“จั่งซี้ มันต้อง Chev จั่งซี้มันต้อง Chev จั่งซี้มันต้อง Chevvvvvvv…..Chevy Colorado ใหม่ เพื่อคนไทย
ก่อนใครในโลก นะจ้ะ นะจ้ะ”
เสียงริงโทน ในโทรศัพท์มือถือที่ดังลอยเข้าหูผมมา มิใช่ของใครอื่นไกล แต่เป็นของ PR ค่าย GM/Chevrolet
ที่คุ้นเคยกันดี ช่วงตั้งแต่ ปลายปีที่แล้ว เป็นต้นมา ผมจะได้ยินเสียงริงโทนนี้ เข้าหูทุกครั้งเวลาที่ต้องโทรหากัน
มันเป็นเสียงของคุณอาภาภรณ์ นครสวรรค์ บันทึกเสียงเพลงโฆษณานี้ไว้ สำหรับการประชาสัมพันธ์รถกระบะ
รุ่นใหม่ที่ GM โฆษณาเอาไว้ว่า ต้องใช้ประสบการณ์ ยาวนานกว่า 100 ปี มารวบรวมไว้ด้วยกัน เพื่อสร้างสรรค์
รถกระบะรุ่นนี้ ให้ดีที่สุดเท่าที่พวกเขาเคยทำมาในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ก่อตั้งแบรนด์ Chevrolet เมื่อปี 1917
เพลงโฆษณานี้ สะท้อนความจริงข้อหนึ่งที่ว่า ต่อให้ความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย มาถึงสยามประเทศกันเช่นไร
แต่ถ้าคุณคิดจะทำตลาดสินค้า หรือบริการอะไรก็ตามให้เข้ากับรสนิยมของคนไทย ต่อให้สินค้า หรือบริการนั้นๆ
จะเจ๋งมาจากไหนในโลก คุณก็ยังจำเป็นต้องทำตัวให้คนไทยชื่นชอบให้ได้
ในเมื่อจะทำตลาดรถกระบะทั้งที GM เลยพยายามใช้เพลงลูกทุ่ง เข้ามาช่วยให้เกิดการจดจำของผู้บริโภคใน
ต่างจังหวัด ซึ่งถึงแม้ว่าจะได้ผลดีในระดับหนึ่ง แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเจาะเข้าไปให้ถึงแก่นแท้ในห้วง
ความคิดและจิตใจของผู้บริโภคเมืองไทย ซึ่งมีความยึดมั่นในแบรนด์ (Brand Loyalty) กับสินค้าที่คนไทย
คุ้นเคยมา ค่อนข้างสูง
นักการตลาดหลายคนก็รู้อยู่ว่า ประเทศไทย เป็นตลาดปราบเซียน สินค้าใดๆ ที่ขายดีอันดับ 1 หรือได้รับความ
นิยม ณ ที่แห่งใดในโลก มันอาจจะมาเสียชีวิต ตกม้าตายสนิท ที่เมืองไทยกันได้ง่ายๆ แค่ความผิดพลาด หรือ
ไม่รัดกุมพอเพียงจุดเดียว ทุกอย่าง อาจจบเห่เลยทีเดียว ยิ่งตลาดรถยนต์ด้วยแล้ว ตัวอย่างก็มีให้เห็นมากมาย
GM ก็เช่นเดียวกัน 7 ปีในตลาดรถกระบะเมืองไทยยุคใหม่ (ไม่นับรวมกับสมัยที่พวกเขาเคยสั่งรถกระบะรุ่น
Chevrolet LUV มาขาย ตอนปลายทศวรรษ 1970 นะ) มันนานพอที่จะทำให้พวกเขาได้เห็นถึงปัญหาต่างๆ
อุปสรรค และโอกาสที่ยังเปิดกว้างสำหรับพวกเขาอยู่ มากมายนานับประการ
ประการแรก : ทำอย่างไรให้ ลูกค้าเห็นความแตกต่างของ Colorado ออกจาก Isuzu D-Max ฝาแฝดร่วม
โครงสร้างวิศวกรรม และเฟรมแชสซี จากพันธมิตรเก่าแก่ ฝ่ายญี่ปุ่น มากกว่าที่เคยเป็นมา
ประการต่อมา : ความน่าซื้อหาของตัวรถ ต้องโดดเด่นกว่าคู่แข่ง ทั้งการโดยสารแบบรถเก๋ง แต่ต้องบรรทุกไหว
รับงานหนักได้โหดตามสไตล์การใช้งานของคนไทย และอีกหลายประเทศทั่วโลก เอาไปปรับปรุง โมดิฟายต่อ
ตามความต้องการของแต่ละคนได้สะดวก
ประการสุดท้าย : ทำอย่างไรให้ลูกค้าคนไทย พึงพอใจในบริการหลังการขาย เพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาอะไหล่ ต้อง
ถูกลง และไม่แพง อย่างที่คิด
วันนี้ GM กำลังพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อครอบครองหัวใจของลูกค้าชาวไทย ให้ได้เพิ่มขึ้น เพื่อยกระดับตนเอง
จากแบรนด์ระดับกลาง ให้กลายเป็น Top 5 ในบ้านเรา นั่นหมายความว่า เป้าหมายทั้ง 3 ประการข้างบนนี้คือ
โจทย์หลักๆ ที่ GM จะต้องก้าวข้ามผ่านไปให้ได้
และ Full Review นี้ ก็จะเป็นคำตอบสำหรับทั้งผู้บริโภค ที่คิดจะซื้อรถกระบะสักคัน สำหรับคนทำงานใน GM
และสำหรับผู้คนทั่วไป ว่า GM สามารถบรรลุเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงทั้ง 3 ประการนั้นได้หรือไม่
แต่ก่อนอื่น ผมอยากจะพาคุณผู้อ่านย้อนกลับไปสู่ต้นกำเนิดของรถกระบะ ขนาดกลาง ของ GM กันสักหน่อย
คราวนี้ ไม่ต้องย้อนไปไกลจนถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน 1911 อันเป็นปีที่ Louise Chevrolet นักแข่งรถชาวสวิส
อพยพมาอยู่สหรัฐอเมริกา จับมือกับนักธุรกิจหัวหมอ William Durant เปิดบริษัทรถยนต์แบรนด์ Chevrolet
ก่อนจะจับรวมเข้ากับ GM ในภายหลังกันหรอกครับ นั่นมันนานเกินไป
ย้อนกลับไปแค่ช่วงทศวรรษ 1970 ก็พอ
แม้ว่าตำนานของรถกระบะ Chevrolet หรือที่คนอเมริกันเรียกติดปากว่า Chevy Truck นั้น จะเริ่มขึ้นตั้งแต่
การถือกำเนิดของรถบรรทุก Chevrolet Model-T เมื่อปี 1918 โดยสร้างขึ้นบนเฟรมแชสซีส์ ของรถยนต์นั่ง
ก่อนจะพัฒนา ไปตามยุคสมัย จนกลายมาเป็นรถกระบะ Full Size Truck ตระกูล Silverado จนโด่งดัง
และได้รับความนิยมในเขตอเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้ เป็นอย่างดี แต่ชื่อรุ่น Colorado นั้น เพิ่งเริ่มมีขึ้น
ในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2003 ตามด้วยการเข้ามาเปิดตลาดในเมืองไทยเมื่อเดือนมีนาคม 2004 มานี้เอง
Colorado ถือเป็นตระกูลรถกระบะ Compact Truck (หรือที่ปัจจุบันควรจะเปลี่ยนมาเรียกว่า Mid-Size Truck)
ยุคใหม่ ที่ GM พัฒนาขึ้น แตกไลน์จากรถกระบะ Full Size Truck ให้มีขนาดเล็กลง เพื่อทำตลาดทั่วโลกที่
GM สยายปีกอินทรี เข้าไปตั้งกิจการผลิตและขายรถยนต์ โดยมุ่งเน้นในตลาดซึ่งไม่ได้มีความจำเป็นจะต้อง
ใช้รถกระบะขนาดใหญ่ พิกัด Full-Size Truck อย่างที่ชาวอเมริกันเขานิยมซื้อมาขับขี่ใช้งาน
ต้นตระกูลของ Colorado นั้น เราอาจจะต้องย้อนประวัติศาสตร์ กลับไปสู่ยุคปลายทศวรรษ 1960 ตอนนั้น GM
อยากหาลู่ทางขยายตลาด กลับไปยังภูมิภาคเอเซียอีกครั้ง หลังจากที่ต้องถอนตัวออกมาจากญี่ปุ่น และอีกหลาย
ประเทศ จากพิษของสงครามโลกครั้งที่ 2 ใน ทศวรรษ 1940 และปฏิเสธไม่ได้ว่า จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์
กับ Isuzu Motors แห่งแดนอาทิตย์อุทัย เข้ามาข้องเกี่ยวด้วย
ในตอนนั้น Isuzu ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1937 (จากการร่วมมือกันของบริษัท Tokyo Gas และอู่ต่อเรือ Tokyo
Ishikawajima Shipbuilding and Engineering Company ที่ก่อตั้งเมื่อปี 1916) กำลังประสบปัญหา
การเงิน เพราะไม่มีทุนในการพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ๆ แม้รถบรรทุกจะพอขายได้ แต่บรรดารถเก๋งอย่าง Bellett ซึ่ง
กำลังต่อกรกับ Nissan (Prince) Skyline ในสนามแข่งรถทางเรียบยุคนั้น และ 117 Coupe กลับขายไม่ดี
GM ก็เลยสนใจจะร่วมลงทุนด้วยการซื้อหุ้นร้อยละ 34.2 ของ Isuzu ในปี 1971 ชาวอเมริกัน มาถึง Tokyo
พร้อมแผนยกระดับให้ Isuzu สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยนำ รถเก๋งรุ่น Florian ที่สร้างขึ้นในแบบ
Body on Frame เหมือนรถกระบะ อันเป็นวิธีการสร้างรถยนต์แบบดั้งเดิมของแทบทุกบริษัท มาหั่นบั้นท้าย
ออกไป แล้วใส่กระบะเพื่อการบรรทุก ออกขายเมื่อปี 1972 ใช้ชื่อว่า Isuzu Faster ทำตลาดในฐานะรุ่น
เปลี่ยนโฉมของ Isuzu Wasp (ซึ่งเป็นการนำ รถเก๋ง Isuzu Bellett มาหั่นบั้นท้าย ดัดแปลงเป็นรถกระบะ
เหมือนกันนั่นแหละ ผลิตขายตั้งแต่ปี 1963 – 1972)
GM เริ่มมองเห็นช่องว่าง สำหรับลูกค้าที่อยากได้รถกระบะคันเล็ก ราคาย่อมเยา ในตลาดโลก โดยเฉพาะใน
อเมริกาเหนือ จึงซื้อ Isuzu Faster รุ่นแรก (หรือในตลาดโลกใช้ชื่อว่า Isuzu KB) ไปขาย ในบ้านตัวเอง
ใช้ชื่อว่า Chevrolet LUV (ย่อมาจาก Light Utility Vehicle) หรือยานยนต์อเนกประสงค์พิกัดเบา นั่นเอง
ดังนั้น ถ้าคุณเห็นว่า Chevrolet LUV แต่ละคันที่คุณเห็นอยู่ในภาพข้างบนนี้ มีหน้าตาละม้ายคล้ายคลึง
ถึงขั้นเหมือนกันชนิดถอดแบบถอดแม่มพิมพ์จากรถกระบะ Isuzu ทุกรุ่นที่เคยทำตลาดในเมืองไทย
ก็โปรดไม่ต้องตกใจเพราะข้อเท็จจริงที่คนไทยจำนวนมากไม่เคยรู้มาก่อน ก็คือ GM จับมือกับ Isuzu
ร่วมกันทำรถกระบะขนาด Mid-Size Truck ตระกูลนี้ มาตั้งแต่ ปี 1971 แล้ว
หมายความว่า รถกระบะ Isuzu ทุกรุ่นในเมืองไทย ตั้งแต่ Faster มาจนถึง Faster Z เข้าสู่ยุค Faster Z
2500Di จนถึงรุ่น Dragon Power , Dragon Eyes และล่าสุดอย่าง D-Max ซึ่งเพิ่งตกรุ่นไปเมื่อปลายปี
2011 ที่ผ่านมา ทุกรุ่น ต่างล้วนมีเวอร์ชันฝาแฝดคู่ขนาน ภายใต้ชื่อ Chevrolet LUV ทั้งสิ้น! เพียงแต่ ถูกส่ง
ไปขายในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง หรือประเทศที่ไม่มีแบรนด์ Isuzu เข้าไปตั้งกิจการ
ล่วงเข้าสู่ ปี 2000 GM ก็เริ่มมองเห็นว่า พวกเขาอยากพัฒนารถกระบะขนาดเล็กรุ่นใหม่ เพื่อทำตลาดแทน
ตระกูล S-10 ในตลาดอเมริกาเหนือ รวมทั้ง เปิดตลาดรถกระบะในเมืองไทย อย่างเต็มตัวในอีก 3 ปีให้หลัง
จากนั้น GM ต้องการรถกระบะขนาดกลาง ที่ต้องมีเอกลักษณ์แตกต่างไปจาก Chevrolet LUV ซึ่งเป็นเพียง
แค่การนำโลโก้ โบว์ไท ของตน ไปแปะไว้บนกระจังหน้าของรถกระบะ Isuzu เท่านั้น ทำให้ทั้ง 2 บริษัท
ทำข้อตกลงร่วมกันในการพัฒนา รถกระบะรุ่นใหม่ โดยใช้รหัสโครงการ GMT355 โดยจะแบ่งออกเป็น 4 แบบ
หลัก คือ เวอร์ชันสำหรับ Isuzu ผลิตขายในไทยและทั่วโลกเวอร์ชันมาตรฐานสำหรับ GM เอาไปแปะตรา
Chevrolet LUV หรือ Holden ไว้ขายในตลาดส่งออก เวอร์ชัน Colorado สำหรับตลาดอเมริกาเหนือ
ซึ่งจะมีตัวถังกว้างกว่า และเครื่องยนต์ใหญ่กว่า เวอร์ชันอื่นๆ และสุดท้ายคือ Colorado เวอร์ชันไทย
หลังจากซุ่มพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ในเดือนมีนาคม 2004 GM ก็จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวรถกระบะ Colorado
เวอร์ชันไทย อย่างใหญ่โต ที่ BEC Tero Hall ตามด้วยการจัดทริปทดลองขับ เนรมิต เขาบาล ตรงปลายถนน
มอเตอร์เวย์ ชลบุรี ให้กลายเป็น Colorado Resort มูลค่า กว่าสิบล้านบาท ใช้วันเดียวแล้วทิ้ง! นี่ยังไม่นับ
กิจกรรมปิดสนามบินเพชรบูรณ์ เพื่อเปิดตัวรุ่น CommonRail 3.0 ลิตร เมื่อ 11 พฤศจิกายน 2004 และรุ่น
G80 Diff Lock ช่วงเดือน มีนาคม 2006 ก่อนที่จะถึงเวลาปรับโฉม Minorchange ในช่วงปี 2008 ตามด้วย
รุ่นติดตั้งระบบก๊าซ CNG ในเดือนธันวาคม 2009 และขายกันมาเรื่อยๆ มาจนถึงปี 2011
ต่อให้ GM ตั้งใจทำตลาด ถึงขั้นลงทุนจัดสารพัดกิจกรรม แต่ในความเป็นจริงก็คือ Colorado เวอร์ชันไทย
รุ่นแรก มีความแตกต่างจาก Isuzu D-Max รุ่นแรก เพียงแค่ 300 ชิ้นส่วนอะไหล่ ซึ่งรวมทั้ง งานออกแบบ
ด้านหน้าของตัวรถ โดยฝั่งของ GM จะดุดันกว่า เท่านั้น และนั่นจึงเป็นเหตุผลให้ ลูกค้าจำนวนไม่น้อย
ยังคงไม่กล้าตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้ Chevrolet ทั้งที่ความเป็นจริง การใช้อะไหล่ร่วมกันขนาดนี้ น่าจะเป็น
ผลดีในเชิงจิตวิทยาด้วยซ้ำ ว่าในอนาคต จะไม่ต้องกังวลเรื่องความแพร่หลายของอะไหล่
แต่ก็อย่างว่าละครับ ผู้บริโภค ต้องการสิ่งที่แตกต่างกันมากกว่าที่รถทั้ง 2 รุ่น เป็นอยู่ คือต้องมีความแตกต่าง
ให้เห็นมากกว่าแค่การเปลี่ยนชิ้นส่วนตัวถัง หรืองานออกแบบด้านหน้า แล้วเอามาโฆษณาว่า เป็นรถยนต์
ที่ไม่เหมือนกัน เพราะการซื้อรถของลูกค้าชาวไทยนั้น มักไม่ต้องการให้รถที่ตนเลือก ต้องไปพ้องเหมือน
กับรถยนต์ที่ตนไม่ได้เลือกซื้อ และต้องมีเรื่องราวมากพอให้เอาไปคุยเกทับกับเพื่อนฝูง เพื่อนบ้าน หรือ
ใครก็ตามที่ตนมีโอกาสพบปะ ว่า รถยนต์ที่ตนเลือกนั้น มันเหนือกว่าคู่แข่งคันอื่นๆในพิกัดเดียวกัน
หรือพูดให้ง่ายเข้าคือ กลยุทธ์แลกเปลี่ยนกันผลิตสินค้าป้อนให้แก่กันหรือ OEM (Original Equipment
Manufacturing) อย่างที่ GM และ Isuzu เคยทำมานั้น จะได้ผลดีกว่านี้ต่อเมื่อ ผู้บริโภค มองเห็นว่า
มีความแตกต่างของสินค้าทั้ง 2 ฝ่าย มาก แม้ว่าชิ้นส่วนภายใน จะใช้ทดแทนกันได้มากน้อยแค่ไหนก็ตาม
GM เอง ก็มีบทเรียนอยู่แล้ว ตั้งแต่การนำ Isuzu Faster ไปแปะตรา Chevrolet LUV ขายในตลาด
อเมริกาเหนือ ในปี 1972 พอเอาเข้าจริง ตลาดกลุ่มนี้ แม้จะพอมียอดขายมาให้ชื่นใจบ้างในช่วงแรกๆ
แต่สุดท้าย ในปัจจุบันนี้ ตลาดรถกระบะ Mid-Size Truck เริ่มหดตัวลง เพราะผู้ผลิตกลัวรถกระบะ
Full Size Truck จะขายไม่ได้ เลยงัดกลยุทธ์แคมเปญสารพัดมาล่อใจลูกค้า จนราคารถกระบะใหญ่
รุ่นถูกสสุด ใกล้เคียง หรือพอกันกับรถกระบะคันเล็กรุ่นแพงสุด แถมรถกระบะรุ่นใหม่ๆ อัดออพชัน
และเครื่องยนต์จนเยอะมาก ทำให้ราคา เริ่มแพงกว่ารถเก๋งขนาดเล็ก ซึ่งประหยัดน้ำมันและคล่องตัว
สำหรับชีวิตในเมือง ของกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นมากกว่า ตอนนี้ Ford เอง ก็ถอน Ranger รุ่นเดิมออกจาก
ตลาดอเมริกาเหนือไปแล้ว เช่นเดียวกับ Chrysler Corp. ที่กำลังจะเลิกผลิต Dodge Dakota
คงเหลือผู้เล่นในตลาดกลุ่มนี้ ที่สหรัฐฯ แค่เพียง GM Toyota Nissan Mazda Mitsubishi
ผิดกับในประเทศไทย ที่ตลาดรถกระบะพิกัดเดียวกันนี้ โตวันโตคืน ยิ่งพอช่วงหลังน้ำท่วมใหญ่
ภาคกลางของไทย เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ความต้องการรถกระบยิ่งพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ชนิดที่ว่า
ถ้ากำลังการผลิต กลับมาเต็มที่ ได้เมื่อไหร่ ยอดขายน่าจะกระฉูดอย่างแน่นอน
ดังนั้น หลังจากที่ Colorado รุ่นแรก เปิดตัวในเมืองไทยไปได้ ราวๆ 2 ปี วันที่ 13 มิถุนายน 2006 ทาง
Isuzu Motors Japan ออกแถลงข่าว ว่า ได้ร่วมมือกับ GM ในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน Joint-Venture
Company ในชื่อ “LCV Platform Engineering Corporation (LPEC)” ที่เมือง Fujisawa City จังหวัด
Kanagawa ประเทศญี่ปุ่น ด้วยทุนจดทะเบียน 100 ล้านเยน มีผู้ถือหุ้น 2 ฝ่าย คือ Isuzu และ GM
ถือหุ้นฝ่ายละ 50% ด้วยวัตถุประสงค์ในการวางแผน จัดการ ร่วมกันพัฒนาพื้นตัวถัง เฟรมแชสซีส์
และแพล็ตฟอร์ม สำหรับรถกระบะรุ่นต่อไป (D-Max และ Colorado MY2011 นั่นเอง) ซึ่งจะช่วย
ให้ทั้ง 2 ฝ่ายประหยัดต้นทุนในการพัฒนาแพล็ตฟอร์มรถกระบะรุ่นใหม่ แบบ Integrated Platform
ลงไปได้มาก
เท่ากับเป็นการประกาศเริ่มต้นโครงการพัฒนารุ่นเปลี่ยนโฉม Full Model Change ของ Colorado
เจเนอเรชัน 2 ภายใต้รหัสโครงการ GMI 700 ไปด้วยในตัว และคราวนี้ พวกเขาจะใช้วิธี ร่วมกัน
พัฒนา แทนที่จะว่าจ้างให้ Isuzu ป้อนรถกระบะให้ตนเป็นหลัก เหมือนในอดีต
สำหรับฟากของ GM แล้ว โครงการพัฒนารถกระบะ Colorado ใหม่ ถือเป็น โครงการพัฒนารถยนต์
ขนาดยักษ์ที่สุด ดครงการหนึ่ง เท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ของพวกเขา ยิ่งโดยเฉพาะกับรถกระบะ
ขนาด Mid-Size Truck อย่างนี้แล้ว พวกเขาไม่เคยทุ่มทุนสร้างมโหฬารบานตะเกียงขนาดนี้มาก่อน
แหงละครับ ดูงบประมาณที่พวกเขาใช้ในการเดิมพันครั้งนี้สิ มันมหาศาลถึงกว่า 60,000 ล้านบาท หรือ
2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เลยทีเดียว
GM ใช้เวลาในการพัฒนานานถึง 5 ปี (2006 – 2011) เพื่อให้ทีมวิศวกรจาก 5 ทวีป (สหรัฐฯ ญี่ปุ่น
ไทย ออสเตรเลีย และบราซิล) ร่วมกันสร้าง Colorado ใหม่ ให้พร้อมตอบสนองความต้องการของลูกค้า
กว่า 60 ประเทศ ทั่วโลก
ทำไมต้องเป็น Brazil?
เหตุผลก็คือ แม้ว่าเมืองไทย จะเป็นตลาดรถกระบะ Mid-Size Truck ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ประเทศ
ที่มียอดขายเยอะ จนมีความสำคัญไม่แพ้กันก็คือ Brazil ประเทศแถบ อเมริกาใต้ และ Australia
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตอนนี้ ยอดขายรถกระบะใน Brazil เอง ก็โตวันโตคืนขึ้นมาอย่างรวดเร็วชนิด
พุ่งพรวด ดังนั้น ถ้าจะทำรถกระบะรุ่นต่อไป โดยไม่เอาใจตลาดกลุ่มนี้เลย เห็นจะเป็นเรื่องพลาด
มหันต์
กว่าโครงการ GMI700 จะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างได้ ก็ต้องผ่านเรื่องราวมากมาย โดยเฉพาะในช่วงกลางปี
2009 เมื่อ GM สหรัฐอเมริกา ประกาศเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ หรือ Chapter 11 สารพัดโครงการ
ต้องหยุดชะงักไปพักใหญ่ และโครงการ GMI700 ก็ได้รับผลกระทบด้วย เพราะบริษัทแม่ ต้อง
ปล่อยให้บริษัทลูกในไทย อย่าง GM Thailand วิ่งหาแหล่งเงินกู้ มาดำเนินโครงการ ในส่วนของ
การสร้างโรงงานเครื่องยนต์ กันต่อเอาเอง โชคดี ที่ได้สถาบันการเงินในไทย หลายแห่งสนับสนุน
ไม่เช่นนั้น โครงการนี้ ก็คงไม่รอด ต้องพักยาวไม่มีกำหนดกัน กระนั้น แผนการเปิดตัว และแผนเริ่ม
ผลิต SOP (Start on Production) จากเดิมที่เคยอยู่ในช่วงราวๆ ปี 2010 ก็ต้องเลื่อนออกไป
อีก 1 ปี เป็น 2011 อย่างที่ได้เกิดขึ้นไปแล้ว
ไหนๆ ก็ไหนๆ เมื่อต้องเลื่อนเปิดตัว มาชนกับวาระฉลองครบรอบ 100 ปีของแบรนด์ Chevrolet
GM ก็เลยมองว่า ในเมื่อ GMI700 จะเป็น หนึ่งในรถยนต์รุ่นที่จะต้องผลิตขายทั่วโลก ถ้าเช่นนั้น
ก็จัดเตรียมแผนเปิดตัวให้มันยิ่งใหญ่กันไปเลยดีกว่า ดังนั้น ช่วงก่อนการออกสู่ตลาดจริง GM เลย
สร้าง รถกระบะต้นแบบ ออกมาจัดแสดง มากถึง 3 คัน สำหรับเปิดตัวแบบ Exclusive ในประเทศ
หลัก ที่รถรุ่นนี้ต้องเข้าไปบุกตลาด
เริ่มจาก ประเทศไทยเป็นแห่งแรกในโลก GM นำ รถรุ่น Flex-Cab (หรือ X-Cab) มาตกแต่งใหม่
จนดูล้ำสมัย เรียกว่า Chevrolet Colorado Show Truck นำมาจัดแสดงที่หอประชุมสโมสร
กองทัพเรือ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2011 ถือเป็นการอวดโฉมครั้งแรกในโลกที่
อลังการใช้ได้ เพราะ GM ทุ่มทุนสร้าง เนรมิตพื้นที่หอประชุมกองทัพเรือ ให้เป็นบรรยากาศย้อนยุค
นำรถกระบะรุ่นเก่า นำเข้าจากพิพิธภัณฑ์ของ GM สหรัฐอเมริกา มาอวดโฉมร่วมกับรถกระบะของ
เหล่านักสะสมชาวไทยอีกหลายสิบคัน การแสดงและเปิดตัว จัดขึ้นบนเวทีแท่นหมุน เนรมิตเป็น
แพขนาดใหญ่ เปิดตัวกลางน้ำ มีฉากหลังเป็นพระบรมมหาราชวัง (วัดพระแก้ว) สวยสง่าอลังการมาก
ก่อนจะนำไปจัดแสดงสู่สาธารณชนในงาน Bangkok International Motor Show 2011
ในอีกไม่กี่วันหลังจากนั้น
เมื่อเผยโฉมในเมืองไทยไปแล้ว ขั้นต่อไป ก็ต้องมีรถยนต์ต้นแบบสำหรับเอาใจตลาดในกลุ่มประเทศ
อเมริกาใต้ GM เลยสร้าง รถยนต์ Concept Truck ขึ้นมาอีกคันหนึ่ง โดยนำ Colorado 4 ประตู แบบ
Crew-Cab ไปตกแต่งในสไตล์ Off-Road ลุยป่าลุยทุ่ง ติดตั้งเครื่องมือนำทางผ่านดาวเทียม GPS และ
อุปกรณ์อื่นๆ จนดูเป็น ตัวลุยแห่งศตวรรษที่ 21 ออกแสดงต่อเนื่อง เป็นก๊อก 2 ในงาน Buenos Aires
International Auto Show ที่ประเทศ Argentina เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2011 ในชื่อ Chevrolet
Colorado Rally Concept
คล้อยหลังไปเพียง 2 สัปดาห์ GM ก็ปล่อยรถยนต์ต้นแบบคันที่ 3 ในแผนการเปิดตัวทั้งหมด ออกมา เมื่อวันที่
30 มิถุนายน 2011 ในงาน Australian International Motor Show โดย Colorado Crew Cab
ถูกปรับแต่งรูปโฉม จนใกล้เคียงกับเวอร์ชันจำหน่ายจริงมากขึ้น พร้อมกับคำประกาศว่า ในตลาด Oceania
(Australia & New Zealand) จะแปะตรายี่ห้อ Holden อันเป็นแบรนด์ของ GM ที่ชาวออสซี่ คุ้นเคยกัน
มาตั้งแต่ทศวรรษ 1940 และใช้ชื่อในการทำตลาดว่า Holden Colorado
ถือเป็นการเปิดตัว ที่สิ้นเปลืองงบประมาณในการสร้างรถต้นแบบ เพื่อการสื่อสารการตลาดที่แตกต่าง
ไปตามแต่ละตลาด มากมายครั้งหนึ่ง เท่าที่ GM เคยทุ่มทุนกับกลุ่มรถกระบะเพื่อการพาณิชย์ แต่แน่ละ
GM ยอมอยู่แล้ว เพราะ Colorado ถือเป็นรถยนต์รุ่นใหม่ที่ต้องเปิดตัวในปีที่ GM ฉลองวาระครบรอบ
100 ปี ให้กับแบรนด์ Chevrolet ทั่วโลก พอดี นี่คือโอกาสอันดีที่จะวางรากฐานของแบรนด์ Chevy ให้
ติดตลาดสากล รวมทั้งเมืองไทย มากกว่าที่เคยมีมา
ระหว่างนั้น การเตรียมงานที่ศูนย์การผลิตของ GM บนพื้นที่ 400 ไร่ ของนิคมอุตสาหกรรม Eastern
Seaboard อ.ปลวกแดง จังหวัดระยอง ในฐานะ ฐานผลิตของ Colorado ใหม่ ก็ยังคงดำเนินไปอย่าง
ต่อเนื่อง จากงบลงทุนทั้งหมด 60,000 บ้านบาท กว่า 25% หรือ 15,000 ล้านบาท ถูกนำมาใช้ในการ
เตรียมปรับปรุงสายการผลิต โดย 9,000 ล้านบาท ถูกใช้ในการปรับปรุงสายการผลิต เปลี่ยนหุ่นยนต์
งานแม่พิมพ์ขึ้นรูปชิ้นส่วน ฝึกอบรม ฯลฯ อีกมากมายก่ายกอง
และเพื่อให้เกิดความแตกต่างไปจาก Isuzu D-Max พี่น้องร่วมโครงสร้างวิศวกรรม คราวนี้ GM จึง
ตัดสินใจจับมือกับ V.N Motori บริษัทผลิตเครื่องยนต์ Diesel จากอิตาลี ที่ตนไปซื้อกิจการเมื่อปี
200x ร่วมกันพัฒนาเครื่องยนต์ 4 สูบ Diesel Common-Rail Turbo ตระกูล DURAMAX
สำหรับรถกระบะขนาดกลางยุคใหม่ รวมทั้งการจัดตั้งโรงงานผลิตเครื่องยนต์ GM Powertrain
แห่งใหม่ในเมืองไทย บนพื้นที่ 34 ไร่ หรือ 54,275 ตารางเมตร ภายในศูนย์การผลิตรถยนต์ของ
GM ระยอง โดยเพิ่งจะทำพิธีเปิดทำการเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2011 ด้วยงบลงทุน 6,000 ล้านบาท
(จากงบประมาณในส่วนปรับปรุงโรงงานทั้งหมดกว่า 15,000 ล้านบาท นั่นเอง) โรงงานแห่งนี้
มีกำลังการผลิตเครื่องยนต์ DURAMAX 4 สูบ ได้สูงถึง 120,000 เครื่อง ต่อปี
ถือเป็นโครงการด้านวิศวกรรม และการผลิต ครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา นับตั้งแต่มีการก่อตั้ง
GM Thailand กันเลยทีเดียว
เมื่อการพัฒนาใกล้เสร็จสมบูรณ์ และติดตั้งเครื่องจักร ซักซ้อมฝึกอบรมคนงานฝ่ายผลิตกันแล้ว ก็ถึงเวลา
ที่จะต้องทำการทดสอบหาข้อบกพร่องต่างๆ ก่อนการผลิตออกสู่ตลาด GM ได้วางโปรแกรมการทดสอบ
บนเส้นทางสภาพต่างๆ ทั่วโลกไว้เยอะมาก รวมระยะทางของรถทดสอบทั้งหมดทุกคัน ที่จะต้องแล่น
ให้ได้ตามเป้าหมาย ต้องมากถึง 2.5 ล้านกิโลเมตร และแน่นอน….รวมถึงสภาพอากาศอันแปรปรวน และ
สภาพถนนที่น่าปวดกบาลไม่ต่างจากสภาพอากาศ ในประเทศไทย ด้วยนั่นแหละ!
Roberto Rampel หัวหน้าทีมวิศวกรผู้พัฒนา Chevrolet Colorado จาก GM Brazil ถึงขั้นยกทีม
วิศวกรหลายคน บินตรงจากศูนย์พัฒนารถยนต์ GM Brazil มาพักอาศัยในเมืองไทย เพื่อศึกษาให้เข้าถึง
ทั้ง ตลาดรถกระบะในบ้านเรา ที่มีการแข่งขันกันรุนแรงมาก อีกทั้งยังศึกษารูปแบบการใช้งานรถกระบะ
อันหลากหลายของคนไทย แล้วนำข้อมูลที่ได้ ไปปรับปรุง Colorado รุ่นใหม่อย่างละเอียด เพื่อให้
แน่ใจว่าจะตอบสนองทุกความต้องการของลูกค้าชาวไทย ชาวบราซิล และอีกหลายประเทศในเอเชีย
ตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงลูกค้าทั่วโลกอย่างเต็มที่
“เราได้ทุ่มเททำงานอย่างหนักสำหรับการพัฒนาโครงการผลิตรถกระบะนี้ และเรายินดีเป็นอย่างยิ่งกับ
ผลลัพธ์ที่ได้ เราตระหนักดีว่า ลูกค้าต้องการรถกระบะ ที่รองรับการใช้งานหนัก พร้อมกับการขับขี่ในชีวิต
ประจำวัน ดังนั้น รถกระบะของเราจะต้องมอบสิ่งที่ลูกค้าต้องการได้อย่างครบถ้วน เราได้ทดสอบรถกระบะ
จากทั่วโลก เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการยกระดับขีดจำกัดของรถกระบะรุ่นใหม่ ให้แข็งแกร่ง และรองรับทุก
การใช้งาน เมื่อผสานทุกสิ่งเข้าไว้ด้วยกันรวมถึงเป้าหมายการผลิตรถระดับโลก เราเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า
Colorado จะเป็น รถกระบะที่ดีที่สุดรุ่นหนึ่ง เท่าที่เราเคยสร้างมา”
ในที่สุด ก็ได้เวลา เปิดผ้าคลุมสู่สายตาสาธารณชน ที่ตั้งหน้าตั้งตารอคอยกันมานานเสียที
งานเปิดตัวเวอร์ชันจำหน่ายจริง ครั้งแรกในโลก ถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ณ ศูนย์แสดงสินค้าและนิทรรศการ
BITEC สี่แยกบางนา กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2011 มีการเนรมิตฉากไร่ข้าวโพด ฝน น้ำท่วม
แอ่งโคลน ฯลฯ สนุกสนานกันทั้งผู้จัดและผู้เข้าชมงาน ซึ่งมีแขก VIP อย่าง เอกอัคราชฑูตสหรัฐอเมริกา
ประจำประเทศไทย คุณ คริสตี้ เอ เคนนีย์ มาร่วมในพิธีเปิดตัวอย่างเป็นกันเองอีกด้วย
ในวันงานเปิดตัว คุณ Martin Apfel ประธานของ GM Thailand ถึงขั้นพูดนอกสคริพท์ เอ่ยชื่อบุคลากรหลักๆ
ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญที่ผลักดันโครงการ GMI 700 ให้สำเร็จเป็นรถที่พร้อมทำตลาดจริงไปหลายคน
ซึ่งปกติแล้ว เรามักไม่ค่อยได้ยิน ผู้บริหารสูงสุด ในสายยานยนต์ เอ่ยชื่อขอบคุณลูกน้อง บนเวทีในงานแบบนี้
กันมาก่อน ขณะเดียวกัน สายการผลิตของ Colorado ก็เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ ณ โรงงาน GM ระยอง ก่อน
ที่งานเปิดตัว จะเริ่มขึ้น เพียงไม่กี่วัน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกที่เปิดตัว เนื่องจากเป็นจังหวะเดียวกันกับเหตุการณ์ มหาอุทกภัยที่ราบลุ่มภาคกลาง
ของประเทศไทย ช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2011 พอดี ดังนั้น กิจกรรมการตลาดหลายรายการจึงต้องชะลอ
ออกไป และมีการปรับแผน เป็นการส่ง Colorado ใหม่ ให้กับทางช่อง 7 สี นำไปลุยน้ำทำข่าว และนำข้าวของ
ถุงยังชีพไปแจกประชาชน ตามชุมชนต่างๆที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งบริจาคสุขาเคลื่อนที่ และกิจกรรมอื่นๆ
อีกมากมาย ไม่เว้นแม้แต่การที่ นายใหญ่ของ GM Thailand อย่างคุณ Martin Apfel เอง ก็ต้องออกมาร่วมแรง
ร่วมใจกับพนักงานของ GM ตกทรายใส่กระสอบ เพื่อทำเขื่อนกั้น บริเวณโรงพยาบาลศิริราช เลยทีเดียว
โชคดีที่ GM ผลิต Colorado ใหม่ เตรียมสต้อกเอาไว้จำนวนพอสมควร จึงทำให้ยังพอมีรถส่งมอบให้ลูกค้า
ที่สั่งจองในช่วงแรกๆ ได้เรียบร้อย โดยลูกค้ารายแรกที่ บันทึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์ของรถรุ่นนี้คือ คุณกี้
ศักดิ์ นานา นักแข่งรถประเภทดริฟท์ ชื่อดังของเมืองไทย โดยมีพิธีรับรถ ในงาน Motor Expo ช่วงเดือน
ธันวาคม 2011 ที่ผ่านมา (แต่มีการรับรถจริง ในช่วงหลังจากนั้นไม่นานนัก)
และด้วยเหตุที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์หลายราย ต้องพลิกสภาพกลายเป็นผู้ประสบภัยเสียเอง ทำให้สายการผลิต
ของโรงงานรถยนต์ต่างๆหยุดชะงัก GM Thailand เองก้ได้รับผลกระทบไปด้วย ส่งผลให้ ต้องใช้เวลาในการ
แก้ปัญหาชิ้นส่วน และคลี่คลายยอดจองของรถกระบะรุ่นใหม่ นานจนถึงช่วงต้นไตรมาสแรกของปี 2012
สถานการณ์จึงเริ่มดีขึ้น
และในช่วงครึ่งหลังของเดือนเมษายนที่ผ่านมา GM ได้เชิญสื่อมวลชนจากทั้งยุโรป สหรัฐอเมริกา รัสเซีย
และตะวันออกกลาง มาร่วมทดลองขับ Colorado ใหม่ บนเส้นทางในจังหวัดเชียงราย ทริปเดียวกับที่จัดให้
กับสื่อมวชนในเมืองไทย งานเสร็จสิ้นไปเมื่อ วันที่ 24 เมษายน 2012 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ทางโรงงาน GM
ในระยอง แจ้งตัวเลขว่า มียอดผลิต Colorado ออกมาแล้วรวมทั้งสิ้น 18,576 คัน โดยนับจากนี้ไป ตัวเลข
45% ของยอดผลิตรถกระบะรุ่นใหม่นี้ ทั้งหมด จะถูกป้อนให้กับตลาดส่งออก ซึ่งมีลูกค้าทั้งในยุโรป รัสเซีย
ตะวันออกกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอเมริกาใต้ รอเป็นเจ้าของกันอยู่
แล้วการตอบรับของลูกค้าชาวไทยละ?
ตั้งแต่เดือนมกราคม 2012 เป็นต้นมา GM จำหน่าย Chevrolet Colorado ในประเทศไทยได้มากถึง
18,354 คัน เฉพาะเดือนมิถุนายน 2012 เพียงเดือนเดียว ทำยอดขายได้ 3,444 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน
ถึง 245 % อยู่ในอันดับ 4 ของตารางยอดขายรถกระบะเมืองไทยไปเรียบร้อยแล้ว
สำหรับตลาดเมืองไทย GM ผลิต Chevrolet Colorado ออกมามากมายถึง 26 รุ่นย่อย!! เลือกกันจน
ตาเหลือกตาแฉะไปข้างนึงเลยทีเดียว แบ่งระดับการตกแต่งไว้ 3 เกรด ทั้ง LS LT และ LTZ ครบถ้วนทั้ง
รุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง และ 4 ล้อ
อย่างไรก็ตาม การจะทำรีวิว โดยเลือกรุ่นย่อยมาให้ครบทั้ง 26 รุ่นนั้น คาดว่า นอกจากจะใช้เวลาในการทำ
รีวิว น่าจะยาวนานข้ามไปจนถึงปี 2013 กันแล้ว ยังอาจโดน ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ GM เขม่นค้อนขวับ
กลับมาให้หงายหลังผึ่งกันได้ง่ายๆ ดังนั้น ผมจึงต้องนั่งปรึกษา กับทาง GM อย่างถ้วนถี่ ว่าจะตัดรถทดสอบ
รุ่นใด คันใด สีใด อย่างไรบ้าง จนมาลงตัวที่ทางเลือกทั้งหมด 6 คัน 6 รุ่นย่อย ครบที่สุดเท่าที่เคยทำรีวิวมา
โดยเลือกตามความแตกต่างของเครื่องยนต์ และระบบขับเคลื่อน กับระบบส่งกำลัง ให้ครบถ้วนที่สุดเท่าที่
จะเป็นไปได้ โดยแบ่งตามสีตัวถังที่คุณเห็นในภาพรีวิวชุดนี้ ดังต่อไปนี้
– 2.8 LTZ 6AT 4×4 Z71 C-Cab 4 ประตู สีขาว (Top of the Line)
– 2.8 LTZ 5MT 4×4 Z71 X-Cab 2 ประตู สีแดง (Top of the X-Cab Line)
– 2.8 LTZ 5MT 4×2 Z71 X-Cab 2 ประตู สีน้ำเงิน
– 2.5 LT 5MT 4×2 Z71 C-Cab 4 ประตู สีดำ
– 2.5 LT 5MT 4×4 Z71 X-Cab 2 ประตู สีเงิน
– 2.5 LT 5MT 4×2 Z71 X-Cab 2 ประตู สีเงิน
Colorado รุ่น C-Cab 4 ประตู มีขนาดตัวถังยาว 5,250 มิลลิเมตร (ถ้ารวมกันชนหลังไปด้วยจะอยู่ที่ 5,347 มิลลิเมตร)
ส่วนความกว้าง หากเป็นรุ่นตัวถังเตี้ย จะกว้าง 1,789 มิลลิเมตร แต่ถ้าเป็นรุ่นยกสูง 4×2 และ 4×4 จะกว้างถึง 1,882
มิลลิเมตร ขณะที่ความสูงจะแตกต่างไปตามแต่ละรุ่นย่อย มีตั้งแต่ 1,697 – 1,785 มิลลิเมตร และมี ระยะฐานล้อ
3,096 มิลลิเมตร
ส่วน Colorado รุ่น X-Cab จะมีความยาวตัวถัง 5,250 มิลลิเมตร (รวมกันชนหลัง 5,347 มิลลิเมตร) เท่ากับรุ่น
C-Cab แต่ถ้าความกว้างแล้วละก็ เหมือนกันกับรุ่น C-Cab หากเป็นรุ่นตัวถังเตี้ย จะกว้าง 1,789 มิลลิเมตร แต่
ถ้าเป็นรุ่นยกสูง 4×2 และ 4×4 จะกว้าง 1,882 มิลลิเมตร ส่วนความสูงนั้น ถ้าเป็นรุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง แบบ
เตี้ย จะสูง 1,697 – 1,699 มิลลิเมตร แต่ถ้าเป็นรุ่นยกสูง Z71 และ 4×4 จะสูงขึ้นเป็น 1,778 – 1,785 มิลลิเมตร
ตามแต่ละ รุ่นย่อย ส่วนระยะฐานล้อ จะยาว 3,096 มิลลิเมตร เท่ากับรุ่น C-Cab
เอ้า! ไหนๆ ก็ไหนๆ แม้จะไม่มีในรีวิวนี้ แต่ขอแถมตัวเลขขนาดตัวถังของ รุ่น S-Cab (Single Cab) ให้ไป
ด้วยเลยแล้วกัน ยาว 5,267 มิลลิเมตร (ไม่มีกันชนหลัง) กว้าง 1,810 มิลลิเมตร สูง 1,698 มิลลิเมตร และมี
ระยะานล้อ ยาว 3,096 มิลลิเมตร เท่ากันกับรุ่น X-Cab และ C-Cab
ทุกตัวถังจะมีความกว้างช่วงล้อ หน้า/หลัง (Front & Rear Track) เท่ากัน รุ่นตัวถังเตี้ย 1,510 มิลลิเมตร ทั้งหน้า
และหลัง ส่วนรุ่นยกสูง จะอยู่ที่ 1,570 มิลลิเมตร ทั้งหน้า/หลัง ระยะต่ำสุดจากพ้นถนน (Ground Clearance)
อยู่ที่ 190 – 270 มิลลิเมตร ตามแต่ละรุ่นย่อย
เท่ากับว่า เมื่อเปรียบเทียบกับรุ่นเก่า ทุกตัวถังจะ มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิมในแทบทุกมิติ ชนิดไม่ต้องสืบสาวหา
ตัวเลขให้เสียเวลากันอีก
Mr. Brad Merkel, GM’s Global Vehicle Line Executive for Midsize Trucks, กล่าวว่า “เป้าหมายของเรา
ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการนี้ คือการสร้าง ‘รถกระบะที่ลากได้ทุกสิ่ง ลุยไปได้ทุกที่’ และนั่นคือสิ่งที่ Colorado รุ่นใหม่ พร้อม
มอบให้แก่ลูกค้า เราพัฒนาระบบวิศวกรรมเพื่อตอบสนองการใช้งานเชิงพาณิชย์ และในชีวิตประจำวัน Colorado จะต้อง
สามารถบรรทุกหนักได้สารพัด เป็นรถขนสิ่งของสำหรับครอบครัว และเป็นรถกระบะที่ตอบสนองได้ทุก รูปแบบการใช้ชีวิต
ซึ่งรวมถึงลูกค้าที่ต้องการรถกระบะระดับ Premium”
เส้นสายภายนอกของ Colorado ใหม่ เป็นผลงานของศูนย์การออกแบบ Advanced Design Center ของ GM
ในนคร Sao Paolo ประเทศ Brazil และถ้าพูดกันตามตรง พวกเขานำงานออกแบบของรถรุ่นจำหน่ายจริง ไป
ปรับปรุง ให้กลายเป็น Chevrolet Colorado Show Truck ที่เคยเปิดตัวในเมืองไทยอย่างยิ่งใหญ่ ปลายเดือน
มีนาคม ที่ผ่านมา รวมถึง อาร์เจนติน่า ออสเตรเลีย และเยอรมนี ตลอดทั้งปีที่ผ่านมานี้ นั่นเอง
ไม่เพียงแค่ขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม แต่ Colorado ใหม่ ยังมีเส้นสายที่ดูหนา มีมัดกล้าม แต่ยังมีความโค้งมน
และมีการออกแบบให้เน้นแนวเส้นสันบ่าตามจุดต่างๆ เท่าที่จำเป็น เพื่อให้ตัวรถมีบุคลิกที่โดนใจผู้คนทั่วโลก
ทุกเพศ และทุกวัย มากกว่าที่จะเน้นความบึกบึน เพื่อเอาใจลูกค้าสุภาพบุรุษเพียงอย่างเดียว
กระจังหน้าออกแบบขึ้นใหม่ เรียกว่าแบบ Dual Port มี 2 ชั้น ล้อมกรอบโครเมียม และคาดกลางด้วยโลโก้โบว์ไท
สีทอง เอกลักษณ์เฉพาะของ Chevy ฝากระโปรงหน้าขนาดใหญ่เน้นสันขอบที่ยกสูงขึ้นจากซุ้มล้อราวๆ 3 นิ้ว
ในรุ่น LTZ โคมไฟหน้าจะเป็นแบบโปรเจคเตอร์ ควบคู่กับไฟตัดหมอกทรงเหลี่ยม ล้อมกรอบด้วยโครเมียม
ขณะที่ด้านล่างของกันชนหน้า จะติดตั้งแผ่นกันกระแทกอ่างน้ำมันเครื่อง ขณะขับขี่บนเส้นทางสมบุกสมบัน
นอกจากนี้ รุ่น LTZ ยังมีการตกแต่งด้วย ชิ้นโครเมียมรอบคัน ทั้งที่เปิดฝาท้าย ที่เปิดประตู กันชนหลัง และกระจก
มองข้างปรับและพับไฟฟ้า พร้อมไฟเลี้ยวในตัว ส่วนรุ่น LT จะเป็นกรอบกระจกมองข้างแบบสีเดียวกับตัวถัง มี
ไฟเลี้ยวมาให้ในตัวเสร็จสรรพเช่นเดียวกัน ขณะที่ไฟท้ายแนวตั้ง เป็นแบบ LED ส่องสว่างชัดเจนยามค่ำคืน
พร้อมไฟตัดหมอกหลัง ทุกรุ่นจะติดตั้งไฟเบรกดวงที่ 3 ขนาดใหญ่ เหนือกระจกบังลมหลังมาให้
ในรุ่น LTZ (คันสีขาว แดงไวน์ และ น้ำเงิน) ติดตั้งล้ออัลลอยขนาด 17 นิ้ว สวมเข้ากับยางขนาด 255/65 R17
รับกับโป่งซุ้มล้อขนาดใหญ่ทั้งหน้าและหลัง ส่วนรุ่น LT จะติดตั้งล้อขนาด 16 นิ้ว พร้อมยางขนาด 245/70 R16
จากเท่าที่ผมลองจอด Colorado ขนาบข้างด้วย Isuzu D-Max ใหม่ พบว่า ชิ้นส่วนตัวถังที่น่าจะสามารถถอด
สลับสับเปลี่ยนใส่กันได้เลยนั้น มีไม่มากอย่างที่คิด ทั้งกระจกบังลมหน้า แผ่นหลังคา กระจกบังลมหลังพร้อม
ไล่ฝ้ารวมทั้งบรรดาคานโครงสร้างตามจุดที่เรามองไม่เห็นจากภายนอกอีกนิดหน่อยเท่านั้น
นั่นหมายความว่า ชิ้นส่วนตัวถังด้านหน้าทั้งหมด ตั้งแต่เปลือกกันชนหน้า จนถึงเปลือกตัวถังซุ้มล้อทั้ง 2 ฝั่ง และ
แผ่นตัวถังของกระบะหลัง ฝั่งซ้ายและขวา กับฝากระบะหลัง เป็นชิ้นส่วนที่ถูกออกแบบให้แตกต่างไปจาก คู่แฝด
ร่วมเฟรมแชสซี อย่าง Isuzu D-Max ใหม่
การเปิดประตูเข้าไปในรถ ทำได้ด้วยรีโมทกุญแจ พร้อม Remote Control ในตัว โดยปกติแล้ว จะถูกตั้งโปรแกรม
มาสั่งให้ ต้องกดปุ่มปลดล็อก 1 ครั้ง เพื่อปลดล็อก เฉพาะบานประตูฝั่งคนขับ และต้องกดซ้ำอีกครั้ง ถ้าจะปลดล็อก
บานประตูฝั่งซ้าย แต่ในการใช้งานจริง บางครั้ง ผมอาจต้องกดกันถึงราวๆ 3-4 ครั้ง เพื่อให้บานประตูฝั่งซ้ายยอม
ปลดล็อก ไม่แน่ใจว่าถ่านในรีโมทจะอ่อนหรือว่า ตัวรับสัญญาณที่ฝังอยู่ในบานประตู ทำงานไม่ไวพอกันแน่
อยากจะขอเตือนกันไว้สักหน่อยนะครับว่า Colorado ก็เป็นเหมือนกับ Chevrolet Aveo นั่นคือ ไม่ควรลืม หรือ
เสียบกุญแจทิ้งไว้ในรูบิดกุญแจสตาร์ต หรือว่า ทิ้งกุญแจไว้ในรถ ขณะปิดประตูไปแล้วเด็ดขาด! เพราะโอกาส
ที่รถจะล็อกตัวเอง จนก่อเรื่อง ให้คุณต้องนั่งแท็กซี่ กลับบ้าน ไปเอาชุดกุญแจสำรอง มาไขเปิดประตูรถ ก็อาจ
เป็นไปได้
ถามว่าผมทราบเรื่องนี้ได้อย่างไร คำตอบก็คือ ในวันที่ผมรับรถรุ่น 2.8 ลิตร 5MT 4×4 4×4 Z71 LTZ คันสีแดง
เมื่เปิดประตู ขึ้นไปติดเครื่องยนต์แล้ว ตามปกติ ผมมักจะใช้เวลาปรับเบาะนั่ง และกระจกมองข้าง กับกระจก
มองหลัง รวมทั้งระยะสูง – ต่ำของพวงมาลัย ให้พอดีกับตัวผมมากที่สุด แต่ผมคงจะใช้เวลานานไปหน่อยกระมัง
จู่ๆ เจ้าโด้แดงมันคงจะรำคาญ ระบบ Central Lock ก็ล็อกประตูให้ผมเองหน้าตาเฉยเลย! โดยที่ผมก็ไม่ได้ไป
กดปุ่มสั่งล็อกใดๆทั้งสิ้น!
ในรุ่น X-Cab (หรือที่ควรจะเรียกว่า Flex Cab) จะมาพร้อมกับบานแค็บเปิดกางออกได้ 90 องศา เพื่อความสะดวก
ในการขนถ่ายสิ่งของ ซึ่งไม่อาจนำไปเก็บไว้ที่กระบะหลังได้ หรือจะพาผู้โดยสาร นั่งเพิ่มไปด้วยความจำเป็น ใน
ระยะทางไม่ไกลนัก ก็ย่อมได้
เหมือนเช่นรกระบะที่มีบานแค็บเปิดได้ทั่วไป คุณจะต้องปิดบานแค็บเสียก่อนที่จะปิดประตูคู่หน้า เพราะตัวล็อก
บานประตูทั้ง 2 ให้ติดยึดสนิทแน่นแนบกัน รวมทั้งเข็มขัดนิรภัยสำหรับผู้โดยสารและผู้ขับขี่ (ซึ่งสามารถปรับ
เลื่อนระดับสูง – ต่ำได้ด้วย) ถูกติดตั้งอยู่ที่ตัวบานแค็บล้วนๆ
การเข้า – ออก อาจเป็นปัญหาบ้าง กับคนที่มีสรีระช่วงขา เตี้ยกว่าปกติ เพราะในรุ่นยกสูงทั้งหลาย คุณอาจต้อง
สั่งซื้อบันได ติดตั้งไว้เอง เพื่อให้ ก้าวขึ้น – ลง สะดวกขึ้น
การตกแต่งภายในนั้น จะแบ่งออกตามระดับการตกแต่ง หากเป็นรุ่น LTZ ภายในจะใช้โทนสีเทาเข้ม
ตัดกับสีเบจ เพิ่มความหรูกว่าปกติ เพาะจะไม่มีลวดลายบนผ้าเบาะ ขณะที่รุ่น LT จะตกแต่งด้วยโทน
สีเทาอ่อน กับเทาเข้ม มีลวดลาย Texture บนผ้าหุ้มเบาะ ซึ่งก็มีข้อดีที่การเลือกใช้วัสดุหุ้มเบาะของ
รุ่น LTZ จะเป็นกำมะหยี่ ซึ่งสวยงาม และให้ความผ่อนคลายในการเดินทาง เนื้อผ้าละเมียดเกินกว่า
ที่เคยพบมาในรถกระบะทั่วไป แต่อาจจะเปื้อนง่าย ดังนั้น ควรเพิ่มความระมัดระวังในการใช้งาน
เบาะคู่หน้าถูกออกแบบมาให้รองรับสรีระ เผื่อไว้กับผู้คนทั่วโลก แม้แต่คนที่มีรูปร่างใหญ่โต ทั้งใน
แนวสูง และแนวกว้าง (อ้วน) ถึงจะนั่งได้สบายๆ เพราะมีปีกข้างที่ออกแบบมาเผื่อไว้มากพอสมควร
แต่อาจไม่กระชับคนร่างเล็กเท่าที่ควรพนักพิงหลัง คราวนี้ออกแบบมาให้มีพื้นที่รองรับขึ้นมาถึงไหล่
ก็จริง แต่ไม่มีการรองรับบริเวณหัวไหล่เท่าที่ควร ดังนั้น เมื่อนั่งลงไปแล้ว ชุดเบาะจะบุ๋มลงไปจนอาจ
รู้สึกสบายในช่วงแรก แต่หลังจากนั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละคน บางรายจะปวดหลัง บางรายจะเฉยๆ
ส่วนเบาะรองนั่งนั้น ความยาวอยู่ในเกณฑ์พอใช้ได้ รองรับต้นขาได้ดี ฟองน้ำของชุดเบาะ มีส่วนช่วย
ดูดซับแรงสะเทือน จากพื้นถนน ซึ่งถูกส่งขึ้นมาโดยระบบกันสะเทือนอยู่ไม่น้อย ดังนั้นต้องไปลอง
นั่งกันเอาเอง สรีระร่างของใครของมัน ส่วนพื้นที่เหนือศีรษะ มีเหลือเฟือ แม้ว่าคุณจะสูงระดับยีราฟ
เรียกป๊ะป๋า เกินกว่า 180 – 185 เซ็นติเมตรขึ้นไปก็ตาม
การวางแขนบนแผงประตูด้านข้าง ซึ่งออกแบบมาจนชวนให้นึกถึง แผงประตูคู่หน้าของ Toyota Yaris
รุ่นปัจจุบัน (2nd Generation 2006 – 2011) นั้น ถือว่าทำได้ดีในระดับรับได้ ไมว่าจะท้าวแขนไว้
บนขอบกระจกหน้าต่าง หรือบนพื้นที่วางแขนที่ออกแบบมารองรับไว้แล้ว ทำได้ดี หากคุรยังอยู่ในตำแหน่ง
เบาะคนขับ และปรับเบาะให้อยู่ในระดับเตี้ยสุด
แผงด้านข้างบานแค็บเปิดได้ ถูกออกแบบ ให้มีที่วางแขนแบบชั่วคราว พร้อมช่องวางของจุกจิกเล็กน้อย ผนังของ
ห้องโดยสาร ด้านหลังสุด ติดตั้งแผงสำหรับให้ผู้โดยสารชั่วคราว ได้ใช้พิงหลัง ในระยะทางสั้นๆ ส่วนพื้นที่ด้านล่าง
มีฝาปิด ยกขึ้นมา เป็นช่องใส่ของอเนกประสงค์ และเครื่องมือประจำรถ ซ่อนมาให้ ทุกรุ่นย่อย ด้านหลังของกล่อง
คอนโซลกลาง ในรุ่น 2.5 5MT LTZ คันสีน้ำเงิน จะมีช่องวางแก้ว 2 ตำแหน่ง พับเก็บซ่อนได้ แถมมาให้
เมื่อผมลองขึ้นไปนั่ง พบว่า ศีรษะของคนตัวสูง 171 เซ็นติเมตรอย่างผม ยังมีพื้นที่ด้านบน เหลือทิ้งไว้ ให้พอจะ
ขยับหัวไป – มาได้อีกเล็กน้อย ราวๆ 3-4 นิ้ววางเรียงในแนวนอน
และถ้าจะถามว่า พื้นที่ด้านหลังของรุ่นแค็บ กว้างใหญ่พอไหม หรือแค่ไหน ผมว่า ผมสามารถหาวิธีที่จะแสดง
ให้คุณดู ได้แล้วละ ค้นพบวิธีนี้โดยบังเอิญซะด้วยเนี่ยสิ……
เลื่อนลงไปดูเลยครับ….
ชัดเจนไหม?
Commander CHENG! หรือตาแพนของเรา ลงไปนอนวัดให้ดู กันถึงขนาดนี้ คงพอจะมองภาพ
ขนาดของพื้นที่แค็บด้านหลัง กันออกแล้วนะครับ ตำแหน่งเบาะคนขับนั้น ผมปรับในพิกัดปกติที่ผมนั่งขับ
จบนะครับ? หมดข้อกังขานะครับ?
ส่วนรุ่น 4 ประตู C-Cab นั้น เมื่อคุณเปิดประตูคู่หน้า การเข้า – ออก ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากรุ่น X-Cab
ในตอนที่ปิดบานแค็บไว้กับตัวรถกันเท่าใดนักเลย การติดตั้งมือจับสำหรับการช่วยให้คุณยกตัวโหนขึ้น
ก่อนหย่อนก้นลงไปนั่งบนเบาะคู่หน้า นั่นถือว่าเป็นเรื่องดี เพราผู้ผลิตจำนวนไม่น้อย มองข้ามจุดนี้
ไปอย่างจงใจ ด้วยเหตุผลของการลดต้นทุนเป็นประเด็นหลัก ที่สำคัญคือ มีการติดตั้งมาให้ทั้งฝั่ง
คนขับด้วย ช่วยให้การโหนตัวขึ้นรถ ง่ายดายขึ้นมาก!
ความแตกต่างระหว่างรุ่น LTZ กับ LT อยู่ที่ โทนสี กับวัสดุในการตกแต่ง เหมือนเช่นรุ่น X-Cab หาก
เป็นรุ่นท็อป 2.8 LTZ 4×4 คันสีขาว จะเป็นรุ่นเดียวที่คุณจะได้เบาะหนังสังเคราะห์จากโรงงาน การ
หุ้มหนังของผู้ผลิตเบาะ แม้จะพยายามทำออกมาให้ดูดี แต่ยังพบเห็นความไม่ประณีตบ้างในบางจุด
เช่น ร่อยยับย่น ของด้านข้างเบาะรองนั่ง เป็นต้น
แต่ถ้าเป็นรุ่น 2.5 LT คุณก็จะได้เบาะผ้าสีเทา พร้อมลวดลายตรงกลางเบาะ เช่นเดียวกันกับรุ่น X-Cab
ลายผ้าเหมือนกันไม่ผิดเพี้ยนจากต้นฉบับ
เนื่องจากเบาะคู่หน้าของทุกรุ่น (ยกเว้น Single Cab หรือ S-Cab) จะใช้โครงสร้าง ฟองน้ำ และวัสดุ
ร่วมกัน เหมือนกันเป๊ะ ดังนั้น หากเป็นรุ่นเบาะผ้า สัมผัส ที่ส่งมาถึงแผ่นหลัง และบั้นท้ายของผม
จึงไม่มีความแตกต่างแถมยังเหมือนกันกับรุ่น X-Cab เป๊ะ จนไม่ต้องเขียนถึงซ้ำซ้อน
แต่ความแตกต่างสำคัญ อันน่าแปลกของเบาะคู่หน้าชุดนี้ อยู่ที่ว่า ถ้าเป็นเบาะผ้า ในรุ่นถูกกว่า อย่าง
2.5 LT คันสีดำ ซึ่งหุ้มผ้าเบาะ และตกแต่งภายในด้วยสีเทา การนั่งทางไกล จะสบาย และผ่อนคลาย
แผ่นหลัง ได้ดีกว่า รุ่นท็อป 2.8 LTZ ที่ใช้เบาะหุ้มด้วยหนัง ส่วนหนึ่งต้องยกให้ Texture ของผ้าหุ้ม
เบาะที่ให้่สัมผัสดีมาก ดุจรถยนต์นั่งราคาแพง อีกทั้ง หนังหุ้มเบาะ ในรุ่น LTZ นั้น เป็นหนังเกรด
ประมาณกลางๆ ไม่ถึงกับดีนัก
กระนั้น C-Cab 2.8 6AT 4×4 Z71 LTZ ก็เป็นรุ่นเดียวที่มีเบาะคนขับปรับด้วยสวิชต์ไฟฟ้ามาให้จากโรงงาน
ส่วนการเข้า – ออก จากประตูคู่หลังนั้น แม้จะมีการศึกษา และปรับเพิ่มความกว้างของช่องประตู
ให้กว้างขึ้นกว่ารถรุ่นก่อน แต่คงต้องยอมรับความจริงกันว่า Mitsubishi Triton ยังคงครองแชมป์
การเข้า-ออกเบาะหลัง ได้ง่ายดายที่สุด ด้วยช่องประตูกว้างที่สุดในตลาดอยู่ดี รองลงมาก็คงเป็น
Ford Ranger / Mazda BT-50 PRO , Colorado และ New D-Max จะอยุ่ในอันดับ 3 แต่
ไม่หนีจากอันดับ 2 มากอย่างที่คิด ส่วน Toyota Vigo จะตามมาติดๆจี้ติดในประเด็นนี้ เป็นลำดับ 4
แต่ผู้รั้งท้ายในหัวข้อนี้ คือ Nissan Navara เอาบ๊วยไปกินเพราะขาดความสดใหม่ที่สุดในกลุ่ม เลย
กลายเป็นว่า ช่องประตูคู่หลัง เล็ก สั้น และแคบกว่าชาวบ้านชาวช่องที่เขาปรับปรุงใหม่ไปกันหมดแล้ว
กระนั้น การเข้า – ออกถือว่าทำได้ดีขึ้นกว่าเดิม ส่วนหนึ่งเพราะเบาะรองนั่ง มีการปาดมุม เพื่อ
ช่วยเพิ่มพื้นที่การวางขาเข้าไปบนพื้นตัวรถมากขึ้น และนั่นทำให้เราคงต้องเลิกบ่น Colorado
ในประเด็นนี้กันได้แล้ว
ตำแหน่งพื้นที่วางแขนนั้น เตี้ยไปนิดนึง ส่วนกระจกหน้าต่างนั้น เปิดเลื่อนลงมาได้ ไม่สุด
ขอบกระจกด้านล่าง น่าเสียดายอยู่เหมือนกัน กระนั้น ยังมีช่องใส่ขวดน้ำขนาดใหญ่แถมมาให้
ราวกับเป็นการปลอบใจเล็กๆน้อยๆ ซึ่งถือว่า ดีสำหรับผู้โดยสารแถวหลัง
อ้อ ถ้าสังเกตดีๆ ช่องใส่หนังสือ ด้านหลังพนักพิงเบาะคู่หน้านั้น รุ่น LTZ ตัวท็อปจะให้มาทั้ง
2 ฝั่ง ขณะที่รุ่น 2.5 LT 4×2 จะให้มาแค่ตำแหน่งเดียวคือฝั่งซ้ายเท่านั้น
เบาะหลังนั้น มีพนักพิงที่คล้ายกับเบาะหน้า คือรู้ว่ามีความพยายามออกแบบให้พื้นที่กลางหลัง
นูนออกมาเล็กน้อย แต่ในเมื่อบริเวณหัวไหล่ ยังไม่อาจรองรับได้เต็มที่ และถึงขั้นต้องยกเจ้า
พนักศีรษะขึ้น เพื่อไม่ให้ ขอบด้านล่าง ทิ่มอยู่กับต้นคอ ดังนั้น ถือว่า แม้จะปรับปรุงให้ดีขึ้น
กว่ารุ่นเดิม แต่ยังไม่ถึงกับดีที่สุดในตลาด เฉพาะรุ่น LTZ จะมีพนักวางแขนแบบพับเก็บได้
เพิ่มมาให้ ซึ่งการวางแขนนั้น อยู่ในตำแหน่งที่พอใช้ได้ ไม่สูง และไม่เตี้ยเกินไป
ส่วนเบาะรองนั่ง มีฟองน้ำที่นุ่มนิ่ม นั่งได้สบาย อาจไม่ถึงกับเต็มพื้นที่จนถึงข้อพับนัก แต่
ยังพอยอมรับได้ เพียงแต่ ถ้านั่งทางไกลจริงๆ อาจต้องพักเปี่ยนอิริยาบถ ทุกๆ 150 – 200
กิโลเมตร ส่วนพื้นที่วางขา มีเพียงพอสำหรับคนตัวสูง 175 เซ็นติเมตร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ยัง
ขึ้นอยู่กับการปรับเบาะคู่หน้าล้วนๆ อยู่ดี
เรื่องที่ต้องขอชมเชยคือ GM ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยแบบ ELR 3 จุดมาให้ ครบทุกที่นั่ง ไม่เว้นแม้แต่
เบาะหลัง ตำแหน่งกลาง ซึ่งในรถทั่วไป มักให้มาแค่แบบ 2 จุด คาดเอว เพียงแต่ว่า เข็มขัดบน
เบาะหลังทั้ง 3 ตำแหน่ง ปรับระดับความสูง – ต่ำไม่ได้ ส่วนของเบาะคู่หน้านั้น เป็นแบบปรับ
ระดับสูง -ต่ำได้ พร้อมทั้งระบบ ลดแรงปะทะ และดึงกลับอัตโนมัติ Pre-tensioner & Load
Limiter
นอกจากนี้ เบาะหลังของรุ่น 4 ประตู C-Cab ยังสามารถ ยกเบาะรองนั่งขึ้นแบบแยกฝั่งได้ทั้งซ้าย – ขวา
หรือพับพนักพิงเบาะลงมาทั้งหมด เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บสัมภาระ ที่ไม่สามารถปล่อยให้ตากแดดตากฝน
อยูบนกระบะหลังได้ ยิ่งถ้าคิดจะซื้อ โทรทัศน์ LCD หรือ LED มาใช้ รวมทั้งการซื้อดอกไม้ที่ปลูกใส่
กระถางขนาดเล็กไว้ การพับเบาะแบบนี้ได้ จะช่วยให้สามารถจัดเก็บข้าวของข้างต้น ได้สะดวกสบาย
ยิ่งขึ้น เพียงแต่ว่า เมื่อคุณยกเบาะรองนั่งขึ้น จำเป็นต้องใช้สายเชือกที่ติดมากับเบาะรองนั่ง เกี่ยวคล้อง
เอาไว้ที่จุดยึดด้านหลัง มิเช่นนั้น เบาะรองนั่ง อาจหล่นโครม ลงมาได้ขณะรถกำลังแล่น เนื่องจากไม่มี
ตัวยึดล็อก อย่างที่ Honda Jazz และ City รุ่นแรกเขามีมาให้
พื้นที่กระบะหลังนั้น หากเป็นรุ่น X-Cab จะมีความยาว 1,795 มิลลิเมตร กว้าง 1,534 มิลลิเมตร แต่ถ้า
เป็นรุ่น 4 ประตู C-Cab ความยาวก็จะลดทอนลงมา เหลือ 1,484 มิลลิเมตร น้ำหนักรถ รวมน้ำหนัก
บรรทุกนั้น จะอยู่ที่ 2,850 และ 3,100 กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับแต่ละรุ่นย่อย
สิ่งที่อยากให้คุณสังเกตกันไว้ นั่นคือพื้นกระบะหลัง ถูกออกแบบให้มีรอยเชื่อมต่อ ติดยึดกันเรียบเนียนขึ้น
ไม่เหมือนรถกระบะที่เราเคยเจอมาในยุคก่อนๆ หรือแม้แต่รถรุ่นใหม่ๆในปัจจุบัน การประกอบโดยรวม
ต้องถือว่าทำได้ดีมากๆ อาจมีบางจุดที่ยังต้องปรับปรุงอยู่ เช่นการเก็บรายละเอียดรอยต่อแผงประตูด้านใน
นิดหน่อย ให้มีช่องไฟลดลงกว่านี้เท่านั้นเอง
แผงหน้าปัดออกแบบขึ้นภายใต้แนวทาง Dual Cockpit สไตล์เดียวกับ Chevrolet Corvette รถสปอร์ต
รุ่นดังสุดของ Chevy เน้นความไหลลื่นต่อเนื่องตลอดทั้งแผงหน้าปัด สร้างความสมดุลในห้องโดยสาร
ได้ลงตัวดี การออกแบบในลักษณะนี้ มีข้อดีคือ ทำให้ผู้ขับขี่ และผู้โดยสาร รู้สึกได้ว่า การมองเห็น
เส้นทางข้างหน้า มันโปร่งสบายขึ้น แม้ว่า ขอบกระจกบังลมหน้าด้านบนจะเตี้ยลงมา สักหน่อยก็ตาม
เมื่อมองขึ้นไปบนเพดาน จะพบว่า ถึงคุณจะซื้อรถรุ่นถูกสุด หรือแพงสุด สิ่งที่คุณจะได้รับเหมือนกัน
คือ มีแผงบังแดด มาให้ 2 ฝั่ง แต่จะมีกระจกแต่งหน้า เฉพาะฝั่งซ้าย (โดยที่คนเซ็ตสเป็ก คงไม่คิดว่า
คาวบอยควบรถ เขาก็อยากจะเช็คสภาพหน้าตา ก่อนลงไปเจอสาวๆ กันบ้างเลยกระมัง?) ส่วนไฟ
อ่านแผนที่ มีมาให้ทั้งฝั่งซ้าย และขวา กระจกมองหลัง ยึดติดกับกระจก และมีก้านปรับตัดแสงได้
ด้วยระบบอัตโนมือ อัตโนนาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน
ขอบกระจกด้านบน ออกแบบมาให้ บังแสงแดด ที่จะโดนมือขณะจับพวงมาลัย ดังนั้น คงต้องแลกกับ
พื้นที่การมองเห็นกระจกบังลมหน้า จะถูกบีบลงมานิดนึง ไม่ได้โปร่งแบบรถกระบะสมัยก่อนนะครับ
และจะเป็นแบบนี้เหมือนกันทั้ง Colorado , Trailblazer , Isuzu New D-Max หรือแม้แต่
Isuzu Next MU-7 รุ่นถัดจากนี้ไปก็ตาม
จากบานประตูฝั่งขวา มองเข้ามาทางซ้าย ไล่กันไปในแต่ละตำแหน่ง
กระจกมองข้างของรถทั้ง 6 รุ่นย่อย ที่เรานำมาทดลองขับ ปรับตำแหน่งด้ดสวยสวิชต์ไฟฟ้า ติดตั้ง
บริเวณ ขอบประตูใกล้เสาหลังคาหน้า A-Pillar ฝั่งขวา แต่จะมีเฉพาะรุ่น LTZ เท่านั้น ที่สามารถ
กดสวิชต์ให้พับเก็บ และกางออกด้วยระบบไฟฟ้าได้ ส่วนรุ่น LT ต้องใช้มือพับกันเอาเอง
กระจกหน้าต่างทั้ง 2 และ 4 บาน ตามแต่ละตัวถัง ของรุ่นยกสูง และขับเคลื่อน 4 ล้อ ทุกคัน จะ
เปิด-ปิดได้ ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า มาพร้อมกับสวิชต์ฝั่งคนขับ แบบ Auto เลื่อนลง – ขึ้น ได้ด้วยการ
กดหรือยกสวิชต์ เพียงครั้งเดียว นี่ถือว่าเป็นพัฒนาการของ รถยี่ห้อ Chevrolet ในเมืองไทย
เพราะในรถหลายๆรุ่นก่อนหน้านี้ สวิตช์ Auto ฝั่งคนขับ จะกดลงได้เพียงอย่างเดียว แต่สั่ง
เลื่อนขึ้นมา ไม่ได้ ต้องใช้นิ้วช่วยเหลือเอง ทำตัวเหมือน Lancer EX และ Prius ล็อตแรกๆ
กันไปได้ รวมทั้งยังมีสวิชต์ Central Lock สั่งปลด และล็อกบานประตูได้พร้อมกันทุกบาน
ใต้ช่องแอร์ฝั่งขวามือของคนขับ มีช่องวางแก้วน้ำ เลื่อนเก็บได้ ซ่อนรูปอยู่ ถัดลงไปจะเป็น
สวิชต์ เปิดปิด ทั้งไฟหน้า และไฟตัดหมอก (ในรถบางรุ่นย่อย) ยกชุดมาจาก Cruze นั่นละ
ก้านดึงเปิดฝาถังน้ำมัน และฝากระโปรงหน้า อยูในตำแหน่งเตี้ยลงไป แต่ติดตั้งไว้ใกล้กัน
เมื่อเสียบกุญแจ เตรียมบิดหมุนไปทางขวา เพื่อติดเครื่องยนต์ จะมีเสียงสัญญาณตรวจเช็ค
การทำงานของระบบต่าง ดัง “ตึ๊ง..ตึ๊ง…ตึ๊ง…ตึ๊ง…ตึ๊งงงงงงงงงง” ผมละแอบขำนิดๆ แน่ละ
มันชวนให้นึกถึงเกมแข่งรถ Formula 1 สมัยที่ยังอยู่ในเครื่องเล่นเพลงอย่าง Nintendo รุ่น
Super Famicom สมัยที่โลกยังไม่รู้จักว่า เกม Gran Turismo คืออะไร! เสียงร้องเตือนเนี่ย
เหมือนกันเกือบไม่มีผิดเพี้ยน!
ก้านไฟเลี้ยวถูกติดตั้งไว้ฝั่งขวามือ เป็นไปตามความถนัดของลูกค้าชาวไทย ถ้าเผลอเปิดทิ้งไว้
นานๆ รถก็จะร้องเตือน และขึ้นสัญญาณข้อความเตือนบนหน้าจอ MID ของมาตรวัดว่า Signal
Turn Open! เพื่อให้เราปิดมันทั้งเสีย แถมมันจะเตือนต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนกว่าคุณจะกดก้าน
สวิชต์ไฟเลี้ยวปิด
ในรุ่น 2.5 ลิตร จะไม่มีสวิชต์ปรับระดับสูง – ต่ำของไฟหน้ามาให้ เนื่องจาก ไฟหน้าของรุ่น
2.5 ลิตร เป็นแบบ Halogen ธรรมดาๆ ไม่ได้ติดตั้งโคมไฟหน้าแบบ Projector มาให้
เหมือนอย่างรุ่น 2.8 ลิตร
แต่ ถ้าลืมปิดไฟหน้า หรือไฟหรี่ จะมีเสียงสัญญาณเตือน ดัง “ตึ๊ง ตึ๊ง ตึ๊ง ตึ๊ง ๆๆๆ” ไปเรื่อยๆ
เป็นเสียง ที่ชวนให้นึกถึง สัญญาณให้รถไฟจากสงขลา เข้าเทียบชาญชาลา ณ หัวลำโพง!!
หรือไม่ ฟังแล้ว ก็อยากจะถามู้โดยสารข้างๆเหลือเกินว่า “รับขนมจีบ ซาลาเปา เพิ่มไหมค่ะ”?
ครับ ฟังแล้วแทบอยากแวะ 7-11 กันทันทีเลยละ!
พวงมาลัยเป็นแบบ 3 ก้าน พร้อมถุงลมนิรภัยฝังมาให้ในตัว หากเป็นรุ่น LT หรือ LS ก็จะ
ไม่มีการประดับตกแต่งะไรทั้งสิ้น เป็นพวงมาลัยยูรีเทนเปล่าๆ แต่หากเป็นรุ่น LTZ จะ
ประดับด้วยแถบโครเมียม ทั้งฝั่งซ้ายและขวา ส่วนสวิชต์ ควบคุม ชุดเครื่องเสียง ที่ฝั่งซ้าย
จะมีมาให้ในรุ่น LTZ ทุกรุ่น แต่สวิชต์ของระบบควบคุมความเร็วคงที่ Cruise Control จะ
มีมาให้เฉพาะรุ่นท็อป 4 ประตู 2.8 6AT 4×4 Z71 LTZ เท่านั้น พวงมาลัยของทุกรุ่นนั้น
ปรับระดับสูง – ต่ำได้ พอสมควร
ชุดมาตรวัดเป็นแบบ 2 ช่อง เป็นอีกหนึ่งงานออกแบบซึ่งแตกต่างจาก New D-Max ทีมออกแบบเล่าว่า ได้แรง
บันดาลใจจาก ชุดมาตรวัดของ รถยนต์ Coupe 2 ประตู แนว Muscle Car กลับมาเกิดใหม่ Chevolet Camaro
รุ่นปี 2010 นี่เอง แต่พอดูดีๆ จะพบว่า มีหน้าตาคล้ายกับ ชุดมาตรวัดของ Mitsubishi Pajero รุ่นปี 1982-1990
ชุดมาตรวัดที่ติดตั้งมาให้กับรถยนต์ล็อตแรกๆ ใช้ ฟอนท์ตัวเลข แบบขนานไปตามขอบโค้ง แถมฟอนท์ตัวเลข
ยังมีขนาดเล็ก เรียงติดกันเป็นพรืด ในการขับขี่ด้วยความเร็วปานกลาง หรือความเร็วสูง หรือการขับขี่ทางไกล
ตอนกลางคืน การละสายตาลงมาดูความเร็วบนมาตรวัดนั้น อ่านตัวเลขหรือความเร็วที่เดินทางอยู่ ลำบากมาก
เพราะมันลายตาไปหมด กลืนกันเป็นภาพซ้อนทับดูคล้ายคลึงกัน แม้จะใช้แสงสีฟ้าแบบเดียวกับ Cruze เป๊ะ
แต่ต้องลดสายตา ลงมาเพ่งที่มาตรวัด นานอยู่เหมือนกัน กว่าจะรับรู้ข้อมูล และกลับไปใส่ใจกับถนน
แต่ในรุ่นจำหน่ายจริง จะมีเฉพาะรุ่น 2.5 ลิตร เท่านั้น ที่มีการปรับเปลี่ยนฟอนท์ตัวเลข ให้เป็นแนวตั้ง เหมือน
ชาวบ้านชาวช่องเขาเสียที พอจะช่วยให้อ่านค่าตัวเลขต่างๆ ได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้นกว่าเดิมเยอะ!
หน้าจอตรงกลาง เป็นแบบ Multi information Display ที่ Chevy เรียกว่า DIC (Data Information
Center) ช่วยแสดงข้อมูล ความเร็วเป็นตัวเลข อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงต่างๆ ทั้งแบบเฉลี่ย แบบสดๆ
Real Time ระยะทางที่น้ำมันในถังเหลือพอให้แล่นต่อ ความเร็วเฉลี่ย แถมในบางรุ่นย่อย ยังสามารถ
แสดงค่าของระบบไฟฟ้าในตัวรถและข้อมูลอื่นๆ จิปาถะได้อีกด้วย แสดงผลเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น
ชุดเครื่องเสียงที่ติดตั้งมานั้น คุณภาพเสียงจัดอยู่ในเกณฑ์ดีมาก เมื่อเทียบกับบรรดารถกระบะคู่แข่ง
ในตลาด เสียงใส ก็ใสใช้ได้ เสียงทุ้ม ถือว่าทำได้ดี ไม่ขี้เหร่ การปรับเสียง Bass ให้ใช้แค่เบอร์ 2 หรือ 3
ก็พอ แต่ถ้าเป็นเสียงใส Trebal ก็คงต้องดันขึ้นไปเบอร์ 4 หรือ 5 ถึงจะลงตัว พอรับฟังให้เสนาะโสตได้
แต่สำหรับนักฟังหูทอง คุณอาจอยากจะเปลี่ยนไปใช้เครื่องเสียงที่ดีกว่านี้ ก็อาจต้องทำใจว่า ในเมื่อชุด
เครื่องเสียง ติดตั้งมาเป็นแบบ Built-in ดังนั้น การถอดเปลี่ยน แม้จะทำได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และอาจ
ต้องหาหน้ากากพลาสติก มาเปลี่ยนใหม่ แปะประกบกับชุดเครื่องเสียงใหม่ ซึ่งจะว่าไป อาจต้องเบิก
อะไห่แท้ เป็นชุดหน้ากากของรุ่น Trailblazer รุ่นท็อป ที่ทำเผื่อออกมาสำหรับการติดตั้ง เครื่องเสียงแบบ
2 DIN หรือหน้าจอระบบนำทาง มาติดตั้งร่วมด้วย
เครื่องปรับอากาศ ในรุ่น LT จะเป็นแบบสวิชต์มือหมุน 3 วงกลม เรียงตัวในตำแหน่ง สามหลี่ยมทองคำ
หรือ ด่านเจดีย์สามองค์ ซึ่งดูลงตัวดีในระดับหนึ่ง เมื่อเทียบกับ สวิชต์เครื่องปรับอากาศแบบอัตโนมัติ ใน
รุ่น LTZ ซึ่ง มีหน้าตาคล้ายกับสวิชต์เครืองปรับอากาศของ Nissan March และ Cube คือเป็นวงกลมโดนัท
อันเบ้อเร่อเบ้อร่า ตัวเลข Digital แสดงอยู่ตรงกลาง เป็นสีฟ้านวล เหมือนแสงสีของชุดมาตรวัด แน่นอนว่า
การคลำหาสวิชต์ที่ต้องการ ในขณะขับขี่นั้น ชุดสวิชต์มือหมุนปกติ ในรุ่น LT จะใช้งานสะดวกกว่าใน LTZ
สิ่งที่ผมชื่นชอบในการออกแบบแผงปน้าปัดของ Colorado ก็คือ มีช่องเก็บของพร้อมฝาปิด เยอะแยะใช้ได้
ไม่ว่าจะเป็น ลิ้นชักพร้อมฝาปิดฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย มีมาให้ 2 ตำแหน่ง คือด้านบน สำหรับใส่ข้าวของ
จุกจิก โทรศัพท์มือถือ หรือซองใส่แว่นกันแดด (แหงละ เพราะ Colorado ไม่มีช่องใส่แว่นกันแดดมาให้)
ส่วนด้านล่าง เอาไว้ใส่แค่คู่มือผุ้ใช้รถกับสมุดรับประกันตามระยะทาง เอกสารกรมธรรม์ประกันภัย และ
สมุดคู่มือทะเบียน แค่นี้ ก็กินพื้นที่ไป 70% แล้ว ส่วนใต้ช่องแอร์ทั่งฝั่งซ้าย และ ขวา เป็นช่องวางแก้ว ที่มี
ช่องล็อกตำแหน่งแก้ว เลื่อนเปิด-ปิดการใช้งานได้ กลายเป็นช่องวางของชั่วคราวอเนกประสงค์
แต่ที่ผมว่า เหมาะกับคนไทยที่สุด เห็นจะเป็น ช่องวางของ พร้อมฝาปิด เหนือชุดเครื่องเสียง และสวิชต์ไฟ
ฉุกเฉิน Hazzard Light (ซึ่งติดตั้งในตำแหน่งที่ใช้งานง่ายมากๆ) ผมขอตั้งชื่อให้ว่า “ช่องใส่พระเครื่อง!”
เอ๋า! อย่าลืมสิ ผู้ใช้รถกระบะชาวไทยจำนวนไม่น้อย ยังคงมีความเชื่อถือในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และนิยมนำสารพัด
วัตถุมงคล และเครื่องลางของขลัง มาติดตั้งไว้ในรถ เพื่อหวังผลความเชื่อ เรื่องการคุ้มครอง ให้ช่วยในการ
ค้าขาย เงินทองไหลมาเทมา หรือแคล้วคลาดจากภยันตราย แต่การจะนำพระเครื่องมาติดไว้ในรถนั้น ก็ดูจะ
ไม่เหมาะสมทั้งในแง่ความสวยงาม และความปลอดภัย เพราะถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา โอกาสที่วัตถุมงคล
จะพุ่งเข้ามาปกป้องคุณ จะยิ่งสูงมาก ปกป้องกันจนทิ่มหน้าทิ่มตาหูเหอแหกกระเจิงกันเลยทีเดียว
ดังนั้น การออกแบบช่องเก็บสารพัดพระเครื่อง และวัตถุมงคงต่างๆ ใน Colorado จึงช่วยลดปัญหาดังกล่าว
ลงไปได้เยอะเลย เพราะขนาดของช่องนั้น พอดีกับพระเครื่องรุปแบบต่างๆ ปลัดขิก หรือ ผ้ายันต์ก็สามารถ
ใส่เข้าไปในช่องแล้วปิดฝาได้เลย ยกเว้นเพียงแค่ องค์พระประทาน หรืเจดีย์ทรงสูง เท่านั้น!
กล่องคอนโซลกลาง ขนาดใหญ่โต ใส่กล่อง CD ได้มากมาย และถึงขั้นใส่กล้องถ่ายรูปได้เลยนั้น มีฝาปิด
ด้านบน ตั้งใจจะออกแบบให้เป็นพื้นที่วางแขน แต่เอาเข้าจริงแล้ว มันวางแขนไม่ได้ดีเลย เหมาะแค่ไว้
เป็นพื้นที่ท้าวข้อศอกกัน ของคนสองคน ระหว่างนั่งรอรถติดแหงกในกรุงเทพฯ แค่นั้น! ส่วนที่วางแก้ว
ข้างเบรกมือ มีมาให้ 2 ตำแหน่ง เหมาะแก่การวางขวดน้ำ 7 บาท ก็จริง แต่มันไม่มีที่ล็อกยึดตำแหน่งไว้
ดังนั้น เหมาะแก่การวางกระป๋องน้ำอัดลม หรือชาเขียวแทนจะดีกว่า
ช่องสี่เหลี่ยมขนาดเล็กในรุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อ นั้น สำหรับรุ่น 4×4 จะกลายเป็น ช่องติดตั้ง สวิชต์หมุน
ปรับเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนไป (รายละเอียด อยู่ข้างล่าง)
ทัศนวิสัยด้านหน้า มีพื้นที่กระจกบังลมหน้า น้อยก็จริง แต่การมองเห็น ทำได้สะดวกดี ไม่มีอะไรติดขัด
ใครที่ชอบมองเห็นฝากระโปรงหน้าขณะขับรถ คงจะแฮปปี้ เพราะคุณจะได้เห็นฝากระโปรงหน้าตลอด
ส่วนการกะระยะ ขณะเอาด้านหน้ารถทิ่มเข้าจอดนั้น อาจต้องเล็งมุมกันให้ดีๆสักหน่อย
เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งขวา ค่อนข้างหน้า และมีการบดบังรถที่แล่นสวนมาจากทางโค้งฝั่งขวา บน
ถนนแบบสวนกันสองเลน (เช่น ทางโค้งช่วง สะพานข้ามแยกวัดศรีเอี่ยม ย่านบางนา) ต้องระวมัดระวัง
กันสักหน่อย กระจกมองข้าง บานใหญ่สะใจ มองเห็นรถที่แล่นตามมาด้านข้างได้ดี ไม่ต้องแก้ไข
เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งซ้าย แอบมีการบดบังรถที่แล่นสวนมา ขณะเลี้ยวกลับอยู่บ้าง แต่ยังพอรับได้
กระจกมองข้าง มองเห็นรถที่แล่นตามมาทางฝั่งซ้ายชัดเจนดี ที่บริเวณเสาหลังคาคู่หน้า ทั่ง 2 ฝั่ง ออกแบบ
ให้มีมือจับ สำหรับโหนขึ้นรถ ช่วยในการเข้า – ออกจากรถได้ดีขึ้น เหมือนรถยนต์ Off Road ในยุค 1980
ทัศนวิสัย ด้านหลัง จากตำแหน่งคนขับ ในรุ่นกระบะ X-Cab มองได้โปร่งตา กะระยะถอยหลังเข้าจอดได้
ง่ายและสะดวกขึ้น จากการออกแบบตำแหน่งหัวมุมกระบะ ให้เป็นเหมือน เสากะระยะในตัว ดังนั้น ถ้า
ถอยหลัง แล้วยังชน แสดงว่า ประมาท สะเพร่ามากๆ เองแล้วละ
ส่วนรุ่น C-Cab 4 ประตู แม้จะมี กระจกบังลมหลัง ขนาดเท่ากับรุ่น X-Cab และภาพรวมถือว่าโปร่งตาดี
แต่ถ้าเพิ่มความโปร่งตา จากขอบกระจกหน้าต่าง ลมาได้อีกนิด จะลงตัว และช่วยให้เกิดความรู้สึกโปร่ง
มากขึ้นกว่านี้ได้อีก เสาหลังคาคู่หลัง C-Pillar มีขนาดกำลังดี ไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไป
********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********
แม้ว่า Colorado ใหม่ เวอร์ชันไทย จะมีเครื่องยนต์ให้เลือก 2 ขนาด แต่ก็ต้องถือว่าเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี
1972 ที่ GM ตัดสินใจ ไม่ใช้เครื่องยนต์ร่วมกันกับ Isuzu อีกต่อไป พวกเขาเลือกพัฒนาเครื่องยนต์ร่วมกับ
V.M Motori บริษัทผลิตเครื่องยนต์ชั้นนำจากอินตาลี ที่ GM ไปซื้อกิจการเข้ามาไว้ในช่วงหลายปีก่อน จน
กลายเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท GM Powertrain ในปัจจุบัน เท่ากับว่า Colorado ใหม่ ใช้เครื่องยนต์ใหม่
ของตนเอง แตกต่างจาก Isuzu D-Max เมื่อดูจากภายนอก และมันถูกผลิตที่โรงงาน GM ในระยองทั้งคู่!
เครื่องยนต์ตระกูลใหม่นี้ เรียกว่า DURAMAX เป็นขุมพลังสำหรับรถกระบะ ขนาดกลาง ขับเคลื่อนล้อหลัง
หรือ 4 ล้อ ในรุ่น 2.8 ลิตร จะใช้เครื่องยนต์รหัส XLD28 บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,776 ซีซี กระบอกสูบ
x ช่วงชัก 94 x 100 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 16.0 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยชุดรางหัวฉีด Common Rail
ของ Bosch ระบบอัดอากาศ Turbo จะเป็นแบบ “มีครีบแปรผัน” และมี Intercooler ช่วยลดความร้อนของไอดี
ก่อนส่งเข้าสู่ห้องเผาไหม้
กำลังสูงสุดมากถึง 180 แรงม้า ที่ 3,600 รอบ/นาที แต่แรงบิดสูงสุด มี 2 ระดับ หากเป็นรุ่นเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ
แรงบิดสูงสุดจะสูงถึง 440 นิวตันเมตร (44.9 กก.-ม.) ที่ 2,000 รอบ/นาที แต่ถ้าคิดว่านั้นคือที่สุดแล้ว บอกได้เลยว่า
ยังครับ ดูแรงบิดของรุ่นเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะเสียก่อน เพราะมันมากมหาศาลถึง 470 นิวตันเมตร (47.9 กก.-ม.)
ที่ 2,000 รอบ/นาที มีให้เลือกทั้งรุ่น ขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง และขับเคลื่อน 4 ล้อ
ส่วนรุ่น 2.5 ลิตร จะใช้เครื่องยนต์รหัส XLD25 บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,449 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก
92 x 94 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 16.5 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยระบบรางหัวฉีด Common Rail จาก Bosch
อัดอากาศด้วย Turbo แบบไม่มีครีบแปรผัน พ่วง Intercooler กำลังสูงสุด 150 แรงม้า (PS) ที่ 3,800 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 350 นิวตันเมตร (35.7 กก.-ม.) ที่ 2,000 รอบ/นาที มีเฉพาะ เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ เท่านั้น และ
ไม่มีเกียร์อัตโนมัติ ให้เลือกเลย มีในรุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง เป็นหลัก
ทั้ง 2 เครื่องยนต์ จะติดตั้งระบบส่งกำลัง เป็นเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน โดยจะมีการตกแต่ง
คันเกียร์ ให้แตกต่างกันนิดหน่อย หากเป็นรุ่น 2.8 ลิตร LTZ จะมีการประดับแถบโครเมียม ไว้ที่ หัวเกียร์ แต่
ถ้าเป็นรุ่น LT ก็จะใช้แถบสีเงินประดับทดแทน
อัตราทดเกียร์มีดังนี้
เกียร์ 1 ………………………..4.079
เกียร์ 2 ………………………..2.289
เกียร์ 3 ………………………..1.472
เกียร์ 4 ………………………..1.000
เกียร์ 5 ………………………..0.725
เกียร์ถอยหลัง ………………….3.795
อัตราทดเฟืองท้าย ……………..รุ่น 2.5 ลิตร อยู่ที่ 4.100 และ รุ่น 2.8 ลิตรอยู่ที่ 3.727 : 1
ส่วนเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ ถูกสงวนเอาไว้สำหรับรุ่นท็อป 2.8 ลิตร 6AT C-Cab 4 ประตู LTZ เท่านั้น
อัตราทดเกียร์ มีดังนี้
เกียร์ 1 ………………………..4.065
เกียร์ 2 ………………………..2.371
เกียร์ 3 ………………………..1.551
เกียร์ 4 ………………………..1.157
เกียร์ 5 ………………………..0.853
เกียร์ 6 ………………………..0.674
เกียร์ถอยหลัง ………………….3.200
อัตราทดเฟืองท้าย ……………..3.420
ความจริงแล้ว ผมเชื่อว่า น่าจะมีลูกค้าที่อยากได้รุ่นเครื่องยนต์ 2.5 ลิตร พร้อมเกียร์อัตโนมัติอยู่พอสมควร เป็นเรื่อง
น่าเสียดายที่ในช่วงแรก จะยังไม่มีรุ่น 2.5 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ ให้เลือก ได้แต่หวังว่า GM Thailand จะจัดให้มีรุ่นย่อย
ใหม่ที่ว่านี้ ในอนาคต ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็นเมื่อไหร่?
ในรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ ทุกคัน เป็นแบบ Part-Time ไม่ตลอดเวลา จะใช้สวิชต์วงกลม หมุนเปลี่ยนระบบ
ขับเคลื่อน ด้วยไฟฟ้า คุณต้องตั้งล้อให้ตรงเสียก่อน ไม่ว่าจะหยุดรถนิ่งๆ หรือขับขี่อยู่ด้วยความเร็ว ไม่
เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง คุณสามารถ เลือกเปลี่ยนได้เลย ไม่ว่าจะเป็นแบบ 2H สำหรับการขับขี่ปกติทั่วไป
4Hi สำหรับการขับขี่ด้วยความเร็วสูงบนพื้นถนนลื่น ที่ต้องใช้ความแม่นยำในการยึดเกาะสูง และ 4Lo
สำหรับการเอาตัวรอดจากสภาพพื้นถนนที่ทุระกันดาร
เรายังคงทดลองจับเวลา หาตัวเลขอัตราเร่ง และอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงกัน ในตอนกลางคืน โดยมีคุณกล้วย BnN
แห่ง The Coup Channel มาช่วยจับเวลาให้ผมอยู่เช่นเคย ภายใต้มาตรฐานดั้งเดิม คือ เปิดไฟหน้า เปิดแอร์ นั่ง
2 คน ผลสรุปตัวเลขออกมา ครบทั้ง 6 รุ่นย่อย และเปรีนยบเทียบ กับตัวเลขของบรรดารถกระบะรุ่นใหม่ๆ ที่เราเก็บ
ข้อมูลกันไว้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีดังต่อไปนี้
ดูจากตัวเลขแล้ว เป็นไงครับ?
รุ่น 2.5 ลิตร นั้น ไม่มีอะไรให้น่าแปลกใจ ตัวเลขจะดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของตัวรถแต่ละคัน
ล้วนๆ เป็นน้ำหนักตัวที่มาจาก การติดตั้งเพลาขับเคลื่อนล้อหน้า หรือตัวถังที่แตกต่างกัน ดังนั้น จึง
ต้องทำใจว่า ตัวเลขของ Colorado 2.5 ลิตร ไม่อาจเทียบกับบรรดาเพื่อนฝูงได้เลย แถมยังต้องปล่อย
ให้ Mazda BT-50 PRO , Mitsubishi Triton VG Turbo ทำตัวเลขนำหน้าไปนิดนึงด้วยซ้ำ ทั้งที่เจ้า
BT-50 PRO ก็มีขนาดความจุกระบอกสูบ เล็กกว่า เขาเพื่อน อีก ราวๆ 300 ซีซี โดยประมาณ
อย่างไรก็ตาม อยากตั้งข้อสังเกตว่า รุ่น X-Cab 2.5 L 5MT 4×4 Z71 LT คันสีเงินนั้น น่าจะมีสภาพ
ไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าไหร่ เพราะตัวเลขสมรรถนะที่ออกมา มันด้อยกว่าเพื่อนฝูงด้วยกันมากไปหน่อย
จริงอยู่ว่า การมีชุดเพลาขับเคลื่อนล้อหน้า ติดตั้งพ่วงเข้ามา อาจมีส่วนเพิ่มให้น้ำหนักตัว และการ
สูญเสียกำลังในระบบขับเคลื่อนเพิ่มขึ้นชัดเจน แต่ก็ไม่น่าจะหนักหนาได้ถึงขนาดทำตัวเลขห่าง
จากรุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อ ได้มากขนาดนี้
แต่พอเป็นรุ่นเครื่องยนต์ 2.8 ลิตร นั้น สถานการณ์ มันพลิกกลับกันมาสู่อีกขั้วหนึ่ง1
เมื่อเปรียบเทียบในหมู่พี่น้องร่วมตระกูลด้วยกันเอง ในช่วงออกตัว 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง รุ่น
เกียร์อัตโนมัติ 4x4x ทำเวลาได้ดีกว่ารุ่นเกียร์ธรรมดา 4×4 ชัดเจน ซึ่งก็พอจะคาดได้ว่า มาจาก
ความต่อเนื่องของการถ่ายทอดกำลัง ที่ใช้เวลาในการเปลี่ยนเกียร์สั้นกว่า แต่หากเทียบกับระบบ
ขับเคลื่อน 2 ล้อ 4×2 แล้ว จะพบว่ารถคันสีน้ำเงิน ได้ตัวเลขออกมาเท่ากัน กับรถคันสีแดง ซึ่ง
เป็นรุ่น 4×4 แต่ใช้เกียร์ธรรมดาเหมือนกัน เพราะในการทดลองของเรานั้น รุ่นขับ 4 ล้อ จะถูก
ปรับลงมาเป็นแบบ ขับ 2 ล้อหลัง เหมือนกัน เพื่อให้สภาพการขับขี่ เหมือนกันมากที่สุดเท่าที่
จะทำได้
แรงบิดสูงสุดที่มีมากถึง 470 นิวตันเมตร ในรุ่นเกียร์อัตโนมัติ ช่วยให้รถคันสีขาวตัวท็อป ขับสนุก
มากขึ้นกว่าปกติ อีกนิดหน่อย เพียงแต่ มันไม่ได้เห็นผลนัก เมื่อใช้นาฬิกามาจับเวลาหาตัวเลขกัน
แต่พอเทียบกับคู่แข่งแล้ว แม้ตัวเลขจะด้อยกว่า เครื่องยนต์ 3.2 ลิตรของ Mazda ชัดเจน แต่กลับ
ไม่ได้ทิ้งห่างกันไปมากอย่างที่คิด ตรงกันข้าม รุ่น 2.8 ลิตร สามารถทำตัวเลข ไล่บี้ ได้ใกล้เคียง
ฉิวเฉียดกว่าที่คาดไว้ด้วยซ้ำ สมรรถนะที่ได้ขนาดนี้ ถือว่า มีของดีซ่อนอยู่ในตัว แต่ต้องเรียนรู้
วิธีการดึงพละกำลังออกมาใช้ ให้ถูกจังหวะ
ส่วนในด้านความเร็วสูงสุด นั้น ในรุ่น 2.8 ลิตร ไม่ว่าจะเป็นเกียร์ธรรมดา หรืออัตโนมัติ จะเป็น
รุ่นขับเคลื่อน 2 หรือ 4 ล้อ ทั้ง 3 คันที่เราทดลองขับ จะถูกล็อกความเร็วเอาไว้ที่ 184 กิโลเมตร/ชั่วโมง
โดยเมื่อถึงความเร็วดังกล่าว มาตรวัดจะขึ้นข้อความเป็นภาษาอังกฤษว่า ล็อกความเร็วสูงสุด ไว้ที่
184 กิโลเมตร/ชั่วโมง (ตามมาตรวัด)
แต่ในรุ่น 2.5 ลิตร นั้น ไม่ว่าจะเป็นรุ่นใดก็ตาม เข็นขึ้นไปได้เต็มที่สุดแค่ในช่วงต่ำกว่ารุ่น 2.8 ลิตร
นิดหน่อย คือระดับ 174 – 177 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไม่มีทางเกินไปกว่านี้ ขนาดว่า ลองใช้ทางลาดชัน
ไหลลงเนินช่วยแล้ว ก็ยังได้ตัวเลขดีที่สุดเพียงเท่านี้ เพราะฉะนั้น หมดข้อสงสัยนะครับ
ขอย้ำว่า เราไม่สนับสนุนให้คุณไปทดลองกันเองตามลำพัง เพราะเราทำการทดลองให้คุณได้
รับทราบไว้เป็นข้อมูลแล้ว การทำความเร็วสูงสุดนั้น ถือเป็นการทำผิดกฎหมายจราจร นะครับ
เราไม่ปฏิเสธว่าเราทำผิดกฎหมาย แต่ จุดประสงค์ของเรา เป็นไปเพื่อการศึกษา ในแง่ของการ
ให้ความรู้ และเพื่อเป็นการเช็คสอบทานถึงตัวเลขที่ผู้ผลิตแจ้งไว้ ว่าตรงกับความจริงมากน้อย
แค่ไหน อย่างไร ดังนั้นโปรดอย่านำไปทดลองกันเอง เราไม่อาจรับผิดชอบต่อชีวิตของคุณได้
ในเมื่อตัวเลขอัตราเร่ง แทบไม่ต่างกัน ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่คุณจะพบว่า บุคลิกของเครื่องยนต์
ทั้ง 2 แบบ ก็จะมาในสไตล์ที่เหมือนกัน คือ ช่วงออกตัวด้วยเกียร์ 1 ก็จะสัมผัสได้ว่ามีแรงดึง พาให้รถ
พุ่งออกไปข้างหน้าในระดับกำลังดี แต่พอสับเข้าเกียร์ 2 แล้วกระแทกคันเร่ง ไม่ว่าจะเหยียบเพิ่มแค่
ครึ่งเดียว หรือเต็มมิดจนติดพื้นรถ เจ้าโด้ทุกคัน ก็จะต้องรอจนกว่ารอบเครื่องยนต์จะไต่ขึ้นไปจนถึง
แถวๆ 1,600 รอบ/นาที Turbo จึงจะเริ่มทำงานจนทำให้รถพุ่งพรวดไปอย่างฉับไว กระฉับกระเฉง
พอเข้าสู่เกียร์ 3 แรงบิดจะพอไหลมาให้ได้เรียกใช้เร่งแซงได้อย่างดี
จนล่วงเข้าสู่ช่วงปลายๆของมาตรวัดรอบ ระดับความรุนแรงของพละกำลัง ก็จะเริ่มลดน้อยถอยลง
นิดหน่อย หากเป็นรุ่น 2.5 ลิตร ก็จะมีอาการ “ปลายเริ่มเหี่ยว” ตั้งแต่หลังจาก 4,000 รอบ/นาที
ขึ้นไปแต่ในรุ่น 2.8 ลิตร อาการเดียวกัน จะเกิด หลังจากระดับ 3,750 รอบ/นาทีขึ้นไป
พอเปลี่ยนเข้าสู่เกียร์ 4 ถ้าต้องการเร่งแซง ไม่ต้องทำอะไรมากไปกว่า เหยียบคันเร่ง จะเหยียบแค่
ครึ่งเดียวหรือเหยียบจมมิดลงไปเลยก็ได้ แต่ถ้าเหยียบมิด รถจะพุ่งปรู๊ดอย่างรวดเร็ว ทันใจ และ
ทำเวลาได้สั้นกว่า เร็วกว่า ดีกว่า การสับจากเกียร์ 3 เข้าสู่เกียร์ 4 อย่างที่คุณคุ้นเคย ส่วนเกียร์ 5 นั้น
เอาไว้ขับเรื่อยๆ สบายๆ ถ้าอยากจะเร่งแซงในช่วงรอบสูงๆ ก็ยังพอได้ แต่ทำใจได้เลยว่า ต้องใช้
เวลาสักหน่อย เว้นเสียแต่ว่า ช่วงความเร็วของรถ จะไปตกอยู่ในช่วงรอบเครื่องยนต์ที่เหมาะสม
เช่นที่ 2,500 รอบ/นาที
เพียงแต่ ความแตกต่างระหว่างเครื่องยนต์ 2.5 ลิตร และ 2.8 ลิตร ของ Colorado อยู่ที่ ความว่องไว
ในการเร่งแซง ถ้าเป็นรุ่น 2.5 ลิตร ต่อให้คุณจะใช้ความพยายามแค่ไหน ถ้าเป็นรถเดิมๆ จากโรงงาน
ไม่ได้มีการปรับแต่งโมดิฟายใดๆ แล้ว ตัวเลขจะป้วนเปี้ยนไม่ค่อยลงต่ำไปกว่า 8 วินาที ยกเว้นบางรุ่น
ถ้าถามว่า แรงเพียงพอไหมกับการใช้งานในชีวิตประจำวัน ที่ไม่ได้เอาไปเร่งแข่งกับใคร แค่เก็บแรงเอาไว้
แซงรถขับช้าวิ่งขวา ในวันตื่นสาย ผมมองว่า พอจะยอมรับได้ ไม่ขี้เหร่ แต่ก็ไม่ได้ดีเด่นจนต้องมอบโล่ห์
หากมองจากแค่ตัวเลขในโบรชัวร์ แรงบิดที่มากถึง 350 นิวตันเมตร หรือ 35.7 กก.-ม. มันก็มากพอกันกับ
Hilux Vigo หรือรถกระบะบ้าพลังคันอื่นๆในท้องตลาดตลอดช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานั่นละครับ
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเลือกระบบขับเคลื่อน 2 ล้อ หรือ 4 ล้อ เครื่องยนต์ 2.5 ลิตร ของ Colorado นั้น ยังมี
ช่วงแรงบิด ที่ยังไม่ค่อยจะลงตัวพอดีสักเท่าไหร่ แทบทุกคันที่ผมขับขี่ ผมจะต้องคอยสับเปลี่ยนเกียร์บ่อยๆ
แทบตลอดเวลา เพื่อหาช่วงแรงบิดที่เหมาะสม ให้สอดคล้องกับความเร็วของรถ เท่าที่ผมต้องการในช่วงนั้น
เช่นในสภาพการจราจรติดขัด แต่พอเคลื่อนตัวได้ ตามจังหวะสัญญาณไฟ รถจะต้องไหลไปอย่างต่อเนื่อง
แล้วค่อยหยุด บางครั้ง ถ้าผมเข้าเกียร์ 2 กะว่าจะสับเปลี่ยนขึ้นเกียร์ 3 ทันที ก็ยังทำไม่ได้ ต้องเหยียบคันเร่ง
ลากรอบขึ้นไปให้ถึงแถวๆ 2,500 รอบ/นาที กันเสียก่อน จึงจะเปลี่ยนขึ้นเกียร์ 3 ซึ่งรอบเครื่องยนต์ ก็จะ
แผ่วลงมาป้วนเปี้ยนที่ระดับ พันกว่ารอบเศษๆ ซึ่งก็จะแทบไม่เหลือเรี่ยวแรงอะไร หากต้องเหยียบคันเร่ง
พารถพุ่งออกจากสถานการณ์วิกฤติ เช่น ต้องเปลี่ยนเลนในจังหวะที่มาถึงพอดี รถจะพุ่งออกไปด้วยอาการ
เหมือนคนงัวเงีย ต้องรอให้ Turbo Boost ขึ้นมาก่อน จึงจะพุ่งปรู๊ดออกไป ซึ่งบางจังหวะ ก็อาจจะสายไป
ไม่ทันการณ์ได้เหมือนกัน หากจะซื้อรุ่น 2.5 ลิตร ทั้งรุ่นขับ 2 ล้อ หรือ 4×4 อาจต้องเล็งจังหวะเวลาเร่งแซง
ก่อนเปลี่ยนเลนไปตามสภาพการจราจรติดขัดกันดีๆนิดนึงครับ
แล้วเมื่อไหร่ที่เข้าเกียร์ 5 ไปแล้ว แม้จะเหยียบคันเร่งจมมิด จน Turbo ทำงานเต็มที่ แรงดึงที่คุณจะได้รับ
จากตัวรถ มันยังไม่มากพอให้คุณสามารถแซงรถบรรทุกซุงคันข้างหน้าได้ไวอย่างที่ควรเป็น ซึ่งอาจต้อง
สับเปลี่ยนลงมาเป็นเกียร์ 4 เพื่อเรียกให้เครื่องยนต์กลับไปทำงานในรอบที่สูงขึ้น อันเป็นช่วงที่แรงบิด
จะถูกลิตออกมาสูงกว่าช่วงรอบเครื่องยนต์อื่นพอดี
แต่ถ้าคุณคิดว่า เท้าหนักแบบ ตาแพน Commander CHENG! ของเรา ประเภทที่ว่า ชอบขับรถจี้ตูดชาวบ้าน
การเร่งแซงคือชีวิตจิตใจ เป้าหมาย มีไว้พุ่งชน ผมว่า เครื่องยนต์ 2.8 ลิตร จะเหมาะกับคุณมากกว่า เพราะได้
อัตราเร่งแซงที่น่ากลัวกว่าที่คิด หากเทียบกับบรรดารถกระบะบ้านๆ เดิมๆ จากโรงงานด้วยกัน เพราะพี่แกเล่น
พุ่งพรวดอย่างกับธนูเลยทีเดียว เวลาที่เร็วกว่ากันถึง 1 วินาที น่าจะบอกคุณได้ว่า หากนำ Colorado 2.8 ไปเล่น
แร่แปรธาตุ ปรับแต่ง โมดิฟายต่อ น่าจะสาอกสาแก่ใจชาวนครปฐม ผู้นิยมซื้อหา Colorado รุ่นแรกไปปรับแต่ง
ให้แรงยิ่งขึ้นกว่าเดิมอีกมากโข ไม่ต้องไปแคร์ว่า รุ่นเกียร์ธรรมดา จะมีแรงบิดน้อยกว่าเกียร์อัตโนมัติ เพราะ
ผมมองว่า วิศวกรของ GM คิดถูกแล้ว ที่จำกัดแรงบิดสูงสุด ของรุ่นเกียร์ธรรมดาเอาไว้เพียงแค่ 440 นิวตันเมตร
เพราะในรถบางรุ่น ที่ไม่ได้ติดตั้งระบบ ESP มาให้ ผมว่า แรงบิดสูงขนาดนี้ กับยางติดรถเดิมๆ จากโรงงาน
อย่าง Bridgestone Dueler AT ที่พร้อมจะร้องเอี๊ยดเสียงหลงลั่นทุ่งได้ยินไปตั้งไกล เพียงแค่คุณเลี้ยวกลับรถ
ด้วยความเร็ว 10 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถ้าเจอพื้นถนนที่ลื่นกว่านี้ โอกาสที่รถจะหมุนปัด และก่ออันตรายกับคุณ
มีมากกว่าอย่างชัดเจน ถ้าเป็นไปได้ ควรเลือกรุ่นที่มีการติดตั้งระบบ ESP พร้อมสวิชต์ เปิด – ปิด มาให้ ดีกว่า
แม้ราคาแพงขึ้นอีกหน่อย แต่ก็ช่วยคุณผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ และพอจะช่วยให้ยังแก้สถานการณ์ฉุกเฉินได้
หากมันดันเกิดขึ้นจริงๆ
อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตอย่างหนึ่งที่ผมพบใน Colorado ใหม่ ทั้งรุ่น 2.5 และ 2.8 ลิตร คือ ถ้าคิดจะออกรถ
ด้วยเกียร์ 2 แล้วละก็ คุณอาจต้องเลี้ยงคลัชต์เยอะๆ และอาจต้องเผื่อใจไว้กับอาการกระตุกจนดับ เหตุผลนั้น
มาจาก การเซ็ตอัตราทดเกียร์และเฟืองท้าย ที่เน้นความประหยัดในช่วงรอบต่ำ จนเรี่ยวแรงหายไปพอสมควร
ในช่วงรอบเครื่องยนต์ ระดับ 1,000 – 1,500 รอบ/นาที ต้องรอจนกว่าจะถึง 1,600 – 1,700 รอบ/นาที
Turbo จึงจะค่อยๆ เริ่มมีบูสต์มาให้เรียกใช้
ส่วนรุ่น 2.8 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ ซึ่งมีแรงบิดสูงสุด มากกว่าเกียร์ธรรมดานั้น สัมผัสจากอัตราเร่ง มันก็ไม่ได้
แตกต่างไปจากสัมผัสเดียวกับที่ผมเคยพบมาแล้ว ในการทดลองขับบนรีวิวแบบ First Impression เพียงแต่
แอบสงสัยนิดหน่อยว่า ทำไมคันสีขาว ถึงได้พุ่งปรู๊ดทันใจใช้การได้เลยทีเดียว ที่สำคัญ ตัวเลขอัตราเร่งที่เรา
วัดมาได้ แสดงให้เห็นว่า เครื่องยนต์ 2.8 ลิตร บล็อกนี้ สมรรถนะพอฟัดเหวี่ยงกับเครื่องยนต์ 3.2 ลิตร ของ
Ford / Mazda ได้สบายมากๆ อย่างแทบไม่น่าเชื่อ แต่ก็ต้องเชื่อ เพราะตัวเลขฟ้องอยู่ทนโท่
แรงเอาเรื่องเหมือนกันนะจ้ะ อย่าไปล้อเล่นเข้าเขียวละ!
การเก็บเสียงในห้องโดยสาร ดูเหมือนจะไม่มีปัญหาอะไรสำหรับรุ่น Flex Cab มีแค่เสียงกระแสลมไหลผ่าน
มากขึ้นในช่วงความเร็วตั้งแต่ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป ทว่า สำหรับรุ่น 4 ประตู แล้ว หากเป็นรุ่นท็อป สีขาว
2.8 ลิตร เกียร์ 6AT 4×4 Z71 LTZ จะเริ่มมีเสียงลมหวีดเข้ามาตามขอบยางหน้าต่างด้านบนของบานประตูฝั่ง
คนขับ ที่ความเร็วระดับ 150 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป และถ้าเป็นคันสีดำ 2.5 เกียร์ธรรมดา 6MT 4×2 อาการจะ
ยิ่งรุนแรงขึ้น คือเสียงหวีดร้องจะเริ่มมาเยือน ในความเร็วแถวๆ 130 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป และเริ่มดังขึ้น
เรือยๆ จนไม่อาจจะทนฟังไหว ต้องชะลอความเร็วของรถลงมาอยุ่ในการขับขี่ ด้วยความเร็วปกติ เสียงจึงจะ
หายไปจนเกลี้ยง ส่วนเสียงเครื่องยนต์ ขณะจอดติดเครื่องเดินเบา ในเวลากลางคืนนั้น ถือว่าดังพอกันกับ
รถกระบะคันอื่นๆ ในตลาด
พวงมาลัยเป็นแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ช่วยผ่อนแรงแบบไฮโดรลิค ทุกรุ่นย่อยมีการปรับเซ็ตค่าต่างๆ
รวมทั้งอัตราทดเฟืองพวงมาลัย มาในระดับใกล้เคียงกัน ดังนั้น การตอบสนองของพวงมาลัยในรถทุกรุ่น ทุกคันที่
ผมลองขับ จึงออกมา เหมือนกัน และสามารถใช้อ้างอิงได้ในทุกรุ่นไม่ว่าจะเป็นรุ่น ขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง หรือ 4×4
ในช่วงความเร็วต่ำ ขณะขับคลานๆในเมือง พวงมาลัยมีความหนืดในระดับที่เหมาะสมใช้ได้ แอบหนืดกว่ารุ่นเดิม
เพิ่มขึ้นนิดหน่อย วงพวงมาลัยกระชับ จับถนัดมือแบบรถเก๋งรุ่นใหม่ๆ มากขึ้น Grip ดีใช้ได้ การหมุนพวงมาลัยนั้น
หากรถเคลื่อนตัวอย่างช้าๆ แรงที่คุณจะใช้หมุนพวงมาลัยนั้นไม่มากนัก แต่ใช้มือข้างเดียว ก็หมุนพวงมาลัยได้แล้ว
อาจต้องออกแรงที่ข้อมือเพิ่มจากรถเก๋งนิดนึง ถือว่ายังทำได้สบายๆ แต่ถ้าต้องหมุนพวงมาลัย ขณะรถจอดอยู่นิ่งๆ
พวงมาลัยจะค่อนข้างมีความหนืดมากแบบรถกระบะทั่วไป อาจต้องใช้สองมือช่วยกันหมุนประคองตามปกติ
ในช่วงความเร็วเดินทาง แม้ว่าพวงมาลัยจะมีความนิ่ง ในยามที่พื้นถนนเรียบสนิท และไม่มีกระแสลมมาปะทะ
ด้านข้างหนักๆ แต่ความแม่นยำในการเลี้ยวเข้าโค้ง ก็จะมาในแนวเดียวกับ รถยนต์ประเภท SUV ที่สร้างขึ้นบน
พื้นฐานของรถกระบะ (PPV) รุ่นก่อนๆ มากกว่่า
ถ้าวัดกันที่ความไว เฉียบคมในการหักเลี้ยว และตอบสนองต่อผู้ขับขี่ ประเด็นนี้ Nissan Navara Mazda BT-50
PRO ใหม่ รวมทั้ง Ford Ranger ใหม่ จะทำได้ดีกว่า Colorado นิดหน่อย แต่ไม่ได้แตกต่างกันถึงขั้นมากนัก
ภาพรวมแล้ว ถือว่าเป็นพวงมาลัยที่ถูกปรับแต่งมาเพื่อเอาใจคนชอบขับรถเป็นหลัก มีระยะฟรีพอเหมาะพอควร
แต่คุณสุภาพสตรีบางคนอาจต้อง ออกแรงบ้าง ด้วยความรู้สึกว่า มันหนืดและหนักไปสักหน่อย
อย่างไรก็ตาม รุ่น 4 ประตู 2.5 ลิตร เกียร์ธรรมดา 4×2 Z71 LT คันสีดำ ผมตั้งข้อสังเกตว่า พวงมาลัยยังไม่อาจจะ
ถือบังคับให้นิ่งได้ ขณะใช้ความเร็วสูง ระยะฟรีเฉพาะรถคันนี้ เหมือนจะมีมากกว่าคันอื่นๆอยู่เล็กน้อย ทำให้
ต้องใช้สมาธิในการควบคุมมากกว่า คันอื่นๆอย่างชัดเจน
ระบบกันสะเทือนหน้าแบบอิสระปีกนก 2 ชั้น ด้านหลัง เป็นแหนบ ในรุ่นที่เราลองขับนั้น จะใช้แหนบ 3 ชั้น
( Leaf Spring) รูปครื่งวงรีใช้วัสดุทำด้วยเหล็กกล้า พร้อมโช้กอัพแก็ส จาก Thyssen การตอบสนองในภาพรวม
แม้จะลดทอนความนิ่มนวลลงมา แต่กลายเป็นความนุ่มแน่นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะระบบกันสะเทือนหน้า ที่
ปรับแต่งมาได้ลงตัวพอดี คือทั้งนุ่มนิดนึง แน่นเยอะหน่อย และหนึบกำลังเหมาะ ส่วนการปรับเซ็ตตับแหนบ
ทั้ง 4 แผ่นด้านหลัง พยายามจะให้มีการซับแรงสะเทือนมากที่สุดเท่าที่ทำได้ แต่ก็ยังแอบแข็งอยู่ดี เพราะจำเป็น
ต้องรองรับงานบรรทุก เผื่อเอาไว้ด้วย
ยังไง๊ยังไง ก็ยังเป็นระบบกันสะเทือนที่สะท้อนบุคลิกของรถกระบะอยู่ดี
ขณะขับไปตามตรอก ซอกซอย ต่างๆ Colorado จะมีการกระเทือนอยู่บ้าง ขึ้นอยู่กับรูปแบบของพื้นผิวถนน
ลูกระนาด และหลุมบ่อต่างๆ อาการของล้อ จะถูกส่งขึ้นมาให้ผู้ขับขี่ และผู้โดยสารรับรู้ ว่า ระบบกันสะเทือน
ได้ช่วยดูดซับแรงกระแทกต่างๆไว้ให้ระดับหนึ่งแล้ว ที่เหลือ ท่านก็ต้องช่วยรับทราบไปด้วยว่ากำลังขับผ่าน
ทางขรุขระอยู่
ขณะใช้ความเร็วปกติ บนทางด่วน Colorado ทุกคันที่ผมขับ สามารถพาผมเข้าโค้งได้อย่างมั่นใจ นิ่งๆ เนียนๆ
ไม่มีอาการอะไรให้น่าเป็นห่วงมากนัก แม้ว่าในบางโค้ง บางช่วง (เช่นทางโค้งขวา จากพระราม 9 มุ่งหน้าไป
ยังทางลงดินแดง เป็นโค้งยาวๆ ไหลลงต่อเนื่อง) ผมจะเลี้ยงคันเร่งไว้ที่ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็ตาม ถือว่า
ทำได้แบบไม่คิดมาก่อน ส่วนทางโค้งขวา ช่วงเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ ผมใช้ความเร็วได้ 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง
แต่ยาง Bridgestone Dueler H/T ก็แทบจะปลิ้นออกมานอกขอบประทะล้อแล้ว ทำได้ระดับนี้ถือว่า เก่งมากแล้ว
การซับแรงสะเทือนของ Colorado นั้น ทำได้ดีกว่า Ford Ranger ใหม่ 2.2 6AT อย่างชัดเจน แบบไม่ต้องสืบ
เพราะรายนั้น มีอาการสะเทือน เต้นไปตามพื้นถนนครบทุกลูกทุกเม็ดชนิดไม่เว้นช่วงให้กระเพาะอาหารได้
พักการแดนซ์กระจายกันเลย
แต่แน่นอนว่า ภาพรวมของช่วงล่างนั้น ยังถือว่า ด้อยกว่า Mazda BT-50 PRO อย่างชัดเจน และเหนือกว่า
Ford Ranger ใหม่ แค่ว่า นุ่มกว่ากันนิดหน่อยเท่านั้น และถึงช่วงล่างจะดีแค่ไหน แต่สำหรับ Colorado แล้ว
หากขับขี่ทางไกล ขอให้หลีกเลี่ยงการหักหลบสิ่งกีดขวาง หรือจักรยานยนต์ รถสิบล้อ หรือพวกชอบเลี้ยวกลับรถ
ตัดหน้าชาวบ้าน กระทันหันเป็นกิจวัตร ถ้าไม่จำเป็น เพราะมีโอกาสอยู่บ้างเหมือนกัน ที่รถอาจเสียหลักได้
ถ้าคุณเผลอหักพวงมาลัยมากเกินไป (และนั่นทำให้ต้องมีการเซ็ตอัตราทด และระยะฟรีของพวงมาลัยให้
เหมาะสมในรถกระบะ เพื่อไม่ให้พวงมาลัยไวเกินไป)
ระบบห้ามล้อยังคงเป็นแบบมาตรฐานของรถกระบะทั่วไป คือด้านหน้าเป็นดิสก์เบรก แบบมีรูระบายความร้อน โดย
รุ่นเตี้ยมาตรฐาน จานเบรกจะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 280 มิลลิเมตร แต่ถ้ารุ่น ยกสูง ทั้ง 4×2 และ 4×4 จะมีเส้นผ่า
ศูนย์กลาง 300 มิลลิเมตร ส่วนคู่หลัง ยังคงเป็น ดรัมเบรก เส้นผ่าศูนย์กลาง 295 มิลลิเมตร ในรุ่น LTZ จะติดตั้ง
ระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-Lock Braking System) ระบบกระจายแรงเบรก EBD (Electronics Brake
Force Distribution) มาให้
นอกจากนี้ ในรุ่น LTZ ยังมีการติดตั้งระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว ESP (Electronic Stability Program)
ทำงานร่วมกับ ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีขณะออกรถ TCS (Traction Control System) ซึ่งรับข้อมูลการเคลื่อนที่
ของรถกับองศาการหมุนของพวงมาลัย ผ่านเซนเซอร์ของระบบซึ่งติดตั้งที่ล้อ มายังสมองกลของระบบ ช่วยวิเคราะห์
และประเมิน หากเกิดการเสียสมดุล เช่นล้อหมุนฟรี หรือ ว่า เข้าโค้งเร็วเกินไปจนบั้นท้ายรถเริ่มจะลื่นไถล ปัดออก
ไปทางด้านข้าง หรือ Oversteer มากไป ระบบ ESP จะเพิ่มแรงเบรกในแต่ละล้อ พร้อมทั้งลดกำลังเครื่องยนต์
เพื่อช่วยผู้ขับขี่ ดึงและควบคุมให้รถกลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
นอกจากนี้ยังมีการติดตั้ง ระบบเพิ่มแรงเบรกฉุกเฉิน PBA (Panic Brake Assist) โดยระบบจะตรวจจับจาก
น้ำหนักการกดเท้าลงที่แป้นเบรกและจะช่วยเพิ่มกำลังและสั่งการให้ระบบ ABS ทำงานเร็วขึ้น อันจะช่วย
ลดระยะในการหยุดรถให้สั้นลงเมื่อเปรียบเทียบกับรถที่มีระบบเบรก ABS แต่ไม่มีระบบ PBA รวมทั้งระบบ
เพิ่มแรงดันน้ำมันเบรกในภาวะฉุกเฉิน HBA (Hydraulic Brake Assist) ทำงานเมื่อผู้ขับขี่ลงน้ำหนักเท้าไปที่
แป้นเบรกอย่างรุนแรงขณะเบรกกะทันหัน และระบบชดเชยแรงดันน้ำมันเบรก – HBFA (Hydraulic Brake
Fade Assist) ทำงานโดยอัตโนมัติเมื่อผู้ขับขี่ทำการย้ำเบรกขณะเบรกกะทันหัน ทั้ง 3 ระบบนี้ ติดตั้งให้กับ
Colorado ทุกตัวถัง ตั้งแต่ระดับการตกแต่ง LT และ LTZ โดยจะไม่มีในรุ่น LS
และเฉพาะรุ่น 2.8 LTZ ทั้ง X-Cab กับ C-Cab จะเพิ่มระบบสร้างสมดุลขณะเบรกในโค้ง CBC (Cornering
Brake Control) โดยระบบจะควบคุมแรงดันเบรกและลงน้ำหนักในการเบรกไปยังล้อทั้งสี่อย่างอิสระจากกัน
อย่างเหมาะสม ซึ่งแรงดันและน้ำหนักในการเบรกในแต่ละล้ออาจแตกต่างกัน เพื่อช่วยสร้างสมดุลและการ
ทรงตัว และลดอาการท้ายปัด (Oversteer) หรือดื้อโค้ง (Understeer) (เฉพาะรุ่น LTZ)
ภาพรวมของระบบเบรกใน Colorado นั้น ถือว่า ทำได้ดีมาก และมั่นใจใช้ได้เลยทีเดียว แป้นเบรก Linear มากๆ
ต้องการให้รถชะลอลงแค่ไหน ก็เหยียบเบรกไปเพียงแค่นั้น ระยะชะลอความเร็วทั้งในช่วงการขับขี่แบบคลานๆ
บนสภาพการจราจรติดขัด ยังทำได้อย่างนุ่มนวล ไม่มีที่ติ และหน่วงความเร็วจากระดับ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ลด
ลงมาได้ดี นิ่ง และเสถียร ถ้าไม่ได้เหยียบเบรกกระทันหันอะไรมากนัก หน่วงความเร็วลงมาได้ค่อนข้างไว และ
ไม่ต้องลุ้นระทึกมากมาย ถือว่าทำงานได้ดีมาก เมื่อเทียบกับระบบเบรกของรถกระบะทั่วไปในตลาดเมืองไทย
ยืนยันได้ว่า การตอบสนองของแป้นเบรกนั้น ให้ความนุ่มนวลแต่หนักแน่น กำลังดี ทำได้ดีกว่า BT-50 PRO
รวมทั้ง Ford Ranger และบรรดา รถกระบะ ส่วนใหญ่ในตลาด
ระบบกันสะเทือน ระบบเบรก และงานวิศวกรรมต่างๆ ของ Colorado ใหม่ ถูกติดตั้งเข้ากับ โครงสร้างเฟรมแชสซีส์
ที่ได้รับการคำนวณโครงสร้างมาเป็นอย่างดีให้ทนแรงบิดตัวได้ดีขึ้นกว่าเดิม พร้อมด้วยคานขวางเสริมแรงถึง 8 จุด
“8 Cross members” (ในรุ่น 4×4 ) และคานขวางเสริมแรง 7 จุด “7 Cross members” (ในรุ่น 4×2 )
มีคานกันชนหน้าเสริมมาให้ เพื่อช่วยลดความเสียหายจากการชนในความเร็วต่ำ อีกทั้งยังมีการใช้เทคโนโลยีพัฒนา
พื้นผิวตัวรถอย่างพิถีพิถันเพื่อความทนทาน ตลอดจนการประกอบที่เน้นให้ช่องว่างของชิ้นส่วนตัวถังแคบลงกว่าเดิม
ลดเสียงรบกวนในห้องโดยสาร อย่างไรก็ตาม ฝากระโปรงหน้า มีน้ำหนักมากเหลือเกิน การเปิด-ปิด อาจต้องใช้
ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษนะครับ ขอเตือนว่า ไม่ควรให้เด็กชั้นต่ำกว่ามัธยม 3 เปิด-ปิดฝากระโปรงเองเด็ดขาด!
********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********
หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้ในการทำบทความรีวิวรถกระบะ และต้องทำการทดลองจนกว่า
จะกระจ่างแจ้ง นั่นคือ “ความประหยัดน้ำมัน” มันเป็นคำถามสุดคลาสสิกที่เราท่านถ้วนทั่ว มักได้ยินเสมอ
เวลามีใครมาสอบถามว่าจะซื้อรถกระบะรุ่นไหนดี อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมักเป็นประเด็นแรกที่ร้อยละ 95
ของผู้คน มักให้ความสนใจ
ในเมื่อ ยืมรถมาทำรีวิว มากถึง 6 รุ่นย่อย แบ่งตามรูปแบบระบบขับเคลื่อนและระบบส่งกำลัง ดังนั้น เพื่อให้
ได้รู้แจ้งเห็นจริงกันไป โดยปราศจากข้อสงสัยอื่นใดตามมา ผมก็ต้องจับทั้ง 6 คันนี้ มาทำการทดลองหาอัตรา
สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย ให้ครบทุกคันนั่นละครับ
เราทำการทดลองกันตามมาตรฐานเดิม เพียงแต่ว่า สำหรับรถกระบะแล้ว นับจากนี้ เราจะเปลี่ยนจากเดิม
ซึ่งเคยใช้บริการกับ Shell เพื่อความสะดวก และคุณภาพน้ำมันก็ไม่ได้ด้อยไปกว่ากันมากนัก ผมจึงเลืก
เปลี่ยนมาเติมน้ำมัน Techron Diesel ที่ สถานีบริการของ Caltex พหลโยธิน ใกล้สถานีรถไฟฟ้า BTS
อารีย์ แทน เพื่อควบคุมให้ระยะทาง กับเส้นทางการขับขี่ ให้เหมือนกันทั้งรถยนต์เบนซิน และ Diesel
เมื่อไหร่ที่ผมจะต้องทำรีวิวรถกระบะ เมื่อนั้น ผมรู้ตัวเลยว่า ต้องฟิตร่างกายมามากกว่าปกติ เพราะเราต้อง
มาขย่ม โขยก และเขย่ารถกัน ในเมื่อเราต้องทำทุกอย่างให้เหมือนกันทั้งหมด 6 คัน ก็ต้องมีผู้ร่วมชะตากรรม
อย่างในภาพที่เห็น ทั้งตาถัง เพื่อนเก่าแก่ ที่กลายเป็นนักบินไปแล้ว แต่ยังว่างอยู่ ตาโจ๊ก V10ThLnD กับน้อง
ต๊อบ Philozophy ในทีม The Coup ของเรา ตา Fluke คนนี้เป็นรุ่นน้องของผม พอดีที่บ้านจะซื้อรถกระบะ
เลยขอมาร่วมทดลองด้วย แถมยังมี เจ้ากอล์ฟ และ เจ้าโต้ ที่ประจำการ ณ สถานีบริการน้ำมัน Caltex แห่งนั้น
เราเติมน้ำมัน ไปพร้อมๆกับการเขย่า โขยก ขย่มรถ คันละไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมง ต่อการเติม 1 ครั้ง เฉลี่ยแล้ว
6 คัน เราใช้เวลาเติมน้ำมันราวๆ 6 ชั่วโมง กันเลยทีเดียว เพื่อกรอกน้ำมันลงไปให้เต็มถังจนล้นเอ่อขึ้นมา
ถึงปากคอถังอย่างนี้ และเติมใหมั่นใจว่า จะไม่เหลืออากาศอยู่ในถังเลยจริงๆ
เมื่อเสร็จแล้ว เราก็ขึ้นนั่งประจำที่ คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ Set 0 บน Trip Meter แล้วออกรถ ไป
เลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน มุ่งหน้าไปเลี้ยวซ้าย เข้าซอยอารีย์ ลัดเลาะจนออกปากซอย โรงเรียนเรวดี
เข้าสู่ถนนพระราม 6 เลี้ยวขวาขึ้นทางด่วน อุดรรัถยา ขับตรงไปยังปลายทาง ณ ด่านบางปะอิน เลี้ยวกลับ
ย้อนมาขึ้นทางด่วนฝั่งตรงข้าม ขับกลับมาตามเส้นทางเดิม ด้วยมาตรฐานเดิม คือ ความเร็ว 110 กิโลเมตร/
ชั่วโมง เปิดแอร์ พัดลมแอร์เบอร์ 1 และนั่ง 2 คน
พอลงทางด่วนที่ด่านอนุเสาวรีบย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย กลับเข้าสู่ถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับที่หน้าโชว์รูม
เบนซ์ ราชครู เลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex เติมน้ำมัน Techron Diesel ณ หัวจ่ายเดิม เหมือนช่วง
การเติมครั้งแรก ของทุกคัน
แล้วเราก็ต้องมานั่งเขย่า โขยก ขย่มรถ กันอีกจนกระทั่ง น้ำมันเต็มล้นเอ่อ แน่นขึ้นมาถึงปากคอถังเช่นนี้
ถือว่า เราได้ควบคุมตัวแปรต่างๆเท่าที่พอจะทำได้กันแล้ว
ได้เวลามาดูตัวเลขจากการเติมน้ำมันของรถกระบะทั้ง 6 คันกันละครับ
เริ่มจากคันแรก 4 ประตู 2.8 L 6AT 4×4 Z71 LTZ ตัวท็อป สีขาว
ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมดบนมาตรวัด 94.2 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 7.91 ลิตร
หารออกมา ได้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 11.90 กิโลเมตร/ลิตร
คันต่อมา X-Cab 2.8 L 5MT 4×4 Z71 LTZ ตัวท็อป สีแดง
ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมดบนมาตรวัด 94.2 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 7.65 ลิตร
หารออกมา ได้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 12.35 กิโลเมตร/ลิตร
ถัดไป เป็นรุ่น X-Cab 2.8 L 5MT 4×2 Z71 LTZ ตัวท็อป สีน้ำเงิน
ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมดบนมาตรวัด 94.5 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 7.38 ลิตร
หารออกมา ได้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 12.80 กิโลเมตร/ลิตร
ตามด้วยรุ่น 4 ประตู 2.5 L 5MT 4×2 Z71 LT สีดำ
ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมดบนมาตรวัด 94.5 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 7.96 ลิตร
หารออกมา ได้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 11.87 กิโลเมตร/ลิตร
ทีนี้ก็มาถึงรุ่นที่คาดว่าจะทำยอดขายได้กลางๆ คือ X-Cab 2.5 L 5MT 4×4 Z71 LT สีเงิน
ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมดบนมาตรวัด 94.5 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 8.28 ลิตร
หารออกมา ได้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 11.41 กิโลเมตร/ลิตร
และสุดท้าย รุ่นที่น่าจะทำยอดขายได้เยอะ X-Cab 2.5 L 5MT 4×2 Z71 LT สีเงิน
ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมดบนมาตรวัด 94.6 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 7.13 ลิตร
หารออกมา ได้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 13.26 กิโลเมตร/ลิตร
เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงออกมาแล้ว พบว่าในภาพรวม Colorado ใหม่ ทำตัวเลข
ออกมาได้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของตลาดกลุ่มนี้ คุณต้องไม่ลืมว่า รถที่เราทดลองขับทุกคัน เป็นรุ่นยกสูง
ทั้งหมด ซึ่งจะต้านลม กว่ารุ่นตัวเตี้ย อยู่แล้วตามธรรมชาติ ดังนั้น ตัวเลขจึงไม่อาจเทียบได้กับ Vigo รุ่น
2.5 IC มาตรฐาน และ Triton 2.5 ลิตร 116 แรงม้า ซึ่งเซ็ตมาเพื่อเน้นความประหยัดน้ำมันเป็นหลัก เพราะ
รุ่นย่อยทั้ง 2-3 รุ่นนี้ เรี่ยวแรงหายไปเยอะ
อย่างไรก็ตาม หากเทียบเฉพาะรุ่นที่ทำตลาดอยู่ในทุกวันนี้ ไม่นับ BT-50 รุ่นก่อนหน้า เท่ากับว่า รุ่น X-Cab
2.5 L 5MT 4×2 Z71 LT คันสีเงิน ซึ่งเป็นรุ่นที่มีค่าตัวถูกสุดในขบวน Colorado ทั้ง 6 คันที่เรานำมาทำรีวิว
ให้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 13.2 กิโลเมตร/ลิตร ดีที่สุดในกลุ่ม ตามด้วย Triton 2.5 VG Turbo เกียร์ 4AT
13.01 กิโลเมตร/ลิตร ที่เหลือ อยู่ในระดับ 11 ปลายๆ – 12 ปลาย กิโลเมตร/ลิตร ตามแต่ละรุ่นย่อย ใช้น้ำมัน
ในการทดลอง คันละราวๆ 7 ลิตรกลางๆ ค่อนปลาย / 100 กิโลเมตร มีโผล่เกิน 8 ลิตร ไปแค่คันเดียว ในรุ่น
X-Cab 2.5 L 5MT 4×4 Z71 LT คันสีเงิน ที่ดูเหมือนจะมีสภาพไม่ค่อยสมบูรณ์นักเมื่อเทียบกับรถอีก 5 คัน
น้ำมัน 1 ถัง แล่นจะพา Colorado แล่นไปได้กี่กิโลเมตร คำตอบก็คือ จากในช่วงคืนรถ บางคันนั้น น้ำมัน
หล่นลงมาแค่ครึ่งถัง แล่นไป 590 กิโลเมตร แต่ในรุ่นท็อป น้ำมันเหลือ 1 ใน 4 ของ ถัง แต่ตัวเลขบอกว่า
แล่นมาแล้ว 693.5 กิโลเมตร ดังนั้น ถังน้ำมันขนาด 76 ลิตร น่าจะพาคุณเดินทางได้ไกลกว่า 700 กิโลเมตร
อย่างแน่นอน และจะเป็นเช่นนี้กันทุกรุ่นย่อย ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพการจราจร สภาพแวดล้อม และ
นิสัยการขับขี่ของคุณด้วย
********** การบำรุงรักษา ในช่วงระยะรับประกันคุณภาพ **********
GM Thailand ยินยันว่าจะรับประกันคุณภาพ ของ Colorado ใหม่ นาน 3 ปี 100,000 กิโลเมตร แล้วแต่ว่า
กรณีใดจะถึงก่อน เหมือนเช่น รถกระบะค่ายอื่นๆในตลาดตอนนี้ แต่จะมีค่าบำรุงรักษาตลอดระยะเวลา
3 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร อยู่ที่ ไม่เกิน 19,900 บาท
เหตุผลที่สามารถระบุตัวเลขแน่ชัดได้อย่างนี้ เพราะ GM บอกว่า ได้ยืดอายุการเข้ารับบริการ ตามโชว์รูม
จากเดิม ทุก 10,000 กิโลเมตร เป็น 20,000 กิโลเมตร เพื่อให้ลูกค้าไม่ต้องเข้าศูนย์บริการบ่อยครั้งโดย
ไม่จำเป็น เท่ากับว่า ตลอดการรับประกันคุณภาพ ลูกค้าจะเข้าศูนย์บริการแค่ 5 ครั้ง หลังจากหมดอายุ
การรับประกัน ก็ขึ้นอยู่กับลูกค้าแล้วละว่า จะยังเข้าศูนย์ฯ ต่อ หรือจะซ่อมกันเองกับอู่ข้างนอก
รายการอะไหล่ที่ต้องเปลี่ยนทุก 20,000 กิโลเมตร มีแค่ 3 รายการ คือ น้ำมันเครื่อง GM Tech Dexos 2
ปะเก็นน็อตน้ำมันเครื่อง และ ไส้กรองน้ำมันเครื่อง
รายการอะไหล่ที่ต้องเปลี่ยนทุก 40,000 กิโลเมตร มีทั้ง ไส้กรองอากาศ น้ำมันเบรก รวมทั้ง ซีลและ
จารบีลูกปืนล้อคู่หน้า และน้ำมันเกียร์ธรรมดา ส่วนไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิง เปลี่ยนทิ้งที่ระยะทาง
50,000 กิโลเมตร
********** สรุป **********
ประสบการณ์ 100 ปี ทำรถออกมาได้ดีขึ้นกว่าเดิมก็จริง…แต่อาจยังดีไม่พอ เมื่อเทียบกับคู่แข่ง?
ในฐานะของผู้ที่รับรู้ความเคลื่อนไหวของโครงการ GMI700 หรือรถกระบะ Colorado รุ่นใหม่มาโดยตลอด
ผมเชื่อว่า ทุกๆคนที่มีส่วนร่วมในโครงการนี้ ต่างต้องพบอุปสรรค และปัญหามากมาย เหนื่อยยากสาหัสแสน
ลำบากลำบน อดทนทำงานอย่างหนัก เพื่อให้ Colorado ใหม่ คลอดออกสู่ตลาดได้อย่างสวยงาม ณ วันนี้ มาก
เหนือเกินกว่าที่หลายๆคน เคยพบประสบมากับโครงการของ GM Thailand ก่อนหน้านี้ทั้งหมด มันเป็น
รถกระบะ ที่ถกจับรวมเข้าไว้ให้เป็นรถยนต์รุ่นสำคัญ เพื่อการบุกตลาดทั่วโลกของ GM ผ่านแบรนด์หลัก
อย่าง Chevrolet (หรือบางตลาด เช่น Australia กับ New Zealand อาจใช้ชื่อว่า Holden)
แต่สำหรับเมืองไทยแล้ว อย่างที่ได้กล่าวไว้ช่วงต้นบทความนี้ว่า กว่า 7 ปีในตลาดรถกระบะบ้านเราอันสนุกสนาน
GM ต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญ 3 ประการ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ในการก้าวข้ามอุปสรรคนี้ไปให้ได้
ประการแรก : ทำอย่างไรให้ ลูกค้าเห็นความแตกต่างของ Colorado ออกจาก Isuzu D-Max ฝาแฝดร่วมแชสซี
จากพันธมิตรเก่าแก่ ฝ่ายญี่ปุ่น
ประการต่อมา : ความน่าซื้อหาของตัวรถ ที่้ต้องโดดเด่นกว่าคู่แข่ง ทั้งการโดยสารแบบรถเก๋ง แต่ต้องบรรทุกไหว
รับงานหนักได้โหดตามสไตล์การใช้งานของคนไทย และอีกหลายประเทศทั่วโลก เอาไปปรับปรุง โมดิฟายต่อ
ตามความต้องการของแต่ละคนได้สะดวก
ประการสุดท้าย : ทำอย่างไรให้ลูกค้าคนไทย พึงพอใจในบริการหลังการขาย เพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาอะไหล่ ต้อง
ถูกลง และไม่แพง อย่างที่คิด
คำถามก็คือ หากจะต้องให้ผม ประเมิน Colorado ในวันนี้ ผลลัพธ์จะออกมาในรูปแบบไหน? ภารกิจของทีมงาน
GM Thailand ทีต้องทำงานกับ ทีมของ GM Brazil และ Detroit ถือได้ว่า บรรลุเป้าหมายทั้ง 3 ประการนั้นแล้ว
หรือยัง?
สำหรับ 2 ประเด็นแรกนั้น GM พยายามทำการบ้านอย่างหนัก เพื่อสร้างความแตกต่างของ Colorado
ออกจาก Isuzu D-Max ในสายตาลูกค้าให้ได้ ด้วยการทำรถออกมาให้มีคุณสมบัติเหนือยิ่งขึ้นไปกว่า
รถรุ่นเดิม และคู่แข่งในแทบจะทุกด้าน ตั้งแต่งานออกแบบภายนอกที่บึกบึนแต่มีมัดกล้ามที่ดูสวยงาม
ไปจนถึงภายในห้องโดยสาร ที่ทันสมัย และดูล้ำยุคสมัยอยู่นิดๆ ไปจนถึง การตัดสินใจ สั่งประกาศิต
ให้ทีมวิศวกรของ GM พัฒนาเครื่องยนต์ 2.5 ลแะ 2.8 ลิตร Duramax ให้กับ Colorado เพื่อให้รถรุ่นนี้
มีเครื่องยนต์ใหม่เป็นของตัวเอง
ทั้งงานออกแบบภายนอก ภายใน กับขุมพลัง ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนมากขึ้น ระหว่าง Colorado กับ
D-Max ใหม่ช่วยเพิ่มการยอมรับของผู้บริโภคในเมืองไทยมากขึ้น ในระยะเวลาไม่นานเลย สั้นมาก!
ไม่ต้องอื่นไกล ขณะที่ผมกำลังนำรถคันสีแดง ไปจอดถ่ายแบบ แถวๆ สนามบินสุวรรณภูมิ เจ้าหน้าที่ของ
การท่าอากาศยาน มาเตือนผมว่า นี่เป็นเขตของการท่า เขาห้ามถ่ายรูป…แต่สุดท้าย เขาก็บอกว่า Chevy ใหม่
รุ่นนี้สวยมากๆเลยนะ! กินน้ำมันเท่าไหร่? แรงไหม? ราคาเท่าไหร่?
ต่อมา วันที่ผมนำรถคันสีน้ำเงินไปถ่ายรูปกลางแจ้ง มีพ่อค้าผัก ขับ กระบะ D-Max รุ่นเก่า พุ่งเข้ามาหาผม
อย่างรวดเร็ว แล้วจอดรถ ถึงขั้นเปิดประตูรถลงมาดู !!! แล้วปล่อยภรรเมีย นั่งมองรถใหม่ตาละห้อยอยู่ใน
รถของตัวเอง! พ่อค้าปลาหนุ่มวัยราวๆ 30 กลางๆ 40 ต้นๆ ถามไถ่ สเป็กเครื่องยนต์ ด้วยความสนใจ เขาเอง
รู้ดีว่า นี่เป็นเครื่องยนต์ ของ Chevrolet เอง ไม่ได้เป็นเครื่องยนต์ของ Isuzu อีกต่อไปแล้ว
วันรุ่งขึ้น ผมนำรถคันเดิมไปถ่ายรูปที่บางปู เจอพ่อค้าปลา พุงพลุ้ย มากับเพื่อนร่วมงาน 2 คน ขับ Hilux
Vigo ป้ายแดง สีเงิน ทำช่วงล่างแล้ว มาจอด แล้วลงมาขอดูรถ ตอนแรก ผมก็นึกเสียวอยู่ ว่าจะเข้ามา
หาเรื่องอะไรกับผมหรือเปล่า แต่เพราะงานออกแบบของรถนั่นแหละ ที่เรียกให้ทั้งคู่ จอดรถลงมาดู
ถามไถ่สเป็กเหมือนคนก่อนเปี๊ยบ และก็รู้อีกด้วยว่า เครื่องเป็นของ Chevrolet เอง ไม่ใช่ Isuzu แถม
เจ้าตัวยังเล่าไว้ว่า รอให้รุ่น Single Cab ออกสู่ตลาดเสียก่อน แล้วค่อยซื้อมาใช้งานอีกสักคัน!
ต้องยอมรับเลยครับว่า งานออกแบบทั้งภายนอก และภายใน นั้น ทำให้เจ้า Colorado ใหม่ กลายเป็น
แม่เหล็กติดล้อ ขนาดย่อมๆ ดึงดูดความสนใจจากผู้คน ได้ดี ภาพลักษณ์ของรถ กลายเป็น รถกระบะกึ่งๆ
Premium ไปแล้ว ราวกับว่า ใครใช้ Colorado นี่ รสนิยมไม่ธรรมดา ติดหรูนิดๆ แต่เน้นบรรทุกพอฟัด
พอเหวี่ยงกับชาวบ้านเขา
ถือได้ว่า บรรลุผลมากขึ้น อาจต้องใช้เวลาอีกสักระยะ ความเข้าใจของผู้บริโภค น่าจะเริ่ม เป็นไปใน
แนวทางที่ GM คาดหวังจะให้เป็น
จุดเด่นของ Colorado นั้น อยู่ที่การนำความต้องการของผู้ใช้รถกระบะในบ้านเรา และจากทั่วโลกมา
ประยุกต์ โขยกๆ เขย่าๆ ผสมคลุกเคล้า เข้าด้วยกัน จนออกมาเป็นรถที่มีบุคลิกอยู่ตรงกลาง ค่อนไป
ในแนวกึ่งหรูนิดๆ แต่ยังมีเครื่องยนต์ 2.8 ลิตร ที่แรงใช้ได้ น่านับถือ เมื่อต้องมาเทียบชั้นกับบรรดา
รถกระบะขุมพลัง 3.2 ลิตรรุ่นใหม่ๆ ทั้ง Ford Ranger และ Mazda BT-50 PRO ลองคิดดูว่า ถ้า
GM มีเครื่อง 2.8 ลิตร ที่ให้พละะกำลังน้อยกว่า แต่ ดันทำตัวเลขออกมาได้ใกล้เคียงรถที่ใช้เครื่องยนต์
200 แรงม้า แบบเคียงบ่าเคียงไหล่กันเลยเนี่ย มันก็ไม่ธรรมดาอยู่หรอกนะ
ระบบกันสะเทือน ถือว่า แม้จะให้ความนุ่มนวลอย่างไรก็ตาม กระนั้น ก็ยังมีความเป็นรถกระบะอยู่
ครบ ใครที่ชอบรถกระบะที่แข็งนิดๆ แต่นุ่มพอประมาณ ไม่นุ่มจนนิ่มย้วย ช่วงล่างสาดเข้าโค้ง
ได้ เอาอยู่ (ถ้าเปลี่ยนยางให้เหมาะกว่านี้) น้ำหนักพวงมาลัย หนืด แต่หนักแน่น แถมมีระบบเบรก
ที่นุ่มนวล แต่ไว้ใจได้ หน่วงความเร็วได้ดี เป็นอันดับต้นๆของรถกระบะในตลาดบ้านเรา พร้อมกับ
ทางเลือกรุ่นย่อยที่มากมายตั้ง 26 รุ่นย่อย เลือกกันให้ตาแฉะไปข้างนึงเลย นั่นละ ข้อดีทั้งหมด
ที่ผมพอจะนึกออก เมื่อต้องให้พูดถึง Colorado ใหม่
แล้วจุดที่ต้องปรับปรุงละ?
เรารู้ดีว่า GM พยายามจะศึกษาความต้องการของผู้ใช้รถกระบะในเมืองไทยมาอย่างหนัก และละเอียด
มากพอสมควร กว่าที่จะออกมาเป็น Colorado ใหม่ ได้
อย่างไรก็ตาม ออกจะเป็นโชคร้ายของ GM อยู่สักหน่อย ที่ ต้องเปิดตัว Colorado ใหม่ ในช่วงจังหวะ
เดียวกันกับคู่แข่ง ซึ่งกำลังเปิดตัวรถกระบะรุ่นใหม่ของพวกเขาทั้ง Isuzu D-Max , Ford Ranger และ
Mazda BT-50 PRO แทบจะพร้อมๆกัน ดังนั้น เวทีนี้ ผู้บริโภค จึงแฮปปี้ เพราะได้เปรียบยิ่งกว่าใคร
และนั่นก็ทำให้เราได้เห็นถึงสิ่งที่ GM ยังสามารถปรับปรุง Colorado ให้ดีขึ้นกว่านี้ได้อีก
ข้อแรกคือพละกำลังของเครื่องยนต์ 2.5 ลิตร ที่ผมอยากให้มีอัตราเร่งที่ดีกว่านี้ ประหยัดน้ำมันกว่านี้
ลดการเสียดทาน และการสูญเสียกำลังในระบบขับเคลื่อนลงให้ได้มากกว่านี้ เพราะในรุ่น 2.8 ลิตรนั้น
ทำออกมาได้ค่อนข้างดีแล้ว และเกือบจะมาถึงขีดสุดของศักยภาพที่ตัวเครื่องยนต์จะให้เราได้แล้ว
ขณะเดียวกัน จะทำอย่างไร ให้ โครงสร้างตัวถัง ทนต่อการกระแทกกระทั้นอย่างหนักหน่วงต่อเนื่อง
ได้นาน โดยที่จุดยึดเชื่อมต่อต่างๆ ตามแนวตะเข็บตัวถัง ไม่ล้าไปเสียก่อน เพราะสำหรับรถกระบะ
ความทนทรหด มันไม่ได้อยู่แค่เพียงการรองรับงานบรรทุกหนักๆ เหมือนเช่นที่พ่อค้าตามตลาดไท
บ้านเราชอบทำกัน คืออัดเข้าไปเลย 4 ตันรวด แต่มันหมายความว่า เมื่อบรรทุกหนักแล้ว หรือพาไป
บุกป่าฝ่าดงอย่างหนักหน่วงแล้วดครงสร้างตัวถัง และเฟรมแชสซีจะต้องรักษาความเหนียว แข็งแกร่ง
และทนทานให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่ใช่ว่า พอออกรถมาป้ายแดงปุ๊บ ลุยทริปสัก 3 ทริป
พอปิดประตูจากฝั่งซ้าย โครงสร้างตัวถังก็สั่นจนถึงบานประตูฝั่งขวา แถมยังต้องออกแรงปิดประตู
มากกว่าปกติ ถ้าแบบนั้น แสดงว่ายังทนทานไม่พอ
ต่อมา การปรับเซ็ตพวงมาลัย ซึ่งมีระยะฟรีค่อนข้างเยอะนั้น อยากให้ลดลงกว่านี้อีกนิดเดียว แต่อย่า
ให้พวงมาลัยถึงกับตอบสนองไวเกินไป อย่างที่ BT-50 PRO รุ่น ขับเคลื่อน 2 ล้อ เขาเป็น นั่นก็ไวไป
อยากให้เพิ่ม Down Force ที่ด้านหน้ามากกว่านี้อีกนิด ในรุ่น 2.5 ลิตร เพื่อให้การขับขี่ด้วยความเร็วสูง
นิ่งและมั่นใจมากขึ้นกว่านี้ เทียบเท่ากับรุ่น 2.8 ลิตร ตัวท็อป แต่ขณะเดียวกัน ภาพรวมของการไหลผ่าน
ของอากาศ ตามหลัก Aero Dynamic ต้องไม่ไปกระทบกับอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงด้วย ข้อนี้ ไม่ง่าย
และสุดท้าย รุ่น 2.5 ลิตร ควรจะมีทางเลือกของเกียร์อัตโนมัติ ออกมาให้ลูกค้าได้เป็นเจ้าของกัน ผมว่า
มันเป็นรุ่นย่อยในฝันของหลายๆคน ที่อยากได้รถกระบะ ไว้บรรทุก ขับไม่เร็วนัก แต่ต้องขับสบาย
เป็นหลัก ยิ่งโดยเฉพาะในการจราจรของกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ๆทั่วประเทศในตอนนี้ ติดขัดมาก
ทางเลือกรุ่นย่อย อย่าง 2.5 ลิตร 6AT 4×2 LTZ ตัวเตี้ย น่าจะช่วยให้ลูกค้า เดินเข้ามาในโชว์รูม GM
มากขึ้นแน่ๆ และถ้าจะให้ดี รุ่นเครื่องยนต์เบนซิน ติดก๊าซ จากโรงงาน น่าจะยิ่งช่วยทำให้ลูกค้าตกลง
เซ็นใบจองได้ง่ายขึ้นไปอีก
ทีนี้ เมื่อเทียบกับคู่แข่งละ?
มันขึ้นอยู่กับว่า ความต้องการของคุณ เป็นอย่างไรกันแน่
ถ้าคุณต้องการกระบะบ้าพลัง…ที่ให้อัตราเร่งดีกว่า Chevy แต่ต้องประหยัดน้ำมันพอกันด้วย
โน่นเลยครับ Ford Ranger , Mazda BT-50 PRO , Mitsubishi ,Triton 2.5 VG Turbo,
Nissan Navara และ Toyota Hilux Vigo Champ จอดรอต้อนรับคุณอยู่ นี่ไล่เรียงตามตัว
อักษร ยี่ห้อ มาก่อนหลังเลยนะ
ถ้าต้องการรถกระบะ ที่สร้างภาพลักษณ์ให้คุณดู Tough แกร่งมาแต่กำเนิด เป็นคนที่มีความอดทน
สูงมากที่สุดในจักรวาล อดทนได้ตั้งแต่การรอคอยรถว่าเมื่อไหร่จะประกอบเสร็จ รอคอยการส่งรถ
รอคอยการแก้ปัญหา หากเจอรถมี Defect รอคอยว่าเมื่อไหร่ จะมีใครมารช่วยแก้ปัญหาให้คุณ
หลังจากส่งเรื่องร้องเรียนไปแล้วหลายเดือน รอคอยว่าเมื่อไหร่จะเจอปัญหาไม่สบอารมณื ที่มัก
ไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวรถ แต่มักเกิดขึ้นจากคนที่ให้บริการคุณ ยอมรอคอยทั้งหมดนี้ เพื่อแลกกับ
รถกระบะที่ดีที่สุดคันหนึ่งเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา เดินเข้าโชว์รูม Ford แล้วเซ็นใบจอง เจ้า
Ranger ใหม่ ไปซะ!
ถ้าคุณต้องการรถกระบะที่ดีพร้อมในทุกด้าน บางด้านอาจขาดไปนิด บางด้านอาจเกินไปหน่อยๆ
และคุณมีเงินพอจะจ่ายไหว ยอมรับได้กับหน้าตาที่ดูอ่อนช้อย ไหลลื่นเป็นเกลียวคลื่นริมชายหาด
และยังรักบุคลิกการขับขี่ในแบบของรถเก๋งอยู่ มองหา Mazda BT-50 PRO และต้องเป็นรุ่นย่อย
3.2 ลิตรเท่านั้นด้วย จะเลือกเกียร์อัตโนมัติ หรือเกียร์ธรรมดา ก็สุดแท้แล้วแต่คุณเลย ถ้างบไม่ถึง
ก็เลือกรุ่น 2.2 ลิตร แล้วไปแก้อัตราทดพวงมาลัยให้ลดความไวลงมากว่านี้ แค่นั้น แต่ก็ต้องรอนาน
ไม่แพ้ Ranger นั่นแหละ เพระาประกอบออกมาจากโรงงาน AAT ระยอง เหมือน
ถ้าคุณอยากได้รถกระบะที่ให้ความมั่นใจในการขับขี่ อัตราเร่ง แรงแน่ๆ แต่มาในช่วงกลางและ
ช่วงปลาย พวมาลัยคม ช่วงล่างแข็งสะเทือน แต่มั่นคง หนักแน่น หรือจะบรรทุกหนักๆ โหดๆ
ไปหา Nissan Navara ได้เลย รายนั้น เหมาะสำหรับแนว Hardcore จอมบรรทุกของจริง แต่
ต้องทำใจกับพื้นที่ห้องโดยสารที่อัตคัตที่สุดในตลาดตอนนี้แล้วนะ
แต่ถ้าคุณอยากได้ห้องโดยสารใหญ่สุด นั่งพอสบาย ได้อัตราเร่งที่ปรู๊ดปราดที่สุดในตอนนี้
(อย่างน่าประหลาดใจจริงๆ มันมาได้ไงวะเนี่ย?) รับได้กับรูปลักษณ์ที่คล้ายกับพี่ปลัด นิดๆ
และรับได้ว่า รถใกล้จะตกรุ่นใน 1-2 ปีนี้ แต่มองหาความคุ้มค่าคุ้มราคา Mitsubishi Triton
ยังคงตอบโจทย์ของคุณได้ดีอยู่เหมือนเช่นเคย
ส่วน Toyota Hilux Vigo เหมาะสำหรับใครที่คิดไม่ออกแล้วว่าจะซื้อรถกระบะอะไรดี
ไม่อยากรอรับรถนานนัก ซื้อง่าย ขายคล่อง ขายต่อได้ราคา อาจจะเสี่ยงกับโจรขโมย
ผู้ร้ายสักหน่อย แต่อัตราเร่งที่ได้ น่าจะแรงพอที่ทำให้คุณ เคลิ้มจนปล่อยรถ ให้ไหล
ขึ้นไปไล่จี้รถคันข้างหน้าโดยไม่รู้ตัวอยู่เป็นประจำ เรื่องประหยัดน้ำมันหนะเหรอ
เรื่องจิ๊บๆ! (หมายความว่า ไม่แคร์นะ ว่ากินน้ำมันแค่ไหน ขอแรงไว้ก่อนพ่อสอนไว้)
ถ้าคุณอยากได้รถที่ไว้ใจได้ บริการหลังการขายค่อนข้างดี แต่มีบุคลิกคล้ายคลึงกับ Colorado
เอามากๆ (ก็แหงละ สร้างขึ้นบนพื้นฐานเดียวกันเลยนี่หว่า) และยังเชื่อมั่นในชื่อชั้นของ
ตรีเพชร Isuzu ในตลาดเมืองไทยมากกว่า แน่นอนครับ Isuzu New D-max รุ่นใหม่สำหรับ
คนทั่วโลก (แถมโลกพระจันทร์ด้วยเอ้า!) ยังคงเป็นตัวเลือกที่ ผมไม่ค่อยอยากให้คุณตัดทิ้ง
เพราะรุ่นใหม่ ถือได้ว่า ทำออกมาดีขึ้นกว่าเดิมใช้ได้ แต่เสียดาย จนป่านนี้ ผมยังไม่ได้ลอง
ขับ จึงบอกไม่ได้ว่า มันต่างจาก Colorado อย่างไรบ้าง
แต่ถ้าคุณต้องการ รถกระบะที่ตอบสนองอย่างมั่นคง ไม่ออกนอกกรอบความเป็นรถกระบะมาก
จนเกินไป เงินอาจไม่ถึงพอจะเล่น Ranger และ BT-50 PRO หรือเบื่อการรอคอยเข้าคิวรับรถ
อันยาวนานจนไม่รู้จะหาจุดสิ้นสุดได้ตรงไหน รับได้กับอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงในตาราง
ข้างบนนี้ รับได้กับนิสัยช่วงล่าง และพวงมาลัย ที่ต่อให้นุ่มขึ้นแค่ไหน ก็ยังคงบุคลิกความเป็น
รถกระบอยู่นั่นแหละ มองหา Chevy Colorado 2.8 ลิตรเอาไว้ รุ่น LT อาจเพียงพอสำหรับ
หลายๆคน แต่ ถ้าเป็นไปได้ รุ่น LTZ จำพวกรองท็อปทั้งหลาย ก็ช่วยยกระดับให้ชีวิตคุณ
สบายขึ้นอีกนิดเลยละ! แต่ถ้าเอื้อมไปเล่นรุ่นท็อปได้ อัตราเร่ง และความต่อเนื่องของเกียร์
อัตโนมัติ จะช่วยให้คุณเข้าใจเลยว่า คิดไม่ผิดหรอก ที่เลือกรุ่น C-Cab 2.8 L 6AT 4×4 Z71
และตกแต่งแบบ LTZ…
(โอ้ยยย เบื่อ!!! หมดความอดทนแล้วโว้ย!! ชื่อรุ่นย่อย แม่ม จะยาวไปถึงดาวอังคารกันเลยไหมวะ!!)
ทีนี้ก็มาถึงข้อสุดท้าย : ทำอย่างไรให้ลูกค้าคนไทย พึงพอใจในบริการหลังการขาย เพิ่มขึ้น ขณะที่ราคา
อะไหล่ ต้องถูกลง และไม่แพง อย่างที่คิด
ยังครับ ข้อนี้ ยังถือว่าสอบไม่ผ่านนะ แม้ว่าจะพยายาม ในการเซ็ตงบประมาณการบำรุงรักษาตลอด
อายุการรับประกัน 3 ปี 100,000 กิโลเมตร เอาไว้ที่ 19,000 กว่าบาท เกือบ 20,000 บาท ก็ตาม
เพราะราคาอะไหล่ ที่ไมได้มีการหมุนเวียนบ่อย ก็ยังมีเสียงบ่นจากลูกค้าอยู่บ้าง ว่ายังแพงอยู่
เมื่อเทียบกับคู่แข่งรายอื่นๆ ซึ่งยังเป็นการบ้านที่ฝ่ายอะไหล่ ยังต้องทำงานกันต่อไป
แต่นั่นยังไม่น่าเป็นห่วงเท่ากับ ความเก่งของช่าง ตามศูนย์บริการ และปัญหาการเคลมของลูกค้า
ในอดีต ที่ยังตามมาหลอกหลอนผู้เกี่ยวข้อง บนชั้น 21 อาคารรสา กันอยู่
นี่คือ อีกสิ่งหนึ่ง ที่ผมจะยังขอติดตามดูความเปลี่ยนแปลง ในองค์กรของ GM Thailand นับจากนี้
และต่อจากนี้ไป
เป้าหมายที่ผมอยากเห็นคือ
1. เสียงก่นด่าของลูกค้าในด้านบริการหลังการขาย การเคลม และการดูแลเอาใจใส่ลูกค้า น้อยลงกว่านี้
2. การประกอบรถ จากโรงงานระยอง ที่จะต้องรัดกุม และใส่ใจกันให้มากยิ่งกว่าเดิมอีก แม้ว่าระยะหลังๆ
มานี้ ปัญหาจะเข้ามาถึงหูของผมน้อยลง แต่นั่นยังถือว่า ไม่ดีที่สุด
ผมเชื่อว่า นี่คืองานที่ท้าทาย และได้แต่หวังว่า ทุกคนใน GM Thailand จะร่วมมือกัน ทำให้เป็นจริง
ขึ้นมาได้ อย่าเกี่ยงกัน อย่าโยนความรับผิดชอบใส่แผนกอื่น ช่วยกันเป็นหูเป็นตา สามัคคีกัน ส่วน
ผู้บริหารเอง ก็อยากให้เปิดใจกว้างๆ รับฟังเสียงของคนไทยมากขึ้น
เพราะถ้าคุณจะขายรถให้คนไทย เสียงของคนไทยนี่แหละ คือเสียงสวรรค์ ที่คุณควรรับฟัง
ยิ่งรับฟังมาก ยิ่งเข้าใจมาก ยิ่งแก้ไขงานได้ง่ายขึ้นมาก ผลลัพธ์จะออกมาดีมาก รถก็จะขายดี
ขึ้นไปกว่านี้อีกมาก
ทุกอย่าง มันเป็นวงจรลูกโซ่! ที่คุณก็รู้กันดีอยู่แล้ว มิใช่หรือ?
—————————————-///—————————————
ขอขอบคุณ / Spacial Thanks
Mr. Laurent Berthet
Director of Communication , Southeast Asia
คุณพันธมาศ กรีกุล
ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์
คุณ Vijo Varghese
ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ : สื่อสารผลิตภัณฑ์
และคุณ นัน
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท General Motors (Thailand) จำกัด
บริษัท Chevrolet Sales (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ
—————————-
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ และลิขสิทธิ์ภาพถ่ายในไทย เป็นผลงานของ ผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพวาด Illustration เป็นลิขสิทธิ์ของ บริษัท General Motors Thailand
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมด ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
3 กันยายน 2012
Copyright (c) 2012 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
September 3rd, 2012
แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! , CLICK HERE!