ไม่รู้ว่า จะมีใครสักกี่คน ที่รู้สึกนึกคิดแบบผมบ้าง เวลาที่เราติดตามข่าวสารในแวดวงรถยนต์
โดยเฉพาะ การเกาะติดความเคลื่อนไหว ของโครงการพัฒนารถยนต์รุ่นใดๆ ตั้งแต่ที่ยังมีข่าวเล็ดรอดออกมา
3-4 ปีก่อน จนกระทั่ง วันที่รถยนต์คันที่รอคอย ค่อยๆ เคลื่อนตัวผ่านแสงสีเสียง บนเวทีงานเปิดตัว ในโรงแรม
หรือศูนย์การประชุมระดับหรู และในที่สุด รถยนต์เหล่านั้น ก็มาจอดอยู่ในโรงรถที่บ้านตัวเอง

มันเป็นความรู้สึกเล็กๆ แต่แสนพิเศษ ที่เราได้เห็น รถยนต์คันที่เราเฝ้ารอ เหล่านี้ มาจอดรออยู่ในรั้วบ้าน
เพราะ ผมรู้ดีว่า รถยนต์เหล่านี้ เกิดขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของทีมวิศวกร ที่ต้องทำงานกันหนักหนาสาหัส
โหมงานกันอย่างบ้าคลั่ง ราวกับบรรดาฝีพายใต้ลำเรือสินค้าในสมัยโบราณ พวกเขาต้องประชุมครั้งแล้ว
ครั้งเล่า ถกเถียง ตั้งป้อมกระหน่ำด่าทอกันสารพัด เพื่อหาข้อยุติ หรือแก้ไขปัญหามากมาย ตลอดระยเวลา
ที่รถยนต์แต่ละรุ่นเหล่านั้น กำลังเดินทางผ่าน ขั้นตอนการพัฒนา ตั้งแต่ยังอยู่ในพิมพ์เขียว จนกระทั่ง
วันที่รถเหล่านี้ ถูกขนส่งลงจากเทรลลอร์ ขึ้นไปจอดบนโชว์รูมผู้จำหน่าย รอลูกค้า ที่เก็บเงินมาอย่าง
ลำบากยากเข็น มาซื้อมันไปใช้งาน ด้วยความดีใจ และภาคภูมิใจ ในน้ำพักน้ำแรงของตนที่หามาได้

รถคันสีส้ม Sunlight (ชื่ออย่างกับน้ำยาล้างจานสุดฮิตของ Unilever) ที่คุณเห็นอยู่นี้ ก็เช่นเดียวกัน 

ตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา ความคืบหน้าของการพัฒนารถรุ่นนี้ เริ่มอยู่ในสายตาของผม และ HOMY DEMIO
มาโดยตลอด หลายต่อหลายครั้ง ที่เราได้รับข้อมูลมา แลกเปลี่ยนกัน ในตอนนั้น เรายังนั่งสงสัยกันอยู่ว่า
รหัสการพัฒนารถรุ่นนี้ ตกลงแล้ว มันเป็น X02A W02A หรือว่า B02A กันแน่ เพราะ Nissan เอง ก็มีการ
เปลี่ยนรหัสที่ว่านี้ เป็นระยะๆ จนกระทั่งตัวรถ พร้อมเข้าสู่สายการผลิตจริง

ความเคลื่อนไหวในช่วงหลังๆ ยิ่งเยอะขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่ง ถึงวันที่พวกเรา ไปนั่งซุ่ม เฝ้ารอดักถ่ายรูป
Spyshot ของ เจ้าเก้งน้อย อยู่ในรถกันเหงื่อแตกพลั่กๆ อยู่ที่ปั้ม Esso ริมถนนบางนา-ตราด เลยจาก
ทางเข้าโรงงาน Nissan ไปหน่อยหนึ่งนั่นแหละ

ยังจำได้ดี ถึงครั้งแรกที่ผมเห็น “รูปโฉมคันจริง” ของเจ้ากระจงน้อย ที่กระโจนพรวดพราด เข้ามาในปั้ม
ในวินาทีที่ ทั้ง ตาแพน Commander CHENG และ เจ้ากล้วย BnN กำลังจะถอดใจ เลิกรอคอย ขับรถออกมา
จากปั้มอยู่แล้วเชียว

เล่นเอา เราทั้ง 3 คน ถึงกับตกใจเล็กน้อย มือสั่น ลั่นชัตเตอร์ ไม่ออก อยู่แป๊บนึงเลยทีเดียว แหงละ จู่ๆ
เก้งน้อย จะกระโจนพรวดเข้ามาในปั้มกันแบบนี้ โดยไม่ได้ตั้งตัวเลยนี่นา

วินาทีแรกที่ได้เห็นคันจริง พวกเราทั้ง 3 คน ตะลึงไปเลย “เฮ้ยย ตัวจริง คันมันใหญ่กว่าที่คิดมากเลยวะ!”

จนวันนี้ วันทีรถออกสู่คลาดจริง ผมว่า ผมไม่อยากเรียกมันว่า เก้งน้อยแล้วแหะ อยากจะเรียกมันว่า
“กระจงน้อย” มากกว่า เพราะถ้าดูเผินๆ มันก็น่ารักใช้ได้แบบเรียบๆ ตัวเล็กก็ไม่ใช่ ตัวใหญ่ก็ไม่เชิง  

หลายๆคน ก็เฝ้าถามไถ่กันเข้ามา มากมาย ทั้งบนเน็ต หรือแม้แต่ เจอกันตัวเป็นๆ ตามสถานที่ต่างๆ ว่า
เมื่อไหร่ คุณจิมมี่ จะทำ Full Review Nissan March กันเสียที เพราะหลังจากที่ ทำบทความ World First
Exclusive Impression ของรถรุ่นนี้ เป็นรายแรกในโลก และเอาขึ้นเว็บให้คุณๆได้อ่าน เพียง 2 ชั่วโมง
หลังการเปิดตัว ณ โรงงาน บนถนนบางนา-ตราด กม. 21-22 เมื่อ 12 มีนาคม 2010 ชีวิตของผมกับรถรุ่นนี้
ก็แทบจะห่างหายกันไปเลย มิได้มีจังหวะให้เข้าใกล้ซึ่งกันและกันอีกนานพอดู

อย่างที่ทราบดีละครับว่า ในช่วงเวลานี้ มีสารพัดรีวิว ที่ต้องรีบทะยอยทำขึ้นเว็บให้คุณๆได้อ่านกันอีกมากมาย
และก่อนหน้าเดือนมิถุนายน ทาง Nissan ยังไม่พร้อมจะปล่อยรถทดสอบ ให้กับสื่อมวลชนรายใด มากนัก
เพราะยังติดปัญหาโน่นนี่นั่น หลายอย่าง ตามประสา เราจึงได้แต่ทำจดหมายขอยืมเข้าไป แล้วก็ลืมไปเลย
เพราะต่างฝ่ายต่างยุ่ง และหายตัวกันไป

จนกระทั่งวันหนึ่ง เกิดนึกขึ้นได้ว่า ควรจะโทรศัพท์ไปสอบถามความคืบหน้ากันหน่อยดีกว่า ใครจะไปคิดว่า
จู่ๆ พี่ตุ๊ก พีอาร์ของ Nissan จะเสนอมา ว่า มารับรถได้เลยในวันรุ่งขึ้น อันเป็นวันอังคาร…ผมก็ตาเหลือกสิครับ
บทจะหายก็หายกันไปเลย บทจะมาเร็ว ก็เร็วจนตั้งตัวกันไม่ทันเลยทีเดียว

แน่นอนครับ 1 สัปดาห์หลังจากนั้น ผมใช้ชีวิตอยู่กับ March 2 คันรวด ทั้งรุ่น 1.2 VL CVT และ 1.2 E เกียร์ธรรมดา
ขับกันจน อิ่มหนำไปข้างนึง เก็บเรื่องราวเล็กๆน้อย ๆมาได้ครบถ้วน โชคดีว่า ตัวรถ ก็เล็ก และไม่ได้มีรายละเอียด
มากมาย จนต้องใช้เวลาค้นคว้ากันนานนัก ก็เลยทำให้ Full Review ของ รถรุ่นนี้ จึงคลอดออกมา แซงหน้า รถรุ่นอื่น
ที่เขารอคิวกันมานานหลายเดือนแล้ว ไปอย่างง่ายดาย หน้าตาเฉย

รู้ดีครับว่า หลายคน มีคำถามมากมาย กับเจ้ากระจงน้อยคันนี้ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นยอดฮิต อย่างเช่น รถเล็กแค่นี้
จะขับทางไกลไหวเหรอ? เครื่องยนต์ แค่ 3 สูบ 1.2 ลิตร มันจะวิ่งไหวหรือเปล่า อืดไหม? กินน้ำมันเท่าไหร่?
แล้วภายในรถเล็กๆ มันจะนั่งสบายไหม? ถ้าเทียบกับ รถคันโน้น คันนี้ แล้วเป็นอย่งไร ควรจะซื้อคันไหนมากกว่ากัน?

และแน่นอนครับ ผมรู้อยู่เต็มอกว่า ลูกค้าที่คิดจะซื้อ March นั้น มีไม่น้อยที่ยังกังวล โน่น นี่ นั่น ตามประสา คนเพิ่งคิดซื้อรถ
เป็นคันแรกในชีวิต และถือว่ายังเป็นกลุ่มลูกค้าที่ ควรจะได้รับคำตอบ ที่กระจ่าง และละเอียดมากกว่าปกติ 

สารพัดคำถาม ที่อัดกระหน่ำเข้าสู่ รูหูของผม ทั้งหมดที่ว่า ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมานั้น จะถูกไขปริศนา ออกจนกระจ่าง
ในบทความ Full Review ที่ทุกคนรอคอย กันนี้ แน่ๆครับ เพียงแต่ว่า คุณอาจต้องใช้เวลา อ่าน นานสักหน่อย คิดว่างวดนี้
คุณควรสละเวลาประมาณ ราวๆ 20 นาที ถึง ครึ่งชั่วโมง ที่จะนั่งลงอ่าน หรือ พิมพ์ออกมาอ่าน (ซึ่งก็คงต้องใช้กระดาษ
A4 หลายสิบแผ่นอยู่)

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นประเพณี ที่ผมจะต้องเริ่มต้นบทความ Full Review ด้วยอารัมภบท ร่ายยาว ถึงปฐมบทแห่ง
การถือกำเนิดรถยนต์รุ่นนั้นๆ ในประวัติศาสตร์โลก แต่ในคราวนี้ ต้องขอบอกว่า ถ้าคาดวังจะอ่านประวัติความเป็นมา
ของ Nissan March ในย่อหน้าต่อจากนี้ ละก็

ขอแสดงความเสียใจด้วย คุณคิดผิดแล้วครับ เพราะ ผมและ HOMY DEMIO ช่วยกันเขียน รวบรวมให้คุณได้เข้าไปอ่านกัน
มาตั้งนานแล้ว ในบทความ “NISSAN MARCH / MICRA : 27 ปีแห่งตำนานรถเล็กรุ่นดัง” ในส่วนของ J!MMY’s LIBRARY
ซึ่งคุณสามารถคลิกอ่านได้ ทันที ที่นี่

นั่นหมายความว่า นับจากย่อหน้านี้เป็นต้นไป สิ่งที่คุณจะได้อ่านนั้น มันจะมีแต่เรื่องของ เจ้ากระจงน้อย คันนี้ ล้วนๆ!

อ่านกันให้หนำใจเลยละ! ให้สมกับเป็น Full Review สำคัญ เรื่องหนึ่ง ที่หลายๆคนเฝ้ารออ่านจากผม ในปี 2010 นี้

คำถามแรกที่ผู้คนเขาอยากรู้กันก็คือ Nissan คิดอย่างไร ถึงจะบุกตลาด รถเล็กในเมืองไทย ด้วย March?

คำตอบก็คือ ไม่ใช่แค่ตลาดเมืองไทยหรอก แต่ Nissan เขาเอง ก็อยากจะบุกตะลุยตลาดกลุ่มนี้ มันทั้งโลก
เลยนั่นแหละ แต่ที่ผ่านมา นับย้อนไปถึงทศวรรษ ที่ 1980 แม้ว่า Nissan จะมีขบวนรถเล็กมากมายหลายรุ่น
ทว่า แต่ละรุ่นก็อ่อนระโหยโรยรา พากันเข้าโลงเข้ากรุกันไปหมด ไม่ต้องอื่นไกล เอาง่ายๆ ทุกวันนี้ ใครยังจำชื่อ
Nissan Cherry รถเล็กรุ่นแรก ขนาดเล็กกว่า ตระกูล Sunny ที่พัฒนาต่อเนื่อง กลายมาเป็น Nissan Pulsar
ได้บ้าง? 2 ชื่อนี้ หายสาบสูญไปนานแล้ว ไม่ต่างอะไรกับ ชะตากรรม ของ Sunny รถรุ่นเคยโด่งดัง และ
เคยทำเงินมากๆ ให้กับ Nissan เอง ก็ยังต้องถึงวาระส่งขึ้นเมรุกันเมื่อหมดอายุตลาด เลยด้วยซ้ำ

ต่อให้ทำ Nissan March ออกมาขาย ตั้งแต่ปี 1982 ก็ดังแค่ในญี่ปุ่น กับยุโรป โดยเฉพาะ ในปี 1992
ที่สร้างปรากฎการณ์ เป็นรถญี่ปุ่นรุ่นแรก ซึ่งคว้ารางวัล European Car of the Year มาครองได้หน้าตาเฉย
หักปากกาเซียนกันไปเลย นอกนั้น ช่วงเวลาที่ผ่านมา ประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากในทวีปทั้ง 2 แทบ
ไม่เคยชายหางตา เหลียวมาแล รถขนาดเล็กกันเลย

ยิ่งตลาดเมืองไทยแล้ว ในยุคทศวรรษ 1990 รถยนต์กลุ่มนี้ ยังไม่ได้รับความนิยมแพร่หลายนัก มีเพียง
อิตัลสยาม ที่สั่ง Fiat Punto เข้ามาขายได้นิดๆหน่อยๆ กับ พระนครยนตรการ ที่สั่ง Opel Corsa
1.2 และ 1.4 ลิตร มาขายกันโครมคราม เปิดกระแสรถเล็กจากยุโรป คุณภาพโอเค ราคาถูก แต่สุดท้าย
ก็ม้วนเสื่อกลับไป อย่างที่คุณๆคงทราบกันดีว่า ใครเป็นคนทำ?

แม้ Nissan โดย สยามกลการในยุคนั้น เคยสั่ง March 5 ประตู รุ่นแรก K11 มาประกอบขายในไทย ช่วงปี
1985 แต่ก็มีออพชันน้อย เมื่อเทียบกับราคาขาย จนโดน Toyota Starlet EP71 12 Valve สอยร่วงไป
คาเวที และต้องม้วนเสื่อพับไปในท้ายที่สุด (และหลังจากนั้นไม่นาน กงกรรมกงเกวียน ก็เวียนมา
โดนเข้ากับ Starlet บ้างเช่นเดียวกัน ต้องปิดฉากรูดม่าน ทิ้งตลาดรถเล็กท้ายตัดในไทย ไปอย่าง
เจ็บปวดพอกันทั้งคู่)

Nissan ก็เคยคิดจะทำรถเล็กในไทยอยู่พักหนึ่ง ช่วงปี 1993 – 1994 แต่สุดท้าย กลับกลายเป็นการนำ
Nissan Sunny California หรือ AD Wagon รุ่นปี 1992 มาประกอบขายในไทย ด้วยชื่อ NV แล้วก็
ดัดแปลงเป็นรถกระบะหัวตั๊กแตน ในชื่อ Nissan NV Pickup ในอีก 1 ปีต่อมา แต่นั่น ก็ยังไม่ใช่
รถยนต์ขนาดเล็ก ในแบบที่ ลูกค้าคนไทย ส่วนใหญ่ ต้องการ พอวิกฤติต้มยำกุ้งระเบิดขึ้น เมื่อ
1 กรกฎาคม 1997 จากการลดค่าเงินบาทครั้งสำคัญ เศรษฐกิจ พังระนาวไปทั่วทุกหย่อมหญ้า
โครงการที่ว่า ก็เลยเงียบหายไปกับสายลม ปล่อยให้ เจ้าตลาดทั้ง Toyota และ Honda ห้ำหั่น
กันเองด้วย Toyota Soluna และ Honda City กันอย่างหืดขึ้นคอ พะอืดพะอมสมกับสภาพวิกฤติ
ในตลาดตอนนั้น เลยทีเดียว

แต่พอ ผ่านมาได้อีก 2 ปีกว่า ตลาดกลุ่ม Sub-Compact B-Segment Sedan ก็เริ่มโตขึ้นมาเรื่อยๆ
เจ้าตลาด 2 ค่าย เปิดศึกถล่ม Toyota Soluna Vios และ Honda City รุ่นเจ้าชายอุทัยเทวี กันในช่วง
Motor Expo ปลายปี 2002 Honda เอง รู้ตัวอยู่แล้วว่า เพลี้ยงพล้ำแน่ๆ ก็เลย ส่ง Jazz เข้ามาประกอบ
ขายในไทย ในอีก 1 ปีถัดมา พอดีเป๊ะ แม้จะตามหลังญี่ปุ่น 2 ปี แต่ก็ดังระเบิด ขายดิบขายดีใช้ได้
เลยทีเดียว

และจุดนี้แหละ ที่ทำให้ ตลาด Sub-Compact Hatchback แบบ Mainstream เริ่มก่อตัวขึ้นในไทย
คิดเอาเองแล้วกันว่า ขนาด Toyota ทำ Vios ขายในแต่ละเดือน มากกว่า City กับ Jazz รวมกัน
2 รุ่น ต่อเนื่องกัน เป็นปี พี่เบิ้มของเรา ก็ยังต้องซุ่ม เอา Yaris รุ่น 2 เข้ามาประกอบขายในไทย
หวังจะมาดักความร้อนแรงของ Jazz แต่สุดท้าย ยอดขายในทุกวันนี้ ก็เป็นข้อพิสูจน์แล้วว่า
ตลาดกลุ่มนี้ ไม่ใช่ใครๆ ก็จะประสบความสำเร็จกันได้ง่ายๆ เพราะรถกลุ่มนี้ ลูกค้าคาดหวังราคาขาย
ต้องไม่แพง ถ้าเปิดราคามาแบบ Yaris แล้วต้องมานั่งทำแคมเปญช่วยในภายหลัง ทั้งที่ตัวรถเอง
ก็ยังสู้ Honda Jazz ไม่ได้ในแง่การออกแบบประโยชน์ใช้สอย ก็เท่ากับว่า จบเห่ ตั้งแต่แจ้งเกิดแล้ว
อย่างไรก็ตาม Mazda ผู้มาทีหลัง ก็ยังสามารถ ทุ่มตลาด แจ้งเกิด Mazda 2 ได้ ในเวลาเพียง 30 วัน
เท่านั้น และกลายเป็นผู้นำในตลาดกลุ่ม Sub-Compact Hatchback ในเมืองไทยไปแล้ว ณ ปัจจุบัน

Nissan เอง ก็ซุ่มเงียบ ประเมินตลาด และศึกษาพฤติกรรมกลุ่มลูกค้าอยู่นาน ไม่ใช่แค่ในเมืองไทย
แต่ยังรวมถึงลูกค้าหลักทั้งในญี่ปุ่น กับยุโรป อันเป็นตลาดหลัก เรื่อยไปจนถึง ลูกค้าใน India China
และ Mexico ซึ่งเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อรถยนต์ขนาดเล็ก เพิ่มขึ้นมากในรอบหลายปีที่ผ่านมา และ
ยังมีทีท่าว่าจะขยายตัวมากขึ้นไปกว่านี้อีก

แม้ว่า ระหว่างการพัฒนา March ใหม่ โลกจะเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ Hamburger’s Crisis อันมี
ต้นตอจากสหรัฐอเมริกา แถมยังมีปัญหาราคาน้ำมันโลก ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ต่อเนื่องกัน
หลายเดือน ผู้คนทั่วโลก ก็เริ่มเรียกร้องหารถเล็ก มาใช้งานกันแทนที่รถขนาดใหญ่โต มากขึ้น แม้
ราคาน้ำมันจะลดลงไปอยู่ในระดับที่ประชาชนพอรับได้ แล้วก็ตาม นั่นยิ่งทำให้ Nissan มองว่า
การเริ่มพัฒนา รุ่นเปลี่ยนโฉมของ March ให้ทันกับการออกสู่ตลาดครั้งแรกในปีนี้  ถือเป็น โอกาสทอง
ที่ Nissan เฝ้ารอคอยมานาน อย่างที่พวกเขา เรียกว่า…

“Right Product in the Right time & the Right Place”

แล้วทำไม Nissan ถึงไม่ทำ March ให้แข่งขันกับ กลุ่ม Sub-Compact B-Segment แต่เลือกพารถคันนี้
มาเข้าร่วมโครงการ ECO Car ของรัฐบาลไทย กันละ?

เพราะที่ผ่านมา Nissan ไม่ค่อยประสบความสำเร็จในการทำตลาดรถเล็กในตลาดสากลเนื่องจาก 2 ปัจจัยหลักๆ
คือ การวางแผนการพัฒนารถยนต์ ในรอบหลายปี ยังทำการบ้านมาไม่ดีพอ การออกแบบ ไม่ค่อยโดนใจลูกค้า
นอกจากนี้ Nissan ให้ความสำคัญในด้านคุณภาพของโครงสร้างวิศวกรรม ในรายละเอียด ทั้งคันรถ จนไม่อาจ
ลดต้นทุนลงมาได้ง่ายนัก แถมในยุโรปเอง March เคยจำเป็นต้องประกอบในโรงงาน Sunderland ที่อังกฤษ ซึ่งมี
ค่าจ้างแรงงานสูง แต่ต้องรักษาโรงงานนี้ไว้ เพราะไม่เช่นนั้น เมืองนี้ อาจลำบาก และนักการเมืองอังกฤษเอง
ก็คงปวดหัวกับการตอบคำถามประชาชน เพื่อรักษาฐานเสียงของตัวเอง ในถิ่นนั้นเอาไว้ ทำให้ต้องขาย March
ในราคาสูงกว่าคู่แข่ง Nissan จึงอยากจะสร้างและพัฒนา March รุ่นใหม่ ให้มีต้นทุนต่ำลง เพื่อที่จะขายในราคา
ถูกลง และแข่งขันในตลาดโลกได้ดีขึ้น แต่ต้อง คงคุณภาพเอาไว้ในระดับเดิม

ในจังหวะที่ นิสสัน กำลังเริ่มโครงการพัฒนา March รุ่นใหม่ ก็เป็นช่วงเวลาปะเหมาะเคราะห์ดี ที่ทาง
รัฐบาลไทย มีแผนจะให้การสนับสนุน ด้านการลงทุนผลิตรถยนต์ขนาดเล็ก มาตรฐานสากล หรือที่เรียกว่า
โครงการ Eco car พอดีเป๊ะ เมื่อมีการศึกษากันลึกๆ ถึงรายละเอียดต่างๆ ทำให้ Nissan เล็งเห็นว่าการใช้
ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 4 ฐานการผลิตของ March รุ่นใหม่ จะช่วยให้สามารถลดต้นทุน ทั้งด้านแรงงาน
การผลิตชิ้นส่วน การขนส่งต่างๆ และอื่นๆ ที่ไม่จำเป็น ลงได้อีก (และก็ช่วยให้ เลิกผลิต March ที่ Sunderland
ได้สบายๆ โดยเอา Crossover SUV รุ่น Qashqai / Dualis ไปผลิตที่นั่นแทน) Nissan จึงตัดสินใจพัฒนา March
รุ่นใหม่ ให้ตรงตามข้อกำหนด ECO Car ของรัฐบาลไทย ไปพร้อมกันด้วย ในคราวเดียว

ข้อกำหนด ECO Car นั้น ถูกประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2549 โดยที่ประชุม
ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน BOI ในยุครัฐบาล ของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้มี
มติสนับสนุนโครงการ ECO CARในประเทศไทย โดยข้อกำหนด อย่างเป็นทางการ ของรถยนต์ ที่จะสามารถ
ยื่นขอรับสิทธิ์ ส่งเสริมการลงทุนตามแผนการ ECO CAR นี้ได้ ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

1. เครื่องยนต์ที่จะติดตั้งในตัวรถคันจริงที่ทำตลาดอยู่นั้น หากเป็นเครื่องยนต์ เบนซิน จะต้องมีความจุ
กระบอกสูบ ไม่เกิน 1,300 ซีซี ส่วนเครื่องยนต์ ดีเซล จะต้องมีความจุกระบอกสูบ ไม่เกิน 1,400 ซีซี

2. ต้องปล่อยมลพิษออกมาในระดับ ต่ำกว่ามาตรฐานมลพิษ EURO IV และมีค่าการปล่อยก๊าซ
คาร์บอนไดออกไซด์ ต่ำกว่า 120 กรัม / 1 กิโลเมตร (หรือ เข้าใจง่ายๆคือ ต้องปล่อยไอเสีย
น้อยกว่ามาตรฐาน EURO III ที่ใช้ในบ้านเราตอนนี้ลงอีกถึง 50%)

3. ต้องมีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงจากการวัดตามมาตรฐานของทางสหประชาชาติ UNECE อยู่ในพิกัด
5 ลิตร ต่อระยะทาง 100 กิโลเมตร (หรือตีเสียว่า 20 กิโลเมตร/ลิตร ซึ่งต้องบอกก่อนว่า มันคือ การใช้
มาตรฐาน UNECE Reg.83 ซึ่งจำลองการขับขี่ในห้อง Lab เสมือนการขับขี่จริง ทั้งในเมือง และ
นอกเมืองผสมกัน คือมีทั้งการเร่ง เบรก และใช้ความเร็วคงที่ ต่อเนื่อง ซึ่งความเร็วที่ใช้นั้น หลากหลาย
แต่ส่วนใหญ่น่าจะอยู่ ในระดับแถวๆ 60 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งผลที่ได้ ยังไงๆ ก็สูงกว่า และเป็น
หนังคนละเรื่องกับ การทดลองวิ่ง 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คนที่ Headlightmag.com
ของเราทำการทดลองกันตามปกติแน่นอน)

4. โครงสร้างตัวถัง ต้องมีความปลอดภัยจาการชน เพียงพอตามมาตรฐานของสหประชาชาติ
UNECE  Reg. 94 จากการชนด้านหน้า แบบไม่เต็มหน้าที่ความเร็ว 56 กิโลเมตร/ชั่วโมง
และ Reg. 95 หรือการชนด้านข้าง ด้วยความเร็ว 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง

Nissan เป็นหนึ่งในค่ายแรกๆที่พร้อมเข้าไปยื่นขอเข้าร่วมโครงการนี้ และแผนของ Nissan นั้น
ก็ค่อนข้าง จะทำเอาคู่แข่งทั้งหลาย อึ้งไปเลย เพราะส่วนใหญ่แทบทุกค่าย สามารถปฏิบัติ ตาม
ข้อกำหนดของโครงการที่ว่า “ผู้ผลิตต้องเสนอแผนงานชัดเจน ประกอบด้วยโครงการประกอบรถยนต์
ผลิตเครื่องยนต์และการผลิตจัดหาชิ้นส่วนยานยนต์ มูลค่าการลงทุนต้องไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท”
 
แต่ส่วนใหญ่ จะยังกังวลกันในข้อที่ว่า “ต้องเสนอแผนการลงทุนการผลิตระยะยาว 5 ปี
โดยตั้งแต่ปีที่ 5 เป็นต้นไปจะต้องมีปริมาณการผลิตในแต่ละปีไม่น้อยกว่า 100,000 คัน”

ซึ่งข้อนี้ Nissan บอกว่า ไม่กลัว ฉัน เฉยๆ ชิลๆ เพราะว่า ยังไงๆ ยอดผลิตทั้งหมดของ March
ทั้งแบบประกอบเสร็จแล้วทั้งคัน CBU (Complete Built Unit) หรือ แยกชิ้นส่วนเป็น CKD
(Complete Knock-down) มันจะสูงถึงระดับ 100,000 คัน/ ปี รวมกัน ได้แน่ๆ

อย่างไรก็ตาม ถ้าคิดจะบุกตลาดรถยนต์ขนาดเล็กในเมืองไทยให้เปรี้ยงปร้าง ราคาขาย คือตัวแปรสำคัญที่สุด
ยิ่งสามารถกดลงมาให้ต่ำ แต่ยังต้องมีคุณภาพดี ยิ่งจะได้ใจลูกค้ามากขึ้น และรถก็จะขายดีขึ้น เท่านั้นเอง
ถ้าขืนไปงัดข้อสู้ตรงๆกับเจ้าตลาด ทั้ง Honda Jazz ก็คงจะไม่ไหว Mazda 2 กระแสก็แรงใช้ได้ มีแค่
Toyota Yaris ที่พอฟัดเหวี่ยงกันได้ ดังนั้น ไหนๆ ก็ไหนๆ เปิดตลาด March ในไทย กันใหม่ทั้งที
ก็ต้อง เปิดตัว ด้วยการวางตำแหน่งรถ ให้อยู่ในพิกัดใหม่ เป็นรายแรกกันไปเลย จะดีกว่า

จริงอยู่ ว่าการใช้ประเทศไทย เป็นฐานการผลิตรถเล็กรุ่นใหม่เพื่อส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ ทั่วโลก รวมทั้ง
ในญี่ปุ่น บ้านเกิดด้วยนั้น คือการตัดสินใจที่ถูกต้องครั้งหนึ่งเท่าที่ Nissan เคยทำมา แต่ในช่วงก่อนหน้านั้น
ในเมื่อ ทางญี่ปุ่น กำหนดมาเลยว่า ผลิตส่งออกแล้ว ต้องทำตลาดในประเทศด้วย

จึงมีคำถามจากหลายฝ่าย เขาสงสัยกันว่า อะไร ทำให้ Nissan มั่นใจว่าจะขาย March ได้ในเมืองไทย?
ประเทศที่ บรรดาผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ๆ เคยเชื่อต่อๆกันมา จากผลวิจัยตลาดในยุคก่อนสหัสวรรษใหม่
ว่า รถเล็กที่จะขายได้ในเมืองไทย ขนาดเครื่องยนต์ขั้นต่ำ ควรเป็น 1,500 ซีซี? แล้ว Nissan March มาถึง
เปิดตัวด้วยเครื่องยนต์ 1,200 ซีซี จะขายได้เหรอ?

ก็ทำไมจะขายไม่ได้ละ ในเมื่อตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ถ้าคุณยังจำโลกอินเตอร์เน็ตในสมัยก่อนได้ ก็คงนึกออก
ว่าบ่อยแค่ไหน ที่เรามักจะพบเห็นกระทู้ ถามไถ่ตามเว็บไซต์ และเว็บอร์ดต่างๆ ว่าเมื่อไหร่ จะมีรถยนต์
ราคาประหยัด แค่ 350,000 บาท ออกมาขายซะที?

ยิ่งเวลาผ่านไป ผู้บริโภคยุคใหม่ๆ ก็เริ่มเติบโตขึ้น พอมีเงินซื้อรถได้ ทัศนคติ ต่อการใช้รถยนต์ของพวกเขา
เริ่มเปลี่ยนไป ตามสภาพเศรษฐกิจ และราคาน้ำมัน ถ้าในเมื่อ รถยนต์ท้ายตัดอย่าง Opel Corsa และต่อมา
ก็เป็น Honda Jazz ยังได้รับความนิยมขึ้นมาในตลาดที่ได้ชื่อว่า รถกระบะ กับรถเก๋ง 4 ประตู ขายครองตลาด
ตลอดการ ได้เลย แล้วทำไม รถเล็ก เครื่องยนต์ แค่ 1,200 ซีซี จะกลับมาเกิดใหม่ในตลาดเมืองไทยอีกไม่ได้?
ถ้าในเมื่อเทคโนโลยีสมัยนี้ ล้ำหน้าพอที่จะทำให้ สามารถเรียกพละกำลังจากเครื่องยนต์เล็กๆ ได้ไม่แพ้
เครื่องยนต์ระดับ 1,500 ซีซี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อย่างสบายๆ รถเล็กๆ ขนาดพอเหมาะ ห้องโดยสารใหญ่
กว่าที่คิด เครื่องยนต์ แรงพอเหมาะ ราคาถูก ประหยัดน้ำมัน คุณภาพดี ซ่อมง่าย อะไหล่ไม่แพง มีใครที่ไหน
บ้างละ ที่ไม่อยากได้?

ว่าแต่ Nissan จะแน่ใจได้อย่างไรว่า การนำ March มาขายในไทย จะมีคนซื้อ?

จากการศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค ในช่วง ปลายปี 2009 ผลลัพธ์ที่ได้ บ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า
กลุ่มลูกค้า ที่คิดจะซื้อรถยนต์ขนาดเล็กในประเทศไทยนั้น หลักๆแล้ว มีด้วยกันอยู่ 4 กลุ่มใหญ่ๆ

กลุ่มแรก เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก เป็นผู้หญิง อายุ 19 – 29 ปี อายุเฉลี่ย อยู่ที่ 26 ปี เป็นโสด 62 %
รายได้ทั้งครอบครัว/เดือน ประมาณ 69,000 บาท การศึกษาระดับปริญญาตรี ถึง 75% อาชีพปัจจุบัน
มีทั้งเป็นมนุษย์เงินเดือน 31 % ส่วนที่ยังเป็นนิสิตนักศึกษา มีอยู่แค่ 13 % พักอาศัยใน กทม 62 %
และอยู่ต่างจังหวัด 38 % คนกลุ่มนี้ อยากซื้อรถ เพราะต้องการขับไปไหนมาไหนเที่ยวไหนได้บ้าง
บ่งบอกสถานภาพทางสังคม ว่าฉันก็มีรถขับกับเขาแล้วนะยะหล่อน แม้ว่ามันจะคันเล็กก็ตาม
แต่ฉันก็ศึกษาหาข้อมูลก่อนซื้อ ทำการบ้านกันละเอียดยิบ และมันต้องเป็นสิ่งที่ฉันอยากได้จริงๆ
ไม่งั้น อย่าหวังว่าดูดเงินจากกระเป๋าฉันไปได้เลย ฉันยอมเสียตังค์ ซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่นอกจาก
จะต้องรู้จักกันมานานแล้ว ยังต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย งานอดิเรก ชอบ ไปกินข้าวนอกบ้าน
ดูโทรทัศน์ หรือไม่ก็ ช้อปกระจายตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ คาดว่าน่าจะมีการตัดสินใจซื้อประมาณ
21 % จากยอดขายทั้งหมด

กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มเป้าหมายรอง อายุ 30 – 39 ปี อายุเฉลี่ย 34 ปี เป็นชาย 55 % หญิง 45 %
รายได้ทั้งครอบครัว/เดือน ประมาณ 85,000 บาท สถานภาพโสด 42 % แต่งงานแล้ว 58 %
การศึกษาระดับปริญญาตรี สูงถึง 76 % อาชีพปัจจุบัน ส่วนใหญ่ เป็นมนุษย์เงินเดือน 34 %
รองลงมา คือเป็นเจ้าของกิจการขนาดเล็ก SME 24 % พักอยู่ใน กทม. 52 % ต่างจังหวัด 48 %
กลุ่มนี้ ถ้าซื้อรถไป มักจะเอาไปแต่งต่อ ให้ตรงกับรสนิยมของตัวเอง คนกลุ่มนี้ ขยันติดตาม
ข่าวสารใหม่ รอบๆตัว ตั้งแต่ มือถือ รถใหม่ ฯลฯ สนใจข่าวสารบ้านเมือง ดูโทรทัศน์เยอะสุด
รองลงมาคืออ่านหนังสือพิมพ์ และไปช้อปที่ห้างสรรพสินค้า แม้จะเป็นกลุ่มเป้าหมายรอง
แต่คาดว่าน่าจะเป็นกลุ่มที่ตัดสินใจซื้อ ในสัดส่วนที่เยอะสุด คือ ประมาณ 37 % จากยอดทั้งหมด

กลุ่มที่ 3 อายุ 40 – 49 ปี อายุเฉลี่ย 45 ปี เป็นชาย 57 % หญิง 43 % รายได้ทั้งครอบครัว/เดือน
อยู่ที่ 51,000 บาท แต่งงานแล้วกว่า 85 % การศึกษาปริญญาตรี 52 % น้อยกว่านั้น 44 %
อาชีพปัจจุบัน เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก SME 57 % และเป็นพนักงานบริษัทแค่ 5 %
พักอยู่ใน กทม. 43 % ต่างจังหวัด 57 % กลุ่มน้าๆ เหล่านี้ จะมีความสนใจในสิ่งรอบตัว
เหมือนกับทั้ง 2 กลุ่มข้างต้น

และกลุ่มที่ 4 กลุ่มคุณลุงคุณป้า อายุ 50 – 59 ปี อายุเฉลี่ย 54 ปี ชาย และหญิง อัตราส่วนเท่ากัน
ครึ่งต่อครึ่งพอดี รายได้ทั้งครอบครัว/เดือน ประมาณ 62,000 บาท แต่งงานแล้ว 75 % ระดับการศึกษา
ต่ำกว่าปริญญาตรี เยอะถึง 58 % เป็นเจ้าของกิจการส่วนตัว 42 % เป็นข้าราชการ 25 % และเป็น
กลุ่มที่ไม่ได้ทำงานอะไร 17 % อยู่ใน กทม. 58 % ต่างจังหวัด 42 % รสนิยม และการตัดสินใจซื้อรถ
จะคำนึงในประเด็นเดียวกับ ทั้ง 2 กลุ่มแรก แต่จะศึกษาหาข้อมูลมาอย่างดี ก่อนจะตัดสินใจซื้อ
มากกว่ากลุ่ม 3 นิดหน่อย

ประเด็นที่่น่าสนใจก็คือ จากการสำรวจวิจัยตลาดครั้งนี้ ทั้ง 4 กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย บริโภคสื่อ โทรทัศน์
และรับรู้ข่าวสารต่างๆจากทาง โทรทัศน์ มากที่สุด หากจะตัดสินใจซื้อรถสักคัน คนกลุ่มนี้ จะคำนึงในเรื่อง
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง มากที่สุด นำหน้าเหนือสิ่งอื่นใด และอีกประเด็น ที่ตามติดมาควบคู่กันเลยนั่นคือ
ราคาขาย ต้องถูก

และเมื่อถามถึงประเด็นว่า ถ้าให้เลือกระหว่างรถยนต์ 4 ประตู กับ 5 ประตู จะชอบแบบไหนมากกว่ากัน
กลุ่มคนอายุ ต่ำกว่า 40 ปีลงมา สัดส่วน ความชอบ ระหว่าง 2 ตัวถังนี้ ไม่ค่อยต่างกันมากนัก  ประมาณ
ครึ่งต่อครึ่ง แต่ถ้าเป็นกลุ่มอายุ 40 – 49 ปี กลุ่มนี้ กลับอยากได้รถกระบะ มากที่สุด คือ 48 % รองลงไป
คือ 4 ประตู ประมาณ 33 % ส่วนตัวถัง 5 ประตู นั้น คนกลุ่มนี้ แค่ 19 % เท่านั้น ที่จะชอบ

ที่ฮา หนักไปกว่านั้นก็คือ กลุ่มคุณลุงคุณป้าอายุ 50 – 59 ปี กลับชื่นชอบ รถ 5 ประตูมากกว่า คนกลุ่ม
น้าๆ  ถึง 33 % แม้ว่ารถที่ชอบสุด ยังเป็น 4 ประตู ประมาณ 42 % ส่วนรถกระบะมีแค่ 16 % ที่เลือก

อ่านแล้วมึนไปเลยละสิครับ? ก่อนจะนำรถสักรุ่น ออกสู่ตลาด บริษัทรถ ต้องสำรวจกลุ่มลูกค้า
ของตัวเองให้ดีเสียก่อน อย่างที่เห็นนี่ละ เพื่อที่จะได้รู้จักลูกค้าตัวเอง พอที่จะวางแผนการตลาดต่อไป

แล้วทีนี้ Nissan พยายามทำอย่างไรไปบ้าง ในการพัฒนา March / Micra ใหม่ ให้โดนใจ
กลุ่มลูกค้า ที่ร่ายมาทั้งหมด ข้างบนนี้?

จริงอยู่ ส่วนหนึ่งที่ March ขายดีในไทย เพราะมีสาวน้อย สาวใหญ่ รวมถึงกลุ่มเก้งกวาง ละมั่ง มังผา
หลายราย ที่ผมได้ยินมากับสองรูหูเลยว่า ยอมควักกระเป๋า ซื้อ March ก็เพราะความหล่อ ของ พี่เคน
ธีระเดช วงศ์พัวพันธ์ ผู้เป็นพรีเซ็นเตอร์ (ซึ่ง ขอโทษนะ ผมว่า ไม่เข้ากับบุคลิกของกันและกันอย่างแรง)

แต่นั่นมันเป็นเรื่องของการทำตลาด เชื่อเถอะว่า ถ้าตัวรถออกมา ไม่โดนใจลูกค้าเลยแม้แต่น้อย ต่อให้
พรีเซ็นเตอร์ จะเทพ แค่ไหน ต่อให้เป็น พี่เบิร์ด ธงไชย บี้ เดอะ สตาร์ หรือว่า ขุนพล AF 1 ยัน 6 ที่มี
กลุ่มแม่ยก ซึ่งพร้อมจะอุดหนุนสินค้าทุกตัว ที่น้องๆเขาเป็นพรีเซ็นเตอร์ เลยก็ตาม พวกเขาก็จะไม่มีวัน
เหลียวแล รถของคุณหรอก เรื่องพวกนี้ บริษัทรถยนต์เขารู้ดี

และด่านแรกที่จะดึงดูดใจ หรือผลักไสลูกค้า ให้เข้าใกล้ หรือถอยห่างจากรถแต่ละรุ่น นั่นคือ
รูปลักษณ์ภายนอก (Exterior Design)

งานออกแบบ Nissan March รุ่นใหม่ รหัสรุ่น K13 ภายใต้รหัสโครงการพัฒนา B02A (หรือ W02A)
เริ่มต้นขึ้นในช่วงปี 2006 และมาเสร็จสิ้นเอาเมื่อราวๆ ปี 2008 ภายใต้เป้าหมายในการพัฒนาให้
March รุ่นนี้ คือ RELIABLE ENTRY Hatchback with SMART TECHNOLOGY ซึ่งรถคันนี้
ต้องถึงพร้อมด้วยคุณลักษณะสำคัญ 4 ประการ  คือ

AFFORDABLE to BUY and RUN
มีราคาที่ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของได้ และมีค่าบำรุงรักษาต่ำ
COMFORT DRIVING เน้นความสบายในการขับขี่ เป็นหลัก
CITY AGILITY
ต้องมีความคล่องแคล่ว ตอบสนองได้ทันใจ สำหรับการใช้งานในเมือง
USER FRIENDLY ต้องมีความสะดวกต่อการใช้งานของทุกๆคน ที่เป็นเจ้าของ

แทบไม่น่าแปลกใจว่า ในช่วงหลายปีให้หลัง หลายๆบริษัทรถยนต์ มักจะดึงเอา ผู้ร่วมทีมงานพัฒนา
รถยนต์รุ่นนั้นๆ มาเล่าถึงเรื่องราวต่างๆ ที่พวกเขาคิด เผชิญหน้า บอกเล่าให้ผู้บริโภค หรือ สื่อมวลชน
ได้รับฟังกัน แน่นอน พวกเขาพูดไม่หมดหรอก หลายเรื่อง ไม่อาจให้ใครรู้ได้ แต่อย่างน้อย เราก็ได้
รับรู้ว่า ทำไม รถที่เราเห็น ถึงออกมาเป็นอย่างที่เราได้เห็นกัน และครั้งนี้ก็เช่นกัน ที่ Nissan นำเอา
ทีมออกแบบ และพัฒนา รถรุ่นนี้ มาพูดคุยถึงเบื้องหลังความเป็นมา บางส่วนของ Nissan March K13

Koji Nakano ; Design Director ของ Nissan คนปัจจุบัน ที่ดูแลภาพรวมงานออกแบบรถทุกรุ่น
ภายใต้แบรนด์ Nissan (ไม่รวม Infiniti) ตั้งแต่ March / Micra ยัน GT-R เล่าถึงเป้าหมายในการออกแบบ
March ใหม่ ว่า “ประการแรกสุด รถคันนี้ จะต้องเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย อันหลากหลาย ทั่วโลก และจะต้อง
ตอบสนองความต้องการอันหลากหลายเหล่านั้นได้ ในรถเพียงคันเดียว ความท้าทายประการที่สองก็คือ
การออกแบบรถเล็กคันนี้ ให้มีคุณภาพระดับผู้นำ ทั้งภายใน จรดภายนอก เรารู้ดีว่า ลูกค้ามีความคาดหวังสูง
งานของเราก็คือ การยกระดับ คุณภาพ เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายที่สาม นั่นคือ การสร้างรถยนต์ขนาดเล็ก
คันนี้ให้เป็นที่เลื่องลือในด้าน การออกแบบอย่างชาญฉลาด”

Makoto Yamane ; Associate Product Chief Designer ผู้เคยรังสรรค์ รถสปอร์ตมากมายทั้ง
S14 Silvia 200SX/240SX และ GT-R CONCEPT (Tokyo Motor Show 2001) รวมทั้งออกแบบ
รถต้นแบบ Qashqai และ Micra C+C เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง Studio Chief Designer ที่ศูนย์ Nissan
Design Europe เล่าว่า “โครงการนี้ ถูกกำหนดแนวทางการออกแบบอย่างชัดเจน 3 แนวทางด้วยกัน
นั่นคือ งานออกแบบซึ่งดึงดูดใจ ในระดับสากล การพัฒนาโครงสร้างตัวถังที่มีขนาดเล็ก แต่ทนทาน และ
การสร้างบรรยากาศ ทั้งการมองเห็นและความรู้สึก ให้หรูหรายิ่งขึ้น เพื่อยกระดับ สัมผัสแห่งสถานภาพ”

“รถคันนี้ จะต้องมีเส่น่ห์ดึงดูดใจผู้คนทั่วโลก ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งชาย และหญิง หนุ่มสาว
หรือผู้สูงวัย และเราแน่ใจว่า มันจะเป็นเช่นนั้น ด้านหน้าของรถ ดูโฉบเฉี่ยว คล้ายจะซับซ้อนนิดๆ แต่ใน
ขณะเดียวกัน ต้องดูเข้าถึงได้ง่าย เหมือนเพื่อที่คุณไว้ใจได้ทุกเมื่อ เราอยากจะสร้างรถที่ จะได้รับความ
นิยมชมชอบ จากผู้คนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และผมคิดว่า เราทำได้แล้ว”

Design Key Words ในการออกแบบ March รุ่นใหม่นั้น มีคำจำกัดความหลักๆ 3 คำ ได้แก่

LIVELY  เส้นสายที่ดูกระฉับกระเฉง ในขนาดตัวถังที่เหมาะสม และมีทัศนวิสัยรอบคันโปร่งตา
DENSE  ขณะเดียวกัน ตัวรถต้องดูแน่นหนา ถึงพร้อมด้วยรสนิยมที่ดี และมีบรรยากาศเป็นกันเอง
UNIQUE  อีกทั้งมีบุคลิกอันน่าประทับใจ เปี่ยมแน่นด้วยความเป็น March และ Micra ที่สั่งสมมา
จากรถรุ่นก่อนๆ

ภายใต้ขนาดของตัวรถที่มีความยาว 3,780 มิลลิเมตร กว้าง 1,665 มิลลิเมตร สูง 1,515 มิลลิเมตร
ระยะฐานล้อ 2,450 มิลลิเมตร ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับรถรุ่นเดิม (ที่ไม่มีขายในไทย) แล้ว March ใหม่
จะยาวกว่าเดิม 104 มิลลิเมตร กว้างกว่าเดิม แค่ 5 มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อยาวกว่ากัน 20 มิลลิเมตร

แต่ถ้าหากเทียบกับคู่แข่งในพิกัด B-Segment Hatchback แล้ว แน่นอนว่า Honda Jazz ขนาดใหญ่สุด และมี
ห้องโดยสาร กว้าง ยาว ที่สุด และ Nissan เอง ก็รู้ดีในเรื่องนี้ เลยไม่คิดที่จะทำ March ขึ้นไปแข่งขันด้วย
(เพราะมี Nissan NOTE เอาไว้ประกบ อยู่แล้ว) ดังนั้น ถ้าจะเปรียบเทียบ ก็คงเทียบได้กับ รถยนต์
Hatchback ท้ายสั้น ด้วยกัน ซึ่ง March ใหม่ มีระยะฐานล้อสั้นกว่า Toyota Yaris 10 มิลลิเมตร แต่ยาวกว่า
March เก่า 30 มิลลิเมตร กระนั้น ก็กว้างเท่ากับ TIIDA คือ 1,695 มิลลิเมตร ซึ่งกว้างกว่า March 30
มิลลิเมตร

แต่ถ้าจะเทียบกับ Suzuki Swift ตัวปัจจุบัน ระยะฐานล้อของ March ก็จะยาวกว่า 60 มิลลิเมตร ตัวรถสั้น
เท่ากับ March K12 รุ่นก่อน คือ 3,695 มิลลิเมตร เท่ากับว่า ยาวกว่า Swift เดิม ราวๆ 105 มิลลิเมตร แต่
Swift ก็ยังกว้างกว่า March ใหม่ นิดนึง คือ 1,690 มิลลิเมตร

สรุปแล้ว งานนี้ Nissan มาแนวเดียวกับ Teana เลย คือขนาดตัวถังแคบกว่าชาวบ้าน แต่ว่ารถดูใหญ่พอกัน
หรือใหญ่กว่าชาวบ้านเขา!! เออ เขาทำของเขาขายกันได้เนาะ!

จุดเด่นของงานออกแบบ บนเรือนร่าง เจ้ากระจงน้อย มีอยู่ 3 จุด คือ กระจังหน้าแบบ Multi Layer
พร้อมกับชุดไฟหน้าทรง รี ที่ถูกลดทอนความน่ารักอย่างมีเอกลักษณ์ของตนเอง จากรถรุ่น K12 ลง
เพื่อให้ ตัวรถมียุคลิก Unisex หรือรถของคนทุกเพศทุกวัย ทั่วโลกมากขึ้น ไม่ใช่ออกมาเป็นรถที่
สวยเฉียบ แต่มีความเป็นผู้หญิงมาก อย่างที่รถรุ่นที่แล้ว เป็นมา

ดูเหมือนว่าจะเป็นตา อาร์ต Signifer ผู้อ่านของเว็บเรานั่นละที่บอกกับผมว่า ดูไปดูมา ด้านหน้าของ
March มีส่วนคล้าย Premium SUV คันเขื่อง อย่าง Porsche Cayenne!!

เออ วะ! มันก็มีส่วนคล้ายอยู่ไม่ใช่น้อยเหมือนกันนะ!!!

แนวเส้นโค้งมนบริเวณครึ่งคันด้านบน โดยเฉพาะ แนวกรอบกระจกหน้าต่างรอบคัน ที่สมดุลกับ
เส้นสายตัวถังรอบคันทั้งหมด เน้นให้ตัวรถ มีทัศนวิสัยรอบคันที่ดีขึ้นกว่าคู่แข่ง เมื่อนั่งอยู่ที่เบาะคนขับ

จุดเด่นสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การจัดการด้านอากาศพลศาสตร์ หรือ Aero Dynamic ทั้งการออกแบบ
แผ่นหลังคาด้านบน ให้เป็นลอน รูป บูมเมอแรง 2 แนว ด้านบน เหตุผลที่ Yamane บอกเอาไว้ก็คือ ช่วย
ลดเสียงสะท้อน และการสั่นสะเทือนที่จะเล็ดรอดเข้าสู่ห้องโดยสาร นอกจากนี้ บริเวณแผ่นหลังคา เหนือ
ผู้โดยสารด้านหลัง ยังถูกออกแบบขึ้นมาให้โป่งนูน เพื่อให้มีพื้นที่เหนือศีรษะ สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง
สูงขึ้น เวลานั่งเบาะหลังแล้ว หัวจะได้ไม่ติดหรือเฉี่ยวกับเพดานหลังคา พร้อมกันนี้ ยังมีการออกแบบตัวถัง
บริเวณ เสาหลังคา C-Pillar ให้มีลอนโค้งมนโป่งนูน สอดรับกับแผ่นหลังคา ต่อเนื่องกันไป จรดฝาประตู
ห้องเก็บของด้านหลัง

พร้อมกันนี้ พื้นตัวถังด้านล่าง ยังถูกออกแบบให้อากาศ ไหลผ่านลอดไปได้ ดีกว่าเดิม และช่วยเพิ่มแรงกด
หรือ Downforce ให้มากขึ้น ดูเหมือนว่า Nissan จะตั้งใจกับงานด้านอากาศพลศาสตร์ของ March ใหม่
กันไม่น้อยเลยทีเดียว ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อช่วยให้ตัวรถ ยังคงมีการทรงตัวที่ดี ในขณะขับขี่ด้วยความเร็วสูง

ชุดไฟท้าย ออกแบบมาให้สอดรับอย่างต่อเนื่อง กับแนวสันโป่งนูนด้านข้างของตัวรถ แม้ว่า
จะดู “บ้านๆ” ไปหน่อย เมื่อเทียบกับ ในภาพสเก็ตช์ บั้นท้ายรถ ที่อยู่ด้านบนของบทความนี้ก็ตาม

March เวอร์ชันไทย จะมีการตกแต่งภายนอก แบ่งเป็น 2 แบบ นั่นคือ รุ่นตกแต่งธรรมดา พื้นฐานๆ
ในรุ่น 1.2 S เกียร์ธรรมดา 1.2 E เกียร์ธรรมดา และ CVT กับ 1.2 EL เกียร์ CVT จะไม่มีแถบโครเมียม
คาดบริเวณรอบกรอบกระจังหน้า และช่องรับอากาศบรเวณเปลือกกันชนหน้า ในรุ่น 1.2 S จะไม่มี
ฝาครอบล้อมาให้ เป็นล้อเหล็ก เปลือยเปล่า ส่วนรุ่น E และ EL จะมีฝาครอบล้อ ขนาด 14 นิ้ว (14″ x 5.5J)
แบบ Full Wheel Cover มาให้ และจะไม่มีการ ติดสติ๊กเกอร์ แถบสีดำ บริเวณ ขอบรอบต่อระหว่าง
กรอบหน้าต่างของทั้งประตูคู่หน้า และคู่หลัง ปล่อยให้เป็นสีเดียวกับตัวถังไปแบบที่เห็นในคันสีเงินนี้

ส่วนรุ่น High-Grade ทั้ง 1.2 V และ 1.2 VL ทุกสิ่งอย่าง กลับตาลปัตร จากที่ระบุไว้ในย่อหน้าข้างบนนี้
กระจังหน้า มีการประดับโครเมยม อยู่รายล้อมกรอบ แถบสติ๊กเกอร์ สีดำ ถูกนำมาแปะเชื่อมไว้ บริเวณ
รอยเชื่อมต่อของกระจกหน้าต่าง ประตูคู่หน้า และคู่หลัง แถม ล้ออัลลอย ก็มีมาให้ ในขนาด 15 นิ้ว
(15″ x 5.5J)  ดูตัวอย่างได้จากคันสีส้ม ที่เห็นอยู่นี้

การจะเปิดประตูเข้าออกจากรถนั้น หากเป็นรุ่น 1.2 V และ 1.2 VL จะใช้กุญแจรีโมทคอนโทรล
ทรงเมล็ดข้าวสาร แบบเดียวกับที่ใช้ในรถรุ่นอื่นๆของ Nissan ตั้งแต่ March ยัน 370Z มีสวิชต์
ปลด และสั่งล็อก แยกจากกัน ฝังกุญแจขนาดเล็กในตัว และมีสวิชต์สีดำบนมือจับประตู สำหรับ
กดสั่งปล็ดหรือล็อกรถได้พร้อมกันทั้ง 4 บาน หรือระบบเซ็นทรัลล็อก นั่นเอง (อันที่จริง น่าจะสั่ง
ปลดล็อกเฉพาะบานคนขับ เพื่อป้องกันพวกมิจฉาชีพ จะจู่โจมเข้ามาในยามค่ำคืน)

และถ้ากดสวิชต์พับกระจกมองข้างแบบปรับและพับด้วยไฟฟ้า เอาไว้ที่ตำแหน่ง Auto
เมื่อใดที่สั่งปลดล็อกรถ กระจกมองข้างจะกางออกเองโดยอัตโนมัติ เช่นเดียวกัน ถ้าสั่ง
ล็อกรถ กระจกมองข้างจะพับเก็บได้เอง ในทันที

การติดเครื่องยนต์ ไม่ต้องเสียบกุญแจใดๆ จะเห็นว่ามีการนำพลาสติกวงกลม มาแปะเอาไว้
บริเวณที่เป็นรูเสียบกุญแจของรุ่นอื่นๆ เพราะรุ่นนี้ กดปุ่ม Start ติดเครื่องยนต์ได้เลย
แต่ต้องเหยียบเบรกควบคู่ไปด้วยเพื่อความปลอดภัย มีระบบกันขโมย Immobilizer มาให้ด้วย

ส่วนรุ่นอื่นๆ นอกเหนือจาก 2 รุ่นท็อป ไล่กันตั้งแต่ 1.2 S 1.2 E และ 1.2 EL จะใช้ลูกกุญแจ
ธรรมด๊า ธรรมดา หน้าตา เหมือนกุญแจรถกระบะตระกูล Nissan ในปัจจุบันนี้เปี๊ยบ อย่างที่เห็นอยู่นี้
การติดเครื่องยนต์ ก็เสียบเข้าไปที่คอพวงมาลัย แล้วบิด ตามปกติ รุ่น 1.2 E ตั้งแต่เกียร์ธรรมดาขึ้นไป
จนถึง 1.2 EL เกียร์ CVT จะมีระบบ เซ็นทรัลล็อกมาให้ แต่ในรุ่นล่างสุด 1.2 S จะไม่มีเซ็นทรัลล็อก

ถ้าอยากสบาย สงสัยต้องคุยกับพนักงานขาย ขอระบบกุญแจรีโมทคอนโทรล พร้อมรบบกันขโมย
เป็นของแถม หรือไม่ก็สั่งซื้อเพิ่มเติมเอาเองแล้วละครับ

การเข้าออกจากรถนั้น ทำได้อย่างสะดวกโยธิน ไม่มีส่วนใดของศีรษะ ไปชน หรือโขกเข้ากับ
กรอบประตูใดๆ ทั้งสิ้น มือจับเปิดประตูจากภายในรถ ออกแบบได้ดูดีมีชาติตระกูล อย่าตกใจ
ถ้าผมจะบอกว่า มันเป็นอะไหล่ชิ้นเดียวกันกับที่พบได้ใน Nissan Fairlady Z หรือ 370 Z กับ
Nissan Cube !!

แผงประตู ในรุ่น 1.2 V และ 1.2 VL ที่เห็นอยู่นี้ จะบุด้วยผ้าสากๆ แบบเดียวกันกับผ้าหุ้มเบาะ
วางแขนพอได้อยู่ มีช่องมือจับเล็กๆ สำหรับให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร วางโทรศัพท์ หรืออุปกรณ์ต่างๆ

ส่วนแผงประตู ในรุ่น 1.2 S 1.2 E และ 1.2 EL ก็จะไม่มีการบุประดับด้วยผ้าแต่อย่างใด
มีช่องใส่ของ และวางขวดน้ำได้ในตัวมาให้ เหมือนกัน

ดูเหมือนว่า ต่อจากนี้ คุณผู้อ่าน ก็คงจะต้องมานั่งส่อง เพ่ง และเล็งหาจุดที่แตกต่างกัน
ของห้องโดยสาร ใน March ใหม่ ทั้ง 2 คันนี้ แบบเกม Photo Hunt กันละครับ ดูสิว่า
คุณๆจะค้นพบความแตกต่างกันบ้างไหม ระหว่างรุ่นท็อป ของเกียร์อัตโนมัติ CVT
1.2 VL กับรุ่นท็อป ของเกียร์ธรรมดา 1.2 E

ภายในห้องโดยสารของ March เวอร์ชันไทย ทุกรุ่นจะตกแต่งด้วยโทนสีดำ ทั้งที่เวอร์ชันส่งออก
ไปยังตลาดอื่นๆ จะมีให้เลือกทั้งสีเบจ สีเทาอ่อน และแม้แต่สีน่ำตาล Plum ให้เลือกด้วย อย่างสวยเลยละ!

เบาะนั่งคู่หน้า หุ้มด้วยผ้าสากๆ ในบริเวณโดยรอบทั้งตัวเบาะ เหมือน รถ Skoda Octavia
แต่ บริเวณตอนกลาง ลายผ้า จะเหมือนกันกับ ลายผ้าเบาะของ Honda City รุ่นปี 2009
ที่จอดอยู่คู่กันในบ้านผม เปี๊ยบ!

ภาพรวมของเบาะนั่ง แค่พอนั่งได้ ในระยะทางใกล้ๆ หากขับไปไกลกว่านั้น อาจจะนั่งไม่สบายนัก
เบาะรองนั่ง สั้นไปนิดนึง ขณะที่พนักพิงหลัง แม้จะดูเหมือน มีส่วนซัพพอร์ตเอว และสีข้าง มาให้
กระนั้น ก็ยังช่วยรองรับสรีระได้น้อย จนแทบไม่รู้สึกอะไรเลย

พื้นที่เหนือศีรษะ โล่งโปร่งสบาย ไม่รู้สึกว่าขับรถคันนี้แล้ว อึดอัดแต่อย่างใด ส่วนพื้นที่วางขา
ก็ทำมาได้ ดีเท่าที่พื้นที่ในรถ พอจะเหลือเว้นเอาไว้ให้ ประเด็นนี้ ไม่มีอะไรให้ต้องตำหนินัก
ถ้าคุณไม่ใช่คนที่ตัวสูงเกิน 185 เซ็นติเมตรขึ้นไป พนักศีรษะ ปรับระดับ สูง-ต่ำได้ ใช้งานได้ตามปกติ
ไม่ถึงกับสบายหัวเท่าใดนัก แต่ดีแล้วที่มีมาให้

เข็มขัดนิรภัย สำหรับผู้โดยสารและผู้ขับขี่ ด้านหน้า เป็นแบบ ELR 3 จุด แต่ปรับระดับ สูง-ต่ำ ไม่ได้
ซึ่ง แม้ว่าจะเหมือนกับ รถยุโรป ระดับพรีเมียม ทั้ง BMW และ Volvo หลายๆรุ่น ซึ่งเท่ากับว่า หากคุณ
ต้องการจะปรับเข็มขัดนิรภัยให้เข้ากับสรีระ ก็ต้องใช้วิธี ปรับระดับ สูง -ต่ำ ของเบาะนั่ง กันเป็นการทดแทน

แต่จะว่าไป ในรุ่นท็อป อย่าง 1.2 VL ก็ควรจะมีเข็มขัดนิรภัย แบบปรับระดับสูง-ต่ำได้ มาให้สักหน่อย
ก็น่าจะช่วยสร้งความแตกต่างได้อีก ไม่เข้าใจว่า จะกั๊กเอาไว้ รอรุ่น Minorchange จึงจะใส่มาให้ หรือเปล่า?
เพราะรถยนต์ขนาดเล็กเดี๋ยวนี้ เข็มขัดนิรภัย ปรับระดับสูง-ต่ำได้ แทบจะกลายเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน
ซึ่งผู้ผลิตทุกราย ควรใส่มาให้อยู่แล้วด้วยซ้ำ 

ตำแหน่งของคันโยกปรับเบาะ เอนขึ้นหน้า หรือถอยหลัง อยู่ลึกเกินไป ต้องล้วงเข้าไปพอสมควร
เมื่อเทียบกับรถรุ่นอื่นๆ อีกทั้ง จะว่าไปแล้ว สามารถออกแบบให้มีขนาดเล็กลงกว่านี้ ได้อีก และน่าจะ
ช่วยลดต้นทุนลงให้ต่ำกว่านี้ได้อีก

ส่วนเบาะคนขับ ก็พบปัญหาอีกประการหนึ่ง เหมือนกับการปรับเบาะ เอนลงไป นั่นคือ ในการปรับระดับสูง-ต่ำ
คันโยกที่ติดอยู่กับเบาะ แม้จะอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม แต่กลับกลายเป็นว่า แผงประตู ซึ่งก็มีขนาดตามมาตรฐาน
กินพื้นที่เข้ามา ใกล้ชิดตัวผู้ขับขี่ จนก่อให้เกิดความยากลำบาก ในการล้วงมือลงไป ปรับระดับ สูง-ต่ำ ทางเดียว
ที่พอจะทำได้คือ ต้องเปิดประตูฝั่งคนขับออก แล้วค่อยปรับเบาะกันทีหลัง

ทีนี้ผมเข้าใจแล้วละว่า ทำไม ใน Nissan TIIDA ทีมออกแบบ ถึงได้ย้าย ก้านปรับระดับสูง-ต่ำ และปรับเอน
ของเบาะคู่หน้า มาไว้ ตรงบริเวณใกล้คอนโซลกลาง แทนที่จะติดตั้งเอาไว้ในตำแหน่งเดียวกับรถทั่วไป
เพราะไม่เช่นนั้น จะล้วงลงไปใช้งานค่อนข้างลำบากเลยทีเดียว

ถ้า Nissan ยังยืนยัน ที่จะคงความกว้างของตัวถังรถเอาไว้ในระดับที่เป็นอยู่นี้ ก็มีทางเลือกให้เพียง 3 ทาง
คือ ลดความกว้างของแผงประตูด้านข้าง อีกนิด หรือไม่ก็ย้ายตำแหน่ง ของคันโยกปรับระดับสูง-ต่ำ มาไว้
ข้างเบรกมือ แบบเดียวกับที่มีอยู่ใน Nissan TIIDA คือ ไม่ต้องแก้ไขอะไร และปล่อยเอาไว้แบบนี้

อ้อ! ไหนๆ ก็ ไหนๆ แล้ว ฝากด้วยอีกเรื่องแล้วกัน ที่วางแขนสำหรับคนขับ พับเก็บได้เหมือน Sentra B13
ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีมาให้ เฉพาะในรุ่นส่งออกไปบางประเทศหนะ ช่วยใส่มาให้เวอร์ชันขายคนไทย ในรุ่นตั้งแต่
1.2 EL ขึ้นไปเถอะ อย่า งก นัก เลย 

การเข้าออกจาก ประตูคู่หลัง ซึ่งดูเหมือนจะเล็กนั้น เอาเข้าจริง สรีระใหญ่อย่างผม ไม่มีปัญหาเท่าใดนัก
ขนาดทางเข้าออก ก็ใกล้เคียงับ Mazda 2 และ Toyota Yaris กระจกหน้าต่าง คู่หลัง สามารถเปิดลงได้
จนสุดขอบประตู แผงประตูด้านข้าง ไม่มีช่องใส่ของใดๆมาให้ เพราะเป็นที่อยู่อาศัยของลำโพงวิทยุ คู่หลัง

เริ่มสังเกตว่า ในระยะหลังๆมานี้ ด้านหลังของชุดเบาะนั่งคู่หน้า ในรถยนต์ขนาดเล็ก เริ่มไม่ค่อยมี
ช่องเสียบหนังสือ มาให้ เหมือนอย่างในสมัยก่อนแล้ว แม้กระทั่ง March ใหม่รุ่นนี้ก็เช่นเดียวกัน
ผมไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไม แต่ส่วนหนึ่ง ของคนที่ขับรถ ก็ไม่ควรอ่านหนังสืออยู่แล้ว เพียงแต่ว่า
ในระหว่างจอดรอ ใครสักคนอยู่ ผู้ขับขี่จำนวนหนึ่ง ยังคงอ่านหนังสือบนรถกันอยู่ แต่ ตำแหน่งที่
พวกเขาวางหนังสือกัน มักจะเป็นเบาะหลังฝั่งขวา เป็นส่วนใหญ่ หรือไม่ก็ห้องเก็บของด้านหลัง
ผมจึงไม่แน่ใจว่า ผลวิจัยตลาด ที่ออกมา ลูกค้า ที่ไปสัมภาษณ์ส่วนใหญ่ มองประเด็นนี้กันอย่างไร?

เบาะนั่งด้านหลัง ถือว่า ให้มาในระดับที่พอจะนั่งโดยสารไปในระยะทางสั้นๆได้
พนักพิงศีรษะ ที่ออกแบบให้เป็นชิ้นเดียวกับพนักพิงหลัง มีขนาดเตี้ยไป ซึ่งเข้าใจว่า
เป็นผลมาจากความพยายาม ที่จะออกแบบบรรยากาศภายในรถให้ดูโปร่ง และสะดวกต่อ
การถอยหลังเข้าจอด ทว่า ถ้าพนักพิงศีรษะ สูงกว่านี้ได้อีกหน่อย นั่นน่าจะช่วยให้ การเดินทาง
ของผู้โดยสารอีก 2-3 คนด้านหลัง ในระยะทางที่จำเป็นต้องนั่งกันไกลๆ นานๆ จะสบายตัว
กว่านี้

เบาะรองนั่ง ค่อนข้างสั้น ไล่เลี่ยกันกับคู่แข่งในพิกัด B-Segment ด้วยกัน คันอื่นๆ แต่ก็ยังถือว่า
พอนั่งได้ และพนักพิงหลัง ก็ไม่นุ่ม ไม่แข็งจนเกินไป พอรับได้ แต่อย่างที่บอกไป พนักศีรษะ
ทำให้ความสบายที่คิดว่าพอรับได้ มลายหดหายไปหลายโข

พื้นที่เหนือศีรษะ สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง โปร่งสบาย ส่วนหนึ่ง เพราะมีการออกแบบ
แผ่นหลังคา ให้มีความนูน เผื่อเอาไว้ในปรเด็นนี้อยู่แล้ว  เข็มขัดนิรภัยของเบาะนั่ง ด้านหลัง
ในทุกรุ่น ให้มาเป็นแบบ ELR 3 จุด ทั้งฝั่งซ้าย และขวา ส่วนตรงกลาง เป็นแบบ ELR 2 จุด
คาดเอว ตามปกติ

การวางแขน บนแผงประตูนั้น ทำได้ในระดับที่เหมาะสม ไม่เตี้ย ไม่สูงไป เพราะต้องออกแบบมา
รองรับกับสรีระของคนทั่วโลกที่แตกต่างกันให้ด้มากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้

ลายผ้าเบาะที่ให้มา เหมือนกันทั้งรุ่นถูกสุด จนถึงแพงสุด ไม่ได้มีความเหลื่อมล้ำกันเลยในเรื่องนี้
ส่วนพื้นที่วางขานั้น มีขนาดใช้ได้ มากกว่าที่คิด แม้ว่า ส่วนหนึ่ง เป็นเพราะการทำเบาะรองนั่งให้สั้น
ผมลองนั่งดู และบันทึกภาพนี้ออกมา นี่คือ พื้นที่วางขา ในส่วนผู้โดยสารด้านหลัง

แต่ถ้าคิดว่า แค่การที่คนอย่างผม จะนั่งลงบนเบาะหลังของ March ยังไม่อาจทำให้คุณผู้อ่าน
เห็นภาพได้มากพอ เราก็คงจะต้องนำภาพถ่าย ที่เราบันทึกเอาไว้ ตั้งแต่งานเปิดตัว เมื่อวันที่
13 มีนาคม 2010 ตอนบ่ายๆ ณ Central WORLD วันที่ยังไม่โดนพวกก่อการร้าย เผาทิ้ง…

ตาหลุยส์ แห่งร้านเป็ดย่างแมนดาริน ซอยทองหล่อ ผู้เป็นเพื่อนสนิท และเคยร่วมทดลองรถกับผม
นั่งอยู่บนเบาะหน้า ของ March คันสีส้ม ปรับตำแหน่งเบาะนั่งฝั่งคนขับ ให้่เหมาะสมกับสรีระ
ของเขาเรียบร้อยแล้ว…

คนที่นั่งด้านหลัง ไม่ใช่ใครอื่นไกล ตาแพน Commander CHENG เพื่อนสนิทของผม
และเจ้าของร่วม Headlightmag.com ของเรานั่นเอง เข้าไปนั่งบนเบาะหลัง แบบสบายๆ
ไม่ต้องพยายามตะเกียกตะกาย ยัดสรีระร่างของตน เข้าไปในรถแต่อย่างใดทั้งสิ้น!

ต้องไม่ลืมว่า น้ำหนักตัวของแพนนั้น อยู่ที่ 140 กิโลกรัม หุ่นขนาดนี้ เข้าไปนั่งเบาะหลังได้
อย่างนี้ ก็ถือว่า ประตูทางเข้า ไม่ใช่ปัญหาแล้ว พอนั่งได้แน่ๆ

แต่ แค่นั้นยังไม่พอ ตอนที่ถ่ายรูปนี้อยู่ ผมยังเจอ พี่สิงห์ PR สุดจะขยัน ของ Nissan Motor Thailand
เดินอยู่ในละแวกแถวนั้นพอดี เลยคว้าตัว มานั่งด้วยกันกับตาแพน บนเบาะหลังของ MARCH ใหม่
อย่างที่เห็น พี่สิงห์ หนะ น้ำหนักตัวราวๆ 110 กิโลกรัม โดยประมาณ….

คนอ้วน ระดับ อ้วนปั๊ก 2 คน บนเบาะหลัง MARCH คงทำให้คุณผู้อ่าน เห็นชัดเจนแล้วนะครับว่า
เบาะหลังของ กระจงน้อย มันก็ไม่ได้อึดอัดอย่างที่หลายๆคนกลัวแน่ๆ

นอกจากนี้ พนักพิงเบาะหลัง ยังสามารถแบ่งพับเพื่อเปิดทะลุไปยังห้องเก็บของด้านหลังได้
ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องดี จนกว่าคุณจะพบว่า พนักพิงที่พับลงมาได้หนะ ไม่ได้แยกฝั่ง เป็น 2 ชิ้น
เหมือนเช่นรถนต์ทั่วๆไปสักหน่อย หากแต่ ใน March เวอร์ชันไทย ถ้าคิดจะพับเบาะ คุณต้องพับ
พนักพิงลงมาทั้งหมด อย่างที่เห็นนี้เลย!!

ถ้าการพับเบาะแบบนี้ มีให้สำหรับรุ่นเกียร์ธรรมดา อย่างคันสีเงินที่เห็นนี้ ยังพอจะอนุโลมได้บ้าง
เพราะว่าในรุ่นเกียร์ธรรมดา รุ่นล่างสุดอย่าง 1.2 S ซึ่งมักเอาไว้ใช้เป็นรถในองค์กรธุรกิจ การพับเบาะ
ชิ้นเดียวแบบนี้ ถือว่า ทำให้เกิดความสะดวกในการบรรทุกสิ่งของ ที่ไม่ได้ใหญ่โตมากมายนก แต่พอมี
ความยาว อยู่บ้าง

ทว่า ในรุ่น 1.2 VL ที่เห็นอยู่นั้น เห็นแล้ว ทำให้เริ่มคิดเลยว่า ลดต้นทุนไปหน่อยหรือเปล่า? ถ้าคิดจะ
ต้องแบกสัมภาระไปด้วย และยังต้องมีผู้โดยสารนั่งกัน 3 คน แล้วจะทำอย่างไรกันละทีนี้? จะให้
อีกคนหนึ่งที่เหลือ มานั่งตัก ผู้โดยสารตนหน้า มันก็ใช่เรื่องอยู่ 

ฝากระโปรงหลัง เปิดขึ้นมา ใช้ช็อกอัพ ไฮโดรลิกช่วยค่ำยัน ยังดีที่ให้มาครบทั้ง 2 ฝั่ง มีแผงฟูกรีไซเคิล
เอาไว้ปิดบังสัมภาระ เมื่อต้องจอดรถตามลานจอดในห้างสรรพสินค้า แผงที่ว่านี้ สามารถยกถอดออกได้
ง่ายดายมาก ดึงออกจากขอเกี่ยว ทั้ง 2 ฝั่ง และ ปลดสายเชือกที่แขวนเอาไว้ กับฝาประตูห้องเก็บของ
ด้านหลัง เท่านี้ก็เรียบร้อย เป็นเช่นนี้ เหมือนกัน ทุกรุ่น

เฉพาะในรุ่นท็อปที่ลงท้ายด้วยตัว L จะมี เซ็นเซอร์กะระยะถอยหลัง 4 จุด พร้อมระบบแจ้งเตือนดังปี๊บๆ บนหน้าปัดมาให้

ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง มีขนาด 241 ลิตร ตามมาตรฐาน VDA ของเยอรมัน พอจะใส่กระเป๋าเดินทาง
ขนาดใหญ่ได้สัก 2 ใบ และกระเป๋าใบเล็ก อีกสัก 1 ใบ ซึ่งก็ถือว่ามีพื้นที่ห้องเก็บของด้านหลัง พอกันกับ
คู่แข่งในพิกัด B-Segment Hatchback กันตามปกติ

 เพียงแต่ว่า กับอีแค่ พลาสติก แปะขอบล่างของช่องทางเข้าห้องเก็บของด้านหลังเนี่ย จะช่วยแปะมาให้
เพื่อไม่ให้ดูโล้น และกันการกระแทกกับสิ่งของ ไม่ให้สีตัวถังเป็นรอยขีดข่วนสักหน่อยเนี่ย มันถึงขั้น
จะทำให้ต้นทุน เพิ่มมากขึ้นอีกหลายโข เลยทีเดียวเชียวหรือ? และถ้ามันทำให้ต้นทุนสูงขึ้นเยอะเช่นนั้นจริง
ทำไม ใน TIIDA ถึงมีมาให้??

เมื่อยกพรมที่พื้นห้องเก็บของยกขึ้นดู จะเห็นยางอะไหล่ขนาดมาตรฐาน เท่ากับยางติดรถมาให้ไม่มีผิด
ถือเป็นเรื่องที่ดี สำหรับการใส่ยางอะไหล่ขนาดมาตรฐานมาให้ แทนที่จะใส่ยางหนังสติ๊ก อย่างที่ผู้ผลิต
รายอื่นๆ เริ่มทำกันบ้างแล้ว มีโฟมรีไซเคิล สำหรับเสียบและล็อกเครื่องมือประจำรถมาให้ แน่นหนา
พอประมาณ

และในรุ่น 1.2 E เกียร์ธรรมดา เมื่อยกพรมออกมา สภาพก็ไม่ต่างกันเลยแม้แต่น้อย ในหัวข้อนี้

เมื่อเปิดประตูฝั่งคนขับ จะพบเห็น คันโยกปรับระดับสูง-ต่ำของเบาะ มีมาให้ครบแทบทุกรุ่น
สวิชต์ปรับกระจกมองข้างไฟฟ้า มีมาให้ทุกรุ่น ยกเว้นรุ่น 1.2 S เหนือขั้นไป เป็น สวิชต์
ของชุดมาตรวัด Multi-Display และกระจกหน้าต่างไฟฟ้า ที่ประตูคนขับ

แผงหน้าปัด ออกแบบในแนวทาง DENSE LIVE และ UNIQUE เข่นกัน มีรูปทรงแบบ Twin Bubble

Yamane กล่าวว่า “เราพยายามจะ ควบรวมชิ้นส่วนต่างๆ ที่จำเป็น ในห้องโดยสารเข้าไว้ด้วยกัน ให้ได้
มากที่สุด เพื่อลดจำนวนจุดยึดและเชื่อมต่อต่างๆ ภายในรถ” นั่นจึงทำให้ ชิ้นส่วนของแผงหน้าปัด
ลดลง 18 เปอร์เซนต์ เมื่อเปรียบเทียบกับรถรุ่นเดิม หรือลดลงจาก 56 ชิ้น เหลือเพียง 28 ชิ้น เท่านั้น

ส่วนแผงหน้าปัดของรุ่น 1.2 E เกียร์ธรรมดานั้น จะมีความแตกต่างไปจากรุ่นท็อป 1.2 VL ไม่มากอย่างที่คิด 

ไฟส่องสว่างในห้องโดยสาร มีแปะเอาไว้แค่ตรงกลาง ระหว่างแผงบังแดด ทั้ง 2 ฝั่ง แค่นั้น
แต่มีสวิช์ 3 ขุด เป็นทั้งไฟอ่านแผนที่ และไฟส่องสว่างภายในรถไปในตัว และมันก็สว่าง พอใช้ได้
เลยทีเดียว กระจกมองหลัง ติดตั้งไว้บนกระจกบังลมหน้า มีก้านตัดแสงไฟหน้า จากรถคันหลังมาให้
ตามปกติเช่นที่รถทั่วไปควรจะมี

แผงบังแดดที่ให้มา มีกระจกแต่งหน้า พร้อมฝาพับ แค่ฝั่งคนขับเท่านั้น ชัดเจนว่า ถ้าใครจะมี
เพื่อนสาว ติดรถไปทำงาน หรือไปเที่ยวด้วยเป็นประจำ ควรหากระจกแต่งหน้าส่วนตัวพกใส่
กระเป๋าถือ ไปเอง เวลาที่จะต้องมานั่งโดยสารใน March รุ่นนี้ เป็นเหมือนกัน ทุกรุ่น ยกเว้น 1.2 S

เมื่อนั่งในตำแหน่งคนขับ จะสังเกตว่า รุ่น 1.2 VL นั้น ตกแต่งตามจุดต่างๆ ด้วย ลายอะลูมีเนียม
สีเงิน ทั้งบริเวณกรอบมาตรวัด พวงมาลัย ช่องแอร์ หัวเกียร์ โดย รุ่น 1.2 V และ 1.2 VL อันเป็นรุ่นท็อป
ติดตั้งถุงลมนิรภัยมา 2 ใบ คือ ฝั่งคนขับ และผู้โดยสารด้านหน้า พวงมาลัย ยกชุดมาจาก Nissan Cube
ทั้งดุ้น

แต่ถ้าเป็นรุ่น 1.2 S 1.2 E และ 1.2 EL จะสังเกตว่า ลายอะลูมีเนียมต่างๆ หายเกลี้ยง! หลงเหลือเอาไว้
แค่บนช่องแอร์เท่านั้น พวงมาลัย 3 ก้าน หน้าตาคล้ายกัน แต่รายละเอียดลูกเล่นบนพื้นผิวต่างกัน
กลับดูสปอร์ตกว่า ในรุ่น 1.2 VL เสียอย่างนั้น

ทุกรุ่นตั้งแต่รุ่นล่างสุด 1.2 S ยัน 1.2 EL จะมีถุงลมนิรภัยติดตั้งมาให้ฝั่งคนขับ 1 ใบ ทำให้ March 1.2 S
กลายเป็นรถญี่ปุ่น พร้อมถุงลมนิรภัยฝั่งคนขับ ที่มีราคาถูกที่สุด ในตลาด คือ 375,000 บาท เท่านั้น ส่วน
ใบปัดน้ำฝนและที่ฉีดน้ำด้านหลัง พร้อมสวิชต์หมุนเปิด-ปิด ติดตั้งอยู่ที่ก้านปัดน้ำฝันด้านหน้า 

ชุดมาตรวัด ใช้ตัวอักษรที่ Nissan เรียกว่า Open Font ซึ่งออกแบบขึ้นมา เพื่อช่วยมุ่งเน้น ให้ผู้ขับขี่
สามารถอ่านตัวเลขได้ จากการละสายตา สั้นๆ เพียงครั้งเดียว และในเวลาเสี้ยววินาที  ในเมืองไทย
Font ดังกล่าว ถูกนำมาใช้ครั้งแรก กับชุดมาตรวัดของ Teana J32 ใหม่ ที่เปิดตัวไปตั้งแต่ มีนาคม 2009
และนี่ถือเป็นเรื่องดี ที่ Nissan นำ Font แบบนี้ มาใช้กับชุดมาตรวัดของ รถเล็กๆ อย่าง March ด้วย
โทนแสงที่ใช้ ตัวเลข และแถบบอกระยะ เป็นสีขาว ส่วนหน้าจอต่างๆ จะเป็นสีส้มอำพัน

การจัดเรียงความสำคัญ เน้นไปที่มาตรวัดความเร็วก่อน ตามประสา รถยนต์ที่ทำออกมาเอาใจลูกค้า
กลุ่มใหญ่ ซึ่งงุนงงสงสัยว่า ความสนุกของการขับรถคืออะไร? ฉันรู้จักแต่ ต้องขับไม่เกิน 90
กิโลเมตร/ชั่วโมง จะได้ประหยัดน้ำมัน ตามการรณรงค์ ของรัฐบาลเก่าๆ ที่ไม่ได้เรื่องได้ราว
ไม่เข้าท่า มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว  มีไฟบอกตำแหน่งเกียร์ และมี Trip Meter ทั้ง A กับ B

จุดเด่นที่ ดูเหมือนจะมีเฉพาะรุ่น 1.2 VL ก็คือ จอ สีส้ม Multi Display  แสดงข้อมูลต่างๆ ตั้งแต่
ระยะทางที่แล่นไป อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ความเร็วจริงที่แล่นอยู่ แจ้งเตือนข้อมูลสถานของระบบ
ต่างๆ ภายในรถ เช่น เตือนให้เปลี่ยนยาง เปลี่ยนไส้กรองน้ำมันเครื่องได้แล้ว ฯลฯ รวมทั้ง สามารถ
ปรับตั้งให้รถ เตือนวันเกิดของเรา หรือ วันครบรอบอะไรตาม ได้เยอะ ถ้าวันครบรอบอะไรสักอย่าง
ตรงับวันเกิดเรา ระบบจะแจ้งเตือนวันเกิดก่อน แล้วจึงค่อยแจ้งเตือนวันสำคัญในภายหลัง หรือแม้แต่
แจ้งเตือนให้ คนขับ พักจอดรถสักเล็กน้อย เมื่อขับมาไกลเกินไป ใช่ปุ่ม 2 ปุ่ม เหนือ สวิตช์ พับกระจก
มองข้างไฟฟ้า ฝั่งขวามือของแผงหน้าปัด

ส่วนชุดมาตรวัด ของรุ่นอื่นๆ ทั้ง 1.2 E จะไม่มีจอ Multi-Display มาให้ แต่จะติดตั้ง
ชุดมาตรวัดแบบมาตรฐาน มีอุปกรณ์มาให้เท่าที่จำเป็น จอแสดงข้อมูลฝั่งขวาล่างนั้น มีทั้ง Odo Meter
วัดระยทางรถที่แล่นมาตั้งแต่ออกจากโรงงาน Trip Meter มีมาให้ครบทั้ง A และ B  มีมาตรวัดอัตราสิ้นเปลือง
เชื้อเพลิง มาให้ด้วย แถมมีนาฬิกามาให้ในตัว และเช่นกัน ไม่มีมาตรวัดอุณหภูมิความร้อนเครื่องยนต์แต่อย่างใด

และถ้าจะถามว่า แล้ว ชุดมาตรวัดของรุ่น 1.2 S ละ หน้าตาเป็นอย่างไร? ไม่ยากครับ แค่เอา Photoshop
ลบ มาตรวัดรอบ ในรูปนี้ออกไป ก็กลายเป็น ชุดมาตรวัดของรุ่น 1.2 S เรียบร้อยแล้ว!! เอาง่ายๆก็คือ
ร่น 1.2 S จะไม่มีมาตรวัดรอบมาให้ ซึ่งอันที่จริง ก็ควรจะติดตั้งให้ได้แล้ว แต่ เมื่อมองในอีกมุมหนึ่ง
ถ้าเช่นนั้น ผู้บริโภคก็จะไม่เห็นความแตกต่างระหว่างรุ่น 1.2 S และ 1.2 E มากนัก จนยอมจ่ายเพิ่มขึ้น
เพื่อซื้อรุ่น 1.2 E เกียร์ธรรมดา ไปเลย หนะสิ

เขาเล่นกันประมาณนี้แหละครับ คุณผู้อ่าน

มองมาที่แผงควบคุมกลาง จะเห็นคอนโซลออกแบบมาในสไตล์ คล้าย นกฮูก  จัดเรียงอุปกรณ์ต่างๆไว้
ตามลำดับความสำคัญในการใช้งาน ชัดเจน ทุกปุ่ม ออกแบบให้ คลำหาตอนขับรถ ได้สะดวก

ทุกรุ่น ยกเว้น 1.2 S รุ่นถูกสุด ติดตั้ง ชุดเครื่องเสียงแบบ Built-in มีวิทยุ AM/FM เล่นแผ่น CD / MP3 / WMA
ได้ครั้งละ 1 แผ่น พร้อมช่องเสียบต่อ AUX สำหรับเครื่องเล่น iPod หรือ เครื่องเล่น MP3 ทุกรุ่นให้ลำโพงมา 4 ชิ้น
เท่ากัน ภาครับวิทยุ ก็ยังคงมีลักษณะคล้าย TIIDA และ TEANA คือ ถ้าสัญญาณรับวิทยุ ไม่ชัดเจน ระบบจะตัด
คลื่นแทรกต่างๆออก จนเหลือแต่เสียงจริงๆ ซึ่งอาจทำให้ เสียงในการรับฟังวิทยุ ออกแนวอู้อี้บ้าง ไม่ใสกังวาล
ยามอับคลืน แต่ ในภาค CD นั้น ถือว่า เป็นวิทยุ ติดรถ ที่พอใช้ได้ Not Bad แต่ก็ไม่ถึงกับ Not good

เครื่องปรับอากาศ ในรุ่น 1.2 VL เป็นเพียงรุ่นเดียว ที่มีแผงควบคุมแบบกดปุ่ม พร้อมหน้าจอ Digital มาให้
ซึ่งอันที่จริง ก็ยกชุดมาจาก Nissan Cube รุ่นล่าสุดเลยนั่นแหละ เพียงแต่ เวอร์ชันไทย จะไม่มีระบบฟอกอากาศ
Plusma Cluster อย่างในเวอร์ชันญี่ปุ่น เท่านั้นเอง ที่เหลือ การใช้งานต่างๆ เหมือนกันหมด ทำให้เราได้เห็นว่า
อันที่จริงแล้ว สวิชต์แอร์แบบนี้ ถ้าบริหารจัดการกันดีๆ ต้นทุน มันก็ไม่ได้แพงอย่างที่หลายๆคนเคยคิดกันเลย

ส่วนรุ่นอื่นๆ ที่เหลือ ทุกรุ่น จะมีสวิชต์แอร์ แบบ มือบิด และมือหมุน 3 วงกลม เรียงมาให้ ในตำแหน่งที่ชวนให้นึกถึง
ด่านเจดีย์สามองค์ ชะมัดยาด ข้อดีก็คือ ใช้งานง่าย คลำหาง่ายในยามค่ำคืน และแน่นอน ทุกรุ่น มีสวิชต์ A/C หรือ
เปิด-ปิด คอมเพรสเซอร์แอร์ มาให้ ข้อนี้ ตาแพน Commander CHENG ของเรา แอบเซ็งพอสมควรว่า ทำไม
รถอย่าง March ถึงมีปุ่ม A/C On-Off มาให้ แต่ TIIDA ของเขา กลับไม่มี!!??

ใครก็ได้ที่ Nissan ช่วยตอบให้เจ้าตัว เขาหายขุ่นข้องแค้นเคืองที่เถอะ!!

ถัดลงไป เป็นช่องวางแก้วน้ำ วางขวดน้ำขนาด 8 บาท ได้ 2 ตำแหน่ง และช่องวาง กระเป๋าสตางค์ โทรศัพท์มือถือ
ที่ใส่นามบัตร ฯลฯ จุกจิก ได้อีกนิดหน่อย ด้านข้าง ฝั่งซ้าย ของที่วางของเหล่านี้ จะพบ ช่องเสียบอุปกรณ์ไฟฟ้า
จ่ายไฟสำรอง 12 V ซึ่งก็ย้ายไปติดตั้งซะไกลเลยทีเดียว แต่ในชีวิตจริง เราก็ไม่ค่อยได้ใช้ปลั๊กวงกลมตัวนี้เท่าใดนัก
ยกเว้นแต่ว่า จะเสียบชาร์จโทรศัพท์มือถือในรถ ซึ่งจะว่าไป ก็ออกแบบมาให้อยู่ในตำแหน่งที่ดี เพราะไม่รบกวน
การขับขี่แต่อย่างใด

ลิ้นชักเก็บของฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย มีขนาดพอให้เก็บเอกสารประจำรถ ทั้งคู่มือผู้ใช้รถ
สมุดรับประกัน สมุดทะเบียนรถ กรมธรรม์ประกันภัย แต่เกินจากนี้ ไม่น่าจะใส่เพิ่มได้มากนัก
มีช่องวางของเล็กๆ ถัดขึ้นมา ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจะใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง เหมือนกับ Mazda 2
แต่ก็ยังดีที่ทำมาเผื่อเอาไว้ให้

ที่น่าสงสัยคือ แล้วแผงพลาสติก ขนาดใหญ่ด้านหน้าเนี่ย ทำไมไม่ทำให้สามารถเปิดเป็น
ช่องเก็บของ ไปเลยได้ละ ถ้าในเมื่อ ถุงลมนิรภัยฝั่งผู้โดยสาร ติดตั้งไว้ในตำแหน่งที่ลึก
กว่านั้นอยู่แล้ว น่าจะทำเป็นช่องเก็บของพร้อมฝาปิด เอาใจคุณสุภาพสตรี ได้อีก ณ จุดนี้

ทีเวอร์ชันญี่ปุ่น จะมีมาให้ แต่เวอร์ชันไทยกลับปิดตายทิ้งไว้ให้งุนงงเล่นเสียอย่างนั้นแหละ

มองถัดลงมา จากแผงควบคุมกลาง และคันเกียร์ ทุกรุ่น ตั้งแต่รุ่นถูกสุด ยันรุ่นแพงสุด
จะมีถาดวางของ พร้อมช่องวางแก้วน้ำ ซึ่งวาง ขวดน้ำ 8 บาท ได้ 1 ขวด รวมทั้งวาง CD 2 กล่อง
ติดตั้งมาให้ข้างๆเบรกมือ เสียดายเหมือนกันที่ไม่มี กล่องเก็บของพร้อมที่วางแขนสำหรับผู้ขับขี่มาให้ในรุ่นท็อป

CD ที่คุณเห็น ไม่ได้เป็นแค่ พร็อพ ประกอบฉาก หากแต่มันคือ CD รวมเพลงประกอบโฆษณาของ Nissan March
ที่ฉายในประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ 1985 ชื่ออัลบั้มว่า SOUND Of  MARCH : Nissan March Historical Compilation CD
ซึ่ง Nissan Motor ประเทศญี่ปุ่น จับมือกับ Columbia Music ในเครือของ Sony Music Japan ทำขายเอง มีเพลงโฆษณา
หลายเวอร์ชัน มีทั้ง จิงเกิลแปลกๆ ที่ฟังแล้วชวนขำแบบเฝื่อนๆ แนวละครสัตว์ ไปจนถึง เพลง Just can’t get enough
ของ NINA MADHOO รวม 4 เวอร์ชัน ออกวางขายครั้งแรกเมื่อ 6 สิงหาคม 2008 และทุกวันนี้ ก็ยังมีขายอยู่ ในร้าน CD
หลายๆแห่งบนเกาะญี่ป่น

หลังๆมานี้ Nissan รวบรวมเพลงโฆษณา ในอดีต ออกขายบ่อยขึ้น จากอัลบั้ม SHIFT เป็น SHIFT II แล้วก็ SHIFT III
(ให้ค่าย DefStar ในเครือ Sony Music Japan ทำขาย สังกัดเดียวกับนักร้องดัง Ken Hirai นั่นละ) ไม่เว้นแม้แต่ CD รวม
เพลงโฆษณา ของ Nissan Skyline ฉลองครบ 50 ปีของ รถรุ่นนี้ อีกด้วย (ให้ค่าย Warner Japan จัดจำหน่าย) ถ้าสนใจ
จะลองสั่งซื้อผ่านทางอินเตอร์เน็ตมาฟัง ก็ลองคลิกเข้าไปที่นี่

http://www.amazon.co.jp/NISSAN-%E3%80%8CSOUND-MARCH~-HISTORICAL-COMPILATION%E3%80%8D/dp/B001BYN9VQ
http://www.cdjapan.co.jp/detailview.html?KEY=COCP-35114

ส่วนแผ่นนี้ ผมไปตระเวณหาซื้อ ตอนไป ญี่ปุ่นงวดล่าสุด ไปเจอที่ ร้าน CD ในห้าง Takeshimaya ที่ สถานีรถไฟ Nagoya

ตั้งใจเอาไว้เลยว่า จะเอามาใช้ฟังตอนทำรีวิว March ไปด้วยนั่่นละ! แล้วก็เอามาประกอบฉากด้วยเลยในคราวเดียวกัน

ทัศนวิสัยด้านหน้า ดูไม่มีปัญหาอะไร พอจะมองเห็นฝากระโปรงหน้าอยู่บ้างนิดนึง ซึ่งก็พอจะช่วยลดความหวาดหวั่น
ของหลายๆคน ที่คุ้นเคยกับการขับรถสมัยก่อน ซึ่งมักจะมองเห็นฝากระโปรงหน้าอยู่บ้าง การมองเห็นโปร่งตา

หันมามองทางฝั่งขวามือ แม้ว่าความสูงของกระจกมองข้าง จะอยู่ในระดับเหมาะสมแล้ว แต่อยากได้ความกว้าง
เพิ่มขึ้นกว่านี้อีกสักนิด จะพอช่วยให้ การเห็นมุมอับบางมุม บางรูปแบบ ได้มากขึ้น เสาหลังคาคู่หน้า พอจะมี
การบดบัง อยู่บ้าง เวลาเข้าโค้งขวามือ ในรูปแบบถนนสวนกัน สองเลน แต่ยังถือว่าดีกว่า Honda City และคู่แข่ง
คันอื่นๆในพิกัดเดียวกัน จะมีก็แต่ Suzuki Swift เท่านั้น ที่ทำได้ดีกว่า ในประเด็นนี้

ส่วนเสาหลังคาด้านหน้า A-Pillar ฝั่งซ้ายมือ แทบไม่มีการบดบังอะไรเท่าใดเลย ต่อให้เลี้ยวกลับรถ การมองเห็น
ก็ยังถือว่าโปร่งตา อยู่ดี กระจกมองข้าง ฝั่งซ้าย น่าแปลกใว่า พอมองมุมนี้แล้ว ดูเหมือนขนาดกระจกมองข้าง
จะอยู่ในระดับกำลังดี ทั้งที่พออยู่ใกล้ตัวแล้ว กลับมองเห็นด้านนอกอันห่างไกลตัวรถน้อยไปหน่อย

ส่วนทัศนวิสัยด้านหลัง ที่ดูโปร่งตานั้น มี 2 สาเหตุ ทั้ง การออกแบบกระจกหน้าต่าง ของบานประตูคู่หลัง
ให้กว้าง และใหญ่โต จนดูโปร่งตา ลดความกังวลของผู้ขับขี่สตรีลงไปได้เยอะอยู่ อีกประเด็นคือ การทำ
นพักศีรษะเบาะหลัง ให้เตี้ยเอาไว้ ซึ่งกลับกลายเป็นว่า รถหนะโปร่งตา แต่คนนั่งหลัง นังไม่สบาย ซึ่งถ้าหาก
ต้องเอาเพื่อนมานั่งด้านหลังรถแล้ว การถอยหลัง ก็จะเหมือนรถยนต์ Hatchback คันอื่นๆ คือ หัวเพื่อนจะบดบัง
มุมมองด้านหลังเต็มๆ

แต่จะแคร์ทำไมละ? ก็ให้เพื่อนตัวดีนั่นแหละ ช่วยหันไปดูท้ายรถให้คุณตอนถอยหลังเข้าจอดด้วยเลยสิ!

********** รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

แม้จะเป็นรถคันเล็กๆ แต่ Nissan ต้องคิดใหม่ทำใหม่ ในหลายๆเรื่อง เพื่อหาทางพัฒนารถคันนี้
ให้ลงตัวกับทั้งความต้องการของลูกค้า ต้นทุนในการผลิต การจัดเตรียมชิ้นส่วน ไปจนถึงการทำราคา
ขายปลีกต่อคัน ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะตลอดการพัฒนารถใหม่ขึ้นมา 1 รุ่น อย่างที่ทราบกันดีว่า
มันเต็มไปด้วยความยากลำบากเหนือจินตนาการ ของสารพัดข้อขัดแย้งกัน ในหลากหลายประเด็น

แต่ บรรดาวิศวกรของ Nissan เลือกที่จะนำเอา ความขัดแย้งทั้งหมด ในแต่ละประเด็นมาอยู่รวมกัน
และปรับปรุงจนเกิดความสมดุลย์ ซึ่งกันและกัน ด้วยตัวของมันเอง นี่เป็นวิธีคิดที่ต้องถามกันเลยว่า
“คิดได้ยังไงเนี่ย?”

นี่เขาคิดกันแบบ “หยิน และ หยาง” เลยนะ!!!

ถ้าเป็นภาษาไทย คำเดียวที่คิดว่า เหมาะสมสุดๆในการอธิบายเรื่องนี้ก็คือ ทีมวิศวกร Nissan
พยายาม จัดการกับชิ้นส่วนต่างๆมากมายของรถคันนี้ ให้อยู่ร่วมกันได้แบบ “สมานฉันท์”!!!

สิ่งที่ถือได้ว่าเป็นจุดเด่น ด้านเทคโนโลยี ของ March รุ่น K13 นี้ ก็คือ การที่ วิศวกร Nissan ตัดสินใจ
กำหนดให้รถรุ่นนี้ ติดตั้งเครื่องยนต์แบบ 3 สูบ โดยให้เหตุผลว่า ในเมื่อจะต้องทำรถออกมาให้ผ่าน
มาตรฐานด้านอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ตามข้อกำหนดของ UNECE (สหประชาชาติ) ที่รัฐบาลไทย
นำมาใช้เป็นข้อกำหนดพื้นฐาน ของรถที่จะเข้าร่วมโครงการ ECO Car ก็จะต้องทำรถให้มีน้ำหนักเบาที่สุด
เท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ต้องมีพละกำลังที่เพียงพอ แข็งแรง และทนทานต่อการใช้งานในชีวิตประจำวัน
อีกทั้งต้องบำรุงรักษาง่าย สะดวก แถมยังต้องใช้ชิ้นส่วนร่วมกับรถรุ่นอื่นๆให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะลดต้นทุน
ในการผลิต และการพัฒนาลง ให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ดังนั้น หากสามารถพัฒนาเครื่องยนต์ ให้มีกระบอกสูบเพียง 3 สูบ แต่ เดินเรียบ มีพละกำลังเทียบเท่ากับ
เครื่องยนต์ 4 สูบ ในยุคก่อนๆ ละ? จะช่วยให้รถเบาขึ้น และประหยัดน้ำมันขึ้นด้วย นั่นละครับ คือที่มา
ของการติดตั้งเครื่องยนต์ 3 สูบ กับ Nissan March

Tsuyoshi Michishita ; Chief Powertrain Engineer, Gasoline Engine development 
เล่าว่า “ในตอนแรก ทีมวิศวกรของเรา ตัดสินใจกันว่า จะใช้เครื่องยนต์ 3 สูบ หรือ 4 สูบ เราอยากจะสร้าง
เครื่องยนต์ ที่ให้ความสนุกต่อการขับขี่ในเมืองแต่เมื่อ ต้องคิดคำนึงถึงประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เราจึง
ตัดสินใจเลือกใช้ เครื่องยนต์ 3 สูบ 1.2 ลิตร ซึ่งจะผสมผสานคุณประโยชน์ทั้งในด้านอัตราสิ้นเปลือง
เชื้อเพลิงที่ต่ำกว่า ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ปล่อยออกสู่ผิวโลก น้อยกว่า แต่ยังให้สมรรถนะที่ดี
เพียงพอต่อความต้องการ ได้อย่างลงตัวที่สุด”

Tsuyoshi Kobayashi ; Chief Vehicle Engineer ของโครงการ March เล่าว่า “เป้าหมายของเรา
คือการสร้างเครื่องยนต์ขนาดเล็ก 3 สูบ 1.2 ลิตร ที่เพียบพร้อมไปด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้สมรรถนะที่ดีเยี่ยม
ประหยัดน้ำมัน และมลพิษต่ำ เราได้รับฟังความคิดเห็นดีๆ มากกว่า 100 ไอเดีย จากทีมวิศวกรของเรา และ
เราก็นำมาใช้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เราพยายามลดแรงเสียดาน ในชิ้นส่วนต่างๆ เท่าที่เป็นไปได้
เพื่อช่วยให้ประหยัดน้ำมัน ยิ่งขึ้น”

เครื่องยนต์ ที่ติดตั้งใน March รุ่นใหม่ เวอร์ชันไทย นั้น จะมีเพียงแบบเดียว รหัสรุ่นที่ คน Nissan
จะเรียกนั้น คือ HR12DE แต่อีกรหัสรุ่นหนึ่ง ที่พวกเขาจะคุ้นเคยไม่แพ้กันคือ รหัส XH5 ซึ่งเป็นรหัส
เครื่องยนต์ของ ฝั่ง Renault

เป็นเครื่องยนต์ บล็อก 3 สูบ DOHC 12 วาล์ว 1,198 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 78.0 x 83.6 มิลลิเมตร
อัตราส่วนกำลังอัด 10.2 : 1 หัวฉีด Multi-Point ควบคุมด้วยกล่องอีเล็กโทรนิคส์ ECCS 32 Bit
ระบบขับวาล์ว ใช้โซ่ตอนเดียวแบบใหม่ เรียงลำดับการจุดระเบิด 1 – 2 – 3 แถมยังมีระบบแปรผันวาล์ว
CVTC (Vontinuously Valve-Timing Control) มาให้อีกด้วย

เหตุที่ต้องถือว่าเครื่องยนต์บล็อกนี้ อยู่ในตระกูล HR อันเป็นตระกูลเครื่องเล็ก ใจใหญ่ ของ Nissan
ก็เพราะว่า หากมานั่งผ่าพิสูจน์กันแล้ว HR12DE ใน March ก็คือ การนำเอา เครื่องยนต์ HR15DE
หรือ HR16DE ใน TIIDA ทั้งในตลาดโลกและเมืองไทย มาหั่นกระบอกสูบทิ้งไปเลย 1 สูบ !!
(เฉลี่ยเล่นๆแล้ว สูบละ 400 ซีซี โดยประมาณ)

แต่ ถ้ามันง่ายเพียงเท่านั้น มันก็คงจะดี โลกของความจริงมันไม่ง่ายแบบนั้น เพราะการตัดกระบอกสูบออกไปเลย
1 สูบ นั้น ถ้าไม่ดัดแปลงปรับปรุงอะไรเลย เครื่องยนต์ ก็จะขาดความสมดุลย์ ในขณะทำงานไปเยอะ ก็เลยต้องมี
การปรับปรุง ไส้ใน กันในหลายส่วน ด้วยเป้าหมายที่จะต้อง ลดแรงเสียดทาน ขณะทำงาน เพื่อให้เครื่องยนต์
เดินเรียบขึ้น นิ่งขึ้น พอกันกับเครื่องยนต์ 4 สูบให้ได้

มีทั้งการเปลี่ยนชุดเพลาข้อเหวี่ยงใหม่ จากเดิมในแบบตั้งตรง มาเป็นแบบ เยื้องศูนย์กลาง เพื่อช่วยลดการเสียดสี
บริเวณชายล่างของลูกสูบกับผนังกระบอกสูบ จากแรงตบข้าง (Thurst force) ในตำแหน่งใกล้จุดศูนย์ตายบน
โดย ก้านสูบเป็นแบบโลหะชิ้นเดียว แต่ผ่าครึ่ง บริเวณ วงกลมท่อนล่าง ที่จะต้องยึดอยู่กับ เพลาข้อเหวี่ยง
เป็น 2 ส่วน มาประกบเข้าด้วยกัน ใส่ตัวถ่วงสมดุล Outer Balancer เพื่อให้เครื่องยนต์ เดินได้นิ่งที่สุดเท่าที่
จะทำได้ บริเวณ พูเลย์ และ Flywheel

ติดตั้ง Knock Sensor ไว้ในตำแหน่งด้านบนของเสื้อสูบ ปรับองศาการจุดระเบิดใหม่ โปรแกรมกล่อง ECU
ข้นใหม่ รวมทั้ง ปรับปรุง Air Flow Meter ไปจนถึง ระบบควบคุมปริมาณการไหลย้อนกลับของไอเสีย
EGR (Exhaust Gas Recirculation)  มีการขัดเจียรผิวชิ้นส่วนของเพลาลูกเบี้ยวและเพลาข้อเหวี่ยงให้มีผิวเรียบ
เพื่อหวังช่วยลดแรงเสียดทานบนพื้นผิวชิ้นส่วนต่าง

อีกทั้งยัง มีการออกแบบรายละเอียดปลีกย่อยหลายอย่าง เพื่อลดความดังของเสียง ทั้งในช่วงที่เครื่องยนต์ ดูดอากาศ
เข้าไปผสมกับ เชื้อเพลิง เป็นไอดี เสียงจากการทำงานของ โซ่ไทม์มิง (ออกแบบให้หน้าสัมผัสของ โซ่ กับ
เฟืองเพลาลูกเบี้ยว มีหน้าสัมผัสน้อยลง) ใช้หม้อพักท่อไอเสีย ขนาดเล็กลงจากรถรุ่นเดิม ฯลฯ อีกหลายประการ

ทั้งหมดนี้ ทำให้ Nissan กล้าเคลมว่า ถือเป็นเครื่องยนต์ 3 สูบ แบบแรก ของตน ซึ่งให้กำลัง และการทำงาน
ที่พอกันกับเครื่องยนต์ 4 สูบ ขนาด 1.4 ลิตร เลยทีเดียว

พละกำลังของเครื่องยนต์ บล็อกนี้ ตัวเลขสุดท้ายที่มีการสรุป และปล่อยออกสู่สาธารณชน
ตัวเลขอยู่ที่ 79 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 10.8 กก.-ม.ที่ 4,400 รอบ/นาที
ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดกออกไซด์ ออกมาในระดับต่ำ ประมาณ 120 กรัม/ ระยะทาง 1 กิโลเมตร

ใครที่กังวลเรื่องปริมาณ และราคา ของอะไหล่ งานนี้ Nissan เขาบอกว่า หมดห่วงไปได้เลย
เพราะในเมื่อ ถือเป็นเครื่องยนต์ของ TIIDA 1.6 ลิตร แต่หั่นออกไปเลย 1 สูบ เหลือ 3 สูบ ดังนั้น
อะไหล่ ข้าวของต่างๆ จึงใช้ทดแทน และรวมกัน กับเครื่องยนต์ ของ TIIDA 1.6 ลิตร ได้ค่อนข้างเยอะ
อีกทั้งอะไหล่ของรถทั้งคัน ผลิตในประเทศไทย ปาเข้าไปมากถึง 90% ของทั้งเครื่องยนต์ ดังนั้น
ราคาอะไหล่ ก็เลยจะถูกลงกว่ารถยนต์ ระดับ B-Segment 1.5 ลิตรทั่วไป ตั้งแต่ 16-40% แถมยัง
สั่งซื้อได้เร็วกว่า รับประกันเฉพาะอะไหล่ที่เปลี่ยนไปหมาดๆ 1 ปี หรือ 20,000 กิโลเมตร
แล้วแต่กรณีใดถึงก่อน

แถมค่าบำรุงรักษาก็ยังถูกอีก เพราะใช้น้ำมันเครื่องแค่ 3 ลิตร ไส้กรองอากาศ ก็ราคาถูก
ไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิง Nissan เคลมว่าเป็นแบบ Free Maintenance (อันที่จริง ยังไงๆ
ก็ควรจะเปลี่ยนเมื่อถึงอายุการใช้งานของมันอยู่ดี)

เครื่องยนต์ 3 สูบ นี้จะส่งกำลังไปยังล้อคู่หน้า ด้วย เกียร์ธรรมดา
รุ่น RS5F91R ผลิตจากญี่ปุ่น เกียร์ลูกนี้ มีอัตราทดเกียร์ ดังนี้

เกียร์ 1                3.727
เกียร์ 2                2.048
เกียร์ 3                1.393
เกียร์ 4                1.029
เกียร์ 5                0.821
เกียร์ R                3.546
อัตราทดเฟืองท้าย   4.067

ส่วนรุ่นเกียร์อัตโนมัติ นั้น Nissan เลือกที่จะพัฒนาเกียร์อัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน CVT ลูกใหม่ขึ้นมา
แล้วให้ทาง JATCO เป็น ซัพพลายเออร์ ทำหน้าที่ผลิตให้ เป็นเกียร์รุ่น RE0F11A ถือเป็นเกียร์ CVT
ลูกแรกในโลก ที่มีการติดตั้ง Sub Planetary Gear มาให้ ในพูเลย์ขับเคลื่อน

เหตุผลที่ต้องติดตั้ง Sub Planetary Gear เข้าไป ก็เพราะว่า ทีมวิศวกร อยากจะเพิ่มกำลัง หรือแรงบิด
ในช่วงรอบต่ำๆ นั่นเอง การทำแบบนั้น ปกติแล้ว วิธีที่ง่ายสุดก็คือ ใช้พูเลย์ ขนาดใหญ่ขึ้น แต่ว่า
ในเมื่อตัวรถ มีข้อจำกัดในการวางตำแหน่งของเครื่องยนต์และเกียร์ เพราะเป็นรถขนาดเล็ก ก็เลยต้องเอา
ชุด Sub Planetary Gear (ประกอบไปด้วย เฟืองจักรวาล 3 เฟือง Sun Gear ติดตั้งรวมกันอยู่ใน Internal Gear)
โปะเข้าไปในพูเลย์ อีกชั้นหนึ่ง

ดังนั้น มันคล้ายกับ เป็นเฟืองที่จะช่วยให้ เกิดบุคลิก เกียร์ต่ำ เกียร์สูง ขึ้นมา ในเกียร์ CVT ลูกเดียวกัน
(คนของ Nissan อธิบายว่า ความแตกต่างในการทำงาน มันคล้ายๆกับ เกียร์ 4H และ 4L ในรถขับเคลื่อน 4 ล้อ
เพียงแต่ แรงดึงที่เกิดขึ้น จะอยู่ระหว่าง 2 เกียร์ นี้)

อธิบายการทำงานคร่าวๆ แล้วกันนะครับ Sub Planetary Gear ของ CVT ลูกนี้ ทำงานเป็นเหมือน
วงจร ความเร็วต่ำ และวงจรความเร็วสูง ในช่วงออกรถ Sub Planetary Gear ก็จะหมุนในโหมด
ความเร็วต่ำ เพื่อดึงแรงบิดของเครื่องยนต์ออกมาใช้งานให้มากที่สุด ช่วยเพิ่มกำลังขับเคลื่อน
ก่อนจะส่งไปยังล้อขับเคลื่อน แต่พอ พ้นจากความเร็วช่วง 40 – 50 กิโลเมตร/ชั่วโมงไปแล้ว
ก็จะทำงานในโหมดความเร็วสูง ลดการทำงานลง เพื่อให้ขับขี่สบายขึ้น

จากภาพข้างล่างนี้ จินตนาการกันเลยนะครับ เส้นสีเหลือง มีหัวลูกศร คือพละกำลัง จากเครื่องยนต์
แรงบด จากเครื่องยนต์ ในรถที่ใช้เกียร์ CVT ปกติแล้ว จะต้องส่งผ่านมายังพูเลย์ของชุดเกียร์ CVT
แล้วก็ผ่านออกสู่ล้อรถ ไป

แต่ใน March มีการเพิ่ม Sub Planetary Gear เข้ามา จะเห็นว่า กำลังเครื่องยนต์ เมื่อมาถึง
Sub Planetary Gear  หากคุณใช้ความเร็วรถ ไม่สูงนัก กำลังเครื่องยนต์ จะลัดเข้าไปยัง
ชุดตัดต่อกำลังในความเร็วส่ำ ก่อนจะยิงออกล้อรถ

แต่ ถ้าใช้ความเร็วเกิน 40-50 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป ระบบจะสั่ง ตัดพละกำลัง ให้ส่งตรง
มายัง ชุดตัดต่อกำลังในความเร็วสูง ก่อนจะยิงออกสู่ล้อขับเคลื่อนไป หลักการทำงาน มีเท่านี้เลยจริงๆ!

เรามาดูอัตราทดเกียร์กันดีกว่า ว่า  โรงงานเขาเซ็ตมาอยู่ที่ ค่าเท่าไหร่บ้าง

อัตราทดเกียร์ ขับเคลื่อน หรือเกียร์ D อยู่ที่    4.006 – 0.550
เกียร์ R  หรือเกียร์ถอยหลัง อยู่ที่                3.546
อัตราทดเฟืองท้าย                                 4.067

เห็นตัวเลขนี้แล้ว อาจจะงง ก็ไหน Nissan โฆณาเอาไว้ว่า อัตราทดเกียร์
มันกว้างถึง 7.3 :1 ไง แล้วทำไมเกียร์ สูงสุด ถึงอยู่ที่ 4.005?

เอ๋า ก็ถูกแล้วนี่ครับ เพียงแต่ ยังไม่จบแค่นั้นต่างหาก นอกจากอัตราทดเกียร์ที่เราเห็น
กันตามตารางสเป็กรถแล้ว ยังมีอีก 1 อย่าง ที่เราควรรู้จักเอาไว้ ก็คือ “ความกว้างของอัตราทดเกียร์”
หรือ “Ratio Coverage”

การคิดคำนวน หาความกว้าง ของอัตราทดเกียร์ ไม่ซับซ้อนอะไรเลย แค่เอา อัตราทดของเกียร์แรก
ที่ใช้ในการออกรถ (มักเป็นเกียร์ 1 นั่นแหละ) มาหารด้วย อัตราทดของเกียร์สุดท้าย (ซึ่งมักเป็น
เกียร์ 5 6 7 หรือ 8 ในรถบางคันนั่นละ) เพียงแค่นี้ เราก็จะได้ ความกว้าง ของอัตราทดเกียร์
มานั่งดูเล่น ประโยชน์ของอัตราทดเกียร์ที่กว้าง ก็คือ จะทำให้เกิดความละเอียด หรือแม่นยำ
ในการขับขี่ การเปลี่ยนเกียร์ นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การใช้งานเกียร์ CVT ราบรื่น และไม่มีปัญหา Nissan เขาฝากแนะนำมาว่า
พยายามอย่าออกตัว ด้วยการกระทืบคันเร่ง ป้าก เข้าไป อย่างที่ผมต้องทำตอนจับอัตราเร่ง เพราะว่า
เกียร์ CVT ชอบการออกตัวที่นุ่มนวลไว้ก่อน ที่เหลือหลังจากนั้น อยากจะเร่ง อยากจะซัด ก็ค่อยว่ากัน
หรือไม่เช่นนั้น ใช่ปุ่ม Sport Mode ที่คันเกียร์ ซึ่งมีมาให้ใน March ใหม่นี้ด้วย ช่วยในการเล่นเกียร์
จะดีกว่า

ก็เหมือนอย่างที่ผมเคยบอกเรื่อยๆละครับว่า เกียร์ CVT เหมาะกับสภาพการจราจรของเมืองไทย
แต่ไม่เหมาะกับ “สันดานการขับรถของคนไทยทั่วไปโดยส่วนใหญ่เลย” 

และเฉพาะรุ่นเกียร์อัตโนมัติ XTRONIC CVT ทุกรุ่น จะติดตั้ง ระบบ Idle Stop มาให้จากโรงงาน
ถือเป็น “ครั้งแรกในรถยนต์ เครื่องยนต์เบนซินล้วนๆ ของเมืองไทย ที่มีระบบนี้มาให้”
(แต่ รายแรกจริงๆ ก็คงต้องเป็น Toyota Camry HYBRID เพียงแต่ว่า รุ่นนั้นเขาเป็นระบบเครื่องยนต์
บวกกับมอเตอร์ไฟฟ้า แต่ในกรณีของ March ถือเป็นรายแรกจริงๆ ที่นำระบบนี้ มาใช้กับเครื่องยนต์
สันดาปปกติ ในบ้านเรา)

ระบบนี้ เรียกง่ายๆ คือ ระบบดับเครื่องยนต์เอง เมื่อรถติดไฟแดง และจะติดเครื่องยนต์ให้เอง เมื่อ
ต้องการออกรถ ไปข้างหน้า ระบบนี้ ถูกออกแบบมาเพื่อ ลดการสิ้นเปลืองน้ำมันไปโดยเปล่าประโยชน์
ขณะจอดติดอยู่ท่ามกลางสภาพการจราจรที่ติดขัด และไม่สามารถเคลื่อนตัวไปได้เท่าใดนัก

หลักการทำงาน ยิ่งง่ายเข้าไปใหญ่ ไม่มีอะไรมากมายนัก กล่าวคือ ถ้าขับรถมาจอดที่สี่แยกไฟแดง
เหยียบเบรกแช่เอาไว้  ประมาณ 1 วินาที เครื่องยนต์ ก็จะดับลงเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าถอนเท้าเมื่อไหร่
เครื่องยนต์จะติดขึ้นมาทำงานใหม่เอง ภายใน 0.8 – 0.9 วินาที เพื่อให้คุณ เหยียบคันเร่ง ออกรถต่อไป
ไม่ว่าจะเข้าเกียร์ D หรือ แม้แต่เกียร์ N ตอนจอดติดไฟแดง เครื่องยนต์จะดับเอง ทั้งคู่

คนขับจะรู้ว่าระบบนี้ ทำงาน ก็ต่อเมื่อ เครื่องยนต์ดับลง และมีไฟสัญญาณของระบบสีเขียวๆ ติดสว่าง
ขึ้นมา บนฝั่งซ้ายของชุดมาตรวัดอย่างที่เห็น และถ้าเป็นรุ่น 1.2 EL กับ 1.2 VL ลองกดเข้าไปดูใน
Multi Display ในหน้าจอ Idle Stop จะเห็นว่ามีการนับระยะเวลา ที่ระบบนี้ ทำงาน และปริมาณน้ำมัน
ที่ประหยัดไปได้

ฟังดูเหมือนกับว่า น่าจะช่วยลดความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงลงไปได้เยอะมาก
แต่…ในความจริงแล้ว วิศวกร Nissan ระบุว่า ข้อจำกัดในการทำงานของระบบนี้
ใน March เวอร์ชันไทย มีมากมายก่ายกอง รวมแล้ว มากถึง 8 ข้อ ดังต่อไปนี้

1. ระบบ Idle Stop จะไม่ทำงาน เมื่อเปิดสวิทช์ A/C on. (เปิดแอร์)
2. และจะไม่ทำงาน เมื่อจอดรถบนพื้นผิวถนนมีความลาดเอียง > 3% (หรือประมาณ 1.7 องศา)
3. รวมทั้งจะไม่ทำงานเมื่อ อุณหภูมิของน้ำหล่อเย็นไม่อยู่ในช่วงอุณหภูมิ 45-110 องศาเซลเซียส
4. หรือว่า น้ำมันเกียร์ไม่อยู่ในช่วงอุณหภูมิ  35-110 องศาเซลเซียส
5. ไปจนถึงปัญหา ไฟในแบตเตอรี่ตก ก็ต้องชาร์จใหม่ นั่นทำให้ระบบนี้จะไม่ทำงาน
6. เมื่อเปิดสวิทช์ไล่ฝ้า ที่กระจกบังลมหลัง มันก็ไม่ทำงาน
7. ต้องขับรถด้วยความเร็วเกินกว่า 20 กม./ชม. หลังจากนั้นความเร็วของรถยนต์
    ต้องวิ่งแล้วไม่ต่ำกว่า 8 กม./ชม. (เฮ่ยยย เพื่อ????)
8. ระบบจะไม่ทำงาน หากเปิดกระโปรงหน้ารถ ทิ้งไว้ (แหงเสะ ไม่งั้นเวลาจะซ่อมรถ ทำไงละ?)
9. อุณหภูมิของน้ำกลั่นในแบตเตอรี่ไม่ต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส (ฝันไปเถอะ เมืองไทย)
10. อุณหภูมิอากาศ (เซ็นเซอร์ตรวจวัดอากาศ) ต้องมากกว่า 205 องศาเซลเซียส (นี่คือในห้องเครื่องยนต์นะครับ)
11. ความสูงเหนือระดับทะเล 2000 เมตร (มีเซ็นเซอร์วัดแรงกดอากาศมาให้อีกเอ้า)

และข้อแม้อันวุ่นวายเวิ่นเว้อ ทั้งหมดนี้เอง ทำให้เราแทบจะไม่มีโอกาสได้เห็นการทำงาน
ของระบบ Idle Start Stop ขณะขับขี่ใช้งาน March CVT ในชีวิตประจำวัน เท่าใดนัก ถึงขนาดที่ว่า
เจ้ากล้วย BnN ของเรา ดีใจสุดขีดขั้น เมื่อเห็นการทำงานของระบบนี้ จริงๆ หลังจากเจ้าตัว
พยายาม “อย่างหนัก” เพื่อจะให้ระบบนี้ ได้ทำหน้าที่ของมัน เพื่อประจักษ์แก่สายตาตนเองว่า
ระบบนี้ มันถูกติดตั้งมาใน March ใหม่กันจริงๆ ดูสีหน้าเจ้ากล้วยสิครับ ดีใจอย่างกับถูกหวย (-_-‘)

ความพยายามที่ว่า ของเจ้ากล้วย ก็มีตั้งแต่ ขับรถไป สักพัก ปิดสวิชต์ A/C เป็นตำแหน่ง Off
แต่พอรถชะลอตัวจากความเร็วปกติ (เกิน 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง) จนหยุดนิ่ง ก็ไม่เห็นว่าระบบ
Idle Start Stop จะทำงานแต่อย่างใด จนต้องรอกันประมาณเกิน 1 นาที เครื่องยนต์ถึงจะดับ
ไฟสัญญาณสีเขียวบนชุดมาตรวัด อย่างที่เห็นในภาพข้างบน จึงติดสว่างขึ้นมา แต่บางครั้ง
แค่ขับรถเข้าไปในซอยหมู่บ้าน ปิดสวิชต์ A/C Off จนค่อยๆ หยุดรถ แป๊บเดียว ระบบก็ตัด
การทำงานเครื่องยนต์ให้ และต่อให้พยายามขับตามข้อกำหนดของระบบ ที่เขียนมาข้างต้น
ทั้งหมด เป๊ะ ก็แทบไมค่อยได้เห็นระบบนี้ ทำงานให้เราดูกันเท่าไหร่

คือเล่นเอามึนหัวกันไปหมดเลย ว่าทำไมกว่าจะทำงาน มันต้องวุ่นวายยุ่งยากยุ่งเหยิงอะไรขนาดนี้
และถ้ามันวุ่นวายนัก ผมสงสัยว่า ทำไม Nissan ไม่ทำระบบนี้ ให้มันดีกว่านี้ เริ่มจาก การออกแบบ
ให้ระบบนี้ สามารถทำงานได้ แม้ว่า จะเปิดเครื่องปรับอากาศอยู่ หรือสวิชต์ A/C อยู่ในตำแหน่ง On
ก็ควรจะทำงานได้  หรือไม่ก็ควรมีสวิชต์ เปิด-ปิด ระบบ Idle Start Stop นี้ซะเลย

ขนาดรถยุโรปยี่ห้ออื่น ที่มีระบบ ดับเครื่องเองอัตโมัติตอนรถติด แบบเดียวกันนี้ เขายังสามารถ สั่งให้
ระบบทำงานดับเครื่องยนต์ได้ ทั้งที่เปิดแอร์ และสวิชต์ ก็อยู่ที่ A/C On แล้วทำไม Nissan March ถึงทำไม่ได้?
ถ้าเป็นเช่นนี้ ผมว่า ถอดระบบนี้ออกไปเถอะ มันแทบไม่ก่อประโยชน์อะไรให้กับลูกค้าในเมืองไทยเลย
ถ้าสงสัยว่าทำไม ก็คงต้องถามกลับไป กันตรงนี้แหละว่า “จะมีสักกี่ครั้งในรอบ 1 ปี ที่คุณจะขับรถไปตาม
สภาพการจราจรอันแสนสาหัส ของ กรุงเทพมหานคร ตอนเช้าๆ โดยปิดสวิชต์ A/C Off  ปิดกระจกหน้าต่าง
และยอมนั่งตากเหงื่อในรถ เพียงเพื่อจะรอดูระบบนี้ ทำงานให้เป็นขวัญตา??”

หรือว่าที่ต้อง เซ็ตมาให้มีข้อจำกัดเยอะแยะขนาดนี้ เป็นเพราะ กลัวว่า บ้านเรารถติดมาก ขืนให้ระบบนี้
ทำงานบ่อยเข้า มีหวัง มอเตอร์ สตาร์ต อาจจะทนไม่ไหว ลาโลกไปก่อนวัยอันควร จนขี้เกียจจะรับเคลม
เปลี่ยนลูกใหม่กันหรือเปล่า หวังว่าคงไม่ได้คิดอย่างนี้กันนะ เพราะ วิศวกร Nissan ญี่ปุ่นเอง ก็รู้เรื่องนี้ดี
และออกแบบ มอเตอร์สตาร์ต ให้ทนมือทนทีน กว่าเดิม เรียบร้อยแล้ว นี่นา

ชักสงสัยเหมือนกันว่า ระบบ Idle Start Stop เวอร์ชันที่ขายในเมืองไทย กับเวอร์ชันที่ขายในญี่ปุ่น
ซึ่งจะต้องส่งออกจากบ้านเราไป มันจะเหมือนกันหรือเปล่า ถ้าเหมือนกัน ก็แสดงว่า น่าส่ายหัวพอกัน
แต่ถ้า เวอร์ชันญี่ปุ่น ดันสามารถเปิดแอร์ ไป ระบบนี้ก็ทำงานไปด้วย ได้ละก็..ฮึ่มมม!!! 

เอาเถอะ ช่างมัน ระบบ Idle Stop จะยังงงตัวเองอยู่ว่า เมื่อไหร่ ควรจะทำงาน หรือไม่ ก็ไม่เป็นไรครับ
เรามาดู กันดีกว่า ว่าอัตราเร่งของ March ใหม่ จะเป็นอย่างไรกันบ้าง ผม (น้ำหนัก 95 กิโลกรัม) และ
เจ้ากล้วย BnN แห่ง The Coup team ของเรา (น้ำหนัก 48 กิโลกรัม) ยังคงรับหน้าที่ จับเวลา หาอัตราเร่ง
กันเช่นเคย บนถนน ช่วงดึกๆ เปิดแอร์ นั่ง 2 คน เปิดไฟหน้า

และต่อไปนี้ คือตัวเลข อัตราเร่ง ของ March ทั้งรุ่นเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และ เกียร์ CVT ที่เราทำออกมาได้ ดังนี้

 

บอกกันไว้ก่อนว่า การทดลองขับเวลาในคราวนี้ เราไม่จับเวลา 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ช่วง เกียร์ 4 ของรุ่น
เกียร์ธรรมดามาให้ เพราะเรามองเห็นว่า มันไม่มีประโยชน์เลย ในเมื่อเกียร์ 3 นั้น เป็นตำแหน่งเกียร์ ที่สามารถ
ลากได้ม้วนเดียวจบ โดยไม่ต้องเปลี่ยนเกียร์ขึ้นไปอีก 1 ตำแหน่ง แต่อย่างใด

เห็นตัวเลขอัตราเร่งกันแล้ว….เป็นไงครับ?
ใครบอกว่า March ไม่แรง? หืม??

รุ่นเกียร์ธรรมดา ทำตัวเลข 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ 12 วินาทีกลางๆ แถมมีตัวเลข 12.19 วินาที โผล่มาด้วย
อีกทั้ง อัตราเร่งแซง 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ 9 วินาทีกว่าๆ แบบนี้ ตัวเลขก็ฟ้องให้เราเห็นกันโต้งๆ แล้วว่า
เครื่อง 3 สูบ 1.2 ลิตร บล็อกนี้ ไม่กระจอกนะครับ! ทำผลงานได้ดีเกินกว่าที่คาดคิดไปไกลเลย

แม้ว่า ตัวเลขอัตราเร่ง ของรุ่น CVT จะอืดตามคาด แต่ในเมื่อตัวเลขออกมา เป็นอย่างที่เห็น
นั่นก็ชวนให้เราต้องคิดต่อได้เลยเหมือนกันนะครับว่า ทำไม รถอย่าง Chevrolet Aveo 1.4 ลิตร
Mazda 2 เกียร์อัตโนมัติ หรือ Toyota Avanza 1.5 ลิตร ถึงทำตัวเลขออกมาได้ ใกล้เคียงกันกับ
เจ้า March ทั้งที่ มีความจุกระบอกสูบมากกว่า?

ส่วนหนึ่ง มาจาก รถทั้งหมดนั้น ออกแบบ และออกขาย มาก่อน March อันนี้ ช่วยไมได้จริงๆ
ส่วนหนึ่ง Nissan พยายามทำการบ้าน กับเครื่องยนต์ และเกียร์ มาดีที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้ ในงบประมาณ
เท่าที่เป็นอยู่ (งบมากกว่านี้ คงทำได้ดียิ่งกว่านี้อีก)

ถ้าจะถามว่า ทำไมตัวเลข 15.6 วินาที ใน March ผมบอกว่า  แม้จะอืดอาด เป็นตัวเลขที่พอรับได้ ทว่า
พอเป็น Mazda 2 เกียร์อัตโนมัติ ทำได้ 14 วินาที ผมกลับบอกว่าอืด?

เหตุผลก็คือ ความคาดหวัง ของผู้บริโภค ต่อเครื่องยนต์ 2 ตัวนี้ แตกต่างกันชัดเจน เราคิดกันว่า เครื่องยนต์
ที่มีความจุกระบอกสูบมากกวา ย่อมควรจะให้พละกำลังมากกว่า ซึ่งที่ผ่านมา มันก็เป็นเช่นนั้น แต่ในกรณี
ของ Nissan นั้น ทำเครื่องยนต์ 3 สูบ 1.2 ลิตร ออกมาได้ ดีเกินกว่าความคาดหมายของผู้บริโภค ก็เลยทำให้
มีเสียงด่าน้อยกว่า

จะว่าไปแล้ว ทั้งหมดนี้ มันเป็นเพียงเรื่องของการคาดหวัง โดยผู้บริโภค เท่ากับว่า เข้าสู่บทเรียนธรรมะ
ในบทความรีวิวรถยนต์ กันได้ ประการหนึ่งว่า “จงอย่าตั้งความคาดหวังเอาไว้สูงมาก เมื่อผลลัพธ์ออกมา
เป็นอย่างไร เราจะได้ไม่รู้สึกยินดี หรือยินร้าย ไปกับผลของมันมากนัก แต่ถ้าเราตั้งความคาดหวังสูงไป
ผลลัพธ์ที่ออกมา ถ้าดี ก็คือเสมอตัว ถ้าแย่ ก็คือ ผิดหวัง และใจเราเองแหละที่จะเป็นทุกข์”

สาธุ!

กระนั้น สิ่งที่ควรปรับปรุงเพิ่มเติม ของ เกียร์ธรรมดา ใน  March มีอยู่ 3 ประเด็น

ข้อแรก คือ ตำแหน่งของคันเกียร์ ที่ไม่ได้เหมาะแก่คนชอบขับรถมากนัก ช่วงเข้าเกียร์ ยาวมาก เผลอๆ
จะยาวกว่า Nissan Sunny B14 รุ่นเกียร์ธรรมดา คันที่บ้านผมใช้อยู่นี่ด้วยเสียอีกแหนะ! ประการต่อมา
เมื่อเข้าเกียร์ ไปยังตำแหน่งใดก็ตาม แม้ว่า คันเกียร์จะไม่สั่นสะเทือนไปตามการสั่นของเครื่องยนต์
มากนัก แต่ คันเกียร์ ก็อยู่ในตำแหน่งที่คุณเลือกทิ้งไว้ แบบ หลวมๆ คลอนๆ ชวนให้นึกถึง คันเกียร์
อันยาวเฟื้อย ของรถเมล์ ขสมก. ฟรี จากภาษีประชาชน ชะมัดยาด

อีกประเด็นที่เหลือ จะอยู่ที่ระยะฟรีของแป้นคลัชต์ ซึ่งค่อนข้างสูงไป ระยะฟรีมากอยู่ เมื่อต้องเหยียบคลัชต์
เพื่อเปลี่ยนเกียร์ พอถอนเท้าออกมา รถจะมีอาการกระโจนไปข้างหน้าเล็กๆ เสมอ ยิ่งถ้าคุณถอนเท้าซ้ายจาก
แป้นคลัชต์เร็วๆ ไม่ว่าจะอยู่ในเกียร์ไหน ก็จะพบอาการนี้ครบทุกเกียร์

ทั้ง 2 ประการ ส่งผลให้ ความฉับไวในการเปลี่ยนเกียร์ หายไป ทำให้ความสนุกและคล่องตัวในการขับขี่
March เกียร์ธรรมดา จึงด้อยกว่า Mazda 2 เกียร์ธรรมดา ชัดเจน แต่นั่น ก็เป็นมุมมองของคนที่สนุกกับ
การขับรถเป็นปกตินิสัย อย่างผม และ The Coup Team ของ Headlightmag.com เรา

เพราะหากมองในอีกมุมหนึ่ง ลักษณะแป้นคลัชต์ และคันเกียร์แบบนี้ จะเหมาะกับกลุ่มลูกค้าของ March
ซึ่งไม่ได้มีความรู้เรื่องรถมากนัก และไม่ได้สนใจหรอกว่า การเบิ้ลรอบเครื่องรอ การทำ Heel & Toe
หรือการสับเกียร์เร็วๆ มีประโยชน์อย่างไร ทำไปเพื่ออะไร

กระนั้น ถ้า Nissan คิดจะทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้การตอบสนองดีขึ้นกว่านี้ และมองหาแม่แบบ เป็นโจทย์
ในการพัฒนาต่อยอด ขอให้ ไปหา Mazda 2 เกียร์ธรรมดา มารื้อ คันเกียร์ ออกดู ลักษณะแบบนั้นแหละ คือ
คันเกียร์ธรรมดา ที่น่าจะตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่มได้ดีมากๆ ลองหาทางดูว่า จะทำคันเกียร์ออกมาแบบนั้น
แต่ใช้ต้นทุนที่ต่ำกว่า Mazda ได้อย่างไร? โจทย์เล็กๆนี้ จะว่าไป ก็แอบท้าทายเหมือนกันนะ

ส่วนในรุ่นเกียร์ CVT ก็มีอาการแปลกๆเหมือนกัน คือ ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไม พอขับใช้งานมาสักระยะ
เมื่อเข้าเกียร์ถอยหลัง จะมีเสียงดังมาจากล้อ ว่า “โง้งงงงง โง้งงงงงงงง โง้งงงงงงง” รถคันที่ผมลองขับนั้น
สืบทราบมาว่า ก็ยังคงเป็น รถทดลองประกอบ ในขั้นแรกๆ (PT ; Product Trial) อยู่นั่นเอง ผมก็เลยไม่รู้ว่า
ในรถที่ผลิตและส่งมอบให้ลูกค้าไปแล้ว จะยังมีอาการที่ว่านี้อยู่หรือไม่ แต่ในเบื้องต้น ผมคิดไว้ก่อนว่า น่าจะ
เป็นเพียงอาการเฉพาะคัน ไม่ใช่ทุกคันที่เป็น เพราะ ถ้าใครจะบอกว่า มันเป็นทุกคัน ผมคงจะเถียงกลับทันที
ว่า “แล้วทำไม รถรุ่นเกียร์ธรรมดา ทั้ง 2 คัน ที่ผมลองขับ มา มันไม่มีปัญหานี้เลยละ?

เครื่องยนต์ และระบบส่งกำลังของ March ถูกติดตั้งลงบนโครงสร้างพื้นตัวถัง A-Platform ที่ถูกนำมาเปลี่ยนชื่อใหม่
ให้เป็น V-Platform อันย่อมาจาก Versatile แสดงว่า เป็น พื้นตัวถังที่ถูกออกแบบมาให้มีความยืดหยุ่น สูงมาก
 เพราะได้ทั้งรับ ได้ทั้งรุก….!!

ครับ เขียนไม่ผิด!!

ได้ทั้งรับ หมายถึง พื้นตัวถังนี้ ถูกออกแบบมาให้ รองรับ กับพละกำลังจากเครื่องยนต์ และระบบส่งกำลัง
รวมกันไม่เกิน 200 นิวตันเมตร อาจจะเผื่อเกินไปกว่านั้นสักเล็กน้อย บ้าง แต่ก็ไม่ค่อยแนะนำเท่าไหร่
เพราะ วิศวกรของ Nissan เขาแถลงทิ้งเอาไว้ เมื่อ 1 ตุลาคม 2009 ไว้อย่างนี้  

ส่วนที่ว่า ได้ทั้งรุก ก็คือ พื้นตัวถังนี้ สามารถพัฒนาต่อยอดในเชิงรุก สู่การสร้างรถยนต์บนพื้นตัวถังเดียวกันนี้
อีก 2 รุ่น นั่นคือ Sub-Compact Sedan รหัสโครงการ L02B และ รุ่นเปลี่ยนโฉม Full Modelchange ของ
Nissan NOTE และ เวอร์ชันดัดแปลง สำหรับตลาดเอเซีย ที่ชื่อ Nissan Livina Geniss นั่นไง ทั้งคู่ มีกำหนด
เปิดตัวสู่ตลาดโลก ในปี 2011 ที่ใกล้จะมาถึงอยู่รอมร่อ

เห็นไหมครับ? ได้ทั้งรับ ได้ทั้งรุก จริงๆด้วย ฮี่ๆๆๆๆๆๆๆๆๆ  
(รอดพ้นจากการติดเรต โดยกองเซ็นเซอร์ อันห่วยแตก ไปเส้นยาแดงผ่าแปด)

ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบ แม็คเฟอร์สันสตรัต ส่วนด้านหลังเป็นแบบคานบิด ทอร์ชันบีม
แม้จะใช้รูปแบบหลัก เหมือนกับ March K12 รุ่นก่อนหน้านี้ แต่มีการปรับปรุง จุดยึดต่างๆใหม่
เล็กน้อย ลดขนาด และตำแหน่งจุดยึดลงไปนิดหน่อย มีการเพิ่มระยะยุบและยืดตัวของช็อกอัพ
ขึ้นอีก 15 % เมื่อเทียบกับ TIIDA ซึ่งนั่นหมายความว่า เน้นการเซ็ตช่วงล่างมาในแนวนุ่มนวล
เพื่อการขับขี่ในเมืองเป็นหลัก

จึงไม่น่าแปลกใจที่ การตอบสนองในภาพรวมของระบบกันสะเทือนที่ติดตั้งใน March
จะมาในแนวนุ่ม เพียงแต่ หากคุณเจอเนินลูกระนาดในซอย อาจรู้สึกว่า รถแล่นผ่านไป
และเหลือทิ้งไว้แต่ความกระด้างนิดๆให้คุณได้สัมผัสขึ้นมาถึงเบาะคนขับ นั่นไม่แปลก
เพราะ น้ำหนักที่กดลงไปบนล้อทั้ง 4 นั้น ค่อนข้างเบา เมื่อเทียบกับรถในประเภทเดียวกัน
(และแน่นอน รถที่ใหญ่กว่าด้วย)

ส่วนการเข้าโค้ง ที่ความเร็วสูงๆ นั้น ถ้าเป็นโค้งยาวๆ ในระหว่างที่เราทำความเร็วสูงสุด
March สามารถเข้าโค้ง แถวๆ ทางด่วนอุดรรัถยา ที่มุ่งหน้าไปทางเชียงราก ได้ที่ความเร็ว
ระดับ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้แน่ๆ แต่ มีเสียว มีลุ้น และคุณควรจะใช้สมาธิถือพวงมาลัย
นิ่งๆ สักหน่อย เพราะถ้าไม่มีกระแสลมปะทะด้านข้างเลย ตัวรถจะค่อนข้างนิ่งกว่าที่คิด
แต่เมื่อใดที่มีกระแสลมมาปะทะด้านข้าง แม้เพียงนิด ตัวรถก็จะออกอากาศไปตามแรงลม
ปะทะข้าง นั่นละครับ เป็นปกติของรถยนต์ขนาดเล็ก น้ำหนักเบาๆ

แต่ถ้าเป็นโค้งในแนว หักศอก หรือว่า ไม่ได้ทำมุมรับ สำหรับการเข้าโค้ง (หรือ Bank)
คุณควรชะลอรถก่อนเข้าโค้งแน่ๆครับ เพราะว่า ตัวรถจะเอียงออก พอสมควร ถือได้ว่า
March ใหม่ เป็นรถที่ให้การทรงตัวที่นิ่งกว่าที่คิด ในการขับขี่ที่ความเร็วสูง แต่ต้องวงเล็บ
เอาไว้ตัวโตๆว่า รถจะนิ่ง ถ้าคุณไม่เจอลมปะทะด้านข้าง หรือในช่วงที่ กำลังแซงรถทัวร์
หรือโดนรถทัวร์แซง

ดังนั้น ถ้าจะบอกว่า ช่วงล่างของ March นุ่มที่สุดในกลุ่ม ก็อาจจะพอพูดได้ แต่ไม่ถึงกับ
เต็มปากนัก เพราะ อย่างที่บอกครับ การขับผ่านลูกระนาด ยังแอบตึงตังหน่อยๆอยู่ ยังไม่ดีพอ

แต่ถ้าอยากจะให้เกาะถนนยิ่งขึ้น ถ้าเป็นไปได้ คุณควรหายางหน้ากว้างกว่านี้สักหน่อย มาใส่
เพราะยางติดรถ MAXXIS ขนาด 165/70 R14 ในรุ่น S , E และ EL กับ ยางขนาด 175/60 R15
ในรุ่น V และ VL นั้น ถึงแม้ จะเป็นยางติดรถสเป็กเดียวกับ เวอร์ชันญี่ปุ่น ที่ส่งออกไปจาก
เมืองไทย (เห็นจากบนรถเทรลเลอร์ ในงานพิธีปล่อยรถส่งออกสู่ญี่ปุ่น)

แต่ถ้าคุณคิดว่า Bridgestone B250 ห่วยแตกแล้ว ยางติดรถชุดนี้ ผมขอบอกว่า ห่วยจัญไร!
(ขั้นกว่า ของคำว่า ห่วยแตก) เพราะการยึดเกาะบนถนนบนพื้นแห้งธรรมดา ก็ไม่ถึงกับดีนัก
อยู่แล้ว ยิ่งช่วงฝนตก การรีดน้ำ ยิ่งย้่ำแย่หนักหนาไปกันใหญ่ เข้าไปอีก ทำหน้าที่เป็นเพียงแค่
ยางติดรถ กลิ้ง กร๊กๆๆๆ ไปตามเรื่องราวของมันเท่านั้นเลยจริงๆ

ยางชุดเนี้ย ช่วยเปลี่ยนหน่อยจะได้ไหม ขอ Dunlop SP Sport ตัวที่ใส่กับรถคันที่ใช้
ในงานแถลงข่าว เปิดสายการผลิต March เมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา ยังเข้าท่ากว่าอีก!

พวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฟฟ้า EPS
(Electronics Power Steering) รัศมีวงเลี้ยว 4.5 เมตร เมื่อใส่ยางขนาด 175/60R15
ในรถ 2 คันที่ผมเจอมานั้น มีการตอบสนองที่ คล้ายกัน ก็คือ มันแทบไม่ได้มี
ความเปลี่ยนแปลงใดๆ ไปจากคราวก่อน ที่ผมเคยเขียนอาไว้ใน บทความ
World First Exclusive First Impression เลยนั่นแหละ

ขอเล่าท้าวความย้อนหลังไปนิดนึงว่า ในวันที่ได้ทดลองขับ March K13 เป็นครั้งแรก
รถคันที่ Nissan จัดให้สื่อมวลชน ได้ทดลองขับกัน ในลานด้านหลังโรงงาน นั้น
เป็นรถทดลองประกอบ ขั้นแรกสุด คือ Product Trail (คือ ขั้นแรกเกินกว่ารถ
Pre-Production ไปเสียอีกแหนะ!)

ในวันนั้น การหักหลบกรวยยาง ที่ตั้งเรียงเอาไว้ บังคับให้ผู้ขับขี่หักหลบ
น้ำหนักพวงมาลัยของ MARCH นั้น มาแปลก กว่าใครเพื่อนเขา

คือ ในจังหวะแรกที่เริ่มหมุนพวงมาลัยเพื่อจะเลี้ยวเบี่ยงรถออกไปตามไลน์
พวงมาลัยแทบจะไม่มีความหนืด และให้สัมผัสการทำงานที่เหมือนกับ
พวงมาลัยไฟฟ้าในรถทั่วๆไปยุคใหม่ กระนั้น รถจะยังเลี้ยวไม่มากพอ
ในเสี้ยววินาที คุณจำต้องตัดสินใจ หักเลี้ยวเพิ่ม

จังหวะนี้เอง พวงมาลัยจะหนืดขึ้นมาก จนผิดสังเกต ความหนืด
อยู่ในระดับประมาณว่า คุณกำลังแข่งชักคะเย่อกับเด็กประถม 2
(โดยคุณ อยู่คนเดียว และน้อง ประถม 2 มีสัก 2 คน)
และนั่นทำให้คุณต้องออกแรงในการหมุนพวงมาลัยเพิ่มขึ้นอีกมาก
จนอาจจะเร็วไม่ทันที่จะหักหลบสิ่งกีดขวางได้พ้น อย่างที่ต้องการ

แต่ วันนี้ เมื่อผมได้รับรถ กลับมาทดลองขับที่บ้าน คันสีส้ม เกียร์ CVT
ก็ยังคงเป็นอาการเดิมเป๊ะเลย…แน่ละ ก็รถคันสีส้มที่เห็นอยู่นี้ ยังคงเป็น
รถทดลองประกอบ Product Trial เหมือนเดิมเลยนี่นา!!!!! การตอบสนอง
ต่างๆ มันก็เลยเหมือนเดิมเป๊ะ ไม่ผิดเพี้ยน

ดังนั้น ถ้าเป็นรุ่นเกียร์ธรรมดา ซึ่งเป็นรถประกอบขาย ส่งลูกค้ากันจริงๆแล้ว
จะเป็นอย่างเช่นที่ รถ Product Trail เป็นหรือเปล่า? คำตอบก็คือ คล้ายกัน
แต่อาการดีขึ้น กว่ากันนิดหน่อย

การตอบสนองของพวงมาลัย ใน March เกียร์ธรรมดา นั้น หากเป็นช่วงความเร็วต่ำ
ถ้าหมุนพวงมาลัยไปเพื่อเลี้ยว น้ำหนักจะเบา ตามปกติ แต่เมื่อใดที่จะต้องคืนพวงมาลัย
กลับ หรือสาวกลับมา แม้ความจะออกแรงน้อยกว่า รถคัน Product Trail อย่างชัดเจน
แต่ก็ยังมีอาการหลงเหลืให้เห็นอยู่

ความนิ่งในขณะขับขี่ด้วยความเร็วสูงนั้น ขอบอกเลยว่า พวงมาลัย นิ่งดีมากๆ
นี่คือจุดที่้ต้องชมเชย เพราะถ้าผมยังสามารถ ปล่อยพวงมาลัยได้ ทั้งที่ใช้ความเร็ว
170 กิโลเมตร/ชั่วโมง กับเจ้ากระจงน้อย คันนี้แล้วละก็ ถือว่า มันนิ่งใช้ได้ครับ
แต่ มีข้อแม้ว่า  ระแสลมต้องสงบ ปราศจากลมปะทะด้านข้างเลยนะ ไม่เช่นนั้น
ต้องุมพวงมาลัยกันแน่ๆ ตามเคยละครับ

อีกอย่างนึ อย่าได้คิดจะเปลี่ยนเลนแบบรถซิ่ง หักหลบอะไรกระทันกันเลยทีเดียว
เพราะ พวงมาลัยจะตอบสนอง ไว และแทบจะในทันที ที่หักเลี้ยว แม้เพียง
แค่คิดจะเปลี่ยนเลนบนทางด่วน ดังนั้น ค่อยๆ เติมพวงมาลัยเข้าไป จะดีกว่าครับ

น้ำหนักพวงมาลัย เบาอย่างไรก็เบาอย่างนั้น เสมอเหมือนใกล้เคียงกัน ตั้งแต่
ความเร็วต่ำๆ ยัน ความเร็วสูงๆ ความแม่นยำของพวงมาลัยนั้น ผมถือว่า ไม่ผ่าน
คือ บังคับเลี้ยวได้ ตามปกติ ของรถทั่วไป ไม่มีปัญหา แต่ถ้าจะหาความสนุกจาก
การบังคับพวงมาลัย จาก March แล้วละก็ ลืมไปเสียเถอะครับ

ทางแก้ก็คือ ลองหาทางปรับแต่งพวงมาลัย ให้มีน้ำหนักเหมาะสม สม่ำเสมอ กัน
เป็นช่วงๆ ไป เบาในความเร็วต่ำ หนืดและหนักในความเร็วสูง

ถ้านึกไม่ออก ว่าจะเซ็ตพวงมาลัยอย่างไร ให้หารถตัวอย่างของ Suzuki Swift
และ Mazda 2 ใหม่ มาเป็น Benchmark ก็ได้ครับ รถ 2 รุ่นนี้ ทำพวงมาลัย
เพาเวอร์ ไฟฟ้า EPS ตอบสนองได้ดีมากๆ โดยเฉพาะ Swft นั้น การตอบสนอง
ใกล้เคียงพวงมาลัย แบบเพาเวอร์ ไฮโดรลิกทั่วไปมากๆ  ลองหารถคู่แข่ง ทั้ง 2 รุ่น
ที่ผมบอกไปนี้ มาชำแหละ ระบบบังคับเลี้ยวกันหน่อยดีกว่า หรือถ้าไม่อาจทำได้
ก็แค่ ดู พวงมาลัยของ TIIDA เข้าไว้ ปรับให้หนืดกว่ากันนิดหน่อย ในย่านความเร็วสูง
และเพียงเท่านั้น ทุกอย่าง ก็จะจบข่าว กรมประชาสัมพันธ์ กันเลยทีเดียว และผมจะ
ไม่มีเสียงบ่นในเรื่องการตอบสนองของพวงมาลัย เจ้ากระจงน้อย รุ่นนี้อีกอย่างน้อย
ก็ 5 ปีข้างหน้า แน่ๆ 

ระบบห้ามล้อ ด้านหน้าเป็นแบบ ดิสก์เบรก แบบมีรูระบายความร้อน ส่วนด้านหลังเป็นแบบ ดรัมเบรก
เมื่อเทียบกับ March รุ่นที่แล้ว รหัสรุ่น K12 จะพบว่า มีการลดขนาดจานเบรก และดุมล้อหลัง ลงจากรถรุ่นเดิม
ไปนิดหน่อย  แต่มีการติดตั้ง ระบบ้องกันล้อล็อก ABS มาพร้อมระบบกระจายแรงเบรก EBD และระบบเพิ่ม
แรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน Brake Assist มาให้เฉพาะในรุ่น 1.2V และ VL เท่านั้น ในช่วงที่ลองเหยียบเบรก
ไม่เต็มเท้า แต่กดลงไปลึกประมาณ เกินครึ่งหนึ่งของระยะเหยียบแป้นการตอบสนอง ก็ถือว่า น่าจะเพียงพอ
กับการใช้งานในเมืองเป็นหลัก แต่อย่างไรก็ตาม หากจำเป็นต้องวิ่งทางไกล ระบบเบรก ก็ยังพอจะไว้ใจได้
การหน่วงความเร็ว ทำได้ “ดีสมกับขนาดตัวรถ และราคา” ไม่ใช่ดีแบบ Brembo มาเอง แต่อย่างใด (อ่านดีๆ)
แป้นเบรกค่อนข้างลึกในระดับหนึ่ง มาในสไตล์เดียวกับ TIIDA นั่นละ  ถ้าจะชะลอรถ ก็เหยียบลงไปได้เลย
ไม่ต้องไปเลียเบรก เพราะรถจะชะลอลง น้อยกว่าที่ตั้งใจไว้ และสิ้นเปลืองผ้าเบรกโดยไม่จำเป็นอีกต่างหาก

ด้านโครงสร้างตัวถัง ที่จะต้องเชื่อมยึดติดกับ V-Platform ทีมวิศวกร ได้เลือกที่จะใช้เหล็กชนิดพิเศษ Ultra Light
ซึ่งมีน้ำหนักเบาเป็นพิเศษ มาใช้ในการขึ้นรูปชิ้นส่วนตัวถัง และโครงสร้างทั้งคัน โดยมุ่งเน้นความพยายาม
ที่จะลดน้ำหนัก ด้วยการ ออกแบบให้ ใช้ชิ้นส่วนที่ต้องขึ้นรูปน้อยลง ชิ้นส่วนทั้งหมดต้องมีขนาดเล็กลง
และพื้นฐษนของรูปทรง จะต้องง่ายต่อการปั้มขึ้นรูป 

อย่างไรก็ตาม การทดสอบการชน เป็นการภายในของ Nissan เขายืนยันของเขาว่า March ใหม่ สอบผ่าน
มาตรฐาน การทดสอบการชนของ UNECE Reg.94 ซึ่งกำหนดมาตรฐานการทดสอบเอาไว้ ให้รถพุ่งชน
กับ Barrier ยุบตัวได้ แบบ 40 เปอร์เซนต์ ของพื้นที่้ด้านหน้ารถ ด้วยความเร็ว 56 กิโลเมตร/ชั่วโมง
แรงเหวี่ยง และการปะทะของชิ้นส่วนหุ่นดัมมี่ (ในฐานะตัวแทนร่างกายมนุษย์) จะต้อง ไม่เกินตาม
มาตรฐานที่กำหนดไว้ และจะต้องไม่มีน้ำมันหรือของเหลวอันตรายไหลออกมามากเกินกว่าที่กำหนด
เช่นเดียวกันกับ มาตรฐาน ทดสอบการชนด้านข้าง UNECE Reg.95 ซึ่งจะให้ เฟรมแชสซี ติดตั้ง
Barrier ยุบตัวได้ พุ่งเช้าชนด้านข้างลำตัวฝั่งคนขับ ของรถทดสอบ ที่จอดสงบนิ่ง ด้วยความเร็ว
50 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่ง Nissan มั่นใจว่า สอบผ่านข้อกำหนดทั้งหมดนี้แน่ๆ แต่เราก็ยังต้องคอย
ติดตามดู ผลที่จะเกิดขึ้น จากการทดสอบจริง ของทาง Euro NCAP กันในโอกาสต่อไป

ส่วนเรื่องการเก็บเสียงในห้องโดยสาร จะว่าไปแล้ว ถือว่าค่อนข้างใช้ได้ แม้ว่าวัสดุซับเสียง บริเวณพื้นรถ
จะน้อยไปหน่อยก็ตาม ถ้าจอดรถเฉยๆ เสียงเครื่องยนต์ในห้องโดยสารจะไม่ดังมากมายไปกว่ารถยนต์ 4 สูบ
ทั่วไปนัก แต่หากยืนอยู่ข้างนอกรถ จะได้ยินเสียงเครื่องยนต์ ที่ถือว่าดังกว่ารถเก๋งทั่วไปนิดนึง แต่ ที่ดังกว่า
เสียงเครื่องยนต์ กลับเป็นเสียงของคอมเพรสเซอร์ เครื่องปรับอากาศ ที่เวลาจะติดขึ้นมาทำงานแต่ละที
เสียงดังชนิด ปลุกเพื่อนบ้านให้ลุกขึ้นมาชะโงกดู ผมขณะพาเจ้ากระจงน้อย ถอยจอดเก็บเข้าบ้าน ผ่าน
หน้าต่างของบ้านเขาในยามค่ำคืนได้เลย

ขณะขับรถไปในช่วงฝนตก พายุฝนเทกระหน่ำ ทั้งรุ่น CVT และ เกียร์ธรรมดา เสียงเม็ดฝนบนหลังคา
ไม่ได้ดังชัดแบบ เม็ดฝนกระทบสังกะสี แต่อย่างใด ตรงกันข้าม ผมถือว่า งานนี้ Nissan เก็บเสียงมาได้
ค่อนข้างดี สมราคา

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

ความประหยัดน้ำมัน เป็นอีกประเด็นหลักประการหนึ่ง ซึ่งผู้บริโภคมักถามถึง เวลาที่พวกเขาคิดจะซื้อรถยนต์ขนาดเล็ก
สักคัน นั่นจึงทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ ต้องพยายามทุกวิถีทาง เพื่อจะสร้างรถเล็กของตน ให้มีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ใช้น้ำมันทุกหยดอย่างมีประสิทธิภาพ ยิ่งเป็นรถที่เข้าร่วมโครงการ ECO Car ด้วยแล้ว
ความประหยัดน้ำมัน จึงกลายเป็นประเด็นสำคัญ ที่ทุกฝ่าย ตั้งแต่คู่แข่ง สื่อมวลชน จนถึงผู้บริโภค พากันจับตามอง
และหน้าที่ของ Headlightmag.com ก็คือ พิสูจน์ให้เห็นว่า สิ่งที่พวกเขาลงทุนลงแรงกันไปมหาศาลนั้น มันจะช่วยให้
รถของพวกเขา ประหยัดน้ำมันได้มากน้อยแค่ไหน เมื่อนำมาขับใช้งาน ในชีวิตประจำวัน เหมือนเช่นที่เรา ทำกับ
รถทุกคัน ซึ่งนำมาทดลองกับ ทำรีวิวกัน ตลอด  8 ปี ที่ผ่านมา

เพียงแต่ว่า ในครั้งนี้ ด้วยสถานการณ์บังคับ เราจึงต้องมีการปรับรูปแบบการทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงกันเล็กน้อย

ก็ในเมื่อ Shell เขาเลิกขายน้ำมันเบนซิน V-Power 95 เพียวๆ ไปแล้ว เหลือแต่ แก็สโซฮอลล์ V-Power 95 ผมก็เลย
จำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้เติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron Gold ที่สถานีบริการน้ำมัน Caltex ฝั่งตรงข้ามกับ โชว์รูม
เบนซ์ ราชครู นั่นละครับ

เราจะเปลี่ยนไปเติม Caltex กันเฉพาะในรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินเท่านั้น ส่วนรถยนต์ ที่ใช้เครื่องยนต์ ดีเซล
เราจะยังคง เติมน้ำมัน Shell V-Power Diesel กันต่อไป ตามเดิม (อันที่จริง เราเริ่มเปลี่ยนมาใช้บริการจาก Caltex
กันเมื่ครั้งทำรีวิว Volkswagen Scirocco ช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นี้เอง)

นั่นคือสิ่งเดียวที่เปลี่ยนไป นอกนั้น เรายังคงรักษามาตรฐานเดิมเอาไว้ ทั้งหมด เนื่องจากเราใช้แต่น้ำมันเบนซิน 95
มาตลอดการทดลองจับอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของเรามาตลอด ดังนั้น แม้จะรู้ว่า Nissan March ใหม่ เติมได้
ทั้ง เบนซิน 95 เบนซิน 91 แก็สโซฮอลล์ 95 E10 แก็สโซฮอลล์ 91 E10 และ แก็สโซฮอลล์ E20 ก็ตาม แต่เพื่อให้
ตัวเลขที่ออกมา สามารถใช้อ้างอิงกับรถรุ่นอื่นๆ ที่เคยทำตัวเลขกันด้วยน้ำมันเบนซิน 95 อย่างเดียวเหมือนกัน
เลยต้องเติมเบนซิน 95

รถคันแรกที่นำมาทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย แล่นทางไกล เป็นรุ่นเกียร์อัตโนมัติ CVT
เราเติมน้ำมันกัน ท่ามกลาง การลุ้นของทั้งผม น้องกล้วย BnN และ พนักงานประจำสถานีบริการ
ที่ช่วยกันลุ้นว่า เมื่อไหร่มันจะเต็มสักทีเนี่ย??

เพราะ ถ้าเป็นรถยนต์ซึ่งมีขนาดเครื่องยนต์ ต่ำกว่า 2,000 ซีซี และเป็นรถตลาด ซึ่งอยู่ในกระแสความสนใจของ
ผู้บริโภค ที่ซีเรียสกับผมการจับอัตราสิ้นเปลือง เชื่อแน่ว่าคุณๆย่อมอยากเห็นตัวเลขที่ละเอียด ชัดเจน ตรงไปตรงมา
และทำได้จริงจากรถคันนั้น เราจึงเข้มงวดกับการทดลอง อีกเล็กน้อย ด้วยการ เติมน้ำมัน เบนซิน 95 Techron Gold
กรอกเข้าไปเต็มถัง ยังไม่พอ เรายังเขย่าๆ รถ ค่อยๆเติมกรอก เข้าไป เพื่อให้อากาศในถังมีน้อยที่สุด และถูกแทนที่
ด้วยน้ำมันที่เติมเข้าไป จนเต็มเอ่อขึ้นมา ถึงคอถังอย่างที่เห็นอยู่นี้

เมื่อเติมน้ำมันกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราก็ Set 0 บน Trip Meter ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ ด้วยอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส
พัดลมแอร์เบอร์ 2 สวิชต์ A/C อยู่ในตำแหน่ง On ตลอด เหมือนทุกครั้งที่ผ่านๆมา ผม (น้ำหนักตัว 95 กิโลกรัม) กับ
เจ้ากล้วย BnN (น้ำหนักตัว 48 กิโลกรัม) ออกเดินทางจากปั้ม Caltex เลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน มุ่งหน้าไปยัง
ถนนพระราม 6 โดยลัดเลาะเข้าไปที่ หน้าตึกชินวัตร 2 เลี้ยวซ้าย แล้วลัดเลาะ ผ่านออกมายัง โรงเรียนเรวดี
เลี้ยวขวาขึ้นสะพานข้ามคลอง เลี้ยวซ้าย เข้าถนนพระราม 6 ผ่านหน้าตึก TIPCO และ UBC เลี้ยวขวา ขึ้นทางด่วน
ที่ด่านพระราม 6 มุ่งหน้าไปยังปลายสุดทางด่วนสายอุดรรัถยา หรือเส้นเชียงราก ที่อยุธยา เลี้ยวกลับที่ปลายทางด่วน
จากนั้น ขึ้นทางด่วนย้อนเส้นทางเดิมมาอีกครั้ง รักษาความเร็วคงที่เอาไว้ ในระดับ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์
นั่ง 2 คน เหมือนเดิมเป๊ะ

คันเร่ง เลี้ยงไม่ง่าย เพราะว่า แค่นิ้วเท้ากระดิกนิดเดียว รอบเครื่องยนต์เดิมที่เคยอยู่แถวๆ 2,200 รอบ/นาที ณ ความเร็ว
110 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 2,600 รอบ/นาทีได้อย่างง่ายดาย ดังนั้น ต้องเกร็งเท้าขวาขับกันเลยทีเดียว
เพื่อรักษารอบเครื่องให้สม่ำเสมอที่สุด เท่าที่จะทำได้ เมื่อเทียบกับว่า ต้องมีทั้ง สารพัดสะพานต่างๆ ตลอดเส้นทาง
ทั้งไป และ กลับ

อีก 1 ชั่วโมงต่อมา เราก็มาลงทางด่วนกันที่ อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เยวซ้ายเข้าถนนพหลโยธิน ผ่าน ช่อง 5 โรงพยายาลพญาไท
ย้อนกลับมาเลี้ยวกลับรถ เพื่อเข้าปั้ม Caltex อันเป็นทั้งจุดเริ่มต้น และจุดสิ้่นสุด ของการทดลอง และเติมน้ำมันเบนซิน 95
Techron Gold ที่ตู้เดิม และหัวจ่ายเดิม เหมือนกับตอนเริ่มต้น เป๊ะ!

พี่ๆน้องๆเด็กปั้ม เหมือนรู้ชะตากรรม ก็มาช่วยเหลืออย่างเต็มใจ แรกๆ ก็ดูตื่นเต้นดีอยู่หรอก ว่า เฮ้ย ทำไมปริมาณน้ำมัน
ที่เติมกลับเข้าไป มันก็น้อยดีเลยนะเนี่ย…

เวลาผ่านไป น้องเด็กปั้ม เริ่มเมื่อย เจ้ากล้วย ก็ยังคงทำหน้าที่เป็นผู้กำกับ คอยดูปริมาณน้ำมันว่ามันลงไปยังคอถังหรือยัง
เราเติมแบบนี้ไป ครั้งละประมาณ 20 นาที ทั้งไป และกลับ ก็ราวๆ 40 นาที เล่นเอาเด็กปั้มที่ถือหัวจ่าย เมื่อยมือกันไป
เป็นแถว โปรดสังเกตหน้าตาอันสุดเซ็งของน้องเด็กปั้ม และดูสีหน้าเจ้ากล้วย ในภาพนี้กันเอาเอง

ส่วนผม ก็ต้องรับหน้าที่ เขย่า โขยก รถ กันเข้าไป…ขอบอกว่า เหนื่อยมาก เหงื่อไหลไคลย้อยกันสุดๆ คิดเล่นๆว่า
นี่ถ้าต้องทำแบบนี้ กันสัก 1 สัปดาห์ติดกัน คาดว่าน้ำหนักตัวคงผอมเพรียว สเลนเดอร์ สมใจอยากแน่ๆ

แล้วในที่สุด น้ำมันที่เติมเข้าไป ก็ไม่ยอมลดระดับลงอีกแล้ว มันเอ่อล้นเต็มคอถังอย่างนี้
แสดงว่า การเติมน้ำมันอันยาวนาน สิ้นสุดลงเสียที เหลือแค่ต้องลุ้นแล้วละว่า ตัวเลขจะออกมาเป็นอย่างไร

บนหน้าจอ Multi Information Display บอกว่า ทริปที่ผ่านมา เราใช้ความเร็วเฉลี่ย 79 กิโลเมตร/ชั่วโมง
(เพราะระยะเวลา และระยะทางที่เราทดลองกัน ยาวไม่ถึง 100 กิโลเมตร ค่าเฉลี่ยที่ได้ เลยออกมาเพียงเท่านี้)
และเข็มน้ำมัน แถบล่าง ก็ยังไม่กระดิกลดลงเลยแม้แต่กระผีกริ้นเดียว

อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย ที่รถคำนวนออกมา อยู่ที่ 18.4 กิโลเมตร/ลิตร แต่ในความจริงละ?
มาดูตัวเลขที่เราวัดจากวิธีการดั้งเดิมของเรา กันเลยดีกว่าครับ

ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมด บนมาตรวัด 93.0 กิโลเมตร พอดีเป๊ะ

ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 5.39 ลิตร ชัดเจนนะครับ

เมื่อหารกันออกมา จะได้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 17.25 กิโลเมตร/ลิตร…!!!

เฮ้ย! ประหยัดใช้ได้เลยนะเนี่ย!

ดังนั้น ถ้าใช้ความเร็ว ตั้ง 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง แล้วยังทำตัวเลขออกมาได้ขนาดนี้ ผมว่าดีถมเถยิ่งกว่า
รถยนต์ Sub Compact (B-Segment) และ Compact (C-Segment) เครื่องยนต์เบนซิน คันใดก็ตามในตลาด 
เลยนะเนี่ย! ถือว่า รุ่นเกียร์อัตโนมัติ CVT ให้ความประหยัดได้ เป็นไปตามคาดหมาย

และตัวเลขที่ได้มานั้น ใช่ว่าจะไม่สามารถยืนยันได้ ในการใช้งานจริง เอาอย่างนี้ครับ
ลองดูตัวเลขระยะทางที่แล่นไป บน Trip Meter A ที่ผมถ่ายมาให้ดู ในวันที่ส่งคืนรถรุ่น
CVT คันสีส้ม ไป โดยตั้งแต่เติมน้ำมันเพื่อทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงไปนั้น เรา
ไม่มีการเติมน้ำมันอื่นใดอีกเลย ลักษณะการขับ มีเพียงการทำท็อปสปีด ไป 3 ครั้ง เพื่อ
เช็คตัวเลขว่า แท้จริงแล้ว ได้เท่าไหร่ ที่เหลือนอกนั้น ขับไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง
โดยตลอด และนี่คือระยะทางที่รถแล่นมาได้ 424.6 กิโลเมตร น้ำมันยังเหลืออยู่ในถังของรถ
ความจุ 45 ลิตร มากถึง 1 ใน 3 หมายความว่า ถ้ายังขับเรื่อยๆ ตามสภาพการจราจร ที่ใช้งาน
ในชานเมือง วิ่งด้วยความเร็วสม่ำเสมอ แบบนี้ March CVT อาจแล่นได้มากถึง 550 – 600 กิโลเมตร
ด้วยน้ำมัน 1 ถัง

ส่วนหนึ่ง ต้องยกคุณงามความดีให้กับ เครื่องยนต์ HR12DE ด้วย เพราะ ใช้พื้นฐานร่วมกับ เครื่องยนต์
HR16DE ใน TIIDA ซึ่งตัวเครื่องยนต์นี้เอง ก็ได้ชื่อว่า “ประหยัดตัวแม่ แรงตัวพ่อ” กันอยู่แล้วเป็นทุนเดิม
ถ้าพื้นฐานเครื่องยนต์เดิมมันดีอยู่แล้ว เอามาดัดแปลงกันดีๆ อย่างตั้งใจทำ มันก็จะออกมาดีอย่างนี้ละครับ

ว่าแต่ รุ่นเกียร์ธรรมดาละ? ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง จะดีกว่านี้ได้อีกไหมหนอ?

สำหรับรถรุ่นเกียร์ธรรมดา เราก็ยังคงใช้มาตรฐานในการทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเหมือนกันไม่ผิดเพี้ยน
คือ เติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron Gold ที่ปั้ม Caltex ถนนพหลโยธิน เหมือนกัน ตู้เดียวกัน  หัวจ่ายเดียวกัน
ต่างกัน 2 วันหลังจากทดลองอัตราสิ้นเปลือง รุ่น CVT คันสีส้มไปหมาดๆ รถทั้ง 2 คัน เราทำการทดลองในช่วงบ่าย

เติมน้ำมันลงไปจนเต็มถัง เขย่ารถเรื่อยๆ แล้วหยอดน้ำมันเพิ่มลงไปช้าๆ เพื่อให้เข้าไปแทนที่อากาศในถัง ซึ่งจะถูกดันออกมา
จนน้ำมันล้นเอ่อขึ้นมาถึงคอถังแบบนี้ และหยอดไม่ลงอีกต่อไปแล้ว เหมือนกับรุ่น CVT คันสีส้ม ทุกประการ ใช้เวลา
ในการเติม ปาเข้าไป เกือบครึ่งชั่วโมงเลยทีเดียว

จากนั้น เรา Set 0 บน Trip Meter ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ ในเมื่อไม่มีตัวเลขอุณหภูมิบอก เราจึงหมุนสวิชต์
เร่งน้ำยาแอร์ ไปอยู่ที่ กึ่งกลาง ในแถบสีน้ำเงิน เปิดพัดลมแอร์เบอร์ 1 สวิตช์ อยู่ในตำแหน่ง A/C On ตลอด

เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว ผม (น้ำหนัก 95 กิโลกรัม และเจ้ากล้วย BnN (น้ำหนัก 48 กิ โลกรัม) เราก็พาเจ้า March
เกียร์ธรรมดา คันสีเงิน ออกจากปั้ม ใช้เส้นทางเดียวกันกับการทดลองในรุ่น CVT เป๊ะ โดย เลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน
มุ่งหน้าไปยังถนนพระราม 6 โดยลัดเลาะเข้าไปที่ หน้าตึกชินวัตร 2 เลี้ยวซ้าย แล้วลัดเลาะ ผ่านออกมายัง โรงเรียนเรวดี
เลี้ยวขวาขึ้นสะพานข้ามคลอง เลี้ยวซ้าย เข้าถนนพระราม 6 ผ่านหน้าตึก TIPCO และ UBC เลี้ยวขวา ขึ้นทางด่วน
ที่ด่านพระราม 6 มุ่งหน้าไปยังปลายสุดทางด่วนสายอุดรรัถยา ที่อยุธยา เลี้ยวกลับที่ปลายทางด่วน จากนั้น ขึ้นทางด่วน
ย้อนเส้นทางเดิมมาอีกครั้ง รักษาความเร็วคงที่เอาไว้ ในระดับ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน ตามเคย

เพียงแต่ คราวนี้ ในช่วงปลายทาง แถวๆ ช่วงคร่อมถนนพระราม 6 หน้าตึก Tipco ตรงสามเสน สภาพการจราจร ชะลอตัว
มีการเคลื่อนตัว ไปเรื่อยๆ ช้าๆ ยังไม่ถึงกับหยุดนิ่ง แต่เชื่อว่า ไม่น่าจะส่งผลกับตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากนัก

เมื่อลงทางด่วน ที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิแล้ว เราขับรถมายังถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับรถที่หน้าโชว์รูมเบนซ์ราชครู
กลับเข้าไปเติมน้ำมัน เบนซิน 95 Techron Gold ที่ปั้ม Caltex แห่งเดิม ตู้เดิม และหัวจ่ายเดิม

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการเติมน้ำมันในช่วงท้าย ดันไปตรงกับเวลา ปิดและเปลี่ยนกะการทำงานของทางปั้มพอดี
ในระหว่างที่เราโขยกๆๆๆ และหยอดน้ำมันเข้าถังกันอยู่ จึงต้องมีการพัก ตัดเปลี่ยนกะ กันสักครู่หนึ่ง ทำให้ต้อง
แบ่งการเติมน้ำมันเป็น 2 รอบ ในระยะเวลาห่างกันไม่เกิน 5 นาที

รอบแรก น้ำมันที่เติมกลับเข้าไป มีปริมาณ 3.78 ลิตร

เมื่อทางปั้ม ตัดเปลี่ยนกะทำงานเรียบร้อยแล้ว เราก็ลุยกันต่อ ทั้งเติมแบบค่อยๆหยอด เขย่าๆๆรถ กันเข้าไป
พนักงานบรการในปั้ม ก็มาช่วยกันมะรุมมาตุ้มเจ้า March น้อย กันอย่างสนุกสนาน ต่างก็ลุ้นอยู่เหมือนกันว่า 
ตัวเลขจะออกมา อยู่ที่เท่าไหร่

ในที่สุด การเติมน้ำมันทั้งหมด ก็เสร็จสิ้นลง น้ำมันเอ่อขึ้นมาถึงคอถัง และไม่สามารถหยอดเพิ่มได้อีก

ตัวเลขน้ำมันที่เติมเพิ่มเข้าไป 1.37 ลิตร เมื่อรวมกับน้ำมันรอบแรก 3.78 ลิตร
เท่ากับว่า เราเติมน้ำมันกลับเข้าไปในถังของ เจ้า March น้อย กันที่  5.15 ลิตร
ซึ่งน้อยกว่ารุ่นเกียร์ CVT นิดหน่อย

เมื่อนำมาหารกับตัวเลขระยะทางที่แล่นไปทั้งหมด จาก Trip Meter อยู่ที่ 93.0 กิโลเมตร พอดีๆ
เหมือนกันับรุ่น CVT เป๊ะ ราวกับนัดกันไว้

ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของ March รุ่นเกียร์ธรรมดา อยู่ที่ 18.05 กิโลเมตร/ลิตร!!!
เป็นไปตามความคาดหมาย!!! ถือได้ว่า เรื่องความประหยัดน้ำมัน March ทั้งรุ่นเกียร์ธรรมดา หรือ CVT
สอบผ่าน ได้อย่างน่าประทับใจ!!! และ ผมไม่มีข้อกังขาใดๆ ในประเด็นนี้ กับเจ้า March น้อยอีกแล้ว!!
แน่ละ ตัวเลขความประหยัดมันขึ้นไปเทียบชั้น เคียงบ่าเคียงไหล่ในระดับเดียวกันกับรถยนต์ HYBRID
ที่ผมเคยทดลองมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น Honda Civic Hybrid, Toyota Camry Hybrid หรือ กระทั่ง เทพแห่ง
รถยนต์ Hybrid อย่าง Toyota Prius ก็ตาม

และหลังจากการเติมน้ำมันในครั้งนี้ เราก็ เซ็ต 0 บน Trip Meter เพื่อจะดูว่า ตัวเลขระยะทาง
ที่น้ำมัน 1 ถังจะแล่นได้จริง มันจะอยู่ที่ประมาณเท่าใด เมื่อถึงเวลานำรถไปคืน ระยะทางที่แล่นไป
ก็ปรากฎตัวเลข ที่ 337.8 กิโลเมตร พร้อมกับ ปริมาณน้ำมันที่ยังเหลืออยู่อีกถึงครึ่งถัง อย่างที่เห็น
ในรูปข้างล่างนี้

ทั้งที่ ในรุ่นเกียร์ธรรมดา ผมพาเจ้ากระจงน้อย วิ่งเล่นไปตามถนนสายต่างๆ เร็วกว่าคัน CVT พอสมควร
ใช้ความเร็วป้วนเปี้ยนกันระหว่าง 80 – 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง บนถนนสายต่างๆ  ทำท็อปสปีด ไป 2 ครั้ง
และ เจอการจราจรติดขัด แค่เพียง บนถนนหน้า มหาวิทยาลัยธุกิจบัณฑิตย์ ตรงประชาชื่น แค่นั้นเลย

อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่า หลายคน น่าจะยังคาใจ ว่า ทำไม ถึงไม่เห็นได้ตัวเลข 20 กิโลเมตร/ลิตร
เหมือนในโฆษณา งานนี้ Nissan โม้ หรือเปล่า? สงสัยทำไมได้จริงม้างงงง เพราะหลายคนที่ว่าหนะ
บอกว่า ขับในเมือง ไม่เห็นได้ตัวเลขดังกล่าวเลย

แหม! อันนี้ก็เถรตรงไปหน่อย อยากบอกว่า Nissan ไม่ได้โม้หรอกครับ และ ยังไงๆ March ก็ต้อง
ทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงให้ได้ระดับ 20 กิโลเมตร/ลิตรจริงๆ ไม่เช่นนั้น รัฐบาลไทย ก็คงไม่ให้
March เขาค่าย ECO Car ได้แน่ๆ

ความจริงก็คือ มาตรฐาน ประการหนึ่ง ทีรัฐบาลไทย กำหนดว่า รถ ในโครงการ ECO Car ควรจะมี
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ระดับ 20 กิโลเมตร/ลิตร นั้น ความจริงแล้ว ไม่ใช่มาตรฐานที่มีขึ้นมาลอยๆ
หากแต่เป็นมาตรฐานของ UNECE ที่ องค์การ United Nations หรือ สหประชาชาติ เป็นผู้กำหนด!!

ถ้าไม่เชื่อ..นี่คือ หน้าตาข้อกำหนดที่ว่า อันที่จริง ก็มีหลายเวอร์ชัน อยู่ใน คอมพิวเตอร์บ้านผมนี่แหละ
แต่ ขอเลือกเอาเวอร์ชันที่มีใบปะหน้า ดั้งเดิมที่สุดเท่าที่จะหาได้ มาให้ได้ชมกัน

ชัดเจนไหมครับ สัญลักษณ์ สหประชาชาติ แปะหราอยู่ให้เห็นกันขนาดนี้ ถ้าอยากรู้ว่า ข้างใน
ของเอกสารข้อกำหนด ฉบับหลัก รวมทั้ง ภาคผนวก ที่มีการอัพเดท เฉพาะในหัวข้อ Regulation 83
ซึ่งนับรวมกันแล้ว มากถึง 391 หน้า (อ่านกันตาเหลือก)  มีอะไรบ้าง ก็จะขอดึงเอามาเฉพาะ
เท่าที่คิดว่า พอจะให้ได้เห็นภาพคร่าวๆ ว่าการทดสอบนั้น ต้องทำอะไรบ้าง อย่างที่จะได้เห็น
ในรูปถัดจากนี้

การทดสอบให้ได้ตามข้อกำหนด UNECE R83 นี้ จะต้องนำรถสำเร็จรูปทั้งคัน ขึ้นไปวัด
บน Chassis Dynamo Meter (ภาษาบ้านเรา เรียกันว่าเครื่อง Dyno) โดยจะต้อง ควบคุมการทดสอบ
ตั้งแต่เริ่มต้น ให้ได้ เป็นไปตามมาตรฐานนี้ ในช่อง Operation จะกำหนดว่า การทดสอบ จะต้อง
ทำอะไรบ้าง ไต่ขึ้นไปที่ความเร็วระดับนั้นระดับนี้ ลดความเร็ว ภายในเวลากี่วินาที (ในช่อง
Duration of each) Cumulative Time คือ เวลาที่ใช้ทั้งหมด ในแต่ละขั้นตอน สรุปว่า ในวินาที
ที่เท่าไหร่ ต้องทำขั้นตอนไหนให้เสร็จ ถึงวินาทีที่เท่าไหร่ จึงจะเริ่มทำขั้นตอนต่อไป

ตารางแรก (Table 1) คือ การขับแบบพื้นฐาน ในเมือง Elementary Urban ใช้ความเร็วสูงสุด แตะที่ไม่เกิน
50 กิโลเมตร/ชั่วโมง ส่วนตารางที่ 2 (Table 2) ซึ่งต้องทำต่อเนื่องเมื่อการทดสอบในขั้นตอนแรกเสร็จสิ้นลง
คือ การขับขี่แบบ Extra Urban คือ ใช้ความเร็วในเมือง เพิ่มมากกว่าขั้น Elementary นิดหน่อย และมักจะ
อยู่ที่ระดับตั้งแต่  50 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง มีอยู่ช่วงหนึ่ง ต้องแช่ไว้ที่ 70 กิโลเมตร/ชั่วโมง นาน 50 วินาที
ที่เหลือ ก็ค่อยๆเพิ่มและลดความเร็วขึ้น-ลง ตามมาตรฐานที่กำหนด จนจบการทดสอบ

ซึ่งถ้านำมาพล็อตเป็นกราฟ ก็จะออกมาเป็นภาพดังนี้…

ถ้าดูเผินๆแล้ว ก็จะพบว่า คล้ายกับ มาตรฐานการทดสอบอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง แบบ 10 – 15 Mode
ของรัฐบาลญี่ปุ่น ที่เพิ่งจะเลิกใช้ไปเมื่อปลายปีก่อน คือ ทำการทดสอบแบบ ตาราง 1 ให้ได้ 3 ครั้ง
แล้ว ทำการทดสอบ ในตาราง 2 อีก 1 ครั้ง นำตัวเลขที่ได้ทั้งหมด มาหาร หาค่าเฉลี่ยกัน

 ส่วนนี่ คือ กราฟที่ขยายการทดสอบในแบบ Elementary Urban ให้ดูกันชัดๆ ว่าการทดสอบแต่ละครั้ง ต้องทำอะไรบ้าง

ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง จากทั้งหมด มากถึง 391 หน้า ที่ผมอยากจะย่อมาให้คุณๆ ได้อ่านกัน

ไม่เพียงแค่ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเท่านั้น แต่คุณยังต้องคำนวนหาปริมาณก๊าซพิษ
ที่รถแต่ละรุ่น ปล่อยออกมาอีกต่างหาก ในข้อกำหนดฉบับนี้ จะมีสูตรการคำนวน ในเรื่องต่างๆ
ให้เสร็จสรรพ ไม่เว้นแม้แต่ การปรับแต่ง Dynamo Meter ให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้
ลักษณะของอุปกรณ์ และห้องที่จะใช้ในการทดสอบ ฯลฯ อีกมากมายล้านแปด

ถ้าดูเผินๆแล้ว ก็จะพบว่า คล้ายกับ มาตรฐานการทดสอบอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง แบบ 10 – 15 Mode
ของรัฐบาลญี่ปุ่น ที่เพิ่งจะเลิกใช้ไปเมื่อปลายปีก่อน คือ ทำการทดสอบแบบ ตาราง 1 ให้ได้ 3 ครั้ง
แล้ว ทำการทดสอบ ในตาราง 2 อีก 1 ครั้ง นำตัวเลขที่ได้ทั้งหมด มาหาร หาค่าเฉลี่ยกัน

ทั้งหมดนี้ เป็นข้อกำหนด ในขั้นตอนการทดสอบ บน เครื่อง Dyno ในห้องแล็บ
อีกทั้งยังใช้เป็นมาตรฐานในการวัดปริมาณก๊าซพิษในไอเสีย ที่เครื่องยนต์ปล่อยออกมา
อีกด้วย ปัจจุบันนี้ มาตรฐานมลพิษจากไอเสียในบ้านเรา ยังคงอยู่ที่ระดับ EURO-III
ขณะที่ รถหลายรุ่น รวมทั้ง March ใหม่ ผ่านมาตรฐษนไอเสีย ไปถึงระดับ EURO-IV
กันเรียบร้อยแล้ว

ดังนั้น ถ้าทำตามมาตรฐานการวัดแบบนี้ ยังไงๆ March ก็จะทำตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
ได้ที่ระดับ เกินกว่า 20 กิโลเมตร/ลิตร ตามที่ประกาศไว้แน่ๆ แต่ในโลกความจริง ไม่น่าจะมีใครหรอก
ที่สามารถขับออกมาได้ตามนี้เป๊ะ บนถนนจริง

นั่นหมายความว่า ตัวเลขที่ Headlightmag.com ทดลองจับอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ให้ดูกันเลยนั้น
ในเมื่อ ออกมาได้ดีถึงระดับ 18.05 และ 17.25 กิโลเมตร/ลิตร นั้นก็ถือว่า March ใหม่ ประหยัดน้ำมัน
ได้ดีเอกอุ เกินกว่าที่คาดการณ์ กันเอาไว้แล้วละ

คราวนี้กระจ่างแล้วนะครับ? ว่าตัวเลข 20 กิโลเมตร/ลิตร ที่ว่าหนะ มันมาได้อย่างไร?
โปรดเข้าใจด้วยว่า ในการขับขี่ ในเมืองจริงๆ ยากที่จะทำตัวเลขได้ดีขนาดนั้นครับ
ไม่ว่ารถอะไรก็ตาม

ยกเว้นอยู่ 2 อย่าง คือ รถไฟฟ้า กับรถจักรยาน…คริคริ

********** สรุป **********
March ใหม่ สมราคา เสมอตัว เครื่องยนต์เจ๋ง แรงเกินคาด
ประหยัดน้ำมันสุดขีดคลั่ง! แต่ยังปรับปรุงต่อยอดให้ดีกว่านี้ ได้อีกเยอะ!

บ่ายวันจันทร์ บนชั้น 15 อาคารนันทวัน ผมพา กระจงน้อยสีเงิน เกียร์ธรรมดา กลับมาคืนทาง Nissan
ในสภาพเรียบร้อยปลอดภัยทุกประการ เหมือน เจ้ากระจงน้อยสีส้มคันก่อนหน้านั้น

พี่เก๋ ฝ่าย CRM ที่บังเอิญ เจอผม คุยกับผู้จัดการฝ่ายการตลาด คุณโต้ง กันที่ หน้าโถงทางเข้าบริษัท
ก็ดูจะแอบประหวั่นพรั่นพรึงอยู่นิดๆ ว่ารีวิวของ เจ้า March คราวนี้ จะออกมาในรูปไหน

เพื่อให้เจ้าตัวสบายใจ ก็เลยบอกชื่อ พาดหัวของรีวิวในครั้งนี้ไป อย่างที่คุณได้เห็นกันนั่นละ
และเพียงแค่นั้น พี่เก๋ ก็โล่งอก…

ครับ มันน่าโล่งอก หากคุณผู้อ่าน เข้าใจในพื้นฐานความจริงประการหนึ่งที่ว่า ไม่มีรถยนต์ รุ่นใด
แบบใดในโลกนี้ ที่ดีที่สุด ประเสริฐเสียจนไม่มีข้อตำหนิใดๆให้ด่าเลยแม้แต่ข้อเดียว ยิ่งกับรถยนต์
ในพิกัด ECO Car ซึ่งเป็นรถยนต์ในระดับพื้นฐาน บ้านๆ มีข้าวของมาให้ เท่าที่จำเป็นต้องมี แล้ว
รถคันนี้ ก็ต้องถือว่า มีทั้งข้อที่ควรปรับปรุง และข้อดี เยอะในระดับพอๆ กัน ขึ้นอยู่กับว่า คุณ เป็นใคร
และมองเจ้ากระจงน้อยคันนี้ ในมุมมองของใคร แบบไหน อย่างไร? 

ถ้าคุณมองรถคันนี้ ในมุมของ ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย อายุ 20-45 ปี ที่เพิ่งเรียนจบ เป็นพนักงานบริษัท
ข้าราชการ หรือเป็นครู ในโรงเรียนรัฐบาล หรือเอกชน ครองโสด หรือยังดูใจกับคนที่คบกันไปก่อน
ทำงานเก็บตังค์มาได้พักใหญ่ หรือไม่ก็ เป็นคุณพ่อบ้าน แม่บ้าน ที่หาซื้อรถเล็กๆสักคัน เอาไว้ขับไป
จ่ายกับข้าวที่ตลาด ไม่ได้มีความรู้เรื่องรถยนต์มากมายเท่าใดเลย แต่จำเป็นต้องซื้อรถยนต์ป้ายแดงสักคัน
ไว้ใช้งาน ในฐานะ รถคันแรก ของชีวิต ที่ซื้อหามาด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง มองโลกในแง่ดี ใจเย็น
คิดบวก มีความอดทน ไม่สนขี้ปากใครมากนัก เข้าใจโลก สังคม พอสมควร ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในเมือง
นานๆ ทีจะขับรถออกต่างจังหวัดซักที อาจจะไปเยี่ยมญาติ หรือไปเที่ยวนอนค้างอ้างแรม สักหนึ่งคืน
แล้วก็ขับรถกลับมาผจญชะตากรรมในเมืองหลวงอันยุ่งเหยิงแต่แอบน่าอยู่ อย่างกรุงเทพมหานคร
หัดขับรถเป็นมาใหม่ๆ หรือ มีประสบการณ์มาแล้ว เกินกว่า 6 เดือน และกำลังนั่งอ่านรีวิวนี้อยู่ เพื่อ
ตัดสินใจครั้งสุดท้าย ว่าเช้าวันพรุ่ง จะพุ่งเข้าไปที่โชว์รูมของ Nissan หรือ โชว์รูมของรถยี่ห้ออื่นกันแน่?

ผมอยากจะบอกว่า March น่าจะเหมาะกับคนที่มี รูปแบบนิสัย และการใช้ชีวิต ในย่อหน้าข้างบนนี้ เปี๊ยบ

เพราะคุณงามความดีของ March นั้น ประเด็นหลักๆอยู่ที่ การออกแบบตัวรถ ให้ เรียบง่าย ทัศนวิสัย
ปลอดโปร่งโล่งโจ้ง ขับง่าย สบายๆ ไม่ยากเย็นเลย ห้องโดยสาร ใหญ่กว่าที่คิด เน้นที่ความสะดวกในการ
ใช้งาน หรือ User Friendly ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เหมาะมากๆ กับคนที่ไม่เคยมีรถมาก่อน
และจะต้องซื้อรถมาใช้งานสักคัน แล่นไปกลับ จากบ้าน ที่ทำงาน ห้างสรรพสินค้าใกล้บ้าน หรือแถมด้วย
โรงเรียนของลูก ขับไปในระยะทางใกล้ๆ ช่วงล่าง เซ็ตมาในแนวนุ่ม (แต่ยังติดกระด้างเล็กๆ เวลาเจอ
ลูกระนาด ในซอยต่างๆ) ระบบเบรก ก็ทำงานได้ดี แม้จะลดขนาดจานเบรกหน้า และดรัมเบรกหลัง
ลงไปนิดหน่อยก็ตาม  

ที่สำคัญ วางเครื่องยนต์ 3 สูบ 1.2 ลิตร ที่ แม้ Nissan จะพยายามกรอกหูว่า มุ่งเน้นความประหยัดน้ำมัน ด้วย
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 18.05 กิโลเมตร/ลิตร ในรุ่นเกียร์ธรรมดา และ 17.25 กิโลเมตร/ลิตร ในรุ่น CVT
จากการทดลอง วิ่ง 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน ตามมาตรฐานของ Headlightmag.com 
แถมยังปล่อยมลพิษต่ำ ระดับ 120 กรัม / 1 กิโลเมตรผ่านมาตรฐานไอเสีย EURO-IV แล้ว

แต่พอเอามาลองขับกันจริงๆแล้ว ยังพบว่า เจ้าเนี่ย มันมีพละกำลังที่แรงเกินคาด ติดปลายนวมมาเผื่อให้ใช้งาน
กันได้อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รุ่นเกียร์ธรรมดา ที่จะพาให้คุณ ลัดเลาะ ไปตามตรอกซอกซอย ได้สนุกสนาน
ขณะที่รุ่นเกียร์ CVT อาจจะอืดนิดนึง กระนั้น อัตราเร่ง ก็ยังไหลลื่น Smooth ใช้ได้ และยังทำอัตราเร่งได้ดี
พอกันกับ รถยนต์ กลุ่ม Sub-Compact B-Segment Sedan / Hatchback บางรุ่นด้วยซ้ำ ท็อปสปีด รุ่น
เกียร์ธรรมดา ปาเข้าไป 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง มิดมาตรวัด! ส่วนรุ่นเกียร์อัตโนมัติ CVT ป้วนเปี้ยนอยู่ที่
162 กิโลเมตร/ชั่วโมง สมรรถนะ ในทั้ง 3 หัวข้อ เห็นชัดเจนอยู่แล้วว่า เครื่องยนต์ HR12DE ตัวนี้ โคตรเจ๋ง!
หากระลึกอยู่เสมอว่ามันมีแค่ 3 สูบ 1.2 ลิตร

นั่นเท่ากับว่า ถ้าคุณ มอง March ในฐานะ รถเล็กคันหนึ่ง ซึ่งไม่รู้จะออกมาวิ่งเยอะแยะเพ่นพ่าน เต็ม กทม.ทำไม
ขับช้าวิ่งขวา เกะกะอยู่ได้ น่ารำคาญ จนถึงกับพยายามจะไล่จี้ตูด ในระยะกระชั้นชิด เพื่อหาเรื่องแกล้งคน ที่ร่วม
สัญจร ใช้รถใช้ถนนร่วมกับคุณ แล้วละก็

ขอบอกว่า ถ้าคุณเห็น โลโก้ มุมขวาล่าง เหนือกันชนหลัง ของ March คันข้างหน้าคุณ แปะแต่คำว่า Pure Drive
เพียงอย่างเดียว และไม่มีคำว่า Xtronic มาให้เห็น กรุณาอย่าได้ไปกวนบาทาซี้ซั้วเชียว มิฉะนั้น คุณอาจจะโดน
คนขับซึ่งคุณก็คงไม่รู้ว่าเป็นใคร กระทืบเบรกใส่ หนึ่งที แล้วก็เร่งเครื่องหนีคุณ ซอกแซก ไปตามสภาพการจราจร
ชนิดที่ คุณเอง ก็อาจจะไล่ตามไม่ทัน อย่างเช่นที่ Volvo 940 คันสีดำ ไฟซีนอนเถื่อน โหลดเตี้ยแป๊ก เจอมาแล้ว
กับ March คันที่ผมขับ ยิ่งถ้ามานั่งคิดกันเล่นๆ แล้ว บนทางยกระดับโทรลเวย์ หรือบูรพาวิถี คุณอาจจะไล่บี้แซง
ขึ้นหน้าไปได้ แต่ถ้า บนทางด่วน ขั้นที่ 1 หรือขั้นที่ 2 ซึ่งมีปริมาณรถหนาแน่น เชื่อเถอะ คุณไล่ตาม เจ้ากระจงน้อย
เกียร์ธรรมดา พร้อมคนขับที่บ้าระห่ำ กระหน่ำมุดราวกับกำลังเข้าโหมด ไล่ล่าตามหากิ๊กที่หนีไปคบชู้กับสามีใหม่
ไม่มีทางทันหรอก (ถ้าเจ้ากระจงน้อย ไม่เสียหลักพลิกคว่ำไปก่อนนะ)

อย่างไรก็ตาม เมื่อเรามองเห็นถึงข้อดีของ March กันไปหมดแล้ว ถ้ากลับมามองในแง่มุมของผู้บริโภค
March ใหม่ ยังมีสิ่งใดที่ยังจะสามารถปรับปรุงต่อเนื่องไปได้อีก?…ก็ไม่น้อยนะ หลายเรื่องอยู่

สิ่งที่เราเป็นห่วง และอยากเห็นการปรับปรุงใน March ใหม่รุ่นนี้ ประเด็นหลักๆ ก็คงจะเป็นเรื่องเดิมเดียวกับ
ที่เคยบอกไปแล้ว ในรีวิว ฉบับ World First Exclusive First impression นั่นคือ การตอบสนองที่น่างุนงง ของ
พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า ในรถรุ่น CVT คัน Product Trial ที่ส่งมาให้เราทดลองขับกัน ว่ามันยังคงไร้ชีวิตชีวา
แถมในบางจังหวะ ยังเอาแน่เอานอนไม่ได้เลย บางจังหวะ ก็หมุนคล่องแคล่วดี แต่บางจังหวะกลับจะต้อง
ขืนพวงมาลัยกันพอสมควร โดยเฉพาะในชวงความเร็วต่ำๆ เพื่อจะบังคับทิศทางรถไปตามต้องการ

แต่ ในรุ่นเกียร์ธรรมดา อาการดังกล่าวข้างบนนี้ กลับหดหายไปพอสมควร จนทำให้พอจะยอมรับกับการตอบสนอง
ของพวงมาลัยชุดนี้ ได้ในระดับหนึ่ง ดังนั้น เผลอๆ ผมอาจจะต้องรอพิสูจน์ รถรุ่น CVT ที่ปล่อยออกสู่ตลาดจริง
กันอีกสัก 2-3 คัน ว่าปัญหาที่ผมพูดถึงนี้ ยังหลงเหลืออยู่อีกหรือไม่ เท่ากับว่า ประเด็นนี้ อาจต้องขอแปะโป้งกันไว้ก่อน

หรือหาก Nissan จะแก้ปัญหานี้ ล่วงหน้าไปก่อนที่ผมจะมีโอกาสพิสูจน์ ตามที่บอกไป ให้นำเอาพวงมาลัยของ
Suzuki Swift รุ่นปัจุบัน ที่กำลังจะตกรุ่น และ Mazda 2 มาชำแหละศึกษาดู หรือถ้าจะปรับแก้กันในเบื้องต้น โดย
ไม่อยากถึงขั้นต้องพัฒนากันใหม่ทั้งชุด ให้เอาพวงมาลัยของ Nissan TIIDA 1.6 นั่นละ มาจับอาการ แล้วช่วยเซ็ต
ออกมาให้ได้ ตามนั้น แก้ขัดไปก่อน ก็ถือว่ายังพอรับได้ แต่อย่าลืม เพิ่มระดับการแปรผันความหนืดของพวงมาลัย
ในย่านความเร็วสูงขึ้นอีกนิดหน่อย จะขอบคุณหลายๆ เพราะถ้าต้องเปลี่ยนเลน ในช่วงความเร็วสูง ถือว่า พอมี
อาการให้เสียวเล่นอยู่เหมือนกัน เพราะในเมื่อ สมรรถนะของเครื่องยนต์ มันดีเอกอุขนาดนี้ การปรับแต่งพวงมาลัย
จึงควรทำ เพื่อรองรับการบังคับควบคุม ของผู้ขับให้ได้เหมาะสมกับพละกำลังของเครื่องยนต์ อย่างไรก็ตาม อย่าลืม
คงความนิ่ง และเที่ยงตรง ในขณะวิ่งทางตรงยาวๆ แบบนี้เอาไว้ด้วย พักหลังนี้ Nissan แก้ปัญหาเรื่องความนิ่งของ
พวงมาลัยได้ดีขึ้น ในรถรุ่นใหม่ๆ หลายๆรุ่น เมื่อเทียบกับ รุ่นก่อนๆ ช่วง 15 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่ระบบเกียร์ ทำงานราบรื่นดี แต่ในเกียร์ธรรมดา ยังพอมีเสียงหอนเล็กๆ ครางมาให้ได้ยินจางๆ ในช่วง
เกียร์ 4 ความคลอนของคันเกียร์ ระยะแป้นคลัชต์ที่สูงไปหน่อย ระยะฟรีเยอะไปนิด ของพวกนี้ ปรับตั้งได้
ไม่น่าลำบากคนโรงงาน บางนา – ตราด กม. 21 เท่าใดนัก ส่วนรุ่นเกียร์ CVT นอกเหนือจากที่พบอาการ คราง
“โง้งงงง โง้งงงงง โง้งงงงงง” ตอนถอยหลัง ในรถทดลองประกอบ Product Trial แล้ว ก็ยังไม่เจออาการอื่นใด
นอกเหนือไปจากนั้น

นอกเหนือจากนี้ ประเด็นอื่นๆ ก็คงจะอยู่ที่ การจัดการภายในห้องโดยสาร เราอยากเห็นเบาะหลัง แยกฝั่งพับได้
โผล่มา อย่างน้อย ในรุ่นท็อป และรองท็อป ก็ยังดี ขณะเดียวกัน เบาะคู่หน้า ถ้ามีการออกแบบให้กระชับกับสรีระ
ได้มากกว่านี้อีกสักนิด และมีเบาะรองนั่งที่ยาวกว่านี้ ทำมุมเงยขึ้น รองรับกับต้นขามากกว่านี้อีกนิดนึง ก็คงจะ
นั่งขับนานๆ ได้สบายกว่าที่เป็นอยู่ พนักศีรษะ ของเบาะคู่หน้า ถ้าปรับมุมองศาได้ คล้ายกับใน TIIDA หรือ
TEANA ก็น่าจะช่วยลดอาการปวดต้นคอ ของคนตัวสูงได้พอสมควร

แถมด้วยพนักศีรษะของเบาะหลัง ซึ่งควรทำขึ้นมาให้สูงกว่านี้ และใช้งานได้จริงจังกว่านี้อีกนิด ขึ้นรูปเป็นชิ้นเดียวกัน
กับพนักพิงอย่างที่ทำอยู่นั่นแหละดี ประหยัดต้นทุน และสามารถออกแบบไม่ให้บดบังทัศนวิสัยด้านหลังได้อยู่ ส่วน
แผงประตู มีที่วางแขนใหญ่กำลังดี แต่ถ้าจะปรับเบาะแต่ละที ต้องเปิดประตูรถกันเลย แบบนี้ก็เห็นทีจะไม่ไหวนะครับ

แต่…พอบอกว่า ราคาค่าตัวของฝูงกระจงน้อย รุ่นนี้ ถูกตั้งเอาไว้ เริ่มต้นเพียง 375,000 บาท ถึง 537,000 บาท 
ราคาที่ได้รับประโยชน์ จาการที่ ภาครัฐ ช่วยส่งเสริม รถเล็ก ECO Car โดยเก็บภาษีสรรพสามิต หน้าโรงงาน เพียง
17 % ก็ทำให้ ข้อที่ต้องปรับปรุงทั้งหลายที่ร่ายมาทั้งหมด กลายเป็นสิ่งที่ “พอจะยอมรับกันได้” ในสายตาของพวกเรา
และผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยเลย ขึ้นมาทันที  

ถ้ายังตัดสินใจไม่ถูกว่าจะซื้อ March ดี หรือจะเดินเข้าโชว์รูม รถยี่ห้ออื่น โดยเพิ่มเงินขึ้นไปเล่น รถยนต์ระดับ
Sub-Compact B-Segment เครื่องยนต์พิกัด 1.4 – 1.5 ลิตร ดีกว่ากัน?

ตอบคำถามตัวเองให้ได้ก่อนว่า ชีวิตของคุณ ต้องการอะไรจากรถ 1 คัน? เพราะรถในกลุ่มนี้ จะให้ความประหยัดน้ำมัน
ระดับ 14-16 กิโลเมตร/ลิตร ในการเดินทางไกล (ในเมืองน่าจะอยู่แถวๆ 11-13 กิโลเมตร/ลิตร) และความปลอดภัยในระดับ
เพียงพอรองรับเหตุการณ์ได้ ในระดับ ปานกลาง และเดินทางไกลได้แน่ๆ สบายๆ โดยไม่ต้องหวั่นไหว ต่อพละกำลัง
หรือการแซงรถบรรทุก อะไรทั้งสิ้น เป็นมาตรฐานกันทุกคัน อยู่แล้ว

และที่แน่ๆ คุณเองก็น่าจะเป็นกลุ่มลูกค้า ที่รับได้อยู่แล้ว กับตัวถังในแบบ รถยนต์ท้ายตัด Hatchback 5 ประตู
ไม่เช่นนั้น คงไม่มอง March แต่แรก หรอก ถูกไหม?

ถ้าต้องการพื้นที่ใช้สอย เยอะเกินพิกัด เพราะเป็นพวกบ้าหอบฟาง ความสบายในการเดินทางกับผองเพื่อน 4-5 คน
คือเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน ที่เด็กมหาลัย หรือวัยเพิ่งเริ่มทำงาน อย่างคุณ มองหา  ทัศนวิสัยด้านหน้า อาจแปลกตา
แต่ไม่ใช่ปัญหาสำหรับคุณ เป็นคนเปิดกว้างรับสิ่งใหม่ๆ ในชีวิต ได้ดี เดินเข้าโชว์รูม Honda แล้ว ขอลองขับ Jazz
แต่บอกใบ้ให้นิดนึงว่า City ขับนุ่มนวลกว่านิดนึง ตำแหน่งเบาะเตี้ยกว่า ไม่กี่มิลลิเมตร แต่ห้องโดยสาร นั่งสบาย
มากกว่ากันอย่างชัดเจน แน่ละ Best Sub-Compact Sedan in its class นี่หว่า!

ถ้าต้องการรถขับสนุก ช่วงล่างดี เลี้ยวได้คล่องตัว เป็นคนเพื่อนไม่เยอะ ไปด้วยกันอย่างมาก ไม่เกิน 2-3 คน แต่
ทำใจได้กับอัตราเร่ง ของรุ่นเกียร์อัตโนมัติ ที่อาจจะด้อยกว่าชาวบ้านเขา เดินเข้าโชว์รูม Mazda แล้วขอพี่เป้ อารักษ์เขา
เอ้ย…ทดลองขับ Mazda 2 จะเป็นตัวถัง Sedan หรือ Hatchback ก็แล้วแต่ เพราะมันเหมือนกันทั้งคู่ ต่างกันที่มีหรือไม่มี
บั้นท้าย แค่นั้นเลย

ถ้าต้องการ รถที่มีโปรโมชันดีๆ ขับขี่ใช้การได้ อาจจะทนเมื่อยจากเบาะบ้างนิดหน่อย ศูนย์บริการทั่วไทย อะไหล่เพียบ
ถูกแพงบ้าง เป็นบางชิ้น ราคาขายต่อ คือสิ่งที่คุณห่วง เพราะกะว่าจะไม่ใช้รถคันใหม่ นานนัก วัสดุ คุณภาพใช้ได้
เดินเข้าโชว์รูม Toyota แล้ว ขอลองขับ Vios หรือ Yaris (แต่เชื่อเถอะ ถ้าในกรณีที่เลือก Toyota คุณอาจจะได้ถอย
Vios แทนที่จะเป็น Yaris)

ถ้าเป็นคนไม่ยึดติดกับแบรนด์ ชอบโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย รับได้กับการที่เครื่องยนต์ 1.4 ลิตร จะอืดอาดกว่า
เครื่องยนต์ 3 สูบ 1.2 ลิตรของ March ไม่ใช่คนชอบขับรถเร็วนัก รับได้กับการบริการหลังการขาย เดินเข้าโชว์รูม
Chevrolet และขอทดลองขับ Aveo ซึ่งจะว่าไปแล้ว คุณควรเล่นรุ่น 1.6 ลิตร ที่ยกเครื่องยนต์ จาก Optra 1.6 มาวางใส่
ทั้งดุ้น ไปเลยน่าจะดีกว่า แต่นั่นก็อาจจะแพงเกินงบที่ตั้งใจไปพอสมควร

ถ้าอยากได้รถที่สดใหม่ เทคโนโลยี World Class ก็อดใจรอดู Ford Fiesta กันก่อนก็ได้ แต่อย่าเพิ่งคาดหวังจาก
เครื่องยนต์ เบนซิน 1.4 ลิตร ของ Ford มากนัก เพราะเห็นได้ชัดเจนว่า รุ่น 1.6 ลิตร น่าคบหากว่า ไม่น้อยเลยทีเดียว

แต่ ถ้างบของคุณ ไม่มากพอ และมองว่า ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินแพงๆ อีก 5-7 หมื่นบาท (ไม่รวมดอกเบี้ยเงินผ่อน
ประมาณ 3 % บวก ลบ) แต่อยากได้รถที่มีขนาด ห้องโดยสาร พอกัน กับ Sub-Compact B-Segment ทั้งหลาย 
ไว้ขับไปทำงาน ไปส่งลูก ไปเที่ยวห้าง ไปเที่ยวต่างจังหวัดบ้าง เป็นคนขับรถไม่เร็ว แต่อยากได้รถที่มีอัตราเร่ง พอแก่
การขับแซงบนทางหลวงในบางโอกาส และความประหยัดน้ำมัน กับค่าบำรุงรักษา คือเรื่องใหญ่โต มากที่สุดสำหรับคุณ 
เพราะภาระทางบ้านเยอะอยู่แล้ว เดินเข้าโชว์รูม Nissan แบบไม่ต้องคิดมากเลยครับ March น่าจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสุด

แต่ทีนี้ ถ้าตัดสินใจได้แล้วว่า จะเดินเข้าโชว์รูม Nissan เพื่อสั่งจอง March ควรมองรุ่นไหนดี ถึงจะเหมาะสมและคุ้มค่า?

รุ่น 1.2 S เกียร์ธรรมดา ราคา 375,000 บาท นั้น ไม่มีออพชันอะไรมาให้ เกินเลยไปกว่า ถุงลมนิรภัยฝั่งคนขับ 1 ใบ
เครื่องปรับอากาศ และล้อเหล็ก 14 นิ้ว ซึ่งไม่มีฝาครอบล้อ แถมยังไม่มีมาตรวัดรอบ ไม่มีวิทยุมาให้ และมีสีให้เลือกแค่
ม่วง Lilac สีเงิน และสีดำ เท่านั้น ดูจะเป็นรุ่นที่เหมาะสมแก่การใช้งานเป็นรถยนต์ของพนักงานในบริษัท เอาไว้วิ่ง
ติดต่องาน หรือ บริการลูกค้าเล็กๆน้อยในแนว Bussiness User มากกว่า

ในขณะที่ รุ่น 1.2 E เพิ่มออพชันเป็น มาตรวัดรอบ เซ็นทรัลล็อก กระจกหน้าต่างไฟฟ้า กระจกมองข้างปรับด้วยไฟฟ้า
ฝาครอบล้อ แบบเต็มวง และวิทยุ CD/MP3 + AUX 4 ลำโพง ราคาก็เพิ่มเป็น 425,000 บาท ในรุ่น 1.2 E เกียร์ธรรมดา
(คันสีเงินที่เห็นอยู่ในรีวิวนี้) และ 459,000 บาท ในรุ่น 1.2 E CVT เท่าที่นั่งกางแค็ตตาล็อก และสเป็กดูกันอย่างละเอียดแล้ว
2 รุ่นนี้ คือรุ่นย่อย ที่น่าคบหา มากที่สุด เพราะ มีอุปกรณ์ จำเป็นต่อการดำรงชีพ บนถนนในเมืองหลวง ราคาไม่แรงเกินไป
ข้าวของฟุ่มเฟือย ที่บางคนอาจมองว่าไร้สาระ ก็ถูกตัดทอนหายไป ที่แน่ๆ ทั้งคู่ยังมีถุงลมนิรภัยมาให้ 1 ใบ ฝั่งคนขับ
แม้จะไม่มีระบบเบรก ABS + EBD มาก็ตาม แต่ ถือว่า เพียงพอ และพอเพียงมากๆ ราคานี้ ถือว่า เหมาะสมมากๆ
กับสิ่งที่ Nissan เขามีมาให้

ส่วนรุ่น 1.2 EL CVT ที่ใส่ออพชันหรูๆ เพิ่มขึ้นมา เพิ่ม มาตรวัด Multi-Display ระบบ Push Start กุญแจ Immobilizer
(แต่ไม่มีรีโมท?) เซ็นเซอร์ กะระยะ ถอยหลัง 4 จุด ที่กันชนหลัง กระจกมองข้างพับด้วยไฟฟ้า กระจังหน้าลายโครเมียม
ราคาก็พุ่งไปเป็น 489,000 บาท รุ่นนี้ ถือว่า เพียงพอ อีกเช่นกัน สำหรับใครที่อยากได้ลูกเล่นความสะดวกสบายเพิ่มเติม
เล็กๆน้อย โดยไม่จำเป็นต้องซื้อรุ่นท็อปที่แพงกว่านี้ แต่อย่างใด

เพราะเมื่อมองขึ้นไปดูรุ่น 1.2 V CVT กลับยกเอาออพชัน ในรุ่น 1.2 EL ออก แต่มีกุญแจรีโมท ล้ออัลลอย 15 นิ้ว และ
ระบบเบรก ABS + EBD มาให้ แม้ว่าจะเหมาะกับคนที่ไม่อยากได้อุปกรณ์อำนวยความสะดวกเก๋ๆ เหล่านั้น แต่ราคา
ก็ถือว่า ค่อนข้างแพงไปหน่อย เพราะ ราคาเพิ่มเป็น 507,000 บาท และยิ่งเป็นรุ่นแพงสุด 1.2 VL CVT มีทุกออพชัน
มาให้ครบทั้งหมด ราคาอยู่ที่ 537,000 บาท ราคานี้ ถือว่าค่อนข้างสูงเกินไปจากที่หลายคนคาดหวังมาก

เพราะในราคาของ รถระดับ ECO Car นี้ หากเกินกว่า 5 แสน บาทขึ้นไป นั่นหมายความว่า Toyota Vios รุ่น J เกียร์ธรรมดา
514,000 บาท เกียร์อัตโนมัติ 4AT 549,000 บาท จะกลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจทันที กระนั้น ต้องทำใจว่า ไม่มีถุงลมนิรภัย
มาให้สักใบ ระบบเบรก ABS + EBD ก็ไม่มีมาให้

ซึ่งก็คงต้องหันไปดู Mazda 2 จะเป็นตัวถัง Hatchback หรือ Sedan ก็ตาม เกียร์ธรรมดา ราคาก็เริ่มต้นที่ 535,000 บาท และ
เกียร์อัตโนมัติ  564,000 บาท แต่มีถุงลมนิรภัยฝั่งคนขับมาให้ 1 ใบ และมี ABS + EBD มาให้ ดูจะกลายเป็นทางเลือกที่
คุ้มค่ากว่า อย่างชัดเจน เพราะอย่างน้อย ทั้งคู่ ก็มีกุญแจรีโมทมาให้ เหมือนกัน

เงินที่ต่างกันเพียงเล็กน้อย หากเป็นการจ่ายเงินสด มันอาจเป็นความแตกต่างที่ ผิดกันลิบลับ สำหรับบางครอบครัว
แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่คุณเลือกชำระแบบเงินผ่อน ขอให้ดูส่วนต่าง ที่จะต้องผ่อนต่อเดือน ของแต่ละรุ่นให้ดีๆ เพราะบางที
ผ่อนต่างกันเดือนละไม่กี่บาท คุณก็อาจจะได้อุปกรณ์อำนวยความสะดวกเพิ่มเติมมากขึ้น สมกับเงินที่ต้องจ่ายออกไป
ดังนั้น ไปคำนวนดูกันให้ดีๆ เอาเองนะครับ

อย่างไรก็ตาม การที่ Nissan March สอบผ่าน ความต้องการพื้นฐานของผู้บริโภค และชนะใจลูกค้ากลุ่ม First time Car buyers
มันก็เลยทำให้ Nissan ต้องเผชิญกับปัญหาใหม่ เพิ่มขึ้นมาอีกประเด็นหนึ่ง อย่างมิได้ตั้งใจ แต่ต้องเร่งแก้ไขกันอย่างด่วนเลย
ก็คือ “รอรถนานมากกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกก!”

เรื่องแบบนี้ มักเกิดขึ้น เป็นประจำกับ Nissan มาตั้งแต่อดีตกาลนาน แล้ว สมัยก่อน ยุคปี 1990 ถ้ายังจำกันได้
Cefiro A31 เป็นรถที่นอกจากจะดึงชื่อ Nissan ให้กลับมาโด่งดังอีกครั้งหนึ่งแล้ว ยังเป็นรถอีกรุ่นที่น่าจดจำในฐานะ
ยอดจอง รอนานที่สุดรุ่นหนึ่ง ในปีนั้น เลยทีเดียว ต่อมา พวกรถนำเข้า ทั้ง Presea และ Primera ก็มีปัญหาคล้ายกัน
คือ ลูกค้าอยากได้เยอะ แต่รถที่สั่งเข้ามา มันน้อย มีเท่าไหร่ ก็ขายหมด ต้องสั่งเข้ามาเพิ่ม ทีนี้ ลูกค้าก็รอไม่ไหว
ถอนจอง เลิกรอ ทีนี้แหละ รถที่สั่งเพิ่มเข้ามา ก็เลยค้างคาอยู่ในสต็อกอยู่พอสมควร กว่าจะขายหมดได้ ก็พักใหญ่เลยทีนี้

คราวนี้ ก็เช่นเดียวกัน ปัญหาเดิม เกิดขึ้นอีกแล้ว สิ่งที่น่าปวดหัวก็คือ ทุกวันนี้ โรงงาน Nissan ที่บางนา – ตราด กม. 21
ไม่เพียงแต่จะต้องเร่งปั้มเจ้ากระจงน้อย ให้ครบตามจำนวนยอดสั่งจองตามดีลเลอร์ทั่วประเทศ กว่า 16,000 คันแล้ว
ยังต้อง ปั้มเจ้ากระจงน้อย เพื่อตลาดส่งออก เช่นญี่ปุ่นอีกด้วย ซึ่งที่นั่น ก็ต้องการรถล็อตใหญ่ๆ ในปริมาณมาก เพื่อ
ให้พร้อมกับการเปิดตัวในญี่ปุ่น ที่จะตามมาหลังจากนี้

ดังนั้น ใครที่จองไปแล้ว และกำลังคิดจะลงชื่อจอง ในรุ่นที่ผลิตออกมาไม่ค่อยเยอะนัก ถ้าคุณรอ ต่อไป แม้ Nissan
จะไม่ยอมบอกว่า ลูกค้าที่จองวันนี้ จะได้รถเมื่อไหร่ และพวกเขา เพียงแต่บอกว่า “เราจะพยายามเร่งผลิตรถที่มีคุณภาพ
เพื่อส่งมอบให้ทันและครบถ้วนตามความต้องการของลูกค้าอย่างดีที่สุด และเร็วที่สุด” (ทั้งปีทั้งชาติแหละ ที่บริษัทรถทุกค่าย
ก็มักจะตอบกันแบบนี้ เวลาเจอปัญหาผลิตไม่ทันใจลูกค้า) เมื่อประเมินดูแล้ว คาดว่า น่าจะต้องใช้เวลา ราวๆ 3 เดือนเศษๆ
กว่าที่จะส่งมอบรถทั้งหมดได้ ครบ ดังนั้น ถ้าไม่รีบร้อน รอได้ ก็รอไปเถิด แต่ถ้ารอไม่ไหว ถอนจองไปเล่นยี่ห้ออื่น ก็รอนาน
น้อยกว่ากันนิดนึง น่าจะไม่ถึง 2 เดือน

แต่ถ้าใครที่กำลังจะได้รับรถแล้ว หรือ รับรถไปแล้ว ก็ต้องขอแสดงความยินดีด้วยครับ
รถ เครื่องเท่านี้ แต่วิ่งได้ขนาดนี้ แถมประหยัดน้ำมันตั้งเท่านี้ อย่าคิดมากครับ ขับไปเหอะ!!

ก่อนจากกัน…
ผมอยากจะฝากบอกกับ Mr.Noritaka Tsuru ผู้ดำรงตำแหน่งเป็น General Manager, Vehicle Project Purchasing.
อีกทั้งยังเป็น Former V-Platform Chief Engineer.ในฐานะ ที่ เขาเป็น Car Guy ตัวกลั่น คนหนึ่ง ของ Nissan ว่า

จากที่เจ้าตัวเคย ให้สัมภาษณ์ ลงใน เอกสารเผยแพร่ของ Nissan Motor เกี่ยวกับเจ้า March ว่า “I’m sure customers
will love the car. They will be attracted by its fun, stress-free city driving and low cost of ownership.” 
ซึ่งก็แปลได้ว่า “ผมเชื่อว่า ลูกค้าจะรักรถคันนี้ พวกเขาจะติดใจการขับขี่ในเมือง ที่สนุก ปราศจากความเครียด และ
ค่าบำรุงรักษาต่ำ”

ลูกค้าจะรักรถคันนี้หรือเปล่า? ผมอาจจะตอบคำถามนี้ แทนลูกค้าของ Nissan ที่ซื้อ March ไปแล้วไม่ได้เต็มปาก

ถ้าผม เป็นกลุ่มลูกค้าที่ไม่ได้รู้เรื่องรถยนต์มากมายเลย เหมือนเช่นที่เขียนไปใน ย่อหน้าสรุป ช่วงที่ 2 ข้างบนนี้
ผมคงจะตกหลุมรัก March ไปเลยแน่ๆ รถเล็ก บ้าอะไรวะ แรงกำลังดี ประหยัดใช้ได้ แต่งต่อได้อีกนิดหน่อย มาใน
ราคาแค่ 4 แสนกว่าบาท (รุ่น Well Equiped ประมาณ 1.2 E เกียร์ธรรมดา หรือ 1.2 EL นะ) รถแบบนี้ ห่างหาย
จากตลาดเมืองไทยไปนานมากแล้ว และก็ยังดีใจ ที่ Nissan ทำกลับมาให้ลูกค้าทั่วไปได้ซื้อหามาใช้งานกัน

แต่…ถ้ามองในฐานะผม ที่ทำงานด้านรถยนต์อยู่อย่างนี้ บ้ารถกันขนาดนี้ เรียกได้ว่า ผมและครอบครัวของเรา
ถือเป็น แฟนพันธ์แท้ของ Nissan เพราะรถแทบจะทุกคันในครอบครัวของเรา เป็น Nissan เกือบทั้งหมด ตั้งแต่
รถเก๋ง ยันรถกระบะส่งของ แต่แอบมี Honda Toyota และ Ford โผล่มายี่ห้อละ 1 คันเท่านั้น

March ไม่ตอบโจทย์ความต้องการส่วนตัวของผมเลย และผมคงไม่ซื้อมาขับเองแน่ๆ

ย้ำกันตรงนี้เลยให้ชัดว่าๆ ไม่ใช่ว่า March ไม่ดีพอ เจ้ากระจงน้อย มีคุณงามความดีใช้ได้ เมื่อเทียบกับ ค่าตัวของมัน
เพียงแต่ว่า รถคันนี้ สร้างขึ้นมา ไม่ได้ตอบโจทย์ ลูกค้าอย่างผม ที่อยากซื้อรถประเภท Nissan Sunny/Sentra RZ1 B12
เครื่องยนต์ CA16DE 123 แรงม้า ปี 1988 กลับชาติมาเกิดในยุคนี้ แต่แรงกว่านั้น จาก Nissan มากกว่า หารถเล็กๆ ระดับ
Sub-Compact หรือ Compact ติดมาดสปอร์ตเยอะหน่อย มาแต่งต่อเอง ถ้าไม่ใช่การเอารถรุ่นที่มีอยู่แล้ว มาใส่ Aero Part
เพิ่มเติม แล้วบอกว่ามันมีอารมณ์ Sport ละก็ ดูเหมือนว่า Nissan จะห่างหายจากการทำรถประเภทนี้ ไปนานแล้วนะ
รถที่วัยรุ่น อยากเอาไปแต่งต่อ อยากเอาไปอัดกับ Honda Civic ได้อย่างเต็มภาคภูมิ บนพื้นฐานระบบขับเคลื่อนล้อหน้า
ของ TIIDA หรือไม่ก็ Sylphy ที่น่าจะช่วยกดต้นทุนให้ถูกลง เครื่องยนต์ก็เอาพื้นฐานจาก HR16DE นี่แหละ มาปรับปรุง
ต่อยอดไป เพราะศักยภาพของหมอนี่มันเจ๋งไม่ใช่เล่นเลย เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์ในพิกัดเดียวกันของค่ายญี่ปุ่นอื่นๆแล้ว
เอาง่ายๆ มันควรจะเป็น Z Junior หรือไม่ก็ Silvia Junior (But in the FF Layout) ซึ่งเท่าที่ทราบมา Nissan ก็กำลัง
แอบซุ่มทำรถประเภทนี้กันอยู่แล้ว

และต่อให้ถาม คุณพ่อผม ซึ่งก็ติดอกติดใจแต่รถ Nissan มาช้านาน ก็ให้ความเห็นกับเจ้า March ใหม่คันนี้
เอาไว้ว่า “ถ้ามองเทียบกับเงินสมัยนี้ ก็ถือว่าเหมาะสมกับคุณภาพ แต่ถ้าถามว่าตอบโจทย์ไหม กับการ
นั่งโดยสาร ดูวัสดุที่ให้มาแล้ว มันน้อยไปนิดนึง มันดูประหยัด และดู Save เกินไป แต่ March ก็เหมาะ
สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มจะมีรถคันแรก เพื่อไปวิ่งใช้งานในเมือง และฐานะทางการเงิน ยังเพิ่งอยู่ในระดับ
เริ่มต้นก่อร่างสร้างตัว และ มันดีกว่า การใช้รถมือสอง ในระดับราคาถูกแพงกว่ากันไม่กี่หมื่นบาท”

ผมคงไม่ต้องพูดอะไรมากไปกว่านี้แล้ว คำพูดของคุณพ่อผม สรุปทุกสิ่งอย่างที่อยากจะพูดเอาไว้หมดเลย
งานนี้ คุณพ่อ แย่งผมพูดไปหมดเกลี้ยง ไม่เหลืออะไรไว้ให้ลูกชายตัวแสบ ปิดท้ายบทความกันเลย

ดังนั้น ก็คงต้องขอทิ้งท้ายเอาไว้เพียงเท่านี้
จากแฟนพันธ์แท้ และคนรัก Nissan ตัวยง
ที่ยังคงเฝ้ามองบริษัทนี้ ด้วยความเป็นห่วงเป็นใย

เพราะยังคงมีอีกหลายเรื่อง รอให้ด่าได้เช้าเย็น ทุกวัน เหมือนเช่นเคย!

เป็นธรรมดาครับ ยิ่งรักมาก ยิ่งต้องด่าทอให้มากๆ จะได้ปรับปรุงกัน ให้ดีขึ้น
ลูกค้าจะได้แฮปปี้ ทุกฝ่ายก็จะได้มีความสุขร่วมกัน อย่างที่ควรจะเป็น เสียที
!!

————————————————–///————————————————

ขอขอบคุณ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Nissan Motor (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย เป็นผลงานของผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย และคอมพิวเตอร์กราฟฟิค จากต่างประเทศ
เป็นลิขสิทธิ์ของ Nissan Motor Co.,ltd ประเทศญี่ปุ่น
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นอันขาด!!
6 มิถุนายน 2010

Copyright (c) 2010 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
July 06, ,2010

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่

UPDATE!! Clip Video ทดลองขับ เสร็จแล้ว คลิกดูได้ ที่นี่