สวัสดีครับคุณผู้อ่าน

ที่มาที่ไปของบทความนี้ ไม่มีอะไรมากครับ มันเกิดขึ้นจากการรบเร้าและบีบคั้น ( ฮ่า ฮ่า ) ของคุณน้อง J!MMY ผู้ซึ่งรู้จักมักจี่กันมานานแสนนาน นับตั้งแต่ผมได้เริ่มเข้ามาทำงานวงการรถยนต์มาหลายสิบปี

 

 

วันหนึ่ง J!MMY ก็ถามว่าเฮียเป็นไปได้ไหม ที่เฮียจะแบ่งปันประสบการณ์ของเฮีย ในฐานะผู้เคยรับผิดชอบเกี่ยวกับการวางแผนผลิตภัณฑ์ของรถยนต์ญี่ปุ่น ซึ่งเคยเข้ามาขายในประเทศไทย หลากประเภท หลายรุ่น  ไม่ว่าจะเป็นรถเก๋งเล็ก เก๋งกลาง เก๋งใหญ่, รถกระบะ, SUV, PPV, รถสปอร์ต ไม่เว้นแม้กระทั่งรถตู้ต่างๆ ให้คุณผู้อ่านได้เห็นภาพชัดเจนขึ้น กับคำถามที่เคยคาใจ ว่า 

 – กว่าจะนำรถยนต์สักรุ่นให้คุณๆได้ขับขี่กันทุกวันนี้ มันมีที่มาที่ไปอย่างไร?

–  ทำไมไม่เอารุ่นนั้นรุ่นนี้มาขาย ทั้งที่น่าจะได้รับความนิยมในบ้านเราแน่ๆ?

–  ทำไม รถบางรุ่น ตั้งราคาขายแพงสาหัสถึงเพียงนี้ (วะ) แล้วจะมีบุญได้ซื้อขับมั้ยเนี่ย…จะขายออกไหมเนี่ย?

และอื่นๆอีกมากมายหลายประเด็น

 

จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้เขียนให้เสร็จซะที ผลัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆ จากภาระการงานประจำวัน ประจำเดือน ประจำปี ที่มีเข้ามาตลอด ตามประสา คนมีความสุข หลังจากผ่านพ้นจากวงการรถยนต์มาแล้วหลายปี

แต่ในที่สุด จุดเริ่มต้น เพื่อเรียกน้ำย่อย ก็เสร็จสิ้นลง อย่างที่คุณจะได้อ่านกัน ข้างล่างนี้

——————————————————————-

 

คุณผู้อ่าน เคยสังเกตมั้ยครับว่า เดี๋ยวนี้รถยนต์รุ่นใดรุ่นหนึ่ง พอเปิดตัวที่ต่างประเทศแล้ว คล้อยหลังมา 4-5เดือน หรือจะ 1 ปีครึ่งก็ตามแต่ พอถึงเวลาเปิดตัวในเมืองไทยมันช่างแตกต่างกันมากมายถึงเพียงนี้ บางรุ่น ใช้ชิ้นส่วนเดียวกัน ยกมาทั้งกะบิ แต่บางรุ่น ก็มีหน้าตาแปลกไปจากเวอร์ชันญี่ปุ่นดั้งเดิม ไปละม้ายคล้ายคลึงกันกับเวอร์ชันประหลาดๆ อย่าง ไต้หวัน มาเลย์ ฟิลิปินส์ อินโดฯ เช่น รถเก๋งขนาดคอมแพคซีดาน ที่นักการตลาดรถยนต์ทั่วโลก เรียกมันว่า C Segment…

 

(ว่าแต่ว่าไอ้เจ้ารถที่เรียกกันว่าคอมแพคซีดาน, C segment มันคือรถอะไร ประเภทไหนเนี่ย ไม่ต้องตกใจครับ  ขอยกตัวอย่าง ก็เช่นพวก โคโรลลา อัลติส ซีวิค ซันนี่ แลนเซอร์ ออพตร้า นั่นเอง รถประเภทนี้เข้ามาขายในบ้านเรานานมาแล้วล่ะครับ เป็นสิบๆปีแล้ว เพียงแต่สมัยก่อนไม่ได้แยกประเภทเป็น  A B C D segment อย่างนี้ ทั้งวงการเขาเรียกเหมารวมง่ายๆว่าเป็นซีดาน จะเป็นซีดานเล็กหรือใหญ่แค่นั้นพอ ส่วนไอ้เจ้า A หรือ B Segment มันพวกไหนล่ะ เอาเข้าใจง่ายๆ A segment มันก็คือรถที่เล็กกว่า C segment อ้าวแล้วไอ้เจ้า D Segment มันคือรถแบบไหนล่ะ ตอบง่ายๆก็คือรถที่มันใหญ่กว่า C Segment ไง!!! อิ อิ  ตอบแบบนี้ไม่ได้กวนบาทาใครนะครับ ญี่ปุ่นท่านแบ่งรถเป็นอย่างนั้นจริงๆ (ไว้ตอนหน้าจะมาเล่าวิธีแบ่งเซคเมนต์รถประเภทอื่นๆอีก) แต่วันนี้ เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย และตรงกัน ผมจึงขอหยิบยกรถยนต์ประเภทคอมแพคซีดานหรือ C Segment มาให้รู้จักกันก่อน)

 

สาเหตุที่ เจ้าหน้าตารถของญี่ปุ่นกับไทย ไต้หวันกับอินโด ทำไมคล้ายกัน ก็เนื่องมาจากเวลาที่ทีม Designer จะออกแบบรถขึ้นมาซักรุ่น บริษัทแม่ ต้นสังกัด จะเป็นผู้วางแนวทางไว้ทั้งหมดก่อน จากนั้นก็จะมีการประชุมกันระดับภูมิภาค เช่นระดับเอเชีย, ระดับอาเซียน , ยุโรป  โดยจะมีตัวแทนจากบริษัท ในแต่ละประเทศเหล่านั้น มาร่วมประชุมกันเพื่อระดมสมองในการวางแผนออกแบบรถรุ่นใหม่สู่ตลาดโลก

 

แน่นอน ถ้าบริษัทแม่ มันเป็นรถญี่ปุ่น ดังนั้นDesigner มันต้องเริ่มจาก Idea ตั้งต้นจากญี่ปุ่นก่อน อยากยากจะหลีกเลี่ยง ซึ่งถ้าใครมีโอกาสในไปเดินงาน Motor Show เมื่อ 2-3 ปีก่อน ถ้าจำไม่ผิดที่บูธ Honda เคยเอานักออกแบบรถยนต์ มาสาธิตวิธีการออกแบบรถรุ่นใหม่ๆ ให้ดูจากหน้าจอคอมพิวเตอร์เลย

 

โดยจะนำผลวิจัยตลาด มากมาย เช่น ภูมิภาคเอเชียชอบไฟหน้าดีไซน์ เฉี่ยวๆแหลมๆ, อเมริกันชอบมีโป่งข้างตรงตัวBodyหรือทางยุโรปชอบออกแบบให้รถมีการลู่ลมเพื่อหวังผลทางAero Dynamic ฯลฯ มาสรุปรวมกัน จากนั้นก็จะinput ดีไซน์ส่วนต่างๆของรถเข้าโปรแกรม แล้วคอมพิวเตอร์ก็จะประมวลผลและออกแบบรถออกเป็นGuideline เพื่อให้ผู้ออกแบบรถได้ไปทำงานต่อจะไปสเกตหรือวาดเพิ่มเติมอะไรก็ว่าไป

 

จากนั้นบริษัทแม่จากประเทศญี่ปุ่นก็จะเรียกประชุมและโชว์ดีไซน์ต้นแบบของรถ ให้แก่ตัวแทนจากภูมิภาคอื่นๆ ไม่ว่าจะมาจาก ฮ่องกง, สิงคโปร์, ไต้หวัน, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และประเทศไทยหรืออื่นๆ ซึ่งแน่นอนมันต้องสวยมากๆแน่นอนในสายตาคนญี่ปุ่น (แต่มักไม่เคยถูกใจสายตาพี่ไทยเราเลยแฮะ) แต่ก็เอาเถอะมันเป็นแค่ดราฟท์แรก หนทางยังอีกยาวไกล

 

โดยปกติรถรุ่นใหม่ใช้เวลาเตรียมงานตั้งแต่ขั้นออกแบบ, วิจัย, ผลิต, วิจัยแล้ววิจัยอีก กว่าจะออกสู่ตลาดใช้เวลาทั้งสิ้นไม่นานหรอกครับ แค่ 4-5 ปีเท่านั้นเองครับ! โอวว อะไรจะนานปานนั้น กว่ารถจะออกมาสู่ตลาดมันไม่เก่าไปแล้วเหรอครับพี่น้อง? ถูกต้องเลยครับ นี่เป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งของธุรกิจยานยนต์เลย เพราะคนวางแผนผลิตภัณฑ์จะต้อง Forecast ตลาดล่วงหน้ากันที4-5ปี เลยทีเดียว เพราะฉะนั้นต้องไปให้หมอลักษณ์ฟันธงก่อน จากนั้นไปให้เอาหมอกฤษณ์คอนเฟิร์มต่ออีกที ฮ่า ฮ่า มันถึงจะชัวร์

 

มีผลวิจัยล่าสุดเมื่อเร็วๆนี้ของ OMD มีเดียเอเจนซีระดับโลก ได้ทำการสำรวจเกี่ยวกับพฤติกรรมการเลือกซื้อรถยนต์ ของผู้คนในประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชีย พบว่าคนมาเลเซียใช้เวลาค้นหาข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อรถประมาณ 9 เดือน เช่นเดียวกับคนไทยก็อยู่ที่ประมาณ 6-8 เดือน แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือที่ไต้หวัน ใช้เวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้นครับตัดสินใจก่อนซื้อรถ โอ้แม่เจ้า!!! คุณพี่คนไต้หวันเล่นเลือกซื้อรถพิจารณากันแค่3เดือนก็ตัดสินใจซื้อแล้ว (เผลอๆเปลี่ยนรถกันบ่อยด้วยเพราะเบื่อเร็ว) แล้วพี่ชาวมาเลย์หรือพี่ไทยเลือกรถดันใช้เวลาตั้ง9เดือน เมื่อเห็นเช่นนี้ คุณผู้อ่านคงเริ่มมองออกแล้วใช่ไหมครับว่า ถ้าดีไซน์รถรุ่นเดียวกัน ในไต้หวันกับพี่ไทยดันออกมาเหมือนกันทุกประเทศมันไม่บรรลัยเหรอครับพี่น้อง!!!

 

นี่ไม่นับรวมสเปครถและพวกออฟชั่นต่างๆภายในรถ อาทิเช่น ที่จุดบุหรี่, ที่เขียบุหรี่ประตูหน้า, ที่เขี่ยบุหรี่ประตูหลัง ผมถามจริงๆเถอะครับเพื่อนๆเวลาจะสูบบุหรี่ในรถใช้อะไรจุดบุหรี่ครับ?? มีใครเคยใช้ไอ้ปุ่มตรงกลางที่มีรูปบุหรี่กดลงไปแล้วรอ 1 นาที จนมันเด้งออกมาแล้วเอามือ อังดูว่าร้อนพอให้เอาบุหรี่ไปจุดต่อ ใช่ไหมครับ?

 

แล้วเคยมีใครเคยเขี่ยบุหรี่ในรถไหมครับ ไม่ค่อยมีเท่าไหร่ ผมเห็นแต่เขี่ยลงถนน สเปคเหล่านี้อาจจำเป็นสำหรับคนญี่ปุ่น เพราะคนในประเทศนี้ ทำงานหนักมาก เครียดจัด ก็เลยชอบสูบบุหรี่ แต่พี่ไทยล่ะ บางคนก็สูบบุหรี่ในรถบ้างแต่ก็น้อยครับ เพราะคนไทยรักรถยิ่งกว่ารักสุขภาพตัวเอง!

 

คำถามคือ ทำไมคนที่ทำงาน Product Planning ถึงไม่ยกเลิกสเปคที่คนคิดไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้คิดออกไปกันซักทีล่ะครับพี่น้อง? หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือ พวกยางอะไหล่ที่ใส่มาให้ท้ายรถ ที่ส่วนใหญ่ก็ให้มามักเป็นกะทะล้อเหล็ก ไม่เป็นล้อแมกซ์5ล้อเลยล่ะ?? เหตุผลง่ายๆก็คือ Save cost หรือเพื่อประหยัดต้นทุนไง ง่ายจะตายถามด้ายยย ยิ่งผลิตงานชิ้นใดออกมาเหมือนกันมากๆเข้า ต้นทุนต่อหน่วย ก็จะถูกลง ลดราคาต้นทุนของตัวรถในภาพรวมไปได้อีกอื้อซ่า

 

จากประสบการณ์ในอดีต มีรถซีดานขนาดกลางรุ่นหนึ่ง สมัยที่ผมยังทำงานด้านวางแผนผลิตภัณฑ์ ผมจะต้องเลือกออฟชั่นเรื่องกะทะล้ออะไหล่ ผมแกล้งถามพวกวิศวกรญี่ปุ่นว่า cost หือต้นทุนของกะทะล้อเหล็กต่อวง ราคาเท่าไหร่ เราเอาราคาที่ผู้ผลิตให้มา แล้วลองเปรียบเทียบกับล้อแม็ก ผลปรากฏว่าวิศวกรญี่ปุ่นหน้าแตกครับ เพราะต้นทุนของกะทะล้อเหล็กมันดันแพงกว่า

 

เฮ้ย!!! เป็นไปได้ยังไง ไม่จริ๊ง ไม่จริง!!!

 

แต่ความจริง ย่อมเป็นความจริงครับ เพราะล้อแม็ก หรือชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ต่างๆนั้น แต่ละครั้ง ที่บริษัทรถยนต์จะสั่งซื้อ ผู้ผลิตชิ้นส่วนจะต้องถามผู้ผลิตรถว่า ยอดสั่งซื้อขั้นต่ำ หรือ  Minimum order นั้น อยู่ที่กี่หมื่นชิ้น? ว่ากันที่เป็นหมื่นๆล้อ ส่วนไอ้เจ้ากะทะล้อเหล็ก หากทำขึ้นมาให้ใช้งานในฐานะ ล้ออะไหล่ ก็ใส่ไว้ด้านหลังรถ

ได้เพียงแค่ คันละ 1 ล้อ เท่านั้น แล้วโดยเฉพาะรถซีดานหรูขนาดกลางด้วย Volume ไม่ได้มากมายนักเนี่ย กะทะล้อยิ่งผลิตไม่เยอะ มันเลยแพงกว่า ด้วยประการฉะนี้แล

 

ที่ เขียนมาเพื่อกะแอบจิกแอบกัดคนวางแผนผลิตภัณฑ์  จริงอยู่ว่า เราจำเป็นต้องออกแบบรถรุ่นใหม่แบบเดียวเพื่อใช้กับรถทั้งภูมิภาค (หรือบางทีใช้ดีไซน์เดียวทั่วโลก เช่นรถกระบะ) แค่อยากให้แง่คิดนิดหน่อย เนื่องจากปัจจุบันพฤติกรรมลูกค้าใช้รถในปัจจุบันมันเริ่มจะเปลี่ยนไปแล้วล่ะครับ รักง่าย หน่ายเร็ว ไม่พอใจก็ออกมาด่า ออกมาทุบรถ!!! สมัยหนึ่ง ตลาดบ้านเรา เคยนิยมรถใหญ่ๆ เครื่องยนต์แรงๆ มีกำลังม้าสูงๆ เพราะจะได้ขับกันมันส์ๆ ซิ่งแข่งกันบนถนน ก็ออกแบบเครื่องมันให้ใหญ่ เผาผลาญน้ำมันกันเข้าไป จนวันนึงน้ำมันดันขึ้นราคา ก็บ่นว่าน้ำมันแพง รถใหญ่ไม่เอาแล้วเปลืองน้ำมัน หันมาหารถเล็กประหยัดน้ำมัน วันดีคืนดีอยากได้รถอเนกประสงค์ จะ SUV, MPV ก็ว่ากันไป วันดีคืนดีบอกเบื่ออีกแล้ว อยากได้SUV แต่ไปอยู่บนพื้นฐานของกระบะดีกว่าที่เรียกกันว่า PPV โอยยย  ปวดกบาลครับ!!!

 

นั่นเป็นเพียงตัวอย่างเบื้องต้น ที่ผมอยากจะเล่าให้คุณผู้อ่านได้เห็นว่า คนวางแผน นำรถยนต์เข้ามาขายสักรุ่นหนึ่ง มันลำบากยากเย็นเข็ญใจขนาดไหน กว่าจะออกแบบรถมาให้ถูกใจผู้บริโภคเนี่ย ต้องใช้เวลาถึง 4-5 ปี ในการออกแบบ พัฒนา และเตรียมการทำตลาด ไปจนถึงบริการหลังการขาย ตลอดชั่วอายุของรถ แต่ผู้บริโภคเบื่อกันเร็วมาก ไม่กี่ปีก็เบื่อแล้ว

ไม่เชื่อลองไปดูเต็นท์รถแถวรัชดาก็ได้ครับ รถใหม่ออกป้ายแดงไม่ถึงปีมาวางขายกันเพียบ ตอนแรกผมยังเข้าใจว่าถูกยึดจากไฟแนนซ์เอามาขาย อันนั้นก็ส่วนหนึ่ง แต่ที่ผมเห็นเป็นรถหรูๆทั้งนั้น ก็เลยสงสัยไปถามเจ้าของเต็นท์ก็ได้ความว่า เศรษฐีเมืองไทยโคตรขี้เบื่อเลย ความสุขของการซื้อรถมันอยู่ที่ตอนถอยป้ายแดงจากห้าง แล้วก็ขับยืดแอ็คสาว เป็นผู้นำเทรนด์ แต่พอคนชักเริ่มขับเยอะบนถนนแล้ว มันเริ่มโหลแล้ว เปลี่ยนดีกว่า เปลี่ยนรถปั๊บเปลี่ยนแฟนปุ๊บอีก ! แหม ทำอย่างกับดาราสาวช่องทีวีสารพัดสีไปได้

 

ยังมีเรื่องราวต่างๆอีกมากมาย ที่ผู้คนอยากรู้ และเชื่อว่า ถ้าได้รู้ข้อเท็จจริงมากขึ้น คุณผ้อ่านก็คงจะเริ่มมองเห็น และเข้าใจความเป็นไปของธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่มีมูลค่าๆเป็นพันๆหมื่นๆแสนๆล้านต่อปี มากขึ้น และนับจากนี้ เราจะมาพบกันเป็นประจำ ที่นี่ คอลัมน์นี้ “เจาะหลังบ้าน บริษัทรถ” ใน  www.headlightmag.com

นับจากนี้ เป็นต้นไป

 

————————————-///————————————–