คุณยังจำรถคันแรกในบ้าน คันแรกในครอบครัวของคุณได้อยู่ไหมครับ?
บางคนจำได้ดี บางคนบอกว่า ไม่เคยมี ก็ฉันเพิ่งซื้อรถคันแรกกับเขา ก็ตอนที่รัฐบาลเจ๊ปู เพิ่ง
คลอดโครงการ “รถคันแรก” ยกเว้นภาษี เป็นส่วนลด 100,000 บาท สำหรับผู้ที่ไม่เคยมีรถ
มาก่อน ในชีวิต นั่นแหละ!
รถคันแรกของบางคน อาจเป็นรถเก๋งคันกระเปี๊ยก บางบ้าน อาจเป็นรถกระบะ ตอนเดียว แถม
มีหลังคาไฟเบอร์ Carry Boy หรือ สามมิตร แปะไว้ด้านหลัง ไว้ขนครอบครัว ยกโขยงกลับบ้าน
ช่วงเที่ยวสงกรานต์ บางบ้าน อาจเป็นรถตู้สักคัน ที่ซื้อไว้ใช้ทำกิจการ บางบ้าน ก็ซื้อรถเก๋งมาทำ
รถแท็กซี่ แล้วใช้เป็นรถครอบครัวไปด้วยเลย คันเดียวเสร็จสรรพ ทั้งหากิน ทั้งหาความสุขเล็กๆ
ในครอบครัว
สำหรับครอบครัวชนชั้นกลาง ที่มีพ่อบ้านหรือแม่บ้านเป็นพนักงานบริษัท หน่วยงานราชการ
เป็นลูกจ้าง รับเงินเดือน ทำงานหนัก ขยันขันแข็ง เก็บหอมรอมริบ จนพอจะมีเงินดาวน์ซื้อ
รถเก๋งมาขับใช้งานได้สักคัน นั่นไม่ใช่แค่เรื่องใหญ่ แต่มันหมายถึง รางวัลชิ้นโตสำหรับชีวิต
ที่ผ่านมาอย่างยากลำบาก ของแต่ละบ้านเลยทีเดียว
เพราะการมีรถคันหนึ่ง สำหรับบริษัทรถยนต์ มันอาจหมายถึง แค่ผลกำไรจ๊อบจ๊อย ที่เพิ่มขึ้นมา
ในบัญชีของบริษัท แต่สำหรับครอบครัวเล็กๆ เหล่านี้ การมีรถสักคัน มันเปี่ยมด้วยความหมาย
ยิ่งใหญ่เหลือคณา มากเกินกว่าที่พวกผู้บริหารชาวต่างชาติผู้คร่ำหวอด จะมีเวลาเก็บมาใคร่ครวญ
เพราะมันหมายถึง อิสระ ในการเดินทางไปยังสถานที่แห่งหนใด ได้ตามใจชอบ ไม่ต้องปล่อย
ให้ตัวเองและครอบครัว ไปฝากชีวิต ผูกติดไว้กับความเฮงซวยห่วยแตกสุนัขไม่แดก ของระบบ
ขนส่งหมูมวลชนในบ้านเรา (สมัยก่อน คุณวานิช จรุงกิตอนันต์ เคยเขียนล้อ ขสมก. ในนิยาย
เรื่องสั้น ของหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คที่ตนเขียน ว่า เป็น “องค์การขนส่งหมูมากาไก่”…ทำไงได้ครับ
ก็มันเป็นอย่างนั้นจริงๆนะ และทุกวันนี้ต่อให้ พวกเขาจะบอกว่า ได้พยามปรับปรุงพัฒนาขึ้นมา
มากแล้ว แต่ยืนยันว่า กี่ปีผ่านไป ทุกอย่างก็ยังมีสภาพตามเดิม เหมือนใครสักคน ยกเอาองค์การ
ขสมก. ไปแช่ในตู้เย็น ช่อง Freeze ไว้อย่างไรอย่างนั้นเลยทีเดียว)
ยิ่งเดี๋ยวนี้ สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น การขึ้นรถเมล์ มันไม่ต่างอะไรกับการเอาชีวิต
ไปแขวนไว้บนเส้นด้าย ไม่มีใครรู้หรอกว่า วันใด พวกเด็กช่างกล จะลุกขึ้นมา เอาปืนปากกา
วิ่งขึ้นมาบนรถเมล์คันที่คุณนั่ง ไล่กราดยิงคู่อริ จนตัวคุณถูกลูกหลงได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิตกัน
ไปเมื่อใด?
จะพึ่งพา มอเตอร์ไซค์รับจ้าง? จะไหวเหรอ แว๊นฝ่าไฟแดงบ้างละ เอาเนื้อตัวเราไปครูดถูไถกับ
รถคันข้างๆที่ติดขัดอยู่บ้างละ ล้มที สมองกับหมวกกันน็อก กระจายไปคนละทางบ้างละ พอจะ
ใช้บริการรถตู้ ก็ห่วงสวัสดิภาพตัวเอง ว่าจะโดนพวกซิ่งนรกมันพาไปตกน้ำตกคูหัวคว่ำคะมำ
หงายตายหยังเขียดที่ไหนหรือเปล่า? จะขึ้นแท็กซี่ เดี๋ยวนี้ทั้งคนขับกับผู้โดยสาร ต่างคนต่างก็
ระแวงว่าใครจะเริ่มออกลายเสือ(โจร) ก่อนใคร หรือใครมันจะเริ่มลวนลามข่มขืนใครก่อนกัน
ระหว่างคนขับ หรือผู้โดยสาร (มีจริงๆนะเออ ไม่ได้เขียนเล่นๆ!)
ผมเกิดไม่ทัน รถคันแรกในครอบครัวหรอกครับ เพราะคุณพ่อผม ทำงานหนัก ทั้งในภัตตาคาร
ที่ชื่อว่า สิงห์ทอง ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ (ปัจจุบัน เจ๊งไปเป็นชาติแล้ว) ตามด้วยการทำงานบริษัท
ประกันชีวิต แล้วก็ยังเรียนปริญญาตรี ภาคค่ำ คณะบัญชี ธรรมศาสตร์ แถมยังรับจ๊อบขายสินค้า
เครื่องไฟฟ้า และจิปาถะ ในฐานะ เซลส์แมน พอเริ่มมีเงินบ้าง ก็เริ่มมองหารถคันแรกให้ครอบครัว
และรถคันนั้น ก็คือ Toyota 800 หรือที่ในญี่ปุ่น ก็คือ Toyota Publica ต้นกำเนิดของ Starlet
Vios และ Yaris ในปัจจุบันนั่นเอง
วันที่ผมลืมตาดูโลก ที่โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน คุณพ่อตัดสินใจ เปลี่ยนรถใหม่ให้ใหญ่กว่าเดิม
เล็กน้อย เป็นรถมือสอง อย่าง Datsun 120Y (ซึ่งก็คือ Nissan Sunny รุ่นปี 1974 นั่นเอง)
จากคำบอกเล่า เช้าวันที่ออกจากโรงพยาบาล เจ้า 120Y สีฟ้า ก็วนมารับหน้าประตูทางเข้า – ออก
ของโรงพยาบาล ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผมเติบโตมาจนเข้าเรียน ประถม 1 ที่กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
(อยากรู้จัง มีใครอีกไหม ที่เกิดจากโรงพยาบาลนี้ แถมนยังเข้าเรียนโรงเรียนที่ใช้ชื่อเหมือนกับ โรง-
พยาบาล อย่างผม ชักอยากรู้จริงๆแหะ!) สารพัดเรื่องราวต่างๆ ก็เกิดขึ้นมากมาย ผมอาจมีความทรงจำ
กับรถคันนี้อยู่บ้าง แม้จะไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่นัก รู้แต่ว่า ซ่อมบ่อยชะมัด
ปี 1988 บ่าย 3 โมงครึ่ง วันหนึ่ง หลังจากที่ผมได้เห็น โฆษณา 1 หน้าเต็ม ของ Nissan Sunny
FF (B11) รุ่นปรับโฉมครั้งสุดท้าย เคาะราคาที่ 365,000 บาท ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และเก็บ
ไปพูดคุยกันในบ้าน B11 สีเงินคันหนึ่ง ป้ายแดง ก็แล่นเข้ามาจอดใต้ถุนอาคาร 4 ชั้นเก่าๆในโรงเรียน
(ซึ่งปัจจุบันนี้ กลายสภาพเป็นห้องพักครูไปแล้ว) ผมยังจำรอยยิ้มของคุณพ่อและคุณแม่ ที่นั่งมาในรถ
ได้อย่างดี เย็นนั้น เราไปกินข้าวกันอย่างมีความสุข
เรื่องราวต่างๆ ดำเนินต่อไป แม้ว่า จะมีเพื่อนร่วมรุ่นบางคน ชอบเอาเก็บไปพูดจาในทำนองที่ว่า
ว่า “โอ้ย ไอ้จิม พ่อมันขับ Sunny เก่าๆ” สำหรับเด็กๆแล้ว บางที คำพูดเหล่านั้นมันก็บาดจิตบ้างนะ
แต่อย่างน้อย ผมก็แอบภูมิใจ ว่า คุณพ่อของผมทำงานเก็บเงินด้วยน้ำพักน้ำแรงตนเอง ไม่ได้ไป
โกงใครแล้วรวย เหมือนอย่างบางครอบครัว…(ที่ตลกไปกว่านั้น คือ คนที่ปากหมาพูดจาเหน็บแนม
แบบนี้ สุดท้าย มันก็มีจังหวะชีวิต ให้ต้องมาขับ Sunny FF รุ่นเดียวกันนี่แหละ! ทีนี้ เจ้าตัวเลย
ยอมรับได้อย่างเต็มปากว่า รถมันดีสมราคาของมัน!)
และแน่นอน ผมยังจำได้ ถึงวันที่ เราตัดสินใจขายรถคันนี้ออกไป เพื่อแลกเปลี่ยนมาเป็น Sunny
B14 รุ่นที่คุณ เจ มณฑล จิรา เป็นพรีเซ็นเตอร์ภาพยนตร์โฆษณา ชุด อาทิตย์ดวงที่ 2 คืนก่อนนั้น
เราช่วยกันเก็บของออกจากรถ เก็บทุกความทรงจำออกมาจากรถ ถอดผ้าคลุมเบาะที่คุณแม่เย็บเอง
กับมือ ทั้งเบาะหน้าและหลัง ผมใช้เวลาอยู่ในรถนานพอดู ก่อนจะตื่นมาในเช้าวันรุ่งขึ้น แล้วพากัน
ไปที่โชว์รูม Nissan ใกล้บ้าน ทำเอกสารซื้อขายแลกเปลี่ยน ขับ Sunny B14 สีฟ้า ออกมา และ
จำใจต้องทิ้งเจ้า B11 สีเงินคันนั้น ไว้ที่โชว์รูมนั้น เราค่อยๆขับรถออกห่างมาเรื่อยๆ และผมยังคงหัน
ไปมองรถใหม่ป้ายแดงคันแรกของครอบครัว ด้วยความรู้สึกนึกเสียดาย ที่ไม่อาจเก็บมันไว้ได้ และ
หวังไว้ลึกๆว่า เจ้าของใหม่ คงจะพามันไปใช้ชีวิตด้วยกันดีๆ…เวลาผ่านเนิ่นนานมาถึงทุกวันนี้ ผม
ไม่เคยได้ข่าวคราวของรถสีเงินคันนั้น และไม่เคยเห็นมันโลดแล่นบนท้องถนนอีกเลย
ทีนี้ คุณคงรู้แล้วใช่ไหมครับว่า ทำไม ผมถึงเคยบอกว่า ผมผูกพันกับรถยี่ห้อนี้มานาน…มากกกก
ดังนั้น วันที่ Nissan เปิดตัว Almera ในเมืองไทยอย่างเป็นทางการ มันจึงไม่ใช่แค่เพียงการเปิดตัว
รถยนต์รุ่นใหม่เพียงคันหนึ่ง เพราะผมสัมผัสได้ถึงบรรยากาศแห่งความหวัง ของทั้ง Nissan ที่อยาก
ยกระดับยอดขายให้ดีขึ้นกว่านี้ เช่นเดียวกับความหวังของลูกค้า ที่อยากได้รถยนต์ คันแรกในชีวิต ที่
ต้องถึงพร้อมด้วยความสะดวกสบายในแบบพื้นฐาน รวมไปถึงความคึกคัก ของผู้คน ชวนให้ผมนึก
ย้อนกลับไปเปิดกล่องความทรงจำ ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวในวัยเด็กของผมที่เคยลั่นกลอน ปิดตายไป
นานแล้ว ให้กลับขึ้นมาอีกครั้งโดยไม่รู้ตัว จนเผลอพลางคิดหวนคำนึงไปถึงว่า คงจะมีสักครอบครัว
ณ ที่แห่งใดสักแห่ง น่าจะกำลังมีช่วงชีวิตที่คล้ายคลึงกับเรื่องราวของผมอยู่บ้าง
ยิ่งการเปิดตัว เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่รัฐบาลของ คุณปู ยิ่งลักษณ์ ได้ทำคลอดโครงการสิทธิพิเศษให้
ส่วนลดทางภาษี กับผู้ซื้อรถยนต์คันแรก ตามโครงการที่เรียกว่า “รถคันแรก” ก็ยิ่งน่าจะทำให้มี
ประชาชนคนไทยมากมาย ที่จะได้มีโอกาส เริ่มต้นมีเรื่องราวความทรงจำกับรถยนต์คันแรกของตน
อย่างที่ผมเคยมี ได้ง่ายขึ้น (ถ้าผ่อนกันไหว ไม่โดนไฟแนนซ์ตามไปยึดเสียก่อน อย่างเช่นตอนนี้
ที่ได้ยินว่า เยอะมาก จนไฟแนนซ์ และธนาคารแห่งประเทศไทย เริ่มกุมขมับ)
คำถามก็คือ Almera ใหม่ ในวันนี้ จะทำหน้าที่ เฉกเช่นที่บรรพบุรุษ “ต่างตระกูล” ของมัน อย่างเจ้า
Sunny FF B11 เคยทำเอาไว้หรือเปล่า? มันพร้อมจะทำหน้าที่รถคันแรกของครอบครัว ได้ดีแค่ไหน
ด้อยอย่างไร รอการปรับปรุงต่อไปตรงไหน?
คำตอบ รอคุณอยู่ข้างล่าง ไม่ยาวมาก และไม่สั้นมาก กำลังดี ในแบบที่อยากให้คุณใช้เวลานั่งลงอ่าน
อย่างสบายๆ ไม่รีบร้อน
และแน่นอน ต้องเริ่มจากการทำความรู้จัก ที่มาที่ไป ว่าทำไม Nissan ถึงคิดจะทำ Almera ออกมาขาย
ในตอนนี้ แทนที่จะเป็นเมื่อสัก 10 กว่าปีก่อน??
ย้อนกลับไปยังช่วงปี 1995 ในขณะที่ โครงการพัฒนารถยนต์นั่งขนาดเล็ก เพื่อตลาด ASEAN ทั้ง Honda City และ
และ Toyota Soluna รุ่นแรก ดำเนินไป Nissan เอง ก็เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่มองเห็นลู่ทางการทำตลาดรถยนต์นั่งขนาด
เล็ก เพียงแต่ Nissan เลือกใช้วิธีที่ไม่ค่อยกล้าเสี่ยงเหมือนชาวบ้านเขา (เพราะตอนนั้น เศรษฐกิจญี่ปุ่น เพิ่งจะเจอปัญหา
ฟองสบู่แตก และ Nissan เองก็เริ่มขาดทุนอย่างต่อเนื่องมาเรื่อยๆ ) ก็เลยคุยกับสยามกลการว่า จะทำโครงการรถยนต์
เพื่อ ตลาดกลุ่ม ASEAN ที่เมืองไทย แต่พวกเขากลับเริ่มด้วยการนำ Nissan Sunny California หรือ AD Wagon
อันเป็นตัวถัง Station Wagon ของ Sunny/Sentra B13 ปี 1990 มาขึ้นไลน์ประกอบในเมืองไทย โดยใช้ชื่อว่า
Nissan NV (A) ก่อนจะตามด้วยตัวถังกระบะ ที่เรียกว่า Nissan NV Pickup (NV B)
ผลลัพธ์หนะหรือ? ใช่ ยอดขายพอไปได้ แต่ประเทศของเราดันมาเจอวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง จากการประกาศลดค่าเงินบาท
ของ รัฐบาล พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1997 ทำให้นับจากนั้นเป็นต้นมา เศรษฐกิจของไทยก็ดิ่งลงเหว
กว่าจะเริ่มลืมตาอ้าปากกันได้อีกครั้ง ก็ปาเข้าไปหลังปี 1999 แล้ว ส่งผลให้ ยอดขายของ NV ทั้ง 2 รุ่น ย่ำแย่ในช่วงกลาง
อายุตลาด แถม Nissan ที่ญี่ปุ่นเอง ก็แทบจะประสบกับภาวะล้มละลาย จน Renault ตัดสินใจมาร่วมเป็นพันธมิตรด้วย
แล้วส่ง Carlos Ghosn เจ้าของฉายา Le cost killer มานั่งคุมบังเหียน จนถึงปัจจุบัน
เมื่อ Carlos Ghosn เข้ามา สิ่งแรกที่เขาทำคือ ต้องจัดการกับสารพัดโครงการที่ไม่ทำกำไรลงถังขยะไปให้หมด
ช่วยไม่ได้จริงๆ ที่โครงการรถยนต์สำหรับตลาด ASEAN เอง ก็ไม่มีการสานต่อด้วย ปล่อยให้ Honda City และ
Toyota Soluna คลอดรุ่นใหม่ออกมากอบโกยยอดขายในช่วงปี 2002 อย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน
Nissan เพิ่งจะเริ่มกลับมาคิดสร้างรถยนต์ B-Segment Sedan อย่างจริงจัง เมื่อช่วงปี 2007 – 2008 นี่เอง หลัง
พบว่า ตลาดประเทศกำลังพัฒนา ทั้งใน จีน อินเดีย รวมทั้งตลาดเกิดใหม่ อย่างยุโรปตะวันออก ไปจนถึงตลาดเดิมที่เริ่ม
ฟื้นตัวด้านเศรษฐกิจ ใน ASEAN ต่างมีกำลังซื้อมหาศาล ที่รอต้อนรับรถยนต์ประเภทนี้อยู่
ขณะเดียวกัน Nissan เอง ก็ต้องเตรียมพัฒนา March เจเนอเรชันที่ 4 เพื่อให้ทันกำหนดคลอดในปี 2010 ดังนั้น
Nissan เลยมองการณ์ไกลในระดับสากล สั่งให้ทีมวิศวกร ออกแบบ และสร้าง พื้นตัวถังสำหรับรถยนต์ขนาดเล็กในกลุ่ม
B-Segment ที่เรียกว่า V-Platform โดยในช่วงแรก ก็เพื่อที่จะรองรับโครงการพัฒนารถยนต์ 3 รุ่น คือ March
รวมทั้ง รุ่นปลี่ยนโฉมของ Note (เวอร์ชันต้นแบบคลอดแล้วใรนชื่อ Nissan Invitation) และ Sedan คันที่คุณเห็นนี้
รถยนต์ทั้ง 3 รุ่น จะใช้โครงสร้างพื้นตัวถัง และงานวิศวกรรมร่วมกัน เพื่อช่วยลดต้นทุน ลดชิ้นส่วน แต่ต้องรักษาคุณภาพ
ที่ดีในแบบของ Nissan ที่เคยเป็นมา เอาไว้ให้ได้
สำหรับตัวถัง Sedan นั่น มีรหัสโครงการพัฒนา L02B และมีรหัสรุ่นที่เรียกใช้เป็นการภายในว่า N17 เป้าหมายหลัก
ของ Nissan ก็คิอ สร้างรถยนต์ Sedan คันนี้ เพื่อบุกตลาดทั่วโลก มันจะต้องเป็นรถยนต์คันที่ 2 ในบ้านของชาว
อเมริกัน เป็นรถยนต์ขนาดเล็ก พิกัด 5 Number สำหรับครัวเรือนชาวญี่ปุ่น (รถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ 660 – 2,000 ซีซี
มีความกว้างตัวถังไม่เกิน 1,700 มิลลิเมตร กำลังสูงสุด ไม่เกิน 200 แรงม้า PS จะถูกจัดเก็บภาษีในพิกัดรถยนต์ขนาดเล็ก
ที่เรียกในญี่ปุ่นว่า พิกัด 5 Number) และที่สำคัญก็คือ มันจะเป็นรถยนต์ที่สามารถบ่งบอกสถานะและสร้างความภูมิใจ
ให้กับครอบครัวในประเทศกำลังพัฒนา (เช่น ไทย จีน อินเดีย) พูดง่ายๆก็คือ มันเป็นรถยนต์ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้สอดรับกับ
ความต้องการอันหลากหลาย ที่ Nissan ตั้งใจจะผลิตจากโรงงานต่างๆ ทั้งในเมืองไทย จีน อินเดีย และอีกหลายประเทศ
เพื่อส่งเข้าไปจำหน่าย ให้ับผู้คนกว่า 170 ประเทศทั่วโลก !!
Makoto YAMANE ตำแหน่ง Associate Product Chief Designer ผู้ซึ่งเริ่มงานกับ Nissan เมื่อปี 1988
และเคยมีส่วนร่วมในการออกแบบ Nissan Silvia S14 กับ Nissan Presea เจเนอเรชัน 2 Nissan March
รุ่นล่าสุด และ Sedan N17 ใหม่คันนี้ เล่าว่า “จุดประสงค์หลักในงานออกแบบ N17 ก็คือ ต้องเป็นรถยนต์ที่
แสดงออกถึงความเป็น “Sedan” ที่ชัดเจน เพราะในกลุ่มตลาดเป้าหมายเช่น จีนและอินเดีย รถเก๋ง Sedan
เป็นเครื่องบ่งบอกฐานะชั้นสูงทางสังคม หรือใช้รับส่งนักธุรกิจ ทีมออกแบบจึงตั้งใจให้รถคันนี้ เป็นรถ Sedan
ที่สะดวกสบาย ห้องโดยสารกว้างขวาง มีดีไซน์ที่หรูหราภายใต้ข้อจำกัดด้านขนาดตัว แต่เปี่ยมไปด้วยสมรรถนะ “
(เดี่ยวนะ เปี่ยมด้วยสมรรถนะเหรอ? ถ้าในแง่การประหยัดน้ำมันละก็ ใช่ แต่ถ้าเรื่องการขับขี่หนะ อ่านรีวิวนี้ให้จบก่อนไหม)
Mitsunori MORITA Expert Designer ซึ่งเคยทำงานที่บริษัทรถยนต์ค่ายอื่น ร่วมงานกับ Nissan เมื่อปี 2002
และเคยทำงานออกแบบรุ่นปรับโฉมของ Stagea (Station Wagon บนพื้นฐานของ Skyline V35) และรถยนต์
ต้นแบบ Town Pod สำหรับงาน Paris Auto Salon 2010 (และเพิ่งเคยมาอวดโฉมที่เมืองไทย งาน Motor Expo
ธันวาคม 2011 กับ BOI Fair ช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา) เล่าว่า “ถึงจะรู้ความต้องการของตลาดรถยนต์อื่นๆ ทั้งใน
สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นกันอยู่แล้ว แต่ถ้าจะต้องออกแบบรถยนต์ให้กับลูกค้าในประเทศกำลังพัฒนา ก็ต้องรู้ถึง
ความต้องการของพวกเขาให้มากกว่านี้ ดังนั้น พวกเขาจึงบินไปยังตลาดหลักแห่งหนึ่งของ Sedan รุ่นนี้ นั่นคือ อินเดีย!
“ไม่ว่าจะเป็นกรุง New Delhi หรือ Mumbai ถนนหนทางในอินเดียนั้น เต็มไปด้วยความว่นวาย รถยนต์ต้องแทรกตัว
ไปตามฝูงชน ซึ่งยังรวมถึง จักรยาน มอเตอร์ไซค์ รถเข็น หาบเร่ แผงลอย ช้าง ม้า วัว ควาย ของชาวบ้านอีกด้วย แถม
ถนนยังสกปรกอย่างมากจากการก่อสร้างทุกหนแห่ง ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการออกแบบขึ้นมา นั่นคือ N17 จะต้อง
โดดเด่นภายใต้สถานการณ์อันไม่น่าอภิรมณ์เหล่านั้น แนวคิดการออกแบบจึงเปลี่ยนจากการสร้างรถยนตฺ์ที่สวยโดดเด่น
เมื่อสะอาดเงาวับ ให้กลายเป็นรถเก๋ง Sedan ที่สวยและโดดเด่นแม้ว่าจะมอมแมมเลอะเทอ เขลอะไปด้วยฝุ่นโคลน
ทั้งคัน หรือวิ่งแทรกตัวอยู่ท่ามกลางกลุ่มฝูงชนจำนวนมากก็ตาม!!” Morita-san เล่าไว้ตามนี้
(โห คิดได้ไงเนี่ย!)
Morita-san และทีมงาน เลยใช้เส้นสายแบบเฉียบคมในการออกแบบ พร้อมทั้งลากเส้นตรงใต้ขอบหน้าต่างตลอดคัน
เพื่อเสริมความหรูหรา ส่วนด้านข้างได้รับแรงบันดาลใจมาจากกล้ามเนื้อของคน ที่แสดงออกถึงความบึกบึนและเปี่ยมด้วย
กำลัง จะเห็นว่า เส้นที่ลากมาจากด้านหน้าและท้าย แต่กลืนหายไปตรงกลางตัวรถคือ highlight เพราะเปรียบเหมือนกับ
กล้ามเนื้อมนุษย์ที่แข็งแรงบึกบึน แต่แฝงอยู่ภายใต้ผิวหนังที่เรียบเนียน (เหมือนใช้ซิตร้ามั้ง – กล้วย BnN ขอเสริม) และ
ต่อเนื่องเป็นชิ้นเดียวกัน
นอกจากนี้ บั้นท้ายยังได้รับความใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะเป็นจุดที่คนจะเห็นบ่อยและนานสุด ดังนั้นจึงใช้วิธีออกแบบให้
ด้านท้ายไม่แคบหนีบลง เพื่อให้คงภาพลักษณ์ความเป็น Sedan ราคาแพงอย่างชัดเจน ต่างจากรถยนต์คันอื่นใน
พิกัดเดียวกันที่ใช้เส้นสายด้านข้างแบบกระดกขึ้นในด้านท้าย และทำท้ายแคบลง ซึ่งทำให้รถดูแคบ และเล็กลงไปอีก
รวมทั้งความเป็น Sedan ที่ดูภูมิฐานก็หายไปด้วย…
แม้แต่รายละเอียดเล็กๆน้อย ก็ยังต้องใส่ใจ “มือจับเปิดประตูด้านนอก ที่เห็น ไม่ใช่ว่าคิดลดต้นทุนด้วยการหยิบเอา
มือเปิดประตูของ Nissan Cube มาใช้ แต่หากผ่านกระบวนการทางความคิดมาแล้วว่า จะเพิ่มรอยบุ๋มบนมือจับ
เปิดประตูเพราะจะทำให้ผู้ใช้รถคันนี้สามารถคว้าหมับ จับมือเปิดประตูได้ง่ายขึ้น แม้ว่าจะคว้าด้วยความอ่อนระโหย
โรยแรงแค่ไหนก็เปิดประตูรถได้ ไม่พลาด”
เมื่องานอกแบบเสร็จสิ้น การทดสอบความทนทาน และการเตรียมงานผลิตเสร็จตามมา ก็ถึงช่วงเวลาสำคัญ
คือการเปิดตัว ออกสู่สายตาชาวโลก กันเสียที
Nissan เปิดตัว N17 Sedan เป็นครั้งแรกในโลก ณ สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2011
แต่ใช้ชื่อ Versa Sedan เข้าทำตลาดแทนรถยนต์รุ่นเดียวกัน แต่ใช้ร่าง TIIDA Latio ทำมาหากิน
ตลอดช่วง 3-4 ปีก่อนหน้านี้ โดย N17 ต้องทำตลาดควบคู่ไปกับ TIIDA Hatchback ที่ขาย
ในชื่อ Versa Hatchback และยังลากขายไปอีก 2 ปี
อย่างไรก็ตาม ถึงจะเปิดตัว ประกาศราคา แต่รถจะยังไม่พร้อมออกขายในเขตอเมริกาเหนือ!
เพราะต้องรอให้ เปิดตัวในประเทศจีน กลางงาน China (Guangzhou) International Automobile
Exhibition เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2010 โดยใช้ชื่อ SUNNY และเริ่มส่งขึ้นโชว์รูมในเดือน มกราคม 2011
กันเสียก่อน ทวีปอเมริกาเหฯ์อ จึงจะเริ่มออกสู่ตลาดเป็นลำดับ 2
เหตุผลของการใช้ชื่อ Sunny สำหรับตลาดเมืองจีน ทั้งที่ N17 ไม่ได้มีความเกี่ยวดองในสายเลือดใดๆ
กับตระกูล Sunny / Sentra เดิมเลยนั่น ก็เพราะว่า ในเมืองจีน ชื่อ Sunny เป็นที่รู้จักของชาวจีน
ในฐานะ รถยนต์ราคาประหยัด ไว้ใจได้ ใช้งานง่าย มาตั้งแต่รุ่น N16 หรือ Sunny NEO ในบ้านเราแล้ว
ประเทศไทย ถือเป็น ประเทศที่ 3 ในโลก ที่มีการเปิดตัวรถยนต์รหัส N17 งานจัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2011
ทั้งที่โรงแรม Four Season และในช่วงเย็นที่ลานหน้า Siam Paragon ช่วงที่เริ่มมีรายการน้ำท่วมภาคกลาง
กันบ้างแล้ว
สำหรับเมืองไทย ชื่อในการทำตลาด ก็คือ Almera อันเป็นชื่อที่ Nissan ในยุคสยามกลการ เคยยกชื่อนี้
จาก Nissan Pulsar สำหรับตลาดยุโรป ช่วงยุคปี 1996 – 1997 มาใช้กับรถเก๋ง Sunny Neo รุ่นที่วาง
เครื่องยนต์ 1.8 ลิตร แล้วเรียกมันว่า Sunny Almera เปิดตัวในช่วงกลาง ปี 2002
เป็นไงครับ มึนงงกันไปเลยใช่ไหม เรื่องชื่อรุ่นนี่เป็นเรื่องที่น่าปวดกบาลมากมาย รถยนต์รุ่นเดียวมีชื่อรุ่น
ปาเข้าไป 3 ชื่อ แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Nissan ทำแบบนี้เพราะสมัยก่อนนี้ เมามันส์และมึนงงกว่านี้ ก็เคย
มีมาแล้ว เช่น การนำ Skyline R31 ไปผลิตขายในออสเตรเลีย ด้วยชื่อ Pintara พอถึงปี 1988 ก็นำ
Bluebird ATTESA U12 ทำตัวถัง Hatchback เป็นพิเศษ มาสวมป้ายชื่อ Pintara ขายต่อ
หรือ ตระกูลรถยนต์ Compact Hatchback เพื่อตลาดยุโรป อย่าง Pulsar ก็เคยขายทั้งในชื่อ Sunny
และ Cherry มาแล้วก่อนหน้านี้ ยังไม่นับรุ่นพิเศษ 2 ประตู ที่ชื่อว่า EXA อีกนะ
ตัวอย่างสุดท้ายก็คือชื่อ Laurel อันเป็นรถยนต์ขนาดกลางขับล้อหลัง ที่ยกระดับความหรูจากตระกูล
Bluebird อีกนิด ปี 1982 Nissan อยากเพิ่มเวอร์ชันหรู ให้กับ Sunny FF B11 เลยตกแต่งซะ
พิสดาร เบาะกำมะหยี่อย่างแพง แล้วใช้ชื่อรุ่นว่า Nissan Laurel Spirit (เคยมีเข้ามาประกอบขาย
ในเมืองไทย เป็นรุ่นพิเศ 300 คัน ษด้วยนะ!) พอทำขายรวม 2 เจเนอเรชัน ขายไม่ค่อยดี เลยเลิกไป
แต่ Nissan ยังไม่เข็ด ยังนำชื่อ Laurel ไปสวมให้กับ Nissan Cefiro A31 สำหรับตลาดในแถบ
ตะวันออกกลางในชื่อ Nissan Laurel Ultima อีกด้วย!!!
เอาแค่นี้ก็พอละกันนะครับ ไม่ใช่แค่คุณผู้อ่านหรอกที่มึน คนเขียนอย่างผมก็ปวดกบาลมากพอแล้วด้วยเถอะ!
ตัวถังของ Almera มีความยาว 4,426 มิลลิเมตร กว้าง 1,695 มิลลิเมตร สูง 1,500 มิลลิเมตร และมี
ระยะฐานล้อ 2,600 มิลลิเมตร (นึกถึง Toyota Corolla ALTIS ปี 2001 รุ่น Brad Pitt เข้าไว้ครับ)
หากพินิจดูจากตัวเลข และขนาดตัวรถคันจริงแล้ว เราควรจัดให้ Almera อยู่ในพิกัดรถยนต์นั่ง Sedan
กลุ่ม B-Segment ขนาดเครื่องยนต์ ไม่เกิน 1.5 ลิตร เพราะ Almera มีระยะฐานล้อที่ยาวที่สุดในตลาด
ทำให้มีตัวถังยาวที่สุดในตลาดกลุ่มนี้เช่นกัน ยาวกว่าคู่แข่งทั้ง Toyota Soluna Vios, Honda City
Mazda 2 Sedan , Ford Fiesta Sedan รวมทั้ง Chevrolet Aveo รุ่นปัจจุบัน แถมยังเลยเถิด
ไปจนถึง Chevrolet Sonic ซึ่งเปิดตัวในเมืองไทยช่วงไตรมาส 3 ปี 2012 นี้อีกด้วย
แม้ว่า การจัดวาง Packaging ของตัวรถจะสมส่วน และแต่ละชิ้น อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมแล้ว
แต่ถ้าดูจากแนวเส้นสายที่ทีมออกแบบได้สร้างสรรค์ขึ้นมานั้น กลับดูหลอกตา จนทำให้หลายคน
มองว่า Almera ดูมีบั้นท้ายยาวยื่นออกไปมากเกินเหตุ จนอ้วนเผละ ทางแก้ของ Nissan Motor
Thailand ก็คือ การติดตั้งสปอยเลอร์ด้านหลัง แบบลิ้น เป็นอุปกรณ์มาตรฐานให้กับทุกรุ่นย่อย
ตั้งแต่รุ่นถูกสุดไปจนถึงรุ่นแพงสุด ถือเป็นครั้งแรกในตลาดรถยนต์ขนาดเล็กของเมืองไทย
รายละเอียดการตกแต่งภายนอก ไม่มีอะไรมากนัก ทุกรุ่นจะติดตั้งไฟหน้า ฮาโลเจน ไฟเลี้ยว
ด้านข้างตัวถัง (แผง Fender ซุ้มล้อคู่หน้า) สปอยเลอร์หลัง กระจกไล่ฝ้าหลัง มาให้เป็นอุปกรณ์
มาตรฐาน กระจกมองข้าง ใช้สีเดียวกับตัวถัง กระจังหน้า และมือจับประตูจะเป็นแบบโครเมียม
ทั้งหมด แทบจะครบทุกรุ่น ซึ่งถือว่าเพิ่มความรู้สึกที่ดีให้กับลูกค้าได้มากเลยทีเดียว เพราะปกติ
มือจับประตูของรถยนต์กลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักเป็นแบบสีเดียวกับตัวถัง
แต่ก็มีข้อยกเว้นอยู่บ้าง ก็คือ เฉพาะรุ่น S เกียร์ธรรมดา อันเป็นรุ่นถูกสุด เท่านั้น ที่จะติดตั้งกระจก
มองข้างสีดำ กระจังหน้าสีดำ และมือจับประตูพลาสติกสีดำ มาให้จากโรงงาน เพื่อทำราคาถูก เอาใจ
กลุ่มลูกค้าที่ไม่ต้องการความหรูหราอะไรมากนัก ต้องการแค่รถยนต์ไว้ขับใช้งานเท่านั้นจริงๆ
รุ่น 1.2 VL ตัวท็อป (คันสีเงิน) จะเป็นเพียงรุ่นเดียวเท่านั้น ที่จะติดตั้งไฟตัดหมอกหน้ามาให้ การ
เปิด – ปิด ใช้วิธีหมุนวงแหวนตรงก้านสวิชต์ไฟเลี้ยว และไฟหน้ารถ ฝั่งขวามือบนคอพวงมาลัย
รุ่น 1.2 V และ VL จะสวมล้ออัลลอยขนาด 15 นิ้ว x 5.5 J มาพร้อมยาง ขนาด 185/65 R15
ส่วนรุ่น 1.2 S , E และ ES จะใช้กระทะล้อเหล็ก 14 นิ้ว x 5.5 J พร้อมยางขนาด 175/70 R14
รุ่น E และ ES ให้ฝาครอบล้อ Full Wheel Cover ส่วนรุ่น S ถูกสุด ให้มาแค่ฝาครอบดุมล้อเท่านั้น
ยางติดรถแทบทุกรุ่น เป็นยาง Bridgestone B250 ซึ่งถนัดในการทำหน้าที่ กลิ้งกล่กๆ ไปตามเรื่อง
ตามราว ไม่ต้องไปสนใจเรื่องการเกาะถนนมากนัก แต่ถือว่าดีกว่า ยาง Maxxis รุ่นล่างๆ ที่ติดตั้ง
มากับ March ก็แล้วกัน
การเปิด – ปิดประตูเพื่อเข้าออกจากรถนั้น ขึ้นอยู่กับรุ่นรถที่คุณเลือก รุ่น 1.2 VL เป็นรุ่นเดียวที่จะมี
กุญแจรีโมทคอนโทรลทรงเมล็ดข้าวสาร ขยายร่าง แบบเดียวกับที่ใช้ในรถรุ่นอื่นๆของ Nissan ตั้งแต่
March ยัน 370Z มีสวิชต์ปลด และสั่งล็อก แยกจากกัน ฝังกุญแจขนาดเล็กแอบซ่อนเอาไว้ในตัว
รีโมท และมีสวิชต์สีดำบนมือจับประตู สำหรับระบบเซ็นทรัลล็อก กดเพื่อสั่งปลดหรือสั่งล็อกรถได้
พร้อมกันทั้ง 4 บาน (อันที่จริง น่าจะสามารถตั้งค่า เลือกได้ว่าให้สั่งปลดล็อกเฉพาะบานคนขับ เพิ่ม
อีกฟังก์ชัน เพื่อช่วยป้องกันพวกมิจฉาชีพ จะจู่โจมเข้ามาขึ้นรถในยามค่ำคืน)
การติดเครื่องยนต์ ไม่ต้องเสียบกุญแจใดๆ จะเห็นว่ามีการนำพลาสติกวงกลม มาแปะเอาไว้บริเวณที่
เคยเป็นรูเสียบกุญแจของรุ่นอื่นๆ เพราะรุ่นนี้ กดปุ่ม Start ติดเครื่องยนต์ได้เลย แต่ต้องเหยียบเบรก
ควบคู่ไปด้วยเพื่อความปลอดภัย มีระบบกันขโมย Immobilizer มาให้ด้วย ปุ่มติดเครื่องยนต์ จะติดตั้ง
อยู่ฝั่งซ้ายทางตอนใต้ของชุดมาตรวัดความเร็ว
แต่ถ้าหากเป็นรุ่นมาตรฐาน ก็จะใช้กุญแจหน้าตาบ้านๆ คล้ายกับ กุญแจลิ้นชักตู้เก็บเอกสาร อันเป็น
กุญแจสหกรณ์ที่ใช้ในรถยนต์ Nissan ระดับต่ำกว่า 800,000 บาท หลายรุ่นโดยเฉพาะ TIIDA
กับ March แน่นอนว่า มือจับประตู ของทุกรุ่น ก็สามารถยกชุดถอดใส่กับ Nissan March ได้เลย
การเข้า – ออก จากตำแหน่งเบาะคู่หน้า ทำได้ดีไม่ต่างไปจาก Nissan March เพราะขนาดของช่องทางเข้า
พอกันเลย ไม่ต้องย่อตัวลงไปมาก ไม่ต้องก้มหัวมาก เพราะตำแหน่งเบาะนั่งติดตั้งไว้สูงไล่เลี่ยกับ Nissan
TIIDA
แผงประตูด้านข้าง ในรุ่น VL ตกแต่งด้วยผ้า ในบริเวณติดกับพื้นที่วางแขน ซึ่งก็วางแขนได้ดีไม่มีปัญหา
มีช่องใส่ขวดน้ำ และใส่ข้าวของจุกจิก ซึ่งสามารถใส่ กล่อง CD หรือหนังสือแผนที่สักเล่มสบายๆ
ที่สำคัญ ใครซื้อ Almera มาใช้ ต้องขอแสดงความยินดีด้วย ที่คุณจะได้มีโอกาสสัมผัสกับบุคลิกของรถสปอร์ต
รุ่นดังระดับดลกอย่าง Nissan Fairlady Z หรือ 370Z ใหม่ ในตลาดโลก ผ่านทางมือจับเปิดประตูภายในรถ
ทั้ง 4 บาน ที่ถอดยกชุดมาจาก 370Z เลยทั้งดุ้นนั่นแหละ มีเฉพาะรุ่น 1.2V และ VL เท่านั้นที่จะใช้โครเมียม
Nissan ก็ทำแบบนี้เป็นเรื่องปกติมาแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้วครับ สมัย 350Z ใหม่ ยังมีการนำเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ
ไปปรับเปลี่ยนวัสดุชิ้นส่วนข้างในเล็กน้อย แล้วจับไปประกอบอยู่ใน รถกระบะ Nissan Navara รุ่นปัจจุบันนี้!
ภายในห้องโดยสารของ Almera เวอร์ชันไทย ทุกรุ่นจะตกแต่งด้วยโทนสีดำ เพื่อให้สะดวกต่อการใช้งาน
และการทำความสะอาดของลูกค้า แถมลายผ้าเบาะก็ยังเหมือนกันแทบไม่ผิดเพี้ยน ทั้งที่ เวอร์ชันส่งออก
ไปยังตลาดอื่นๆ จะมีโทนสีภายในรถให้เลือกอีก 2-3 สี!
เบาะนั่งคู่หน้า ยกชุดมาจาก March ทั้งดุ้น แบบไม่ต้องคิดออกแบบกันใหม่ให้มากมายและวุ่นวายด้าน
การจัดการต้นทุน ทั้งการออกแบบและการผลิต ดังนั้น มันจึงให้สัมผัสไม่แตกต่างไปจากเบาะนั่งคู่หน้า
ของ March เลย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ผ้าสากๆ หุ้มเบาะ ซึ่งถือว่า น่าจะถูกใจชาวยุโรปอยู่ไม่น้อย พนักพิง
ด้านหลังมีส่วนรองรับช่วงเอว และสีข้าง ในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ถึงกับมากนัก ส่วนเบาะรองนั่ง สั้นไป
นิดหน่อย ขณะที่พนักศีรษะขนาดใหญ่ ปรับสูง – ต่ำได้ สำหรับผมแล้ว ต้องยกขึ้น 1-2 จังหวะ จึงจะ
ใช้งานได้ดี
ส่วนพื้นที่เหนือศีรษะ สำหรับผู้โดยสารด้านหน้า ยังคงโล่งโปร่งสบาย เหมือนกับ March ศีรษะไม่ติด
เพดานหลังคาแน่ๆ แม้ว่าสรีระร่างของคุณจะสูงถึง 185 เซ็นติเมตรเลยก็ตาม ขณะที่พื้นที่วางขา นั้น
ขึ้นอยู่กับคุณจะปรับเบาะนั่งให้เข้าใกล้ – ห่างจากแผงหน้าปัดมากน้อยแค่ไหน
ผมยังขอยืนยันความเห็นเดิมว่า เบาะคู่หน้า มีหน้าที่รองรับได้แค่เพียงการเดินทางในระยะใกล้ๆ ใน
ตัวเมืองใหญ่ หากจะต้องเดินทางไกลๆ ก็คงไม่ถึงกับสบายนัก อาจต้องลงมายืดเส้นยืดสายดื่มกาแฟ
ทุกๆ 150 กิโลเมตร หรือถ้าใครคิดจะขับไปเที่ยว ไปเยี่ยมญาติ จากกรุงเทพฯ ไปตราด อาจต้องแวะ
เข้าห้องน้ำ แถวๆ หนองมน หรือ ศรีราชา และอาจต้องแวะอีกครั้งที่ระยอง ไม่งั้นเมื่อยแน่ๆ
ที่ผมเซ็งก็คือ เข็มขัดนิรภัย สำหรับผู้โดยสารและผู้ขับขี่ ด้านหน้า เป็นแบบ ELR 3 จุด แต่ปรับระดับ
สูง-ต่ำ ไม่ได้ ซึ่ง แม้ว่าจะเหมือนกับ รถยุโรป ระดับพรีเมียม ทั้ง BMW และ Volvo หลายๆรุ่น แต่ถ้า
หากคุณต้องการจะปรับเข็มขัดนิรภัยให้เข้ากับสรีระ ก็ต้องใช้วิธี ปรับระดับ สูง -ต่ำ ของเบาะนั่ง กัน
เป็นการทดแทน ซึ่งในความจริงแล้ว ผมมองว่า รุ่นท็อป 1.2 VL คันสีเงินนี้ เข็มขัดนิรภัยก็ควรจะติดตั้ง
แบบปรับระดับสูง – ต่ำได้ มาให้ได้แล้ว ไม่เข้าใจว่า จะกั๊กเอาไว้ รอรุ่น Minorchange จึงจะใส่มาให้
หรือเปล่า? สมัยนี้เข็มขัดนิรภัย ปรับระดับสูง-ต่ำได้ แทบจะกลายเป็นอุปกรณ์มาตรฐานซึ่งผู้ผลิตรถยนต์
ทุกราย ควรใส่มาให้กับรถยนต์ทุกคัน ทุกรุ่นย่อย ของตน แล้วด้วยซ้ำ
ส่วนการเข้าออก จากประตูคู่หลังนั้น เนื่องจาก การออกแบบขอบประตูด้านบน มีความลาดเอียง และ
ไหลลื่นต่อเนื่องจากหลังคาเป็นหยดน้ำ ทำให้ คุณอาจจะเจอปัญหา หัวชนขอบทางเข้าด้านบนได้ง่าย
ดังนั้น อาจต้องก้มหัวลงไปให้มากกว่าปกติพอสมควร จึงจะ เข้าไปนั่งในรถได้อย่างปลอดภัย หัวไม่
โขกกับขอบหลังคา
กระจกหน้าต่างของบานประตูคู่หลัง เปิดเลื่อนลงไปได้จนสุดพอดี แผงประตูด้านหลังมีพื้นที่วางแขน
ที่พอจะสบาย และใช้งานได้จริง ไม่มีปัญหาอะไร และมีเส้นขอบล่างของกระจก หรือเส้นสะเอวรถ
ไล่ระดับต่ำไปสูง แต่กลับไม่รู้สึกถึงความอึดอัดจากการมองเห็นภาพภายนอก ระหว่างนั่งบนเบาะหลัง
เลยแม้แต่น้อย…
เพราะความอึดอัดที่ว่า มันย้ายตำแหน่งมาอยู่บนหัวผมนี่แหละ! นี่คือ รถยนต์นั่ง Sedan ที่ผลิตขายใน
เมืองไทย 1 ในไม่กี่รุ่น ซึ่งมีปัญหาพื้นที่เหนือศีรษะ ไม่พอสำหรับหัวของผม
ทันทีที่ผมนั่งลงไป หัวของผม ก็ติดเพดานด้านหลังทันที ทางเดียวที่ผมจะนั่งเบาะหลังรถคันนี้ได้ คือ
ต้องนั่งแบบ คนทั่วไปเขานั่ง คือ ตัวจะไหลเลื้อยลงไปทางด้านล่างของเบาะเล็กน้อย ซึ่งก็จะก่ออาการ
ปวดหลังให้ผมตามมาได้ในภายหลังอยู่ดี
สรุปว่า หัวของผม ใหญ่ไปสำหรับ รถคันนี้งั้นหรือ? ผมต้องเอาหัวไปเข้าโรงกลึง ให้เขาเหลากบาลทิ้ง
ไปางส่วน เพื่อจะนั่งเบาะหลังรถคันนี้ได้ ใช่หรือเปล่าเนี่ย?
นี่คือผลจากการออกแบบ ให้หลังคาลาดลงมามากเกินไป คืออยากเน้นเส้นสายภายนอกรถ ให้มีบั้นท้าย
ดูใหญ่โต ผลก็คือ ออกมาเป็นแบบนี้ จริงๆแล้ว เรื่องน่าแปลกก็คือ Mazda 2 มีแนวหลังคาคล้ายคลึงกัน
แต่หัวผมยังนั่งแล้วไม่ติด ยังเหลือพื้นที่เหนือศีรษะอีกนิดเดียวก็จริง แต่นั่นเพียงพอสำหรับคนที่มีสรีระ
สู 170 เซ็นติเมตร ผิดกับ Almera เพราะเบาะหลังแบบนี้ พื้นที่เหนือศีรษะแค่นี้ เหมาะกับ ผู้สูงอายุ หรือ
เด็กๆ ที่มีความสูง ไม่เกิน 170 เซ็นติเมตร นี่คือจุดด้อยสำคัญของรถรุ่นนี้ ที่ควรปรับปรุงในรุ่นต่อไป
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากประเด็นนี้แล้ว พื้นที่โดยสารด้านหลัง ซึ่งแตกต่างจาก March โดยสิ้นเชิง
ถือว่าเป็นจุดขายสำคัญของ Almera เพราะด้วยการยืดระยะฐานล้อให้ยาวสะใจถึง 2,600 มิลลิเมตร นั่น
ช่วยเพิ่มให้พื้นที่วางขา ให้ยาวใหญ่สะใจที่สุดในบรรดารถยนต์นั่งกลุ่ม B-Segment Sedan ทุกคันใน
ตลาดเลยทีเดียว เผลอๆ อาจข้ามไปทาบรัศมี พื้นที่วางขาด้านหลังของรถยนต์นั่ง C-Segment บางรุ่น
ได้อีกด้วย
พนักพิงเบาะหลังจะใช้ฟองน้ำที่ดี และพิงหลังสบาย สำหรับการเดินทางไกล ส่วนเบาะรองนั่งยังคง
สั้น แต่มีฟองน้ำที่นุ่มแน่น กว่า Mirage ชัดเจน มีที่วางแขนแบบพับเก็บได้ พร้อมช่องใส่แก้วน้ำมาให้
และมีเข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด 2 ฝั่ง ซ้าย – ขวา รวมทั้ง เข็มขัดนิรภัย ELR 2 จุด คาดเอว เพื่อผู้โดยสาร
ตรงกลางมาให้แม้แต่รุ่นเกียร์ธรรมดา ซึ่งข้อนี้ต้องขอชมเชย เพราะออกแบบมาให้ใช้งานได้จริง ไม่เลว
เลยทีเดียว เพราะออพชันนี้ รถยนต์ขนาดเล็กหลายรุ่น ยังไม่ยอมติดตั้งมาให้ แสดงว่า Nissan ต้องการ
เอาใจผู้โดยสารตอนหลัง แต่ถ้าเป็นเช่นนี้จริง ก็ช่วยไปเพิ่มความสูงของเพดานหลังคาด้านหลัง ให้มัน
ไหลเทลาดลงน้อยกว่านี้ ตั้งชันเพิ่มขึ้นกว่านี้อีกนิดนึงเถอะ!
อีกเรื่องหนึ่งก็คือ เบาะหลัง ไม่สามารถแบ่งพับได้ เพื่อเปิดทะลุไปยังพื้นที่ห้องเก็บของด้านหลัง ดังนั้น
เมื่อเปิดฝากระโปรงหลังขึ้นมา คุณจะพบว่า มี Future Board แปะไว้ กั้นระหว่างเบาะหลังกับห้องเก็บของ
เพื่อให้ดูเรียบร้อย
Nissan แอบรับไอเดีย ของ Toyota สมัยทำ Vios มาใช้กับเขาด้วยเหรอเนี่ย? รายนั้น ต้นตำรับการใช้
Future Board ในบริเวณเดียวกันนี้เลยนะ ฮ่าๆๆ
พื้นที่ห้องก็บของมีความจุ 490 ลิตร ขนาดใหญ่มากกว่าที่ใครจะคาดคิด ใส่กระเป๋าเดินทางได้อย่างน้อย
3 ใบแน่ๆละ เมื่อยกพื้นห้องเก็บของขึ้นมา จะพบยางอะไหล่แบบเต็ม ล้อกระทะเหล็ก มีเครื่องมือ
ประจำรถ ทั้งแม่แรง และประแจมาให้ ตามสไตล์ Nissan แต่ไหนแต่ไรมาแล้ว
ที่สำคัญ อยากให้ดูบริเวณฝากระโปรงหลัง มีการติดตั้งแผงซับเสียงมาให้ เพื่อความเรียบร้อยสวยงาม
อีกด้วย นี่เป็นสิ่งที่หาได้ยากสำหรับ รถยนต์ประกอบในประเทศไทย!
แผงหน้าปัดถูกออกแบบมาอย่างชาญฉลาด ทั้งในแง่ความรู้สึกของลูกค้า และในแง่ของการจัดการด้าน
การผลิต เพราะว่า สิ่งที่คุณเห็นอยู่ในรูปทั้งหมดนี้ สามารถถอดสลับสับเปลี่ยนใส่กับ Nissan March ได้
แทบจะทั้งหมด เพราะมันคือแผงหน้าปัดชุดเดียวกันเลยนั่นเอง!
แต่ความต่าง มันอยู่ที่ การออกแบบแผงควบคุมตรงกลาง ให้เหมาะสมกับรสนิยมของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
ซึ่งต้องการภาพลักษณ์ความลงตัว ดูดี ในแบบที่รถยนต์ Sedan ควรเป็น ดังนั้น การเปลี่ยนช่องแอร์และ
แผงควบคุมวิทยุ จากรูปแบบ นกฮูก มาเป็น ช่องแอร์แบบสี่เหลี่ยม กับชุดวิทยุ 2 DIN อย่างที่เห็นอยู่นี้
แม้จะไม่ได้ทำอะไรเพิ่มเติม แต่ก็ดูราวกับว่า เป็นแผงหน้าปัดคนละชุดกับ March ทั้งที่ถอดเปลี่ยนใส่
แทนกันได้เลยด้วยซ้ำ
มองขึ้นไปบนเพดานหลังคา แผงบังแดดของรุ่นท็อป VL จะมีกระจกแต่งหน้าฝั่งคนขับมาให้ ส่วนรุ่น
E เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ จะไม่มีกระจกมาให้เลย กระจกมองหลังของทุกรุ่นเป็นแบบตัดแสงได้ด้วย
ก้านโยกเล็กๆด้านใต้ ส่วนไฟอ่านแผนที่ด้านหน้า มีมาให้ครบ สวิชต์ดูป๊อกแป๊กมาก บอบบาง ควรใช้
อย่างระมัดระวัง เพราะมันเป็นชุดเดียวกับ ไฟส่องสว่างกลางเพดานหลังคา แต่แค่เพิ่มตำแหน่งติดตั้ง
มาไว้ด้านหน้ารถอีกจุดแค่นั้น
พวงมาลัยทุกรุ่น เป็นแบบยูริเทน 3 ก้าน ปรับระดับสูง – ต่ำ ได้ นิดหน่อย ยกชุดมาจาก Nissan March
ก็จริงอยู่ แต่เฉพาะในรุ่น 1.2 V กับ 1.2 VL จะตกแต่งด้วย Trim สีเงิน และเฉพาะรุ่นท็อป 1.2 VL จะมี
สวิชต์ ควบคุมชุดเครื่องเสียง บนพวงมาลัย หน้าตา กลมๆ ใช้งานง่ายๆ มาให้ ติดตั้งทางฝั่งซ้าย ส่วนรุ่น
1.2 S 1.2 E และ 1.2 ES จะเป็นพวงมาลัย แบบ 3 ก้านธรรมดาๆ อย่างที่เห็น
ทุกรุ่น (ยกเว้นรุ่นถูกสุด 1.2 S) ติดตั้งระบบ เซ็นทรัลล็อก พร้อมสวิชต์สั่งปลด-ล็อก ทั้ง 4 บานประตูมาให้
กระจกหน้าต่างของทุกรุ่น (ยกเว้น รุ่นถูกสุด 1.2 S) เลื่อนขึ้น – ลง ได้ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า เฉพาะฝั่งคนขับ
มีสวิชต์ One-Touch เลื่อนขึ้น – ลงได้ด้วยการกดสวิชต์จนสุดเพียงครั้งเดียว แต่ที่เด็ดก็คือ มีระบบป้องกัน
สิ่งกีดขวาง Jam Protection แถมมาให้เฉพาะฝั่งคนขับอีกด้วย!
กระจกมองข้าง ปรับด้วยสวิชต์ไฟฟ้า มีมาให้ทุกรุ่น ยกเว้น 1.2 S ตัวถูกสุด ที่ยังต้องปรับด้วยมือ แต่สำหรับ
ระบบพับกระจกมองข้างด้วยสวิชต์ไฟฟ้า จะมีเฉพาะรุ่น 1.2 ES 1.2 V และ 1.2 VL ใบปัดน้ำฝนคู่หน้า
เป็นแบบ หน่วงเวลา 1 จังหวะ ได้ทุกรุ่น แต่ในรุ่น 1.2 VL จะเป็นแบบตั้งเวลาหน่วงได้
ชุดมาตรวัดของ Almera นั้น หากเป็นรุ่นมาตรฐาน (รูป 2 จากข้างบน) ก็จะมีมาตรวัดรอบมาให้ และเป็นเพียง
การนำ Fontตัวเลข พิมพ์ลายสีขาว สกรีนลงไปบนพื้นดำ แถม จอแสดงข้อมูล อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงแบบคร่าวๆ
พอแค่นั้น
แต่สำหรับรุ่นท็อป 1.2 VL คันนี้ คุณจะเห็นงานออกแบบที่ต่างออกไป มันดูไฮโซขึ้นมาก หน้าจอตรงกลาง
จะมาในทางของรถยนต์ยุโรป แต่ใช้พื้นสีดำ ตัวเลข Digital สีแดง แสดงทั้งอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ทั่้ง
แบบเฉลี่ย และ Real Time ระยะทางที่เหลือพอให้รถแล่นไปได้ถึงจากน้ำมันในถังที่มีอยู่ มีนาฬิกา และ
เข็มวัดอุณหภูมิความร้อนแบบ แถบ Digital ซึ่ง ขอชมว่า ดีมากแล้วที่ใส่มาให้ด้วย แต่น่าจะใส่มาให้กับ
รุ่นมาตรฐานที่มีราคาถูกกว่านี้ด้วย จะดีมากๆ
Hiroyuki AMAGI ตำแหน่งInterior Designer ที่เริ่มงานกับ Nissan มาตั้งแต่ปี 1999
และเคยรับงานออกแบบภายนอก ของ Nissan Pathfinder รุ่นปัจจุบันในสหรัฐฯ และรถกระบะ Frontier
รุ่น Minorchange รวมทั้ง Maxima กับ Altima รุ่นปัจจุบัน (ที่เพิ่งตกรุ่นไปในสหรัฐฯ) เล่าว่า
“มาตรวัดความเร็วในรถยนต์ เป็นสิ่งที่ต้องอยู่ในสายตา ขณะขับขี่ เกือบตลอดเวลา แถมยังเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่ง
ที่จะทำให้ผูคน เกิดแรงจูงใจเพื่อซื้อรถคันนี้ ฉะนั้นงั้นทางเราจึงต้องออกแบบให้สวยงาม”
“มีอยู่วันนึง ผมได้ไปเดินช้อปปิ้ง พอเดินผ่านร้าน Jewelry ปรากฎว่าเครื่องเพชรที่ตั้งโชว์อยู่ ส่องประกาย
ระยิบระยับจนเตะตามากๆ รู้สึกว่ามันสวยมากกกก อยากจะจับจูบลูบคลำ แต่ก็ทำไม่ได้เพราะมีกล่องปิดเอาไว้อยู่
(แหงละสิ) ณ เวลานั้นก็เลยคิดในใจว่า เนี่ยแหละ มาตรวัดของ Almera มันต้องสวยเหมือนเครื่องเพชร สุดท้าย
ด้วยความช่วยเหลือของ ซัพพลายเออร์ ตัวมาตรวัดก็เลยทำออกมาเหมือนกับเครื่องเพชรที่มีกล่องปิดด้านนอกอีกที
แลดูสวยงาม และก็จัดการออกแบบลวดลายต่างๆในหน้าปัดให้เหมือนเครื่องเพชรที่ส่องประกายยามต้องแสงไฟ
นอกจากนี้ แม้ว่า Amagi-san จะใส่ใจในการตกแต่งด้วยชิ้นส่วนสีเงินภายในห้องโดยสาร แต่ด้วยต้นทุนในการ
พัฒนารถยนต์รุ่นนี้ที่จำกัด ทำให้นางถึงกับกุมขมับว่าจะทำอย่างไรให้ห้องโดยสารถูกตกแต่งด้วยความสวยงาม และ
ดูมีคุณภาพสูงภายใต้งบประมาณอันน้อยนี้ Amagi เลยมุ่งศึกษาเครื่องประดับ เครื่องเงิน รวมไปถึงงานฝีมือสมัย
โบราณอย่างหนัก จนไปถูกใจกับผิวเคลือบเงาสีเข้มของหม้อเงิน Amagi เลยปิ๊ง นำจุดนี้มาใช้ในชิ้นส่วนเล็กๆ
ในห้องโดยสารที่คนขับและผู้โดยสารมักจะสัมผัสบ่อยๆ โดยเพิ่มความวิบวับเข้าไป พื่อสร้างความโดดเด่นของ
ชิ้นส่วนนี้ เพื่อให้ผู้ใช้รถคันนี้สังเกตได้อย่างง่ายอีกด้วย
ชุดเครื่องเสียง ของทุกรุ่น (ยกเว้น 1.2 S อีกตามเคย) จะเหมือนกันหมด เป็นวิทยุ AM/FM พร้อมเครื่องเล่น
CD/MP3 1 แผ่น และมีช่องเสียบ AUX สำหรับต่อพ่วงเครื่องเล่นเพลงอื่นๆ หน้าตา เหมือนกับวิทยุที่อยู่ใน
Nissan Navara พิกล แน่นอนว่า คุณภาพเสียงไม่ถึงกับเลวร้ายอย่างที่คิด เสียงพอใช้ได้ สำหรับรถยนต์
ระดับราคาเท่านี้ แต่อย่าไปคาดหวังมากนัก มันไม่ได้เทพเกินราคาค่าตัวของรถหรอกครับ
ถัดลงไป เป็น เครื่องปรับอากาศ มีเพียงรุ่น 1.2 VL เท่านั้น ที่จะติดตั้งเครื่องปรับอากาศแบบ Digital
ซึ่งมีหน้าตาเหมือน Donut ยกชุดมาจาก Nissan March และ Nissan Cube ไม่ผิดพิมพ์เขียว ใช้งาน
ค่อนข้างไม่สะดวก ยิ่งถ้าขับรถอยู่ ต้องการจะลดความแรงพัดลมแอร์ลงมา ต้องละสายตาจากพื้นถนน
มองลงมาหาว่า สวิชต์พัดลมอยู่ตรงไหน
กลับกลายเป็นว่า สวิชต์ เครื่องปรับอากาศแบบมาตรฐาน หน้าตาเหมือน ด่านเจดีย์สามองค์ ในรุ่นทั่วไป
กลับสามารถทำหน้าที่ของมันได้ดียิ่งกว่า เหมาะสมกับการขับขี่มากกว่า ไม่ต้องละสายตา แค่เอามือ
ลงมาคลำหาสวิชต์ที่ต้องการ ก็ปรับเปลี่ยนแอร์ได้ง่ายดายกว่ากันเยอะ!
ถัดลงมา เป็นช่องวางแก้วน้ำ สำหรับผู้ขับขี่และผู้โดยสารตอนหน้า รวม 2 ช่อง ซึ่งการใช้งานจริง อาจ
ต้องใส่ขวดน้ำที่มีทรงสูง นิดหน่อย เพื่อให้สะดวกต่อการหยิบจับมาดื่มขณะขับขี่ ถ้าใช้ใส่กระป๋อง
น้ำอัดลม อาจจะไม่เหมาะนัก
ไมว่าคุณจะซื้อ Almera รุ่นย่อยใด มองไปข้างลำตัวผู้ขับขี่ ก็จะเจอ ช่องวางแก้ว อีก 2 ตำแหน่ง สำหรับ
ผู้โดยสารด้านหน้า หรือหลังก็ได้ เบรกมือ และช่องเสียบกล่อง CD ได้ ไม่เกิน 3 กล่อง อย่างนี้ทุกคัน แม้ว่า
จะมีช่องวางแก้ว เพิ่มจาก แผงถาดพลาสติกแบบเดียวกันนี้ ที่ติดตั้งใน March แต่อันที่จริง ในรุ่นท็อป
1.2 VL น่าจะให้มาเป็นกล่องคอนโซลกลาง เพื่อสร้างความแตกต่างจาก March สักหน่อยก็ยังดี
ทัศนวิสัย การมองเห็นจากด้านหน้ารถนั้น ชัดเจนดี คราวนี้ แตกต่างจาก March เล็กน้อย เพราะนั่ง
บนเบาะคนขับแล้ว พอจะมองเห็นฝากระโปรงฟหน้าอยู่นิดนึง ซึ่งน่าจะถูกใจผู้ขับขี่ สูงวัย ที่ยัง
อยากเห็นฝากระโปรงหน้าขณะขับรถ เพื่อควยามอุ่นใจในการกะระยะจากรถคันข้างหน้า หรือ
ขณะขับรถเอาหน้าทิ่มเข้าช่องจอด
เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งขวา แอบมีการบดบังรถที่แล่นสวนมาจากทางโค้งขวา บนถนนแบบ
สวนกันสองเลนพอสมควร ส่วนกระจกมองข้างนั้น ควรจะกว้างกว่านี้อีกสักหน่อย ขณะที่ความสูง
อยู่ในระดับพอดีแล้ว
เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งซ้าย มีการบดบังรถที่แล่นสวนทางมา ขณะจะเลี้ยวกลับรถ อยู่เล็กน้อย
แต่ยังพอจะแก้ปัยหาได้ ด้วยการ เคลื่อนรถขณะเลี้ยวกลับ ขยับไปข้างหน้าอีกนิดเดียว ก็มองเห็น
รถคันที่แล่นสวนมาได้ชัดเจน เช่นเดียวกัน กระจกมองข้าง ควรมีความกว้างเพิ่มจากนี้อีกนิดนึง
น่าจะช่วยเพิ่มการมองเห็นรถคันข้างหลั ได้ถนัดกว่านี้อีกพอสมควร
ส่วนทัศนวิสัยด้านหลังนั้น เหมือนจะแคบ แต่จริงๆแล้ว มองเห็นรถคันที่แล่นตามหลังมาจากทาง
ด้านซ้าย ได้ชัดเจนพอสมควร เพราะเสาหลังคาคู่หลัง C-Pillar มีขนาดเล็ก มาจนถึงตรงกลาง จึงจะ
เริ่ม ทำมุมเฉียง ไปตามแนวเส้นสายของตัวรถ อาจบดบัง เด็กตัวเล็กๆบ้าง ดังนั้น การถอยเข้าจอด
อาจต้องระมัดระวัง ส่วนการเปลี่ยนเลนเข้าช่องคู่ขนาน ใช้ความระมัดระวัง แค่ในระดับปกติ ยัง
ไม่ต้องเพิ่มการระวังมากกว่าปกติแต่อย่างใด
********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********
ในตลาดโลก Nissan ติดตั้งเครื่องยนต์ ให้กับ Almera แตกต่างกันไปตามความจำเป็นในแต่ละประเทศ
หากเป็นเวอร์ชันอเมริกาเหนือ ในชื่อ Versa ซึ่งจำเป็นต้องใช้เครื่องยนต์ใหญ่ขึ้นกว่าตลาดอื่นๆเล็กน้อย
เพื่อให้สามารถแล่นไปตามทางหลวงข้ามรัฐ เส้นยาวๆ ได้สบายสักหน่อย Nissan จะใส่เครื่องยนต์รหัส
HR16DE บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,598 ซีซี หัวฉีด EGI 109 แรงม้า (PS) ที่ 6,000
รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 14.7 กก.-ม. ที่ 4,400 รอบ/นาที ที่คนไทยคุ้นเคยกันดีใน TIIDA 1.6 ลิตร
สำหรับตลาดเมืองจีน ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องยนต์ขนาดใหญ่นัก ขุมพลัง รหัส HR15DE บล็อก 4 สูบ
DOHC 16 วาล์ว 1,500 ซีซี หัวฉีด EGI และระบบแปรผันวาล์ว Dual C-VTC กำลังสูงสุด 112 แรงม้า
(PS) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 139 นิวตันเมตร หรือ 14.1 กก.-ม. ที่ 4,000 รอบ/นาที ก็พอ
ต่อการขับขี่ใช้งานในชีวิตประจำวันแล้ว
แต่สำหรับเมืองไทย เนื่องจาก Nissan ต้องการผลักดันให้ Almera แทรกตัวเข้าไปอยู่ในตลาดกลุ่ม ECO-Car
ซึ่งต้องใช้เครื่องยนต์ เบนซิน ไม่เกิน 1,200 ซีซี ทำให้ พวกเขาตัดสินใจ วางเครื่องยนต์ HR12DE หรือรหัส
XH5 ตามการเรียกของ พันธมิตรดั้งเดิมอย่าง Renault ฝรั่งเศส เป็นเครื่องยนต์บล็อก 3 สูบ DOHC 12 วาล์ว
1,198 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 78.0 x 83.6 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.2 : 1 หัวฉีด Multi-Point ควบคุม
ด้วยกล่องอีเล็กโทรนิคส์ ECCS 32 Bit ระบบขับวาล์ว ใช้โซ่ตอนเดียว เรียงลำดับการจุดระเบิด 1 – 2 – 3 พร้อม
ระบบแปรผันวาล์ว CVTC (Vontinuously Valve-Timing Control) ยกชุดมาจาก March มาใส่ห้องเครื่องยนต์
ของ N17 Sedan เวอร์ชันไทยคันนี้
พละกำลังสูงสุด 79 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 10.8 กก.-ม.ที่ 4,400 รอบ/นาที ปล่อยก๊าซ
คาร์บอนไดกออกไซด์ ออกมาในระดับต่ำ ประมาณ 120 กรัม/ ระยะทาง 1 กิโลเมตร
และแน่นอน มันคือเครื่องยนต์เดียวกับกับ Nissan March ดังนั้น รายละเอียดงานวิศวกรรม และการปรับปรุง
เครื่องยนต์จากตระกูล HR บล็อก 4 สูบเดิม รวมทั้งเรื่องอะไหล่ ในระยะยาว จึงสบายใจหายห่วง เพราะแทบ
ไม่ต่างอะไรจากเครืองยนต์ของ March เลย ซึ่งคุณสามารถหาอ่านรายละเอียดของเครื่องยนต์นี้เพิ่มเติมได้
จากบทความ Full Review ของ Nissan March ควบคู่กันไปด้วย (คลิกที่นี่ Click Here!)
สิ่งที่แตกต่างไปจาก March ในรุ่นแรกๆ (ซึ่งหลังจากนี้ ก็คงจะไม่ต่างกันแล้วละ) คือ มีการติดตั้งระบบ
Idling Stop หรือระบบดับเครื่องยนต์เอง เมื่อเหยียบเบรกจอดรอรถติดไฟแดง และติดเครื่องยนต์ขึ้น
เองได้ใหม่ทันที ที่ถอนเท้าจากแป้นเบรก ไฟสีเขียวบนหน้าปัดที่เห็นนี้ แสดงว่าระบบทำงานอยู่
เพราะใน March นั้น เงื่อนไขการทำงานค่อนข้างวุ่นวายซับซ้อนซ่อนเงื่อน ยิ่งกว่านั่งดู CSI ซะอีก
ที่สำคัญคือ ต้องปิดสวิชต์ A/C ไปที่ตำแหน่ง Off ระบบจึงจะทำงาน พอเอามาใช้จริง ลูกค้าก็บ่นยับ
ว่า เมืองไทย ร้อนจะตายห่า มึมจะให้กรู ขับรถโดยปิด A/C Off เนี่ยนะ?
Nissan เลยจัดการ นำระบบเดียวกันนี้ แต่เป็นเวอร์ชันที่ใส่ในรถรุ่นส่งออกไปญี่ปุ่น มาติดตั้งให้ใน
Almera ก่อน เป็นประเดิม (แล้วค่อยตามด้วย March ในภายหลัง) คราวนี้ ไมต้องกดปุ่ม A/C Off
เครื่องปรับอากาศในรถก็จะทำงานไปได้เรื่อยๆ กระนั้น พอคุณเหยียบเบรกจนรถหยุด และเครื่องยนต์ดับ
คอมเพรสเซอร์แอร์ ก็จะตัดการทำงาน เหลือแต่พัดลมเท่านั้น ถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้ต่างจากเดิมเท่าไหร่
แต่อย่างน้อย ยังพอจะเหลือ ไอเย็น ให้คุณได้คลายร้อน ระหว่างรอให้รถเคลื่อนตัว นิดๆหน่อยๆ พอรับได้
ที่สำคัญ Nissan ติดตั้งปุ่มสวิชต์ กดสั่งเปิด หรือปิด ระบบนี้ ได้ด้วยตัวคุณเอง ดังนั้น ถ้าต้องการขับประหยัดๆ
ก็สั่งให้ระบบทำงานได้ แต่ถ้าเริ่มรู้สึกรำคาญกับอาการติดๆดับๆ ที่บ่อยครั้งเกินไป สั่งปิดระบบไปเลยก็ได้
สวิชต์ ติดตั้ง อยู่ใต้ สวิชต์ปรับกระจกมองข้างไฟฟ้านั่นละครับ อยู่ฝั่งขวามือของคนขับ มีเฉพาะรุ่น 1.2 VL
เครื่องยนต์ 3 สูบ นี้จะส่งกำลังไปยังล้อคู่หน้า ด้วย เกียร์ธรรมดา
รุ่น RS5F91R ผลิตจากญี่ปุ่น เกียร์ลูกนี้ มีอัตราทดเกียร์ ดังนี้
เกียร์ 1 3.727
เกียร์ 2 2.048
เกียร์ 3 1.393
เกียร์ 4 1.029
เกียร์ 5 0.821
เกียร์ R 3.546
อัตราทดเฟืองท้าย 4.067
ส่วนรุ่นเกียร์อัตโนมัติ นั้น Nissan เลือกที่จะพัฒนาเกียร์อัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน CVT ลูกใหม่ขึ้นมา
แล้วให้ทาง JATCO ตั้งโรงงานในเมืองไทย แล้วผลิตให้ เป็นเกียร์รุ่น RE0F11A ถือเป็นเกียร์ CVT
ลูกแรกในโลก ที่มีการติดตั้ง Sub Planetary Gear มาให้ ในพูเลย์ขับเคลื่อน
อัตราทดเกียร์ ขับเคลื่อน หรือเกียร์ D อยู่ที่ 4.006 – 0.550
เกียร์ R หรือเกียร์ถอยหลัง อยู่ที่ 3.546
อัตราทดเฟืองท้าย 4.067
รายละเอียดต่างๆ ของเกียร์ลูกนี้ อยู่ในบทความรีวิว Nissan March แล้วครับ ลองหาอ่านกันได้
แต่อยากจะแจ้งข้อมูลให้ทราบเพิ่มเติมอีกสักหน่อยว่า เกียร์ CVT ของ Jatco ลูกที่คุณเห็นอยู่นี้
เป็นเกียร์ลูกเดียวกับที่ใช้อยู่ในทั้ง Nissan March Mitsubishi Mirage และ Suzuki Swift !!
แตกต่างกันแค่เพียง สมองกลเกียร์ ที่แต่ละค่ราย โปรแกรมออกมาในลักษณะเฉพาะของรถแต่ละรุ่น
เรายังคงทำการทดลองขับเวลา ด้วยมาตรฐานเดิม คือใช้เวลากลางคืน เปิดแอร์ เปิดไฟหน้า
และนั่ง 2 คน ผู้ที่ช่วยจับเวลา ก็ยังคงเป็น คุณกล้วย BnN จาก The Coup Channel
ในทีมเว็บของเราเช่นเคย ตัวเลขที่ได้ เมื่เปรียบเทียบคู่แข่งทุกคันในตลาดกลุ่ม ECO Car
ผลลัพธ์ออกมา มีดังนี้
เห็นตัวเลขแล้ว ต้องบอกเลยว่า เป็นไปตามความคาดหมายครับ “อีดที่สุดในกลุ่มจริงๆด้วย ในรุ่น CVT”
ในเมื่อ เครื่องยนต์ที่ติดตั้งอยู่ใน Almera เป็นเครื่องเดียวกันกับ March ซึ่งต้องลาก
น้ำหนักตัวถังที่เพิ่มขึ้น ขนาดตัวรถใหญ่โตขึ้น ก็คงเป็นเรื่องที่ต้องทำใจกับตัวเลขอัตราเร่งที่ออกมา
ถือว่า รุ่นเกียร์อัตโนมัติ CVT นั้น อืดกว่าคู่แข่งทุกคันในกลุ่มนี้ อย่างไม่ต้องสงสัย และผมคงไม่ต้อง
อธิบาย สาธยาย ให้เห็นภาพเพิ่มเติมกันอีก ตัวเลข 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ปาเข้าไป 16 วินาที
แบบนี้ คงต้องทำใจเวลาขับขี่ แถมรุ่นเกียร์ธรรมดา ก็ยังทำตัวเลขดีที่สุดได้แค่ 13 วินาที ต้นๆ ส่วน
อัตราเร่งแซง เมื่อวัดจากนาฬิกาจับเวลา ก็มีสภาพไม่ต่างกันนัก ทั้ง 2 รุ่นย่อย
แต่ถ้าไม่นับการจับเวลา ในการใช้งานจริง อัตราเร่งที่ Almera มีมาให้ ก็จะเพียงพอสำหรับ คุณครู
หัวหน้าหมวดวิชาภาษาไทย สังคมศึกษา หรือเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร รวมทั้ง พนักงานกินเงินเดือน
ระดับ Junior Manager ที่คิดอยากมีรถคันแรกในชีวิต ได้ขับใช้งาน เพราะลูกค้ากลุ่มนี้ ส่วนใหญ่
เท้าขวาไม่ค่อยหนัก ชอบขับรถเรื่อยๆ สบายๆ เน้นขับช้าๆ เอาปลอดภัยเป็นหลัก ไม่ค่อยขับเร็ว
หรือ เร่งแซงใครเขา มันพาคุณเดินทางข้ามจังหวัดได้แน่ๆ แต่การขับขี่ขึ้นเขาลงห้วยต่างๆนั้น มันจะ
ขึ้นอยู่ับน้ำหนักบรรทุกสัมภาระกับจำนวนผู้โดยสารด้วย ถ้านั่งกันไปสัก 2-3 คน กระเป๋าเดินทางขนาด
เล็ก หรือกลาง สัก 2 ใบ สบายครับ ขับเรื่อยๆ เร่งขึ้นทางชันได้ไร้ปัญหา
แต่ถ้า นั่งกันเต็มแน่นเอียด 7 คน กระเป๋าเต็มหลังรถ คิดจะขับขึ้นทางชันระดับดอยอ่างขาง หรืออาจ
เป็นเขาพับผ้า ขอแนะนำว่า ขับรุ่นเกียร์ธรรมดา จะเหมาะกว่า CVT
เพราะในความเป็นจริง อัตราเร่งแบบนี้ กว่าจะเร่งแซงแต่ละที ผมต้องกดคันเร่งลงไปมากกว่า ครึ่งหนึ่ง
และถ้าวันไหนรีบร้อนเดินทาง ผมต้องเหยียบคันเร่งจมมิด แล้วรอให้เข็มวัดรอบ มันกวาดขึ้นไปจนถึง
4.500 รอบ/นาที ขึ้นไป แรงบิดที่มีอยู่ จึงจะเริ่มบิดขี้เกียจ และลุกขึ้นมาทำงานอย่างเต็มที่ ถ้าเหยียบ
แค่ 3.000 รอบ/นาทื แรงบิดจะทำงานให้คุณอย่างไม่ค่อยเต็มใจ ไมค่อยสบอารมณ์นัก
ต่อให้เป็นรุ่นเกียร์ธรรมดา ซึ่งมีอัตราเร่งภาพรวม ดีกว่ารุ่นเกียร์ CVT ราวๆ 2 วินาที แล้วก็ตาม
งานนี้ยังถือว่า แพ้ Mirage ซึ่งมีน้ำหนักเบากว่า แม้แรงม้า น้อยกว่ากันแค่ตัวเดียว แต่จะให้
อัตราเร่งที่พุ่งกว่าชัดเจน อยู่ดี ผมต้องลากรอบเครื่องยนต์ไปอยู่ในช่วงสูงๆ เพื่อดึงศักยภาพของ
เครื่องยนต์ HR12DE ออกมาลุ้นกันชนิดใจหายใจคว่ำ ในบางจังหวะ ขณะที่รุ่น CVT นั้น ไม่ต้อง
นั่งลุ้น ไม่ต้องแซง ไม่ต้องคิดแรงไปแข่งับใครเขา ขับช้าๆเรื่อยๆ ในสไตล์เรา สบายใจกว่าเยอะ
แต่ความเร็วสูงสุดนั้น งานนี้ Almera เกียร์ธรรมดา ชนะชาวบ้านเขาไปเลย ในแบบเส้นยาแดงผ่าแปด
ดัวยตัวเลขจากมาตรวัด บันทึกภาพ แล้วมานั่งเพ่ง วัดสเกลความถี่ของช่องห่างระหว่างแต่ละขีดความเร็ว
ทำได้ 182 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไม่ขอแนะนำให้ไปทดลองเองอีกแล้วนะครับ มันหวาดเสียวมาก อันตราย
ทั้งต่อเพื่อนร่วมทาง และตัวคุณเอง (ผมลองให้แล้ว ในตอนกลางดึก ไม่มีรถบนถนนเลย) อย่าไปลองเอง!
การเก็บเสียงในห้องโดยสารนั้น จะยังทำได้ดี จนถึงความเร็วช่วง 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง หลังจากนั้น
เสียวงจะเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ เมื่อพ้นความเร็ว 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป ทีนี้ เสียงลมไหลผ่านตัวรถ
ก็จะดังขึ้นชัดเจน และจะดังขึ้นมากถ้าขับผ่านช่วง 140 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไปจนสุดเข็มวัด
พวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฟฟ้า EPS(Electronics
Power Steering) ยกชุดมาจาก March แต่มีรัศมีวงเลี้ยวกว้างขึ้นเล็กน้อย ตาม
ความยาวของตัวรถ จาก 4.5 เมตร เป็น 5.2 เมตร
การตอบสนอง ในภาพรวม ไม่แตกต่างจาก March ในล็อตหลังๆ คือ มีน้ำหนักเบา หมุนง่าย แต่
ยังสัมผัสได้ถึงการควบคุมของระบบไฟฟ้าที่มาช่วยผ่อนแรง ข้อดีของพวงมาลัย Almera ก็คือ
ถ้าในช่วงความเร็วต่ำ ขณะเดินทางในเมืองแล้วละก็ พวงมาลัยจะเบาแรง หมุนง่าย คล่อง ควบคุมรถได้
สบายๆ ไม่มีปัยหาอะไร ใครๆ ก็ขับขี่ใช้งานได้
และถ้าหากคุณใช้ความเร็วสูงถึงระดับ 160 – 170 กิโลเมตร/ชั่วโมง หากไม่มีกระแสลมมาปะทะด้านข้าง
แม้แต่นิดเดียว พวงมาลัยจะนิ่ง และควบคุมรถให้ตรงทิศทางไปด้วยตัวของมันเอง อย่างไม่น่าเชื่อว่าจะนิ่ง
ได้ถึงขนาดนี้
แต่ถ้าคุณกำลังขับขี่อยู่บนทางด่วน หรือทางหลวงแผ่นดินเส้นใหญ่ๆ ในต่างจังหวัดอยุ่ อย่าได้คิดจะมุด
หรือเปลี่ยนเลนกระทันหัน เชียวนะครับ คุณจะสัมผัสได้ถึงประสบการณ์อันน่าประหวั่นพรั่นพรึง จาก
ความไม่เป็นธรรมชาติ ปราศจากแรงต้าน หรือความตึงมือขณะเริ่มหักเลี้ยว แถมยังยังไม่แม่นยำเท่าที่
ควรจะเป็น
ทางแก้ ก็ไม่ต่างจาก March ครับ คือ อยากให้ทีมวิสวกรของ Nissan ที่ญี่ปุ่น หาซื้อ Suzuki
Swift รุ่นใหม่ กับ Honda Brio มาศึกษา เพราะแม้ว่าข้อเสียของพวงมาลัย Brio
อยู่ที่น้ำหนักในช่่วงความเร็วสูงเบาเกินไป ไม่หนืดมือขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น แต่มันก็คล่องแคล่ว ละยัง
ให้การตอบสนองที่เป็นธรรมชาติกว่าพวงมาลัยของ March / Almera ชัดเจน ยิ่งถ้าต้อง
เปรียบเทียบกับพวงมาลัยของ Swift ด้วยแล้ว ต้องปล่อยรายนั้นเขาเป็นเทพประจำรุ่นไปเลยจริงๆ
หรืออย่างน้อย ขอให้เพิ่มความหนืดในช่วงความเร็วสูงมากกว่านี้ ลดความช่วยเหลือจากระบบผ่อนแรง
ด้วยไฟฟ้า ในช่วงความเร็วตั้งแต่ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ลงไป ให้พวงมาลัยหนืดขึ้นกว่านี้อีกหน่อย พอกัน
กับ พวงมาลัยของ Mirage ได้ ก็ยังดี แค่นี้ ผมว่า การตอบสนองเพื่อการขับขี่ ก็จะดีขึ้นได้อีกครับ
ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบแม็คเฟอร์สันสตรัต ด้านหลังเป็นแบบทอร์ชันบีม พร้อมเหล็กกันโคลง
มาให้ครบทั้งด้านหน้าและด้านหลัง สัมผัสได้เลยว่า มีการตอบสนองภาพรวม ที่นุ่มนวลใกล้เคียงกันกับ
March อยู่นิดนึง ในช่วงความเร็วต่ำ ขับไปตามตรอกซอกซอย ช่วงล่าง จะตึงตัง กลายเป็นว่า ให้
แก้มยางที่หนา ช่วยซับแรงสะเทือนแทน ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับการเติมลมยางของคุณ ถ้าเติมแข็งไป ความ
ตึงตัง จะชัดเจนมากๆ แต่ถ้าเติมให้อยู่ในค่ามาตรฐานตามที่โรงงานกำหนด ความตึงตังจะลดทอนลงไป
ในระดับที่ แข็งกว่า Mirage พอกันกับ March เรียกได้ว่า เซ็ตช่วงล่างมาให้ด้านหน้าแอบแข็งพอกัน
กับ March ส่วนด้านหลัง ก็จะนุ่มกว่าชัดเจน
แต่ถ้าใช้ความเร็วสูง บนทางด่วน หรือทางยกระดับต่างๆ การยุบและโยนตัวเล็กๆ จากคอสะพานแบบ
เตี้ยๆ หรือ บนพื้นผิวลอนคลื่น ที่ค่อนข้างห่าง ไม่ถี่นัก ช่วงล่างจะฟ้องตัวเองเลยว่า ถูกเซ็ตมาเพื่อให้
เน้นความนุ่มสบายในการเดินทางไกลเป็นหลัก ซึ่งตามปกติ ช่วงล่างแบบนี้ ถูกออกแบบมาเอาใจกลุ่ม
ลูกค้าทั่วๆไป ไม่ได้ชอบรถ และไม่ได้รู้สึกสนุกในการขับรถมากนัก ต้องการแค่ รถที่ขับจากจุด A
ไยังจุด B ได้อย่างสบาย ตามอรรถภาพ และราคาที่จ่ายออกไป
การเข้าโค้ง ไม่ว่ารูปแบบใด คุณควรจะถอนเท้า และแตะเบรกชะลอรถลงก่อนหน้าโค้ง ตามปกติ หาก
คิดจะพารถ สาดเข้าโค้งไปเลยนั่น ตัวรถจะเอียงกะเทเร่ ขณะอยู่ในโค้งชัดเจนมาก กระนั้น บนโค้งของ
ทางด่วน ผมยังสามารถพา Almera แล่นเข้าโค้ง แล้วเลี้ยงรถไว้จนออกจากโค้ง ด้วยความเร็วระดับ
85 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้อยู่อย่างสบายๆ แต่ไม่ควรเกินกว่านี้เท่าใดนัก เหตุเพราะ สงสารยางติดรถ
Bridgestone B250 ซึ่งปกติ ก็ทำหน้าที่ กลิ้ง กล่กๆ ไปตามเรื่องตามราวของมันเท่านั้น เกรงว่า
จะแหก จะปลิ้น จะร้องเอี๊ยดจนสิ้นใจ ก่อนออกจากโค้ง ทั้งที่จริงๆแล้ว ตัวโครงสร้างยาง ก็ออกแบบ
มาพอดี และเผื่อวันหนักๆ อย่างนี้บ้างอยู่แล้วก็ตาม
เรื่องน่าแปลกก็คือ ผมมีอาการแอบวิงเวียนเล็กๆ ขณะขับ Almera ไปตามท้องถนนละแวกบ้าน
ย่านบางนา ทั้งศรีนครินทร์ ซอยลาซาล แบริ่ง อาการวิงเวียนนิดๆนี้ เกิดจากการทำงานของช็อกอัพ และ
สปริง ที่มีจังหวะยุบตัวน้อยมากๆ ในช่วงความเร็วต่ำ เมื่อเจอพื้นผิวถนนแบบลอนคลื่น ตัวรถจะโคลงเล็กๆ
ไม่มากนัก แต่ก่ออาการมึนให้เกิดขึ้นได้ ยิ่งถ้านอนน้อย นอนไม่พอ แล้วต้องมาขับรถคันนี้ ผมว่้า อาจมี
โอกาสเมารถ ได้สูง (แต่ถ้าแล่นบนทางด่วน ในวันที่ไม่มีกระแสลม รถจะนิ่งใช้ได้ในระดับของรถยนต์
ขนาดเล็ก ซึ่งอาจจะต้องพยายามฝืนกระแสลมที่พยายามจะช้อนด้านหน้ารถให้ลอยขึ้นนิดๆเป็นปกติ)
ผมมั่นใจและยืนยันได้ว่า ผมไม่ได้รู้สึกนึกคิดไปเองคนเดียว ขนาด คุณพ่อคุณแม่ของผม ซึ่งไม่เคยมี
ปัญหาใดๆกับรถยนต์ทดลองขับ ทุกคันที่ลูกชาย ยืมมาทำรีวิว พอได้นั่งไปกินข้าวเย็นกัน ในวันอาทิตย์
คุณพ่อถึงกับบ่นว่า ลงจากรถแล้วเกิดอาการมึนๆ คุณแม่เอง ที่บอกว่า ชอบพื้นที่นั่งด้านหลัง นั่งสบายดี
ยังบ่นว่า เวียนหัวนิดๆ อยู่เหมือนกัน
ดังนั้น คำแนะนำของผมก็คือ หากคิดจะซื้อ Almera ควรจะทดลองขับก่อน และนำญาติโกโหติกา
ร่วมบ้านชายคา มาร่วมลองขับ และนั่งไปกับคุณ ควรจะแล่นในระยะทางยาวสักหน่อย และมีพื้นผิวถนน
ที่มีลักษณะต่างกันไปให้ได้มากที่สดเท่าที่เวลา และใบหน้าของพนักงานขาย จะเอื้ออำนวย
ถ้าไม่มีใครในรถ บ่นว่า วิงเวียน หรือมึนหัว แสดงว่า คุณและครอบครัว ไม่มีปัญหากับช่วงล่างของเจ้า
Almera และก้สามารถลงชื่เอเซ็นใบจองกันได้เลยครับ
ระบบห้ามล้อ ด้านหน้าเป็นแบบ ดิสก์เบรก แบบมีรูระบายความร้อน ส่วนด้านหลังเป็นแบบ ดรัมเบรก
พร้อมระบบป้องกันล้อล็อก ABS มาพร้อมระบบกระจายแรงเบรก EBD และระบบเพิ่มแรงเบรก
ในภาวะฉุกเฉิน Brake Assist มาให้เฉพาะในรุ่น 1.2V และ VL เท่านั้น เช่นเดียว
กับ March ไม่มีผิดเพี้ยน
การตอบสนองในภาพรวมถือว่าทำได้ดีสมราคา ถือว่าพอไว้ใจได้ การหน่วงความเร็วลงมาจากระดับ เกิน
120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ลงมา หากไม่กระทันหันเกินไป ก็ใช้งานได้ดี แต่ถ้าจะเหยียบกันแบบปัจจุบันทันด่วน
อาจต้องใช้ความระมัดระวังกันสักหน่อย เพราะระบบเบรกชุดนี้ ถูกออกแบบมาให้ีรองรับการใช้งานในเมือง
เป็นหลัก เน้นความนุ่มในการเหยียบเบรก นิสัยคล้ายกับแป้นเบรกของ March คือ ถ้าจะชะลอรถลงมา
ให้เหยียบแป้นเบรกลงไปได้เลย ไม่ต้องไปเหยียบแตะๆ แช่ทิ้งไว้เพื่อเลียเบรก เพราะรถจะชะลอลง น้อยกว่า
ที่คุณต้องการได้ ระบบเบรกจะตอบสนองได้ดี เมื่อคุณเหยียบแป้นลึกลงไปราวๆ เกือบครึ่งหนึ่ง ของระยะ
เหยียบ (Pedal Travel) ทั้งหมด
********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********
นอกเหนือจากตัวเลขสมรรถนะแล้ว อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ก็คืออีกประเด็นหนึ่งที่หลายคน
มักจะถามไถ่กันเข้ามา ว่าคัวเลขที่เราเคยทำการทดลองเอาไว้ เป็นอย่างไรบ้าง ยิ่งรถยนต์อย่าง
Almera ผู้บริโภค ลูกค้า หรือคุณผู้อ่าน ก็จะยิ่งให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ
เราจึงยังคงใช้มาตรฐานการทดลองเดิม ที่ยึดถือกันมาตลอดหลายปี นั่นคือ การนำรถยนต์ทั้งรุ่น
เกียร์อัตโนมัติ CVT และเกียร์ธรรมดา ไปเติมน้ำมันที่ สถานีบริการน้ำมัน Caltex ถนนพหลโยธิน
ใกล้สถานีรถไฟฟ้า BTS ฝั่งตรงข้ามปากซอยอารีย์สัมพันธ์ โดยเราใช้น้ำมันเบนซิน 95 Techron
หัวจ่ายเดิม เหมือนเช่นเดิม ทุกครั้งที่ผ่านมา
สำหรับรถยนต์นั่งขนาดเล็ก และมีเครื่องยนต์ต่ำกว่า 2,000 ซีซี เช่นนี้ ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของ
Headlightmag.com ที่จะต้องเพิ่มเงื่อนไขพิเศษในการทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเข้าไปทุกครั้ง
และครั้งนี้ ก็ไม่มีข้อยกเว้น
นั่นคือ การเขย่า / ขย่มรถ นั่นเอง!
ทำไมเราต้องเขย่ารถ? ก็เพราะต้องการเติมน้ำมันอัดกรอกลงไปในถังให้เต็มแน่นที่สุด จนถึงปากคอถัง
อย่างที่เห็นในภาพข้างบนนี้ เพื่อให้น้ำมัน ไหลเข้าไปแทนที่อากาศในถัง ซึ่งถูกดันออกมา นั่นเอง
แล้วทำไมพวกรถเก๋งคันใหญ่ๆ ถึงไม่เห็นคุณ J!MMY จะเขย่ารถบ้างเลย?
ใครถามข้างบนนี้มาจริงๆ ผมจะตอบให้เลยว่า “งั้น ลองมาช่วยผมเขย่าดู หรือไม่ พี่ก็ลองไปเขย่าเจ้า
Fortuner หรือ Pajero Sport ดูครับ แล้วพี่จะค้นพับสัจธรรมเอง”
Almera เติม แก็สโซฮอลล์ E20 ได้ แต่ผมไม่สนใจ เพราะเราใช้น้ำมันเบนซิน 95 ในการทดลองมา
อย่างต่อเนื่องหลายปีแล้ว และต้องการให้ข้อมุลในการทดลอง อยู่บนพื้นฐานตัวแปรเหมือนกัน
เมื่อเติมน้ำมันเสร็จแล้ว เราก็คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ แล้ว ออกรถ จากปั้ม มุ่งหน้า
ไปเลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน เข้าซอยอารีย์ ทะลุไปยังซอยข้างโรงเรียนเรวดี เลี้ยวซ้ายเข้าสู่
ถนนพระราม 6 เลี้ยวขวา ขึ้นทางด่วนสายเชียงราก ไปลงปลายสุดทาง ที่ด่านบางปะอิน แล้วค่อย
เลี้ยวกลับ ย้อนมาขึ้นทางด่วนสายเดิม มุ่งหน้าย้อนกลับมาทางเดิม
ความเร็วไม่เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ และ นั่ง 2 คน ยังคงเป็นมาตรฐานดั้งเดิมที่เรา
ยึดถืออย่างเคร่งครัด เพื่อให้การทดลอง ไม่ผิดเพี้ยนไปจากทุกครั้งที่ผ่านมา
เมื่อลงทางด่วนที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย กลับเข้าสู่ถนนพหลโยธินอีกครั้ง มุ่งหน้าไป
เลี้ยวกลับ บริเวณ หน้าโชว์รูม เบนซ์ราชครู แล้วเลี้ยวซ้าย เข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex เพื่อเติม
น้ำมันเบนซิน Techron 95 อีกครั้ง ที่ปั้มเดิม และใช้หัวจ่ายเดิม เช่นเคย
แน่นอนว่า การเติมน้ำมันครั้งแรก และครั้งหลัง ต้องเติมในแบบเดียวกัน เราจึงต้องมานั่งขย่มและ
เขย่ารถ กันอีกคันละกว่าครึ่งชั่วโมง เพื่อให้น้ำมันถูกอัดกรอกลงไปเต็มถังกันจริงๆ โดยไม่เหลือ
พื้นที่ให้อากาศอยู่ในถัง หรือถ้ามี ก็ต้องน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ จนน้ำมันเอ่อขึ้นมาถึงคอถังแบบนี้
มาดูผลการทดลองกันดีกว่า
รุ่น 1.2 VL เกียร์อัตโนมัติ CVT
ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมด บนมาตรวัด Trip Meter A อยู่ที่ 93.0 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 5.35 ลิตร
หารออกมาแล้ว ด้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 17.38 กิโลเมตร/ลิตร
ถือว่าทำตัวเลขออกมาได้ ประหยัดกว่า March เกียร์อัตโนมัติ 1.2 VL เพียงแค่ 0.1 กิโลเมตร/ลิตร เท่านั้น
ส่วนรุ่น 1.2 E เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ
ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมด บนมาตรวัด Trip Meter A อยู่ที่ 93.4 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 5.23 ลิตร
หารออกมาแล้ว ด้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 17.85 กิโลเมตร/ลิตร
ถ้าเปรียบเทียบกับบรรดา ECO Car พิกัดเครื่องยนต์ 1.2 ลิตรด้วยกัน ซึ่งเคยผ่านมือเรามาทั้งหมดแล้วนั้น
Almera ยังถือว่าทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ได้ประหยัดในอันดับต้นๆ ของตารางกันเลยทีเดียว จะพ่าย
ก็แค่เพียง Mitsubishi Mirage เท่านั้น ที่เหลือ เอาชนะมาได้หมด ไม่เว้นแม้แต่ Nissan March พี่น้อง
ร่วมแพล็ตฟอร์ม ด้วยซ้ำ แต่ตัวเลขที่แตกต่างกันเพียงหลักทศนิยม นั่นเท่ากับว่า ความประหยัดน้ำมัน
จะแตกต่างกันไม่มาก ถ้าใช้รูปแบบการขับขี่ที่เหมือนกัน ทุกคัน
ส่วนคำถามที่ว่า ถ้าเติมน้ำมัน 1 ถัง รถจะแล่นได้ไกลแค่ไหน? นั้น
ผมหาคำตอบมาให้แล้วครับ สำหรับรุ่นเกียร์ธรรมดา กว่าที่คุณจะใช้น้ำมันจนต่ำลงเหลือขีด E ถึงให้
เติมน้ำมัน ไฟสัญญาณเตือน ก็คงจะร้องดังลันออกมาก่อน ละครับ และระยะทางบน Trip Meter A
ที่เซ็ตไว้ตั้งแต่เติมน้ำมันเพื่อทดลองอัตราสิ้นเปลือง ทำได้ 592 กิโลเมตร! หรือราวๆ 600 กิโลเมตร
ขณะที่รุ่นเกียร์ CVT นั้น แล่นไปทั้งหด 359 กิโลเมตร เข็มยังเพิ่งจะแตะขีดกลาง แสดงว่าน่าจะ
ยังวิ่งได้อีกยาว หรือกว่า 50% เลยทีเดียว เท่ากับว่า ความประหยัดเป็นอีกจุดเด่นของ Almera จริงๆ
********** สรุป **********
รถเก๋งคันเล็ก สำหรับเริ่มต้นชีวิตครอบครัว ในศตวรรษ 21 ขับไม่สนุกเลย แต่ประหยัด แน่ๆ
ถ้าคุณมองหารถไว้สักคันขับช้าๆ เรื่อยๆ เพื่อครอบครัว และไม่สนใจคำว่า “ขับสนุก” นี่คือรถสำหรับคุณ
การเปิดตัว Almera นอกจากจะทำให้ผมย้อนกลับไปคิดคำนึงถึงอดีตในวัยเด็กของตัวเองแล้ว ยังชวนให้
นึกถึงบรรยากาศของตลาดรถยนต์ในเมืองไทย ช่วงปี 1988 – 1989 ได้ราวกับว่ามันเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้
ใครที่เกิดทันปี 1988 ก็คงพอจะจำได้นะครับ ว่าในสมัยนั้น Nissan Sunny B11 และ Mitsubishi Lancer
CHAMP เกิดมาด้วยจุดประสงค์อะไร?
ทั้ง 2 รุ่น ต่างเป็นรถยนต์ ตกรุ่นค้างปี ที่ทั้ง Nissan และ Mitsubishi Motors ตัดสินใจผลิตขายในบ้านเรา
ต่อเนื่องไปอีกหลายปี ด้วยเหตุผลต่างกัน
Mitsubishi Motors จำเป็นต้อง ลากผลิต CHAMP เพราะได้ลงทุนเครื่องจักรครั้งใหญ่ หวังจะประกอบ
รถยนต์รุ่นนี้ ส่งออกไปยังตลาดแคนาดา ไซปรัส ฯลฯ ดังนั้น เพื่อให้คุ้มทุน จึงจำเป็นต้องผลิตรถรุ่นนี้
ลากขายกันมาจนถึง ปี 1996 โดยเว้นวรรค ไม่นำ Lancer รุ่นปี 1987 – 1991 มาทำตลาดในบ้านเรา
แต่สำหรับ Nissan แล้ว เหตุผลที่ยังลากขาย Sunny FF B11 เรื่อยมาจนถึงราวๆ ปี 1996 ก็เพราะว่า ในเมื่อ
ตลาดยังต้องการรถยนต์ครอบครัวคันเล็ก ราคาประหยัด คุ้มค่า ไว้ใจได้ และในเมื่อ Mitsubishi มี CHAMP
อยู่ แล้วไฉน พวกเขาจะต้องเลิกผลิต B11 กันด้วยละ ในเมื่อยังขายได้เดือนละ หลายร้อยคันอยู่ดี ก็ทำขาย
กันไปก่อนสิ
พอล่วงเข้ากลางทศวรรษ 1990 มาตรการด้านมลพิษ ที่เข้มงวดขึ้นของประเทศไทย บังคับให้รถยนต์ต้อง
ติดตั้งระบบฟอกอากาศจากไอเสีย Catalytic Converter ขณะที่ Mitsubishi Motors ยอมติดตั้งระบบดังกล่าว
ให้กับ CHAMP แต่ Nissan ในยุคสมัยของ สยามกลการ ตัดสินใจ ปลด Sunny FF B11 ออกจากสายการผลิต
ช่วงราวๆ ปี 1996 ในที่สุด
ดังนั้น ผมจึงมองว่า การเปิดตัว Almera ถือเป็นการกลับเข้าสู่สังเวียนรถยนต์ Sedan 4 ประตู ราคาประหยัด
อีกครั้ง หลังจากที่ Nissan เคยทิ้งร้างไปเมื่อช่วงปี 1996 การวางตัวเองให้เป็นรถยนต์ Sedan ขนาดเล็กๆบ้านๆ
ขับใช้งานในชีวิตประจำวัน อำนวยความสะดวกให้กับครอบครัวที่เพิ่งเริ่มต้นการใช้ชีวิตคู่ และสะตุ้งสตางค์
ยังไม่ค่อยมากนัก ใช้รถยนต์เป็นพาหนะ ขับไปทำงาน ขับไปรับ-ส่ง บุตรหลาน เอื้ออำนวยการเดินทาง
ให้สะดวกสบายยิ่งขึ้น เท่ากับว่า Almera ได้รับช่วงทำหน้าที่ต่อจาก Nissan Sunny FF B11 อย่างเต็มตัว
เพียงแต่ว่า ความแตกต่าง ก็คือ Almera มีเทคโนโลยีในการสร้างรถที่ดีขึ้น เครื่องยนต์ขนาดเล็กลง แต่แรงขึ้น
แถมยังประหยัดขึ้น สูญเสียกำลังโดยเปล่าประโยชน์น้อยลง ความสิ้นเปลือง ความสึกหรอดีขึ้น ประหยัดขึ้น
ช่วยลดมลพิษได้ดี มีอุปกรณ์ความปลอดภัย และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ที่เข้มงวดขึ้น
ตามยุคสมัย ติดตั้งมาให้ ห้องโดยสารก็ใหญ่พอกับรถรุ่นใหญ่กว่า ช่วยให้คุณภาพชีวิตของลูกค้า ดีขึ้น
Almera เป็นรถที่เหมาะกับ พ่อบ้าน หัวหน้าครอบครัว อาจจะเป็นข้าราชการ เป็นครู หรือเจ้าหน้าที่ระดับกลางๆ
ของรัฐ ที่อยากมีรถเก๋งสักคัน (และต้องเป็น Sedan 4 ประตู เพราะเจ้าของเงิน ไม่ชอบรถท้ายตัด) เอาไว้ขับไป
รับ-ส่งลูก ที่โรงเรียน ไปรับแม่บ้าน แล้วก็ขับรถกลับบ้านกันอย่างมีความสุข ท่ามกลางการจราจรที่ติดขัด แน่นอน
ว่ามันใช้งานได้ดี พอตัว สมราคา ขับเรื่อยๆแล้วสบายใจ
และแค่นั้น…พอ!
เพราะมันไม่ใช่รถที่เหมาะกับคนบ้ารถ หรือรักความแรง รักความสนุกเป็นชีวิตจิตใจ ไม่ต้องไปคาดหวังกับเรื่อง
สมรรถนะจาก รถรุ่นนี้แต่อย่างใด คุณอาจจะคาดหวังได้เฉพาะเรื่องความประหยัดน้ำมันที่ดีเลิศที่สุดในบรรดา
รถยนต์ Sedan ระดับราคาต่ำกว่า 800,000 บาท และขนาดความยาวห้องโดยสาร ที่ยาวสะใจ แต่นั่นก็ดูเหมือนจะ
เป็น 2 ประเด็นเท่านั้น อันถือเป็นจุดเด่นของ Almera
ยังไงๆ ก็หนีความจริงไปไม่พ้น ว่ามันคือ Nissan March ในเวอร์ชันต่อบั้นท้ายออกไปเป็น Sedan 4 ประตู
ที่ต้องการเครื่องยนต์ 1,500 ซีซี และการเซ็ตพวงมาลัย กับช่วงล่าง ให้ดีกว่าทีเป็นอยู่นี้ อีกพอสมควร ยิ่งในเรื่อง
การขับขี่ และการทรงตัวในย่านความเร็วเดินทาง กับความเร็วสูงแล้ว ผมยังไม่มั่นใจกับ Almera แบบเดิมๆจาก
โรงงานเท่าไหร่เลย ยังต้องปรับกันอีกพอสมควร ถ้าจะทำให้ตัวรถมีการตอบสนองที่ดีขึ้น และควบคุมได้ดีขึ้น
อย่างว่าละครับ Nissan เลือกจะวางเครื่องยนต์ 1.2 ลิตร เพื่อที่จะให้รถคันนี้ สามารถผ่านมาตรฐาน ECO Car
ของรัฐบาลไทยได้ เพื่อที่จะได้เสียภาษีลดลง และตั้งราคาขายได้ถูกลงกว่าเดิม นิดนึง คุ้มต่อการลงทุนกว่่า
การนำเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร มาวางให้ ถือว่าเป็นรายการ ตีตั๋วเด็ก รอบสอง ของ Nissan กับโครงการนี้
แต่ผมยังอยากเห็น Sub-Compact Sedan จาก Nissan ที่มี Driving Dynamic ดีกว่านี้ ขับสนุกกว่านี้ และ
เป็นรถที่ทำให้ผม ต้องการจะขับมันในทุกๆวัน ด้วยความเริงร่า ไม่ใช่แค่ว่า ต้องขับไปตามงบที่มีอยู่แค่ซื้อหาได้
อีกประการก็คือ ช่วยออกแบบห้องโดยสาร ให้มีพื้นที่ Headroom สำหรับผู้โดยสารตอนหลัง สูงกว่านี้อีกนิดเถอะ
นั่งแล้วหัวชนเพดาน จนต้องนั่งแบบไม่เต็มก้น นี่มันทรมาณ และไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่ ไหนๆ อยากจะทำ
รถยนต์ที่มีห้องโดยสาร ยาวสุด จนตั้งเป็นสโลแกนว่า “ความสุขที่กว้างขึ้น” ก็ควรจะช่วยทำ Headroom ให้มัน
รองรับความสุขของผู้โดยสารมากกว่านี้สักหน่อยเถอะ!
ถ้ามองหาคู่แข่งในตลาดตอนนี้? หากไม่นับบรรดา Hatchback 5 ประตู พิกัด ECO Car 1.2 ลิตร ทั้ง Honda Brio
Mitsubishi Mirage Nissan March และ Suzuki Swift แล้ว ต้องถือว่าโชคดีที่ Almera จะยังทำตลาดได้ตามลำพัง
ไปอีกพักใหญ่จนถึงปี 2014 โดยไร้คู่แข่งโดยตรง อย่างสิ้นเชิง ก่อนที่ Honda Brio Sedan และ Suzuki New Sedan
จะคลอดออกมาในเมืองไทย
หรือถ้าจะต้องเทียบกับบรรดา B-Segment Sub-Compact Sedan ทั้ง Toyota Vios Honda City Mazda 2 Sedan
Ford Fiesta Sedan Chevrolet Sonic Notchback บอกได้เลยครับว่า Almera จะด้อยกว่า ทุกคันในตลาดเฉพาะ
ประเด็น สมรรถนะ อัตราเร่ง ที่จะอืดกว่าชาวบ้านทั้งหมด แน่นอน เพราะใช้เครื่องยนต์ 1.2 ลิตร เล็กกว่าทุกคัน
แถมด้วยช่วงล่าง กับพวงมาลัยที่ยังต้องปรับแต่งให้เข้าที่กว่านี้อีกสักหน่อย
และถ้าจะถามว่า Almera หรือ March เอาคันไหนดี? ต้องถามต่อว่า คุณอยากขับมุดคล่องขึ้นนิดหน่อย หรือว่า
อยากได้ พื้นที่ห้องโดยสารมากกว่ากันละ? คำตอบในใจคุณ จะนำพาไปสู่ทางเลือกที่เหมาะสมกว่าได้เอง
แต่ถ้าในเรื่องความประหยัดน้ำมัน กับพื้นที่ห้องโดยสาร และความภูมิฐานจากขนาดตัวรถที่ยาวกว่าชาวบ้านเขา
แล้วละก็ Almera จะเอาชนะ หลายๆคันในกลุ่มนี้ไปได้ แบบสบายๆ ฉิวๆ ชิลๆ เลยทีเดียว!!
ทีนี้ ถ้าตัดสินใจแล้วว่าจะเลือก Almera รุ่นย่อยไหนที่คิดว่า น่าจะคุ้มค่าสุด?
ถ้าคุณอยากได้ออพชันเต็มพิกัด แน่นอนว่ารุ่นแพงสุด 1.2 VL 599,000 บาท ตอบโจทย์คุณได้แน่ เพราะรุ่น 1.2 V
563,000 บาท สิ่งที่หายไปจากรุ่นท็อป มีเพียงแค่ ช่องวางแก้ว คอนโซลกลางที่เหลือเพียง 1 ตำแหน่ง ไฟในห้อง
เก็บของด้านหลัง กุยแจรีโมท Keyless Entry และปุ่ม Push Start แค่นั้น มันช่างไม่คุ้มกันเท่าไห่เลย
แต่ถ้างบไม่พอ และยังอยากได้อุปกรณ์มากพอสมควร มองรุ่น 1.2 ES 523,000 บาท เอาไว้ อาจไม่มีสวิชต์ควบคุม
เครื่องเสียงบนพวงมาลัย ไม่มีกุญแจรีโมทมาให้ เปลี่ยนมาใช้ล้อเหล็ก 5.5J x 14 นิ้ว พร้อมยางขนาด 175/70 R14
ไม่มีแถบสีดำบริเวณเสากรอบประตูตรงกลาง ไม่มีมาตรวัด MID ใช้หน้าปัดแบบมาตรฐาน และตัดถุงลมนิรภัย
ฝั่งผู้โดยสารด้านซ้ายออกไป 1 ใบ ค่าตัวก็เริ่มน่าคบขึ้น แต่ยังไม่สุด
ในระดับราคาต่ำกว่า 500,000 บาทลงมา Almera ถือเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าใช้ได้มากๆ ทั้งรุ่น 1.2 E เกียร์ธรรมดา
455,000 บาท และรุ่น 1.2 E CVT 489,000 บาท เลือกรุ่นไหน ออพชันก็เหมือนกันทั้งนั้น อาจจะตัดถุงลมนิรภัย
ฝั่งผู้โดยสารออก เหมือนกับ 1.2 ES และตัดระบบ ABS EBD กับ Brake Assist ออกไปด้วย กระนั้น มองข้าม
รุ่น 1.2 S ไปได้เลย 425,000 บาท ควรติดตั้งข้าวของมาให้มากกว่านี้ ไม่ใช่ปล่อยซะเหี้ยนเตียนโล่ง แบบ March
1.2 ลิตรตัวถูกสุด เยี่ยงนี้
อย่างไรก็ตาม ในเมื่อระดับราคาเริ่มต้นของรถยนต์ 1.5 ลิตร สมัยนี้ ป้วนเปี้ยนที่ 520,000 บาทขึ้นไป ดังนั้น
คุณอาจต้องคิดให้ดีๆ ว่า ออพชันที่ได้มา ความประหยัดน้ำมันที่รออยู่ กับอัตราเร่งที่อืดไปหน่อย เมื่อมอง
จากในกระดาษ (ความจริง ไม่ถึงกับแย่อย่างที่คิด แต่ก็เป็นไปตามตัวเลขสเป็กนั่นแหละ) คุณยอมรับได้ไหม?
ถ้าได้ ก็เดินเข้าโชว์รูม Nissan ไปจอง Almera ได้เลยครับ
ก่อนจากกัน ผมมีบางสิ่งอยากจะฝากถึง ชาวตึกนันทวันชั้น 15 อันเป็นนิวาสถานสำนักงานใหญ่ของ Nissan
Motor Thailand กันสักหน่อย…
ผมรู้ว่า Full Review ฉบับนี้ มันยาวมาก และหลายๆคน อ่านข้ามช่วงต้นๆมาทั้งหมด เพื่อมาอ่านในช่วงสรุป
ผมแค่หวังเพียงเล็กๆว่า จะมีใครสักคนที่นั่น จะช่วยแปล ช่วงแรกของบทความ ที่ผมพรรณนาไปยาวเฟื้อย
เรื่องความผูกพันของผม ต่อแบรนด์อย่าง Nissan ให้ประธานชาวญี่ปุ่นคนใหม่ รวมถึงบรรดาทีมงานใหม่
ของ Nissan (แต่เก่าจาก Honda , Toyota หรือว่าบริษัทอื่นๆ) ให้เขาได้อ่านด้วยก็จะดี
ที่อยากให้อ่าน ก็เพราะอยากให้รู้ว่าสมัยก่อน Nissan ในยุคสยามกลการ ที่ใครหลายๆคนเคยด่าโน่นด่านี่
ไว้ตั้งเยอะแยะนั้น ยังมีข้อดีอยู่ 2 ประการ ที่ทำให้ลูกค้าแฟนพันธ์แท้ ยังรักจนหมดใจ และหวังจะกลับมา
ซื้อ Nissan ไปขับกันอีกสักครั้งหนึ่ง
ข้อแรก แน่นอนว่า เป็นเรืองบริการหลังการขาย ปัญหาสุดแสนจะคลาสสิกที่ทุกค่ายทุกยี่ห้อ ต่างก็เคยเจอ
และปวดหัวกุมขมับกันมานักต่อนักแล้ว แต่ในสมัยนั้น Nissan มีสโลแกน You Come First หรือ คุณเป็น
ที่หนึ่ง ซึ่งก็เป็นจริงตามคำโฆษณานั้น เพราะบริการถือว่าใช้ได้ อาจยังไม่ดีเท่า Toyota กับ Honda แต่ก็
ไม่ขี้เหร่ แถมยังมีการฝึกอบรมช่างเก่งๆ ไว้เยอะแยะมากมาย ศูนย์บริการทั้งในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด
มีช่างฝีมือดี และวิเคราะห์ปัญหาได้ทะลุ หลายคน วันเวลาผ่านไป ช่างเหล่านี้ เกษียณไปบ้าง แก่ไปบ้าง
จากไปแล้วบ้าง ลาออกไปเปิดอู่เองบ้าง ก็เป็นเรื่องปกติ แต่ในระยะหลังๆมานี้ Nissan เอง แม้จะพยายาม
แก้ปัญหานี้อยู่ แต่ยังไม่ถึงกับดีนัก
ขอเพียงแค่ว่า พยายามยกระดับความเก่งของช่าง อยู่เสมอๆ ฝึกอบรมบ่อยๆ จัดแข่งขันระหว่างดีลเลอร์
อยู่เรื่อยๆ จับมือกับดีลเลอร์ ช่วยกันสร้างแรงจูงใจให้กับช่างในศูนย์บริการดีๆ ทุกอย่างจะเริ่มดีขึ้นเอง
แต่ข้อ 2 นี่ ผมว่าต้องใช้เวลากันนานหน่อย…การสร้างแบรนด์
สมัยก่อน ยุค 1990 แบรนด์ Nissan แข็งมาก ลูกค้าไม่ค่อยเลือกมาก ถ้าไม่ซื้อ Toyota ก็หันไปซื้อ Nissan
สมัยก่อน Honda ยังไม่เกิด Toyota กับ Nissan ฟาดฟันกันสนุกใช้ได้ แต่พอช่วง ทวรรษ 1990 Honda
เริ่มเข้ามาครองใจคนไทยมากขึ้นเรื่อยๆ จนแน่นปึ๊กอย่างในปัจจุบัน ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป Nissan เริ่มกลายเป็น
รถยนต์ที่ไม่ค่อยมีใครสนใจอยากจะซื้อ ยกเว้นแต่ลูกค้าที่รู้คุณค่าความดีงามของงานด้านวิศวกรรม ที่เหนือกว่า
รถญี่ปุ่นตามท้องตลาดทั่วไปพอสมควร ทว่า ตั้งแต่ บริษัทแม่จากญี่ปุ่น รับช่วงต่อจากสยามกลการ มาดูแลตลาด
บ้านเรา กลับไม่ค่อยพบเห็นการสื่อสารเรื่องแบรนด์ในเมืองไทยมากนักอาจมีบ้าง ประปราย แต่ไม่ดีพอ
ต่อให้ Nissan จะบอกว่า เคยพยายามสร้างแบรนด์ แต่ผู้บริหารยุคที่ผ่านมา ไม่เคยเห็นความสำคัญใน
ประเด็นนี้เลย ต่างพากันคิดว่า ถ้าตัวรถยนต์ ดีขึ้น ภาพลักษณ์จะดีขึ้นตามมาเอง ซึ่งมันก็จริงแค่เพียง
ส่วนหนึ่งเท่านั้น สิ่งสำคัญคือ ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ทำงานของตนให้มีประสิทธิภาพขึ้น ใส่ใจขึ้น
ยิ้มรับทุกปัญหาให้ดีขึ้น และคิดหาไอเดียที่แปลกใหม่ตลอดเวลา รวมทั้งยังต้องกล้าคิดนอกกรอบ
ยิ่งกว่านี้ ทุกอย่างจะดีขึ้น
แต่ข้อที่ผม ให้ความสำคัญกว่า 2 ข้อข้างบนคือ Nissan ยังขาดรถยนต์ที่สร้างแรงจูงใจให้วัยรุ่น
รักในแบรนด์ Nissan ด้วยราคาที่พวกเขาเป็นเจ้าของได้ ง่ายกว่า 370Z และ GT-R !!
ในอดีต Nissan หลายรุ่น ขายได้ เพราะ ทำให้ลูกค้า มี Passion กับมัน ทั้งจากงานโฆษณาหรือคำบอกเล่า
ปากต่อปาก จากคนข้างใน สู่ข้างนอก การสร้างประสบการณ์ อันพึงพอใจ ให้เกิดขึ้นจนฝังใจลูกค้าหนะ
มันไม่ง่าย และทั้งหมดนั้น มันหาใช่เพียงแค่เกิดขึ้นจาก รูปลักษณ์ ผนวกเข้ากับคุณงามความดีของตัวรถ
ที่ออกแบบมาเพื่อหวังแค่ “ขายได้” แต่ต้องทำรถยนต์ที่เปิดผ้าคลุม หรือเห็นรูปแรกในอินเตอร์เน็ตแล้ว
ผู้คนต้อง “กรี๊ดลั่น สนั่นเมือง” ทันทีในแรกเห็น
ในยุค 1980 – 1990 รถยนต์อย่าง Sunny Sentra RZ-1 .Pulsar GTi-R ,Bluebird ATTESA U12
Silvia S13 แม้จะไม่สร้างยอดขายมากมายนัก แต่มันคือรถยนต์สมรรถนะดี ในราคาที่สมเหตุสมผล ที่ใครก็เป็น
เจ้าของได้ ไม่ยากนัก มาวันนี้ ถ้าใครอยากได้รถยนต์แบบนั้น จาก Nissan รุ่นถูกสุดที่หาได้คงเป็น 370Z
ราคาในบ้านเรา ปาเข้าไป 5.2 ล้านบาท ไม่ต้องไปคิดถึง GT-R ที่แพงกว่ากันอีกเท่าตัวนั่นเลย
เรื่องน่าแปลกก็คือ ทุกวันนี้ Nissan เริ่มใช้ นักวิ่งลมกรด ยูเซ็น โบลต์ ในงานโฆษณา สื่อสารเรื่องแบรนด์
ระดับโลก โดยใช้ GT-R ที่นักวิ่งชื่อดังรายนี้ เป็นเจ้าของอยู่ มาสื่อสารให้บรรดาวัยรุ่น หรือคนเริ่มต้น
ทำงาน ที่มีเงินพอจะเก็บตังค์ซื้อรถสปอร์ตเปิดประทุนขนาดเล็กอย่าง Mazda MX-5 ให้เดินเข้า
โชว์รูม Nissan เชื้อเชิญพวกเขาให้ซื้อรถเล็กๆ ที่น่าใช้ แต่ไม่น่าตื่นเต้นของ Nissan เนี่ยนะ?
ทำโฆษณาออกมาซะเจ๋ง จะสื่อสารว่า Nissan เป็นเจ้าพ่อเทคโนโลยีสมรรถนะ เทคโนโลยีสะอาด
และรักโลก แต่กลับไม่นำความเร้าใจ มาวางลงในรถยนต์ราคาประหยัด แล้วทำราคาให้ง่ายต่อการเป็น
เจ้าของซะที
แค่ Juke เครื่องยนต์ 1.6 DDT 190 แรงม้า (PS) ป่านนี้ ก็ยังติดปัญหาสารพัดมากมาย ชาติอื่นเขาขาย
กันจนจะปรับโฉม Minochange แล้ว บ้านเราก็ต้องรอเหงือกแห้งต่อไป หรือรถบางรุ่น อ้างว่า ทำวิจัย
ตลาดแล้ว ลูกค้าไม่ซื้อ เพราะแพงไป
ยิ่งเป็น Almera แม้จะได้ใจลูกค้ากลุ่มใหญ่ แต่เรื่องที่ชวนให้ขบคิดต่อไปก็คือ ในเมื่อ Toyota Vios
กับ Honda City และ Mazda 2 หรือ Ford Fiesta ต่างก็เป็นรถยนต์สำหรับชนกลุ่มใหญ่ของโลก
ทว่า พวกเขากลับสร้างรถออกมาให้มี Driving Dynamic ที่ดี และแตกต่างกันตามบุคลิกแต่ละค่าย
ได้อย่างสบายๆ แล้วทำไม Nissan ต้อง ทำ Almera ออกมา เอาใจลูกค้ากลุ่มใหญ่เหมือนกัน แต่
กลับทำรถที่ขับออกมาแล้ว เหมาะแค่ขับไปจ่ายกับข้าว รับส่งลูก-เมีย แบบพื้นฐาน มากกว่าละ?
สรุปความที่อยากจะบอกทั้งหมด ข้างบนนี้ ออกมาได้ 5 บรรทัดข้างล่าง ก็คือ…
“อย่าทำรถออกมา เพื่อหวังแต่จะชนะใจลูกค้า แค่ตอนซื้อ อย่าเน้นแค่ว่า ต้องทำรถที่ขายได้และขายดี
แต่จงทำรถออกมา “ขับดี” เพื่อให้ลูกค้ารักอย่างหมดใจ รักอย่างเข้าใจ และรักแบบไม่หลง ตั้งแต่วินาทีแรก
ที่ออกจากโชว์รูม ดูแลลูกค้าให้ดี บริการหลังการขายต้องน่าชื่นชม ช่างต้องซ่อมเป็นวิเคราะห์เก่ง เจ๋งพอ
ให้ทุกคนประทับใจในเชิงบวก จนถึงวันสุดท้าย ที่ต้องลาจากกัน! เพื่อเดินกลับเข้าโชว์รูม แล้วซื้อ Nissan
คันใหม่ คันต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้า”
ผมยังหวังว่า Nissan จะทำ Sub-Compact Sedan สักคัน ที่จะชนะใจผม ให้ได้สักที เหมือนที่พวกเขา
ทำสำเร็จได้แล้ว กับ Nissan Slyphy และ TIIDA รุ่นต่อไป เพราะผมยังอยากอุดหนุน Nissan อีกครั้ง
ผมยังรอวันนั้นอยู่…แม้จะรู้ว่า ริบหรี่ เหลือเกิน…ก็ตาม…
อย่างว่า ผลกำไรทั่วโลกเพิ่มขึ้นอีก 8%
เป็นภาระใหญ่สุดสำหรับชายที่ชื่อ Carlos Ghosn ในตอนนี้นี่เนาะ!
———————————///———————————
ขอขอบคุณ / Spacial Thanks to :
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Nissan Motors (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ และอำนวยความสะดวกด้านต่างๆอย่างดียิ่ง
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ และลิขสิทธิ์ภาพถ่ายในไทย เป็นผลงานของ ผู้เขียน
ภาพวาด หรือ ภาพคอมพิวเตอร์กราฟฟิค Illustration เป็นของ Nissan Motor Co.Ltd.
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมด ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
19 กรกฎาคม 2012
Copyright (c) 2012 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
July 19th,2012
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! Click Here!