สมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และจักรยานยนต์ไทยจัดสัมมนา “ทิศทางยนตรกรรมหลังวิกฤติใหญ่ยานยนต์โลก” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2552 ที่ห้องประชุมที่ 3 โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทารา แกรนด์บางกอก โดยมีนายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในพิธีเปิด ว่า สิ่งที่ภาครัฐพยายามดำเนินการ คือ ทำอย่างไรจะกระตุ้นความต้องการในประเทศให้มากขึ้น ไม่เฉพาะภาครถยนต์ภาคเดียว ทั้งนี้ เพื่อประคองให้อุตสาหกรรมสามารถอยู่ได้ และยังสร้างความต้องการผ่านการผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่

    “ในช่วงแรก รัฐบาลเห็นว่ามาตรการที่ควรดำเนินการอย่างเร่งด่วน คือ การแก้ไขผลกระทบ จากวิกฤตที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ดังนั้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบแรกจึงเกิดขึ้น  โดยมุ่งเน้นการช่วยเหลือผู้ที่ประสบความเดือดร้อนจากวิกฤตเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องประชาชนที่เป็นคนยากจน ซึ่งมาตรการดังกล่าวมีผลให้การชะลอตัว หรือการหดตัวของเศรษฐกิจเกิดขึ้นในอัตราที่ต่ำลงมาก และนำไปสู่ความเชื่อมั่นมากขึ้นโดยลำดับ ซึ่งภายในสิ้นปีนี้เราจะได้เห็นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่กลับมาเป็นบวกได้ในช่วงปลายปี และจะกลับเข้าสู่การมีอัตราการขยายตัวตลอดทั้งปีที่เป็นบวกในระดับที่ค่อนข้างเหมาะสมในปี 2553 “
    โดยทั้งสองส่วนเป็นแผนระยะสั้น ขณะที่แผนระยะยาว ก็คือรัฐบาลจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการแสดงความเห็นและวางแผนร่วมกัน โดยเชื่อว่าจากนี้ไป 2-3 ปี ตลาดรถยนต์จะเปลี่ยนแปลง รัฐบาลต้องหารือกับผู้ประกอบการ อาทิเช่น มีแนวโน้มว่ารถขนาดเล็กจะเติบโต การเปลี่ยนแปลงของข้อบังคับต่างๆ และเป้าหมายการประหยัดพลังงาน
    สำหรับนโยบายเกี่ยวกับรถยนต์ รัฐบาลยังคงยืนยันสิ่งที่ได้ประกาศออกมาแล้ว รวมถึงอีโคคาร์ เพราะต้องการให้นโยบายมั่นคง และสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุน
โครงการรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (Eco Car) เป็นการสร้างการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานจากโครงรถแบบใหม่ ซึ่งโครงการฯ จะก่อให้เกิดการลงทุนจำนวนมาก ในขั้นตอนการผลิตเครื่องยนต์ในประเทศ และจะนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจให้อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วน OEM, REM และ Accessories ของไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของไทย รวมทั้งจะขยายผลไปสู่การพัฒนาการส่งออก และรายได้รวมของประเทศในอนาคตอันใกล้
    “ สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในอนาคต ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์นั้น สิ่งที่รัฐบาลจะให้ความสำคัญคือ การปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนทั้งด้านภาษีและที่มิใช่ภาษี เพื่อให้จูงใจให้เกิดการลงทุนใหม่ๆ และรักษาฐานการผลิตเดิมเอาไว้ตามเป้าหมาย ให้เป็นฐานการผลิตสำคัญของเอเชีย  ดังจะเห็นได้จากโครงการรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากลหรือ อีโคคาร์ ที่มีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยื่นเรื่องขอรับการอนุมัติสนับสนุนการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนถึง 7 บริษัทนั้น  ถือว่าเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่สำหรับโครงการนี้ โดยส่วนหนึ่งอาจเป็นผลเนื่องมาจากปัญหาด้านพลังงาน ที่นับวันจะแพงขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับความนิยมรถแบบซิตี้คาร์มีมากขึ้น “

หลังวิกฤติจับตารถเล็กแข่งขันสูง
    นายจอร์น บอลนีลล์ ผู้อำนวยการอาวุโส เจ.ดี.เพาเวอร์ เอเซียออโตโมทีฟ ฟอร์แคสติ้ง กล่าวในหัวข้อ “โฉมหน้ายานยนต์โลกหลังการพลิกครั้งประวัติศาสตร์” ว่า หากดูจากภาพรวมของการผลิตรถยนต์ทั้งโลก ที่มีปริมาณ 70 ล้านคัน ในปีนี้ ถือว่าเป็นการถดถอยย้อนหลังไปในช่วง 6 ปีที่แล้ว และความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมยานยนต์โลก เปลี่ยนจากอเมริกา มาอยู่ที่จีน เกาหลีและเอเชีย  ทั้งนี้ การฟื้นตัวในปีหน้าขึ้นอยู่ว่าผู้ผลิตจะสามารถดิ้นรน เพื่อสร้างยอดขายได้อย่างไร คาดว่า จากนี้ไป “จีน” จะเป็นประเทศหลักที่มีการเติบโต อิหร่านและรัสเซีย เป็นประเทศที่มีโอกาสในแง่ของการพัฒนา แนวโน้มรถยนต์จะพัฒนาไปทางรถขนาดเล็กซึ่งเป็นแนวโน้มระดับโลก โดยรถเอและบีเซ็กเมนท์จะเติบโตขึ้น จากปัจจัยแวดล้อมดังกล่าว รถจะมีความแตกต่างกันน้อยลง การใช้เทคโนโลยีจะเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

แนะประเทศไทยปรับตัวชิงฐานผลิตโลก
    ด้านนายณัฐพล รังสิตพล นักวิชาการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึง นโยบายของรัฐเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ว่า สภาพแวดล้อมปัจจุบัน ไทยเป็นฐานการผลิตปิกอัพที่สมบูรณ์ ขณะที่มีการศึกษาผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ว่า หากเศรษฐกิจชะลอตัวและฟื้นช้าเป็นเวลานาน อาจทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างถาวร
โอกาสของประเทศไทยหลังการชะลอตัว เชื่อว่าจะมีการปรับโครงสร้างการผลิต จากนโยบายของรัฐบาลและจากปัจจัยอื่นๆ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะถือโอกาสปรับโครงสร้างภายใน ไม่ว่าด้านบุคลากร เพื่อเตรียมความพร้อมในการผลิต สินค้าในตลาดทดแทนจะเติบโตขึ้น นอกจากนี้ เมืองไทยจะกลายเป็นฐานการผลิตรถยนต์อีโคคาร์ และผลจากการชะลอตัวจะทำให้มีการทบทวน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ
    นางเพียงใจ แก้วสุวรรณ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มีสัญญาณที่ดีในภาคการผลิต ที่เพิ่มกะการทำงาน และแนวโน้มของเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น ปัจจุบันการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 52.97% จากความสามารถในการผลิต 1.8 ล้านคันต่อปี ในอดีตสัดส่วนการใช้กำลังการผลิตของปี 2551 อยู่ที่ 82.84% ส่วนปี 2550 อยู่ที่ 72.10% โดยในอนาคต จะเห็นว่าไทยมีจุดแข็งในหลายด้าน ในสิ่งเหล่านี้ ไทยต้องคงจุดแข่งไว้ นโยบายภาครัฐต้องสนับสนุนอย่างจริงจัง โปร่งใส ชัดเจน
 
วอนภาครัฐชัดเจนในนโยบาย
    ด้านนายนินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานกรรมการ บริษัท โตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า หากมองย้อนกลับไป ในขณะที่ตลาดชะลอตัวมากสุด คือ 23% แต่ไทยไม่ได้เป็นสาเหตุของการเกิดวิกฤติ แต่กลับมียอดขายตกลงใกล้เคียงกับประเทศต้นเหตุ ซึ่งถือว่าตกลงมากว่าประเทศใดๆ ในเอเชีย
    ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการเสนอ 3 ประการ คือ 1. ความร่วมมือแก้ไขปัญหาระหว่างภาครัฐกับเอกชน และต้องได้ใหม่อย่าลืมเก่า คือ ไทยมีฐานผลิตปิกอัพที่แข็งแกร่งต้องรักษาไว้ 2. การส่งเสริมการค้าเสรีแบบทวิภาคี โดยเฉพาะอินเดียและจีน ต้องเน้นความร่วมมือให้มากขึ้น เพราะ 2 ประเทศเป็นตลาดใหญ่ และ 3. ต้องพัฒนาภาคการขนส่ง ระบบโลจิสติกส์และการจราจรอัจฉริยะ
    ทั้งนี้ปิกอัพถือเป็นสินค้าที่สำคัญของไทย เพราะไม่ว่าเป็นจะตลาดในประเทศ หรือส่งออกที่ปิกอัพมีสัดส่วนสูงกว่า 78% ของการส่งออกรถนยนต์สำเร็จรูปทั้งหมด มูลค่ากว่า 1.5 แสนล้านบาท และอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังสูงถึง 14% ของจีดีพีในภาคการผลิต หรือกว่า 3%ของจีดีพีประเทศไทย พร้อมทั้งมีแรงงานทั้งทางตรงและอ้อมในอุตสาหกรรมยานยนต์ 12% หรือมากกว่า 1.2 ล้านคน ของแรงงานทั้งหมดในไทย
    ขณะที่นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน รองประธานกรรมการบริหารอาวุโส บริษัท เอเชี่ยนฮอนด้ามอเตอร์ จำกัด กล่าวว่า ไทยเป็นฐานการผลิตรถปิกอัพ และกำลังจะพัฒนาเป็นฐานการวิจัยและพัฒนา ซึ่งถือเป็นบทบาทใหม่ของไทย นอกจากนี้ ยังมีการตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคด้วย อีก 40 ปีข้างหน้ารถจะเพิ่มเป็น 3 เท่าตัว ซึ่งจะเพิ่มในจีนและอินเดีย ในอนาคตรถจะผลิตถึง 90 ล้านคัน จำนวนนี้ 60 ล้านคัน เป็นรถขนาดเล็ก จากนี้ไปเอเชียจะมีบทบาทในการเป็นฐานผลิตยานยนต์ของโลก  อย่างไรก็ตาม คงไม่ง่ายนักที่ในอนาคต นั้นการที่จะผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์แบบใดแบบหนึ่ง เนื่องจากระบบต่างๆ โดยเฉพาะพลังงานเริ่มเปลี่ยนไป แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอนคือ การผลิตรถยนต์โลกจะทำในจีน อินเดีย เกาหลี รวมทั้งการย้ายฐานมาทางเอเชีย ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้น ขึ้นอยู่ว่ารัฐบาลไทยต้องวางแผนว่าจะใช้โอกาสนี้อย่างไร

โตโยต้าปะทะอุตฯ ปมหนุนปิกอัพ
       ช่วงท้ายของเวทีสัมมนาได้มีการถาม-ตอบ และแลกเปลี่ยนความคิดกัน โดยนายนินนาทได้ย้ำว่าปิกอัพมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมยานยนต์และเศรษฐกิจไทย จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเร่งด่วน ไม่ใช่ได้ใหม่แล้วลืมโปรดักต์แชมเปี้ยนในปัจจุบัน
       เรื่องนี้ นายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากนี้ไป 2-3 ปี อุตสาหกรรมยานยนต์จะยังไม่กลับมาฟื้นตัวอย่างร้อนแรงเหมือนในอดีต  ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องพิจารณาว่าจะปรับตัวอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม ภายใต้ปัจจัยและทิศทางตลดที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะแนวโน้มการเติบโตของรถยนต์ขนาดเล็กที่มีมากขึ้น  ซึ่งในส่วนของภาครัฐจะพยายามสร้างความต้องการในตลาด และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการแสดงความเห็นและวางแผนร่วมกัน เพื่อรองรับทิศทางตลาดที่เปลี่ยนไปในอนาคต
              “รัฐพร้อมสนับสนุนอยู่แล้ว แต่ผู้ประกอบการต้องร่วมกันสรุปมาว่า มีปัญหาและแนวทางอย่างไร สามารถปฏิบัติได้หรือไม่ เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และที่สำคัญผู้ประกอบการต้องปรับตัวรับสถานการณ์ด้วย แน่นอนว่า รัฐบาลช่วยได้เท่าที่ช่วยได้ แต่อยากให้ทุกฝ่ายช่วยตัวเองด้วยเช่นกัน และเงื่อนไขที่เคยรับตกลงกันไว้ อยากให้ทุกฝ่ายทำได้อย่างจริงจังด้วย ”นายสรยุทธกล่าว
    ทั้งนี้ นายอโณทัย เอี่ยมลำเนาในฐานะนายกสมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย กล่าวว่า ทางสมาคมฯมั่นใจว่า งานในครั้งนี้จะเป็นเวทีกลาง ในการระดมความคิดเห็น และแสดงพลังจากทุกภาคส่วน  เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศ ให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต