เทศกาลวันหยุดยาวๆในฤดูร้อนอย่างสงกรานต์ มักเป็ช่วงเวลาที่หลายครอบครัวมักมีแผนสำหรับการท่องเที่ยว
อยู่ในหัวกันแล้ว หลายคนอาจเอ็นจอยกับการขับรถไปเที่ยวต่างจังหวัดกับ พ่อแม่ ญาติสนิท มิตรสหายกัน
แต่เพื่อให้การเดินทางของคุณ ราบรื่นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ Headlightmag.com ขอเสนอ วิธีขับรถทางไกล
เตรียมตัวอย่างไรให้ไม่ต้องไปแย่งข้าวลิงกิน
A. การเตรียมรถ
เคล็ดไม่ลับ : จงให้ความสำคัญกับสิ่งใดก็ตามที่..ถ้าบกพร่องเมื่อไหร่แล้วอาจทำให้ถึงชีวิต
A1- ตรวจสอบระบบเบรก น้ำมันเบรกให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะ สามารถศึกษาได้จากคู่มือว่าพอเหมาะเป็น
แบบไหน ถ้าคู่มือไม่มีบอกให้ไปถามสาวยาคูลท์….
(อีตาบ้าแพน แล้วสาวยาคูลท์ เขาจะรู้เรื่องกับแกด้วยไหมฟะ? เดี๋ยวเขาก็ยื่นขวดยาคูลท์ให้เทใส่ในกระปุก
น้ำมันเบรกกันดื้อๆหรอก! <– J!MMY)
เมื่อน้ำมันเบรกอยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว อย่าคิดว่าเรื่องจะจบ กรุณาเอาไฟฉายส่องไล่จากหม้อลม แม่ปั๊ม
ซึ่งมักจะติดตั้งอยู่ในห้องเครื่องรถข้างคนขับ ชิดกับผนังห้องเครื่องด้านใน จากนั้นก็ให้หมุนพวงมาลัยเลี้ยว
ล้อหน้าจนสุด แล้วเอาไฟส่องที่ชุดระบบเบรค โดยเฉพาะตามสายน้ำมันเบรคที่วิ่งลงมาเสียบกับคาลิเปอร์
ที่ให้ส่อง เพราะคุณควรต้องตรวจสอบว่ามีคราบน้ำมันเบรกเยิ้มอยู่ตรงไหนหรือไม่ เพราะหากน้ำมันเบรกรั่ว
ขณะที่คุณกำลังขับลงเขาโดยมีครอบครัวอยู่ในรถด้วย คงไม่อยากนึกใช่ไหมครับว่าอะไรจะเกิดขึ้น?
นอกจากนี้อย่าลืมดูผ้าเบรกว่ายังหนาอยู่หรือไม่ ถ้าเนื้อผ้าเบรกบางลงจนไม่ถึงครึ่ง ซ.ม. ระบบอาจยังใช้ได้
แต่ไม่ควรขับรุนแรงรวดเร็ว
บางคนอาจบอกว่าเปลี่ยนมันก่อนเดินทางเสียเลยสิ..อย่าลืมครับว่าผ้าเบรกหลายตัวในท้องตลาดนั้น ถึงแม้
ติดตั้งและเจียรจานเบรกแล้ว หน้าสัมผัสผ้าเบรกก็ยังจะไม่จับเต็มที่จนกว่าจะใช้ไปสัก 500 ก.ม. ดังนั้นจึง
เท่ากับว่ารถคุณจะมีประสิทธิภาพการเบรกน้อยลงกว่าปกติอยู่พักหนึ่ง ดังนั้นต้องชั่งใจให้ดีครับ
A2 – ช่วงล่าง ตรวจมันพร้อมกับตอนตรวจเบรกนั่นล่ะ ดูว่ามีลูกยางอะไรปลิ้นออกมาจากตำแหน่งปกติหรือไม่
ทดลองขับบนถนนขรุขระเพื่อฟังเสียงว่ามีอวัยวะส่วนใดจะหลุดร่วง ลงมาหรือเปล่า ช่วงล่างด้านหน้าของรถ
ส่วนใหญ่ที่ขายในบ้านเรา มักเป็นแบบแม็คเฟอร์สันสตรัต มีแขน A-Arm ธรรมดา ซึ่งจุดสำคัญจะอยู่ที่เบ้าโช้ค
น็อตยึดโช้คกับปีกนก และลูกหมากปีกนกล่างสองตัว ตรงนี้ควรกวดเช็คน็อตให้แน่น ทีม Headlightmag คนนึง
เกือบเอาชีวิตไปทิ้งมาแล้วเพราะน็อตช่วงล่าง 1 ตัวหลุดหายไปโดยที่เจ้าตัวไม่ทราบ
อย่าลืมเช็คระบบบังคับเลี้ยวเช่นแร็คพวงมาลัย คันชักคันส่ง ให้เพื่อนหมุนพวงมาลัยให้ก็ได้ครับ แล้วตัวเราก็มา
ยืนดูจากฝากระโปรงหน้าว่าการขยับเคลื่อนของมันดูเป็นปกติหรือไม่
A3- ยาง หน้าสัมผัสสู่ถนนของคุณ ก็ควรได้รับการใส่ใจไม่แพ้กัน สำรวจดอกยางว่ายังมีความหนาอยู่ เนื้อยาง
ยังนิ่มอยู่หรือไม่ ยางส่วนมากสมัยนี้สามารถใช้อย่างปลอดภัยได้เกินกว่า 20,000 ก.ม. โดยที่บางยี่ห้ออาจอยู่ได้
นาน 50,000 ก.ม. ก่อนที่ประสิทธิภาพในการยึดเกาะจะถดถอย สภาพของยางยิ่งแย่ คุณยิ่งควรที่จะใช้ความเร็ว
น้อยลงเท่านั้น เพราะรถอาจดื้อต่อการสั่งการของผู้ขับในภาวะที่คุณต้องการมันมากที่สุด เมื่อไหร่ก็ได้
ควรตรวจสอบลมยางในแต่ละล้อให้เป็นไปตามสเป็คของโรงงาน รถบางคันจะแปะตัวเลขนี้ไว้ให้ที่ขอบประตู
ฝั่งคนขับ และรถยุโรปหลายรุ่นจะแปะไว้ให้ข้างในฝาถังน้ำมัน หากหาสองจุดนี้ไม่พบ ให้เปิดคู่มือ หากเปิดหา
แล้วไม่พบ ให้ถามสาวยาคูลท์
(แพน…นี่แก สาวยาคูลท์ นะ ไม่ใช่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ จะได้รู้ทุกอย่างตั้งแต่จุลินทรีย์ ยันจักรวาล <– J!MMY)
สำหรับรถเก๋งหนัก 1-1.7 ตันทั่วไปนั้น แรงดันลมยางมักไม่ต้องเกิน 35 ปอนด์/ตารางนิ้ว แต่ทั้งนี้ให้คำนึงถึง
ปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้
– รถขับหน้า มักมีน้ำหนักด้านหน้าเยอะกว่าด้านหลัง ลมยางหน้าจึงต้องมีแรงดันมากกว่า ในขณะที่รถขับหลัง
มักจะมีความดันลมยางหน้า/หลังใกล้เคียงกัน
– น้ำหนักบรรทุกที่ด้านหน้าของรถมักจะเท่าเดิม มีแต่ด้านหลัง ที่เปลี่ยนไปตามจำนวนผู้โดยสาร และสัมภาระ
ซึ่งในกรณีที่บรรทุกเต็ม ควรเพิ่มแรงดันลมยางหลังอีกสัก 3-4 ปอนด์ เช่นถ้าปกติสูบลมยางหลัง 28 ปอนด์ ก็อาจ
เพิ่มเป็น 32 ปอนด์ได้ แต่ไม่ใช่ 40 ปอนด์
การที่ยางมีแรงดันต่ำกว่าปกติ ทำให้กินน้ำมัน และเมื่อแรงดันต่ำกว่าปกติมาก อาจทำให้เกิดการหมุนของอากาศ
ในยางที่เร็วจนทำให้แรงดันขยายตัวกระทันหันและอาจระเบิดได้ ดังนั้น ไม่ควรปล่อยให้แรงดันลมยางต่ำ
แต่การที่ยางมีแรงดันสูงกว่าปกติ ทำให้ขับขี่กระด้าง หน้าสัมผัสยางลดลง อาจทำให้รถใช้ประสิทธิภาพในการ
เบรคได้ไม่เต็มที่หรือมีอาการหน้าดื้อ/ท้ายปัดง่ายกว่าปกติ ดังนั้น ไม่ควรเติมลมยางแข็งเกินไป
A4 – ไฟหน้า ไฟท้าย ไฟสัญญาณ
ตรวจสอบตอนกลางคืนก็ได้ เพราะจะได้ถือโอกาสดูว่าการตั้งไฟหน้าของรถเรานั้นสามารถส่องได้ไกลพอหรือไม่
กดกระพริบไฟสูงดูว่าทำงานเป็นปกติ จากนั้นเปิดไฟฉุกเฉิน ดูว่าไฟเลี้ยวรอบคันสว่างติดครบหรือไม่
ถ้าไม่มีใครช่วยตรวจสอบ ให้ขับถอยรถเข้าชิดกำแพงแล้วมองจากเงาสะท้อนของไฟเอาก็ได้ เหยียบเบรกแล้ว
ไฟเบรกติดพร้อมกันสองข้างหรือไม่ เข้าเกียร์ถอยหลังแล้วมีไฟถอยหลังติด
ที่สำคัญ ลองยกก้านไฟเลี้ยวซ้าย ไฟเลี้ยวซ้ายติดไหม แล้วลองโยกก้านไปเปิดไฟเลี้ยวขวา อันนี้อาจดูไร้สาระ
แต่ผมเคยเจอมาแล้วนะครับ พวกรถที่ไปทำสีมาแล้วต่อวงจรไฟฟ้าแบบวิปลาศ เปิดไฟเลี้ยวขวาแท้ๆแต่ไฟเลี้ยว
ฝั่งซ้ายดันกระพริบ..ลองนึกภาพเอาเองว่าคุณวิ่งเลนกลางแล้วจะออกเลนขวาโดยมีรถวิ่งมาข้างหลังด้วยความเร็ว
และคุณเปิดไฟเลี้ยวขวา…บริษัทประกันรอเคลมให้คุณแยกข้างหน้าอยู่แล้วมั้ง
A-5 อื่นๆในห้องเครื่อง
เปิดน้ำหม้อน้ำตรวจเช็คว่าอยู่ในระดับที่กำหนด (ทำไมต้องบอกเนาะ?) ถ้าพร่องไป ก็ลองดูว่าน่าจะพร่องไปเพราะ
การระเหยตามปกติ หรือว่า พร่องเพราะมีการรั่วซึม ให้ตรวจเช็คท่อยาง ท่อทางเดินหม้อน้ำ และข้อต่อต่างๆ ให้แน่น
ถ้ามีปัญหา ก็ส่งให้ช่างแก้ไข หรือเปลี่ยนใหม่ให้เรียบร้อย
จากนั้นเช็คระดับน้ำมันเครื่องที่ก้านวัดซึ่งต้องไม่ต่ำกว่า Low และไม่สูงเกิน Max ขาดก็เติม ถ้าเกิน ก็ควรเอาสูบออก
แต่ส่วนใหญ่ ไม่ค่อยเกินหรอก มีแต่พร่องขาดหายไปมากกว่า
สตาร์ทเครื่องยนต์ เปิดแอร์ แล้วรอให้ถึงอุณหภูมิทำงานของเครื่องยนต์ สังเกตให้ดีว่าพัดลมไฟฟ้าทำงานเป็นปกติ
หรือไม่ ถ้าทำงานเป็นปกติก็ควรจะจบงานได้แล้วสำหรับภายใต้ฝากระโปรงหน้า
ยกเว้นว่าตรวจไปตรวจมาบังเอิญเจองูอยู่ตรงสายพาน ให้รีบจับแล้วส่งต่อให้ J!MMY
(แพน ถ้าแกโยนงูใส่ละก็ ฉันจะจับพี่ปีเตอร์ใส่ปากแก แล้วซิ่งหนีไม่คิดชีวิต คิคิ <– J!MMY)
A6- ท้ายรถก็ลืมไม่ได้
ยางอะไหล่ มีหรือเปล่า และถ้ามียางอะไหล่ ให้ตรวจสอบด้วยว่ามีลมยางหรือไม่ ปกติรถใหม่จากโรงงาน มักจะมี
การเติมลมยางมาให้ค่อนข้างสูง ซึ่งจะแน่นอยู่แบบนั้นได้ไม่เกิน 2 ปี หลังจากนั้นมันจะค่อยๆซึมตามธรรมชาติครับ
ดังนั้นก่อนเดินทางไกล เช็คให้แน่ใจก่อนดีกว่า ว่ามีลมยางพอไหม และมีการรั่วซึมหรือไม่
แม่แรง เห็นว่ามีซุกอยู่แล้ว อย่าเพิ่งอุ่นใจ แม่แรงรถญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นแบบฟันเฟือง ซึ่งมักไม่มีปัญหาอะไร แต่
บางคนที่ซื้อรถมือสองมาใช้ ก็ได้แม่แรงที่เป็นแบบไฮดรอลิกมา..ไฮดรอลิกก็รั่วเป็นนะครับ และมันไม่สนุกแน่ถ้า
รถยางแตกกลางทางแล้วคุณเปลี่ยนล้อไม่ได้เพราะแม่แรงเจ้ากรรมดันรั่ว..เอามันออกมา ลองซ้อมยกรถตัวเองดู
สักรอบก็ได้ครับเพื่อความชัวร์
ประแจขันน็อตล้อ เห็นวางอยู่ตรงนั้นก็ดีแล้ว รถป้ายแดงคงไม่มีห่วงอะไร แต่รถเก่าของหลายๆท่านที่ใช้อยู่นั้น ขอ
ให้เช็คครับว่าประแจนั่นมันใช้ขันน็อตล้อเราได้จริงๆ บางท่านอาจเปลี่ยนล้อแม็กมาใหม่ ทางร้านใส่น็อตใหม่ที่หัว
เล็กลงกว่าเดิม ทำให้ประแจติดรถจากโรงงานไม่สามารถขันได้ ทางร้านก็มักจะลืมแจ้งเรื่องนี้กับลูกค้าเสียด้วยสิครับ
น็อตล้อ สำหรับรถที่ล้อติดรถกับล้ออะไหล่เหมือนกัน ไม่มีปัญหา แต่รถของบางท่านที่ซื้อมือสอง มาแล้วทำการเปลี่ยน
ล้อมา อาจมีปัญหาที่คาดไม่ถึง ผมนี่ล่ะครับเจอกับตัวเองมาแล้ว เมื่อ 11 ปีก่อน W124 ผมยางแตกที่วัดดอนหวาย ผม
จัดแจงถอดล้อแม็กออกแล้วนำล้อเหล็กที่เป็นล้ออะไหล่มาใส่
จากนั้นก็เหวอรับประทานสิครับ น็อตล้อแม็กมันยาวกว่าน็อตสำหรับล้อเหล็ก..มิน่า ขันเข้าไปเท่าไหร่ ก้านน็อตก็ยัง
โผล่มาอยู่ วิ่งก็ไม่ได้ เลยต้องจำใจใส่ล้อแม็กที่ยางรั่ว วิ่งบดยางไปเช่นนั้นจนพบร้านปะยางนั่นล่ะ ท้ายสุดล้อก็ได้รับ
ความเสียหายต้องซ่อมขอบล้อด้วย ซวยกำลังสอง
นอกจากนี้ คุณยังควรมีเครื่องไม้เครื่องมือติดรถเพิ่มเติม
ในฐานะที่เป็นคนใช้รถเก่าอายุเกือบ 20 ปีอยู่สองคัน ผมคิดว่าคนขับรถเก่าๆอย่างพวกเรา ยิ่งต้องเตรียมอุปกรณ์ฉุกเฉิน
ไว้มากกว่ารถป้ายแดงหรือรถใหม่อายุไม่เกิน 5 ปีนะครับ
1. ไขควง ปากแบน ปากแฉก ปากหมา ปากแมว เล็ก กลาง ใหญ่ ควรมีให้ครบ
2. สายลากรถ 2 ชุด..ย้ำว่า 2 ชุด เพราะมันไม่ได้ใหญ่และหนักมากครับ และมันก็ชอบขาดกลางทางเสมอครับ
3. ไฟส่อง ไฟฉาย
4. ลวดเหล็ก 1 มัดและคีมตัดลวด
5. เทปพันสายไฟ 1 ม้วน
6. มอเตอร์พัดลมไฟฟ้าตรงรุ่นของรถคุณ สำรอง 1 ตัว
7. ปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิงตรงรุ่นของรถคุณ สำรอง 1 ตัว
8. หลอดไฟหน้า สำรอง 1 หลอด
9. น้ำสำรองนับให้ได้ 4 ลิตร
10. หนังสือ Harry Potter ตอน Deathly Hallows
ใครที่รถเคยเสียกลางทางคงทราบดีว่าแต่ละอย่างที่ผมบอกมานั้นไม่ไร้ สาระ พัดลมไฟฟ้าพังบนเขา รถคุณวิ่งไม่ได้
แน่นอน ไม่งั้นความร้อนขึ้น ปั๊มเชื้อเพลิงถ้าพังกลางทาง วิ่งไม่ได้ ลากอย่างเดียว หรือบางทีวิ่งไปตกหลุม เกี่ยวก้อนหิน
กันชนหรือสเกิร์ตหน้าร่วงลงมา คุณก็เอาลวดมัดแล้ววิ่งต่อไปได้ หรืออวัยวะบางส่วนของรถหลุด ก็เอาเทปกาวปิดไว้ได้
การที่ผู้ใช้รถเก่าอย่างเรามีของแบบนี้อยู่ บางครั้งมันช่วยให้เราเอาตัวรอดได้โดยไม่ต้องเสียเงินอย่างไม่จำเป็นครับ
ส่วนถ้าเกิดเหตุใดๆที่ข้อ 1-9 ไม่สามารถช่วยคุณได้ ก็ให้เอาหนังสือ Harry Potter ออกมานั่งอ่านระหว่างรอความช่วยเหลือ
อย่าบ้า อย่าเสียสติ ความโมโหไม่ช่วยให้รถคุณวิ่งได้อีกครั้งครับ
B – การเตรียมตัวสำหรับขับรถทางไกล
สมัยก่อน J!MMY เอง เคยบ้าพลัง นอนแค่ 2-3 ชั่วโมง แต่ต้องขับ Honda CR-V ไปถ่ายรูปถึงจันทบุรี ก็ทำมาแล้ว แต่
เชื่อหรือไม่ว่า รอดกลับบ้านมาได้ ก็แทบแย่ เพราะขับไปสัปหงกไปเกือบตลอดทาง แถมใช้ความเร็ว 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ซ้่ำร้าย เพื่อนร่วมเดินทางไปเที่ยวในวันนั้น มันดันหลับตลอดทาง แถมพอลุกขึ้นมา ยังบอกว่า J!MMY ขับรถไม่นิ่มนวล
เอาเสียเลย เจ้าตัวบอกกับผมว่า ฟังแล้ว อยากเอาประแจถอดล้อตบปากมันมากๆ แต่ก็ทำไม่ได้
อย่าทำอย่างที่ J!MMY เคยทำ มันไม่ใช่เรื่องดี โอกาสจะรอดกลับมาเขียนรีวิวให้คุณอ่านแบบนี้ มันน้อยมากๆ ใครที่
มีเหตุให้ต้องขับรถเดินทางไกล ขอแนะนำเอาไว้เลยว่า ควรพักผ่อนให้เพียงพอก่อนเดินทาง สำคัญสุด อย่างน้อย คุณ
ควรจะนอนให้ได้ราวๆ 6-8 ชั่วโมง ตามมาตรฐานการนอนทั่วไปของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (เกี่ยวไหมเนี่ย?)
ถ้าคุณเป็นคน ที่เกิดมาพร้อมกับลำไส้ตรงแหน่ว หรือพร้อมจะแพ้สารพัดอาหารที่เพิ่งจะยัดทะนานเข้าไป โปรดอย่า
มูมมามตามใจปากมาก เพราะการท้องเสีย ขณะเดินทาง ในช่วงที่ยังเหลืออีกราวๆ 100 กิโลเมตร ถึงจะมีปั้มน้ำมัน
พร้อมห้องน้ำให้ปลดทุกข์หนักหรือเบา (ที่ภาษาของเจ้ากล้วย BnN ในทีม Headlightmag ของเราเรียกว่า “ไปส่ง fax”)
ผมเคยเจอมาแล้ว และขอบอกว่า มันไม่สนุกเลย ที่จะต้องเหยียบมิดติดเหล็กรถ เพื่อพุ่งไปสู่ประตูห้องน้ำในปั้มน้ำมัน
(อย่างที่คุณรู้ คนอย่างผม อย่าหวังว่าจะยอมถ่ายทุกข์ ถ้าที่นั่น มันไม่มีชักโครก พร้อมสายฉีดตูด)
ขณะเดียวกัน อย่าขับรถต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ เพราะ ธรรมชาติของคนเรา ถ้าสายตาเจอภาพข้างหน้า วิ่งเข้าหาในเวลา
ต่อเนื่องกัน ด้วยความเร็วสม่ำเสมอกัน มันไม่ต่างอะไรกับการสะกดจิตดีๆนี่เอง ด้วยเหตุนี้ รถยนต์รุ่นใหม่ๆหลายรุ่น
ถึงเริ่มมีการติดตั้ง ระบบแจ้งเตือนผู้ขับขี่ให้พักได้แล้ว หรือที่ หลายคนเรียกมันว่า “ระบบ Starbucks” (เพราะมันมัก
จะขึ้นหน้าจอมาให้เป็นรูปแก้วกาแฟ แถมมีควันเล็กๆด้วยแหนะ ดีนะ ที่ยังเป็นแค่ควันในรูป ไม่ใช่ควันจริงๆ)
แต่ถ้ารถของคุณ ไม่มีระบบดังกล่าว ไม่ต้องไปเสียเงินควานหามาติดให้เปลืองหรอกครับ คนข้างๆตัวเรานั่นละ เตือน
ได้อย่างดีเลยทีเดียว ขับรถยาวๆ ควรพักทุก 3 ชั่วโมง จะพักนานแค่ไหน ไม่ว่า
ที่สำคัญ เวลาเดินทางไกล อย่าใส่เต็มตีน อย่าบ้าพลังกันให้มากครับ อย่ารุนแรงกับรถ อย่าคิดว่ากำลังแข่งอยู่กับ มิคาอิล
ขูมัคเกอร์ หรือ เจนสัน บัตตอน ทองไว้เสมอ ว่าคุณแอยู่ในประเทศไทย ดินแดนที่เต็มไปด้วยพวกชอบเลี้ยวกลับรถ
ตัดหน้า หรือเปลี่ยนเลนระยะกระชั้นชิด โอกาสเกิดอุบัติเหตุไม่คาดคิดมีมาก หากคุณไม่ใส่ใจในเรื่องนี้
ขอให้เดินทางทั้งไปเที่ยว และกลับมาบ้านโดยปลอดภัย กันทุกคนครับ
————————————-///—————————————-