หากท่านกำลังขับรถ อยู่ดีๆ แล้วเกิดอาการบังคับควมคุมรถไม่ได้ รถดึงไปด้านใดด้านหนึ่งอย่างกระทันหัน
อย่างแรกที่พึงระลึกไว้ตลอดเวลา คือ อย่าตกใจ อย่าเหยียบเบรค เด็ดขาด!!!
ค่อยประคองรถเข้าข้างทาง และหากเป็นตอนกลางคืนให้เข้าใกล้จุดที่มีแสงมากที่สุด และถ้าเป็นไปได้ ควรจอดในที่ ที่มีคนพลุกพล่าน
หรือในปั้มน้ำมัน หรือสถานที่ที่ปลอดภัย ยิ่งถ้าเป็นป้อมตำรวจได้ยิ่งดี
และเมื่อจอดได้ให้ลงมาสำรวจรอบคัน และล้อทั้งสี่ล้อ หากท่านเห็นยางรถของท่าน ฝั่งใดฝั่งหนึ่งใน 4 ล้อ มีสภาพตามรูป
ก็ชัดเจนแล้วนะครับ ว่ายางรถของท่านมีปัญหาเสียแล้ว
อย่าตกใจไปครับ คุณสุภาพสตรี ทั้งหลาย ปัญหาแบบนี้แก้ได้ไม่ยากเลย ง่ายมาก แต่อาจต้องออกแรงสักนิดบ้างก็เท่านั้น
สิ่งแรกที่ต้องทำคือ
ดึงเบรคมือ และใส่เกียร์ P (ในรถเกียร์ออโต้)
และเข้าเกียร์ 1 (ในรถเกียร์ธรรมดา)
ถ้าสามารถหาหิน หรือท่อนไม้อะไรมารองล้อได้ ก็ให้หนุนรองที่ล้อด้านมุมตรงข้ามด้วย
เช่นหากเกิดปัญหาที่ล้อหลังขวา ก็ให้เอาของแข็งไปหนุนรองไว้ “ด้านหน้า” ของล้อหน้าซ้าย
ต่อมาเปิดฝากระโปรงหลัง หรือที่เก็บ ยางอะไหล่และเครื่องมือ
เมื่อเปิดมาเราจะเจอ ล้ออะไหล่ แม่แรง และประแจขันล้อนะครับ
ว่างๆลองเปิดดูมั่งนะครับ ว่ามีอุปกรณ์ครบหรือเปล่า เผื่อฉุกเฉินจะได้เตรียมตัวทัน
โดยปกติแล้ว ควรตรวจเช็คลมยางล้ออะไหล่ด้วย เติมไว้ช่วงประมาณ 35-40 ปอนด์ ต่อตางรางนิ้ว
เผื่อเอาไว้ก่อน ถ้าถึงเวลาจะใช้เมื่อไหร่ ค่อยปล่อยลมที่เติมออกในภายหลังได้
แม่แรงโดยทั่วไปที่มักนิยม ติดรถไว้จะมี 2 แบบครับ
แบบขวามือคือแม่แรงแบบเกลียว
แบบซ้ายมือคือแม่แรงแบบปั๊ม ไฮดรอลิก
ซึ่งถ้าไม่เดือนร้อนกระเป๋าสตางค์จนเกินไปแนะนำให้ไปหาซื้อแบบไฮโดรลิก ติดรถไว้
โดยเฉพาะคุณผู้หญิง เพราะแบบเกลียวจะต้องออกแรงมากเลยครับ กว่าจะยกรถขึ้น
วิธีใช้แม่แรงแบบเกลียว ก็เอาเหล็กเพลาที่เขาให้มาติดกับตัวแม่แรง
แล้วออกแรงหมุนๆๆ ดูนะครับ
ขณะที่ แม่แรงไฮดรอลิก จะใช้งานง่ายมาก แค่โยกคันโยกเบาๆ แม่แรงก็ยืดตัวขึ้นเองได้แล้ว
แต่ก่อนอื่น ยังไม่ต้องขึ้นแม่แรง ให้ท่านคลายน๊อตล้อทุกล้อออกให้มันหลวมก่อนนะครับ
หากแน่นมาก็ใช้เท้าเหยียบโหนได้ ไม่ต้องกลัวรถเจ็บครับ
ทิศทางการหมุนน๊อตออกคือทวนเข็มนาฬิกานะครับ
อย่าลืม ใส่ประแจเข้าไปในน็อตให้เต็มหน้าด้วยครับ ก่อนจะขัน
ไม่งั้นตอนขัน / เหยียบ มันอาจหลุดปึ้ดออกมาได้ อันตราย
ประแจแบบนี้ ของรถบางรุ่น ด้ามมันแหลมด้วย ระวังหน้าแข้ง
ถ้าแน่นมากอย่าขึ้นไปยืนแบบเหนี่ยวประแจ ให้ตื้บเป็นจังหวะ
เมื่อมีความจำเป็นต้องถอดล้อทุกครั้ง ตอนใส่ควรกำชับให้ช่าง ขันให้แน่นแต่พอดี
ด้วยแรงแขนชายไทยที่เป็นช่าง เอากากบาทขัน แน่นพอ ไม่หลุดหรอกครับ
เมื่อเราขันน๊อตจนหลวม แต่ไม่ต้องขันจนหลุดนะครับ
เอาแค่หลวมๆ เราก็เล็งหาตำแหน่งวางแม่แรง
คือต้องเป็นจุดที่แข็งแรงมากๆ และไม่ก่อความเสียหายแก่ตัวรถด้วย
หาคิดไม่ออกว่าจะหาจุดไหน ใช้จุดหมุน ขอระบบกันสะเทือนหลังก็ได้ครับ
ดังรูป เป็นการวางแม่แรงที่บูชปีกนก
และที่สำคัญพื้นต้องสม่ำเสมอด้วยนะครับ กันแม่แรงล้ม
เมื่อเราได้ตำแหน่งแล้วก็จัดการวางแม่แรงให้เข้าที่
แล้วก็โยกขึ้นลงเบาๆ นะครับ
เราจะโยกแม่แรงจนล้อลอยพ้นพื้นขึ้นมานิดหน่อยนะครับ
อันนี้ต้องกะเก็งประมาณการกันตามอัธยาศัย
เพราะบางทียกน้อยไป ดึงยางเส้นที่แบน (ทั้งที่ไม่ติดพื้นแล้วนั่นแหละ) ออกมาได้
แต่เอายางอะไหล่ขนาดเดียวกัน เส้นที่มีลม ใส่เข้าไปไม่ได้!!!?
เมื่อล้อลอยขึ้นมาจนได้ที่แล้ว ให้ขันน๊อตล้อออกมา
แล้วก็ถอดล้อ ไม่ต้องกลัวมือจะเลอะเทอะหรอกครับ ยังไงก็เลอะแน่ๆ เดี๋ยวก็ล้างออก
หลังจากนั้น ก็นำล้ออะไหล่ของเรา เข้ามาใส่แทนแล้วใช้มือหมุนน๊อตเข้าไปก่อนนะครับ
แล้วใช้ประแจขัน น๊อตทีละตัวแค่พอตึงมือ โดยใช้ลำดับการขันตามรูปนะครับ
หลังจากนั้นปล่อยแม่แรงลง โดยหมุนที่ปุ่มปล่อยน้ำมัน
แล้วหมุนกลับด้วยครับ
แล้วขันน็อตล้อย้ำตามตำแหน่ง ในรูปข้างบน อีกที จะใช้เท้าเหยียบย้ำให้แน่นก็ได้ครับ
ท้ายที่สุด เมื่อขันน๊อตแน่นแล้ว ก็พร้อมจะออกเดินทางกันต่อไปได้ทันที
อย่างไรก็ตาม หากไม่ไกลหูไกลตาผู้คนจนเกินไป ควรจะแวะเข้าปั๊มน้ำมัน หรือร้านปะยาง
เพื่อนำยางที่แบน ไปปะซ่อมแล้ว ก็ให้พนักงานเปลี่ยนกลับให้เรียบร้อย
เพราะยางอะไหล่นั้น ถูกเก็บไว้เป็นเวลานาน ก้อาจเกิดอันตรายขึ้นกว่าเดิมได้
ดังนั้น ไม่ควรขับรถด้วยยางอะไหล่ไประยะทางที่ไกลๆ
บุญรักษาครับ
—————————————————–
Badz ถ่ายภาพ
LTK รายงาน
ขอขอบคุณ
พี่เด้อ (Login : อากง pantip.com ห้องรัชดา) สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
LTK
ลิขสิทธิ์บทความนี้เป็นของผู้เขียน
เผยแพร่ครั้งแรก 5 กุมภาพันธ์ 2006 ใน pantip.com ห้องรัชดา
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 24 กุมภาพันธ์ 2009 เผยแพร่ใน www.headlightmag.com
——————————————-///——————————————-