แม้ตลาดรถยนต์กลุ่ม Compact C-Segment ในบ้านเรา ดูจะเงียบเหงาไปพอสมควรในปีที่ผ่านมา
แต่กระแสของ Honda Civic 2016 : 10th Generation เมื่อค่ำคืนวันที่ 16 กันยายน (ใน Los Angeles
ประเทศสหรัฐอเมริกา) หรือเช้าวันที่ 17 กันยายน 2558 ในประเทศไทย อันเป็นเวลาในการเปิดตัว
ซีวิครุ่นใหม่ ที่ดูเหมือนจะเป็นการปลุกกระแส รถยนต์กลุ่ม Compact C-Segment ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
ท่ามกลางเหล่าบรรดารถ SUV / Crossover ที่มาแรงแซงทางโค้ง ดังเป็นพลุแตกอยู่ในขณะนี้
ฮอนด้า ซีวิค : Honda Civic เองก็เป็นรถอีกคันหนึ่ง ที่มีเรื่องราวมากมายตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ
ยาวนานมาจนถึงทุกวันนี้ ครอบครัวผมเองก็เคยมีประสบการณ์ มีเจ้ารุ่นนี้เป็นสมาชิกในครอบครัว
เช่นเดียวกัน สมัย พ.ศ. 2537 (ตอนนั้นน่าจะกำลังเรียนอนุบาล 2) กับ Civic EG หรือ รุ่นเตารีด
สีเขียว Losanne รุ่น LXi เกียร์ธรรมดา โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าคุณผู้อ่าน หรือใครหลายๆคนที่ถึงแม้
จะไม่ได้สนใจในรถยนต์มากนัก เคยนั่ง เคยใช้ หรือไม่เคยสัมผัสเลย จะต้องรู้จักชื่อของรถยนต์รุ่นนี้
อย่างแน่นอน
วันนี้เลยถือโอกาสรวบรวมเรื่องราว และพัฒนาการของรถในแต่ละรุ่น ตัดเอาเนื้อหาบางส่วน
จากบทความเก่าๆ ที่พี่จิมมี่ และ พี่แพน ได้เคยเขียนเอาไว้ มาเรียบเรียงใหม่ ให้สั้นกระชับ
ตั้งแต่รุ่นที่ 1 ไล่เรียงมาเรื่อยๆ จนถึงข่าวรุ่นที่ 10 ล่าสุดที่พี่ Homy Demio ได้นำเสนอเอาไว้
(ส่วนใครอยากอ่านฉบับเต็ม ผมได้แทรก link ไปยังบทความตัวเต็มไว้ให้เป็นระยะๆ)
เอ้า ! อย่ารอช้า มาเริ่มกันเลยดีกว่าครับ
ต้นทศวรรษ 1970 ในขณะที่ญี่ปุ่นมีอัตราการเจริญเติบโตระดับ 10% ต่อปี โฉมหน้าประเทศ
เปลี่ยนไปมาก ขณะนั้น ฮอนด้าเพิ่งเริ่มต้นเข้าสู่ธุรกิจผลิตรถยนต์ได้ไม่นานนัก ถึงแม้ความสำเร็จ
ของรถเล็ก N360 รถสปอร์ต S600 และ S800 รวมทั้ง รถกระบะเล็ก T360 จะช่วยให้ฮอนด้า
โด่งดังขึ้นมาในวงการรถยนต์สี่ล้อได้
แต่ทว่า ฮอนด้ากำลังประสบปัญหาอย่างหนัก เมื่อรถรุ่น N360 ที่เคยขายได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นรถ
ที่มีปัญหาด้านคุณภาพจนยอดขายลดลง ขณะที่ซีดานรุ่น 1300 เปิดตัวออกมา แม้จะมีสมรรถนะ
เทียบเท่ารถยนต์ขนาด 2,000 ซีซี ทั้งที่มีเครื่องยนต์เล็กกว่า เพียง 1,300 ซีซี แต่ให้กำลังถึง
100 แรงม้า แถมยังระบายความร้อนด้วยอากาศอันเป็นเทคโนโลยีที่ฮอนด้าถนัด แต่กลับทำ
ยอดขายไม่ดีนัก
จุดเริ่มต้นของซีวิค จึงเริ่มขึ้นเมื่อ MASAMI SUZUKI ผู้ซึ่งก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปของ
ศูนย์ R&D บอกกับทีมวิศวกรในที่ประชุมว่า”ไปที่โรงงานซูซูกะแล้วดูสายการผลิตนั่นซะ ! ตอนแรก
SHINYA IWAKURA นักออกแบบในโครงการรถใหม่รุ่นนี้ ยังไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเดินทางไปถึง
โรงงานซูซูกะ แต่เมื่อพวกเขาได้เห็นสภาพความจริง ทุกคนถึงกับกระจ่างและช็อก เพราะ 1300
ไหลออกจากสายการผลิตในระยะห่างๆกันเพียงไม่กี่คันเท่านั้น
นี่คือสัญญาณบ่งชี้อย่างชัดเจนถึงสถานการณ์วิกฤติในธุรกิจรถยนต์ของฮอนด้า เพราะถ้ารถเล็ก
รุ่นใหม่ที่พวกเขากำลังจะสร้าง ไม่ประสบความสำเร็จอีก ก็เท่ากับว่า ฮอนด้าอาจประสบปัญหา
ทางการเงินจนไม่มีทางอยู่รอดและต้องถอนตัวจากธุรกิจรถยนต์ เพื่อเดินหน้ากับธุรกิจจักรยานยนต์
และเครื่องยนต์เล็กต่อไป
อย่างไรก็ตาม ทุกคนรู้ดีว่า การตัดสินใจจะพัฒนาและผลิตสินค้าใดๆออกจำหน่ายมักเป็นคำสั่ง
อันเกิดจากแนวคิดอันเฉียบคม และวิสัยทัศน์ที่มองการณ์ไกลของ โชอิชิโร ฮอนด้า ผู้ก่อตั้ง
บริษัทฮอนด้าในขณะนั้น ดังนั้นหากจะสร้างรถใหม่ขึ้นมาก็ควรจะเป็นรถที่โชอิชิโร เห็นด้วยว่า
ควรสร้าง มาซามิจึง แบ่งทีมงานออกเป็น 2 ทีม ให้ต่างฝ่ายไปศึกษาค้นหารถยนต์ที่ฮอนด้า
ควรจะสร้าง ผลลัพธ์ที่ได้บังเอิญคล้ายคลึงกันมากว่า ควรเป็นรถยนต์ขนาดเล็ก มีน้ำหนักเบา
ที่แล่นได้เร็ว
ดังนั้น ในฤดูร้อนปี 1970 โครงการนี้จึงเดินหน้าไปอย่างต่อเนื่องในศูนย์วิจัยและ พัฒนา R&D
WAKO ของฮอนด้า โดยยืนอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลจากการวิจัยตลาดเป็นหลัก ทีมงานได้ทุ่มเท
การพัฒนาตัวรถในทุกด้าน โดยเน้นให้มีความอเนกประสงค์และความกระทัดรัด คล่องตัว รวมทั้ง
ความพยายามในการลดน้ำหนักตัวจนเหลือเพียง 680 กิโลกรัมเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การลดน้ำหนักตัวให้น้อยที่สุด ย่อมขัดแย้งกับแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างตัวถัง
ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และทั้งสองประเด็นดังกล่าว ก็สวนทางกันกับต้นทุนในการผลิตที่จะต้องต่ำที่สุด
เท่าที่ทำได้ ถึงกระนั้น ไม่มีอะไรที่ยากไปกว่าการที่พวกเขายังต้องต่อสู้กับความคิดของโชอิชิโร
ฮอนด้า ในเรื่องรายละเอียดทางเทคนิคต่างๆ ทั้งการเปลี่ยนทิศทางของฮอนด้าจากการพัฒนา
ระบบระบายความร้อนเครื่องยนต์ด้วยอากาศ มาเป็นระบบหล่อเย็นด้วยน้ำ เพื่อให้ผ่านมาตรฐาน
มลพิษที่เข้มงวด ไปจนถึงเรื่องการนำระบบกันสะเทือนอิสระแม็คเฟอร์สันสตรัตมาใช้ทั้ง 4 ล้อ อีกด้วย
แน่นอนว่า ทีมงานเดินหน้าพัฒนาเรื่องนี้อย่างลับๆ แต่ทันทีที่ โชอิชิโร ไปพบโดยบังเอิญเข้า
เขาไม่พอใจเพราะไม่ยอมปรึกษาเขาเรื่องนี้มาก่อน และสั่งเรียกประชุมทันทีเพื่อขอดูสเป็กรถทั้งหมด
MAMORU SAKATA วิศวกรออกแบบระบบกันสะเทือน ตัดสินใจเผชิญหน้ากับโชอิชิโร โดยอธิบาย
ถึงข้อดีทั้งด้านการเพิ่มพื้นที่ห้องโดยสารให้กว้างขึ้น และประสิทธิภาพในการขับขี่ที่ดีกว่ารถเล็ก
ในยุคสมัยเดียวกัน
ตอนแรก โชอิชิโร ยังคงไม่พอใจอยู่ แต่ KIYOSHI KAWASHIMA ผู้ซึ่งต่อมาได้เป็นประธานศูนย์ฮอนด้า
R&D บอกกับโชอิชิโรว่า “อย่างน้อย ซากาตะ เชื่อมั่นในแนวคิดของเขามาก และผมว่าเราควรจะปล่อย
ให้เขาเดินหน้าต่อไป” โชอิชิโรจึงยอมโอนอ่อนผ่อนตาม
ความมุ่งมั่นดังกล่าว ทำให้ซีวิคใหม่กลายเป็นรถขับล้อหน้ารุ่นแรกของญี่ปุ่นที่ใช้ระบบกันสะเทือน
แม็คเฟอร์สันสตรัตมาติดตั้งทั้งหน้า-หลัง ขณะที่รถเล็กทั่วไปยังใช้ช่วงล่างด้านหลังแบบคานแข็ง
รวมทั้งการเลือกใช้รูปแบบตัวถังแฮตช์แบ็ก ขณะที่รถยนต์ทั่วไปในยุคนั้นมักออกขายด้วยตัวถัง
ซีดาน 2 หรือ 4 ประตูก่อน
ส่วนที่มาของชื่อรุ่นนั้น ขณะที่การพัฒนาใกล้เสร็จสิ้นลง อิวาคูระ ได้รับโทรศัพท์จาก KIYOHIKO
OKUMOTO ผู้ซึ่งต่อมาขึ้นเป็นผู้จัดการของแผนกส่งเสริมการขาย โอคุโมโตะ บอกกับเขาว่า
“เราได้ชื่อของรถใหม่รุ่นนี้แล้ว แต่ในฐานะที่คุณคลุกคลีกับโครงการนี้จนรู้จักรถรุ่นนี้ดีกว่าใครทั้งหมด
เราจึงอยากจะเช็คกับคุณก่อนว่าคุณชอบชื่อของเรานี้ไหม และชื่อที่ว่านี้คือ ‘ซีวิค’ ซึ่งมีความหมายว่า
รถที่สร้างขึ้นเพื่อพลเมืองและการใช้ชีวิตในเมือง (a car created for citizensand cities)”
อิวาคูระ ถึงกับตัวสั่นด้วยความตื่นเต้น และตื้นตันที่ทางฝ่ายขาย เข้าใจในเจตนารมณ์ที่ทีมวิศวกร
กำลังพยายามให้บรรลุผล อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาทุกรุ่นของซีวิคที่เปิดตัว ไม่ได้มีเพียงแค่ชื่อรุ่น
ในการทำตลาดเท่านั้น แต่ฝ่ายขายยังมีการตั้งชื่อนำหน้าในแต่ละรุ่นเฉพาะในตลาดญี่ปุ่น เพื่อแยก
ภาพลักษณ์ของแต่ละรุ่นตัวถังให้ชัดเจนอีกด้วย อาทิเช่น วันเดอร์ซีวิค,แกรนด์ซีวิค หรือ มิราเคิลซีวิค
Civic 1st Generation : ปี 1972 – 1979
นับเป็นการพัฒนาครั้งสำคัญของโลก และเป็นจุดกำเนิดของนวัตกรรมของฮอนด้า ซีวิค นั่นคือ
การนำเสนอเครื่องยนต์ CVCC หรือ Compound Vortex Controlled Combustion ซึ่งเป็นเครื่องยนต์
รุ่นแรกที่สามารถผ่านมาตรฐาน Muskie Act หรือ กฎหมายควบคุมมลพิษในไอเสียที่เข้มงวดที่สุดในสหรัฐฯ
โดยออกแบบเพื่อให้เป็นรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและประหยัดน้ำมันมากที่สุด และในรุ่นเดียว
กันนี้เอง ยังถือเป็นครั้งแรกที่ ฮอนด้า ซีวิค ได้พลิกโฉมประวัติศาสตร์การออกแบบรถยนต์คอมแพคท์
และกลายเป็นมาตรฐานสำหรับรถยนต์ทั่วโลก ด้วยการออกแบบที่มีลักษณะเป็นทรง 2 มิติ (Two-box Styling)
โดยวางเครื่องยนต์ไว้ด้านหน้าพร้อมระบบขับเคลื่อนล้อหน้า และยังเป็นครั้งแรกที่ขยายสายผลิตภัณฑ์
ด้วยการนำเสนอระบบเกียร์อัตโนมัติ
Honda Civic รุ่นแรก เปิดตัวเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 1972 มีรหัสรุ่น SB 1 มีตัวถังให้เลือกทั้งแบบ
Hatchback 2 ประตู (มีบานประตูด้านหลัง แบบครึ่งเดียว กระจกบังลมหลังไม่อาจเปิดกางเพื่อใส่สัมภาระ
ด้านหลังได้) มี 4 รุ่นย่อย คือ Standard , DX , Hi-DX และ GL เป็นรุ่นท็อป กับ Hatchback 3 ประตู
(บานประตูหลังเปิดยกได้) มี 3 รุ่นย่อย คือ DX , Hi-DX และ GL เป็นรุ่นท็อป (รุ่น 3 ประตู และรุ่น GL
ออกจำหน่ายตามมา เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 1972)
ในปีแรกที่ออกจำหน่าย ติดตั้งเครื่องยนต์แบบ 4 สูบ OHC 8 วาล์ว (2 วาล์ว/สูบ) 1,169 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 70.0 x 76.0 มิลลิเมตร จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บิวเรเตอร์เดี่ยวแบบท่อคู่
ดูดลงล่าง ระบายความร้อนด้วยน้ำ แบ่งความแรงเป็น 2 ระดับ รุ่น Standard , DX , Hi-DX
อัตราส่วนกำลังอัด 8.1 : 1 กำลังสูงสุด 60 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
9.5 กก.-ม. ที่ 3,000 รอบ/นาที ส่วน GL จะถูกเพิ่มกำลังอัดเป็น 8.6 : 1 เพิ่มกำลังสูงสุด
เป็น 69 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 10.2 กก.-ม. ที่ 4,000 รอบ/นาที
ส่งกำลังด้วยเกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ พร้อมระบบ ซินโครเมซ คลัชต์เป็นแผ่นแห้ง
มีสปริง ไดอะแฟรม พวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พีเนียน ไม่มีเพาเวอร์ผ่อนแรง รัศมีวงเลี้ยว 4.7 เมตร
ระบบกันสะเทือนเป็นแบบ อิสระ สตรัต ทั้งหน้า – หลัง ระบบห้ามล้อทุกรุ่นจะเป็นดรัมเบรก
ทั้ง 4 ล้อ ยกเว้นรุ่น GL ที่เป็นแบบ หน้าดิสก์ หลังดรัม ล้อกระทะแบบเหล็ก สวมยาง
ขนาด 6.00-12-4PR
ราคาจำหน่ายแตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาค ราคาใน Tokyo เริ่มต้น 425,000 เยนในรุ่น
2 ประตู Standard และ 530,000 เยน ในรุ่น 2 ประตู GLตั้งเป้ายอดขายไว้ 6,000 คัน
ถ้าสรุปมาสั้นๆแค่นี้ยังน้อยไป ขอเรียนเชิญอ่านฉบับตัวเต็มของ Civic รุ่นแรกได้ที่นี่เลยครับ
เขียนไว้โดยพี่จิมมี่ J!MMY และพี่แพน Pan Paitoonpong อย่างละเอียดยิบ หาอ่านที่ไหนไม่ได้อีก
Honda CIVIC (1st Generation) : ตำนานแห่งจุดเริ่มต้น บนความกล้าที่จะแตกต่าง
Civic 2nd Generation : ( ปี 1979 – 1983 )
ตอกย้ำความสำเร็จของเครื่องยนต์จากรุ่นแรกด้วยการพัฒนาเครื่องยนต์สำหรับรุ่นที่ 2 ด้วยเครื่องยนต์
CVCC-II ที่เพิ่มประสิทธิภาพในการเผาไหม้และช่วยให้เครื่องยนต์ทรงพลังมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ฮอนด้า
ซีวิค เป็นรถยนต์ที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ได้มีการแนะนำโฉมใหม่
ทั้งในรูปแบบของรถ Country Station Wagon และแบบรถยนต์ 4 ประตู การันตีความสำเร็จของการเป็น
ยนตรกรรมแห่งยุค 80’s ของ ฮอนด้า ซีวิค รุ่นที่ 2 ด้วยรางวัล “U.S. Import Car of the Year”
จากนิตยสาร Motor Trend
Civic 3rd Generation : ( ปี 1983 – 1987 )
ด้วยคอนเซ็ปต์ในการพัฒนาฮอนด้า ซีวิค รุ่นที่ 3 นี้ คือ “maximum space for people, minimum space
for mechanisms” เป็นการมอบพื้นที่ภายในห้องโดยสารที่กว้างขวางขึ้นเพื่อความสะดวกสบายของผู้ใช้รถ
ส่งผลให้ฮอนด้า ซีวิค รุ่นนี้ มีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งแบบแฮทช์แบ็ค 3 ประตู, ซีดาน 4 ประตู,
และแบบชัตเทิล 5 ประตู (shuttle) และเป็นครั้งแรกที่เผยโฉม ฮอนด้า ซีวิค เอสไอ โดดเด่นด้วยเครื่องยนต์
ดับเบิ้ลโอเวอร์เฮดแคมชาฟท์ (DOHC) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีเฉพาะในรถแข่งฟอร์มูล่าวันเท่านั้น ส่งผลให้
เป็นรุ่นที่ได้รับกระแสความนิยมอย่างล้นหลามในยุคนั้น
ด้วยนวัตกรรมที่ล้ำหน้าและการออกแบบของหลังคาที่ยาวมากขึ้น ฮอนด้า ซีวิค ได้รับรางวัล “Car of the Year”
ในประเทศญี่ปุ่น ในปี 1984 และในปีเดียวกัน ฮอนด้า ซีวิค ได้ตอกย้ำความสำเร็จของการเป็นรถยนต์ที่มี
ประสิทธิภาพการประหยัดน้ำมันสูงสุด ด้วยการได้รับคะแนนสูงสุดจากการทดสอบอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมัน
เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน จาก U.S. Environmental Protection Agency และยังประสบความสำเร็จในตลาด
ฝั่งยุโรปด้วยรางวัลด้านการออกแบบรถยนต์ “Torino-Piedmonte Car Design Award” นอกจากนี้
ฮอนด้า ซีวิค รุ่นที่ 3 นี้ ยังเป็นรุ่นแรกที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ก่อนที่จะเริ่มมีการประกอบและ
จำหน่ายในประเทศในรุ่นถัดไป
Civic 4th Generation : ( ปี 1987 – 1991 )
รุ่นนี้เป็นอีกรุ่นที่สนองตอบทุกความต้องการของผู้ใช้รถ ด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ได้รับการออกแบบ
มาเพื่อการขับขี่ที่สะดวกสบาย และสนุกเร้าใจสไตล์สปอร์ต อาทิ ระบบกันสะเทือนดับเบิ้ลวิชโบน ซึ่งเป็น
ปีกนก 2 ชั้น ทั้ง 4 ล้อ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีเฉพาะในรถแข่งฟอร์มูล่าวันและรถสปอร์ตเท่านั้น สำหรับตัวถัง
ได้รับการออกแบบให้ลู่ลม และกว้างขวางยิ่งขึ้น อีกทั้งยังนำเสนอเครื่องยนต์ VTEC ระบบ Twin Cams
เพิ่มประสิทธิภาพในการเปิด-ปิดวาล์วที่สอดคล้องกับรอบของเครื่องยนต์ ทำให้การขับขี่เป็นไปอย่างราบรื่น
ในรอบความเร็วต่ำ และช่วยให้เร่งเครื่องได้อย่างไม่สะดุดที่รอบความเร็วสูง ความสำเร็จของฮอนด้า ซีวิค
รุ่นที่ 4 ในตลาดยุโรปยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับรางวัล “Golden Steering Wheel Award” จาก
หนังสือพิมพ์สัญชาติเยอรมัน Bild am Sonntag และถูกจัดอันดับให้เป็นที่ 1 ในการเป็นยนตรกรรมคุณภาพ
ที่น่าเชื่อถือ จัดอันดับโดยนิตยสาร L’Automobile ประเทศฝรั่งเศส
Civic 5th Generation : Civic EG (เตารีด) ( ปี 1991 – 1995 )
มีเรื่องเล่ากันว่ามี Honda Civic คันหนึ่งไปจอดอยู่แถวๆ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ตรงแถวๆก่อนถึง
ทางเข้างาน ซึ่งถ้าไม่ใช่คนที่ติดตามเรื่องรถจริงๆ ก็อาจไม่รู้สึกว่ามีตัวอะไรมาจอดปะปนอยู่กับรถของ
ชาวบ้านชาวช่อง..แต่กับคนที่เจนจัดในเรื่องรถๆล่ะก็ เป็นต้องหันขวับ ตาลุกโพลง..”เฮ้ย! Civic ตัวใหม่
มาได้ไงวะ!”
และที่ทำให้เรื่องนี้ต้องเก็บมาเล่า เพราะไอ้วันและเวลาที่เจ้ารถลึกลับคันนั้นไปจอดอยู่ มันดันเป็นวันเดียว
กับที่ Toyota เปิดตัว Corolla AE101/EE100 หรือเจ้าสามห่วงอย่างพอดีเป๊ะราวกับดีดเห็บหมาทะลุรูเข็ม!
วันที่ 13 มีนาคม 1992 นั่นเอง Corolla ชิงตัดหน้าเปิดตัวสามห่วงไปก่อนแล้ว แต่ดูเหมือนใครบางคน
ที่ Honda ถนัดกลยุทธ์ต่อยใต้เข็มขัด จัดวิธี Underground เอารถมาจอดดึงความสนใจผู้คนเสียอย่างนั้น
แสบยิ่งกว่าก๋วยเตี๋ยวดู๋ดี๋ ฮี่ ฮี่ ฮี่
แล้วในที่สุด Honda Cars (ประเทศไทย) ก็เผยโฉม Honda Civic EG เวอร์ชันไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก
เมื่อเดือน เมษายน 1992 และถูกนำไปจัดแสดงในงาน Bangkok Motor Show 1992 อันเป็นที่ซึ่งผมไปพบ
มันตัวเป็นๆครั้งแรกนั่นแหละ
Honda ชูจุดเด่นด้วยคำว่า “ศิลปะแห่งยนตรกรรมระดับโลก” อันพยายามสื่อถึงรูปทรงและดีไซน์ของรถ
ซึ่งเมื่อนำไปเทียบกับ Corolla และ Sentra แล้วรู้สึกเหมือนกับจะดูวัยรุ่นกว่ากันอยู่ 5 ปีเห็นจะได้
ช่วงล่างดับเบิลวิชโบน, ยางรองแท่นเครื่อง 5 ตำแหน่ง, และคลัทช์ไฮดรอลิกถูกนำมาเป็นจุดขายในเอกสาร
โบรชัวร์ต่างๆด้วยเช่นกัน
นอกนั้นไม่รู้จะชูจุดขายอะไรดี…
ช่วงแรกที่เปิดตัว วางเครื่องยนต์ 4 สูบ SOHC 16 วาล์ว 1,493 ซีซี แต่ยังใช้คาร์บิวเรเตอร์เดี่ยวท่อคู่ดูด
ลงล่าง ทั้งที่ชาวบ้านชาวช่อง เขาเริ่มมีเครื่องยนต์หัวฉีดอิเล็คโทรนิคส์ให้เลือกกันแล้ว พละกำลังในแค็ตตาล็อก
ระบุเอาไว้เพียง 91 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 11.6 กก-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที
ลองเอาสเป็กตัวเลขดังกล่าว มากางเทียบกับรถยนต์รุ่นใหม่ในปัจจุบัน คุณก็จะพบได้ว่า ณ วันนี้
รถยนต์ที่มีสมรรถนะพอกันกับ Civic EG 4 ประตู เวอร์ชันไทย ก็คือ Honda Brio นั่นเอง!
โลกรถยนต์นี่ผ่านไป 20 ปีมันก็ก้าวหน้าไปเยอะเนาะ..
นอกจากนี้ อย่าหวังอะไรมากจากลิสต์อุปกรณ์ ไม่มีล้ออัลลอย เบาะหุ้มด้วยหนังเทียมเกรดพอๆกับรถเครื่อง
1.3 ลิตรของคู่แข่ง กระจกมือหมุน! มีเซ็นทรัลล็อคให้ อยากได้พวงมาลัยเพาเวอร์ ต้องซื้อรุ่นเกียร์อัตโนมัติเท่านั้น!
เข็มขัดนิรภัย..ในโบรชัวร์ระบุไว้ว่ามีเข็มขัด 3 จุดสำหรับผู้โดยสารด้านหน้าเท่านั้น..เว่ย..อันนี้ไม่ไหวนะ
ระบบเบรก เป็นแบบหน้าดิสก์ หลังดรัม..อันนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก สมัยนั้นรถ C-Segment ส่วนใหญ่ใช้ดรัมหลังทั้งนั้น
Honda เปิดตัวมาให้เลือก 2 รุ่น
รุ่นเกียร์ธรรมดา 1.5 LX ราคา 499,000 บาท
รุ่นเกียร์อัตโนมัติ 1.5 EX ราคา 539,000 บาท
สีตัวถังมีให้เลือกแค่ 5 สี คือ เงิน Frosty silver Metallic, น้ำตาล Silk Brown (ไม่ค่อยเห็นบนถนนเท่าไหร่
บางคนเรียกว่าสีกะปิ สมัยนี้ใครเจอรีบกราบโดยไว..มันหายาก) น้ำเงิน Blue Mica(สีนี้ ในยุคนั้น
เห็นบนถนนกันจนเบื่อ) แดง Phoenix Red, และ สีขาว Frost White
ต่อมาเดือนมิถุนายน 1993 หลังจากที่ผ่านมาปีเศษ ดูเหมือน Honda เพิ่งจะรู้ตัวว่ามีช่องว่างในตลาด
ซึ่งตัวเองไม่มีรถไปแข่งกับชาวบ้านในกลุ่ม C-Segment รุ่นท้อปๆอย่าง Corolla 1.6GLi, Nissan Sentra
Super Saloon, Mitsubishi Lancer 1.6GLXi ที่ล้วนแล้วแต่มีพละกำลังสูงกว่า มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวก
ครบครัน
ว่าแล้วก็จัดแจงเพิ่มรุ่น 1.6 ลิตร บล็อค D16A7 หัวฉีด PGM-FI SOHC 16 วาล์วเข้าไป แม้จะยังไม่มีระบบ
VTEC แต่พละกำลังระบุเอาไว้ 120 แรงม้าที่ 6,300 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 14.5 กก-ม.ที่ 5,500 รอบ/นาที
ก็เรียกเสียงซู้ดปากจากพวกวัยรุ่นเท้าหนักได้มากอยู่ เพราะมันกลายเป็นรถยนต์เครื่อง 1.6 ลิตรไร้ระบบ
อัดอากาศประกอบในประเทศที่มีแรงม้าสูงที่สุด..Corolla GTi 130 แรงม้า? นั่นก็เลิกขายไปแล้ว อย่าลืม
ถ้าคุณสงกะสัยว่ายุคบ้าแรงม้าของ Honda ในไทยมันเกิดขึ้นเมื่อไหร่..ผมว่ามันเริ่มที่ไอ้เจ้านี่นั่นล่ะ
ครั้นจะเพิ่มแค่พลังและความทันสมัย (เสียทีเหอะว่ะ) ของเครื่องยนต์อย่างเดียวก็คงไม่เกิด Honda
จึงเพิ่มอุปกรณ์และการตกแต่งให้กับรถเครื่อง 1.6 ลิตรใหม่นี้ด้วย ภายในจะสังเกตได้ว่าเบาะนั่งถูกเปลี่ยน
จากหนังเทียม เป็นเบาะสักหลาดมีขอบเบาะเป็นหนังเทียม ซึ่งยังไงก็ช่วยให้ภายในดูมีสีสันน่ามอง
ขึ้นเป็นกอง นอกจากนี้พวงมาลัยของรุ่น 1.6 ลิตรนั้นจะมีเพาเวอร์ช่วยผ่อนแรง และปรับระดับสูง-ต่ำได้
ไม่ว่าจะเป็นรุ่นเกียร์ธรรมดาหรือเกียร์อัตโนมัติก็ตาม เข็มขัดนิรภัยในรุ่น 1.6 ลิตรจะมีแบบ 3 จุด
ให้สำหรับเบาะนั่งแถวหลังด้วย (จริงๆควรจะมีมาให้ในรุ่น 1.5 ด้วย)
ส่วนภายนอกนั้นสิ่งที่บอกความแตกต่างระหว่างรถเครื่อง 1.5 และ 1.6 ลิตรได้ดีที่สุดก็คือคิ้วขอบโครเมียม
รอบกระจกรถนั่นเองล่ะ
ส่วนล้อ..ก็ยังให้เป็นล้อเหล็กพร้อมฝาครอบอยู่ดี แต่เป็นลายใหม่ที่เหมือนกับยกมาจากรุ่น ETi ของญี่ปุ่น
ซึ่งรุ่น 1.5 ลิตรก็ได้ฝาครอบล้อลายนี้ไปใช้แทนลายเก่าๆเชยๆที่เคยใช้อยู่แต่เดิมด้วย
Civic เครื่อง 1.6 ลิตรหัวฉีด PGM-Fi มีให้เลือกด้วยกัน 2 รุ่น
1.6 LXi เกียร์ธรรมดา ราคา 560,000 บาท
1.6 EXi เกียร์อัตโนมัติ ราคา 590,000 บาท
ถือว่ามีราคาไล่ๆกันกับคู่แข่ง
ในปี 1993 นี้ Civic จะมีสีให้เลือกทั้งหมด 6 สี โดยยุบสีแดงฟีนิกซ์ สีกะปิ Silk Brown และสีน้ำเงินไมก้าทิ้ง
แต่สีขาวฟรอสท์ และสีเงินฟรอสตี้ยังคงอยู่ และเพิ่มเฉดสีใหม่เข้ามา ได้แก่ แดงมิลาโน, น้ำเงินฮาร์เวิร์ด,
เทาพิวเตอร์ และสีเขียวโลว์ซานน์
เพิ่งสังเกตแฮะว่ายุคนั้นสีขาวไม่ใช่สิ่งมหัศจรรย์ที่ต้องรอคิวหรือเสียเงินเพิ่มเนาะ!?!
Civic 1.5 และ 1.6 ช่วยกันสร้างยอดขายให้ Honda ต่อมาอีกสักพัก แม้ว่ารถรุ่น LXi และ EXi จะได้
กระแสตอบรับที่ดีและมีผู้คนทั้งที่บ้าแรงม้าและไม่บ้า..แต่มีตังค์ ถอยไปใช้กัน พวกเราก็รู้กันอยู่แล้วว่า
มันจะไม่ใช่ Civic EG รุ่นที่สร้างประวัติศาสตร์..เพราะต้องรอหลังจากนั้นอีกราว 2 เดือน
พอเดือนสิงหาคม 1993 Honda ระเบิดถล่มตลาดรถยนต์เมืองไทยลูกโต ช็อควงการ ด้วยการเปิดตัว
Civic 3 Door ในราคา โคตรถูก รุ่นเกียร์ธรรมดา 1.5 LX ตั้งราคาขายเพียง 361,000 บาท ส่วนรุ่น
เกียร์อัตโนมัติ 1.5 EX แปะป้ายเอาไว้ 396,000 บาท
เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคยุคที่คนไทยยังไม่รู้จัก Hotmail ไม่ได้คาดคิดกันมาก่อนว่า Honda จะแอบซ่อนเขี้ยวเช่นนี้!
แน่นอนว่ากระแสตอบรับนั้นโด่งดังชนิดที่เราต้องไปเขียนถึงกันในบทความ 50 รถดังแห่งยุคเลยทีเดียว
50 รถรุ่นดังในเมืองไทย 1985 – 2005 (Part I) // 50 รถรุ่นดังในเมืองไทย 1985 – 2005 (Part II)
ฮิตขนาดไหน ก็ลองฟังตา J!MMY ของเรา เล่าไว้แล้วกัน ในฐานะที่เกิดทันเห็นปรากฎการณ์บ้าระห่ำครั้งนั้น
“ตอนนั้น ผมเรียนอยู่ชั้น ม.2 ที่ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ตั้งอยู่ในซอย ประมวญ อันเป็นสถานที่
ตั้งแต่ดั้งเดิมของ โชว์รูม Honda หนึ่งในไม่กี่สาขาที่มีอยู่ในกรุงเทพฯ ตอนนั้น เช้าวันที่ 1 สิงหาคม 1993
Honda เปิดตัว และลงโฆษณา Civic 3 ประตู ในหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หนึ่งหน้าเต็ม พร้อมกับราคาขาย
ปลีกเล่นเอาผมช็อคไปเลย เพราะถือเป็นเรื่องไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์เมืองไทย ว่า Honda
จะกล้าตั้งราคาขายรถยนต์ของตน ได้ถูกเป็นบ้าเป็นหลังขนาดนี้ (คิดดูแล้วกันว่า ขนาด รุ่นถูกสุดของ Honda
Brio ในปี 2011 ก็ยังมีราคาตั้ง แพงกว่า เจ้า Civic 3 ประตูในตอนนั้น)
ไม่ต้องแปลกใจเลยว่า พอเลิกเรียน ผมเดินออกไปดูหน้าโชว์รูม Honda สภาพในโชว์รูมนั้น
เต็มไปด้วยผู้คนที่มาดูรถ แม้ว่า จะมีม่านบังแดดปิดลงมาครึ่งหนึ่ง เพราะตอนบ่าย แสงแดด จะปะทะกับผู้คน
ในโชว์รูมกันเต็มๆ แต่ก็บังสภาพผู้คนที่เต็มโชว์รูมไม่มิด งานนี้พนักงานขาย รับสายโทรศัพท์กันจ้าละหวั่น
และเพียง 3 วันหลังจากนั้น Honda ก็กวาดยอดจอง Civic 3 ประตูไปมากถึง 9,000 คัน!!
กลายเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์รถยนต์เมืองไทย เพราะไม่เคยมีใครทำสถิติยอดสั่งจอง
เยอะมากขนาดนี้มาก่อน จน Honda ประกาศขอปิดรับจองชั่วคราว เพื่อเร่งผลิตและระบายยอดสั่งจองทั้งหมด
ให้เรียบร้อยเสียก่อน”
ผมเสริมให้อีกว่าขนาดรับจองแทบไม่ทัน และบางที่ปิดรับจองไปเลย ยอดก็ยังไหลมาเทมา แม้ 4 วัน
หลังจากนั้นยอดจองก็ยังเดินหน้าต่อจนทะลุ 10,000 คัน และถ้ามองไกลไปอีก..เอาเป็นว่ายอดขายของ
Honda ปี 1994 เขยิบมาอยู่ที่ 24,000 คันโดยประมาณ ซึ่งเพิ่มมากกว่าปีก่อนถึง 60%! ไม่ต้องบอกก็รู้
ว่าใครเป็นตัวดัน
ความมันส์ยังไม่จบเพียงแค่นี้ ใครสนใจอ่านต่อ ขอเรียนเชิญได้ที่บทความตัวเต็ม
Honda Civic EG (1991 – 1995) – ปาฏิหารย์ยุคฟองสบู่ กระแทกสู่มหาชน
Civic 6th Generation : Civic EK (ตาโต) ( ปี 1995 – 2000 )
ฮอนด้า ซีวิค ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาโครงสร้างตามหลักอากาศพลศาสตร์ และโดดเด่นด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ
ที่ตอบรับความต้องการของผู้ใช้รถในยุคนั้น ที่คำนึงถึงสมรรถนะของเครื่องยนต์ที่สูงขึ้น ปลอดภัย และเป็นมิตร
ต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยเครื่องยนต์ VTEC ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของฮอนด้า และเป็นรุ่นที่ได้รางวัล
“Car of the Year Japan” สองปีซ้อน ในปี 1995 และ 1996
ในปี 1993 Honda กับ Isuzu ทำข้อตกลงร่วมกัน ในการแลกเปลี่ยนกันผลิตและจำหน่ายรถยนต์
บางรุ่น ในตลาดญี่ปุ่น และในอเมริกาเหนือ ภายใต้รูปแบบ ที่เรียกว่า OEM (Original Equipment
Manufacturing) เมื่อความร่วมมือดังกล่าวที่ญี่ปุ่น มันไปได้สวย ความร่วมมือดังกล่าว จึงถูกขยับขยาย
เข้ามายังประเทศไทยของเรา ในช่วงปี 1995 เพื่อหวังอุดช่องโหว่ซึ่งกันและกัน จนในที่สุดในปี 1996
ก็มีรถออกมา นั่นก็คือ Isuzu Vertex และ Honda Civic EK
มีเครื่องยนต์ให้เลือก 2 ความแรงด้วยกัน ขุมพลังเบนซิน 4 สูบเรียง SOHC 16 วาล์ว 1.6 ลิตร 1,590 ซีซี
ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด PGM-FI กระบอกสูบ x ช่วงชัก 75.0 x 90.0 มิลลิเมตร กำลังสูงสุด 120 แรงม้า (PS)
ที่ 6,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 143.2 นิวตันเมตร ที่ 5,500 รอบ/นาที
ส่วนอีกบล๊อก มีระบบแปรผันวาล์ว VTEC เพิ่มมาให้ แรงขึ้นเล็กน้อย เป็น 127 แรงม้า (PS) ที่ 6,600 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 144 นิวตันเมตร ที่ 5,500 รอบ/นาที ทั้งคู่จับคู่กับเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ หรือ เกียร์อัตโนมัติ
4 จังหวะ พร้อม ระบบ ELCAT (Electronically Lock-Up Torque Converter Transmission)
หรือสมองกลเกียร์ไฟฟ้า มาให้
Civic 7th Generation : Civic ES (Dimension) ( ปี 2000 – 2005 )
มีการใช้โครงสร้างตัวนิรภัย G-CON เพื่อช่วยปกป้องห้องโดยสารจากการชนรอบทิศทาง จึงทำให้
ฮอนด้า ซีวิค รุ่นที่ 7 นี้ เป็นรถยนต์ที่มีเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยสูงสุด ซึ่งได้รับรางวัล Car of the Year
Japan สองปีติดต่อกัน ในปี 2001 และ 2002 ประกอบกับแนวคิดการออกแบบและพัฒนาเพื่อให้เป็น
“มาตรฐานของรถยนต์ระดับคอมแพคท์” ส่งผลให้ ฮอนด้า ซีวิค มีพื้นที่ห้องโดยสารที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น
ประหยัดน้ำมันสูงสุด และให้การขับขี่ที่นุ่มนวล รวมถึงเปลี่ยนแปลงด้านการออกแบบด้วยการผสมผสาน
ระหว่างตัวถังแบบทรงกล่อง และเพิ่มความโค้งมนให้กลมกลืนมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังนับเป็นครั้งแรก
ที่มีการจำหน่ายเครื่องยนต์ไฮบริด ในสหรัฐอเมริกา โดยผ่านการรับรองว่าเป็นรถยนต์ที่ปล่อยไอเสีย
เป็นศูนย์ จาก California Air Resources Board และมีอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ 19.5 กม./ลิตร
Civic Dimension ออกขาย ในวันที่ 17 พฤจิกายน 2000 โดยใช้ Slogan ว่า Civic New Dimension
หรือเป็นภาษาไทย มิติใหม่ แห่งยนตรกรรมเหนือระดับ เลยเป็นชื่อฉายาของรุ่นนี้ เรียกติดปากกันไปโดยปริยาย
มีการปรับโฉม Minorchange ครั้งแรกในปี 2003 เพิ่มเครื่องยนต์ขนาด 2.0 ลิตร และครั้งใหญ่ในปี 2004
หรือที่เราเรียกกันว่า Dimension โฉมตาเหยี่ยวนั่นเอง
บล๊อกเครื่องยนต์ที่เป็นยอดขายหลัก ก็คงหนีไม่พ้นเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ ขนาด 1.7 ลิตร
รหัส D17A มีให้เลือกด้วยกัน 2 ความแรง ในรุ่น EXi พละกำลัง 120 แรงม้า ที่ 6,200 รอบ/นาที
ส่วนในรุ่น VTi จะเป็นระบบเปิดปิดวาล์วแปรผัน VTEC พร้อมเทคโนโลยี LEV ให้พละกำลัง
สูงสุด 130 แรงม้า ที่ 6,300 รอบ/นาที ทั้ง 2 แบบจับคู่กับเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และเกียร์
อัตโนมัติ 4 จังหวะ มีรุ่นย่อยจำหน่ายดังต่อไปนี้
1.7 EXi M/T 716,000 บาท
1.7 EXi A/T 753,000 บาท
1.7 EXi A/T (AS) 798,000 บาท
1.7 VTi M/T 781,000 บาท
1.7 VTi A/T 818,000 บาท
1.7 VTi A/T (AS) 863,000 บาท
1.7 VTi A/T (ASL) 899,000 บาท
เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบแถวเรียง 16 วาล์ว DOHC i-VTEC ขนาด 2.0 ลิตร 1,998 ซีซี.
กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก 86.0 x 86.0 มม. อัตราส่วนกำลังอัด 9.8 : 1
กำลังสูงสุด 155 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 177 นิวตันเมตร
ที่ 5,000 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ Grade Logic Control
2.0 i-VTEC A/T 997,000 บาท
Civic 8th Generation : Civic FD ( ปี 2005 – 2012 )
Honda Civic รหัสรุ่น FD ถือเป็นรุ่นที่ 8 นับตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 1972 โดยได้รับการพัฒนาขึ้น
ภายใต้รหัสโครงการ UH PROJECT บนพื้นตัวถัง SMALL GLOBAL PLATFORM ที่ได้รับการปรับปรุง
จากพื้นตัวถังของซีวิค ไดเมนชัน แต่ด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาประยุกต์ใช้มากมาย ทำให้กลายเป็น
รุ่นที่พลิกโฉมและก้าวข้ามไปจากภาพลักษณ์เดิมๆของซีวิค ที่เคยถูกมองว่าเป็นรถยนต์ขั้นพื้นฐานเพื่อ
การเดินทาง สู่มาตรฐานใหม่แห่งคุณภาพเพื่อความสนุกในการขับขี่ และเพื่อสิ่งแวดล้อม มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา
นั่นเพราะทุกคนในฮอนด้ารู้ดี และฝากความหวังกันไว้ว่า ซีวิครุ่นใหม่นี้ คือรถยนต์รุ่นสำคัญที่จะเป็นเครื่องบ่งชี้
ถึงอนาคตของฮอนด้าในช่วง 5 ปีข้างหน้านับตั้งแต่ Civic FD เปิดตัว เพื่อให้ยังสามารถต่อกรกับ Toyota ได้
Honda เลยตัดสินใจ ออกแบบ Civic ใหม่ ให้มีเส้นสายที่ล้ำยุคล้ำสมัยมากขึ้น แต่ยังคงมีบั้นท้ายแนวอนุรักษ์นิยม
นิดๆ ผลก็คือ หลังการเปิดตัว ในเดือนพฤศจิกายน 2005 คราวนี้สถานการณ์ก็พลิกกลับ Civic FD กลายเป็น
รถยนต์ขายดี ยอดฮิต ทั้งในบ้านเรา และในสหรัฐอเมริกา รวมทั้งแทบทุกประเทศที่เข้าไปจำหน่าย ถึงแม้ว่า
Toyota จะส่ง Corolla ALTIS รุ่นที่แล้ว ออกสู่ตลาดบ้านเราในเดือนมกราคม 2008 ก็ทำอะไร Civic ไม่ได้
จริงอยู่ว่า ถ้ารวมตัวเลขยอดขาย กลุ่มตลาด Taxi ด้วย ยังไงๆ Corolla Altis จะขายดีกว่า Civic อยู่แล้ว
แต่ถ้าตัดกลุ่ม Taxi ออกไปทั้งหมด…Civic นำ Altis อยู่พักใหญ่เลยละครับ!
ในขณะนั้นปี 2005 ระหว่างที่ Toyota กำลังเร่งพัฒนา Corolla ALTIS รุ่นที่แล้วอยู่นั้น ให้ทันออกสู่ตลาด
ช่วงปี 2006 ทันใดนั้น เมื่อ Honda เปิดตัว Civic FD ออกมาในงาน Tokyo Motor Show เดือนตุลาคมปีนั้น
Toyota ถึงกับช็อค และตัดสินใจ รื้องานออกแบบภายนอก ภายในของ Corolla ที่ทำกันอยู่ แทบจะทั้งหมดทิ้ง
เพื่อออกแบบขึ้นมาใหม่ จนต้องเลื่อนกำหนดการเปิดตัวออกมาอีก 1 ปี และกลายเป็นว่า ตัวรถรุ่นที่แล้วนั้น
มีหลายจุดที่ทั้งดี และด้อยกว่า Civic FD โดยเฉพาะในเรื่องขนาดตัวถัง และห้องโดยสาร
มาถึงเรื่องราวข้อมูลทางเทคนิคของ Civic FD ในประเทศไทยกันบ้าง เครื่องยนต์ใหม่ในรุ่นนี้มีรหัส R18A
พัฒนาขึ้นใหม่มาติดตั้งในซีวิครุ่นนี้เป็นครั้งแรก มาพร้อมหัวฉีด PGM-FI ระบบแปรผันวาล์ว i-VTEC
เจเนอเรชันใหม่ และระบบลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้า DBW (DRIVE BY WIRE)
เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ SOHC 16 วาล์ว ขนาด 1.8 ลิตร 1,799 ซีซี. i-VTEC กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก
81.0 x 87.3 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.5 : 1 ให้กำลังสูงสุด 140 แรงม้า (PS) ที่ 6,300 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 174 นิวตันเมตร ที่ 4,300 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และ เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ
1.8 E i-VTEC A/T 930,000 บาท
กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก 86.0 x 86.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 9.6 : 1 ให้พละกำลังสูงสุด 155 แรงม้า ที่
6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 188 นิวตันเมตร ที่ 4,200 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะเท่านั้น
2.0 EL i-VTEC A/T 1,068,000 บาท
Civic 9th Generation : Civic FB ( ปี 2012 – 2016 )
ก่อนการเปิดตัว มีกระแสข่าวเล็ดรอดออกมาอย่างจริงจังว่า Civic FB จะมีขนาดตัวถังที่สั้นลงกว่าเดิม
มีระยะฐานล้อสั้นลง เนื่องจากทีมวิศวกรมองว่า รุ่นปัจจุบัน มีตัวรถที่ยาวเกินความจำเป็น และพวกเขา
สามารถ ออกแบบให้ห้องโดยสารภายใน มีพื้นที่กว้างขึ้นได้อีกนิด ทั้งที่ตัวรถจะสั้นลงกว่าเดิม
ผู้คนต่างพากันงุนงงว่า Honda จะทำได้อย่างไร เพราะมันไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะหั่นความยาวตัวรถออก
แต่เพิ่มขนาดพืนที่ห้องโดยสารจากเดิมอีกด้วย แม้เพียงเล็กน้อยก็ตามเถอะ
วันที่ 13 ธันวาคม 2010 Honda จัดการปล่อยภาพวาดของ Civic Concept ทั้งตัวถัง Sedan
และ Coupe ออกสู่สายตาชาวโลก เพื่อสร้างกระแสความสนใจ ให้เกิดขึ้น ก่อนที่จะเริ่มเผยโฉม
เวอร์ชันตกแต่งให้เป็นรถต้นแบบ ในชื่อ Honda Civic Concept ทั้ง 2 ตัวถัง อวดโฉมในงาน
Detroit Auto Show หรือ North American International Auto Show เมื่อวันที่
10 มกราคม 2011
การปล่อยให้ผู้บริโภคได้เห็นรถต้นแบบกันก่อนจะขายจริงนั้น แปลว่า เป็นช่วงโค้งสุดท้าย ก่อน
จะปล่อยรถเวอร์ชันขายจริงออกสู่ตลาด ซึ่งหมายความว่า ยังเหลือเวลาอีกพอสมควร ที่จะจัดการ
งานด้านการทำตลาด งานด้านเทคนิคการเตรียมสต็อกอะไหล่ และฝึกอบรมช่างซ่อมที่กระจาย
ตามศูนย์บริการต่างๆ ทั่วเขตอเมริกาเหนือ ซึ่งถือเป็นช่วงสุดท้ายของการเตรียมพร้อมก่อน
วางตลาดรถยนต์ทุกรุ่น
กระแสตอบรับ มากันหลากหลาย ส่วนใหญ่บอกว่า ไม่เห็นพัฒนาการด้านเส้นสายไปจากเดิม แถม
ยังบอกว่า งานออกแบบแย่ลงกว่ารุ่น FD ที่เพิ่งจะตกรุ่นไป แต่หลายคน ยังไม่ฟันธง รอดูตัวจริงกัน
ส่วนเวอร์ชันไทย นั้น ตามแผนดั้งเดิม Honda Automobile (Thailand) จะมีกำหนดเตรียมการ
เปิดตัว Civic ใหม่ รหัสรุ่น FB ที่เห็นอยุ่นี้ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2011 แล้ว อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก
มหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง ได้สร้างความเสียหายให้กับโรงงานของ Honda ในพื้นที่
นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นอย่างมาก ถึงขั้นโรงงานจมอยู่ใต้
บาดาล นานแรมเดือน ก่อความเสียหาย ถึงขั้นต้องยุติการผลิตตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2011 เรื่อยมาจนเพิ่งจะ
ปรับปรุงฟื้นฟู และกลับมาเปิดดำเนินการเดินเครื่อง อย่างเป็นทางการอีกครั้ง เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2012
ที่ผ่านมาหมาดๆ นี้เอง ทำให้ Honda จำเป็นต้องเลื่อนการเปิดตัว Civic ใหม่้ ออกมาจนถึง
วันที่ 10 พฤษภาคม 2012 อย่างจำใจ
แม้ว่าจะต้องเลื่อนเปิดตัวออกมาไกลจากกำหนดเดิ้มถึง 6 เดือน แต่ด้วยการจัดวางออพชีน กับราคาให้สมดุลกัน
ก็ช่วยให้ลูกค้า ที่เคยพากันร้องยี้ หลังจากเห็นภาพถ่ายชุดแรกจากเมืองนอก ก็เริ่มกลับมายอมรับได้ และเริ่ม
พากันอุดหนุน ซื้อหามาขับ จนตอนนี้ Civic ใหม่ ก็เริ่มวิ่งเล่นให้พบเห็นกันในหัวเมืองใหญ่ ทั่วประเทศ
ชนิด เกลื่อนพอกันกับบรรดา ECO Car รุ่นใหม่ๆ ทั้งหลาย เลยทีเดียว
ตัวถังของ Civic FB ใหม่ แบบ Sedan 4 ประตู มีความยาว 4,525 มิลลิเมตร กว้าง 1,755 มิลลิเมตร
สูง 1,434 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ ยาว 2,670 มิลลิเมตร ถ้าเอาไปเปรียบเทียบกับ Civic FD รุ่นเก่า
จะพบว่า ความกว้างและความสูงหนะเท่าเดิม แต่ด้วยการหดระยะฐานล้อให้สั้นลงจากเดิม 2,700 มิลลิเมตร
ลงไป 30 มิลลิเมตร ทำให้ความยาวของตัวถัง ลดลงจากเดิม 15 มิลลิเมตร
ครับ ตัวรถมีขนาด สั้นลงกว่าเดิมจริงๆ เป็นไปตามกระแสข่าวลือที่ปล่อยออกมาก่อนหน้านี้ ช่วงปี 2010 เป๊ะ!
Yuji Nishina วิศวกรโครงการพัฒนา Civic FB ใหม่ บอกว่า พวกเขาตั้งใจที่จะลดความยาวของรถลง
เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะบรรลุเป้าหมาย ในการทำรถรุ่นใหม่ ให้เบาขึ้น เพื่อเน้นความประหยัดน้ำมันมากขึ้น
แต่ต้องคงไว้ซึ่งสมรรถนะเท่าเดิม หรือดีกว่าเดิม รวมทั้งจะต้องมีขนาดห้องโดยสารเท่าเดิมอีกด้วย
แม้ว่า ทีมวิศวกรของ Honda จะบอกว่า Civic FB ถูกสร้างขึ้นบนพื้น Platform ใหม่หมด เพราะมีการหั่นระยะ
ฐานล้อให้สั้นลงกว่าเดิม แต่ในความเป็นจริงแล้ว Civic FB ก็ถือเป็นการนำโครงสร้างวิศวกรรมของ Civic FD
มาปรับปรุงใหม่ ให้ดีขึ้นนั่นเอง อีกทั้งในภาพรวม โครงสร้างด้านวิศวกรรมหลักๆ ของเวอร์ชันไทย ก็จะเหมือน
เวอร์ชันอเมริกาเหนือในภาพข้างบนนี้ (เฉพาะรุ่น Sedan 1.8 ลิตร) กันชนิดที่เรียกได้ว่า ยกถอดมาได้เกือบ
ทั้งยวง ยกเว้นอะไหล่บางชิ้นที่จำเป็นของบรรดารถพวงมาลัยซ้ายทั้งหลาย
เริ่มจากการปรับปรุงเครื่องยนต์ ตระกูล R บล็อก 4 สูบ SOHC 16 วาล์ว ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ทั้งการ
ควบคุมการไหลเวียนของไอดี สู่ห้องเผาไหม้ เพิมเซ็นเซอร์ ควบคุมการไหลเวียนของอากาศที่ทำงาน
ได้ดีขึ้น พร้อมกับการเพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนไอเสีย ลดแรงดันไหลกลับเข้าสู่ระบบฟอกอากาศ
Catalytic Converter เพิมประสิทธิภาพของระบบ Valve Timing เพิ่ระบบ ACG Generation
Control ควบคุมไดชาร์จ ให้ชาร์จไฟอย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงให้ เครื่องยนต์ ตระกูล R สามารถรองรับน้ำมันเชื้อเพลิง เบนซินแก็สโซฮอลล์
E85 ได้ ทั้งการเปลี่ยนวัสดุของวาล์ว และบ่าวาล์ว เพื่อเพิ่มความทนทานต่อการกัดกร่อน ของเอธานอล
เปลี่ยนอุปกรณ์ทั้งท่อน้ำมัน และหัวฉีด ให้รองรับเป็นพิเศษ หัวเทียนจุดระเบิด ชุบนิเกิล ปรับปรุงให้
ติดเครื่องยนต์ขณะเครื่องเย็น ง่ายขึ้น โดยตัดการทำงานของระบบ i_VTEC 1 วาล์ว และใช้มอเตอร์สตาร์ท
กำลังสูง ฯลฯ อีกมากมาย
ในเมื่อการพัฒนาและยกระดับเครื่องยนต์ ตระกูล R จนทำผลงานออกมาได้ดีขึ้นจนทัดเทียมกับเครื่องยนต์
K20Z2 เวอร์ชันที่วางใน Civic FD รุ่นเดิมได้แล้ว เหตุไฉน จึงต้องยืนยันใช้เครื่องยนต์เดิมให้มันสิ้นเปลือง
ต้นทุนการขึ้นสายการผลิตด้วยละ?
ว่าแล้ว Honda เลยจัดการปลดเครื่องยนต์ K20Z2 บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,998 ซีซี 150 แรงม้า (PS)
ออกจากตระกูล Civic ไป แล้วแทนที่ด้วยเครื่องยนต์ รหัส R20A บล็อก 4 สูบ SOHC 16 วาล์ว 1,997 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 81.0 x 96.9 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.6 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด PGM-FI
พร้อมระบบแปรผันวาล์ว i-VTEC กำลังสูงสุด เพิ่มขึ้นเป็น 155 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิด
สูงสุด 19.4 กก.-ม. ที่ 4,300 รอบ/นาที ติดตั้งทดแทน มีเฉพาะเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ ให้เลือกเพียงแบบเดียว
พร้อมแป้นเปลี่ยนเกียร์แบบ Paddle Shift ที่ด้านหลังของพวงมาลัย ฝั่งซ้ายเป็นแป้น – ลดตำแหน่งเกียร์
ฝั่งขวาเป็นแป้น + ตบเพื่อเพิ่มตำแหน่งเกียร์ ส่วนฐานรองเกียร์ จะมีแค่ P R N D และ S (Sport Mode)
ล็อกตำแหน่งเกียร์ ลากรอบได้สูงขึ้นนิดนึง
ส่วน รุ่น 1.8 ลิตร จะยืนหยัดอยู่กับเครื่องยนต์ รหัส R18A บล็อก 4 สูบ SOHC 16 วาล์ว 1,798 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 81.0 x 87.3 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.6 : 1 เท่ากัน จ่ายเชื้อเพลิงด้วย
หัวฉีด PGM-FI พร้อมระบบแปรผันวาล์ว i-VTEC 141 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
17.7 กก.-ม.ที่ 4,300 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ อัตราทดเกียร์ จะแตกต่างจากเกียร์
ลูกเดียวกัน ของรุ่น 2.0 ลิตร แถมมีตำแหน่งเกียร์ D3 2 และ 1 มาให้ จนชวนให้นึกถึงตำแหน่ง
เกียร์อัตโนมัติ ของ Honda Accord ตาเพชร รุ่นปี 1990 !!!
1.8 S A/T 838,000 บาท
1.8 E A/T 898,000 บาท
1.8 ES A/T 953,000 บาท
1.8 E A/T Navi 999,000 บาท
2.0 ES A/T Navi 1,145,000 บาท
(1.8 L 5AT & 2.0 L 5AT) : ดุจการเปลี่ยนจาก iPhone 4 เป็น iPhone 4S
Civic 10th Generation : Civic FC ( ปี 2016 )
ค่ำคืนของวันที่ 16 กันยายนที่ LA สหรัฐอเมริกาก็กลายเป็นวันน่าตื่นเต้นของคนไทยในเช้าวันที่
17 กันยายน 2015 เมื่อ Honda Motor อเมริกาเหนือเปิดตัว All New Honda Civic เจเนเรชั่นที่ 10
ที่มาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ Honda Civic จนเป็น Civic ที่มีนวัตกรรม
และมีความหลากหลายมากที่สุด
Honda Civic เจเนเรชั่นที่ 10 ถูกสร้างขึ้นบนพื้นตัวถังใหม่ล่าสุด (ที่ว่ากันว่าจะกลายเป็นพื้นตัวถังที่
แชร์ร่วมกับ Honda Accord ใหม่) บรรจุเทคโนโลยีเครื่องใหม่ ประหยัดน้ำมัน, ระบบความปลอดภัยใหม่,
ระบบการเชื่อมต่อใหม่และเน้นความสนุกสนานของการขับขี่
Honda Civic โฉมใหม่มีบุคลิกที่ดูทะมัดทะแมงและมีตำแหน่งการนั่งที่สปอร์ตขึ้น และสร้างมาตรฐานใหม่
ให้แก่วงการรถคอมแพคท์ระดับโลก ทั้งสมรรถนะการขับขี่, สมรรถนะความปลอดภัยและความประหยัดน้ำมัน
ที่ถูกยกระดับไปอีกขั้น
John Mende รองประธานบริษัท American Honda ถึงขั้นกล่าวไว้เลยว่านี่มันคือ Civic ที่มีความทะเยอทะยาน
มากที่สุดในรอบ 43 ปีเลย นั่นเป็นเพราะว่า Honda ได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับทุกสิ่งทุกอย่าง
การออกแบบ All New Honda Civic ดูสปอร์ตและทะมัดทะแมง มีสัดส่วนตัวถังเตี้ยและกว้าง เมื่อเปรียบเทียบกับรุ่น
ปัจจุบันก็พบว่า Civic ใหม่กว้างกว่าเดิมเกือบ 2 นิ้ว, เตี้ยลง 1 นิ้ว, ฐานล้อยาวขึ้น 1.2 นิ้ว มีระยะโอเวอร์แฮงค์สั้นกะทัดรัด
เน้นเส้นสายตัวถังชัดและมีบั้นท้ายแบบฟาสต์แบ๊ค ดูพรีเมี่ยมมากขึ้นด้วยไฟหน้า LED (แล้วแต่รุ่น), DRL LED และ
ไฟท้าย LED ทรง C ใหญ่
All New Honda Civic กำหนดมาตรฐานใหม่ในการบังคับควบคุม, ความรู้สึกพวงมาลัย, คุณภาพการขับขี่และการเก็บ
เสียงภายในห้องโดยสารในบรรดารถคอมแพคท์ทั้งหลาย นั่นก็ต้องขอบคุณแพลทฟอร์มใหม่ที่ทนต่อการบิดตัว,
โครงสร้างตัวถังที่ซีลอย่างแน่นหนาจนกลายเป็น Civic ที่มีโครงสร้างตัวถังและแชสซีส์ซับซ้อนที่สุดเท่าที่เคยมีมา
Honda Civic ติดตั้งเบาะนั่งอยู่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่ารุ่นเดิม 1 นิ้วเมื่อวัดจากจุดรองรับสะโพก นั่นเป็นเพราะว่า Civic ใหม่
ถูกออกแบบให้มีพื้นตัวถังและจุดยึดเครื่องยนต์ที่ต่ำ, มีการออกแบบระบบกันสะเทือนหน้าสตรัทแบบใหม่และด้านหลัง
แบบมัลติลิงค์ที่เชื่อมกับซับเฟรมขนาดใหญ่ และจับตาดูเอาไว้สำหรับตลาดประเทศไทยคาดว่าจะใช้
เครื่องยนต์เบนซิน ขนาด 1.8 ลิตร กำลังสูงสุด 141 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 174 นิวตันเมตร ที่ 4,300 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์ CVT เหมือนกับที่อยู่ใน HR-V
เครื่องยนต์เบนซิน ขนาด 1.5 ลิตร Turbo กำลังสูงสุด 176 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 220 นิวตันเมตร ที่ 1,800 – 5,500 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์ CVT
ทำตลาดแทนเครื่องยนต์ขนาด 2.0 ลิตรเดิม
ส่วนรายละเอียดทั้งหมด ติดตามได้ในช่วงการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคมนี้
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดย Commander CHENG & J!MMY & Homy Demio
เรียบเรียงใหม่โดย MoO Cnoe
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com 25/06/2011
เรียบเรียงและปรับปรุงใหม่ 02/02/2016
Copyright (c) 2011 Text and some pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
25/06/2011 Re-arrange in 02/02/2016