ถ้าใครเคยชมภาพยนตร์เรื่อง That Things you do คุณคงจำได้ ว่าในภาพยนตร์เรื่องดัง
เรื่องนี้ ของ Tom Hank เขาเล่าถึงเรื่องราวของ Guy Patterson หนุ่มน้อย High-School
ลูกเจ้าของร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า ในยุค 1960 ที่รักและสนุกกับการตีกลอง ในสไตล์
Jazz เป็นชีวิตจิตใจ แต่ด้วยจังหวะที่เพื่อนร่วมชั้นเรียน (แต่ไม่ได้สนิทด้วยนัก) ดันไป
หกล้มแขนหัก จนเข้าร่วมประกวดวงดนตรีกับเพื่อนๆของตนไม่ได้ สมาชิกในวงจึง
ชักจูงให้ Guy เข้ามาเป็นมือกลองคนใหม่ของวง และพวกเขาก็นำเพลงชื่อ That Thing
you do อันเป็นชื่อเดียวกันกับชื่อหนังเรื่องนี้ เข้าประกวด…

ผลลัพธ์ก็คือ วงนี้ กลายเป็นวงที่มีชื่อเสียง จากระดับท้องถิ่น สู่การทำแผ่นเสียง Single
ในนาม คณะ The Wonders แล้วเรื่องราวต่างๆ ก็เริ่มตามมาหลังจากนั้น

นับแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน และพนันต่อไปได้เลยถึงอนาคต ในวงการดนตรี ทั่วโลกนั้น
มีกลุ่มศิลปินจำนวนมาก ระดับนับไม่ถ้วน ที่จู่ๆ พวกเขาก็มี Single Hit ดังเปรี้ยงปร้าง
สร้างประวัติการณ์ใหม่ๆ ถล่มทะลาย ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา
ยุโรป หรือแม้แต่แค่ประเทศใดประเทศหนึ่ง เพียงแห่งเดียว แม้แต่ในเมืองไทย ก็เคย
มีศิลปิน หรือกลุ่มศิลปิน ประเภทที่ว่านี้มาแล้วทั้งสิ้น…

ศิลปินพวกนี้ ถูกเรียกว่า กลุ่ม One Hit Wonders ออกมาดังระเบิดเพียงเพลงเดียว แล้ว
ค่อยๆถูกกลืนหายไปกับความทรงจำในห้วงกาลเวลา

ผมหยิบแผ่น DVD ของภาพยนตร์เรื่องนี้ ออกจากถาดเครื่องเล่น แล้วก็นึกถึงเรื่องราว
ที่เกิดขึ้นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ของค่ายรถยนต์ ตราดาวลูกไก่ 6 ดวง ในบ้านเรา….

ค่ายรถยนต์ของ Fuji Heavy Industries แห่งญี่ปุ่น ค่ายรถยนต์ที่ชื่อว่า Subaru

แม้ว่าจุดเริ่มต้นจะต่างกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับ Subaru ในบ้านเราวันนี้ มันเหมือนกับช่วง
ที่ Peak สุดๆ ของ เหล่าตัวละคร ในหนังเรื่องที่ว่า ไม่มีผิด!

alt

หลังจากที่ผมทำบทความรีวิว Subaru คันล่าสุด นั่นก็คือ Subaru WRX STi ไปเมื่อราวๆ
ครึ่งหลังของปี 2011 ผมก็เริ่มถอดใจว่า โอกาสที่จะได้กลับมาขับ Subaru ทำรีวิวกันอีกครั้ง
มันคงจะลดน้อยลงไปเรื่อยๆแล้ว

พูดออกมาจากความรู้สึกที่แท้จริง กันเลยก็คือ ผมเคยเชื่อว่า อนาคตของ Subaru ใน
บ้านเรา ซึ่งฝากไว้ในมือของ กลุ่ม Tan Chong แห่งสิงค์โปร์ ในนาม Motor Image
Subaru น่าจะถึงทางตันไปแล้ว ด้วยซ้ำ

ในช่วงปี 2011 – 2012 ตัวเลขยอดขายแค่หลักร้อยกว่าคันเศษๆ ในแต่ละปี บ่งบอกให้ผม
ได้รับรู้ว่า สถานการณ์ มันช่างล่อแหลมน่าเป็นห่วงอย่างมาก มีการลาออก โยกย้าย สลับ
สับเปลี่ยน หมุนเวียนตำแหน่งงานกันบ่อย คนเก่า ลาออกไป คนใหม่ก้าวเข้ามา บางคน
อยู่ได้ไม่นาน ก็ต้องลาออกไป ปัญหาภายในองค์กรมากมาย เล็ดรอดมาให้ผมได้ยิน
ได้ฟังกันอยู่เรื่อยๆ แม้ไม่บ่อย แต่ก็อดห่วงไม่ได้ทุกครั้งที่ต้องรับรู้

ในตอนนั้น แทบทุกคนที่เกี่ยวข้องกับบริษัทนี้ ได้แต่ฝากความหวังไว้ลึกๆ ว่า รถยนต์
รุ่นใหม่ ที่พวกเขา เลือกจะนำเข้ามาประกอบขายในประเทศมาเลเซีย เพื่อใช้สิทธิ์
อัตราภาษีพิเศษในเขตการค้าเสรี ASEAN หรือ AFTA จะช่วยนำพาให้บริษัทรอด
พ้นจากวิกฤติต่างๆที่เผชิญอยู่ได้

ในเวลานั้น ผมคิดว่า รถยนต์ที่พวกเขาเลือก คงจะเป็น Subaru Forester เหมือนเช่น
ที่เคยมีการพูดคุยกันไปก่อนหน้านี้ และน่าจะรอให้ถึง Generation ล่าสุด เปิดตัวก่อน
แล้วค่อยส่งมาประกอบกันที่มาเลเซีย

แต่แล้ว ในที่สุด หลังการประชุม วางแผน และเตรียมงานกันมานานพอสมควร คำตอบ
ที่แท้จริงก็ออกมา รถยนต์รุ่นแรกที่ถูกนำมาประกอบในโรงงาน นอกดินแดนอาทิตย์อุทัย
ในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็ปรากฎโฉม…

รถคันสีขาวที่คุณเห็นหน้าค่าตาของมันอยู่ตรงนี้นั่นแหละ!

alt

ทันทีที่ มีข่าวออกไปว่า Subaru จะจับมือกับ Tan Chong Group ตัวแทนจำหน่าย Subaru
รายใหญ่ ในภูมิภาค ASEAN จะนำ Subaru XV ไปประกอบขายที่มาเลเซีย ปรากฎว่า
เริ่มมีลูกค้า ให้ความสนใจสอบถามถึงราคาจำหน่ายโดยประมาณ ว่าจะอยู่ในระดับ
ต่ำกว่า 1.5 ล้านบาท ลงมา

ผลก็คือ เมื่อเวอร์ชันจำหน่ายจริง เปิดตัวสู่สายตาคนไทย ในงาน Motor Expo เดือน
พฤศจิกายน 2012 ที่ผ่านมา Subaru ก็สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ให้กับตนเอง ชนิด
หักปากกาเซียน พวกเขากวาดยอดจองไปได้มากถึง 600 คัน! ถือว่าเยอะที่สุด ตั้งแต่
Subaru ถูกนำเข้ามาจำหน่ายในยุคเริ่มแรกโดยบริษัท แสงหิรัญ จำกัด เป็นต้นมา!

เยอะจนหลายค่าย เขามองค้อน!

ทุกวันนี้ โชว์รูม สำนักงานใหญ่ ที่ถนนเสรีไทย กลายสภาพ เป็นโกดังเก็บรถไปแล้ว
เพราะในแต่ละวัน XV จำนวนมาก จะถูกทยอยลำเลียงมาจากท่าเรือ มาส่งที่โชว์รูม
วันละหลายเทรลเลอร์ มากันหลากสีสรร จอดออกันแน่นเอียด รอส่งมอบล้วนๆ
พื้นที่โชว์รูม ที่ยังพอเหลือลานกว้างๆให้ผมพอจะถ่ายรูปรถได้ ตอนนี้ มันแทบ
ไม่เหลือพื้นที่ให้แมลงสาบสักตัววิ่งผ่านอีกต่อไป เพราะแน่นขนัดไปหมด ทั้ง
รถใหม่ รถเข้าศูนย์บริการ และลูกค้าที่ Walk-in เข้ามาดูรถ และรับรถ ในแต่ละวัน

เรียกได้ว่า โชว์รูมเดิม ที่เคยเงียบเป็นป่าช้า กลับกลายเป็นว่า พลุกพล่านราวกับ
มีงานเลี้ยงโต๊ะจีนลิง!

คำถามก็คือ…XV มันมีดีอะไร ถึงทำให้เกิดปรากฎการณ์แห่กันจองขนาดนี้?
ทั้งที่สื่อมวลชนสายรถยนต์ในต่างประเทศ ก็ไม่ได้โปรดปรานปลื้มปรี๊ดกับมันกันนัก
และมันก็ถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานของ Subaru Im;preza รุ่นใหม่ล่าสุด

ราคา 1,350,000 บาท? สมรรถนะของ Subaru จากระบบ ขับเคลื่อน 4 ล้อ หรือว่า
อุปกรณ์ Option ติดรถ? อะไรกันแน่?

6 วัน กับอีก 5 คืนที่ใช้ชีวิตด้วยกัน ผมได้คำตอบแล้วละว่า XV เป็นเพียงแค่รถยนต์
ประเภท One Hit Wonder! ดังเปรี้ยงเดียวแล้วก้เงียบหายวูบไป หรือกลายเป็น ผู้พลิก
ฟื้นให้แบรนด์ Subaru ได้คืนชีพในระยะยาวกันแน่

บทความข้างล่างนี้ คือคำตอบทั้งหมด ที่ผมจะตอบให้คุณได้อ่านกัน

แต่ก่อนอื่น ผมอยากให้คุณได้เรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์กันสักหน่อย ตามเคย

เพื่อให้ได้รู้ว่า ความจริงแล้ว แนวคิดในการนำ Subaru Impreza มายกสูงเป็นแบบ
Outback Wagon ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ ที่เพิ่งจะเคยบังเกิด หากแต่ ในอดีต Subaru
เองก็เคยทำเช่นนี้มาบ้างแล้ว หลายครั้ง เพียงแต่ว่า แทบทุกรุ่นที่พวกเขาทดลอง
ปล่อยออกมาขาย มันไม่ได้ถูกส่งมาทำตลาดในเมืองไทยกันเลยสักคันเนี่ยสิ!

alt

แท้จริงแล้ว Fuji Heavy Industries คิดเรื่องนี้มาตั้งแต่ช่วงปายทศวรรษ 1980 แล้ว
เราต้องไม่ลืมว่า เวลานั้น แม้ Nissan จะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ในฝั่งรถยนต์ แต่
Subaru เอง ก็ไม่ได้มีเงินถุงเงินถัง มากพอที่จะพัฒนารถยนต์ SUV เพื่อมาต่อกร
กับบรรดา พี่เบิ้มในตลาด อย่าง Mitsubishi Pajero , Isuzu Bighorn/Trooper /
Toyota Land Cruiser , Nissan Patrol ซึ่งเพิ่งตื่นตัวจากกระแสนิยมรถยนต์เพื่อ
สันทนาการ (RV : Recreation Vehicle) ของชาวญี่ปุ่น

ดังนั้น Subaru จึงเลือกทางถนัด ด้วยการนำรถยนต์ Station Wagon ขับเคลื่อน 4 ล้อ
อย่าง Legacy รุ่นที่ 2 มายกสูง และตกแต่งให้ดูคล้าย Off-Road ออกขายในปี 1993
โดยใช้ชื่อว่า Subaru Legacy Grand Wagon แต่ในตลาดส่งออก ทั้งสหรัฐอเมริกา
และออสเตรเลีย จะใช้ชื่อ Subaru Legacy Outback แน่นอนว่า ได้รับความนิยม
อย่างสูงมาก เกินความคาดหมาย จนกลายเป็นรถยนต์ทำเงินรุ่นหนึ่งของ Subaru
ในตลาดนอกญี่ปุ่นไปแล้ว จนถึงปัจจุบัน

เมื่อ Legacy Outback ขายดิบขายดี Subaru เลยคิดต่อยอดไปว่า น่าจะมีลูกค้าที่
อยากได้ รถยนต์แนว Outback อย่างนี้ แต่ไม่แพง มีขนาดเท่ากันกับ รถยนต์นั่งในพิกัด
C-Segment ของตน อย่าง Impreza ที่เพิ่งคลอดสู้่ตลาดได้เพียง 3 ปี ดังนั้น FHI
ก็เลย จับ Impreza Sports Wagon มาเข้าสู่กระบวนการ ยกสูง กับเขาบ้าง แล้ว
ส่งออกไปขายที่ สหรัฐอเมริกา ในชื่อ Subaru Impreza Outback Sports
เปิดตัวในปี 1994 โดยถือเป็นรถยนต์รุ่นปี 1995 และพอจะมีชาวอเมริกัน อุดหนุนไป
ขับใช้งานกันอยู่บ้าง และถือเป็นรุ่น Top Model ของ Impreza Sport Wagon
ในตอนนั้น

ทั้งที่เรารู้กันดีว่า Outback Sport ควรจะเป็นเวอร์ชันยกสูง ของ Impreza เหมือน
เช่นที่ Subaru นำ Legacy Wagon ไปยกสูง เป็นรุ่น Outback แต่บางแหล่งข้อมูล
กลับบอกว่า Outback Sport ไม่ได้ถูกยกสูง เพียงแต่มีการติดตั้งอุปกรณ์เสริมหล่อ
รอบคัน ทั้งพวกสปอยเลอร์หน้า-หลัง สเกิร์ตข้าง แร็คหลังคา ฯลฯ นอกจากนี้ เวอร์ชัน
อเมริกัน จะมีชุดมาตรวัด ซึ่งรวมถึง เข็มทิศ Digital ปรอทวัดอุณหภูมิภายนอกรถ
Barometer และ Altimeter มาให้เลือกติดตั้งเป็น Option พิเศษ ติดตั้งไว้บน
แผงหน้าปัด อีกด้วย

Subaru Outback Sport เปิดตัวด้วยเครื่องยนต์ EF18 4 สูบ Boxer SOHC (2 Cam)
16 วาล์ว 1,820 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 87.9 x 75.0 มิลลิเมตร จ่ายเชื้อเพลิงด้วย
หัวฉีด Single point fuel injection แต่เป็นเวอร์ชัน EJ181 กำลังสูงสุด 110 แรงม้า
(PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 149.1 นิวตันเมตร (15.1 กก.-ม.) ที่ 3,200
รอบ/นาที เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ (ยกเลิกทำตลาดในรุ่นปี MY 1997)

รวมทั้ง เครื่องยนต์รหัส EJ22 4 สูบ Boxer SOHC (2 Cam) 2,212 ซีซี กระบอกสูบ
x ช่วงชัก 96.9 x 75.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 9.5 : 1 หัวฉีด Multi-Point เวอร์ชัน EJ221
137 แรงม้า (HP) ที่ 5,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 186 นิวตันเมตร (18.95 กก.-ม.)
ที่ 4,800 รอบ/นาที พร้อมเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ

พอถึงรุ่นปี 1999 มีการยกระดับเครื่องยนต์ EJ22 เปฺ็นเวอร์ชัน Phase 2 ในหลายๆ จุด
จนแรงเพิ่มขึ้นเป็น 142 แรงม้า (HP) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 202 นิวตันเมตร
(20.58 กก.-ม.) ที่ 3,600 รอบ/นาที เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ
ทำตลาดจนถึงช่วงสิ้นปี Model Year 2001 นั่นคือ เดือนสิงหาคม – กันยายน 2001

alt

พอเห็นตลาดอเมริกาเหนือ ให้การตอบรับที่ดี มียอดขายในระดับ “ใช้ได้”
(ไม่ถึงกับขายดีระเบิดเปรี้ยงปร้าง แต่ก็ทำให้ Subaru ไม่ถึงกับขาดทุนใน
โครงการนี้ก็แล้วกัน) พวกเขาเลยตัดสินใจ ทำเวอร์ชันญี่ปุ่น อัดข้าวของ
ให้ลูกค้าในบ้านตัวเอง เต็มพิกัด ออกขายในญี่ปุ่น เมื่อเดือนตุลาคม 1995
ด้วยชื่อ Subaru Impreza Sports Wagon GRAVEL EX

ชื่อรุ่นนี่จะยาวไปถึงดาวอังคารเลยไหม?

ตัวรถมีความยาว 4,595 มิลลิเมตร กว้าง 1,690 มิลลิเมตร สูง 1,470 มิลลิเมตร
ระยะฐานล้อ 2,520 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหน้า (Front Track) 1,465
มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหลัง (Rear Track) 1,455 มิลลิเมตร น้ำหนักตัว
รถเปล่า 1,310 และ 1,340 กิโลกรัม ตามระบบส่งกำลัง ความสูงจากพื้นถนน
ถึงพื้นตัวถัง 185 มิลลิเมตร

วางเครื่องยนต์ EJ20 บล็อก 4 สูบนอน BOXER DOHC (4 Cam) 16 วาล์ว
1,994 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 92.0 x 75.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 8.5 : 1
หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ Multi-Point Injection พ่วง Turbo และ Intercooler
220 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 28.5 กก.-ม.ที่ 3,500
รอบ/นาที มีทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ ขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ Full Time 4WD
พร้อม Center Differential พ่วงด้วย Viscous Limited Slip LSD และรุ่น
เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ E-4AT พร้อมระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ VTD-4WD

พวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงไฮโดรลิก อัตราทดเฟือง 15:1
รัศมีวงเลี้ยว 5.2 เมตร ระบบกันสะเทือนหน้า-หลัง แบบสตรัต ดิสก์เบรก 4 ล้อ
คู่หน้ามีรูระบายความร้อน พร้อม ABS

(แอบวงเล็บให้นิดนึงว่า รถคันนี้เคยเป็นรถคันโปรดรุ่นหนึ่งของตาแพน
Commander CHENG! แห่งเว็บเรานี่แหละ เจ้าตัวบอกว่า มันเป็นการควบ
รวมตัวกัน ของสิ่งที่เจ้าตัวอยากได้ทั้งหมด อันได้แก่ รถยนต์ตรวจการแบบ
Station Wagon ขนาดเล็ก คล่องตัว เครื่องยนต์ Boxer สูบนอน Turbo
แถมด้วยระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ มาอยู่ในรถคันเดียว)

อย่างไรก็ตาม เรื่องน่าเศร้าก็คือ ยอดขายในญี่ปุ่น ทำตัวเลขออกมาไม่ดีเท่าไหร่
Subaru เลยตัดสินใจเลิกทำ Gravel EX(press) เมื่อถึงเวลาเปลี่ยนโฉมสู่
รุ่นที่ 2 ของ Impreza ในปี 2000

alt

แต่สำหรับตลาดอเมริกาเหนือ Outback Sports ก็ยังขายได้เรื่อยๆ Subaru จึง
เปิดตัว Generation ที่ 2 ออกมา โดยดัดแปลงตกแต่งเพิ่มเติม บนพื้นฐานของ
Subaru Impreza Sports Wagon รุ่นที่ 2 นำเข้าจากโรงงาน Subaru ในเมือง
Ota จังหวัด Gunma เข้าไปขายในสหรัฐอเมริกา เปิดตัวในช่วงปลายปี 2001
ในฐานะรถยนต์รุ่นปี 2002

มิติตัวถัง ยาว 4,404 มิลลิเมตร กว้าง 1,709 มิลลิเมตร สูง 1,529 มิลลิเมตร ระยะ
ฐานล้อ 2,525 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นถนนจนถึงพื้นตัวถัง หรือ Ground
Clearance 160 มิลลิเมตร

ในช่วงรุ่นปี MY 2002 – 2004 วางเครื่องยนต์ EJ25 บล็อก 4 สูบ SOHC (2 Cam)
16 วาล์ว 2,457 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 99.5 x 79.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.0 : 1
หัวฉีด Multi-Point เวอร์ชัน EJ251 ใช้ MAP Sensor ในการควบคุมปริมาณไอดี
กำลังสูงสุด 167 แรงม้า (PS) หรือ 165 แรงม้า (HP) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิด
สูงสุด 256 นิวตันเมตร (26.0 กก.-ม.) ที่ 4,000 รอบ/นาที มีทั้งเกียร์ธรรมดา
5 จังหวะ และอัตโนมัติ 4 จังหวะ ขับเคลื่อน 4 ล้อ AWD

ปลายปี 2004 มีการปรับโฉม Minorchange เปลี่ยนชุดไฟหน้า และกันชนหน้า
ตามตลาดโลก แต่ยังคงใช้เครื่องยนต์ รุ่นเดิมอยู่ จนถึงรุ่นปี MY 2005

ย่างเข้าปลายปี 2005 รุ่นปรับโฉม Minorchange ครั้งใหญ่ ก็คลอดออกสู่ตลาด
ในฐานะรุ่นปี MY 2006 พร้อมการยกระดับเครื่องยนต์ ให้แรงขึ้น ปรับปรุงงานวิศวกรรม
และรายละเอียดต่างๆ บนพื้นฐานเดิม เป็นรหัส EJ253 เปลี่ยนมาใช้ MAF Sensor
เพิ่มระบบแปรผันวาล์ว ฝั่งไอดี i-Active 173 แรงม้า (HP) ที่ 5,600 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 225 นิวตันเมตร (22.9 กก.-ม.) ที่ 4,000 รอบ/นาที เป็นขุมพลัง
เดียวกันกับที่วางใน Saab 9-2x ทำตลาดจนถึง ปลายปี 2007

alt

พอล่วงเข้าปี 2007 Subaru ก็ส่ง Impreza Outback Sport รุ่นใหม่ ออกสู่ตลาด
ทิ้งช่วงจากการเปิดตัวรุ่นเปลี่ยนโฉมแบบ Full Model Change ของ Impreza
Hatchback 5 ประตู เพียงไม่นานนัก และเป็นเวอร์ชันที่จะทำตลาดเฉพาะใน
อเมริกาเหนือ เช่นเคย วางเครื่องยนต์ EJ25 เวอร์ชันใหม่ 170 แรงม้า (HP)
ที่ 6,000 รอบ/นาที ทำตลาดกันจนถึงรุ่นปี MY 2011 Subaru of America
จึงยุติการใช้ชื่อ Outback Sports ในช่วงปลายปี 2011

ในเมื่อทุกรุ่นที่ผ่านมา Impreza แบบ 5 ประตู ยกสูง สไตล์ Outback ถือว่ามีกลุ่มลูกค้า
ตอบรับดีใช้ได้ ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะขัดขวางการสานต่อ โครงการพัฒนา รุ่นเปลี่ยนโฉม
ใหม่ทั้งคันแบบ Full Model Change ของ Impreza XV จึงถูกดำเนินไปเป็นโครงการ
คู่ขนาน ร่วมกับ โครงการ Impreza รุ่นล่าสุด ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายน 2008

โดยในระหว่างที่โครงการนี้ดำเนินไป Subaru ก็ตัดสินใจหยั่งเชิงตลาดด้วยการ ส่งเวอร์ชัน
Outback ของ Impreza Hatchback รุ่นปี 2007 – 2012 ออกสู่ตลาดโลก โดย
เปิดตัวในงาน Geneva Motor Show วันที่ 2 มีนาคม 2010 ก่อนจะนำกลับไปเปิดตัว
ออกสุ่ตลาดญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2010 เพื่อชิมลางตลาดให้แน่ใจอีกครั้ง

alt

Impreza XV รุ่นที่แล้ว สร้างขึ้นบนพื้นฐานของ Impreza Hatchback รุ่นเดิม มีตัวถัง
ที่ยาว 4,430 มิลลิเมตร กว้าง 1,770 มิลลิเมตร สูง 1,520 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,620
มิลลิเมตร

เวอร์ชันญี่ปุ่น มีเครื่องยนต์ให้เลือก ทั้งรหัส EJ15 บล็อก 4 สูบ Boxer DOHC 16 วาล์ว
1,498 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 77.7 x 79.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.1 : 1 หัวฉีด Multi-Point
110 แรงม้า (PS) ที่ 6,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 144 นิวตันเมตร (14.7 กก.-ม.) ที่ 3,200
รอบ/นาที เชื่อมได้ทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ หรืออัตโนมัติ 4 จังหวะ E-4AT

และขุมพลัง รหัส EJ20 บล็อก 4 สูบ Boxer SOHC 16 วาล์ว 1,994 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก
92.0 x 75.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.0 : 1 หัวฉีด Multi-Point 140 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบ/
นาที แรงบิดสูงสุด 186 นิวตันเมตร (19.0 กก.-ม.) ที่ 4,400 รอบ/นาที มีเฉพาะเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ
E-4AT ทั้ง 2 พิกัด เลือกได้ ทั้งระบบขับเคลื่อนล้อหน้า หรือ 4 ล้อ AWD พวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน
พร้อมเพาเวอร์ไฮโดรลิก ระบบกันสะเทือนหน้า สตรัต หลัง ปีกนกคู่ Double Wishbone
ดิสก์เบรก 4 ล้อ พร้อม ABS EBD และ Brake Assist

ยอดขายในภาพรวม ช่วงเปิดตัว ถือว่าน่าพอใจ และช่วยให้ FHI มั่นใจว่า โอกาสที่
โครงการ XV รุ่นใหม่ซึ่งพัฒนาอยู่ จะประสบความสำเร็จยิ่งกว่าเดิม ในตลาดที่ไกล
ยิ่งกว่าเดิม นั่นคือ ทุกประเทศทั่วโลกที่ มี Subaru ทำตลาดอยู่ จะเพิ่มมากขึ้น

alt

สิ่งที่ทำให้ Impreza ใหม่ และ XV แตกต่างไปจาก โครงการพัฒนารถยนต์รุ่นอื่นๆ
ที่ผ่านของ Subaru อยู่ตรงที่ การตัดสินใจ ดันฐานเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ให้ยื่น
ล้ำมาทางด้านหน้ารถอีก 200 มิลลิเมตร เพื่อแก้ปัญหาที่ลูกค้าบ่นว่า พื้นที่ด้านหน้า
บริเวณแผงหน้าปัดของ Impreza Hatchback และ Anesis รุ่นเดิม มันน้อยไป จน
ทำให้ขับแล้วรู้สึกอึดอัด แต่ยังจำเป็นต้องรักษาตำแหน่งติดตั้ง กระจกมองข้าง ไว้
ที่เดิม นี่แหละ คือสาเหตุที่ทำให้เราได้เห็น กระจกหูช้าง หรือ Opera Windows
ติดตั้งเพิ่มเข้ามา บริเวณหน้าต่างบานประตูคู่หน้า ของทั้ง Imopreza รุ่นล่าสุด
และเจ้า XV

รวมทั้งยังนำกระจังหน้าแบบ Hexagon Grill อันเป็นเอกลักษณ์ใหม่ของ Subaru
ที่เริ่มใช้ครั้งแรกใน Legacy รุ่นที่ 5 ปี 2009 มาปรับประยกต์แนวเส้นสาย และ
ประดับตกแต่งให้กับ Impreza ใหม่ และ XV ใหม่ด้วย

เมื่องานออกแบบ Impreza Hatchback 5 ประตู เสร็จแล้ว ทีมออกแบบของ FHI
ก็เริ่มคิดหาแนวทางสร้างความแตกต่างให้ XV มีบุคลิก ที่แตกต่างไปจาก Impreza
เดิมอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น หลังการศึกาษาวิจัยกลุ่มลูกค้า พวกเขาเลือกที่จะตกแต่ง
XV ใหม่ ภายใต้แนวคิด “Protren” ซึ่งเป็นการควบรวมกันของ คำว่า Professional
Tools หรือ เครื่องมือของมืออาชีพ กับ คำว่า Trendy Design หรืองานออกแบบแนว
ร่วมสมัย จนตัวรถออกมาในสไตล์ Sport x Casual คือ ดูดันขึ้น ทะมัดทะแมง และ
มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่เหมือนใคร แต่สอดคล้องกับรูปแบบการใช้ชีวิตของลูกค้า
กลุ่มเป้าหมาย ทั้งในวันทำงานและวันพักผ่อนของพวกเขา

ที่สำคัญที่สุด Subaru ตัดสินใจ ไม่ใส่ชื่อ Impreza ลงไปในชื่อรุ่น โดยแยกออกมา
เป็นรุ่น XV เพื่อสร้างความแตกต่างในการทำตลาดให้เด่นชัดมากยิ่งขึ้น โดยชื่อ
XV มาจาก คำว่า Crossover Vehicles นั่นเอง!

alt

เมื่อการพัฒนาเสร็จสิ้นลง Subaru เลือกจะใช้วิธี ปล่อยของทีละขั้น เริ่มจากการ
ส่งเวอร์ชันต้นแบบ Subaru XV Concept ไปอวดโฉมครั้งแรกในโลกที่งานแสดง
รถยนต์ Shanghai Motor Show เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2011 (เพียง 1 เดือน หลัง
ญี่ปุ่น ผ่านพ้นเหตุการณ์แผ่นดินไหว) โดยใช้สีตัวถัง Electro YellowGreen

ถือเป็นครั้งแรกที่ Subaru เลือกใช้เวทีแสดงรถยนต์ในจีน เผยโฉมรถยนต์รุ่นใหม่
ของตน เป็นครั้งแรกในโลก แบบ World Premier

alt

จากนั้น เวอร์ชันจำหน่ายจริง คันสีส้ม ก็ถูกเผยโฉมทาง Internet ครั้งแรกเมื่อวันที่
10 สิงหาคม 2011 และถูกนำไปเปิดคัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกในโลกที่งานแสดง
รถยนต์ งานใหญ่ที่สุดของโลก Frankfurt Motor Show ครั้งที่ 64 เมื่อ 13 กันยายน
2011

ส่วนการเปิดตัวในตลาดญี่ปุ่น ก็เกิดขึ้นตามติด เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2012 คราวนี้
Subaru เลือกจะนำ XV ไปเปิดตัวที่ OMOTESANDO HILLS ย่านช็อปปิง สำหรับ
กลุ่มลูกค้าผู้รักงานศิลปะ และสถาปัตยกรรม รวมทั้ง รักกิจกรรมและการใช้ชีวิตอิสระ
ซึ่งตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของ XV ในญี่ปุ่น เข้าไปเต็มๆ และในเมื่อกลุ่มลูกค้า
เป้าหมาย ถือเป็นคนญี่ปุ่นกลุ่มใหม่ ที่เลือกและชอบใช้ชีวิตสันโดษ รักชีวิตอิสระ
และคำนึงถึงการใช้ชีวิตมากขึ้น สโลแกนโฆษณา ของ XV ในญี่ปุ่น จึงใช้คำว่า
a new type! อันหมายถึง รถยนต์แบบใหม่ สำหรับผู้คนในยุคใหม่กลุ่มนี้ นั่นเอง

alt

สำหรับการเปิดตัวในตลาด เมืองไทยนั้น ต้องเล่าย้อนความไปอีกสักเล็กน้อยว่า
Subaru คุยกับกลุ่ม Tan Chong Group แห่งสิงค์โปร์ ซึ่งเป็น กลุ่มธุรกิจนำเข้า
และประกอบรถยนต์รายใหญ่รายหนึ่งในเขต ASEAN มาตั้งแต่ช่วงปลายปี
2010 แล้วว่า ถ้าอยากจะทำให้ Subaru มียอดขายเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ ก็ต้อง
หาทางทำอย่างไรก็ตาม เพื่อนำรถยนต์สักรุ่น เข้ามาประกอบขาย ในละแวก
ย่านนี้ ให้ได้ใช้สิทธิพิเศษทางภาษี ในเขตการค้าเสรี ASEAN หรือ AFTA

ช่วงปี 2010 พวกเขามองกันว่า อยากจะนำ Forester เข้ามาประกอบขาย แต่
FHI ก็บอกว่า รอก่อน ใจเย็นๆ ดู Impreza ตัวใหม่กันเสียก่อน จะมีเวอร์ชัน
ยกสูงที่ชื่อว่า XV เปิดตัวไล่เลี่ยกันอีกด้วย

เมื่อศึกษาความป็นไปได้ทั้งหมดแล้ว XV นี่แหละ คือคำตอบที่ดีที่สุด สำหรับ
การเริ่มต้น นำ Subaru มาขึ้นสายการประกอบ นอกประเทศญี่ปุ่น อีกครั้ง
หลังจากที่พวกเขา ถอนตัวออกจากโรงงาน SIA ในสหรัฐอเมริกาไป เพราะ
สารพัดปัญหา ณ ตอนนั้น

กลุ่ม Tan Chong เอง ก็ถือว่าเป็นผู้มีประสบการณ์ ในการประกอบรถยนต์มานาน
เพราะในมาเลเซีย พวกเขามีโรงงานประกอบรถยนต์ของตนเอง มาตั้งแต่ปี 1974
เคยรับจ้างผลิตประกอบรถยนต์ญี่ปุ่น และยุโรปมาแล้ว หลายรุ่น หลากยี่ห้อ และ
อันที่จริง พวกเขาเคยประกอบรถยนต์ Subaru มาแล้ว เมื่อปี 1986 แต่คราวนี้ ต้อง
เป็นความท้าทายของทั้ง FHI และ Tan Chong Group เพราะนี่คือการวางแผนจะ
กลับมาเติบโตใน ASEAN อย่างจริงจัง และยั่งยืน ในเบื้องต้น พวกเขาตั้งเป้า
ยอดผลิตไว้แค่ 5,300 คัน ตลอดทั้งปี 2013 เพื่อประเมินดูความเสี่ยงทางธุรกิจ
และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด

ในงาน Motor Expo เดือนพฤศจิกายน 2011 Motor Image Subaru ก็นำ XV เข้ามา
อวดโฉม พร้อมประกาศว่า จะนำ XV มาประกอบขายที่โรงงานของตน ในมาเลเซีย
ปลายปี 2012 ถือเป็นการประกาศตามติดการเปิดตัว XV ในตลาดโลก อย่างรวดเร็วทันใจ

alt

เมื่อการเตรียมสายการประกอบพร้อมแล้ว พวกเขาก็เดินหน้า เปิดตัว Subaru XV
ในงาน Indonesia International Motor Show เดือนกันยายน 2012 เป็นแห่งแรกใน
ASEAN

หลังจากนั้น ในงาน Motor Expo 2012 เดือนพศจิกายน 2012 ที่ผ่านมา พวกเขาได้
นำ XV เวอร์ชันประกอบในมาเลเซีย มาอวดโฉม และประกาศเปิดรับจองกันอย่าง
เป็นทางการเสียที ด้วยราคา 1,350,000 บาท เพียงรุ่นย่อยเดียว เครื่องยนต์เดียว

ผลลัพธ์ หนะหรือครับ? XV ได้สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ให้ กับ Subaru ในเมืองไทย
ในฐานะ รถยนต์ Suabru รุ่นแรก ที่ทำยอดจองได้สูงเป็นประวัติการณ์ในระยะเวลา
สั้นๆ เพียงไม่กี่สิบวันที่เปิดรับจองเท่านั้น!

600 คัน คือตัวเลข ที่ผมได้รับการยืนยัน หลังจบงาน Motor Expo และยังไม่นับ
ตัวเลขสั่งจอง จากวันนั้น จนถึงวันนี้ ที่ปาเข้าไป 1,000 คันเศษๆแล้ว

กลายเป็นว่า ตอนนี้ ประเทศไทย ขาย XV ได้เยอะอย่างน่าอัศจรรย์ แซงหน้า
ตลาด อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงค์โปรื และฟิลิปปินส์ เรียบร้อยแล้ว เท่ากับว่า
ตอนนี้ XV ทุกคันที่ประกอบได้ใน มาเลเซีย จะต้องถูกส่งมาให้เมืองไทย
กันก่อน เป็น First priority กันเลยทีเดียว!

สภาพที่เกิดขึ้นในตอนนี้คือ โชว์รุม Subaru ที่ผุดขึ้นมาหลายแห่งพร้อมกัน
อัดแน่นไปด้วย Subaru XV โดยเฉพาะโชว์รูม ถนนเสรีไทย มีรถเทรลเลอร์
ขน XV มาลงที่โชว์รูม กันอย่างต่อเนื่อง ทุกวัน ไม่เคยมีว่าง แต่ละวัน มีลูกค้า
มารับรถ แวะชม ทดลองขับ อย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดสาย จากสภาพโชว์รูมร้าง
กลายเป็น โชว์รูมที่คึกคักขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ! และทั้งหมดนี้ ผมเห็นมาแล้ว
ด้วยสายตา 2 ข้างของผมเอง!!!!

มัน Hit แบบเงียบๆ เลยนะเนี่ย! Hit แบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย! Hit แบบที่ FHI
และ Tan Chong Group ก็ยัง งง! ว่ามันเกิดอะไรขึ้น?

บอกแล้ว เมืองไทยหนะ ยังเหลือ กำลังซื้อแอบแฝงอีกมาก ถ้าโปรโมทดีๆ
ทำตัวให้ลูกค้าเชื่อใจได้ จริงใจกับลูกค้า ก็จะทำตลาดไปได้นานๆ

alt

XV มีความยาวตัวถัง 4,450 มิลลิเมตร กว้างถึง 1,780 มิลลิเมตร สูง 1,570 มิลลิเมตร
(รวม Rack Roof จะอยู่ที่ 1,615 มิลลิเมตร) ระยะฐานล้อ ยาว 2,635 มิลลิเมตร ส่วน
ความกว้างช่วงล้อคู่หน้าและหลัง (Front & Rear Track) เท่ากันที่ 1,525 มิลลิเมตร
ระยะห่างจากพื้นถนนจนถึงพื้นใต้ท้องรถ (Ground Clearance) 220 มิลลิเมตร
น้ำหนักสุทธิ ในรุ่น 2.0 i  CVT AWD ที่เรานำมาลองขับ อยู่ที่ 1,430 กิโลกรัม…

อืม หนักเหมือนกันนะเนี่ย?

alt

XV เวอร์ชันไทย ติดตั้งชุดไฟหน้าแบบ Halogen พร้อมสวิชต์ปรับระดับความสูง -ต่ำ
ของโคมไฟหน้า จากแผงหน้าปัดภายในรถ กระจกมองข้าง สีเดียวกับตัวถัง พร้อมทั้ง
ไฟเลี้ยว LED แบบ Built-in เสาอากาศเป็นแบบ หางหนู เล็กๆ ติดตั้งบนหลังคาบริเวณ
ด้านหลังของตัวรถ มีสปอยเลอร์ด้านหลังมาให้ กาบคิ้วกันกระแทก เป็นพลาสติกสีดำ
เหนือซุ้มล้อทั้ง 4 มีไฟตัดหมอกหน้า และไฟทับทิมที่เปลือกกันชนหลัง อีกทั้งยังมี
รางหลังคา Roof-Rail สำหรับติดตั้ง กล่องใส่สัมภาระ รางใส่จักรยาน หรือแม้แต่แบก
กระดานโต้คลื่น Wind Surf  สำหรับการไปพักผ่อนต่างจังหวัด มีใบปัดน้ำฝนด้านหลัง
พร้อมที่ฉีดน้ำล้างกระจกบังลมหลัง และไล่ฝ้า เวลาทำงานที จะมีเสียงดังของมอเตอร์
ใบปัดน้ำฝนหลัง ดังให้ได้ยินจนแอบรำคาญอยู่บ้างเหมือนกัน

XV ทุกรุ่น ทุกคัน ที่จำหน่ายในโลกนี้ จะมีล้ออัลลอย ลาย 5 ก้าน ปลายแฉก ขนาด
17″ x 7″ J พ่นสีดำ เล่นลวดลายด้วยขอบสีเงินโลหะ สวมด้วยยาง ขนาด 225/55R17

alt

ประเด็นที่ผมยังข้องใจอยู่ ก็คงจะมีเพียงเรื่องเดียว คือ สีตัวถัง…
เวอร์ชันไทย มีสี มาตรฐาน คือ ขาว ดำ เงิน เทา และเพิ่มน้ำเงิน Marine Blue
แต่…ไม่เข้าใจ…ทำไมไม่นำสีส้ม เข้ามาขายด้วย?

ถ้ากลัวว่า สีส้มจะไม่ได้รับความนิยมในหมู่คนไทยแล้วละก็ คิดผิดคิดใหม่ได้ ยังทัน!

ขอยกตัวอย่างจากข้อมูลที่เผยแพร่ออกมาอย่างเป็นทางการ ก็คือ ขนาดในประเทศญี่ปุ่น
ประเทศที่นิยมซื้อรถยนต์ สีขาว กันเป็สรณะ เมื่อหลายปีที่ผ่านมา วันนี้ จากยอดขายใน
ช่วง 1 เดือนแรกที่ออกสู่ตลาดของ Subaru ก็แถลงถึงความสำเร็จของยอดสั่งจอง XV
ในญี่ปุ่นว่า ทำยอดขายได้สูงถึง 4,277 คัน ทั้งที่ตั้งเป้าหมายไว้แค่ 1,000 คัน/เดือน
เท่านั้น โดยนับยอดขายตั้งแต่ 25 กันยายน – 28 ตุลาคม 2012 เมื่อแบ่งแยกกลุ่มลูกค้า
ออกมา สถิติที่น่าสนใจจากยอดขายทั้งหมด มีดังนี้

รุ่นที่สั่งซื้อเยอะที่สุดคือ
รุ่น 2.0 i-L EyeSight  (รุ่นท็อป)        82.3%
รุ่น 2.0i-L (รุ่นรองท็อป)                    10.3%
รุ่น 2.0i  (รุ่นพื้นฐาน)                          7.4%

สีตัวถังที่ชาวญี่ปุ่นเลือกซื้อ
สีขาว Satin white pearl                26.7%
สีส้ม Tangerine orange pearl       16.5%
สีเทา Desert khaki                       13.5%
สีเงิน Ice silver metallic                 11.8%
สีดำ Crystal black silica                  9.9%
สีน้ำเงิน Deep sea blue pearl          7.7%
สีแดง Venetian red pearl               6.0%
สีเทาเข้ม Dark gray metallic            4.8%
สี Deep cherry pearl                     3.1%

เห็นได้ชัดเลยว่า สีส้ม ได้รับความนิยม มาเป็นอันดับ 2 และเป็นสีที่ถูกนำมาโปรโมท
ในการเปิดตัว XV ของหลายๆประเทศ ผมก็ยังไม่เข้าใจว่า ทำไมถึงไม่สั่งสีที่แปลกตา
และสวยโดนใจหลายๆคน แบบนี้ เข้ามาประกอบขาย ในบ้านเรากันบ้าง?

ฝากด้วยนะครับ Motor Image สั่งเข้ามาขายก็ดี สีขาว ดำ เงิน เทา หนะ มันน่าเบื่อ!

alt

การเข้า – ออกจากรถ ยังคงต้องพึ่งพากุญแจพร้อมรีโมทคอนโทรล ฝังในตัว พร้อม
สวิชต์ ปลดล็อกฝาประตูห้องเก็บของด้านหลังมาให้ รวมทั้งระบบล็อกกันขโยมย
แบบ Immobilizer ที่ติดตั้งมาให้จากโรงงาน ซึ่งอันที่จริงแล้ว น่าจะให้กุญแจ แบบ
Smart Keyless Entry พร้อมกับสวิชต์ ติดเครื่องยนต์แบบกดปุ่มได้แล้วเสียที

แต่กระนั้น ก็ยังมีผู้คนอีกจำนวนไม่น้อย ที่รับได้ และ Happy กับกุญแจแบบนี้อยู่
เพราะ บางคนมองว่า รีโมทแบบที่ผมบอก เป็นของเล่นจำพวก Gizmo ไร้สาระ
ซึ่งไม่มีประโยชน์ และไม่มีความจำเป็นกัยชีวิตของพวกเขาแต่อย่างใด

ประเด็นนี้ สำหรับผม เฉยๆ นานาจิตตัง ถือเป็นเรื่องรสนิยม ที่ผมคงขี้เกียจจะไป
ต่อล้อต่อเถียงด้วยให้ป่วยจิตเปล่าๆ แต่อยากจะบอกให้รู้ว่า ผมคงไม่บ่นอะไรเลย
ในเรื่องนี้ ถ้าเวอร์ชันญี่ปุ่น ให้กุญแจแบบเดียวกันนี้มาทุกรุ่น ทั้งที่ในความเป็นจริง
รีโมทกุญแจ พร้อมสวิชต์กดปุ่มติดเครื่องยนต์หนะ Subaru เขาทำออกมาให้กับ
XV เวอร์ช้นญี่ปุ่น รุ่น 2.0 i-L Eyesight ด้วยเนี่ยสิ!

alt

การเข้า – ออก จากบานประตูคู่หน้า ทำได้ดี พอสมควร ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่า คุณปรับเบาะ
ฝั่งคนขับ กดลงไปยังตำแหน่งต่ำที่สุดแล้วหรือยัง มิเช่นนั้น โอกาสที่หัวคุณจะไปโขก
กับขอบเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ก็เป็นไปได้

อีกทั้ง ชายล่างของประตู มีพื้นที่ค่อนข้างเยอะ มีโอกาสที่น้ำโคลน จะเปื้อนเข้ามาได้
ดังนั้น การลุกออกจากรถ อาจต้องระมัดระวังขากางเกงหรือกระโปรง เปื้อนเศษโคลน
หรือ คราบน้ำต่างๆกันด้วย

ภายในห้องโดยสารตกแต่งด้วยโทนสีดำ แผงประตูด้านข้าง ออกแบบให้วางขวดน้ำดื่ม
ขนาด 7 บาท หรือกระป๋องน้ำอัดลม รวมทั้ง สมุดเล็กๆได้แค่เล่มเดียว ส่วนบริเวณพื้นที่
วางแขน ซึ่งออกแบบมาให้วางได้สบายพอดีๆ ทั้งท่อนแขนนั้น แผงประตูฝั่งผู้โดยสาร
ด้านซ้าย จะมีช่องใส่ของจุกจิก เพิ่มมาให้อีก 1 ช่องเล็กๆ

แม้งานออกแบบจะดูภูมิฐาน แต่การใช้วัสดุภายในเป็นพลาสติก ก็มีเสียงแสดงความเห็น
จากคุณพ่อของผมว่า มันดูเชยไปหน่อย ซึ่งถ้าคนแก่บอกว่าดูเชย ทีมออกแบบของ FHI
ก็ควรจะเริ่มขบคิดกันใหม่ได้แล้วมั้ง?

alt

เบาะนั่งทั้งด้านหน้าและด้านหลัง หุ้มด้วยหนัง สีดำ แต่เบาะนั่งคู่หน้านั้น ดูเผินๆ คล้ายว่า
จะยกมาจาก Subaru Legacy / Outback รุ่นใหม่ ทั้งที่จริงๆแล้ว มีเพียงครึ่งท่อนบน
ของพนักพิง กับส่วนของพนักศีรษะที่เหมือนกันมากๆ แต่บริเวณด้านล่างลงมา โครงสร้าง
คล้ายคลึงกัน แต่ว่าลวดลายบนเบาะ แตกต่างกัน

เบาะนั่งด้านหน้า เฉพาะฝั่งคนขับเท่านั้น ที่สามารถปรับระดับ สูง – ต่ำได้ด้วยก้านโยก
ข้างเบาะรองนั่ง นอกนั้น ปรับเอน และเลื่อนขึ้นไปข้างหน้า หรือถอยหลัง ด้วยกลไก
ก้านโยกตามปกติ

พนักพิงหลัง ออกแบบมาให้รองรับบริเวณหัวไหล่ได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับใน Impreza
รุ่นเดิม แต่ในภาพรวมแล้ว ชวนให้นึกถึงสัมผัสจากเบาะนั่งของ Nissan TIIDA มากๆ
เพียงแต่ว่า มีการรองรับแผ่นหลังเพิ่มมากขึ้น และหนานุ่มกว่ากันนิดหน่อย กระนั้น
ถ้านั่งนานๆ บางคนก็อาจเกิดอาการเมื่อยหลังได้บ้าง

เบาะรองนั่ง มีความยาวในระดับที่…สำหรับผมแล้ว พอดีช่วงขา แต่ถ้าสำหรับคนทั่วไปแล้ว
มันเกือบจะพอดี ขาดไปอีกนิดเดียวจริงๆ ก็จะสมบูรณ์ การรองรับช่วงขา ก็ยังทำได้พอใช้
ตามเคย ส่วนพื้นที่เหนือศีรษะ ไม่ต้องห่วงครับ ถ้าปรับเบาะลงต่ำสุดแล้วละก็ หนึ่งฝ่ามือ
ในแนวนอน บวกกับอีกครึ่งฝ่ามือได้เลย สบายๆ!

เข็มขัดนิรภัยคู่หน้า เป็นแบบ ELR 3 จุด ปรับระดับสูง – ต่ำ ได้ พร้อมระบบลดแรงปะทะ
และดึงกลับอัตโนมัติ Pre-tensioner & Load Limiter พร้อมสัญญาณเตือนให้คาดเข็มขัด
ที่ดังสนั่น ขจรประสาทมากๆ! ร้องเตือนราวกับว่า โรงไฟฟ้าเชอโนบิลล์ จะระเบิดรอบ 2
ในอีก 20 วินาทีข้างหน้า ถ้าคุณไม่คาดเข็มขัดนิรภัยเสียแต่โดยดี!

เฮ้ยยย! ใครก็ได้ ช่วยแจ้งไปยังวิศวกรชาวญี่ปุ่นเสียทีเถอะว่า ช่วยหาเสียงเตือนที่มัน
ไม่รบกวนโสตประสาทอย่างน่ารำคาญอย่างนี้เสียทีจะได้ไหม ทุกรุ่น ของ Subaru
ที่เรานำมาทดลองขับทำรีวิวกัน ไอ้เสียงเขย่าประสาทนี่ก็ตามมาหลอกหลอนได้ทุกที
ทุกรุ่นกันเลยสิน่า!

ฝาปิดกล่องคอนโซลกลาง สามารถเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลังได้ ช่วยให้วางแขนได้สบาย
เช่นเดียวกับการวางแขนบนแผงประตู ถือว่า ออกแบบได้ดีตามหลักสรีรศาสตร์ หรือที่
เรียกว่า  Ergonomics

alt

การเข้า – ออกจากบานประตูคู่หลัง อาจต้องก้มหัวลงมามากขึ้นกว่าปกติ อีกสักหน่อย
เพื่อไม่ให้ หัวไปชนกับขอบแนวหลังคาด้านบน เช่นเดียวกับ การเข้าไปนั่งเบาะหน้า
กระจกหน้าต่างไฟฟ้า คู่หลัง เปิดเลื่อนลงมาได้ จนสุดขอบหน้าต่าง เป็นเรื่องน่ายินดี

แต่แผงประตูคู่หลังนั้น แม้ว่าจะออกแบบมาให้วางแขนได้ในตำแหน่งกำลังดี แต่มีพื้นที่
ใส่ขวดน้ำดื่ม ได้แค่ช่องเดียว ที่เหลือ ก็ต้องเลือกเอาสักอย่าง ว่าจะใช้งานอะไรกันแน่
ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นขอยึดบานประตู กับกรอบโครงเสาประตู คล้ายกับที่เคยพบมาแล้ว
ใน Impreza รุ่นก่อน แต่ในรุ่นนี้ มีการออกแบบตำแหน่งจุดยึดให้ม่ เพื่อให้ผลที่ดีขึ้น
ในการรักษาความปลอดภัย ขณะถูกชนจากด้านข้าง

มือจับเปิดประตูด้านในทั้ง 4 บาน เป็นพลาสติกชุบโครเมียม ทั้งหมด ส่วนตัวล็อก ก็จะ
ติดตั้งในแบบเดิมๆ คล้ายกับ Subaru รุ่นก่อนๆ คือ ใช้วิธีกด หรือเกี่ยวเข้าหาตัว

alt

เบาะหลัง มีมุมองศาการเอนที่ พอกันกับ เบาะหลังของ Nissan Pulsar มีพนักพิงที่คล้ายกัน
มาก คือ พอจะมีความนุ่มนวลให้ได้สัมผัสอยู่บ้าง แต่พนักศีรษะ ซึ่งต้องยกขึ้นมาใช้งานนั้น มีขอบ
ด้านล่าง ที่เย็บด้วยตะเข็บซึ่งต่อให้ยกขึ้นใช้งาน ก็ยังมีโอกาส ก่อความระคายเคืองที่ต้นคอ และ
ท้ายทอย ได้อยู่ในบางกรณี อีกทั้งตัวพนักศีรษะเอง ยังแข็งไป ถ้าต้องรองรับศีรษะของผู้โดยสาร
จากการเบรกกระทันหันผมว่า อาจมีถึงขั้นคอเคล็ดได้เหมือนกัน ยิ่งโดยเฉพาะพนักศีรษะตรงกลาง
ที่เพิ่มมาให้นี่ ยิ่งแล้วใหญ่ แข็งไปหน่อย

เบาะรองนั่ง พยายามออกแบบมาอย่างดี สำหรับเด็ก น่าจะนั่งสบาย แต่ถ้าผู้ใหญ่ตัวสูง ระดับ
171 เซ็นติเมตร อย่างผม มันสั้นไปหน่อย แถมมุมเงยยังน้อยไปนิดนึง แอบต้องนั่งชันขาบ้าง
ในบางอิริยาบถ ส่วนพนักวางแขนแบบพับเก็บได้นั้น ใช้งานได้ดี วางแขนได้เหมาะสม
เช่นเดียวกับตำแหน่งวางแขนบนแผงประตูคู่หลัง

พื้นที่เหนือศีรษะ เหลือเฟือ สำหรับคนตัวสูง 171 เซ็นติเมตร จะเหลือพื้นที่ให้แทรกนิ้ว
เข้าไปในแนวนอน ได้อีก 4 นิ้ว แบบพอดีเป๊ะ ส่วนพื้นที่วางขา ก็มีเหลือเฟือในระดับที่
เทียบเท่ากับรถยนต์ Compact C-Segment ตัวถัง 5 ประตู ทั่วๆไปในยุคนี้

เข็มขัดนิรภัยสำหรับผู้โดยสารด้านหลัง ก็ยังคงให้แบบ ELR 3 จุด มาให้ครบทั้ง 3 ตำแหน่ง
พร้อมทั้งมือจับเหนือประตูทางเข้า เป็นศาสดาสำหรับยึดเหนี่ยวทางใจ เวลาคนขับเกิดอารมณ์
บ้าเลือดซิ่งดีเดือดขึ้นมาดื้อๆ

alt

นอกจากนี้ ยังมีจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก ตามมาตรฐาน ISOFIX แถมมาให้ทั้ง ฐานเบาะหลัง
ฝั่งซ้าย และขวา ส่วนพนักพิงหลัง สามารถแบ่งพับได้ ในอัตราส่วน 60 : 40 เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บของ
ให้ยาวขึ้นกว่าเดิม

alt

ฝาประตูห้องเก็บของด้านหลัง ค้ำยันด้วยช็อกอัพ 2 ต้น ทั้งฝั่งซ้ายแลขวา ฝั่งละ 1 ต้น มีม่านแผง
บังสัมภาระ แบบถอดเก็บได้ ติดตั้งมาให้จากโรงงาน รวมทั้ง มีมือจับสำหรับดึงฝาประตูลงมาปิด
ต้องออกแรงพอสมควรเลยทีเดียว กว่าจะโน้มประตูลงมาปิดได้ บานประตูหนักอยู่เหมือนกัน
ช่องทางเข้า – ออก ของสัมภาระ มีขนาดปานกลาง ไม่เล็กและไม่ใหญ่มากเกินไป แค่พอให้
คน 2 คน เปิดฝาประตูท้าย แล้วนั่งชมวิว พระอาทิตย์ตก ริมทะเลได้แน่ๆ

alt

พื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง โดยปกติแล้วในเวอร์ชันญี่ปุ่น หรือตลาดอื่นๆ ซึ่งใส่ชุดปะยาง
มาให้ จะมีความจุ 380 ลิตร ตามมาตรฐาน (VDA) เยอรมัน แต่ถ้าใส่ยางอะไหล่ มาให้อย่างใน
เวอร์ชันไทย ความจุจดลงลงเหลือ 310 ลิตร (VDA) แต่ถ้าพับเบาะแถวหลังลงทั้งหมด จะเพิ่ม
ได้มากถึง 1,270 ลิตร (VDA)

ส่วนที่กว้างที่สุด ของพื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง อยู่ที่ 1,350 มิลลิเมตร สูง 780 มิลลิเมตร
และยาว 820 มิลลิเมตร

เวอร์ชันไทยคันที่เห็นอยู่นี้ เมื่อยกพื้นห้องเก็บของออก จะพบยางอะไหล่ ล้อเหลืองแบบบาง
ติดตั้งรวมกับ ถาดโฟม ซึ่งเจาะช่องเอาไว้ ใส่เครื่องมือประจำรถ ทั้งแม่แรง และประแจถอด
น็อตล้อ มองไปทางผนังด้านข้าง จะพบไฟส่องสว่างในห้องเก็บของด้านหลังอีกด้วย แม้ว่า
จะไม่ถึงกับสว่างนักในตอนกลางคืน แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีให้มา แถมยังมีจุดยึดขอเกี่ยว สำหรับ
ใช้เชือกเกี่ยวยึดรั้งตรึงสัมภาระเอาไว้ ไม่ให้กระเด็นกระดอนขณะเดินทาง

alt

แผงหน้าปัด ยกชุดมาจาก Impreza ใหม่ ออกแบบในสไตล์ Conventional ตกแต่งด้วยโทนสีดำ
ประดับด้วย Trim Aluminium สีเงิน ครึ่งอท่อนบน เป็นวัสดุบุนุ่ม (แต่แข็ง มาในสไตล์เดียวกับ
Ford Focus รุ่นเก่า) ส่วนครึ่งท่อนล่างของชุดแผงหน้าปัด เป็นพลาสติก Recycle ที่พบได้ใน
รถยนต์ญี่ปุ่นหลากรุ่นหลายยี่ห้อ

มองไปด้านบน แผงบังแดด ทั้ง 2 ฝั่ง มีกระจกแต่งหน้า พร้อมฝาปิดมาให้ แต่ไฟส่องแต่งหน้า
กลับไม่มีปรากฎ คุณจำเป็นต้องใช้แสงสว่างจากไฟอ่านแผนที่ ซึ่งก็มีหน้าตา ยกชุดมาจากบรรดา
Subaru รุ่นก่อนหน้านี้ หลายๆรุ่น หน้าตาคุ้นๆชะมัด! ส่วนการบุหลังคา ก็ใช้วัสดุปกติ ไม่ได้
นุ่มแน่นหนาอะไรมากมายนัก

alt

ไล่จากขวา ไปซ้าย

สวิชต์ กระจกหน้าต่างแบบไฟฟ้า มีมาให้ครบทั้ง 4 บาน ฝั่งคนขับ เป็นแบบ One-Touch ทั้ง
ขาขึ้น และขาลง

สวิชต์ ปรับกระจกมองข้างไฟฟ้า เป็นแบบลูกเต๋า มือหมุน อยากปรับกระจกมองข้างฝั่งไหน
ก็หมุนสวิชต์ไปฝั่งนั้น แล้วโยกขึ้นๆ – ลงๆ  ซ้ายๆ – ขวาๆ ตามต้องการ มีสวิชต์ พับและกาง
กระจกมองข้างมาให้ แต่เมื่อดับเครื่องยนต์แล้ว กระจกมองข้างจะไม่พับให้เองแต่อย่างใด

ใต้ช่องแอร์ฝั่งคนขับ มีสวิชต์ปรับความสว่างของแผงมาตรวัด และสวิชต์ ปรับระดับสูง – ต่ำ
ของชุดไฟหน้า รวมทั้ง สวิชต์ เปิด – ปิด การทำงานของระบบควบคุมเสถียรภาพ Traction
Control ถัดลงไป เป็นช่องเปิดสำหรับเปลี่ยนฟิวส์ และอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เกี่ยวข้อง ส่วนใต้
คอพวงมาลัย เป็นบริเวณ สำหรับจัดการกับระบบถุงลมนิรภัย

พวงมาลัยเป็นแบบ 3 ก้าน ออกแบบขึ้นมาใหม่ แต่ก็ดูคล้ายกับพวงมาลัยของ Subaru Legacy
และ Outback อยู่บ้างเหมือนกัน ที่แน่ๆ มันถูกยกชุดมาจาก Impreza รุ่นล่าสุด มาอย่างแน่นอน
แถมตำแหน่งสวิชต์ Multi-Function บนก้านพวงมาลัย ก็เหมือนกันอีก ฝั่งขวา ไว้สั่งการระบบ
ควบคุมความเร็วคงที่ Cruise Control ขณะที่ฝั่งขวานั้น ควบคุมการทำงานของชุดเครื่องเสียง
รอบๆปุ่ม รมดำ แต่มีขอบด้านล่างของก้านพวงมาลัยตรงกลาง ขลิปด้วยสีโครเมียม หนังหุ้มพวงมาลัย
ไม่ลื่นมือ และใช้งานได้ดี อีกทั้งยังมีแป้นเปลี่ยนเกียร์ Paddle Shift หลังพวงมาลัยมาให้อีกด้วย

ส่วนก้านสวิชต์ ที่เคยจัดวางตำแหน่งไว้ โคตรจะปวดหัว คราวนี้ XV ใหม่ แก้ปัญหาด้วยการ
วางตำแหน่งก้านสวิชต์ไฟหน้า ไฟเลี้ยว ไฟสูง ไฟตัดหมอกหน้า อยู่ที่ฝั่งขวา ส่วนฝั่งซ้าย
เป็นก้านสวิชต์ ใบปัดน้ำฝนคู่หน้า พร้อมที่ฉีดน้ำล้างกระจก ส่วนใบปัดหลังนั้น หมุนหัว
ก้านสวิชต์เอาได้เลย

ตั้งข้อสังเกตว่า ในรถคันที่ผมทดลองขับ เสียงการทำงานของระบบไฟฟ้าที่เชื่อมต่อกับ
มอเตอร์ใบปัดน้ำฝนด้านหลัง พร้อมที่ฉีดน้ำล้าง ดังจนชวนให้หลอนประสาทเล็กๆ ว่า
ไฟมันจะช็อตหรือเปล่าหว่า แต่ตลอดเวลาที่ใช้งาน ระบบนี้ ก็ไม่ก่อปัญหาอะไรให้ใน
ช่วงเวลาสั้นๆ แบบนี้

ถุงลมนิรภัย ติดตั้งมาให้ พิเศษกว่ารถคันอื่น เพรานอกจากจะมีถุงลมนิรภัยคู่หน้า สำหรับ
คนขับและผู้โดยสาร แล้ว ยังมี ถุงลมนิรภัย หัวเข่า สำหรับคนขับมาให้อีกด้วย ติดตั้งอยู่
ที่บริเวณใต้คอพวงมาลัยนั่นเอง!

alt

ชุดมาตรวัด ออกแบบในสไตล์เรียบง่าย มี 2 วงกลม ฝั่งซ้ายเป็นมาตรวัด รอบเครื่องยนต์ ฝั่งขวา
เป็นมาตรวดความเร็ว แสดงผลตอนกลางวัน ด้วย Font ตัวเลข สีขาว พื้นสีดำ ตกกลางคืนจะใช้
ไฟโทนสีแดงเรืองแสง Font ตัวเลข อาจง่าย สบายตา ไม่ต้องเพิ่งมากนัก เป็นมาตรวัดที่ดูดี
ละใช้งานได้ดี ตรงกลาง เป็นจอบอกตำแหน่งเกียร์ แสดงการทำงานของระบบ Cruise Control
มาตรวัดระยะทางรวม Odo Meter มาตรวัดแบบผู้ใช้ตั้งค่าเอง Trip Meter มีทั้ง Trip A และ B
และ มาตรวัดปริมาณน้ำมันในถัง กดเลือกข้อูลได้จาก ก้านสวิชต์ฝั่งขวาของหน้าจอ

เมื่อบิดกุญแจไปที่ตำแหน่ง On เข็มวัดรอบ และเข็มวัดความเร็ว จะกวาดไปยังฝั่งขวาสุด 1 รอบ
ก่อนจะกลับมาตั้งต้นใหม่ เพื่อแสดงความพร้อมในการทำงาน Subaru กำหนดให้เข็มวัดทำงาน
แบบนี้ มาตั้งนานแล้ว ก่อนที่ Isuzu จะเอาไปใช้ในรถกระบะ D-Max ของตน!

น่าเสียดาย เสียอย่างเดียว ไม่มีมาตรวัดอุณหภูมิน้ำในระบบหล่อเย็น (หม้อน้ำ) มาให้ มีเพียงแค่
ไฟแจ้งว่าอุณหภูมิยังเย็นอยู่ เป็นสีน้ำเงิน และจะเริ่มเป็นสีแดง เมื่อเครื่องยนต์ร้อนจัด Overheat

ส่วนก้านสวิชต์ฝั่งซ้ายมือที่โผล่มานั้น มีไว้เพื่อกดดูตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงทั้งแบบเฉลี่ย ปริมาณ
น้ำมันที่เหลือพอให้รถยังคงแล่นต่อไปได้ อุณหภูมิภายนอกรถ ความเร็วเฉลี่ย และนาฬิกา Digital จาก
จอแสดงข้อมูล Multi Information Display ติดตั้งไว้ด้านบนสุด เหนือแผงควบคุมกลาง

alt

พูดกันตรงๆก็คือ ออกจะเสียดาย ที่เวอร์ชันไทย ไม่มีจอแสดงข้อมูลแบบแพรวพราวที่ Subaru
เรียกมันว่า Multi Fuction Display มีหน้าจอแสดงสถานะของระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ มีมาตรวัด
กราฟฟิคสวยงาม ตื่นตาตื่นใจมาก มันถูกตัดออก เพื่อให้สามารถทำราคาขายในบ้านเราได้

คิดแล้วก็เซ็ง แต่ทำอย่างไรได้ละ? โดนตัด Option ไปแล้ว 2 รายการ นี่ยังไม่นับระบบ Redar
สั่งเบรกเองโดยอัตโนมัติ Eye Sight ที่มีหลักการทำงานเหมือนระบบ City Safety ของ Volvo
ซึ่งข้อนี้ ผมคงไม่นับ เพราะในตลาดส่งออก ก็ยังไม่เห็นมีประเทศใดที่ได้ใช้ระบบนี้ ถ้าไม่ใช่
ชาวญี่ปุ่น

สวิชต์ไฟฉุกเฉินติดตั้ง แทรกกลางระหว่างช่องแอร์คู่กลาง อยุ่ในตำแหน่งที่สะดวกต่อการใช้งาน
ผมก็เปิดมันบ่อยพอสมควร จากการต้องขยันเตือนรถคันข้างหลัง ว่าข้างหน้ามีเบรกกระทันหัน

เครื่องเสียงจาก KENWOOD เป็นวิทยุ AM/FM พร้อมเครื่องเล่น CD/MP3 ในตัว 1 แผ่น และ
มีช่องเสียบ USB กับ AUX มาให้ มีหน้าจอแบบสี Touch Screen แสดงข้อมูลได้ทั้งชื่อเพลง
แม้แต่รุปหน้าปกอัลบั้ม แต่ทำงานไม่เห็นจะไวเลย ส่วนใหญ่ต้องใช้เล็บจิ้มจึก! ลงไปบนจอ ระบบ
ถึงจะตอบสนอง แถบมีอาการเอ๋อ ติงต๊อง บ่อยๆ อาจเป็นเพราะขั้วต่อ USB ไม่แน่น เริ่มหลวมแล้ว
ก็อาจเป็นได้ แต่รถใหม่ๆ มันไม่น่าเป็น ซึ่งนั่นหมายความว่า มันห่วยมาจากโรงงาน Kenwood!?

หน้าจอ Touch Scrren เชื่อมการทำงานกับ ระบบนำทางผ่านดาวเทียม Navigation System
ใช้ข้อมูลแผนที่ จาก GARMINS พร้อม Software Menu ที่มีหน้าตาเหมือนกับ ชุดเครื่องเสียง
KENWOOD ใน Isuzu D-Max ใหม่ แทบทุกประการ! ทว่า การเลื่อนหน้าจอนั้น ไม่ง่ายเลย
ต้องลุ้นเอาว่ามันจะเลื่อนหรือไม่ บางทีต้องจอดรถเพื่อปรับชุดเครื่องเสียงกันเลย ถือว่าใช้งาน
ไม่ค่อยนะดวก และค่อนข้างต้องพึ่งพาการละสายตาจากถนนมาใช้งานเป็นประจำ ส่วนภาพ
กราฟฟิก แผนที่นั้น ก็ดูมึนงง เละเทะพอกันกับ ระบบนำทาง GARMINS ทั่วๆไปที่เจอกันอยู่

แต่คุณภาพเสียงนั้น ต้องปรับให้เข้าที่เข้าทางกัน จึงจะออกมา ดีพอใช้ได้เลย กระนั้น การปรับ
แต่ละฟังก์ชัน ออกจะวุ่นวาย และเห็นความแตกต่างได้ไม่ชัดเจนเท่าที่ควร

เครื่องปรับอากาศ เป็นแบบ อัตโนมัติ สวิชต์เป็นแบบมือหมุน แต่ไม่ได้เป็นแบบแยกฝั่งมาให้
ทำงานเย็นเร็วสมดังใจ ถ้าคุณปรับอุณหภูมิ ลงมาต่ำกว่า 25 องศา เซลสเซียส และหมุนพัดลม
ให้ทำงานเกินกว่า ขีด เบอร์ 2 หรือ 3 ขึ้นมา ก็สามารถนั่งตากแอร์เย็นฉ่ำได้ เป็นเวลานานๆ
แม้ว่า อุณหภูมิภายนอกรถ จะปาเข้าไป 36 องศาเซลเซียส ก็ตาม ข้อเสียอย่างเดียวก็คือ มัน
ทำตัวเหมือน เครื่องปรับอากาศใน Mercedes-Benz ไม่มีผิด ตรงที่ว่า จู่ๆ สักพัก ระบบจะตัด
เพื่อเปิดรับอากาศจากภายนอก เข้ามาหมุนเวียนภายในรถ ดังนั้น บางที คุณจะได้กลิ่นจาก
ภายนอกรถ อันไม่พึงประสงค์ แถมบางที มันยังมาในเวลาที่คุณไม่ประสงค์ เช่น ขณะขับ
ผ่านรถขยะ แล้วระบบดันเปิดการรับอากาศจากภายนอกพอดี!

ถัดลงไป เป็นช่องวางของขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถวางกล้องถ่ายรูป Canon PowerShot SX30IS
ที่ผมใช้อยู่ ได้อย่างสบายๆ เพียงแต่ว่า ต้องเข้าเกียร์ ในตำแหน่งอื่น ที่ไม่ใช่ P เสียก่อน จึงจะ
เอากล้อง ใส่เข้าไปวาง หรือยกกล้องออกมาได้ แถมมาพร้อมถาดกันลื่น และช่องชาร์จไฟ 12V
ดังนั้น มันจึงเหมาะในการวางกระเป๋าสตางค์ หรือ โทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมทั้งเครื่อง iPod  ขณะ
ชาร์จไฟ ไปในตัว

alt

ข้างลำตัวผู้ขับขี่ และผู้โดยสารด้านหน้า มีช่องวางแก้วน้ำพร้อมฝาปิด และฐานรองแบบนุ่ม ซึ่ง
ผมมองว่า มันอาจดีพอถ้าคณใส่เครื่องดื่มที่ไม่อาจซึมผ่านแก้วได้ แต่ถ้าใส่แก้วกระดาษ หรือ
ขวดน้ำดื่มแช่เย็น ที่มีละอองน้ำอยู่รายรอบ นานวันเข้า แผ่นรองช่องใส่แก้วนี้อาจเสื่อมสภาพ
ได้ค่อนข้างไว อีกทั้งยังมี มีช่องใส่เศษเหรียญ ใส่กุญแจ และของจุกจิกมาให้อีกด้วย

กล่องเก็บของไม่มีตัวล็อกใดๆทั้งสิ้น ยกขึ้นได้อย่างง่ายดาย ข้างในจุกล่อง CD หรือกล้องถ่ายรูป
ลงไปได้อย่างสบายๆ ถ้าเป็นกล้อง Compact DSLR-Like อย่างที่ผมใช้อยู่ แทบไม่มีปัญหาเลย
ข้งในยังมีช่องเสียบปลั๊กไฟ 12V และช่องเสียบ USB กับ AUX แถมมาให้อย่างละ 1 ตำแหน่ง

alt

ทัศนวิสัยด้านหน้า เมื่อเทียบกับ Impreza รุ่นเดิม ต้องบอกเลยว่า การขยายฐานเสาหลังคาคู่หน้า
A-Pillar ให้ยื่นล้ำไปทางด้านหน้าของรถอีก 200 มิลลิเมตร หรือ 20 เซนติเมตรนั้น ส่งผลให้เกิด
ความโปร่งสบายมากขึ้น ลดความอึดอัดทางสายตาขณะขับขี่ และช่วยเพิ่มความรู้สึกให้ผู้โดยสาร
ว่า ภายในรถ ดูกว้าง โปร่งกว่ารุ่นเดิม ส่วนการมองเห็นถนนข้างหน้า ก็ยังถือว่า ไม่มีปัญหาอะไร

อีกทั้งการที่ XV มีความสูงเพิ่มขึ้นจาก Impreza Sport Hatchback รุ่นปกติพอสมควร ดังนั้น
คุณผู้หญิงที่ชอบรถสูงๆ มองเห็นทางข้างหน้าโล่งๆ คราวนี้ละ รับประกันว่า สมใจอยากเลย!
ตำแหน่งนั่ง ก็สูงใกล้เคียงกันกับ เบาะของ Honda CR-V นั่นละ

alt

แต่เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งขวานั้น แม้จะถูกออกแบบเพื่อลดความหนาลงให้ได้มากที่สุด
เท่าที่จะเป็นไปได้แล้ว แต่ในบางครั้ง ยังแอบหลอกสายตา และบดบังในขณะเลี้ยวเข้าโค้ง
บนถนน 2 เลน สวนกัน อยู่หลายครั้ง ต้องใช้ความระมัดระวังเพิ่มขึ้นสักหน่อย แต่ก็ยังดีกว่า
บรรดารถยนต์ช่วง รุ่นปี 2001 – 2006 ที่ทำเสาหลังคาคู่หน้าล้ำมากจนเกินเหตุ จนเสาหลังคา
บังรถที่แล่นสวนมาจากทางโค้งเสียมิดมืดบอดไปหมด

กระจกมองข้าง ติดตั้ง ใกล้ตัวไปสักนิด ทั้งที่เป็นตำแหน่งมาตรฐาน สากลโลกเขาใช้กันก็ตาม
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกระจกหูช้าง ที่จำเป็นต้องออกแบบเพิ่มเข้ามา มิเช่นนั้น จะไม่สะดวก
ต่อการติดตั้งกระจกมองข้าง ในสายการประกอบ

ส่วนการมองเห็น ถือว่าทำได้ดี เพราะกระจกมีขนาดใหญ่ พอกับกระจกมองข้างของรถกระบะ
กันเลยทีเดียว แต่ขอบด้านนอก อาจโดนส่วนด้านในของกรอบ กินพื้นที่บดบังตามขอบเพียง
เล็กน้อย

alt

ขณะที่เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งซ้าย สัมผัสได้ชัดเจนเลยว่า เสาค่อนข้างบาง แต่ไว้ใจได้
กระจกมองข้าง ฝังซ้าย มีขนาดค่อนข้างใหญ่ แต่จะปรับให้ได้มุมที่คุณต้องการพอดี อาจต้อง
ใช้เวลาปรับและกะเก็งกันสักนิด การมองลอดผ่านเสาหูช้าง ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด มองเห็น
ชัดเจนดี

alt

แต่ทัศนวิสัยด้านหลังนั้น แม้จะมีความพยายามปรับปรุง เพิ่มพื้นที่กระจกให้ใหญ่โตขึ้น
เมื่อเทียบกับ Impreza Hatchback รุ่นก่อนหน้านี้ กระนั้ เสาหลังคาคู่หลัง C-Pillar ก็ยังมี
กระจก Opera โผล่ขึ้นมาอีก ฝั่งละ 1 บาน ซึ่งช่วยอะไรไม่ได้มากนัก แถมบางทียังบดบัง
จักรยานยนต์ หรือรถ Tuk Tuk ที่แล่นขนาบมาทางด้านข้างอีกด้วยแหนะ!

alt

********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

แม้ว่าในต่างประเทศ Subaru จะจัดเครื่องยนต์ตระกูล BOXER ให้ XV มากถึง 4 แบบ รวมทั้ง
FB16 เบนซิน Boxer DOHC 16 วาล์ว 1,600 ซีซี 114 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 15.3 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที พ่วงทั้งเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ และอัตโนมัติแบบ
Lineartronic CVT ส่วนในยุโรป ยังมีขุมพลัง รหัส EE20 Diesel 4 สูบนอน Boxer DOHC
16 วาล์ว 1,998 ซีซี Turbo 2 ระดับความแรง ทั้งแบบ 2.0DL พื้นฐาน 109 แรงม้า (PS) ที่
3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 31.6 กก.-ม.ที่ 1,600 – 2,200 รอบ/นาที กับรุ่น 2.0D แบบ
147 แรงม้า ที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 35.7 กก.-ม.ที่ 1,600  – 2,400 รอบ/นาที
มีเฉพาะเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ เท่านั้น

alt

แต่สำหรับ ขุมพลังของ XV เวอร์ชันไทย จะมีให้เลือกเพียงแบบเดียว เป็นเครื่องยนต์
ใหม่ล่าสุด ถือเป็น Generation ที่ 3 ของตระกูลเครื่องยนต์ สูบนอน จาก Subaru

เหตุที่ Subaru ต้องพัฒนาเครื่องยนต์ BOXER กันใหม่ทั้งยวง นั่นก็เพราะว่า พวกเขา
คำนึงถึงเรื่องอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง และการลดมลพิษให้ผ่านมาตรฐานข้อกำหนด
ต่างๆทั่วโลก มากขึ้น

เครื่องยนต์เก่า ตระกูล EJ นั้น เราคุ้นเคยกันจนเบื่อขี้หน้ามา 20 กว่าปีเข้าไปแล้ว
แน่นอนว่า แฟนๆ Subaru จะชื่นชอบ เพราะมันออกแบบมาเพื่อเน้นรีดสมรรถนะ
ด้วยลักษณะ ลูกสูบใหญ่เบ้อเร่อ แต่ ช่วงชักสั้น ยิ่งถ้าพ่วงด้วย Turbo และจูนกันดีๆ
ก็เรียกความตื่นเต้นจากผู้ขับขี่ ทุกครั้งที่กดคันเร่ง

แต่ขุมพลังใหม่ ตระกูล FB นั้น มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ทั้งหมด ชิ้นส่วนต่างๆภายใน
แทบจะใช้ร่วมกันไม่ได้เลย ภาพรวมคร่าวๆ ก็คือ ออกแบบให้ ลูกสูบเล็กลง และทำ
ช่วงชักให้ยาวขึ้น เพื่อให้รียดแรงบิดในรอบต่ำ กลาง และสูง ออกมาดีขึ้น ทั้งที่ยัง
ไม่ได้ติดตั้งระบบอัดอากาศอย่าง Turbo เข้าไป ผลก็คือ ประหยัดน้ำมันขึ้น และ
มลพิษก็น้อยลงตามไปด้วย นี่พูดกันแค่คร่าวๆ ให้เข้าใจในพื้นฐานนะครับ

เครื่องยนต์หลักของ XV ทั่วโลกรวมทั้งเมืองไทย เป็นรหัส FB20 บล็อก 4 สูบนอน
BOXER DOHC 16 วาล์ว 1,995 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 84 x 90 มิลลิเมตร
กำลังอัด 10.5 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด Multi-Point Sequential Injection
พร้อมระบบแปรผันวาล์ว AVCS (Active Valve Control System)

กำลังสูงสุด 150 แรงม้า (PS) ที่ 6,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 196 นิวตันเมตร หรือ
20.0 กก.-ม.ที่ 4,200 รอบ/นาที

alt

ถ่ายทอดกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน Lineartronic CVT ซึ่งเป็นเกียร์อัตโนมัติ
ที่ Subaru พัฒนาขึ้น จนกลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายแรกในโลก ที่นำเกียร์ CVT แบบวาง
ตามยาว ไปติดตั้งกับรถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ

อัตราทดเกียร์ D อยู่ที่ตั้งแต่ 3.581 – 0.570 : 1 เกียร์ถอยหลัง 3.667 : 1 และอัตราทดเฟืองท้าย
อยู่ที่ 3.700 : 1

ที่สำคัญก็คือ จากคันเกียร์ D ผลักมาทางขวา เข้าสู่โหมด M จะทำงานเชื่อมกับแป้น Paddle Shift
หลัวพวงมาลัย เพื่อชวยให้คุณเปลี่ยนเกียร์ได้อย่างรวดเร็ว และฉับไวยิ่งขึ้น ด้วยตัวคุณเอง ในเวลา
เพียงเสี้ยววินาที แป้น Paddle Shift สามารถสั่งการได้ แม้คันเกียร์จะอยู่ในตำแหน่งเกียร์ D แต่
ถ้าต้องการจะยกเลิกการทำงาน คุณอาจต้องกดแป้น บวก ค้าง หรือไม่ก็ผลักคันเกียร์ไปที่ M กลับ
มาที่เกียร์ D เองอีกครั้งหนึ่ง

alt

ส่งกำลังขับเคลื่อนลงสู่ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ Symmetrical All-Wheel Drive ที่พัฒนา
ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1972 จนถึงปัจจุบัน ช่วยเพิ่มเสถียรภาพในการขับขี่ ทั้งบนทางลื่นจาก
ฝน ทางลื่นจากหิมะ ทางกรวด ทางทราย หรือเส้นทาง ที่เป็นอุปสรรค ต่างๆได้พอประมาณ

ตัวเลขจากโรงงานระบุว่า รุ่นเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร ทำความเร็วสูงสุดได้ 187 กิโลเมตร/ชั่วโมง
เท่ากันทั้งรุ่นเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ (ทำได้ที่เกียร์ 5) และรุ่นเกียร์ CVT (เข้าเกียร์ตำแหน่ง D)
อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง รุ่นเกียร์ธรรมดา 10.5 วินาที รุ่นเกียร์ CVT 10.7 วินาที
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง เฉลี่ย รุ่นเกียร์ธรรมดา 6.9 ลิตร/100 กิโลเมตร รุ่นเกียร์ CVT อย่ที่
6.6 ลิตร/100 กิโลเมตร ปล่อยก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ 160 กรัม/กิโลเมตร ในรุ่นเกียร์
ธรรมดา และ 153 กรัม/กิโลเมตร ในรุ่นเกียร์ CVT

แต่ตัวเลขจากการทดลองของ Headlightmag.com จะเป็นอย่างไร? เรายังคงทำการจับเวลา
ทดลองหาอัตราเร่งด้วยวิธีการดั้งเดิม คือ ทดลองในเวลากลางคืน เพื่อลดโอกาสในการเกิด
อุบัติเหตุกับผู้ร่วมใช้เส้นทาง ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เปิดแอร์ และเปิดไฟหน้า
ผู้โดยสารและผู้ขับขี่ รวม 2 คน คือมีผม กับสักขีพยานช่วยจับเวลาอีก 1 คน ผลลัพธ์ที่ได้
เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง มีดังต่อไปนี้

alt alt alt

เป็นไงครับ ตัวเลขออกมา น่าสนใจไหมครับ ผิดคาดเลยไหมละ?

หากนับรวมรถยนต์ที่ตกรุ่นไปแล้ว และนับกันทุกรุ่น ไม่เว้นแม้แต่พิกัดเครื่องยนต์ 2.5 ลิตร
ในเกม 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง XV จะเป็นรองเพียงแค่ Nissan X-Trail 2.5 ลิตร รุ่นปี
2005 – 2008 ผลิตจากอินโดนีเซีย เท่านั้น

แต่ถ้านับกันเฉพาะรถยนต์ที่ยังมีจำหน่ายอยู่ในตอนนี้ XV เอาชนะในเกมนี้ไปได้อย่าง
ไม่น่าเชื่อ และด้วยตัวเลขที่ค่อนข้างจะทิ้งคู่แข่งคันอื่นๆ ในระดับ 0.2-0.3 วินาที

ในเมืองนอก ตัวเลขจะเป็นยังไง ผมไม่สนใจ แต่สำหรับสภาพอากาศและสภาพถนนของ
เมืองไทย มีเพียงแค่ Skoda Yeti เท่านั้น ที่ทำตัวเลขได้ใกล้เคียงกับ XV ที่เหลือ ไม่มีใคร
ทาบรัศมี XV ได้เลย ทำให้ ผู้มาใหม่จากดาวลูกไก่ กลายเป็นจ่าฝูงในเกมอัตราเร่งจากจุด
หยุดนิ่งไปครองแบบสบายๆ

แต่พอเป็นเกมอัตราเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงแล้ว จริงอยู่ว่า หากนับเฉพาะ SUV
ที่ใช้เครื่องยนต์ 2.0 ลิตร XV จะยังคงครองความเป็นจ่าฝูงเช่นเดียวกัน ทว่า หากนับรวม
ทุกรุ่นทุกคันแล้ว กลับกลายเป็นว่า Skoda Yeti 1.2 ลิตร Turbo แซงขึ้นหน้า XV ไปได้
อย่างสบายๆ และทั้ง 2 คัน ก็จะโดนทั้ง Nissan X-Trail 2.5 ลิตร รุ่นแรก กับ Honda CR-V
2.4 ลิตร ทั้ง ขับล้อหน้า และขับเคลื่อน 4 ล้อ ฉีกแซงขึ้นไป

ก็ต้องถือว่า XV ทำตัวเลขออกมาได้ดีกว่าที่ผมคาดคิดไว้นิดหน่อย อยู่ดี อย่างที่ผมเคยพูดไว้
นั่นละครับว่า “อย่าไปคิดว่า CVT ไม่แรง…จับเวลาทีไร หงายเงิบกันทุกที มันแค่ไม่เร้าใจ
เท่านั้นเอง!”

alt

ส่วนความเร็วสูงสุด “บนมาตรวัด” อยู่ที่ 196 กิโลเมตร/ชั่วโมง ณ 6,050 รอบ/นาที กว่าจะ
ไต่ความเร็วขึ้นไปถึงจุดดังกล่าวได้นั้น ต้องใช้เวลาอยู่บ้าง เข็มวัดความเร็วจะกวาดขึ้นไป
อย่างช้าๆ แต่ต่อเนื่อง จนหยุดที่ความเร็วดังกล่าว

ขอย้ำเตือนกันอีกเหมือนเช่นเคย แม้เราจะไม่มีสิทธิ์ห้าม แต่เราไม่สนับสนุนให้ใครก็ตาม
ทำการทดลองความเร็วสูงสุด ในแบบที่เราทำกันอยู่ เพราะแม้ว่าเราจะระมัดระวัง ตรวจเช็ค
สภาพรถกันอย่างดี รวมทั้งต้องรอจนกระทั่งดึกดื่นๆ ให้เส้นทางที่เราใช้ในการหาตัวเลขนั้น
ต้องปราศจากรถ คือต้องไม่เหลือรถยนต์เลยแม้แต่คันเดียว ซึ่งเป็นไปได้ค่อนข้างยากมากๆ
แต่โอกาสที่จะเกิดเหตุไม่คาดฝัน ก็เป็นไปได้สูง ดังนั้น อย่าเสี่ยงทำเช่นนี้เองโดยเด็ดขาด
นอกจากจะผิดกฎหมายจราจรแล้ว ยังอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้!

ในการใช้งานจริง อัตราเร่ง ถือว่า ไม่ได้เลวร้าย อย่างที่สื่อต่างประเทศเขาก่นด่ากัน คือต้อง
เข้าใจกันไว้ก่อนว่า รถเก๋ง ใส่ล้อ 17 นิ้ว ยางหน้ากว้างขนาด 225/55R17 แถมยกสูง และ
ตัวรถ ก็ยังมีบุคลิกของ รถหนักๆ ตามสไตล์ Subaru ที่มีขนาดเกิน 1,500 ซีซี ขึ้นมาทุกคัน
จะหนักกว่าชาวบ้านเขาอยู่สักหน่อยเป็นปกติมาแต่ไหนแต่ไร (ยกเว้นพวกรุ่นตัวแข่ง
ตัวแรงพิเศษต่างๆ บางคัน ในกลุ่ม WRX) ทำตัวเลขออกมาได้ดีกว่า CR-V นี่ก็ถือว่า
ดีมากแล้ว

แป้นเปลี่ยนเกียร์ Paddle Shift ทำงานด้วยสมองกล โปรแกรมเอาไว้ ค่อนข้างดี ทำงาน
เปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ (อันที่จริง คือตำแหน่งล็อกของพูเลย์ในระบบเกียร์) ขึ้น หรือลง
ได้ ค่อนข้างไว และถ้าจะเปลี่ยนเกียร์ลงต่ำจนเกินไป เช่นจาก เกียร์ 5 จู่ๆ จะเปลี่ยน
ลงมาที่เกียร์ 2 ทั้งที่รถยังใช้ความเร็วแถวๆ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง อย่าหวังว่าเกียร์จะ
ยอมทำงานแบบนั้นให้คุณ เพราะนั่นเหมือนกับคุณสั่งให้มันไปฆ่าตัวตาย ดังนั้น
เกียร์ก็จะไม่ทำงานให้

ถ้าจะออกตัวจากจุดหยุดนิ่ง ไปกันแบบช้าๆ อีเรื่อยเฉื่อยแฉะ เหยียบคันเร่งลงไปแค่
ราวๆ ไม่ถึง ครึ่งหนึ่ง แต่ถ้าต้องการจะพุ่งออกตัวไปเร็วๆ อาจต้องเหยียบคันเร่งกัน
ลึกสักหน่อย จากนั้น จะพบเห็นอาการ Slip ของ Torque Converter (สังเกตได้จาก
ทันทีที่กดคันเร่ง เข็มวัดรอบจะตวัดขึ้นไปเบาๆ แล้วไปหยุด ณ รอบเครื่องยนต์ที่
ตั้งโปรแกรมกันไว้) ยังคงเกิดขึ้นอยู่พอสมควร ไม่ได้แตกต่างไปจาก รถยนต์ CVT
คันอื่นๆ ทั่วไปที่ผมเคยเจอมา  ถ้าคุณเหยียบคันเร่งต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มออกตัว ณ
จุดหยุดนิ่ง หรือจากตำแหน่ง 2.000 รอบ/นาที เข็มวัดรอบ จะตวัดกวาดขึ้นไปเบาๆ
ที่แถวๆ 3,000 รอบ กลางๆ

กระนั้น ช่วงแรงบิดในรอบต่ำ จนถึงระดับ 3,500 รอบ/นาที ถือว่า แค่พอรับได้ ยังมี
แรงดึงให้สัมผัสอยู่บ้างว่า รถกำลังทะยานออกไปด้วยความเร็วในระดับที่ทำให้คุณ
ตื่นตัว เกือบจะตื่นตาตื่นใจ (ตามที่ผมแบ่งระดับไว้จาก ตื่นนอน ตื่นจากภวังค์ ตื่นตัว
ตื่นตาตื่นใจ ตื่นเต้น และแรงสุดคือตื่นกลัว)

แต่ถ้าอยากเห็นช่วงที่อัตราเร่ง พุ่งทะยานดีที่สุด ต้องรอ หลังจาก 4,000 รอบ/นาที
เป็นต้นไป คุณจะเห็นความพยายาม เพื่อเร่งนำพาให้รถ พุ่งทะยานไปมากยิ่งขึ้น

เรี่ยวแรงที่มีมาให้นั้นถือว่า เพียงพอกับการขับขี่ทั่วไป หรือถ้าคิดจะเร่งแซงบรรดา
รถเก๋ง Eco Car ขับช้าแต่แช่เลนขวา ไปจนถึง รถพ่วง 18 ล้อ ที่กำลังไต่ขึ้นทางชันอยู่
ทางเลนซ้าย นั่นเป็นเรื่องง่ายดาย และไม่ต้องออกแรงให้เหนื่อยมากมายนัก หาก
คุณไม่ใช่คนที่ตีนขวาหนักมาโดยกำเนิด หรือคุ้นชินกับการขับรถเกียร์อัตโนมัติ
มามากแล้ว

แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่คุณโดน MINI Cooper S สีน้ำเงิน มารยาททราม หรือ Toyota Camry
V6 3.5 ลิตร สันดานสถุล ที่มาขับจี้ตูด แถมพอหลบให้มันแซง ขึ้นไปได้ ก็มาขับกั๊กเลน
ขวางหน้าผม กวนส้นตีน อย่างที่ผมเจอมาแล้วละก็ ปล่อยมันไปเถอะครับ กระทืบคันเร่ง
เค้นกันขนาดไหน จะหนีหรือจะไล่ ยังไงก็ไม่ทันใจทันตีน ของไอ้เตี้ย และไอ้แก่
ที่ขาดแคลเซียมจากมารดาของพวกมัน กันหรอก!

นี่สำนวนของ ตาโจ๊ก V10ThLnD ในวันที่เราลองรถคันนี้กัน แล้วเจอเหตุการณ์จริง
เลยนะนั่น!

alt

การเก็บเสียงในช่วงความเร็วต่ำ ไม่เกิน 70 – 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถือว่ายังดีอยู่ แต่พอ
ไต่ขึ้นไปถึงระดับดังกล่าว เสียงแรกที่จะได้ยินลอยมาแต่ไก่โห่เลย คือเสียงยางบดถนนที่
ดังขึ้นมาทำลายความเงียบไปพอสมควร และจะเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ ตามความเร็วของรถ ส่วน
เสียงกระแสลมไหลผ่านตัวรถ จะมีให้ได้ยิน ตั้งแต่ช่วง เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป

ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรง รัศมีวงเลี้ยว
5.3 เมตร เซ็ตมาให้มีน้ำหนัก มากกว่า รถยนต์ยุคใหม่ๆคันอื่นๆ มันอาจจะหนักไปนิดนึง
สำหรับคุณสุภาพสตรี แต่ผมถือว่า เซ็ตมาได้ดีแล้ว ในช่วงความเร็วต่ำ อาจต้องออกแรง
ในการหมุนพวงมาลัยมากกว่ารถยนต์รุ่นใหม่ ที่ใช้พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้าคันอื่นๆ
ปกติเยอะเอาเรื่องเหมือนกัน น้ำหนักของพวงมาลัย สอดคล้องกับ น้ำหนักของตัวรถ
ที่ผู้ขับสัมผัสได้ ทุกอย่างจะสมดุลกันพอดี เลี้ยวกลับรถได้ วงเลี้ยวพอดีๆ

ส่วนการขับขี่ในช่วงความเร็วเดินทาง และความเร็วสูงกว่านั้น จะพบว่าพวงมาลัยมีระยะฟรี
อยู่นิดหน่อย แต่ยังคงนิ่ง และให้ความมั่นใจได้ดีในการบังคับควบคุม ไม่ว่าจะถือตรงๆนิ่งๆ
หรือจะเลี้ยวเข้าโค้ง อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนเลนกระทันหัน อาจต้องใช้ความระมัดระวัง
เพราะพวงมาลัยค่อนข้างจะไวต่อการตอบสนองอยู่พอสมควร

สรุปง่ายๆก็คือ เป็นพวงมาลัยไฟฟ้า ที่เซ็ตมาใกล้เคียงกับพวงมาลัยเพาเวอร์แบบ ไฮโดรลิก
ซึ่งมีบุคลิก ค่อนข้างหนืด หนักและเนือยมาก ในช่วงความเร็วต่ำๆ พอดีๆ มั่นใจได้ในขณะ
ใช้ความเร็วเดินทาง หรือการเข้าโค้ง แต่จะค่อนข้างไว ถ้าใช้ความเร็วสูง แล้วไม่ทันระวัง
ขณะคิดจะเปลี่ยนเลน

alt

ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบ แม็คเฟอร์สันสตรัต พร้อมเหล็กกันโคลงที่ออกแบบให้หนา
ขึ้นกว่ารถรุ่นก่อน (Impreza XV) ส่วนด้านหลัง เป็นแบบ ปีกนกคู่ Double Wishbone

น้ำหนักตัวรถที่เยอะ แถมเซตระบบกันสะเทือนมาในสไตล์เอาใจคนยุโรป ส่งผลให้การ
ตอบสนองในช่วงความเร็วต่ำนั้น สัมผัสได้ว่า ดูดซับแรงสะเทือนจากเนินลูกระนาด และ
หลุมบ่อ ตามตรอกซอกซอยต่างๆ ได้ดีกว่า Honda CR-V อย่างชัดเจน กระนั้น ก็ยังมีบาง
กรณี ที่ยังพบอาการตึงตัง ปรากฎให้สัมผัสอยู่บ้างเหมือนกัน ยิ่งโดยเฉพาะถ้าหลุมบ่อใด
มีลักษณะขอบหลุมค่อนข้างแหลมคม จะสัมผัสอาการสะเทือนได้ชัดเจน จากการทำงาน
ของช็อกอัพ ที่มีระยะยุบและยืดตัวขณะค่อยๆหยอดล้อลงหลุมไม่มากนักในจังหวะแรก

แต่ในการขับขี่ เดินทางไกล ยอมรับเลยว่า ณ ความเร็ว 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง คุณจะพบ
ความหนักแน่นที่แตกต่างไปจาก Honda CR-V เพียงแต่ว่า ต้องแยกให้ออกกับอาการ
พวงมาลัยที่แอบจะไวไปบ้างนิดหน่อยในบางช่วง ถ้าเจอพื้นถนนแบบลอนคลื่นหรือ
Wave สำหรับ XV แล้ว ไม่ต้องกลัวครับ ถ้าใช้ความเร็วเหมาะสม และไม่เกินขีดจำกัด
ของตัวรถ เช่นราวๆ ไม่เกิน 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง คุณพามันพุ่งเข้าไปเล่นกับลอนคลื่น
เหล่านั้นได้เลย แต่ถ้าใช้ความเร็วเกินกว่า 170 กิโลเมตร/ชั่วโมง แม้ตัวรถจะยังนิ่งอยู่
แต่อากาศที่ไหลผ่านใต้เปลือกกันชนหน้า ก็จะมีส่วนช่วยยกให้ตัวรถลอยขึ้นจากเดิม
นิดนึง เป็นธรรมดา ดังนั้น พึงสังวรณ์ไว้ว่า XV เป็น รถยนต์แนว Crossover ยกสูง
มันไม่ได้เตี้ยแบบรถสปอร์ต ดังนั้น อย่าขับแบบรถแข่ง!

เช่นเดียวกัน การพา XV เข้าโค้งต่างๆ บนทางด่วน แม้จะทำความเร็วได้สบายๆ เช่นโค้งรูป
เคียว ขวา จากอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ขึ้นและเข้าโค้งขวา เหนือมักกะสัน ไปออกโค้งซ้ายที่
ปลายโค้ง ณ โรงแรมเมอเคียว เชื่อมกับทางด่วนขั้นที่ 1 นั้น ผมพา XV หักเลี้ยวเข้าไปได้ที่
ความเร็ว 90 – 95 กิโลเมตร/ชั่วโมง และ 85 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือจะเป็นโค้งรูปเคียว ซ้าย –
ขวายาว บริเวณคลองเตย ช่วงโงเรียนพระหฤทัยคอนแวนท์ โค้งนั้น ผมก็พา XV เข้าไปได้
ด้วยความเร็ว 85 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยพอจะพบอาการหน้าดื้อบ้างนิดๆ ไม่มากนัก ถ้าคุณ
ไม่ได้เล่นกับรถจนเกินกว่าที่ควรเป็นไปนัก

แต่ก็ยังอยากให้คุณได้ตระหนักไว้ว่า XV เป็นรถที่สูงกว่ารถเก๋งธรรมดาทั่วไป การเข้าโค้
งด้วยความเร็วสูงนั้น แม้จะมั่นใจได้ว่า มีทั้งระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ คอยช่วยอยู่ และการวาง
เครื่องยนต์ ในตำแหน่งจุดศนย์ถ่วงต่ำ แต่โอกาสจะหลุดจากโค้ง เพราะยาง พื้นผิวที่ลื่นโดย
ฉับพลันไม่ทันคาดคิดหรือการเอียงของตัวรถที่มากเกินไป ก็อาจเกิดขึ้นได้ ถ้าหากคุณใช้
ความเร็วในโค้งเกินกว่าที่ควรเป็น

ระบบห้ามล้อ เป็นดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ คู่หน้ามีรูระบายความร้อน เสริมการทำงานด้วยระบบ
ป้องกันล้อล็อกขณะเบรกกระทันหัส ABS (Anti-Lock Braking System) ระบบกระจาย
แรงเบรกตามน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronics Brake Force Distribution) ระบบ
เพิ่มแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน Brake Assist พร้อมกับระบบควบคุมเสถียรภาพ VDC
(Vehicle Dynamic Control System)

การตอบสนองของแป้นเบรกถือว่า ให้สัมผัสจากการเบรกที่ไว้ใจได้ดี ในช่วงความเร็วต่ำ
ขณะขับแบบคลานๆในเมือง ยังสามารถชะลอความเร็ว และค่อยๆเลียเบรกเพื่อให้ตัวรถ
หยุดลงอย่างนิ่งและเนียนสนิท โดยไม่มีอาการเบรกจิกจนหน้าทิ่ม กระชากกระชั้น ให้
เวียนหัว

พอใช้ความเร็วเดินทาง จนถึงช่วงความเร็วสูง การหน่วงความเร็ว ถือว่าทำได้ดี น้ำหนัก
ของแป้นเบรกอยู่ในเกณฑ์ดีใช้ได้ เมื่อเทียบกับรถยุโรป หรือรถญี่ปุ่นด้วยกันเองก็ตาม
แต่ถ้าจำเป็นต้องเบรกเร็วๆ แรงๆ ตัวรถก็จะมีอาการหน้าทิ่มได้บ้างเหมือนกัน ส่วนการ
ทำงานของ ABS นั้น คุณจะต้องเหยียบแป้นเบรกลงไปให้ลึกที่สุด ระบบจึงจะทำงาน
และถ้าคิดหวังจะออกตัวให้ล้อฟรี สำหรับ XV แล้ว บนพื้นถนนธรรมดา หรือพื้นถนน
ลื่นๆ ทำใจได้เลยครับว่า ยาก ตัวรถหนักเอาเรื่องอยู่ แรงบิดที่มี ก็พอแค่ฉุดลากดึงให้
ตัวรถ พุ่งทะยานออกไปข้างหน้าเท่านั้น

alt

ด้านความปลอดภัยนั้น Subaru ขึ้นชื่ออยู่แล้วในเการออกแบบโครงสร้างตัวถังให้ทุกคน
มั่นใจได้ว่าปลอดภัยกว่ารถญี่ปุ่นทั่วๆไป และ XV ใหม่ ก็ยังคงสืบทอดความไว้ใจนั้น
ได้ต่อเนื่อง

คราวนี้ ทีมวิศวกรของ Subaru เลือกใช้เหล็กแบบ Ultra High Tensile Steel
ตามจุดต่างๆของโครงสร้างตัวถัง โดยเฉพาะ เหล็กกล้าที่ทนแรงอัดกระแทกได้สูงถึง
980 เมกกะปาสคาล ถูกนำมาใช้ขึ้นรูปบริเวณเสาหลังคากลาง B-Pillar และฐานล่าง
ของกรอบประตู ทั้ง 4 บาน คิดเป็น 5% จากเหล็กที่ใช้ทั้งคัน

ที่เหลือส่วนใหญ่ จะใช้เหล็กกล้า UHTS ที่ทนแรงอัดได้ 590 เมกกะปาสคาล ใน
บริเวณที่ต้องรองรับและส่งกระจายแรงปะทะไปยังโครงสร้างส่วนอื่น มากถึง 35%
ได้แก่บริเวณคานกันชนหน้า ต่อเนื่องไปถึงเฟรมหลักใต้ห้องเครื่องยนต์ เสาหลังคา
คู่หน้า A-Pillar ทั่ง 2 ฝั่ง เชื่อมต่อไปถึงโครงสร้างหลังคา โครงกระดูกบริเวณพื้นตัวถัง
ที่เชื่อมต่อกับทั้งเสาหลังคากลาง B-Pillar และผนังห้องเครื่องยนต์ ต่อเนื่องไปจนถึง
ฐานของเสาหลังคาคู่หลัง C-Pillar ที่เหลืออีก 5% จะเป็น เหล็ก UHTS ทนแรงอัด
ได้ 440 เมกกะปาสคาล อีกปะมาณ 5% และเหล็กแบบ High Tensile Steel อีก
55% ทั่วทั้งคันรถ

เหล็กชนิดนี้ มีข้อดีอย่างหนึ่งคือ ยิ่งทนแรงอัดกระแทกได้มากเท่าไหร่ การรักษาสภาพ
ของโครงสร้างให้อยู่ในสภาพเดิม ไปพร้อมกับการส่งกระจายแรงกระแทก จะทำได้ดี
กว่าโครงสร้างเหล็กแบบเดิมๆ

อีกทั้งบริเวณใต้ท้องรถ ก่อนถึง Sub-Frame และ ระบบกันสะเทือนด้านหลัง ที่เชื่อมต่อ
กับล้อคู่หลัง จะมีแผ่นยาง ทำหน้าที่เป็น Air Flap ควบคุมให้อากาศไหลผ่านไปอย่าง
ต่อเนื่อง และถูกทิศทาง เช่นเดียวกันกับ ครีบสามเหลี่ยมเล็กๆ บริเวณ ด้านหลังสุดของ
รางหลังคา ที่มีส่วนช่วยรีดอากาศให้ไหลผ่านในทิศทางที่ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อช่วย
ให้ตัวรถได้ใช้ประโยชน์ จากอากาศพลศาสตร์ อย่างเต็มที่

เมื่อเกิดการชนเข้าที่ด้านหน้า ไม่ว่าจะเป็นแบบเต็มหน้า ครึ่งคันหน้า หรือเฉี่ยวแบบ
ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของพื้นที่เต็มหน้ารถก็ตาม เครื่องยนต์ จะถูกออกแบบให้ดันลงไป
อยู่ที่พื้นรถ โดยท่อนเพลาขับเคลื่อนที่ส่งกำลังไปยังล้อคู่หลัง จะถูกเครื่องยนต์
ดันให้หักตัวตามข้อต่อท่อนเพลา ทั้ง 2 ตำแหน่ง เพื่อไม่ให้เครื่องยนต์ พุ่งเข้ามา
ทำอันตรายกับพื้นที่ส่วนขาของผู้ขับขี่และผู้โดยสาร

alt

ด้วยการออกแบบโครงสร้าง และการเน้นให้ความสำคัญด้านโครงสร้างตัวถัง กับความ
ปลอดภัย ทำให้ Subaru XV ผ่านมาตรฐานทดสอบการชน ของ EuroNCAP ในระดับ
5 ดาว โดยได้คะแนนการป้องกันผู้ขับขี่แลผู้โดยสารด้านหน้า 86% การปกป้องเด็ก
บนเบาะนิรภัย 90% ปกป้องคนเดินถนน 64% และการช่วยเหลือของระบบควบคุม
เสถียรภาพ 86% รายละเอียดเพิ่มเติม คลิกเข้าไปอ่านได้ที่นี่
http://www.euroncap.com/results/subaru/xv/2012/470.aspx

alt

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

สิ่งที่ลูกค้าที่คิดจะเปลี่ยนใจมาซื้อรถยนต์อย่าง Subaru มักจะตั้งข้อสงสัยก็คือ แล้ว
ความประหยัดน้ำมันละ จะสู้ใครเขาได้หรือเปล่า? ที่ผ่านมา Subaru เองก็ไม่เคยมี
ชื่อเสียงด้านความประหยัดน้ำมันมากนัก เพิ่งจะมาดังในด้านนี้กับชาวบ้านเขา ก็
ตั้งแต่ Legacy รุ่นป้าอ้วน กับ Outback ใหม่รุ่นเมียนายพรานเนี่ยแหละ ที่ดัน
ประหยัดน้ำมันเกินหน้าเกินตาพี่น้องร่วมตระกูลเขาดื้อๆ

เราจึงยังต้องทำการทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย กันด้วยวิธีการดั้งเดิม
นั่นคือ นำรถไปเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron ที่สถานีบริการน้ำมัน Caltex ณ
ถนนพหลโยธิน ใกล้สถานีรถไฟฟ้า BTS ซอยอารีย์ ให้เต็มถัง และเราเติมกันแค่
หัวจ่ายตัดก็เพียงพอแล้ว

สำหรับ SUV เราไม่เขย่ารถละครับ…ถ้าใครจะมาถามว่า ทำไม? ผมได้แต่
ขอเรียนเชิญว่า ถ้าคิดว่าเขย่าไหว ก็กราบเรียนนมัสการ เขย่ากันเองนะครับ
ผมขอลากลับบ้านไปนอนครอกฟี้ก่อนคนนึงละ!

ผู้บริโภคในกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่ทำใจยอมรับอยู่แล้วว่า ยังไงๆ SUV จะกินน้ำมัน
มากกว่ารถเก๋งแน่ๆ และแค่อยากรู้อัตราสิ้นเปลืองแบบ รู้ไว้ใช้ว่าใส่บ่าแบกหาม
เท่านั้น เราจึงเลือกจะทดลองอัตราสิ้นปลืองเชื้อเพลิง กันด้วยวิธี เติมน้ำมันแค่
ให้หัวจ่ายตัด ก็พอแล้ว

สักขีพยานของเราคราวนี้ เป็นตาโจ๊ก V10 ThLnD คนเดิม น้ำหนักตัวเท่าเดิม
ย้อนกลับไปหารีวิวเก่าๆดุเอาแล้วกันครับว่า ผมกับโจ๊ก 2 คน น้ำหนักรวมกัน
เท่าไหร่?

alt

พอเติมน้ำมันเรียบร้อย เราก็ ขึ้นรถคาดเข็มขัดนิรภัย เซ็ต 0 บน Trip Meter A
เพื่อตั้งวัดระยะทาง ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ ไปที่อุณหภูมิ 25 องศา พัดลมเบอร์ 2
เมื่อพร้อมแล้ว เราก็เริ่มออกรถ เลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน เข้าวอยอารีย์ ทะลุ
ไปออกปากซอย โรงเรียนเรวดี แล้ว ขึ้นทางด่วนที่ด่านพระราม 6 มุ่งหน้าไปยัง
ปลายสุดทางด่วนสายเชียงราก (อุดรรัถยา) แล้วเลี้ยวกลับมาย้อนขึ้นทางด่วนเดิม
กันอีกครั้ง มุ่งหน้ากลับเข้ามายัง กรุงเทพมหานคร

รักษามาตรฐานเดิม คือ ใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน
เปิด Cruise Control สลับกับปิดมันทิ้งบ้าง เพราะ Cruise Control ทำตัวน่าถีบ
คือจะเร่งลากรอบขึ้นไปชนิดถวายชีวิตทันทีที่ขึ้นเนิน จนแทบอยากจะด่า
เป็นภาษาฮิบรูว่า “เสือกไม่เข้าเรื่อง!” แบบนี้ รักษาความเร็วได้ แต่รักษา
รอบเครื่องยนต์ไว้ยากมาก เลยต้องใช้วิธีปลดระบบตอนขึ้นเนิน สลับกับ
เปิดระบบในช่วงที่รถแล่นทางตรงเรียบๆ ไม่ได้ขึ้นทางชัน

ความเร็วบนมาตรวัด เมื่อเทียบกันแล้ว ที่ระดับ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง GPS
จะวัดได้ที่ 105 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพี้ยนระดับเกือบจะไม่ปกติแล้ว อีกนิดเดียว

alt

เมื่อมาถึงทางลงอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย เข้าถนนพหลโยธิน กันอีกครั้ง แล้วเลี้ยวกลับรถที่ สถานีรถไฟฟ้า
BTS อารีย์ แล้วพุ่งเข้าไปยังสถานีบริการน้ำมัน Caltex แห่งเดิม เพื่อเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron ให้เต็มถังอีกครั้ง
เอาแค่หัวจ่ายตัดก็พอ เหมือนเช่นการเติมครั้งแรก เติมที่หัวจ่ายเดิม และแม้แต่เด็กปั้ม ก็ยังเป็น เจ้าโต้ จอมกะล่อน คนเดิม!!

alt

เมื่อเติมน้ำมันกันจนเสร็จแล้ว ก็ได้เวลามาคำนวน หาตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองของ XV กันเสียที!

ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด 91.7 กิโลเมตร

ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 6.36 ลิตร
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 14.41 กิโลเมตร/ลิตร

alt alt alt

พอเทียบตัวเลขกับกลุ่ม Compact SUV ทุกคันแล้ว เห็นภาพเลยครับว่า ไม่เพียงแค่เกม
จับเวลา 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง เท่านั้น ที่ XV เบียดชาวบ้านชาวช่องขึ้นนำเป็นจ่าฝูง
แต่ยังไม่เว้นไปถึงอัตราสิ้นเปืองเชื้อเพลิงน้ำมัน เมื่อแล่นทางไกล ที่ XV กลายเป็น
ผู้กำชัยชนะไปได้ง่ายๆ ดื้อๆ เสียอย่างนั้น!!

งานนี้ ชัดเจนครับว่า มีเพียงแค่ Honda CR-V 2.4 ลิตร Gen 2 เท่านั้น ที่ทำตัวเลขออกมา
ได้ใกล้เคียง อย่างไม่น่าเชื่อ คือมี 14.37 กิโลเมตร/ลิตร ส่วนใหญ่ รถยนต์ SUV พวกนี้
อย่าหวังเลยครับว่าจะพ้น 14 กิโลเมตร/ลิตร ขึ้นมากันได้ง่ายๆ การที่ XV ทำตัวเลขมา
ได้ขนาดนี้ถือเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจอยู่เหมือนกัน

alt

ว่าแต่..ในการใช้งานจริง น้ำมันเบนซิน 95 ล้วนๆ 1 ถัง จะพา XV แล่นไปได้ไกลแค่ไหน
คำตอบก็คือ หลังจากทดลองจับเวลาหาอัตราเร่ง ทำความเร็วสูงสุดไป 1 ครั้ง ที่เหลือก็ขับ
ใช้งาน บนทางด่วน เจอรถติดบ้าง นิดหน่อย ไม่เยอะนัก ตัวเลขสรุปสุดท้ายออกมาว่า
แล่นได้ราวๆ 449 กิโลเมตร..ตีเป็นเลขกลมๆ ได้ 450 กิโลเมตร แถมยังเหลือน้ำมันอีก
2 ขีด พอให้แล่นต่อไปได้อีกราวๆ 70 กิโลเมตร ดังนั้น น้ำมัน 1 ถัง น่าจะแล่นได้ไกล
ราวๆ 520 กิโลเมตร ยกเว้นเสียแต่ว่า ถ้าขับทางไกล แช่นิ่งๆ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง
หรือต่ำกว่านั้น โอกาสที่จะทำได้ 700 กิโลเมตร ใน 1 ถัง ก็เป็นไปได้สูง

แต่อย่าคาดหวังถ้าคุณขับ XV ในเมืองเป็นหลัก เข็มน้ำมันจะลดลงมาค่อนข้างเร็ว
จนทำให้คุณนึกถึง บุคลิกเข็มน้ำมันของ Honda Civic FD ที่เพิ่งตกรุ่นไปนั่นละครบ
วิ่งทางไกล เนี๊ยนเนียน ประหยัดสุดๆ แต่พอวิ่งเข้ามาเจอรถติดในเมือง เอ่อ ทำไม
เข็มน้ำมันลดลงเร็วจัง?

********** การบริการหลังการขาย **********

สำหรับหลายๆครอบครัวแล้ว สิ่งหนึ่งที่หลายคนกังวลในการซื้อรถใหม่ป้ายแดง นั่นคือ
บริการหลังการขาย ยิ่งกับยี่ห้อที่ไม่ได้มีศูนย์บริการเยอะแยะมากมายเท่ากับเจ้าตลาดแล้ว
เรื่องนี้ ถือเป็นประเด็นชี้ชะตา ว่ารถยนต์ที่ตนเลือก จะได้มาอยู่ในบ้านสมดังใจหรือไม่
และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ความชำนาญ เชี่ยวชาญ ในรถยนต์ที่คุณจะเป็นเจ้าของนั้น
จะทำให้อุ่นใจขึ้นมาบ้างได้หรือไม่?

ต้องยอมรับความจริงว่า Subaru เป็นอีกแบรนด์หนึ่งที่ หลายคนยังคงกังวลอยู่ ว่า เรื่อง
การบริการหลังการขาย จะออกแนวลูกผี หรือลูกคน

แต่วันนี้ ความกังวล ก็ลดลงไปได้แล้วในระดับหนึ่ง และผมเชื่อใจได้ในระดับหนึ่งว่า
ยังออกแนวลูกคนอยู่ เพียงแต่ว่า มันก็มาพร้อมกับกรณีศึกษาที่พวกเขาเองก็ต้องเรียนรู้
ไว้ด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อไม่ให้มีเหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นซ้ำรอยอีก

เรื่องมีอยู่ว่า คืนวันที่ผมเพิ่งรับรถทดลองขับมานั้น เราตัดสินใจทำการทดลองหาอัตรา
สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงกันทันที โดยทำการทดลองอย่างที่คุณได้เห็นข้างต้นไป

ทว่า ในครั้งแรกที่ยืมรถมานั้น เราทำการทดลองไม่จบ!

เพราะในขณะที่ผมกำลังขับ Subaru XV คันนี้ บนทางด่วน ขากลับ ช่วงลงเนินเมืองทองธานี
กำลังมุ่งหน้าเข้าไปยังด่านเก็บค่าผ่านทาง ประชาชื่น…ช่วงเวลาราวๆ 5 ทุ่มกว่าๆ ด้วยความเร็ว
ปกติ ในการทดลองอัตราสิ้นเปลือง คือ วิ่ง 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน

ผมสังเกตในช่วงครึ่งหลังของการทดลองอยู่แล้วว่า ทำไม เร่งแล้วรถมันหน่วงๆ ไม่ค่อยอยาก
จะเร่งขึ้นไปเลย ผิดวิสัยปกติอยู่

ทันใดนั้น รถก็เกิดอาการกระตุกไปข้างหน้า เหมือนถูกฉุดด้วย Engine Brake จากนั้น
ผมก็ได้ยินเสียงต่อไปนี้….ในอีกเพียงเสี้ยววินาทีถัดมา

“ตึงงง!….ครืดๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ ฟึบๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ…….!!!!”

เสียงนั่นมันมาจากระบบที่เกี่ยวข้องกับเกียร์ และชุดเพลาขับหน้า!

ตั้งแต่เริ่มทำการทดลองรถมา เจอกรณีรถมีปัญหาด้านเครื่องยนต์กลไก จนพังคามือผมครั้งนี้
เป็นครั้งแรก! จังหวะนั้น ตั้งสติ เปิดไฟฉุกเฉิน พยายามนำรถเข้าไปจอดริมไหล่ทางด้านซ้าย

เครื่องยนต์ยังติดอยู่ทำงานได้ เปิดแอร์ได้ แต่เข้าเกียร์ D รถไม่ยอมเดินหน้า เข้าเกียร์ R
รถไม่ยอมถอยหลัง..บ๊ะแหล่ว! เกียร์พัง หรือไม่ก็ระบบขับเคลื่อนส่วนใดส่วนหนึ่ง พัง!

ผมโทรหาตาแพน Commander CHENG ของเรา แจ้งอาการที่เกิดขึ้น เจ้าตัวให้ผมลองเช็ค
ซ้ำอีกครั้ง ยืนยันได้ว่า ระบบขับเคลื่อน มันขึ้นสวรรค์ไปแล้วจริงๆ เลยออกจากรถ เดินไป
กดปุ่มบนตู้ SOS สีส้ม เรียกเจ้าหน้าที่ทางด่วน มาช่วยเหลือ

หน่วยกู้ภัยทางด่วน มาถึงในเวลาหลังจากนั้นไม่นานนัก เขาแจ้งกับผมว่า ปกติ เค้าไม่ให้
นำรถ Slide On มารับรถจอดเสียลงไป ถือว่ามันผิดกฎของทางด่วน แต่เคสนี้ เจ้าหน้าที่เขา
เห็นว่าเป็นรถใหม่ป้ายแดง เลยไม่อยากยุ่ง บอกให้ ทาง Subaru เอา Slide On ขึ้นมายก
ลากลงไปเองได้เลย “อยากให้เค้าเห็นสภาพมันดิบๆแบบนี้แหละ จะได้ไม่ต้องมาโทษ เจ้าหน้าที่
ทางด่วน” โดยระหว่างที่รอ เขาจะทำการ กั้นเตือนผู้ใช้ทางเพื่อความปลอดภัยของเราต่อไป

ผมโทรหา คุณตะวัน ผู้จัดการฝ่ายการตลาดคนใหม่ ไม่ติด คาดว่าคงหลับไปแล้ว เลยเสี่ยงโทรหา
คุณอภิชัย ผู้บริหารของ Motor Image ตอนเที่ยงคืน จ้าตัวก็บอกว่า ขอโทษที่ทำให้เสียเวลา
และรีบช่วยโทรประสาน คุณปอง Slide On ส่งน้องเต้ย มารับเจ้าขาว ขึ้นรถลาก Slide On
ไปส่งที่ โชว์รูม เสรีไทย เรียบร้อย

ผู้การแพนมารับผมกับน้องต๊อบ The Coup team ผู้ร่วมทดลองในครั้งแรก ลงจากทางด่วน
เพื่อให้เราสองคน เรียก Taxi กลับบ้านกันได้สะดวกขึ้น ต้องขอบคุณแพนมากๆ ที่มาช่วย
เรา 2 คนในครั้งนี้

ผมไม่เข้าใจว่า ทำไม มันพังได้ยังไง รถใหม่ป้ายแดง วิ่งมา 1,800 กม. เองนะ!?

11 โมงเช้า วันต่อมา หลังจากผมตื่นนอนแล้ว สะบัดๆ ให้หายง่วงสักพัก ก็โทรศัพท์
ไปหา คุณตะวัน เพื่อถามว่า ผลการชันสูตรปัญหาเมื่อคืน เกิดจากสาเหตุใด

คำตอบที่ได้รับ มาพร้อมกับน้ำเสียง ที่ยอมรับความผิดอย่างจริงใจ ไม่เสแสร้ง คุณตะวัน
บอกกับผม ตรงไปตรงมาว่า

“เติมน้ำมันหล่อลื่นสำหรับเฟืองท้ายของเพลาขับล้อหน้าน้อยไป”

เรื่องก็คือ เมื่อวันที่ผมไปรับรถครั้งแรกนั้น คุณตะวัน แจ้งให้ช่างประจำศูนย์บริการด้านหลัง
โชว์รูม เสรีไทย ตรวจเช็คเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องทั้งหมด เช็คสภาพรถให้สมบูรณ์ที่สุด และ
เมื่อเสร็จแล้ว คุณตะวัน ก็นำรถออกจากศูนย์ฯ ไปวนรอบๆ ถนนเสรีไทย อีกครั้ง เพื่อให้
แน่ใจว่าจะไม่มีอะไรผิดปกติ ก่อนจะส่งมอบรถให้กับผม

แต่ จากการสืบสวนก็พบว่า ช่างในศูนย์บริการ ทำเกินหน้าที่ไปหน่อย คือกะว่าจะเปลี่ยนถ่าย
น้ำมันหล่อลื่นเฟืองท้ายของเพลาขับล้อคู่หน้า แต่ปรากฎว่า ตอนใส่กลับ น่าจะใส่น้อย หรือ
ต่ำกว่าที่คู่มือกำหนดไว้ จนเมื่อรถยนต์แล่นติดต่อกันไม่นานเท่าไหร่ ก็เกิดความร้อนอย่างหนัก
ในระบบ จนทำให้ชุดเพลาขับหน้า เกิดความเสียหายอย่างที่เป็นนั่นแหละ

เคสนี้ ถือเป็นกรณีแรกในไทย…(และดูเหมือนกรณีแรกในโลกหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ)
ที่เกิดขึ้นกับ XV ทำให้เราได้ค้นพบว่า ช่างในศูนย์บริการ จำเป็นต้องเติมน้ำมันหล่อลื่น
ในจุดนี้ (ตามที่คู่มือผู้ใช้รถระบุว่า ประมาณ 1.35 ลิตร) ให้ครบ ตามจำนวน เพื่อไม่ให้
ชุดเฟืองในเพลาขับหน้า เกิดความร้อนจากการทำงานสูงเกินไป แล้วเกิดอาการนี้ขึ้น

ความผิดพลาดหนะ เกิดขึ้นได้ และไม่มีใครอยากให้มันเกิดหรอก แต่ในเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว
คุณกล้าจะยอมรับความจริง และพูดความจริง กับผมมากน้อยแค่ไหน?

คุณตะวัน ตัดสินใจ เลือกจะบอกความจริงกับผม และแม้แต่คุณอภิชัย ผู้บริหารของ Motor Image
ก็ยังเห็นด้วย กับการตัดสินใจครั้งนี้ ในระหว่างที่ คุณอภิชัยเอง ก็เรียกผู้เกี่ยวข้อง ขึ้นไปอบรม
หรืออันที่จริง น่าจะถูกเรียกว่า “ด่า” ชุดใหญ่!

คุณตะวัน ให้เหตุผลกับผมว่า “ผมไม่ชอบโกหก ผมรู้ดีว่า ผมควรพูดความจริง เพราะถ้า
ผมโกหกแล้วคุณจิมมี่เอง รู้ความจริงอยู่แล้ว ก็คงจะรู้สึกแย่ หรือเกลียดผมไปเลยแน่ๆ”

และแน่นอนครับ ผมเอง ก็เห็นด้วย และสบายใจได้ทันที! โอ้! นี่แหละ Attitude อย่างนี้ละ
ที่ผมชื่นชอบ!

ว่าถ้าลูกค้าทั่วไปอย่างคุณ เจอเหตุการณ์แบบนี้ คุณจะได้รับรู้ความจริง รวมทั้งแนวทาง
ในการแก้ไขปัญหา อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งนั่นถือว่าเป็นสิ่งที่ดี

ก็คงต้องบอกว่า ขอชื่นชม ในการตัดสินใจ บอกความจริงกับผม ของทั้งคุณตะวัน และคุณอภิชัย
ซึ่งนั่นทำให้ผม คลายความคับข้องกังวลใจลงไปได้เยอะ หายเป็นปลิดทิ้ง!

นี่แหละ คือสิ่งที่ผมคาดหวังจะเห็น จาก คนรุ่นใหม่ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในองค์กรใดก็ตาม
ในประเทศไทยของเรา!

ไม่ต้องกลัวหรอกว่า ผู้บริโภคจะโกรธ..แค่คุณพูดความจริงแต่แรก ลูกค้าจะเบาใจ และพร้อม
จะช่วยเหลือคุณเสียด้วยซ้ำ (ถ้าลูกค้ารายนั้นไม่งี่เง่าจนเกินไปนะ)

และเพื่อเป็นการให้โอกาสแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด ผมจึงบอกกับคุณตะวัน ว่า เมื่อรถซ่อมเสร็จแล้ว
ถ้าเป็นคนทั่วไป อาจจะยังแหยงๆ ไม่กล้าใช้รถคันนี้อีก แต่สำหรับผม “ไม่กลัวครับ”  บอกไป
ว่า ถ้าซ่อมเสร็จแล้ว ก็นัดวันเวลากันมาได้เลยว่าจะมี Match ล้างตา กันอีกรอบ เมื่อไหร่

พอถึงเวลา ผมก็เลือกว่า ขอยืมรถเป็น คันสีขาว คันเดิม คันนี้นั่นแหละ มาลองขับอีกครั้ง
ให้มั่นใจเลยว่า หลังจากที่พวกเา สั่งเพลาขับล้อหน้าจากญี่ปุ่นมาเปลี่ยนใหม่แล้ว มันจะ
ไม่มีปัญหาอะไรอีก

และตลอดระยะเวลาที่ รถคันสีขาวนี้ กลับมาอยู่กับผมอีกครั้ง 5 วัน 4 คืน ก็ไม่ปรากฎปัญหา
ใดๆจากระบบขับเคลื่อนเลย ยกเว้นว่า การเข้าเกียร์จาก P ลงมา R หรือ D ต้องออกแรงมาก
กว่าปกติสักหน่อย และต้องใช้วธีดันคันเกียร์กลับเข้าไปที่ P แล้วโยกกระชากลงมาบ้าง
เป็นบางครั้ง ซึ่งเมื่อส่งคืนรถกลับไปแล้ว ก็จะมีการแก้ไขหาสาเหตุกันต่อไป

อยากจะให้เคสนี้ เป็นกรณีตัวอย่าง สำหรับ “ดีลเลอร์ โชว์รูมผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ ทุกค่าย”
ว่าถ้าคุณ มีการเตรียมความพร้อม ในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ฉุกเฉิน ให้ลูกค้า และกล้า
ยอมรับผิด กล้าขอโทษลูกค้า กล้าชี้แจงความจริงทั้งหมดที่เกิดขึ้น อย่างจริงใจ รวมทั้งทางออก
กับวิธีการแก้ไขปัญหา ผมมั่นใจว่า 8 ใน 10 ของลูกค้าที่เจอเหตุการณ์แบบนี้ จะเข้าใจ และ
ยอมรับกับการแก้ไขปัญหาของคุณได้แน่ๆ เคสของ Subaru ครั้งนี้ คือเคสการแก้ปัญหาที่
คุณควรเอาเยี่ยงอย่าง!

ฝากไว้ด้วยครับ เพราะถ้าผู้บริโภค มีความสุข พวกเขาจะแนะนำคุณกันต่อไป และคุณก็จะได้ใจ
จากลูกค้าไปเต็มๆ ปล่อยพวกความคิดหัวโบราณ ที่รักษาแต่ชื่อเสียงภาพลักษณ์โชว์รูมตัวเอง
ให้อยู่ในโลกอันโสมม อย่างเดิมนั่นต่อไปเถอะ!

และฝากไปยังช่างในศูนย์บริการของรถยนต์”ทุกค่าย” ด้วยเช่นกันว่า ของเหลวในระบบต่างๆ
ของรถยนต์นั้น อย่างได้สะเพร่า เติมพร่อง หรือเติมเกิน เป็นอันขาด เพราะความเสียหายที่
จะตามมานั้น มันอาจต้องแลกด้วยชีวิตของลูกค้าเลยทีเดียว คุณไม่รู้สึกบาปกันบ้างเลยเหรอ
ถ้าทำงานชุ่ยๆ เช่นขันน็อตล้อ ไม่แน่น แล้วลูกค้าขับรถออกไป ล้อหลุดกลางทาง รถคว่ำจน
เสียชีวิตหนะ?

alt

********** สรุป **********
Right Product (Car) in the Right place…and on the Right Time!

ในหนังเรื่อง That Thing you do มีอยู่ฉากหนึ่ง ที่เป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางของกลุ่มศิลปิน
หน้าใหม่ กลุ่มนั้น ก็คือ การที่พวกเขาขึ้นประกวดบนเวทีในโรงเรียน High-School ขณะที่
วงอื่นๆ ล้วนแล้วแต่นำเสนอเพลงน่าเบื่อ อย่างเพลง Polka หรือแม้แต่ Folksong แต่จู่ๆ กลุ่ม
ของ Guy Patterson ก็เดินขึ้นเวที แม้จะไม่มั่นใจนัก แต่ Guy ก็เชื่อมั่นในความคิดตัวเองที่จะ
กำหนดจังหวะของกลุ่ม ให้เป็นไปในทางที่ตนถนัด แม้จะไม่ใช่สิ่งที่หัวหน้าวงคิดไว้ ทว่า
จังหวะกลองแบบแปลกๆของเขา กลับเรียกเสียงปรบมือกู่ร้องกึกก้องไปทั่ว แม้แต่หัวหน้าวง
ก็ยังค้นพบทางสว่างจากไอเดียของ Guy เลยด้วยซ้ำ

Subaru ก็เช่นเดียวกัน ในตลาดต่างประเทศที่ยังมีสถานการณ์พอไปได้อยู่นั้น การเปิดตัว XV
ถือเป็นการช่วยเสริมทัพ และพาให้แบรนด์ Subaru เปิดกว้างกับกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ที่ไม่เคยซื้อ
Subaru มาก่อน ได้อีกมาก

แต่สำหรับในเมืองไทย ไม่เพียงแค่ XV จะทำหน้าที่เดียวกันได้อย่างสมบูรณ์ หากแต่การ
ยอมรับจากลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นชินกับ Subaru มาเลยเหล่านี้ ได้เปลี่ยนแปลงองค์กร
อย่าง Motor Image เอง ไปเยอะเหมือนกัน

โชว์รูมที่เคยเงียบเหงา กลับคึกคักขึ้นมา การริเริ่มทำตลาดกับกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ เปิดกว้าง
มากยิ่งขึ้น จนถึงขั้นที่เรา เริ่มเห็นป้ายโฆษณา Billboard ริม Motor Way และ ทางด่วน
วิภาวดีรังสิต มากถึง 3 ป้าย! อย่าลิมนะว่า Subaru ไม่เคยมีป้าย Buillboard ในบ้านเรา
นานมากหลายสิบปีแล้ว ดังนั้น ลูกค้ายิ่งมั่นใจในแบรนด์มากขึ้น

แม้แต่เพื่อนสมัยเรียนของผม อย่าง ตา กอบกิจ คนที่ดูมีแนวโน้มน่าจะมองและคิดแบบ
อนุรักษ์นิยม ยังกล้าสั่งจอง XV ล็อตแรกๆ ไปแล้วเลยด้วยซ้ำ แถมรับรถมาแล้วอีกด้วย!

ถือได้ว่า เป็นรถยนต์ ที่เหมาะสมกับตลาดเมืองไทย ที่มาเปิดตัวในเวลาอันเหมาะสม

รถมันดีขนาดนั้นจริงเหรอ?

alt

ครับ ถ้ามองเรื่องราคามาเป็นองค์ประกอบ ถือว่า เหมาะสมแล้ว ลูกค้าคนไทย ยังต้องการ
รถยนต์ Crossover SUV ที่มีส่วนผสมลงตัวระหว่างบุคลิกรถเก๋ง กับ SUV แบบดั้งเดิม
ใช้งานไม่ต้องลุยมากมาย แต่มีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ เผื่อไว้ให้ลุยได้นิดๆก็พอแล้ว
ลูกค้ากลุ่มนี้ กำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

XV ก็ตอบโจทย์พวกเขาได้ดี ด้วยสมรรถนะการขับขี่ ที่มีบุคลิก รถหนักๆ ขับมั่นๆ
เข้าโค้งไม่ต้องหวั่น ทั้งที่รถก็สูง และให้อากัปกิริยาต่างๆ แทบไม่ต่างจากพี่ชายอย่าง
Subaru Outback รุ่นล่าสุดเท่าใดเลย เพียงแต่มาในตัวถังที่เล็ก และสั้นกว่านิดเดียว
เท่านั้น อัตราเร่ง ก็ถือว่าทำได้ดีไม่น้อยหน้าใคร อัตราสิ้นเปลือง ถ้าวิ่งทางไกล ดูท่า
จะประหยัดกว่าเพื่อนฝูงอย่างที่เห็นในตาราง พื้นที่ภายในห้องโดยสาร ก็สบายๆ
อเนกประสงค์ได้พอสมควร ใกล้เคียงคู่แข่ง แถมมาในราคาแค่ 1,350,000 บาท
ซึ่งถูกมากๆ กับรถยนต์ที่ทำออกมาได้ดีขนาดนี้ในภาพรวม

ข้อที่ควรปรับปรุง มีอยู่บ้าง เล็กๆน้อยๆ แต่ก็ไม่เยอะนัก เช่นการเพิ่มกุญแจ Smart Entry
หน้าจอ Multi Display จากเวอร์ชันญี่ปุ่น เพื่อให้รถดูคุ้มราคามากขึ้น การเปลี่ยนชุด
เครื่องเสียงติดรถยนต์ใหม่ ให้ใช้งานง่าย ไม่ Error ตีรวนบ่อยขนาดนี้ รวมทั้งการลด
แรงเสียดทานในระบบกลไก และโครงสร้างตัวถัง เพื่อเพิ่มอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
ให้ได้มากกว่านี้อีก แต่ต้องไม่ไปลดทอนสมรรถนะ การขับขี่ ในภาพรวม ซึ่งดีอยู่แล้ว

ที่สำคัญ ต้องบอกกันก่อนว่า XV ไม่ใช่รถ Subaru ที่ออกมาเน้นสมรรถนะ ขับแรงๆซิ่งๆ
แต่เป็น Subaru คันที่ 2 สำหรับภรรยาของลูกค้าซึงที่บ้านเคยมี Impreza หรือ Legacy
มาก่อนหน้านี้แล้ว หรือเป็นรถสำหรับลูกค้าที่ตัดสินใจ ซื้อเปลี่ยนใหม่ทดแทนรถคันเก่า
อย่าง Mazda Tribute / Ford Escape ฯลฯ ดังนั้น อย่าไปคาดหวังความแรง เพราะมัน
ไม่ได้เร้าใจมากขนาดนั้น แค่ว่า พอใช้งานในเมืองได้ มุดได้พอประมาณ แต่คงไม่อาจ
ไปแข่งท้าดวลกับรถซิ่งคันอื่นเขาได้ เว้นเสียแต่ว่า จะแข่งขันกันทางด้านยอดขายกับ
คู่แข่งที่ใกล้เคียงกัน….

alt

คู่แข่งในตลาด มีใครบ้าง?

Honda CR-V หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องรับบท มวยคู่เอก ร่วมับ CR-V เพราะตั้งแต่ XV ออกขาย
ผมก็ได้ยินแต่คำถาม จากผู้คนรอบข้าง และคุณผู้อ่านมากมาย ที่มักนำ SUV ทั้ง 2 รุ่นนี้ มาเป็น
คู่เปรียบเทียบกัน

แน่นอนว่า Honda จะได้เปรียบกว่า เพราะการทำตลาดที่ยาวนานกว่า ของ CR-V จนมีลูกค้า
ชื่นชอบ และเลือกซื้อ Generation ใหม่กันต่อเนื่องเรื่อยๆ เป็น Everyday Crossover SUV
ที่ใครๆก็ไว้ใจได้ ทั้งอัตราเร่ง อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ที่อยู่ในระดับกลางๆ ไม่ดีไม่ร้าย
เมื่อเทียบกับ คู่แข่งทุกคันในกลุ่ม Compact Crossover SUV แล้ว มันเป็นรถที่ ถูกจริต
คนไทยส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ได้ต้องการจะลุยป่าฝ่าดงขับทางไกลมากมายนัก เพียงแต่ว่า
รถรุ่นใหม่ อาจไม่ได้มีความหนักแน่นในการขับขี่เหมือนรุ่นที่แล้ว เพราะต้องปรับ
ช่วงล่างให่นุ่มลง ผลก็คือ ความนิ่ง และเสถียร ขณะใช้ความเร็วสูง แล้วเจอพื้นถนน
แบบลอนคลื่นยาวๆ จะยังไม่ดีเทียบเท่า XV

Chevrolet Captiva ดูเหมือนจะเป็นมวยคู่รอง ที่อาจได้เปรียบกว่า ในเรื่องจำนวนที่นั่ง
เพราะมีให้ 7 ที่นั่ง แถมยังเป็นเบาะ แถว 3 ที่นั่งได้จริงๆ สบายพอประมาณ ไม่มากนัก
ช่วงล่างมั่นใจได้ คล้ายคลึงกับ XV เลยละ เพราะมาในแนวรถหนักๆ เหมือนกัน แต่
พวงมาลัยไม่หนักและไม่มั่นใจเท่า XV แถมระบบส่งกำลัง ก็ยังทำตัวงี่เง่า ตามใจ
ตัวเองกันเหมือน Celebrities บางนาง

แต่ปัญหาสำคัญของ GM ตอนนี้ อยู่ที่ การดูแลบริการหลังการขาย ซึ่งนับวันๆ ปัญหาจะยิ่ง
เยอะขึ้นเรื่อยๆ ลูกค้าไม่พอใจมากขึ้นเรื่อยๆ แถมพักหลังนี้ เคสที่เกิดขึ้น อาการหนักๆ
พอกันกับ เพื่อนร่วมสัญชาติ อย่าง Ford เลยด้วยซ้ำ ถ้ายังไม่เร่งแก้ไข อย่างเร่งด่วนแล้ว
สถานการณ์จะย่ำแย่กว่านี้ แบรนด์ Chevrolet ที่สร้างกันมาแทบตาย ก็อาจกลายเป็นเพียง
แค่ตำนานบทหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นบนท้องถนนเมืองไทย

Mazda CX-5 เป็นอีกคู่ต่อกรที่ Subaru จะต้องระวังไว้ให้ดี เพราะถ้าเปิดตัวในเดือน
ตุลาคมที่จะถึงนี้ XV อาจมีหนาวได้ เนื่องจากคราวนี้ Mazda จะจัดเต็มกับขุมพลัง
โดยเฉพาะ Skyactiv Diesel Turbo ซึ่งจัดว่า มีสมรรถนะดีกว่าใครเพื่อน เมื่อเทียบ
กับบรรดาคู่แข่งในกลุ่มเดียวกัน ทั้งตลาดเมืองไทย

เอาแค่ว่า ผมไปลองขับ Mazda 6 Atenza ที่ใช้เครื่องยนต์เดียวกันนี้ เจอแรงดึง
จากแรงบิดเข้าไป ผมหัวเราะร่าเลย นี่ละ Mazda ที่เรารอคอย! ดังนั้น ถ้าเครื่องนี้
มาอยู่ใน CX-5 จะเป็นอย่างไร คงไม่ต้องอธิบายอะไรกันอีก!

เว้นเสียแต่ว่าคุณจะไม่ชอบเครื่องยนต์ Diesel จริงๆ การมอง กลับมาที่ XV ก็จะยัง
เป็นเรื่องที่เหมาะสมอยู่

ส่วน Nissan X-Trail-Trail แม้จะปรับปรุงอุปกรณ์ใหม่ จนดูน่าใช้ขึ้น แต่ก็อยู่ในช่วงปลายของ
อายุตลาดแล้ว รุ่นใหม่จะมาถึงอีกที ก็ราวๆ ปี 2014 ซี่งก็จะมาถึงในปีหน้าอยู่แล้ว

แต่ถ้าตกลงปลงใจว่าจะเลือก XV แล้ว ไม่ต้องถามหารุ่นย่อยอื่นใดทั้งสิ้นครับ เขามีให้คุณ
เลือกอยู่แค่รุ่นเดียว ราคาเดียว 5 สีตัวถัง นั่นแหละ รอลุ้นว่า เมื่อไหร่ สีส้มจะมาซะที แค่นั้น!

alt

แล้วเราก็มาถึงปลายทางกันอีกครั้ง

ตอนจบของ ภาพยนตร์เรื่อง That Thaing you do นั้น ออกจะน่าเศร้าปนเสียดายอยู่บ้าง เพราะ
ในที่สุดแล้ว สมาชิกแต่ละคน ก็ต้องแยกย้ายไปตามทางชีวิตที่ถูกเบื้องบนลิขิตเอาไว้  อาจมีเพียง
Guy Patterson ที่ยังโลดแล่นอยู่ในวงการดนตรีต่อไป ในฐานะ มือกลองสาย Jazz อย่างที่เขา
ใฝ่ฝัน จะมีชื่อเสียงใหญ่โตตามมาหรือไม่ นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับว่า อยู่รอดได้อย่างสง่าผ่าเผย
หรือเปล่า?

สำหรับวงการรถยนต์ โดยเฉพาะในเมืองไทย ไม่ใช่เรื่องง่าย โค่นปากกาเซียนมาเยอะแล้ว
ใครที่ว่าเจ๋งๆ แน่ๆ มาเจอตลาดบ้านเราเข้าไป หน้าซีดเผือดเป็นไก่ต้มข่า บินกลับประเทศ
แทบไม่ทัน มีเพียงไม่กี่บริษัท ที่อาจโชคดี อย่าง Guy Patterson ตัวละครเอกในเรื่องนี้

Subaru อาจจะแตกต่างไปจากเพื่อนพ้องเขาสักหน่อย ตรงที่มีต้นทุนทางสังคมไว้ค้อนข้างดี
ในอดีต มีคนรู้จัก Subaru อยู่บ้าง  แม้ในมุมที่ไม่ถูกต้องตรงกับปัจจุบันที่เป็นอยู่มากนัก แต่
อย่างน้อย ก็รู้กันดีในเรื่องสมรรถนะ อาจจะมีภาพติดลบเรื่องการกินน้ำมัน ซึ่งเท่าที่เรา
ลองขับ ทำรีวิวมา พักหลังนี้ Subaru เริ่มทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงประหยัดขึ้นแบบที่
ตาแพน Commander CHENG และทีมเว็บเราเอง ยังพูดติดตลกกันเล่นๆเลยว่า

“สมัยก่อน ถ้าจะซื้อรถประหยัดน้ำมัน ไปหา Toyota แต่ถ้าซื้อรถขับสนุกๆ ต้องซื้อ Subaru
เดี๋ยวนี้ กลายเป็นว่า ถ้าจะซื้อรถขับสนุกๆ ไปซื้อ Toyota  แต่ถ้าจะซื้อรถประหยัดน้ำมัน
ต้องดู Subaru!”

เออ เว้ย! โลกนี้มันกลับตาลปัตรกันได้ขนาดนี้เลยแหะ!

อย่างไรก็ตาม ผมอยากฝากประเด็นสำคัญไว้ 3 ข้อ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้อนาคตของ
Subaru สดใสต่อเนื่องไปได้หลังจากนี้ อยากให้ตั้งใจทำทั้ง 3 ข้อให้ดีๆ แล้ววันหนึ่ง ยอดขาย
ที่หวังไว้ ก็จะมาถึงเองได้ในสักวัน….

1. การยกระดับภาพลักษณ์ Brand Image ให้สูงขึ้น ในกลุ่มคนที่ไม่ได้สนใจเรื่องรถยนต์!

ทุกวันนี้ ลองไปถามแม่ค้าตามตลาดสด ว่ารู้จัก Subaru ไหม จะมีใครสักกี่คนที่ตอบว่ารู้จัก?
และต่อให้รู้จัก เขาก็คงจะนึกถึง “รถ Subaru” อันหมายถึง รถกระป๊อ คันกระเปี๊ยก 4 ล้อเล็ก
ที่เคยถูกนำมาวิ่งรับส่งตามตรอกซอกซอยต่างๆ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทุกวันนี้ก็ยัง
มีหลงเหลืออยู่บ้าง แต่มักจะเป็นยี่ห้อ Daihatsu แทน กระนั้น ผู้คนก็ยังคงเรียกรถแบบนี้
ว่า “รถ Subaru” อยู่ดี

ใครจะไปรู้เหมือนคนที่ติดตามข่าวสารด้านรถยนต์ละว่า Subaru หนะ ทำรถอย่าง Impreza
ฟาดฟัน ในสนาม Rally ทั่วโลกมาแล้ว ทำรถ Legacy ที่เคยทำลายสถิติด้านความเร็วมาแล้ว
และเป็นเจ้าของเดียวกันกับบริษัทผลิตอากาศยานชั้นนำของญี่ปุ่น รวมทั้ง เครื่องยนต์เล็ก
อเนกประสงค์ยี่ห้อ Robin!?

ภาระกิจสำคัญของ Tan Chomg Group ต่อจากนี้ คือ ทำอย่างไรก็ตาม ให้ผู้คนรู้ว่า Subaru
มีตัวตนอยู้ในเมืองไทยมานานแล้ว และกำลังจะเอาจริงกับบ้านเรามากกว่านี้ ซะที ทำอะไร
ก็ได้ ที่จะค่อยๆเปลี่ยนภาพลักษณ์ของผู้คนกลุ่มใหญ่ ในประเทศนี้ ให้รู้จัก Subaru ดีกว่า
ที่เป็นอยู่

ทำไม?

เพราะว่า นั่นคือวิธีหนึ่ง ซึ่งจะทำให้คุณ ขายรถยนต์ในประเทศนี้ได้มากขึ้น เพราะสังคม
มีความเชื่อมั่น และรู้จักคุณดีพอ ทำให้การยับยั้งใครสักคนในบ้าน ที่กำลังตัดสินใจจะซื้อ
รถยนต์จากคุณ ลดน้อยลง เขาจะผ่อนปรน ลดมือจากเดิมที่เคยทำท่า “ปางห้ามญาติ”

ถ้าไม่รู้ว่าทำอย่างไร ไปศึกษาเรื่อง การสร้างแบรนด์ Mazda ในเมืองไทย ให้เป็นที่ยอมรับ
ในวงกว้างอย่างทุกวันนี้ดูก็แล้วกัน จะเห็นคำตอบชัดเจนขึ้น มันอาจต้องใช้เวลานาน แต่
เชื่อเถิดว่า คุ้มค่าที่จะได้ทำ

อ้อ Russ Swift โชว์ Drift ยกล้อวิ่ง 2 ล้อ หนะ ไม่ต้องเอามาแล้วนะ คนดูเขาเบื่อกันแล้ว
มุขก็เดิมๆ ซ้ำๆ  ไม่มีอะไรใหม่เลย นี่พูดจริงๆ ไม่มีใครจะบอกกับคุณตรงๆอย่างผม
กันหรอกครับ และไม่ได้ช่วยอะไรมากเท่าไหร่สำหรับในกรุงเทพฯ ถ้าไม่จัดกิจกรรมนี้
ไปตระเวณทัวร์ ตามต่างจังหวัด ในหัวเมืองใหญ่ๆ ดังนั้น ถ้ายังจะจัดต่อ เลิกจัดที่ Motor
Expo แต่ไปจัดที่หัวเมืองใหญ่ๆ ในต่างจังหวัดให้คนเขาได้เข้าถึงแบรนด์ได้มากขึ้น
จะดีกว่า นั่นจะได้ประโยชน์กับ Subaru โดยตรงมากกว่าเยอะ!

2. ยกระดับงานบริการหลังการขายแบบ “ยกเครื่อง”

ผมดีใจที่เห็น โชว์รูม Subaru ผุดขึ้นอย่างรวดเร็ว หลายแห่ง เป็นโชว์รูมยุคใหม่ สวยสะอาด
น่าเข้าไปใช้บริการมากๆ แต่อย่างที่ยกตัวอย่างไป การฝึกอบรมช่างซ่อม ให้รู้จัก และชำนาญ
ในเทคโนโลยีของ Subaru นั้น อาจต้องใช้เวลา แต่ก็คุ้มค่าที่จะลงทุน ถ้ากลัวว่าช่างเก่งๆ จะ
ลาออกไปอยู่ที่อื่นหมด คุณก็ทำสัญญาจ้างไปเลย ว่าต้องอยู่ด้วยกันไป อย่างน้อย 5 ปี และจะ
ถ่ายทอดวิชาอาคมให้ ดูแลพวกเขาให้ดีๆ สวัสดิการความเป็นอยู่ดีๆ แค่นี้ คนเขากอยากจะมา
อยู่ด้วย ช่วยเพิ่มคนเก่ง ซ่อมรถ Subaru ให้เยอะขึ้น ลูกค้าก็จะลดความกังวลเรื่องนี้ไปได้

3. เลือกรถยนต์รุ่นต่อไป ที่จะขึ้นสายการประกอบในโรงงาน ที่มาเลเซีย ให้ดีๆ อย่าปล่อยให้
XV เป็นเพียงแค่ One Hit Wonders เชียวละ!

จะเลือกรุ่นใดกันดี ระหว่าง Forester หรือ Impreza การตัดสินใจครั้งนี้ สำคัญมาก เพราะเป็น
เดิมพัน ที่จะกำหนดชะตาของ อนาคต Subaru ในเมืองไทย หลังจากนี้ไป ว่าจะยกระดับสู่การ
เป็นค่ายรถยนต์ ที่เป็นผู้เล่นรายใหม่ในตลาด Mass Market หรือเป็นได้เพียงแค่ ผู้ค้ารายเล็ก
เอาใจตลาดกลุ่ม Niche Market เหมือนเช่นที่เคยเป็นมา

คงมีแต่ ดาวลูกไก่บนฟ้าทั้ง 6 เท่านั้น ที่จะรู้!

———————————–///———————————–

alt

ขอขอบคุณ / Spacial Thanks to :
คุณอภิชัย ธรรมศิรารักษ์ และ คุณตะวัน คำฤทธิ์
บริษัท Motor Image Subaru (Thailand) จำกัด

เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ
และการประสานงานต่างๆ อย่างดียิ่ง

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพ illustration ทั้งหมด เป็นของบริษัท Fuji Heavy Industry จำกัด
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
30 พฤษภาคม 2013

Copyright (c) 2013 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
May 30th,2013

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!