ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 9 ปีก่อน ทาง Teknikens Varld.se เคยมีการทดสอบ
หักหลบสิ่งกีดขวางแบบ ซ้าย-ขวา-ขวาอย่างรวดเร็ว และมีการประกาศผลว่า
Toyota Hilux (สเป็คสวีเดน) สอบตก เนื่องจากตัวรถมีแนวโน้มที่จะพลิกคว่ำ
ระหว่างการหักหลบได้แม้ว่าจะไม่ได้ใช้ความเร็วสูงกว่าคู่แข่งก็ตาม
เช้านี้ ในเดือนตุลาคม ปี 2016 ดูเหมือนประวัติศาสตร์หน้าเดิมจะย้อนกลับมาเยือน
Toyota อีกครั้ง เมื่อสื่อมวลชนเจ้าเดิม ได้ทำการทดสอบหักหลบซ้ายขวาอย่าง
รวดเร็ว (Moose Test) และให้ความเห็นว่า ระยะเวลาที่ผ่านไปไม่ได้ทำให้ Hilux
รุ่นใหม่นั้นดีขึ้นอย่างที่ควรเป็น
ทั้งนี้ ก่อนอ่านบทความ ที่เหลือ ผมอยากให้ทำความเข้าใจกันก่อนว่า
1. บทความนี้ไม่ได้ทำมาเพื่อฟันธง ว่าใครห่วย ใครเจ๋ง แต่พูดกันตามที่เห็น และ
ใช้ข้อมูลที่แปลมาจากเว็บไซต์ของทาง Teknikens Varld เอง
2. รถ Hilux Revo คันสีแดง เป็นรถสเป็คสวีเดน ซึ่งเป็นรุ่นที่ใช้ล้อขอบ 18 นิ้ว
3. ทาง Teknikens Varld ได้ทำการทดสอบรถรุ่นที่ใช้ล้อ 17 นิ้วเหมือนของ
ประเทศไทย และพบว่าอาการตอบสนองของรถ มีลักษณะเป็นอันตรายน้อยกว่า
แต่ก็ยังไม่ดีเท่าคู่แข่ง
4. รถปิคอัพทุกคันที่เข้าทดสอบครั้งนี้ มีระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว
5. ในการทดสอบ Moose Test โดยปกติจะมีการบรรทุกน้ำหนักเต็มอัตรา
ตามที่ผู้ผลิตแจ้งกับทางเว็บไซต์ ซึ่งของ Hilux แจ้งไว้ 1,002 กิโลกรัมก็จริง
แต่เวลาทดสอบจริง ทาง Teknikens Varld ใส่น้ำหนักบรรทุกไปแค่ 830
กิโลกรัม (รวมคนขับและผู้โดยสาร 4 คน)
โดยที่เว็บไซต์ของ Teknikens Varld ได้มีการเขียนอธิบายเอาไว้เอาไว้ว่า
จะรักษาความเร็วก่อนหักเลี้ยวเอาไว้ที่ 37 ไมล์/ชม. (59.2 กิโลเมตร/ชม.)
ซึ่งเป็นความเร็วที่พวกเขาเชื่อว่ารถส่วนมาก ควรจะผ่านได้โดยไม่เกิดเซอร์ไพรส์
ภายใต้เงื่อนไขการทดสอบที่กำหนด เช่นจำนวนผู้โดยสารและการบรรทุกน้ำหนัก
แปลจากภาษาอังกฤษบนเว็บไซต์โดยตรง Oskar Kruger ผู้ขับทดสอบได้
ให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า
“ตอนหักเปลี่ยนเลนครั้งแรก ทุกอย่างดูปกติดีครับ แต่พอหักกลับอีกทางหนึ่ง
จู่ๆก็รู้สึกได้ว่ายางเกาะถนนมากเกินไป ผมพยายามอย่างมากในการพารถกลับ
มาอีกเลนหนึ่ง โดยที่ไม่รู้ตัวเลยว่ารถกำลังจะคว่ำ แต่พอล้อยกผมก็แก้พวงมาลัย
คืนแล้วล้อก็กลับมาอยู่บนถนน”
หลังจากที่ Teknikens Varld ได้ทำการทดสอบ พวกเขาได้ให้ข้อสรุปว่า
Conclusion
Something is seriously wrong with Toyota’s dynamic safety system,
and the result is dependent on the tires the car is equipped with.
(ระบบควบคุมการทรงตัวของรถ Toyota ทำงานไม่ดีอย่างที่ควรจะเป็น
และผลการทดสอบส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่า Hilux คันนั้นใช้ยางอะไรด้วย)
ในเว็บไซต์ของ Teknikens Varld ยังได้มีการเผย คำตอบกลับจาก Bengt
Dalstrom ซึ่งเป็นผู้จัดการใหญ่ฝ่าย PR ของ Toyota Sweden ตามภาพ ซึ่ง
แปลได้ว่า
“ตามที่เราได้ทดสอบหลากหลายแบบในระหว่างพัฒนารถรุ่นนี้ เรามั่นใจว่า
Toyota Hilux เป็นรถที่ปลอดภัย ตามที่เราเห็นจากการทดสอบของคุณนั้น คุณได้
ทดสอบในลักษณะหักหลบสิ่งกีดขวางกับรถของเรา และรถจากค่ายอื่นๆ และยังได้
แจ้งผลการทดสอบมาให้เราโดยกล่าวว่า “ไม่ดีตามที่ควรเป็น” เรารู้สึกแปลกใจกับ
ผลทดสอบดังกล่าว และจะนำไปพิจารณาอย่างจริงจัง โดยให้ความสำคัญเท่ากับ
การทดสอบหักหลบสิ่งกีดขวางที่เราได้ทำไปในระหว่างทดสอบรถของเรา Hilux
ได้ถูกทดสอบตามมาตรฐาน ISO3888 สำหรับเรื่องการหักหลบสิ่งกีดขวางมาแล้ว
และผ่านมาได้ด้วยดี บางอย่างที่ใช้หรือทำในการทดสอบของคุณอาจส่งผลให้รถ
ตอบสนองต่อการหักเลี้ยวต่างกันออกไป ดังนั้นเราจึงขอทราบมาตรฐานต่างๆที่ใช้
สำหรับการทดสอบของคุณหากเป็นไปได้”
ฟังดูเป็นภาษา PR แต่โปรดเข้าใจเถิดครับว่าการทำงานในองค์กรใหญ่ การที่จะตอบ
สิ่งต่างๆกับสื่อมวลชนนั้น คนในตำแหน่งบริหารเองก็ไม่สามารถใช้ภาษาง่ายๆหรือ
ตอบได้ตามใจชอบอย่างที่เราอยากได้ยิน
>>>เทียบแบบช็อตต่อช็อต<<<
เนื่องจากหลายท่านคงไม่สะดวกดูคลิปแล้วกด Pause ไปเรื่อยๆ พี่แพนขออาสา
Capture ภาพในช็อตต่างๆโดยเทียบกันแบบรุ่นต่อรุ่นอย่างชัดเจนขึ้น
รูปที่ 1 – จังหวะที่คนขับเริ่มหักเลี้ยวซ้ายแรก
อย่างที่เห็นคือ ไม่มีอะไร (ยังไม่ทันทำอะไรเลย ถ้ามีก็แปลกสิ)
สังเกตได้อย่างหนึ่งว่า เมื่อทาง Teknikens Varld ทำการทดสอบรถ Hilux
ที่เป็นล้อ 17 นิ้ว พวกเขากลับทำที่คนละสนาม (หรือคนละจุดของสนามทดสอบ)
ซึ่งไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมไม่ทดสอบจุดเดียวกัน??
ทราบภายหลังว่า สนามทดสอบของรายการนี้มี 2 แห่ง คลิปเก่าๆก่อนหน้านี้
จะใช้สนามเดียวกับ Vigo และ Revo สีเงินล้อ 17 นิ้ว หลังจากนั้นคลิปใหม่
ดังที่เราเห็นกันปัจจุบัน จะเป็นสนามแห่งใหม่
รูปที่ 2 – จุดที่รถเริ่มมีการยวบตัว
อย่างที่ Oscar บอก คือในการหักเลี้ยวจังหวะแรก ดูเหมือนรถยังไม่มีปัญหา
อะไรเลย พิจารณาจากภาพจะเห็นได้ว่า Revo คันสีแดงและรถกระบะคันอื่นๆ
มีลักษณะการยวบตัวที่ไม่ได้ต่างกันมาก และ Mitsubishi ดูเหมือนจะยวบ
มากกว่าใครเสียด้วยซ้ำ
รูปที่ 3 – จุดที่รถคืนตัวกลับมาอยู่ตำแหน่งขนานพื้น
นี่คือจุดที่ตัวรถดีดคืนจากการยวบขวา มาอยู่ในตำแหน่งที่บอดี้รถจะขนาน
ไปกับพื้นและเตรียมตัวที่จะยวบข้างซ้าย เมื่อหักเลี้ยวขวาต่อไป สังเกตดู
ยังไม่พบสิ่งผิดปกติ แต่แฟน Ford อาจจะเห็นได้ว่า Ranger คืนตัวตั้งตรง
ได้ก่อนรถคันอื่น ตามมาด้วย Revo ล้อ 17 (เป็นการกะจากตำแหน่งกรวย
ซึ่งผมเข้าใจว่ามีโอกาสพลาดได้เหมือนกัน..แต่ลองเล็งกันดูครับ)
รูปที่ 4 – จุดที่รถเริ่มมีการหักเลี้ยวไปทางขวา
ณ จุดนี้ ให้สังเกตว่าล้อหลังของรถอยู่ชิดกรวยแค่ไหน และล้อหน้าวงนอกโค้ง
ปาดเข้าไปใกล้กรวยชุดขวาสุดมากเพียงใด ถ้าไม่ใช่เพราะกล้องหลอกตาหรือ
แอบวางกรวยให้ชิดกัน คุณสังเกตไหมว่าคุณสามารถมองเห็น “บอดี้ด้านข้าง”
ของ Revo คันสีแดงได้มากกว่าคันอื่น จุดนี้ เป็นไปได้ว่ารถ Hilux แดงเริ่ม
เกิดอาการอันเดอร์สเตียร์ หน้าดื้อ
รูปที่ 5 – พยายามตั้งลำตรง
จุดนี้ รถกำลังพยายามเลี่ยงไม่ให้มีการปะทะกรวยชุดที่อยู่ขวาสุดของจอ
จะสังเกตได้ว่าทุกคัน รวมถึง Hilux คันสีเงินที่ล้อ 17 สามารถกลับมาตั้งลำ
ตรง (หรือเกือบตรง) ได้แล้ว ในขณะที่ Hilux คันสีแดง เบียดชิดกรวยใน
ด้านขวาสุดมากกว่าคันอื่น และเรายังเห็นด้านข้างของรถได้มากกว่าคันอื่น
บางอย่างที่ซีเรียสมากเกิดขึ้น ระบบควบคุมการทรงตัวอาจกำลังพยายาม
แก้อาการคืนอยู่
รูปที่ 6 – เริ่มพยายามหักขวาต่ออีกรอบ
แรงเหวี่ยงสะสมบวกกับการหักเลี้ยว ทำให้รถยวบทางซ้ายอย่างรุนแรง
สังเกตได้ว่าเกือบทุกคัน ล้อฝั่งวงนอกโค้งบี้หมด แต่ Hilux คันสีแดง
เตรียมกินคอร์เน็ตโต้รสส้ม
รูปที่ 7 – ช่วงส่งต่อที่ล้อยังหักเลี้ยวขวาอยู่
แรงเหวี่ยงสะสมบวกกับการหักเลี้ยว ทำให้รถแต่ละคันเสียอาการอย่างชัดเจน
Nissan, Ford, Isuzu ยังกดล้อทั้ง 4 ไว้กับพื้นได้แบบเสียวๆ ในขณะที่ Hilux
สีแดง สีเงิน และ Mitsubishi ขอจดทะเบียนเป็นรถ 3 ล้อชั่วคราว
ในกรณีของ Hilux คันสีแดงล้อ 18 นิ้ว สังเกตได้ว่าล้อหลังลอยจากพื้น
ค่อนข้างมาก เป็นไปได้ว่าที่ Oscar บอกว่าล้อหน้าวงนอกโค้งมีแรงยึดเกาะมาก
ทำให้เกิดแรงดีดขืนที่ยกล้อหลังได้สูงตามที่เห็นในภาพ
รูปที่ 8 – ตัวใครตัวมัน
นี่คือจุดที่ไปแบบ ทางใครทางมัน ที่เหลือก็เป็นอย่างที่คุณเห็นในคลิป
Hilux สีแดงจะส่งอาการไปทางใกล้คว่ำจน Oscar ต้องแก้พวงมาลัยช่วย
ส่วน Hilux สีเงิน ชีวิตเสียวน้อยกว่า แต่ก็ไม่ได้ดีเท่าคู่แข่ง
Mitsubishi กำลังเตรียมกลับมาจดทะเบียนเป็นรถ 4 ล้ออีกครั้ง
ส่วน Nissan, Ford และ Isuzu ผ่านฉลุย
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น??
เราคงไม่สามารถฟันธงว่าเกิดจากอะไร แต่หลังจากที่ได้ทราบข่าวการทดสอบ
สิ่งแรกที่หลายท่านค้นดู ก็คือรูปที่น้าหมูเคยทำไว้เพื่อเปรียบเทียบสเป็ครถกระบะ
รุ่นต่างๆ
แม้ว่าเราอาจไม่สามารถยืนยันได้ว่า รถสเป็คไทย กับสเป็คที่ส่งสวีเดนจะ
เหมือนกัน 100% หรือไม่ แต่ถ้าเกิดว่าเหมือน เราคิดว่าระยะต่ำสุดจากพื้น
(Ground Clearance) ที่สูง 286 มิลลิเมตร ซึ่งสูงกว่าเจ้าอื่นอยู่มากนั้น
อาจมีผลทำให้จุดศูนย์กลางของแรงเหวี่ยงอยู่สูงขึ้นไปด้วย
แม้ว่าบอดี้รถจะเตี้ยกว่า Isuzu แต่ Hilux อาจมีจุดศูนย์รวมของน้ำหนัก
เช่นเครื่องและเกียร์ ติดตั้งอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่า ซึ่งเวลาหักเลี้ยวแรงๆ
ก็จะมีพลังสะสมรอที่จะดีดรถออกนอกไลน์ได้เยอะกว่า เมื่อรถพยายามจะ
แถออก แต่ยางพยายามขืนสู้ ยิ่งทำให้มีแรงดีดสะสมมาก ในวินาทีสุดท้ายที่
ยางหมดพลังสู้ จึงปลดปล่อยแรงนั้นออกมาอย่างควบคุมไม่ได้
จากเรื่องนี้ เราจะเห็นได้ว่าบางครั้ง ความแข็งและความมั่นคงของช่วงล่าง
ในการหักแบบจังหวะเดียวนั้น อาจยังไม่บอกเรื่องราวทั้งหมด จากภาพที่
เรา Capture มาให้ดู คงสังเกตเห็นได้ว่าวิกฤติของรถแต่ละคันจะเริ่มในช่วง
ที่มีการหักกลับมาอีกทาง
ประการที่สอง ผมคิดว่าพวกเราหลายคนเชื่อว่าล้อยางยิ่งแก้มเตี้ย ยิ่งดี
แต่ในกรณีนี้ รถล้อ 18 กลับมีอาการตอบสนองน่ากลัวกว่า?? ไม่ใช่เรื่อง
ความกว้างของหน้ายางเสียด้วย เพราะทั้งสองแบบ ก็ใช้ยางหน้ากว้าง
265 มิลลิเมตรเท่ากัน แต่แก้มยางสูงไม่เท่ากัน ถ้าให้พนันกันบนโต๊ะ
ก๋วยเตี๋ยวหลังมหาลัย ผมเชื่อว่าหลายคนมองว่ายางแก้มเตี้ยมีสิทธิ์
รอดปลอดภัยมากกว่า จะว่าเรื่องสนามทดสอบคนละจุดกันระหว่างคัน
สีแดงกับสีเงินมีส่วนหรือไม่ ก็อาจมี แต่ถ้าพื้น Grip ไม่เท่ากัน อาการ
ก็น่าจะออกตั้งแต่ตอนหักกลับลำครั้งแรก
ประการที่สาม อย่าเพิ่งรีบฟันธงว่าผลทดสอบออกมาแบบนี้แล้วเราจะได้ผล
การทดสอบแบบเดียวกันในประเทศไทย เพราะรถสเป็คยุโรปอาจมีความต่าง
กับรถบ้านเรา เช่น Nissan บ้านเราใช้ช่วงล่างหลังแหนบ แต่ของสวีเดน
จะเป็นแบบ Five-link ส่วน Hilux สเป็คสวีเดนนั้น ไม่มีข้อมูลบนเว็บภาษา
สวีเดน แต่ดูจากคลิปในเว็บ toyota.se และเทียบข้อมูลกับเว็บฝั่งอังกฤษ
เป็นช่วงล่างแบบแหนบ
งานนี้ ก็คงต้องขอให้ Toyota สวีเดน กับทาง Teknikens Varld ร่วมมือกัน
เพื่อหาทางออกที่ได้ประโยชน์กับทั้งบริษัท และทั้งลูกค้า ซึ่งเราสามารถแก้ได้
โดยใช้การปรับตั้งทางเทคนิค และการเสริมสร้างทักษะการขับขี่ให้กับคนขับ
ซึ่งจะสามารถช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุได้ครับ
ที่มา : teknikensvarld