดำ เหมือนกันไม่ผิดเพี้ยน!

ชุดมาตรวัดในรุ่น 1.6 Sport ทั้ง Hatchback และ Sedan จะเป็นแบบนี้ กรอบนอกจะเป็นสีเงิน
ส่วนไฟสัญญาณของอุปกรณ์ทุกชนิด ที่เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ติดขึ้นมาแสดงสถานะพร้อมทำงาน
ครบถ้วนทุกดวง การใช้ฟอนท์ตัวเลข แม้จะมีขนาดเล็กไปหน่อย แต่ด้วยระยะห่างค่อนข้างมาก
ทำให้พอจะกะเก็งอ่านค่าได้ว่า กำลังใช้ความเร็วเท่าไหร่ และรอบเครื่องยนต์เท่าไหร่ ในตอนกลางคืน

หากเป็นชุดมาตรวัดของรุ่น 1.6 Trend และ 1.4 Style แล้ว กรอบนอกของชุดมาตรวัดจะเป็นสีดำเงา
ไฟของระบบ Hill Start Assist รวมทั้งระบบควบคุมเสถียรภาพ ESP จะไม่มีแสดงขึ้นมาให้ดูกัน
เรื่องแอบเซ็งนิดหน่อย คือ Fiesta ทุกรุ่นไม่มีมาตรวัดความร้อนกันอีกแล้ว ไม่รู้จะงกอะไรกันมากมาย
นักหนา แค่เข็มความร้อน จะต้องใช้สัญญาณไฟเตือนกันอย่างเดียวเลยหรืออย่างไร?

ชุดเครื่องเสียงของ Fiesta เป็นจุดขายสำคัญที่สุดของรถยนต์รุ่นนี้ เพราะในรุ่น Sedan และ
Hatchback 1.6 Sport (คันสีแดงที่เห็นอยู่ในภาพข้างบนนี้) ถือเป็นรถยนต์คนแรกในกลุ่ม
B-Segment ของเมืองไทย ที่มีการติดตั้ง เทคโนโลยีระบบสั่งการด้วยเสียง (Voice Control)
ทำงานผ่านสัญญาณ Bluetooth เพื่อการเชื่อมต่อแบบไร้สายกับชุดเครื่องเสียง อันประกอบ
ด้วย วิทยุ AM/FM พร้อทมเครื่องเล่น CD / MP3 แบบแผ่นเดียว ซึ่งมีโทรศัพท์เคลื่อนที่
ฝังมาให้ในตัวเสร็จสรรพ

ข้อดีของระบบนี้ก็คือ คุณสามารถพูดสั่งให้ วิทยุ เปลี่ยนเพลงให้ เปลี่ยนสถานีวิทยุให้
โทรออกหรือรับสายโทรศัพท์จากใครก็ได้ (ไม่จำกัดว่าต้องเป็นแค่คุณแม่ เหมือนใน
ภาพยนตร์โฆษณา) โดยระบบกระจายเสียงทั้งหมดจะทำงานผ่านลำโพง 6 ตัว และเฉพาะ
ในรุ่น Sport ทั้ง Sedan กับ Hatchback จะมีช่องเชื่อมต่อ USB ติดตั้งมาให้ ข้างช่อง AUX
และ ช่องเสียบไฟฟ้า ใกล้เบรกมืออีกด้วย

การควบคุม จะเริ่มจากการกดสวิชต์ บนก้านไฟเลี้ยว (ฝั่งซ้ายของพวงมาลัย แบบรถยุโรป)
จากนั้น คุณต้องออกเสียง เรียกอุปกรณ์ที่ต้องการใช้ก่อน เช่น จะเปลี่ยนคลื่นวิทยุ ก็ต้องพูดว่า
Radio > FM > 94.0 ถ้าจะเปลี่ยนเพลง จากเครื่องเล่น CD ก็ต้องกดสวิชต์ แล้วพูดตามเจ๊ฝรั่ง
ไปว่า CD Player > Track No 2 อะไรก็ว่าไป

ระบบ Voice Command นั้น แม้การใช้งานดูเหมือนจะง่าย แต่ถ้าพูดเลือกให้ระบบทำงาน
ด้วยคำที่ซ้ำกัน เช่น จะเปิดวิทยุ คลื่น FM 88.0 MHz เมื่อต้องพูดว่า Eighty-eight ระบบมักจะ
เปลี่ยนช่องผิดให้คุณเป็น 98.0 เสมอๆ บางทีเจ๊ฝรั่ง ก็จะหูตึง ไม่เข้าใจในสิ่งที่เราพูด และ
ตอบสนองด้วยการทำงานผิดไปจากที่เราต้องการ “เป็นประจำ” เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับสำเนียง
ของภาษาอังกฤษ แต่อย่างใด เพราะเราลองพูดในหลายๆสำเนียงกันแล้ว เจ๊ฝรั่ง ก็ทำงาน
ในคำสั่งง่ายๆ ได้ชัดเจน

แล้วที่อยากรู้มากเลยคือ ใครเป็นคนคิดค้นให้ต้องพูดบอกระบบ ไล่กันตามเมนูหลักๆลงไป
เป็นเมนูย่อยๆ ซึ่งมันวุ่นวายต่อการจดจำของผู้ใช้รถมากๆ โดยไม่จำเป็น คนของ Ford เคย
ไปถอดระบบ Voice Command ของพวก BMW หรือ Land Rover มาศึกษาบ้างไหมว่า ทำไม
ระบบของพวกเขา ถึงไม่เห็นจำเป็นต้องให้ผู้ขับ พูดไล่จากเมนูหลักเข้าไปก่อนเลย แต่
อยากจะเปลี่ยนช่องวิทยุ ทั้งที่เล่น CD อยู่ ก็กดสั่ง แล้วพูดได้เลย ว่า 94.0 ระบบก็จะเปลี่ยนให้
ในทันที

ทำอะไรให้มันง่ายๆ และสะดวกต่อการใช้งานของลูกค้ากันบ้าง ไม่ได้หรือยังไงเนี่ย?

เมื่อนำมาทดลองใช้งานจริง คุณอาจต้องอาศัยความเคยชินบ่อยๆ ฝึกกันบ่อยๆ ไม่แพ้กับ
การเข้าคอร์สฝึกพูดภาษาอังกฤษกับคุณ แอนดรูวส์ บิ๊กส์ แห่ง The Nation ถ้ามันยุ่งยาก
มากนักละก็ ขอแนะนำว่า เอื้อมมือไปกดปุ่ม ทั้งที่ชุดเครื่องเสียง และสวิชต์บนพวงมาลัย
จะง่าย วดเร็ว สะดวก ได้ดังใจมากกว่า ไม่ต้องมานั่งหงุดหงิดเสียเวลา แกมรำคาญ อีเจ๊
ในระบบ Voice Command กันให้เสื่อมจิต

นอกจากนี้ Fiesta ทุกรุ่น ทุกคัน จะมีจุดเชื่อมต่อเครื่องเล่น MP3 และ AUX เพื่อเชื่อมต่อกับ
เครื่องเล่นเพลง หรืออุปกรณ์เพื่อความบันเทิงส่วนบุคคล เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน เหมือนอย่าง
ที่เห็นในรุ่น Hatchback 1.4 Style เกียร์อัตโนมัติ ข้างบนนี้ ติดตั้งไว้ที่ข้างช่อง Power Supply
ใกล้กับเบรกมือ

รุ่น 1.4 Style ทุกคัน ให้วิทยุ AM/FM พร้อมเครื่องเล่น CD / MP3 1 แผ่น แถมลำโพงมาให้
4 ชิ้น แต่คุณภาพเสียงก็ถือว่าไม่เลวร้ายนัก หากเทียบกับคู่แข่งคันอื่นๆ ต้องถือว่า ดีพอรับได้
เพียงแต่ว่า เสียงใส หายไปมาก ตามสไตล์ของวิทยุติดรถยนต์จากฝั่งยุโรปทั่วๆไป ที่ไม่ค่อย
จะได้ยินเสียงใสกิ๊งเท่าที่ควร อยากเห็นเสียงแหลมออกมามากกว่านี้ และมีมิติมากกว่านี้
อีกสักหน่อย

ขณะที่รุ่น 1.6 ลิตร ทั้ง Trend และ Sport นั้น ชุดเรื่องเสียงเป็นแบบเดียวกัน เพียงแต่รุ่น Trend
ในภาพข้างบนนี้ จะไม่มีระบบ Voice Command มาให้แต่อย่างใด คุณภาพเสียง ดีกว่ากันนิดเดียว
เพราะมีลำโพงทวีตเตอร์ เพิ่มเข้ามาที่แผงประตูด้านข้าง บริเวณ ที่เปิดประตู เสียงที่ใสขึ้นกว่ากัน
นิดนึง ก็ยังไม่มากพอที่จะทำให้ผมตกหลุมรักเครื่องเสียงใน Fiesta ได้ และในเวลานี้ Honda City
ใหม่ ก็ยังคงครองตำแหน่ง รถยนต์ B-Segment มีชุดเครื่องเสียงดีที่สุดในกลุ่มนี้อยู่ตามเคย ยังไม่มี
ใครมาโค่นบรรลังก์ลงได้

ส่วนเครื่องปรับอากาศ ทุกรุ่นของตัวถัง Hatchback 5 ประตู และ Sedan รุ่น Trend กับ Style จะมี
สวิชต์ควบคุมเครื่องปรับอากาศมาให้ แบบเดียวกันทั้งหมด สวิชต์ จะมี 3 วงกลม เล็ก ใหญ่ และเล็ก
ฝั่งซ้าย ไว้ควบคุมสวิชต์พัดลม ตรงกลาง ควบคุมทิศทางของความเย็น สู่ห้องโดยสาร มีปุ่มเปิด – ปิด
รับอากาศจากภายนอกรถเข้ามา และ ฝั่งขวาไว้เร่งหรือลดน้ำยาแอร์

ยกเว้นเพียงรุ่นเดียวเท่านั้น คือรุ่น Sedan 1.6 ลิตร Sport ที่จะมีสวิชต์เครื่องปรับอากาศแบบ Digital
อัตโนมัติมาให้ เป็นพิเศษ ซึ่งไม่ได้ติดตั้งมาให้ในรถที่เรานำมาทดลองขับกันแม้แต่คันเดียว

ถัดลงไปเป็นช่องใส่ของขนาดเล็ก พอให้วางเครื่องเล่น MP3 หรือ iPod ได้ แต่ไม่ใหญ่พอให้วาง
ข้าวของอื่นๆที่มีขนาดใหญ่กว่านี้

ทุกรุ่น จะมีกล่องเก็บของแบบเป็นฝาปิดในตัว ขนาดใหญ่พอประมาณ เพียงแต่ว่า เมื่อเจอ
คู่มือผู้ใช้รถ สมุดลงทะเบียนรับประกันคุณภาพ กับเอกสารทะเบียนรถและประกันภัยเข้าไป
ก็จะดูแน่น เต็มพื้นที่ เหลือช่องให้สอดแทรกเอกสารเข้าไปได้ไม่มากนัก

อ้อ! พอนึกถึงสมุดคู่มือรับประกันคุณภาพแล้ว นึกต่อขึ้นได้ ผมลืมบอกไป Fiesta ทุกคัน
เข้าศูนย์บริการ เช็คระยะที่ทุกๆ 15,000 กิโลเมตร แล้วนะครับ Ford หวังว่าจะช่วยลด
ค่าใช้จ่ายของลูกค้า ในด้าน ต้นทุนการเป็นเจ้าของรถ (Cost of ownership) แต่ในความ
เป็นจริง จะช่วยได้มากน้อยแค่ไหน ลูกค้านั่นละคือผู้ตัดสิน

ข้างลำตัว ผู้ขับขี่กับผู้โดยสารด้านหน้า ไม่มีกล่องคอนโซลใดๆมาให้เลย มีแค่ช่องวางแก้วน้ำ
2 ตำแหน่ง สไหรับ ผู้โดยสารด้านหน้า และ 1 ตำแหน่ง สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง ช่องใส่แก้วน้ำ
ทำออกมาค่อนข้างหลวมไปหน่อย ถ้าต้องใส่ขวดน้ำแบบ 7 – 8 บาท แต่ถ้าใส่แก้วกาแฟ ผมว่าน่าจะ
กำลังพอดี

และไม่ใช่จะมีให้แค่รุ่น 1.6 Sport PowerShift อย่างรูปข้างบนก่อนหน้านี้เท่านั้นนะ ต่อให้คุณซื้อ
รุ่น Sedan 1.4 Style เกียร์ธรรมดา คุณก็จะได้พื้นที่ด้านข้างแบบเดียวกันนี้ เหมือนดังในภาพ เป๊ะ
งานนี้ Ford น่าจะมีที่วางแขนแบบพับได้มาให้สักหน่อยก็ยังดี ทำตัวเหมือนกับ Mazda 2 และ
Honda Jazz ไม่มีผิด

มาดูทัศนวิสัยจากตำแหน่งคนขับกันบ้าง แม้ Ford จะบอกว่า  นักออกแบบของตนได้ใช้เทคโนโลยี
อย่าง ระบบคอมพิวเตอร์ช่วยออกแบบวิศวกรรมเสมือนจริง (Computer Aided Virtual Engineering
หรือ CAVE) ด้วยการใช้จอโปรเจ็คเตอร์และคอมพิวเตอร์ร่วมกันหลายชุด CAVE จึงสามารถสร้าง
แบบจำลองภายในห้องโดยสารได้ในขนาดเท่าของจริง ช่วยให้วิศวกรสามารถปรับตำแหน่งเบาะนั่ง
ที่นั่งของผู้ขับขี่ให้มีทัศนวิสัยดีที่สุด ทั้งยังสามารถควบคุมระดับความนุ่มสบาย องศาพวงมาลัย และ
ความสามารถในการใช้งานปุ่มควบคุมหลักๆ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านสรีรศาสตร์
ยังมีส่วนช่วยนักออกแบบในการปรับรูปทรงกระจกหลังของ Fiesta เพื่อให้มีทัศนวิสัยที่กว้างเพียงพอ
โดยรักษารูปทรงของรถตามหลักการออกแบบ Kinetic Design ได้อย่างครบถ้วน  

แต่เมื่ออยู่ในรถคันจริงแล้ว ก็ยังพอจะพบความไม่ลงตัวอยู่บ้างนิดหน่อย แม้จะไม่เยอะนัก เมื่อเทียบ
กับรถยนต์จากคู่แข่งในพิกัดเดียวกันบางรุ่นก็ตาม

โดยใน 4 ภาพแรก จะเป็นเบาะนั่งคนขับในรุ่น Hatchback 5 ประตู 1.6 Sport หากมองไปทาง
ด้านหน้ารถ ก็ยังไม่พบปัญหาอะไรมากนัก เพียงแต่ว่า โคนเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar จะถูก
ยืดฐานขึ้นไปข้างหน้ามากหน่อย

แต่พอมาถึงเสาหลังคา A-Pillar ฝั่งขวา จะพบว่า กระจกหน้าต่าง โอเปรา ที่เพิ่มเข้ามาคั่นกลาง
ระหว่างบานประตู กับโคนฐานรากของเสา มีการบดบังทัศนวิสัยอยู่บ้าง โดยเฉพาะ ในช่วงที่
ต้องเลี้ยวโค้งขวา บนถนนแบบสวนกันสองเลน จะพบว่า เสาหลังคานั้น บดบังรถคันที่แล่น
สวนมาในโค้งไปไม่น้อย

กระจกมองข้าง มีขนาดเล็ก ต่อให้พยายาม จะทำปลายด้านนอก ให้เรียวแหลม และมีแนวเส้นประ
เพิ่มมุมมองด้านข้างให้เลยออกไปอีกนิด แต่ก็ใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ เนื่องจาก ตัวพลาสติกที่ทำ
กรอบกระจกเอง ยังมีพื้นที่ด้านใน ที่สะท้อนกระจกขึ้นมา และไม่ได้ช่วยให้เกิดประโยชน์อันใดนัก

ขณะเดียวกัน เสาหลังคา A-Pillar ฝั่งซ้าย แม้จะไม่ได้บดบังทัศนวิสัยตอนกลับรถมากนัก แต่ก็ยังมี
บางจังหวะ ที่เสาหลังคา อาจบังมุมกันได้บ้าง ส่วนกระจกมองข้างนั้น กลับมองเห็นพื้นที่เลยถัด
ออกห่างจากตัวรถไปชัดเจน อย่างไรก็ดี ขนาดของกระจกมองข้าง ก็ยังเล็กไปนิดนึง และมันเกิด
มาจาก การออกแบบให้ ปลายด้านนอก เป็นมุมแหลม อย่างที่เห็นอยู่นี้นั่นเอง

ส่วนทัศนวิสัยด้านหลังนั้น ในรุ่น 5 ประตู ชัดเจนเลยว่า เสาหลังคาคู่หลังสุด มีขนาดใหญ่โตชัดเจน
แถมยังบดบังจักรยานยนต์ ที่แล่นตามมาข้างหลังได้เกือบจะเต็มคันรถ กระจกโอเปราด้านหลัง
ถัดจากานประตูคู่หลังไป แทบจะไม่ได้ช่วยให้เกิดทัซนวิสัยใดๆให้ดีขึ้นได้เลย

แต่ในรุ่น Sedan 4 ประตู การมองเห็นรถจักรยานยนต์จากด้านหลัง ทำได้ง่ายขึ้นนิดหน่อย เพราะ
มุมมองจากกระจกโอเปราคู่หลัง ที่ชัดเจน มีฐานค่อนข้างกว้าง ดังนั้น แม้ว่าเสาหลังคา C-Pillar
จะหนาอ้วนใหญ่ แต่ก็ไม่ก่ออุปสรรคในการขับขี่ หรือถอยหลังเข้าจอดมากนัก ถ้าคุณคุ้นชินกับ
การขับรถที่มีบั้นท้าย สูงๆ โด่งๆ อยู่ก่อนแล้ว (เพียงแต่ทั้ง 2 รุ่นนี้ ถ้าเอาพนักศีรษะขึ้นมาใช้งาน
ทั้งคู่ เปนอันว่า บดบังกระจกบังลมหลังไปได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

********** รายละเอียดทางวิศวกรรมและการทดลองขับ **********

ในเมืองไทย Fiesta ถือเป็นรถยนต์ระดับ B-Segment Sub-Compact เพียง 1 ใน 2 รุ่นเท่านั้น ณ ขณะนี้
ที่มีเครื่องยนต์ให้เลือก 2 ขนาดความแรง ทั้งคู่ เป็นเครื่องยนต์ ตระกูล Duratec เวอร์ชันใหม่ ที่ได้รับการ
ออกแบบ และปรับปรุงมาอย่างดี ไม่เว้นแม้กระทั่งการจัดวางตำแหน่งชิ้นส่วนต่างๆ เช่น ท่อ สายเคเบิล
ไฟฟ้า และชิ้นส่วนประกอบอื่นๆ ลงในพื้นที่แคบๆ ของห้องเครื่องยนต์ ควบคู่กับการปกป้องชิ้นส่วนต่างๆ
เหล่านี้ ให้พ้นจากความร้อนและแรงสั่นสะเทือนที่เป็นอันตราย อีกทั้งยังเผื่อไว้สำหรับกรณีการปะทะ
อีกด้วย

มีทั้งเครื่องยนต์ รุ่น Sigma 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,596 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 79.0 x 81.4 มิลลิเมตร
อัตราส่วนกำลังอัด 11.0 : 1 ฝาสูบ และเสื้อสูบทำจาก อะลูมีเนียม จ่ายเชื้อเพลิงด้วย หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์
Sequential Multipoint ซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักที่เปิดตัว และใช้ร่วมกันในแทบทุกตลาดทั่วโลก ทั้งในยุโรป
สหรัฐอเมริกา แคนาดา และประเทศไทย

จุดเด่นของเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร อยู่ที่การติดตั้งระบบแปรผันวาล์ว Ti-VCT (Twin-Independence Variable
Camshaft tming) ซึ่งเป็นระบบแปรผันวาล์วที่ปรับเปลี่ยนองศาการเยื้องของหัวแคมชาฟต์ ทั้งฝั่งวาล์วไอดี
และฝั่งวาล์วไอเสีย มีกลไกที่จะปรับมุมการเยื้องของกระเดื่องวาล์วได้ 45 – 50 องศา ถ้ายังนึกภาพไม่ออก
ว่าทำงานอย่างไร คลิปวีดีโอข้างล่างนี้จะช่วยให้คุณ หายสงสัย เพราะ ทางศูนย์ฝึกอบรมของ Ford Europe
ในเมือง Cologne ที่เยอรมันี จัดทำให้ดูในนี้หมดแล้ว เพียงแต่ว่า ต้องฟังภาษาอังกฤษให้ออก ก็เท่านั้น

 

 

กำลังสูงสุด 121 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 151 นิวตันเมตร (15.38 กก.-ม.) ที่ 4.050 รอบ/นาที
เครื่องยนต์รุ่นนี้ เติมน้ำมันเชื้อเพลิงได้ ทั้ง เบนซิน 91 หรือ 95 แก็สโซฮอลล์ 91 หรือ 95 รวมทั้ง แก็สโซฮอลล์ E20
แต่เติมแก็สโซฮอลล์ E85 ไม่ได้ ผ่านมาตรฐานไอเสีย Euro-III เป็นขั้นต่ำ เรียบร้อยแล้ว

เครื่องยนต์ 1.6 ลิตร จะถูกส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ แบบ คลัชต์คู่
ของ GETRAG เยอรมันี รุ่น 6DCT250 ที่ Ford เรียกว่า PowerShift Dual Clutch ซึ่งเป็นเกียร์อัตโนมัติ 
รุ่นเดียวกับที่มีให้เลือกติดตั้งในเวอร์ชัน อเมริกาเหนือ (แถมอัตราทดยังเหมือนกันเปี๊บอีกต่างหาก)

ปิเอโร อเวอร์ซา หัวหน้าทีมวิศวกรพัฒนาระบบเกียร์ PowerShift กล่าวว่า “ระบบเกียร์อัตโนมัติรุ่นใหม่นี้
ลดความซับซ้อนลงและเพิ่มการตอบสนองและสมรรถนะ พร้อมๆ กับการรักษากำลังเครื่องยนต์ให้ต่อเนื่อง
เพื่อมอบประสิทธิภาพสูงสุดให้แก่ผู้ขับขี่”

เกียร์ลูกนี้ มีความยาว 350 – 400 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวตั้งแต่ 72 – 82 กิโลกรัม รองรับแรงบิดสูงสุดได้ถึง
240 – 280 นิวตันเมตร ใช้น้ำมันเกียร์ 1.7 – 1.9 ลิตร

จุดเด่นประการหนึ่งของเกียร์ลูกนี้ก็คือ ขณะที่เกียร์อัตโนมัติส่วนใหญ่ใช้จานคลัตช์แบบเปียกที่จุ่มอยู่ใน
น้ำมัน (ฟังแล้ว นึกถึง กุ้งชุบแป้งทอด ขึ้นมาดื้อๆ) เกียร์ของ GETRAG ลูกนี้ ใช้คลัตช์แบบแห้งที่ส่งกำลัง
และแรงบิดผ่านผ้าคลัตช์ธรรมดา การติดตั้งคลัตช์แห้งแบบใหม่นี้ไม่ต้องใช้ปั๊มน้ำมัน Torque Converter
ของเหลวอื่นๆ หรือ Oil-Cooler และท่อภายนอกเหมือนอย่างที่เกียร์แบบคลัตช์เปียกต้องใช้

มีการปรับปรุงเรื่องเสียงรบกวน แรงสั่นสะเทือน และความแข็งกระด้าง (NVH : Noise Vibration
& Harshness) เมื่อขับที่ความเร็วต่ำ การควบคุมคลัตช์อย่างแม่นยำและราบรื่นยิ่งขึ้นจะช่วยดูดซับแรง
สั่นสะเทือนของเครื่องยนต์ แรงบิดขณะหมุนของเครื่องยนต์จะได้รับการควบคุมและค่อยๆ สะสม
เพิ่มขึ้นเมื่อผู้ขับขี่ถอนเท้าออกจากเบรก

นอกจากนี้ ยังมีระบบการลดความเร็วไปสู่เกียร์ว่าง (Neutral Coast Down) ซึ่งจะปลดคลัตช์เมื่อผู้ขับขี่
เหยียบเบรก ช่วยให้รถเปลี่ยนเกียร์ต่ำลงและลดความเร็วได้อย่างนุ่มนวล ซึ่งนั่นจะช่วยให้ประหยัด
น้ำมันยิ่งขึ้น

Ford เคลมว่า เกียร์อัตโนมัติ 6DCT250 ลูกนี้ ช่วยลดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงลงได้สูงสุดถึง 9 เปอร์เซนต์
เมื่อเทียบกับเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ทั่วไป โดยขึ้นอยู่กับตัวรถ ว่าติดตั้งอุปกรณ์ใดๆเข้าไปอีกบ้าง และยัง
มีน้ำหนักเบา ซึ่งทำให้น้ำหนักรวมของตัวรถทั้งคัน ลดลงได้ถึง 13 กิโลกรัม

แอบเติมความรู้ให้เล็กน้อยว่า เกียร์รุ่นนี้ คือลูกเดียวกันกับที่ประจำการอยู่ใน Renault Megane ซึ่งมีขาย
เฉพาะในยุโรป เท่านั้น

รายละเอียดทางเทคนิค ของเกียร์ลูกนี้ คัดมาจาก เว็บไซต์ Getrag.de/en มีดังต่อไปนี้

Max. Torque Capacity       240 – 280 Nm  
Weight (dry)                   72 -82 kg (incl. damper/DMF)  
Installation length             350 – 400 mm  
Input Shaft – Differential    183 – 205 mm  
Oil                                  1.7 – 1.9 l
Ratio 1st gear                  15 – 18.5  
Ratio 6th gear                  2.1 – 4  
Gear Spread Ratio             max 7.2  
Synchronization     
1st and 2nd gear              dual cone
3rd and 4th gear              single cone  
5th and 6th gear              single cone
Control unit                      integrated (only one plug to the vehicle)
Parking lock                      mechanically actuated and locked
Shifter System                  electromechanical actuation of the dry clutch and shifting system

สำหรับอัตราทดเกียร์ เมื่อนำมาติดตั้งเข้ากับ Fiesta 1.6 ลิตร มีดังนี้

เกียร์ 1……………………….3.917
เกียร์ 2……………………….2.429
เกียร์ 3……………………….1.436
เกียร์ 4……………………….1.021
เกียร์ 5……………………….0.867
เกียร์ 6……………………….0.702
เกียร์ถอยหลัง…………………3.507
อัตราทดเฟืองท้าย……………3.895 (เกียร์ 1,2,5,6) / 4.353 (เกียร์ 3,4,R)

ที่สำคัญ เกียร์ลูกนี้ ยังมีระบบ ช่วยการออกตัวขณะจอดบนทางลาดชัน (Hill Launch Assist) โดยจะช่วยรักษา
แรงดันเบรกไว้นานประมาณ 3 วินาที หรือจนกว่าเครื่องยนต์จะส่งแรงบิดมากพอในการขับเคลื่อนรถขึ้นเนิน
เพื่อป้องกันรถไหล ไม่เพียงแค่เกียร์เดินหน้า แต่ยังทำงานในขณะเข้าเกียร์ถอยหลังเมื่อถอยรถลงจากทาง
ลาดเอียง อีกด้วย! ตามปกติเทคโนโลยีนี้ จะพบได้ในรถยนต์ราคาแพง หรือ SUV เท่านั้น

เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ Dual Clutch PowerShift ถูกผลิตขึ้น ณ โรงงาน GETRAG Americas อันเป็นความร่วมมือ
ระหว่างกลุ่มบริษัท GETRAG Group ผู้ชำนาญด้านระบบส่งกำลังอันดับต้นๆของโลก และบริษัทร่วมทุนกับ Ford
อย่าง GETRAG FORD Transmissions โรงงานแห่งนี้ ตั้งอยู่ที่เมือง Irapuato ในประเทศ เม็กซิโก และเริ่มต้น
ผลิตกันเมื่อ 29 มีนาคม 2010 ที่ผ่านมา (นี่แหละ ต้นเหตุหนึ่ง ที่ทำให้การเปิดตัว Fiesta ในไทย ล่าช้า เพราะ
Ford Sales Thailand ตัดสินใจว่า ยอมที่จะรอให้นำเกียร์ลูกนี้ มาใส่ลงใน Fiesta 1.6 ลิตร เวอร์ชันไทย ไปเลย
เหมือนกันประเทศอื่นๆ เขาดีกว่า นั่นเอง!!
)

ส่วนเครื่องยนต์รุ่นเล็ก จะเป็นรหัส Sigma 1.4 บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,388 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก
76.0 x 76.5 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 11.0 : 1 เท่ากันกับเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร แต่ไม่ได้มีเทคโนโลยีแปลกใหม่
ไปกว่า รุ่นพี่เขาเลย พละกำลังสูงสุด อยู่ที่ 95 แรงม้า (PS) ที่ 5,750 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 126 นิวตันเมตร
หรือ 12.83 กก.-ม. ที่ 4,200 รอบ/นาที
เติมน้ำมันได้ทั้ง เบนซิน 91 หรือ 95 แก็สโซฮอลล์ 91 หรือ 95 รวมทั้ง
แก็สโซฮอลล์ E20 แต่เติม แก็สโซฮอลล์ E85 ไม่ได้ ผ่านมาตรฐานไอเสีย Euro-III แล้วเช่นกัน

เครื่องยนต์ Sigma 1.6 ลิตร และ 1.4 ลิตร ได้รับการพัฒนา โดยความร่วมมือจาก Ford และผู้ผลิตรถสปอร์ต
ยี่ห้อ Caterham ในอังกฤษ ซึ่งมีประสบการณ์ ในการช่วย Ford พัฒนาเครื่องยนต์มานานกว่า 40 ปี

อย่างไรก็ตาม เครื่องยนต์ Sigma 1.6 ลิตร และ 1.4 ลิตร ใน Fiesta เวอร์ชันไทย ถูกผลิตขึ้นจากโรงงาน
Maraimalai Nagar ของ Ford ในประเทศอินเดีย ส่งมายังโรงงาน AAT ที่ระยอง

เครื่องยนต์ 1.4 ลิตร มีให้เลือกทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ แบบมาตรฐาน รุ่น iB5 อันเป็นหนึ่งในสมาชิก
ตระกูลเกียร์ธรรมดา iB สำหรับรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้าของ Ford of Europe ที่ได้รับการปรับปรุงมา
อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ ออกสู่ตลาดครั้งแรกกับ Fiesta รุ่นปี 1976 (เกียร์รุ่น iB4) สำหรับอัตราทดของเกียร์
ธรรมดา 5 จังหวะ ใน Fiesta ใหม่ มีดังนี้

เกียร์ 1……………………….3.583
เกียร์ 2……………………….1.926
เกียร์ 3……………………….1.281
เกียร์ 4……………………….0.951
เกียร์ 5……………………….0.756
เกียร์ถอยหลัง…………………3.615
อัตราทดเฟืองท้าย……………4.250

หรือเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ พร้อมโมหดบวก – ลบ Sequential Sports Shift รุ่น FN ดูแล้วเหมือนจะคล้ายกัน
กับเกียร์อัตโนมัติ ใน Mazda 2 แต่ความจริงก็คือ เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ของ Fiesta กับ Mazda 2 เป็นเกียร์
คนละลูกกัน แหล่งผลิตที่มาแตกต่างกัน (อ้างอิงจากเลขอะไหล่ หรือ Part No. 8S4P 7000BA) แน่นอนว่าอัตรา
ทดเกียร์นั้น แม้ว่า เกียร์ 1 และ 3 จะเหมือนกัน แต่ เกียร์ 2 4 ถอยหลัง และอัตราทดเฟืองท้าย ไม่เหมือนกัน

อัตราทดเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ของ Fiesta มีดังนี้

เกียร์ 1……………………….2.816
เกียร์ 2……………………….1.498
เกียร์ 3……………………….1.000
เกียร์ 4……………………….0.726
เกียร์ถอยหลัง…………………2.649
อัตราทดเฟืองท้าย……………4.203

สมรรถนะ จะเป็นอย่างไร อัตราเร่งจะแรงหรือด้อยแค่ไหน? เราทำการทดลองโดยใช้มาตรฐานดั้งเดิม คือ
ทดลองในเวลากลางคืน เปิดแอร์ เปิดไฟหน้า นั่ง 2 คน เหยียบคันเร่งจมมิด ตั้งแต่ออกตัว ส่วนรุ่นเกียร์
ธรรมดา เราลากรอบขึ้นไปถึง 4,000 รอบ/นาที เพื่อดึงให้รถพุ่งออกตัวไป และผลลัพธ์ที่ได้ มีดังนี้

ถ้าดูจากเกมวัดตัวเลขกันตามปกติ ผลที่ออกมา ผมมองข้อที่น่าสังเกตอยู่ประการหนึ่ง คือ รถรุ่น 5 ประตู
1.6 ลิตร นั่น ตัวเลขที่ได้ ออกมาด้อยกว่าตัวถัง 4 ประตูชัดเจน มากๆ ที่ฮาแตกไปกว่านั้นคือ ตัวเลขยัง
ด้อยกว่า Nissan March 1.2 ลิตร เกียร์ธรรมดา ประมาณ 0.2 วินาที เสียอีกแหนะ!!

แอบชวนให้สงสัยว่า เป็นเพราะอะไร? เพราะล้อ 16 นิ้ว หน้ากว้างกว่า? ก็ไม่น่าจะมากมายนัก เพราะ
หน้ายางต่างกันแค่นี้ ไม่ควรมีผลที่แตกต่างกันมากขนาด 1 วินาทีเช่นนี้ น้ำหนักตัวรถที่แจ้งมาใน
ข้อมูลทางเทคนิค ของ รุ่น 5 ประตู 1.6 Sport กับ 4 ประตู 1.5 Trend ก็เท่ากันที่ 1,153 กิโลกรัม
หรือว่า น้ำมันที่เติมมาให้เรา ข้อหลังนี้ เป็นไปได้ แต่ด้วยเหตุที่ ไม่มีใครสืบทราบได้ว่า ก่อนหน้า
รถจะส่งถึงมือเรานั้น เติมน้ำมันอะไรมา? จึงไม่อาจทำอะไรกับตัวเลขที่เกิดขึ้นได้

แต่ที่แน่ๆ ขอย้ำว่า มันไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการติดตั้ง ESP กับ TCS ป้องกันล้อฟรี อย่างที่คุณผู้อ่าน
หลายท่านคาดเดากันเลยครับ เพราะรถเกียร์อัตโนมัติ โดยส่วนใหญ่ ทันทีที่ถอนเท้าจากเบรก
แล้วเหยียบคันเร่งสวนลงไปทันที ยากครับที่ล้อจะหมุนฟรีได้ ยกเว้นแต่ว่า พื้นจะลื่น หรืออยู่บน
พื้นที่เต็มไปด้วยทราย ซึ่งแรงเสียดทานจากยางกับพื้นผิวถนนแบบนั้นจะน้อยมากๆ ถ้าต้องการจะ
ให้ล้อฟรีจริงๆ ก็ต้องเหยียบเบรก พร้อมกับเหยียบคันเร่งเล้ยงรอบรอ แบบเดียวกับที่ทำในรถเกียร์
อัตโนมัติ แต่ถ้าทำแบบนั้น เกียร์ก็พังเร็วครับ

ตัวเลขที่ออกมา มันแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ถึงแม้ว่า จะเป็นเครื่องยนต์ พิกัด 1.6 ลิตร ถึงแม้จะใช้
เกียร์ Dual Clutch มาช่วยก็แล้ว อัตราเร่ง ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากคู่แข่งที่ใช้เครื่องยนต์ 1.5 ลิตรกันเลย
อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ของรุ่น 5 ประตู แพ้ Jazz และ Yaris แต่ชนะ Mazda 2 รุ่น 5 ประตู
ขณะที่ตัวเลขเดียวกันของรุ่น 4 ประตู แพ้ให้กับ Honda City ใหม่ เพียง 0.05 วินาทีเท่านั้น! แต่ชนะ
Toyota Vios ทั้งรุ่นเก่าและใหม่ ตั้งแต่ 0.5 -1 วินาที ส่วนอัตราเร่ง 80 -120 กิโลเมตร/ชั่วโมงนั้น แพ้
ทั้ง 2 รุ่นดังกล่าว ไปเพียงเศษเสี้ยววินาที เพราะฉะนั้น อัตราเร่งที่ออกมา จึงถือว่า พอๆกัน ไม่ได้ว่า
แรงไปกว่ากันมากมายนัก

และเมื่อได้ลองขับจริง รถคันสีทอง 4 ประตู 1.6 Trend กลับ ไหลลื่นดีกว่า แทบจะในทุกช่วงความเร็ว
มันแสดงถึงศักยภาพที่แท้จริง ของทั้งเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร และเกียร์อัตโนมัติ แบบคลัชต์คู่ ซึ่งพารถ
พุ่งทะยานไปข้างหน้า ค่อนข้างไว ในแบบที่รถยนต์พิกัด 1.5 ลิตรเขาเป็นกันมา การเร่งแซง ก็ทำได้
ดีตามลักษณะของตัวรถ เพียงแต่สิ่งที่ต้องปรับปรุงกันต่อไปก็คือ ความนุ่มนวลในการเปลี่ยนเกียร์

จริงอยู่ว่า Fiesta ใช้เกียร์ คลัชต์คู่แล้ว แต่ทำไม เกียร์คลัชต์คู่ใน Focus TDCi ถึงทำงานได้นุ่มนวล
ไม่กระตุกๆๆ แบบที เป็นอยู่ใน Fiesta 1.6 ลิตรตอนนี้กันละ? จังหวะเกียร์ที่กระตุกคือ ช่วง จาก
เกียร์ 1 ไป 2  และจาก 3 ไป 4 เป็นการกระตุกที่ชัดเจน และแรงพอ จนทำให้ผมต้องถามกับตัวเอง
ว่านี่มันเกียร์อัตโนมัติ ใน Mitsubishi Lancer E-Car ปี 1993 สภาพใช้งานมาแล้ว 180,000 กิโลเมตร
หรือเปล่าหว่า?

และที่น่ารำคาญยิ่งกว่า คือช่วงที่คุณจะต้องคลานกระดึ๊บๆ เป็นหนอนชาเขียว ไปตามสภาพการจราจร
ในกรุงเทพมหานคร อันสุดแสนจลาจล เมื่อออกรถปุ๊บ ต่อให้คุณจะค่อยๆละเลียดคันเร่งออกตัวรถ
ขนาดไหน เกียร์ก็จะไม่ยอมเปลี่ยนจากเกียร์ 1 ไปเกียร์ 2 ถ้ารอบเครื่องยนต์ยังไม่สูงถึงระดับ 3,000
รอบ/นาที ซึ่งนั่นคือการสญเปล่าอย่างไม่จำเป็น ออกตัวในรอบสูงๆ ก็ยิ่งกินน้ำมันกว่า ออกตัวได้
ในรอบที่ต่ำกว่า และนั่นทำให้การขับขี่ในเมืองของ Fiesta 1.6 แอบนารำคาญสำหรับผมนิดหน่อย

คิดว่า ถ้าจะแก้ปัญหา ไม่ต้องทำอะไรมากไปกว่า พยายามปรับปรุง สองกลเกียร์ Update Software
เวอร์ชันใหม่ ใส่เข้าไป ก็น่าจะช่วยลดทอนปัญหานี้ลงมาได้ เพราะดูเหมือนว่า ช่างของทาง Volvo
เขาก็มีปัญหากับอาการกระตุกของชุดเกียร์คลัชต์คู่ ใน S40 และ V50 ก่อนหน้านี้ (ซึ่งมันก็เป็นเกียร์
ลูกเดียวกันกับ Focus TDCi นั่นแหละ) พวกเขาพยายามจัดการกับ Software ของเกียร์ และตอนนี้
เสียงบ่นของลูกค้า ก็ลดน้อยลงไปมากแล้ว เมื่อเทียบกับช่วงที่รถเปิดตัวกันเมื่อปี 2010

ส่วนความเร็วสูงสุด ทำให้ดูกันแล้วนะครับ ไม่ต้องเอาไปทดลองกันเองอีกนะครับ 201 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ห้อยติ่งลงมานิดนึง และมันไปได้แค่นี้แล้ว สุดเพียงแค่นี้ ไม่ต้องไปพยายามเค้นพละกำลังจากรถ
คันกระเปี๊ยก เครื่องยนต์ 1.6 ลิตร อีกนะครับ มันอันตรายเกินไป

ในช่วงความเร็วสูงนั้น Fiesta ค่อนข้างนิ่งกว่ารถยนต์คันอื่นในพิกัดเดียวกันแทบทั้งหมด เพียงแต่ว่า
ก็ต้องยอมรับความจริงว่า ถึงในช่วงความเร็วหลังจาก 160 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป จะยังนิ่ง และ
ไม่หวาดเสียวเท่ากับคู่แข่ง แต่ก็ถือว่า ดีกว่ากันนิดเดียว ดังนั้น อย่าไปลองเองกันเด็ดขาดนะครับ
เราไม่สนับสนุนให้คุณทำเช่นนี้ มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว

ทีนี้ คำถามที่หลายคนน่าจะสงสัยกันก็คือ ถ้าในเมื่อเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร ทำผลงานออกมาอย่างนี้
แล้วเครื่องยนต์ 1.4 ลิตรละ จะให้ผลลัพธ์ออกมา ด้อยกว่ากันมากน้อยแค่ไหน

ตอนแรก ก็คิดว่า สงสัยจะอืดแน่ๆเลย แต่พอนำมาขับขี่ใช้งานในเมืองจริงๆ อัตราเร่งของเครื่องยนต์
1.4 ลิตร บล็อกนี้ แม้จะไม่ถึงกับดีเยี่ยมให้น่าชื่นชม แต่ก็ไม่เลวร้ายอย่างที่กังวลกัน ยิ่งถ้าพ่วงเกียร์แบบ
ธรรมดา 5 จังหวะด้วยแล้ว สนุกพอใช้ได้เลยทีเดียว  แต่อาจจะไม่สนุกเท่า Mazda 2 เกียร์ธรรมดา เพราะ
รายนั้น เขามีอัตราเร่งที่ไวกว่าเพราะเป็นเครื่อยนต์ 1.5 ลิตร ซึ่งมีเรี่ยวแรงมากกว่ากันชัดเจน

ถึงกระนั้น รุ่น 1.4 ลิตรเกียร์อัตโนมัติ ก็ทำผลงานออกมาได้ เร็วกว่า Chevrolet Aveo 1.4 เกียร์อัตโนมัติ
ราวๆ 0.2 วินาที ในช่วง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง แถมยังเร็วกว่า ในช่วงเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ถึง 0.62 วินาที อีกทั้ง ยังทำตัวเลข 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง เร็วกว่า Mazda 2 Sedan เกียร์อัตโนมัติ แบบ
เปิดแอร์ ถึง 0.4 วินาที ส่วน 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง Fiesta 1.4 4AT ก็ชนะไปเพียง 0.6วินาที (อย่างไร
ก็ตาม ถ้าลองปิดแอร์ Mazda 2 Sedan เกียร์อัตโนมัติ ก็จะทำตัวเลขได้เร็วกว่า Fiesta 1.4 อยู่ดี นี่เราว่ากัน
ตามตัวเลขล้วนๆเลยนะครับ และแน่นอนแล้วว่า อัตราเร่ง ในทุกช่วงของ Fiesta 1.4 ลิตร ต่อให้เป็น
เกียร์อัตโนมัติ ก็เถอะ ชนะ Toyota Avanza ไปอย่างขาดลอย เวลาห่างกัน 1 วินาที โดยประมาณ

ในแง่ของสัมผัสจากการขับขี่ ถ้าคุณท่องเอาไว้ในใจตลอดว่า นี่คือเครื่องยนต์ 1.4 ลิตร คุณจะพบว่า
แรงดึงที่เกิดขึ้น ความไวของเข็มวัดรอบ และเข็มความเร็วบนชุดมาตรวัด อาจทำให้คุณรู้สึกว่า
“เฮ้ย ก็ไม่เลวนี่หว่า!” ถือว่า แรงสมตัว ดีเกินกว่าที่คาดคิดเอาไว้ “นิดนึง ไม่เยอะนัก” อีกทั้งการ
ตอบสนองในช่วงเร่งแซงเองก็ถือว่า ไม่อืดอาดอย่างที่กลัวกัน ทำได้ดีกว่าที่คิด แต่ก็ไม่ได้ถึงกับ
ดีมากจนต้องมอบโล่ห์ให้เทียบชั้นกับรถยนต์ 1.5 ลิตร เจ้าตลาดทั้ง Toyota และ Honda แต่อย่างใด
ถ้าให้ขับทางไกล และต้องเร่งแซง อาจต้องกดคันเร่งมากกว่าปกติ เพื่อเรียกกำลังของเครื่องยนต์
ออกมาตามต้องการ ขึ้นอยู่กับจังหวะ และสถานการณ์ หลายครั้งอยู่เหมือนกันที่ต้องเหยียบคันเร่ง
จมมิดติดเหล็กรถ แต่ก็แลกมาด้วย แรงบิดที่พร้อมพาคุณแซงขึ้นหน้ารถขับช้าเป็นเต่าคลานได้อยู่
ทั้งหมดข้างบนที่พูดถึงนี้ คือรุ่นเกียร์อัตโนมัติ

ส่วนรุ่นเกียร์ธรรมดานั้น แม้คันเกียร์ จะไม่ได้ดีขนาด Mazda 2 แต่ เวลาเข้าเกียร์แล้ว กระชับ
Shift feeling ดีใช้ได้เลยทีเดียว คันเกียร์ไม่หัวสั่นหัวคลอน เหมือนคันเกียร์ของ Nissan March แน่ๆ
ตบครั้งเดียว อยู่ ช่วยเพิ่มความแม่นยำของการเข้าเกียร์ได้ดีมาก อัตราเร่ง ภาพรวม ในช่วงออกตัว
ไม่ได้ดีเด่กว่า Nissan March เกียร์ธรรมดา เท่าใดนัก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะตัวเลข
ออกมา Fiesta Sedan 1.4 เกียร์ธรรมดา เร็วกว่า March 1.2 เกียร์ธรรมดา แค่ 0.3 กว่าๆ วินาที และ
ยิ่งในช่วงอัตราเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงนั้น Fiesta 1.4 เกียร์ธรรมดา ไวกว่า March 1.2
เกียร์ธรรมดา แค่ราวๆ 0.2 วินาที ส่วนการตอบสนองของเครื่องยนต์ ก็ไม่ได้แตกต่างไปจาก รุ่น
เกียร์อัตโนมัติมากนัก

อย่างไรก็ตาม คงต้อง บันทึกเอาไว้ตรงนี้สักหน่อยว่า ใน Fiesta Sedan 1.4 Style เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ
ที่เรานำมาทดลองขับกันนั้น มีปัญหา “เฉพาะคัน” เกิดขึ้น กล่าวคือ เมื่อเร่งรอบเครื่องยนต์ขึ้นไป ถึง
ระดับ 3,200 รอบ/นาที จะเริ่มมีเสียงวี๊ดๆๆๆ เบาๆ เล็กแหลม เกิดขึ้นให้พอได้ยิน และจะยิ่งดังขึ้น
เรื่อยๆ เมื่อถึงระดับ 4,000 รอบ/นาที รถจะเริ่มมีอาการสั่นกระพรือทั้งคัน อ่อนๆ พอพ้น 4,500 รอบ/นาที
ขึ้นไป รถจะเริ่มสั่นแรงขึ้นเรื่อยๆ พอ 5,000 รอบ/นาทีขึ้นไป รถสั่นเป็นเจ้าของทรงกันเลยทีเดียว
(และ ก็มีกลิ่นเหม็นคล้ายแอมโมเนียเหมือนกันกับ Fiesta และ Mazda 2 คันอื่นๆ เลยนั่นแหละ)

ผมลองทำตามคำแนะนำของตาแพน Commander CHENG! เพื่อเช็คดูว่าปัญหาน่าจะมาจากอะไร
โดยการเร่งเครื่องไปถึงระดับที่เกิดอาการสั่นของรถคันนี้ นั่นคือ ช่วง 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง จากนั้น
ถอนคันเร่งแล้วเหยีบคลัชต์ เพื่อตัดการส่งกำลังไปที่เกียร์ และล้อขับเคลื่อน ถ้าเป็นที่เครื่องยนต์
รถควรจะหยุดสั่น แต่ถ้ามาจากเพลาขับ หรือจุดอื่นๆก็คาม ตัวรถจะยังคงต้องสั่นอยู่ต่อไป

ผลปรากฎว่า เมื่อทำตามวิธีดังกล่าว พบว่า รถยังคงสั่นอยู่ เราเลยไม่รู้ว่า ก่อนหน้าที่รถทดลองขับ
คันนี้จะถูกส่งมาถึงเรา มีใครเอาไปปู้ยี่ปู้ยำอะไรกันมาก่อนแล้วหรือไม่ ดังนั้น สภาพของรถรุ่น
เกียร์ธรรมดา จึงยังไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าไหร่

ปัญหานี้ ได้แจ้งให้กับทาง PR ของ Ford ฝากไปประสานงานเพื่อแก้ไขต่อไปแล้ว แต่ยังไม่แน่ใจว่า
หลังจากวันนั้นมา รถคันนี้ถูกนำไปปรับปรุงแก้ไขแล้วหรือยัง?

ด้านระบบบังคับเลี้ยว Ford เลือกใช้พวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรง แบบไฟฟ้า
Electronic Power Assist Steering (EPAS) เหมือนค่ายอื่นๆ เพียงแต่ว่า มีระบบ พร้อมการชดเชยน้ำหนัก
การดึงพวงมาลัย (Pull-Drift Compensation) มาให้อีกด้วย อัตราทดพวงมาลัยอยู่ที่ 14.25:1 และมีรัศมีวงเลี้ยว
5.1 เมตร

เหตุผลของการนำพวงมาลัยเพาเวอร์แบบไฟฟ้ามาใช้นั้น Norbert Casing ; Vehicle Dynamic Manager
ของ Ford of Europe อธิบายว่า “เรามีจุดประสงค์ 3 ประการ ในการปรับแต่งระบบการตอบสนองในการ
บังคับเลี้ยว นั่นคือ หนึ่ง การทำให้รถประหยัดน้ำมันยิ่งขึ้นเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
สอง มอบความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติและช่วยให้ผู้ขับขี่ใช้งานได้ง่าย และสาม ปรับปรุงความไวต่อสิ่งรบกวน
หรืออาการพวงมาลัยสะบัดเมื่อขับขี่บนสภาพพื้นผิวถนนขรุขระ”

ระบบ EPAS ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการไปหมุนพวงมาลัย การควบคุมน้ำหนักจึงต้องได้รับการคำนวณอย่าง
แม่นยำที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้เทคโนโลยีต่างๆ ที่มีอยู่ เช่น การชดเชยน้ำหนักบนพวงมาลัย
(Pull-Drift Compensation) หรือ ระบบป้องกันการแกว่งของล้อ (Active Nibble Cancellation) สามารถ
ตรวจจับความผิดปกติแม้เพียงเล็กน้อยจากยาง/ล้อได้

เมื่อเซ็นเซอร์ตรวจจับพบการดึงของพวงมาลัยไปทางด้านใดด้านหนึ่งนิดๆ อันเกิดจากถนนลาดเอียง หรือ
เป็นลอนคลื่นไม่เท่ากัน ไม่เว้นแม้แต่การขับรถผ่านกระแสลมแรง ซอฟต์แวร์โปรแกรมของระบบ จะส่ง
แรงดึงไปเพิ่มในฝั่งตรงข้าม เช่น ถ้าล้อเริ่มจะดึงไปทางซ้ายนิดๆ ระบบก็จะช่วยดึงกลับมาทางขวานิดๆ
ชดเชยการควบคุมของพวงมาลัยกลับคืนมา ให้สมดุลย์กันมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

การชดเชยน้ำหนักบนพวงมาลัย (Pull-Drift Compensation) ได้รับการออกแบบให้ทำงานอย่างนุ่มนวล
Ford บอกว่าผู้ขับขี่จะไม่รู้สึกถึงการออกแรงช่วยดึงพวงมาลัยในขณะที่ระบบทำงานแต่อย่างใด

เหรอ?

ใช่สิ! เราไม่รู้สึกเลยว่าระบบ Pull-Drift มันกำลังทำงานอยู่ และนั่นก็ส่งผลถึงการตอบสนองของพวงมาลัย
ในภาพรวมทั้งหมดเลยด้วยนั่นแหละ! เพราะเราแทบไม่เห็นความแตกต่างที่ดีขึ้นไปจากพวงมาลัยเพาเวอร์
ไฟฟ้า ของคู่แข่งคันอื่นๆ มากนัก

น้ำหนักพวงมาลัยของ Fiesta ในช่วงความเร็วต่ำ มันค่อนข้างเบามาก สะดวกกับการบังคับเลี้ยวรถ
พอจะ เลี้ยวลัดเลาะพารถไปตามตรอกซอกซอยต่างๆ ได้ เพียงแต่ความ Linear อาจจะยังน้อยไปนิดนึง

ขณะขับขี่ด้วยความเร็วเดินทาง และความเร็วสูง On-Center feeling (แปลให้เข้าใจง่ายๆ ว่า สัมผัสของ
พวงมาลัย เมื่อรถวิ่งตรงไปข้างหน้า) ก็ยังคง “นิ่งในแบบพวงมาลัยไฟฟ้า” (คือยังมีสัมผัสจากระบบไฟฟ้า
ให้รับรู้อยู่นิดนึง ยังไม่ถึงกับเทียบเท่าพวงมาลัยเพาเวอร์แบบไฮโดรลิก ได้เป๊ะ 100% แต่ก็ถือว่าทำได้
ใกล้เคียงมากๆ เท่านั้น)

ในช่วงเข้าโค้ง ไม่ว่าจะใช้ความเร็วเท่าใดก็ตาม ต้องใช้สมาธิ ในการเลี้ยงพวงมาลัย มากกว่ารถในพิกัดเดียวกัน
รุ่นอื่นๆ เพราะน้ำหนักมันไม่ต้านมือเท่า รถรุ่นอื่นๆ และประเด็นนี้ สำคัญมาก หากต้องการเพิ่มตวามมั่นใจ
ให้กับผู้ขับขี่ ขณะเข้าโค้ง ประเด็นนี้ ไม่ใช่แค่ Fiesta หากแต่ว่า รถยนต์ B-Segment หลายๆรุ่น ก็ยังต้อง
ปรับปรุงด้วยเช่นกัน

แล้วถ้าต้องเปรียบเทียบกับคู่แข่งละ?

การตอบสนองในภาพรวมนั้น พวงมาลัยของ Fiesta มีน้ำหนักเบากว่า พวงมาลัยของ Jazz และ Swift
เบาพอกับ Mazda 2 แต่ On-Center feeling แม้จะถือว่าใช้ได้ แต่ก็ยังเบาไปนิดเดียว สำหรับการขับขี่
ทางไกล

ส่วนประเด็นความต่อเนื่องในขณะหมุนพวงมาลัยเลี้ยว หรือ Linear นั้นเรายังคิดว่า พวงมาลัยของ Fiesta
ต้องการ น้ำหนัก และอัตราทด ของ TIIDA หรือไม่ก็ Honda Jazz แต่ต้องการความ Linear แบบ Suzuki Swift
ซึ่งถือเป็นพวงมาลัยที่ดีที่สุด ในรถกลุ่ม B-Segment ที่ขายในเมืองไทยทุกรุ่น (สังเกตไหมว่า เราไม่ได้พูดถึง
Toyota กันเลย…เพราะทั้งพวงมาลัยของ Vios ใหม่ กับ Yaris ยังสู้ รถเกือบทุกรุ่นแทบไม่ได้ในเกือบจะทุก
ประเด็นนั่นเอง)

สรุปว่า แม้จะถือว่าเป็นพวงมาลัยของ Fiesta ให้การตอบสนองที่ดี ในลำดับต้นๆของรถ พิกัดนี้ แต่มัน
ยังไม่น่าประทับใจพอให้เราจดจำเท่ากับที่ พวงมาลัยของ Suzuki Swift เคยทำผลงานเอาไว้

ด้านระบบรองรับนั้น แม้ว่า Fiesta ในทุกเวอร์ชัน จะใช้พื้นฐานระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบ
แม็คเฟอร์สันสตรัต ส่วนด้านหลังจะเป็นแบบ คานบิด เส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 22 มิลลิเมตร เหมือนกัน
แต่ Ford เคลมว่า มีการปรับปรุง การตอบสนอง เป็นพิเศษ ให้แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค ที่ทำตลาด
โดยในเวอร์ชันยุโรป จะเน้นความแข็งกระด้าง เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ ชอบรถที่ขับสนุก แต่สำหรับ
เมืองไทย  และภูมิภาคอาเซียน จะมีการปรับแต่งให้เน้นความนุ่มสบายมากกว่า นิดหน่อย การปรับแต่ง
ดังกล่าว ก็คือ การเลือกใช้บูช และการ ตั้งค่าความแข็งของสปริงและช็อกอัพใหม่ให้สามารถปรับจูนได้
ตามความต้องการของลูกค้าในแต่ละภูมิภาค โดยในเวอร์ชันอาเซียนนั้น จะใช้บูชแกนหมุนคานบิดที่มี
ขนาดใหญ่ขึ้น ช่วยลดแรงกระแทกจากถนนที่ผู้ขับขี่รู้สึกได้  

นอกจากนี้ Fiesta รุ่น Sport และ Trend จะถือเป็นรถยนต์กลุ่ม Sub-Compact B-Segment รุ่นแรกในตลาด
รถยนต์เมืองไทย ที่ได้รับการติดตั้งระบบควบคุมเสถียรภาพ ESP (Electronic Stability Program) ซึ่งจะ
ตรวจสอบความเร็วรถ อัตราเร่ง และตำแหน่งของพวงมาลัย เมื่อพบว่าล้อมีอาการลื่นไถล เซ็นเซอร์จะ
สั่งให้ระบบ ESP จะลดแรงบิดของเครื่องยนต์ลง และส่งแรงเบรกไปช่วยในล้อทั้ง 4 ตามความต้องการ
ที่เกิดขึ้นในล้อแต่ละข้าง เช่นตอนเข้าโค้งซ้าย ใช้ความเร็วมากไป ระบบจะสั่งให้เพิ่มแรงเบรกไปยัง
ล้อหน้าซ้าย – ขวา และล้อหลังซ้าย เพื่อให้รถสามารถออกจากโค้งได้อย่างปกติ ลดโอกาสเสี่ยงต่ออาการ
หน้าดื้อ และหลุดจากโค้งลงข้างทางไป

การตอบสนองของระบบกันสะเทือนในภาพรวมนั้น ต้องขอยอมรับกันตรงนี้เลยว่า Fiesta มีช่วงล่างที่
ดีที่สุด ในบรรดาคู่แข่งพิกัด B-Segment ทุกคันที่มีอยู่ ในตลาดเมืองไทย ณ ตอนนี้ ในภาพรวมแล้ว
มันมีบุคลิก แน่น และนุ่มแบบกำลังดี ไม่แข็งกระด้างหรือตึงตังมากจนเกินไป ช่วงล่างด้านหน้า จะ
ไม่กระเทือนเท่า Mazda 2 ส่วนด้านหลัง จะไม่กระเทือนเท่า Honda Jazz

ในช่วงความเร็วต่ำ การขับผ่านลูกระนาด เนินสะดุดต่างๆ ให้สัมผัสที่แข็ง แต่ไม่กระด้าง ไม่กระเทือนนัก
สมกับเป็นบุคลิกของรถเล็กจากยุโรป ที่ถูกปรับปรุงให้ติดแนวนุ่มเพิ่มขึ้นจากต้นฉบับนิดหน่อย สมดัง
ความคาดหวังและการรอคอยของผู้บริโภคชาวไทย

ในช่วงความเร็วสูง แม้จะมีเสียงขณะผ่านรอต่อพื้นถนนให้ได้ยินอยู่เป็นเรื่องปกติ แต่ภาพรวมแล้ว
รถนิ่งมากกว่าที่คิด ต่อให้คุณจะเปลี่ยนเลนกระทันหัน ที่ความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถ้าไม่หักพวงมาลัย
แรง เร็ว หรือ มากเกินไป บอกเลยว่า ยังไงๆ ก็เปลี่ยนเลน ได้นิ่ง มั่นใจ อยู่หมัด อยู่มือ และไม่น่าหวาดเสียว
มากมายแต่อย่างใด เมื่อเปลี่ยนเลน รถแทบจะย้ายตัวเอง จากเลนซ้ายหรือขวา ไปยังเป็นฝั่งตรงกันข้ามได้
โดยไม่มีอาการจำพวก หน้าไปก่อนอย่างชัดเจน หลังตามไปติดๆ แต่อย่างใด

ในรุ่นล้อ 16 อาจกระด้างบ้างนิดหน่อย ตามประสา รถที่ใส่ยางแก้มเตี้ย แต่แข็งสะเทือน ขนาด Mazda 2
รุ่น  Maxx หรือ Toyota Yaris รุ่น S-Limited อย่างไรก็ตาม Fiesta ก็ไม่ปรากฎอาการกระเด้ง กระเทือน
อย่างที่ Honda Jazz เป็นอยู่ เสถียรภาพทางตรง เมื่อความเร็วเกิน 160 ดีกว่า รถทุกคันในพิกัดเดียวกัน
อยู่นิดหน่อย แต่ไม่ถึงกับมากมายนักอย่างที่คิด

เอาอย่างนี้ คุณรู้จัก Shibuya Honey Toast ของร้าน After You ไหมครับ ขนมปังปิ้ง ก้อนใหญ่ โปะด้วย
ไอศกรีมวานิลา ราดน้ำเชื่อม และแปะด้วยวิปครีม เป็นของธรรมดา ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่คนก็ต่อคิวที่
La Villa ถนนพหลโยธิน ในแต่ละวันเยอะมาก เพียงเพื่อจะได้ลิ้มรสอันแสนอร่อยเหาะของมัน

นั่นละครับ ช่วงล่างของ Fiesta ก็เป็นเหมือนกับ Shibuya Honey Toast ไม่มีผิด!

แต่มีข้อสังเกตเล็กน้อยว่า เมื่อเปรียบเทียบกับ Honda City หากคุณใช้ความเร็วสูง บนทางด่วน หากมี
กระแสลมมาปะทะด้านข้าง ถึงแม้ Fiesta จะนิ่งกว่า City อยู่นิดนึง แต่ถ้าผิวถนนเส้นนั้น ไม่เรียบนัก
มีลอนคลื่นอยู่ด้วย ความยืดหยุ่นของช่วงล่าง City จะดีกว่า Fiesta นิดนึง (แต่ในภาพรวม ช่วงล่าง
ของ Fiesta ยังคงหนือกว่า เกือบทั้งหมด)

ที่สำคัญ ไม่ว่าคุณจะเลือกรุ่นย่อยใด เครื่องยนต์ใด คุณจะได้สัมผัสกับรูปแบบการตอบสนองทั้งหมดนี้
เหมือนๆกัน และแทบไม่มีความแตกต่างเลย ไม่ว่าจะเป็นรุ่น ล้อ 15 หรือ 16 นิ้ว ก็ตามแต่

ระบบห้ามล้อ ของ Fiesta ทุกรุ่น เป็นแบบ ดิสก์เบรกหน้า มีรูระบายความร้อน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง
259 มิลลิเมตร และดรัมเบรกคู่หลัง ขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 201 มิลลิเมตร มาพร้อมระบบป้องกันล้อล็อก
ABS และระบบกระจายแรงเบรก EBD (Electronic Brake Distribution) เป็นอุปกรณ์มาตรฐานในทุกรุ่น

การตอบสนองของแป้นเบรกนั้น ทำได้ดีมาก เบรกจะค่อนข้างลึกนิดนึง พูดก็พูดเถอะ ผมว่า ระบบเบรก
แบบหน้าดิสก์ หลังดรัม ของ Fiesta ทำผลงานได้ดีกว่า ดิสก์เบรก 4 ล้อ ของรถบางรุ่นเสียด้วยซ้ำ น้ำหนักของ
แป้นเบรก เซ็ตมาดี ระยะหน่วงความเร็วจากช่วงความเร็วสูงๆ จนถึงหยุดนิ่ง ทำได้ในเกณฑ์ดี ถ้าจะเรียกว่า
เป็นรถที่มีการตอบสนองของแป้นเบรกดีเป็นอันดับต้นๆของกลุ่ม B-Segment ก็ไม่ผิดเพี้ยนจากความจริง
แต่อย่างใด โดยเฉพาะ ในช่วงที่เราต้องเบรกเกือบจะกระทันหัน เพื่อหน่วงความเร็วรถลงมา จากระดับ
200 กิโลเมตร/ชั่วโมง จนถึงเกือบจะหยุดนิ่ง ผมถือว่า ทำได้เร็ว นิ่ง และดีมาก ไม่มีอาการอะไรให้หวาดเสียว

 

ด้านความปลอดภัย Ford นำเทคโนโลยีการจำลองเหตุการณ์ชนด้วยคอมพิวเตอร์ขั้นสูงมาใช้ ก่อนเริ่ม
การทดสอบการชนจริงๆ “เพราะการจำลองเหตุการณ์ช่วยให้เราระบุปัญหาได้อย่างถูกต้องในระหว่าง
ขั้นตอนของการพัฒนา ตั้งแต่ก่อนที่จะผลิตรถต้นแบบ” (และแน่นอนว่า วิธีนี้จะช่วยให้สามารถลด
ต้นทุนในการสร้างรถต้นแบบ ก่อนการผลิตรถจริงลงไปได้มาก)

ส่วนประกอบต่างๆ ของโครงสร้างตัวถังที่มีการเสริมความแข็งแกร่งเป็นพิเศษนั้น ประกอบด้วย
เสาหลังคาคู่หน้า (A-pillar) – การนำเอาเหล็กโบรอน ที่มีความแข็งแรงสูงพิเศษมาใช้ ช่วยเพิ่มความแข็งแกร่ง
  และความทนทานที่จำเป็นสำหรับการดูดซับแรงกระแทกจากการชน อีทั้งเหล็กโบรอน ยังช่วยให้นักออกแบบ
  รักษารูปทรงของเสาหน้า ไม่ให้ดูทึบจนเกินไป และรักษาทัศนวิสัยของผู้ขับขี่ไว้เท่าที่เป็นไปได้

เสาหลังคาคู่กลาง (B-pillar) – ใช้เหล็กโบรอนที่ได้รับการออกแบบให้มอบความแข็งแกร่งสูงสุดเพื่อช่วย
  ต้านทานแรงพุ่งปะทะและรักษาโครงสร้าง รวมทั้งรูปทรงของตัวรถเมื่อเกิดการชน

แผงรองพื้นตัวถัง (Rocker panels) – เสากลางจะยึดติดกับแผงรองพื้นตัวถังหรือราวด้านล่างที่ผลิตขึ้นจาก
  เหล็ก Dual Phase ที่มีความแข็งแรงสูงมาก และขึ้นชื่อว่ามีคุณสมบัติในการดูดซับแรงได้ดีเยี่ยม

คานขอบพื้นตัวถัง (Rocker baffles) – ได้รับการออกแบบให้มีรูปทรงพิเศษเชื่อมติดกับด้านในของ
  แผงรองพื้นตัวถัง เพื่อปกป้อง และช่วยลดการกระแทกจากการชนด้านข้าง

โครงหลังคาด้านข้าง (Side roof arch) – ซุ้มหลังคาด้านข้างเป็นชิ้นส่วนที่ประกอบขึ้นจากเหล็ก Dual Phase
   อีกชิ้นหนึ่งที่เชื่อมต่อกับเสาหน้าเพื่อการปกป้องบริเวณเหนือศีรษะอย่างแข็งแกร่ง โครงหลังคาด้านข้างจะ
   ยึดติดกับส่วนบนของเสากลาง

เสาหน้าส่วนล่าง (Lower A-pillar) – เสาหน้าส่วนล่างทำจากเหล็ก Dual Phase เกรด 600 ที่มีความแข็งแรงสูงมาก

ส่วนประกอบที่มีความแข็งแรงสูงเหล่านี้ได้รับการผลิตขึ้นเป็นชุดประกอบย่อยแบบชิ้นเดียว ก่อนจะนำไปเชื่อม
ยึดติดรวมกันเป็นตัวถังรถในโรงงานประกอบตัวถังบนสายการผลิต อีกทั้งยังมีการนำเทคนิคการผลิตขั้นสูงมาใช้
ซึ่งรวมถึงการใช้หัวเชื่อมหุ่นยนต์แบบใหม่ กระบวนการใหม่นี้ช่วยสร้างความมั่นใจได้ว่า จุดเชื่อมต่อของรถจะ
แน่นหนาขึ้น มีความแม่นยำสูงขึ้น และช่วยเสริมการทำงานของเหล็กที่มีความแข็งแรงสูง ขณะเกิดการชนได้ดี
ยิ่งขึ้น

คุณอาจจะเห็นว่า มีการนำ “เหล็กโบรอน” มาใช้ใน Fiesta หลายตำแหน่ง และชื่อนี้ก็ได้รับการพูดถึงมาระยะหนึ่ง
แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่า เหล็กชนิดนี้ มันดีอย่างไร? กระนั้น เราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า โบรอน ไม่ใช่เหล็ก
แต่เป็นสารเคมี

จากข้อมูลในเว็บไซต์ต่างๆ ของ Ford ระบุว่า “โบรอน” เป็นสารที่มีการใช้อย่างแพร่หลายทั้งในครัวเรือนและ
ในอุตสาหกรรม ตั้งแต่สิ่งของทั่วๆ ไป (อาทิ ผงซักฟอก ยาฆ่าแมลง สารเคลือบ และแก้ว) ไปจนถึงการทำ
ดอกไม้ไฟ น้ำมันเติมจรวด และเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์) โบรอนยังถูกใช้ในการเพิ่มความแข็งแรงให้กับ
โครงสร้างของยานอวกาศและอุปกรณ์กีฬาต่างๆ อาทิ ไม้กอล์ฟ และคันเบ็ดตกปลา

อันที่จริง การเติมโบรอนในปริมาณเพียงหนึ่งหยดก็สามารถทำให้เหล็ก มีคุณสมบัติของความแข็งแรงสูงเป็น
พิเศษทั้งที่ยังมีน้ำหนักเบาได้แล้ว โบรอน เป็นสสารหายาก คือมีสัดส่วนเพียง 0.001 เปอร์เซ็นต์ของผิวโลก
บนโลกนี้ก็มีโบรอนทับถมกันอยู่ประมาณ 10 ล้านตันเท่านั้น โดยเกือบ 3 ใน 4 ของทั้งหมดมาจากประเทศตุรกี
เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว เหล็กที่เติมโบรอน จะมีความแข็งแรงกว่าเหล็กทั่วไปมากถึง 4 เท่า

เราคงไม่ต้องทดลองให้คุณเห็นเองหรอกครับว่า เหล็กผสมโบรอน นี่มันดียังไง เพราะมีผู้รอดชีวิตจากอุบัติเหตุ
ใน Ford Fiesta ใหม่มายืนยันให้แล้ว ในช่วงก่อนที่รถจะเปิดตัวสู่ตลาดสหรัฐอเมริกา Natalie Neff บรรณาธิการ
นิตยสาร Auto Week กำลังขับ Fiesta สีเขียวมะนาวไปตามถนนฟีเวย์สายหนึ่ง จู่ๆ ล้อรถ Oldsmobile Cutlass
คันหนึ่ง ก็หลุดออกมา และปลิวพุ่งมากระแทกบนหลังคาของ Fiesta สีเขียวมะนาว ที่เธอกำลังขับอยู่ พ้นใต้
สะพานพอดี และเธอออกจากซากรถได้เองโดยมีรอยขีดข่วนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น! รายละเอียดเพิ่มเติม
เป็นภาษาอังกฤษ อ่านได้ที่นี่…คลิก
(ภาพจาก www.autoweek.com)

เบอร์น ไลเซนเฟลเดอร์ ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมตัวถังของ Fiesta กล่าวว่า “เหล็กที่มีความแข็งแรงสูงทั้งแบบ
ขึ้นรูปเย็นและร้อน เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ ที่ทำให้รถมีน้ำหนักเบาและมีความแข็งแกร่งสูงตามที่เรา
ต้องการ วัสดุที่เราใช้ใน Fiesta นั้น ถือว่าสร้างมาตรฐานใหม่ในวงการรถยนต์ขนาดเล็ก อีกทั้งเรายังค้นพบ
ประโยชน์ของโครงกรอบประตู ขณะทำการทดสอบแรงกระแทกด้านหน้าและด้านข้าง ในการทดสอบการชน
โครงสร้างของกรอบนี้ช่วยให้เรามั่นใจได้ว่าจะเกิดความเสียหายน้อยที่สุดกับช่องประตูของรถ และยังพิสูจน์
ให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของตัวถังนิรภัยอีกด้วย”

“ขณะเดียวกัน รางด้านหน้าได้ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ยุบตัว แต่เพื่อหลีกเลี่ยงการถ่ายน้ำหนักลงบนโครงสร้าง
สำรองมากเกินไป เราจึงออกแบบชิ้นส่วนนี้ให้สามารถโก่งตัวและดีดกลับ พร้อมกับรักษาแรงต้านทานที่ทนต่อ
การปะทะได้ เราเรียกการทำงานในลักษณะนี้ว่าเป็นการ ‘ยุบตัว-โก่งตัว-โก่งตัว-โก่งตัว’ (crush-bend-bend-bend)”
ไลเซนเฟลเดอร์ อธิบาย

มีการนำเหล็ก High Strength Steel ที่มีความแข็งแรงสูงมาใช้ในชิ้นส่วนต่างๆมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นราวด้านหน้า
และด้านข้างของตัวถังที่ผลิตขึ้นจากเหล็ก Dual Phase นอกจากนี้ การกำหนดจุดปะทะยังทำให้โครงสร้างตัวถัง
ในส่วนดังกล่าวสามารถดูดซับและต้านทานแรงจากการกระแทกได้ในขณะเดียวกัน คานโครงสร้างใต้พื้นตัวถัง
ที่เรียกกันว่า ‘ตัวลากเลื่อน’ (sled runner) นั้น ยังได้รับการผลิตขึ้นจากเหล็กแบบ Dual Phase เป็นตัวเสริมความ
แข็งแรงในแนวขวางที่ได้รับการออกแบบขึ้นเพื่อจัดการกับแรงกระแทกจากการชนด้านข้าง

การใช้เหล็ก Dual Phase ในหลายชิ้นส่วนทำให้ทีมวิศวกรรมตัวถังของฟอร์ดพัฒนาเทคนิคใหม่ๆ ในการทำงาน
เนื่องจากเหล็ก Dual Phase จะมีความแข็งแรงมากขึ้นหลังจากกระบวนการปั๊มขึ้นรูป ทีมงานจึงต้องคำนวณหา
ระดับของความแข็งแกร่งที่ต้องการโดยใช้คอมพิวเตอร์จำลองเหตุการณ์ชน เพื่อช่วยให้สามารถคาดการณ์ได้อย่าง
แม่นยำ หรือ ‘ระบุตำแหน่ง’ ได้ว่าชิ้นส่วนต่างๆ จะมีลักษณะเป็นเช่นไร ทั้งขณะ และหลังจากเกิดการชน เป็นการ
เพิ่มทักษะ ของทีมวิศวกรผู้เกี่ยวข้อง ในการคาดการณ์ลักษณะทางโครงสร้างของรถได้อย่างแม่นยำ และช่วยให้
สามารถพัฒนาประสิทธิภาพในการปกป้องความปลอดภัยของผู้โดยสารได้ดียิ่งขึ้น

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

สิ่งที่ผู้ซื้อรถยนต์ระดับ B-Segment หรือ Sub-Compact มองว่า เป็น 1 ใน 5 เรื่องสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงนั่นคือ
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ว่ากินน้ำมันแค่ไหน ประหยัดหรือเปล่า? ดังนั้น เพื่อให้บทความรีวิวครั้งนี้ ครบถ้วน
สมบูรณ์ เราจึงทำการทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย ในแบบเดิม ที่เคยทำมาตลอด 7 ปี นับตั้งแต่
เริ่มต้นทำบทความรีวิวกันมา

เราจะเริ่มจากรุ่น 5 ประตู 1.6 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ Power Shift เป็นประเดิม ด้วยการนำรถคันสีแดง ไปเติมน้ำมัน
เบนซิน 95 Techron ที่สถานีบริการ Caltex ถนนพหลโยธิน ฝั่งตรงข้ามซอยอารีย์ อันเป็นสถานีบริการ ที่เรา
เลือกใช้เป็นจุดเริ่มต้น ในระยะหลังๆมานี้

เพียงแต่ว่า มีบางสิ่งที่อาจต้องแจ้งให้คุณผู้อ่านได้ทราบเอาไว้

แม้ว่าตามปกติ รถยนต์รุ่นใดก็ตามที่มีขนาดเครื่องยนต์ ต่ำกว่า 2,000 ซีซี ราคาไม่เกิน 1.3 ล้านบาทหรือ รถกระบะ
ทุกรุ่น ทุกแบบ เราจะทำการเขย่ารถ เพื่อไล่ฟองอากาศที่อยู่ในถังน้ำมัน ให้เหลือน้อยที่สุด เท่าที่เป็นไปได้ และ
อัดกรอกน้ำมันเข้าไปให้เยอะที่สุด

แต่ในกรณีของ Fiesta ทั้ง 4 รุ่น 4 คัน นับจากนี้ จะถือเป็นอีกกรณี ที่เราจำเป็นต้องมีข้อยกเว้นให้เป็นกรณีพิเศษ
เนื่องจาก ปัญหาทางเทคนิค จากตัวลิ้นของปากช่องคอถังน้ำมัน มีระบบล็อกตาย เพื่อความปลอดภัยอยู่ ไม่สามารถ
ใช้ไม้เสียบลูกชิ้นแยงเข้าไปให้ลิ้นมันเปิดออกได้แต่อย่างใด

แม้จะทราบในภายหลังว่า รถทุกคันจะมีกรวยสำหรับเสียบเข้าไปในช่องรับน้ำมันก็ตาม แต่มันก็ถูกซ่อนเอาไว้
ใต้ยางอะไหล่ ดังนั้น มันจึงเป็นเหตุใช่เรื่อง ที่จะต้องถึงขั้น ยกยางอะไหล่ออกมาเพื่อจะควานหา กรวยเติม
น้ำมัน มาใช้ในการเติมกรอกน้ำมันในครั้งนี้ ดูจะขี่ช้างจับตั๊กแตนเกินไป

เราจึงใช้วิธีที่ง่ายสุด และพื้นฐานที่สุด อีกทั้ง พอจะให้ผลเทียบเคียงกันได้ และเราก็ใช้วิธีการนี้กับรถที่มีปัญหา
เรื่องการเติมน้ำมันอย่าง Honda City และ Honda Jazz (เพราะถังน้ำมันของ Honda ทั้งคู่ อยู่ตรงกลางตัวรถ ใต้
เบาะคนขับและคนนั่งพ้านหน้า) รวมทั้ง ยังเป็นวิธีที่ใช้กับรถยนต์ขนาดเกิน 2,000 ซีซี ขึ้นไป นั่นคือ การเติม
น้ำมันเต็มถัง เอาแค่หัวจ่ายตัดก็พอ ไม่ต้องเขย่า ไม่ต้องกรอกน้ำมันลงไปมากกว่านี้ วิธีนี้ อาจจะให้ผลที่ไม่ถึงกับ
100 เปอร์เซนต์ นัก แต่ ก็ถือเป็นวิธีการที่คุณผู้อ่าน ก็สามารถเอาไปใช้กับรถของคุณเองได้ หากเติมน้ำมันสักถัง
แล้วเกิดอยากจะลองวัดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของรถตัวเอง

สรุปว่า เราทดลองจับอัตราสิ้นเปลืองของ Fiesta โดยเติมน้ำมันแบบไม่เขย่ารถเลย ทั้ง 4 คันครับ

จากนั้น เราจะใช้วิธีการดั้งเดิม คือ ขับออกจากปั้ม เลี้ยวกลับที่ถนนพหลโยธิน เข้าซอยอารีย์ เลี้ยวขวาลัดเลาะ
ไปออกซอยโรเงรียนเรวดี ถนนพระราม 6 ขึ้นทางด่วน ที่ด่านพระราม 6  แล้วก็ ขับรถกันไปยาวๆ จนถึงปลายสุด
ของระบบทางด่วน สายอุดรรัถยา เลี้ยวกลับมาขึ้นทางด่วนสายเดิม มุ่งหน้าย้อนกลับเข้ากรุงเทพฯ โดยใช้ความเร็ว
110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ และนั่ง 2 คน ตามมาตรฐานเดิม

ผู้ร่วมทดลองใน Fiesta 5 ประตู 1.6 ลิตร เกียร์อัตโนมัตินั้น ก็คือเจ้ากล้วย BnN แห่ง The Coup Team ของเรานั่นเอง

เราลงทางด่วนที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เลี้ยวซ้าย มุ่งหน้ามาตามถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับที่ หน้าโชว์รูมเบนซ์ ราชครู
แล้วขับเข้าไปเติมน้ำมันยังสถานีบริการของ Caltex ตามเดิม เพื่อเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron กันจากหัวจ่ายเดิม
อีกครั้งหนึ่ง เราเลือกใช้หัวจ่ายเดิมตั้งแต่เริ่มต้นทดลอง และในการเติมน้ำมันกลับเพื่อลดโอกาสเกิดความผิดเพี้ยน
ในผลการทดลอง นั่นเอง

และต่อไปนี้คือตัวเลขที่รุ่น 5 ประตู 1.6 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ ทำได้
ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมด จาก Trip Meter อยู่ที่ 91.4 กิโลเมตร

ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 5.57 ลิตร

อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 16.40 กิโลเมตร/ลิตร!!! กลายเป็นว่า Fiesta 5 ประตู 1.6 ลิตรเกียร์อัตโนมัติ
คือรถยนต์นั่ง พิกัด B-Segment Sub-Compact ที่ทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงได้ประหยัดที่สุด เท่าที่เราทำการ
ทดลองในรอบหลายปีกันเลยทีเดียว!!! ไม่น่าเชื่อ ทั้งที่ความจุกระบอกสูบก็เยอะกว่าชาวบ้านเขานิดหน่อย

ตัวเลขนี้ เทียบเท่ากับ BMW 320d (E90) ที่เราเคยประทับใจกันมาแล้ว เป๊ะ!!!!!!

จริงอยู่ว่า รุ่น 5 ประตู 1.6 ลิตร PowerShift ทำผลงานออกมาได้น่าประทับใจ แต่เมื่อลองมาดูรุ่นถูกสุด
ของ 5 ประตู นั่นคือ 1.4 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ผลลัพธ์ที่ออกมานั้น มันไม่ได้เป็นอย่างที่เรา
คาดคิดเอาไว้เลย แถมตัวเลขที่ได้นั้น ค่อนข้างแย่ด้วยซ้ำ

ในรุ่น 5 ประตู 1.4 ลิตร เราทำการทดลองช่วงกลางคืนเหมือนกัน โดยเติมน้ำมันเบนซิน Techron 95
ที่สถานีบริการน้ำมัน Caltex พหลโยธิน เหมือนกัน และแน่นอน ใช้หัวจ่ายเดียวกัน เพียงแต่ มีการ
เปลี่ยนสักขีพยาน และผู้ช่วยในการทดลอง จาก เจ้ากล้วย BnN แห่ง The Coup Team ของเรา มาเป็น
ตา Louise เจ้าของร้านเป็ดย่างแมนดาริน ซอยทองหล่อ และเป็นหนึ่งใน The Coup Team ของเรา
เรียบร้อยแล้ว (เพราะมาช่วยลองรถกันบ่อยจัด ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา)

พอเติมน้ำมันเต็มถัง จนหัวจ่ายตัดแล้ว เราก็ Set 0 บน Trip Meter ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ แล้วออก
เดินทางกัน ย้อนเส้นทางเดิม คือ ลัดเลาะไปตามซอยอารีย์ ออกสู่โรงเรียนเรวดี แล้วไปขึ้นทางด่วน
สายอุดรรัถยา ที่ถนนพระราม 6 มุ่งหน้าไปยังปลายสุดทางด่วน เลี้ยวกลับมาขึ้นทางด่วนย้อนเส้นทาง
เดิม ใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน ตามมาตรฐานเดียวกัน

เมื่อลงจากทางด่วนที่อนุเาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย เข้าถนนพหลโยธิน มาถึงจุดกลับรถ หน้า
โชว์รูม เบนซ์ ราชครู แล้วชิดซ้าย กลับเข้าไปเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron ที่สถานีบริการ Caltex
แห่งเดิม และหัวจ่ายเดิม เติมแค่หัวจ่ายตัดก็เพียงพอ

ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมดบน Trip Meter อยู่ที่ 93.8 กิโลเมตร

ปริมาณน้ำมันเติมกลับ มากถึง 7.15 ลิตร

ผลลัพธ์ที่ได้คือ ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 13.11 กิโลเมตร/ลิตร เป็นตัวเลขที่ดูแล้่ว
รู้ได้ทันทีเลยว่า Fiesta 1.4 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ กินน้ำมันเยอะกว่า Sub-Compact B-Segment
คันอื่นๆ โดยทั่วไปยังชนะได้เพียงคันเดียว คือ Toyota Avanza จากอินโดนีเซีย นั่นเอง ตัวเลข
ที่ออกมาแบบนี้เท่ากับว่า Fiesta 1.4 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ ทำตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงได้
แย่มากกกกกกกที่สุด ในบรรดา Fiesta ด้วยกันทุกรุ่น แถมยังกินน้ำมันมากที่สุด ในบรรดา
รถยนต์นั่งขนาดเล็กพิกัด 1.5 ลิตร แบบมาตรฐาน 5 ที่นั่ง ทุกคันที่มีขายอยู่ในเมืองไทย
ตัวเลขที่ว่านี้ ยังทำได้แย่กว่า Ford Focus 1.8 ลิตร เกียร์อัตโมัติ (13.5 กิโลเมตร/ลิตร) ด้วยซ้ำ!

การทดลองของรุ่น 5 ประตู ผ่านไปแล้ว ทีนี้ รุ่น 4 ประตู จะทำผลงานแตกต่างจากรุ่น 5 ประตู
มากน้อยแค่ไหน เราก็คงต้องใช้วิธีเดียวกันในการพิสูจน์ คือ เติมนำรถ ไปเติมน้ำมันเบนซิน
95 Techron ที่สถานีบริการน้ำมัน Caltex พหลโยธิน เจ้าเดิม และหัวจ่ายเดิม เติมแค่หัวจ่ายตัด
ก็พอ เช่นเดียวกัน

เพียงแต่คราวนี้ เราจะเปลี่ยนตัวผู้ร่วมทดลอง อีกครั้ง มาเป็น ตา Joke หรือ V10ThLnd อันเป็น
นามปากกาของเจ้าตัว ระหว่างที่ช่วยผม เขียนข่าวลงใน www.headlightmag.com เนี่ยแหละ
Joke เคยมาช่วยผมเป็นสักขีพยาน และผู้ร่วมทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงอยู่เรื่อยๆ แม้จะ
ไม่บ่อยนัก แต่ Jole ก็ให้ความร่วมมือ และช่วยเหลืออย่างดีเสมอ น้ำหนักของโจ๊ก อยู่ที่ 60
กิโลกรัม ส่วนผม อยู่ที่ 95 กิโลกรัม รวมแล้วเท่ากับ 155 กิโลกรัม ซึ่งก็ยังถือว่า ไม่น่าส่งผล
ให้เกิดความผิดเพี้ยนใดๆมากมายนัก

หลังจากเติมน้ำมันเต็มถัง หัวจ่ายตัด ไม่เติมเพิ่ม เสร็จแล้ว เราก็ออกเดินทาง มุ่งหน้าไปขึ้น
ทางด่วน อุดรรัถยา ที่พระราม 6 ขับกันยาวๆ ไปเลี้ยวกลับที่ปลายสุดทางด่วนเชียงราก แล้ว
ขับขึ้นทางด่วน ย้อนเส้นทางเม กลับเข้าสู่ กรุงเทพฯ ในตอนกลางคืน ด้วยมาตรฐานเดียวกัน
คือ วิ่ง 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน

พอลงทางด่วน ที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพหลโยธิน เราก็ขับตรงมายังจุดกลับรถ
หน้าโชว์รูม เบนซ์ ราชครู แล้วรีบตบเข้าเลนซ้ายทันที เพื่อเข้าไปเติมน้ำมัน เบนซิน 95 Techron
ในสถานีบริการของ Caltex แห่งเดิม และ แน่นอนที่สุดครับ หัวจ่ายหัวเดิม เหมือนกัน ทีนี้ มาดู
ตัวเลขที่รุ่น 4 ประตู 1.6 ลิตร PowerShift ทำได้กันดีกว่า

ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมด บนมาตรวัด Trp Meter อยู่ที่ 93.4 กิโลเมตร

ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 5.79 ลิตร

เมื่อการกันแล้ว ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยของ Fiesta 4 ประตู 1.6 PowerShift จะอยู่ที่
16.13 กิโลเมตร/ลิตร! ถือว่า ประหยัดน้ำมัน พอกันกับรุ่น 5 ประตู เพียงแต่มีบั้นท้ายที่เพิ่มเข้ามา
ทำให้ตัวเลขอาจจะน้อยกว่ากันนิดนึง แต่ ก็เป็นลักษณะเดียวกันกับ Mazda 2 นั่นละครับ คือ
ตัวเลขจากรุ่น 5 ประตู จะดีกว่ารุ่น 4 ประตูนิดหน่อย ไม่ต่างกันแบบฉีกไกลห่างมากนัก

แต่รุ่นที่ตัวเลข ห่างกันไกลๆ จนน่าประหลาดจิต คงหนีไม่พ้น รุ่น 4 ประตู 1.4 ลิตร เกียร์ธรรมดา
เช่นเดิม เรายังคงทำการทดลองด้วยมาตรฐานเดียวกัน คือ จับเติมน่ำมันเบนวิน 95 Techron ที่
สถานีบริการน้ำมัน Caltex ตราดาว พหลโยธิน เติมให้เต็มถัง และเอาแค่หัวจ่ายตัดปุ๊บ ก็พอปั๊บ
สักขีพยาน ยังคงเป็นตา Joke เหมือนเช่นรุ่น 4 ประตู 1.6 ลิตร

พอเติมน้ำมันเสร็จปุ๊บ เราออกรถ ลัดเลาะไปตามถนนพหลโยธิน เข้าซอยอารีย์ ออกมาทาง
โรงเรียนเรวดี แล้วขึ้นทางด่วน อุดรรัถยา ที่ถนนพนะราม 6 มุ่งหน้าไปเลี้ยวกลับที่ปลายทาง
ก่อนจะย้อนขึ้นทางด่วน ขับมาเรื่อยๆ ต่อเนื่อง ด้วยความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์
และนั่ง 2 คน

รอบเครื่องยนต์ ดูเหมือนจะสูงกว่า รุ่นเกียร์อัตโนมัติ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดครับ
เครื่องยนต์ 1.4 ลิตร ก็ต้องมีรอบการทำงานสูงกว่าเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร ที่ความเร็วของรถเท่ากัน
และตำแหน่งเกียร์เดียกวันด้วยแล้ว

เดินทางกันมาเรื่อยๆ จนถึงทางลงอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้ายเข้าถนนพหลโยธิน
แล้วเลี้ยวกลับรถที่หน้าโชว์รูม เบนซ์ ราชครู เพื่อชิดซ้าย เข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex
พหลโยธิน เติมน้ำมัเบนวิน 95 Techron ที่หัวจ่ายเดิม ปั้มเดิม เอาแค่หัวจ่ายตัดก็พอ
ทีนี้แหละ เราจะได้เห็นความน่าฉงนของ Fiesta 1.4 ลิตรกัน

ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมดบน Trip Meter  93.6 กิโลเมตร

ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 5.85 ลิตร

ผลลัพธ์ที่ได้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 16.00 กิโลเมตร/ลิตร พอดีเป๊ะ!!! 
เท่ากับว่า รุ่นกียร์ธรรมดานั้น ไม่ใช่แค่ประหยัดกว่ารุ่นเกียร์อัตโนมัตินิดหน่อย ตามปกติที่ควร
จะเป็นกัน ทว่า ความประหยัดนั้น ถือได้ว่า ทำออกมาดีที่สุดในบรรดารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์
1,400 ซีซี ในเมืองไทย กันเลยทีเดียว!!

ถ้าเช่นนั้น แสดงว่า เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ที่ใช้อยู่ใน Fiesta 1.4 ลิตร น่าจะเป็นตัว
ถ่วงความเจริญในเรื่องความประหยัด อยู่พอประมาณ เพราะตัวเลขที่ได้นั้น ไม่น่า
แตกต่างกันมากมายขนาดนี้เลยด้วยซ้ำ

เมื่อนำผลลัพธ์ที่ได้ มาเปรียบเทียบกับ ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของ รถยนต์ในพิกัด
B-Segment Sub-Compact ทุกคันแล้ว ก็คงไม่มีคำกล่าวใด จะสรุปได้ดีไปกว่า การยกตำแหน่ง
รถยนต์ B-Segment ที่ประหยัดน้ำมันที่สุด ให้กับ Fiesta 1.6 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ PowerShift
และ 1.4 ลิตร เกียร์ธรรมดา รวม 3 รุ่นรวด ไปเลย ไร้ข้อกังขา และถือเป็นเครื่องยืนยันว่า
Fiesta ร3 รุ่นดังกล่าว ประหยัดน้ำมันกว่าเพื่อนจริงๆ

แต่ข้อยกเว้นก็คือ รุ่น 5 ประตู 1.4 ลิตรเกียร์อัตโนมติ กลับทำผลงานออกมาได้แย่ที่สุด
ในกลุ่มนี้ คือ ทำได้เพียงแค่ 13.11 กิโลเมตร/ลิตร ตัวเลขที่ว่านั้น BMW 730Ld ยังประหยัด
กว่านี้ นิดนึงเลยด้วยซ้ำ!! หรือมิต้องมองอื่นไกล เอาเพื่อนร่วมค่าย อย่าง Ford Focus 1.8 ลิตร
เกียร์อัตโนมติ ก็ยังทำตัวเลขออกมาดีกว่านิดนึง

ส่วนใครที่ขับใช้งานในเมือ และบนทางด่วนบ่อยๆ อยากรู้ว่า น้ำมัน 1 ถัง จะพา Fiesta แล่น
ไปได้ไกลแค่ไหน ทันทีที่ทดลองอัตราสิ้นเปลืองเสร็จสิ้น ผมกด Set 0 บน Trip Meter อีกครั้ง
เพื่อดูตัวเลขระยะทางที่รถแล่นได้จริง จนกว่าเข็มน้ำมันจะลดต่ำลงไปอยู่ขีดสุดท้าย หรือไม่
ขึ้นไฟเตือนให้เติมน้ำมันกัเลยทีเดียว ทั้ง 4 คัน ทำได้อยู่ที่ประมาณ 390 -410 กิโลเมตร กว่าที่
รถจะเริ่มเตือนให้คุณเติมน้ำมันอีกครั้ง

********** สรุป **********
ถึงจะเป็น B-Segment ที่ขับดีสุดในตลาด แต่ต้องเลือกรุ่น และศูนย์ฯ ให้ดีๆ

ผมใช้ชีวิตอยู่กับ Fiesta ทั้ง 4 คัน รวมแล้วมากถึง 12 วัน กับอีก 10 คืน (รุ่น Hatchback 2 คัน รวม 7 วัน 6 คืน
กับ รุ่น Sedan 2 คัน รวม 5 วัน กับ 4 คืน) และนั่นก็เป็นเวลาที่ผมคิดว่า มากพอแล้ว สำหรับการทำความรู้จัก
กับรถยนต์รุ่นสำคัญที่สุด 1 ใน 5 รุ่น ของ Ford สำหรับบุกตลาดทั่วโลก นับตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา

และก็รู้อยู่เต็มอกว่า คนรัก Fiesta ทั้งหลาย ก็คงจะ “ตั้งความคาดหวัง” อยากให้ผม เขียนถึง รถของพวกเขา
ในทางที่ดี มากเสียยิ่งกว่าคนของ Ford เองจะคาดหวังเสียด้วยซ้ำ เรื่องนี้ พอเข้าใจได้อยู่ ว่ามีคนไทยอีก
ไม่น้อย ที่ชื่นชอบ และรักในรถอย่าง Ford อยากเห็นแบรนด์ที่พวกเขารักมากกก เติบโตในเมืองไทย
ได้ดีกว่าที่เป็นอยู่

แต่ใครที่คาดหวังจะให้ผมเขียนถึง Fiesta แต่ในทางที่ดี อาจต้องผิดหวังกันบ้างนะครับ เพราะอย่างที่บอกไว้
เน้นย้ำกันมาหลายหนแล้ว ว่า Headlightmag.com ที่นี่เราวิพากษ์วิจารณ์รถ กันตามความเป็นจริง และ
ข้อเท็จจริงที่อยู่ตรงหน้า ดีก็ว่ากันตามเนื้อผ้า ถ้าควรปรับปรุง เราก็ต้องชี้เป้าให้เห็น เพื่อหวังให้ผู้เกี่ยวข้อง
นำไปปรับปรุงกันต่อไป เพื่อให้ผู้บริโภคอย่างคุณๆ จะได้ใช้รถที่ดีกัน

และผมเองก็เป็นคนหนึ่ง ที่หวังจะเห็น Ford ได้ปรับปรุงรถของตน เพื่อให้ลูกค้าชาวไทย ยิ้มออกได้มากกว่านี้อีก

เพราะ Fiesta ใหม่ ถือเป็นความพยายามที่ดีมากๆ ของ Ford ในการเอาจริงเอาจังกับตลาดรถยนต์กลุ่ม B-Segment
ระดับโลก หลังจากที่พิชิตใจชาวยุโรปมาได้ถึงกว่า 35 ปี ทั้งด้วยรูปลักษณ์ สมรรถนะการขับขี่ ความไว้เนื้อเชื่อใจได้
สมัยก่อน ก็ได้แต่นึกว่า สักวันนึง รถรุ่นนี้ น่าจะมีเข้ามาประกอบขายในสยามประเทศเสียที

แต่ก็ไม่ได้คาดคิดจริงจังว่า สิ่งที่ผมเคยนึกไว้เล่นๆ เมื่อราวๆ 6 ปีก่อน มันจะกลายเป็นจริงขึ้นมาในวันนี้

เพราะเมื่อ Ford คิดจะจูง Fiesta พาไปหาผู้คนในต่างถิ่นแดนไกลโพ้นจากยุโรป อย่างประเทศไทย หลังจาก
เจอสารพัดปัญหามากมายนานับประการ และรู้ทั้งรู้ว่า มันไม่ง่ายเลย ที่จะต้องต่อกรกับ ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น เจ้าตลาด
และแม้แต่เรื่องราวต่างๆในโรงงาน AAT ระยองเอง แต่ทุกคนใน Ford ก็เพียรพยายามแก้ไขปัญหาต่างๆ จนถึง
วันนี้ จัดได้ว่า พวกเขาทำสำเร็จไปขั้นหนึ่งแล้ว ในการนำ Fiesta มาเปิดตัวในบ้านเรา

ส่วนหนึ่งที่ทำให้เสียงตอบรับจากลูกค้า ยังคงถามไถ่ถึงรถรุ่นนี้อย่างต่อเนื่อง ก็เพราะคุณงามความดีจากจุดเด่น
นานับประการของตัวรถนั่นเอง

 

ประสบการณ์ของผม กับ Fiesta นั้น ภาพรวมต้องถือว่า ดีกว่าที่คิดไว้ ทั้งด้วยจุดเด่น ในด้านสมรรถนะการขับขี่
จากการปรับแต่งช่วงล่างมาให้นุ่มกำลังดี แบบที่คนไทยชอบ แต่ไม่ลืมความหนึบแน่น การซับแรงสะเทือน และ
อากัปกิริยาของรถ ในขณะเข้าโค้ง ในแบบที่ผู้บริโภค คาดหวังจากรถยนต์สายพันธุ์ยุโรป เรียกได้ว่า เป็นจุดขาย
สำคัญของ Fiesta ในฐานะรถยนต์พิกัด B-Segment ที่มีช่วงล่างดีที่สุดในตลาด แถมยังมีระบบเบรกที่ไว้ใจได้
การตอบสนองของพวงมาลัยไฟฟ้า ที่อยู่ในเกณฑ์ดีอันดับต้นๆ ของรถยนต์ในพิกัดเดียวกัน

แต่ที่น่าประหลาดใจยิ่งกว่านั้นคือ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ระดับ เกิน 16 กิโลเมตร/ลิตร ขึ้นไปของรุ่น 1.6 ลิตร
นั่นสะท้อนให้เห็นว่า Ford คิดถูก ที่นำเกียร์อัตโนมัติ คลัชต์คู่ Dual Clutch PowerShift มาใช้ในเมืองไทย แถมยัง
มีรุ่นเครื่องยนต์ 1.4 ลิตร ที่ทำผลงานได้ อาจจะไม่ถึงกับดีจนต้องมอบถ้วย แต่ก็ไม่เลวร้ายอย่างที่คิดไว้เลย  

แถมยังต้องขอบคุณฝ่าย Product Planning ที่ร่วมกันทำงาน เพื่อเซ็ตสเป็กออกมาให้ Fiesta เวอร์ชันไทย
ได้ใช้ของดีๆ แบบที่คนบ้านอื่นเมืองอื่น เขาได้ใช้กัน ทั้งระบบ ESP เบรก ABS EBD Brake Assist จนถึง
ถุงลมนิรภัยที่มีมาให้ในฝั่งคนขับ ครบตั้งแต่รุ่นถูกสุดยันแพงสุด แถมด้วย ถุงมนิรภัยฝั่งผู้โดยสาร รวมทั้ง
ระบบ Voice Command เชื่อมต่อกับ Bluetooth ที่แม้จะใช้ยากไปหน่อย แต่ถือเป็นของเล่นที่ถูกนำมาแปลง
เป็นจุดขายได้ ในที่สุด ที่สำคัญ ค่าตัวของรุ่นถูกสุด เริ่มต้นเพียง 529,000 บาท ขณะที่รุ่นท็อปนั้น ก็ไม่แพง
แค่ 699,000 บาท

 

อย่างไรก็ตาม ทีมออกแบบของ Ford ยังมีโจทย์การบ้าน ให้ต้องนำมาขบคิดต่อไปอีกมาก เพื่อที่จะสร้างให้
Fiesta กลายเป็นรถยนต์พิกัด B-Segment ที่ดีที่สุดในตลาด ครบทุกด้าน อย่างแท้จริง

ข้อแรกเลยคือ พื้นที่ห้องโดยสารนั้น ยังมีความไม่ลงตัวอยู่บ้าง เบาะหลัง แม้จะนุ่ม แต่ก็นั่งไม่สบาย เพราะ
พื้นที่วางขาก็น้อยได้อีก แถมยังทำตัวเหมือน Mazda 2 เปี๊ยบ ตรงที่ไม่มีมือจับบริเวณเหนือบานประตูฝั่ง
ผู้โดยสารทั้ง 3 ตำแหน่ง อีกทั้งยังมีที่วางแขน ซึ่งวางแขนแทบไม่ได้เลย เพราะเตี้ยไปหน่อย เบาะนั่งคู่หน้า
ก็จัดอยู่ในระดับปานกลางไม่ถึงกับสบายแผ่หราได้เต็มที่เหมือนอย่าง Honda City ซึ่งทำคะแนนดีสุดในด้านนี้

ประการต่อมา อัตราเร่งจากเครื่องยนต์ 1.6 ลิตรนั้น แม้ว่า ทำผลงานออกมาได้ค่อนข้างดีสมตัว แต่จะว่าไปแล้ว
หากทำได้ดีกว่านี้อีกนิดนึง ให้สมกับการมีพละกำลัง 121 แรงม้า (PS) อยู่ใต้ฝากระโปรง ก็น่าจะยิ่งดีขึ้นไปอีก
เพราะตัวเลขที่ดีที่สุด ซึ่งเกิดขึ้นกับรถรุ่น Sedan นั้น ยังทำได้แค่เพียงไล่เลี่ยกับ Nissan TIIDA ซึ่งมีแรงม้า
บนแค็ตตล็อกน้อกว่า คือ 109 แรงม้า (PS) แต่กลับทำตัวเลขอัตราเร่งได้ดีกว่ากันนิดหน่อย (ตัวเลขอัตราเร่ง
0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ของ TIIDA 1.6 4AT อยู่ที่ 11.3 วินาที)

นอกจากนี้ อาการเกียร์กระตุก ในช่วงจังหวะ การเปลี่ยนเกียร์จาก 1 ไป 2 และ 3 ไป 4 นั้น ไม่ควรจะเกิดขึ้น
การแก้ไขที่คิดว่านาจะลองทำดู คือการปรับปรุง Software โปรแกรมสมองกลเกียร์ ใหม่ คิดว่าอาการนี้น่าจะ
หายไปได้ ถ้าในเมื่อ ทีมวิศวกรของ Volvo เขาก็ลองพยายามทำแบบนี้ กับเกียร์ Dual Clutch ของพวกเขาแล้ว

แต่ขณะเดียวกัน ก็ได้ยินว่า รถล็อตใหม่ๆ ไม่เจออาการดังกล่าวนี้แล้ว ดังนั้น งานนี้ ใครที่คิดจะซื้อ Fiesta
ควรขอทดลองขับกับทางโชว์รูม และควรเป็น รถทดลองขับ ที่ดึงมาจาก รถล็อตใหม่ๆ น่าจะดีกว่า

อีกเรื่องหนึ่งที่อยากจะฝากกันก็คือ ความใส่ใจเรื่องคุณภาพการประกอบ และชิ้นส่วนอะไหล่ต่างๆ ของทั้ง
โรงงาน AAT ระยอง รวมทั้งผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ซึ่งไม่ควรจะปล่อยให้มีปัญหาในการควบคุมคุณภาพ
ตลอดทุกช่วงของไลน์ผลิต กับไลน์ประกอบ คาดว่า รถล็อตหลังๆมานี้ น่าจะมีการแก้ไขใส่ใจดูแลใน
ประเด็นนี้มากกว่าเดิมแล้ว หวังว่านะ

ต่อมา ถ้ายังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะซื้อ Fiesta หรือคู่แข่งในตลาดเดียวกัน คันไหนดี? จะบอกว่า รถยนต์ในกลุ่ม
B-Segment Sub-Compact หนะ มีให้เลือกเยอะขึ้นกว่าเดิมแล้วละ ถ้าเปรียบเทียบกั คงต้องดูกันเป็นรุ่นๆ
และเรียงกันตามลำดับยอดขายสะสม ในภาพรวม

Toyota Vios : เจ้าตลาด ดั้งเดิม เพิ่งรับโฉม Minorchange ไปเมื่อ เดือนกุมภาพันธ์ 2010 ทุกวันนี้ ก็ยังขายดี
เป็นอันดับ 1 ของตารางอยู่ เพราะซื้อง่าย ขายคล่อง ศูนย์บริการทั่วไทย อะไหล่ ถูกบ้างแพงบ้าง ว่ากันตามรายชิ้น
สมรรถนะ ไม่เลวร้าย แต่ยังยืนยันว่า ไม่ได้ดีมากจนต้องยกขึ้นหิ้ง เหมือน Vios รุ่นแรก ดั้งเดิม อัตราเร่งโอเค
ช่วงล่างพอไหว การบังคับเลี้ยว ไม่ค่อยดี เบรกสั้นกว่าเดิม แต่ก็ถือว่าใช้งานได้ เบาะหน้านั่งแล้วปวดหลัง ส่วน
เบาะหลัง ก็ยังไม่สบายนัก

Honda City : คู่รักคู่แค้นกับ Vios มาโดยตลอด เปิดตัวตั้งแต่กันยายน 2008 จนถึงวันนี้ ใกล้เวลาปรับโฉม
Minorchange เต็มที แต่ไม่ต้องกลัว Jazz ปรับโฉมอย่างไร รอดู City ก็น่าจะมาในทิศทางเดียวกัน ไม่น่า
จะแตกต่างกันมากนัก อัตราเร่งดี (11.9 วินาที) แต่ใช้เครื่องยนต์ แค่ 1.5 ลิตร ขณะที่ Fiesta ยังต้องใช้ตั้ง
1.6 ลิตร ถึงจะทำได้ดีเท่ากัน (11.85 วินาที) ห้องโดยสาร และเครื่องเสียง ก็ยังถือว่าประเสริฐที่สุดในกลุ่ม
B-Segment Sedan พวงมาลัยบังคับเลี้ยว ดีกว่า Jazz นิดนึง ต่างกันที่การปรับตั้งจากโรงงาน ช่วงล่าง
คือจุดด้อยที่ยังไงก็สู้ Fiesta ไม่ได้ในภาพรวม

Honda Jazz : อเนกประสงค์ที่สุด ด้วยห้องโดยสารที่ออกแบบได้สุดติ่งหูมาก ใครก็ทำไม่ได้ดีเท่า คุ้มที่สุด
ในตลาด (ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน) ยิ่งเพิ่งปรับโฉม Minorchange มาหมาดๆ แม้ราคาเริ่มต้น แรงสุดกู่
599,000 บาท แต่จัดออพชันมาให้เต็มๆ ทั้ง ถุงลมนิรภัยคู่หน้า และเซ็นเซอร์ถอยหลัง ตั้งแต่รุ่นเกียร์ธรรมดา
5 จังหวะ ยันรุ่นท็อป 715,000 บาท ก็ยิ่งน่าสนใจเพิ่มขึ้นอีกมาก เครื่องยนต์แรงและประหยัดแน่นอน ส่วน
พวงมาลัยบังคับเลี้ยวได้ดี และมั่นใจได้พอสมควร แต่ช่วงล่าง และเบรก ยังไงก็ยังด้อยกว่า Fiesta อยู่ดี รวมทั้ง
คุณภาพการประกอบ และการใช้ชิ้นส่วน ซึ่ง อาจจะต้องดูกันให้ดีๆในวันออกรถ

Toyota Yaris : พยายามกระตุ้นตลาด้วยรุ่น Ace ตกแต่งพิเศษ ลายอะไรก็ไม่รู้ ชูุดขายรับเทศกาลวาเลนไทน์
แต่สงสัยจะแป๊กอีกหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ เพราะเครื่องยนต์อาจจะยังดีอยู่ แต่รถทั้งคัน ณ ช่วงโมงนี้ สู้ Fiesta
ไม่ได้เลยในแทบทุกด้าน เบาะนั่งก็เมื่อยหลังมาก ตำแหน่งนั่งขับ ก็ไม่สบายเท่าที่ควร อัตราสิ้นเปลือง ก็ทำได้
ไม่ถึงกับดีเท่าชาวบ้าน ช่วงล่างกระเทือนมาก ในรุ่นท็อป ดีกว่ากันก็เรื่องเดียว คือ ศูนย์บริการ และราคาขายต่อ

Mazda 2 Sedan & Hatchback : น้องใหม่มาแรง ยอดขายแซงเพื่อนพ้องกลุ่ม 5 ประตูขึ้นมาได้ไว ขณะที่รุ่น
Sedan ก็เริ่มเข้าไปนั่งในใจกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่ ผู้ไม่ยึดตอดยี่ห้อ ที่เริ่มมีจำนวนเยอะขึ้นทุกทีๆ อุปกรณ์ความ
ปลอดภัยมีมาให้ พอกันกับ Fiesta ในราคาไล่เลี่ยกันเลย แถมยังมีแคมเปญกระตุ้นยอดขาย อย่างต่อเนื่อง
โอเค สมรรถนะในรุ่นเกียร์อัตโนมัติ อาจจะสู้ Fiesta 1.6 ไม่ได้เลย แถมยังเจอ รุ่น 1.4 ตีตื้นขึ้นมาทาบรัศมีอีก
แต่อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ก็ไม่ขี้เหร่นะ 15 กิโลเมตร/ลิตร ประหยัดพอกันกับ Honda ทั้ง 2 รุ่น และแถมยัง
ประหยัดกว่า Toyota ทั้ง 2 รุ่น นี่ยังไม่นับคันข้างล่างอีกต่างหาก

Chevrolet Aveo : ยังทนขายอยู่ในตลาดกันต่อไป แม้จะพยายามกระตุ้นตลาดด้วยรุ่นเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร ยกมา
จาก Optra เมื่อ Motor Expo 2009 และเพิ่มรุ่นดมก๊าซ 1.6 CNG ในงาน Motor Expo 2010 เมื่อปลายปีที่ผ่านมา
แต่ก็แค่พอมียอดขายจากลุ่มลูกค้าที่อยากได้รถติดก๊าซ จากโรงงาน (ซึ่งจริงๆแล้ว ก็เอาไปให้ศูนย์ฯติดก๊าซข้างนอก
ที่ตนเองออกใบรับรองคุณภาพ ไปจัดการติดตั้งให้อีกทีนั่นแหละ อัตราเร่ง และสมรรถนะ รู้กันดี ว่า ด้อยสุดใน
กลุ่มตลาดนี้ รอรุ่นใหม่ ที่ยกดีไซน์ Mitsubishi Lancer EX มาย่อส่วนเกือบจะทั้งดุ้น ในปี 2012 – 2013 สถานเดียว!

 

ทีนี้ ถ้าตกลงปลงใจแล้วว่า จะเดินเข้าโชว์รูม Ford เพราะอยากได้ Fiesta กันจริงๆ คุณควรเลือกรุ่นย่อยไหน
หากจะยึดตามราคา จาก Website www.ford.co.th กันแล้ว จะพบว่า Fiesta มีให้เลือกมากถึง 7 รุ่นย่อย ดังนี้

Fiesta 4Dr 1.4 Style 5MT เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ               ราคา 529,000 บาท
Fiesta 4Dr 1.4 Style 4AT เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ              ราคา 564,000 บาท
Fiesta 4Dr 1.6 Trend เกียร์อัตโนมัติ PowerShift 6 จังหวะ   ราคา 644,000 บาท
Fiesta 4Dr 1.6 Sport เกียร์อัตโนมัติ PowerShift 6 จังหวะ    ราคา 699,000 บาท
Fiesta 5Dr 1.4 Style 4AT เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ              ราคา 574,000 บาท
Fiesta 5Dr 1.6 Trend เกียร์อัตโนมัติ PowerShift 6 จังหวะ   ราคา 654,000 บาท
Fiesta 5Dr 1.6 Sport เกียร์อัตโนมัติ PowerShift 6 จังหวะ    ราคา 699,000 บาท

ถ้าคุณตั้งใจจะมองหารถยนต์นั่งในระดับราคา 5 – 6 แสนบาท หรือเท่ากับ รุ่นถูกกับรุ่นกลางๆ ของกลุ่ม B-Segment
Fiesta 1.4 ลิตร ก็ดูจะเป็นคำตอบเดียว ที่ Ford จะมีให้กับคุณ แน่นอนว่ารุ่นเกียร์อัตโนมัติ คือรุ่นที่คนส่วนใหญ่
น่าจะเลือกซื้อไปขับกันมากกว่า แต่รุ่นเกียร์ธรรมดา ก็ยังคงน่าสนใจสำหรับลูกค้าตามต่างจังหวัด ที่ต้องการความ
สนุกในการขับรถเกียร์ธรรมดาอยู่ เพียงแต่ว่า ในระดับราคาเดียวกันนี้ Mazda 2 Sedan จะได้เครื่องยนต์โตกว่า
แรงกว่านิดนึง อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ด้อยกว่า แต่จัดอยู่ในเกณฑ์ ประหยัดมากๆ ของกลุ่มกันทั้งคู่ ทีนี้ มัน
ขึ้นอยู่กับว่า คุณจะชอบภายในห้องโดยสาร ของใครมากกว่ากัน เอาน่า นั่งหลังก็ไม่สบายตัวเท่าไหร่พอกันนั่นละ
ค่าตัวระดับนี้ คุณซื้อ Vios ได้ก็แค่รุ่น J ซึ่งคงไม่มีถุงลมนิรภัยแม้แต่ใบเดียว มาให้คุณแน่ๆ

ส่วนรุ่น Hatchback 1.4 ลิตร มีเฉพาะเกียร์อัตโนมัติเท่านั้น ราคาระดับนี้ ถือว่า ต้องเทียบตัวเลือกกับคู่แข่งให้ดีๆ
สารภาพเลยว่า ผมมองไม่เห็นความจำเป็นที่คุณจะต้องซื้อรุ่นเกียร์อัตโนมัติ ทั้งที่ Focus 1.8 ทำอัตราสิ้นเปลือง
ออกมาได้พอกันเลย (นี่ยังไม่นับว่า BMW 730Ld ยังประหยัดน้ำมันกว่าด้วยอีกต่างหากนะ)

รุ่นที่น่าสนใจของ Fiesta ทั้ง 2 ตัวถัง คือรุ่น Trend ซึ่งให้อุปกรณ์มาอย่างเหมาะสม แม้ว่าค่าตัวจะเทียบชั้นได้
กับ Honda City กับ Jazz หรือ Toyota Vios บางรุ่ แต่แน่นอนว่า ถ้าคุณเลือกรุ่น 5 ประตู คุณควรจะลืม Yaris
ไปเสีย แต่ก็ต้องเทียบอุปกรณ์กับคู่แข่งให้ดี ทำใจรับได้กับกระจกมองข้างที่ยังต้องพับด้วยมือ แต่อย่างน้อย
ถ้าอยากเลือก รุ่น Sedan สีทอง ก็คงต้องมีแต่รุ่น Trend เพียงรุ่นเดียว เป็นเหมือนโจทย์ภาคบังคับกลายๆ

รุ่นแพงสุด ของ Fiesta ก็ยังถือว่า มีค่าตัวพอกันกับคู่แข่ง และของเล่นที่ให้มานั้น ดูน่าสนใจมาก โดยเฉพาะ
ESP ซึ่งถือเป็นรายแรกในพิกัดนี้ ที่มีมาให้ ส่วนเจ้า Voice Command หนะ ช่างหัวมันไปเถอะ ใช้งานไม่ยาก
แต่น่าปวดกบาล จนอยากตบอีเจ๊ฝรั่งของระบบเหลือเกิน อย่างไรก็ตาม ใครที่จะเลือกรุ่น Sedan คงต้องทำใจ
เพราะสีตัวถังที่มีมาให้ ก็ไม่ได้มากมายไปกว่า สี Grey Scale ทั้ง 4 และสีน้ำเงินกรมท่า อีก 1 เฉด เท่านั้น
ส่วนรุ่น Hatchback มีสีแดง และส้ม กับน้ำเงิน Aurora ให้เลือก คงพอจะโดนใจคุณสักสีละน่า นอกจากนี้
คุณควรจะลองขับดูก่อน ว่ารับได้ไหม กับบุคลิกการกระตุกแปลกๆ ของเกียร์ลูกนี้ ขณะขับในเมือง ถ้าคิดว่า
ไม่เป็นปัญหา ก็เซ็นชื่อลงในใบจองไปเลย

ท้ายสุดนี้ สิ่งที่อยากจะฝากถึงทีมงานของ Ford ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด มีเพียงไม่กี่ข้อ

ข้อแรก ฝากถึงทีมวิศวกรชาวยุโรป และที่จีน

คราวหลัง ถ้าคิดจะเริ่มทำรถยนต์ ให้ออกมาสวยลงตัว สมส่วน ไม่ต้องเอาแนวเส้นมาแก้ความไม่ลงตัว
และมีปัญหาในเรื่องการจัดวางพื้นที่ภายใน น้อยที่สุด ภายใต้โจทย์ที่ว่า ต้องมีทางเลือกตัวถัง
หลากหลาย ผมขอแนะนำให้เริ่มโครงการพร้อมกัน ในทุกตัวถัง เพราะตอนนี้ หลายๆค่ายเอง ก็เริ่มมี
บทเรียนจากการทำรถยนต์ตัวถัง Hatchback ก่อน แล้วค่อยทำ Sedan ตามออกมา

Honda คือตัวอย่างที่ดีมากๆ ในกรณีนี้ เพราะเมื่อช่วงแรกที่พวกเขาต้องทำ Honda Fit / Jazz รุ่นแรกในช่วงปี
1998 ก่อนจะปล่อยออกสู่ตลาดในปี 2001 พวกเขาเริ่มต้นที่การพัฒนาตัวถัง Hatchback 5 ประตูกันก่อน เมื่อ
โครงการดำเนินไปได้ระยะหนึ่ง จึงเริ่มคิดทำตัวถัง Sedan บนพื้นฐานเดียวกัน เพื่อให้มาเป็น Honda City
สำหรับตลาดเอเซีย โดยหวังว่า เอาความอเนกประสงค์ของ Fit / Jazz มาย่อลงในตัวถัง Sedan จะได้ไม่ต้อง
เอา Jazz มาขาย แต่สุดท้าย พอเปิดตัว ก็แป๊ก เพราะดีไซน์ ไม่สมส่วน ในที่สุดก็ต้องเอา Jazz มาขายในไทย
กันอยู่ดี แถมยอดรวมของทั้งคู่ตลอดอายุตลาด ก็ยังไม่อาจโค่น Toyota Vios รุ่นแรกไปได้เลย!

Subaru Impreza รุ่นปัจจุบัน คืออีกตัวอย่างถัดมา พวกเขาเริ่มโครงการออกแบบตัวถัง Hatchback 5 ประตู
กันก่อนที่จะนำตัวถัง Sedan 4 ประตู มาร่วมพัฒนาในภายหลัง ผลลัพธ์ ก็คือ ตัวถัง Sedan นั้น ยอดขาย
แทบจะไม่เดินเลย แม้ว่าพยายามจะทำตลาดอย่างไรก็ตาม

แต่ในทางกลับกัน ได้ยินมาว่า Subaru Impreza รุ่นต่อไป ที่มีกำหนดใกล้คลอดในช่วงสิ้นปีนี้ เริ่มต้น
การออกแบบตัวถัง Sedan กันก่อน ดังนั้น รุ่น Hatchback ที่จะคลอดออกมา จึงอาจมีแนวโน้มไม่สวย
ข้อนี้คงต้องดูกันต่อไป

ข้อต่อมา ความพยายามด้านสรีรศาสตร์ของ Ford มีมาตลอดตั้งแต่ตอนเริมต้นพัฒนา Fiesta รุ่นแรก
เมื่อปี 1976 ทว่า จนป่านนี้ Ford เองก็ยังสร้างข้อกังขาว่า ทำไม จุดเล็กๆน้อย ที่จะทำให้คนขับสบายขึ้น
เช่นที่วงแขน หรือความยาวของเบาะรองนั่ง จึงยังทำได้ไม่ดีพอ ยิงเมื่อเทียบกับคู่แข่งในกลุ่มเดียวกัน
ถึงตำแหน่งนั่งขับ จะจัดวางมาค่อนข้างเหมาะสมมาก แต่การเดินทางในสภาพรถติดของกรุงเทพฯ
สิ่งละอันพันละน้อย ที่ขาดหายไป มันช่วยเอื้อความรู้สึกเชิงบวกให้เกิดขึ้นกับลูกค้าของคุณได้เยอะ
มากกว่าที่คุณคิด ดังนั้น โปรดอย่าละเลยเรื่องเล็กๆน้อยๆในรายละเอียดของห้องโดยสาร

อีกข้อหนึ่งก็คือ ระยะฐานล้อของรถควรจะยาวกว่านี้อีกเล็กน้อย เพราะแม้ว่า ปัจจุบันนี้ ระยะฐานล้อ
ของ Fiesta ค่อนข้างเหมาะสมกับตัวถัง Hatchback แต่กับตัวถัง Sedan นั้น ถ้าคิดว่าต้องการจะลดต้นทุน
ด้วยการใช้โครงสร้างพื้นฐานต่างๆให้เท่ากันนั้น บางที คงต้องแลกกันกับข้อด้อยบางประการที่อาจโผล่มา
เช่นกรณีของตัวถัง Sedan ที่มีระยะฐานล้อสั้นไปหน่อย แต่ก็ช่วยให้คุมบั้นท้ายของรถ ขณะจัมพ์
ลงจากคอสะพานได้อยู่ เป็นเรื่องที่พูดลำบาก แต่เชื่อว่า Fiesta รุ่นต่อไป น่าจะมีจุดลงตัวได้มากกว่านี้อีก

ข้อสุดท้าย อยากจะขอฝากถึงโชว์รูม ผู้จำหน่าย และฝ่ายบริการหลังการขายทั้งหลาย

คุณ คือตัวแทนของ Ford เป็นหน้าเป็นตาของ Ford วินาทีแรกที่ลูกค้าเดินเข้าโชว์รูมมา การต้อนรับคือ
สิ่งสำคัญยิ่ง ลูกค้าจะยอมอดทนให้คุณได้เพียงไม่เกิน 3 ครั้งเท่านั้น ยามโบกรถให้จอดหน้าโชว์รูม
พนักงานขาย ผู้จัดการโชว์รูม และ ฝ่ายบริการหลังการขายทั้งหมด คือกลุ่มคนที่ลูกค้าจะต้องพบปะ
ดังนั้น การยิ้มแย้มแจ่มใส ตอบคำถามเกี่ยวกับตัวรถได้ฉะฉาน บริการให้ประทับใจ คือสิ่งที่คุณ
ควรจะใส่ใจทำในทุกวันทำงาน อย่าเล่นเล่ห์กล กับลูกค้ามากไป อย่าทำอะไรที่ลูกค้าไม่พึงพอใจ

ฝ่ายบริการ ก็ต้องเข้าใจด้วยว่า ลูกค้าไม่ได้เก่งเรื่องรถเหมือนคุณ ดังนั้น จงใจเย็นๆ พูดกับลูกค้า
ให้เข้าใจ อย่าใช้อารมณ์ อย่าใช้คำศัพท์เข้าใจยาก อย่าคิดหลอกลวงลูกค้า อย่าคิดประพฤติมิชอบ
ใดๆทั้งสิ้นอีก

เพราะทุกวันนี้ ผมได้ยินเสียงบ่นเรื่องดีลเลอร์ Ford จากคนรอบข้างมามากมายจนเกินไปแล้ว
และผมไม่อยากได้ยินอีก ผมถึงต้องเขียนให้คุณอ่านกันตรงนี้แหละ

ผมไม่อยากเห็นดีลเลอร์ดีๆของ Ford อยู่ไม่ได้ ล้มหายตายจากไปอีก อย่างที่เคยเป็นมาหลายราย
ผมไม่อยากเห็น ใครต้องมานั่งบ่นเรื่อง ศูนย์บริการ และโชว์รูม Ford ให้ผมฟังอีก
ผมไม่อยากตะขิดตะขวงใจ เวลาที่ใครจะมาถามผมว่า “ซื้อ Ford ดีไหม?”

และ ผมอยากคุยกับ เจ้าโป่ง และ ไอ้เข่ง เพื่อนผม ถึงเรืองดีๆอื่นๆ ของ Ford อย่างสบายใจ
นอกเหนือจากเรื่องศูนย์บริการของพวกคุณกันซะที!!

——————————-///———————————–

ขอขอบคุณ
คุณ ชยภัค ลายสุวรรณ
และคุณ คมสัน สิงห์ทอง
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Ford Sales (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ และความช่วยเหลือต่างๆ

———————————————————

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ในเมืองไทย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายในโรงาน AAT ระยอง และภาพวาดต่างๆ
รวมทั้ง ภาพถ่ายรถยนต์รุ่นเก่า เป็นของ Ford Motor Company
สหรัฐอเมริกา และ Ford Sales (Thailand) co.,ltd
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
16 กุมภาพันธ์ 2011

Copyright (c) 2011 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.

First publish in www.Headlightmag.com
Febuary 16th, 2011

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่