รถยนต์ Hybrid ระบบการทำงานแบบ Mild Hybrid คือเน้นการทำงานของเครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นหลักโดยให้มอเตอร์ไฟฟ้าพยายามเลี้ยงกำลังเสริมแค่บางครั้ง เราจะพบได้ในรถยนต์ Honda Hybrid ทุกรุ่น แตกต่างจาก Full Hybrid ดั่งที่เราจะเห็นได้จากรถยนต์ Toyota Hybrid หลาย ๆ รุ่นรวมไปถึงระบบ Hybrid ของ Volkswagen และ Nissan ก็ยังเป็นระบบ Full Hybrid
Mild Hybrid แทบจะเป็นระบบลูกเมียน้อยเพราะสมรรถนะและความประหยัดสู้ระบบ Full Hybrid ไม่ได้ แต่อนาคตสถานะ Mild Hybrid ในระยะสั้นพอจะกอบโกยยอดขายได้บ้าง
สำนักรวบรวมข้อมูลรถยนต์ทั่วโลก just-auto.com ได้ลง E-book บทวิเคราะห์กึ่งทำนายสถานการณ์ระบบ Mild Hybrid ในตลาดรถยนต์โลกถึงปี 2017 ไว้น่าสนใจว่าระบบนี้น่าจะเริ่มมาแรงจนทำยอดขายได้น่าสนใจภายในปี 2-3 ปีข้างหน้า และน่าจะแผ่วลงหลังปี 2015 ขึ้นไป
ระบบ Mild Hybrid ยังมีข้อจำกัดของมอเตอร์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่เก็บพลังงานที่มีขนาดเล็กจนไม่อาจหล่อเลี้ยงสมรรถนะทุกช่วงจังหวะของการขับเคลื่อนเหมือนกับระบบ Full Hybrid ที่พึ่งพามอเตอร์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่มากกว่า นั่นทำให้ระบบ Mild Hybrid จึงเปรียบเสมือนเป็นลูกเมียน้อยระบบสารบบ กล่าวคือ สมรรถนะก็ไม่ได้โดดเด่นเท่าไร, อัตราสิ้นเปลืองก็ถือว่าทำได้ดีพอประมาณแต่ยังไม่ดีเท่ากับระบบ Full Hybrid อยู่วันยังค่ำ
แต่ใช่ว่าระบบ Mild Hybrid จะหาจุดเด่นไม่ได้เอาเสียอย่างน้อยขนาดมอเตอร์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ที่เล็กก็ทำให้ต้นทุนการพัฒนาและการผลิตต่ำกว่า Full Hybrid (เพียงแต่เราไม่ทราบว่าจะแตกต่างกันกี่มากน้อยเท่านั้น) หากระบบ Mild Hybrid สามารถกดต้นทุนอุปกรณ์เหล่านี้ให้ต่ำลงและไปเพิ่มเทคโนโลยีเครื่องยนต์สันดาปภายในก็น่าจะช่วยทำให้เทียบเคียงระบบ Full Hybrid ได้
Mr. John Voelcker ผู้เขียนบทวิเคราะห์กล่าวไว้ว่าสิ่งที่จะช่วยเติมเต็มคุณสมบัติ Mild Hybrid ที่ขาดไปก็คือการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องยนต์สันดาปภายในให้ล้ำหน้าจนสามารถรีดพละกำลังและความประหยัดโดยไม่จำเป็นต้องขยายขนาดกระบอกสูบหนำซ้ำยังช่วยลดขนาดความจุกระบอกสูบลงได้ด้วย
เทคโนโลยีสำหรับเครื่องยนต์สันดาปภายในยุคใหม่ล้วนประกอบไปด้วย เทคโนโลยีฉีดเชื้อเพลิงตรง, การติดตั้งเทอร์โบชาร์จและซูเปอร์ชาร์จ อย่างที่ Ford นำเสนอเทคโนโลยี Ecoboost หรือ Volkswagen นำเสนอเทคโนโลยี TSI กับเครื่องยนต์เบนซินเล็กของตน
ปัจจัยที่ทำให้ Mild Hybrid น่าจะต้องปรับตัวกันแบบนี้ก็เพราะว่าระบบ Full Hybrid จะขยับตัวไปสู่ตลาด Plug-In ที่สามารถเสียบปลั๊กชาร์จประจุเข้าแบตเตอรี่ได้ ขณะที่ Mild Hybrid ไม่สามารถพัฒนา Plug-in ได้เพราะไม่คุ้มต่อการพัฒนาประกอบแบตเตอรี่ก็มีขนาดเล็กกว่ามากจึงไม่จำเป็นจำเป็นต้องทำ
เมื่อเทคโนโลยี Full Hybrid ก้าวไปไกลขนาดนี้จึงยากที่ Mild Hybrid ตามได้ทันด้วยข้อจำกัดทางเทคนิค ประกอบกับเทคโนโลยี Full Hybrid ก็สามารถใช้เทคโนโลยีบางประการร่วมกับรถไฟฟ้าได้ โอกาสที่จะพัฒนาประสิทธิภาพการใช้งานย่อมมีสูงเพราะพัฒนามอเตอร์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ครั้งเดียวสามารถดัดแปลงใส่ Full Hybrid ได้ ไม่เหมือนกับ Mild Hybrid ที่มีขนาดมอเตอร์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ที่เล็กมากจนไม่สามารถแชร์กับใครได้
ดังนั้น Mild Hybrid น่าจะต้องผลักตัวเองด้วยการติดตั้งเทคโนโลยีเครื่องยนต์สันดาปภายในเค้นสมรรถนะแลความประหยัดเข้ามาแทนเพราะหวังพึ่งพามอเตอร์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ขนาดเล็กไม่ได้ (หากคิดในมุมกลับระบบ Full Hybrid ก็สามารถนำเครื่องยนต์สันดาปภายในไฮเทคมาใช้ก็ยิ่งทำให้โดดเด่นกว่า Mild Hybrid เข้าไปอีก)
แนวโน้มยอดขายรถ Mild Hybrid น่าจะมียอดขายถึง 1 ล้านคันภายในปี 2015 อันเป็นผลมาจากตลาดตื่นตัวเทคโนโลยี Hybrid และการปรับตัวของ Mild Hybrid ดังย่อหน้าข้างบนแต่เมื่อเปรียบเทียบกับ Full Hybrid แล้วกลายเป็นว่าระบบนี้น่าจะมียอดขายมากกว่า Mild Hybrid ถึง 3 เท่าตัวทีเดียว
หลังกลางปี 2015 ขึ้นไปมีแนวโน้มว่าระบบ Full Hybrid จะมีต้นทุนการพัฒนาเหนือกว่า Mild Hybrid ไม่มากนัก และนั่นก็เริ่มส่งสัญญาณแล้วว่ายอดขาย Mild Hybrid จะค่อย ๆ ลดต่ำลงเรื่อย ๆ แน่
หากบทวิเคราะห์ชิ้นนี้เป็นจริงเชื่อว่าค่าย Honda น่าจะมีเสียวบ้างเพราะเป็นค่ายรถที่ทุ่มเทกับระบบ Mild Hybrid หมดหัวใจ เชื่อว่า Honda คงต้องเตรียมการปรับปรุง Hybrid IMA ขนานใหญ่เพื่อติดตั้งในรถยนต์ขนาดใหญ่ ไม่เช่นนั้น Honda จะต้องฝากอนาคตไว้กับ Mild Hybrid ที่สุ่มเสี่ยงต่ออนาคตมาก