นับตั้งแต่ HOMY DEMIO เขียนบทความ สรุปเรื่องราวความคืบหน้าของโครงการ ECO Car ครั้งล่าสุด ลงใน
Headlightmag.com ของเรา เมื่อ 1 มิถุนายน 2009 เวลาก็ได้ล่วงเลยมาจนถึงวันนี้ ที่บทความนั้น อายุครบ 1 ปีพอดี
ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ความคืบหน้าของโครงการ ECO Car เกิดขึ้นมากมาย หลายหลาก บ้างก็เริ่มสร้างโรงงาน
บ้างก็คุยกับรัฐบาล บ้างก็ออกแบบเสร็จแล้ว บ้างก็เพิ่งเริ่มเตรียมการ แต่มีอยู่รายหนึ่ง ที่ส่งรถคันจริง ออกสู่ตลาด
เรียบร้อยแล้ว…ตามกำหนดการที่วางไว้
การเปิดตัว Nissan March รถยนต์ รุ่นแรก ที่เข้าร่วมรับสิทธิพิเศษการลงทุนตามโครงการ ECO Car ของรัฐบาลไทย
กลายเป็นการจุดพลุประเดิมให้ ผู้บริโภคชาวไทย เริ่มตื่นตัวหันมาซื้อหารถยนต์ขนาดเล็ก ราคาประหยัด ใช้งานกันมากขึ้น
และนั่นทำให้ผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นๆที่เข้าร่วมโครงการ ได้เห็นตัวอย่าง และแนวโน้มต่างๆ นำมาใช้เป็นข้อมูล ในการ
พัฒนา รถยนต์ ECO Car ของตน ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าชาวไทยมากขึ้น
นับจากนี้ ECO Car รุ่นต่อไปที่จะเปิดตัวในประเทศไทยนั้น เมื่อเรียงลำดับตามข้อมูลที่เราตรวจสอบมาได้
Honda จะเป็นผู้ผลิตรายต่อไป และดูเหมือนจะเป็นเพียงรายเดียว ที่พร้อมจะส่งรถเล็กของตน ออกสู่ตลาด
ในปี 2011 เพราะรายอื่นๆที่เหลือหลังจากนั้น ทั้ง Suzuki และ Mitsubishi ตั้งใจจะทำคลอด ECO Car ของตน
ภายในปี 2012 ขณะที่พี่เบิ้ม Toyota กลับยังคงนั่งกุมขมับอยู่ และพยายามหาทางเดินหน้าโครงการต่อไปให้ได้
เพื่อให้เปิดตัวในช่วงปี 2013-2014
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เห็นถึงความคืบหน้าล่าสุด ของแต่ละค่าย Headlightmag.com จึงขอนำเสนอความเคลื่อนไหว
ของบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ค่ายต่างๆ ที่มีชื่อร่วมอยู่ในโครงการ ECO Car ว่า จนถึงตอนนี้ พวกเขา กำลังทำอะไรกันอยู่
พัฒนารถไปถึงไหน และพร้อมจะเริ่มส่งขึ้นโชว์รูมกันเมื่อใด เพื่อให้เป็นข้อมูล ประกอบการตัดสินใจล่วงหน้า
ของผู้บริโภค
———————————————————–
NISSAN
ขบวนการ MARCH Ranger พร้อมรบ ครบทีม (ซะที) !
ความพยายามที่จะผลักดันการเปิดตัว Nissan March ใหม่ รหัสรุ่น K13 รหัสโครงการพัฒนา B02A ให้ทันเปิดตัว
ในเมืองไทยครั้งแรกในโลก ก็สำเร็จลุล่วงไปแล้ว เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ที่ผ่านมา แต่ถ้าจะถามว่า Nissan พร้อม
อย่างที่แถลงกันออกมาก่อนหน้านี้หรือไม่ ก็ต้องพูดกันตามตรงว่า “ไม่ค่อยพร้อมเท่าไหร่”
จะให้บอกว่าพร้อม ก็คงทำไม่ได้ ในเมื่อ รถล็อตแรกที่ออกจากโรงงาน มีแต่เกียร์ธรรมดาเท่านั้น เนื่องจาก
JATCO ผู้ผลิตระบบส่งกำลัง ซึ่งรับหน้าที่ผลิตเกียร์อัตโนมัติ CVT ให้กับ March ส่งเกียร์ให้ไม่ทัน จึงทำให้
การส่งมอบรถรุ่นเกียร์อัตโนมัติ CVT ต้องรอกันจนถึงเดือนมิถุนายน อันเป็นกำหนดการเปิดตัวดั้งเดิม
และนี่คือ สาหตุที่ทำให้คนไทย ยังไม่ค่อยจะเห็น March แล่นบนถนนมากมายนัก อีกทั้งดูเหมือน Nissan
เอง ก็ยังไม่ค่อยโหมโฆษณา พาพี่เคน ธีระเดช มาโผล่หน้า ในภาพยนตร์โฆษณา บ่อยเท่าที่ควร
แต่นับจากเดือนมิถุนายนนี้เป็นต้นไป รุ่นเกียร์อัตโนมัติ CVT ก็ได้ฤกษ์ทะยอยส่งมอบให้ลูกค้าที่จับจอง
กันเสียที ซึ่งจนถึงตอนนี้ บัญชีคิวสั่งจอง ยาวนานจนถึงสิ้นปีกันไปแล้ว แม้ในตอนแรก จะมีเสียงบ่น
เรื่องราคาที่ดูเหมือนจะสูงกว่าที่ผู้บริโภคคาดหวังไปสักหน่อยก็ตาม กระนั้น Nissan เอง ก็พยายามบอกว่า
พวกเขาพยายามที่จะรักษาคุณภาพ และสร้างรถออกมาให้ผ่านข้อจำกัด ECO Car อันเข้มงวดของรัฐบาล
มาได้ขนาดนี้ และตั้งราคาได้ประมาณนี้ แต่ยังมีโครงสร้างตัวถังที่ ผ่านมาตรฐานการชนของ EU ได้ด้วย
ก็ถือว่าทำได้ดีที่สุดแล้ว
อีกทั้ง เครื่องยนต์ HR12DE บล็อกประหลาด 3 สูบ DOHC 12 วาล์ว 1,198 ซีซี 75 แรงม้า (PS) ซึ่งประจำการ
อยู่ใน March ก็ใช้วิธีเล่นง่ายๆ ด้วยการ นำเครื่องยนต์ HR16DE บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1.6 ลิตร
109 แรงม้า (PS) ใน TIIDA 1.6 มาหั่นกระบอกสูบทิ้งไป 1 เปลี่ยนเพลาข้อเหวี่ยงใหม่ และปรับเปลี่ยน
รายละเอียดชิ้นส่วนในเครื่องยนต์อีกนิดหน่อย ก็ได้พิสูจน์ตัวเองให้คนไทยได้เห็นแล้วว่า รถเครื่อง
1.2 ลิตร ใครว่า ไม่วิ่ง? ขนาด ผู้การแพน Commander CHENG จาก Headlightmag.com ของพวกเรา
ยังพูดซะดังลั่นคลิปวีดีโอ ที่โพสต์ขึ้น youtube กันเลยว่า…”เฮ้ย! รถเครื่อง 1.2 ลิตร วิ่งได้ตั้ง 175 กิโลเมตร/
ชั่วโมง ขับไปเหอะ!!!! จะเอาอะไรกันอีก?”
แผนการต่อไปของ March ก็คือ การส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ ทั้งในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และประเทศอื่นๆ
ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้ง ญี่ปุ่นเองด้วยเช่นกัน ซึ่งน่าจะมีการปรับสเป็กที่ส่งออกไป
เมืองนอก เล็กน้อย
รวมไปถึงการสายพันธ์ออกไปในตลาดระดับโลก ด้วยรถยนต์ Sub-Compact Sedan ที่สร้างขึ้นบนพื้นฐาน
ของ March รวมทั้ง รุ่นเปลี่ยนโฉม Full Modelchange ของ Nissan Note ที่จะใช้พื้นตัวถัง V-Platform นี้ร่วมกัน
ที่มีกำหนดจะคลอดตามมาในปี 2011
สิ่งที่เราจะต้องติดตามดูกันต่อไปก็คือ ภายหลังจากรถออกสู่ตลาดไปแล้ว ลูกค้าจะมีเสียงตำหนิบ่นก่นด่าในเรื่องไหน
ประเด็นใดกันบ้าง น้ำหนักพวงมาลัย การตอบสนองของตัวรถ เสียงรบกวนในห้องโดยสาร มาตรฐานการประกอบ
การเชื่อมตัวถัง ฯลฯ อีกมากมาย ดังนั้น จึงไม่อาจกล่าวได้ว่า งานของ Nissan เสร็จสิ้นแล้ว แต่อย่างใด
———————————————————–
Honda
มีนาคม 2011 เจอกัน คันสีเงิน!
หลังการเปิดตัวของ Nissan March แล้ว ผู้ผลิตรายต่อไป ที่จะเปิดตัวรถยนต์ ECO Car ของตน ตามมาเป็นรายที่ 2
ก็คือ Honda ยักษ์อันดับ 2 ในตลาดรถยนต์นั่งของเมืองไทยเรานั่นเอง เพราะในงาน Bangkok International
Motor Show ที่ไบเทค เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2010 ที่ผ่านมา Honda ตัดสินใจนำ รถต้นแบบ Honda New Small
Concept คันสีเงิน หน้าตาเหมือนหมวกกันน็อกยุคอวกาศ มาจอดท้าสายตา หวังดักความร้อนแรงของ Nissan March
บนพื้นที่บูธ ซึ่งตั้งอยู่ติดกันพอดี
ล่าสุด Honda ออกมาประกาศว่า ความคืบหน้าในการพัฒนารถยนต์รุ่นนี้ คืบหน้าไปมากกว่า 90 % แล้ว
โดยในตอนนี้ อยู่ในช่วงเตรียมขึ้นไลน์ทดลองผลิต ดังนั้น ขั้นตอนหลังจากนี้ จะเป็นช่วงเวลาที่ บรรดา
รถทดลองประกอบชุดแรก จะคลอดออกมา เพื่อเข้าสู่การทดสอบด้านความทนทาน ค้นหาจุดบกพร่อง
และปัญหาต่างๆ เพื่อปรับแก้ไขรายละเอียดปลีกย่อยด้านวิศวกรรม ก่อนจะมีการผลิตออกสู่ตลาดจริง ในปีหน้า
Honda มองว่า การเปิดตัวตามหลัง Nissan March และกลายเป็นผู้เล่นอันดับ 2 ในตลาดกลุ่มนี้ ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย
เสมอไป หนำซ้ำ ยังทำให้พวกเขา มองเห็นภาพของตลาดกลุ่มใหม่นี้ ชัดเจนยิ่งขึ้น อีกเสียด้วยซ้ำ การวางแผนต่างๆ
เผลอๆ อาจจะง่ายขึ้นเยอะ
รูปแบบของรถ Honda ECO Car เวอร์ชันจำหน่ายจริง จะยืนพื้นฐานในรูปของ Sub-Compact Hatchback 5 ประตู
ที่มีเส้นสายหลัก ถอดแบบมาจาก รถต้นแบบ New Small Concept คันที่เห็นอยู่นี้ แต่ จะต้องมีการลดทอนความ
โฉบเฉี่ยวร้อนแรงลงมา เพื่อให้สามารถผลิตออกสู่ตลาดได้จริง ภายใต้เงื่อนไขมากมาย ตั้งแต่ข้อจำกัดด้านต้นทุน
ในการผลิต การยอมรับของผู้บริโภคต่อราคาขายปลีก ซึ่งคาดหวังเหลือเกินว่าควรมีราคาอยู่ในระดับพอกันกับ
Nissan March คือ 375,000 – 500,000 บาท หรือถ้ายิ่งถูกกว่าได้ ก็ยิ่งดี
กระนั้น ว่ากันว่า เส้นสายภายนอก ของเวอร์ชันขายจริง จะใกล้เคียงกับเวอร์ชันต้นแบบ ถึง 90 เปอร์เซนต์
เลยทีเดียว ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง แนวกระจกบริเวณหลังคา C-Pillar อาจต้องถูกขยายมากกว่านี้ เพราะไม่เช่นนั้น
ทัศนวิสัยด้านหลังของรถคันขายจริง น่าจะย่ำแย่เอาเรื่อง
เครื่องยนต์ จะเป็นบล็อก 4 สูบ SOHC 16 วาล์ว 1.3 ลิตร พละกำลังไม่เกิน 95 แรงม้า (PS) ขับเคลื่อนล้อหน้า
ด้วยเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และยังไม่แน่ชัดว่า Honda จะนำระบบเกียร์อัตโนมัติ แบบใดมาใช้ ระบบกันสะเทือน
ด้านหน้า แบบแม็คเฟอร์สันสตรัต ส่วนด้านหลัง อาจยังคงเป็นแบบ ทอร์ชันบีม ตามปกติของรถเล็กท้ายตัดในยุคนี้
Honda มีกำหนดเปิดตัว ECO Car คันนี้ ในเดือนมีนาคม 2011 โดยเริ่มจากประเทศไทยก่อน จากนั้น ตามไปยัง
อินเดีย อันเป็นประเทศเป้าหมายรองลงไปของรถรุ่นนี้ อย่างไรก็ตาม อีกประเด็นหนึ่งที่น่าจับตาไม่แพ้ รายละเอียด
ของตัวรถคันขายจริง นอกจากชื่อรุ่น ซึ่งจนถึงตอนนี้ ดูเหมือนจะยังไม่มีข้อสรุปแต่อย่างใด นั่นคือ ราคาขายปลีก
อย่าเพิ่งคาดหวังว่า ราคาจะต้องถูกกว่า Nissan March เพราะนั่นดูจะเป็นไปได้ยาก แต่ถ้าพิกัดราคา อยู่ในระดับ
พอกับ Nissan March นั่นน่าจะทำให้ลูกค้า ยังอาจตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
———————————————————–
SUZUKI
Swift รุ่นต่อไป จะเป็น ECO Car ? อืมม..เป็นไปได้นะ
ในทันที ที่ ภาพถ่ายคันจริง ของ Suzuki Swift รุ่นปี 2011 เผยแพร่สู่สาธารณชน เมื่อ 10 มิถุนายน 2010
ที่ผ่านมา ผู้คนในแวดวงรถยนต์บ้านเรา ก็เริ่มจับตามองว่า เป็นไปได้ไหม ที่ Suzuki จะนำ Swift เข้ามา
ประกอบ ณ โรงงานผลิตรถยนต์แห่งแรกของตนที่เมืองไทย ในฐษนะ ECO Car ประจำค่าย?
หลังได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลไทย ให้สามารถผลิตรถยนต์ ECO Car ได้ ร่วมกับผู้ผลิตรายอื่นๆ ในเดือน
ธันวาคม 2007 Suzuki ก็ใช้เวลาศึกษา และเฟ้นหา ติดต่อสถานที่อยู่พักใหญ่ จนดูเหมือนว่า มีการชะลอแผนดังกล่าว
แต่หลังจากผ่านพ้นช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโลก เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น พวกเขาก็เริ่มเดินหน้าลุยโครงการ ECO Car
ในเมืองไทยกันอย่างเต็มสูบ เริ่มจากการจัดตั้ง บริษัท Suzuki Automobile (Manufacturing) Thailand จำกัด
เพื่อถ่ายโอนการดำเนินงานด้านการขาย จาก บริษัทเดิม คือ Suzuki Automobile Thailand (SAT)
ตามด้วยการประกาศสร้างโรงงานขนาดใหญ่ มูลค่า 7,500 ล้านบาท ที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราช อิสเทิร์นซีบอร์ด
อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง โดยเพิ่งจะมีพิธีวางศิลาฤกษ์ไปเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกยน 2009 อันเป็นช่วงเริ่มต้น
งาน Motor Expo 2009 ที่ผ่านมาพอดี โรงงานนี้ จะมีขนาดใหญ่โตอลังการงานสร้างมากมาย เพราะสามารถ
ปั้มชิ้นส่วนขึ้นรูป เชื่อมตัวถัง พ่นสี ประกอบ และผลิตเครื่องยนต์ ได้ครบถ้วนเสร็จสรรพ ในรั้วรอบขอบชิดเดียวกัน!
ดังนั้น โอกาสที่เราจะเห็น Suzuki ECO Car คันแรก ออกสู่ตลาด จะยังไม่ใช่ ภายในปี 2011 อย่างแน่นอน
เพราะกว่าโรงงานจะเสร็จ กว่าที่เครื่องจักรทั้งหมดจะถูกติดตั้ง เดินเครื่องทดสอบระบบ ฝึกอบรมพนักงานใน
สายการประกอบ ไปจนถึง การเตรียมความพร้อมสารพัดด้าน ต้องใช้เวลา นานกว่า 1 ปี แน่ๆ ดังนั้น Suzuki
จึงกำหนดออกมาแล้วว่า ECO Car คันแรกของตน น่าจะพร้อมทำคลอดได้ ในเดือน มีนาคม 2012
อย่างไรก็ตาม โจทย์ในการเลือกรุ่นรถยนต์ที่จะมาผลิตในโครงการ ECO Car สำหรับ Suzuki แล้ว ถือว่าไม่ง่ายนัก
เพราะหาก Suzuki ตัดสินใจเลือกให้ Swift ใหม่มาผลิตที่เมืองไทย แม้ว่าจะพยายามปรับสเป็กให้เข้าข่ายตาม
ข้อกำหนดโครงการดังกล่าว แต่ก็ต้องเสี่ยงกับการยอมรับจากผู้บริโภค
เนื่องจาก ในปัจจุบันนี้ Suzuki กำลัง ทำตลาด Swift รุ่นปัจจุบัน ด้วยเครื่องยนต์ 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1.5 ลิตร
100 แรงม้า (PS) ซึ่ง เหมาะสมกับพฤติกรรมการใช้รถของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายดั้งเดิมสำหรับรถรุ่นนี้อยู่แล้ว
อีกทั้งทุกวันนี้ ลูกค้าคนไทยมองว่า Swift เป็นรถยนต์ Sub-Compact Hatchback เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร ที่แข่งขัน
กับ Mazda 2 Hatchback ,Honda Jazz และ Toyota Yaris มากกว่าจะนำไปเปรียบเทียบกับ Nissan March
การนำ Swift ใหม่ เข้ามาประกอบ อาจทำให้ ลูกค้าเกิดความสับสน ว่า Swift ใหม่ แม้อาจจะมีราคาถูกลงกว่า
ในปัจจุบัน มีขนาดตัวรถใหญ่ขึ้น และนั่งสบายขึ้น แต่เครื่องยนต์ ก็จะมีขนาดความจุกระบอกสูบเล็กลงเหลือ
1.2 ลิตร พละกำลังอาจด้อยกว่ารถรุ่นปัจจุบัน และนั่นทำให้ ภาพลักษณ์ของ Swift ในตลาดเมืองไทย ซึ่งมองว่า
เป็นรถเล็ก ขับสนุก พอประมาณ ที่สามารถนำไปตกแต่งเพิ่มสมรรถนะได้ในภายหลัง ต้องลดทอนลงไป จริงอยู่
มีแนวโน้มว่า ตัวรถในภาพรวม อาจจะชนะ Nissan March ได้แน่ๆ แต่การลดตำแหน่งการตลาดของ Swift
ลงไปสู้กับ Nissan March แม้จะทำให้ Suzuki ดูได้เปรียบคู่แข่งเห็นๆ แต่กลุ่มลูกค้าที่มอง Swift อาจไม่คิดเช่นนั้น
และอาจทำให้ Swift ไม่สามารถเติบโตได้ในตลาดเมืองไทย มากเท่าที่ควรจะเป็น
สิ่งที่ Suzuki ควรจะทำกับ Swift ต่อไป คือการนำรถรุ่นใหม่ เข้ามาทำตลาด ด้วยเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร และวาง
ตำแหน่งการตลาด ชนกับคู่แข่งกลุ่มเดิม ซึ่งเชื่อแน่ว่า รถรุ่นใหม่ จะเอาชนะคู่แข่งได้สบายๆ แต่ทางเลือกนี้
เท่ากับบีบให้ Suzuki ต้องหารถรุ่นอื่น ซึ่งมีขนาดตัวถังเล็กกว่า มีความเหมาะสมต่อการทำราคาให้ถูกลงไป
ได้ยิ่งกว่านี้อีก เข้ามาทำตลาด แต่ จะเป็นรถรุ่นใดกัน?
ถ้าเป็นรถรุ่น Celerio หรือ Alto เวอร์ชันอินเดีย ละก็ ลืมไปได้เลย ฐานการผลิตของรถรุ่นนี้ จะอยู่ที่อินเดีย
แห่งเดียว ดูแลโดย Maruti Suzuki Udyog เพื่อป้อนตลาดในแดนภารตะ และตลาดส่งออกไปยังยุโรป อยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม โอกาสที่รถคันนี้จะเข้ามาทำตลาดในบ้านเรา ก็ยังมีอยู่ ยังละสายตาไปไม่ได้
แต่ถ้าจะเป็น Suzuki Splash เครื่องยนต์ 1.2 ลิตร ละ? แม้ว่ารุ่นปัจจุบันจะเหมาะสมกับตลาดเมืองไทย
อย่างมาก แต่ต้องถือว่า หมดสิทธิ์ เพราะในข้อกำหนดของ รัฐบาลไทย ระบุชัดเจนว่า ต้องเป็นรถยนต์
ตัวถังใหม่ ซึ่งไม่เคยทำตลาดที่ประเทศไหนมาก่อน หากจะเลือก Splash รุ่นต่อไปก็ต้องรอกันไปจนถึง
ปี 2013 ซึ่งจะเป็นปีที่ Suzuki มีกำหนดจะเปลี่ยนโฉม Splash ใหม่หมดทั้งคัน นั่นก็นานเกินกว่าที่ Suzuki
และสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องในการอนุมัติงบสร้างโรงงาน จะยอมรอ
อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นทางเลือกที่ดีมากๆ แต่เชื่อแน่ว่า Suzuki อาจไม่เลือกรถรุ่นนี้เข้ามา เพราะอยากให้
ฐานการผลิตของ Splash ยังคงอยู่ ณ โรงงานของตนในเมือง Esztergom ประเทศฮังการี เพราะ Suzuki
ต้องการรักษาความสัมพันธ์อันดี กับรัฐบาลฮังการี เพื่อใช้โรงงานแห่งนี้ ผลิต Splash ป้อนตลาดยุโรปตามเดิมต่อไป
ถ้าเช่นนั้น ก็คงจะเหลือเพียงทางออกเดียว คือการพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ บนพื้นฐานงานวิศวกรรมของรถยนต์
รุ่นเก่าๆ ที่ทำขายมาก่อนแล้ว แต่ทางเลือกนี้ Suzuki อาจต้องลงทุนเพิ่มเติมมหาศาลบานตะไทอยู่ใช่เล่น
นี่คือสิ่งที่ดูจะเป็นเงื่อนไขให้ Suzuki กระดิกตัวค่อนข้างลำบากพอสมควร และไม่แน่ว่า ท้ายที่สุด
พวกเขาอาจเล่นเกมโหด ชนิดที่คู่แข่งรายอื่น อาจถึงกับปวดกบาล เลยก็เป็นได้ อย่างที่เราประเมินไว้
ในย่อหน้าข้างต้น
ดังนั้น เวลานี้ เราจึงยังต้องรอดูท่าที ที่ชัดเจน ของ Osamu Susuki ท่านผู้เฒ่าจอมขยันและนักลดต้นทุนมือฉกาจ
แห่ง เมือง Hamamatsu ว่า จะเลือกรถรุ่นไหน มาช่วยแจ้งเกิด Suzuki ให้กลับมาเกิดใหม่ในเมืองไทยอย่าง
เปรี้ยงปร้างได้อีกครั้งสมดังใจอยากของหลายๆฝ่ายเขา เสียที?
———————————————————–
MITSUBISHI MOTORS
Global Small ฉลามน้อย จูเนียร์ ดึง PSA ร่วมเอี่ยว เจอกัน 2012 (จะทันเหรอ?)
ในขณะที่ชาวบ้านชาวช่องเขาพยายามเร่งรีบถีบปั่น เข็น ECO Car ของตนออกมาขายให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้
ทว่า Mitsubishi Motors ดูจะเป็นค่ายที่ใจเย็นเป็นที่สุด และดูเหมือนว่าพวกเขาจะซุ่มเงียบ เริ่มพัฒนารถเล็ก
รุ่นใหม่ไปแล้วในระดับหนึ่ง
เพราะมิเช่นนั้น ทาง คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI คงไม่อาจออกมาประกาศว่า Mitsubishi Motors
ยังยืนยันจะเดินหน้าโครงการ ECO Car ของตนต่อไป ด้วยเงินลงทุนสูงถึง 8 พันล้านบาท โดยตั้งเป้าให้ตัวรถ
เสร็จทันเริ่มทดลองประกอบ ภายในเดือน กันยายน 2011 เพื่อจะนำรถทดลองประกอบ ไปทดสอบแล่น บน
ถนนจริง เก็บข้อมูล และแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ก่อน จะเริ่มต้นผลิตออกขายจริง ในเดือนมีนาคม 2012
ที่สำคัญ Mitsubishi Motors ให้คำมั่นกับ BOI แล้วว่า พวกเขาสามารถผลิตรถ ECO Car ตั้งแต่ปีที่ 5 ขึ้นไป
ได้ 100,000 คันต่อปี ตามกรอบเงื่อนไขของ BOI โดยในช่วงปีแรก Mitsubishi Motors จะประกอบรถเล็ก
รุ่นนี้ เพื่อป้อนตลาดในไทย และบางประเทศเป็นหลัก ด้วยวิธีปรับปรุงสายพานผลิตให้ ยืดหยุ่นขึ้น แต่
ถ้ารถรุ่นใหม่นี้ ขายดีเกินคาด Mitsubishi Motors ก็พร้อมจะผุดโรงงานผลิต Ecocar แห่งใหม่ขึ้นอีกแห่ง
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่า PSA Peugeot Citroen แห่งฝรั่งเศส เองก็ อยากจะขอเข้ามา
ร่วมเป็นพันธมิตรกับ Mitsubishi Motors ในการทำรถเล็ก ECO Car อีกด้วย หลังจาก
ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ ไปได้สวย จากการที่ฝ่ายญี่ปุ่น ผลิต Mitsubishi Outlander
ส่งให้ PSA ขายในยุโรปด้วยชื่อ Peugeot 4007 และ Citroen C-Crosser จนถึงการนำ
รถไฟฟ้า บนพื้นฐาน K-Car อย่าง Mitsubishi i-MIEV มาขายในยุโรปด้วยชื่อ
Peugeot iOn และ Citroen C-Zero ซึ่งดูจะมีความเป็นไปได้สูงว่า การเจรจาน่าจะ
สัมฤทธิ์ผลด้วยดี
แสดงว่า ประเทศไทย จะกลายเป็นจิ๊กซอร์ตัวสำคัญใน โครงการ Global Small Car ซึ่งจะเป็นโครงการ
ผลิตรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ซึ่งมีตัวถัง “เล็กกว่า Colt Hatchback รุ่นปัจจุบัน ที่ขายกันในญี่ปุ่นและยุโรป”
รถรุ่นใหม่จะถูกสร้างขึ้นบนพื้นตัวถังที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ทั้งหมด โดยจะมีเครื่องยนต์เบนซินขนาด
1.0 และ 1.3 ลิตร ให้เลือกใช้ ไม่เพียงเท่านั้น ยังจะมีรุ่นพิเศษที่ใช้พลังไฟฟ้า ร่วมกับน้ำมัน แบบ
เสียบชาร์จกับปลั๊กไฟบ้านได้ หรือ PLUG-IN HYBRID รวมทั้ง รุ่นที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเพียวๆ
หรือ EV (Electric Vehicle) จะคลอดตามออกมา ในปี 2013
2 รุ่นหลัง ที่ใช้พลังไฟฟ้าร่วมด้วยนั้น ยังไม่แน่ใจว่า จะมีเข้ามาขายในเมืองไทยด้วยหรือเปล่า
แต่ที่แน่ๆ สำหรับบ้านเรา ดูจากแนวโน้มแล้ว งานนี้ Mitsubishi น่าจะทำรถออกมาในรูปของ
Sub-Compact Hatchback 5 ประตู ขนาดเครื่องยนต์ 1,300 ซีซี โดยวางเป้าหมาย ให้ตัวรถมี
คุณภาพเหนือกว่าคู่แข่ง ที่มีอยู่ในตลาดตอนนี้แน่ๆ ส่วน รูปลักษณ์ภายนอก มีแนวโน้มว่า
อาจจะยังออกแบบให้ด้านหน้า มาในสไตล์ “หน้าฉลาม” เหมือนกับทั้ง Lancer EX และ
SUV รุ่น Outlander RVR ไปจนถึง Colt Minorchange เวอร์ชัน ยุโรป อย่างที่ปรากฎใน
ภาพประกอบบทความนี้
แต่สิ่งที่น่าห่วง สำหรับ Mitsubishi Motors มีอยู่ 3 ประเด็น คือ จะทำอย่างไร ให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง
แต่ยังคงคุณภาพ และมาตรฐานความปลอดภัย ตามแบบ Mitsubishi รุ่นอื่นๆ ที่ผ่านมา นอกจากนี้
ยังต้องคำนึงถึงการวางออพชัน และรุ่นย่อย ให้เหมาะสมกับระดับราคา ที่จะทำให้ลูกค้า ไม่ร้องยี้
เหนือสิ่งอื่นใด แผนการทำตลาด จะต้องแตกต่างไปจาก การเปิดตัวรถทุกรุ่นที่พวกเขาเคยทำมา
ทั้งหมด อย่างสิ้นเชิง และถึงขั้นต้องฉีกแนวกันไปเลย
หากมานั่งดูตามกำหนดเวลาที่ BOI กับ Mitsubishi Motors แถลงออกมา ถ้ายังไม่มีการเลื่อนแผนออกไป
คาดว่าตอนนี้ งานออกแบบรูปลักษณ์ทั้งภายนอกและภายใน ควรจะเสร็จสิ้นได้แล้ว หลังจากนี้ น่าจะ
เหลือแค่การแกะแบบพิมพ์เขียว ส่งให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วน ได้เตรียมงานกันต่อไป
อย่างไรก็ตาม การดำเนินงาน ดูเหมือนจะค่อยๆคืบคลานกันไปอย่างช้าๆ ราวกับ งูเหลือมเขมือบวัว
อเมริกันบรามัน เข้าไปทั้งตัว และพยายามจะเลื้อย อันเป็นนิสัยปกติของ Mitsubishi Motors เขาละ!
ทำให้เราไม่แน่ใจว่า ตัวรถจะเสร็จทันกำหนดขายจริง ในเดือนมีนาคม 2012 หรือไม่ เพราะถ้า
เจอโรคเลื่อนอะไรก็ตามหลังจากนั้น ก็ไม่แน่ว่า กว่าจะได้เจอกันบนโชว์รูม เผลอๆ อาจต้องรอ
ไปถึงปี 2013
———————————————————–
TOYOTA
EFC…Entry Family Car ที่ไม่ใช่ ETIOS ? กว่าจะมา ปาเข้าไป 2014 ?
ผู้ผลิตที่เข้าร่วมกระโดดเกาะรถไฟสายสิทธิพิเศษ ECO Car ขบวนสุดท้าย เป็นรายสุดท้ายพอดี อย่าง Toyota
แม้จะเคยบอกว่า “ไม่รีบ” แต่ตอนนี้ เริ่มมีความเคลื่อนไหวออกมาแล้วว่า ท้ายที่สุด ก็จะพัฒนารถยนต์ขึ้นมา
ร่วมแข่งขันแย่งชิงยอดขายในตลาดกลุ่มนี้ด้วย
แต่ดูเหมือนว่า ในตอนนี้ยังกุมขมับไม่เลิก เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ความเคลื่อนไหวตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
แสดงให้เห็นว่า Toyota ไม่ได้เตรียมความพร้อมต่อการเข้าร่วมขอรับสิทธิพิเศษ ECO Car ตั้งแต่แรก
เรื่องมีอยู่ว่า โครงการ ECO Car นั้น ผุดขึ้นมา หลังจากที่ Toyota เองวางแผน และดำเนินการพัฒนารถยนต์
ขนาดเล็กรุ่นต่างๆ ตามยุทธศาสตร์ กันเรียบร้อยไปหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นรุ่นเปลี่ยนโฉมของ Toyota AYGO
ซึ่งก็จะยังคงจับมือกับพันธมิตรอย่าง PSA Peugeot Citroen ออกแบบ และปั้มขายกันที่สาธารณรัฐเชค ต่อไป
ขณะเดียวกัน โครงการรถเล็กราคาประหยัด ต้นทุนต่ำ EFC (Entry Level Family Car) ที่จะเริ่มต้นในอินเดีย
อย่าง Toyota Etios (เอธิออส) Sub-Compact Sedan เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร และ Sub-Compact Hatchback
เครื่องยนต์ 1.2 ลิตร ก็เริ่มเผยโฉมออกมาแล้ว ในงาน นิวเดลี มอเตอร์โชว์ ช่วงข้ามปีใหม่ 2010 มาได้ไม่กี่วัน
สโลแกน First for India, then to the World ก็บ่งบอกชัดเจนแล้วว่า งานนี้ Toyota ตั้งใจให้ อินเดีย เป็นฐานการ
พัฒนารถเล็กรุ่นนี้ออกสู่ตลาดทั่วโลก
แต่ ในเมื่อมีเสียงที่เชื่อถือได้ หลายเสียงเหลือเกิน ยืนยัน มาว่า “สำหรับเมืองไทย จะไม่ใช่ Etios” คราวนี้
เราก็เลยงงกันเป็นไก่ตาแตกเลยทีเดียว เหตุผล นั่นเพราะ รูปลักษณ์แบบที่เห็นอยู่นี้ ต้องบอกเลยว่า หากหวัง
ยอดขายกันแล้ว มีสิทธิ์จะ “เจ๊ง” มากกว่า “เจ๊า” เพราะคนไทยไม่ชอบงานออกแบบที่มุ่งเน้นการสร้างรถ
ให้ถูกที่สุดเท่าที่จะทำได้ ของ Etios กันเท่าใดนัก
แถมในเวลานี้ Toyota ยังต้องแบ่งทีมวิศวกรจำนวนไม่น้อย เข้าไปช่วยแก้ปัญหา “Recall บันลือโลก”
อันเกิดกับรถหลายๆรุ่น ในต่างประเทศ ตั้งแต่คันเร่งค้าง ไปจนถึง ปัญหาด้านการทรงตัวของ SUV รุ่นเขื่อง
ถือเป็น วิกฤติการณ์ร้ายแรงที่สุด ครั้งหนึ่ง เท่าที่ ยักษ์อันดับ 1 ของญี่ปุ่นแห่งนี้เคยประสบ จนตอนนี้ ปริมาณ
ของงานที่ต้องทำ มีมากกว่าจำนวนวิศวกรทั้งหมดที่ Toyota มี ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลก ที่เพิ่งจะ
เริ่มฟื้นตัวจากวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ Hamburger’s Crisis ที่เริ่มก่อตัวจากสหรัฐอเมริกา ช่วงปลายปี 2008
ทั้งหมดนี้ จึงทำให้สถานการณ์ ของ Toyota จึงแตกต่างจาก Nissan Honda Suzuki และ Mitsubishi กันไปเลย
ทำให้ในตอนนี้ หากจะพัฒนา ECO Car กันต่อไป Toyota อาจต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อยๆ 3-4 ปี กว่าที่จะพร้อม
ปล่อย ECO Car คันแรกของตนขึ้นโชว์รูมในไทย
แล้วสเป็ก ของรถ ECO Car จาก Toyota ละ จะออกมาเป็นอย่างไร?
ในเบื้องต้นนั้น คาดว่า Toyota จะใช้วิธี พัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ ขึ้นมาอีก 1 รุ่น โดยใช้พื้นตัวถัง และงานวิศวกรรม
ร่วมกันกับ Toyota Etios เพียงแต่ จะมีการปรับปรุง งานออกแบบทั้งภายนอก และภายใน ให้สวยงาม ถูกรสนิยม
ลูกค้าชาวไทยมากกว่ากันอย่างชัดเจน แน่นอน มันอาจจะทำให้ต้นทุนของ Toyota สูงขึ้นมาบ้าง แต่ ในเมื่อตัวของ
Etios เองดูจะไม่ถูกใจคนไทย ก็คงไม่มีทางเลือกอื่นใด ที่ดีไปกว่านี้
ก่อนหน้านี้ เคยมีการศึกษาว่า Toyota อาจยังต้องพึ่งพา การสร้างรถรุ่นนี้ ร่วมกับ บริษัทลูกในเครืออย่าง Daihatsu
อยู่ดี เพราะ Toyota ไม่ถนัดทำ รถเล็กเท่ากับ Daihatsu อีกทั้งเป็นการหางาน ให้ผู้ผลิตรถเล็กรายนี้ ได้มีรายได้เสริม
มาเลี้ยงปากท้องของตนเองอีกด้วย
ปัญหาที่ Toyota ต้องเผชิญก็คือ จะลดต้นทุนในทุกๆด้าน ตั้งแต่การเลือกใช้ชิ้นส่วน วัสดุ ไปจนถึงต้นทุนในการผลิต
ให้ถูกลงยิ่งไปกว่าที่ทำอยู่นี้ได้อย่างไร โดยที่คุณภาพของรถในภาพรวม เมื่อเสร็จออกมาแล้ว จะต้องสูงกว่า Etios
ที่สำคัญ ยังต้องมีรูปลักษณ์ที่โดนตา ต้องใจ ลูกค้าชาวไทย และ ในตลาดโลก ยิ่งกว่า รถทั้ง 2 คันนี้ อีกด้วย แต่นั่น
ยังไม่ยากเท่ากับความเป็นห่วงของคนใน Toyota จำนวนไม่น้อยเลย ในเรื่องราคาขายปลีก ณ วันที่รถจะต้อง
คลอดออกมาในอีก 4 ปีข้างหน้า เมื่อเทียบกับตัวเลขทางเศรษฐกิจ และค่าเงินต่างๆ
ณ วันที่บทความนี้เริ่มเผยแพร่สู่สาธารณชน โครงการรถเล็กรุ่นใหม่ ของ Toyota เพื่อสอดรับแผน ECO Car
ของรัฐบาลไทย ยังอยู่ในช่วงเริ่มตั้งไข่กันอยู่ แม้จะมีการกำหนด Concept คร่าวๆ ไปบ้างแล้วก็ตาม แต่
ยังอยู่ในขั้นตอนการออกแบบกันอยู่เลย ดังนั้น ถ้าการทำงานเดินหน้าไปตามแผน กว่าที่เราจะได้เห็น
ECO Car จาก Toyota เราคงจะต้องรอไปจนถึงปี 2013-2014 และนั่นก็จะทำให้ Toyota กลายเป็นผู้ผลิต
รายสุดท้าย ที่จะส่ง ECO Car ของตน เข้าร่วมประชันศึกกับชาวบ้านชาวช่องเขา
———————————————————–
กลุ่มที่ถอดใจไปแล้ว และมองหาลู่ทางอื่นอยู่….
TATA MOTORS
สั่ง Nano มาขายไปเลย ดีกว่า? (เหรอ?)
ในที่สุด TATA MOTORS ก็ถอดใจ และถอนตัวจากการเข้าร่วมโครงการ ECO Car จนได้ พวกเขาให้เหตุผลว่า
บริษัทญี่ปุ่นสนใจกันเยอะ และถ้าหากทุกค่าย ผลิตรถในโครงการดังกล่าวออกมา จะทำให้ตลาดนี้ มีการแข่งขันสูง
การประกาศอย่างเป็นทางการแบบนี้ เท่ากับบอกเป็นนัยๆ ว่า TATA รู้ตัวดี ถึงความไม่พร้อมของตนเองในภาพรวม
หากตั้งโรงงานไป จะหารถรุ่นไหนมาปั้มขาย และถึงแม้จะทำคลอดได้สำเร็จ แต่ ใครจะรับประกันยอดขาย ว่า
จะเข้าเป้าถึง 1 แสน คัน ในปีที่ 5 หลังการเปิดตัว ตามข้อกำหนดของโครงการที่ระบุไว้ชัดเจน เพราะนอกจาก
คุณภาพของรถยนต์อินเดีย ที่ยังอยู่ในช่วงเรียนรู้ และพัฒนาต่อไปแล้ว ชื่อชั้นของแบรนด์ TATA ก็ยังไม่ถือว่า
แข็งแกร่งพอ หากจะเทียบกับคู่แข่งจากญี่ปุ่น รายใดก็ตาม เท่ากับว่า โอกาสจะบรรลุเป้าหมายนั้น แทบจะ
เป็นไปได้ยากมากๆ
อย่างไรก็ตาม TATA ก็ยังไม่คิดจะเลิกขายรถยนต์นั่งขนาดเล็กในบ้านเราไปเลยแต่อย่างใด เพราะตอนนี้
พวกเขามองว่า ควรสร้างตลาดกลุ่มใหม่ เป็นของตัวเองไปเลยดีกว่า นั่นคือเหตุผลที่ทำให้พวกเขากำลังศึกษา
ทดสอบ และเตรียมสั่งนำเข้า TATA Nano รถเล็กราคาถูกกระฉ่อนโลก เข้ามา แบบสำเร็จรูปทั้งคัน (CBU :
Complete Built Unit) แทน โดยหลังจากนั้น จะศึกษาการขึ้นไลน์ผลิต Nano ในประเทศไทยต่อไป
โดยเครื่องยนต์ ของเวอร์ชันไทย ก็ยังเป็นคำถามกันอยู่ว่า ควรจะเป็นตัวไหนดี เนื่องจากมีให้เลือก
ตั้งแต่ 600 ไปจนถึง 1,400 ซีซี
สิ่งที่ถือเป็นการบ้านข้อสำคัญของ TATA ก็คือ ราคากับออพชัน เพราะในเมื่อ อยากเจาะตลาดกลุ่มลูกค้า
ซึ่งมีฐานะไม่สูงนัก แต่อยากจะเลิกขี่จักรยานยนต์ มาขับรถยนต์นั่ง อันเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเดียวกับ
ในอินเดีย งานนี้ จึงต้องหาจุดลงตัวในประเด็นนี้ให้ได้ เนื่องจากผลการวิจัยตลาดเบื้องต้น แสดงให้เห็นว่า
ถ้าราคาขายปลีก เกินกว่า 2 แสน ถึง 2.5 แสนบาท ต่อคันเมื่อไหร่ ลูกค้าจะเบือนหน้าหนี ทันที
อีกทั้ง ถ้าอัดออพชันมาให้ครบครัน อย่าง TATA Nano Europa หรือเวอร์ชันส่งออกไปยังตลาดยุโรป
ที่มีการปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยเต็มพิกัด ราคาขายปลีก ก็น่าจะแพงเกินกว่าที่ลูกค้าทั่วไป
จะยอมจ่ายเงินซื้อมาขับ เพราะว่า ประเทศไทย กับ อินเดีย ยังไม่ได้ทำข้อตกลง ด้านการค้า FTA
(Free Trade Area) กันอย่างสมบูรณ์
ความชัดเจนในการนำ TATA Nano มาขายในบ้านเรา น่าจะชัดเจนขึ้นกว่านี้ ในปี 2011
———————————————————–
VOLKSWAGEN
คิดเดินทางลัด ถอนตัวจาก ECO Car แต่หันไปจับมือกับ SUZUKI ช่วยกันทำรถขาย ?
ผู้ผลิตรถยนต์จากเยอรมัน ดูจะเป็นฝรั่งผมทองรายเดียว ที่แสดงความสนใจอยากจะเข้าร่วม
โครงการ ECO Car เพราะ Volkswagen ดูจะไม่ได้มุ่งเน้น หรือให้ความสำคัญกับการทำตลาด
ในภูมิภาคเอเซีย มากเท่ากับที่ใส่ใจในจีน และญี่ปุ่น ซึ่งกลายเป็น 2 ตลาดหลักในย่านนี้
ของพวกเขาไปแล้ว
แต่การจะบรรลุเป้าหมาย ขึ้นแท่นเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 1 ของโลก แซง Toyota ขึ้นไป
ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าให้ได้นั้น ตลาดในอาเซียน มีลูกค้าจำนวนมากพอ จะสานฝันที่เป็นจริง
ให้ Volkswagen ได้ ความสำคัญของภูมิภาคอาเซียน จึงเริ่มถูกจับตามองจากคนที่ทำงาน ณ
สำนักงานใหญ่ในเมือง Wolfburg กันเสียที
ที่ผ่านมา แม้จะปล่อยให้ ไทยยานยนตร์ ยังคงดูแลการทำตลาด Volkswagen ในบ้านเราไปเรื่อยๆ
แต่ พวกเขาก็ยังคง เก็บข้อมูล แะศึกษาตลาดเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง อยู่เงียบๆ วันหนึ่ง เมื่อ
รัฐบาลไทย ประกาศโครงการ ECO Car ออกมา ในตอนแรก Volkswagen ก็เตรียมจะหอบเงิน
เข้ามาลงทุนสูงถึง 27,000 ล้านบาท นับว่ามากกว่าใครเพื่อนเขาเลย
ที่เป็นเช่นนี้ เพราะ Volkswagen ไม่เคยมีโรงงานของตนเอง ในอาเซียนอย่างจริงจังมาก่อน
ถ้า Volkswagen จะทุ่มลงทุนด้วยตัวเอง ก็จะเป็นการเสี่ยงมากไป จึงต้องมองหาพันธมิตร
มาช่วย ในตอนแรก Proton ก็อยากจะกอบกู้กิจการตัวเอง เลยเสนอตัวเป็นบันไดเชื่อม ให้
โดยคาดหวังให้ Volkswagen เข้าซื้อหุ้น และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ แต่ก็จะรับผลิตรถให้
เช่นกัน กระนั้น หลังจากการเจรจาผ่านไป ทั้งคู่ ก็พูดจาไม่รู้เรื่อง เอาแต่แข็งใส่กันท่าเดียว
จึงต้องยุติการเจรจาลง ชนิดที่ยากจะสานสัมพันธ์กลับมาได้อีกต่อไป
การตัดสัมพันธ์กับทาง Proton ไป ก็ทำให้ Volkswagen หันไปคบค้ากับ Suzuki ด้วยการ
ประกาศซื้อหุ้นของ Suzuki ถึง 19.9 % จำนวนเงิน 2,530 ล้านบาท โดย Suzuki ก็ใช้เงิน
ที่ได้มาจากการขายหุ้นตรงนั้น ซื้อหุ้นใน Volkswagen อีกส่วนหนึ่งด้วยเช่นกัน
ทำให้นักอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลก เริ่มมองเห็นความเป็นไปได้ ที่ทั้งคู่ จะจับมือกัน
ทำรถเล็กรุ่นใหม่ ร่วมกัน
ในตอนแรก คู่นี้ก็ดูจะจับมือกันดี ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทั้งคู่เริ่มมีปากเสียงกัน
เรื่อยๆ และเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่า การเข้ามาร่วมลงทุนทำรถเล็กด้วยกันนั้น จะคุ้มหรือไม่
เพราะต่างฝ่ายต่างดูเหมือนจะหวง เทคโนโลยีในการทำรถ ที่แตกต่างกัน และมีจุดเด่น
ไปคนละทิศละทางทั้งคู่ Volkswagen เอง ก็ถอนตัวจากโครงการ ECO Car และขอเข้าร่วม
กับ Suzuki แบ่งเบาภาระการลงทุนตั้งโรงงาน และการสร้างรถของทั้ง สองฝ่าย ขณะที่
Suzuki เอง ก็เริ่มแยกเขี้ยวใส่ว่า จะเข้ามาถือหุ้นเกินกว่า 19.9 % ไม่ได้แล้ว ทั้งที่ลึกๆ
Volkswagen อยากจะ Take-Over ฝ่ายญี่ปุ่นกันไปเลย ตามนิสัยที่ตัวเองเคยทำกับ
ค่ายรถยนต์อื่นๆในเครือเมื่อกาลก่อน
แม้จะมีความเป็นไปได้ว่า Volkswagen อาจจะนำ UP ฝูงรถเล็กรุ่นใหม่ๆ ซึ่งมีกำหนด
เปิดตัวในตลาดยุโรป ปี 2011 เข้ามาร่วมประกอบกับ Suzuki ในเมืองไทย แต่ดูเหมือนว่า
ทั้งคู่ ยังต้องคุยกันในรายละเอียดอีกมาก และยังยากจะหาข้อสรุปที่ชัดเจน ในเวลานี้
ซึ่งเราคงทำได้แต่เพียงรอดูกันต่อไปว่า อะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต กับการแต่งงานของทั้งคู่
———————————————-///———————————————-
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย เป็นผลงานของผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์จากต่างประเทศ เป็นของบริษัทผู้ผลิต
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
17 มิถุนายน 2010
Copyright (c) 2010 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
June 17th,2010