สถานการณ์ตลาดรถยนต์ทั่วโลกโดยรวมมีสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจนมากเพราะแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างโหมระดมสรรพาวุธกันอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระตุ้นความต้องการซื้อรถยนต์ใหม่ตลอดเวลาเพื่อให้เงินหมุนเวียนในระบบไปก่อน

ส่วนสถานการณ์อีกฟากหนึ่งฟากเจ้าของกิจการรถยนต์รายใหญ่บางค่ายก็ดูคึกคักเช่นกัน ความคึกคักเหล่านั้นเป็นความคึกคักที่ร้อนรนในการขายกิจการแบรนด์เล็กแบรนด์น้อยในเครือให้พ้นเสียที ช่างดูสวนทางกับย่อหน้าแรกเสียเหลือเกิน

 
 
 

การขายหุ้นกิจการต่าง ๆ ส่วนใหญ่ก็เกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปลายปี 2008 กันทั้งนั้นยิ่งเมื่อผสมกับปัญหาการดูแลกิจการเป็นทุนเดิมอยู่แล้วทำให้พวกเราจึงเห็นอาการง่อนแง่นกันทุกภาคส่วน

ถึงแม้จะมีการประกาศข่าวตามเว็บไซต์ หนังสือพิมพ์รายวันแต่ก็ใช่ว่าการซื้อขายกิจการนั้นจะสำเร็จลุล่วง 100% มันไม่ง่ายขนาดนั้น ก็เพราะว่าการดูแลกิจการรถยนต์นั้นนอกจากจะต้องใช้ประสบการณ์การบริหารธุรกิจด้านยานยนต์โดยเฉพาะแล้วความรักและความเข้าใจในแบรนด์ที่ถูกซื้อกิจการก็มีความสำคัญมากเช่นกัน

รายแรกที่ออกอาการได้ชัดคือ Koenigsegg Group AB เคยตัดสินใจจะซื้อหุ้นกิจการ SAAB จากอ้อมอก GM ในเดือนมิถุนายนแต่แล้ว Koenigsegg Group AB ก็ตัดสินใจดึงสมอเรือใส่เกียร์ 5 จากไปกันดื้อ ๆ โดยให้เหตุผลว่า Koenigsegg Group AB ไม่มีความสามารถฟื้นฟูกิจการ SAAB ให้เป็นธุรกิจรถยนต์ที่มีกำไรได้

นั่นก็เป็นเพราะ  Koenigsegg ยังไม่มีเงินอัดฉีด SAAB มากพอในอนาคตหนำซ้ำเดือนกันยายน Beijing Automotive หรือ BAIC ก็ตัดสินใจเข้ามาเป็นพันธมิตร Koenigsegg ในการผลิตรถสปอร์ตจับกลุ่มตลาดเฉพาะ

แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ Koenigsegg ก็ถือว่าไม่ดีนักจนต้องให้ทางกลุ่ม BAIC จากประเทศจีนเข้ามาถือหุ้นร่วมด้วย แน่นอนกลุ่ม BAIC คือตัวเก็งที่จะซื้อกิจการ SAAB รายต่อไปนั่นเอง หลังจากกลุ่ม BAIC ผิดหวังในการซื้อกิจการของ SAAB ในเดือนมิถุนายนเพราะ GM ปฏิเสธอย่างไม่ใยดี

เกมการซื้อ SAAB ถือว่าพลิกล๊อกกันอุตลุตพอสมควร และแสดงให้เห็นว่าผู้ผลิตรถยนต์จากจีนกำลัง Shopping แบรนด์รถยนต์ต่างชาติกันอย่างสนุกสนานเพื่อเป็นทางลัดในการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ของจีน โดยเฉพาะ BAIC ที่คิดเล่นเกมกับ GM อย่างเอาเป็นเอาตายถึงขั้นต้องไปร่วมหุ้นกับ Koenigsegg นั้น ดูจะเป็นการทะเยอทะยานอย่างน่ากลัวอย่างไรไม่ทราบนะครับ

 
 
 

ส่วนอีกรายหนึ่งที่ทำท่าว่าจะไปได้สวยนั่นก็คือ Volvo ที่ Ford จะขายกิจการให้กับ Zhejiang Geely Holding Group แต่กลายเป็นว่ามีโต้โผที่จะประมูลการซื้อขายหุ้น Volvo อีก 1 รายที่เพิ่งจะตกเป็นข่าวไม่นานนักนั่นก็คือ Michael Dingman 1 ในอดีตผู้บริหาร Ford ตั้งแต่ปี 1981 จนถึงปี 2002 โดยใช้ชื่อกลุ่มนักลงทุนนี้ว่า Crown

Crown ตั้งใจจะซื้อหุ้น Volvo มากถึง 2,500 ล้านดอลลาร์ งานนี้ Geely คงไม่ได้ฝันหวานที่จะฮุบ Volvo กันง่าย ๆ แน่นอน เมื่อเจอกลุ่มนักลงทุน Crown ที่ใจป้ำและมีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจยานยนต์อย่างดีก็ถือว่าเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของ Geely มาก ๆ ครับ

แต่ใครจะอยู่หรือจะไปเชื่อว่าไม่เกินสิ้นปี 2010 เราคงได้รู้กันว่าใครเป็นผู้ครอบครองกิจการ SAAB และ Volvo แต่จะมีอนาคตที่สดในหรือจะรุ่งริ่งนั้น เราต้องให้เวลานานกว่า 5 ปีก็คงรู้ผลแล้วครับ