ความจริงแล้วข่าวคราวโครงการรถยนต์ราคาถูก รักษาสิ่งแวดล้อมในอินโดนีเซียเริ่มถกเถียงกันมาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว เพียงแต่ Headlightmag.com ไม่ได้นำเสนอข่าวนี้เลย เพราะสมัยนั้นยังไม่มีความแน่ชัดในโครงการมากนัก เราก็ไม่แปลกใจเท่าไรนัก เมื่อมีโครงการใหญ่ก็ต้องย่อมมีการขัดแย้งด้านผลประโยชน์ในทุกประเทศในแถบอาเซียน
จุดมุ่งหมายของโครงการรถยนต์ราคาถูก รักษาสิ่งแวดล้อม (Low Cost Green Car) ในอินโดนีเซียเพื่อขยายยอดการผลิตให้ได้เป็นเบอร์ 1 ในอาเซียนหรือว่ากันตามตรงเลยก็คือการขยายขีดการแข่งขันสู้กับโครงการอีโคคาร์ในประเทศไทย
แต่ใช่ว่าโครงการ Low Cost Green Car จะมายื้อแย่งกับอีโคคาร์ในไทยแบบตรง ๆ เพราะค่ายรถรายใหญ่ ๆ ต่างพากันลงทุนในประเทศไทยตั้งฐานการผลิตรถยนต์ความจุไม่เกิน 1,300 ซีซี และส่งออกในอาณาบริเวณที่ครอบคลุมมากกว่า
รัฐบาลอินโดนีเซียจึงกำหนดเงื่อนไขให้โอนอ่อนกว่าโครงการอีโคคาร์ในเมืองไทยเล็กน้อย ได้แก่ ผู้ผลิตมีสิทธิ์ผลิตรถยนต์ความจุกระบอกสูบ 1,000 ซีซี อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 22 กิโลเมตรต่อลิตร ตั้งราคาขายเฉลี่ยไม่เกิน 80,000,000 ล้านรูปีส์ หรือ 280,000 บาท และความจุกระบอกสูบ 1,200 ซีซี อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 20 กิโลเมตรต่อลิตร ต้องตั้งราคาไม่เกิน 100,000,000 รูปีส์ หรือ 350,000 บาท ถือว่าถูกมากถ้าเปรียบเทียบกับราคาเริ่มต้น Nissan March 1.2 ลิตร เกียร์ธรรมดาเวอร์ชันอินโดนีเซียที่ 141,100,000 รูปีส์หรือ 5 แสนบาท (Nissan March นำชุดชิ้นส่วน CKD เกือบ 100% จากประเทศไทยไปประกอบที่โรงงานอินโดนีเซีย ไม่ได้นำเข้า CBU ทั้งคันจากไทย)
กำลังการผลิตบังคับโครงการนี้ แต่ละค่ายจะต้องผลิตจำนวน 50,000 คันในปีแรก (นี่น่าจะเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ Tata ยังลังเลในการผลิต Nano ในโครงการนี้) ส่วนเรื่องรายละเอียดปลีกย่อยด้านภาษีนั้นเราจะติดตามอย่างต่อเนื่อง
ณ วันนี้มีค่ายรถยนต์เข้าร่วมโครงการ Low Cost Green Car มีเพียงแค่ 3 ค่าย ได้แก่ Toyota (ในนาม Daihatsu), Suzuki และ Nissan ซึ่งทั้ง 3 ค่ายต่างก็มีแผนพัฒนารถเล็ก A-segment ราคาถูกสำหรับเจาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาพอดิบพอดี และที่สำคัญต้องการขยายตลาดรถยนต์นั่งให้ใหญ่โตเทียบเคียงกับตลาดมินิแวนขนาดเล็ก จากความคาดหวังจำนวนประชากรมหาศาล
ความเคลื่อนไหวจากค่ายรถยนต์ทั้ง 3 ค่ายแสดงออกอย่าง “ชัดเจน” มาก ได้แก่ Daihatsu ถึงขั้นเปิดตัวรถต้นแบบ A-Concept ในงาน Indonesia Motorshow 2011 ที่เพิ่งผ่านพ้นไปซึ่งเป็นรถต้นแบบที่พัฒนาสำหรับตลาดอินโดนีเซียโดยเฉพาะ ผู้บริหาร Daihatsu ต้องบินนำข้อมูลพฤติกรรมลูกค้าไปศูนย์ Toyota R&D ในญี่ปุ่นกันเลยทีเดียว
Daihatsu เตรียมก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่กำลังการผลิต 1 แสนคันเพื่อผลิตรถยนต์ในโครงการดังกล่าว จำนวน 70% จะป้อนให้กับแบรนด์ Toyota ทั้งจำหน่ายในประเทศและส่งออกอาเซียน ตัวรถมีขนาดเล็กกว่า Toyota Etios และมีราคาถูกที่สุดในโลกเท่าที่ Toyota เคยทำมา
Suzuki Motor ก็ลงทุน 800 ล้านดอลลาร์เพื่อรองรับการผลิตรถต้นทุนต่ำมากถึง 1 แสนคัน รวมไปถึง Nissan Motor เพิ่งประกาศแผนธุรกิจอาเซียนยืนยันแล้วว่ารถต้นทุนต่ำและเป็นหัวใจสำคัญที่จะเติบโตในอาเซียน
อย่างไรก็ตามเขตการค้าอาเซียน AEC อิสระที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2015 น่าจะส่งออกรถยนต์ราคาต่ำง่ายยิ่งขึ้นกว่าเดิม และยิ่งบังคับยอดผลิตขนาดนั้นแล้วล่ะก็ ประเทศไทยก็คือ 1 ในตลาดสำคัญของรถยนต์ราคาถูก ประหยัดน้ำมัน แต่อินโดนีเซียจะขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในการเป็นผู้ผลิตรถยนต์ในกลุ่มอาเซียนได้หรือไม่ ต้องจับตามองกันให้ดี