สวัสดีกันอีกครั้งในวันฝนตกลมแรงน้ำมันปาล์มแพงไข่ไก่ชั่งโลขายครับคุณผู้อ่าน

ช่วงเวลาของการประกาศผล Best Drive 2009-2010 ใกล้เข้ามาถึงแล้ว และเท่าที่ทราบมา ตัวเก็งในใจของแต่
ละท่านนั้นมีความแตกต่างกันไปมากกว่าที่ผมคาดคิดเอาไว้

 

ซึ่งก็เป็นธรรมดาสำหรับการตัดสินใดๆก็ตามที่มีรถเข้าร่วมถึง 72 คัน! รถแต่ละคันมาจากหลากหลายประเทศ
หลากหลายเซกเมนท์ มีรูปแบบการใช้งานรวมถึงพละกำลังและการตอบสนองที่แตกต่างกันออกไป
(โอเค..บางคันอาจจะมีความเหมือนกันมากๆในบางสิ่งบางอย่างน่ะ)

การให้คะแนนของกรรมการ ซึ่งประกอบไปด้วยทีมงานเว็บ และผู้ได้รับเชิญนั้น แน่นอนว่าไม่ได้เกิด
จากการจับสลาก เสี่ยงเซียมซี หรือเอานิ้วทิ่มจิ้มว่าฉันชอบ แต่เป็นส่วนผสมของการใช้รสนิยมทางด้าน
การออกแบบ สัมผัสที่ได้จากการตอบสนองระหว่างรถและคนขับหรือผู้โดยสาร และเพื่อไม่ให้ท่านผู้อ่าน
เข้าใจว่าเราพยายามจะ “ฟันธง” ให้ท่าน จึงได้มีการรวมเอาความชอบส่วนตัวที่กรรมการแต่ละคน
มีต่อรถรุ่นใดรุ่นหนึ่งเข้าไปนับรวมในอัตราส่วนคะแนนที่น้อยกว่า 10% เพราะมันคือมุมมองจากพวกเรา
ที่ไม่พยายามชี้ชวนให้คุณซื้อรถเพียงเพราะเราชอบ ต้องเข้าใจว่าเราชอบ ไม่ได้หมายความว่าคุณชอบ
แต่ทัศนคติที่พวกเรามีต่อรถ อาจก่อให้เกิดคำถามที่ชวนให้คุณอยากค้นหาคำตอบ นั่นคือสิ่งที่เราต้องการ

ทั้งนี้ สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการให้คะแนน คือการวิเคราะห์ซึ่งใช้ข้อมูลที่นำมาจากตัวเลข พวกเราหลายคน
อาจทราบสเป็ค, อัตราเร่ง, ความเร็วสูงสุด และอื่นๆอีกมากมายจากรีวิวที่ J!MMY เขียนให้อ่านกันอยู่แล้ว
แต่การนำเอาข้อมูลของรถทุกคันมาจัดเรียงใหม่เพื่อใช้ในงานนี้โดยเฉพาะนั้น..ไม่ใช่งานที่ท้าทาย
(เพราะมันไม่ได้ยาก) แต่มันเหนื่อยบรรลัยในการพยายามเปิดสเป็คในทุกรีวิวหรือเว็บไซท์ แล้วนำ
มาบรรจงกรอกทีละช่องในตาราง

ผมล่ะชอบคนที่ช่างคิดประดิษฐ์ Software ประเภท Spreadsheet สำหรับการคำนวณออกมาเสียจริง
6 ปีที่แล้ว ผมเกลียดโปรแกรมนี้เป็นที่สุด แต่หลังจากที่หัวหน้าฝ่ายของผมที่ทำงาน พยายามบอกกับผมว่า
“แพน ไอ้ของพวกเนี้ย ใช้ให้มันเป็นเถอะ แล้วจะสนุกกับมัน”

สิ่งหนึ่งที่ผมไม่เคยบอกพี่ไก่ (นายของผม)เลยก็คือ การนำมันมาเล่นกับงานอันเป็นงานที่สองอย่างที่
ทำอยู่กับ headlightmag นี้ มันยิ่งสนุกกว่าการนั่งทำฐานข้อมูลให้ที่ทำงานจริงๆเสียอีก 55 ..แล้วเราได้อะไรจากมัน?

เอาล่ะสิ ผมยิ่งหัวสมองช้าอยู่ด้วย เอาเป็นว่าเราเริ่มจากสิ่งที่นึกออกได้ง่ายที่สุดก่อน ซึ่งหัวเรื่องอาจ
จะเป็นคำถาม คำถามหนึ่ง แล้วผมจะลองใช้วิชาที่ได้มา ลองหาคำตอบโดยมีฐานข้อมูล
ซึ่งมาจากรถทั้ง 72 คันนี้

คิดเสียว่าเป็นวิวาทยานิพนธ์ละกันครับ

1. มีรถที่ได้รีวิวเต็มๆกันไป 72 คัน แต่ละคันมาจากค่ายไหน และเซกเมนท์ใดกันบ้าง?

คำตอบที่ได้รับ ดูแล้วทำให้แม้แต่ J!MMY เองยังแปลกใจ ลองดูจำนวนรถจากค่ายต่างๆในตารางดูครับ

แต่ไหนแต่ไรมาเรารู้สึกเหมือนชีวิตจะวนเวียนอยู่กับรถญี่ปุ่น หรือรถทั่วไปเป็นหลัก เพราะเราพยายาม
จับกลุ่มรถที่คนส่วนมากสามารถซื้อหามาใช้ได้โดยไม่ต้องขายบ้านทิ้ง แต่กลายเป็นว่าหลังจากที่นับแล้ว
BMW ใบพัดขาวฟ้า เป็นค่ายรถที่ส่งรถมาให้เราได้ลองกันเยอะที่สุดตลอด 2 ปีที่ผ่านมา คือนับได้ 10 คัน
ในขณะที่อันดับสองคือ Mercedes-Benz ส่งรถมา 9 คัน ซึ่งไปๆมาๆ รถหรูกลับเป็นรถที่เรามีโอกาส
ได้ทดลองขับกันมากที่สุด ส่วนแบรนด์เจ้าตลาดอย่าง Toyota นั้น เราได้ลองรถมา 5 คัน เท่ากันกับ
Volvo และ Subaru ในขณะที่ Honda นั้นโชคดีที่ Accord 2.0EL ไมเนอร์เชนจ์มาทันปลายปี เป็นคัน
สุดท้ายก่อนปิดรับสมัครพอดี จึงทำให้เรานับได้ 4 คัน

แต่พอเปลี่ยนมุมมองจากแบรนด์ต่างๆ มาเป็นการจัดแบ่งตามเซกเมนท์ของตัวรถ ก็จะพบว่ายังไงก็ตาม
B-Segment ซึ่งเป็นตลาดที่มีคนซื้อหารถกันเยอะที่สุด ก็ยังมีตัวเลขสูงสุด 13 คัน เท่ากับรถจาก C-Segment
ซึ่งเราได้ทดลองขับไปในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่แปลกใจอยู่เล็กน้อยคือกลุ่ม Premium Compact หรือรถ
เล็กราคาโตทั้งหลายกลับมีจำนวนมากกว่ารถยนต์จาก D-Segment ที่ราคาย่อมเยากว่าเสียอีก เพราะใน
D-Segment นั้นตัวเลือกมีไม่กี่รุ่น Nissan ส่ง Teana ทั้งสองพิกัดเข้าประกวดในขณะที่ Toyota มีแต่
Camry ขุมพลัง Hybrid และ Honda ก็มี Accord เท่านั้น

หลายท่านที่ตาคม อาจสังเกตได้ว่ามีเซกเมนท์ที่ชื่อไม่คุ้นโผล่มา นั่นคือ Sport Compact อันเป็นสิ่งที่
เกิดจากความพยายามที่ล้มเหลวของเราในการหาที่อยู่ให้กับรถอย่าง Audi MTM S3, VW Golf GTi,
VW Scirocco, BMW 120d และ Impreza WRX รถเหล่านี้ไม่ได้มีรูปทรงเป็น Sport เฉี่ยวอะไรขนาดนั้น
แต่ก็มีพละกำลังและบุคลิกของรถที่เน้นไปทางด้านการขับขี่จนไม่น่าจะอยู่ในระดับ C-Segment
หรือ Premium compact ธรรมดาได้

ส่วนโดดเดี่ยวผู้น่ารักอย่าง Compact Minivan, Fullsize MPV, Midsize SUV, Pickup Truck ต่างก็มี
ผู้เข้าร่วมแค่เซกเมนท์ละคัน หวังว่าปีต่อๆไปเราจะได้ลองขับรถจากเซกเมนท์เหล่านี้มากขึ้น
โดยเฉพาะเมื่อสงครามปิคอัพระอุขึ้นอีกครั้ง

 

2. ความหลากหลายของระบบส่งกำลัง มีแบบไหนบ้าง?

เกียร์ธรรมดากลายเป็นระบบส่งกำลังที่เริ่มหายากเข้าไปทุกขณะ (ถ้าอยากร่วมรณรงค์อนุรักษ์
เกียร์ธรรมดาก็เข้า facebook แล้วหา page ชื่อ Save the manuals) ในรถที่เรานำมาทดลองขับกันทั้งหมด
มีรถที่เป็นเกียร์ธรรมดาเพียงแค่ 9 คัน หรือคิดเป็นอัตราส่วน 12.5% เท่านั้น ซึ่งรถที่มีระบบส่งกำลัง
ที่มาพร้อมขาคลัทช์อีกหน่อยก็คงมีแต่รถรุ่นประหยัด รถกระบะ หรือไม่ก็รถสายพันธุ์ที่เน้น
สมรรถณะในการขับขี่ไปเลย มีแต่ Subaru Impreza 2.0 เท่านั้นที่เป็นรถเก๋งและไม่ใช่รุ่นประหยัด
ไม่ใช่รถเน้นสมรรถณะแล้วมีเกียร์ธรรมดาให้เลือก (ไม่นับ Cruze ที่เปิดตัวปีนี้)

อีกประการหนึ่งก็คือเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด ก็จะเป็นสิ่งที่ล้าหลังไปเรื่อยๆ ในปัจจุบันไม่มีรถ
หรูหราราคาแพงที่ใช้เกียร์แบบนี้แล้ว แต่ใน Segment B และ C เรายังคงพบกันได้ในรถอย่าง
Suzuki Swift, Mazda 2, Mazda 3 และ Toyota Altis เป็นต้น เป็นไปได้ว่าอีกไม่นานหรอกที่
รถเหล่านี้จะขยับเพิ่มจำนวนจังหวะเกียร์เข้าไป และภายในทศวรรษข้างหน้า ก็น่าจะเป็น 6 จังหวะ
กันหมดแล้ว

อันที่จริง จากรถทั้งหมดที่เรานำมาทดลองขับกันนั้นมีรถที่ใช้เกียร์ 6 จังหวะไร้
ขาเหยียบคลัทช์อยู่ถึง 24 คัน (คิดเป็น 33.3% ของรถทั้งหมด) ส่วนเกียร์ CVT ก็ไม่แพ้กัน เพราะมีลูกพี่ Nissan
เป็นตัวนำเทรนด์ CVT ในรถเล็ก รถใหญ่ รถ SUV-Softroad เอามันใส่ไปทุกรุ่นเลย Lancer EX ก็มีระบบ
ส่งกำลังเพียงแบบ CVT ให้เลือกแบบเดียว ส่วน Toyota นั้นก็อดรนทนไม่ไหว ต้องโดดเข้าร่วมใช้
CVT กับ Altis Minorchange ซึ่งถึงแม้จะมาหลังชาวบ้าน แต่ก็เซ็ตเกียร์ได้ดีไม่แพ้ใครเลย

เป็นที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งว่ารถที่ใช้เกียร์ CVT จะมีแต่รถญี่ปุ่น ในขณะที่ฝั่งยุโรปนั้นจะหลงใหล
ไปกับระบบคลัทช์คู่ มีอัตราทด 6 จังหวะ หรือบางคันก็ล่อเข้าไป 8 จังหวะโน่นเลย จะแข่งกับสิบล้อใช่ไหมพี่

เสร็จจากเกียร์แล้วก็มาดูเรื่องระบบการขับเคลื่อนกันบ้าง แน่นอนว่ารถขับเคลื่อนล้อหน้าก็ยังคงเป็นรูปแบบ
ที่ได้รับความนิยมแพร่หลายที่สุด รถทดสอบของเราก็มีจำนวน 37 คันที่ขับเคลื่อนล้อหน้า ครอบคลุมเกือบ
ครบในทุกเซกเมนท์เลยทีเดียว แม้แต่รถยุโรปอย่าง Volvo ก็หันมาใช้รูปแบบนี้นานมาแล้ว และน่าจะเป็น
ข้อดีประการหนึ่งที่ช่วยให้สามารถจัดพื้นที่ในห้องโดยสารได้ดีกว่าคู่แข่งจากฝั่งเยอรมัน ส่วนถ้าใครจะชอบ
รถขับหลัง ก็ต้องพึ่งพา BMW กับ Mercedes-Benz ที่ยังทำรถขับหลังขนาดเล็กให้พวกเราได้ซื้อหากันอยู่
ทุกวันนี้ แต่ถ้าไม่ชอบรถยุโรปขับหลัง Mazda MX-5 ก็ยังรอเสนอตัวเป็นทางเลือกหนึ่งของรถญี่ปุ่นขนาด
เล็กขับหลังที่นานๆจะโผล่มาสักครั้ง ทั้งนี้หากคุณพบว่า MX-5 นั่งไม่สบายก็ต้องหันไปหา Lexus LS460L
ค่าตัว 11 ล้านกว่าๆ

ถ้าขนาดนี้แล้วยังไม่พอใจอีก ก็เหลือแค่ Vigo ไม่ก็ H-1 เลือกเอาให้มันได้สักคันเถอะพ่อนักดริฟท์

3. ประเภทเครื่องยนต์ของรถแต่ละคันที่นำมาขับล่ะ สังเกตอะไรได้บ้าง?

ในช่วงนี้ต้องยอมรับว่ากระแสดีเซลกำลังมาแรง จากเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และคอมมอนเรลและเทอร์โบ
ที่ทำให้ดีเซลยุคใหม่ นอกจากจะไม่ทำตัวเป็นสมาคมคนย่างไก่แล้ว ยังมีแรงบิดถีบตัวที่มหาศาล เราพิจารณา
จากจำนวนรถดีเซล 13 คัน และพบว่าดีเซลมีโอกาสรุ่งในภายภาคหน้าอย่างแน่นอน ไม่ได้แค่จำกัดอยู่ในวง
รถกระบะหรือรถขนาดใหญ่ แต่รถเก๋งนี่ล่ะคือตลาดต่อไปที่จะขยายตัวขึ้นเมื่อเข้าสู่ยุคของผู้บริโภคพันธุ์ใหม่
ที่เลิกยึดติดกับค่านิยมเดิมๆ ใน C-Segment นั้น Ford Focus TDCi มีอัตราเร่งออกตัวเร็วที่สุด เร่งแซงเร็ว
เป็นอันดับสอง แถมยังประหยัดเชื้อเพลิงที่สุดอีกด้วย ส่วนในกลุ่ม Premium compact
Mercedes-Benz C250CDI ทำอัตราเร่ง 0-100, 80-120 ได้เร็วที่สุดในกลุ่ม ชนะน้องฝาแฝดคนละเครื่อง
ของตัวเองอย่าง C250CGI ด้วยซ้ำไป ส่วนในด้านความเร็วสูงสุดนั้น 320d เอาไปครอง และนี่ก็เป็นรถดีเซล
อีกเช่นกัน

 

เอ้านี่ไง กราฟแรงบิดของเครื่องดีเซลใน C250CDI เห็นไหมว่าแม้จะพ้นรอบแรงบิดสูงสุดมาจนจะ
ถึงรอบการทำงานสูงสุด แรงบิดก็ยังสูงกว่าหรือเท่ากับเครื่องเบนซิน V6 บล็อคใหญ่ๆเลยทีเดียว

 

การที่จะรับรู้ถึงความดีงามของเครื่องดีเซลในรถเก๋งจากยุโรปได้นั้น คุณต้องล้างภาพรถกระบะทุกอย่าง
ออกจากหัวไปก่อน แล้วจะเห็นได้ว่าดีเซลสมัยนี้มีความสามารถมากขนาดไหน ไม่ใช่แต่ม้าหรือลา
ที่เอาไว้ลากจูง แต่พวกมันพร้อมจะแปลงกายเป็นชีตาห์ได้เมื่อต้องการ แถมยังประหยัดเชื้อเพลิงอีกต่างหาก

แต่ถ้าคุณเป็นคนที่ทำใจรับเสียงเครื่องดีเซลไม่ได้ ก็ขอแสดงความยินดีด้วยเพราะยังมีรถอีกตั้ง 59 คันที่
เป็นรถใช้เครื่องเบนซิน ( 3 คันจากจำนวนนี้เป็น Hybrid)

เครื่องยนต์เบนซินก็ยังมีคนรักใคร่ในความเรียบ ทำงานเงียบเสียงของมันอยู่อีกเยอะ บริษัทรถเองก็ไม่ได้
หนีไปทำแต่เครื่องดีเซลกันอย่างเดียวเสียหน่อย ยังคงมีการพัฒนาต่อเนื่องอยู่เสมอมา เรื่องอัตราการสิ้นเปลือง
เชื้อเพลิงนั้น ก็ทราบกันดีว่าดีเซลหน้าไหนก็ยังไม่กล้าสู้เบนซิน+ไฮบริดอย่าง Honda CR-Z ที่เป็นรถ
ประเภทใช้เข็มเจาะกล่องนมดูดระดับ 20 ก.ม./ลิตร ส่วนเบนซินบล็อคเล็กขนาด 1.2-1.6 ลิตรใน B-Segment
ก็ยังมีอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 15-18 ก.ม./ลิตรให้เห็นกัน

แรงม้าคือส่วนหนึ่งที่ดึงดูดใจให้คนเท้าหนักเล่นเครื่องเบนซินกันมากกว่า เพราะรถยนต์ที่มีแรงม้า
สูงเป็นอันดับ 1-10 ของเรานั้น มีเพียงแค่ 530d กับ 730Ld เท่านั้นที่เป็นเครื่องดีเซล แถมรถมากม้าเหล่านี้
ยังมีอัตราเร่งที่ไม่ธรรมดากันทั้งนั้นโดยเฉพาะช่วงความเร็วสูง

ฉะนั้นในเวลานี้ เบนซินยังอยู่ และถีบตัวพัฒนาไปเรื่อยๆ แต่ดีเซล กำลังจะเป็นก้าวใหม่ในวงการ
ที่ต้องจับตามอง

แต่เชื่อเถอะว่าอีกไม่นานหรอก รถบ้านพลังดีเซลจะเริ่มขยายไปสู่ตลาดอื่น นำพาเอาข้อดีในทุกด้าน
โดยเฉพาะด้านแรงบิดที่ใช้งานได้จริงไปมอบให้กับปวงชนคนตีนหนักทั้งหลาย และนำความประหยัด
ไปให้กับบรรดาคนตีนเบา ถ้ามองจากตัวเลข มันเป็นไปได้ที่ในอนาคต รถใหญ่ๆทั้งหลายอาจใช้
เครื่องดีเซลพิกัดเล็กได้เลยด้วยซ้ำ (มีใครอยากลอง 720d หรือ S250CDI บ้างไหม)

อย่าคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ทุกวันนี้ C250CDI มีแรงบิด 500 Nm ซึ่งถ้าให้นำรถเบนซินที่มีแรงบิดใกล้เคียงกัน
มาประกบ คุณจะต้องใช้รถอย่าง Lexus V8 ที่ความจุ 4.6 ลิตร ในเมื่อ 493Nm ฉุดเครื่องบินส่วนตัว
หนัก 2 ตันอย่าง LS460L ได้ แล้วทำไม 500Nm จะมาฉุด 7-Series หรือ S-Class บ้างไม่ได้ล่ะ
ถึงแม้จะมี Turbo lag บ้างก็ตามทีเถอะ

พูดถึงเทอร์โบ ก็พาให้นึกขึ้นได้ว่า 2 ปีที่ผ่านมาเราได้ลองอัดรถเครื่องยนต์เทอร์โบไปตั้ง 22 คัน
มีรถซูเปอร์ชาร์จอีก 3 คัน ในขณะที่มีรถซึ่งใช้เครื่องยนต์แบบไม่พึ่งพาระบบอัดอากาศใดๆเลย
อยู่ 47 คัน โอ้ว อัตราส่วนของรถเทอร์โบเยอะกว่าที่ผมรู้สึกไว้ในตอนแรกมาก คงต้องมาคอยจับตาดูว่า
ในปีต่อๆไปอัตราส่วนตรงนี้จะเพิ่มขึ้นบ้างหรือไม่

ณ วินาทีนี้ เราทราบกันดีแล้วว่ารถเครื่องดีเซลที่ไม่มีเทอร์โบในตลาดประเทศไทยนั้นแทบจะหาซื้อ
จากโชว์รูมป้ายแดงกันไม่ได้แล้ว แต่รถยนต์เครื่องเบนซินนี่ยังมีที่ว่างเหลืออีกเยอะแยะ ท่านผู้อ่าน
คงทราบดีอยู่แล้วว่าผมมักจะเชียร์เครื่องเทอร์โบ ออกนอกหน้าและสนับสนุนให้บรรดาผู้ผลิตญี่ปุ่น
หันมาให้ความสนใจเครื่องยนต์แบบนี้ในตลาดรถทั่วไปมากขึ้น เพราะอะไรน่ะหรือครับ?

ก็ลองดูเฉพาะรถทดสอบของเราที่เป็นเครื่องเบนซินพิกัด 1.8 ลิตรกันก็ได้ รถ C-Segment
อย่าง Ford Focus 1.8, Lancer EX 1.8 และ Altis 1.8 มีตัวเลขแรงม้าแบบผลรวมเฉลี่ยอยู่ที่
134.6 แรงม้า และแรงบิดเฉลี่ยกันได้ 170Nm และกินน้ำมันเฉลี่ย 13.97 กิโลลิตร ทีนี้เราหันมาดู
กลุ่ม 1.8 ที่ใช้ระบบอัดอากาศ ซึ่งก็มาจากค่ายดาวสามแฉกทั้งนั้น พอมีเทอร์โบเข้าไปแล้ว
แรงม้าก็จะอยู่ที่ 184-204 แรงม้า แรงบิดอยู่ที่ 270-310Nm อัตราการกินน้ำมันที่เอารถทุกคันมา
เฉลี่ยรวมกันได้อยู่ที่ 13.27 ก.ม./ลิตร..โอเคล่ะมันมากกว่ารถญี่ปุ่นเครื่อง NA แต่ต้องไม่ลืมว่า
รถจากค่ายดาวสามแฉกทุกคันล้วนขับเคลื่อนล้อหลัง และมีน้ำหนักตัวเกิน 1.5 ตันกันทั้งนั้น
ถ้าเครื่อง 1.8 ลิตรเทอร์โบไปอยู่ในรถขับเคลื่อนล้อหน้าน้ำหนักตัว 1.3 ตันบ้างจะเป็นอย่างไรล่ะ?

นอกจากนี้ถ้าเอาพละกำลังและอัตราเร่งมาเทียบกันเป็นรายตัว คุณจะเห็นได้ว่าเครื่อง 1.8 เทอร์โบ
แบบพื้นๆของ Mercedes-Benz E200CGI นั้นมีแรงม้าที่ใกล้เคียงกันกับเครื่อง 2.5 ลิตร V6 ของ
Nissan Teana มาก แรงบิดของเครื่องเบนซ์ดีกว่ามาก จนทำให้แม้กระทั่งแบกน้ำหนักต่างกันกว่า
100 กิโลกรัม แถมใช้เกียร์ออโต้ 5 สปีด ยังได้อัตราเร่งออกตัวก็ใกล้เคียงกัน มีแต่ช่วงเร่งแซงเท่านั้น
ที่ Teana อาศัยความได้เปรียบของ CVT ทำเวลาได้เร็วกว่า แต่ท้ายสุดเมื่อต้องแข่งกันประหยัดน้ำมัน
E200CGI ก็ประหยัดกว่า Teana V6 มากและมีผลไปใกล้เคียงกับ Teana 2.0 ลิตรเสียด้วยซ้ำ
เห็นหรือยังว่าไอ้คำว่า “ม้าเยอะก็ต้องกินจุ” น่ะ มันไม่ได้เกี่ยวกันเสมอไปหรอกถ้าเอามาขับกัน
แบบปกติ

ถ้ารูปแบบรถที่ผมยกตัวอย่างกันมันดูสับสนและเห็นภาพไม่ชัดพอ ก็ลองดู C-Class W204 ก็ได้
ว่าระหว่าง C230 2.5 V6 204 แรงม้ากับ C250CGI 1.8 ลิตร เทอร์โบ 204 แรงม้ามันเป็นอย่างไร
อัตราเร่งออกตัว C250 ไวกว่าอยู่ 1.3 วินาที 80-120 ไวกว่าอยู่ 0.58 วินาที ประหยัดน้ำมันกว่ากัน
อยู่ราว 10% ทั้งๆที่ C230 V6 ได้เกียร์ 7 สปีดและ C250CGI ใช้เกียร์ 5 สปีด..

เทคโนโลยีเครื่องยนต์เทอร์โบรุ่งแน่ ตราบใดก็ตามที่โลกยังต้องการน้ำมันอยู่ มันคือสิ่งที่ผมเรียกว่า
The best of both world ที่ค่ายยุโรปประสบความสำเร็จในการพัฒนาเครื่องเทอร์โบในรถบ้านที่
ขับง่าย สั่งได้ ดึงดี และประหยัด

ทั้งนี้ ก็มีแต่ตระกูล Volvo เครื่องเบนซินเทอร์โบอย่าง S60 และ S80 ที่ตัวเลขสมรรถณะเครื่องยนต์ออกมา
สวยงาม สเป็คเครื่องไม่เลว แต่ผลออกมาไม่ดีอย่างดีคาด ก็อย่าแปลกใจ เพราะน้ำหนักตัวรถของพวกไวกิ้ง
ที่มากกว่าชาวบ้านมันถ่วงเอาไว้นั่นเอง (S60 2.0T หนักกว่า 523i อยู่ 30 กิโล และ S80 หนักว่า
E200CGI อยู่เกือบ 200 กิโลกรัม)

4. ที่สุดของแจ้ในด้านต่างๆ คือใครบ้าง?

คำถามข้อสุดท้ายแต่ตอบยาวไม่แพ้กัน ในเมื่อตัวเลขมีอยู่ในมือมากมาย ก็ย่อมไม่ใช่เรื่องยากที่จะบอกใช่ไหม
งั้นเรามาว่ากันทีละเรื่องเลยดีกว่า

4.1 ขนาด มิติ และน้ำหนัก

ยาวที่สุด – BMW 730Ld ยาว 5,212 ม.ม.
สั้นที่สุด – Suzuki Swift สั้นแค่ 3,755 ม.ม.
กว้างที่สุด – ไม่ใช่รถสปอร์ต ไม่ใช่รถหรูลิมูซีน แต่เป็น Mazda CX-9 ที่มีความกว้างถึง 1,936 ม.ม.
นี่กะแข่งกับ Airbus A380 หรือไงพี่

แคบที่สุด – Nissan March ซึ่งตัวแคบ แค่ 1,665 ม.ม. หรือแคบกว่า CX-9 เกือบฟุต
ฐานล้อยาวที่สุด – BMW 730Ld ยาวถึง 3,210 ม.ม. นี่ถ้าเอา Swift มาหั่นหน้าออก 50ซ.ม. มันคงจะวางลง
บนฐานล้อ 730Ld ได้พอดีเด๊ะสิเนี่ย
ฐานล้อสั้นที่สุด – Mazda MX-5 2,330 ม.ม. เอาจิมมี่นอนลง เอาไม้บรรทัดมาต่อตรงหัว 2 แท่ง นั่นล่ะยาวแค่นั้น

สูงชิงเปรต – Hyundai H-1 Maesto ที่สูง 1,925 ม.ม. ใครก็ได้ช่วยเช็ดหลังคาให้ที
เตี้ยมุดท้องพลาย – Mazda MX-5 ที่เตี้ยโดยธรรมชาติ 1,255 ม.ม. (คันนี้เดี๋ยวผมเช็ดหลังคาให้เอง 55 สะดวกว่ะ)

ตัวหนักสุดๆ – Mercedes-Benz ML280CDI ไม่รู้ไปกินอะไรมา ปาเข้าไป 2,185 ก.ก. นี่ถ้ามันเบากว่านี้สัก 11 โล
ก็จะเสียแชมป์ให้ Hyundai H-1 แน่ๆล่ะ
เบาเป็นปุยนุ่น – ก็ต้อง Nissan March สิ ตัวเกียร์ธรรมดาหนักแค่ 915 ก.ก. (ML280 บรรทุกเต็มคันจะหนักเท่า
March 3 คันถ้วนได้…)

4.2 เครื่องยนต์ อัตราเร่ง และสมรรถณะ

แรงม้าสูงที่สุด – Lexus LS460L เล่นเอามาให้ขย่มกัน 380 ตัว
แรงม้าน้อยที่สุด – ก็จะใครเสียอีกล่ะ March กระจงน้อยนั่นแหละ 79 ตัว
แรงบิดเยอะที่สุด – สองสิงห์คะนองนาบาวาเรียนเอาไปครอง 530d กับ 730Ld กระชากเพลาด้วยแรงบิด 540Nm
ทุกครั้งที่ตีนมิดติดเหล็กรถ
แรงบิดน้อยที่สุด – March อีกเช่นกัน 106Nm
แรงม้าต่อความจุ 1 ลิตรได้ตัวเลขที่ที่สุด – Audi MTM S3 ถ้าหั่นความจุเหลือลิตรเดียวมันจะยังทำม้าได้ 166.3 ตัว
แรงม้าต่อลิตรได้ตัวเลขน้อยที่สุด – Toyota Hilux Vigo Prerunner 2.5 ตามประสาดีเซลราคาเป็นมิตร..57.74 ตัวต่อลิตร
แรงม้าต่อน้ำหนักดีที่สุด – Audi MTM S3 ม้า 1 ตัวแบกน้ำหนักแค่ 4.64 ก.ก.
แรงม้าต่อน้ำหนักแย่ที่สุด – ตามคาดกับ Hyundai H-1 Maesto ยักษ์ใหญ่ใจดี ให้ม้า 1 ตัวแบกน้ำหนัก 12.5 ก.ก.
ถ้าต้องการทำ H-1 ให้มีแรงม้าต่อน้ำหนักเท่า MTM S3 ล่ะก็ ต้องหาวิธีโมดิฟายให้ม้าแตะ 470 ตัว

แรงบิดต่อน้ำหนักดีที่สุด – Mercedes-Benz C250CDI แรงบิด 1Nm หมุนต้านน้ำหนักแค่ 3.23 ก.ก.
แรงบิดต่อน้ำหนักแย่ที่สุด – Honda Freed เครื่อง 1.5 ลิตรต้องยอมให้ 1Nm หมุนต้านน้ำหนัก 9.28 ก.ก.

0-100 ก.ม./ช.ม. เร็วที่สุด – เห้ย! มีเซอร์ไพรส์แฮะ Lexus LS460L เครื่องบินส่วนตัวภาคพื้นดินคว้าแชมป์
ด้วยตัวเลข 6.86 วินาที แล้ว Audi MTM S3 อยู่ไหน? อ้อ..ก็อยู่ข้างหลัง BMW 530d ที่ทำตัวเลขได้ 7.05 วิ..
ในขณะที่ตะกายสี่ S3 ทำได้ 7.06 วินาที ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ได้ล่ะ? ก็คงต้องบอกว่าขึ้นอยู่กับการออกตัว
ให้ได้จังหวะที่ดีที่สุด รถขับสี่นี่เวลาออกตัวให้เร็วต้องไม่กลัวเกียร์พัง..แต่เผอิญเรากลัวเนี่ยสิ และถึงแม้
ผมได้ลองขับแทน J!MMY ดูแล้วเห็นแววว่ามีแนวโน้มอาจทำได้เร็วกว่าที่ J!MMY ทำ แต่เชื่อเหอะว่า
จังหวะคลัทช์กับคันเร่งผมไม่เจ๋งได้ทุกครั้งไปหรอก..แต่ LS460L น่ะ แค่กระทืบคันเร่ง แล้วไม่ต้องคิดมาก
มันพุ่งไปของมันโดยไม่ต้องใช้ฝีมืออะไรเลยนอกจากเท้ากับสมาธิ

0-100 ก.ม./ช.ม. ช้าที่สุด – ได้แก่ BMW M3 ….. ที่แม่ผมเป็นคนขับ แต่ถ้านับเฉพาะรถที่ J!MMY ขับ มันก็
เป็นใครไปไม่ได้นอกจาก Nissan March 1.2 VL CVT กับเวลา 15.63 วินาที..รถพันสอง เกียร์ออโต้
ได้ขนาดนี้แล้ว ยังยืนยัน..ขับไปเห๊อะ อย่าบ่น อย่าบ่น

80-120 ก.ม./ช.ม. เร็วที่สุด – คราวนี้ MTM S3 ผงาดสยายปีครองแชมป์ไปด้วยเวลาแค่ 3.41 วินาทีเท่านั้น!
เห็นหรือเปล่าว่าพอไม่ต้องเอาเรื่องการออกตัวมาข้องเกี่ยว รถเล็ก 4 สูบพร้อมเทอร์โบพลีชีพมันแรงงงได้ขนาดนี้
เลยแหละ ส่วน LS460L น่ะต้องใช้เวลา 4.8 วินาที และขับสี่จ้าวตำนานอย่าง Impreza WRX ใช้เวลา 4.85 วินาที

80-120 ก.ม./ช.ม. ช้าที่สุด – ได้แก่ Nissan March 1.2 VL CVT 12.59 วินาที เจ้าของ March อย่าเพิ่งคิดสั้น
อย่างน้อย Mazda 3 1.6 A/T ก็ยังอยู่เป็นเพื่อนคุณด้วยเวลา 12.37 วินาที

ส่วนอันนี้จริงๆไม่อยากโปรโมตแต่บอกให้รู้กันไว้ก็ดี

Top Speed มากที่สุด – Audi MTM S3 วิ่งไล่ F-16 อยู่ที่ 275 ก.ม./ช.ม. และอาจครองสถิตินี้ไปอีกนานโคดๆ
Top Speed น้อยที่สุด – Nissan March 1.2VL CVT ..กดกันมิดจนคอมแอร์ตัดไปนานแล้วยังได้ 162 ก.ม./ช.ม.
แต่ไม่ต้องห่วง คุณไม่เหงาอีกเช่นกัน เพราะ Honda Freed 1.5 ก็ทำตัวเลขได้เท่ากันนี่แหละ และ Mazda 2
เกียร์อัตโนมัติ ก็เร็วกว่านี้แค่ 3 ก.ม./ช.ม.

ประหยัดน้ำมันที่สุด – Honda CR-Z ขอเป็นตัวแทนรถไฮบริด ตอกตัวเลข 20.08 กิโลเมตรต่อลิตร แต่ถ้า
ชอบรถประหยัดและไม่อยากจ่ายเกินสองล้าน ก็ให้ลอง Nissan March เกียร์ธรรมดาที่นอกจากจะไม่ต้อง
ขายห้องแถวมาซื้อ ก็ยังประหยัดน่าชมเชยด้วยตัวเลข 18.05 กิโลเมตรต่อลิตร

ซดน้ำมันปั๊มระเบิดที่สุด – Lexus RX350 แรงสุดๆในคลาสแต่ซดสุดๆเช่นกันด้วยตัวเลข 10.16 ก.ม./ลิตร
ตามกันมาติดๆด้วย Subaru Impreza WRX กับ 10.30 ก.ม./ลิตร

ตบท้ายด้วยค่าตัว
แพงที่สุด – Lexus LS460L สบายเหมือนเครื่องบิน เร็วราวเครื่องบิน แพงยังกะเครื่องบิน 11,080,000 บาท
ถูกกะตังค์สุด – Nissan March 1.2 E M/T ขอแค่ 425,000 บาท ก็พอแล้ว นี่แปลว่าขาย LS460L คันนึง
ซื้อ March แจกครึ่งหมู่บ้านได้ 26 คันเลยนะ

ส่งท้ายก่อน Best Drive จะมา

ผมได้ทำตารางเปรียบเทียบสำหรับรถแต่ละ Segment เอาไว้อย่างคร่าวๆ ซึ่งคุณผู้อ่านจะเซฟเก็บเอาไว้
ใช้อ้างอิงในวันหลังก็ได้นะครับ นอกจากนี้ก็ทำค่าเฉลี่ยเอาไว้ให้ตรงท้ายตาราง เวลาเอารถอะไร รุ่นไหน
มาเทียบ จะได้สะดวกครับ เอาเฉพาะข้อมูลจากรถ 72 คันนี้และเป็น Segment หลักๆที่มีผู้เล่นเยอะๆแล้วกันนะครับ

กลุ่ม B-Segment

*หมายเหตุ – ขอแก้ไขข้อมูลในตาราง ราคา March 1.2 M/T เปลี่ยนเป็น 425,000 บาท และส่งผลให้ค่าเฉลี่ยทั้งกลุ่ม
เปลี่ยนเป็น 683,615 บาท ขอบคุณครับ

 

กลุ่ม C-Segment

 

กลุ่ม D-Segment

*หมายเหตุ: ตัวเลขของ Camry Hybrid ไม่ได้นำมอเตอร์ไฟฟ้าเข้ามาคำนวณด้วย อย่าแปลกใจที่อัตราเร่งทำไมแซ่บจัง

กลุ่ม Premium Compact

 

กลุ่ม Premium Midsize

 

กลุ่ม Luxury SUV

*หมายเหตุ: ตัวเลขของ RX450h ไม่ได้นำมอเตอร์ไฟฟ้าเข้ามาคำนวณด้วย แต่กระนั้นแปลกใจว่าทำไมมันแซ่บสู้ RX350 ไม่ได้เลย

 

กลุ่ม Sports Car & Specialty

 

กลุ่ม Sport Compact

 

เอาล่ะ กว่าจะมาถึงบรรทัดนี้ทุกท่านก็คงตาลายกันไปหมดแล้ว คิดเสียว่าที่ผ่านมานี้เป็นน้ำจิ้มถ้วยหนึ่ง
ก่อนวันประกาศผล Best Drive ก็แล้วกัน และเป็นการพยายามนำเอาข้อมูลที่เป็นตัวเลขมาวิเคราะห์
หรือจัดเรียงใหม่..เพื่อสาระ..หรือเพื่อความบันเทิง..ผมไม่รู้ แต่ทั้งนี้ ขอขอบพระคุณทุกท่าน
ที่ติดตามเรามาตลอดไม่ว่าน้ำมันจะราคาลิตรละกี่บาท

พบกันเร็วๆนี้กับ Best Drive 2009-2010
May the force be with the best one ครับ!

 


สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดย Commander CHENG! ผู้เขียน

ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com 22/2/2011
Copyright (c) 2011 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
22/2/2011