“ทำไม Honda ไม่ทำรถกระบะออกมาขายบ้างละ? น่าจะขายดีอยู่นา”….

หนึ่งในคำถามที่ผมมักได้ยินอยู่เรื่อยๆ จากคุณผู้อ่าน หรือใครก็ตาม
ที่สนใจในเรื่องรถยนต์ จนติดอันดับ หนึ่งในคำถามพบบ่อยจัดๆ
จนต้องเอาไปใส่ไว้ในหัวข้อ FAQ (Frequently Asked Question)

คำตอบนะหรือ?

เคยครับ.. Honda เคยทำรถกระบะออกมาขายคนไทยครับ!

“อ้าว แล้วมันมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ทำไม ถึงไม่เคยได้ยินเลยละ?”

เฮ้อ…เอายังไงดี….จะถามกลับว่า ไปอยูไหนมา ก็ไม่ใช่เรื่อง เดี๋ยว
โดนคุณผู้อ่านเขม่นใส่ เอามานินทาด่าทอผม บน Internet เละเทะ
จนได้เป็นดราม่า เรื่องใหม่ของพี่จ่า พิชิต กันแหงๆ…แต่จะโทษ
คุณผู้อ่าน ก็ไม่ถูก เรื่องนี้ มันแน่นอก…และต้องยกออก!

คำถามนี้ มันมีคำตอบ ที่มาที่ไป และเหตุผลมากมาย เกินกว่าจะตอบ
กันง่ายๆ สั้นๆ เพียงแค่ 1 พยางค์แล้วจากไป ดังนั้น ถ้าจะตอบคำถามนี้
ให้ครบถ้วน และละเอียดกันสุดๆ…ผมคงจะต้องเขียนบทความสักเรื่อง
เพื่อเล่าย้อนบันทึกให้คุณๆ ได้รับรู้กัน ไว้ว่า

“มันเคยมีครับ แต่ขายไม่ดี และเจ๊งไปตั้งกว่า 10 ปี แล้ว และรถคันนี้
ก็กลายเป็น รถกระบะ ในตำนาน ที่หาดูคันจริงตัวจริงๆ สภาพดีๆ
แท้ๆทั้งคัน ได้ยากเย็นแสนเข็ญ ไม่แพ้การค้นหา MH370 ในตอนนี้
เสียอีก เจอตัวจริงกันเมื่อไหร่นี่ ถึงขั้นต้อง เอากระถางทรายมาตั้ง
จุดธูปกราบไหว้ขอหวยงวดต่อไปกันเลยเชียวละ!”

“แล้วมันมีที่มาที่ไปอย่างไรละ?…”

พี่ก็อย่าเพิ่งขัดผมสิคร้าบ ป้าดธ่อ กำลังจะเล่าให้อ่านกันอยู่ข้างล่างนี่ไง!

แม้ว่า Honda จะเข้ามาตั้งสำนักงานที่เมืองไทย เป็นคร้ังแรก ในชื่อ บริษัท
Asian Honda Co.,ltd ตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 1964 ในฐานะ ผู้นำเข้า
ผลิต และ จำหน่ายรถจักรยานยนต์

ทว่า…นับตั้งแต่ Honda เริ่มเข้ามาก่อตั้งบริษัท Honda Cars (Thailand)
เพื่อบุกตลาดรถยนต์นั่งในบ้านเรา เมื่อเดือน สิงหาคม 1983 และเริ่มว่าจ้าง
ให้ โรงงาน บางชัน เยเนอรัล แอสเซมบลี ประกอบรถยนต์ Honda Accord
รุ่นที่ 2 เป็นครั้งแรก ในเดือน เมษายน 1984 และ Honda Civic รุ่นที่ 3
ในเดือนกรกฎาคม ปีเดียวกัน

จนถึงวันนี้ ก็ปาเข้าไป 30 ปีแล้ว ที่ Honda ลงหลักปักฐานในตลาดรถยนต์
บ้านเรา ชนิดหยั่งรากฝังลึก สร้างปรากฎหารณ์ต่างๆมากมาย ผิดพลาดพลั้ง
ล้มแล้วลุก มาก็เยอะ กว่าจะได้ครองแชมป์ ยอดขาย รถยนต์นั่งอันดับ 1
ตลอดปี จาก Toyota ได้สำเร็จ นั่นไม่ใช่เรื่องง่าย

แต่ยังมีกลุ่มตลาดหนึ่ง ซึ่งมียอดขาย คิดเป็นราวๆ 60% ของตลาดรถยนต์
ในบ้านเรา นั่นคือ กลุ่มรถยนต์กระบะ / รถเพื่อการพาณิชย์นั่นเอง

ตลาดกลุ่มนี้ คือดินแดนที่ Honda ในบ้านเรา ไม่เคยย่างเหยียบก้าวเข้าไป
มาก่อนเลย หลายๆคนเฝ้าแต่ตั้งคำถามว่า เมื่อไหร่ Honda จะทำรถกระบะ
มาขายลูกค้าคนไทยกันเสียที

Honda รู้ถึงจุดอ่อนสำคัญของตนดี ว่า ในอดีต แม้จะทำรถกระบะรุ่น Acty
ออกขาย มาตั้งแต่ปี 1964 แต่นั่นก็เป็นรถกระบะขนาดเล็ก เครื่องยนต์จิ๋วๆ
แค่ๆ 360 ซีซี (ค่อยๆ พัฒนาตามกฎหมายญี่ปุ่นจนเป็น 660 ซีซี ในปัจจุบัน)
อีกทั้ง พื้นฐานของมันก็คือ เครื่อยนต์เบนซิน แถม Honda ยังไม่ถนัดในการ
ผลิตเครื่องยนต์ Diesel สักเท่าไหร่ ดังนั้น Acty จึงเหมาะแก่การใช้งานใน
ในเมืองใหญ่ และถนนลัดเลาะตามไหล่เขา ของประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก

พูดตรงๆคือ Honda ไม่เคยมีประสบการณ์ ในการพัฒนารถกระบะ เครื่องยนต์
Diesel ขนาด 1 Ton แบบที่บ้านเรานิยมมาก่อน ส่วนหนึ่งเพราะนโยบายของ
Honda เองว่า จะทำตลาดแต่รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเท่านั้น และจะไม่ก้าวเข้ามา
สู่รถกระบะ เพื่อการพาณิชย์ ให้เสีย Image เด็ดขาด แต่นั่นก็เป็นนโยบาย เมื่อ
หลายสิบปีก่อน ทุกวันนี้ ตลาดเริ่มเปลี่ยนไปแล้ว อะไรที่ขายได้ ก็ควรจะทำขาย

ปัญหานี้ สำนักงานใหญ่ของ Honda ที่ Aoyama กรุง Tokyo เองก็รู้ดี และ
ในช่วงก่อนปี 1993 มันไม่มีทางแก้ไขอะไรให้เป็นรูปธรรมได้เลย เพราะใน
ประเทศญี่ปุ่นเอง กำลังเจอวิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่แตก ตั้งแต่ปี 1991 และ
Honda เอง ตอนนั้น ก็ไม่ได้มีทรัพยากรมากนัก ในการพัฒนารถยนต์ใหม่
แบบที่ตนไม่เคยทำมาก่อน แค่การอนุมัติให้ Minivan รุ่น Odyssey สามารถ
ผลิตออกขายได้ ในปี 1994 เลือดตาก็แทบกระเด็นแล้ว  ฉะนั้น ถ้าเป็นตลาด
รถกระบะ 1 Ton แบบที่บ้านเรานิยม ลืมไปได้เลย ไม่มีทาง!

ทว่า ในปี 1993 Honda กับ Isuzu ทำข้อตกลงร่วมกัน ในการแลกเปลี่ยนกัน
ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ บางรุ่น ในตลาดญี่ปุ่น และในอเมริกาเหนือ ภายใต้
รูปแบบ ที่เรียกว่า OEM (Original Equipment Manufacturing) หรือ
เจ้าของแบรนด์ ว่าจ้างบริษัทคู่สัญญา ให้ผลิตสินค้า ส่งมอบให้ตน นำไปขาย
ภายใต้ยี่ห้อของ เจ้าของแบรนด์ เริ่มต้นดังนี้

– ทาง Honda ส่ง Sedan คันเล็กรุ่น Domani ให้ Isuzu ขายเฉพาะในญี่ปุ่น
ในฐานะรุ่นเปลี่ยนโฉมของ Isuzu Gemini รวม 2 Generation ขายจนถึง
ปี 2000

– จากนั้น Isuzu ก็เริ่มส่ง Isuzu Mu ให้ Honda ไปขายในชื่อ Honda Jazz
เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 1993 ทำตลาดจนถึงเดือนธันวาคม 1996

– ตามด้วยการส่ง Isuzu Bighorn (หรือ Trooper ในบ้านเรา) ไปขายในโชว์รูม
ของ Honda Clio สำหรับทำตลาดรถยนต์แนวหรู ในชื่อ Honda Horizon เมื่อ
10 กุมภาพันธ์ 1994 ปรับโฉม อัพเกรดเครืองยนต์ใหม่ เมื่อ 19 มีนาคม 1998
ขายกันจนถึงปี 1999

– ต่อเนื่องด้วย Honda ส่ง Accord รุ่นไฟท้ายก้อนเดียว ไปให้ Isuzu ขายใน
ฐานะรุ่นเปลี่ยนโฉมของ Isuzu Aska เมื่อเดือนมีนาคม 1994 เปลี่ยนโฉม
รวมแล้ว 2 Generation ก่อนจะยุติการทำตลาดไปในปี 2002 พร้อมกับการ
ประกาศเลิกทำตลาดรถยนต์นั่งในญี่ปุ่น อย่างถาวร

– ตลาดอเมริกาเหนือ Isuzu ส่ง Mu Wizzard ในชื่อ Rodeo ให้กับ American
Honda ขายในชื่อ Honda Passport จนถึงปี

– นอกจากนี้ ยังส่ง Isuzu Trooper ให้ American Honda ไปขายผ่านแบรนด์
Acura ในฐานะ SUV แบบแรกของแบรนด์นี้ ในชื่อ Acura SLX ตั้งแต่ช่วง
ปลายปี 1995 จนถึงสิ้นปี 1999

อ่านแล้ว มึนงง สับสนไหมครับ…นี่แค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นนะ!!

ในเมื่อความร่วมมือดังกล่าว มันเข้าท่า Honda ได้เริ่มเรียนรู้การทำตลาดรถยนต์
กลุ่ม SUV อย่างจริงจัง ไปพร้อมๆกับที่ Isuzu เอง ก็ยังมีรายได้เข้ามา จากการ
แบ่งรถยนต์ SUV ให้ Honda ไปช่วยกันขาย แถมยังมีรถเก๋ง เหลือไว้ขายใน
บ้านตัวเอง ไปเรื่อยๆ ความร่วมมือจากต่างประเทศ จึงถูกขยับขยายเข้ามายัง
ประเทศไทยของเรา ในช่วงปี 1995

ในเมืองไทย Isuzu กับ Honda เอง มีความสัมพันธ์อันดีมาแต่ไหนแต่ไร เพราะ
ต่างฝ่ายต่างไม่มีรถยนต์ทำตลาดแข่งขันกันเอง ถือว่า ต่างคนต่างทำมาหากินใน
กลุ่มตลาดที่ตนถนัด บางที Isuzu ก็อุดหนุนรถเก๋ง Honda มาใช้เป็นรถบริษัท
ส่วน Honda ก็ซื้อรถกระบะ Isuzu มาใช้ตามศูนย์บริการต่างๆ ของตน แต่เมื่อ
โครงการความร่วมมือ แลกเปลี่ยนรถยนต์กันขาย จากญี่ปุ่น เริ่มแผ่ขยายมา
ถึงบ้านเรา ทั้งคู่ ก็เริ่มมานั่งเจรจา คุยกัน

ในขณะที่ Isuzu ต้องการรถเก๋ง มาเพื่ออุดช่องว่างทางการตลาดของตน และเพื่อ
เอาใจกลุ่มลูกค้าแฟนพันธุ์แท้ของ Isuzu ที่อยากอุดหนุนรถเก๋งของพวกเขาอีก
เหมือนในยุคที่เคยมีการผลิต Gemini และ Aska ในบ้านเรา ช่วงทศวรรษ 1970
ถึงราวๆ ปี 1989 Honda ก็เลยตกลงว่า จะนำ Civic รุ่นตาโต ที่ออกขายในเดือน
บ้านเรา ช่วงเดือนมีนาคม 1996 มาเปลี่ยนชิ้นส่วนตัวถังด้านหน้า ของ Sedan
ฝาแฝด Integra SJ (ที่มีขายเฉพาะตลาดญี่ปุ่น บนโชว์รูม Honda Verno
เท่านั้น) ส่งให้ Isuzu ขายในชื่อ Isuzu VERTEX เปิดตัวในเดือน กรกฎาคม
1996

ขณะเดียวกัน Honda เอง ก็อยากจะมีรถกระบะไว้ขายในโชว์รูมของตนที่เมืองไทย
กันเสียที เพราะเห็นการเติบโตของตลาดรถกระบะแล้ว มันยั่วเย้ายวนใจจนแทบจะ
ทนไม่ไหว อย่างน้อยๆ ขอลองทำตลาดดูสักตั้งก็ยังดี

Isuzu ก็เลย ส่งรถกระบะ Isuzu TFR Spacecab 2.5 L ให้กับ Honda มา
ทำตลาดเอง ด้วยชื่อ Honda TOURMASTER…

การเปิดตัวมีขึ้น เมื่อวันที่ 3 กันยายน 1996 ณ โรงแรม Central Plaza
ลาดพร้าว โดย Mr.Saichiro Fujie ประธาน บริษัท Honda Cars
(Thailand) จำกัด ในขณะนั้น กล่าวว่า

“เราเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยกว่า 10 ปี โดยเน้นที่ตลาดรถยนต์นั่ง
แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา ลูกค้าของเราได้เรียกร้องที่จะเห็นรถยนต์ Honda
ในรูปลักษณ์ต่างๆที่หลากหลายกว่านี้ เราจึงคิดค้นหาวิธีและพัฒนาเพื่อ
ให้ได้รถยนต์ครอบคลุมตลาดต่างๆมากขึ้น ครั้งนี้ก็เป็นหนทางหนึ่ง ที่
ทำให้เราสามารถเปิดตลาดรถยนต์ Pickup ในไทยได้”

Honda Tourmaster มีตัวถังยาว 4,920 มิลลิเมตร กว้าง 1,690 มิลลิเมตร
สูง 1,620 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 3,025 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหน้า
(Front Tread) 1,425 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หลัง (Rear Tread)
1,400 มิลลิเมตร ความสูงใต้ท้องรถ (Ground Clearance) 210 มิลลิเมตร
น้ำหนัก ตัวเปล่า 1,390 กิโลกรัม น้ำหนักรวมบรรทุก 2,550 กิโลกรัม ความจุ
ถังน้ำมัน 75 ลิตร

รูปลักษณ์ภายนอก ของ Tourmasrter แทบไม่แตกต่างจาก Isuzu TFR
Spacecab 2.5 L ในเวลานั้นเลย มีเพียงรายละเอียดการตกแต่งที่ต่างกัน
แค่บางส่วนเท่านั้น ได้แก่ สัญลักษณ์บนกระจังหน้า ถอดโลโก้ Isuzu ออก
แล้วแปะโลโก้ตัว H เข้าไปแทน ส่วนฝากระบะหลัง เปลี่ยนลายสติกเกอร์
ชื่อรุ่นเสียใหม่ เป็นแบบของตนเอง มือจับเปิดประตู เปลี่ยนมาเป็นแบบ
พลาสติกเคลือบโครเมียม

ภายในห้องโดยสาร เปลี่ยนสัญลักษณ์ บนพวงมาลัยเป็นโลโก้ตัว H และแค่นั้น!

อุปกรณ์มาตรฐานของ Tourmaster รุ่นแรก ทุกคัน นั้น มีดังนี้

– กระจังหน้า มือจับประตู และขอบไฟท้าย แบบโครเมียม
– กันชนหน้า กรอบกระจกมองข้าง สีเดียวกับตัวถัง
– ฉนวนกันความร้อนใต้ฝากระโปรงหน้า
– ไฟหน้า Halogen
– ใบปัดน้ำฝนแบบ 3 จังหวะ
– ยางกันโคลนหลัง
– คิ้วกันกระแทกด้านข้าง
– พวงมาลัยเพาเวอร์
– เครืองปรับอากาศ (อุปกรณ์สั่งติดตั้งพิเศษ)
– เบาะนั่ง  หุ้มหนัง Vinyl
– กระจกแต่งหน้า บนแผงบังแดดฝั่งซ้าย
– แป้นพักเท้า
– ราวมือจับ เฉพาะฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย
– นาฬิกา Digital
– กล่องคอนโซลกลาง
– เข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด 2 ตำแหน่ง ซ้าย – ขวา
– รุ่น LX จะใช้กระทะล้อเหล็ก 5J x 14 นิ้ว
สวมยางขนาด 195 R14 C 8PR

ส่วนรุ่น LXS จะเพิ่มอุปกรณ์ดังนี้
– คิ้วยางกันกระแทกด้านข้าง
– สวิตช์ Central Lock
– กระจกหน้าต่างไฟฟ้า ทั้งซ้าย – ขวา (แต่ไม่มีระบบ Auto
One Touch เลื่อนขึ้น-ลงเองในการกดครั้งเดียว มาให้)
– เบาะนั่ง เป็นผ้ากำมะหยี่ สลับด้วยหนัง Vinyl
– ล้ออัลลอยขนาด 5.5 JJ x 14 นิ้ว ลายพิเศษ ไม่เหมือนกับของ
Isuzu และ Opel พร้อมยางขนาด 205/75 R14 C 8PR

รายละเอียดทางเทคนิคของ Tourmaster แทบไม่แตกต่างไปจากรถกระบะ
Isuzu TFR มังกรทอง ก็แน่ละ Photocopied รับรองสำเนาถูกต้อง เป๊ะนี่หว่า!

เครื่องยนต์ เป็นแบบ Diesel 4JA1 บล็อก 4 สูบเรียง SOHC 8 วาล์ว 2,499 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 93 x 92 มิลลิเมตร กำลังอัด 18.4 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วย
หัวฉีด ตรงสู่ห้องเผาไหม้แบบ Direct Injection (Di) ยังไม่มีระบบอัดอากาศ
ใดๆมาช่วยทั้งสิ้น กำลังสูงสุด 90 แรงม้า (PS) ที่ 4,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
17.5 กก.-ม.ที่ 2,000 รอบ/นาที

ส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหลัง ด้วยเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะพร้อมเฟือง
Synchromesh ใช้คลัชต์แบบแห้ง แผ่นเดียว พร้อมไดอะแฟรมสปริง
ควบคุมด้วยระบบไฮโดรลิก อัตราทดเกียร์มีดังนี้

เกียร์ 1…………………. 4.122
เกียร์ 2…………………. 2.493
เกียร์ 3…………………. 1.504
เกียร์ 4…………………. 1.000
เกียร์ 5…………………. 0.855
เกียร์ R………………… 3.720
อัตราทดเฟืองท้าย … 4.100

ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยแบบ ลูกปืนหมุนวนรอบตัวพร้อมเพาเวอร์
ผ่อนแรงแบบไฮโดรลิก อัตราทด 23 – 27 : 1 รัศมีวงเลี้ยวแคบสุด 5.9 เมคร

ระบบกันสะเทือนหน้า Torsion Bar ช็อกอัพไฮโดรลิก แบบ 2 จังหวะ พร้อม
เหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลัง เป็นตับแหนบแผ่นรูปครึ่งวงรี มีช็อกอัพแบบ
ไฮโดรลิกมาให้

ระบบห้ามล้อ เป็นแบบ 2 วงจรไขว้ ด้านหน้าเป็นดิสก์เบรกแบบมีรูระบาย
ความร้อน ด้านหลังเป็นแบบดรัมเบรก ส่วนเบรกมือ ยังเป็นแบบคันโยก
ดึงเข้าหาตัว ติดตั้งอยู่ใกล้กับคอพวงมาลัย ฝั่งซ้าย

สีตัวถัง มีให้เลือก 4 สี มีทั้ง ขาว Shiny White สีเทา Hazy Grey Metallic
สีเขียว Tropical Green Metallic และสีแดงไวน์ Wine Red อันเป็นสีเพื่อ
การโปรโมท (Comminication Color)

ราคาขาย ณ วันเปิดตัว มีทั้งหมด 4 ระดับ โดยรุ่นพื้นฐาน LX สีขาว อยู่ที่
372,500 บาท ส่วนสี Metallic ที่เหลือ จะเพิ่มเป็น 379,500 บาท ขณะที่
รุ่นท็อป LXS สีขาว ราคา 391,500 บาท และสี Metallic 398,500 บาท

เมื่อเปรียบเทียบกับราคาขายของ Isuzu Spacecab 2.5 L แบบตรงรุ่น
รวมทั้งคู่แข่งรายอื่น จะเห็นว่า ราคาค่อนข้างแพงกว่ารถกระบะจาก
ค่ายอื่นๆ ดังนี้

2.5 SL    354,000 บาท  Tourmaster แพงกว่าถึง 18,000 บาท
2.5 SLX  398,500 บาท  Tourmaster สี Metallic ราคาเท่ากัน
2.5 SLX  442,500 บาท เป็นรุ่นเกียร์อัตโนมัติ Honda ไม่มีรุ่นนี้

Toyota Hilux Mighty X
2.4 Extra Cab GL   365,000 บาท Tourmaster แพงกว่า 7,500 บาท
2.4 Extra Cab SGL 388,000 บาท Tourmaster แพงกว่า 3,500 บาท

Nissan BIG-M
2.5 King Cab DX 352,000 บาท Tourmaster แพงกว่าถึง 20,500 บาท
2.5 King Cab GL  389,000 บาท Tourmaster แพงกว่า 2,500 บาท

Mitsubishi L200 Strada
Mega Cab GL              375,000 บาท Tourmaster แพงกว่า 2,500 บาท
Mega Cab GLX            399,000 บาท Tourmaster ถูกกว่าแค่ 500 บาท
Super Mega Cab GLX   419,000 บาท Tourmaster ไม่มีรุ่นเทียบ

หลังจากเปิดตัวไปได้ เพียง 1 ปี เต็ม เมื่อ Isuzu ต้องออกรุ่นปรับโฉมใหม่
ให้กับรถกระบะของตน โดยใช้ชื่อทำตลาดว่า Isuzu PICKUPS ดังนั้น
Honda จึงต้องได้รับอานิสงค์และผลบุญต่อเนื่องมาด้วยเช่นเดียวกัน แม้
ในตอนนั้น สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทย จะเริ่มย่ำแย่ลง ด้วยผลกระทบ
จากการลดค่าเงินบาท ของรัฐบาล สมัย พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เมื่อวันที่
1 กรกฎาคม 1997 กันบ้างแล้ว แต่ทุกอย่าง ยังคงต้องดำเนินเดินหน้าตาม
แผนที่วางไว้ กันต่อไป

23 กรกฎาคม 1997 Honda เปิดตัว Tourmaster TURBO ถือเป็นรุ่น
ปรับโฉม Minorchange ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วฉับไว หลังทำตลาดไปได้
เพียงแค่ 1 ปี เท่านั้น คราวนี้ มีเฉพาะรุ่น LXS ให้เลือกรุ่นเดียวเท่านั้น

ตัวถังภายนอกยังมีขนาดเท่าเดิม แต่ด้วยการปรับเปลี่ยนชิ้นส่วนตัวถังด้านหน้า
ทั้งหมด เปลี่ยนชุดไฟหน้า Halogen มาเป็นแบบเต็มเบ้า ให้โค้งมนสวยงาม
ยิ่งขึ้น เปลี่ยนกระจังหน้า โครเมียม พร้อมโลโก้ H  เปลือกกันชนครึ่งท่อนบน
และฝาครอบกระจกมองข้าง สีเดียวกับตัวถัง เพิ่มสติกเกอร์ด้านข้าง คาดลาย
ว่า Turbo มาให้ ทำให้ความยาวตัวถังเพิ่มเป็น 4,975 มิลลิเมตร

ส่วนฝากระบะหลัง เพิ่มโลโก้ตัว H และ สติกเกอร์ชื่อรุ่น Tourmaster
Turbo รวมทั้งเปลี่ยนกระบะท้ายแบบใหม่ ขอบกระบะสูงขึ้น ชุดไฟท้าย
ทรงใหม่ เหมือน Isuzu ไม่มีผิด ขณะเดียวกัน ล้ออัลลอย 14 นิ้ว ยังมี
ขนาดเท่าเดิม และใช้ยางแบบเดิม ลวดลายยังคงเหมือนเดิม

อุปกรณ์มาตรฐาน ยังคงเหมือนกับรุ่นเดิม ดังนี้

– กระจังหน้าโครเมียม
– มือจับเปิดประตูแบบโครเมียม
– กันชนหน้าสีเดียวกับตัวถัง
– กรอบกระจกมองข้างสีเดียวกับตัวถัง
– ไฟหน้า Halogen แบบเต็มเบ้า
– ฉนวนกันความร้อนในต้ฝากระโปรงหน้า
– ยางกันโคลงหลัง
– ไฟเลี้ยวด้านข้างตัวถัง
– ล้ออัลลอย 5.5 JJ x 14 นิ้ว พร้อมยาง 205/75 R14 ลายเดิม

ภายในห้องโดยสาร มีการเปลี่ยนแปลงหลักๆ อยู่ที่ การเปลี่ยน
มาใช้แผงหน้าปัด แบบใหม่ พวงมาลัย เปลี่ยนเป็นแบบ 4 ก้าน
เบานั่ง หุ้มด้วยผ้ากำมะหยี่ ลายใหม่ และเพิ่มการออกแบบ
ช่องวางของตามจุดต่างๆมากขึ้น

อุปกรณ์มาตรฐาน ภายใน มีดังนี้

– พวงมาลัยเพาเวอร์
– Central Lock
– กระจกหน้าต่างไฟฟ้า ทั้ง 2 ฝั่ง แบบ ไม่มี Auto One Touch
– เครื่องปรับอากาศ เปลี่ยนมาใช้น้ำยาแอร์ R134a
– เบาะผ้ากำมะหยี่ เฉพาะส่วนรองรับลำตัวมนุษย์
– วิทยุ AM/FM Cassette Tape Sterio สามารถต่อกับเครื่องงเล่น CD ได้
พร้อมเสาอากาศ บริเวณด้านหน้าของรถ เป็นอุปกรณ์มาตรฐานของ
ทุกรุ่น (Isuzu Space Cab ไม่ด้ติดตั้งวิทยุ และเสาอากาศมาให้)
– นาฬิกา Digital
– มาตรวดรอบ
– ราวมือจับฝั่งผู้โดยสาร
– ช่องเก็บของที่แผงประตูด้านข้างทั้ง 2 ฝั่ง
– ช่องเก็บของ ชั่วคราว บนแผงหน้าปัด
– คอนโซลกลาง
– กระจกแต่งหน้า บนแผงบังแดดฝั่งซ้าย
– แป้นพักเท้า
– ใบปัดน้ำฝน แบบ 3 จังหวะ
– เข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด 2 ตำแหน่ง

รายละเอียดทางเทคนิคของ Tourmaster Turbo ถูก Upgrade ขึ้นจากรุ่นเดิม
แต่เมื่อเทียบกับ ฝาแฝดต้นฉบับ อย่าง Isuzu Spacecab 2.5 L Turbo แล้ว
เหมือนกันเปี๊ยบ!

เครื่องยนต์ เป็นแบบ Diesel 4JA1 บล็อก 4 สูบเรียง SOHC 8 วาล์ว 2,499 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 93 x 92 มิลลิเมตร เพิ่มกำลังอัด 18.5 : 1 จ่ายเชื้อเพลิง
ด้วยหัวฉีด ตรงสู่ห้องเผาไหม้แบบ Direct Injection (Di) แต่เพิ่มระบบอัดอากาศ
Turbocharger เข้ามาช่วย ยังไม่มี Intercooler แต่อย่างใด การติดตั้ง Turbo
เข้ามา เพื่อเน้นในเรื่องของการผ่านมาตรฐานมลพิษ ในช่วงเวลาที่รถจะออกสู่ตลาด

ทำให้กำลังสูงสุดลดลงเหลือ 79 แรงม้า (PS) ที่ 4,200 รอบ/นาที แต่แรงบิดสูงสุด
เพิ่มนิดหน่อย เป็น 17.93 กก.-ม.ที่ 1,800 รอบ/นาที

ส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหลัง ด้วยเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะพร้อมเฟือง
Synchromesh ใช้คลัชต์แบบแห้ง แผ่นเดียว พร้อมไดอะแฟรมสปริง
ควบคุมด้วยระบบไฮโดรลิก อัตราทดเกียร์ เหมือนรุ่นเดิม ไม่ต่างกัน

ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยแบบ ลูกปืนหมุนวนรอบตัวพร้อมเพาเวอร์
ผ่อนแรงแบบไฮโดรลิก มีการปรับอัตราทดใหม่ เหลือ 15.2 : 1 แต่รัศมี
วงเลี้ยวแคบสุด ยังคงเท่าเดิม คือ 5.9 เมคร

ระบบกันสะเทือนหน้า Torsion Bar ช็อกอัพไฮโดรลิก แบบ 2 จังหวะ
พร้อมเหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลัง เป็นตับแหนบแผ่นรูปครึ่งวงรี มีช็อกอัพ
แบบไฮโดรลิกมาให้ ตามเดิม

ระบบห้ามล้อ เป็นแบบ 2 วงจรไขว้ ด้านหน้าเป็นดิสก์เบรกแบบมีรูระบาย
ความร้อน ด้านหลังเป็นแบบดรัมเบรก ส่วนเบรกมือ ยังเป็นแบบคันโยก
ดึงเข้าหาตัว ติดตั้งอยู่ใกล้กับคอพวงมาลัย ฝั่งซ้าย เพิ่มวาล์วปรับแรงดั
น้ำมันเบรกตามน้ำหนักบรรทุก LSPV มาให้

สีตัวถัง มีให้เลือกเหลือเพียง 3 สี ทั้ง สีเขียว Pine Wood Green Metallic
สีแดง Claret Red Metallic และสีเงิน Sebring Silver Metallic อันเป็น
สีเพื่อการโปรโมท (Comminication Color)

สิ่งที่เกิดขึ้น กับ Tourmaster…

ผู้บริหาร Honda มองว่า การเปิดตัวรถกระบะ น่าจะช่วยให้ Honda เข้าถึง
ลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ในต่างจังหวัดมากขึ้น ลูกค้ากลุ่มนี้ อายุราวๆ 25 – 40 ปี
มีรายได้เดือนละ 20,000 บาท ขึ้นไป นิยมรถกระบะ และไม่เคยใช้รถยนต์
Honda มาก่อน เป็นคนกลุ่มที่ ต้องการทางเลือกที่แตกต่างจากผู้อื่น แต่ใน
ขณะเดียวกัน ยังได้รถยนต์และบริการหลังการขายชั้นเลิศ ดังที่ตนคาดหวัง

การเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่นี้ น่าจะช่วยเพิ่มยอดขายได้ และพาตัวเองเข้าสู่
ตลาดรถกระบะเมืองไทย ที่แข็งขันกันรุนแรงได้ และช่วยเพิ่มส่วนแบ่ง
การตลาดในภาพรวมของ Honda เมื่อเทียบกับยอดขายของทั้งวงการ ทุก
กลุ่มตลาด ในปี 1996 – 1997 ได้ แถมยังมองโลกในแง่ดีสุดๆ ไปเลยว่า
อีกหน่อย ถ้าลูกค้าชอบรถกระบะ Honda ก็อาจจะหันมาซื้อรถเก๋ง จาก
Honda บ้างก็ได้….(เหรอ?)

ที่สำคัญ กลยุทธ์ของ Honda ในตอนนั้น คือ ตั้งใจเน้นยอดขายจากลูกค้า
ในต่างจังหวัด ที่ยังไม่คุ้นเคยกับแบรนด์ Honda มาก่อน มาก ถึง 90%
โดยคาดหวังลูกค้าจากในตัวเมืองใหญ่ๆ รวมทั้ง กรุงเทพมหานคร แค่
10% เท่านั้น

แนวคิดในการทำตลาด Tourmaster นั้น เป็นโจทย์ยากสำหรับคนที่ต้อง
วางแผนการตลาดให้กับรถกระบะ ซึ่งมีหน้าตา เครื่องยนต์ กลไก  และ
สมรรถนะทั้งคัน เหมือนกันกับ Isuzu TFR พี่ชายเจ้าสำนัก ชนิดที่ว่า
จับขึ้นเครื่องถ่ายเอกสาร Xerox สี ไหลออกมาเหมือนกันเลยทั้งคัน

แต่ Honda ก็คิดออก และเลือกสื่อสารกับลูกค้าว่า ถ้าคุณซื้อรถกระบะจาก
พวกเรา สิ่งที่คุณจะได้รับจากการจ่ายเงินให้กับ Honda ในครั้งนี้คือ..

– Isuzu Reliability : ความทนทาน และเชื่อถือได้ของ Isuzu
– Honda High Brand Image : ภาพลักษณ์ของแบรนด์ Honda อันสูงส่ง
– Honda High Quality Service  : คุณภาพงานบริการหลังการขาย ที่สูง
พอๆกับ brand Image นั่นแหละ! (เราพูดถึง ปี 1996-1997 นะครับ)

เอิ่ม……..อ่ะแฮ่ม!

เอาตรงๆนะ Honda อาจจมีภาพลักษณ์ในใจลูกค้า เรื่องความเป็นรถญี่ปุ่น
ที่ดูมีระดับ ดุจรถยุโรป อย่างที่ตนเองเคยปูพื้นมาตลอด แต่ความจริงอีกด้าน
ก็คือ Honda ในเวลานั้น ไม่เคยมีภาพลักษณ์ในเรื่องความทรหด แข็งแกร่ง
มาก่อนเลย และประเด็นนี้ คนซื้อรถกระบะในบ้านเรา มองว่า มันสำคัญมากๆ
ยิ่งกว่า ความหรูหรามีระดับเสียอีก!

ในเวลานั้น ต้องยอมรับว่า บริการหลังการขายของ Honda ถือว่าเป็นเบอร์ 1
ในตลาดรถยนต์บ้านเรา แต่ลูกค้าก็ต้องยอมจ่ายค่าอะไหล่ และค่าบริการอัน
แสนแพงกว่าคู่แข่ง เป็นการแลกเปลี่ยน ซึ่งลูกค้าในกรุงเทพฯ หรือตัวเมือง
ลูกค้ากลุ่มที่มีการศึกษาดี หรือกลุ่มที่ชอบความแตกต่าง อาจยินดีจ่ายให้
แต่นั่นไม่ใช่กับลูกค้าในต่างจังหวัด ที่มองหาความคุ้มค่ามาก่อนสิ่งอื่นใด!

แถมในตอนเปิดตัว Honda จำเป็นต้องทำตามข้อตกลง กับทาง Isuzu
ด้วยกมารตั้งราคาขาย Tourmaster แต่ละรุ่น ให้แพงกว่ากัน 5,000 บาท
เมื่อเทียบกับ Isuzu Spacecab 2.5 L รุ่นถูกสุดด้วยกัน ยิ่งสร้างกระแสลบ
ให้เกิดขึ้นในหมู่ลูกค้า และผู้บริโภคทั่วไปที่ได้ยินราคาเปิดตัวว่า

“ถ้าขายแพงกว่ากัน 18,000 บาท แบบนี้ ฉันไปซื้อ Isuzu ไม่ดีกว่าหรือ?
ทำไมต้องจ่ายเพิ่มอีก 18,000 บาท ให้ Honda โดยไม่จำเป็นด้วยละ?
ออพชัน ก็เท่ากัน ต่างกันแค่โลโก้เนี่ยนะ ตั้ง 18,000 บาท??”

จบเห่ แทบจะในทันทีที่เปิดตัวกันเลยทีเดียว อย่าลืมว่า ลูกค้าที่ซื้อ
รถกระบะนั้น เป็นกลุ่มที่ ราคามีผลต่อการตัดสินใจอย่างมาก แม้ว่า
ต่างกันเพียงไม่กี่พันบาท ก็อาจจะเปลี่ยนใจไปหาคู่แข่งได้ทันที
(Price Sensitive สูง) ที่สำคัญคือ ในเวลานั้น กลุ่มลูกค้าแทบไม่ดู
และไม่สนใจเลยว่า ราคาของรุ่นท็อปทั้ง Isuzu และ Tourmaster
LXS เท่ากัน

และบทสรุป ก็สะท้อน ให้เราเห็นได้จาก ตัวเลขยอดขาย ในช่วงเพียง
1 ปีแรกที่เปิดตัวไป

เมื่อถึงสิ้นปี 1996 ตลาดรถยนต์ในบ้านเรา แบ่งสัดส่วนออกเป็นรถยนต์นั่ง
ราวๆ 32% แต่ รถกระบะนั้น มีมากถึง 68% ของยอดขายทั้งหมด!

ยอดขายของ Tourmaster ตลอด 4 เดือนแรกหลังจากการเปิดตัวในเดือน
กันยายน 1996 จนถึง 31 ธันวาคม 1996 อยู่ที่ 957 คัน และในช่วง 5 เดือน
แรก ของ ปี 1997 ขายไปได้รวม 920 คัน

ตัวเลขหนะดูเหมือนว่าจะดี และน่าพอใจ แต่ถ้าลองแยกออกมาเป็นตัวเลข
ยอดขายในแต่ละเดือน คุณผู้อ่านจะเห็นว่า แท้จริงแล้ว นี่มันเข้าข่ายหายนะ
เลยเชียวละ!

กันยายน 1996     ขายได้  410 คัน <— ตัวเลขดีสุด เท่าที่รถรุ่นนี้จะทำได้แล้ว)
ตุลาคม 1996      ขายได้  255 คัน <— หล่นวูบ หล่นฮวบเลยละ!
พฤศจิกายน 1996  ขายได้  144 คัน <— หล่นไปอีกครึ่ง ใจหล่นลงไปอยู่ตาตุ่ม!
ธันวาคม 1996     ขายได้  148 คัน <— ขายดีกว่าเดือนก่อนแค่ 4 คัน!
มกราคม 1997     ขายได้  111 คัน <— เอาน่า ตลาดยังไม่ตื่นจากฉลองปีใหม่
กุมภาพันธ์ 1997   ขายได้    82 คัน <— เฮ้ย! แบบนี้มันต้องอัดแคมเปญช่วยแล้ว!
มีนาคม 1997      ขายได้  228 คัน <— มอเตอร์โชว์ ช่วยได้มากทีเดียว
เมษายน  1997    ขายได้  266 คัน <— กินบุญเก่าจาก มอเตอร์โชว์ อีกเดือนนึง
พฤษภาคม 1997   ขายได้  233 คัน <— ประคองไว้ๆ แต่เริ่มร่วงอีกแล้ว

แต่หลังจากปรับโฉมเป็น Tourmaster Turbo แล้ว เสียดายว่า ผมไม่มีตัวเลข
ยอดขาย ของรุ่น Turbo มาปรียบเทียบให้เห็น เพราะตัวเลขยอดขายในสมัยนั้น
หายากมาก แต่เท่าที่จำได้ ตัวเลขยอดขาย ก็ไม่ได้ดีไปกว่า ตัวเลขของรุ่นแรก
ไปมากน้อยกว่านี้หรอกครับ พอๆกัน หรือก้อยกว่านั้นนิดหน่อยด้วยซ้ำ

แทบไม่ต้องไปดูตัวเลขของ คู่แข่งในตลาดรถกระบะรายอื่นๆเลย ครับ จาก
กราฟข้างบน ก็บอกให้เราเห็นได้ชัดเจนแล้วละ ว่าสถานการณ์มันย่ำแย่มากๆ
Honda อยู่รั้งท้ายตลาด ดูเหมือนว่า จะมีเพียงแค่ Ford เท่านั้น ที่ Honda
ยังพอจะงัดข้อได้ แถมยังต้องรอให้ขึ้นปี 1997 เสียก่อนด้วยนะ

ตัวเลขยอดขาย สะท้อนภาพความจริงออกมา ว่าการแลกเปลี่ยนรถยนต์ด้วยกัน
ระหว่าง 2 บริษัท เพื่อทำตลาดในโชว์รูมของตน มันไม่ได้ส่งผลดีมากอย่างที่
พวกเขาคาดหวัง

เหตุผลสำคัญ ที่ทำให้โครงการนี้ ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะทั้ง
2 บริษัท ต่างยังสร้างความแตกต่างให้กับรถยนต์ของทั้ง 2 ค่าย ไม่มากพอ
ลูกค้า จึงเกิดความงุนงงสงสัยว่า ทำไมฉันต้องซื้อรถยนต์ ที่มีราคาแพงขึ้น
18,000 บาท ทั้งที่ถ้าไปซื้อรถยนต์ “ต้นสำเนา” จากบริษัท”ต้นกำเนิด” ก็
น่าจะถูกกว่า ได้รถยนต์หน้าตาเหมือนๆกัน แถม Honda กับ Isuzu เอง
บริการหลังการขาย ก็อยู่ในอันดับต้นๆของตลาดเหมือนๆกัน แล้วแบบนี้
ฉันจะซื้อรถกระบะ Isuzu จาก Honda และซื้อ Honda Civic จาก
โชว์รูม Isuzu กันไปหาพระแสงของ้าวกันทำไมละ?

นั่นคือเหตุผลอันกลายเป็นจุดจบที่น่าเศร้า ของโครงการความร่วมมือ
ระหว่าง Isuzu และ Honda ในเมืองไทย Tourmaster ถูกเลิกทำตลาด
ไปในปี 1998 ขณะที่ Vertex ยังคงมีหลงเหลืออยู่ในโชว์รูม Isuzu มา
จนถึงราวๆ ปี 1999 ก่อนจะหมดเกลี้ยง และยุติบทบาทไปอย่างเงียบๆ

ส่วนโครงการแลกเปลี่ยนรถยนต์กันทำตลาดของ Isuzu และ Honda นั้น
ถูกยุติลงในช่วงปลายปี 2002 อันเป็นปีเดียวกับที่ Isuzu จัดสินใจ เลิกทำ
ตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลในญี่ปุ่นอย่างสิ้นเชิง

ถ้าถามว่า Isuzu ยังคิดจะกลับมาทำรถยนต์นั่งอีกหรือเปล่า คำตอบก็คง
ชัดเจนอยู่ว่า “ไม่เอาแล้ว เข็ด ทำรถกระบะ กับรถบรรทุก ผลิตเครื่องยนต์
Diesel ส่งออก ยังรุ่งกว่า”

แล้วถ้าถาม Honda ว่ายังคิดอยากจะทำรถกระบะขายอยู่หรือเปล่า คำตอบ
ก็คือ ทุกวันนี้ ยังมีขายอยู่ไง Honda Ridgeline รถกระบะบนพื้นตัวถัง
รถเก๋ง แบบ Monocoque Body ไง ทำขายมาหลายปีแล้ว และเพิ่งจะมี
รุ่นใหม่ เตรียมเผยโฉมกันอยู่ภายในปีนี้

แต่ถ้าถามว่า แล้ว Honda บ้านเรา ยังคิดจะกลับมาทำตลาดรถกระบะ
ในเมืองไทย อีกครั้งหรือไม่ คำตอบก็คือ ไม่มีใครรู้อนาคตที่แน่นอน

อาจจะมี หรือไม่ ก็สุดแท้เกินกว่าที่คนของ Honda เองจะคาดเดาด้วยซ้ำ!

——————————///——————————-

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน / ลิขสิทธิ์ภาพเป็นของ Honda Automobile (Thailand)
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
17 เมษายน 2014

Copyright (c) 2014 Text (Pictures own by Honda Automobile (Thailand)
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
April 17th,2014

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE

 


 

บทความน่าสนใจที่เกี่ยวข้อง
Isuzu VERTEX , The Complete History : ตำนานรถเก๋งรุ่นสุดท้ายของ Isuzu ในเมืองไทย

 

isuzu_vertex_banner