ตั้งแต่เข้ามาในวงการสื่อมวลชนสายรถยนต์ เมื่อ เดือนพฤศจิกายน 1998
ผมมีโอกาสเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น จนถึงวันนี้ รวมแล้ว ก็ 8 ครั้ง
เฉลี่ยแล้วประมาณ 2 ปี / 1 ครั้ง (รวมปี 2013 ช่วงต้นปีนี้เข้าไปแล้ว)

เพิ่งจะมามีช่วงเวลา ทีต้องเดินทางไปญี่ปุ่น ติดกันทุกปี ก็ตั้งแต่ทำเว็บไวต์
Headlightmag.com เมื่อปี 2009 นี่ละครับ นับจากปีนั้น มาจนถึงปีนี้ (2013)
มีเหตุให้ต้องเดินทางไปกันทุกปี ไปจนจำหน้าเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง
ที่สนามบิน Narita ได้ 1 คน (แต่เขาจำผมไม่ได้)

แต่..ถึงแม้ว่า จะเคยเดินทางไป เยือนสถานที่ อันเกี่ยวข้องกับบริษัทรถยนต์
อย่าง สนามทดสอบ Tochigi ของ Honda R&D ,  สนาม Twin Ring Motegi
พิพิธภัณฑ์ Toyota Commemorative ที่ ใจกลางเมือง Nagoya , สำนักงานใหญ่
และพิพิธภัณฑ์ของ Suzuki ในเมือง Hamamatsu รวมทั้ง โรงงาน และสนาม
ทดสอบ ที่ Sagara ของ Suzuki สนามแข่งรถ Spa Nishiura Motor Park ริม
อ่าว Mikawa เขต Gamagori ในจังหวัด Aichi หรือแม้แต่ โชว์รูมขนาดใหญ่
Toyota Meg@ Web ซึ่งคนไทยก็ไปเที่ยวที่นั่นกันเยอะแยะ ฯลฯ อีกมากมาย
(ยังไม่นับรวมงาน Tokyo Motor Show ที่ไปชมงานรอบสื่อมวลชนถึง 5 ครั้ง)

แต่ ญี่ปุ่น ยังมีสถานที่อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งผม อยากไปมากกกก แต่ไปเองไม่ได้ง่ายๆ
เป็นสถานที่ ที่อยากไปมาตลอด ตั้งแต่รู้ว่า พวกเขาจัดตั้งให้มีขึ้นมา…

บ่ายวันหนึ่ง ราวๆ กลางเดือนสิงหาคม 2012 พี่ชายคนหนึ่ง โทรเข้ามา แล้วบอกว่า

“จิมมี่ ทำตัวให้ว่างนะ กลางเดือนกันยายน จะพาไปญี่ปุ่น ร่วมคณะไปกับผู้โชคดี
จากการสุ่มจับรางวัลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ในแคมเปญชิงโชค พาลูกค้าที่ซื้อ
Nissan March 55 คัน 110 คน ท่องเที่ยวที่ญี่ปุ่น…..พาไปดูสำนักงานใหญ่
Nissan ที่ ย่าน Minato Mirai ใน Yokohama พาไปดูแล้วกินมื้อเที่ยงที่
พิพิธภัณฑ์ Ramen Museum ซึ่งอยู่ห่างไปไม่ไกลนัก พาไปเที่ยวพักผ่อน
ที่ Atami พาไป Tokyo Disneyland พาไปย่าน Shinjuku แล้วก็ไปไหว้พระ
ที่วัด Asakusa แล้วไปขึ้น Tokyo Sky Tree ฯลฯ…ฯลฯ…”

ประโยคข้างบนทั้งหมด หนะ ไม่เท่าไหร่หรอกครับ ผมก็ ดีใจนะ อุตส่าห์
ให้เกียรติเชิญเราไป เพราะในอดีต ผมไม่เคยไปต่างประเทศกับ Nissan
มาก่อน กระนั้น มันก็เป็นทริปไปเที่ยวต่างประเทศเสียมากกว่า ผมเฉยๆ…

แต่พอฟังเรื่อยไปต่อจนถึงประโยคที่ว่า……

“จะพาไปดู พิพิธภัณฑ์ Nissan DNA Garage หรือ Heritage Collection ที่
Zama ซึ่ง…..ง….”

นาทีนั้น ไม่สนแล้ว! ขอสักทีเหอะวะ!!

กรี๊ดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดด!!!

ปลายสาย อึ้งไป 5 วินาที งงเต๊ก ว่า ไอ้จิมมี่ มันจะดีใจอะไรขนาดนั้น ฉันยังพูดไม่จบ!
คำว่า ซึ่ง นั้น ตัว ง. งู ยังหลุดไม่ทันหมดจากริมฝีปากเลย…

อีกราวๆ 4 สัปดาห์หลังจากนั้น สรีระร่างของผม ก็มายืนอยู่ในสนามบินสุวรรณภูมิ ช่วง
3 ทุ่ม ของวันที่ 11 เมษายน 2012 ท่ามกลาง และรายล้อมไปด้วย บรรดา ลูกค้า Nissan
March ที่โชคดี ทั้ง 55 ครอบครัว รวมจำนวนสมาชิก และไกด์ ทั้งหมด 130 คน โดย
ประมาณ

พี่ต้อม จิรพล และ พี่ กิตติชัย  2 ตัวแทนฝ่ายบริหาร จาก Nissan Motor Thailand  
ที่ร่วมเดินทางไปดูแลลูกค้า ซึ่งเป็นลูกทัวร์ ครั้งนี้ เล่าให้ฟังว่า ทริปนี้ ลูกค้าผู้โชคดีมาจาก
ทั่วประเทศ บางราย ไม่เคยเดินทางออกนอกประเทศมาก่อน และนี่เป็นครั้งแรกในชีวิตของ
พวกเขา! บางราย ได้รางวัลแล้ว โทรถามกับทางทัวร์ และ Nissan ว่า ถ้าจะขอเพิ่มเงินเอง 
แต่หอบลูกๆ ไปด้วย จะได้ไหม ทาง Nissan ก็ ยินดี ขอแค่แจ้งชื่อคนที่จะร่วมทริปเพิ่มให้เสร็จ

แต่ทุกราย จะรู้ผล เมื่อ มีเจ้าหน้าที่จาก ทาง Nissan โทรศัพท์ไปบอกข่าว บางรายดีใจ
บางราย ยังไม่เชื่อหูตัวเอง นึกว่า โดน โทรศัพท์ลวงโลก โทรมา ให้โอนเงิน! บางราย
เป็นครู ในต่างจังหวัด กำลังสอนๆ อยู่ รับโทรศัพท์ มา ยัง งงๆ ตอบกลับไปว่า “แค่นี้
ก่อนนะครับ ผมกำลังสอนอยู่” !!! บางครอบครัว เพิ่งเจอเหตุการณ์น้ำท่วมหนัก เมื่อ
ปลายปี 2011 ที่ผ่านมา พอได้รางวัลในปีนี้ก็ถือว่า เป็นการมาพักผ่อน ให้รางวัลกับ
ชีวิตตัวเองกันสองคนสามีภรรยา และแน่นอนว่า หลายๆคน คราวนี้ คงรัก Nissan 
มากยิ่งกว่าที่เคย!

งานนี้ ต้องขอชมเชย บริษัททัวร์ อย่าง JTB ดูแลสมาชิก 130 คน ตอนนี้ ผมเชื่อแล้วว่า
สำหรับการเดินทางเป็นหมู่คณะ ที่มีลูกทัวร์ มากขนาดนี้ หากต้องบินไปที่ญี่ปุ่นแล้ว
ต้องเป็น JTB เท่านั้น ถึงจะ “เอาอยู่” เพราะจัดการทุกอย่างเสร็จสรรพ ตั้งแต่ ยื่นเรื่อง
ขอ VISA เตรียมเอกสาร เตรียม Passport ที่จะต้องใช้ในการเดินทางออก และ กลับ
เข้าประเทศ ไว้จนครบถ้วน แก้ปัญหาระหว่างการเดินทาง หรือสับเปลี่ยนแผนตาม
ความต้องการของเรา ได้ครบถ้วน ทั้งหมด ไม่มีตกหล่นบกพร่องใดๆทั้งสิ้น

เครื่องบิน Boeing 777 – 300 ER ลำใหม่ล่าสุด อายุ 3 เดือน ของสายการบิน THAI
ซึ่งมีช่องเสียบ USB มาให้แม้ในชั้น Economy Class พร้อมกับเบาะนั่ง ที่นั่งสบาย
พอประมาณ แต่นอนแทบไม่ได้เลย ตลอด 6 ชั่วโมงในการเดินทาง นำพวกเราทุกคน
มาถึงสนามบิน Narita อย่างปลอดภัย ตอน 7 โมงเช้า กว่าจะขึ้นรถ และเคลื่อนขบวน
กันได้ มีอีกราวๆ 1 ชั่วโมงครึ่ง นับจากนั้น การตรวจคนเข้าเมือง ทำได้รวดเร็วกว่าที่
คาดการณ์ไว้ พอเดินลงมาปุ๊บ สัมภาระ ถูกยกออกมาจากสายพานลำเลียงเรียบร้อย
แต่ ก็ยังต้องมีบางส่วน ที่คัดแยกสัมภาระ ใช้สำหรับ คืนแรก ออกมาข้างนอก เพื่อส่ง
กระเป๋าของลูกทัวร์ส่วนใหญ่ เข้าไปรอไว้ที่ โรงแรม Keio Plaza ใน Shinjuku Tokyo

ตารางทัวร์วันแรก 12 กันยายน ไม่มีอะไรมากมายนัก เดินทางไปชมบรรยากาศ ธรรมชาติ
ขึ้นเรือกลไฟ ที่ทะเลสาบ Hakone (ฮาโกเน) อันเป็นสถานที่ ซึ่ง ทัวร์ทุกแห่งจะต้องพามา
แล้วค่อยเดินทางไปร่วมงานเลี้ยงต้อนรับ กับนอนพักค้างคืน ในโรงแรม แบบ เรียว กัง ที่
Atami Korakuen ริมทะเล อันเป็นโรงแรมขนาดใหญ่ ที่มีราคาคอนข้างแพง (จากที่ฟัง
ทางเจ้าหน้าที่ของ JTB บอกว่า ต้องเป็นแขกระดับสำคัญเท่านั้น จึงจะจัดให้มาพักกันที่นี่)
ส่วนตัวผม เจอโรงแรม หรูกว่านี้ของญี่ปุ่นมาแล้ว ก็เลยมองว่า โรงแรมแห่งนี้ ธรรมดา
กว่าที่คิดไว้นิดหน่อย แต่ก็ไม่ใช่ปัญหา การได้มานอนบนเสื่อตาตามิ ในห้องนอนแบบ
ญี่ปุ่นสักคืน นั่นเป็นเรื่องดีอยู่แล้ว

วันที่ 13 กันยายน ชาวบ้านชาวช่องทั้งทริป เขาไปเที่ยว Tokyo Disneyland กันแต่เช้า
แต่กลุ่มสื่อมวลชนไทย ที่ร่วมคณะไปด้วยกัน 7 คน รวมทั้งผม ไม่ค่อยอยากไปต่อคิว
เข้าไปสวนสนุก เราจะมีความสุขกับการช็อปปิงมากกว่า เลยแวะไปซื้อสินค้ามือสอง
ที่ร้าน BOOK OFF / HANDS OFF สาขาที่อยู่ใน Kanagawa ซึ่งเป็นทางผ่านของเรา
จากทางด่วน Tomei เพื่อมุ่งเข้า Tokyo นั่นเอง กินข้าวเที่ยงที่ Food Court ใน AEON
สาขา Ariake (ใกล้ Super Autobacs) แล้วนั่งรถเข้าไปเช็คอินที่ Keio Plaza Shinjuku
ก่อนจะไปเดินร่อน กินชาบูเป็นมื้อเย็น ที่ MoMo Paradise Shinjuku ในซอย คาบูกิ-โช
ก่อนจะเดินย่อย ซื้อข้าวของ ย่าน Shinjuku แล้วค่อยเดินกลับโรงแรม ท่ามกลางอากาศ
ที่ ไม่เย็น แต่แค่สบายกว่าบ้านเรานิดเดียว

วันที่ 14 กันยายน ตอนเช้า เดินทางไปสำนักงานใหญ่ของ Nissan ที่ Yokohama
(ไว้จะเล่าให้อ่านกันวันหลัง) พบปะและถ่ายรูป กับวิศวกร ผู้ออกแบบ Nissan March
รุ่นปัจจุบัน เดินซมรถรุ่นใหม่ ทั้ง Nissan NOTE / Juke , Infiniti FX (สำหรับตลาด
USA ไม่มีขายในญี่ปุ่นด้วย) รวมทั้ง Cima Fairlady Z (370Z Roadster) และ GT-R

แน่นอน ที่นั่นก็มีร้านขายของที่ระลึกของ Nissan แม้ ตา แพน Commander CHENG
ของเราจะบ่นว่า ไม่มีข้าวของอะไรให้ซื้อนอกเหนือจาก ข้าวของที่เกี่ยวข้องกับ GT-R
Fairlady Z และ Skyline แต่สำหรับผมแล้ว..แค่รถ Model 1/43 และ 1/62 ผมก็
เหมามาซะ 10 คัน แถมด้วย ถุงแค็ตตาล็อก Nissan ใหม่ๆ จากญี่ปุ่น สำหรับสะสม และ
เป็นข้อมูล ไว้เตรียมทำ ห้องสมุดแค็ตตาล็อกรถ ในอนาคต อีกเพียบบ!!

มื้อเที่ยง ไปกินราเม็ง กันที่ Shin Yokohama Ramen Museum ซึ่งอยู่ในตัวเมืองราวๆ
ห่างกันไม่กี่กิโลเมตร มีการตกแต่ง ร้านขายราเม็งหลากประเภท ให้มีบรรยากาศย้อน
ยุคไปยังสมัยที่ญี่ปุ่น อยู่ในยุคทศวรรษ 1960 อันเป็นยุคเก่าๆ ประเทศยังเต็มไปด้วย
ความหวังที่จะพลิกฟื้นจากการเป็นผู้แพ้สงคราม ให้กลายเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจ
ของโลกให้ได้ เป็นบรรยากาศเก่าๆ ซึ่งน่าประทับใจ คล้ายกับย้อนไปยังยุคของ
ภาพยนตร์เรื่อง ALWAYS ทั้งภาค 1 – 3

พอเสร็จจาก Ramen Museum ก็ได้เวลาเดินทางไปชม ไฮไลต์ ของการเดินทางใน
ทริปนี้….เรามุ่งหน้า ผ่าน สนาม Nissan Stadium (ซึ่งผมเพิงมาพบว่า สถานที่ ซี่ง
นิตยสาร Motor Fan ชอบมาถ่ายรูปรถยนต์ Nissan บ่อยๆ เพื่อลงตีพิมพ์ ก็คือที่นี่
นั่นเอง!)

เราขึ้นทางด่วน  สาย TOMEI อันเป็น ทางด่วนที่เชื่อมต่อจากใจกลางกรุง Tokyo
ผ่านสนามบิน Haneda มาทาง Kanagawa และ Yokohama มุ่งหน้าต่อลงทิศใต้
ขับไปเรื่อยๆ จนถึง ทางออก Kamikawai ชิดซ้าย แล้วเลี้ยวออกมาทางซ้าย เพื่อ
มุ่งหน้าไปทาง Meguro ขับผ่านโชว์รูม Toyota NetZ และลานจำหน่ายรถยนต์
Nissan (ป้ายแบบเก่า ดั้งเดิม) ผ่าน ห้างสรรพสินค้า AEON ซึ่งทั้ง 3 ตำแหน่ง
จะอยู่ฝั่งขวามือ ขับตรงไปเรื่อยๆ ข้ามสะพาน แล้วตรงข้ามทางแยก ที่ชื่อว่า
Seishiria Gakuen Ent. Street ตรงมาเรื่อยๆ ผ่านสถานีบริการน้ำมัน ESSO
ทางฝั่งขวา และโชว์รูม Nissan (Blue Stage) ฝั่งซ้าย พอถึงสี่แยก Komatsubara
ที่มี ศูนย์ Pachinko & Slot Machine ที่ชื่อ DELU-SA ให้เลี้ยวซ้ายที่สี่แยกนี้

จากนั้น ขับตรงไปตามทางเรื่อยๆ เจอทางโค้งบังคับซ้าย ขับมุ่งหน้า ผ่านทาง
ศูนย์ขายรถ Suzuki (ไม่ใช่โชว์รูม) ผ่านบริษัท TOA RESIN (ทางขวามือ)
แล้วเลี้ยวขวาอีกครั้ง ตรงสี่แยก ที่มีป้ายสัญลักษณ์ร้านอาหารจานด่วน ที่ชื่อ
Hotto Motto ขับตรงไปตามทางอีกไม่ไกล จะมีป้ายสัญลักษณ์ของ Nissan
เด่นหราอยู่ บอกว่า เป็น Zama Operation Center นั่นละครับ มาถึงแล้ว

เราเลี้ยวขวา แล้วขับไปตามทาง บังคับเลี้ยวซ้าย มุ่งหน้าตรงไปจนถึงกึ่งกลาง
ก่อนประตูทางออกอีกฝั่งหนึ่งของศูนย์ปฏิบัติการณ์ Zama (ซึ่งมี สำนักงาน
ของบริษัทรถยก Nissan Folklift อยู่ที่นี่ด้วย)

แล้วก็มาถึงที่หมาย ฝั่งซ้ายมือ มีป้าย Nissan และประตูทางเข้า ที่จัดสร้างขึ้น
สำหรับการต้อนรับแขกเหรื่อผู้มาเยือน….

พอเดินเข้าประตูไปแล้ว ใครอยากเข้าห้องน้ำ ให้เลี้ยวขวาทันที แต่ถ้าไม่เช่นนั้น
ก็ไปร่วมฟังการบรรยายสรุป ยังห้องรับรอง กันก่อน เดินไปจนถึง เคาน์เตอร์ต้อนรับ
แล้วเลี้ยวขวาเข้าไป เลือกที่นั่งได้ตามอัธยาศัย

ก่อนหน้าคณะของเราในช่วงบ่ายวันนี้ รอบก่อน มีแขกผู้มาเยือนอีกคณะหนึ่ง
ด้วยเช่นกัน วันนี้ เจ้าหน้าที่ของ Nissan Heritage Collection คงต้องทำงานกัน
มากกว่าปกตินิดหน่อย

เริ่มต้น ก็คงต้องมีการบรรยาย ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ของรถยนต์ Nissan
กันสักหน่อย ว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ได้นั้น เรื่องราวเริ่มต้น เกิดขึ้นเมื่อไหร่ และ
อย่างไร

ภาพสไลด์ชุดที่ใช้ในการบรรยายนั้น ก็เพิ่งจะ Update เป็นเวอร์ชันล่าสุด
ที่มีการปรับปรุงแก้ไข เมื่อ เดือนกันายน 2012 ก่อนหน้าเราไป ไม่กี่สัปดาห์

ประวัติศาสตร์ของ Nissan Motor แตกต่างจากผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นรายอื่น แทบจะ
ทั้งหมด เพราะ ในขณะที่ ค่ายอื่น เขาเริ่มจาก กิจการในครอบครัว หรือเริ่มจาก
ผู้ก่อตั้งคนเดียว แล้วแตกกิ่งแตกหน่อต่อยอด ทะลุไปทำรถยนต์

แต่ Nissan ไม่ใช่แบบนั้น ทุกอย่าง เริ่มต้นขึ้นใน Yokohama ช่วงทศวรรษ 1910
ในยุค Meiji และ Taisho อันเป็นยุคหลังจากการเปิดประเทศญี่ปุ่น และเป็นยุค
ที่ความเจริญจากโลกตะวันตก มีผลอย่างมาก กับการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆของ
ญี่ปุ่น ในสมัยนั้น รถยนต์บนถนนญี่ปุ่น ส่วนใหญ่จะมีแต่ Mercedes-Benz
GM และ Ford เหมือนเช่นประเทศอื่นๆในย่านเอเซีย อาคเนย์ ตอนนั้นเริ่มมี
คนญี่ปุ่น คิดว่า พวกเขา น่าจะเริ่มลองสร้างรถยนต์ แล้วผลิตออกขายดูบ้าง

ความเป็นมาของ บริษัทนี้ ถ้าจะย่อให้เข้าใจง่ายๆ ต้องแยก ออกเป็น 3 สาย

สายแรก
Masujiro Hashimoto ก่อตั้งบริษัท Kwaishinsha Motor Car Works ในปี 1911 เพื่อ
จะผลิตรถยนต์ ออกขาย พอปี 1914 ก็เริ่มออกรถต้นแบบ DAT Model 41 ซึ่งเป็นรถยนต์
ตัวถังเดี่ยว ใช้เครื่องยนต์ 4 สูบ แบบแรกของญี่ปุ่น ออกมา โดยใช้ชื่อภาษาอังกฤษ จากคำ
นำหน้าชื่อ นายทุนของบริษัท ทั้ง 3 ในภาษาอังกฤษ ได้แก่ Kenjiro Den (D)
Rokuro Aoyama (A) และ Aketaro Takeuchi (T)

สาย 2
William G. Gorham วิศวกรชาวอเมริกัน ผู้ประดิษฐ์ รถยนต์สามล้อ ในปี 1919 ตั้งใจ
จะร่วมธุรกิจ ทำโรงงานรถยนต์ ในเมือง Osaka  สมัยนั้น ถือเป็นโรงงานที่ทันสมัยที่สุดใน
ญี่ปุ่น เพราะเครื่องไม้เครื่องมือพร้อม สั่งนำเข้าจากสหรัฐฯ ตั้งบริษัท Jitsoyo Jidosha
จำกัด (Jidosha ภาษาญี่ปุ่น แปลว่า Automobile หรือรถยนต์ นั่นเอง)

สาย 3
Yoshisuke Aikawa เกิดในจังหวัด Yamaguchi เพิ่งเรียนจบ มหาวิทยาลัย Tokyo
 Imperial (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัย Tokyo) พอไปอยู่สหรัฐฯ ก็เก็บเกี่ยวการทำงาน
ในโรงงาน ได้ประสบการณ์ กลับมาญี่ปุ่น เปิดโรงงาน Tobata Casting ในปี 1910

ต่อมา ทั้ง 3 สาย จะเริ่มเกี่ยวดอง ผสานเข้าด้วยกัน ตามลำดับดังนี้

สายแรก กับสาย 2 รวมเข้าด้วยกันในช่วงปี 1925 – 1926 กลายเป็นบริษัท DAT
Jidosha Seizo ต่อมา ทั้ง สายแรก และสาย 2 ก็โดน สาย 3 คือ Tobata Casting
ฮุบกิจการไปอยู่ในมือ ในปี 1931

พอปี 1933 Tobata Casting ก็ตั้งแผนกรถยนต์ ในบริษัทขึ้นมา และเริ่มผลิตรถยนต์
จากทุนที่มีอยู่ในเดือนตุลาคม ปีนั้นเอง บนพื้นที่ของโรงงาน Yokohama ในปัจจุบัน

ช่วงนั้นเอง Aikawa สาย 3 และนายทุน แบบ Holding Company ที่ชื่อ Nihon Sangyo
ก็ร่วมกันตั้งบริษัทผลิตรถยนต์ Jidosha Seizo เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 1933

พอปี 1934 พวกเขาเลยเปลี่ยนชื่อบริษัท ตามชื่อ Nihon Sangyo เป็น Nissan
นั่นคือที่มาของชื่อยี่ห้อที่คนไทยรู้จักกันดีในปัจจุบันนั่นเอง

ในปี 1935 Nissan ได้ออกรถยนต์ Datsun 14 ซึ่งนอกจากจะเป็นรถยนต์ที่ผลิตขึ้น
แบบ Mass Production แบบแรกของญี่ปุ่นแล้ว ยังมีการส่งออกไปยังตลาดต่างๆ
ในภูมิภาค Asia อีกด้วย ขายดิบขายดีกันใหญ่

หลายคนคงสงสัยว่า ชื่อ Nissan กับ Datsun เกี่ยวข้องกันยังไง ?

นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท จนถึงปี 1981 ชื่อ DATSUN จะถูกใช้กับรถยนต์ขนาดเล็ก และรถกระบะ
ส่วนรถยนต์ ขนาดใหญ่ จะใช้ชื่อยี่ห้อ Nissan กฎเกณฑ์นี้ ใช้ทั้งในญี่ปุ่นและตลาดโลกด้วย

แต่เพื่อลดความสับสน และสร้างแบรนด์ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน พอพ้นปี 1981 มา พวกเขาเลย
ตัดสินใจ เปลี่ยนการเรียกชื่อ ให้เป็น Nissan ทั้งหมด มีแคมเปญโฆษณา เรื่องนี้ ในทั่วโลก
ไม่เว้นกระทั่งในเมืองไทย

ที่เหลือ ทุกอย่าง ก็เป็นไปตามรายละเอียด ใน Power Point ชุดนี้ ครับ ปีที่สำคัญ
ที่สุด คือ 1966 เพราะนอกจากจะมีการเปิดตัวรถยนต์ Nissan Sunny รุ่นแรกเป็น
ครั้งแรกในโลก แล้ว ยังมีการ ควบรวมกิจการของ Prince Motor มาเป็นของ Nissan
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 1966 ส่งผลให้ รถยนต์ยี่ห้อ Prince ทั้งหมด ต้องกลายมาเป็น
รถยนต์ที่พะยี่ห้อ Nissan โดยปริยาย ทั้ง Prince Skyline , Prince Gloria , Prince
Caball ฯลฯ กลายมาเป็นรถยนต์ Nissan ทั้งหมด

ช่วงทศวรรษ 1970 โลกวุ่นวายจากผลกระทบวิกฤติการณ์ พระเจ้าซาห์ ในอิหร่าน
และการถมึงถึงใส่กันของประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง ราคาน้ำมันก็เลยพุ่งพรวด
แถมยังมีการหวาดกลัว การขาดแคลนน้ำมันอย่างหนัก ในญี่ปุ่นเอง ถึงขั้นว่าเคยมี
น้ำมันเหลือสำรองใช้ในประเทศเพียงแค่ 1 สัปดาห์ เท่านั้น ผู้คนแย่งกันกักตุน
ข้าวของ ในซูเปอร์มาร์เก็ตกันอย่าง “บ้าคลั่ง” คุณแม่บ้านญี่ปุ่น ตบตีกันเพียงเพื่อ
แย่งชิงข้าวของที่ต้องการ กันเลยทีเดียว!

ยุคนั้น ผู้ผลิตรถยนต์ มีแรงกดดันอีกเรื่อง คือ การควบคุมมลพิษจากไอเสีย ซึ่งใน
ช่วงนั้น Nissan ได้ออกเครื่องยนต์ ที่มีระบบ NAPS (Nissan Anti Pollution
System) วางให้กับรถยนต์หลายๆรุ่น เพื่อให้ผ่านข้อกำหนดด้านไอเสียของทั้ง
รัฐบาลญี่ปุ่น และกฎหมาย Muskie Act ในมลรัฐ California เพื่อให้สามารถ
ส่งรถยนต์เข้าไปขายได้ในสหรัฐอเมริกา ตามโควต้าที่ยังต้องจำกัด เพื่อป้องกัน
การทุ่มตลาดของรถญี่ปุ่น สู่เมืองลุงแซม

ทศวรรษ 1980 โลกลดความตึงเครียดลงไป สงครามเย็นยุติลง โซเวียต ถูกแบ่ง
ออกเป็นประเทศเกิดใหม่มากมาย กำแพงเบอร์ลิน เริ่มถูกทำลายลง ในช่วงปลาย
ทศวรรษ และเป็นยุคที่ Nissan เอง พยายามก้าวไล่ตาม Toyota ให้ทัน

เหตุการณ์สำคัญ ในยุคนั้น ก็คือ ในแต่ละปี Nissan จะขยันปล่อยรถยนต์รุ่นใหม่
ที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมามากมาย ตั้งแต่ Nissan Prarie รถตู้ MPV ขนาดเล็ก
รุ่นแรกของโลก ที่ไม่มี เสาหลังคากลาง B-Pillar แถมยังเป็นประตูบานเลื่อนอีกด้วย
ในปี 1982  มีการนำ Turbo มาติดตั้งให้กับรถยนต์ แทบจะทุกตระกูล ตั้งแต่รุ่นใหญ่
อย่าง Cedric / Gloria เรื่อยลงมาถึง Leopard , Skyline , Laurel , Bluebird , Sunny,
Pulsar ( รุ่นนี้มีการติดตั้งระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ Viscous Coupling ครั้งแรก
ในปี 1986) ไม่เว้นแม้แต่ Nissan March Turbo ในปี 1985 และ March SuperTurbo
(รวมเทคโนโลยี Super Charger และ Turbo ไว้ในเครื่องยนต์ MA09ET ตัวเดียว)
ในปี 1989 รวมทั้งการนำ Ceramic Turbo มาใช้ใน Nissan Fairlady 300 ZX รุ่นปี
1985 มีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ATTESA ติดตั้งครั้งแรกใน Nissan Bluebird U12
รุ่นปี 1987

ช่วงปี 1988 – 1990 คือช่วงที่โชวรูม Nissan เต็มไปด้วยรถยนต์รุ่นใหม่ๆ สวยๆ
และสร้างความฮือฮาต่อสาธารณชนมากขึ้น ทั้ Nissan Cefiro / Laurel Altima
ในปี 1988 , Nissan CIMA เวอร์ชันหรู ยกระดับขึ้นจาก Cedric / Gloria ในปี
เดียวกัน สร้างกระแส Hi-So Car Boom ในตลาดญี่ปุ่น จนกลายเป็นปรากฎการณ์
ทำยอดขาย แซงหน้า Toyota Crown ได้สำเร็จ ไปที่ไหน ในญี่ปุ่นก็จะเจอ Cima
เต็มไปหมด ในตอนนั้น รวมถึงการนำ Nissan Skyline GT-R R32 กลับมา ในปี
1989 พร้อมกับการเปิดตัวรถยนต์แฟชันกลุ่ม Pike car จำกัดจำนวนผลิต ทั้ง Be-1
(1987) PAO กับ S-Cargo ในปี 1989 และ Figaro ในปี 1991 ที่ผลิตแค่ 20,000 คัน
และต้องแย่งกันสั่งจอง จนยอดจองเบื้องต้น  ทะลุไปเป็น 1 แสนกว่าราย ต้องใช้
วิธี จับฉลาก! แม้แต่ดาราญี่ปุ่นชื่อดัง ก็ยังไม่มีสิทธิ์ได้รถกับเขาเลย!

พอย่างเข้า ทศวรรษ 1990 อันเป็นทศวรรษแห่งความหวัง ที่ไหนได้ เศรษฐกิจ
ฟองสบู่ เริ่มแตกในญี่ปุ่น เมื่อปี 1992 รถยนตรุ่นใหม่ๆ เริ่มขายไม่ออก หลาย
โครงการต้องชะลอ หรือปรับแผน ลดต้นทุนให้มากที่สุด ถือว่าเป็น Lost Decade
ของญี่ปุ่น และทั่วโลก โดยเฉพาะตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งในไทย
เมื่อมีการประกาศลดค่าเงินบาท โดยรัฐบาล พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เมื่อวันที่
1 กรกฎาคม 1997 ทุกอย่างก็เริ่มแย่ลงอย่างหนักไปทั่วเอเซีย

Nissan เอง ขาดทุนต่อเนื่องกันหลายปี จนต้องมีมาตรการมากมาย เพื่อให้อยู่รอด
และหนึ่งในนั้นก็คือ การลดกำลังการผลิตลง จนต้องยกเลิกการผลิตรถยนต์ที่
โรงงาน Zama แห่งนี้ ในปี 1995

แม้แต่รถยนต์รุ่นใหม่ ก็ต้องปรับแผนกันมากเช่น Cefiro A32 เปิดตัวในปี 1994
กลายสภาพจากรถขับเคลื่อนล้อหลัง มาใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า และจัดให้
มีเวอร์ชันฝาแฝด ในชื่อ Maxima ทำตลาดในสหรัฐอเมริกา ทำยอดขายได้ดี
แต่ยังดีไม่พอเมื่อเทียบกับ Toyota Camry และ Honda Accord ในตอนนั้น

สุดท้าย เมื่อถึงจุดที่ Nissan มีกระแสสำรองเงินสด ดำเนินธุรกิจต่อไปได้อีก
เพียงแค่ ไม่ถึง 1 เดือนเท่านั้น ในปี 1998 Carlos Ghosn เริ่มบอกกับผู้บริหาร
ของ Renault ว่า นี่คือโอกาสที่ดี ในการช่วยกู้กิจการ Nissan ซึ่งจะช่วยให้
Renault อดีตรัฐวิสาหกิจผลิตรถยนต์แห่งฝรั่งเศส เอง ได้ประโยชน์ในการ
ลดต้นทุนการพัฒนารถยนต์ เพราะใช้โครงสร้างวิศวกรรมร่วมกันได้เยอะ
Renault เริ่มเห็นด้วย ก็เลย เจรจากับ Nissan จนได้ลงนามเป็นพันมิตรกัน
ในเดือน มีนาคม 1999 แต่ ทุกอย่างก็ยิ่งเลวร้ายลงเรื่อยๆ จน Carlos Ghosn
ต้องออกมาประกาศ แผน Revival Plan กลางงาน Tokyo motor Show ครั้งนั้น

ผมจำภาพนั้นได้ดี เพราะไปยืนดู การแถลงข่าวของผู้ชายคนนี้ ในยุคที่เขา
ยังไม่โด่งดัง ในบู Nissan ที่ตกแต่งแบบ เวทีการแสดงละคร มากกว่าจะเป็น
เวทีเปิดตัวรถใหม่ XVL (หรือ Skyline V35 ในภายหลัง)

แล้วในที่สุด ชายคนนี้ ก็สร้างปาฏิหารย์ ผลของการทำงานหนักร่วมกัน ลดคนงาน
ไปวดเดียว 20,000 คน จนได้ฉายา Le Cost Killer ทำให้ Nissan กลับมาทำกำไร
อีกครั้ง พลิกฟื้นได้ เพียงแค่ 2 ปี เท่านั้น! สื่อมวลชนญี่ปุ่นให้การยอมรับเขาใน
านะ นักธุรกิจฝรั่ง ที่ให้เกียรติ และนอบน้อมต่อคนญี่ปุ่น แต่ฟันฉับๆๆ กับความ
ไม่ได้เรื่องในองค์กรตัวเอง ที่แปลกก็คือ หลังจากนั้น ในรายการ TV ญี่ปุ่น เขา
หรือ Carlos Ghosn คนนี้ ถูกจัดให้เป็นนักธุรกิจอันดับ 1 ที่ภรรยาชาวญี่ปุ่น อยาก
แต่งงานด้วย!!!

และนั่นคือส่วนหนึ่งของเรื่องราวที่ดำเนินต่อเนื่องในอาณาจักร Nissan มาจนถึงปัจจุบัน

เอาละ ก่อนจะเข้าไปชม พื้นที่จัดแสดงรถยนต์ ด้านหลังเรานี้ ก็ต้องทำความเข้าใจ
กันสักเล็กน้อย ว่า Nissan Heritage Collection นั้น ยังไม่ถึงขั้นจัดอยู่ในฐานะของ
พิพิธภัณฑ์ ที่เปิดให้ผู้คนทั่วไปเข้าชมได้อย่างสะดวกใจ ในขณะนี้!!!

ก็เพราะ มันตั้งอยูในพื้นที่ของ โรงงาน Zama Operation ไงละ! พื้นที่นี้ ยังมีความลับ
ของบริษัท แอบให้เห็นอยู่บ้างประปราย ดังนั้น ขืนปล่อยให้ประชาชนซื้อตั๋วเข้าชม
ก็คงจะไม่งามแน่ๆ ดังนั้น จึงต้องสงวนไว้ให้ เป็นพื้นที่ในเขตหวงห้ามเฉพาะ

ใครที่จะได้เข้าชมโกดังนี้ คุณจะต้อง “ได้รับเชิญอย่างเป็นทางการ จาก Nissan Motor
ประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น!” แม้แต่พนักงานชาวญี่ปุ่นของ Nissan เอง ก็ไม่มีสิทธิ์เข้า ถ้าไม่เกี่ยวข้อง!

นั่นหมายความว่า ลูกค้า March ทั้ง 55 ครอบครัว รวม 130 ชีวิต กับสื่อมวลชน 7 คน
รวมทั้งผมด้วย นับว่าโชคดีมากๆที่ได้มาเยือนสถานที่แห่งนี้!!

พื้นที่ทั้งหมด 5,600 ตารางเมตร (เทียบกับ พื้นที่ของ Nissan Gallery ชั้นล่างของ
สำนักงานใหญ่ Yokohama ที่ Minato-Mirai อยู่ที่ 4,000 ตารางเมตร เป็นฐาน
สำหรับการจัดเก็บ ดูแลรักษา รถยนต์ในตำนานกว่า 400 คัน (จำนวนนี้ 70 คัน
อยู่ที่ ศูนย์ Technical ของ Nissan ใน Tochigi)

Nissan ระบุว่า 70% ของรถยนต์เหล่านี้ ได้รับมาจากการบริจาค และ ใน 70%
ของทั้งหมดนี้  ยังคงติดเครื่องยนต์ แล่นได้ตามปกติ!

การดูแลคลังรถยนต์แห่งนี้ รวมทั้ง การสะสม จัดเก็บ และค่าใช้จ่ายทั้งหมด
เป็นของ ฝ่าย Domestic Advertising Department หรือฝ่ายโฆษณาสำหรับ
ตลาดญี่ปุ่น โดยถือเงิน ในส่วนของ การดูแลจัดการใน Zama Studio แห่งนี้

แล้วรถยนต์เหล่านี้ ปัจจุบัน ใช้ประโยชน์อย่างไร?

ง่ายๆครับ เวลามีกิจกรรม จัดแสดงต่างๆ หรือ ถูกขอยืมไปจัดแสดง ทั้งใน
โชว์รูม Nissan Gallery ตามเมืองใหญ่ๆ ในญี่ปุ่น หรือแม้แต่กิจกรรมของ
โชวรูมผู้จำหน่ายท้องถิ่น! กิจกรรม ที่จัดขึ้น ในสนามแข่งรถ เช่นพวก
NISMO Festival รถเหล่านี้ก็จะต้องถูกนำไปโชว์ตัว หรือออกวิ่งอวดโฉม
ต่อหน้าธาระกำนัลกันเสียบ้าง รวมทั้ง การติดต่อขอยืมจากองค์กรต่างๆ ไป
จัดแสดง เช่นในงาน Tokyo Motor Show หมวด รถเก่า ที่เคยได้รางวัล
Car Of The Year มาแล้ว นั่นเอง

นอกจากนี้ ยังเป็นสถานที่ ในการฝึกอบรม ของฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR :
Human Resource) เป็น คอร์ส Nissan DNA Learning Class เพื่อให้พนักงาน
ทั้งในและต่างประเทศ ที่เข้ามาใหม่ ได้เข้าใจถึงความเป็นมาของ  Nissan ใน
อดีตได้ดีขึ้น อย่างรวดเร็ว

หน้าที่ในการบำรุงรักษา รถยนต์เหล่านี้ เป็นของ เจ้าหน้าที่อาสาสมัคร
จากศูนย์ R&D ที่จะซ่อมบำรุง และปรับสภาพให้รถกลับมาใหม่อีกครั้ง
ตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา พวกเขาได้ใช้รถยนต์เหล่านี้ ในการฝึกอบรม
และเรียนรู้ประสบการณ์ ทักษะ รวมทั้งกระตุ้นในการสร้างแรงจูงใจ
ของแต่ละบุคคลในแผนกอีกด้วย

เนื่องจาก จำนวนรถยนต์ มีมากถึง 400 คัน ผมไม่อาจนั่งเขียนสเป็กให้
เก็บไว้อ่านได้ทั้งหมด อีกทั้งทาง Nissan ก็ทำเว็บไซค์ ให้เข้าเยี่ยมชม
กันอยู่แล้ว

ดังนั้น ผมจะขอไม่เขียนระบุสเป็กเครื่องยนต์ ของรถยนต์ทุกคันในนี้
เพราะรายละเอียดของตัวรถทุกรุ่น สามารถหาอ่านได้ ในเวบไซต์ของ
Nissan เขาเลยโดยตรง ตาม Link ต่อไปนี้ได้เลยครับ ครบที่สุดแล้วละ

http://press.nissan-global.com/COMMON/HERITAGE/database/en_index.html

พื้นที่ที่เราจะได้เดินเข้าไปชมกันนั้น ต้องบอกก่อนว่า ยังมีการปรับปรุง ต่อเติม
อยู่ในกำแพงด้านใน ซึ่งยังไม่เสร็จเรียบร้อยดีนัก ดังนั้น เราจะเริ่มเดินชมรถยนต์
กัน จากหน้าประตูทางเข้า ตรงไปยังปลายสุดฝั่งซ้ายของอาคาร คือ กลุ่มรถยนต์
ที่น่าจดจำในประวัติศาสตร์ของ Nissan และกลุ่ม Nissan Bluebird กับรถยนต์
เพื่อการพาณิชย์ และ Station Wagon

จากนั้น จะข้ามฝั่งมา ดู รถยนต์ตระกูล Skyline กลุ่ม แรก ริมด้านในสุดชิดกำแพง
แล้วย้อนขึ้นมายังกลุ่ม รถยนต์ขนาดใหญ่ Cedric / Gloria จากนั้น ก็จะตามด้วย
ตระกูล Skyline กลุ่ม 2

แล้วค่อยเดินไปยังฝั่งขวา ของอาคาร เพื่อดูรถแข่งรุ่นเก่าๆ ตระกูลรถสปอร์ต ทั้ง
Fairlady Z และ Silvia รถยนต์รุ่นพิเศษ Pike Car รถต้นแบบ รถไฟฟ้า วนกลับมา
ที่ตระกูล Laurel ตระกูล President ตระกูล Pulsar ตระกูล March และปิดท้ายด้วย
ตระกูล Sunny

Nissan จัดเตรียม เจ้าหน้าที่อาวุโส ผู้เชี่ยวชาญ 3 คน ทั้งคุณ Hiroshi คุณ Kazuo
และคุณ Chris ซึ่งเป็นชาวต่างชาติ ไว้แปลเป็นภาษาอังกฤษด้วย

และนี่คือ เจ้าหน้าที่อาวุโสอีกคนหนึ่ง คุณ Shimizu Euchi

ผมจำไม่ได้แน่ชัด แต่จะบอกว่า หนึ่งใน 3 คนนี้ มีอยู่คนหนึ่งที่ยังคงขับรถสปอร์ต
Nissan Fairlady SP310 รุ่นปี 1967 เป็นรถในชีวิตประจำวันอยู่!!!!!!!!!!!!!!!!!!!

ของเค้าแรงเอาเรื่องไม่เบาเลยนะนั่น!

บรรยายสรุปเสร็จแล้ว เดินออกมา ก็จะพบกับ บรรดารถยนต์ต้นแบบ ที่ใช้ไฟฟ้า
ทั้งหลายทั้งปวง คันสีเขียว คือ Nissan HyperMini เป็นรถที่คลอดออกมาเร็วกว่า
ที่ควรจะเป็นไปถึง 15 ปี (คลอดในงาน Tokyo Motor Show 1999 ขายจริงแค่
100 คัน แล้วต้องเลิกขายทันที เพราะว่า ถ้าผลิตขายมากกว่านี้ จะขาดทุนหนัก
ในทุกคันที่ขาย! น่าเสียดายมากๆ)

คันสีดำ เป็นรถทดลองไฟฟ้า ก่อนที่ Nissan LEAF คันจริง จะคลอดออกมา
เคยออกข่าวกันอยู่ช่วงสั้นๆ ในปี 2010 มีทั้งรถที่สร้างบนพื้นฐานของ
Nissan Cube และ Nissan IIDA 5 ประตู Hatchback

ฝั่งขวา ริมทางเดิน เป็น Nissan LEAF Nismo Concept เหมือนว่า เธอกับฉัน
เพิ่งเจอกันบนแท่นจัดแสดงใน Tokyo Motor Show เมื่อ 1 ธันวาคม 2011
มาหมาดๆ เลยนี่หว่า รถไฟฟ้า ก็แต่งให้ดุ ดูสวย ได้เหมือนกันนะเออ

จะว่าไป ผมเคยลองขับ LEAF แล้วนี่นา คุณผู้อ่านสามารถหาบทความทดลองขับ
Nissan LEAF ได้ ใน Headlightmag.com ส่วนของ J!MMY Review ดูครับ

พอเดินเข้ามาถึงทางเลี้ยวขวา มีรถยนต์ รุ่นเก่า 3 คัน สภาพ สุดกรี๊ด จอดอยู่
รอให้เราบันทึกภาพ และทั้ง 3 คัน ถือเป็นรถยนต์ รุ่นสำคัญของ Nissan ทั้งนั้น

คันสีน้ำตาล คือ Nissan SILVIA เจเนอเรชัน 2 เปิดตัวในปี 1975 ในช่วงที่
ญี่ปุ่นกำลังเผชิญวิกฤติน้ำมัน และปัญหาด้านการควบคุมมลพิษจากไอเสีย
อยู่พอดี ทิ้งห่างจากการเปิดตัว เจเนเรชันแรกสุด เมื่อปี 1965 ไปนานถึง
10 ปีเต็ม!!!

อยากให้ลองสังเกตเส้นสายตัวถังนะครับ แล้วลองย้อนนึกไปถึง ทศวรรษที่
1970 การออกแบบรถ โดยเน้นรูปทรง อวกาศ และยังใช้แนวเส้นแบบ J-Line
คือ เอกลักษณ์ บนเส้นสายตัวถังของรถยนต์ Nissan – Datsun ในยุคนั้น
แทบจะทุกรุ่น

ถึงทุกวันนี้ ถ้ามองย้อนกลับปว่า นี่คือรถที่คตลอดในปี 1975 ต้องถือว่า ล้ำหน้า
เกินกว่ายุคสมัยของมันเลยละครับ เพราะนี่เป็นรถญี่ปุ่นรุ่นแรกๆ ที่มีการ
ออกแบบให้ แผงประตูข้าง กับแผงหน้าปัด เชื่อมต่อกัน สอดรับกันอย่างลงตัว
เท่าที่เทคโนโลยีสมัยนั้น จะเอื้ออำนวยให้วิศวกรและทีมออกแบบทำได้

คันถัดไป คือ Nissan Cherry 100 A แบบ 3 ประตู ถือเป็นต้นกำเนิดของ
ตระกูลรถยนต์รุ่น Pulsar หรือรถยนต์ C-Segment เพื่อตลาดยุโรป ที่ชอบ
รถยนต์ท้ายตัด ในกาลต่อมา

นี่คือ รถยนต์ ขับเคลื่อนล้อหน้า รุ่นแรก ที่ Nissan ทำออกขาย และแม้ว่าจะมี
ปัญหาจุกจิกเอาเรื่อง แต่ ก็ถือว่า มียอดขายดีใช้ได้ ในช่วงเวลาที่ยังอยู่ในอายุ
การทำตลาด

ส่วนคันนี้ คือ Nissan Sunny 1000 cc. เจเนเรชันแรก ตัวถัง Sedan 2 ประตู
คลอดในช่วงปี 1967 งานวิศวกรรมต่างๆ ถอดยกมาจากรุ่น 2 ประตู ที่ออกขาย
ครั้งแรกในปี 1966 เลยทีเดียว

ประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งที่คุณควรรู้ไว้ก็คือ ชื่อรุ่น Sunny นั้น มาจากการจัด
แคมเปญ เชิญชวนให้ชาวญี่ปุ่น ตั้งชื่อรถรุ่นใหม่คันนี้ Nissan ประกาศลง
โฆษณาแคมเปญนี้ ในหน้าหนังสือพิมพ์ วันที่ 1 มกราคม 1966 ผลก็คือ
ตลอดเวลาร่วมสนุก 1 เดือน มีผู้ส่งไปรษณียบัตรเข้ามาตั้งชื่อรถรุ่นใหม่นี้
จากทั่วญี่ปุ่น มากถึง 8.48 ล้านใบ!!!!!!!!! และมีชื่อให้เลือกใช้มากมายถึง
390,000 ชื่อ

แต่สุดท้าย Nissan จัดงาน จับฉลาก หาผุ้โชคดี จากการตั้งชื่อรถรุ่นนี้ และ
เป็นงานประกาศว่ารถรุ่นใหม่ จะใช้ชื่อ Sunny เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์
ปีเดียวกัน หรืออีก 1 เดือนถัดมา

เหตุผลในการใช้ชื่อ Sunny ไม่มีอะไรมากครับ ชื่อนี้มันสอดคล้องกับบุคลิก
ของรถรุ่นใหม่ ที่เปล่งประกาย  เต็มไปด้วยความอ่อนเยาว์ และร่าเริง แถม
ในบริเวณใกล้ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ (แห่งเก่า) ของ Nissan ที่ Ginza สมัยนั้น
ยังมีผับขนาดเล็กชื่อ Sunnyside Bar อยู่แถวนั้นด้วย

ส่วนที่เห็นอยูนี้ คือแบบจำลองของ โรงงาน ZAMA ในปี 1964 อันเป็นปีที่
โรงงานแห่งนี้ เริ่มเปิดดำเนินการ เพื่อผลิตรถยนต์ตระกูล Sunny เป็นหลัก

สมัยก่อน Zama ถือเป็นหนึ่งในโรงงานสำคัญของ Nissan ควบคู่กับโรงงาน
Oppama ที่ใช้ในการผลิตรถยนต์ขนาดกลางหลายๆรุ่น รวมทั้ง โรงงาน ใน
Yokohama แต่ปัจจุบันนี้ กลายเป็นเพียงศูนย์ปฏิบัติการณ์ของบริษัทในเครือ
และสถานที่เก็บรถยนต์รุ่นเก่าๆ เท่านั้น ทั้งที่พื้นที่ใหญ่โตมโหฬารขนาดนี้

ฝั่งซ้าย ของแบบจำลอง ถ้าดูดีๆ คุณจะเห็นว่า  มีสนามทดสอบขนาดเล็กไว้ด้วย
สมัยก่อน เมื่ผลิตรถยนต์ออกมาเสร็จแล้ว จะต้องถูกนำมาขับทดลองในสนาม
แห่งนั้น เพื่อตรวจดูข้อบกพร่องสุดท้าย ก่อนปล่อยรถออกสู่โชว์รูมผู้จำหน่าย

เดินเลี้ยวขวาเข้ามา ยังโถง หน้าประตูทางเข้า จะพบ แบบจำลอง ของรถยนต์
รุ่นสำคัญในอดีต 4 คัน จัดแสดงเอาไว้ น่าแปลกว่า มีทั้งภาษาญี่ปุ่น จีน และ
เกาหลีใต้ เขียนกำกับไว้ที่ด้านล่างของกรอบกระจกใสด้วย!

คันแรก นี่เลยครับ แบบจำลองของ รถยนต์ 3 ล้อ Gorham ที่ William G. Gorham
วิศวกรชาวอเมริกัน ผู้ประดิษฐ์ขึ้นในปี 1919 (สาย 2 สู่การก่อตั้ง Nissan ที่คุณเพิ่ง
อ่านจบไปข้างบนนั่นไง!)

ถัดมา คือ รถต้นแบบ DAT Model 41 ซึ่งเป็น รถยนต์ ตัวถังเดี่ยว ใช้เครื่องยนต์ 4 สูบ แบบแรก
ของญี่ปุ่น นั่นเอง คล้าย Ford Model-T ไหมครับ รถยนต์ยุคนั้น หน้าตาแบบนี้เหมือนกันไปหมด

ส่วนคันสีฟ้า และเขียว นั้น เป็นรถยนต์ DATSUN รุ่นแรกๆ มีทั้งแบบ 4 ที่นั่ง
และแบบ Truck หรือกระบะ สมัยนั้น ราคาขาย คันละ 1,700 เยน ย้อนกลับไป
เมื่อ เกือบ 100 ปีที่แล้ว นะ ค่าเงินญี่ปุ่น สมัยนั้น ยังไม่เป็นอย่างทุกวันนี้

ทั้งหมดนั้น เป็นเพียงเรื่องราวเบื้องต้นที่คุณจะได้เห็น ก่อนเดินเข้าไปเยี่ยมชม
ในบริเวณจัดแสดง ของ Nissan Heritage Collection แห่งนี้ อีกเพียงไม่ดี่อึดใจ
ที่ผมลั่นชัตเตอร์ภาพนี้ เสร็จลง บรรดาคณะทัวร์จากเมืองไทย ก็ทะยอยเดินกัน
มาจนเต็มพื้นที่โถงด้านหน้าทางเข้ากันหมด

แล้วก็ถึงเวลาที่ เรา (โดยเฉพาะผม) รอคอย…คุณ Chris รอต้อนรับหน้าประตู
เมื่อ อาคันตุกะจากเมืองไทย 130 คน มาพร้อมกันที่หน้าประตูทางเข้า
อย่างใจจดจ่อ กับสิ่งที่จะได้เห็นกันในอีกไม่กี่วินาทีข้างหน้าแล้ว…

บานประตูเหล็ก ที่เขียนว่า Nissan Hertiage Collection ค่อยๆ เลื่อนเปิดขึ้นมาช้าๆ
เผยให้เห็นถึงความอลังการ ของบรรดารถยนต์ ที่จอดเรียงกันอยู่ข้างในโกดังขนาดยักษ์…

นี่คือภาพแรก ที่ผมวางกล้องไว้กับพื้น ระหว่างที่บานประตูยังคงค่อยๆเลื่อนขึ้นอย่างช้าๆ
วินาทีนั้น ในฐานะคนที่ชอบรถยี่ห้อ Nissan เป็นชีวิตจิตใจ…ฝันที่รอคอยมานาน ฝันที่เคย
ได้แค่นั่งนึกถึง ยามค่ำคืน ตอนนั่งดูรูปของคนที่เคยมาเยี่ยมชมที่นี่ บนเว็บไซต์อื่นๆ

มันกลายเป็นจริงแล้ว…

ผมถึงจุดสุดยอด แล้ว!
Fin คา โกดัง Zama ตรงนี้ กันเลยทีเดียว!

ตั้งแต่วันที่รู้ว่าจะได้เดิทางมาที่นี่ ผมคิดมาตลอดเลยว่า อยากจะทำอะไรสักอย่าง
เพื่อให้เป็นความสะใจแก่ตัวเอง

ผมอยากจะ กรี๊ดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดด ให้ดังลั่นสนั่นไปเลย
อย่างน้อยๆ สักรอบนึง กรี๊ด ให้สมกับได้เห็นในสิ่งที่ตัวเองรอคอยมานาน…

นั่นคือสิ่งหนึ่งที่ผมอยากทำ แต่ตัดสินใจไม่ทำ….ในช่วงเสี้ยววินาทีที่เริ่มเดินเข้าไป
ในโกดังแห่งนี้

แหงสิ! เดี๋ยวประชาชี ทั้งชาวไทย ชาวญี่ปุ่น จะแตกตื่นกันหมด แล้วคนของทาง Nissan
เขาจะมองได้ว่า  “ไอ้จิมมี่นี่มันบ้า!” ซึ่งก็แปลเป็นภาษาญี่ปุ่นได้ว่า “Kuruma-baka”
(แปลว่า “ไอ้บ้ารถ”)

(>_<‘)

พอมองไปทางขวา…
โอ้โฮ! รถยนต์สารพัดรุ่น สารพัดตัวถัง สารพัดรุ่นปี มาจอดรวมกันอยู่ที่นี่ รุ่นละ 1-2 คัน บางรุ่น
ก็ปาเข้าไป 3 คันเลยก็มี ตายละ! เยอะแยะละลานตาขนาดนี้ เวลาแค่ 2 ชั่วโมง จะถ่ายรูป และดึ่มด่ำ
เก็บบรรยากาศ กันจนครบหมดทั้งโกดังไหมวะเนี่ย?

มองไปแต่ละคัน…ภาพเก่าๆ ผุดขึ้นมา…
เฮ้ย! คันนั้น เคยเห็นแต่ในรูป คันนั้น เคยลองขับด้วย คันนั้น บ้านเราเคยเป็นเจ้าของด้วย
คันนั้น รถเพื่อน คันนั้น เคยเป็นรถของรุ่นพี่ โอ้โห ภาพเก่าๆ ในลิ้นชักแห่งความทรงจำ
ถูกเปิดออกมา แล้วพวกมันต่างก็บินว่อน ปลิวละล่อง ฟุ้งกระจายเต็มหัวของผมในตอนนั้น

ปัญหามันมีนิดหน่อย ก็ตรงที่ว่า
ถึงแม้เราจะรับทราบมาแล้วว่า Nissan Heritage Collection ยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างและปรับปรุง
การจัดหมวดหมู่ของรถในโกดังตอนนี้ จึงทำได้ในเบื้องต้น ด้วยรูปแบบการจัดเรียง ตามประเภทที่
เราได้แสดงในภาพข้างบนๆ

แต่เอาเข้าจริง แต่ละรุ่น แต่ละประเภท จอดกันกระจัดกระจายไปหน่อย เวลาเอามารวบรวมเป็น
หมวดหมู่ ในการเขียนบทความ จะทำได้ยากมาก เพราะ จะมีรถบางกลุ่ม ที่จัดวางไม่เข้าพวก
หรือไม่ก็ กระจายไปอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย เช่น Nissan Be-1 มี 4 คัน แต่จอด
กระจัดกระจายไปในแต่ละจุดห่างไกลกันมาก…

อีกทั้งในตอนนี้ รถยนต์ที่จัดแสดงนั้น อาจจะมีไม่ครบ 400 คัน บางรุ่น กำลังส่งไปจัดแสดงใน
งาน Event อื่นๆ บางคันส่งไปบูรณะ ซ่อมแซม กันอยู่ บางคัน จอดคลุมผ้าเอาไว้  แต่เท่าที่มีอยู่
และพร้อมให้เราได้ยลโฉมกันวันนี้ ก็ถือได้ว่า คุ้มค่าต่อการได้มาเยี่ยมชมมากๆแล้ว

จากนี้ ผมจะขอพาคุณผู้อ่าน เดินชมไปพร้อมกัน ตั้งแต่หน้าประตูทางเข้าลัดเลาะไปตามทางเดินหลัก
อาจแวะไปส่องรถบางคัน นั่นหมายความว่า บางครั้ง อาจมีรายการกระโดดข้ามไป ข้ามมา ไม่ต่อเนื่อง
เกิดขึ้นได้ ในรถบางตระกูลบ้าง ก็ต้องทำใจกันนิดนึงนะครับ

เริ่มต้นคันแรก กันที่ Datsun 12 Phaeton เป็นรถยนต์รุ่นแรก หลังการรวมกิจการกัน และก่อตั้ง
เป็นบริษัท Nissan Motor ออกสู่ตลาดในปี 1933 ตัวถังยาว 2,710 มิลลิเมตร กว้าง 1,175 มิลลิเมตร
ระยะฐานล้อ 1,918 มิลลิเมตร เครื่องยนต์ 4 สูบ 748 ซีซี ระบายความร้อนด้วยน้ำ 12 แรงม้า (PS)
ราคาขายในสมัยนั้น (อ้างอิงจากราคาเก่าใน Osaka) อยู่ที่ 1,350 เยน

หลังจากนั้น เดือนเมษายน 1935 Datsun Phaeton 14 ก็เริ่มออกสู่ตลาด คันที่เห็นนี้ เป็นตัวถัง
Roadster  ออกแบบโดย Ryuichi Tomiya ตัวรถยาว 2,800 มิลลิเมตร กว้าง 1,200 มิลลิเมตร
ระยะฐานล้อ 1,980 มิลลิเมตร เครื่องยนต์ Type 7 แบบ 4 สูบเรียง SV 722 ซีซี 15 แรงม้า (PS)
ความเร็วสูงสุด ทำได้ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ส่วนคันที่จอดอยู่ข้างๆกันนั้น อาจกระโดดคร่อมช่วงเวลาไปสักหน่อย เพราะนั่นคือรถยนต์
TAMA ELECTRIC CAR เป็นรถยนต์ขับเคลื่อนด้วย มอเตอร์ไฟฟ้า ที่ บริษัท Tachikawa
Aircraft สร้างขึ้นในปี 1947 ตามนโยบายส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า แทนน้ำมัน ในช่วงที่
ญี่ปุ่นเพิ่งฟื้นตัวจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และกำลังขาดแคลนน้ำมัน แต่มีกระแสไฟฟ้าใช้
เหลือเฟือ

ต่อมา Tachikawa Aircraft เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท Tama Cars Co. แล้วจึงกลายเป็นบริษัท
Prince Motor ผู้สร้างรถยนต์ Skyline และ Gloria ก่อนจะถูกควบรวมเข้ากับ Nissan ใน
เดือนสิงหาคม 1968

Tama ไฟฟ้า คันนี้ สามารถแล่นผ่านมาตรฐานของกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น
ได้สำเร็จ ทั้งความเร็วสูงสุด 35.2 กิโลเมตร และมีระยะทางแล่นไกลสุด 96.3 กิโลเมตร

ตัวรถยาว 3,035 มิลลิเมตร กว้าง 1,230 มิลลิเมตร สูง 1,630 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,000
มิลลิเมตร น้ำหนักรถเปล่า 1,100 กิโลกรัม นั่งได้ 4 คน ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า ขนาด 36 Volt
แบบ DC series-wound กำลังสูงสุด 3.3 กิโลวัตต์ หรือ 4.5 แรงม้า (HP) แบ็ตเตอรี แบบ
ตะกั่ว 40 Volt /162Ah ติดตั้งไว้ใต้ท้องรถ เลื่อนเข้าออกเพื่อเปลี่ยนแบ็ตเตอรีได้ ชาร์จไฟ
1 ครั้ง แล่นได้ไกล 65 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุด 35 กิโลเมตร/ชั่วโมง รถรุ่นนี้ ถูกใช้เป็น
รถ Taxi ใน ญี่ปุ่น จนถึงปี 1950

แต่ก่อนจะถึงเวลานั้น ย้อนกลับมาดู หลังการถือกำเนิดของ Datsun สักเล็กน้อย

ในช่วงแรกเริ่มนั้น อย่างที่บอกไปตอนต้น ชื่อ Datsun ถูกสงวนไว้ สำหรับรถยนต์ขนาดเล็ก 
ส่วน Nissan สงวนไว้กับรถยนต์ขนาดกลางและใหญ่

แม้ว่าชื่อ Datsun ตระกูล 10 จะเริ่มออกสู่ตลาดในปี 1932 แต่ ตลอดช่วงปี 1932 – 1938
ก็มีการปรับปรุงรายละเอียดยิบย่อย ปี 1934 เพิ่มรุ่น ในปี 1935 หลังจากผลิต Datsun 15
Phaeton 14 แล้ว พวกเขาก็เริ่มแตกหน่อแบ่งรุ่นให้ยิบย่อยเพิ่มขึ้น เช่น Datsun 15
Roadster ที่เห็นอยู่นี้ (ที่นี่ มีอยู่ 2 คัน)

สำหรับรถยนต์กลุ่มที่เห็นในภาพนี้ คือตระกูล Datsun 15 และ Datsun 17 ทั้งหมดที่
Nissan ยังคงเก็บรักษาไว้อยู่ เครื่องยนต์กลไกพื้นฐาน เหมือนกันหมด คือขจนาด
722 ซีซี และแตกต่างเพียงแค่รูปแบบตัวถังด้านหลังเท่านั้น ออกสู่ตลาดในช่วงปี
1935 – 1938 ก่อนที่ญี่ปุ่น จะเข้าสุ่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ส่วนคันสีแดง โป่งซุ้มล้อดำ ภาพข้างล่าง นั่นคือ Datsun 17 เปิดตัวในปี 1938 หลังสงคราม จีน-ญี่ปุ่น
เกิดปัญหา วัตถัดิบขาดแคลน จึงต้องผลิตตัวรถ อย่างเรียบง่ายที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ วางเครื่องยนต์ขนาด
722 ซีซี จากรุ่น 14 ถูกปรับปรุงอัตราส่วนกำลังอัด จาก  5.2 : 1 เป็น  5.4 : 1 เลยมีกำลังเพิ่มขึ้น
อีก 1 แรงม้า เป็น 16 แรงม้า (PS) ที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 3.8 กก.-ม.ที่ 2,000 รอบ/นาที

รถคันนี้คือ Datsun Deluxe Sedan ปี 1953 ถือเป็นรถยนต์นั่งรุ่นแรกๆ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ที่ Nissan Motor ผลิตขึ้นมา รถคันนี้ เปิดตัวในเดือนกุมภาพันธ์ 1953

ท้าวความสั้นๆว่า หลังจากญี่ปุ่นยอมลงนามสงบศึกสงครามโลกครั้งที่ 2 ในวันที่ 15 สิงหาคม 1945
สงครามก็ยุติลง และ ฝ่ายสัมพันธมิตร ก็เข้ามาตั้ง General Head Quarter (เรียกในยุคนั้นว่า GHQ)
พวกเขาสั่งห้ามการผลิตรถยนต์ และรถบรรทุก จนกระทั่งถึงเดือนมิถุนายน 1947 การผลิตรถยนต์
โดยสารส่วนบุคคล ได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่ GHQ อนุญาต แต่มีข้อจำกัดว่า ผลิตได้เฉพาะ
รถยนต์นั่งส่วนบุคคล ขนาดเครื่องยนต์ต่ำกว่า 1,500 ซีซี ตจำนวนไม่เกิน 300 คัน และรถยนต์นั่ง
ขนาดใหญ่ ไม่เกิน 50 คัน

Nissan เริ่มกลับมาเปิดโรงงาน Yoshiwara ของตนอีกครั้ง แต่ในเมื่อชิ้นส่วนในสต็อกถูกจำกัด
พวกเขาจึงทำได้เพียงพยายามผลิตรถยนต์ จากชิ้นส่วนเท่าที่มีอยู่ และเท่าที่ GHQ อนุญาต

รถยนต์รุ่นแรกๆที่ Nissan ผลิตขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ Datsun Type DA ในปี 1947
ซึ่งใช้เครื่องยนต์ 722 ซีซี จาก Datsun 17 ตามเดิม แต่เปลี่ยนเปลือกตัวถังภายนอกขึ้นใหม่
เมื่อการผลิตรถยนต์นั่ง สามารถทำได้อิสระขึ้น Datsun Deluxe Sedan Type DB จึงเปิดตัว
ในปี 1949 ตามด้วย Datsun Type DS ในปี 1951 ที่คลอดออกสู่ตลาดในฐานะรุ่นเปลี่ยนโฉม
ใหม่หมด ของ Datsun Type DA

สำหรับ Datsun Deluxe Sedan คันนี้ รหัสรุ่น DB-5 ตัวรถออกแบบในสไตล์ อเมริกัน ยาว
3,805 มิลลิเมตร กว้าง 1,480 มิลลิเมตร สูง 1,560 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อสั้นมาก แค่เพียง
2,150 มิลลิเมตร น้ำหนักเบาเพียง 890 กิโลกรัม นั่งได้ 4 คน วางเครื่องยนต์ D10 บล็อก
4 สูบเรียง ระบบขับวาล์วแบบ SV (โบราณยิ่งกว่า OHV เสียอีก) ขนาด 860 ซีซี

ในช่วงแรก รถรุ่น DB-2 มีกำลังสูงสุด แค่ 20 แรงม้า (PS) แต่ ในรุ่น DB-5 คันนี้ ถูกยกระดับ
เป็น 24 แรงม้า (PS) ความเร็วสูงสุด แค่เพียง 78 กิโลเมตร/ชั่วโมง

รถคันสีดำ ในภาพทางซ้าย คือ Prince Sedan Deluxe รหัสรุ่น AISH-2 รุ่นปี 1954 แต่เปิดตัว
มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 1953

ย้อนกลับไปยัง Prince Motor เล็กน้อย บริษัทนี้ ถือกำเนิด แยกตัวออกมาจากบริษัทผลิตเครื่องบิน
Nakajima Aircraft (ต้นกำเนิดเดียวกับ บริษัท Fuji Heavy Industry ผู้ผลิตรถยนต์ Subaru นั่นละ
บริษัทเดียวกันเป๊ะเลย !!!) พวกเขาแยกตัวออกมา ตั้งบริษัท Tama Electric Car แล้วค่อยเปลี่ยน
เป็น Tama Car ในภายหลัง จนกระทั่งเดือนมีนาคม 1952 พวกเขาก็เปลี่ยนชื่อเป็น Prince Motor
ในเดือนมีนาคม 1952 โดยใช้ชื่อนี้ เพื่อเป็นเกียรติให้กับ เจ้าชาย Akihito มกุฎราชกุมาร ในตอนนั้น
(ต่อมา ขึ้นเป็น จักรพรรดิ จวบจนปัจจุบัน)

รถคันสีดำนี้ เคยเป็นรถที่เจ้าชาย Akihito ทรงใช้เป็นรถยนต์ส่วนพระองค์มาก่อน และถูกเก็บรักษา
ไว้ที่นี่ รถยนต์รุ่นนี้เคยถูกนำไปจัดแสดงที่งาน Tokyo Motor Show ครั้งแรก ซึ่งจัดขึ้น เมื่อปี 1954
ณ สวนสาธารณะ Hibiya และได้รับความสนใจจากประชาชนผู้เข้าชมงานอย่างมาก

ตัวรถยาว 4,290 มิลลิเมตร กว้าง 1,635 มิลลิเมตร สูง 1,633 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,460 มิลลิเมตร
น้ำหนักรถเปล่า 1,254 กิโลกรัม เครื่องยนต์ FG4A บล็อก 4 สูบเรียง OHV 1,484 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์
เดี่ยว 45 แรงม้า (PS) ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 10.75 กก.-ม.ที่ 3,200 รอบ/นาที ความเร็ว
สูงสุด 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถือเป็นรถยนต์ประกอบในญี่ปุ่นรุ่นแรกที่ใช้เกียร์ธรรมดา Synchromesh
มากเกินกว่า 2 เกียร์

รถคันสีดำตรงกลาง นั่นคือ Austin A40 ตัวรถมีความยาว  4,050 มิลลิเมตร กว้าง 1,600 มิลลิเมตร
สูง 1,630 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,350 มิลลิเมตร น้ำหนักรถเปล่า 1,020 กิโลกรัม วางเครื่องยนต์
Type 1G บล็อก 4 สูบเรียง OHV 1,197 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์เดี่ยว 42 แรงม้า (PS) ที่ 4,500 รอบ/นาที
ความเร็วสูงสุด 109 กิโลเมตร/ชั่วโมง

Austin มันรถอังกฤษนี่นา แล้วมาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร?

คืออย่างนี้ครับ ตั้งแต่ญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา การผลิตรถยนต์ในประเทศ ถูกจำกัด
ตั้งแต่ ปี 1947 จนกระทั่งเดือนตุลาคม 1949 ข้อกำหนดนี้ ถูกผ่อนผัน Nissan เลยเริ่มทำรถยนต์
ออกมาขาย อย่างที่ได้เขียนถึงไปข้างต้น

พอถึงปี 1952 Nissan ตัดสินใจ ขอทำข้อตกลงความร่วมมือด้านเทคโนโลยี จาก บริษัท Austin
ของอังกฤษ ด้วยเหตุผลที่ว่า ในสมัยนั้น ไม่มีบริษัทไหน ส่งรถยนต์ไปขายในสหรัฐฯได้มาก
เท่ากับ Austin อีกแล้ว ดังนั้น ในเดือนเมษายน 1953 รถยนต์ Austin A40 ประกอบในญี่ปุ่น
คันแรก ก็ได้คลอดออกจากสายการผลิต ความสัมพันธ์นี้ ดำเนินมาเรื่อย จนกระทั่งเมื่อ Austin
เปลี่ยนโฉม รถยนต์ รุ่น A40 เป็น A50 ในเดือนธันวาคม 1954 Nissan เลยตั้งเป้าจะผลิต A50
ใหม่ โดยใช้ชิ้นส่วนในประเทศให้ได้ครบ 100% ทั้งคัน และพวกเขาก็ทำสำเร็จในเดือนสิงหาคม
1956 เร็วกว่ากำหนดการเดิมที่วางไว้ แต่ทุกอย่างก็ต้องดำเนินมาถึงจุดสิ้นสุด รถยนต์ Austin คัน
สุดท้าย ถูกผลิตจากโรงงาน ของ Nissan เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 1959

ดังนั้น ใครที่คิดว่า “ญี่ปุ่น มันก็ไปลอกแบบรถยุโรปเขามาละวะ”…มาตลอดละก็ คงต้องขอบอกว่า
ไม่เหมือนกันกับจีนละครับ ญี่ปุ่น สามารถทำรถยนต์เองมาได้ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 แล้ว
ด้วยซ้ำ และใช้วิธี ทำสัญญาร่วมกับผู้ผลิตในยุโรป เพื่อรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี กันมานานแล้ว
ผิดกับประเทศจีน ที่ใช้วิธี Copy and Development กันอย่างหน้าด้านๆ มากกว่า

ทำความเข้าใจประวัติศาสตร์จุดนี้กันเสียใหม่ด้วยครับ!

ส่วนคันสีดำถัดไปนั้น เป็น Datsun 1000 เปิดตัวครั้งแรกเมื่อเดือน พฤศจิกายน 1957 ในรหัสรุ่น 210
ก่อนจะมีการปรับโฉม Minrochange ครั้งแรก เป็นรหัสรุ่น 211 ในเดือนตุลาคม 1958 มีการเปลี่ยน
กระจังหน้า และรูปทรงของไฟเลี้ยว รวมทั้งเส้นสายด้านข้างที่ยาวขึ้นนิดหน่อย อีกทั้งมีการปรับ
เปลี่ยนระบบกันสะเทือนให้ดีขึ้น หลังจากได้ประสบการณ์ จากการส่งรถรุ่นนี้เข้าแข่งในรายการ
Australian Rally (แถมไปคว้ารางวัลที่ 1 ใน Class เดียวกันกับตนมาอีกด้วย แล่นจนจบรายการ)
รถรุ่นนี้ ถูกส่งไปขายนอกญี่ปุ่น รวมทั้งในเมืองไทย และเป็นรุ่นพื้นฐาน สำหรับ Nissan Bluebird
310 รุ่นต่อมา

ตัวรถยาว 3,880 มิลลิเมตร กว้าง 1,466 มิลลิเมตร สูง 1,535 มิลลิมตร ระยะฐานล้อ 2,220 มิลลิเมตร
น้ำหนักรถเปล่า 925 กิโลกรัม เครื่องยนต์แบบ Type C บล็อก 4 สูบเรียง ระบบขับวาล์วแบบ SV
988 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์เดี่ยว 34 แรงม้า (PS) ที่ 4,400 รอบ/นาที ความเร็วสูงสุด 95 กิโลเมตร/ชั่วโมง

นอกเหนือจากมีตัวถัง Sedan แล้ว Datsun 1000 ยังมีตัวถังกระบะ (คันสีฟ้าอ่อน) ให้เลือกอีกด้วย
เปิดตัวพร้อมกัน ตัวรถยาว 3,742 มิลลิเมตร กว้าง 1,466 มิลลิเมตร สูง 1,625 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ
2,200 มิลลิเมตร น้ำหนักรถเปล่า 620 กิโลกรัม เครื่องยนต์เป็นแบบ Type C บล็อก 4 สูบเรียง OHV
988 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์เดี่ยว ถือเป็น Datsun รุ่นแรกที่ใช้ระบบขับวาล์วแบบ OHV 34 แรงม้า (PS)
ที่ 4,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 6.6 กก.-ม.ที่ 2,400 รอบ/นาที เกียร์ธรรมดา 3 จังหวะ (ถอยหลัง
1 จังหวะ) ความเร็วสูงสุด 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง

คันถัดไปเป็น Datsun Bluebird 1200 Deluxe 311 ซึ่งจะเล่ารายละเอียดในช่วงหลังจากนี้ไป

ส่วนคันสีดำ คันใหญ่นี้ เป็นต้นตระกูล รถยนต์รุ่นใหญ่ นี่คือ Nissan CEDRIC รุ่นแรก เปิดตัว
เมื่อเดือนเมษายน 1960 รหัสรุ่น 30 ใช้เทคโนโลยีการผลิตจากบริษัท Austin ของอังกฤษ แต่
งานออกแบบภายนอก ไม่เหมือนรถยนต์ Austin เลย

ตัวรถยาว 4,510 มิลลิเมตร กว้าง 1,680 มิลลิเมตร สูง 1,510 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,630 มิลลิเมตร
น้ำหนักรถเปล่า 1,240 กิโลกรัม เครื่องยนต์แบบ H บล็อก 4 สูบเรียง OHV 1,883 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์
เดี่ยว 88 แรงม้า (PS) ที่ 4,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 15.6 กก.-ม. ที่ 3,200 รอบ/นาที เกียร์ธรรมดา
3 จังหวะ ระบบกันสะเทือนหน้าปีกนกคู่ ด้านหลังแบบแหนบ Semi-floating leaf

ปรับโฉม Minorchange ครั้งแรก เมื่อเดือนตุลาคม 1960 เพิ่มรุ่น 1,900 ซีซี Custom (G30) และ
รุ่น 1,900 ซีซี Deluxe ในเดือนพฤษภาคม 1961 จากนั้น ปรับโฉม Minorchange อีกครั้งในเดือน
พฤศจิกายน 1962 และเปลี่ยนรหัสรุ่นเป็น 31 พร้อมชุดไฟหน้าใหม่แบบ 2 วงกลมแนวตั้ง

มาดูรถยนต์ สีสดเด่นเด้งทั้ง 3 คัน ที่เห็นอยู่นี้กันบ้าง

Nissan Bluebird 510 Coupe หรือเรียกง่ายๆก็คือ Bluebird เพลาลอย แบบ Coupe 2 ประตูนั่นเอง
อันที่จริง ในรุ่นนี้ มีตัวถัง Sedan 2 ประตู มาให้เลือกด้วย แต่ ตัวถังนั้น จะได้รับความนิยมใน
สหรัฐอเมริกามากกว่า หลักๆแล้ว จะมีทั้งหมด 4 ตัวถัง คือ Sedan 2 กับ 4 ประตู Coupe 2 ประตู
และ Station Wagon 5 ประตู แถมยังจะมีตัวถัง Pickup ให้เลือก เหมือนรุ่น ก่อนหน้านั้น หรือ
Bluebird 410 อีกด้วย

Nissan Fairlady 240Z คันนี้คงไม่ต้องพุดถึงมาก เพราะมันคือรถสปอร์ตญี่ปุ่น รุ่นแรกที่ขายดี
ในสหรัฐอเมริกา คนเล่นรถ ที่นั่น ต่างเคยให้การยอมรับรถรุ่นนี้มาแล้ว เกร็ดเล็กน้อยก็คือ
ชุดเบ้าไฟหน้านั้น ทำจาก วัสดุหล่อขึ้นรูป FRP พลาสติกผสมไฟเบอร์ Z ถือเป็นรถยนต์เพื่อ
การผลิตจริงรุ่นแรกที่ใช้วัสดุนี้ ในการผลิตรถยนต์ เพราะมันมีน้ำหนักเบา และทนทานใช้ได้
ที่น่าทึ่งคือสมัยนั้นฝ่ายวัสดุของนิสสันพยายามหาวิธีสร้างเบ้าไฟหน้าให้สามารถหล่อเข้ารูป
แถมต้องทนทานลมฟ้าอากาศ หาวัสดุกี่แบบมาใช้ก็ไม่ตอบโจทย์ แต่มาพบคำตอบจาก
เก้าอี้ม้านั่งแถวยาวข้างทางและสถานีรถไฟ เลยได้Supplier คนที่ทำเก้าอี้นั่นล่ะช่วยผลิตให้

Nissan Cherry (100A) ปี 1974 ต้นตระกูล Pulsar คันนี้ เป็นตัวถัง 4 ประตู ที่ดูเหมือนเป็น 5 ประตูมากกว่า

Nissan Cedric Sedan รุ่นปี 1976 คันนั้น เคยถูกใช้ในกิจกรรม ขับรถสำรวจเส้นทาง สาย Asia
ของ หนังสือพิมพ์ Asahio Shimbun และมาสิ้นสุดที่ประเทศไทย! คู่กับ Nissan Bluebird 810
อีกคันหนึ่ง มาแล้ว

ฝั่งซ้ายของรูปนี้ คือ ต้นตระกูลของ รถตู้รุ่น Vannette หรือ NV200 ในปัจจุบัน มันคือ Nissan Sunny
Vannette! เหตุผลที่ใช้ชื่อนี้ เพราะ ในตอนเปิดตัวที่ญี่ปุ่น มันถูกวางตำแหน่งการตลาดให้เป็น อีก 1 รุ่น
ที่แตกหน่อ ออกมาจากตระกูล Sunny หน้าที่ก็คือ ต่อกรกับ Toyota LiteAce / Town Ace / Master Ace
นั่นเอง

คันขวามือ เป็นหนึ่งในรถที่ผมชอบมาก Nissan Bluebird 910 Coupe เป็น Bluebird ตัวถัง Coupe
2 ประตู และ ขับล้อหลังรุ่นสุดท้าย เพราะหลังจากนี้ ก็ไม่มีตัวถัง 2 ประตูของ Bluebird มาให้เห็น
กันอีกแล้ว รุ่นนี้ ตัวท็อป ชื่อรุ่นยาวมาก Turbo SSS-S คือกะว่า จะ S กันจน ตัว S หมดโลกเลย
ว่างั้น นี่คือ Bluebird รุ่นแรก ที่ติดตั้ง Turbo มาให้จากโรงงาน เปิดตัวในช่วงปลายปี 1979 และ
มีพรีเซนเตอร์ เป็นนักร้องดังของญี่ปุ่นในยุคนั้น เลยต้องมีสโลแกนว่า The Super Star

คันนี้ ไม่พูดถึงคงไม่ได้ เป็นหนึ่งในรถกระบะที่คู่บุญ Nissan ในเมืองไทย ยุคสมัยของ สยามกลการ
นั่นคือ Nissan Professional D ในญี่ปุ่น เรียกว่า Nissan DATSUN รหัสรุ่น 720 รถคันนี้ เป็นรถที่
ได้รับการบริจาค มาอีกที เป็นแบบกระบะ Flat Deck รักษาสภาพดีมากๆ ในบ้านเรา จะใช้เครื่องยนต์
SD22 ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น เครื่องยนต์ SD23 เป็นรุ่นสุดท้าย ก่อนที่จะเปลี่ยนตัวถังเป็น BigM ในปี
1986 เสียดายว่า ในวันที่เราไปเยี่ยมชม ไม่มีเงาของรถกระบะ Datsun 1500 รุ่น ช้างเหยียบให้เห็นเลย
คาดว่าน่าจะอยู่ในการบูรณะอยู่ เพราะจำได้ว่า  ที่นี่ มีเก็บไว้แล้ว 1 คัน

คันสีฟ้า ฝั่งขวา คือ Datsun Sedan ที่พัฒนาต่อเนื่องมาจาก รถยนต์ Austin  
ส่วนคันสีน้ำเงินเข้ม เป็น Nissan Bluebird 310 รุ่นปี 1961 ต้นตระกูล Bluebird
ที่หลายๆคนคงจำกันได้อย่างดี

คันขวามือ คือ Nissan Bluebird P410 ส่วน คันซ้ายมือ คือ Nissan Bluebird 510
ทั้ง 2 รุ่น บ้านเราจะคุ้นเคยกันดีในฐานะ บรรพบุรุษของรถ Taxi ในกรุงเทพฯ
โดยเฉพาะรุ่น 510 เรียกกันว่ารุ่น เพลาลอย ถือเป็น Bluebird ที่ออกแบบมาได้
เฉียบคมมากที่สุด เมื่อเทียบกับรถญี่ปุ่นในยุคปีเดียวกัน ช่วงล่างนั้น ในญี่ปุ่น
สมัยนั้น โฆษณาว่าเป็น แบบ Super Sonic และเป็นรุ่นที่ได้รับความนิยม
เหนือกว่ารุ่น 410 คันขวามืออย่างเทียบกันไม่ติด

คันนี้คือ Nissan Bluenird 510 เพลาลอย แท้ๆ สภาพ นิ้งมากๆ นี่ละครับ เวอร์ชัน Sedan มีให้เห็น
กันอย่างครบถ้วน สมัยก่อน รถรุ่นนี้ ถูกนำมาทำเป็น รถ Taxi ในกรุงเทพมหานคร ต่อจาก 410 ก่อนที่จะ
เข้าสู่ยุคของ Toyota Corolla DX KE70 ในภายหลัง

คันนี้คือ Nissan Bluebird รุ่น 180B ปี 1973 ในบางตลาดส่งออก สภาพถือว่าดีมาก อันที่จริงรุ่นนี้จะมี
ตัวถัง Coupe 2 ประตู ให้เลือกอีกด้วย แต่ที่นี่ ยังไม่มีเก็บไว้

ส่วนคันนี้ คือ Nissan Bluebird U  ซึ่งเคยร่วมทริป แกะรอย เส้นทาง A1 ของหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่น
Asahi Shimbun กับเจ้า Cedric สีน่ำตาล (ในรูปข้างบน) ขับข้ามทวีป Asia มาจบลงที่ประเทศไทย
ของเรา

ถ้าไม่เชื่อ? ดูนี่เลยครับ หลักฐาน ชัดๆ คาตา!! ผมไม่คิดว่า จะได้มาเห็นสติ๊กเกอร์นี้ ในประเทศญี่ปุ่น
และในพื้นที่ Exclusive แบบนี้!!!!!!!!!!!!!!!!!

คันถัดไป ก็ยังคงเป็น Bluebird 1979 นั่นละครับ ในเมื่อเราเห็น Bluebird 910 Coupe กันแล้ว ก็ต้อง
มีรุ่น Sedan 4 ประตู มาจอดคู่กันด้วย เกร็ดเล็กๆ ของรถรุ่นนี้คือ มีรุ่นย่อย ตกแต่งแนว คุ้มค่า คือให้
อุปกรณ์มา ครบครันพอให้ใช้งานได้สบาย แต่เป็นแบบ Well Equiped Model ในชื่อ Bluebird Fancy…
มีขายในญี่ปุ่นเท่านั้น

คิดว่าปัจจุบันนี้ จะมีใครเอาชื่อ Fancy มาตั้งชื่อรุ่นรถยนต์กันอีกไหมเนี่ย? เชยสะบัดช่อ!

และ 910 ถือเป็น Bluebird รุ่นสุดท้าย ที่มีการใช้ชื่อ Bluebird กับรถตัวถังเดียวกันทั่วโลก
(ยกเว้นในสหรัฐฯ ที่ใช้ชื่อ Nissan Maxima เป็นครั้งแรก ราวปี 1981 และตกแต่งแบบหรู
สุดขั้วจนต่างจากเวอร์ชันอื่นๆในตลาดโลก โดยสิ้นเชิง)

เพราะตั้งแต่ Nissan Bluebird U11 ที่เห็นอยู่นี้ไป Bluebird สำหรับตลาดโลก จะแยกตัวถัง กันขาย
โดยเวอร์ชันที่เห็นนี้ ขายกันทั้งโลก มี 3 ตัวถัง คือ Sedan 4 ประตู Hardtop 4 ประตู และ AD Wagon
5 ประตู นี่คือ รถขับล้อหน้า แล้ววางเครื่องยนต์ Turbo รุ่นแรกๆ อีกรุ่นของญี่ปุ่น มีเทคโนโลยี
ช่วงล่าง แบบใหม่ ที่ทำให้นุ่มสบายขึ้น เบาะกำมะหยี่ หรูหรามากๆ แต่ไม่เข้ามาเมืองไทย

เวอร์ชันไทย มีแต่ตัวถัง Sedan มีเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร 1.8 ลิตร และ 1.8 Turbo โผล่มาขายช่วงสั้นๆ
ราวๆปี 1986 แต่หลังจากนั้น เมื่อรุ่น Turbo ขายได้น้อย ก็เลยเลิกผลิตไป เหลือแค่รุ่น 1.8 ลิตร
ปรับโฉม เปลี่ยนกระจังหน้า ไป 2 ครั้ง ครั้งแรก เปลี่ยนชิ้นส่วนด้านหน้าทั้งหมด เป็นไฟหน้า
ก้อนสี่เหลี่ยม ต่อเนื่องถึงไฟเลี้ยวด้านข้าง กระจังหน้า ซี่นอน โครเมียม เป็นแนวหรู แต่พอเป็น
ปี 1988 – 1989 เปลี่ยนเป็นกระจังหน้า  2 แถวนอน คั่นกลางด้วย ช่องสี่เหลี่ยม 4 ซี่ กระจังหน้า
ตัวสดท้าย หายาก เพราะรถใหม่ป้ายแดงในสมัยนั้น แทบไม่ค่อยจะมี ทุกรุ่น วางเครื่องยนต์
CA18i ยังไม่มีหัวฉีด มาให้

ส่วนใน ยุโรป จะยกเอาตัวถังเล็กกว่านิดนึง ในชื่อ Stanza / Auster ไปขายที่นั่นในชื่อ Bluebird
แทนอยู่พักใหญ่ ก่อนจะถูกแทนที่ด้วย Primera ในปี 1990 – 1991

ถัดไป คันสีแดง คือ Nissan Bluebird U12 หรือที่บ้านเราเรียกกันว่ารุ่น Attesa ซึ่งเป็นชื่อที่
ยกมาจากระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบใหม่ ที่นำมาใช้กับรถรุ่นนี้เป็นครั้งแรก เปิดตัวก่อน
งาน Tokyo Motor Show 1987 ไม่นานนัก และนำเสนองานโฆษณา เน้นเทคโนโลยีอย่าง
หนักล้วนๆ รุ่นที่เห็นนี้ เป็นรุ่นปรับโฉม Minorchange เรียกในญี่ปุ่นว่า Nissan Bluebird
2000 วางเครื่องยนต์ SR20DE กันแล้ว เปิดตัวในปี 1989 มี 2 ตัวถัง คือ Sedan กับ Hardtop
4 ประตู ขายกันถึงปี 1991

เวอร์ชันไทย เปิดตัวเมื่อ เดือน มีนาคม 1989 ที่บางกอกคอนเวนชันฮอลล์ เซ็นทรัล ลาดพร้าว
นำเสนอโฆษณาในแนวทาง Ergo Design เน้นเรื่องสรีรศาสตร์ เต็มที่ นำหัวฉีด ECCS มาใช้
ครั้งแรกกับรถตระกูล Nissan ในเมืองไทย มีเครื่องยนต์ 2 แบบ คือ CA20S เกียร์ธรรมดา
5 จังหวะ กับ อัตโนมัติ 4 จังหวะ รุ่นแรกๆ ในบ้านเรา และ CA18i เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ
ขายกันเรื่อยๆ และแทบไม่มีการปรับโฉมใดๆทั้งสิ้น เพราะเป็น Bluebird รุ่นสุดท้ายที่มี
การประกอบขายในโรงงานบ้านเรา

ส่วนคันสีเขียวเข้ม ข้างๆกัน คือ เจเนเรชันสุดท้ายที่มีขายในบ้านเรา คราวนี้ เปลี่ยนมาเป็น
รถนำเข้า ราคาทะลุไปเป็น 1 ล้านบาทเศษ รุ่นล่างสุด ก็ 999,000 บาท แล้ว แพงจนลูกค้าเมิน
และไม่คิดประกอบในประเทศ เพราะคิดว่า ยอดขายไม่น่าคุ้มต่อการประกอบ รุ่นนี้มี 2 ตัวถัง
คือ SSS (มาขายบ้านเรา) กับเวอร์ชันตกแต่งแบบถูกๆ EEX และ ตัวถัง Hardtop 4 ประตู ARX
ที่มี ผู้ประกอบการ Taxi บ้านเรา สั่งรุ่นเครืองยนต์ Diesel CD17 บล็อก 4 สูบ 1.7 ลิตร เข้ามา
200 คัน ผมเคยใช้บริการด้วย ออกวิ่งได้ยังไม่ทันถึง 1 ปี รถเริ่มโทรม อะไหล่เริ่มพัง หาไม่ได้
งานเข้า กันถ้วนหน้า เลยต้องทิ้งร้าง เป็นซากอ้อยกันไว้ตามชานเมืองอยู่อย่างน่าเสียดาย
ส่วนตัวถัง SSS ก็ขายได้น้อยมาก จนสยามกลการ ยุติการสั่งนำเข้าในท้ายที่สุด หลังจาก
เพิ่มรุ่น ถุงลมนิรภัยฝั่งคนขับไปแล้ว ราคาแพงทะลุโลก จนลูกค้าวิ่งหนีไปหมด

คันสีแดง ฝั่งขวา คือรถดับเพลิง Datsun ในปี 1950 ของญี่ปุ่น แตกต่างจากปัจจุบันไกลลิบลับ
ส่วนคัน สีแดง Two-tone ถัดไป คือ Nissan Bluebird U14 เป้น รถรุ่นสุดท้าย ที่ไม่มี Sub-name
ชื่อ Sylphy มาต่อท้าย รุ่นนี้ใช้เครื่องยนต์กลไกและงานวิศวกรรม ร่วมกับ Primera เจเนอเรชัน 2
รุ่นปี 1995 ได้เยอะอย่าง โดยเฉพาะ เครื่องยนต์ SR20VE ฝาสีดำ พร้อมระบบแปรผันวาล์ว
NEO VVL 190 แรงม้า (PS) และเกียร์อัตโนมัติ HYPER CVT ทั้งแบบธรรมดา และแบบล็อก
อัตราทดได้ 6 จังหวะ HYPER CVT M6 ก็ถูกนำมาติดตั้ลงในรถรุ่นนี้ด้วยเช่นเดียวกัน มีเพียง
ตัวถังเดียวคือ Sedan 4 ประตู เน้นรุปทรงเหลี่ยม จะได้ปั้มขึ้นรูป ในราคาถูกได้ แต่แบ่งเป็น
การตกแต่ง แบบ SSS เน้นแรง สปอร์ต กับรุ่น Le Grand แนวหรู แบบไม่เต็มสูบนัก ขายจน
กระทั่ง ปี 2000 ก่อนแทนที่ด้วย Sunny NEO ในบ้านเรา ที่ใช้ชื่อว่า Bluebird Sylphy

มาถึง หมวด รถเพื่อการพาณิชย์ และรถยนต์ Station Wagon กันบ้าง มีจอดอวดโฉมกันบ้าง
ทั้ง Bluebird 510 Wagon ปี 1968 ที่หาดูได้ยากแล้วในปัจจุบัน ไปจนถึงรถกระบะ Tama
จากบริษัท Prince Motor และรถกระบะ Datsun รุ่นแรกๆ ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2
ไม่นานนัก

ส่วนคันนี้ คือ Nissan Sunny TRUCK 1200 ลากขายมาตั้งแต่ ทศวรรษ 1970 จนถึงปลายยุค
1990 ก็ยังมีขายอยู่ในญี่ปุ่น อย่างเงียบๆ แต่ก็ได้รับความนิยมในกลุ่มคนเล่นรถเก่าที่ญี่ปุ่น
อยู่บ้าง จากความน่ารักของมัน และการเป็นรถเก๋ง ท้ายกระบะ เพียงไม่กี่รุ่นที่ยังหลงเหลือ
ในตลาด ถือเป็นต้นแบบให้กับ Nissan NV B (เวอร์ชันกระบะ) ในบ้านเรา ก็ว่าได้

คันตรงกลางนั่น คือ รถกระบะ Datsun รุ่น 320 เปิดตัวครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 1961
พุดกันง่ายก็คือ Bluebird เวอร์ชันกระบะ นั่นแหละ รุ่นนี้คือ 1200 Deluxe วางเครื่องยนต์
E1 4 สูบเรียง OHV 1,189 ซีซี 55 แรงม้า (PS) ที่ 4,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 8.8 กก.-ม.
ที่ 3,600 รอบ/นาที ขายกันจนถึงเดือนพฤษภาคม 1965 ถึงจะเป็น Datsun รุ่น 520

คันสีฟ้า ฝั่งขวา คือ Nissan Cablight รุ่นปี 1966 วางเครื่องยนต์ D11 ภสูบ OHV 1,138 ซีซี
คาร์บิวเรเตอร์เดี่ยว 53 แรงม้า (PS) ที่ 5,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 8.5 กก.-ม. ที่ 2,800
รอบ/นาที ให้่สังเกตดูระบบกันสะเทือนนะครับ ด้านหน้าเป็น “ปีกนกคู่ Double wishbone”
ส่วนด้านหลัง เป็น Semi-floating leaf  หรือแหนบ นั่นละ

ส่วนคันนี้ เป็น ต้นตระกูลของ ทั้ง SUV จาก Nissan ทุกรุ่น และเป็นต้นตระกูล
ของ Nissan Safari / Patrol นี่คือ รถจี๊ป ที่ถูกสร้างขึ้น เพื่อออกสู่ตลาด ต่อกรกับ
Toyota Land Cruiser BJ40 อย่างสมน้ำสมเนื้อ

คันสีฟ้า เป็น Nissan Sunny Van B10 ปี 1967
คันข้างๆกัน เป็น Prince Skyline Van ซึ่งก็คือ เจเนอเรชันที่ 3 ของตระกูล Skyline

คันนี้ เมืองไทยเราเคยมีวิ่งเล่นกันอยู่ครับ Nissan / Datsun Bluebird 410 Van 3 ประตู ส่วน
เครื่องยนต์กลไก ก็ยกมาจาก รุ่น Sedan เลยนั่นเอง อาจต่างกันนิดหน่อย ไม่เยอะ

ส่วนคันที่จอดข้างๆกันนี้ ผมไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิต และมาเห็นครั้งแรก ก็ในโรงรถแห่งนี้
นั่นละ! ชื่อของมันคือ Prince SKYWAY !

นี่คือ ตัวถัง Wagon ของ Prince Skyline ใช้รหัสรุ่น ALVG-2 เปิดตัวในปี 1959 มีขนาดตัวถัง
ยาว 4,420 มิลลิเมตร กว้าง 1,680 มิลลิเมตร สูง 1,590 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,535 มิลลิเมตร
ใช้เครื่องยนต์รหัส GA4 บล็อก 4 สูบเรียง OHV 8 วาล์ว 1,484 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์เดี่ยว กำลัง
สูงสุด 70 แรงม้า (PS) ที่ 4,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 11.5 กก.-ม. ที่ 3,600 รอบ/นาที ระบบ
ส่งกำลัง เกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ ขับเคลื่อนล้อหลัง ระบบกันสะเทือนหน้าปีกนกคู่ ทั้งหมดนี้ เหมือนกัน
กันกับ Prince Skyline รุ่นแรก แต่แตกต่างกันที่ ระบบกันสะเทือนหลัง เป็นตับแหนบ Parallel
semi-elliptic การออกแบบ มาในสไตล์ American Wagon ยุค 1950 แท้ๆ เลยทีเดียว!

ฝั่งขวามือคือ Nissan Elgrand 1st Generation เปิดตัวในปี 1997 และรถคันที่จัดแสดงเป็นรุ่นย่อย
ตัวท็อป Highway Star ติดตั้งอุปกรณ์เยอะกว่ารุ่นอื่นๆ

คันสีเงินฝั่งขวา คือ Nissan Primera รหัสรุ่น P10 เปิดตัวครั้งแรกในปี 1990 หน้าที่ก็คือ เข้าไป
บุกตลาดรถยนต์ขนาดกลาง CD-Segment ในยุโรป แทนที่ ตระกูล Stanza (ตอนนั้นขายในฝั่ง
ยุโรปด้วยการสวมชื่อ Bluebird เข้าไป) และ Primera ก็ทำตลาดอยู่ได้ราวๆ 20 ปี รวมแล้วแค่
3 เจเนอเรชัน เท่านั้น ก็ต้องยุติการผลิตไป เนื่องจาก Nissan เห็นว่า ตลาดกลุ่มนี้ นับวันมีแต่
จะทรุดกับทรุด เมืองไทยเองก็เคยมีการนำเจเนอเรชั่นที่2เข้ามาขายอยู่พักหนึ่งแต่ขายไม่ได้มากนัก

อีกรุ่นนึงที่ถูกยกเลิกออกจากตลาดอย่างน่าเสียดาย คือรถคันสีขาวฝั่งซ้ายมือ Nissan Cefiro Wagon
A32 ออกสู่ตลาดในปี 1997 และใช้เครื่องยนต์กลไก ร่วมกับ Cefiro A32 ขับล้อหน้ารุ่นแรก ที่เปิดตัว
ในปี 1994 รถรุ่นนี้ ขายกันจนถึงราวๆ ปี 2001 จึงยุติการผลิตไปในที่สุด

คันนี้ ไม่ต้องสาธยายมาก คนชอบรถ หรือรักรถ ระดับ บ้ารถทุกคน ถ้าไม่รู้จักรถคันนี้ แสดงว่า
ยังไม่เจ๋งจริง…Nissan Skyline GT-R รหัสรุ่น R32 เป็นการกลับมาอีกครั้งของ รุ่น GT-R ใน
ปี 1989 หลังจากยุติบทบาทไปในปี 1973 งานนี้ คุณ Sakurai วิศวกรใหญ่จาก Prince Motor
ที่ถูกขนานนามว่าเป็น บิดาแห่ง Skyline เป็นหัวเรือใญ่ในการพัฒนารถคันนี้ด้วยตนเอง!
วางเครื่องยนต์ตะนานอีกรุ่นของ Nissan นั่นคือ RB26DETT บล็อก 6 สูบเรียง DOHC 24
วาล์ว 2.6 ลิตร win Turbo 280 แรงม้า (PS) พร้อมระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ATTESA E-TS
ถ้าอีตาแพน Commander CHENGของเราได้มาเห็นคันนี้ในสภาพนี้รับรองมีกรี๊ดทะเลแหวกแน่นอน

เช่นเดียวกัน คันถัดมา คนชอบรถที่ไม่รู้จักรถรุ่นนี้ ก็ยังไม่ถือว่า เป็นคนรอบรู้เรื่องรถจริงๆ
นี่คือ Nissan Silvia 4th Generation รหัสรุ่น S13 “Art Force” เปิดตัว พฤษภาคม 1988
เป็นหนึ่งในรถยนต์ที่ “สวยอมตะตลอดกาล” ของ Nissan จนถึงทุกวันนี้ เส้นสายยังร่วมสมัย
และเรียบง่าย ไม่เบื่อสายตา กวาดรางวัลมามากมาย โดยเฉพาะ รางวัลออกแบบยอดเยี่ยม
G-Mark ของรัฐบาลญี่ปุ่น และรางวัล รถยอดเยี่ยมแห่งปี 1988-1989 Car of the Year
ช่วงแรก วางเครื่องยนต์ ตระกูล CA ทั้ง CA18DE หัวฉีด EGI ECCS 135 แรงม้า (PS)
และ รุ่นพ่วง Turbo CA18DET 175 แรงม้า (PS) ต่อมา ปรับโฉม Minorchange ในปี
1990 ถอดเครื่องยนต์ ตระกูล CA แล้วสวมขุมพลังตระกูล SR เข้าไปแทน S13 ขายถึง
เดือนตุลาคม 1993 จึงมีรุ่น S14 “eye Hunt Silvia” มาแทนที่ แต่เวอร์ชันฝาแฝดน้องสาว
KPS 13 ขายในญี่ปุ่นชื่อ 180 SX ขายในไทยชื่อ 200 SX และขายในอเมริกาเหนือ ชื่อ
240SX นั้นยังผลิตลากขายจนถึงปี 2002 นักเลงรถบ้านเรา คงจำได้ว่านี่คือ 1 ในรถหัดดริฟท์
ที่ดีที่สุดอีกรุ่นหนึ่งจากฝั่งญี่ปุ่น

อีกรุ่นหนึ่งที่ถือว่า สร้างประวัติศาสตร์สำคัญให้กับ Nissan ก็คือ Nissan CIMA รุ่นแรก
เปิดตัวในปี 1988 ขายในชื่อ Cedric CIMA และ Gloria CIMA ขึ้นอยู่กับว่า ไปขายใน
โชว์รูม Nissan เครือข่ายใด ในตอนนั้น ขายดีมาก แซงหน้าทั้ง Toyota Crown และ
รถยนต์หลายๆรุ่น กลายเป็นปรากฎการณ์ CIMA Fewer เพราะหลังเผยโฉมครั้งแรก
ในงาน Tokyo Motor Show เดือนตุลาคม 1987 รถคันนี้ก็พร้อมขายทันทีในเดือน
มกราคม 1988 ด้วยเส้นสายที่เรียบง่าย แต่หรูสง่า โดนใจขาวญี่ปุ่น ยุคเศรษฐกิจแบบ
ฟองสบู่ยังไม่แตก พากันซื้อหามาขับมากมาย (ต้องไม่ลืมว่า ญี่ปุ่น นิยมรถเล็กมากๆ
แต่รถใหญ่แบบนี้กลับขายดีแซงหน้ารถเล็กในยุคนั้นได้เกือบทุกรุ่น ย่อมไม่ธรรมดา)
สร้างขึ้นจากดครงสร้างวิศวกรรมพื้นฐานร่วมกับ Nissan CEDRIC / GLORIA รุ่นที่ 7
ปี 1987 รถรุ่นนี้ ขายกันถึงเดือนสิงหาคม 1991 จึงมี เจเนอเรชัน 2 ตามมา และกลับ
ขายได้ไม่ดีเท่ารุ่นเดิม เพราะหน้าตาอนุรักษ์นิยมกว่าเก่า

ตัวรถยาว  4,890 มิลลิเมตร กว้าง 1,770 มิลลิเมตร สูง 1,380 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ
2,735 มิลลิเมตร น้ำหนักรถเปล่า 1,640 กิโลกรัม วางเครื่องยนต์ VG30DET บล็อก
V6  DOHC 24 วาล์ว  2,960 ซีซี หัวฉีด EGI ECCS พ่วง Turbo 255 แรงม้า (PS) ที่
6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 32.5 กก.-ม. ที่ 3,200 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหลัง
ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ E-AT (w/ lockup) รายแรกของโลก ระบบกันสะเทือน
หน้า McPherson strut ด้านหลังแบบ 5-link ระบบห้ามล้อ เป็นดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ
(คู่หน้า มีรูระบายความร้อน)

คันนี้ เป็น Nissan Be-1 หนึ่งในกลุ่ม Pike Car (Be-1 Pao และ Figaro) เปิดตัวในงาน
Tokyo Motor Show ตุลาคม 1985 และเนื่องจากมีกระแสตอบรับดีมากๆ เลยต้องยกเข้า
มาผลิตขายจริง ในปี 1987 ทั้งที่ไม่ได้อยู่ในแผนการออกรถใหม่ของ Nissan ในช่วงนั้น
มาก่อน แต่ Nissan เลืกจำกัดจำนวนผลิตเพียง 20,000 คัน ผลก็คือ ชาวญี่ปุ่นต้องแย่งกัน
จับจองชิบหายวายป่วง งานวิศวกรรมต่างๆ ยกมาจาก March รุ่นแรก K10 รายละเอียด
ต่างๆ อยุ่ในบทความ Nissan Pike Car ในส่วนของ Automobile History บน เว็บไซต์
ของเรา Headlightmag.com อยู่แล้ว คลิกหาอ่านได้ที่นี่

คันสีเหลือง คือ Nissan Xterra FCV ดัดแปลงจาก SUV แนว Hard core รุ่น Xterra
เจเนอเรชันแรกที่ขายในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น เปิดตัวเมื่อปี 2001 ใช้เชื้อเพลิงแบบ
Fuel Cell เป็นรถต้นแบบที่ไม่ได้ออกขายจริง

ถัดไปเป็น Nissan Skyline GT-R R34 คันสีน้ำเงิน 1 ใน 2 คัน ที่ตกแต่งแบบ ผลิตขาย
Production Car ซึ่ง Nissan จอดเก็บไว้  

คันสีเงิน เป็นรถแต่งสำเร็จรูปจากโรงงาน Nissan March NISMO ดัดแปลงจาก March
รุ่นที่ 3 (เปิดตัวในเดือนมีนาคม 2002)

Nissan Auster Hatchback 3 ประตู คันนี้ หากเป็นตลาดส่งออก รวมทั้งในเมืองไทย สยามกลการ
เคยสั่งนำช้นส่วนเข้ามาประกอบขาย ในชื่อ Nissan Stanza ในช่วงปี 1983 – 1986 ก่อนที่จะเลิก
ขายไป เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ บ่นปากต่อปาก ถึงความจุกจิกของ Nissan ขับล้อหน้ารุ่นแรกๆ เครืองยนต์
ตระกูล CA ถูกนำมาใช้ร่วมกันกับ Bluebird มีให้เลือก 3 ตัวถัง ทั้ง Sedan Hatchback 3 และ
5 ประตู ขึ้นอยู่กับว่า ขายในชื่อใด

หากเป็นในญี่ปุ่น Stanza จะมีหน้าตาแตกต่างจากที่เห็นอยู่นี้นิดหน่อย กระจังหน้าจะเป็น
ตะแกรงซี่นอน และไฟเลี้ยวด้านข้างจะเป็นสีขาว เรียบๆ จืดๆ มีแค่ตัวถัง Sedan กับ 5 ประตู
ใช้ชื่อ Stanza JX แต่สำหรับ Auster แล้ว จะมีแค่ตัวถัง Sedan กับ 3 ประตู กระนั้น ถ้าส่งออก
ขายในตลาดโลก ทั้ง 3 ตัวถัง จะใช้ชื่อ Stanza เหมือนกันทั้งหมด แถมยังมีรุ่น Liberta Villa อีกนะ!

พอลองมุดเข้าไปดูข้างใน โอ้โห สภาพแทบจะต่างจากเมื่อครั้งเพิ่งออกจากโรงงานน้อยมากๆ
สวิชต์ต่างๆยังอยู่ครบ ผ้าหุ้มเบาะ ก็ยังอยู่ในลักษณะ คามสภาพการใช้งาน ถือได้ว่า เก็บรักษา
มาค่อนข้างดีเลยทีเดียว

คันที่จอดอยู่ข้างกัน คือ Datsun Sport Fairlady SPL311 รุ่นปี 1968 แต่คันนี้เป็นรุ่นพวงมาลัยซ้าย
สำหรับส่งออกไปขายยังต่างประเทศ เครื่องยนต์รุ่น R 4 สูบเรียง OHV 1,595 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์
90 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 13.5 กก.-ม. ที่ 4,000 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อ
หลัง เกยรืธรรมดา 4 จังหวะ ในยุค ทศวรรษ 1960 Nissan ใช้รถรุ่นนี้ ในการคว้าแชมป์ ในการ
แข่งขันทางเรียบ รายการต่างๆมากมายก่ายกอง จนนับไม่หวาดไม่ไหว

นี่แหละ หนึ่งในรถต้นตระกูลของ Fairlady Z นั่นเอง

และ Nissan Be-1 คันที่ 2 ซึ่งแตกต่างจากคันแรก ที่หลังคาของรถคันนี้ เป็นหลังคาผ้าใบ Canvas-Top

คันซ้ายมือ คือ Datsun Sedan ปี 1959 ต้นตระกูลของ Bluebird ส่วนคันขวามือ
คือ Datsun Phaeton หนึ่งในรถยนต์นั่งยุคแรกของ Datsun

ดูเหมือนว่า Nissan จะเคยใช้ชื่อ Phaston มาก่อนที่ Volkswagen จะนำชื่อนี้
ไปใช้กับ Sedan ร่างยักษ์ของตน ในช่วงทศวรรษ 2000 ที่ผ่านมา

Nissan BLUEBIRD 810 Sedan 4 ประตู สีน้ำตาล สภาพเดิมๆ สภาพดี

Nissan SKYLINE Coupe รุ่น C10 ถึงจะเป็น รุ่นที่ 3 ในตระกูล Skyline
แต่ถือเป็นรุ่นแรกที่เปลี่ยนมาพะยี่ห้อ Nissan หลังจากที่ Prince Motor
ถูก Nissan เข้าควบรวมกิจการในปี 1968

Nissan Sport Fairlady 2000 รุ่นก่อนปี 1968 โปรดสังเกตดีๆ นี่คือรถสเป็ก
ส่งออกไปยังตลาดอเมริกาเหนือ และเป็นรถพวงมาลัยซ้าย หนึ่งในไม่กี่คัน
ที่อยู่ในญี่ปุ่น!

แม้แต่รถบรรทุก Nissan CABSTAR ช่วงปี 1983 – 1989 ก็ยังมีให้ดูกันที่นี่
รถบรรทุกรุ่นนี้ Siam Motors บ้านเรา เคยเอาเข้ามาขายอยู่พักหนึ่ง แต่ก็ค่อยๆ
เงียบหายกันไป เพราะตอนนั้น Toyota Dyna คู่แข่งตัวฉกาจ ได้รับความนิยม
สูงกว่า ในญี่ปุ่น Cabstar จะทำตลาดในชื่อ Nissan ATLAS จนถึงทุกวันนี้

เอาชื่อแผนที่ มาตั้งเป็นชื่อรถบรรทุกเนี่ยนะ??

Nissan Cedric Special Six ตัวถัง H130 ซึ่งเป็นรุ่นที่ผลิตขายกันในปี 1965-1971
สำหรับรถคันที่โชว์อยู่นี้เป็นรถมาจากปี 1969 คำว่า Special Six นั้นมาจากการใช้เครื่องยนต์
6 สูบเรียงบล็อค L-Series ในขณะที่พวกรุ่น 4 สูบจะเรียกชื่อว่ารุ่น Standard รถที่ใช้เครื่อง
L จะมีทั้งแบบที่มีความจุ 2.0, 2.3 และ 2.4 ลิตร แต่สำหรับคันนี้จะใช้เครื่อง L20 2.0 ลิตร
ให้กำลัง 115 แรงม้า Cedric บอดี้ 130 นี้ยังเป็นรถที่มีรูปทรงปราดเปรียวผิดกับเจนเนอเรชั่นก่อนๆ
ทั้งนี้เพราะได้ฝีมือ Pininfarina มาช่วยในการออกแบบ

Nissan LAUREL C32 รุ่นปี 1989 ถือเป็นรถยนต์นั่งขับล้อหลังขนาดกลาง
ยุคเดียวกับ Nissan Skyline R32 และ Nissan Cefiro A31 แต่มาในแนวหรู
และใช้บานประตูแบบ Frameless Door ที่ชาวญี่ปุ่นนิยมกันมากในยุค 1980
วางเครื่องยนต์กลไก ตระกูล RB และใช้อะไหล่ร่วมกับรถทั้ง 2 รุ่นดังกล่าว
ได้สบายๆ รถรุ่นนี้ มีเก็บรักษาไว้ที่นี่ 2-3 คัน แต่คันที่เห็นอยุ่นี้ คือคันที่ผม
คิดว่า โทรมสุด ในบรรดา 2-3 คันที่มีอยู่

พื้นที่ตรงนี้ ยังปรับปรุง ไม่เสร็จ รถยนต์หลายคัน จึงถูกคลุมพลาสติกจอดอยู่
ส่วนใหญ่จะเป็นรถแข่งหายาก และรถยนต์นั่งรุ่นเก่าๆ ที่หาดูได้ยาก หวังว่า
ถ้าผมมีโอกาสไปเยือนครั้งหน้า คงจะได้เห็นรถเหล่านี้ ในสภาพที่จัดแสดง
ได้แล้วซะที

มองมาทางฝั่งขวามือ จะเป็น กลุ่มของ รถยนต์แนว GT ขับเคลื่อนล้อหลัง
มีจอดเรียงกันให้เห็นอยู่หลายคัน

มันคือ Nissan Leopard รหัสรุ่น F32 รุ่นปี 1987 เมื่อถูกส่งไปขายในสหรัฐอเมริกา
ช่วงปี 1989 มันถูกแปะตรา Infiniti M30 รถคันนี้ เป็นของกลุ่มผู้ใช้รถ Leopard F32
Owner’s Club “SPECIALTY” ที่ Nissan ได้รับมาดูแลบูรณะ จนสภาพสวยงามมาก

ภายในห้องโดยสารนี่ เดิมๆทุกชิ้น ผมไม่แน่ใจในประวัติรถคันนี้ครับว่า รถพวงมาลัย
ซ้ายมือคันนี้ มาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร อาจต้องลองสืบเช็คย้อนประวัติกันไปอีกสักหน่อย

Nissan Gloria ตัวถัง HA30 คันนี้เป็นรถปี 1970 ใช้เครื่องยนต์ L20 เช่นเดียวกันกับ
Cedric Special Six แต่คันนี้สเป็คแจ้งว่ามี 125 แรงม้า ช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบ
ปีกนกคู่ ด้านหลังเป็นแหนบ

Nissan Gloria นี้กำเนิดมาในยุคหลังจาก Prince Motor ควบกิจการเข้ากับทาง Nissan แล้ว
และเป็นรถที่ออกแบบมาเพื่อการเดินทางที่สบายและรวดเร็ว จะเรียกได้ว่าเป็นรถที่เขยิบจากความ
เป็นรถบ้านเข้าหาความเป็น Big Sport Saloon มากขึ้นก็ได้

Nissan Cedric Custom Six ตัวถัง 130 เช่นเดียวกับคัน Special Six ก่อนหน้านี้
แต่ว่ารถคันสีดำนี้ผลิตขึ้นในปี 1969 ซึ่งจะมีรายละเอียดส่วนภายนอกและภายในถูกเปลี่ยนไป
จากเดิมเล็กน้อย เพราะ Cedric นั้นจะมีการแต่งเสริมเติมนู่นนี่ทุกฤดูใบไม้ร่วงของทุกปี

Nissan SKYLINE GT Sedan รุ่นปี 1978 เป็นรุ่นที่เปลี่ยนมาใช้สโลแกนโฆษณาในญี่ปุ่น
ว่า SKYLINE JAPAN คันที่เห็นอยู่นี้ใช้เครื่องยนต์ L20 เวอร์ชั่น 125 แรงม้า ซึ่ง L-Series
นี้เป็นเครื่องสหกรณ์ที่แชร์กันใช้ระหว่างรถหลายรุ่นยิ่งกว่าตระกูล RB หรือ VG ในยุคหลังเสียอีก
Skyline GT รุ่นนี้มีช่วงล่างหลังเป็นแบบเซมิเทรลลิ่งอาร์ม ซึ่งเป็นพัฒนาการอีกระดับจากซีดาน
ขับหลังยุค 1960s ซึ่งยังเป็นแหนบอยู่

มองจากมุมนี้จะเห็นว่า ฝาถังน้ำมันนั้นแปลกกว่าชาวบ้าน เพราะย้ายไปอยู่ด้านบน
ฝากระโปรงหลัง ใกล้ขอบกระจกบังลมหลัง แต่ชุดไฟท้าย ยังคงเป็นแบบ โดนัทคู่
อันเป็นเอกลักษณ์ของ Skyline ที่มีมาช้านาน

ส่วนรุ่นนี้คือ เวอร์ชัน Minorchange ของ Skyline Japan คันข้างบน แต่เป็นรุ่นที่
มีเครื่องยนต์ เล็กลงมาหน่อย อุปกรณ์น้อยลงมาหน่อย เรียกว่า Nissan Skyline TI
(ย่อมาจาก Touring International) จะมีไฟหน้ากลมคู่ แตกต่างจากรุ่น GT ที่จะ
เปลี่ยนมาใช้ไฟหน้าสี่เหลี่ยมทั้ง 2 ฝั่ง

*** ฝากคนญี่ปุ่น ช่วยอ่านข้อความบนรูปทีว่า มันคืออะไร แต่น่าจะเกี่ยวกับบริษัทรถโมเดล Tomy ในตระกูลรถ TOMYTEC
และในรูป น่าจะเป็นภาพเดิมของรถคันนี้ ก่อนมาอยู่ที่ Garage นี่***

คันนี้เป็น Nissan Skyline Coupe C10 รุ่นปี 1968 อีกคันหนึ่งที่เก็บรักษาไว้ที่นี่
เป็นรุ่นย่อย 2000 GTX ถือเป็นรุ่นย่อยสำคัญอีกรุ่นของ Skyline C10 และรุ่นนี้
ในยุคนั้น ถือเป็นรุ่นแรกของ Skyline ที่มีเกียร์อัตโนมัติให้เลือกด้วย

Skyline R30 เป็นรุ่นที่เปิดตัวในปี 1981 (รถคันในภาพเป็นปี 1983) ตอนเปิดตัวนั้น Nissan
เลือก Paul Newman นักแสดงและนกแข่งรถ ที่กำลังดังในสมัยนั้นมาเป็นพรีเซนเตอร์ให้ จึงไม่แปลก
ถ้าหากรุ่นนี้มักถูกเรียกว่า Paul Newman Skyline รุ่น RS-Turbo คันที่เห็นในภาพนี้ วางเครื่องยนต์
FJ20ET แบบ 4 สูบเรียง 2.0 ลิตร Turbo หัวฉีด DOHC พร้อมห้องเผาไหม้ทรง Pentroof
สร้างพละกำลังได้ 150 แรงม้า เครื่อง FJ-Series นี้เพิ่งถูกติดตั้งลงไปหลังจากรุ่น R30 นี้ เปิดตัวไป
ได้สักพัก ก่อนหน้านั้นรุ่นท้อปของ R30 จะใช้เครื่อง L20ET 6 สูบ 2.0 ลิตร Turbo 145 แรงม้า

ส่วนคันนี้เป็น Skyline R31 GTS ซึ่งบอดี้นี้นับว่าเป็นรถรุ่นแรกที่ได้ใช้เครื่องยนต์ในตำนาน
อย่างบล็อค RB-Series แบบ 6 สูบเรียง ฝาครอบวาล์วสีแดง รุ่น GTS นั้นจะมีทั้งแบบที่เป็นเครื่อง
RB20DE 2.0 ลิตร ไม่มี Turbo 155 แรงม้า และ RB20DET พ่วง Turbo 180 แรงม้า

สำหรับสองคันนี้ถ้าเป็นนักเลงรถตัวจริงคงไม่ต้องบอกอะไรกันมาก เพราะมันก็คือ Skyline GT-R รหัส R33
เปิดตัวครั้งแรกในเดือนมกราคม ปี 1995 ใช้เครื่อง RB26DETT เวอร์ชั่นที่ 2  พละกำลัง 280 แรงม้า
แรงบิด 36.5 ก.ก.ม. ที่เห็นจอดทางซ้ายนั้นเป็นเวอร์ชั่น GT-R Sedan ซึ่งหาดูได้ยากกว่าบอดี้คูเป้มาก

บอดี้ซีดานของ GT-R 33 นั้นใช้พื้นฐานจากรถ GT-S มาติดตั้งเครื่องยนต์และชุดส่งกำลังของ GT-R
เข้าไป ดยฝีมือของ AUTECH บริษัทดัดแปลงรถยนต์ในเครือ Nissan และผลิตออกมาในจำนวนจำกัด

คันสีดำ คือ Nissan Skyline V35 เป็นรถยนต์รุ่นใหม่ รุ่นที่ 3 ที่คลอดหลังการเปลี่ยนแปลง
ในการถือหุ้นระหว่าง Renault – Nissan เปิดตัว เมื่อ เดือนพฤษภาคม 2001 แต่คนญี่ปุ่น
จะเห็นรูปโฉมของรถคันนี้มาก่อนแล้ว จากงาน Tokyo Motor Show 1999 ในฐานะ
รถยนต์ต้นแบบ Nissan XVL เป็น Skyline รุ่นแรกที่เปลี่ยนรูปแบบของรถ มาวาง
เครื่องยนต์ V6 ตระกูล VQ ทั้ง VQ25DE และ VQ35DE คันที่เห็นอยู่นี้ สภาพดูจะ
หม่นหมองไปสักหน่อย เหมือนเพิ่งจะได้รับบริจาคกันมา


ส่วนคันนี้ก็คือ Fairlady Z ตัวถัง Z31 Minorchange ในปี 1987
ความแตกต่างจากรุ่นก่อนปรับโฉม อยู่ที่ ล้ออัลลอย สีเทาเข้มๆ เปลือกกันชนหน้า – หลัง
ออกแบบใหม่ ให้โค้งมนยิ่งขึ้น แผงไฟท้าย ยาวขึ้นกว่าเดิม เต็มพื้นที่ด้านหลังไปหมด
มีรุ่นย่อยหลายรุ่น เช่น 300ZX , 200ZR เป็นต้น มีหลังคา T-Bar Roof ให้ และ ใช้
ขุมพลัง ตระกูล VG เช่นเคย และไม่ค่อยประสบความสเร็จมากนัก

มาทางส่วนที่เป็นรถแข่งมอเตอร์สปอร์ตแบบ Hardcore กันบ้างดีกว่าครับ รถ Z31 เบอร์ 23
คันซ้ายสุดนั้นคือรถที่ชนะรายการแรลลี่ All Japan Championship ปี 1985
ใช้เครื่อง VG30ET ขับโดย M. Kamioka และ Y. Nakahara

รถแข่งทางเรียบที่มีพื้นฐานมาจาก Fairlady Z33 ลงแข่งในรายการ JGTC

Skyline GT-R R34 ในแบบรถแข่ง คันกลางสีแดงนั้นเป็นรถที่ทำขึ้นเลียนแบบ
รถแข่งตัวจริง (Replica) โดยเอาไว้ใช้ในกิจกรรมโปรโมทการแข่ง ส่วนรถแข่ง JGTC
ตัวจริงนั้นจะใช้เครื่องยนต์ RB26DETT ที่ได้รับการขยายท่อนล่างเป็น 2.7 ลิตร
เพิ่มแรงม้าเป็น 460 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 70 ก.ก.ม. แต่ตัดระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ
ออกไปเพื่อให้ลงแข่งคลาส JGTC ได้

Nissan ไม่ได้ทำแต่รถยนต์ขนาดเล็ก หรือขนาดกลางเท่านั้น แต่พวกเขายังทำรถยนต์นั่ง
ขนาดใหญ่ด้วย และที่ผ่านมา ก็ถือว่า มีชื่อเสียงดี ในหมู่ชาวญี่ปุ่นด้วยกันเอง

เริ่มจากรถคันสีดำนี่เลยแล้วกัน Nissan Sedan รุ่น 70 ปี เป็นรถที่สร้างขึ้นในเดือนมีนาคม
1937 สร้างขึ้นจากอุปกรณ์ต่างๆ ที่สั่งซื้อจากบริษัท Graham Paige Motors Corp ของ USA
เพื่อจะทาบรัศมี รถยนต์ Ford และ Chevrolet ในยุคสมัยเดียวกัน

คันทางซ้ายคือ Nissan Cedric 130 ที่ได้กล่าวรายละเอียดไปบ้างแล้วในคันข้างบนๆ
ส่วนคันทางขวานี่สิพิเศษ มันคือ Prince Gloria ตัวถัง S40/S41/S44 ที่ขายในปี 1962

เห็นแล้วก็ต้องขอถ่ายรูปด้วยสักนิด..จะมีอีกกี่ครั้งในชีวิตของผมที่ได้เห็นรถแบบนี้ด้วยตา
สองข้างของตัวเองอีก Prince Gloria รุ่นนี้มีเครื่องยนต์ 1.9 ลิตร 4 สูบ ตามมาด้วยรุ่น
2.0 ลิตร 6 สูบเรียง และ 2.5 ลิตร 6 สูบเรียง ช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบอิสระ
ส่วนด้านหลังเป็นแบบ De Dion Tube ถูกปรับมาเพื่อเน้นการขับขี่ที่มีความ
เป็นสปอร์ตมากกว่าซีดานคันใหญ่รุ่นอื่นๆในสมัยนั้น

ถัดมาทางขวาก็เป็น Gloria HA30 ปี 1970 รายละเอียดความเป็นมามีกล่าวไว้ด้านบนแล้ว

ส่วนคันนี้ เป็น Nissan CEDRIC (หรือ GLORIA) รหัสรุ่น 230 ตัวถัง Hardtop 4 ประตู
ออกขาย ในปี 1971 – 1975 ในช่วงที่ผ่านมา Cedric / Gloria จะเป็น 2 พี่น้องฝาแฝด
แท็คทีมออกรบ พะบู๊กับ Toyota Crown มาโดยตลอด บางรุ่นก็ขายดีมากๆ แต่บางรุ่น
ก็ไม่ค่อยได้รับการจดจำเท่าไหร่ และรุ่น 230 ก็ถูกจัดอยู่ในกลุ่มหลัง

ส่วนคันนี้คือ Cedric บอดี้ 430 แถมยังพิเศษตรงที่เป็นรุ่น H/T Turbo Brougham
ใช้เครื่องยนต์ L20ET อันถือว่าเป็นเครื่องบล็อคแรกของ Nissan ที่ใช้สมองกล
ECCS ในการคุมเครื่องยนต์ Nissan ให้ความตั้งใจกับการสร้างพลังที่สูงควบคู่ไปกับ
ความประหยัดเชื้อเพลิง มันมีแรงม้า 145 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 21 ก.ก.ม. เปิดตัวในปี
1979 และคว้ารางวัล Japan Car of The Year ในปีนั้นเลย

คันสุดท้ายในแถวนี้คือ Nissan CEDRIC รหัสรุ่น Y31 ปี 1987 ถือเป็นรุ่นที่อัดแน่นสารพัด
เทคโนโลยี เพื่อให้แข่งขันได้กลับ Toyota Crown ตระกูล MS-170  ซึ่งออกสู่ตลาดในปี
1987 เหมือนกันด้วย รุ่นนี้ มีตัวถัง Hardtop 4 ประตู Sedan 4 ประตู (ซึ่งยังมีขายจนถึง
ทุกวันนี้ ในฐานะรถสำหรับผู้ประกอบการ Taxi ติดก๊าซ LPG ) และ Station Wagon
5 ประตู

ตอนแรก ผมเข้าใจว่า กลุ่ม Skyline นั้น น่าจะหมดแล้ว แต่ที่ไหนได้ ยังมีอีกกลุ่มหนึ่ง
ซึ่งมีสภาพสมบูรณ์มากๆ และจอดเรียงกันเป็นระเบียบ ครบตั้งแต่รุ่นแรก ยันรุ่นสุดท้าย
จอดประจันหน้ากับตระกูล Cedric / Gloria เลยนั่นละ

เริ่มจากคันนี้ เป็น Prince Skyline รุ่นแรก ALSID-1 เปิดตัวเมื่อเดือนเมษายน 1957 ตัวถังยาว
4,280 มิลลิเมตร กว้าง 1,675 มิลลิเมตร สูง 1,535 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,535 มิลลิเมตร วาง
เครื่องยนต์รหัส GA30 บล็อก 4 สูบเรียง OHV 1,484 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์เดี่ยว 60 แรงม้า (PS) ที่
4,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 10.75 กก.-ม. ที่ 3,200 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหลังด้วย เกียร์
ธรรมดา 4 จังหวะ ระบบกันสะเทือนหน้า ปีกนกคู่ ด้านหลัง แบบ De Dion เหมือนรถฝรั่งเศส
ระบบห้ามล้อ เป็น ดรัมเบรกทั้ง 4 ล้อ ความเร็วสูงสุด 125 กิโลเมตร/ชั่วโมง สมัยนั้น เร็วได้
ขนาดนี้ สำหรับรถเก๋งบ้านๆ ถือว่า เหลือแหล่แล้วจ้ะ!

ถัดมา เป็นรถที่ถือว่า ไม่ธรรมดา และหายากอีกรุ่นหนึ่ง จาก Prince Motor เปฯตัวถัง Coupe
2 ประตู ใช้ชื่อว่า Prince Skyline Sport…

เดี๋ยวนะ ไอ้สไตล์การตั้งชื่อรุ่นรถ โดยมีคำว่า Sport ต่อท้าย เนี่ย มันเริ่มมีในญี่ปุ่นตั้งแต่ปี
1962 เลยนี่เนาะ! ปัจจุบันนี้ เวลาผู้ผลิตรถตั้งชื่ออะไรไม่ออก ก็จับเอาคำว่า Sport ต่อท้าย
เลยง่ายดี เช่น Pajero Sport , Axela Sport , Atenza Sport …

บ้าชิบ!

ตัวรถยาว 4,650 มิลลิเมตร กว้าง 1,695 มิลลิเมตร สูง 1,385 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,535
มิลลิเมตร เส้นสายภายนอกทั้งคัน เป็นฝีมือของ Giovanni Michelotti นักออกแบบรถยนต์
ชื่อดังจากอิตาลี เผยโฉมครั้งแรกในงาน 1960 Torino Motor Show ก่อนจะออกจำหน่ายใน
ญี่ปุ่น เมื่อปี 1962

เครื่องยนต์เป็นรหัส GB4 บล็อก 4 สูบเรียง OHV 1,862 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์คู่ 94 แรงม้า (PS)
ที่ 4,800 รอบ/นาที แรงบดสูงสุด 15.6 กก.-ม. ที่ 3,600 รอบ/นาที เกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ
ขับเคลื่อนล้อหลัง ระบบันสะเทือนต่างๆ ยกชุดมาจาก Skyline Sedan ALSID-1 ทั้งดุ้น

มีให้เลือก 2 ตัวถัง คือ รุ่น Coupe 2 ประตู ราคา 1,850,000 เยน และรุ่นเปิดประทุน ราคา
1,950,000 เยน รถ 2 รุ่นนี้ หายากมากๆ และมีมูลค่ามากในตลาดรถเก่า เพราะมันถูกผลิต
ออกมาแค่เพียง 60 คันเท่านั้น!!!!!

คันสีเทาฝั่งขวา เป็น Prince Skyline 2nd Generation รหัสรุ่น S50 เปิดตัวครั้งแรกเมื่อ
เดือน พฤศจิกายน 1963 ถูกโปรโมทในฐานะ รถยนต์ สำหรับครอบครัว ที่มีค่าบำรุง
รักษาต่ำ ออกแบบในสไตล์ รถอเมริกันย่อส่วน

ตัวรถยาว 4,100 มิลลิเมตร  กว้าง 1,495 มิลลิเมตร  สูง 1,435 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ
2,390 มิลลิเมตร น้ำหนักเบาเพียง 960 กิโลกรัม วางเครื่องยนต์รหัส G1 บล็อก 4 สูบ
OHV 1,484 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์เดี่ยว 70 แรงม้า (PS) ที่ 4,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
11.5 กก.-ม.ที่ 3,600 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหลังด้วยเกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ ความเร็ว
สงสุด 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ฝั่งซ้าย เป็น Nissan Sktline 3rd Generation โปรดสังเกตว่า ชื่อยี่ห้อที่นำหน้ารถ
ถูกเปลี่ยนไปใช้ชื่อ Nissan เพราะ ถือเป็น การเปลี่ยนโฉมครั้งแรกหลังจากที่ บริษัท
Prince Motor ย้ายมาควบรวมกิจการกับ Nissan Motor ในปี 1968 อันเป็นปีเดียวกัน
กับปีที่รถรุ่นนี้ เปิดตัวสู่ตลาด Nissan มีรถรุ่นนี้อยู่ในโรงรถแห่งนี้ น่าจะมากกว่า
3-4 คัน ตามแต่ละรุ่นย่อย และรุ่นปีที่ต่างกัน

ส่วนคันสีแดงนี้ เป็นอีกรุ่นสำคัญที่พลาดไม่ได้ เพราะเป็นหนึ่งในต้นตระกูลของ GT-R
นั่นคือ Nissan Skyline 2 Door Hardtop 2000GT-R ออกสู่ตลาดในเดือนมกราคม 1973
หรือ 4 เดือนหลังจาการเปิดตัว Skyline รุ่น C110 หรือที่เรียกชื่อเล่นกันตามแคมเปญ
โฆษณาในญี่ปุ่นว่า รุ่น Ken & Mary Skyline

ตัวรถยาว  4,460 มิลลิเมตร กว้าง 1,695 มิลลิเมตร สูง 1,380 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,610
มิลลิเมตร วางเครื่องยนต์ S20 บล็อก 6 สูบเรียง DOHC 1,989 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์คู่ กำลัง
สูงสุดมากถึง 160 แรงม้า (PS) ที่ 7,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 18.0 กก.-ม. ที่ 5,600 รอบ/
นาที ขับเคลื่อนล้อหลังด้วยเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ ระบบกันสะเทือนหน้าแบบ สตรัท ส่วนด้านหลัง
เป็นแบบ Semi trailing-arm เป็นรถญี่ปุ่นรุ่นแรกๆที่ติดตั้งดิสก์เบรก ครบทั้ง 4 ล้อ

น่าเสียดายที่ถูกผลิตออกมาขายได้ไม่นาน ก็เกิดปัญหา เนื่องจากไม่ผ่านมาตรฐานมลพิษ
ของรัฐบาลญี่ปุ่นที่เพิ่งคลอดในขณะนั้น ทำให้ต้องยุติการผลิตลงในเวลาเพียง 4 เดือน
หลังการเปิดตัวเท่านั้น มีเพียง 197 คัน ที่ได้คลอดออกมาลืมตาโลดแล่นทั้งบนถนนและ
ในสนามแข่ง ตอนนี้ Nissan เก็บรถรุ่นนี้เอาไว้ในโรงรถ Heritage แห่งนี้ 2 คัน เป็น
รถคันสีแดง และสีขาว

ส่วนคันนี้เป็น Nissan Skyline รุ่น Skyline JAPAN ปี 1979 ที่ปรับโฉม
Minorchange เรียบร้อยแล้ว และเป็นรุ่น GT Sedan

Original Skyline R30 Coupe รถคันนี้เป็นรุ่น H/T Turbo 2000GT-ES
(จะยาวอะไรนักหนาให้จำยาก) เกิดมาในปี 1981 ดังนั้นก็อย่าแปลกใจถ้าเครื่องยนต์
ที่ใช้จะยกมาจาก Cedric บอดี้ 430 ที่เป็นรุ่นเทอร์โบ ซึ่งก็คือเครื่อง L20ET
มีแรงม้าและแรงบิดสูงสุดเท่ากันเด๊ะ

R30 Skyline RS-Turbo รถพวกนี้จะมีด้านหน้าที่แตกต่างไปจาก R30 ทั่วไป
จนได้รับฉายาว่า Tekkamen (หน้ากากเหล็ก) ใช้เครื่องยนต์ FJ20ET แบบ 4 สูบ DOHC
ปรับจูนจนได้พลังสูงถึง 190 แรงม้า ในช่วงปี 1983 นั้นนับได้ว่ามันคือหนึ่งในรถที่มีแรงม้า
สูงที่สุดในบรรดารถสัญชาติญี่ปุ่นเลยทีเดียว

คันนี้ เป็นหนึ่งในรถที่ผมมีความทรงจำกับเขาด้วย มันคือ Nissan Skyline
4 Door Hardtop GT-PASSAGE รุ่นปี 1986 ในเมืองไทย มีการสั่งนำเข้า
มาทั้งหมด 2 คัน และหนึ่งในนั้นเป็นรถสีขาว ภายในสีน้ำเงิน เป็นรถ
ประจำตำแหน่ของผู้บริหาร Siam Motors อยู่พักหนึ่ง ก่อนจะมาขายต่อ
ให้กับอู่วัฒนา ของ อ.สุชาติ ทัดประดิษฐ์ (เพิ่งเสียชีวิตไปหมาดๆ ไม่นานนี้)
ปัจจุบัน รถอยู่ในการครอบครอง ของ พีปุ๊ย คมสันต์ ทัดประดิษฐ์ บุตรชาย
เป็นเครื่องยนต์ RB20 มี Turbo

ผมเคยขับรถคันนี้ ค่อนข้างประทับใจ เพราะพวงมาลัยเบาตามแบบรถญี่ปุ่น
ในยุคนั้น แต่ให้ความหรูหรา จากเบาะกำมะหยี่ สีน้ำเงิน อย่างดี  เป็นหนึ่งใน
Skyline ที่ผมเคยขับ ถ้าไม่นับ R33 Coupe GT-S  รุ่นปี 1994 อีกคันหนึ่ง

ส่วนคันนี้ เป็น Skyline R31 เวอร์ชัน Coupe 2 ประตู GTS แต่ยังไม่ใช่รุ่นท็อปสุด

Nissan Skyline GT-R รุ่น R32 นั้น จัดแสดงอยู่อีกฟากหนึ่งของโกดังแล้ว ดังนั้น คันที่ต้อง
พูดถึงกันต่อ คือ รุ่น R33 และ R34 ที่นี่มี ครบทั้ง 2 รุ่น รุ่นละ 2 คัน คันอื่นๆ คุณคงเห็น
กันไปแล้วในภาพด้านบน แต่ R34 คันนี้ คือรุ่นพิเศษ ส่งท้าย สีทอง ทำออกมาเป็นพิเศษ
เพื่อเอาใจลูกค้า ส.ว. (สูงวัย) เพราะคนญี่ปุ่นที่มีอายุมากหน่อย มักชอบรถสีทองกัน ออก
ขายในช่วงปลายอายุตลาดของรถรุ่นนี้

และแน่นอน ในเมื่อที่นี่ มี GT-R จัดแสดงครบทุกรุ่น ถ้าจะขาด GT-R รุ่นล่าสุด รหัสรุ่น R35
ซึ่งถอดชื่อ Skyline ออกจากลำตัวไปด้วยเป็นรุ่นแรกแล้ว มันก็คงประหลาดแน่ๆ ที่นี่มีจอด
อยู่ 1 คันครับ เหมือนกับว่า ตัดออกมา เข้าโกดังแห่งนี้ เพื่อใช้จัดแสดงโดยเฉพาะ

กลุ่มนี้ คือ Nissan PIKE Car อันเป็นรถยนต์แบบพิเศษ ที่สร้างขึ้นบนพื้นฐานจาก March
รุ่น แรก K10 และมีตัวถังพิเศษ ผลิตจำหน่ายในจำนวนจำกัดเท่านั้น รายละเอียดของทั้ง
Be-1 , Pao , S-Cargo และ Figaro ผมรวบรวมไว้ให้หมดแล้ว อยู่ในบทความข้างล่างนี้

http://www.headlightmag.com/main/index.php?option=com_content&;view=article&id=343

ด้านหลังนั่น เป็นรถตู้ขนาดใหญ่ รุ่นโบราณ Nissan ปี 1937 เครื่องยนต์ 6 สูบเรียงวางตาม
ยาว ความจุกระบอกสูบ 3,670 ซีซี 85 แรงม้า (PS) ที่ 3,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 23 กก.-ม.
ที่ 1,200 รอบ/นาที เทียบสเป็กเครื่องยนต์แล้ว คนละเรื่องกับรถยนต์สมัยนี้เลยใช่ไหมครับ?

แต่คันนี้สิครับ รถ Nissan ที่ผมชอบที่สุด และเคยอยากได้มากที่สุด ยิ่งกว่า GT-R V35

มันคือ Nissan Mid-4 II เป็นรถต้นแบบ ในงาน Tokyo Motor Show ตุลาคม 1987
ถูกสร้างขึ้นเป็นเจเนอเรชัน 2 ต่อจาก Nissan Mid-4 รุ่นแรก คันสีแดง และเงิน
ที่เคยจัดแสดงในงานเดียวกัน เมื่อปี 1985

รถรุ่นนี้สร้างขึ้นมา 3 คัน และวางเครื่องยนต์ กลางลำตัว โดยเอาเครื่องยนต์ VG30DET
มาดัดแปลง จนได้กำลังสูงสด ถึง 330 แรงม้า (PS) ตามแผนเดิม Nissan เคยคิดจะทำรถ
Mid-4 ออกขายจริง ช่วงปี 1990 แต่แล้ว โครงการก็ต้องแท้งไปในปี 1989 ทั้งที่กำลัง
พัฒนา Mid-4 III กันอยู่เลยทีเดียว

เหตุผล ไม่มีอะไรมากครับ เพราะว่า ตอนนั้น ฐานะการเงินบริษัท เริ่มไม่ค่อยดี
การมีรถสปอร์ต มากถึง 3 รุ่น (เมื่อรวม Mid-4 กับ Skyline GT-R รุ่น R32 และ
Fairlady Z รุ่น Z32) ในปี 1989 นั่นย่อมไม่ใช่ความเสี่ยงทางธุรกิจที่ควรเกิดขึ้น
เพราะต้นทุนการพัฒนารถพวกนี้ สูงมาก และยอดขาย ก็น้อย เอาเข้าจริงไม่คุ้ม
กับค่าพัฒนาเท่าไหร่หรอก ได้อย่างมากคือเป็น Halo Car หรือ รถที่จะช่วยสร้าง
Brand Image ให้กับ Nissan มากกว่า

น่าเสียดายที่ไม่ได้ทำขายจริง เพราะถ้าทำออกมา Nissan จะกลายเป็น บริษัทญี่ปุ่น
รายแรกที่ทำรถ Super Car ออกมาต่อกรกับ Ferrari 348 แทนที่จะเป็น Honda NSX!!!!

ว่าแล้ว ก็ขอถ่ายรูปกับ พี่ต้อม จิรพล ผ้บริหารของ Nissan ในบ้านเราตอนนี้ สักหน่อย
ภาพนี้ รวมทุกความประทับใจที่สุดของผมไว้ด้วยกันพอดี รถ 2 รุ่นที่ผมชอบที่สุดของ
Nissan กับ พี่ชาย ที่คุยด้วยแล้ว Happy ที่สุดอีกคนหนึ่งในวงการรถยนต์บ้านเรา!

เย้!!!

คันนี้เป็น Nissan Fairlady 240Z ปี 1973 ถูกดัดแปลงเป็นพิเศษ เพื่อการแข่งขัน GTS
Competition เป็นรถที่สร้างออกมา ในเดือนพฤศจิกายน 1971 วางเครื่องยนต์ LY28
6 สูบเรียง 2,870cc คาร์บิวเรเตอร์ Solex 3 ตัว ที่ ดัดแปลงจากเครื่องยนต์ 2,400 ซีซี
จากรุ่น 240ZG ซึ่งถือเป็นตัวท็อปของรุ่นนี้ ในเวอร์ชันญี่ปุ่น แรงระดับ 300 แรงม้า
(PS) ที่ 7,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 32.0 กก.-ม. ที่ 6,400 รอบ/นาที

ส่วนทางนี้คือฝูงรถแข่ง JGTC ซึ่งมีตั้งแต่ R34 ไปจนถึง Z33 ส่วนคันซ้ายสุด
เดาว่าเอาไว้ใช้เฉพาะเวลาที่รถแข่งมิดหรือดับชีพกลางสนามมากกว่า

เคยเห็นคนตัวเล็กท่าทางจ๋องๆแต่รอยสักกับแผลเป็นเต็มตัวไหมครับ? นั่นล่ะคือ
ความรู้สึกแรกที่ได้รับจากรถคันนี้ เจ้า Datsun 210 ตัวจิ๋วคันนี้ลงแข่งในรายการ
Around Australia Mobilgas Trial ปี 1958 และใช้เครื่องยนต์ 998 ซี.ซี.
34 แรงม้ากระจ้อยร่อยของมัน คว้าที่ 4 ของ Class A มาได้ด้วยฝีมือนักขับอย่าง
Minawa/Oya

กลุ่มนี้เป็นฝูงรถแข่ง ตระกูล Bluebird / Stanza / Violet ที่เคยทำสถิติประวัติศาสตร์ให้กับ
Nissan มาแล้วโชกโชน เช่น Bluebird 510 ที่คว้าชัยชนะจากการแข่งขันรถ Safari Rally
รวมทั้งมี Fairlady Rally โผล่มาร่วมฝูงกับเขาด้วย 1 คัน

รถแข่งทางเรียบ R85V ใช้เครื่องยนต์ VG30 ที่โมดิฟายจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม
แรงม้าที่แจ้งมาคือ “สูงกว่า 680 แรงม้า” แรงบิด 70 ก.ก.ม. แต่มาอยู่ในตัวถังที่
เบาหวิวแค่ 880 ก.ก. ทั้งหมดนี้คือศักยภาพของรถแข่งที่ลงสนาม Le Mans ในปี 1986
แต่ยังสร้างผลงานไม่ได้ดีนัก (ควอลิฟายได้ที่ 16 ในการแข่งครั้งแรก)

R90CK เป็นรถแข่งของ Nissan ในยุค 90s ที่ร่วมมือพัฒนากับผู้อยู่เบื้องหลัง
ความสำเร็จในรถแข่ง F1 อย่างทีม Lola (เคยร่วมงานกับ Ford) รถคันนี้ใช้เครื่องยนต์
VRH35Z V8 3.5 ลิตร เทอร์โบ IHI คู่ มีแรงม้าสูงสุดเกินกว่า 800 แรงม้า

คันนี้เป็น Nissan R91CP หรือ 1 ในบรรดารถแข่ง Group C ที่ Nissan เริ่มผลิตออกมา
ตั้งแต่ ปี 1985 และคว้าชัยชนะ ทั้งในรายการต่างๆ อย่าง WEC (World Endurance
Championship) หรือแม้แต่การแข่งขัน Daytona ที่สหรัฐอเมริกา ปี 1992

2 คันนี้ เป็นรถแข่ง Nissan R390 GT ที่ ถูกส่งเข้าร่วมการแข่งขัน Le Mans 24 ชั่วโมง
แม้ว่าจะทำผลงานไม่เคยได้อันดับ 1 เลย แต่ ถือเป็นรถแข่งในตำนานอีกรุ่นของ Nissan
รถคันสีดำ สร้างเมื่อปี 1997 ส่วนรถคันสีฟ้าจางๆ สร้างตามมาในปี 1988 และคว้ารางวัล
ที่ 3 ประเภท Overall จากการแข่งขัน Le Mans ในปี 1998

คันที่อยู่ด้านหลังไปอีกนิดนึง เป็น Nissan PULSAR GTI-R เวอร์ชันแต่งเต็ม เกินจาก
รุ่นผลิตขายจริงไปพอสมควร เพื่อให้ผ่านกฎการแข่งขันรถยนต์ของ FIA และกลายเป็น
หนึ่งในรถยนต์ Rally ที่โลกจดจำ เคียงคู่ Toyota Celica GT-FOUR , Mitsubishi 
Galant VR-4 , Lancia Delta Integrale

อย่างที่เคยบอกไว้ว่าจำนวนรถที่เยอะทำให้การจัดหมวดหมู่ไม่ค่อยเป็นระเบียบ
ท่ามกลางรถแข่งก็มีรถบ้านแทรกอยู่ โชคดีเหลือเกินทีคนคุมระเบียบสถานที่แห่งนี้
ไม่เคยไปเป็นบรรณารักษ์หอสมุดที่ไหน

ผมดูผอมลงไหมครับ? เลนส์น่ะครับ..เลนส์ล้วนๆ

Nissan Bluebird Bluebird Super Silhouette มากับชุดแต่งเวอร์ชั่นออโต้บอทเรียกว่าพ่อ
แต่มันจำเป็นที่จะต้องมีครับ เพราะว่ามันคือรถที่ถูกทำมาสำหรับการแข่งขัน Super Silhouette
ที่ถือกำเนิดขึ้นในปี 1979 รถ Bluebird คันนี้ใช้เครื่อง LZ20 2.0 ลิตร แต่โด๊พเทอร์โบชาร์จ
ของ Air Research ทำให้มีแรงม้าสูงถึง 570 ตัว และคว้าชัยชนะมาให้ค่ายหลายต่อหลายครั้ง
ภายใต้การบังคับควบคุมของนักแข่ง H. Yanagida

Nissan March Silhouete (ซิลลูเอท) K10 อีกหนึ่งทายาทออโต้บอทเรียกพ่อ
แต่ใจเย็นก่อน นี่ไม่ใช่รถแข่งนรกแตกม้าครึ่งพัน แต่เป็นรถเวอร์ชั่นพิเศษที่ทาง Nismo
สร้างขึ้นมาให้กับ Mr.Kondo ซึ่งเป็น Presenter ให้กับ March เวอร์ชั่นนี้ เครื่องยนต์ที่ใช้
เป็นเครื่อง E15 แบบที่พบใน Sunny 1.5 นั่นเอง แต่ปรับแต่งจนลากรอบกันได้ 8,000
และสร้างแรงม้าได้สูงถึง 160 แรงม้า ซึ่งก็เหลือพอแล้วสำหรับรถตัวเท่านี้ในสมัยนั้น

คันซ้ายสุดคือ GTR-LM ที่ Nismo ทำลงแข่ง Le mans ในปี 1995
ใช้เครื่องยนต์ RB26DETT 400 แรงม้า แต่ตัดระบบขับหน้าออกเหลือเพียงขับหลัง
เพราะเหตุผลทางด้านน้ำหนักและการบังคับควบคุม ส่วนคันถัดไปนั้นคือ R32 GT-R N1
ของทีม ZEXEL ที่ใช้ลงแข่งในรายการ N1 Endurance Round Series Japan
ใช้เครื่อง 400 แรงม้า และลดน้ำหนักตัวจาก 1.5 ตันลงเหลือเพียง 1.24 ตัน

ถัดมา เป็น กลุ่มต้นตระกูลของ รถสปอร์ต Nissan / Datsun ยุคก่อนการกำเนิด
ของ ตระกูล Fairlady หรือตระกูล Z

และแน่นอนครับ บรรดารถสปอร์ต ตระกูล Fairlady หรือ Z ก็จอดเรียงกันเป็นแถว
รออวดสายตาให้ทุกท่านได้ชมกัน ในบริเวณนี้

มีทั้ง Nissan Fairlady 280Z แบบ 2 Seater ปี 1978 กับ คันสีเงิน Nissan Fairlady
300ZX รหัสรุ่น Z31 แบบ 2 Seater หลังคา T-Bar Roof เปิดยกถอดออกได้

รุ่นสีเงินนี้ เคยมีการสั่งรถคันสีแดง เข้ามาจัดแสดงในงาน Bangkok Motor Show
เมื่อปี 1986 สมัยที่ภาษีรถนำเข้าบ้านเราสูงตระหง่านเป็นกำแพง ระดับ 617% จาก
ราคารถก่อนปี 1992 (ครับ อ่านไม่ผิดหรอก) 300 ZX ในบ้านเรา มีค่าตัวแถวๆ เอ่อ..
9 ล้านบาท!!

เดี๋ยวนี้ รถคันสีแดง ไปอยู่ที่ไหนแล้ว ไม่มีใครทราบ รู้แต่ว่า มันเคยถูกถ่ายแบบ
ลงในนิตยสาร กรังด์ปรีซ์ ในยุคนั้น ในฐานะ 1 เดียวในเมืองไทย และถือเป็น
รุ่นที่หลายๆคน ไม่ชอบมันเท่าไหร่ เพราะมันไม่มีเอกลักษณ์ของตัวเองมากนัก
และเป็นรุ่นแรกที่มีขุมพลัง VG30 บล็อก V6 Ceramic Turbo ติดตั้งมาให้

ส่วนคันนี้ เป็นรถที่ผมชอบมากที่สุด เป็นการส่วนตัว Nissan Fairlady 300 ZX
รุ่น Z32 ตัวถัง เปิดประทุน รุ่น Z32 จะมีเครื่องยนต์ ให้เลือกเพียง 2 แบบ คือ
VG30DE ไม่มี Turbo 230 แรงม้า (PS) และแบบมี Turbo VG30 DET แรงขึ้น
เป็น 280 แรงม้า (PS) และมี 3 ตัวถัง คือ 2 Seater , 2+2 ยาวขึ้นมานิดนึง และรุ่น
เปิดประทุนคันที่เห็นนี้ มันขายในสหรัฐอเมริกาถึงแค่ปี 1997 แต่ขายในญี่ปุ่น
ลากมาจนถึงราวๆ ปี 2000 ก่อนต้องยุติการทำตลาดไป เพราะไม่ผ่านมาตรฐาน
มลพิษ ของทั้ง 2 ประเทศ ตามปีที่เลิกผลิตไป

หลังจากนั้น จึงมีรุ่น 350Z คันสีเงินข้่างล่าง เปิดตัวในปี 2003

ส่วนคันนี้คือ ต้นตระกูล ของ Nissan Silvia ครับ รุ่นแรก คลอดออกมาในปี 1965
รถคันนี้ น่าจะได้รับการบูรณะภายในห้องโดยสารมาแล้วครั้งใหญ่

Silvia รุ่นแรกรหัสตัวถัง CP311 ใช้เครื่องยนต์ R-Series 1.6 ลิตร คาร์บิวเรเตอร์คู่ของ SU
ผลิตออกมาเป็นจำนวนแค่ 554 คันเท่านั้น ส่วนคันถัดไปคือ Nissan Gazelle Hatchback Turbo
ซึ่งเริ่มต้นขายในปี 1979 (แต่รุ่นเทอร์โบนี้เปิดตัวในปี 1981) ใช้เครื่องยนต์ Z18T 1.8 ลิตร
135 แรงม้า ซึ่งถ้าใครอายุสัก 40 ในวันนี้น่าจะจำรหัสเครื่อง Z18 ได้เพราะเคยเป็นที่นิยมนำมาวาง
หรือผสมข้ามพันธุ์ในยุคก่อนที่หัวฉีดอิเล็กทรอนิกส์จะเฟื่องฟู

ส่วนคันนี้ เป็น Nissan Silvia S12 รุ่นปี 1983 เป็นรุ่นแรกที่ใช้ไฟหน้าแบบ Pop-up
ตามสมัยนิยม และมีเครื่องยนต์ Turbo ให้เลือกเหมือนรุ่น S110 คันสีขาว แต่ว่า
ขายสู้ คู่แข่งอย่าง Toyota Celica ไม่ได้ เพราะการตกแต่งภายในห้องโดยสาร
ไม่ค่อยสปอร์ตเท่าที่ควร คิดดูสิครับ รุ่น Turbo ตัวท็อป ให้พวงมาลัย 2 ก้าน ยกชุด
มาจากพวงมาลับยของ Bluebird ขับล้อหน้ารุ่นแรก U11 ซะงั้น! รุ่นนี้มี 2 ตัวถัง
คือ Coupe ที่เห็นอยู่ กับ 2 ประตู ท้าย Notchback รุ่นท็อปคือ RS-X Turbo และมี
รุ่นพิเศษทั้ง RS-X Turbo FISCO และ RS-X Full White ขาวไปทั้งคัน ให้เลือก
กันอีกด้วย ขายถีงกางปี 1988 และรุ่นนี้ ส่งไปขายในสหรัฐอเมริกา ด้วยชื่อ
200 SX

ส่วนคันสีดำ คือ Nissan Silvia S13 ขับล้อหลังรุ่นปี 1988 สุดสวยตลอดกาล นั่นเอง

Nissan Leopard รุ่นแรก เปิดตัวเมื่อ 30 กันยายน 1980  มีให้เลือก 2 ตัวถัง  คือ 2 และ 4 ประตู
เป็นรถที่เกิดมาในยุคที่คนญี่ปุ่น เริ่มมองหารถยนต์แนว GT เพื่อใช้งานส่วนตัว และไม่ใช่รถ
ครอบครัว หรือที่คนญี่ปุ่น เรียกกันในยุคนั้นว่า Personal Car , Private Car , Hi-so Car กันมากขึ้น
ในเมื่อคู่แข่งอย่าง Toyota ยังออกรถรุ่น Toyota Soarer (ปัจจุบันกลายเป็น Lexus SC ไปแล้ว)
มาให้กับลูกค้าที่อยากได้ Crown ตัวถัง Coupe (ซึ่งถูกยุบไปในช่วงปี 1983) ดังนั้น Nissan จึงต้อง
ทำรถรุ่น Leopard ออกมาแข่ง โดยมีตำแหน่งการตลาดคั่นกลาง ระหว่าง ตระกูล Laurel กับ
Cedric / Gloria ช่วงแรก ก็พอไปได้อยู่

คันที่จอดแสดงอยู่นี้ เป็นรุ่น PF30 2 ประตู Hardtop ในชื้อ Leopard TR-X (F30Y) จุดเด่น
อยู่ที่การออกแบบให้ลู่ลม ด้วยค่า Cd 0.37 และถือเป็นรถยนต์รุ่นแรกในโลก ที่ติดตั้งระบบ
มาตรวัด Electronic Multi-meter และในรุ่นปรับโฉม MinorChange ปี 1982 ก็เป็นรถยนต์
รุ่นแรกของโลกที่ติดตั้ง สวิชต์ควบคุมเครืองเสียง บนพวงมาลัย แบบ Optical Communication

ตัวรถยาว 4,630 มิลลิเมตร กว้าง 1,690 มิลลิเมตร สูง 1,345 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,625
มิลลิเมตร วางเครื่องยนต์ L20ET บล็อก V6 SOHC 1,998 ซีซี หัวฉีดอีเล็กโทรนิกส์ พ่วง
Turbo 145 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 21 กก.-ม.ที่ 3,200 รอบ/นาที
ขับเคลื่อนล้อหลัง เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ

รถคันนี้ ตัดสินใจลงสเป็กให้ดู เพราะให้คุณผู้อ่านลองนึกดูว่า รถยนต์สมัยนั้น คันพอๆกัน
ถ้าต้องการแรงม้าเยอะๆ แรงบิดแยะๆ ต้องใส่เครื่องยนต์ความจุเยอะ ใช้กระบอกสูบแยะๆ
ผิดกับเทคโนโลยีของรถยนต์สมัยนี้ไหมละครับ?

อันที่จริง ยังมีรุ่น 4 ประตู สีแดง อยู่ในคลังมหาสมบัตินี้อีกคัน แต่ในวันนั้น ผมไม่เห็น
จัดแสดงอยู่

รถแข่งทางเรียบอีก 2 คัน คือ Primera ที่ลงแข่งในรายการ Touring car ขับหน้า
กับ GT-R รุ่นปัจจุบบัน V35

ถัดมาเป็นกลุ่ม รถยนต์ต้นแบบพลังงานทางเลือก ซึ่งมีจัดแสดงในวันนั้นแค่ 3 คัน
เริ่มกันที่ Nissan FCV ใช้พลังงาน Hydrogen ทำปฏิกิริยากับ Fuel Cell ดัดแปลง
จากพื้นฐานของ SUV รุ่น X-Trail เจเนอเรชันแรก

คันซ้ายมือ เป็น Nissan Prarie Joy EV พลังงานไฟฟ้า แต่คันสีดำนี้สิเด็ดกว่า

เป็น Nissan President ดัดแปลงพิเศษ เปิดประทุน เป็นรถที่ไว้สำหรับ
นำบุคคลสำคัญ ขึ้นแห่ไปรอบเมือง ถ้าคนไทยเรามี Chevrolet Impala
ไว้แห่นักกีฬาโอลิมปิก ละก็ ในญี่ปุ่น ก็ใช้รถคันนี้ละครับ ! เป็นรถ EV
ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า และแบ็ตเตอรี โบราณๆ ความเร็วสูงสุด?
แค่ 40 กิโลเมตร/ชั่วโมงเท่านั้น!

บริเวณนี้ เป็นกลุ่ม ตระกูล Nissan LAUREL ซึ่งเป็น รถยนต์ขนาดกลางขับเคลื่อนล้อหลัง
ที่พัฒนาต่อยอดมาจากตระกูล Bluebird 510 มองให้เข้าใจง่ายๆก็คือ ถ้า Skyline มีไว้เอาใจ
คนชอบแนวสปอร์ต Laurel ก็เอาใจคนชอบแนวหรู นั่นละครับ

รถที่จัดแสดงมีตั้งแต่รุ่นแรก มาจนถึงรุ่น C31 ปี 1988 ที่มีสภาพดีกว่าคันก่อนหน้าที่เราเห็น
จอดอยู่ในอีกฟากหนึ่งของโกดังแห่งนี้

คันสีขาว ที่จอดอยู่บน ฮอยล์ยกรถ นั่น คือ Nissan Leopard Gen 2 รหัสรุ่น F31 เปิดตัว
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1986 จุดเด่นอยู่ที่ การติดตั้งเครื่องยนต์ V6 ตระกูลใหม่ คือ VG
ทั้ง VG20 และ VG30 รุ่น ท็อปสุดคือรุ่น Leopard ALTIMA ติดตั้งสารพัดออพชัน
ทั้งช่วงล่างควบคุมด้วย อีเล็กโทรนิคส์ ช็อกอัพไฟฟ้า พร้อมระบบ Ultrasonic Sonar
แบบที่ใช้ใน Cefiro A31 เวอร์ชันบ้านเรา ถ้าส่งไปขายในสหรัฐฯ ก็จะใช้ชื่อว่า
Infiniti M30 นั่นเอง

รถสีดำทั้ง 2 คัน เป็น Nissan PRESIDENT รถยนต์ระดับหรูที่สุดของ Nissan ตอนนี้ ยุติการผลิต
กันไปหมดแล้วทุกรุ่น และรุ่นที่จัดแสดงอยู่มี 2 รุ่น รายละเอียด อ่านได้ในบทความประวัติของ
Nissan PRESIDENT ในเว็บไซต์ Headlightmag.com ของเรา Section : Automobile History
ได้เลย

Nissan PULSAR EXA มีให้ดูกันทั้ง รถคันพิเศษ ดัดแปลงเป็นเวอร์ชันเปิดประทุน มีจำนวนจำกัด
ฉลองครบรอบ 10 ปี ของเครือข่ายจำหน่าย Nissan Cherry ในญี่ปุ่น ปกติ เป็นรถแบบ 2 ประตู
ไฟหน้าแบบ Pop-Up เป็นรุ่นปี 1983

แต่รุ่น ขวามือ คือรุ่นปี 1986 นั้น ถือว่า เป็นปรากฎการณ์ในการออกแบบรถยนต์ตอนนั้นเลยก็ว่าด้
เพราะ Nissan Pulsar EXA หรือ Pulsar NX ในตลาดส่งออก นอกจากจะมีหลังคาแบบ T-Bar Roof
ถอดออกได้ เหมือนรถสปอรต Fairlady Z แล้ว ยังมี บานประตูห้องเก็บของด้านหลัง ที่สามารถ
ยกออก แล้วสวมหลังคาไฟเบอร์ คล้ายกับหลังคา Carry Boy ในปัจจุบัน ทับเข้าไป แปลงเป็น
รถยนต์ Sport Wagon 2 ประตู ขนของได้ทันที! เป็นงานออกแบบของ ศูนย์ NDA Nissan Design
USA ที่ California สหรัฐอเมริกา ไม่ต้องแปลกใจว่า นี่ละ คือที่มาของบั้นท้าย สไตล์เดียวกันกับ
Nissan Terrano / Pathfinder 4×4 ที่ตามออกมาในปีเดียวกัน

ส่วนคันถัดไป Nissan NX Coupe สีเหลือง รายละเอียดอ่านได้ในบทความของ Commander CHENG
ในเว็บ Headlightmag.com ของเราได้เลยครับ

คราวนี้ก็มาถึง จุดสุดท้ายของเาในวันนี้ ฝั่งริมกำแพง เป็นกลุ่ม Nissan March และ Be-1 คันพิเศษ
ตัดหลังคาออก แต่ที่เห็นอยู่นี้ คือกลุ่ม Nissan SUNNY ทั้งหมด ทุก เจเนอเรชัน เรียกว่า เกือบครบ
ขาดไปแค่รุ่น 120Y ปี 1975 เท่านั้นเลย

แต่ในบรรดาตระกูล Sunny ที่ผูกพันกับชีวิตผมมากที่สุด คือ 3 รุ่นครับ 120 Y กับ B310 (รถของน้องสาวคุณพ่อ) 
และรุ่น B11 ขับล้อหน้ารุ่นแรก ปี 1981 เพราะเป็นรถยนต์ในครอบครัวผม ตั้งแต่ปี 1989 – 1995 เลยทีเดียว

Sunny B11 คันนี้เป็นรุ่น 1500SGL ซึ่งวางเครื่อง E15 คาร์บิวเรเตอร์เดี่ยว
มีพลัง 85 แรงม้า ฟังดูเหมือนน้อยแต่น้ำหนักตัวแค่ 800 ก.ก. เลยทำให้ในสมัยนั้น
จัดว่าเป็นรถที่วิ่งฉิวปลิวลมใช้ได้ (คุณแม่ของตาแพน Commander CHENG เคยใช้รุ่นนี้
ที่เป็นตัวคูเป้ 1.5 ลิตร เกียร์ธรรมดา แต่งเฮดเดอร์ ท่อตรง- ที่เขียนมานี่ เป็นเรื่องจริงครับ)

ส่วนรถคันสีเงินของบ้านผม ยังจำได้เลย วันที่จะขายออกไป แลกเปลี่ยนเป็น B14 น้ำตาแทบร่วง!

ส่วนคันนี้ใหม่ขึ้นมาอีกหน่อย เป็น Sunny B12 ที่บ้านเราเปลี่ยนชื่อไปเรียกว่า Sentra
ในบ้านเรา เปิดตัวเมื่อปี 1986 มาพร้อมกันทั้งตัวถัง Sedan และ Coupe ก่อนที่จะมีรุ่น
ตกแต่งแรงพิเศษ RZ-1 วางเครื่องยนต์ CA18DE 123 แรงม้า (PS) ไม่ติด Turbo ออก
วางขายในช่วงกลางปี 1988 RZ-1 เวอร์ชันไทย แต่งสวยกว่า เวอร์ชันญี่ปุ่นมาก ขอย้ำ!
แต่ กลับขายได้ไม่ค่อยดีเท่าที่ควร ส่นรุ่น Sedan ก็ปรับโฉม นำเครื่องยนต์ ตระกูล GA
มาวาง ออกขายในปี 1988 – 1989 ไฟเลี้ยวสีส้ม เหมือนในภาพคันสีขาวนี่ละครับ

ต่อมาเป็น B13 คันนี้เป็นรุ่นไมเนอร์เชนจ์แล้ว สังเกตที่กระจังหน้าจะมีเส้นขอบที่เป็น
สีเดียวกับตัวถังวิ่งยาวรอบช่องกระจัง

ในฐานะของคนที่ชื่นชอบรถยนต์ Nissan เป็นการส่วนตัว การได้มาอยู่ในโกดังเก็บรถยนต์
ขนาดยักษ์แห่งนี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับการปล่อยผมเข้ามาอยู่ในสนามเด็กเล่น ที่ทำให้ผมได้
ย้อนระลึก เปิดลิ้นชักในความทรงจำเก่าๆ ปล่อยให้เรื่องราวเหล่านั้น มันฟุ้งกระจาย และ
ลอยละล่องไปทั่ว มันเป็นอีกหนึ่งความฝัน ที่กลายเป็นความจริงในที่สุด ผมตื่นเต้น อิ่มตา
อิ่มเอมใจ และยังอยากจะใช้เวลาอยู่ที่นี่ให้นานกว่านี้อีกสักนิด……

แต่ ดูเหมือนว่า คณะทัวร์ เขาพร้อมจะออกเดินทางกลับกรุง Tokyo กันแล้วละ….

ประตูม้วนไฟฟ้า ค่อยๆ เลื่อนปิดลงมา เพื่อบ่งบอกว่า ถึงเวลาที่เราต้องลาจาก ผมยังเก็บภาพ
ของรถทุกคันยังไม่ค่อยเต็มอิ่มนัก แต่ด้วยเวลาที่จำกัดเพียง 1 ชั่วโมงเศษๆ ได้เก็บความรู้สึกดีๆ
จากเศษเสี้ยวประวัติศาสตร์อันน่าจดจำมากขนาดนี้ ก็ถือว่าเป็นกำไรชีวิตหนักหนาแล้ว

ผมไม่รู้ว่าจะมีโอกาสมาเยือนที่นี่อีกครั้งเมื่อไหร่ ไม่รู้ว่า Nissan คิดจะสร้างพิพิธภัณฑ์
เต็มรูปแบบบ้างหรือไม่ แต่การที่ได้เห็นภาพอดีตผ่านทางรถยนต์หลายร้อยคันเหล่านี้
มันช่วยย้ำให้เราได้มีสติ และคิดได้ว่า

“เวลา เมื่อมันผ่านเข้ามา มันย่อมผ่านเลยไป ทิ้งอดีตที่ไม่สวยงามให้มันลอยผ่านไป  
เก็บและจดจำไว้แต่เรื่องราวดีๆ เพื่อให้มีเรี่ยวแรงพอจะเดินต่อไปในวันพรุ่งนี้”

แค่นี้ ก็พอแล้ว

———————————

ขอขอบคุณ / SPECIAL THANKS TO:
– Motor co.,ltd.
– Nissan Motor (Thailand) co.,ltd.
ที่เอื้อเฟื้อการเดินทางในครั้งนี้

– Pan Paitoonpong (AKA : Commander CHENG!)
สำหรับการเตรียมข้อมูลในส่วนที่ขาดหายไป รวมทั้ง
ข้อมูลด้านรถแข่งทั้งหมด

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ในเมืองไทย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
20 กุมภาพันธ์ 2013

Copyright (c) 2013 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
February 20th,2013

แสดงความคิดเห็น เพิ่มเติม เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!