“เดี๋ยวๆ คุณ J!MMY คิดจะพาดหัวแบบเว็บสารพัดซ่า กับเขาแล้วเหรอ?”

อ๋อ เปล่าหรอกครับ ประชดหนะ เห็นว่าในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา บรรดา
เว็บไซต์บ้าๆ หลอก Copy เนื้อหาชาวบ้านไปแปะบนเว็บของตน โดย
ไม่ขึ้นเครดิตให้ แถมยังทำ SEO เพื่อ Boost ยอดคนเข้าเว็บ มันระบาด
ไปทั่ว

แถมพาดหัวลักษณะที่เรียกกันว่า Click bait หรือถ้าตีความให้ตรงกับ
สำนวนไทย ก็แปลได้ว่า “ตีหัวเข้าบ้าน” กำลังได้รับความนิยมสูงเวอร์
ผมก็เลยอยากลองว่า ถ้าจะพาดหัวแบบนี้ มันจะช่วยให้คุณๆ คลิกเข้า
มาดูบทความรีวิวเยอะขึ้นบ้างหรือเปล่า?

ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจ ไม่ต้องคลิกหนีไปไหน คุณเข้ามาอ่านบทความ
ถูกเว็บแล้ว ไม่ใช่สารพัดซ่า.com อย่างที่คิดแน่นอน ขอยืนยัน นั่งยัน
และนอนยัน (Boxer) ว่า เราจะไม่ทำ Headlightmagza.com ชัวร์ๆ!

เพียงแต่ว่า ความคิดของผม ที่มีต่อรถคันนี้ มันดันมาพ้องกับลักษณะการ
ตั้งพาดหัวข่าวแบบนี้พอดี

เรียกได้ว่า จังหวะ ปะเหมาะ เคราะห์ดี นั่นแหละ!

2015_05_26_Subaru_Outback_01

ตลอด 5-6 ปี ที่นั่งทำเว็บไซต์ ผมเห็นความเปลี่ยนไปของโลกยานยนต์
ผู้คนรอบข้าง และแนวโน้มการทำเว็บแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

กระแสหนึ่งที่เกิดขึ้นฟูเฟื่อง ในช่วงหลายปีมานี้ ที่ผมพบเห็นจากเพื่อนๆ
พี่ๆน้อง ในโลก Social Media ก็คือ ความพยายาม ลดหน้าท้อง พิชิต
ความอ้วน หรือแม้แต่รักษาสุขภาพร่างกาย ด้วยการออกกำลังกาย เข้า
Fitness เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน ฯลฯ

เป็นเวลาหลายปีดีดัก ที่ผมมักโดนผู้คนรอบข้างถามไถ่ แสดงความ
เป็นห่วงเป็นใยในสุขภาพ ซึ่งนั่นก็หาใช่เรื่องแปลกประหลาดใจไม่

ด้วยเหตุที่ตอนนี้ อายุอานาม ก็ลามเข้าไปถึง 35 ปี ใกล้ถึงวงเวียนหลักสี่
เข้าไปทุกขณะ เวลามันช่างผ่านไปเร็ว สังขารก็เริ่มเสื่อมถอยตามกาล
เป็นธรรมดาโลก

ตั้งแต่ลาออกจากเว็บเดิมมาเปิด Headlightmag.com ของตัวเอง นี่ก็
ปาเข้าไป 5 ปีแล้ว ที่ผมแทบไม่ได้มีโอกาสออกกำลังกายเลย! ไม่รู้ว่า
ตัวเองรอดมาได้ยังไง ทั้งที่พักหลังมานี้ ความดันก็เริ่มสูงขึ้น ทั้งจาก
การพักผ่อนไม่เพียงพอ นอนวันละ 2-3 ชั่วโมง ต่อเนื่องหลายสัปดาห์
ก็เคยทำมาแล้ว ทดลองรถ เขียนงาน กว่าจะเลิก ก็ตี 2 ตี 3 กินอาหาร
ไม่ตรงเวลาเท่าใดนัก เรียกได้ว่า ใช้ชีวิตชนิดแขวนไว้บนเส้นด้ายมากๆ

ผมอยากจะกลับไปขี่จักรยาน เหมือนที่เคยทำมาตั้งแต่สมัยยังเรียนอยู่
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 (ปี 1988) เตรียมจะนำจักรยานเสือภูเขาที่ซื้อมา
ตั้งแต่ปี 2003 นำกลับมาซ่อมบูรณะ อีกครั้ง ก็ยังหาเวลาว่างไม่ได้เลย

ดูบรรดาบริษัทรถยนต์ทั้งหลายสิครับ 3 ปีที่ผ่านมา กระหน่ำเปิดตัว
รถยนต์รุ่นใหม่ กันชนิดที่ผมทำรีวิวไม่ทันแล้ว ไม่ต้องหาเวลาพัก
กันหรอก ทุกวินาที ที่ตื่นมา นั่นคือ งานทั้งสิ้น ถ้าขืนยังเป็นแบบนี้
กันต่อไป สงสัยคงได้ไปนั่งจิ้มโน้ตบุค เขียนรีวิวบนเตียงผู้ป่วยใน
โรงพยาบาล กันแน่ๆ

แต่ใช่ว่าผมไม่อยากหาเวลาออกกำลังกายนะครับ มันเป็นความรู้สึก
ที่ถาโถมเข้ามารวดเดียวพร้อมกัน ในวันที่คุณเปิดเช็ค Facebook
แล้วเห็นคนรอบข้าง กำลังเข้า Fitness เล่นโยคะ ขี่จักรยาน หรือ
ทำกิจกรรมอะไรก็ตาม เพื่อเผาผลาญพลังงานจากสิ่งที่ตนเพิ่งกิน
เข้าไป

มีพี่ๆน้องๆ ที่ผมรู้จักมักจี่อยู่ในโลกออนไลน์ หลายคน ที่แอบเป็น
แรงบันดาลใจให้ผมอยากกลับมาออกกำลังกายอีกครั้ง ตัวอย่างที่เพิ่ง
นึกออกสดๆร้อนๆ คือ น้อง Sand เรารู้จักกันตั้งแต่ปี 2008 ยุคที่เจ้าตัว
ยังเป็นแค่เก้งหนุ้มผอมบางเป็นไม้เสียบลูกชิ้น นางใช้เวลาแค่ 3 ปี พลิก
โฉมกลายมาเป็น เกย์หนุ่มร่างกำยำ ระดับต่อยนักมวยสลบ วิดพื้นได้ด้วย
แขนเพียงข้างเดียว!! เห็นแล้ว ตกใจมาก! นอกจากกินเวย์โปรตีนกับ
ไข่ขาวแล้ว มึงยังกินหุ่นทรานส์ฟอร์เมอร์ เป็นมื้อเช้าด้วยใช่ไหม?

หรือแม้กระทั่งล่าสุด พี่ ไอนัท นักร้องนำ แห่งวง iHere Band วงดนตรี
ลั้นลา สารพัดหรรษาทุกงานแต่ง หนึ่งในผู้เข้าประกวด The Voice ปี
ที่แล้ว ก็ยังลุกขึ้นมาออกกำลังกายลดพุงกะทิ เป็นตัวอย่างอันดีที่ผม
กำลังคิดจะเริ่มทำตามบ้าง

แต่…สิ่งที่ผมไม่คาดมาก่อนมันอยู่ตรงนี้ครับ…ใช่เพียงแค่มนุษย์ ที่เป็น
ตัวอย่างอันดีในการออกกำลังกาย รถยนต์คันหนึ่ง ซึ่งผมเคยเรียกนาง
ไว้ว่า “ป้าอ้วน เมียนายพราน” ก็ยังกลับกลายมาเป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง
ในการลดความอ้วนของผมไปกับเขาได้ด้วยเนี่ยสิ!

2015_05_26_Subaru_Outback_02

ใช้แล้วครับ! ถูกเผง Station Wagon ขนาดกลางยกสูง คันที่คุณกำลัง
นั่งอ่านรีวิวอยู่เนี่ยแหละ! คือรถยนต์ที่ถูกผมจับมาเปรียบเทียบกับ
เรื่องการลดความอ้วนได้

งงละสิว่า มันมาเกี่ยวข้องกันได้ยังไง?

สมัยนี้ ผู้ผลิตรถยนต์ทุกราย ก็พยายามจะลดความอ้วนให้กับรถยนต์
ของตนเองกันทั้งนั้น เรามักจะได้ยินชื่อ หรือได้เห็นสารพัดนวัตกรรม
และเทคโนโลยีอันเกี่ยวข้องกับการลดน้ำหนักส่วนเกินของตัวรถยนต์
เพื่อให้คล่องแคล่วขึ้น ประหยัดน้ำมันมากขึ้น และมีสมรรถนะดีขึ้น
เช่นชื่อยาวๆ ประหลาดๆ อย่าง Blue Efficiency , Efficience Dynamic ,
Skyactiv , Blue Motion ฯลฯ

Subaru เอง ก็แอบทำตัวตามกระแสโลกแบบนี้กับเขาด้วย เพียงแต่
พวกเขา สื่อสารไม่ค่อยเป็น และยังเชื่อมั่นว่า สิ่งที่พวกเขาทำอยู่นั่น
มันก็ดีเพียงพอแล้ว เราจึงยังไม่เห็นชื่อประหลาดๆ ออกมาให้ได้ยิน
จากหนังโฆษณาของพวกเขา

การเปรียบเทียบรถยนต์รุ่นล่าสุด กับรถยนต์รุ่นเดียวกันเมื่อ 4 ปีที่แล้ว
จะทำให้คุณเห็นภาพชัดเจนขึ้น

ในบทความ Subaru Outback รุ่นที่แล้ว ซึ่งออกเผยแพร่ในเว็บไซต์
ของเรา เมื่อเดือน พฤษภาคม 2011 ผมเปรียบเปรยรถยนต์รุ่นนั้นเป็น
“ป้าอ้วนเมียนายพราน” เพราะ บุคลิก “อ้วนๆ” อันมาจากการใช้ตัวถัง
ร่วมกับ Legacy Wagon รุ่นก่อน ซึ่งดูอ้วนอุ้ยอ้ายขึ้นจากรุ่นก่อนนั้น
เพื่อเบนเข็มไป เอาใจชาวอเมริกัน กระนั้น การวางขุมพลัง เบนซิน
Boxer 2.5 ลิตร 167 แรงม้า (PS) ก็พอจะเปรียบได้กับเมียนายพราน
แม้จะไม่ต้องถือปืนออกล่าสัตว์เอง แต่ถ้าจับมีดจับปืนขึ้นมาเมื่อไหร่
ก็น่ากลัวเหมือนกันละ!

4 ปีผ่านไป หลังจากที่ป้าอ้วนของเรา ซื้อ Smart Phone เครื่องใหม่
และค้นพบโลก Social Media จนเริ่มไปสมัครเข้าคอร์สโยคะ และเริ่ม
เข้า Blog สอนแต่งหน้าต่างๆ ผลลัพธ์ที่ได้คือ ป้าอ้วนคนเดิม แต่ดูมี
สง่าราศีมากขึ้น ปราดเปรียว กระฉับกระเฉง คล่องแคล่ว ปราดเปรียว
และพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น แม้แต่สามีของป้าแก ยังแอบคิดอยู่เงียบๆ
เลยว่า “นี่เราไม่ได้มองยัยนี่แล้วรู้สึกดีแบบนี้มากี่ปีแล้ววะ?

เริ่มเห็นภาพขึ้นบ้างแล้วใช่ไหมครับ?

ถ้าอยากเห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้นกว่านี้ อยากรู้จักตัวตนเดิมที่ถุก
ปรับปรุงให้ดีขึ้นของ Outback ใหม่ให้ดีกว่านี้ และอยากรู้ว่า ทำไม
ผมถึงคิดและเขียนพาดหัวออกมาอย่างนี้

ไม่ยากครับ แค่เลื่อนเมาส์ หรือ ลากนิ้วลงไปอ่านบทความข้างล่างนี้ดู!

Subaru Outback เป็นเวอร์ชันยกสูงของ รถยนต์ตรวจการ หรือ Station
Wagon 5 ประตู อย่าง Subaru Legacy Wagon ออกสู่ตลาดครั้งแรกใน
ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ช่วงเดือนเมษายน 1994 ในชื่อ Subaru Legacy
Grand Wagon (ชื่อสำหรับตลาญี่ปุ่น) และ Outback (ขื่อสำหรับตลาดใน
อเมริกาเหนือ) เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีครอบครัว ซึ่งอยากได้รถยนต์แบบ
Wagon แต่มีพื้นใต้ท้องรถสูงกว่าปกติ ไว้ลุยบนเส้นทางทุระกันดาน

ถึงแม้แนวคิดจะพิสดาร แต่ชาวอเมริกันกลับชื่นชอบอย่างมาก พากัน
อุดหนุน อย่างต่เนื่อง จนทำให้ Subaru ต้องมี Legacy Wagon ตัวถัง
ยกสูง ในชื่อ Outback ออกมาขายควบคู่กับรุ่นปกติ ในแทบทุกครั้งที่
มีการเปิดตัว Legacy รุ่นใหม่ นับแต่นั้น จนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม สำหรับการพัฒนา Legacy รุ่นที่ 6 และ Outback รุ่นที่ 5
ซึ่งเริ่มขึ้น เมื่อราวๆ 4 ปีก่อน คราวนี้ Subaru ตัดสินใจ ไม่ทำ Legacy
Wagon ออกมาอีกต่อไป พวกเขาเลือกจะทำตลาด Outback เป็นหลัก
ไปเลย ในฐานะ Station Wagon คันเดียว แต่พาคุณเที่ยวได้ในแทบ
ทุกเส้นทาง อย่างที่ Legacy Wagon รุ่นเดิม ยังอาจทำได้ไม่เต็มที่ อีก
ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะ แนวโน้มยอดขายของ Outback เริ่มมากกว่า
Legacy Wagon รุ่นธรรมดา ทั้งในญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศทั่วโลก

Masayuki Uchida : Project General Manager หรือผู้จัดการโครงการ
พัฒนา Legacy / Outback ใหม่ (ตอนนี้ เพิ่งก้าวขึ้นไปดำรงตำแหน่ง
Corporate Vice President ตั้งแต่ 1 เมษายน 2015 ที่ผ่านมา) เล่าว่า

“ผมเป็นคนชอบขับรถมาก ในตอนเด็ก ถ้ามีเวลาว่าง ผมจะฝึกฝนการ
ขับรถของผมอยู่ทุกวัน ผมเชื่อว่า ความสะดวกสบาย ความปลอดภัย
และความแรง คือสิ่งสำคัญที่ผู้คนต้องการจากรถยนต์สักคัน และนั่น
คือสิ่งที่ลูกค้าของ Subaru ทุกคน คาดหวังจากรถยนต์ของพวกเขา
ลูกค้าส่วนใหญ่ ตอบได้อย่างมั่นใจและละเอียดยิบถึงเหตุผลว่าทำไม
พวกเขาถึงเลือกซื้อรถยนต์ที่ขับอยู่ ดังนั้น ผมจึงรู้สึกว่า เราควรสร้าง
รถยนต์ที่ให้ความสนุกในการขับขี่ อย่างแท้จริง

เราได้ให้ความสำคัญกับการสำรวจความคิดเห็นของลูกค้าที่อุดหนุน
Legacy / Outback รุ่นก่อนๆ ว่าพวกเขาชื่นชอบอะไร และต้องการ
สิ่งใดเพิ่มเติม นั่นคือที่มาของแนวทางการพัฒนา Outback ใหม่ว่า
MORE OUTBACK หรือ Outback ที่เหนือชั้นยิ่งขึ้นกว่าเดิม”

Uchida และทีมงาน ให้เวลากับการปรับปรุงพวงมาลัย และช่วงล่าง
อย่างมาก พวกเขาต้องการทำรถยนต์รุ่นใหม่ ให้คล่องแคล่ว และสนุก
สนานในทุกการควบคุมมากยิ่งขึ้น

รายละเอียดบทสัมภาษณ์เพิ่มเติม คุณสามารถรับฟังเป็นเสียงภาษา
อังกฤษ ได้จากโทรทัศน์ ระบบ NICAM….เฮ้ย! ไม่ใช่…..

แค่คลิกดูจาก คลิปวีดีโอ ข้างบนนี้ต่างหากครับ!

2015_05_26_Subaru_Outback_07

เมื่อการพัฒนาเสร็จสมบูรณ์ Outback ใหม่ก็พร้อมออกสู่สายตาของ
ลูกค้าในสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกในโลก ณ งาน New York Auto
Show เมื่อ 18 เมษายน 2014 (รอบสื่อมวลชน 16-17 เมษายน 2014)

เวอร์ชันญี่ปุ่น เปิดตัวออกสู่ตลาด ตามมาห่างๆ เมื่อ 24 ตุลาคม 2014
เคียงคู่กับเวอร์ชัน Sedan อย่าง Subaru Legacy B4 ใหม่ โดยวางเป้า
ยอดขายไว้ที่ 1,200 คัน/เดือน รวมกันทั้ง 2 รุ่น

แม้ว่าตัวรถจะมีขนาดใหญ่ จนอาจทำให้ Subaru หวั่นใจด้านยอดขาย
เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ไม่ค่อยอุดหนุนรถยนต์
คันใหญ่โต แต่เมื่อเวลาผ่านไปแล้ว 1 เดือน ทุกฝ่ายก็โล่งอก เมื่อมีการ
ประกาศว่า ยอดสั่งจองในเดือนแรก ทำได้สูงถึง 4,308 คัน ในจำนวนนี้
แบ่งเป็น Outback มากถึง 2,898 คัน! คิดเป็นสัดส่วน 33% จากตัวเลข
ทั้งหมด

ลูกค้าชาวญี่ปุ่น นิยมเลือกซื้อ Outback รุ่น Premium อันเป็นรุ่น Top
มากถึง 71% จากยอดจองทั้งหมด ส่วนรุ่นพื้นฐาน อยู่ที่ 29% ตัวเลข
ที่น่าสนใจก็คือ อายุของกลุ่มลูกค้า หลากหลายพอสมควร โดยกลุ่ม
อายุ 20 ปีขึ้นไป อยู่ที่ 7% อายุ 30 ปีขึ้นไปอยู่ที่ 19% อายุ 40 ปีขึ้นไป
ถือเป็นกลุ่มใหญ่สุด คิดเป็น 30% รองลงไปคือกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป
24% ส่วนกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสูงราวๆ 20%

ไม่เพียงเท่านั้น Outback ใหม่ ยังคว้ารางวัลต่างๆด้านความปลอดภัย
มากมาย ทั้งจาก JNCAP ในด้านเทคโนโลยี Advance Safety Vehicle
การทดสอบการชนตามมาตรฐานของญี่ปุ่น ไปจนถึงการทดสอบการ
ปะทะของ EuroNCAP ฯลฯ อีกหลายรางวัล

จากนั้น การเปิดตัวครั้งแรกในภูมิภาคเอเซีย ของ Outback (กับ Legacy)
ถูกจัดขึ้นในประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2014 ณ เมืองทองธานี
ก่อนหน้างาน Motor Expo จะจัดขึ้นในรอบสื่อมวลชน เพียงวันเดียว!
ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของ Subaru ที่จัดงานเปิดตัวรถยนต์รุ่น
ใหม่ล่าสุดในระดับภูมิภาค ที่บ้านเรา

กระนั้น มีเพียง Outback รุ่นเดียว ที่ถูกเปิดผ้าคลุมสู่สายตาลูกค้าชาวไทย
อย่างเป็นทางการ ในงาน Motor Expo ในวันรุ่งขึ้น เหตุผลเพราะทางกลุ่ม
Tan Chong ผู้จำหน่าย Subaru ในเมืองไทย ตัดสินใจ ไม่ทำตลาด Legacy
ตัวถัง B4 Sedan ในบ้านเรา เนื่องจากยอดขายของรถรุ่นก่อน มีน้อยมาก
ลูกค้าส่วนใญ่ เมื่อเห็นราคา ก็จะหันไปหารถยุโรป Premium Brand กัน
แทบทันที โดยไม่สนใจประสิทิภาพหรือสมรรถนะของตัวรถมากเท่ากับ
ชื่อชันของแบรนด์ และสถานะของแบรนด์ในสังคมเมืองไทย

แต่กว่าที่ Outback จะพร้อมขายได้จริงๆ ก็ต้องรอกันจนถึงช่วงกลางปี
2015 อันเป็นช่วงเวลาที่คุณกำลังอ่านบทความรีวิวนี้พอดี

2015_05_26_Subaru_Outback_08

Outback ใหม่ มีตัวถังยาว 4,815 มิลลิเมตร กว้าง 1,840 มิลลิเมตร
สูง 1,675 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,745 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อ
หน้า / หลัง อยู่ที่ 1,570 / 1,590 มิลลิเมตร ความสูงจากพื้นถนนจนถึง
ใต้ท้องรถ (Ground Clearance) 213 มิลลิเมตร ถังน้ำมันขนาด 60 ลิตร

หากเปรียบเทียบกับ Outback รุ่นเดิม ซึ่งมีความยาว 4,775 มิลลิเมตร
กว้าง 1,780 มิลลิเมตร สูง 1,605 มิลลิเมตร และระยะฐานล้อยาว 2,745
มิลลิเมตร แล้ว จะพบว่า รถรุ่นใหม่ มีความยาวเพิ่มขึ้น 40 มิลลิเมตร
กว้างขึ้น 60 มิลลิเมตร สูงขึ้น 70 มิลลิเมตร (จากชุดแร็คหลังคา) แต่
ยังคงความยาวฐานล้อไว้เท่ารุ่นเดิม

2015_05_26_Subaru_Outback_09

งานออกแบบเส้นสายภายนอก จะดูดุดันขึ้น และเพิ่มความ Premium
มากขึ้นกว่ารุ่นเดิมอย่างเห็นได้ชัด จากป้าอ้วนเมียนายพราน เข้าคอร์ส
เล่นโยคะ จนหุ่นเพรียว ดูมีน้ำมีนวลกำลังดี ไม่เฉิ่มเชยเหมือนรุ่นเดิม
อีกต่อไป แต่ยังคงบุคลิกพร้อมลุย ไปไหนไปกัน ในสไตล์ Crossover
Station Wagon ตามเดิม

ไฟหน้าของรุ่นเดิมซึ่งพยายามจะตวัดขึ้น เพื่อให้ตัวรถดูมีมิติ แต่กลับ
เหมือนการเขียนคิ้วในใบหน้าคนให้ตวัดขึ้น ดูไม่เป็นมิตรเท่าที่ควร
คล้ายกับโหงวเฮ้งของคนที่มีลักษณะ “กังฉิน” แต่ไฟหน้าของรุ่นใหม่
ถูกลดทอนแนวเส้นกรอบไฟหน้า ให้ดูโฉบเฉี่ยวน้อยลง แต่เน้นลาก
แนวเส้นไปทางด้านข้างมากขึ้นอีกนิด รวมทั้งยังเพิ่มรายละเอียดใน
ตัวโคมไฟหน้า ด้วยการติดตั้งแถบไฟหรี่ LED รูปทรงตัว C ลากยาว
จากซ้ายไปขวา ล้อมโคมโปรเจคเตอร์แบบ LED เอาไว้  คล้ายกับชุด
ไฟหน้าของ WRX ทำให้ดูสวยลงตัวกว่ารุ่นเดิมอย่างเห็นได้ชัด

ชุดไฟหน้าปรับระดับ สูง-ต่ำ อัตโนมัติ พร้อมหัวฉีดน้ำทำความสะอาด
ประกบอยู่คู่กับกระจังหน้าดีไซน์ใหม่ รูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมูคว่ำ ตัด
ปลายมุมออก พร้อมแถบแนวนอน 3 ชั้น ที่มีการเจาะช่องเพิ่มลวดลาย
และลูกเล่นเข้าไป

ช่องดักลมด้านล่างสามารถเปิดปิด การรับลมเข้าได้ (Active Grill Shutter)
จะปิดช่องอากาศในเวลาที่ต้องการ อุ่นเครื่องยนต์ให้เร็วขึ้น หรือปิดเพื่อลด
แรงต้านอากาศขณะวิ่ง แต่เมื่อไหร่ที่เครื่องยนต์อยู่ในระดับที่ร้อนมากหรือ
ทำงานหนัก ช่องดักลมก็จะเปิดออก เพื่อลดอุณหภูมิเครื่องยนต์ลงมาให้อยู่
ในระดับอันเหมาะสม

เปลือกกันชนหน้า ออกแบบให้สมดุลยิ่งขึ้น ด้านล่างเป็นแถบการ์ดกันชน
พลาสติก Recycle สีดำ เป็นแนวยาวไล่มาตั้งแต่กันชนด้านซ้ายล่าง ถึงฝั่ง
ขวา พร้อมไฟตัดหมอกวงกลมใหญ่ทั้ง 2 ข้าง ประดับบริเวณใต้ช่องดักลม
ด้วยแถบการ์ดสีเงินเมทัลลิค ทำให้ด้านหน้าโดยรวมดูบึกบึนพร้อมลุย

2015_05_26_Subaru_Outback_10

เส้นสายด้านข้างตัวรถ หากมองผ่านๆ จะคล้ายรุ่นเดิมมากๆ แต่ถ้าพินิจดู
ให้ดีๆ จะพบว่า แนวเส้นทั้งหมด ถูกปรับปรุงจากเดิมเพียงเล็กน้อย เช่น
การปรับเส้นสะเอว (Shoulder line) ให้ต่ำลงลากจากประตูคู่หน้า ต่อเนื่อง
จรดไฟท้ายด้านหลัง

กระจกมองข้าง พร้อมไฟเลี้ยวในตัว ถูกย้ายตำแหน่งมาติดตั้งบนประตูรถ
ทำให้ต้องปรับเปลี่ยน กระจกหน้าต่างคู่หน้า ด้วยการเพิ่ม “หูช้าง Opera”
เข้ามาอย่างเลี่ยงได้ยาก

เหตุผลที่ผู้ผลิตรถยนต์ส่วนมากทำเช่นนี้ เพราะนอกจากจะเพิ่มบุคลิกแบบ
Sport ให้กับตัวรถแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับการเดินสายไฟสำหรับชุดปรับและ
พับกระจกมองข้างอีกด้วย ไม่เช่นนั้น อาจต้องทำสายไฟยาวมากเกินความ
จำเป็น

ชายล่างประตู แม้จะติดตั้งสเกิร์ตสีดำ เพื่อเสริมบุคลิกพร้อมลุย และเพิ่มความ
สะดวกในการล้างทำความสะอาด แต่ก็ยังติดตั้งเส้นแถบโครเมียมขนาดใหญ่
ทั้งประตูคู่หน้าและคู่หลัง

ด้านท้าย มาพร้อมชุดไฟท้ายดีไซน์ใหม่ ถึงจะแยกเป็นฝั่งละ 2 ก้อนเช่นเดิม
แต่รายละเอียดภายในตัวโคม สวยงามผิดหูผิดตาจากรุ่นเดิมอย่างเห็นได้ชัด
ไฟเบรกแบบ LED รูปทรงตัว C คล้ายกับที่อยู่ใน WRX แต่แยกไฟถอยหลัง
ไว้อีกก้อนหนึ่ง เส้นโครเมียมต่างๆ ถูกเอาออกไป แทนที่ด้วยการ์ดกันชนหลัง
สีดำตัดกับสีเงินเมทัลลิคตรงกลาง พร้อมฝังแผงทับทิมสีแดงไว้ทั้งฝั่งซ้าย-ขวา

กระจกบังลมหลัง มีใบปัดน้ำฝน หัวฉีดน้ำล้างกระจก และไล่ฝ้าเสร็จสรรพ
แถมด้วยสปอยเลอร์หลัง พร้อมไฟเบรกท้าย LED มาให้จากโรงงาน

Outback เวอร์ชันไทย จะสวมล้ออัลลอยปัดเงา สลับสีดำ ลาย 10 ก้าน ตาม
สมัยนิยม ขนาด 18 นิ้ว สวมยาง Yokohama Geolander ขนาด 225/60 R18

2015_05_26_Subaru_Outback_11

งานออกแบบของ Outback ใหม่ที่ผมชื่นชอบมากๆ คือ แร็คบรรทุก
สัมภาระบนหลังคา แบบสำเร็จรูปจากโรงงาน ซึ่งออกแบบมาให้คุณ
ใช้งานได้ง่ายดาย สะดวกสบายมาก ถอดประกอบอย่างรวดเร็ว แต่ถ้า
มีแรงงานมาช่วยเป็น 2 คน จะรวดเร็วยิ่งขึ้น

การใช้งาน แค่เพียงกดฝาเหนือตัวล็อก (อยู่ฝั่งซ้ายอยู่เหนือเสาประตู
คู่หลัง ฝั่งขวา อยู่เหนือเสาประตูคู่หน้า) ง้างฝาขึ้นมาแล้วยกแขนแร็ค
เหวี่ยงออกไปในขนานกับหลังคารถ แนว 90 องศา เพื่อให้หมุดของ
ตัวล็อก (ซึ่งมียางกันกระแทกที่หัวล็อก) ไปอยู่ที่แร็คฝั่งตรงข้าม แล้ว
กดลงไปบนตัวล็อกที่ออกแบบมาให้ยึดแน่นได้พอดี ทำเช่นนี้ให้ครบ
ทั้ง 2 ชิ้น ก็จะได้แร็คหลังคาสำหรับการบรรทุกจักรยาน หรือสัมภาระ
สำหรับการไปออกค่ายพักแรมยังต่างจังหวัด ไม่ต้องไปซื้อชุดแร็คแบบ
แยกต่างหาก ให้เปลืองเงินกันอีกต่อไป!

การยกกลับไปไว้ในตำแหน่งเดิม ไม่ยากครับ ปลดตัวล็อก ทั้ง 2 ฝั่ง
แล้วทำวิธีการย้อนศร จากย่อหน้าข้างบนนี้ ได้เลย!

2015_05_26_Subaru_Outback_Interior_01

ไม่เพียงเท่านั้น ระบบกุญแจของ Outback ยังถูกเปลี่ยนใหม่ทั้งยวง
จากเดิมที่เป็นเพียงแค่ กุญแจรีโมท แบบเสียบสวิตช์แล้วบิดเพื่อติด
เครื่องยนต์ คราวนี้ มาพร้อม รีโมทกุญแจ Smart Keyless Access ที่
ถูกออกแบบขึ้นใหม่จนสวยงามเสียที มาพร้อมระบบ Immobilizer

แค่พกรีโมทกุญแจนี้ไว้ ก็สามารถดึงมือจับปลดล็อกและเปิดประตูได้
ในเสี้ยววินาที ถ้าจะล็อกรถ ก็แค่ปิดประตู แล้วใช้นิ้วชี้ แตะลงบนแถบ
หลุม เล็กๆ บนมือจับประตู คู่หน้า เป็นอันเสร็จพิธี หรือถ้าจะกดปุ่ม
บนรีโมทกุญแจ เพื่อเปิดฝาประตูห้องเก็บของด้านหลัง ก็ย่อมได้

นับตั้งแต่ปี 2015 นี้เป็นต้นไป Subaru หลายๆรุ่นที่ถูกส่งออกไปขาย
ทั่วโลก รวมทั้งเมืองไทย จะเริ่มเปลี่ยนมาใช้กุญแจ Smart Keyless
Access แบบนี้กัน ไม่เว้นแม้กระทั่ง Subaru BRZ

2015_05_26_Subaru_Outback_Interior_02

การเข้า – ออกจากเบาะนั่งคู่หน้า ยังคงเป็นจุดเด่นที่แอบซ่อนอยู่ของ
Outback เช่นเดิม การลดระยะห่างระหว่างพื้นตัวถังกับพื้นถนน หรือ
Ground Clearance จาก 220 ลดเหลือ 213 มิลลิเมตร ทำให้ผมก้าว
เข้าไปนั่งในตัวรถ ทำได้ง่ายดายขึ้น ตำแหน่งความสูงในระดับนี้ ถือว่า
ถูกต้องเหมาะสมมากๆ หย่อนกันลงไปนั่งได้พอดีและถ้าจะลุกออก ก็
ไม่ต้องออกแรงยกตัวมากนัก แค่เหวี่ยงขาขวาไปวางบนถนน ก็ดึงยก
ลำตัวสรีระร่างของคุณ ลุกขึ้นออกจากรถได้ทันที

เพียงแต่ว่า ระยะห่างระหว่าง จากตัวเบาะกับ ธรณีประตูรถ มากไป
นิดหน่อย ทำให้ขากางเกง หรือชายกระโปรง อาจพาดถูกบริเวณ
ชายล่างของตัวรถได้ หากคุณเพิ่งพา Outback ไปลุยทางลูกรังหรือ
ลุยโคลนมา ก็อาจต้องเพิ่มความระมัดระวังกันสักหน่อย ไม่เช่นนั้น
กางเกงตัวเก่งก็อาจเปื้อนคราบสกปรกจาก กาบพลาสติกชายล่างของ
ตัวรถได้

แผงประตูด้านข้าง ใช้วัสดุบุนุ่ม เกือบทั้งบาน ยกเว้นบริเวณ ช่องวาง
ชวดน้ำขนาด 7 บาท ประดับด้วย Trim ลายไม้สีดำเงา ขลิบด้วยแถบ
สีเงินอะลูมีเนียม

พื้นที่วางแขน หุ้มด้วยหนัง ยาวล้อมรอบชุดแผงสวิตช์ควบคุมกระจก
หน้าต่างไฟฟ้า ครบทั้ง 2 ฝั่ง บุมาค่อนข้างนุ่ม วางแขนได้ในตำแหน่ง
สบายพอดีลงตัว ไม่ต้องแก้ไขอะไรอีก

นอกจากนี้ มือจับสำหรับดึงประตูปิดเข้ามา ยังออกแบบให้เป็นหลุม
สำหรับวางโทรศัพท์มือถือ (ยืนยันว่า iPhone 6 Plus วางได้แน่นอน)
แถมยังมีไฟ Illumination light สีฟ้า เรืองแสงในยามค่ำคืนให้ด้วย

กระนั้น ในแง่ความทนทานจากการใช้งานระยะยาว แอบน่าเป็นห่วง
นิดหน่อย เพราะบริเวณพื้นที่วางแขนนั้น การยุบตัวค่อนข้างเยอะ
โอกาสที่จะเกิดการเหี่ยวย่านของผืนหนังที่หุ้มบริเวณนี้ในอนาคต
อาจเป็นไปได้

2015_05_26_Subaru_Outback_Interior_03

เบาะนั่งคู่หน้า ปรับด้วยสวิตช์ไฟฟ้า ทั้ง 2 ฝั่ง แต่เฉพาะเบาะคนขับ
จะปรับระดับได้มากถึง 8 ทิศทาง แถมยังมี สวิตช์ปรับดันหลังด้วย
ไฟฟ้ามาให้อีกต่างหาก หุ้มด้วยหนังสังเคราะห์ แบบมาตรฐานใน
รถญี่ปุ่นทั่วๆไป

พนักพิงหลังในโหมดปกติ ก็จะคล้ายกับ Toyota กับ Subaru รุ่นใหม่ๆ
คือมีปีกด้านข้างที่รองรับสรีระด้านข้าง แต่บริเวณกลางแผ่นหลัง เมื่อ
นั่งแล้วจะยุบจมลงไปนิดหน่อย บางคนอาจจะชอบ แต่บางคนก็อาจ
เมื่อยแผ่นหลังได้นิดหน่อย ยังดีที่มีตัวดันหลังมาให้สำหรับคนขับ
พอจะช่วยลดปัญหาดังกล่าวลงไปได้พอสมควร

พนักศีรษะ ปรับองศาการดันกบาลคุณได้ถึง 4 ระดับ ตั้งแต่ ดันนิดๆ
แบบทั่วไป ดันเพิ่มขึ้น ดันทุรัง และดันชิบหายวายป่วง น้ำหนักของ
พนักศีรษะเมื่อถอดออกมา พอกันกับ พนักศีรษะของ Toyota Hilux
Revo ใหม่เลยนะเออ! ตัวพนักเองแม้มีวัสดุบุนุ่ม แต่ยังถือว่าติดแข็ง
หน่อยๆ และแอบดันหัวผมนิดนึง ยังอยู่ในเกณฑ์ที่พอจะปรับเบาะเพื่อ
ช่วยลดอาการปวดต้นคอได้อยู่ ไม่เลวร้ายเหมือนพวกรถยนต์รุ่นใหม่ๆ
อย่าง Mercedes-Benz CLA และ Nissan NP300 Navara ซึ่งทั้ง
2 รุ่นดังกล่าว นั่น ก็ดันกบาลผมมากเกินเหตุ

เบาะรองนั่ง มีความยาวอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของรถญี่ปุ่นในยุคนี้
คือ ค่อนข้างสั้น ระดับที่ชวนนึกถึงเบาะคนขับของ Honda Accord
G7 รุ่นปี 2001 ตัวเบาะมีมุมเงยนิดๆ และมีปีกข้างรองรับแก้มก้น
เล็กน้อย พองาม กำลังดี ฟองน้ำนุ่มแน่น นั่งสบายใช้การได้

เข็มขัดนิรภัยคู่หน้าเป็นแบบ ELR 3 จุด ปรับระดับสูง – ต่ำได้ พร้อม
ระบบ Pre-tensioner & Load Limiter ลดแรงปะทะและดึงกลับอัตโนมัติ

2015_05_26_Subaru_Outback_Interior_04

การเข้า – ออกจากบานประตูคู่หลัง ยังคงทำได้ดีเหมือนรุ่นเดิม ส่วนหนึ่ง
เป็นเพราะ การออกแบบให้บานประตูคู่หลัง เปิดกางออกได้กว้าง ระดับ
เดียวกันกับรถรุ่นเดิม ซึ่งได้ชื่อว่า เป็นหนึ่งในรถเก๋ง Station Wagon ที่
มีช่องทางเข้า – ออกจากเบาะแถวหลัง ดีสุดเป็นอันดับต้นๆในตลาด
คุณสามารถหย่อนก้นลงไปนั่งได้พอดีๆ

แผงประตูด้านข้าง ประดับด้วยวัสดุแบบเดียวกับแผงประตูคู่หน้า มีช่อง
วางขวดน้ำดื่มขนาด 7 บาท ติดกัน 2 ขวด กระจกหน้าต่างไฟฟ้า สามารถ
เลื่อนลงจนสุดขอบประตูได้

พื้นที่วางแขน บนแผงประตูคู่หลัง ออกแบบมาให้รอองรับ ท่อนแขนได้
สบายกำลังดี เช่นเดียวกับแผงประตูคู่หน้า มือจับดึงประตู ปิดเข้าหาตัว
ออกแบบเป็นหลุมวางของ สี่เหลี่ยมผืนผ้า เหมือนเช่นแผงประตูคู่หน้า

2015_05_26_Subaru_Outback_Interior_05

โครงสร้างเบาะแถวหลัง ดูคล้ายกับ Outback รุ่นเดิมเอาเรื่อง แต่ถ้าลอง
สังเกตดีๆ จะพบว่า ตำแหน่งติดตั้งเข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด ทุกตำแหน่ง
เหมือนกันไม่ผิดเพี้ยน เช่นเดียวกับ ช่องวางแก้ว บนพนักวางแขน ที่มี
หน้าตาเหมือนกันมากๆ ราวกับถอดของรถรุ่นเดิม ยกมาใส่กันเลย

กระนั้น เบาะหลัง ยังถูกออกแบบ ตัดเย็บ และขึ้นรูปให้มีลวดลาย และ
ตำแหน่งตะเข็บที่แตกต่างกัน อีกทั้ง พนักศีรษะ รูปตัว L คว่ำ ทั้ง 3 ชุด
ก็มีหน้าตาไม่เหมือนกันกับรุ่นเดิม แถมยังค่อนข้างแข็งไม่แพ้รุ่นเดิม
อีกต่างหากแหนะ! นี่ขนาดว่า ใช้วัสดุฟองน้ำมาเสริมข้างในให้บางๆ
ช่วยบ้างแล้วนะ

พนักพิงเบาะหลัง นั่งสบาย ใช้ได้ รองรับสรีระได้ในระดับกลางๆ แถม
ยังสามารถปรับเอนได้ 4 ตำแหน่งแบบละเอียดๆ ด้วยคันโยกเล็กๆ ซึ่ง
ติดตั้งไว้บริเวณข้างพนักพิง ทั้ง 2 ฝั่ง

เบาะรองนั่ง มีความยาวพอๆกันกับรถรุ่นก่อน คือสั้น แต่ยังพอจะนั่งได้
สบายอยู่ ตัวฟองน้ำ นุ่มและแน่นกำลังดี ไม่บางและไม่แข็งจนเกินไป

พื้นที่เหนือศีรษะ และพื้นที่วางขา ยังคงโอ่โถง กว้างขวาง พอกันกับ
Outback รุ่นเดิม ไม่ผิดเพี้ยน คุณยังสามารถนั่งไขว่ห้างบนเบาะหลัง
ได้สบายๆ เหมือนเช่นเคย

สิ่งที่ต้องตำหนิกันสักหน่อย ก็คือ Outback รุ่นที่แล้ว ยังมีช่องแอร์
สำหรับผู้โดยสารด้านหลังมาให้ แม้แต่ในเวอร์ชันส่งออกของ รุ่น
ปัจจุบัน ก็ยังมีติดตั้งมาให้ แต่เหตุไฉน ทำไม พอส่งมาเมืองไทย
ช่องแอร์ด้านหลัง ถูกตัดออกไป เหลือแค่ช่องวางโทรศัพท์มือถือ
ให้ดูต่างหน้าแค่นั้น? รถยนต์ระดับราคา 2 ล้านบาทกลางๆ ควรจะ
มีช่องแอร์ด้านหลังมาให้ได้แล้ว เพราะมันจำเป็นสำหรับลูกค้า
ในประเทศเขตร้อนอย่างมาก

เบาะแถวหลัง สามารถแบ่งพับได้ในอัตราส่วน 60 : 40 เพื่อเพิ่มพื้นที่
ห้องเก็บสัมภาระด้านหลังให้ยาวขึ้น สำหรับสิ่งของที่ยาวเป็นพิเศษ
เมื่อพับลงมาแล้ว พื้นห้องเก็บของจะยาวต่อเนื่องมาจนถึงด้านหลัง
ของพนักพิงเบาะหลัง เป็นแบบ Flat Floor ราบเรียบกันตามที่ลูกค้า
ส่วนใหญ่อยากได้

เข็มขัดนิรภัยสำหรับเบาะแถวหลังเป็นแบบ ELR 3 จุด ทั้ง 3 ตำแหน่ง
รวมทั้งยังมีจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็กมาตรฐาน ISOFIX มาให้ 2 จุด

2015_05_26_Subaru_Outback_Interior_06

ฝาประตูห้องเก็บของด้านหลัง ทำงานด้วยระบบไฟฟ้า คุณสามารถ
สั่งเปิดได้ ด้วยการกดปุ่ม บริเวณเหนือช่องใส่ป้ายทะเบียนหลัง หรือ
สวิตช์ เปิด – ปิด บริเวณ ใต้ช่องแอร์ฝั่งคนขับ นอกจากนี้ ยังมีสวิตช์
สั่งจำตำแหน่งเปิด – ปิดฝาท้าย มาให้ด้วย คุณสามารถเซ็ตให้ฝาท้าย
เปิดยกขึ้นได้ ตามระดับที่ต้องการ จากนั้น กดบันทึกที่ปุ่ม Memory
คราวต่อไป เมื่อเปิดฝาท้าย ระบบไฟฟ้า จะสั่งยกตัวขึ้นไปถึงจุดที่
บันทึกไว้แค่นั้น

การปิดฝาท้าย แค่เพียงกดสวิตช์ บริเวณฝั่งซ้ายของชุดกลอนไฟฟ้า
ถ้าเจอสิ่งกีดขวาง เช่นศีรษะคน ฝ้าท้ายจะหยุด และเด้งกลับขึ้นไป
ได้เองโดยอัตโนมัติ

ห้องเก็บสัมภาระด้านหลังมีขนาด 512 ลิตร ตามมาตรฐาน VDA
เยอรมนี (V214) แต่ถ้าพับเบาะจะเพิมเป็น 1,848 ลิตร สามารถ
บรรทุกกระเป๋าเดินทาง ขนาด 80 ลิตร ได้ถึง 4 ใบ

แผงบังสัมภาระด้านหลัง เป็นม่านผ้าใบม้วน สามารถถอดออกยก
เก็บขึ้นได้ เช่นเดียวกับรถยนต์ Station Wagon ทั่วไป เวลาใช้งาน
ให้ดึงยึดออกมาจนสุด ใช้ขอเกี่ยวยึดบริเวณเสาหลังคาคู่หลังสุด
D-Pillar เป็นตัวรั้งตรึงไว้ให้แน่นหนา เมื่อเลิกใช้งาน ก็ดึงม่าน
ผ้าใบออกจากขอเกี่ยว ปล่อยให้รูดม้วนกลับไปอยู่ตามเดิม

เมื่อยกพื้นห้องเก็บของขึ้นมา เอาเชือกตะขอไปเกี่ยวไว้ที่ยางขอบ
ประตูห้องเก็บของด้านหลัง คุณจะพบหลุมใส่ล้ออะไหล่สีเหลือง
สวมยาง Yokohama ขนาด 215/60 R17 96H พร้อมแม่แรง และ
เครื่องมือประจำรถ แพ็คเข้ากับฟองน้ำมาให้อย่างดี

คันโยกพับเบาะหลัง ขอเกี่ยวแขวนถุงสิ่งของ และตะขอเหล็กสำหรับ
ผูกเชือกยึดตรึงสัมภาระ ติดตั้งไว้บริเวณแผงข้างห้องเก็บของด้านหลัง
ทั้ง 2 ฝั่ง โดยฝั่งซ้าย จะมีช่องเว้าลึกเข้าไป สำหรับการวางข้าวของจุกจิก
ส่วนฝั่งขวา จะเป็นพื้นที่สิงสถิตของลำโพง Sub Woofer

2015_05_26_Subaru_Outback_Interior_07

แผงหน้าปัด ยังคงออกแบบมาให้เน้นการวางตำแหน่งสวิตช์ควบคุมให้
สะดวกต่อการใช้งาน โดยแทบไม่สนใจเรื่องความสวยงามทันสมัยใดๆ
ทั้งสิ้น เหมือนเช่นเคย ตามประสาทีมออกแบบของ Subaru ที่มักชอบ
ทำแผงหน้าปัดเชยๆ ออกมาให้เราได้แซวกันตลอด 5 ปีที่ผ่านมา

ภายในรถจะตกแต่งด้วยสีดำ ดังนั้น แผงหน้าปัดจึงเป็นสีดำ ติดตั้งวัสดุ
บุนุ่ม ที่แค่พอจะยืดหยุ่นได้บ้าง ไม่ได้นุ่มแบบ Mazda 2 ใหม่ แต่นุ่ม
แน่น ประมาณ Ford Focus มากกว่า ประดับด้วย Trim ลายไม้สีดำ
ขลิบด้วยแถบอะลูมีเนียมสีเงิน ทั้งบนแผงหน้าปัด แผงประตูด้านข้าง

จุดที่ทำให้แผงหน้าปัดของ Outback ใหม่ ดูเชย ทั้งที่ภาพรวมก็ไม่ได้
ดูแย่แต่อย่างใดหนะ มันคือช่องแอร์ตรงกลาง ซึ่งใช้สีเงินดื้อๆแบบนั้น
ออกแบบมื่อๆเช่นนั้น ไม่ได้มีมิติใดๆ ที่ชวนให้สัมผัสได้ในทันทีว่า
คุณตั้งใจออกแบบช่องแอร์ เหมือนราวกับว่า แค่ย้ายตำแหน่งจากการ
ติดตั้งช่องแอร์ ขนาบข้างชุดเครื่องเสียงในรุ่นก่อน มาไว้ด้านบน อยู่
เหนือเครื่องเสียง แค่นั้นเอง ยังดีที่ติดตั้งสวิตช์ไฟฉุกเฉินคั่นกลางไว้
ในตำแหน่งที่ถูกต้อง สะดวกต่อการใช้งาน

แผงบังแดดทั้งฝั่งซ้าย และ ขวา มีกระจกแต่งหน้า พร้อมไฟแต่งหน้า
และฝาพับปิดไฟโดยอัตโนมัติ เพดานหลังคาใช้วัสดุบุนุ่ม พอให้คุณ
รู้สึกเล็กๆ ได้ว่ามันมีบุคลิกแบบรถยนต์ Premium ซ่อนอยู่

กระจกมองหลัง ยังคงเป็นแบบ อัตโนมือ ทำงานได้ด้วยมือคุณเอง
ตามเคย

2015_05_26_Subaru_Outback_Interior_08

จากขวา มาทางซ้าย

สวิตช์กระจกหน้าต่างไฟฟ้า มีมาให้ครบทั้ง 4 บาน โดยฝั่งคนขับ จะ
เป็นบานเดียว ซึ่งมีสวิตช์ AUTO กด หรือยกสวิตช์ครั้งเดียว เพื่อเลื่อน
กระจกหน้าต่าง ลง หรือ ขึ้น ต่อเนื่องทันทีโดยอัตโนมัติตามธรรมเนียม

ใต้ช่องแอร์ฝั่งคนขับ มีแผงสวิตช์ควบคุมประตูห้องเก็บของด้านหลัง
ด้วยไฟฟ้า สวิตช์ปรับความสว่างของชุดมาตรวัดต่างๆ ในยามค่ำคืน
สวิตช์เปิด – ปิดระบบ Traction Control VDC (Vehicle Dynamic
Control System หรือที่คนไทยคุ้นเคยในชื่อ VSC นั่นแหละ)

ฝั่งเดียวกัน แนบชิดกับคอพวงมาลัยฝั่งขวา เป็นสวิตช์ติดเครื่องยนต์
Push Start ก้านสวิตช์ไฟเลี้ยว ไฟหน้า ไฟสูง-ต่ำ คราวนี้ ย้ายกลับมา
อยู่ฝั่งขวา เหมือนเช่นรถยนต์ที่ขายในประเทศพวงมาลัยขวาทั่วไป
กันเสียที

คันโยกเปิดฝาถังน้ำมันอยู่ที่พื้นรถข้างเบาะคนขับ ส่วนคันโยกเปิด
ฝากระโปรงหน้า ซ่อนอยู่ขอบล่างสุดของแผงหน้าปัด ฝั่งคนขับ

ก้านพวงมาลัยฝั่งซ้าย ควบคุมการทำงานของชุดใบปัดน้ำฝนพร้อม
ระบบฉีดน้ำล้างกระจกบังลมหน้า และฉีดน้ำล้างโคมไฟด้านหน้า
รวมทั้ง ใบปัดน้ำฝนและที่ฉีดน้ำล้างกระจกบังลมด้านหลังอีกด้วย

พวงมาลัยเป็นแบบ 3 ก้าน ออกแบบใหม่ ไม่เหมือนกับพวงมาลัย
ลายอื่นๆ ของ Subaru รุ่นอื่นๆเลย วงพวงมาลัย หุ้มด้วยหนัง จับได้
กระชับมือกำลังดี ไม่อ้วนอูมแบบรถแข่ง แต่เท่าเทียมบรรดารถยุโรป
รุ่นใหม่ๆ ปรับระดับสูง – ต่ำ และระยะใกล้ห่าง แบบ Telescopic ได้

พวงมาลัยของ Outback อุดมไปด้วยสารสัดสวิตช์ควบคุมระบบต่างๆ
Multi Function เหมือน Subaru รุ่นใหม่ๆ ในพักหลังมานี้ บริเวณก้าน
พวงมาลัยฝั่งขวา จะเป็นสวิตช์ควบคุม ระบบล็อกความเร็วอัตโนมัติ
Cruise Control ใช้งานง่ายขึ้น รวมทั้ง สวิตช์โปรแกรมการขับขี่แบบ
SI-Drive ที่มีมาให้แค่ Mode S (Sport) และ i (Intelligence) แค่นั้น
เอาไว้ควบคุมนิสัยการตอบสนองของคันเร่งไฟฟ้า (ไม่มีโหมด Sport#
อย่างของเจ้า Subaru WRX นะครับ) ด้านหลังพวงมาลัยมีแป้น
เปลี่ยนเกียร์ Paddle Shift บวก – ลบ

ก้านพวงมาลัยฝั่งซ้าย มีแผงสวิตช์ควบคุมชุดเครื่องเสียง ส่วนด้านข้าง
แป้นแตรฝั่งซ้าย จะเป็นสวิตช์ 3 ชิ้น แบบกระดิกนิ้วดึงเข้าหาตัว เพื่อ
ควบคุมหน้าจอ Multi Information Display บนชุดมาตรวัด

ใต้คันเกียร์ลงมา จะเป็นพื้นที่ของสวิตช์เบรกมือไฟฟ้า ถ้าจะใช้งาน
แค่ใช้นิ้วกระดิกสวิตช์ขึ้น จนไฟสัญญาณสีแดงติดสว่างขึ้นมาทั้งที่
ตัวสวิตช์ และบนชุดมาตรวัด แต่ถ้าจะปลดเบรกมือออก ให้เหยียบ
แป้นเบรกลงไป จนสุด แล้วกดสวิตช์ลง 1 ครั้ง เบรกมือจะถูกปลด
แต่เสียดายว่า ไม่มีระบบ HOLD ที่จะช่วยขึ้นเบรกมืออัตโนมัติ
ขณะจอดติดไฟแดง แบบรถยนต์ Premium ทั้งหลายเขาเริ่มมีกัน

ด้านข้างสวิตช์เบรกมือ มีทั้งสวิตช์ระบบออกตัวบนทางลาดชัน HSA
Hill Start Assist และ สวิตช์ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ล็อกการทำงาน
แบบ X-Mode (ไว้อธิบายต่อข้างล่าง)

2015_05_26_Subaru_Outback_Interior_09

ชุดมาตรวัด ถูกปรับปรุงใหม่ ให้มี Font ตัวเลข แยกกระจายตัวออกไป
เหลือบสายตาลงมาอ่านได้ง่ายขึ้น ย่ายตำแหน่งมาตรวัดอุณหภูมิน้ำ
หล่อเย็น และมาตรวัดน้ำมัน ไปไว้ใต้วงกลมใหญ่ทั้ง 2 วง ฝั่งซ้ายเป็น
มาตรวัดรอบเครื่องยนต์ ฝั่งขวาเป็นมาตรวัดความเร็ว ตรงกลาง มีจอ
แสดงข้อมูล Multi Information Display แจ้งผู้ขับขี่ ทั้งอัตราสิ้นเปลือง
เชื้อเพลิงเฉลี่ย และ Real Time เวลาที่ติดเครื่องยนต์ต่อเนื่องมาแล้ว
ระยะทางที่น้ำมันในถังยังเหลือพอให้แล่นต่อไป และหน้าจอแจ้งสถานะ
โปรแกรม SI Drive ไฟแจ้งตำแหน่งเกียร์ ระบบล็อกความเร็ว Cruise
Control ฯลฯ

สิ่งที่ทำให้มาตรวัดชุดนี้ แปลกตาเกินกว่าที่คุณจะเคยพบมาในบรรดา
Subaru ทุกรุ่น นั่นคือ คุณสามารถเลือกให้ แถบวงแหวนรอบ มาตรวัด
(แถบวงหลมโดนัทสีฟ้าๆ ในกรอบ) สามารถเปลี่ยนสีได้ถึง 10 สี หรือ
ถ้ารำคาญตามากนัก คุณจะปิดมันทิ้งไปเลย ให้มืดสนิท เป็นมาตรวัด
แบบรถยุโรป หรือ Subaru ด้วยกัน ตามปกติ ก็ยังได้! การตั้งค่า ใช้ชุด
สวิตช์ 3 ชิ้น ข้างแป้นแตรฝั่งซ้ายของพวงมาลัย นั่นละครับ

2015_05_26_Subaru_Outback_Interior_10

กล่องเก็บของพร้อมฝาปิด ฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย (Glove Compartment)
นอกจากจะมีขนาดใหญ่ระดับเดียวกับ Lexus บางรุ่นแล้ว ยังแอบทำหรู
ด้วยการ บุผ้ากำมะหยี่ จนครบถ้วนเหมือนกันอีกด้วย! นานๆที จะเห็น
Subaru ทำเรื่องแปลกๆแบบนี้สักทีเหมือนกันนะ

เครื่องปรับอากาศ เป็นแบบอัตโนมัติ (Auto) แยกฝั่งซ้าย – ขวา หน้าตา
ละม้ายคล้ายคลึงกับ เตาอบ Microwave ยี่ห้อ Toshiba รุ่นเก่าเมื่อราวๆ
5 ปีมาแล้ว! มี Heater ในตัว ทำงานรวดเร็ว เย็นสบายคลายร้อนได้ดี
ในเกือบทันทีที่ติดเครื่องยนต์ แม้ว่าคุณจะจอดรถตากแดดให้ร้อนฉ่า
จนไอร้อนจากเบาะหนัง อยู่ในสภาพพร้อมแผดเผาแผ่นหลังและก้น
ของคุณ จนไหม้เกรียม เป็นหมูย่างเมืองตรัง ตอนเพิ่งย่างเสร็จใหม่ๆ
ต่อให้ร้อสนขนาด 40 องศาเซลเซียส มั่นใจได้เลยว่า ภายใน 1-2 นาที
คุณจะได้รับความเย็นฉ่ำกำลังสบายจากชุดแอร์ของ Outback แน่นอน

ทว่า ผมเรื่องคาใจนิดหน่อย อยากรู้จังเลยว่า ใครมันเป็นผู้อุตริ สั่งย้าย
ตำแหน่งนาฬิกา Digital และมาตรวัดอุณหภูมิภายนอกรถ มาเสียบคั่น
ตรงกลาง ระหว่างตัวเลขบอกอุณหภูมิบนหน้าจอทั้ง 2 ฝั่งกันเนี่ย?

คุณทำให้ผมต้องเสียเวลาควาญหาตำแหน่งของนาฬิกาบนรถไปตั้ง
ข้ามคืนนึงแหนะ กว่าจะเจอ! แถมยังเข้าใจผิดไปว่าไม่มีปรอทวัด
อุณหภูมินอกรถด้วยซ้ำ! ต้องให้ผู้โดยสารนั่งข้างๆ หาตำแหน่งให้
จนเจอ…เฮ้อ….เอาไอเดียส่วนไหนมาคิด!!??

ด้านล่าง เป็นช่องเก็บโทรศัพท์มือถือ พร้อมช่องต่อเชื่อม USB ที่มี
มาให้ถึง 2 ตำแหน่ง และปลั๊กไฟขนาด 220 V สำหรับเสียบชาร์จ
อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ มีฝาเปิด-ปิดแบบ Soft Open หน้าตาคล้ายกับใน
Honda Accord G7 ปี 2001

2015_05_26_Subaru_Outback_Interior_13

ด้านความบันเทิง เป็นอีกไฮไลต์สำคัญ เพราะ Outback ใหม่ ติดตั้ง
เครื่องเสียงชั้นเยี่ยมมาให้ ประกอบด้วย วิทยุ AM/FM เครื่องเล่น
CD / MP3 รองรับการเชื่อมต่อไร้สาย Bluetooth USB 2 ช่อง / AUX
และโทรศัพท์มือถือ Smart phone ต่างๆ ควบคุมผ่านหน้าจอระบบ
สัมผัส Touchscreen ขนาด 7 นิ้ว

นอกจากนี้ยังมีระบบสั่งงานด้วยเสียง Voice Recognition และกล้อง
มองภาพ ขณะถอยเข้าจอด ซึ่งจะแสดงภาพผ่านทางหน้าจอ Monitor
ชุดนี้เช่นกัน ไม่เพียงเท่านั้น คุณยังสามารถตั้งค่าการแจ้งเตือนดูแล
ระบบต่างๆในรถ ได้ตามโปรแกรมที่มีมาให้ หรือจะเปิดหน้าจอเพื่อ
ดูการเหยียบคันเร่งของคุณ สอดส่องอุณหภูมิน้ำมันเครื่อง และการ
ทำงานของระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ได้บนหน้าจอ TouchScreen เลย

แต่ไฮไลต์เด็ดที่สำคัญ คือ การติดตั้ง ชุดลำโพง พร้อมด้วย Sub Wooffer
จาก Harman Kardon มาให้รวมแล้วมากถึง 12 ชิ้น!

คุณภาพเสียง เต็มอิ่ม และไม่ต้องปรับแก้ไขอื่นใดอีกแล้ว! แถมหน้าจอ
ยังทำงานได้ไว ไม่หน่วงมาก ถือว่าทำงานได้สมชื่อ Touch Screen โดย
คุณไม่จำเป็นต้อง “จิก Screen” หรือ “บดขยี้ Screen” ทั้งสิ้น! Menu และ
User Interface ถือว่าใช้งานง่าย สะดวก ไม่ซับซ้อน คนที่ไม่มีความรู้เรื่อง
คอมพิวเตอร์มากนัก ก็พอจะเข้าใจได้ง่ายดายอยู่ เพียงแต่ Menu บางอย่าง
ที่เราต้องการ ก็แอบอยู่ลึกไปหน่อย แค่นั้นเอง

ถือเป็นชุดเครื่องเสียงติดรถยนต์ ที่ให้คุณภาพเสียงดีเยี่ยม ติดอันดับกลุ่ม
1 ใน 10 เท่าที่ผมเคยเจอมา! ไม่ต้องแก้ไขอะไรอีกถ้าไม่จำเป็น

2015_05_26_Subaru_Outback_Interior_11

กล่องคอนโซลกลาง ข้างลำตัวผู้ขับขี่ และผู้โดยสารด้านข้าง มีฝาปิด
เป็นพื้นที่วางแขนในตัว ได้ในระดับ ดีเกือบจบข่าว รองรับท่อนแขน
ได้อย่างดี

เปิดฝายกขึ้นมา จะพบว่า มีการปรับปรุง จากเดิมซึ่งเชื่อมติดถาดสี่เหลี่ยม
อเนกประสงค์สำหรับนามบัตรและเศษเหรียญ เชื่อมติดกันเป็นฝายกเปิด
ขึ้น – ลงได้ ร่วมกับฝาปิดด้านบนสุด คราวนี้ ทีมออกแบบเลือกจะปล่อย
ให้ถาดดังกล่าว เป็นอิสระ ผู้ขับขี่สามารถยกมันออกได้เองตามต้องการ

เมื่อยกถาดดังกล่าวออก จะพบกล่องเก็บของขนาดใหญ่  พอสำหรับวาง
กล้อง Digital Compact และพอให้ใส่ กล่อง CD ได้ราวๆ 10 กล่องขึ้นไป

ส่วนช่องวางแก้ว ถึงจะยังคงมีมาให้ 2 ตำแหน่ง แต่คราวนี้ ถอดฝาปิดแบบ
Spft-Open ออกไป คาดว่าน่าจะน่าจะมีส่วนหรือเป็นผลพวงมาจากการลด
ต้นทุนแอบแฝงอยู่บ้างนิดหน่อย

2015_05_26_Subaru_Outback_Interior_12

แหงนมองขึ้นไปบนเพดาน คุณจะพบกับ Sunroof  เปิด – ปิดและยกขึ้น
หรือลงได้ ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า แยกหน้าที่ ซึ่งกันและกันชัดเจน มาพร้อม
แผงบังแดดแบบพลาสติกแข็ง เลื่อนเก็บได้ ถือว่ามีขนาดใหญ่กว่าเดิม
เล็กน้อย เพิ่มความกว้างให้มากถึง 785 มิลลิเมตร และยาว 345 มิลลิเมตร

แผงบังแดด มีกระจกแต่งหน้า พร้อมฝาพับและไฟส่องสว่างมาให้ ครบ
ทั้ง 2 ฝั่ง  ไฟส่องสว่างในเก๋งมีมาให้ตรงกลางเพดานหลังคา ถัดมาจาก
Sunroof ไปนิดนีง ไฟอ่านแผนที่ซ้าย – ขวา เปิด – ปิด ได้ง่าย พร้อมช่อง
เก็บแว่นกันแดดมาให้ และสัญญาณเตือนผู้โดยสารให้คาดเข็มขัดนิรภัย

ส่วนมือจับศาสดา (สำหรับการยึดเหนี่ยวจิตใจในขณะผู้ขับขี่ พาคุณ
ซิ่งทะลุโลกกันอยู่) มีมาให้ครบเหนือบานประตูทั้ง 4 บาน!

2015_05_26_Subaru_Outback_Visibility_1

ทัศนวิสัยด้านหน้า ยังคงใกล้เคียงกับ Outback รุ่นก่อน ตำแหน่งของแผง
หน้าปัด ดูเผินๆ เหมือนจะเตี้ยลง ทั้งที่ความจริงแล้ว มันก็เท่าเดิมนั่นละ

การมองเห็นฝากระโปรงหน้ารถ ยังคงเป็นประเด็นที่ Outback ใหม่ น่าจะ
ตอบโจทย์ กลุ่มลูกค้า สว. (สูงวัย) ที่คุ้นชินกับการกะระยะด้วยฝากระโปรง
หน้ารถ ได้ดีเหมือนเดิม

2015_05_26_Subaru_Outback_Visibility_2

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งขวา แม้จะถูกออกแบบมาให้ โคนเสา เล็กตีบ
ลงมาจากรุ่นเดิม แต่ในเมื่อความหนาของตัวเสา ภาพรวม ยังเท่าเดิม จึงยัง
มีส่วนช่วย บดบังรถยนต์ หรือจักรยานยนต์ซึ่งแล่นสวนทางมา ในทางโค้ง
ขวา แบบสวนกัน 2 เลน อยู่เหมือนเดิม

กระจกมองข้างมีขนาดใหญ่ใช้งานได้ดี ถ้าปรับให้เห็นมุมตัวถังน้อยๆ
ด้านในของกรอบพลาสติกจะแอบกินพื้นที่บดบังซีกขวาของตัวกระจก
อยู่นิดหน่อย

2015_05_26_Subaru_Outback_Visibility_3

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งซ้าย มีการปรับปรุงมุมลาดเอียงนิดหน่อย
แต่ยังคงมีการบดบังทัศนวิสัยตอนเลี้ยวกลับได้นิดๆ ในบางจังหวะ เช่น
บนถนนพหลโยธิน ใต้สถานีรถไฟ BTS คุณอาจต้องยื่นหน้ารถล้ำไป
ข้างหน้าเล้กน้อย เพื่อที่จะมองเห็น รถที่แล่นสวนทางมานิดเดียว แต่ก็
ยังถือว่ายอมรับได้ เหมือนรุ่นเดิม

กระจกมองข้าง ฝั่งซ้าย หากปรับให้เห็นตัวรถน้อยๆ อาจเจอพื้นที่ของ
กรอบพลาสติก บดบังเข้ามาบริเวณซีกซ้ายของบานกระจก นิดๆ แต่ยัง
ถือว่าไม่มากนัก เมื่อเทียบกับรถคันอื่นๆ ที่ผมเคยเจอมา

2015_05_26_Subaru_Outback_Visibility_4

การขยายพื้นที่หน้าต่างรอบคันให้สูงขึ้นนิดเดียว มีส่วนช่วยเพิ่มความ
ปลอดโปร่ง โล่งสบาย ให้กับทัศนวิสัยด้านหลัง ขึ้นอีกเล็กน้อย มุมมอง
จากคนขับ จะเห็นว่า เสาหลังคาคู่หลังสุด D-Pillar ดูเหมือนจะเปลี่ยน
ทรวดทรง ให้ดูเผินๆ เหมือนมีขนาดเล็กลง เพื่อจะช่วยลดการบดบัง
จักรยานยนต์ หรือพาหนะที่แล่นมาทางด้านหลังซ้าย ลงได้นิดหน่อย

2015_05_26_Subaru_Outback_Engine_01_Engine_FB25

********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกประการหนึ่งของ Outback ใหม่ อยู่ที่การปลด
ขุมพลังเดิม EJ25 ซึ่งประจำการอยู่ใต้ฝากระโปรงของ Outback มาตั้งแต่ยุค
แรกเริ่ม สมัยยังเป็น Legacy Langcaster แล้วเปลี่ยนมาใช้ขุมพลัง Boxer
สูบนอน บล็อกใหม่ล่าสุด ตระกูล FB ตามต่อเนื่องมาจาก Subaru รุ่นใหม่ๆ
ที่ทะยอยเปิดตัวในตลาดทั่วโลก มาตั้งแต่ปี 2012

Outback เวอร์ชันตลาดโลกจะมีขุมพลังให้เลือกทั้งหมด 2 ขนาด โดยในรุ่น
แรงสุด จะเป็นเครื่องยนต์ 6 สูบนอน Boxer DOHC 24 วาล์ว 3,630 ซีซี (!!)
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 92 x 91 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.5 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วย
หัวฉีด MPI (Multi Point Sequential Injection) ไม่มีระบบอัดอากาศใดๆทั้งสิ้น
260 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 350 นิวตันเมตร (35.7 กก.-ม.)
ที่ 4,400 รอบ/นาที ทำตัวเลข 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ 7.6 วินาที! ความเร็ว
สูงสุด 235 กิโลเมตร/ชั่วโมง อัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเฉลี่ย 9.9 ลิตร/ 100 กิโลเมตร
ปล่อยก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ เฉลี่ย 230 กรัม/กิโลเมตร

แต่สำหรับตลาดเมืองไทย Outback จะมีขุมพลังเพียงแบบเดียว นั่นคือรหัส
FB25 ใหม่ บล็อก 4 สูบนอน Boxer DOHC 16 วาล์ว 2,498 ซีซี กระบอกสูบ
x ช่วงชัก 94 x 90 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.3 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด MPI
(Multi Point Sequential Injection) ไม่มีระบบอัดอากาศใดๆทั้งสิ้น

กำลังสูงสุด 175 แรงม้า (PS) ที่ 5,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 24.0 กก.-ม.
(235 นิวตันเมตร) ที่ 4,000 รอบ/นาที เวอร์ชันไทย รองรับน้ำมันเบนซิน
ได้ทั้ง เบนซิน 95 , แก็สโซฮอลล์ 95 แบบ E10 รวมทั้ง E20 อัตราเร่งจาก
0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ของโรงงาน ทำได้ 10.2 วินาที ความเร็วสูงสุด
198 กิโลเมตร/ชั่วโมง อัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเฉลี่ย 7.7 ลิตร/100 กิโลเมตร
ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เฉลี่ย 161 กรัม/กิโลเมตร

2015_05_26_Subaru_Outback_Engine_02_CVT_Transmission

ขับเคลื่อนด้วยเกียร์อัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน Lineartronic CVT ซึ่งมีการ
ปรับเปลี่ยนอัตราทดเกียร์ใหม่ ให้จัดขึ้นเล็กน้อย ในทุกเกียร์ โดยเฉพาะ
เกียร์ 1 คันเกียร์เองก็ถูกปรับปรุงใหม่ให้สูงขึ้น จากเดิม จนดูคล้ายกับ
คันเกียร์อัตโนมัติ ของรถยุโรปมากขึ้น มีแป้นเปลี่ยนเกียร์ Paddle Shift
มาให้ ด้านหลังพวงมาลัย สำหรับใครที่อยากเล่นเกียร์เอง

อัตราทดเกียร์นั้นมีด้วยกัน 2 โหมด หากอยู่ในเกียร์ D ปกติ อัตราทดจะ
แปรผัน จากรุ่นเดิมตั้งแต่ 3.525 – 0.558 : 1 มาเป็น 3.581 – 0.570 แต่ถ้า
แต่ถ้าอยากจะเล่นสนุกกับการเปลี่ยนเกียร์เอง คอมพิวเตอร์ ก็จะสั่งล็อก
ตำแหน่งชุดพูเลย์ ไว้ในอัตราทดที่กำหนดไว้  ในตำแหน่งดังต่อไปนี้

รุ่นเดิม………………รุ่นใหม่
เกียร์ 1                3.525………………..3.581
เกียร์ 2                2.238………………..2.262
เกียร์ 3                1.641………………..1.658
เกียร์ 4                1.194………………..1.208
เกียร์ 5                0.850………………..0.885
เกียร์ 6                0.611………………..0.618
เกียร์ R                2.358……………….3.667
อัตราทดเฟืองท้าย   3.900…………..4.111

2015_05_26_Subaru_Outback_Engine_03_AWD_System

ด้านระบบขับเคลื่อน ยังคงเป็นแบบ Symmetrical All Wheel Drive (AWD)
พร้อมกับระบบกระจายแรงบิดตามที่แต่ละล้อต้องการ Active Torque Spilt
โดยปกติจะรักษาสัดส่วนการส่งแรงบิดไปยังล้อคู่หน้า / หลัง อยู่ที่ 60 : 40
แต่บนถนนลื่น หรือในภาวะคับขัน ระบบจะตรวจจับและปรับการกระจายแรงบิด
ให้เองโดยอัตโนมัติ รวมทั้งยังมีระบบ Active Torque vectoring Control
ซึ่งจะทำงานร่วมกับ ระบบควบคุมการทรงตัวและเสถียรภาพ VDC (Vehicle
Dynamic Control System ) หากขับรถเข้าโค้ง ระบบจะปรับการส่งแรงบิด
ไปยังล้อด้านนอกโค้ง และลดการส่งแรงบิดไปยังล้อด้านในโค้ง เพื่อช่วย
ให้ตัวรถยังอยู่ในโค้งได้อย่างมั่นคงจนกว่าจะพ้นทางโค้ง

นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมการขับขี่ SI-DRIVE ติดตั้งมาให้ ในการขับขี่ปกติ
ในเมือง หรือทั่วไป ใช้โหมด i เพื่อสั่งให้สมองกลเครื่องยนต์ ปรับลิ้นคันเร่ง
ในโหมดปกติ เน้นความประหยัดน้ำมัน และแรงบิดในรอบต่ำ และโหมด S
ซึ่งจะสั่งให้คันเร่งตอบสนองไวขึ้นนิดนึง ช่วยในการเร่งแซงทั้งบนทางด่วน
หรือทางโค้งต่างๆ (แต่ Outback ใหม่ เวอร์ชันไทย ยังไม่มีโหมด S# มาให้)

ตัวเลขสมรรถนะจะดีขึ้นกว่ารุ่นเดิมมากน้อยแค่ไหน เราคงต้องพิสูจน์กัน
ด้วยวิธีการจับเวลาแบบดั้งเดิม คือทำในช่วง กลางคืน บนถนนที่โล่งสนิท
มีผม และน้องเติ้ง Kantapong Somchana คุณผู้อ่านของเรา รวมน้ำหนัก
อยู่ที่ 170  กิโลกรัม เปิดไฟหน้า เปิดแอร์ พื้นถนนแห้งสนิท ตัวเลขผลลัพธ์
ที่ได้เมื่อเทียบกับ Outback รุ่นเดิม มีดังนี้

outback_1 outback_2

จากตัวเลขที่ได้ ดูเหมือนว่า การเปลี่ยนเครื่องยนต์มาเป็นบล็อกใหม่ FB25
จะให้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นนิดหน่อย แม้ว่าช่วง ออกตัวจากจุดหยุดนิ่ง จนถึง 100
กิโลเมตร/ชั่วโมง จะเร็วขึ้นกว่ารุ่นเดิม แค่ 0.2 วินาที ไม่ได้มากมายอย่างที่
ผมคาดหวังสักเท่าไหร่ ช่วงเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทำได้ดีขึ้น
ราวๆ 0.6 วินาที

ตัวเลขที่ออกมา ถือว่าทำได้ดีในระดับเทียบเท่าบรรดารถเก๋ง D-Segment ทั้ง
Toyota Camry, Honda Accord และ Nissan Teana ใหม่ เครืองยนต์ 2.0 ลิตร
ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เกินความคาดหมายนัก เพราะ Outback ซึ่งต้องแบกน้ำหนัก
และตัวรถที่มีรูปทรงต้านลมกว่านิดหน่อย ยังต้องพ่วงระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ
ซึ่งมีการสูญเสียกำลังในระบบขับเคลื่อนมากกว่ารถเก๋งขับล้อหน้า เป็นปกติ
กันอยู่แล้ว

ถ้าเปรียบเทียบกับบรรดา Compact SUV ที่มีขนาดเล็กกว่า Outback ยังคงแรง
กว่า Chevrolet Captiva แน่นอน แต่อาจจะด้อยกว่า Mazda CX-5 รุ่น 2.5 ลิตร
ชัดเจน แบบไม่ต้องสืบต่อ

ส่วนความเร็วสูงสุด ตัวเลขจากโรงงาน ระบุไว้ใน Catalog ว่าได้ 198 กิโลเมตร/
ชั่วโมง แต่ตัวเลขบนมาตรวัด จะขยับไปอยู่ที่ 208 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยเราต้อง
ไม่ลืมว่า มาตรวัดความเร็วของรถยนต์ จะมีค่าความเพี้ยนอยู่บ้าง ใน Outback
100 กิโลเมตร/ชั่วโมง บนมาตรวัด จะเท่ากับ 95.4 กิดลเมตร/ชั่วโมง เมื่อวัดจริง
สดๆจากระบบดาวเทียม GPS แบบทั่วๆไป

การไต่ความเร็วขึ้นไปจนสุดนั้น หากเป็นช่วงตั้งแต่ 120 – 190 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ใช้เวลาไม่นานอย่างที่คิด แต่หลังจาก 190 ขึ้นไป อาจต้องการเวลาและระยะทาง
ยาวนิดหน่อย จึงจะขึ้นไปแตะ 208 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 5,850 รอบ/นาที ได้

ย้ำกันตรงนี้ เหมือนเช่นเคยว่า เรายังคง มีจุดยืนที่จะไม่สนับสนุนให้ใครก็ตาม
ไปทดลองหาความเร็วสูงสุดกันเอง เพราะมันอันตรายต่อชีวิตตนเอง และเพื่อน
ร่วมใช้เส้นทาง แถมยังผิดทางกฎหมายจราจร อีกด้วย เราทำตัวเลขออกมาให้ดู
เพื่อให้ได้ทราบข้อเท็จจริง และเป็นประโยชน์ในแง่การศึกษา ด้านวิศวกรรม
ยานยนต์ สำหรับผู้ที่สนใจ เท่านั้น

2015_05_26_Subaru_Outback_Engine_04_Top_Speed

ถึงตัวเลขจะอยู่ในเกณฑ์ธรรมดา ดีขึ้นจากรุ่นเก่าไม่มากเท่าไหร่ แต่ในการขับขี่
ใช้งานจริง อัตราเร่งแซง ไวขึ้นจากรุ่นเดิมชัดเจน! การตอบสนองทันใจขึ้นอย่าง
ไม่ต้องสงสัยอื่นใดอีก

ตอนออกตัวจากจุดหยุดนิ่งหนะ ช่วงต้นๆ แรงบิดมาให้ใช้งานค่อนข้างดี แต่เรา
ต้องไม่ลืมว่า การใช้เกียร์ CVT ทำให้จำเป็นต้องออกตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ถ้า
จะให้พุ่งพรวดเลย เดี๋ยวเกียร์ก็จะพังเร็วกันเปล่าๆ

กระนั้น ในช่วงไต่ความเร็วขึ้นไป ถ้ารอบเครื่องยนต์ ถูกลากขึ้นไปถึง 6,000 รอบ
สมองกลเกียร์จะสั่งเปลี่ยนเกียร์ ตัดรอบเครื่องลงมาเหลือ 5,000 รอบ ก่อนจะไต่
ขึ้นไปใหม่ การเซ็ตเกียร์ CVT ในลักษณะนี้ แทบไม่ต่างจากเกียร์ CVT ของรุ่น
WRX รวมไปถึง ญาติห่างๆต่างค่าย อย่าง Toyota Corolla ALTIS ใหม่ล่าสุด นี่
เป็นเรื่องที่ผมชื่นชอบมาก เพราะทำให้การตอบสนองของเกียร์ CVT เข้าใกล้
เกียร์อัตโนมัติแบบปกติทั่วๆไปกับเขาเสียที ช่วยให้ยังคงรักษาความสนุกใน
สายตาของผู้ชื่นชอบการขับรถเร็วๆแรงๆ ได้บ้าง

ยิ่งถ้าเป็นช่วงรอบเครื่องยนต์กลางๆ ละก็ การตอบสนองจะกระฉับกระเฉงขึ้น
มากกว่ารุ่นเดิมอย่างชัดเจน ช่วยให้เร่งแซงได้สนุกขึ้น กะเก็งสถานการณ์ และ
นำพารถพุ่งขึ้นแซงหน้าบรรดารถคันอื่นๆ บนท้องถนนได้ดังใจคิดมากยิ่งขึ้น
ความคล่องแคล่วที่เพิ่มขึ้นมา ส่วนหนึ่ง ต้องยกให้การทำงานของเครื่องยนต์
และเกียร์ ที่ผสานกันได้ ค่อนข้างดีขึ้นกว่ารุ่นเดิมนี่ละครับ

คันเร่งไฟฟ้า ตอบสนองได้ไวในระดับปกติของรถยนต์ Subaru รุ่นใหม่ๆ ในช่วง
2 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับโหมดการขับขี่ที่กดเลือกเอาไว้ หากเป็น โหมด S
คันเร่งจะสั่งการได้ไวขึ้นจากคันเร่งในโหมด i เพียงนิดเดียว พอให้สังเกตได้นิดๆ
ว่าแตกต่างกันจริง แต่ก็ไม่ได้ทำให้รถพุ่งปรู๊ดปราดขึ้นไปมากมายแต่ประการใด

เกียร์ทำงานได้ราบรื่นดี และฉลาดใช้ได้ เหมือนเช่นเกียร์ของ Forester Turbo
แป้น Paddle Shift หลังพวงมาลัย ทำงานไวอย่างเหมาะสม กำลังดี ตอบสนอง
แทบจะในทันทีที่ตบแป้นข้าหาตัว แต่ถ้าจะสั่งให้เปลี่ยนเกียร์ลงอย่างฉับพลัน
2 จังหวะ รวดเดียว เกยร์จะเปลี่ยนให้แค่ 1 จังหวะ หรือ 2 จังหวะ ขึ้นอยู่กับ
ความเร็วของรถ กับความเร็วรอบเครื่องยนต์ในขณะนั้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณเหยียบคันเร่งต่อเนื่องมาตลอด แต่มีเหตุต้องให้ถอนเท้า
ในช่วงเวลาสั้นๆ แล้วคุณตัดสินใจ เดินคันเร่งเพิ่มต่อเล็กน้อยราวๆ 10 – 20%
ของ ระยะแป้นคันเร่ง เกียร์อาจมีอาการกระตุกนิดนึง (Shock change) ก่อน
จะทำงานให้คุณตามสั่ง เป็นอาการที่ไม่ได้พบบ่อยนัก แต่เป็นแทบจะทุกครั้ง
หากผมลองเดินคันเร่งในลักษณะนี้

ภาพรวมของอัตราเร่ง ที่ Outback ใหม่ มีมาให้คุณนั้น จัดว่า ใกล้เคียงกับ
เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ 2.0 ลิตร Skyactiv ของ Mazda คือ ดีกว่าเดิมชัดเจน
กระฉับกระเฉงขึ้นเยอะ แต่ไม่ได้ถึงขั้นฉีกหนีแซงหน้าคู่แข่งคันอื่นๆ นัก

กระนั้น พละกำลังที่มีมาให้ ถือว่า เพียงพอเหลือเฟือ กับการใช้งานของคน
เท้าปานกลางค่อนไปทางหนัก พุ่งทะยานดีขึ้นกว่ารุ่นเดิม แรงกำลังพอดี

2015_05_26_Subaru_Outback_Engine_05_Jimmy_Drive

การเก็บเสียงรบกวนจากภายนอก ถือว่าทำได้ดี สำหรับรถยนต์ในพิกัดนี้ หาก
ใช้ความเร็วต่ำกว่า 130 กิโลเมตร/ชั่วโมง ลงมา ห้องโดยสารยังค่อนข้างเงียบ
ในระดับใช้ได้อยู่ แต่ถ้าพ้นจากระดับนี้ไป เสียงกระแสลมปะทะจะเริ่มดังขึ้น
เป็นปกติ เสียงรบกวนส่วนใหญ่ ดังมาจากยางติดรถ Yokohama Geolander
ขนาด 215/60 R18 มากกว่า

ระบบบังคับเลี้ยว ยังคงเป็นพวงมาลัยเป็นแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อม
เพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฟฟ้า EPS (Electronics Power Steering) รัศมี
วงเลี้ยว 5.5 เมตร ยังคงมีระยะฟรี พอประมาณ ไม่มากไม่น้อยเกินไป แต่
ถูกปรับอัตราทดเฟืองพวงมาลัยให้ไวขึ้นนิดๆ จนถือว่า ไวกำลังดี เพื่อให้
การตอบสนองทั้งในช่วงความเร็วต่ำ และความเร็วสูง แม่นยำขึ้น

ในช่วงความเร็วต่ำ พวงมาลัยจะมีน้ำหนักและความหนืด กำลังดี ไม่มาก
ไม่น้อยจนเกินไป ช่วยให้การบังคับเลี้ยว เข้าจอด ทำได้คล่องแคล่วกว่า
รุ่นเดิม จนก้าวขึ้นมาอยู่ในระดับพอๆกันกับ Subaru XV ต่อให้คุณต้อง
ลัดเลาะ แทรกตัวไปตามสภาพการจราจรขยับสลับหยุดนิ่ง ระบบบังคับ
เลี้ยว ของ Outback เพิ่มความคล่องตัวจากรุ่นเดิมมากขึ้น จนเป็นมิตร
กับกลุ่มลูกค้าสุภาพสตรีทั้งหลาย ยิ่งขึ้น

ในช่วงความเร็วสูง พวงมาลัยยังคงนิ่ง On center feeling ดีแล้ว จัดว่า
มั่นใจขึ้นกว่ารุ่นเดิมนิดหน่อย สามารถปล่อยมือจากพวงมาลัยได้ใน
ช่วงความเร็ว 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยไม่มีอาการวอกแวกใดๆ
เว้นเสียแต่จะมีกระแสลมปะทะด้านข้าง ซัดเข้ามา นั่นก็เป็นอีกเรื่อง

ยิ่งเมื่อต้องบังคับเลี้ยวในโค้ง พวงมาลัยนิ่ง และตามสั่ง ไม่ไวเกิน
ไม่เนือยเกิน ต้องการให้เลี้ยวแค่ไหน มันก็จะเลี้ยวให้แค่นั้น โดย
น้ำหนักของพวงมาลัย จะช่วยหน่วงไว้เพื่อเพิ่มความหนักแน่น
ขึ้นและสร้างความมั่นใจกับผู้ขับขี่

ถือว่าเป็นพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า ที่ตอบสนองเป็นธรรมชาติมากๆ
ขับสบาย หากต้องเดินทางไกล บังคับเลี้ยวได้แม่นยำค่อนข้างดี มี
น้ำหนักที่ลงตัวสำหรับประเภทของตัวรถ และถือเป็นพวงมาลัยของ
Subaru อีกรุ่นหนึ่ง ที่ผมยืนยันว่า รุ่นถัดไป ไม่ต้องปรับแก้แล้วนะ
ขอแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ มาถูกทางละ เซ็ตมาแบบนี้แหละ ถูกต้องแล้ว

2015_05_26_Subaru_Outback_Engine_06_Suspension

ระบบกันสะเทือน ยังคงมีรูปแบบเดิม เหมือนรุ่นก่อน ด้านหน้าแบบ
แม็คเฟอร์สันสตรัต ด้านหลังเป็นแบบปีกนกคู่ Double Wishbone พร้อม
คอยล์สปริง ช็อกอัพ วางเชื่อมอยู่กับ Sub-Frame ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
แต่มีการปรับปรุงตำแหน่งและจุดยึดต่างๆ ไปจนถึงความแข็งของสปริง
กับช็อกอัพ

การปรับปรุงดังกล่าวนี่เอง ที่ส่งผลให้ ช่วงล่างของ Outback ใหม่ ดูดซับ
แรงสะเทือนในช่วงความเร็วต่ำ ขณะขับคลานๆ ไปตามตรอกซอกซอย
ในกรุงเทพมหานคร ได้ดีขึ้นมาก นุ่มนวลขึ้นกว่าเดิมชัดเจน แม้จะยังมี
อาการตึงตังนิดๆ แต่ก็มาจากล้อยางขนาด 18 นิ้ว ไม่ได้มาจากช่วงล่าง
มันนุ่มขึ้น เก็บอาการต่างๆ ได้ดีเกินหน้า Compact SUV หลายๆรุ่นใน
บ้านเราตอนนี้ แถมยังลดการดีดเด้ง ลงไปจากเดิมอย่างมาก จนต้องขอ
ชมเชย ทีมวิศวกรเซ็ตช่วงล่างชาวญี่ปุ่น มา ณ โอกาสนี้

ไม่เพียงเท่านั้น ในช่วงความเร็วสูง ระบบกันสะเทือนของ Outback ใหม่
ยังให้สัมผัสที่กลั่นออกมาเป็นความจำกัดความว่า “นุ่ม แน่น หนึบ” ได้
อย่างตรงกับความหมายของทั้ง 3 คำนี้มากๆ

นุ่ม – ซับแรงสะเทือนจากพื้นถนน และรอยต่อต่างๆ ได้เนียนขึ้นกว่าเดิม
แน่น – สัมผัสได้ว่า ช่วงล่าง ติดตั้งมาอย่าง แน่นหนาในระดับกำลังดี
หนึบ – พาคุณเข้าโค้งได้อย่างมั่นใจ ไม่ต้องถอนคันเร่ง ก็ซัดเข้าโค้งได้เลย

เมื่อรวมการทำงานของพวงมาลัย และช่วงล่าง เข้าด้วยกัน ทำให้ Outback
รุ่นล่าสุด กลายเป็น รถยนต์ Wagon ยกสูง ที่ให้การควบคุมบังคับขับขี่อัน
น่าประทับใจมาก เพราะผสานทั้งความคล่องตัว แน่นหนา แม่นยำ หนึบ
เข้ากับ ความสบายในการเดินทาง ได้อย่างดี ในระดับที่รถยนต์นั่ง ราคา
ไม่เกิน 3 ล้านบาท ควรจะเป็น สัมผัสได้เลยว่า ตัวรถ เหมือนเบากว่าเดิม
ทั้งที่ไม่เป็นเช่นนั้น แต่ด้วยการตั้งค่าของพวงมาลัยและช่วงล่าง มีส่วน
ช่วยให้บังคับควบคุมได้คล่องแคล่วขึ้นมาก ยิ่งเมื่อพารถเข้าโค้งโหดๆ
บนทางด่วน คุณจะยิ่งมั่นใจได้เลยว่า จะเข้าและออกจากโค้ง ไปได้เร็ว
กว่าคนอื่น ทั้งๆที่ พื้นใต้ท้องรถ สูงกว่าชาวบ้านเขาหมด

อย่างไรก็ตาม แม้จุดศูนย์ถ่วงจะต่ำ แต่ในเมื่อ พื้นใต้ท้องรถ สูงระดับ 213
มิลลิเมตร นั่นย่อมทำให้ ตัวรถอาจเอียงออกข้าง ในระดับที่ยอมรับได้อย่าง
เหมาะสม ความเร็วในโค้งขวา รูปเคียว ช่วงทางด่วนมักกะสัน จนถึงโค้ง
ซ้าย ฝั่งตรงข้าม โรงแรม เมอเคียว เชื่อมเข้าทางด่วนขั้นที่ 1 ทำได้ราวๆ
95 กิโลเมตร/ชั่วโมง บนมาตรวัด แต่ถ้าเป็นโค้งรูปเคียว บนทางด่วนช่วง
คลองเตย จากพระราม 3 มุ่งเข้าบางนา ความเร็วหน้าโค้งซ้าย อาจจะซัด
เข้าไปได้ที่ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง เลยทีเดียว กระนั้น ในโค้งขวา จำเป็น
ต้องลดลงมาเหลือ 95 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งนั่นคือ Limit ของยางติดรถที่
จะยอมเกาะยึดพื้นโค้งให้คุณแล้ว

อย่าแปลกใจ ถ้าผมจะบอกว่า นี่คือลักษณะช่วงล่างในแบบที่ผมชื่นชอบ
มากกว่า BMW 3-Series F30 รุ่นปัจจุบันเสียอีก! ผมต้องการความนุ่ม
แบบนี้ ความแน่นหนาแบบนี้ การยึดเกาะถนนแบบนี้ และความมั่นใจ
จากช่วงล่าง ที่หนึบแบบนี้

ระบบห้ามล้อ เป็นดิสก์เบรกแบบมีรูระบายความร้อนทั้ง 4 ล้อ เสริมด้วย
ตัวช่วยมาตรฐาน ทั้งระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-Lock Braking
System) ระบบช่วยเพิ่มแรงดันน้ำมันเบรกตามน้ำหนักบรรทุก EBD
(Electronic Brake force Distribution) ระบบเพิ่มแรงเบรกในภาวะ
ฉุกเฉิน Brake Assist รวมเข้ากับระบบ ควบคุมเสถียรภาพ และการ
ทรงตัว VDC (Vehicle Dynamics Control Syatem) ทำงานร่วมกับ
ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ เพื่อช่วยตัดกำลัง ณ ล้อข้างที่กำลังหมุนฟรี
และเติมกำลังในล้อข้างที่ต้องการ เพื่อให้รถผ่านพ้นอุปสรรค และ
ทางโค้งค่างๆ ได้อย่างปลอดภัย

แป้นเบรกมีระยะเหยียบกำลังเหมาะ คือ ไม่สั้นไม่ยาวจนเกินไป น้ำหนัก
ที่คนขับต้องเหยียบลงไป เบากว่า แป้นเบรกของ WRX เยอะ ถ้าต้องการ
เบรกเพื่อหยุดรถให้นุ่มๆ ก็ทำได้ง่ายดาย บังคับเท้าได้ตามสั้ง แต่ถ้าอยาก
ชะลอรถลงมาจากช่วงความเร็วสูง หากเหยียบต่อเนื่อง จาก 200 กิโลเมตร/
ชั่วโมง ลงมาเหลือ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง จริงๆแล้ว ระบบเบรก ก็รับมือได้
ในระดับสบายๆ มั่นใจได้ หายห่วง แต่ถ้าต้องเบรกแบบเดียวกัน ซ้ำอีกรอบ
ในทันที ก็อาจเจออาการเบรก Fade นิดๆ ได้บ้างเหมือนกัน ตามธรรมดา
ของระบบเบรกในรถบ้านๆ ทั่วไป

2015_05_26_Subaru_Outback_Engine_07_Safety_Body_Structure

ด้านโครงสร้างตัวถัง ถูกออกแบบตามแนวทาง Ring-shaped Reinfoecement Frame
ให้เพิ่มความแข็งแรงเป็นพิเศษ บริเวณ ห้องโดยสาร ตั้งแต่ เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar
เชื่อมต่อไปถึงแนวกรอบประตูทางเข้า ด้านหน้า และธรณีประตูคู่หลัง

อีกทั้งยังมีการเสริมความแข็งแรง ให้กับเสาหลังคาคู่หลัง C-Pillar จุดยึดเชื่อมต่อระหว่าง
ซุ้มล้อคู่หลัง และเสากรอบประตูด้านหลัง ให้ทนต่อการบิดตัว ไปพร้อมกับการรับและ
กระจายแรงปะทะ จากด้านหลังให้ดีขึ้น

เสริมความปลอดภัยด้วยการติดตั้งเข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุดทุกตำแหน่ง (เฉพาะคู่หน้า
เป็นแบบ Pre-tension & Load Limiter ลดแรงปะทะ และดึงกลับอัตโนมัติ) รวมทั้ง
ถุงลมนิรภัยคู่หน้า ด้านข้าง ม่านลมนิรภัย และถุงลมสำหรับหัวเข่า! รวมทั้งสิ้น 7 ใบ

ด้วยการออกแบบโครงสร้าง และการเน้นให้ความสำคัญด้านโครงสร้างตัวถัง กับความ
ปลอดภัย ทำให้ Outback ผ่านมาตรฐานทดสอบการชน ของ EuroNCAP ในระดับ
5 ดาว โดยได้คะแนนการป้องกันผู้ขับขี่แลผู้โดยสารด้านหน้า 85% การปกป้องเด็ก
บนเบาะนิรภัย 87% ปกป้องคนเดินถนน 70% และการช่วยเหลือของระบบควบคุม
เสถียรภาพ 73% รายละเอียดเพิ่มเติม คลิกเข้าไปอ่านได้ที่นี่
http://www.euroncap.com/en/results/subaru/outback/7895

2015_05_26_Subaru_Outback_Fuel_Consumption_1

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

มาถึงตรงนี้ ในเมื่อเราได้รู้แล้วว่า การเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ ให้ Outback
ส่งผลให้ อัตราเร่ง ดีขึ้นนิดหน่อย ตอบสนองกระฉับกระเฉงขึ้น คำถามก็คือ
แล้วความประหยัดน้ำมันละ? ดีขึ้นกว่าเดิมด้วยหรือเปล่า?

เพื่อให้หายข้องใจ เราจึงยังคงใช้วิธีการทดลองตามมาตรฐานดั้งเดิม คือการ
นำรถไปเติมน้ำมัน เบนซิน 95 Techron ที่สถานีบริการน้ำมัน Caltex บน
ถนนพหลโยธินใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ ในช่วงกลางคืน

ด้วยเหตุที่ Outback เป็นรถยนต์นั่ง Crossover Station Wagon เครื่องยนต์
พิกัด 2.5 ลิตร ลูกค้าที่ซื้อรถยนต์ประเภทนี้ มักไม่ค่อยซีเรียสกับตัวเลขกัน
มากขนาดนั้น เราจึงตัดสินใจเติมน้ำมัน ด้วยวิธีเติมเสร็จแล้วให้หัวจ่ายตัด
ก็พอ ไม่ต้องเขย่ารถ อย่างเช่นที่ต้องทำกับรถยนต์นั่งต่ำกว่า 2,000 ซีซี และ
รถกระบะ

เมื่อเราเติมน้ำมันจนเต็มถัง เราก็ คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์
ออกรถไปเลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน เลี้ยวซ้ายลัดเลาะไปตามซอยอารีย์
โผล่ออกปากซอยโรงเรียนเรวดี เลี้ยวซ้าย มุ่งสู่ถนนพระราม 6 ไปเลี้ยวขวา
ขึ้นทางด่วน ขับไปเรื่อยๆ จนสุดปลายทางด่วนสายเชียงราก อุดรรัถยา ที่
ด่านบางปะอิน ก่อนเลี้ยวกลับย้อนขึ้นทางด่วนสายเดิม ขับย้อนกลับมาเข้า
กรุงเทพฯกันอีกครั้ง ด้วยมาตรฐานเดิมคือ

ใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ และ นั่ง 2 คน และคราวนี้ เพื่อ
รักษาความเร็วให้นิ่งยิ่งขึ้น เราเปิดระบบควบคุมความเร็ว Cruise Control
ซึ่งต้องขอตำหนิว่า ไม่สามารถรักษารอบเครื่องยนต์ให้คงที่ ต่อเนื่อง ขณะ
ขึ้นทางลาดชันได้เลย อีกทั้ง รอบเครื่องยนต์ ขณะเปิด Cruise Control จะ
สูงกว่าการเลี้ยงคันเร่งไปตามปกติ ประมาณ 200 รอบ/นาที ด้วยซ้ำ ดังนั้น
เมื่อลองเปิด Cruise Control ไปในช่วงแรก ผมจึงตัดสินใจปิดมันทิ้งซะ
ให้รอบเครื่องยนต์ หล่นลงมาเหลือ 1,900 รอบ/นาที จากเดิม 2,100 รอบ
จะดีกว่า

เราลงทางด่วนที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ  เลี้ยวซ้าย เข้าสู่ถนนพหลโยธิน
เลี้ยวกลับใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการ
น้ำมัน Caltex พหลโยธิน อีกครั้งเพื่อเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron
ให้เต็มถัง แค่หัวจ่ายตัดพอ เหมือนตอนเริ่มต้นทดลอง

2015_05_26_Subaru_Outback_Fuel_Consumption_2

ผู้ช่วยทดลอง และสักขีพยานของเราคราวนี้ เป็น น้องเติ้ง กันตพงษ์ สมชนะ
คุณผู้อ่านของ Headlightmag เรานี่แหละครับ

เอาละ มาดูตัวเลขที่ ออกมากันดีกว่า

ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด 93.0 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับเฉลี่ย 6.45 ลิตร
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 14.41 กิโลเมตร/ลิตร

outback_3 outback_4

ถ้าเปรียบเทียบจากรุ่นเก่า  ตัวเลขของรุ่นใหม่จะด้อยกว่ากัน 0.2 กิโลเมตร
/ลิตร ซึ่งผมไม่ถือสาหาความใดๆ เพราะอาจเป็นค่าความเพี้ยนอันเกิดจาก
หัวจ่ายที่ตัดโดยวัดจากไอน้ำมันเป็นหลัก ความแตกต่างระดับนี้ พอสรุป
ได้ว่า Outback ใหม่ ทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย วิ่งทางไกลออกมา
พอๆกันกับรุ่นเดิม ด้อยกว่ากันนิดเดียว

แต่ถ้าเปรียบเทียบกับรถยนต์ SUV แล้ว ตัวเลขถือว่า ยังคงทำได้ดีกว่า
Honda CR-V เพียงนิดเดียวเท่านั้นเช่นกัน ขณะที่ ผลลัพธ์นั้น ออกมา
พอกันกับ Mazda CX-5 และ Toyota Camry 2006 กับ Honda Accord
รุ่น G8 ปี 2008

แล้วถ้าแล่นใช้งานจริงละ น้ำมัน 1 ถัง จะแล่นได้ไกลแค่ไหน ?
จากการนำมาใช้งานจริงราวๆ 1 สัปดาห์เต็ม ผมพบว่า Outbackใหม่ จะ
พาคุณแล่นได้ไกลราวๆ 500 – 550 กิโลเมตร ต่อการเติมน้ำมัน 1 ถัง หาก
คุณขับแบปกติ เร่งแซงบ้าง กดบ้าง แต่ส่วนใหญ่ขับไม่เกิน 120 กิโลเมตร/
ชั่วโมง ดังนั้น ถือว่า อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเดียวกับ Compact SUV รุ่น
ใหม่ๆ ทั่วไป

2015_05_26_Subaru_Outback_03

********** สรุป **********
Subaru ไม่มี Turbo ที่น่าขับมากที่สุดในตอนนี้ คล่องแคล่วขึ้น
อย่างน่าประทับใจ ในราคาเท่าเดิม แต่ขอเพิ่มอุปกรณ์บางอย่างอีกหน่อย

สารภาพเลยว่า ครั้งแรกที่ได้ยินว่า Subaru จะจัด Outback ให้ผมลองขับ
ผมรู้สึกเฉยๆ มองว่า มันคงไม่ได้แตกต่างไปจากรุ่นเดิมมากนักหรอก
รถยนต์ Wagon ยกสูง แบบนี้ Subaru ก็คงจะปรับแก้ไขเพิ่มเติมไม่มาก
และมันไม่น่ามีสิ่งใดที่โดนใจผมเป็นพิเศษ

แต่พอนำกลับมาลองใช้ชีวิตด้วยกัน 1 สัปดาห์เต็มๆ เท่านั้นแหละ ผมถึง
ได้รู้ตัวว่า คราวนี้ ผมมองผิดไป…อีกแล้ว!

ความรู้สึกนี้ เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อครั้งที่ผมใช้ชีวิตกับ Lexus ES300
พวกรถหน้าตาบ้านๆ ไม่มีอะไรให้คาดหวัง กลับทำผลงานออกมาได้
ชวนให้ยากที่จะลืม

ครั้งนี้ก็เช่นกัน ในฐานะที่เคยขับ Outback ผ่านมือมาแล้ว 3 Generation
ผมไม่นึกว่า Subaru จะทำ Outback ออกมาได้ดีขนาดนี้มาก่อน!

2015_05_26_Subaru_Outback_04

4 ปีผ่านไป หลังจากที่เราพบเจอป้าอ้วนเมียนายพรานครั้งสุดท้าย เมื่อถึง
เวลาที่เรากลับมาเจอกันอีกครั้ง ป้าอ้วน ก็ยังคงมีอุปนิสัยพื้นฐานแบบเดิม
ทั้งความใจกว้าง สุขุมตามวัย ตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม แต่แอบถ่อมตน
อยู่ในที

เพียงแต่ว่า คราวนี้ นางเดินเหินได้กระฉับกระเฉงขึ้น คล่องตัวขึ้น ลุยได้
ดีขึ้น ปราดเปรียวขึ้น และ…แอบแรงกว่าเดิมนิดนึง นางยังคงเป็นคนชอบ
สรรหาของกินอร่อยๆอยู่ แต่ก็ทำให้เราใช้ชีวิตกับนางได้อย่างมีความสุข
มากยิ่งขึ้น

ที่สำคัญ นางดูดี สมวัย มากขึ้น แม้จะไม่ได้สวยเช้ง เหมือนสมัยยังสาว
แต่ก็ถือว่า ดูดี ไม่น่าเกลียดเท่ารุ่นก่อนหน้านี้ก็แล้วกัน (วะ)

ถูกต้องแล้วครับ Outback ใหม่ ยังคงจุดเด่นต่างๆ ดั้งเดิมของตนไว้ได้
อย่างดี มีห้องโดยสารที่กว้างใหญ่ โอ่โถง นั่งสบายใช้ได้ อาจไม่ถึงขั้น
สบายระดับเทพ แบบ Lexus แต่นี่ก็ถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับครอบครัว
ใดก็ตาม ที่กำลังมองหารถยนต์ Wagon สักคัน และไม่อยากได้ SUV
มากมายขนาดนั้น อุปกรณ์อำนวยความสะดวก และความบันเทิง ถูก
ติดตั้งมาให้ในระดับที่ สมเหตุสมผลกับค่าตัวของรถ

ไม่เพียงเท่านั้น สารพัดข้อแก้ไขต่างๆ โดยเฉพาะการตอบสนองของ
ช่วงล่าง ถูกนำกลับไปปรับปรุงแก้ไข แถมยังเติมคุณงามความดีด้านการ
บังคับเลี้ยว จากพวงมาลัยแร็คเพาเวอร์ไฟฟ้า ให้แม่นยำขึ้น ไวขึ้นอีกนิด
เบาขึ้นในความเร็วต่ำอีกหน่อย ทำให้ Outback ใหม่ เพิ่มความคล่องตัว
มากยิ่งขึ้น ขณะขับขี่ทั้งในเมือง หรือบนทางหลวง แต่ยังอยู่บนพื้นฐาน
ของรถยนต์ร่างใหญ่ แอบสัมผัสถึงความหนักได้อยู่หน่อยๆ

ตา Pan Paitoonpong หัวหน้าใหญ่แห่ง The Coup Team ของเว็บเรา
แฟนพันธ์แท้ Subaru ระดับถาวร ถึงกับออกปากชมเลยว่า

“นี่คือ Subaru แบบไม่มี Turbo ที่ขับน่าขับมากที่สุดในตอนนี้”

อย่าลืมว่า ปกติแล้ว หมอนี่ เอะอะ เอะอะ ก็ Turbo เอะอะ เอะอะ ก็แรง
ถูกแพงไม่ว่า ขอแรงบ้าระห่ำไว้ก่อน พวกรถรักโลก หรือ ECO Car นั้น
ไปอยู่ให้ห่างไกล ตีนของหมอนั่นเลยเถอะ! อยู่ใกล้ๆเดี๋ยวโดนกระทืบ
แบนแต๊ดแต๋ จมดินพอดี (เดี๋ยวๆๆ จะกระทืบ หรือกลิ้งทับกันดีละเนี่ย?)

แต่ Subaru ที่ขับแล้ว Peaceful ก็ได้ บู๊ หน่อยๆ ก็ไหวแบบนี้ ผมไม่คิด
มาก่อนเลยว่า ตาแพน จะยิ้มออกกว้างหลังลองขับได้ขนาดนี้

2015_05_26_Subaru_Outback_05

อย่างไรก็ตาม ถึงจะมีข้อดีมากมาย แต่ข้อด้อย ที่ควรปรับปรุงต่อ ก็ยังมีอยู่
แม้จะไม่มากนักก็ตาม

การเปลี่ยนเครื่องยนต์คราวนี้ ยอมรับว่า แม้กระฉับกระเฉงขึ้น แรงขึ้น
ชัดเจนยามขับจริง แต่ก็ดูเหมือนแรงขึ้นไม่มากนัก เมื่อจับเวลากับนาฬิกา
อีกทั้งยังมีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ พอกันกับรุ่นเดิม ไม่ดีขึ้น ไม่แย่ลง

แถมยังน่าแปลกอีกด้วยว่า ตัวเลขที่เราทำการทดลอง ดันออกมาในระดับ
เท่าเทียบกับตัวเลขจากผลการทดลองของโรงงาน ตามโหมด JC08 ของ
รัฐบาลญี่ปุ่นอีกต่างหาก!! (อยู่ที่ 14.6 กิโลเมตร/ลิตร)

ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากเห็นตัวเลขอัตราเร่ง ของรุ่น 2.5 ลิตร พร้อมระบบ
ขับเคลื่อน 4 ล้อ ช่วง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง อยู่แถวๆ 9.5 วินาที ขณะที่
อัตราเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงนั้น 7.5 วินาที คือตัวเลขที่ทำได้
แต่ต้องอาศัยจังหวะพอสมควร อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ควรแตะระดับ
15 กิโลเมตร/ลิตร ได้แล้ว

ประการต่อมา งานออกแบบเส้นสายต่างๆ มันควรจะก้าวข้ามไปสู่อีกระดับ
ได้แล้ว เส้นสายที่ชวนให้ดูสงสัยว่า ตกลงนี่เป็น Subaru หรือ Peugeot รุ่น
ใหม่ๆ กันแน่ มันอาจโดนใจคนที่เลือกซื้อรถยนต์ด้วยเหตุผล อันเป็นกลุ่ม
ลูกค้าดั้งเดิมของ Subaru แต่มัยังไม่โดนใจกลุ่มลูกค้าที่ซื้อรถด้วย Emotion
เท่าที่ควร ภายในห้องโดยสาร เน้น Function การใช้งาน ดีอยู่หรอก แต่ยัง
ออกแบบมาเชยๆ ตามเดิม โดยเฉพาะงานออกแบบช่องแอร์ ที่ชวนให้นึก
ว่าเป็นรถเก๋ง หลงยุคจากต้นทศวรรษ 2000 หรือเปล่า

นอกนั้น ก็เหลือแค่ ออพชันบางอย่าง ซึ่งควรจะถูกติดตั้งมาให้ในเวอร์ชันไทย
กลับมีให้เฉพาะลูกค้าในประเทศอื่นๆ เช่น ช่องแอร์ สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง
เป็นต้น

รวมทั้งการออกแบบชายประตูด้านล่าง ให้ลดโอกาสที่ขากางเกงจะเลอโคลน
ขณะก้าวขึ้นลงจากรถ ในช่วงฤดูฝน ก็พอแล้ว ให้ลองดูตัวอย่างจาก Mazda
CX-5 เอาแล้วกัน ว่าเขาแก้ปัญหานี้ อย่างไร

2015_05_26_Subaru_Outback_06

อีกประการหนึ่งนั่นคือ  Outback ในเมืองไทย ไม่ได้มีคู่แข่งแบบชกกันตรงๆตัว
เพราะ Volvo V70XC ก็ไม่มีขายในบ้านเรา ส่วน Skoda Superb Kombi ราคาคันละ
2,099,000 บาท ก็ไม่ได้มีรุ่น ยกสูง สั่งเข้ามาจำหน่าย จึงทำให้ Outback ต้องอยู่แบบ
ไร้คู่แข่งตรงพิกัดอย่างชัดเจน

ดังนั้น ถึงแม้ว่า Subaru จะไม่ขึ้นราคาจากเดิม แปะป้ายไว้ที่ 2,590,000 บาท และมี
เพียงรุ่นย่อยเดียว เหมือนรุ่นเดิม ทำให้ตัวรถดูคุ้มค่าน่าซื้อแค่ไหน

แต่สำหรับคนไทย ราคาขนาดนี้ อาจสูงไปสักหน่อย เพราะงบประมาณในระดับ
เท่ากันนี้ ลูกค้ามักเลือกมองข้าม Subaru หันไปเล่นรถเก๋ง Sedan กลุ่ม Premium
Compact ทั้ง Mercedes-Benz C-Class หรือ BMW 3-Series แม้จะรู้ดีว่า ยังไงๆ
ตัวรถก็เล็กกว่า แถมความอเนกประสงค์ยังน้อยกว่า Outback

ช่วยไมได้จริงๆครับ คนไทยเรา ดันมีนิสัย สนใจแต่ภาพลักษณ์ หน้าตาของตนเอง
และครอบครัวในสังคม มากกว่าจะยอมเลือกในสิ่งที่ใจต้องการอย่างแท้จริง แถม
เวลาซื้อรถ แทนที่จะมองวัตถุประสงค์การใช้งาน ก่อนจะเลือกรถยนต์ให้ตรงกับ
ชีวิตประจำวัน แดันตั้งโจย์ไปก่อนว่า มีเงินเท่านี้ จะซื้อรถอะไรได้บ้าง แล้วค่อยมา
นั่งเลือกจากความสวยตามภาพที่เห็นในแค็ตตาล็อก หรือหนังโฆษณา

ถ้าเมื่อไหร่ที่คนไทย จำนวนมาก เปลี่ยนวิธีคิดแบบนี้ทิ้งไปได้ รถดีๆอย่าง Outback
ก็น่าจะมีที่ยืนในสังคมไทย ได้ดีกว่าทุกวันนี้

หรือคุณว่าไม่จริง?

————————–///—————————-

2015_05_26_Subaru_Outback_12

ขอขอบคุณ / Spacial Thanks to :

– คุณตะวัน คำฤทธิ์ และทีมฝ่ายการตลาด
บริษัท T.C. Subaru จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ
และการประสานงานต่างๆ อย่างดียิ่ง

–  Pan Paitoonpong และ Moo Cnoe สำหรับการเตรียมข้อมูล

——————————
บทความที่ควรอานเพิ่มเติม

ทดลองขับ Subaru Outback รุ่นปี 2011 คลิกที่นี่

——————————

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
(ภาพกราฟฟิค ภาพสเก็ตช์ต่างๆ เป็นลิขสิทธิ์ของ
Fuji Heavy Industries Ltd.)
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
6 มิถุนายน 2015

Copyright (c) 2015 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
June 5th,2015

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE