เมื่อราวๆเดือนตุลาคมปีก่อน

ตาก๊อป BIZZARE เพื่อนรุ่นน้องที่รู้จักกันจาก Pantip.com นี่ละ ยิงคำถามผ่านทางโทรศัพท์ ตอน ตี 2 ครึ่งว่า

“พี่ ช่วงนี้ มันเกิดอะไรขึ้นเหรอ ทำไมหมู่นี่ก๊อปเห็น ซีรีส์ 3 คูเป้ วิ่งกันเยอะแยะหนาตา?”

ผมตอบไม่ได้จริงๆ ไม่รู้ว่าเพราะอะไร BMW Thailand เร่งทำตลาดรถรุ่นนี้? ก็ไม่น่าจะใช่
เพราะรถประเภทนี้ Niche Market ชัดๆ แค่สั่งเข้ามาขาย ไมได้หวังยอดมากมาย ขายได้ สักคัน
เซลส์คนนั้น ก็น่าดีใจ เลี้ยงหมูกะทะเพื่อนไปสัก 3 วันแล้ว

ความสงสัยก็ยังค้างคาอยู่ในใจผม เล็กๆ

 

 

 

จนวันหนึ่ง….วันเดียวเท่านั้น ระหว่างกำลังนั่งแหมะอยู่บนเบาะคนขับในรถ
กลางถนนสุขุมวิท ช่วงเวลายามบ่าย จู่ๆ รถคูเป้ ในตระกูลซีรีส์ 3 ใหม่ ของ ค่ายใบพัดสีฟ้า
สีขาว 1 คัน

และหลังจากนั้น ตลอดทั้งวัน ก็มีมาให้เห็นอีก 2 คัน ในวันเดียว…

ผมเห็น ซีรีส์ 3 คูเป้ 3 คันรวดในเวลาไล่เลี่ยกัน….

เฮ่ย….

คราวนี้ ผมเริ่มแปลกใจบ้างแล้วละ

ทำไมมันถึงได้ได้แล่นโฉบหน้าผ่านตาผมไปผ่านมา กันปลิวว่อนเช่นนี้?

ฤา เศรษฐกิจ บ้านเรา มันดีมากเลยหรืออย่างไร?

 

 

 

เปล่าหรอก  เศรษฐกิจโลก มันยังไม่ดีขึ้นนัก แต่แน่นอน มันไม่ได้แย่ไปทุกหย่อมหญ้า
อย่างที่บรรดานักข่าวสายเศรษฐกิจจากทั่วโลก คิดและนำเสนอกันอยู่ทุกวี่วันแต่อย่างใด

เพียงแค่ว่า ก็อย่างที่เรารับรู้กันดี ต่อให้เศรษฐกิจโลก มันเลวร้ายลงเพียงใด
ผู้มีอันจะกิน ก็จะยังคงมีอันจะกิน อยู่วันยังค่ำ (ถ้าไม่มีแก๊งหมูสกปรก ย่องเข้าไปขโมยของ
ก่อนจะขับ 350Z พยายามหบหนีการจับกุมของตำรวจ ซะก่อน)

 
 

ตำราการตลาด เล่มหนึ่ง บนหัวเตียงนอนบ้านผม ที่ซื้อมาตั้งแต่ตอน ป.4
เคยเขียนเอาไว้ว่า “คนรวย มักหิวกระหายอยู่บ่อยๆ
ดังนั้น คุณควรจะมีของกิน ที่ดีๆ ไว้รอให้พวกเขาเสมอ”

แม้ในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ ยอดจองรถยนต์ระดับหรูในมอเตอร์โชว์
ก็ยังคงเติบโตสวนกระแส และนั่นแสดงให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว
มันไมได้แย่มากอย่างน่ากลัวถึงขนาดที่ นักข่าวสายเศรษฐกิจพยายามบอกเตือนให้เรากลัว

จริงอยู่ พวกเขาทำหน้าที่เป็นสุนัขเฝ้าบ้านหนะ ถูกแล้ว และทำหน้าที่ได้ดีเสียด้วย
แต่อาจจะดีเกินไปสักหน่อย ยิ่งทำให้ผู้คนตื่นระหนกโดยไม่จำเป็น

ดูอย่างตึกด้านหลัง ใน 3 รูปข้างบนนี้ ที่กำลังก่อสร้างอยู่นั่นสิ  
โครงการสร้างตึกหลังนั้น ยังคงเดินหน้าต่อไป
เหมือนกับชีวิตของพวกเรานั่นละครับ ต่อให้ทุกสิ่งเลวร้ายลงไป
ชีวิต ก็ยังต้องดำเนินต่อไป อย่าไปกลัวต่อสิ่งที่รออยู่ข้างหน้า

 
 

 

บางคนเคยถามว่า ทำไมช่วงนี้ ถึงรีวิวแต่รถยนต์ระดับ Hi-end
ไม่เห็นทำรีวิวรถยนต์ที่ผู้คนซื้อหามาได้ไขว่คว้ากันถึงเสียบ้าง?

คำตอบก็คือ เพราะรถเหล่านั้น ผมว่าผมทำรีวิวไปหมดแล้วนะ
ไม่ว่าจะอยู่ใน Pantip (ซึ่งกำลังทะยอยนำมาอัพเดทในเว็บ Headlightmag กันอยู่นี่)
หรือจะอยู่ในเว็บไซต์เก่าที่ผมเคยนำรีวิวไปโพสต์ให้เขาไปฟรีๆ โดยไม่ได้รับเงินค่าใช้จ่ายใดๆ
นอกเหนือไปจากรายได้ ในการเข้าไปช่วยทำรายการวิทยุ

แต่พอทำรีวิวรถยนต์ประเภทนี้ หลายคนก็จะพาลไม่อ่านเอาเสียดื้อๆ
ด้วยเหตุผลง่ายๆว่า “มันไกลเกินเอื้อมเกินไป มันเป็นรถคนรวย
ผมไม่มีปัญญาซื้อหรอก จะเข้าไปอ่านทำไม?”

โอยยยยย ฟังแล้วอยากจะเอาสองมือกุมขมับ สองเท้าก่ายหน้าผาก

 

 
 
 

ก็ เพราะสาเหตุที่ยังทำรีวิวรถประเภทนี้ให้คุณอ่านกันอยู่ต่อไปนั้น
นอกเหนือจาก ให้กลุ่มเป้าหมายของรถประเภทนี้ เขาได้ใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจ
เหมือนเช่นรถยนต์ทั่วไปทุกคันที่ผม ทำรีวิวให้คุณอ่านนั่นแล้ว

อีกเหตุผลหนึ่ง ก็เพราะ อยากให้คุณๆ ได้อ่านกัน ว่าเทคโนโลยีของรถในสมัยนี้ มันไปถึงไหนแล้ว
และให้ได้รู้ว่า ทำไมมันแพงนักแพงหนา จะได้มองดูว่า มีข้าวของอะไรในรถเหล่านี้บ้างไหม
ที่คุณอยากจะให้ผู้ผลิตรถบ้านๆ ทำมาขายให้คุณกันบ้าง

เพราะรู้ดีว่า รถยนต์ที่กำลังจะพูดถึงกันอยู่นี้
เป็นรถที่ อาจใกล้เคียงกับการเป็นรถในฝันของใครหลายๆคน

ดังนั้น เมื่อใด ที่ผมมีรีวิวรถประเภทนี้ มาให้คุณได้อ่าน
โปรดช่วยกันเข้ามาอ่านสักหน่อยเถิด เพราะคนทำ ตั้งใจทำให้อ่าน
แต่ ถ้าคนอ่าน ไม่อยากจะอ่าน เพราะคิดแต่ว่า เป็นรถคนรวย เท่านั้น
ก็ได้แต่ชวนให้รู้สึกถอนหายใจอย่างอ่อนล้า ไปเท่านั้น

แต่เชื่อเถอะ ไม่หมดกำลังใจง่ายๆหรอก หึ!

 
 
 

 

แต่การรอคอย มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก

กว่าที่รีวิวนี้จะออกสู่สายตาคุณผู้อ่านได้
เราต้องรอกันมาหลายครั้งหลายครา
ถ้าจะบอกว่า เรารอมาตั้งแต่ ปลายเดือนตุลาคม ปีที่แล้ว
จะเชื่อหรือไม่?

 

– รอ ให้คิวของรถคันแรก (325i Convertible) ว่าง
– รอ ให้คิวรถคันต่อไป (325i Coupe SE) จะพร้อม ซึ่งก็ปาเข้าไปช่วงหลังปีใหม่
– รอ ให้เว็บแห่งนี้เปิดตัว ช่วงกุมภาพันธ์
– รอ ให้คิวของรถคันสุดท้าย (320d Coupe) เสร็จสิ้นผ่านมือผู้คนจำนวนหนึ่งไปเรียบร้อย
– รอ ให้คนทำรีวิว เคลียร์สารพัดเรื่องราว งานการ จนลุล่วงไปเกือบหมด
– รอ ให้งานมอเตอร์โชว์ผ่านพ้น
– รอ ถูกขัดจังหวะ ด้วยงานด่วน สารพัดรายการ ทั้ง Teana X5 Freelander LR2 และ RX350
– รอ ให้ผ่นพ้นการเปิดศึก Cockroach Battle! ยุทธการกระทืบแมลงสาบในห้องครัว วันพายุฝนกระหน่ำ
ระหว่างนั่งทำบทความในวันนี้  (ได้ข่าวว่าอย่างหลังนี่ ไม่เกี่ยวเล้ยยยย มันเป็นข้ออ้างขึ้นมาเฉยๆ)

 

 
 

ทีนี้ กำหนดการเดิมหนะ มันต้องเผยแพร่สู่สายตาคุณผู้อ่านกันตั้งแต่ ก่อนงาน มอเตอร์โชว์จะเริ่มขึ้นสัก 2 วัน
แต่…ด้วยความที่ช่วงเวลานั้น เต็มไปด้วยเรื่องราววุ่นๆต่างๆ มีนัดเดินสายไปนั่นมานี่ ทั้งที่วางแผนไว้ล่วงหน้า
หรือที่นัดเข้ามากระทันหัน รีวิวนี้เลยเจอโรคเลื่อนไปอีกนิดนึง และทำให้กลายมาเป็น รีวิว แรกสำหรับเดือนเมษายน
ไปได้เสียง่ายๆ

จนคุณผู้อ่านบางท่าน มีคอมเมนท์มาเหน็บผมกันบ้างเล็กๆน้อย พอให้ขำ (เริ่มไม่ออก) บ้างว่า
“รอได้ครับ บอกว่า อีก 2-3 วัน มาหลายสัปดาห์แล้ว ยังรอได้ครับ”

รู้สึกผิดขึ้นมาในบัดดล แต่ต้องเร่งทำรีบเข็นออกมาให้คุณๆอ่านกันได้แล้วสักที

 

 

คนรุ่นใหม่ๆ มักจะคุ้นเคยกับ ซีรีส์ 3 ในรูปแบบตัวถัง ซีดาน 4 ประตู ทั้งที่ในความเป็นจริง
ตัวถังคูเป้ 2 ประตู นั้น ถือเป็นตัวถังหลักดั้งเดิมของ ตระกูล ซีรีส์ 3 มาตั้งแต่สมัยยังเป็นรุ่น 2002 ด้วยซ้ำ

ส่วนตัวถังเปิดประทุนนั้น เริ่มมีออกมาทำตลาดอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในตัวถังตระกูล E30 ซึ่งก็นานมากแล้ว

สมัยนั้น ยนตรกิจ ในฐานะ ผู้จำหน่าย BMW ในประเทศไทย ยังประกอบรถรุ่น 2 ประตูในประเทศได้ ทำให้ราคายังไม่ไกลเกินเอื้อมนัก
ขณะเดียวกัน รุ่นเปิดประทุนนั้น เจอข้อจำกัดจากเพดานภาษีนำเข้า ที่สูงเกินเหตุถึง 617% จากราคารถ
จึงไม่ค่อยมีรถรุ่นเปิดประทุนเข้ามาแล่นในบ้านเราเท่าที่ควร จะเอามาขึ้นสายการผลิตที่โรงงาน YMC ก็ไม่คุ้ม

 

 

ตัวถังคูเป้ ของ ซีรีส์ 3 เริ่มฉายแววความแตกต่างออกมาในแนว ทาง คอมแพกต์ สปอร์ต คูเป้ เมือปี 1992
ซึ่งถือเป็น ซีรีส์ 3 รุ่นแรก ที่ได้ใช้เครื่องยนต์พร้อมระบบแปรผันวาล์ว VANOS

พอเข้าสู่ยุครุ่งเรืองของ ตัวถัง E36 นับตั้งแต่ปี 1992 เป็นต้นมา สถานการณ์ก็เริ่มไม่โสภา
เมื่อ โรงงานในเมืองไทย ไม่อาจประกอบรุ่น คูเป้ 2 ประตู ได้อีกต่อไป เพราะต้นทุนที่สูงขึ้น ราคาขายปลีกก็สูงขึ้น
โอกาสที่จะขายได้เยอะแยะเหมือนสมัยก่อน ก็ลดน้อยลงตามไปด้วย ดังนั้น รุ่นคูเป้ทุกคัน หลังจากนั้นเป็นต้นมา
จึงเป็นการนำเข้าสำเร็จรูปทั้งคัน จากโรงงานในเยอรมัน และประสบชะตากรรมเดียวกับรุ่นเปิดประทุน
นั่นคือ ปริมาณรถบนถนนบ้านเรา ค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับยอดขายของทั้งรุ่น ซึ่งแตะระดับ 470,000 คัน
ตลอดอายุ 7 ปี ในตลาด

 

 

รุ่นต่อมา E46 แบบ 2 ประตู เปิดตัวเมื่อปี 1999 ตามหลังรุ่นซีดาน ประมาณ 1 ปี
มีให้เลือกตั้งแต่เครื่องยนต์ 4 สูบ 118 แรงม้า จนถึง 6 สูบ 193 แรงม้า
ซึ่งเป็นรุ่นที่แปะตราด้านหลังรถว่า C i   และหลังจากนั้น รุ่นเปิดประทุนก็ตามออกมาไม่นานนัก

รุ่นนี้เห็ในเมืองไทยไม่มากนักอีกเช่นกัน

แต่ศักราชใหม่ ก็เริ่มต้นอีกครั้ง เมื่อ รุ่นปัจจุบันของตัวถังคูเป้ ใช้รหัสรุ่น E92 เปิดตัวครั้งแรกในเดือนสิงหาคม 2006 และเริ่มทำตลาดในเกือบจะทันที

 

 

ส่วนรุ่นปัจจุบัน ของตัวถังเปิดประทุน ใช้รหัสรุ่น E93 เปิดตัวครั้งแรกเมื่อ 24 ตุลาคม 2006 และเผยโฉมต่อสาธารณะชน
ในงาน ดีทรอยต์ ออโตโชว์ 7 มกราคม 2007 เรียกได้ว่าเป็นการเปิดตัวตามหลังตัวถัง คูเป้ E92
เพียงไม่กี่เดือน โดยเริ่มทำตลาดครั้งแรกในยุโรป 24 มีนาคม 2007

ซีรีส์ 3 เปิดประทุนรุ่นนี้ ถือเป็นรุ่นที่ 4 นับตั้งแต่ รุ่น E30 และถือเป็น ครั้งแรก
ที่ BMW ยกเลิกการใช้ประทุนหลังคาแบบผ้าใบในรุ่นก่อน
เปลี่ยนมาเป็นระบบการเปิด-ปิด พับเก็บหลังคาแข็ง 3 ชิ้น ด้วยไฟฟ้า

 

 

ทั้งรุ่นคูเป้ และเปิดประทุนของ ซีรีส์ 3 ใหม่ ยังคง ถูกผลิตขึ้น ณ โรงงาน Regansburg  
ซึ่งเป็น ฐานการผลิตหลักสำหรับการประกอบ ซีรีส์ 3 ทุกตัวถัง มากว่า 20 ปี รวมทั้ง
BMW  M3 และ ซีรีส์ 1 ทุกรุ่น โดยมีกำลังการผลิต ระดับ 300,000 คัน/ปี

ซีรีส์ 3 คูเป้ ทุกคันจะมีชิ้นส่วนโลหะซึ่งต้องนำมาผ่านกระบวนการเชื่อมเข้าด้วยกัน
สูงสุดถึง 700 ชิ้น ขึ้นกับแต่ละรุ่นย่อย โดยมีจุดเชื่อมสป็อตเข้าด้วยกันมากถึง 5,500 จุด

โครงสร้างของห้องโดยสารของรุ่นใหม่ ถูกเพิ่มความแข็งแรงจากเดิม
ด้วยคานเหล็กระหว่างเสากลาง B-Pillar ทำหน้าที่คล้ายโรลบาร์ในรถแข่ง
ทำด้วยท่อเหล็กกลวงที่ มีความเหนียวเป็นพิเศษ ผลิตและขึ้นรูปด้วยความร้อน
และอบด้วยความร้อนก่อนนำออกจากแม่พิมพ์ ผสานกับโครงสร้างของ
เสาหน้า A-Pillar ที่เชื่อมต่อเป็นชิ้นเดียวกับโครงสร้างหลัก ส่ง
ผลให้โครงสร้างรอบคัน แข็งแกร่งยิ่งขึ้นตลอดคัน
ช่วยลดแรงกระแทกจากการชนลงไปได้มาก

 

 

รุ่นคูเป้ มีขนาดตัวถังยาว 4,580 มิลลิเมตร กว้าง 1,782 มิลลิเมตร
(ถ้ารวมกระจกมองข้างจะกว้างเป็น 1,985 มิลลิเมตร)
สูง 1,384 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,760 มิลลิเมตร
น้ำหนักตัวถัง Kerb Weight เฉพาะของ 325i เกียร์อัตโนมัติ อยู่ที่ 1,525 กิโลกรัม
ส่วนรุ่น 320d คูเป้ เกียร์อัตโนมัติ อยู่ที่ 1,505 กิโลกรัม

 

 

แต่ในรุ่น เปิดประทุน ความยาวตัวถังจะเพิ่มขึ้นอีกนิด เป็น 4,588 มิลลิเมตร
นอกนั้น ความกว้าง ความสูง และระยะฐานล้อ ตัวเลขจากผู้ผลิต ระบุว่า เท่ากันพอดีเป๊ะ
ส่วนน้ำหนักตัวนั้น เมื่อเพิ่มชุดหลังคาไฟฟ้าพับเก็บได้ น้ำหนักประมาณ 200 กิโลกรัม เข้าไป
ในรุ่น 325i เปิดประทุน จะเพิ่มน้ำหนัก เป็น 1,760 กิโลกรัม

 

 

 

เส้นสายของทั้ง 2 ตัวถัง ดูเพรียว บางลงจากรถรุ่นก่อนเล็กน้อย
ดูปราดเปรียวขึ้น ไม่ได้ถึงกับมีมัดกล้าม เล็กๆ อย่างที่รถรุ่นก่อนเป็นมา

พร้อมกันนี้ ยังมีการปรับปรุงบุคลิกของเส้นสายต่างๆ อันเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมของ BMW
ให้เฉียบคมมากขึ้น

 

 

ไล่กันตั้งแต่ ไตคู่หน้า ที่ดูปราดเปรียว และกว้างขึ้นเล็กน้อย
ชุดไฟหน้าเป็นแบบ Xenon พร้อมระบบฉีดน้ำล้างไฟหน้า
ถูกออกแบบให้มีปลายแนวแหลมเฉี่ยวยิ่งขึ้น ดูเพรียว แต่แอบดุเล็กๆ

 

 

เส้นสายของทั้ง 2 ตัวถัง ดูเพรียว บางลงจากรถรุ่นก่อนเล็กน้อย
ดูปราดเปรียวขึ้น ไม่ได้ถึงกับมีมัดกล้าม เล็กๆ อย่างที่รถรุ่นก่อนเป็นมา

นอกจากนี้ ทีมออกแบบยังคงไว้ซึ่งแนวเส้นโค้ง บริเวณเสา C-Pillar
ที่เรียกว่า Hofmeister Kick หรือเขียนเป็นภาษาเยอรมันว่า Hofmeister Knick
ให้ดูลงตัวกับตัวถังของทั้งคูเป้ และเปิดประทุนมากขึ้น

 รวมทั้งเพิ่มพื้นที่กระจกหน้าต่างด้านหลังอีกเล็กน้อย
เพื่อผลด้านทัศนวิสัยด้านหลังที่ดีขึ้น

 

แนวเส้นนี้ เริ่มต้นใช้เป็นครั้งแรกใน BMW 1500 ซาลูน รุ่นปี 1961
โดยผู้ที่นำแนวเส้นแบบนี้มาใช้เป็นคนแรกจนกลายเป็นเอกลักษณ์
ของ BMW ทุกรุ่นนับจากนั้นมา คือ ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบ
ของ BMW ในสมัยนั้น Wilhelm Hofmeister

การใช้ชิ้นส่วนตัวถังเหนือซุ้มล้อคู่หน้า ด้วย เทอร์โมพลาสติก
เป็นอีกตัวอย่างของความพยายามปรับปรุง ให้ตัวรถมีน้ำหนักเบาลง
อีกทั้งยังช่วย ลดความเสียหาย จากการเข็นรถไปชนคันข้างหน้าในลานจอดรถได้อีกพอสมควร

 

เป็นความจงใจของนักออกแบบ ที่จะสร้างความแตกต่าง ให้เกิดขึ้นกับ รุ่น ซาลูน ทัวริง (แวกอน)
กับคูเป้ และเปิดประทุน ด้วยชิ้นส่วนด้านหน้า ทั้ง ชุดไฟหน้า เปลือกกันชนหน้า กระจังหน้า
ที่แตกต่างกัน ไป ตามแต่ละบุคลิกของตัวรถ และกลุ่มเป้าหมาย

ในตอนแรก ว่ากันว่า รถรุ่นนี้จะใช้ชื่อรุ่นว่า ซีรีส์ 4 เสียด้วยซ้ำ
แต่นับว่า BMW ตัดสินใจถูกที่ยังคงใช้ตัวเลข 3 เป็นรหัสบอกรุ่น เหมือนเดิม

 

 

ส่วนไฟท้ายนั้น เป็นแบบ LED คล้ายกับ ซีรีส์ 5 ไมเนอร์เชนจ์
ทุกรุ่นมีระบบร้องเตือนระยะการจอด Park Distance Control (PDC)  มาให้
รุ่น 320d ใส่ล้ออัลลอย ลาย Radial Spoke 187 ขนาด 17 นิ้ว
สวมกับยางแบบ 225/45 R17

 

 

การเข้าออกจากรถ ใช้ระบบ กุญแจ อิมโมบิไลเซอร์ พร้อมรีโมทคอนโทรลในตัว Comfort Access
แบบเดียวกับที่จะพบได้ใน 320d นั่นเอง

คือ ถ้าคุณพกรีโมทไว้กับตัวอยู่แล้ว เดินมาถึงปุ๊บ ใช้มือ ดึงมือจับเปิดประตูได้เลย
มันจะส่งสัญญาณไปยังระบบให้ปลดล็อกประตูตามต้องการ

และเมื่อจะออกจากรถ ปิดประตูแล้ว ใช้นิ้ว แตะเบาๆ ไปบน ร่องขีด เหนือมือจับเปิดประตุ
ระบบจะสั่งล็อกประตูทุกบานให้เอง ทันที

รวมทั้งยังมีไฟดวงเล็กๆ ใต้มือจับประตู เพื่อส่องให้เห็นตำแหน่งมือจับ  และพื้นที่บริเวณใต้ประตูรถ เป็นหลัก

 

 

บานประตู ของทั้งรุ่นคูเป้ และเปิดประทุน ใช้ร่วมกัน เปิดกางออกได้กว้าง สบาย
พอจะให้ท่าน Commander CHENG ของเรา สะดวกสบาย ในการยัดทะนาน ร่างอันใหญ่โต
ประเภทฮิปโปยอมหลบแต่โดยดี เข้าไปในเบาะคู่หน้าได้โดยง่าย

กระจกมองข้างและกระจกมองหลังเป็นแบบตัดแสงอัตโนมัติในตอนกลางคืน 

 

 

ตามปกติแล้ว รถที่ใช้บานประตูแบบไร้เสากรอบนั้น เสียงรบกวนที่เล็ดรอดเข้ามา ต้องเยอะกว่ารถปกติ
แต่กับ ซีรีส์ 3 รุ่นคูเป้นั้น เสียงที่ลอดเข้ามา กลับน้อยกว่าที่คิด ที่แน่ๆ น้อยกว่า Nissan 350Z ก็แล้วกัน
รายนั้น วิ่งแค่ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่เสียงที่ลอดเข้ามา ดังอย่างกับนั่ง Toyota Corolla KE70 DX รุ่นก่อนผมเกิดซะอีก

ส่วนรุ่นเปิดประทุนนั้น เสียงรบกวน ก็ถือว่าไม่เยอะอย่างที่คิดไว้
และยังนึกไม่ออกเลยว่า ถ้าเป็นรุ่นเก่าที่ใช้หลังคาผ้าใบ เสียงจะดังขนาดไหนกันหว่า?

 

 

เข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุด ELR Pretension & Load Limiter
ได้รับการพัฒนาทางด้านมุมทางเลขาคณิต เพื่อให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม
ตลอดเวลาในทุกท่านั่ง ลดปัญหาเข็มขัดนิรภัยทำงานไม่เต็มที่เนื่องจากผู้
ขับหรือผู้โดยสารลืมปรับความสูงของเข็มขัดนิรภัยให้เหมาะสมกับสรีระ
นอกจากนี้ ยังมีแขนยื่นเข็มขัดนิรภัยมาให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารอีกด้วย
เมื่อคาดเสร็จแล้ว แขนจะถอยกลับไปเก็บเองโดยอัตโนมัติ
ติดตั้งที่ แผงบุผนังของเบาะผู้โดยสารตอนหลัง

 การเข้าออกจากเบาะคู่หลัง ให้ ดึงมือจับบริเวณสีดำที่เห็น ดึงพนักศีรษะให้โน้มมาข้างหน้า
แล้วกดสวิชต์ไฟฟ้า เลื่อนเบาะ ขึ้นมาข้งหน้าตามไปด้วย
ในทางกลับกัน หากจะดึงเบาะกลับที่เดิม ก็ใช้วิธีเดียวกัน แต่กลับกันแค่นั้นเอง 

 

 

 

เบาะนั่ง ที่ให้มา เมื่อเปิดเที่ยบกับแค็ตตาล็อกในเวอร์ชันยุโรป
ถือเป็นเบาะนั่งแบบมาตรฐาน มิใช่แบบสปอร์ต ซึ่งจะโอบกระชับกับลำตัวมากกว่าเล็กน้อย
หนังที่ใช้หุ้มเบาะ เป็นแบบ Dakota
มีสวิชต์ปรับตำแหน่งด้วยไฟฟ้า สำหรับทั้งผู้ขับขี่ และผู้โดยสาร
เฉพาะฝั่งคนขับเท่านั้น ที่มีระบบหน่วยความจำทั้งตำแหน่งเบาะคนขับ
กระจกมองข้างปรับ และพับเก็บด้วยไฟฟ้า  2 ตำแหน่ง
แต่ไม่มีระบบปรับดันหลัง Lumbar Support มาให้

โครงสร้างตัวเบาะของรุ่นคูเป้ จะเรียบง่าย และมาในรูปแบบมาตรฐาน

 

 

แต่โครงสร้างตัวเบาะของรุ่นเปิดประทุนนั้น จะแตกต่างจากรุ่นคูเป้ในหลายจุด
ทั้ง ตำแหน่งของเข็มขัดนิรภัย ซึ่งถูกติดตั้ง เข้ากับชุดเบาะไปเลย
พนักพิงหลัง และพนักศีรษะ ยังมีความหนา เมื่อมองจากสายตา ก็ยังไม่เหมือนกัน

 

 

 

อย่างไรก็ตาม ชุดฐานรองเบาะ ของทั้ง 2 ตัวถัง เหมือนกัน

ส่วนที่วางแขนบนแผงประตู และตำแหน่งคอนโซลกลางนั้น ถือว่า วางแขนได้ดี
ฝาปิดกล่องคอนโซลกลาง แยกฝั่งเลื่อนขึ้นหน้า ถอยหลังได้ เฉพาะฝั่งคนขับ

แต่กล่องคอนโซลกลางนั้น  มีช่องวางโทรศัพท์มือถือ ต่อกับระบบ Bluetooth

แต่นอกนั้น อย่าหวังว่าจะวาง CD ได้สะดวกนักเลย ควรอาศัยแผงประตูด้านข้าง เป็นที่เก็บกล่อง CD จะดีกว่า

 

 

ส่วนเบาะนั่งแถวหลังนั้น การเข้าออกของรุ่นคูเป้ หากเทียบกับรุ่นเปิดประทุน
ในยามที่ปิดหลังคาแข็งครอบทับอยู่นั้น แน่นอนว่าทำได้ลำบากพอกัน

แต่เมื่อใดที่เปิดหลังคา รุ่นเปิดประทุนนั้น  ย่อมเข้าออกได้สบายกว่า เพราะไม่มีหลังคามาเป็นอุปสรรค

 

 

 

เบาะหลังนั้น ออกแบบมาให้นั่งได้เพียงแค่ 2 คน ตามรูปแบบของรถยนต์แบบ 4 ที่นั่ง (4 Seater) โดยทั่วไป
รุ่นคูเป้ และเปิดประทุน ใช้ชุดพนักพิงไม่เหมือนกัน ตำแหน่งที่วางแขน แค่คล้ายกัน แต่ไม่เหมือนกัน
เพราะในรุ่นคูเป้นั้น มีที่วางแขน ดึงลงมาใช้งานด้ พร้อมกับที่วางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง ช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารทั้ง 2 และช่องวางของจุกจิกแบบมีฝาเลื่อนปิด

 

 

นอกจากนี้ รุ่นเปิดประทุน ยังมีระบบป้องกันการกระแทกของศีรษะ เมื่อรถเกิดพลิกคว่ำ มันถูกติดตั้งด้านหลังพนักศีรษะ คู่หลัง

และจะดีดตัวขึ้นมาเพื่อช่วยค้ำยันไว้ ในกรณีที่เซ็นเซอร์ของระบบ จับได้ว่า รถกำลังเสียการทรงตัว

อย่างไรก็ตามอย่าหวังจะหาความสบายจากเบาะหลัง ของทั้ง 2 ตัวถัง เพราะ พนักพิงหลังแข็ง เป็นไม้กระดาน ทั้งคู่
เหมาะแค่เพียง โดยสารติดรถไปด้วย ในระยะทางสั้นๆ ขืนนั่งยาวๆ มีสิทธิ์ ต้องให้เพื่อนฝูงช่วยฉุดออกมาจากรถ เมื่อเข้าจอดก็เป็นได้
แต่กระนั้น ถือว่า เบาะนั่ง ทำออกมาได้ดีกว่า รุ่นคูเป้ ของซีรีส์ 3 ทั้ง 2 เจเนอเรชันที่แล้ว นิดหน่อย

 

 

 แม้ว่ารุ่นคูเป้ จะสามารถพับที่วางแขนตรงกลางลงมาได้
แต่กับรุ่นเปิดประทุน มันไม่อาจวางแขนได้แต่อย่างใด
มันเป็นแค่ฝาเปิดช่องวางของที่มีตาข่ายรองรับเท่านั้นเลย

 

 

 

และเมื่อพับพนักพิงทั้งชุดลงมา ก็จะเป็นเพียงแค่ที่เห็น ไม่สามารถทะลุไปยังห้องเก็บของด้านหลังได้
ก็ถ้ามันพับทะลุได้ขึ้นมาเมื่อไหร่ ก็คงจะเรียกว่าเป็นเรื่องอัศจรรย์ของวงการรถยนต์เลยทีเดียว
ที่สามารถสร้างรถเปิดประทุน เปิดเบาะหลังทะลุห้องเก็บของได้ และโครงสร้างตัวถัง ก็ยังแข็งแกร่ง ไม่เสียรูปได้ง่าย

นั่นละ ในฝันเลย…เมื่อคืนก่อน ยังไม่เป็นจริงหรอก

 

 

ส่วนเบาะรองนั่ง ทั้งรุ่นคูเป้ และ เปิดประทุน ใช้แบบเดียวกัน พยายามออกแบบให้รองรับต้นขา
มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แต่ ก็ยังทำได้ไม่ดีนัก เนื่องจากข้อจำกัดของพื้นที่ห้องโดยสาร

ทั้งรุ่นคูเป้ และเปิดประทุน มีช่องแอร์สำหรับผู้โดยสาร 2 ช่อง สำหรับทั้งฝั่งซ้ายและขวา
รุ่นเปิดประทุนนั้น มีฝาเปิด-ปิด ช่องวางของจุกจิก ทีคั่นกลางเบาะนั่งทั้งสองฝั่ง ขณะที่รุ่นคูเป้ กลับไม่มีให้

 

 

หากคุณเป็นคนตัวไม่สูงเกินไปกว่า 175 เซ็นติเมตร คุณจะเข้าไปนั่งด้านหลังได้อย่างพอเหมาะ
พอมีพื้นที่เหนือศีรษะ เหลือเอาไว้บ้าง อย่างเช่นตา Louise ซึ่งสูงประมาณ 170 เซ็นติเมตร นั่งให้ดูเป็นตัวอย่าง
พอมีพื้นที่วางขาเหลืออยู่บ้าง แต่ไม่มากนัก และเบาะรองนั่ง ก็จะต้องสั้นกว่ารถปกติ เป็นธรรมดา อย่าคาดหวังความสบายนัก

 

 
ใครซื้อรุ่นคูเป้ ก็ถือว่าโชคดีเพิ่มขึ้นมาอีกเรื่อง นั่นเพราะ เบาะหลังของรุ่นคูเป้
สามารถแบ่งพับได้ในอัตราส่วน 60 : 40 เพิ่มเปิดทะลุไปยังห้องเก็บของด้านหลังได้สะดวกขึ้น

 

 

 

 แต่การจะพับเบาะหลังลงไปนั่น คุณต้องเดินมาเปิดฝากระโปรงท้ายเสียก่อน มีช็อกอัพ ค้ำ 2 ฝั่ง

 

 

จากนั้น เห็นใช่ไหมครับ มือจับ ดึงปลดล็อกพนักพิงหลัง มีทั้ง 2 ฝั่ง สำหรับเบาะหลังฝั่งซ้ายและขวา

นอกจากนี้ เฉพาะรุ่นคูเป้ ยังมีตาข่าย สำหรับยึดสัมภาระ แถมมาให้ด้วย 2 จุด

 

 

 

 ฝั่งซ้ายมือทำเอาไว้เป็นบล็อก ทั้งกล่องสำหรับติดตั้งเครื่องเล่น CD-Changer แบบ 6 แผ่น มีที่วางอุปกรณ์ป้ายฉุกเฉิน และที่วางของเล็กๆน้อยๆ

 

 

ห้องเก็บสัมภาระด้านหลังของรุ่น เปิดประทุนนั้น มีความจุ 350 ลิตร ตามมาตรฐาน VDA
และแม้ว่า จะพับหลังคาเก็บลงมาแล้ว ก็ยังมีพื้นที่วางของ ใต้ชุดหลังคาที่พับเก็บลงมา
รวมแล้ว อยู่ที่ประมาณ 210 ลิตร (VDA)

 

 

 และเพื่อความปลอดภัย แผงพลาสคิกที่เห็นนี้ จึงถูกออกแบบขึ้นมา
เพื่อลดปัญหา การเปิดประทุน แล้วชุดหลังคาที่พับลงไป เกิดเบียดบัง
สัมภาระที่ห้องเก็บของด้านหลัง ถ้าต้องการจะแบกกระเป๋าเดินทางเยอะหน่อย
ยกแผงพลาสติกที่ว่านี้ขึ้นไป แต่ถ้าต้องการพับหลังคา ให้ดึงแผงพลาสติกนี่
กดลงมาอย่างที่เห็นในรูปเสียก่อน

 

 

ด้านหลังของฝากระโปรงท้าย มีช่องสำหรับใส่เครื่องเล่น CD-Changer 6 แผ่น และมีพื้นที่พอสำหรับใส่กระเป๋าเดินทาง แบบเ้ช้าไปเย็นกลับ

 

 

ในรุ่น 325i ขึ้นไป BMWจะติดตั้งระบจอมอนิเตอร์ On Board
พร้อมสวิชต์ หมุนๆ i-Drive ที่ทำงานหลายร้อยฟังก์ชัน ใน 1 เดียว มาให้ปวดหัวเล่น

มันเป็นชุดเดียวกันกับที่ติดตั้ง ใน 320d ซาลูน ประกอบในประเทศ
และนั่นหมายความว่า จะมีชุดโทรทัศน์ ติดตั้งมาให้ด้วย แบบแยก 2 จอได้

 

 

ขณะที่แผงหน้าปัดของ 320d กลับเป็นชุดแผงหน้าปัดในรุ่นพื้นฐาน ไม่มีระบบจอมอนิเตอร์ On Board  และ i-Drive มาให้แต่อย่างใด

ไฟในเก๋งห้องโดยสาร และไฟอ่านแผนที่ มีมาให้ 2 ชุด คือตอนหน้า ใกล้กระจกมองข้าง และตอนกลางรถ

 

 

ชุดมาตรวัดของรุ่น 325i ทั้ง 2 ตัวถัง ส่วนมาตรวัดของรุ่น 320d นั้นจะแตกต่างเล็กน้อย
ตรงที่ รอบเครื่องยนต์ จะกวาดไปถึงแค่ 5,500 รอบ/นาที โดยพื้นที่ Red Line เริ่มตั้งแต่ 4,750 รอบ/นาทีขึ้นไป

 

 

แต่การปรับระดับสูงต่ำและระยะห่างใกล้-ไกลของพวงมาลัยแบบ 3 ก้าน
พร้อมสวิชต์ควบคุมชุดเครื่องเสียง และโทรศัพท์ Multi-Function
ยังคงต้องใช้ก้านโยกแบบมาตรฐานตามเดิม

 

 

ทุกรุ่น บริเวณคั่นกลางช่องแอร์บนคอนโซลกลางทั้งซ้าย-ขวา
มีสวิชต์ ไฟฉุกเฉิน สวิชต์ ปลด และสั่งล็อกประตู และสวิชต์ สั่งหรือปลดการทำงานของ
ระบบ DTC (Dynamic Traction Control) ซึ่ง หากคุณขับขี่อยู่ในเมือง ตอนฝนตก ขอแนะนำว่า
เปิดระบบเอาไว้น่าจะดีกว่า เพื่อลดความเสี่ยงต่ออาการเร่งออกตัวอย่างรุนแรง แล้วล้อฟรีไปได้พอสมควร

ชุดเครื่องเสียง ให้คุณภาพเสียงที่ดีที่สุดคันหนึ่งเท่าที่เจอมาใน BMW
นอกเหนือจากใน 530i ก็แน่ละ มันเป็นชุดเดียวกับใน 320d เลยนั่นเอง

ความพิเศษอย่างหนึ่งของสวิชต์ บนหน้ากากชุดเครื่องเสียงคือ
แค่เพียงเอานิ้วไปแตะ ไปยังสวิชต์เบอร์ 1- 8 ยังไม่ต้องกดลงไป บนหน้าจอ มอนิเตอร์
จะแสดงผลขึ้นมา ด้านล่างของจอ ว่า วิทยุ ที่คุณบันทึกไว้ เป็นคลื่นไหนๆ บ้าง
เอานิ้วลูบลากซ้าย-ขวา มันก็จะแสดงขึ้นมาจนครบตามต้องการ เพื่อให้คุณ กดเลือกได้ทันที
ลดการละสายตาขณะขับขี่ไปได้บ้าง ไม่มากนัก แต่ก็ยังดีกว่า ให้ผู้ขับขี่ คลำกดไปเรื่อยๆ
หาคลื่นที่ตนต้องการเอาเอง

 

 

แต่ อย่างที่บอกไปแล้วว่า ในรุ่น 320d หรือ 320i ทั้ง 2 ตัวถัง จะไม่มีจอมอนิเตอร์ On Board
พร้อมระบบ i-Drive อันน่าวุ่นวายปวดหัวมาให้

จึงมีแต่เพียงแผงคอนโซลกลางแบบเรียบๆ จืดชืด พร้อมกับ เครื่องปรับอากาศอัตโนมัติ
แยกฝั่งซ้าย-ขวามาให้ เหมือนเช่น 325i ทั้ง 2 คัน

และชุดเครื่องเสียง แบบ Professional ซึ่ง ให้คุณภาพเสียง ที่ ดี ไม่แพ้ 325i
ยังไงๆ ก็ดีกว่าแบบ Bussiness ซึ่งให้เสียงแข็งทื่อมะลื่อ นั่นแล้วกัน

เห็นหน้ากากวิทยุ ดูธรรมดาๆ เบสิกๆ แบบนี้ แต่ มีระบบ Bluetooth ในตัว
เหมือนรุ่น ที่มีจอ มอนิเตอร์ข้างบน คุณอาจต้องใช้เวลาในการเรียกใช้งานสักหน่อย
มันอาจไม่สะดวกนัก แต่มันก็มีมาให้ และ คุณภาพเสียงในการโทรออก-รับสาย
ของ ระบบ Bluetooth ใน รถทั้ง 3 คันที่นำมาลอง ถือว่าทำได้ดีมาก

 

 

การตกแต่งภายในห้องโดยสาร นั้นไม่เพียงแต่จะเน้นความสวยงามยามกลางวัน
เพราะในช่วงกลางคืน เมื่อเปิดชุดไฟหน้า จะสั่งให้รถเปิดเองแบบอัตโนมัติ
หรือเปิดเองแบบอัตโนมือ ไฟ Ambient บริเวณไฟส่องแผนที่ และแผงประตูทั้ง 2 บาน
ก็จะติดสว่างขึ้น เรืองแสงเป็นสีแดง เข้ากับโทนของเบาะนั่ง

 

 

ใน รุ่นอื่นๆของ ซีรีส์ 3 นั้น ชุดอุปกรณ์ปฐมพยาบาล จะถูกติดตั้งไว้ ที่ห้องเก็บของด้านหลัง ฝั่งขวา
แต่ในรุ่นเปิดประทุนนั้น BMW เลือกจะแอบซ่อนอุปกรณ์ ชุดนี้ ไว้ที่ใต้ฐานเบาะนั่งด้านซ้าย ฝั่งคนขับ
และเช่นเคย เหมือนกันทั้ง 3 รุ่น ข้าวของที่เตรียมมาให้แต่ละอย่างนั้น มันเยอะมาก
จนแทบจะเปิดหน่วยแพทย์อาสาเคลื่อนที่ ทำคลอด กลางทางด่วน ตอนรถติด ได้เลย!

 

 

ในรุ่นเปิดประทุนนั้น หลังคาแข็ง ทุกแบ่งเป็น 3 ชิ้น และพับเก็บได้ ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า
โดย สวิชต์ชุดนี้ ติดตั้งไว้ใกล้กับ ปุ่มหมุนควบคุม ระบบ i-Drive

 

 

ถ้าต้องการจะเปิดหลังคา ให้ใช้นิ้ว เกี่ยวสวิชต์นี้ ดึงขึ้น
และต้องดึงค้างไว้ ไม่เช่นนั้น หลังคาก็จะหยุดค้าง ระบบจะส่งเสียงสัญญาณเตือนขึ้นมา

การจะพับมันเก็บนั้น ต่อให้คุณ ตั้งใจจะเร่งเร้า ให้ประทุนหลังคามันปิดเร็วเข้าเพียงใด
มันก็ไม่มีทางทันใจไปกว่า เวลา 23 วินาที ซึ่ง BMW ได้บอกไว้

และ นั่น ก็ ทำให้ผมกับเจ้ากล้วย ต้องขายขี้หน้าประชาชี

 

 
 เพราะในยามค่ำคืนวันเสาร์ หลังจากที่เราทดลองตัวเลขต่างๆเสร็จสิ้นลง

ระหว่างที่เจ้ากล้วยกำลังพา 325i เปิดประทุน ไปยังบ้านของตนเอง แถวศรีนครินทร์
เราเกิดคิดได้ตรงกันว่า จะเอารถเปิดปะทุนมาขับหาพระแสงของ้าวด้ามยาวปลายแหลม (หอก) อันใด
ถ้าไม่เปิดหลังคารับลมเย็นๆยามเที่ยงคืนเยี่ยงนั้น

คิดได้ปุ๊บ มือก็กดลงไปที่สวิชต์เปิดหลังคาปั๊บ กะเก็งว่าจะรับอากาศที่เย็นสบายยามค่ำคืนอย่างเต็มที่

 
 
 
 
 

แต่ พอขับมาได้แป๊บเดียว

ฟ้าเบื้องบน ซึ่งมักชอบแกล้งผู้คนเล่นเสมอ
ก็ ทำเอาเราเหวอกันสุดชีวิต

แหงละ พี่ท่านเล่นปล่อย สายฝนหลงฤดูจากสรวงสวรรค์
หล่นลงมาจากฟากฟ้าชั้นไหนก็ไม่รู้ละ

 
 
 
 

แต่ที่รู้ก็คือ

พ่อครัว แม่ครัว หน้าร้านส้มตำไก่ย่างริมทาง
ต่างพากันหันมอง รถเปิดประทุนสีเงิน เบาะนั่งสีแดง
พร้อมกับ ไอ้บ้า 2 หน่อ ที่ตาลีตาเหลือก จอดรถกัน
ตรงหน้าร้านของเขา และรีบดึงสวิชต์ปิดหลังคาขึ้นมา
แล้วก็ลุ้นกันอย่างจ้าละหวั่น ว่าจะปิดทันเม็ดฝนโปรยหนักหนากว่านี้หรือไม่

 
 
 
 

หลังคาปิด หยาดฝนทิ้งคราบของตนไว้เล็กน้อยบนพื้นผิววัสดุในห้องโดยสาร
หันมามองหน้ากันสองคน แล้วเราก็ทำในสิ่งที่ อยากทำเป็นที่สุด

คือ…พึมพำก่นด่าเทวดา ที่อุตริ ปล่อยฝนฟ้า ให้ตกลงมา อย่างไม่ดูตาม้าตาเรือเอาเสียเลย….

แง่งงงงงงงงง!

 
 
 
 
แต่ แม้ว่าการขับรถเปิดประทุน จะเท่ จะรื่นรมณ์ปานใด

ข้อที่น่าตำหนิที่สุดของ 325i Convertible คันนี้ก็คือ
หลังคาแข็งพับได้นั้น มีน้ำรั่วซึมออกมา บริเวณ จุดเชื่อมต่อ
ระหว่าง เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar และ แผ่นหลังคา ที่เชื่อมประกบกันกับเสา A
ฝั่งคนขับ ทั้งที่รถแล่นไปได้แค่เพียง 6,000 กิโลเมตรเท่านั้น !
แน่นอนละ BMW อาจะบอกว่า มันเป็นปัญหาเฉพาะคัน
แต่ถ้าลูกค้า เป็นคนที่ได้มีโอกาสทดลองขับรถคันนี้แทนผม และเจอเรื่องนี้เข้ากับตัวเขาเองละ?

มันไม่ใช่เรื่องดีแน่ๆ

 

 

ทัศนวิสัย จากตำแหน่งคนขับ ของรุ่นคูเป้ และเปิดประทุน นั้น เนื่องจาก ทั้งคู่ใช้เสาหลังคาคู่หน้าเหมือนกัน
ดังนั้น การมองเห็น ภาพที่อยู่ข้างหน้า และด้านข้าง จึงเหมือนกัน ในตำแหน่งเดียวกัน 

 

 

เสาหลังคาฝั่งขวา ไม่ได้บดบังต่อทัศนวิสัยการมองเห็นขณะเข้าโค้งขวา
บนถนนแบบ 2 เลนสวนกัน

 

 

กระจกมองข้าง มีขนาดเล็ก และออกแบบเพื่อเน้นแก้ปัญหาด้านอากาศพลศาสตร์
รวมทั้งขยายความยาวของมันออกไปเพียงน้อยนิด และผู้ขับขี่ต้องปรับตัวให้เข้ากับ
กระจกมองข้างแบบนี้ และอาจต้องใช้ความระมัดระวังเพิ่มขึ้นขณะเปลี่ยนเลน
ก็เหมือนกับ ซีรีส์ 3 ซาลูน นั่นละครับ

 

 

เสาหลังคาฝั่งซ้าย  ไม่บดบังทัศนวิสัย จากการเลี้ยวกลับรถ
การวางตำแหน่งเสา และระยะห่างต่างๆ ทำได้ดี

แต่ไม่ใช่กับ กระจกมองข้าง ที่เล็กไปสักหน่อย
และต้องเพ่งกันพอสมควร อย่างที่เห็นขนาดรถแท็กซี่ในภาพ

 

 

ทัศนวิสัยด้านหลังนั้น ดีกว่าที่คิดไว้เล็กน้อย
ถ้าเป็นรุ่น 320d Coupe  เพดานหลังคาจะบุด้วยผ้าสีดำ จะทำให้ห้องโดยสารดูทึบกว่าใน 325i Coupe
ส่วนด้านหลัง พนักศีรษะ ของรุ่นคูเป้ ไม่ได้บดบังรถที่ตามมามากมายนัก
แม้ว่าเสาหลังคาจะดูเหมือนหนาก็ตาม กระนั้นพื้นที่กระจกหน้าต่างด้านหลัง
กลับดูมีขนาดใหญ่ขึ้นจากรุ่นก่อน

 

 

แต่ ในรุ่นเปิดประทุนนั้น พนักศีรษะที่ใหญ่มาก ทำให้มีการบดบังรถจากด้านหลังพอสมควร
แม้ว่า ขนาดของ เสากรอบหลังคา (So-call C-Pillar เพราะมันไม่มีเสาที่ว่านี้กับรุ่นเปิดประทุน)
บางกว่า เสา C-Pillar ของรุ่นคูเป้ แต่ กลับกลายเป็นว่ารุ่น คูเป้ มีทัศนวิสัยด้านหลัง ที่โปร่งกว่า

ดังนั้น ถ้าอยากถอยรถเข้าจอดแบบไม่ต้องเครียดมาก เปิดหลังคาถอยรถไปเลย!

 

————————————-

 

********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

อยากบอกให้รู้ว่า
ในระยะหลังๆมานี้ ทุกครั้งที่จะต้องเขียนรีวิวรถยนต์ BMW

ผม ปวดกบาลมากกกกกกก

ทำไม?
ก็เพราะว่า เมื่อลองเช็คข้อมูลทางเทคนิค ทั้งในเมืองนอก และเมืองไทย
พบว่า มันมักไม่ค่อยตรงกันเท่าไหร่

คือ เครื่องยนต์ ของ ซีรีส์ 3 และ 5 ในช่วงหลังๆมานี้
ต้องคอยดูเวอร์ชันของรุ่นเครื่องยนต์ และความจุกระบอกสูบให้ดีๆ
บางครั้ง เครื่องยนต์ มีแรงม้าเท่ากันเป๊ะ แต่ พอดูความจุกระบอกสูบดีๆ
อ้าว เฮ้ย มันคนละเรื่องเลย  ก็คิดเอาง่ายๆว่า เครื่องยนต์ 3,000 ซีซี
ถูกเซ็ตมาให้มีแรงม้าสูงสุด 218 ตัว เท่ากันกับเครื่องยนต์ 2,500 ซีซี เนี่ยนะ!

คือเข้าใจอยู่ว่า เป็นการเซ็ตเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการใช้งาน
รวมทั้งพิกัดอัตราภาษีนำเข้าของแต่ละประเทศที่เข้าไปทำตลาด
แต่ ไอ้ที่ทำกันอยู่นี่ เล่นเอา งงมากกกกกกกกกกกกกกกกกกก

 

 

ขนาดว่า พี่ไหม พีอาร์ ใจดีแห่ง BMW เคยให้ ชุด Press Pack
ภาษาอังกฤษ ของ ซีรีส์ 3 ทั้งคูเป้ และเปิดประทุน มาก่อนล่วงหน้าเป็นปีแล้ว
และก็ได้ใช้ประโยชน์กัน ก็คราวนี้ละ แต่พอไล่เช็คสเป็กอีกที อ้าว เว้ยเฮ้ย มันไม่ตรงกันแหะ

ประโยคที่ว่า
“บริษัท ขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบต่างๆ โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้า”
ที่ผมคุ้นตา ในแค็ตตาล็อกรถยนต์บ้านเรา มาตั้งแต่เด็ก ก็เริ่มผุดกลับมาวนเวียนในสมองผม
พร้อมกับอารมณ์เซ็งหน่อยๆ….

จนต้องโทรเช็คกับ คุณ Big ฝ่ายเทคนิค ของ BMW เองนั่นแหละ
จึงได้ยืนยัน Make sure ว่า…

เครื่องยนต์ ที่วางอยู่ใน ทั้ง 325i Coupe และ Convertible นั้น
เป็นรหัส M57 แบบ 6 สูบ DOHC 24 วาล์ว 2,497 ซีซี
พร้อมระบบแปรผันวาล์ว VALVE TRONIC และ ระบบ Double VANOS

 

ให้พละกำลังสูงสุด 218 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 250 นิวตันเมตร หรือ 25.45 กก.-ม. ที่รอบเครื่องยนต์ตั้งแต่ 2,750 – 4,000 รอบ/นาที

ตัวเลขกำลังแรงม้านั้น ค่อนข่างชัดเจนว่า ถูกจำกัดเอาไว้ ไม่ให้เกินกว่าขอบเขตเพดานของพิกัดภาษีนำเข้ารถยนต์ในบ้านเรา

เพราะถ้าแรงเกินกว่านี้ เห็นทีว่า ราคาจะกระโดดไปไกลเกินกว่าที่แพงอยู่แล้วในทุกวันนี้ ไปอีกเกินจินตนาการ! 

 

ส่วนรุ่น 320d คูเป้ นั้น
วางเครื่องยนต์ รหัส M47TUD20
ดีเซล บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,995 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 90.0 x 84.0 มิลลิเมตร
อัตราส่วนกำลังอัด 16.0 : 1
ใช้ระบบกล่องสมองกลควบคุมเครื่องยนต์ DDE 7.1
ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยระบบคอมมอนเรล เจเนอเรชันที่ 3
Direct Injection พร้อมเทอร์โบชาร์จ

กำลังสูงสุด 177 แรงม้า (HP) หรือ 130 กิโลวัตต์ ที่ 4,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 35.6 กก.-ม. หรือ 350 นิวตันเมตร ที่รอบเครื่องยนต์ตั้งแต่ 1,750 – 3,000 รอบ/นาที

 

ในเวอร์ชันยุโรป ซึ่งส่งกำลังด้วยเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะนั้น
มีระบบ Auto Start/Stop มาให้ ถ้าผู้ขับขี่ ปลดเป็นเกียร์ว่างเมื่อจอดติดไฟแดงเมื่อใด
เครื่องยนต์จะดับลงทันที เพื่อลดการปล่อยมลพิษ และลดการใช้เชื้อเพลิงโดยเปล่าประโยชน์

แต่ในเวอร์ชันไทยนั้น ไม่มีระบบที่ว่า
เพราะเครื่องยนต์ ของรุ่นคูเป้ทุกรุ่น จะส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหลัง ด้วยเกียร์อัตโนมัติแบบ 6 จังหวะ
พร้อมโหมดบวก-ลบ Steptronic ที่ให้ผู้ขับขี่เลือกเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ได้เอง จาก ZF

เรายังคงทดลองหาอัตราเร่งกันโดยใช้เวลากลางคืน เปิดไฟหน้า เปิดแอร์ ด้วยพัดลมเบอร์ 2 และนั่ง 2 คน รวมคนขับ
มีน้องกล้วย (BnN : a  member of our “The Coup” Team) น้ำหนักตัว 48 กิโลกรัม
ช่วยจับเวลาตามเคย รวมน้ำหนักตัวผู้ขับขี่ 92 กิโลกรัมแล้ว น้ำหนักรวมทั้ง 2 คนจะอยู่ที่ 140 กิโลกรัม

และนี่คือตัวเลขที่ได้ เมื่อเปรียบเทียบกับ ซีรีส์ 3 เจเนอเรชัน นี้ ในแต่ละรุ่น ที่เราเคยทำรีวิวกันมา
รวมทั้งรถยนต์จาก คู่แข่ง มีดังนี้

 

 

 

ถ้าดูจากตัวเลขที่เห็น จะพบว่า ความเร็วสูงสุด มันไม่ได้ต่างกันมากมายนัก
ไมล์แก่ไมล์อ่อนในแต่ละคน ก็มีผลกันบ้างเล็กน้อย ไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญนัก

แต่สิ่งที่ผมอยากให้สังเกตความแตกต่าง อยู่ที่อัตราเร่ง

การทดลองครั้งนี้ เราได้เห็นข้อเท็จจริงบางอย่างเกิดขึ้น

1. การที่ 325i รุ่นเปิดประทุน มีน้ำหนักโหลด เพิ่มขึ้น 200 กิโลกรัม จากชุดหลังคา มันส่งผลให้อัตราเร่ง
(ซึ่งเราทำตอนปิดหลังคา) ด้อยลงไปจากรุ่นคูเป้ปกติ ถึง 1 วินาที เกือบครึ่ง

2. เอาเข้าจริงแล้ว อัตราเร่งของ 325i Coupe ทำได้ดีกว่า 320d Coupe เพียงแค่ 0.2 วินาทีเท่านั้น

3. หากเป็นเครื่องยนต์ BMW ดีเซล 2.0 ลิตร แล้ว ตัวถังที่เปลี่ยนไป หากน้ำหนักไล่เลี่ยกัน
ตัวเลขสมรรถนะจะออกมาไม่ต่างกันนัก ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของเครื่องยนต์ ในรถคันนั้นๆ เป็นสำคัญ
ดูได้จากตัวเลขในตารางของรุ่น Saloon และ Coupe เทียบกัน

4. ถ้าเทียบกับ 330d Coupe กับ 330i เบนซิน Saloon  เครื่องยนต์ 3.0 ลิตรเท่ากัน
แต่ต่างกันเพียงรูปแบบเครื่องยนต์ แม้จะให้อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ต่างกันราว 0.1 วินาที แต่ ในช่วงอัตราเร่งแซง 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง กลับทำได้ดีกว่าชัดเจน

5. เครื่องยนต์ 2.5 ลิตร ของ BMW มีสมรรถนะ พอกันกับ Lexus IS250
แต่ในช่วงอัตราเร่งแซง 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง IS250 จะทำได้ดีกว่า นิดนึง ไม่เยอะนัก
ภาพรวมถือว่า พอกัน

6. อีกเรื่องที่น่าสังเกต คือ เครื่องยนต์ 1.8 ลิตร ซูเปอร์ชาร์จ ของ Mercedes-Benz C200 Kompressor
ให้ อัตราเร่งที่ดีไล่เลี่ยกันกับเครื่องยนต์ 6 สูบ 2.5 ลิตร แบบไม่มีระบบอัดอากาศเลย

 

 

แต่ตัวเลขที่สรุปกัน มันก็เป็นเพียงแค่ประเด็นหนึ่ง เพราะอีกประเด็นที่สำคัญอยู่ที่การตอบสนองจริง

ทันทีที่กดคันเร่งจนจมมิด เสียงหวานๆของเครื่องยนต์ จะดังคำรามขึ้นมา
พร้อมกับเสียงวี๊ดดดดด เล็กๆ ประสานขึ้นมาดุจเสียงประสานของ เครื่องเป่า ในบทเพลงคลาสสิค
ซึ่งจะหายไป เมื่อ ถอนเท้าออก หรือเกียร์ เปลี่ยนขึ้นไปเป็นจังหวะต่อเนื่องกันแล้ว

ขณะที่ รุ่น 320d Coupe นั้น ชวนให้ผมหวนนึกึงบรรยากาศเมื่อครั้ง นำ 320d Saloon มาลองขับ

การออกตัวที่พุ่งโผนไปข้างหน้า ยังคงทำให้ผมประทับใจได้อยู่เสมอ

เพียงแต่ว่า อาจต้องระมัดระวังสักหน่อย บนถนนลื่นๆ อย่าลืมกดปุ่ม DTC ให้ทำงานด้วยจะเป็นการดี

 

 

แต่อัตราเร่งแบบฉุดกระชากหลังติดเบาะที่สุด เห็นจะต้องยกให้ 330d Coupe
ซึ่งไมได้อยู่ในการทดลองครั้งนี้ แต่ กระนั้น 320d Coupe ก็ยังให้แรงดึงขณะออกตัวที่น่าตื่นเต้นไม่แพ้กัน
แม้ว่าตัวเลขอัตราเร่งที่ได้ จะออกมาใกล้เคียงกับรุ่น 325i ก็ตาม

 

ระบบกันสะเทือนแม้จะใช้แพทเทิร์นเดียวกันหมด ด้านหน้าแบบสตรัต ด้านหลังแบบมัลติลิงค์ 5 จุดยึด

แต่เอาเข้าจริงแล้ว ทั้ง 3 คัน ก็ยังมีบุคลิกของระบบกันสะเทือนที่แตกต่างออกไป
หากเรียงลำดับตามความนุ่มนวล ไปจนถึงแข็งที่สุด แล้วนั้น
325i Convertible คว้าตำแหน่งนุ่มที่สุดในกลุ่ม ไปครองสบายๆ

ระบบกันสะเทือนของรุ่นเปิดประทุน นั้น จะถูกปรับเซ็ตมาให้แตกต่างจาก ซีรีส์ 3 รุ่นอื่นๆ เล็กน้อย
และถือว่านุ่มที่สุดในบรรดาซีรีส์ 3 ทกรุ่นที่เคยเจอมา กล่าวคือ การตองสนองทั้งบนพื้นผิวถนน บนทางด่วน
ไปจนถึงลูกระนาดตามตรอกซอกซอย ช่วงล่างของรุ่นเปิดประทุน จะเน้นความนุ่มกว่าตัวถังอื่นๆนิดหน่อย
และซับแรงสะเทือนเอาไว้ เพื่อเน้นความสบายในการขับขี่ รับลมชมแสงจันทร์ แม้จะยังคงบุคลิกสปอร์ตเอาไว้ก็ตาม
นุ่มนวลกว่ารุ่น คูเป้ อย่างชัดเจน

ขณะที่ 320d คูเป้ จะอยู่ตรงกึ่งกลางพอดี ขับแล้วไม่รู้สึกถึงความเหนื่อยล้าสะสมเท่าใดนัก

แต่ 325i คูเป้ นั้น กลับสัมผัสได้ถึงความแข็งกระด้างกว่าใครเพื่อน เรียกได้ว่า เซ็ตมาในแนวเอาใจนักขับอย่างแท้จริง
แต่ถึงจะกระด้าง ทว่า  ไม่ดิบจัด การซับแรงสะเทือน กลับทำได้ดี จนผมไม่รู้สึกจะต้องบ่นมากเท่ากับครั้งที่เคยขับ
330i ซาลูน หรือ มินิ คูเปอร์ เอส ซึ่ง ทั้งคู่นั้น ออกแนวสะเทือนจนถึงตับ ม้าม ไต หัวใจ และเซี่ยงจี๊ ไปสักหน่อย
แต่กับ 325i คูเป้ การสะเทือนที่เกิดขึ้น และส่งผ่านพวงมาลัยขึ้นมาให้รับรู้นั้น เป็นอิทธิพลจากยาง
และล้ออัลลอยติดรถ ขนาด 18 นิ้ว มากกว่า จะมีที่มาจากระบบกันสะเทือน

พวงมาลัย แร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ไฟฟ้า แบบ Servotronic แม้จะยังไม่มีระบบ Active Control มาให้
แต่ก็มีระยะฟรีน้อยมาก โดยในรุ่นเปิดประทุนจะมีระยะฟรีมากกว่า ซีรีส์ 3 คันอื่นๆที่เคยลองขับมา อีกนิดนึง
หากอยู่บนพื้นยางมะตอย ที่ปูเอาไว้ราบเรียบดีละก็ พวงมาลัยจะนิ่งมากๆ จนสบายใจได้
แต่เมื่อใดที่เจอรอยต่อถนน หรือผิวถนนเป็นรูปคลื่นเช่นบางนา-ตราด กลับต้องใช้สมาธิ
ในการประคองพวงมาลัยมากกว่าปกติ ในขณะใช้ความเร็วสูง ยังมีอาการดีดดิ้น ไปตามสภาพผิวถนน
แถมยังรับทุกแรงสะเทือน ส่งขึ้นมายังมือของผู้ขับโดยตรง ทำให้ต้องใช้สมาธิ
ในการควบคุมรถมากกว่าเดิม

ขณะที่ในช่วงความเร็วต่ำนั้น มีน้ำหนักมาก ถึงจะไม่ใช่ปัญหาสำหรับผม และคนชอบขับรถ
แต่ถ้า เป็นคนชอบพวงมาลัยน้ำหนักเบาแบบรถญี่ปุ่นแล้ว น่าจะมีบ่นชุดใหญ่แน่ๆ
ซึ่งน่าแปลกว่า อาการนี้  แม้จะพบใน ซีรีส์ 3 ตัวถังซาลูน แต่ก็ไม่เป็นเอาหนักหนามากมายขนาดนี้

ระบบเบรก เป็นแบบดิสก์ 4 ล้อ พร้อม ABS และระบบ Pre-loading
ผ้าเบรกล่วงหน้าเมื่อต้องขับลุยน้ำ ช่วยให้ระยะเบรกไม่เพิ่มขึ้น
โดยระบบ DBC หรือ Dynamic Brake Control จะคำนวณแรงดัน
น้ำมันเบรกที่เหมาะสมให้โดยอัตโนมัติ เสริมด้วยระบบ Soft-Stop ช่วย
ให้การเบรกก่อนรถหยุดนิ่งมีความนุ่มนวล และระบบ Set-Off ป้องกัน
รถไหลถอยหลังเมื่อต้องออกตัวบนทางลาดชัน ตัดปัญหาเบรกในโค้งแล้ว
รถหมุนด้วยระบบ CBC หรือ Cornering Brake Control ใช้ระบบ
หลักร่วมกับ DSC (Dynamic Stability Control)

แป้นเบรกนั้น ค่อนข้างตื้น แต่การบังคับเท้า ทำได้ง่ายดาย
น่าจะถูกใจคนไทยส่วนใหญ่ แต่สำหรับคนที่คุ้นเคยกับแป้นเบรกแบบนุ่มๆเท้า
อาจจะไม่ถึงกับชื่นชอบนัก แต่ความมั่นใจในการชะลอจากช่วงความเร็วสูงจัดอยู่ในเกณฑ์ปานกลางค่อนข้างดี

แต่เฉพาะในคัน 325i คูเป้ สีขาวเพียงคันเดียวนั้น ความพยายามจะบังคับให้รถหยุดนิ่งๆ อย่างนุ่มนวล
ดูจะยากกว่า ซีรีส์ 3 คันอื่นๆที่ผมเจอมา เพราะว่า รถมักจะมีอาการเบรกจนหัวทิ่ม
และไว รวมทั้งยังมีกิริยา “ขนลุก” ทันทีที่หยุดนิ่ง ซึ่งมาจากการเซ็ตระบบเบรกของรถคันนั้น มากกว่า

นั่นคงไม่น่าเป็นเรื่องดีไปได้

 

 

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง **********

 
เท่าที่พอจำความได้ ยังไม่ค่อยเคยเห็น สื่อมวลชน ทั้งในไทยและต่างประเทศรายใด
ที่ยืมรถยนต์จำพวกคูเป้ สปอร์ต หรือเปิดประทุนมา แล้วนำมาทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงกันอย่างจริงจัง มากนัก
ก็แน่ละ ปกติ ผู้คนมักจะคิดล่วงหน้าไว้ก่อนเลยว่า รถประเภทนี้ กินน้ำมันแหงๆ โดยเฉพาะรถเปิดประทุน

แต่กลับไม่มีใครทำตัวเลขออกมาให้ดูกันเห็นๆ บ้างก็บอกว่า ทำทำไม รถพวกนี้ใครเค้ามานั่งสนใจการกินน้ำมันเล่า?

แต่เราจะทำ ใครจะทำไม!! 

 

 

ในเมื่อ คราวนี้ BMW ซีรีส์ 3 ตัวถัง คูเป้ และ เปิดประทุน ใช้เครื่องยนต์ เหมือนกัน คือ 6 สูบ 2.5 ลิตร
ดังนั้น เป็นโอกาสอันดี ที่จะทำการทดลองเพื่อให้คุณๆ ได้เห็นว่า การขับรถเปิดประทุนนั้น
มันสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง มากกว่ารถยนต์หลังคาแข็งแบบทั่วไป มากน้อยต่างกันอย่างไร 

อีกทั้ง ในเมื่อคราวนี้ เราจะมี 320d ตัวถังคูเป้ มาให้ทดลองขับกันด้วย
ก็ควรจะทำการทดลองออกมาให้เห็นเลยว่า เครื่องยนต์เดียวกัน
กับทั้ง 320d ซาลูน และ X3 xDrive 2.0d ถ้าวางในตัวถังคูเป้
ผลลัพธ์ที่ได้ จะแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน

และนั่นคือที่มาของ รูปแบบการทดลองที่ใช้ ซึ่งยังคงเหมือนเดิม
คือ เติมน้ำมัน เบนซิน 95 จากปั้มเชลล์ ปากซอยอารี ถนนพหลโยธิน เต็มถัง
เอาแค่หัวจ่ายตัดก็เพียงพอ เติมกันตั้งแต่ ปั้มนี้ ยังไม่มี วี เพาเวอร์ เบนซิน ขายแหนะ
คิดเอาแล้วกันครับคุณผู้อ่าน ว่ารีวิวนี้ ดองกันนานขนาดไหน เอิ๊กส์!

ส่วนในรุ่น 320d คูเป้ เราก็เติมน้ำมันดีเซล วี เพาเวอร์
เต็มถังและเอาแค่หัวจ่ายตัดก็น่าจะเพียงพอ
ที่รอนานหนะ ก็เพราะรอคันนี้คันเดียวเนี่ยแหละ ฮึ!

จะต่างกัน ก็คงจะแค่นิดเดียว ตรงที่ว่า
รุ่นคูเป้หลังคาแข็งเรา ก็ทำการทดลองไปตามปกติ

ใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง  เปิดแอร์ และนั่งกัน 2 คน ตามเคย
วนไปจนถึง ปลายสุดทางด่วนสายเชียงราก ที่อยุธยา แล้วก็เลี้ยวกลับมา ขึ้นทางด่วนด่านเดิม
มุ่งหน้ากลับเข้ามายังอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ลงทางด่วนแล้วเลี้ยวซ้ายเข้ามา ยังถนนพหลโยธิน
กลับมาเติมน้ำมันที่ปั้มเดิม และหัวจ่ายเดิม จากที่เติมมาก่อนหน้านั้น

แต่ในรุ่นเปิดประทุน…ไหนๆก็ไหนๆ ขอเพิ่ม Condition การทดลองเข้าไปอีกประเด็นนึงแล้วกัน…

เราก็เปิดหลังคาออกจนโล่งโจ้งกันไปเลย…!!
แต่เพื่อความเป็นส่วนตัวเล็กน้อย เราก็ ปิดกระจกหน้าต่าง ทั้งคู่หน้าและคู่หลัง ขึ้นมากั้นเอาไว้สักนิด

ขับขึ้นทางด่วนไปทั้งที่ไม่มีหลังคากันอย่างนั้น นั่นละ!

แรดจริงๆเรา….

 

 

ทุกรุ่น ทุกคัน เราใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ถ่ายภาพมาให้เห็นกันเลยว่า เราใช้ความเร็วนี้จริง

รุ่น 320d Coupe ใช้รอบเครื่องยนต์ ต่ำ ระดับ 1,900 รอบ/นาที

 

 

ส่วนรุ่นเบนซิน 325i ทั้ง Coupe และเปิดประทุน นั้น ใช้รอบเครื่องยนต์ 2,300 รอบ/นาที

 

 

เมื่อถึงปั้มน้ำมัน เราเติมน้ำมันที่หัวจ่ายเดิม เหมือนที่เติมมา
รุ่นเบนซิน เราจับเติม เบนซิน 95 หมือนเช่นทุกคันที่ทำมา
เริ่มจากรุ่น 325i Coupe

 

 

 

ระยะทางที่แล่นไป จากมาตรวัด 92.9 กิโลเมตร 

 

 

 

ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 7.60 ลิตร 

 

 

 

อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 12.22 กิโลเมตร/ลิตร

ถือว่าทำได้ในระดับเดียวกับ Lexus IS250 และประหยัดกวา C200 Kompressor นิดนึง

 

 

ส่วนรุ่นเปิดประทุนนั้น ขุมพลังเดียวกัน กับ 325i Coupe
แต่มีน้ำหนักแบกเพิ่มอีก 200 กิโลกรัม
ของชุดหลังคาเปิดประทุนและกลไกทั้งหมด

 

 

ระยะทางที่แล่นไป 92.3 กิโลเมตร จากมาตรวัด 

 

 

 ปริมาณน้ำมันที่เติมกลับ 8.61 ลิตร

 

 

เฉลี่ยออกมาได้ 10.72 กิโลเมตร/ลิตร

เป็นอันว่า กระจ่างแล้วนะครับ

การขับรถเปิดประทุนนั้น อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง จะเพิ่มขึ้น
หรือเอาง่ายๆว่า กินน้ำมันมากกว่า รถคูเป้ทั่วไป ด้วยเหตุผลของ
น้ำหนักชุดหลังคาที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ตัวรถมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น
และส่งผลต่อภาระที่เครื่องยนต์ จะต้องใช้กำลังในการแบกลากมากขึ้นอีกนิด

 

แต่ถ้าคุณคาดหวังความประหยัด จากรถคูเป้ ระดับนี้แล้วละก็
ขอแนะนำ 320d Coupe!

จากคราวก่อน ที่เคยทำการทดลองกับ 320d ซาลูน เราได้ตัวเลข 16.4 กิโลเมตร/ลิตร
รวมทั้งใน X3 xDrive 20d (ได้ประมาณ 16 กิโลเมตร/ลิตรขึ้นไปนิดหน่อย)
ซึ่งสร้างความตกใจให้กับหมู่เฮาไปแล้ว ว่ามันทำได้จริง

คราวนี้ เครื่องยนต์เดียวกัน ยังคงสร้างปาฏิหารย์ จนเหลือเชื่อ อีกตามเคย ใน ตัวถัง คูเป้

นี่คือระยะทางที่แล่นไป บนมาตรวัด 93.1 กิโลเมตร

 

ปริมาณน้ำมันดีเซล เติมกลับ 5.46 ลิตร

 

 

อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย  17.05 กิโลเมตร/ลิตร!!

เฮ้ยยยยยยยยยยยยยยย บ้าไปแล้วววววววววววววว!
แน่นอน แจ้ส ซิตี้ วีออส ยาริส ทีด้า และรถเล็กอะไรอีกหนา ที่ว่าประหยัดน้ำมันทั้งหลายๆ หลบลงข้างทางไปให้หมด!
จะมีก็แต่ มินิ ใหม่ ทั้งรุ่นธรรมดา และ คูเปอร์ เอส ที่ยังคงสามารถ ยืนหยัดบนสังเวียนความประหยัดได้ดีไม่แพ้กันเลย

 

และยิ่งเมื่อเปรียบเทียบ กับรถในตระกูลเดียวกัน ความแตกต่างยิ่งเห็นได้ชัดเจน

ถ้าจะพูดกันให้ง่ายเข้า ก็คือ 320d Coupe เป็นรถยนต์ระดับราคา เกิน 3.5 ล้านบาท
ที่ทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงดีที่สุด ประหยัดที่สุด ตั้งแต่เคยทดลองมา
และแน่นอน ครองตำแหน่ง รถยนต์สปอร์ตคูเป้ ที่ประหยัดที่สุดเท่าที่ผมเคยเจอมากับตัวเองอีกด้วย!!  

เสียดายเพียงแค่ว่า เราไม่มีโอกาสทำตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของ 330d Coupe มิเช่นนั้น
เราจะได้รู้กันไปเลยว่า เครื่องยนต์ ดีเซล 2.0 และ 3.0 ลิตร ของ BMW นั้น
ให้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงแตกต่างกันหรือไม่ และอย่างไร

 

********** สรุป **********

ถ้าเล็งคูเป้ คิดเอาว่า อยากคุ้ม หรืออยากประหยัด เลือกไปตามนั้น
แต่ถ้ามองรุ่นเปิดประทุนไว้ ก็ไม่ต้องมองรุ่นล่าง

 

 

การนำ ซีรีส์ 3 คูเป้ และเปิดประทุน เข้ามาทำตลาดกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันมากกว่าแต่ก่อน
ของ BMW Thailand เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึง ความพยายามที่จะสร้างทางเลือกให้ลูกค้า
ได้ลดความจำเจ ให้เจือจางไปจากใจของลูกค้าประเภท “พร้อมจ่ายทุกเมื่อ”

 

 

คู่แข่งของ ซีรีส์ 3 คูเป้ และเปิดประทุนนั้น แน่นอน Mercedes-Benz CLK
แต่ในเมื่อวันนี้ CLK จะถูกถอดออกจากตลาด แล้วแทนที่ด้วย การกลับมาของ E-Class Coupe
ซึ่งวาง ตำแหน่งทางการตลาดเอาไว้ ในระดับเดียวกันกับ E-Class Saloon

และนั่น มันสูงกว่าตำแหน่งการตลาดของ ซีรีส์ 3 อยู่พอสมควร
ซึ่งก็ยังชวนให้งุนงงอยู่ว่า การที่เมอร์เซเดส-เบนซ์ ปรับตำแหน่งการตลาด
ของ รถคูเป้ รุ่นสำคัญของตน กลับไปอยู่ ณ ตำแหน่งเดิม ที่มันเคยเป็นเมื่อ 10 กว่าปีก่อน
เกิดจากสาเหตุใดกันแน่

แต่เอาเถอะ แม้ว่า คู่แข่งแท้จริง จะหายไป คงเหลือเอาไว้แต่คู่แข่งหน้าใหม่สำหรับตลาดโลก
อย่าง Nissan Skyline Coupe / Infiniti G37 Coupe

แต่ในเมืองไทย คู่แข่งที่อยู่ในพิกัดราคาเดียวกัน
กลับเป็นรถที่ มีบุคลิกแตกต่างออกไปในแนวสปอร์ตเต็มตัว
เป็นกลุ่ม Everyday Sports Car จำพวก Mercedes-Benz SLK
Audi TT Nissan 370Z  หรือแม้แต่ เพื่อนร่วมค่ายอย่าง BMW Z4 รุ่นล่าสุด

หนักใจใช่ไหมละในการเลือก

 

 

เอาละ ก่อนอื่น เรามาตอบคำถามนี้กันเสียก่อน

Q : คุณต้องการรถแบบไหนกันแน่ ระหว่าง รถสปอร์ต เท่ๆ ในระดับราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท
หรือ รถคูเป้ – เปิดประทุน สำหรับขับสบายขึ้นมาอีกนิด แต่ก็มากกว่า รถสปอร์ตแท้ๆกลุ่มดังกล่าว

A : ถ้าคำตอบ คืออย่างแรก คุณใฝ่หารถในฝัน อยากได้การขับแบบสปอร์ตดิบๆ
มองข้าม 3 คูเป้ – เปิดประทุน ไปได้เลยครับ เพราะ แม้จะดิบกว่ารถทั่วๆไป
แต่ ซีรีส์ 3 ก็ยังจะไม่ดิบเถื่อนนัก หากเทียบกับรถสปอร์ต แบบ Everyday Sports Car เหล่านั้น

แต่ ถ้าคุณใช้ชีวิตในเมือง อยู่ในรถติดๆ เรื่อยๆ พอกันกับ ใช้เวลาขับรถออกไปต่างจังหวัดบ้าง
ไปกับเพื่อน แฟน หรือใครสักคน ที่ไม่ใช่คนรักรถเข้าไส้ ชนิดทนความดิบกระด้างของรถสปอร์ตได้
หรือกำลังมองหารถที่เท่ พอจะเรียกสาว (จะแท้หรือไม่แท้ก็ตาม) ขึ้นมานั่งข้างคุณได้โดยง่าย

คุณ ก็คือ กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของ ซีรีส์ 3 คูเป้ และเปิดประทุน แล้วละ

 

 

ทีนี้ เรามาดูกันดีกว่า ว่าถ้าคุณตัดสินใจจะเืลือก ซีรีส์ 3 คูเป้หรือเปิดประทุนแล้ว คุณควรจะเลือกรุ่นใด…

ค่าตัวของรุ่นคูเป้ E92 ที่มีขายในบ้านเราตอนนี้ อันเป็นราคาป้ายตั้งขายไว้

320i Coupe             3,999,000 บาท
320d Coupe            4,299,000 บาท
325i Coupe SE        4,900,000 บาท
325i Coupe Sport    5,100,000 บาท
335i Coupe             7,500,000 บาท (แพงกระโดด เพราะภาษีนำเข้า)

ส่วน 330d Coupe มีเล็ดรอดเข้ามา ไม่กี่คัน ในช่วงที่ยังมีการสำรวจตลาดกันอยู่
และแต่ละคัน ราคากระโดดไปไกลถึง 6.5 ล้านบาทขึ้นไป ดังนั้น ไม่คุ้มต่อการทำตลาด

 

 

ขณะเดียวกัน ค่าตัวของรุ่นเปิดประทุน ซึ่งมีอยู่ 2 รุ่น ก็มีราคาตั้ง บนโชว์รูมดังนี้

320i Convertible     4,499,000 บาท
325i Convertible     5,290,000 บาท

แพงใช่เล่นเลยทีเดียว!!

 

 

 

เมื่อดูทางเลือกแต่ละรุ่นย่อยกันแล้ว หากใครจะยังคงมีคำถามว่า ควรจะเลือกรุ่นไหนดี
ผมว่า ขึ้นอยู่ที่กำลังทรัพย์ และความอยากจะใช้เงิน ของคุณ ว่าตั้งใจจะจำกัดงบเอาไว้ไม่ให้เกินเท่าไหร่?

ในกรณีที่ งบคุณไม่ถึง แต่อยากเล่นรุ่นคูเป้จริงๆ
320i Coupe  รุ่นถูกสุด ดูเหมือนจะน่าสนใจ
แต่ด้วยราคา 3.99 ล้านบาท บวกกับออพชันที่น้อยกว่า
คุณสามารถมองหา Mazda RX-8
ซึ่งอาจจะไม่แรง แต่ดูโฉบเฉี่ยวกว่า ในราคาที่ถูกกว่ากันอีกสัก 1-2 แสนบาท

325i Coupe เหมาะกับใครที่ เบื่อ ตัวถังซีดานของซีรีส์ 3
อยากขับ ซีรีส์ 3 ในตัวถังที่ต่างออกไป และต้องพร้อมรับกับสายตา
ของผู้คนที่จะจับจ้องมองมาที่รถคุณบ่อยกว่าปกติสักหน่อย
คุณจะได้อุปกรณ์ครบถ้วนในสิ่งที่คุณต้องการ รวมทั้ง จอมอนิเตอร์ และ i-Drive
โดยไม่ต้องเพิ่มเงิน ขึ้นไปเล่นรุ่น Sport  แต่อาจต้องทำใจกับพวงมาลัย
ที่เบาไปสักนิดในย่านความเร็วสูง และอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
ระดับมาตรฐาน คือ 12 กิโลเมตร/ลิตร 

 

 

หรือถ้าอยากจะรับลมร้อน ฝน และหนาว ด้วยบรรยากาศอันสดชื่น แจ่มใส ท่ามกลางสายตาทุกคู่ที่จับจ้อง
(ว่าคนขับ สติยังดีอยู่หรือเปล่า กับการขับรถเปิดประทุนใน กรุงเทพมหานคร?)

รุ่นเปิดประทุนของ 325i ก็ ดูน่าสนใจไม่น้อย แถมช่วงล่าง
ยังเซ็ตมานุ่มกว่า ซีรีส์ 3 รุ่นอื่นๆทุกรุ่นอีกด้วย ขับไม่เหนื่อยจนเกินไป
และยังเปิดโอกาสให้ใช้ชีวิตได้สุนทรีย์ ถ้าโชคดี และไม่เจอ Defect จากอาการ
ขอบหลังคาน้ำรั่ว จาก เสา A-Pillar เหมือนคันที่ผมเจอ

เรื่องใหญ่สำหรับรถเปิดประทุนเลยนะนั่น!

 

 

 

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะต้องซื้อหารถตระกูลนี้ มาขับจริงๆ
ต่อให้ปากจะบอกว่า โอ้ย ไม่สน ฉันมีปัญญาเติมน้ำมันเบนซิน 95 โดยไมต้องพึ่งพาแก็สโซฮอลล์หรอก
แต่ เชื่อเถอะ ในใจลึกๆ ถ้าคุณสามารถใช้น้ำมัน 1 ลิตร แต่แล่นได้ไกลเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกถึง 5 กิโลเมตรเนี่ย
คุณจะไม่สนใจสักหน่อยเลยหรือ?

กระนั้น ต่อให้คุณเริ่มเห็นความดีงามของ 320d คูเป้ อย่างไร
โลกนี้ ก็จะมีบางสิ่งบางอย่าง มาถ่วงสมดุลย์ เพื่อไม่ให้คุณ หลุดลอยสู่โลกในจินตนาการมากเกินไป

สิ่งที่มาถ่วงสมดุลย์ นั้น ก็คือ ราคาค่าตัวของมันนั่นเอง

คุณจะต้องจ่ายเงิน  4,299,000 บาท เพื่อให้ได้มันมาครอบครอง

จริงอยู่ มันถูกที่สุด ใน 3 คันที่คุณเห็น ณ รีวิวนี้

แต่เมื่อเทียบกับตัวถัง ซาลูน 4 ประตู
ค่าตัวที่แพงกว่ากันเกือบ 1 เท่าตัวนั้น
ต่อให้รู้อยู่เต็มอกว่า มันแพงขึ้น เพราะภาษีนำเข้า
แต่ก็อยากจะทำใจยอมรับจริงๆ สำหรับใครสักคัน
ที่ฝันอยากเป็นเจ้าของ BMW คันแรกของชีวิต

ผมขอเสนอทางออกที่ง่ายกว่านั้นให้…

คือ ตัดสินใจเซ็นใบจอง กับ 320d ซาลูน ประกอบในประเทศ
ที่มีค่าตัวถูกกว่ากัน ถึง 2.8 ล้านกว่าบาทเศษ ไปซะ
คุณจะได้สมรรถนะที่เหมือนกันกับรุ่นคูเป้ จนกือบทุกประการ
แถมพวงมาลัยยังตอบสนองได้นิ่งกว่ากันเล็กน้อย บนพื้นถนนแบบคลื่นๆ อีกด้วย
ในราคที่ถูกกว่ากันเกือบครึ่งหนึ่งของค่าตัว รุ่นคูเป้!

 

 

แต่ในอีกกรณี หากคุณ ไม่ใช่กลุ่มลูกค้า First time BMW buyers
แต่ รวย มีเงินเหลือ มีรถในบ้านอยู่แล้วอย่างน้อย 2 คัน อยากหารถเท่ๆ
ไว้ขับโฉบสาวเล่นๆ ไปหามื้อเที่ยงทานกับเพื่อนไม่กี่คนตามโรงแรมหรูๆ
หรือเป็นผู้มีอายุราวๆ 30 ปลายๆ 40 ปี ต้นๆ อยากได้รถคูเป้สักคัน
สำหรับขับเรื่อยๆ สบายๆ อย่างรื่นรมณ์  และมีพละกำลังจากเครื่องยนต์
มากพอจะสำรองเอาไว้ เผื่อไว้ทั้งในกรณี อยากสนุก หมั่นไส้รถคันข้างหน้า
หรือจำต้องตามล่าหมายหัวลูกหนี้ ที่กำลังขับฟอร์จูเนอร์ หรือวีโก้ 4×4 หนีการติดตามอยู่

ถ้าจะเลือก 320d Coupe แม้จะดูเป็นทางเลือกที่ดีกว่า จากการมองแบบผิวเผิน
ทั้งจากอัตราเร่งที่ ด้อยกว่า รุ่นเบนซิน 2.5 ลิตร แค่ 0.2 วินาที
แต่หากมองกันอย่างละเอียดแล้ว ระบบ i-Drive พร้อมชุด โทรทัศน์ และจอมอนิเตอร์ ที่หายไป
คือสิ่งที่ผมมองว่า คุณสมควรจะได้รับ จากค่าตัวในระดับนั้น และมันไม่ควรถูกหั่นออกไปเอาซะเลย!

และนั่นทำให้หลายๆคน ไปจบกับ 325i Coupe กันเยอะขึ้น เพราะแม้แพงกว่า
แต่มีอุปกรณ์สาธารณูปโภคติดตั้งมาให้ครบครันกว่า

 

 

ทีนี้ ก็เหลือแต่คุณแล้ว ว่าจะตัดสินใจเลือกอย่างไรดี
ถ้ายังเลือกไม่ถูกอีก ก็คงบอกคร่าวๆได้ว่า
3 คันที่ได้ขับนั้น คือ 3 ตัวเลือก ที่ดูจะคุ้มที่สุดแล้ว
ในบรรดา รุ่น 2 ประตู ของซีรีส์ 3 ทั้งหมด

และถ้ายังจะถามผมอีกว่า คันไหนคุ้มที่สุด
ผมก็จะบอกว่า ผมไม่ฟันธงให้

เพราะผมไม่ใช่คุณหมอลักษณ์ เรขานิเทศ ครับ!

 ———————————///———————————–

 

 

ขอขอบคุณ

คุณพิศมัย เตียงพาณิชย์

ฝ่ายประชาสัมพันธ์

บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู (ประเทศไทย) จำกัด

เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ 

 

 

 

J!MMY

สงวนลิขสิทธิ์

เผยแพร่ครั้งแรก ใน www.headlightmag.com

10 เมษายน 2009