16 พฤศจิกายน 2019
22.45 น.

ระหว่างที่ผมกำลังพาเจ้า “มัสตาร์ดติดล้อ” (คันที่คุณเห็นอยู่ในรูปข้างล่างต่อจากนี้) วนไปรอบๆ ระบบทางด่วนของกรุงเทพมหานคร โดยมีเจ้า “โมจิเผือก” (อีกคันหนึ่งที่คุณก็จะได้เห็นในรูปข้างล่างต่อจากนี้อีกเช่นกันนั่นแหละ) แล่นปิดท้ายให้อยู่ไม่ห่าง

ในจังหวะที่ผมเข้าโค้งขวาที่จากช่วงก่อนขึ้นสะพานพระราม 9 (ย่านพระราม 3…ไม่งงนะ) เพื่อมุ่งหน้าไปทางฝั่งอุรุพงษ์ – พระราม 6 เมื่อลงจากเนินสูงนั่น เข็มความเร็ว แตะอยู่แถวๆ 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง…การจราจรโล่งๆ สบายๆ แทบไม่มีรถในจังหวะนั้น ผมอยู่เลนขวาสุด

จู่ๆ Mazda CX-3 ที่เราทั้ง 2 คันเพิ่งแซงไป ถึงขั้นชะงัก จากนั้น เขาก็กดคันเร่งเต็มตีน พุ่งมาจากฝั่งซ้าย เพื่อขึ้นมามองให้แน่ชัดว่า รถที่ผมเพิ่งขับแซงเขาไป เป็นรถอะไร…เขาขึ้นมาขนาบข้าง ขึ้นหน้าผมไปนิดเดียว เหลียวมองกระจังหน้า Advanced Dynamic Shield ที่ผมเดาว่า เขาต้องเพิ่งเคยเห็นจากภาพหลุด Spyshot ที่ Facebook หรือใน Group LINE ส่วนตัวของเขาแน่ๆ

พอเขาแน่ใจแล้วว่า มองไม่ผิดตัว…รู้แล้วว่าเป็นรถอะไร เขาก็ถอนเท้าขวาจากคันเร่ง ปล่อยให้ผมแซงขึ้นหน้าไปอย่างรวดเร็วตามเดิม ผมได้แต่สื่อสารผ่านระบบ Bluetooth Handsfree ของโทรศัพท์ ในชุดเครื่องเสียงของรถ กับ เติ้ง ซึ่งนั่งอยู่หลังพวงมาลัยของเจ้า โมจิเผือก ว่า “โอเค เขาคงได้คำตอบแล้วเนาะ ดีแล้วละที่ไม่ได้มาเล่นอะไรแผลงๆกับเราด้วย”

นั่นเป็น “สาธารณชน” เพียง “คนเดียว” ที่สงสัยว่า ไอ้รถสองคันเนี้ย…มันคือ Mirage กับ Attrage ใหม่ ใช่ไหม?

เพราะก่อนหน้านี้ ผู้คนจำนวนมาก ที่ไม่ได้สนใจเรื่องรถยนต์ เห็น ทั้ง 2 คันนี้ แล่นผ่านไปผ่านมา แถวๆ ย่านรัชโยธิน กับบางนา ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ เขาน่าจะไม่รู้กันหรอกว่า นี่คือรุ่นใหม่แล้วจริงๆนะ!!

แหงสิครับ…ทันทีที่ ทีมเว็บของเรา ไปรับรถคันนี้ออกมาจากอาคาร FYI สำนักงานใหญ่ของ Mitsubishi Motors ย่านคลองเตย เป็นรายแรกก่อนชาวบ้านชาวช่องเขาเลย เพื่อขับมาให้ทันเวลาที่ผมจะต้องถ่ายภาพนิ่ง 2 พี่น้องคู่นี้ ณ บางปู ก่อนที่พระอาทิตย์จะลาลับขอบฟ้า จนแสงแดดหายไปหมด ตลอดทางที่น้องๆในทีมผม ต้องขับรถมา แทบไม่มีใครสนใจในเส้นสายหน้าตาแบบใหม่ ของ 2 พี่น้องคู่นี้กันเลย!

หนักกว่านั้น ในวันเดียวกันนั้นเอง ผมต้องถ่ายภาพนิ่งของ Isuzu D-Max ใหม่ ควบคู่ไปด้วย ณ โลเกชันเดียวกัน คือ สถานตากอากาศบางปู ตามปกติแล้ว มักจะมีประชาชนทั่วไป มาเดิน วิ่ง หรือ ขี่จักรยาน เพื่อออกกำลังกาย กันที่นั่น หลัง บ่าย 4 โมงเย็น เป็นต้นไป บางที ผมก็เจอคุณผู้อ่านขาประจำของเรา หลายๆคน แวะมาทักทายระหว่างถ่ายรูปรถ เป็นเรื่องปกติ

ทว่า ความไม่ปกติของวันนั้นก็คือ…ลองนึกภาพตามนะครับ…เมื่อ Mirage กับ Attrage ตามมาถึง ก็ต้องจอดประกบอยู่กับ DMax ใหม่ สีน้ำเงิน เท่ากับว่า มีรถยนต์รุ่นใหม่ล่าสุด ซึ่งเปิดตัวแล้ว และกำลังจะเปิดตัว (ในตอนนั้น) จอดอยู่ด้วยกันถึง 3 คัน แต่บรรดาคุณลุงคุณป้า และหนุ่มๆสาวๆ ทั้งหลาย ที่วิ่งผ่านไปผ่านมา มีคนแวะหยุดพูดคุยกับผม ถามไถ่ถึง D-Max ใหม่ ว่า “นี่คือรุ่นใหม่ใช่ไหม” ถึง 4 คน! แต่ไม่มีใครถามถึง 2 ศรีพี่น้อง ป้ายแดง ที่จอดอยู่ใกล้ๆกัน นั่นเลย!!

ช่างอาภัพอับด๋อย อะไรเช่นเน้!!!!

หนักกว่านั้น เมื่อเจ้าเติ้ง กันตพงษ์ น้องในทีมของเรา นำรถกลับไปจอดที่บ้าน ย่านนนทบุรี คุณป้าข้างบ้าน ฉงนใจ ถึงขั้นถามขึ้นว่า “เติ้ง นี่มัน Mitsubishi ใช่ไหม เธอเอารถใหม่ ไปแปลงหน้า มาเหรอ?? มันไม่ผิดกฎหมายเหรอ? ”

ผมนี่ ได้แต่หัวร่องอหาย แกมสงสาร พาลอยากจะบอกทุกท่านเหลือเกินว่า

“เดี๋ยวก่อน อย่าเพิ่งมองข้าม 2 พี่น้อง ECO Car คู่นี้กันไปแบบนี้สิ!”

ทำไมช่วงนี้ จู่ๆ บรรดา ECO Car ถึงเปิดตัวกันเยอะจัง?
แล้วทำไม Mitsubishi Motors ต้องส่ง Mirage & Attrage ใหม่ มาเปิดตัวร่วมผสมโรงกับชาวบ้านเขาในตอนนี้ด้วย?

สงสัยอยู่ใช่ไหมครับ? คำตอบหนะ มันมี และจำเป็นเสียด้วยที่ทุกค่ายจะต้องเปิดตัวในช่วงนี้เท่านั้น

เพราะปลายปี 2019 เป็นช่วงเวลา ที่บรรดาผู้ผลิตรถยนต์ ชั้นนำในเมืองไทย ซึ่งเคยได้ยื่นขอรับสิทธิพิเศษจาก BOI (Board Of Investment) ของรัฐบาลไทย ในการส่งเสริมการลงทุนโครงการผลิตรถยนต์นั่ง ECO Car Phase 2 จะต้องเร่ง เปิดตัวรถยนต์ของตน ที่จะเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ออกสู่ตลาดให้ทันก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2019 มิเช่นนั้น อาจต้องเสียค่าปรับเป็นมูลค่ามหาศาล นั่นจึงเป็นเหตุให้ คุณผู้อ่าน ได้เห็นรถยนต์นั่งรุ่นใหม่ๆ ในกลุ่ม B-Segment ECO Car ยกโขยงเดินขบวนพาเหรด เปิดตัวออกสู่ตลาดกันอย่างคึกคัก ต่อเนื่องตลอดทั้งเดือนพฤศจิกายน 2019

ในบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ที่เข้าร่วมโครงการ ECO Car Phase 2 ซึ่งมีผู้เล่นด้วยกันทั้งหมด 6 ราย Nissan ดูเหมือนจะชิงความได้เปรียบด้วยการ ส่ง Nissan Almera ใหม่ พร้อมเครื่องยนต์ใหม่ Downsizing 3 สูบ 1.0 ลิตร Turbo 100 แรงม้า (PS) ออกมาสร้างความฮือฮา ด้วยฟังก์ชันเต็มคัน แต่ราคาถูกกว่าที่คิด ขณะเดียวกัน Honda ก็ตัดสินใจ นำ City Sedan รุ่นขายดีที่สุดในกลุ่ม B-Segment 1.5 ลิตร มาร่วมกระโจนสู่ตลาดกลุ่ม B-Segment ECO Car ด้วยการนำขุมพลังใหม่ Downsizing 3 สูบ 1.0 ลิตร Turbo 122 แรงม้า (PS) มาวางลงในรุ่นเปลี่ยนโฉมใหม่ Generation ที่ 5 ของ City เปิดตัวตามมาในระยะเวลาห่างกันเพียงสัปดาห์เดียว โดยปล่อย Brio และ Brio Amaze ให้ยืนเหี่ยวเฉาในโชว์รูมไปทั้งอย่างนั้น

ส่วนค่ายอื่น อย่าง Toyota ก็ส่งเครื่องยนต์ใหม่ เบนซิน 4 สูบ 1.2 ลิตร 92 แรงม้า (PS) มาวางให้กับ Yaris ATIV พร้อมเพิ่มรุ่น GT Package กับ ขณะเดียวกัน Mazda ก็เปิดตัว Mazda 2 Minorchange ซึ่งก็หรูหราหมาเห่าเพิ่มขึ้นไปอีก หรือแม้แต่ Suzuki ก็ยังมี Swift GL Sport นำรุ่นย่อย GL มาเพิ่มอุปกรณ์ เพิ่มความคุ้มค่าให้ลูกค้ากันไป

ดังนั้น ถ้า ค่าย Three Diamond จะนิ่งเฉย ไม่ทำอะไรเลย ผู้คนก็คงหลงลืมไปว่า พวกเขาก็มี ECO Car อยู่ในมือกับเขาด้วย แน่นอน พวกเขาใช้เวลาเตรียมตัวล่วงหน้าอยู่เป็นปีเหมือนกัน กว่าที่จะเข็นรุ่น Minorchange ของ Mirage กับ Attrage ออกมาให้คุณเห็นกันอยางนี้

ว่าแต่…ทำไมต้องเป็น Minorchange? นี่รอบ 2 แล้วนะ? กะจะลากขายกันเป็น Mirage แซยิด กับ Attrage แซยิด แข่งกันกับ Mitsubishi Lancer CHAMP ในอดีต เลยหรือยังไง ไม่คิดจะเปลี่ยนโฉมใหม่ Full Mode lchange แข่งกับ Honda City หรือ ญาติร่วมเครือ อย่าง Nissan Almera Turbo เลยหรือยังไง?

ผมไม่ทราบเหตุผลแน่ชัด ว่าทำไม แต่ก็พอเดาได้ว่า ในเมื่อ แทบทุกคนในอุตสาหกรรมยานยนต์เมืองไทย รู้อยู่แล้วว่า ยังไงๆ ทุกค่ายต้องเปิดตัว ECO Car Phase 2 รุ่นใหม่ ก่อนสิ้นปี 2019 แต่ Mitsubishi Motors เอง ยังไม่พร้อมที่จะพัฒนารุ่นเปลี่ยนโฉมใหม่ทั้งคัน Full Modelchange ของ Mirage กับ Attrage ออกมาให้เสร็จทันช่วงเวลาดังกล่าวแน่ๆ

ความไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนโฉมใหม่ Full Modelchange ในตอนนี้ อาจเป็นไปได้ว่า ไม่ใช่แค่เหตุผลเพียงเพราะ อยากจะลากอายุตลาดรถยนต์รุ่นปัจจุบัน ต่อไปอีกสัก 2-3 ปี ให้คุ้มต่อค่าพัฒนาและออกแบบ มากกว่านี้สักหน่อย หรือคิดว่า แค่ปรับเปลี่ยนหน้าตาแบบ Minorchange ก็พอจะรับมือคู่แข่งได้แล้ว นั่นหรอก

แต่ประเด็นนี้ ต้องมองกันให้ลึกลงไป จากที่ผมวิเคราะห์ด้วยข้อมูลและประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของพวกเขา พอจะ “คาดเดา” ได้ว่า ขณะที่คุณกำลังอ่านบทความนี้อยู่ ทีม Designer ของ Mitsubishi Motors นำโดย Mr.Tsunehiro Kunimoto , Corporate Vice President ,Design Division หรือพูดง่ายๆก็คือ Chief Designer ของค่าย น่าจะกำลังพัฒนา Theme Design แบบใหม่ ซึ่งจะต่อยอดจาก Theme “Advanced Dynamic Shield” ซึ่งเปิดตัวครั้งแรก มาตั้งแต่ Mitsubishi Outlander รุ่นปี 2016 ในงาน New York Auto Show เดือนเมษายน 2015 ตามด้วย Mitsubishi Pajero Sport ในเมืองไทย เมื่อเดือนสิงหาคม 2015 กันอยู่

ขณะเดียวกัน Mirage กับ Attrage คือ 2 พี่น้องรุ่นสุดท้าย ที่ยังไม่เคยสวมงานออกแบบ “Advanced Dynamic Shield” นี้มาก่อนเลย จึงจำเป็นต้องนำหน้าตาแบบดังกล่าวนี้ มาสวมให้กับ 2 ศรีพี่น้อง ขายกันต่อเนื่องไปก่อนอีกสักระยะ จนกว่า Theme Design ใหม่ จะพัฒนากันเสร็จ และน่าจะเริ่มทะยอยเผยโฉม ลงในรถยนต์ Mitsubishi รุ่นใหม่ๆ เริ่มจาก Outlander Full Modelchange ในปีหน้า เรียงร้อยต่อกันไปจนถึง Triton Full Modelchange ในปี 2024 (ซึ่งจะกลายมาเป็นฝาแฝดคู่กับ Nissan Navara Next Generation ที่จะต้องคลอดในช่วงเวลาใกล้ๆกันนั้นเอง)

เมื่อถึงเวลานั้น เราจึงน่าจะได้เห็น Full Modelchange ของ Mirage และ Attrage กันได้ ในช่วง 3 ปี นับจากนี้

ดังนั้น ในระหว่างนี้ ถ้าขืนจะทนลากขาย Mirage กับ Attrage ด้วยหน้าตาเดิมๆ ไปอีก 3-4 ปี ก็คงสู้กับใครเขาไม่ได้ ยอดขายน่าจะหายหดหมดรูป ก็เลยจำเป็นต้องกระตุ้นตลาดรอบใหม่ ด้วยการปรับโฉม Minorchange จนมีหน้าตาของรถที่เปลี่ยนแปลงไปพอสมควร อย่างที่เห็นกันอยู่นี้

Mirage ใหม่ มีความยาว 3,845 มิลลิเมตร กว้าง 1,665 มิลลิเมตร สูง 1,505 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,450 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า 1,430 มิลลิเมตร คู่หลัง 1,415 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวรถโดยประมาณ มีตั้งแต่ 858 – 911 กิโลกรัม ตามแต่ละรุ่นย่อย

ส่วน Attrage ใหม่ มีความยาว 4,305 มิลลิเมตร กว้าง 1,670 มิลลิเมตร สูง 1,515 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,550 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า 1,430 มิลลิเมตร คู่หลัง 1,415 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวรถโดยประมาณ มีตั้งแต่ 858 – 911 กิโลกรัม ตามแต่ละรุ่นย่อย

ถ้าเปรียบเทียบกับคู่แข่งในตลาดกลุ่ม B-Segment ทั้งพิกัด ECO-Car 1.0 – 1.3 ลิตร และ กลุ่มปกติ 1.5 ลิตร แล้ว กลายเป็นว่า Mirage กับ Attrage มีตัวถังเล็กกว่าชาวบ้านเขาแทบทั้งหมด ใหญ่กว่าแค่เพียง Honda Brio และ Brio Amaze เท่านั้น

ด้านหน้ารถ ถูกออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมด โดยทีม Designer  นำ Theme การออกแบบ Advanced ‘Dynamic Shield’ มาใช้กับ 2 พี่น้องคู่นี้ด้วย โดยรายละเอียดความเปลี่ยนแปลงด้านหน้ารถ มีดังนี้

  • ฝากระโปรงหน้าแบบใหม่
  • ทุกรุ่น เปลี่ยนมาใช้กระจังหน้าสีดำ แบบใหม่ แต่เฉพาะ Mirage กับ Attrage รุ่น GLS , GLS Ltd. จะตกแต่งด้วยเส้นสีแดง (นัยว่าจะให้อารมณ์สปอร์ตเพิ่มขึ้น ทั้งที่จริงๆแล้ว ผมว่าไม่ควรใส่มาให้เลย มันดูเป็นความพยายามที่จะชวนให้นึกถึง Volkswagen Golf GTi มากไปนิด)
  • เปลือกกันชนหน้าแบบใหม่
  • ชุดไฟหน้า Projector Lens แบบ Bi-LED พร้อมไฟ Daytime Running Light ออกแบบใหม่
  • ชุดไฟตัดหมอกแบบใหม่
  • กระจกมองข้าง พร้อมไฟเลี้ยวในตัว ปรับและพับได้ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า

ส่วนด้านหลัง ของทุกรุ่นยังคงใช้ชิ้นส่วนตัวถังแบบเดิม แต่เปลี่ยนชุดไฟท้ายใหม่แบบ LED พร้อมกับ เปลือกกันชนหลังแบบใหม่ ทุกรุ่น มีไล่ฝ้าหลังมาให้ และสำหรับ Mirage จะเพิ่มสปอยเลอร์หลัง เหนือฝาท้าย มาให้อีกเป็นพิเศษ รวมทั้งใบปัดน้ำฝนและหัวฉีดน้ำสำหรับกระจกบังลมหลัง

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีล้ออัลลอยดีไซน์ใหม่ขนาด 15 นิ้ว ที่ถูกออกแบบมาให้แตกต่างกันตามบุคลิกของ Mirage กับ Attrage ที่แตกต่างกัน โดย Mirage จะสวมล้ออัลลอยปัดเงา 15 นิ้ว เข้ากับยาง Bridgestone Potenza RE050A ขนาด 175/55 R15 ส่วน Attrage มาพร้อมล้ออัลลอยลายใหม่ สีขาว สวมด้วยยาง Yokohama BluEarth 185/55R15 ขณะที่ Mirage GLX เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ กับเกียร์ CVT และ Attrage GLX เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ จะได้ล้อกระทะเหล็ก 14 นิ้ว พร้อมยางขนาด 165/65 R14 และรุ่น Attrage GLX CVT เป็นรุ่นเดียวที่จะสวม ล้ออัลลอยขนาด 14 นิ้ว พร้อมยางขนาด 175/65R14

Mirage ใหม่ จะมีสีตัวถังใหม่ให้เลือกเพิ่มเข้ามา 2 สีใหม่ ได้แก่ สีขาว White Diamond และสีเหลือง Sand Yellow ขณะที่ Attrage จะเพิ่มสีขาว White Diamond เข้ามาให้เลือกเพียงอยางเดียว

จริงอยู่ว่า เรื่องรูปลักษณ์ภายนอก สวยหรือไม่ มันเป็นเรื่องนานาจิตตัง ต่างคน ยลตามช่อง ไม่มีข้อสรุปใดๆได้ชัดเจนแน่นอน แต่ ถ้าถามความคิดเห็นผม ว่า มองงานออกแบบของ 2 พี่น้องคู่นี้ อย่างไรบ้าง? ผมก็คงตอบกันแบบไม่อ้อมคอมเลยละครับว่า ด้านหน้าของรถ มันดูโฉบเฉี่ยว สวยงาม ร่วมสมัยมาก แต่เมื่อมารวมเข้ากับตัวถังที่ถูกออกแบบไว้ตั้งแต่ปี 2010 และออกสู่ตลาดมาตั้งแต่ช่วงปี 2012 – 2013 แล้ว มันช่างดูขัดแย้งกันมาก หากเป็น Mirage นั้น ความขัดแย้งระหว่างหน้ารถ กับหลังรถ ยังไม่มากเท่าไหร่ พอกล้อมแกล้มได้อยู่ ถือว่าด้านหน้าแบบใหม่ ทำให้ตัวรถดูทันสมัยมากขึ้น

แต่พอเป็น Attrage กลับกลายเป็นว่า บั้นท้ายที่ถูกสร้างขึ้น บนพื้นฐาน ของการนำรถยนต์ Hatchback 5 ประตูมาเป็นตัวตั้ง แล้วลากตัวถังออกไปให้ยาว ซึ่งมันพอจะไปได้กับไฟหน้าและกระจังหน้าแบบดั้งเดิม เมื่อมารวมเข้ากับด้านหน้ารถแบบ Advanced Dynamic Shield แล้ว กลายเป็นว่า ไม่ลงตัว ดูขัดสายตา และผมยังยืนยันว่า หน้าตาของรุ่นเดิม เมื่อมารวมกับบั้นท้ายแบบ Sedan แล้ว มันดูลงตัวกว่า รุ่นใหม่นี้

ระบบล็อกประตู ยังคงเหมือนเดิม รุ่น GLX จะยังคงเป็น กุญแจพร้อมสวิตช์ Remote สั่งล็อก-ปลดล็อกได้ในตัว ส่วนรุ่น GLS และ GLS Ltd. ยังคงเป็น กุญแจ Remote Control แบบ KOS (Keyless Operation System) พร้อมระบบกุญแจนิรภัย Immobilizer

วิธีใช้งาน เหมือนเดิม แค่พกรีโมทกุญแจนี้ไว้กับตัว เดินเข้าใกล้บานประตูฝั่งคนขับ หรือฝากระโปรงหลัง ในระยะรัศมี 70 เซนติเมตร ก็สามารถ กดปุ่ม สั่งล็อก หรือปลดล็อกเปิดประตูบานใดก็ตามได้เลย หรือถ้าจะล็อกรถ เมื่อปิดประตูแล้ว ก็กดปุ่มสั่งล็อก ที่บานประตูทั้งคู่ ก็ได้เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังมีฟังก์ชันพิเศษเฉพาะบนกุญแจ Remote ของ Attrage เท่านั้น คือ มีสวิตช์สั่งปลดล็อก และเปิดฝากระโปรงหลัง

ในกรณีที่แบ็ตเตอรีของรีโมทหมด ยังสามารถ ถอดลูกกุญแจในตัวรีโมท ออกมาไขเปิดประตูฝั่งผู้โดยสาร ด้านซ้าย ได้ หมุนซ้ายครั้งขวาครั้ง เป็นอันปลดล็อก เมื่อเข้าไปนั่งในรถได้แล้ว ก็ควรจะเอารีโมท KOS เสียบไว้ในช่องเสียบ ใต้แผงหน้าปัด เหนือช่องวางแก้ว ตรงกลาง และถ้าลืมกุญแจในรถ เมื่อปิดประตู รถจะส่งเสียงเตือนออกมาเอง

ประเด็นแรกที่ยังอยากเห็นการปรับปรุงกันต่อไป ก็คือ มือจับเปิดประตู จริงอยู่ว่า มือจับแบบงัดขึ้น มันก็ยังคงใช้งานได้ดี ประหยัดต้นทุน และแพร่หลายกันมานานแล้ว แต่ในขณะที่ชาวบ้านชาวช่อง เขาเปลี่ยนไปใช้แบบ มือจับดึงเข้าหาตัวกันหมดแล้ว ทั้งที่ Mitsubishi Motors ก็ยังคงยืนหยัดใช้มือเปิดประตู แบบ Original กันต่อไป สงสัยว่า กว่าจะเปลี่ยนมือจับให้เหมือนสากลโลกเขา คงต้องรอรุ่นต่อไปในอีก 3 ปีขึ้นไป กันแน่ๆเลย

การเข้า – ออกจากบานประตูคู่หน้า ของทั้ง 2 รุ่น ยังคงทำได้สบาย สมขนาดตัวรถอยู่เหมือนเดิม ข้อดีก็คือ การติดตั้งตำแหน่งเบาะคู่หน้า ให้สูงจากพื้นรถและพื้นถนน ในระดับที่เหมาะสม ช่วยให้การก้าวเข้า – ออกจากรถ ยังคงสะดวกง่ายดาย เหมือนเดิม ไม่ต้องออกแรงยันรางเพื่อลุกออกมาจากรถมากนัก

แผงประตูด้านข้าง ยังคงมีหน้าตาเหมือนเดิม แต่ปรับเปลี่ยนให้มีพื้นผิวพลาสติก กัดขึ้นรูปเป็นลวดลาย Carbon Fiber หลอกๆ พอจะให้ดูแตกต่างจากรุ่นเดิมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม พนักวางแขนก็ยังคงเตี้ยไปนิดนึงตามเคยอยู่ดี การวางแขน จึงอาจจะทำได้แค่ท่อนแขน และไม่อาจวางข้อศอกได้เต็มที่นัก

ส่วนการเข้า – ออก จากบานประตูคู่หลัง นั้น ก็ยังคงต้องทำใจ เพราะในตอนนี้ ช่องทางเข้า – ออก รวมทั้งบานประตูคู่หลังของ Mirage ครองตำแหน่ง เล็กที่สุดในกลุ่ม B-Segment Hatchback ไปครองเรียบร้อยแล้ว ยังดีที่ กระจกหน้าต่าง สามารถเลื่อนเปิดลงได้จนสุดของแผงประตู

แผงประตูด้านข้าง มีพนักวางแขนขนาดเล็ก ปรับเปลี่ยนให้มีพื้นผิวพลาสติก กัดขึ้นรูปเป็นลวดลาย Carbon Fiber หลอกๆ เช่นเดียวกับแผงประตูคู่หน้า ถือว่าพอจะวางแขนได้ แต่ ไม่ดีนัก เนื่องจาก ตำแหน่งพื้นที่วางแขน ค่อนข้างสั้นไปหน่อย ส่วนมือจับศาสดาเหนือบานประตูบริเวณเพดานหลังคา สำหรับยึดเหนี่ยวจิตใจ มีมาให้ครบทุกรุ่นแล้ว ซะที

ทางด้าน Attrage นั้น แน่นอนว่า ด้วยรูปแบบตัวรถที่เป็น Sedan ดังนั้น บานประตูคู่หลังจึงมีขนาดใหญ่กว่า Mirage ชัดเจน ทำให้มีพื้นที่สำหรับการลุก เข้า -ออก เพิ่มมากขึ้น คนตัวใหญ่อย่างผม สามารถลุกเข้า – ออก ได้อย่างสะดวกสบายขึ้นกว่าเดิม ใกล้เคียงกับ คู่แข่งอย่าง Nissan Almera รุ่นแรก การก้มหัว เข้า – ออกจากประตูคู่หลังนั้น ทำได้ง่าย และไม่ต้องเสี่ยงต่อการเจอปัญหาหัวชนขอบกรอบประตูด้านบน อย่างที่เจอในรถยนต์ Sedan พิกัดเดียวกัน หลายรุ่น

แผงประตูด้านข้าง ออกแบบในสไตล์เดียวกัน กับแผงประตูคู่หน้า กระจกหน้าต่าง เปิด – ปิด ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า ทุกรุ่น สามารถเลื่อนขึ้น – ลงได้จนสุดขอบล่าง พนักวางแขน พร้อมช่องมือจับดึงประตูปิดในตัว สามารถวางท่อนแขนได้สบายพอดีเป๊ะ

เบาะนั่งของ Mirage และ Attrage ทุกรุ่นย่อย ยังหุ้มด้วยผ้าแบบปกติ แต่สำหรับรุ่น Mirage GLS Ltd. นั้น จะเปลี่ยนไปใช้ วัสดุหุ้มเบาะเป็นหนังสังเคราะห์ สีดำ ตัดสลับกับผ้า ลาย Scotch ออกแบบขึ้นมาใหม่ ดูร่วมสมัย และให้บรรยากาศชวนให้นึกถึงรถยุโรปยุค 1990 อยู่นิดหน่อยเหมือนกัน ในขณะที่ เบาะนั่งของ Atrage GLS Ltd. จะเปลี่ยนไปใช้หนังสังเคราะห์ล้วนๆ สีดำ ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนวัสดุหนังใหม่ ให้เนียนมือยามสัมผัส ใกล้เคียงกับรถยนต์ระดับ Premium มากขึ้น มากขึ้น

เบาะคู่หน้า นอกจากจะปรับเอนและเลื่อนขึ้นหน้า-ถอยหลังได้ตามปกติแล้ว เฉพาะเบาะคนขับของทุกรุ่น ยังสามารถปรับองศาของเบาะรองนั่งได้ ว่าจะให้ ขอบเบาะมีมุมเงยมาก ให้บั้นท้ายผู้ขับขี่นั่งจมลงไปมากน้อยแค่ไหน ก็เลือกได้ด้วยการปรับตำแหน่งที่มือหมุน ด้านข้างเบาะรองนั่งฝั่งขวา

ในเมื่อโครงสร้างเบาะ ยังมีหน้าตาเหมือนเดิม ฉะนั้น สัมผัสจากเบาะนั่ง ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ยังคงเหมือนรถรุ่นเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งด้านหน้า และด้านหลัง

สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือ พนักวางแขน แบบพับเก็บได้ ติดตั้งที่ด้านข้างเบาะคนขับ ซึ่งสามารถเลือกล็อกตำแหน่งตัวพนักได้ตามต้องการ สามารถวางแขนในตำแหน่งตั้งฉากกับพื้นโลก ได้สบายพอดี จนถึงข้อศอก ติดตั้งมาให้กับ Mirage และ Attrage เกียร์อัตโนมัติ ทุกรุ่นย่อย แต่จะไม่มีในรุ่น GLX เกียร์ธรรมดา

พนักพิงหลัง ยังคงพอจะให้ความสบายได้อยู่ ปีกข้างขนาดเล็กที่เสริมเข้ามา ถ้าคุณเป็นคนตัวเล็ก ผอมบาง นี่คือเบาะที่จะถูกโฉลกกับคุณเอาเรื่อง ส่วนคนตัวใหญ่อย่างผม ก็พอนั่งได้ ไม่มีปัญหา ที่สำคัญคือ นั่งนานๆ ก็ไม่ปวดหลัง

ส่วนพนักศีรษะ ยังคงเหมือนเดิม คือ ถูกออกแบบให้โป่งนูนออกมา รองรับกับส่วนต้นคอและท้ายทอย ได้พอดี เสริมฟองน้ำด้านในนุ่มปานกลาง ออกจะเริ่มแข็งหน่อยๆ ขณะเดียวกัน เบาะรองนั่ง มีขนาดและความยาวเท่ากับรุ่นเดิม และยาวพอกันกับ ECO Car จากญี่ปุ่นคันอื่นๆ คือ ไม่ได้ยาวจนขอบเบาะชนกับข้อพับด้านหลัง แต่นั่งเดินทางไกลได้อยู่เพียงแต่ว่า ฟองน้ำ ทั้งเบาะรองนั่ง และพนักพิงหลัง ที่เคยนิ่ม จะแอบเฟิร์มขึ้นมานิดนึง ต้องสังเกตจึงจะสัมผัสได้

เข็มขัดนิรภัยคู่หน้า เป็นแบบ ELR 3 จุด พร้อมระบบลดแรงปะทะและดึงกลับอัตโนมัติ Pre-tensioner & Load Limiter ปรับระดับสูง – ต่ำ ได้

เบาะนั่งแถวหลัง ของ Mirage และ Attrage ถูกติดตั้งในตำแหน่งที่เตี้ยกว่ารถยนต์ทั่วไป โดยพนักพิงเบาะของ Mirage มีหน้าตาเหมือนเดิม แต่ต่างกันที่วัสดุ ฟองน้ำ ซึ่งดูเหมือนว่า จะหนาขึ้นนิดนึง ขณะที่พนักพิงหลังของ Attrage เหมือนเดิมเป๊ะ นั่นแปลว่า พนักพิงเบาะหลังของ Mirage ยังคงสามารถแยกพับได้ทัั้งฝั่งซ้าย – ขวา ในอัตราส่วน 60 : 40 ตามเดิม

การพับเบาะแถวหลังนั้น คุณต้องเดินไปเปิดฝาประตูห้องเก็บของด้านหลังเสียก่อน แล้วมองไปที่ด้านหลัง ของพนักพิงเบาะ จะเห็นมีเชือกแบบห่วง ผูกเอาไว้ที่ด้านหลังพนักพิงให้ดึงเพื่อปลดล็อก แล้วก็พับพนักพิงลงไปได้เลยทันที เมื่อพับแล้ว ก็จะมีหน้าตาแบบในรูปนี้ ไม่ได้แบนราบลงไปกับพื้นห้องโดยสารแต่อย่างใด ที่สำคัญ เบาะหลังของ Mirage แยกพับแบบนี้ ได้ครบแทบทุกรุ่นย่อย แต่ในทางกลับกัน พนักพิงหลังของ Attrage ไม่สามารถพับทะลุไปยังห้องเก็บของด้านหลังได้เลย

นอกจากนี้ ยังมีพนักวางแขนพับเก็บได้ มีช่องวางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง ในตัว ซึ่งอาจจะวางแขนได้ แต่จะเอาข้อศอกวางยันลงไป ก็ยังไม่ถึงกับพอดีนัก เตี้ยไปเพียงเศษเสี้ยวมิลลิเมตร เท่านั้นเลย

พนักศีรษะด้านหลัง ของทั้ง 2 รุ่น จากเดิมที่มีอยู่เพียงฝั่งซ้ายและขวา รวม 2 ตำแหน่ง หลังจากการปรับโฉม Minorchange จึงมีพนักศีรษะสำหรับผู้โดยสารตรงกลาง เพิ่มเข้ามาให้อีก 1 ตำแหน่ง กระนั้น มันก็ยังมีหน้าตาเหมือนเดิม ต้องยกขึ้นมาใช้งาน จึงจะรองรับศีรษะของคุณได้ดีในระดับหนึ่ง ส่วนพื้นที่วางขานั้น มีเหลือประมาณ 1 กำปั้น ถ้าคุณถอยเบาะหน้าร่นลงมาจนสุด

เบาะรองนั่งด้านหลังของ Mirage มีการปรับเปลี่ยนแนวตะเข็บ และแนวยุบตัวของเบาะ กระนั้น มันยังมีขนาดเล็ก สั้น และค่อนข้างแบน เหมือนรุ่นเดิมเป๊ะ ผู้โดยสารตัวเล็ก ยังไม่ค่อยมีปัญหามากนัก แต่ถ้าเป็นคนตัวสูง ยังไงๆก็คงต้องนั่งชันขา ไปตลอดทางตามเคย อยู่ดี

ส่วนเบาะรองนั่งด้านหลัง ของ Attrage ยาวกว่า Mirage และนั่งสบายกว่าชัดเจน แถมมีฟองน้ำที่หนานุ่มกว่ากันเยอะ ถ้าคนที่มีช่วงขาสั้น อย่างผู้เขียน ยิ่งไม่มีปัญหาเลย นั่งได้ชิดพอดีกับช่วงขา แต่ถ้าคนที่มีช่วงขายาว อาจพบว่า เบาะรองนั่ง สั้นไปเพียงนิดเดียว ซึ่งก็ต้องทำใจว่า รถยนต์นั่งที่มีห้องโดยสาร ขนาดเท่านี้ ความยาวของเบาะรองนั่ง คงต้องยาวได้เพียงเท่านี้

พื้นที่เหนือศีรษะ Headroom ของ Mirage นั้น หากนั่งแบบแนบก้นชิดกับพนักพิงหลัง สำหรับผม ยังพอมีเหลือ ในระดับที่คุณคาดหวังได้จากรถยนต์ Hatchback ท้ายตัดทั่วไป คือราวๆ นิ้วมือในแนวนอน ส่วนพื้นที่วางขา Legroom เหลือน้อยมาก แค่เพียง 1 กำปั้น กั้นระหว่างหัวเข่า กับด้านหลังของพนักพิงเบาะคู่หน้า

แต่สำหรับ Attrage แล้ว หากนั่ง แบบเดียวกันจะเหลือ พื้นที่เหนือศีรษะ Headroom น้อยมาก คือแค่เพียงเศษเสี้ยวเส้นผม ขาดเพียงราวๆ 1 เซ็นติเมตร หนังศีรษะของผม (สูง 171 เซ็นติเมตร) ก็จะชนเพดานหลังคาแล้ว นั่นถือว่ายังดี เมื่อเทียบกับ Nissan Almera ใหม่ หรือ Toyota Yaris ATIV ซึ่งหัวของผม ชนติดกับเพดานหลังคากันเลย แต่พื้นที่ Legroom จะกลับตรงข้ามกัน คือใหญ่พอให้นั่งไขว่ห้างได้ ใกล้เคียงกับ Nissan Almera รุ่นเก่า เลยทีเดียว

เข็มขัดนิรภัย สำหรับเบาะหลังของทั้ง 2 รุ่น เป็นแบบ ELR 3 จุด ให้มาครบ 3 ตำแหน่ง

ห้องเก็บสัมภาระด้านหลังของ Mirage ยังคงเหมือนเดิม มีช็อกอัพไฮโดรลิก ค้ำยันฝาท้ายมาให้ 2 ต้น สามารถเปิดยกขึ้นไปได้สูงโดยไม่ต้องกังวลว่าจะติดศีรษะ มีมือจับดึงปิดลงมาซ่อนไว้ให้ ฝาท้ายใช้กลอนไฟฟ้า แต่ไม่มีก้านดึงเปิดฝาประตูหลัง จากในห้องโดยสารมาให้ หากต้องการเก็บของไว้หลังรถ คุณต้องลงจากรถ มาเปิดบานประตูหลังยกขึ้นด้วยตัวเอง นอกจากนี้ ยังมีไล่ฝ้าที่กระจกบังลมหลัง ใบปัดน้ำฝน พร้อมหัวฉีดน้ำล้างกระจกมาให้ทุกรุ่นย่อย

ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง มีขนาดความจุ 235 ลิตร เมื่อยังไม่ได้พับเบาะลงมา มีแผงบังสัมภาระ ทำจากวัสดุ Recycle ไว้:ซ่อนข้าวของ จากสายตาของผู้คนภายนอก สามารถยกถอดเก็บออกได้ หรือจะใช้เชือกเส้นเล็กๆ ที่ติดมาให้ เกี่ยวไว้กับ ขอยึดบริเวณบานประตูหลัง เพื่อให้ยกขึ้นพร้อมกันตอนเปิดฝาประตูห้องเก็บของก็ได้

และเมื่อยกพื้นห้องเก็บของขึ้นมา จะพบว่า มีถาดหลุมสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ไว้สำหรับใส่ของเปียก หรืออาหารที่มีน้ำ-ของเหลว เมื่อยกถาดขึ้น ก็จะเป็นพรมปูพื้นอีกชั้น ก่อนจะถึงหลุมใส่ยางอะไหล่ พอมาถึงรุ่นใหม่นี้ ทางโรงงาน ถอดยางอะไหล่ออกไปแล้ว เหลือไว้แค่เพียง ถาดหลุมสีดำ พร้อมเครื่องมือประจำรถ เช่นประแจ ขันน็อตล้อ ตะขอเหล็ก และ ตะขอลากรถ ส่วนแม่แรงยกรถ รวมทั้ง ชุดปะยางฉุกเฉิน และเครื่องสูบลมอัตโนมัติ เสียบชาร์จกับปลั๊กไฟในรถ มาให้ แค่นั้น

ส่วนห้องเก็บสัมภาระด้านหลังของ Attrage นั้น แน่นอนว่า มีขนาดใหญ่โตกว่า Mirage ชัดเจนแบบไม่ต้องสืบ การเปิดฝาท้าย ห้องเก็บของด้านหลัง ทุกรุ่น ทำได้ทั้งการ ดึงคันโยกเล็กๆ ติดตั้ง ไว้บนพื้นรถ ฝั่งคนขับ ร่วมกับ คันโยกเปิดฝาถังน้ำมัน ดึงก้านโยกเล็กๆนั้นยกขึ้นแล้วปล่อยมือ หรือกดปุ่มปลดล็อกบนกุญแจรีโมท KOS ก็ได้

ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง มีความจุ 450 ลิตร ตามมาตรฐาน VDA เยอรมัน ถึงจะใหญ่กว่า พื้นที่ของ Brio AMAZE (420 ลิตร VDA) แต่ก็ยังเล็กกว่า พื้นที่ของ Almera (490 ลิตร VDA) กระนั้น ยังถือว่ามีขนาดใหญ่พอจะใส่จักรยานแบบพับได้ 1 คัน สบายๆ แถมยังมีพื้นที่เหลืออีกกว่า 2 ใน 3 ด้วยซ้ำ

เมื่อยกพื้นห้องเก็บของขึ้นมา คุณก็จะไม่พบยางอะไหล่ขนาดเล็ก อีกต่อไป  เพราะทางโรงงาน แถมมาให้แค่ เครื่องมือประจำรถ เพียงแค่นั้น เช่นเดียวกับ Mirage เป๊ะ!

แผงหน้าปัด ยกชุดมาจาก Mirage และ Attrage รุ่นเดิมทั้งยวง แบบไม่ต้องคิดมาก แผงควบคุมตรงกลางยังคงประดับด้วย Trim พลาสติก พื้นผิวสีดำมันเงาแบบ Piano Black (ซึ่งพร้อมจะเป็นรอยขนแมวได้ง่ายๆ) ตามเดิม แม้ว่าจะมีข้อดีในเรื่องความสะดวกในการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ตำแหน่งการจัดวางสวิตช์ ถือว่า สะดวก ใช้งานได้ดี ขนาดของปุ่ม ใหญ่โตกำลังเหมาะแต่คงจะดีกว่านี้ ถ้ามีการออกแบบแผงหน้าปัดแบบใหม่ขึ้นมาใช้แทนแผงหน้าปัดชุดปัจจุบันที่เห็นอยู่นี้

มองขึ้นไปบนเพดาน แผงบังแดดมีขนาดใหญ่ จนบังกระจกบังลมหน้าเกือบมิดถ้าคุณ ตัวสูง และดึงลงมาใช้งานจริง รุ่น GLS และ GLS Limited จะมีกระจกแต่งหน้ามาให้ ทั้ง 2 ฝั่ง แต่รุ่น GLX จะมีกระจกแต่งหน้ามาให้เฉพาะฝั่งคนขับ เท่านั้น

ไฟส่องสว่างภายในห้องโดยสาร ก็ยังคงมีอยู่ในตำแหน่งเดียว คือ ตรงกลางระหว่าง แผงบังแดดทั้ง 2 ฝั่ง และที่หนักกว่านั้นก็คือ มีขนาดเล็ก และไม่ค่อยสว่างพอเท่าที่ควร หากคุณทำของตกบนพื้นเบาะหลังในตอนดึกๆ ขอแนะนำว่า พกไฟฉาย หรือใช้ไฟส่องสว่างจากโทรศัพท์มือถือของคุณจะสว่างกว่าเยอะ! นึกว่าจะมีการปรับปรุงมาให้สักหน่อย แต่กลับปล่อยทิ้งไว้แบบนี้เสียอย่างนั้น

จากขวา มาทางซ้าย แผงประตูด้านข้าง มีแผงสวิตช์กระจกหน้าต่าง เลื่อนขึ้น – ลงได้ด้วยไฟฟ้า 4 บาน เฉพาะฝั่งคนขับ มีระบบ One Touch กดลง หรือยกขึ้นจนสุด เพื่อเลื่อนหน้าต่างฝั่งคนขับ ขึ้น – ลง ได้ในจังหวะเดียว

ใต้ช้องแอร์ฝั่งขวา มีทั้งสวิตช์ปรับและพับกระจกมองข้างด้วยไฟฟ้า สวิตช์เปิด – ปิด ระบบควบคุมเสถียรภาพ ASC กับ TCL Traction Control และสวิตช์เปิด – ปิด ระบบ FCM-LS (อ่านรายละเอียดได้ ข้างล่าง) นอกจากนี้ รุ่น GLS และ GLS Ltd. จะมีสวิตช์ติดเครื่องยนต์ ติดตั้งอยู่ด้านข้างซ้าย ของช่องแอร์ฝั่งขวาด้านคนขับ

ก้านสวิตช์บนคอพวงมาลัยฝั่งขวา ยังคงเป็นสวิตช์ไฟเลี้ยว ไฟต่ำ ไฟหน้าปกติ ไฟตัดหมอก ไฟสูง และไฟสูงแบบกระพริบ (ซึ่งยังคงเป็นเอกลักษณ์ของรถยนต์ Mitsubishi คือถ้าจะกระพริบไฟ อย่าเผลอแช่นาน เพราะตัวก้านสวิตช์จะไม่ดีดกลับให้ แต่จะค้างเอาไว้ในตำแหน่งเดิมนั้น เป็นความเสี่ยงที่จะทำให้รถคันที่แล่นสวนทางมา เข้าใจว่าคุณเปิดไฟสูงแช่ยาวด่าเขาได้ และเมื่อนั้น Drama อาจจะบังเกิดกับคุณ! ส่วนระบบ ไฟหน้าแบบเปิด-ปิดเองอัตโนมัติ (ไฟหน้า Auto) มีมาให้ทั้ง Mirage และ Attrage เฉพาะรุ่นย่อย GLS Ltd. เท่านั้น ส่วนก้านสวิตช์บนคอพวงมาลัยฝั่งซ้าย ยังคงควบคุมใบปัดน้ำฝน แบบหน่วงเวลาได้ พร้อมหัวฉีดน้ำล้างกระจก ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง

พวงมาลัยของทั้ง 2 รุ่น ทุกรุ่นย่อย เป็นแบบ 3 ก้าน ยกมาจากรุ่นเดิม ปรับระดับสูง – ต่ำได้ แต่ยังคงปรับระยะใกล้ – ห่าง จากผู้ขับขี่ (Telescopic ) ไม่ได้ ตามเดิม รุ่น GLX หุ้มด้วย Urethane แต่สำหรับ GLS กับ GLS Ltd. จะหุ้มด้วยหนังสังเคราะห์ รวมทั้งเพิ่มการประดับด้วยแผง Trim พลาสติก สีดำเงา Piano Black มาให้อีกด้วย Grip สำหรับจับพวงมาลัย ถือว่า อยู่ในระดับมาตรฐาน ไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป

ก้านพวงมาลัยฝั่งซ้าย เพิ่มสวิตช์ควบคุมชุดเครื่องเสียง และระบบเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือแบบ Bluetooth มาให้ทุกรุ่น แต่เฉพาะ Mirage กับ Attrage รุ่น GLS Ltd. จะเพิ่มระบบล็อกความเร็วคงที่อัตโนมัติ Cruise Control มาให้

ใต้คอพวงมาลัย มีช่องวางของอเนกประสงค์ สำหรับแอบซ่อนสิ่งของที่จำเป็นต่อการใช้งานในยามคับขันหรือฉุกเฉินไว้ได้บ้าง

ชุดมาตรวัด ของทั้ง 2 รุ่น วางตำแหน่ง Layout ต่างๆ ตามเดิม แต่ ถูกปรับปรุงใหม่ ให้เป็นแบบ High Contrast มีพื้นหลังเป็นลาย Carbon ตัวเลขอ่านง่ายขึ้น ดูหรูหราขึ้น ด้วยกรอบพลาสติกชุบโครเมียม ล้อมรอบทั้งมาตรวัดรอบเครื่องยนต์ มาตรวัดความเร็วตรงกลาง และวงกลมสำหรับไฟสัญญาณเตือนของระบบต่างๆ ที่สำคัญ รองลงมา รวมทั้งมีไฟ ECO สีเขียว จะติดสว่างขึ้น เมื่อใช้ความเร็ว เหมาะสม สัมพันธ์กับรอบเครื่องยนต์ แสดงว่า ขับได้อย่างประหยัดน้่ำมัน ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจว่า ขนาดขับอยู่ตั้ง 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไฟ ECO จะยังคงคิดสว่างขึ้นมา

หน้าจอตรงกลาง ใต้มาตรวัดความเร็ว ยังคงเป็นหน้าจอ Multi-Information Display แสดงข้อมูลทั้งระยะทาง ที่รถแล่นมาทั้งหมด Odo Meter ระยะทางที่ผู้ขับขี่ตั้งค่าได้เอง Trip Meter A และ Trip Meter B ปรับความสว่างของมาตรวัดทั้งหมด ระยะทางที่น้ำมันในถัง เหลือพอให้รถแล่นต่อไป อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย และแจ้งเตือนการนำรถเข้าตรวจเช็คที่ศูนย์บริการ ด้วยการกด-ปล่อย ที่สวิชต์ปรับตั้งบนมาตรวัด ถ้ารถถึงกำหนดเข้าศูนย์ฯ จะขึ้นสัญลักษณ์รูปประแจ ให้เห็น

จากซ้าย มาทางขวา กล่องเก็บของ Glove Compartment และช่องวางของด้านบนซึ่งเปิดโล่งอย่างนั้น มีขนาดเท่าเดิม มองกลับมายังแผงควบคุมกลาง สวิตช์ไฟฉุกเฉิน ยังคงติดตั้งคั่นกลางระหว่างช่องแอร์คู่กลาง

ชุดเครื่องเสียง ถูก Upgrade ใหม่ ให้เหมือนกันหมดทุกรุ่นย่อย ทุกตัวถัง! เป็นจอ Monitor แบบ Touchscreen ขนาด 7 นิ้ว รองรับการทำงานของ วิทยุ AM/FM เชื่อมต่อไฟล์เพลงในโทรศัพท์ พร้อมแสดงผลบนหน้าจอ แบบ SDA (Smartphone Link Display Audio)  รองรับ Apple CarPlay และเผื่อแผ่ไปถึง Android Auto (เพียงแต่ว่า ในเมืองไทย ต้องรออีกพักใหญ่ จึงจะรองรับ Andriod Auto ได้อย่างสมบูรณ์) สามารถเปลี่ยนได้ถึง 18 ภาษา รวมทั้งยังมีระบบสั่งงานด้วยเสียง SIRI Voice Commands และระบบเชื่อมต่อบลูทูธ (Bluetooth) มาให้จากโรงงาน

ช่องเสียบ USB สำหรับเชื่อมต่อกับชุดเครื่องเสียงนั้นย้ายตำแหน่งลงมาติดตั้งอยู่ ติดกับสวิตช์เปิด – ปิดระบบ Auto Stop & Go ที่ช่องวางของด้านล่าง เหนือช่องวางแก้ว 2 ตำแหน่ง และฐานคันเกียร์ ถัดขึ้นไปข้างบนเล็กน้อย ใต้สวิตช์เครื่องปรับอากาศ เป็นปลั๊กไฟขนาด 12 V สำหรับเสียบเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดย่อมเยา ส่วนรุ่น GLS Ltd. ทั้ง 2 ตัวถัง จะเพิ่มหัวเกียร์แบบหุ้มหนัง มาให้ เป็นพิเศษ โดยฐานคันเกียร์ ก็จะยังคงตกแต่งด้วย Trim Piano Black ล้อมกรอบด้วยพลาสติกสีเงิน

สิ่งที่อยากเห็นการปรับปรุง แต่ก็ยังไม่เกิดขึ้นในรุ่นปรับโฉมครั้งนี้ ก็คือ พื้นที่วางเบรกมือ ตรงกลาง ระหว่างเบาะคู่หน้า ซึ่งเคยถูกปล่อยทิ้งไว้อย่างไร้ประโยชน์ยังไง มาถึงรุ่นใหม่ มันก็ยังคงเป็นแบบนั้นเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง เบรกมือยังเป็นแบบมาตรฐาน ยกลง มาให้ พร้อมกับช่องวางแก้วน้ำ สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง 1 ช่อง ตามเดิม (-_-‘)

ด้านทัศนวิสัย เนื่องจากตัวรถ เป็นเพียงการปรับโฉม Minorchange ดังนั้น มุมมองจากตำแหน่งคนขับ จึงยังคงเหมือนรถรุ่นเดิม ทั้ง 2 ตัวถัง สามารถคลิกดูภาพได้จาก บทความ รีวิว ของ Mirage และ Attrage ได้จาก Link ท้ายบทความด้านล่างสุด

********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

ขุมพลัง ของ Mirage และ Attrage Minorchange ยังคงเหมือนเดิม นั่นคือ เครื่องยนต์ รหัส 3A92 เบนซิน 3 สูบ DOHC 12 วาล์ว ขนาด 1.2 ลิตร หรือ 1,193 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 75.0 X 90.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.5 : 1 จ่ายเชื้อเพลิง ด้วยหัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ ECI-Multi (Electronically Controlled Multi-Point Fuel injection) ควบคุมด้วย คอมพิวเตอร์ ECU 32 Bit พร้อมระบบแปรผันวาล์ว ที่หัวแคมชาฟต์ฝั่งวาล์วไอดี MIVEC (Mitsubishi Innovative Valve timing Electronic Control system) รวมทั้ง ระบบดับและติดเครื่องยนต์ ขณะติดไฟแดง (Auto Stop & Go) ทั้งหมดนี้ยกมาจาก รถรุ่นเดิมทั้งดุ้น

กำลังสูงสุดจึงเท่าเดิม คือ 78 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 100 นิวตันเมตร (10.2 กก.-ม.) ที่ 4,000 รอบ/นาที รองรับน้ำมันเชื้อเพลิงได้ทั้ง เบนซิน 95 เบนซิน 91 แก็สโซฮอลล์ 95 E10 และสูงสุดที่ แก็สโซฮอลล์ E20 ปล่อยก๊าซไอเสียคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ 98 กรัม/กิโลเมตร

Mirage และ Attrage ส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยระบบส่งกำลังซึ่งมีให้เลือก 2 แบบด้วยกัน โดยในรุ่น GLX , GLS และรุ่นท็อป GLS Ltd. จะติดตั้ง เกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผัน CVT (Continuous Variable Transmission) ของ Jatco รุ่น CVT 7 ซึ่งเป็นเกียร์แบบ สายพานคล้องกับพูเลย์ รุ่นเดียวกัน กับที่ติดตั้งอยู่แล้ว ทั้งใน Nissan March กับ Suzuki Swift ใหม่ 1.2 ลิตร เพียงแต่ว่า ใช้กล่องสมองกลคอมพิวเตอร์ สำหรับควบคุมเกียร์ที่ Mitsubishi Motors พัฒนาขึ้นเองนั่นคือระบบ INVECS-III (Intelligent & Innovative Vehicle Electrics Control System) เจเนอเรชัน ที่ 3 ระบบนี้ แบ่งการทำงานเป็น 2 แบบด้วยกัน คือ

1. เปลี่ยนเกียร์ตาม “สภาพการขับขี่” (Optimum Shift Control)

กล่องคอมพิวเตอร์ จะวิเคราะห์ องศาการเปิดของลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้า (การเหยียบคันเร่ง) การเบรก หักเลี้ยวพวงมาลัย และความเร็วของรถในขณะนั้น เพื่อให้ได้ตำแหน่งเกียร์ ที่เหมาะกับสภาพเส้นทาง และการขับขี่ในช่วงเวลานั้น

2. เปลี่ยนเกียร์ตาม “พฤติกรรมผู้ขับขี่” (Adaptive Shift Control)

กล่องคอมพิวเตอร์ จะศึกษาพฤติกรรมการขับขี่ แล้วเปลี่ยนเกียร์ไปตามนิสัยคนขับ เช่น ถ้าเป็นคนชอบเหยียบคันเร่งจมมิด เรียกอัตราเร่งแซงตลอดเวลา กล่องคอมพิวเตอร์จะสั่งให้เปลี่ยนตำแหน่งพูเลย์ บีบถ่าง ในชุดเกียร์ช้าลง ลาก รอบเครื่องยนต์ ไปสู่รอบสูงๆ นานขึ้น แต่ถ้าเป็นคุณลุงคุณป้าขับช้าๆ สบายๆ ชิลๆ กล่องระบบก็จะสั่งให้เปลี่ยนตำแหน่งพูเลย์ ในชุดเกียร์ เร็วขึ้น เพื่อให้ใช้รอบเครื่องยนต์ต่ำลง โดยเร็ว กว่าปกติเล็กน้อย

นอกจากนี้ เกียร์ลูกนี้ มีระบบ Idle Neutral Control โดยเป็นชุด Forward Clutch ทำหน้าที่ตัดการส่งแรงบิดจากเครื่องยนต์ ไปยังล้อขับเคลื่อนคู่หน้า ขณะเหยียบเบรก ติดไฟแดง แล้วเข้าเกียร์ D ทิ้งไว้ เพื่อช่วยลดภาระของ Torque Converter ไม่ให้หนักเกินไป และเพิ่ม G-Sensor ควบคุมการเปลี่ยนเกียร์ให้แม่นยำมากขึ้นบนทางลาดชัน ใช้น้ำมันเกียร์ CVTF-J4 มีอัตราทดเกียร์ดังต่อไปนี้

เกียร์สูงสุด…………………….4.007
เกียร์ต่ำสุด…………………….0.550
เกียร์ถอยหลัง…………………3.771
อัตราทดเฟืองท้าย…….…….3.757

ส่วนใครที่ยังถามหาความมันส์ในการสับเกียร์เอง ยินดีด้วยครับ Mirage และ Attrage ใหม่ ยังคงมี เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ ให้เลือก เฉพาะรุ่น GLX 5MT ของทั้ง 2 ตัวถัง เท่านั้น ใช้น้ำมันเกียร์ API GL4 หรือ SAE 75 W 80 อัตราทดเกียร์ มีดังนี้

เกียร์ 1……………………..3.545
เกียร์ 2……………………..1.913
เกียร์ 3……………………..1.310
เกียร์ 4……………………..0.973
เกียร์ 5……………………..0.804
เกียร์ถอยหลัง………………3.214
อัตราทดเฟืองท้าย ถูกปรับเปลี่ยนใหม่จากเดิม 4.055 ลงมาเหลือ 3.550 : 1

สมรรถนะจะเป็นอย่างไรนั้น เรายังคงทำการทดลองภายใต้มาตรฐานเดิม คือจับเวลาหาอัตราเร่งในตอนกลางคืน เปิดแอร์ เปิดไฟหน้า นั่ง 2 คน มีผมเป็นคนขับ กับผู้ช่วยจับเวลา น้ำหนักตัว ของเราสองคน รวมกันต้องไม่เกิน 170 กิโลกรัม และผลัพธ์ที่ออกมา มีดังต่อไปนี้


ในเมื่อ Mirage กับ Attrage ใหม่ ใช้เครื่องยนต์ และระบบส่งกำลังแบบเดิมๆ ดังนั้น ไม่น่าแปลกใจที่ ผลการจับเวลาที่ออกมา ก็ไม่ได้หนีไปจากเดิมนัก อันที่จริง รุ่นเกียร์ธรรมดาของ Mirage ทำตัวเลขอัตราเร่ง ทั้งหมวด 0 – 100 และ 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ไวที่สุดในตลาด แต่ในเมื่อ Mitsubishi Motors ไม่ได้เตรียมรถรุ่นเกียร์ธรรมดามาให้เราได้ทดลองกันในคราวนี้ ดังนั้น เมื่อเทียบกับรุ่นเกียร์อัตโนมัติ ด้วยกัน Mirage ก็ยังคงทำตัวเลขออกมาอยู่ตรงกลางของตาราง ตามเดิมอยู่ดี แต่แอบน่าแปลกใจว่า Attrage ทำผลงานได้ดีขึ้น เกือบๆ 1 วินาที ในทั้ง 2 หมวดการทดลอง ทั้งที่เครื่องยนต์ กับเกียร์ นั้น ตัว Hardware ก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเท่าไหร่

แน่นอนว่า บุคลิกเดิมๆ ก็ปรากฎให้เห็น ตั้งแต่ช่วงออกตัวที่พอจะไต่ขึ้นไปได้ ยันช่วงปลาย ที่เหี่ยวศรีมณีดับตามปกติ กว่าจะไต่ความเร็วขึ้นไปถึงช่วง Top Speed ได้ ก็ต้องสะสมความเร็วกันมาทั้งชีวิต ใช้ระยะทางที่ยาว เวลาที่นานพอ และอาจต้องพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดลบันดาลใจ ให้เส้นทางข้างหน้า โล่งพอด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของ ECO Car 1.2 ลิตร มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว

ย้ำกันอีกสักทีว่า เราไม่สนับสนุนให้ทำการทดลองความเร็วสูงสุดด้วยตัวคุณเองเด็ดขาด เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังอาจก่ออันตรายต่อชีวิต ของคุณผู้อ่าน และเพื่อนร่วมทางอีกด้วย เราทำการทดลองเพื่อให้ได้รู้ข้อเท็จจริง สำหรับการใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อการศึกษา ในด้านวิศวกรรม ของผู้คนทั่วไปเท่านั้น มันไม่ใช่เรื่องสนุกที่จะทำความเร็วสูงขนาดนี้ กับรถครอบครัวบ้านๆ แบบนี้ หากเกิดอุบัติเหตุใดๆขึ้นมา เราไม่ขอรับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น ในทุกกรณี

ในการใช้งานจริง เสียงติดเครื่องยนต์ ก็ยังคงแหลมเสียดแทงบาดหู เหมือนเดิม ชวนให้สงสารเหลือเกินว่า มอเตอร์สตาร์ท มันจะ แตกกระจาย ร่วงหลุดออกมากองบนพื้นโรงจอดรถวันไหนสักวันแหงๆ ไม่เพียงเท่านั้น เสียงเครื่องยนต์ขณะเร่ง นี่ก็ชวนให้สงสารเหลือเกินว่า มันน่าจะทำหน้าที่ พลีกายถวายชีพ เค้นจนสุดกำลัง เหนื่อยและเพลียมากแล้ว พูดง่ายๆ คือ เค้นกันเหมือน Copywriter มือใหม่ โดนเจ้านายสุดเขี้ยว เค้นไอเดียจนหมดเลือดหยดสุดท้าย ก็ยังจะเค้นต่อไปอีก นี่ยังไม่นับเสียงของคอมเพรสเซอร์แอร์ ที่ดังจนทำเอาตกใจ ไม่ต่างจากรุ่นเดิมเลย

อัตราเร่ง ในช่วงออกตัว ยังคงทำได้สมตัวตามเดิม เครื่องยนต์พยายามทำตัวกระฉับกระเฉง เท่าที่พอจะเค้นแรงบิด ประเคนให้ล้อคู่หน้าหมุนดึงรถคุณให้ทะยานขึ้นไปข้างหน้าได้อย่างนุ่มนวล ไม่กระโชกโฮกฮาก แม้จะสัมผัสได้ว่า ไต่ขึ้นไปช้ากว่าชาวบ้านเขาแล้วก็ตาม จนกระทั่งถึงความเร็วระดับ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง การไต่ความเร็วขึ้นไป จะเริ่มช้าลงเรื่อยๆ ไปอีกจนเข้าสู่ช่วง “ขึ้นอืด” หลังจาก 140 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป

เกียร์ CVT ทำงานราบรื่นดีตามปกติ ยกเว้นเสียแต่ว่า ถ้าคุณขยันเรียกอัตราเร่งอย่างฉับพลันปัจจุบันทันด่วนอย่างถี่ยิบ ต่อเนื่องกันเป็นเวลานานๆ โอกาสที่เกียร์ จะออกอาการ “เย่อ” เหมือนอย่างที่เคยเป็นมา ก็เป็นไปได้สูง และเราเจออาการนั้น หลังจากที่ทำตัวเลขอัตราเร่ง 0 – 100 และ 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ต่อเนื่องกันพักใหญ่ๆ แต่พอขับรถกลับถึงบ้าน ดับเครื่องยนต์ เช้าวันต่อมา ทุกอย่างก็เป็นปกติ เพียงแต่ว่า รอบเดินเบา เครื่องยนต์อาจมีอาการสั่นเหมือน ผู้ป่วยโรคไข้จับสั่น ให้เจออยู่บ้างในบางครั้ง

การเก็บเสียงในห้องโดยสาร ดีขึ้นชัดเจนก็จริง แต่ก็แค่อยู่ในเกณฑ์ พอใช้ได้ ไม่ได้ถึงกับดีเด่นจนต้องมอบโล่ห์ให้ สำหรับ Mirage แล้ว ในช่วงความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง เสียงลมในภาพรวม เงียบขึ้น แต่ เสียงยาง จากซุ้มล้อคู่หลัง ยังคงเล็ดรอดเข้ามาให้ได้ยิน ดังมากอยู่ดี มิใยที่มีความพยายามจะเพิ่มพรมซับเสียง บริเวณ พื้นห้องเก็บของด้านหลังมาให้แล้วก็เถอะ แต่นั่นไม่ได้ช่วยให้เสียงลมจากด้านหลังรถ ลดน้อยลงไปเลย

ส่วน Attrage ใหม่ การเก็บเสียง ก็ยังคงถือว่าทำได้ดี เงียบขึ้นพอสมควร เช่นกัน ที่แน่ๆ ถ้าพ้นจากความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป เสียงกระแสลมที่ไหลผ่านตัวรถ ก็จะดังเข้ามาให้ผู้ขับขี่ได้ยิน เพิ่มตามความเร็วของรถที่เพิ่มขึ้นอยู่ดี

ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ไฟฟ้า EPS (Electronics Power Steering) รัศมีวงเลี้ยวที่ล้ออยู่ที่ 4.4 เมตร (แต่ถ้าวัดที่มุมตัวถังรถแล้ว จะอยู่ที่ 4.7 เมตร) ถูกปรับปรุงให้ตอบสนองได้ดีขึ้นกว่าเดิม….

ผมเคยตำหนิ การตอบสนองของพวงมาลัย ทั้ง Mirage และ Attrage ว่า มันช่างให้สัมผัสแบบ Robotic Feeling ทื่อๆ ไร้ชีวิตชีวา หมุนพวงมาลัยไปทางไหน ก็คาไว้ในตำแหน่งเดิม ไม่ได้หมุนกลับคืนมาให้ แม้ว่าจะหมุนได้คล่อง ขณะกำลังหาที่จอด และจะหนืดขึ้น มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นไปตามความเร็วของรถก็ตาม

คราวนี้ ทีมวิศวกรเขาก็เลยปรับปรุงให้ พวงมาลัย ให้ตอบสนองได้ เป็นธรรมชาติขึ้นชัดเจน อย่างชัดเจน สัมผัสได้ตั้งแต่ช่วงความเร็วต่ำ น้ำหนักพวงมาลัยยังคงเบาอยู่ แต่เมื่อหมุนพวงมาลัยในตำแหน่งใดก็ตาม ก็จะมีการดึงคืนกลับมาตั้งล้อตรงให้ แม้ว่าถ้าเลี้ยวรถขณะเข้าโค้ง ด้วยความเร็วไม่สูงนัก พวงมาลัยจะยังค้างเติ่งอยู่ในตำแหน่งที่เราหมุนไป แต่ถ้าเลี้ยวกลับรถเมื่อไหร่ พวงมาลัยจะคืนกลับมาตั้งล้อตรงให้ตามเดิม ซึ่งนี่คือการปรับปรุงที่ทำให้ ผู้ขับขี่ สามารถสื่อสารกับรถ ได้อย่างเป็นธรรมชาติ และตรงไปตรงมามากขึ้น ลดปัญหาที่ผู้ขับขี่จะต้องมานั่งคัดซ้ายคัดขวาตลอดเวลาอย่างน่ารำคาญ ขณะใช้ความเร็วสูงๆ ออกไปเยอะมาก

ถ้าให้เทียบกับคู่แข่งแล้ว ตอนนี้ พวงมาลัยของ Mirage กับ Attrage ใหม่ มีการตอบสนองดีขึ้นมาก จนดีดตัวขึ้นมาจากอันดับรั้งท้ายสุด ปล่อยให้ Nissan March K13 และ Suzuki Ciaz เขาครองแชมป์ พวงมาลัยที่มีการตอบสนองห่วยสุด ในกลุ่ม ไปตามระเบียบ แต่ก็ต้องยอมรับว่า ยังไม่ดีถึงขั้นไปเปรียบเทียบกับ Suzuki Swift , Nissan Note  Mazda 2 และรวมทั้ง Nissan All New Almera ใหม่ ที่เพิ่งเปิดตัวไปหมาดๆแน่นอน

ระบบกันสะเทือนหน้าแบบแม็คเฟอร์สันสตรัต ด้านหลังแบบคานบิดทอร์ชันบีม ยกมาจากรุ่นเดิม เพิ่มเหล็กกันโคลง มาให้เฉพาะด้านหน้า จากเดิม ที่เคย “นิ่มจนย้วย และหาความมั่นใจใดๆไม่ได้เลย” ถูกปรับปรุงใหม่ พร้อมกับพวงมาลัย ตามกันไปติดๆ

การปรับปรุง ช็อกอัพใหม่ ช่วยเปลี่ยนบุคลิกชวงล่าง จาก “นิ่มย้วย” ให้ “Firm ขึ้น นิดๆ” กลายมาเป็น “นุ่ม” ได้สำเร็จ ผลก็คือ การซับแรงสะเทือนขณะเจอพื้นผิวขรุขระ รอยต่อฝาท่อ หรือเนินสะดุดลูกระนาด ตามตรอกซอกซอย ต่างๆ Smooth ขึ้น นุ่มนวลขึ้นนิดหน่อย เพิ่มความสบายขณะขับขี่ในเมืองมากขึ้นอีกนิด

ส่วนย่านความเร็วสูง สัมผัสเลยว่า ช่วงล่างของทั้ง Mirage และ Attrage ใหม่ “นิ่งขึ้น ทรงตัวได้ดีขึ้น” ให้ความ”ไว้ใจได้” ในช่วงความเร็วเกินกว่า 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ดีขึ้นชัดเจนมาก! เว้นเสียแต่ว่า จะเจอพื้นผิวลอนคลื่นถี่ๆ หรือ เจอกระแสลมปะทะ จึงจะมีอาการส่ายเล็กๆน้อยๆ เกิดขึ้น นั่นทำให้ผม กล้าขับ รถทั้ง 2 คันนี้ ด้วยความเร็วสูงขึ้น ลดทอนความประหวั่นพรั่นพรึงที่เคยเจอมาจากช่วงล่างของรถรุ่นก่อน ลงไปจนหายเกลี้ยง

มาดูทางโค้ง 5 จุด บนระบบทางด่วนเฉลิมมหานคร ที่ผมใช้ทดลองเข้าโค้งหนักๆกับรถทดสอบทุกคันกันบ้าง…(ตัวเลขความเร็ว อ่านจากมาตรวัด อาจเพี้ยนจากความเร็วจริงบน GPS เล็กน้อย อ่านได้จากตารางข้างบน)

– โค้งขวารูปเคียว เหนือทางด่วนย่านมักกะสัน รถทั่วไป ทำได้ 80 – 100 แต่ทั้ง Mirage กับ Attrage ทำได้ราวๆ 95 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตัวรถหนะยังพอไปได้อีกนิด แต่ยางติดรถของทั้ง 2 คัน ตอบสนองต่างกันไป หากเป็น ยาง

– ต่อเนื่องไปยัง โค้งซ้าย ฝั่งตรงข้ามโรงแรม Eastin รุ่น Grand Luxury ทั้ง 2 คัน ทำได้ 95 กิโลเมตร/ชั่วโมง

– โค้งขวา โค้งซ้ายต่อเนื่องยาวๆ และโค้งขวา รูปตัว S ที่เชื่อมจากทางด่วนชั้นที่ 1 ช่วง สุขุมวิท 50 ขึ้นไปยังทางยกระดับบูรพาวิถี ทั้ง คู่ ยัดเข้าโค้งได้ด้วยความเร็วบนมาตรวัด 95 , 100 และ 115 กิโลเมตร/ชั่วโมง

สิ่งที่ยังหลงเหลือให้พบเจออยู่ก็คืออาการ “แกว่งข้าง” ได้ ทั้งบนทางตรงยาวๆ พื้นผิวเป็นลอนคลื่น หรือบนทางโค้งช่วงที่พื้นผิวไม่เรียบ ยิ่งถ้าเจอรอยต่อของทางโค้งบนทางด่วน ที่ลื่นด้วยแล้ว อาการ “กระเดิด” จะเกิดขึ้นชัดเจนมากๆ และอาจทำให้คนขับรถที่มีประสบการณ์ไม่มากนักตกใจจนเสียการควบคุมรถได้ ซึ่งควรต้องระวังในจุดนี้สักหน่อย

ระบบห้ามล้อ เป็นแบบ ดิสก์เบรก คู่หน้า แบบมีรูระบายความร้อน ส่วนด้านหลัง เป็นแบบ ดรัมเบรก อันเป็นรูปแบบมาตรฐานของรถยนต์ขนาดเล็กทั่วๆไป เพิ่มระบบป้องกันล้อล็อกขณะเบรก กระทันหัน ABS (Anti-Lock Braking System) และระบบกระจายแรงเบรกให้สมดุลกับน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronics Brake-Force Distribution) พร้อมระบบ เสริมแรงเบรก (BA-Brake Assist) ทำงานร่วมกับ ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว ASC (Active Stability Control) ระบบป้องกันการลื่นไถล TCL (Traction Control System) ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน (HSA-Hill Start Assist system) และ ระบบ ระบบไฟกะพริบฉุกเฉินอัตโนมัติ ขณะเบรกกะทันหัน ESS (Emergency Stop Signal System) มาให้ “ครบทุกรุ่นจากโรงงาน” น้ำมันเบรก ใช้เกรด DOT 3 หรือ DOT 4

การตอบสนองของแป้นเบรกนั้น ยังคงมีน้ำหนักเบา ระยะเหยียบยาวปานกลาง ตามแบบฉบับของรถยนต์ขนาดเล็กทั่วๆไป แต่เซ็ตมาให้ค่อนข้าง Linear หน่อยๆ และมีแรงต้านเท้า ขณะเยียบเบรกลงไป ไม่เยอะนัก แม้ว่าในระยะแรกที่เหยียบ การจับตัวของเบรก จะน้อยไปหน่อย แต่ยิ่งเหยียบเพิ่มขึ้น รถก็หน่วงความเร็วลงไปมากขึ้น ต้องการให้รถชะลอแค่ไหน ก็เหยียบลงไปเพียงแค่นั้นเพียงแต่ว่า แรงเบรก อาจไม่ได้หน่วงรถลงมาอย่างหนักแน่นมากเท่ากับคู่แข่งรุ่นใหม่ๆเขา

ในภาวะการขับขี่ปกติ แป้นเบรกมีน้ำหนักค่อนข้างดีสมกับขนาดของตัวรถ ให้สัมผัสที่แน่นและแม่นยำ ใช้การได้ จะค่อยๆเลียเบรกให้รถชะลอจนหยุดนิ่ง ณ สี่แยกไฟแดง หรือจะเหยียบเบรกเพื่อไม่ให้ชนรถคันที่แล่นตัดหน้าออกมาจากตรอก ซอก ซอย ทำได้ดี เหมาะสมกับขนาดและน้ำหนักของตัวรถ แต่ว่าอาจต้องเหยียบลงไปประมาณ ครึ่งหนึ่งถึงจะเริ่มพบว่า ระบบห้ามล้อกำลังทำงานของมันอยู่นะ

เช่นเดียวกัน ในการหน่วงรถลงมาจากย่านความเร็วสูง ลงมาจนถึงเกือบหยุดนิ่งนั้น ในกรณีคับขัน คุณอาจต้องเหยียบเบรกลงไปลึกสักหน่อย แต่ไม่ใช่เหยียบพรวดเดียวลงไปทันทีจังหวะเดียว แต่ใช้วิธีเพิ่มน้ำหนักเท้าลงไปอย่างต่อเนื่อง จะดีกว่า

ด้านความปลอดภัย ทั้ง Mirage และ Attrage ใหม่ ยังคงติดตั้งสารพัดอุปกรณ์มาให้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ระบบเตือนการชนด้านหน้าตรง พร้อมระบบช่วยชะลอความเร็ว ในย่านความเร็วต่ำ (FCM-LS : Forward Collision Mitigation System-Low Speed Range) และ ระบบตัดกำลังเครื่องยนต์ชั่วขณะ เมื่อเหยียบคันเร่งอย่างรุนแรงและรวดเร็ว เฉพาะด้านหน้ารถ (RMS-FORWARD : Radar Sensing Misacceleration Mitigation System-Forward) ซึ่งถือเป็นรถยนต์รุ่นแรกในพิกัด B-Segment ECO Car ที่ติดตั้ง 2 ระบบนี้มาให้

นอกจากนี้ ยังมี ถุงลมนิรภัยด้านคนขับ และผู้โดยสารตอนหน้า (Dual SRS Airbags), กล้องมองภาพหลังขณะถอยจอด (Rear View Camera), เข็มขัดนิรภัยคู่หน้า ELR 3 จุด 2 ตำแหน่ง ปรับระดับได้ (Front Seatbelts ELR x 2 with Adjustable) พร้อมระบบสัญญาณเตือนและเสียงเตือนให้คาดเข็มขัดนิรภัยด้านคนขับบนมาตรวัด (Seatbelt Reminder – Driver’s Side only),เข็มขัดนิรภัยเบาะหลังแบบ ELR 3 จุด 3 ตำแหน่ง (Rear Seatbelts 3 Points ELR x 3) และ จุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก ISOFIX 2 ตำแหน่ง (ISOFIX Child Restraint Mounting x 2)

ทั้งหมดนี้ ติดตั้งอยู่ในโครงสร้างตัวถัง ที่ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้แนวทาง RISE (Reinforced Impact Safety Evolution Body) พร้อมคานกันกระแทกด้านข้าง ที่ประตูทั้ง 4 บาน  โดยใช้เหล็กรีดร้อน น้ำหนักเบา แต่แข็งแรงและทนทานพิเศษ อย่าง High Tensile Steel ที่เสริมความแข็งแกร่งด้วยส่วนรับแรงกระแทกจากเหล็กที่แข็งแรงเป็นพิเศษ “High Tensile Steel” โดยเหล็กในโซนสีแดงนั้น สามารถทนต่อแรงอัดได้สูงถึง 980 Mpa (เมกกะปาสคาล) โซนสีน้ำเงิน รวมทั้งคานกันชนด้านหน้า ทนแรงอัดได้ 590 Mpa โซนสีเขียว ทนแรงอัดได้ 440 Mpa และที่เหลือ จะเป็นเหล็กทั่วไปที่ต้องออกแบบให้ยุบตัวได้ง่าย ทนต่อแรงอัดได้ 270 Mpa จึงทำให้ปกป้องผู้โดยสาร จากการชน ได้ในระดับผ่านมาตรฐานด้านความปลอดภัยสากลทั่วไป

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********
****************** Fuel Consumption Test *****************

ตามปกติแล้ว Headlightmag.com ของเรา มีมาตรฐานในการทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงกับรถกระบะ และรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ที่ประกอบในประเทศไทย และมีพิกัดเครื่องยนต์ ไม่เกิน 2,000 ซีซี พิกัดขนาดรถ ไม่เกินกลุ่ม C-Segment ลงไป ว่า เราจะต้องเติมน้ำมันด้วยการ อัดกรอกและเขย่ารถ เพื่อให้ได้ตัวเลขที่ตรงกับค่าความเป็นจริงเท่าที่ตัวรถทำได้ มากที่สุด แม้จะได้ตัวเลขที่ Real มากที่สุด เท่าที่ ประชาชนคนธรรมดาทั่วไปอย่างผม พอจะทดลองทำได้ด้วยตัวเอง และไม่ต้องยุ่งยากซับซ้อน หรือต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมือเยอะแยะ เหมือนบรรดาห้องปฏิบัติการณ์ (Lab) ของ บริษัทรถยนต์ หรือสถาบันต่างๆ เขาใช้กัน

อย่างไรก็ตาม นานวันเข้า วิธีดังกล่าว ยิ่งเริ่มก่อให้เกิดข้อจำกัดในการทำงานของเรามากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากเรื่องของสถานีบริการน้ำมัน ที่มักจะเริ่มเล่นแง่กับเรามากขึ้น เพราะการขย่มรถแต่ละครั้ง เท่ากับต้องค่อยๆหยอดน้ำมันลงไปในถัง ซึ่งนั่นยิ่งทำให้ ตัวปั้มต้องทำงานหนักขึ้น เพราะต้องหมุนสูบดึงน้ำมันจากถังเก็ใต้ดินขึ้นมารอไว้ตลอดเวลา หากตัวปั้มเก่าลง ก็อาจเกิดการชำรุด พังได้ ค่าเสียหายย่อมเกิดขึ้นกับทางสถานีบริการ ไม่เพียงเท่านั้น ด้วยอายุที่เพิ่มมากขึ้น ผมเองก็ไม่สามารถเขย่า หรือขย่มรถได้นานถี่ๆ ด้วยตัวเองเหมือนเดิมอีกต่อไป ต้องมีการว่าจ้างผู้ร่วมทดลอง มาช่วยเขย่าขย่มรถกันมากขึ้น อีกทั้ง ในอนาคต หากเกิดปัญหาใดๆขึ้นมา และทำให้เราไม่สามารถทดลองด้วยวิธีดังกล่าวนี้ได้อีกต่อไป ก็อาจซึ่งมันอาจจะทำให้ผลลัพธ์คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงที่ตัวรถทำได้ ก็เป็นได้

ดังนั้น สำหรับการทำรีวิวในครั้งนี้ เนื่องจากเราเคยทำการทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของ Mirage กับ Attrage ที่ใช้เครื่องยนต์และระบบส่งกำลัง ชุดเดียวกัน นี้ มาแล้ว เมื่อปี 2012 และ 2013 (ย้อนกลับไปอ่านได้โดย Click  รีวิว 2012 Mirage Click here  และ รีวิว 2013 Attrage Click here ) เราจำได้ดีว่า ด้วยการออกแบบคอถัง ที่แปลกประหลาด ทำให้เราต้องใช้เวลาในการขย่ม เขย่ารถ กันนานที่สุดเท่าที่เราเคยทำเว็บ Headlightmag กันมาเลยทีเดียว

ดังนั้น ในเมื่อ Mirage และ Attrage รุ่นปี 2020 ใช้เครื่องยนต์ และระบบส่งกำลังเดียวกันกับรุ่นก่อน ดังนั้น เราจึงอยากทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง แบบ “ไม่เขย่ารถ” ดูบ้าง เพื่อจะได้รู้ว่า หากเราทดลองแบบนี้แล้ว ตัวเลขที่ออกมา จะผิดแผกแตกต่าง ไปจากการทดลองแบบเขย่ารถ มากน้อย แค่ไหน

เราจึงทำการทดลองตามมาตรฐานดั้งเดิม คือ ทดลองในตอนกลางคืน ความดันลมยาง 32 psi ทั้ง 4 ล้อ ส่วนอุณหภูมิในคืนที่เราทดลองนั้น ป้วนเปี้ยนระหว่าง 27 – 30 องศา Celcius  เราพา Mirage และ Attrage ใหม่ ทั้ง 2 คัน ไปยัง สถานีบริการน้ำมัน CALTEX พงษ์สวัสดิ์บริการ ริมถนนพหลโยธิน สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ ในช่วงหัวค่ำ โดยเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron Benzine ปกติ (เราไม่ใช้ Gasohol ในการทดลองทั้งสิ้น เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับการทดลองตลอด 17 ปี ที่ผ่านมา)

และคราวนี้…เราเติมน้ำมันกันแค่ หัวจ่ายตัด ก็พอ

ไม่เพียงเท่านั้น เนื่องด้วยในคืนดังกล่าว เราต้องทำการทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของรถยนต์ถึง 3 คันรวด (Mirage , Attrage และ Isuzu D-Max 1.9 Ddi) ผมจึงชักชวน คุณผู้อ่านของเว็บไซต์เรา ที่สนิทและคุ้นเคยกันดี มาร่วมทดลองไปพร้อมกับทีมงานของเว็บ ในรถยนต์ของ Mitsubishi Motors ทั้ง 2 คันไปเลย

หลังจากเติมน้ำมันเข้าไปจนเต็มถังขนาด 35 ลิตร ทั้ง 2 คัน เราก็เริ่มต้นการทดลองขับ คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดเครื่องปรับอากาศ อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส

เราออกจากปั้ม Caltex เลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน หน้าปากซอยอารีย์สัมพันธ์ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์ ลัดเลาะไปออกแถวๆปากซอยโรงเรียนเรวดี ถึงถนนพระราม 6 จากนั้น เลี้ยวขวาขึ้นไปบนทางด่วนสายอุดรรัถยา ขับมุ่งหน้าตรงไปยังปลายสุดทางด่วน ด่านบางปะอิน แล้วเลี้ยวกลับมาขึ้นทางด่วน เส้นเดิม อีกรอบ เพื่อมุ่งหน้ากลับเข้าเมืองหลวง โดยรักษาความเร็ว ตามมาตรฐานเดิม คือแล่นไม่เกิน 110กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดระบบ Cruise Control เปิดเครื่องปรับอากาศ เปิดไฟหน้ารถ และนั่ง 2 คน

เมื่อลงทางด่วนที่ด่านอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย กลับเข้าสู่ถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับที่สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ เลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex เพื่อเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron  ณ หัวจ่ายเดิม เหมือนช่วง การเติมครั้งแรกทุกประการ และเพื่อให้เหมือนกันกับการเติมครั้งแรก เราก็เติมน้ำมันกันแค่ระดับ หัวจ่ายตัด เช่นเดียวกับช่วงเริ่มต้นทดลอง

เรามาดูตัวเลขของ Mirage 1.2 CVT GLS Ltd. กันก่อน

สักขีพยานและผู้ร่วมทดลองของเรา เป็นทีมเว็บ Headlightmag.com ทั้ง คุณ Joke V10ThLnD น้ำหนักตัว 70 กิโลกรัม และ คุณ Mark Pongsawang น้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม รวมน้ำหนักผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ทั้ง 2 คน อยู่ที่ 130 กิโลกรัม ผลลัพธ์ที่ได้ มีดังนี้

ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมดบนมาตรวัด 91.1 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 5.09 ลิตร
หารออกมา ได้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 17.89 กิโลเมตร/ลิตร 

เมื่อเทียบกับ Mirage 1.2 CVT GLS Ltd. รุ่นเดิม ซึ่งทำระยะทางแล่นบนมาตรวัด 91.7 กิโลเมตร ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 5.21 ลิตร หารออกมาได้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 17.61 กิโลเมตร/ลิตร ก็ต้องบอกว่า ตัวเลข พอๆกันกับรุ่นเดิม ต่างกันแค่ 0.28 กิโลเมตร/ลิตร เท่านั้น ถือว่า อัตราสิ้นเปลืองไม่แตกต่างจากรุ่นเดิม

ส่วนตัวเลขของ Attrage 1.2 CVT GLS Ltd. นั้น

สักขีพยานและผู้ร่วมทดลองของเรา เป็นทีมเว็บ Headlightmag.com คือ คุณเติ้ง Kantapong Somchana น้ำหนักตัว 48 กิโลกรัม และคุณผู้อ่านของเว็บ คือ คุณ Napat Channual น้ำหนักตัว 80 กิโลกรัม รวมน้ำหนักผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ทั้ง 2 คน อยู่ที่ 128 กิโลกรัม ผลลัพธ์ที่ได้ มีดังนี้

ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมดบนมาตรวัด 92.1 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 5.00 ลิตร พอดี
หารออกมา ได้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 18.42 กิโลเมตร/ลิตร 

เมื่อเทียบกับ Attrage 1.2 CVT GLS Ltd. รุ่นเดิม ซึ่งทำระยะทางแล่นบนมาตรวัด 91.7 กิโลเมตร ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 5.23 ลิตร หารออกมาได้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 17.53 กิโลเมตร/ลิตร ก็ต้องบอกว่า ตัวเลข ที่แตกต่างกันถึง 0.9 กิโลเมตร/ลิตร เป็นผลมาจาก ขนาดของยางที่ต่างกันเล็กน้อย ทำให้มาตรวัดระยะทาง ของ Attrage เพี้ยนขึ้นไปจาก Mirage ถึง 1 กิโลเมตร ทั้งที่ เติมน้ำมันลดลงจากรุ่นก่อน 0.23 ลิตร โดยประมาณ

แต่ถ้าเปรียบเทียบกันระหว่าง Mirage กับ Attrage MY 2019 – 2020 ตัวเลขปริมาณน้ำมันที่ ทั้ง 2 คัน เติมกลับเข้าไป เท่าๆกัน ต่างกันแค่ 0.09 ลิตร เท่านั้น แต่ระยะทางบน Trip Meter ที่ต่างกันถึง 1 กิโลเมตร แน่นอนว่า คันไหน ทำระยะทางได้เยอะกว่า โอกาสที่หารออกมาแล้ว ได้ตัวเลขความประหยัดน้ำมัน เยอะกว่า รถอีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งใช้ยางและล้อขนาดเดียวกัน ก็เป็นไปได้

********** สรุป (Conclusion) **********
หน้าตาสวยขึ้น พวงมาลัยดีขึ้น ช่วงล่างดีขึ้น Option พอไหว แต่สู้คู่แข่งเหนื่อยหน่อยนะ

ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ต่อให้รู้ทั้งรู้ว่า Mitsubishi Motors จะเบนเข็มเดินหน้าไปบุกตลาด SUV และรถกระบะเต็มสูบ ทว่า แฟนนานุแฟน ของค่ายเพชร 3 เม็ด ก็ยังคงรอคอยการกลับมาของรถยนต์นั่ง อย่างมีความหวัง ยิ่งเห็น Mirage กับ Attrage รุ่นเดิม ยืนหยัดรับมือ อัดแคมเปญส่วนลด ดอกเบี้ยอัตราพิเศษ และของแถมต่างๆนาๆ ในฐานะเป็นดาบเล่มจิ๋ว ไว้ฟาดฟันกับคู่ต่อสู้ที่สดใหม่กว่า มีเทคโนโลยีที่เหนือกว่า แถมยังทำตัวรถออกมาได้ดีกว่า เพื่อไม่ให้บาดเจ็บเลือดไหลไปมากกว่านี้ ผมก็ได้แต่ถอนหายใจ ว่า เมื่อไหร่ รุ่นเปลี่ยนโฉมใหม่ของ Mirage และ Attrage จะมาถึงเสียที

จู่ๆ พอถึงช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ผมเพิ่งรับรู้ว่า จากกำหนดการเดิมที่ Mirage กับ Attrage จะต้องถึงคิวเปลี่ยนโฉมใหม่ Full Modelchange ในปีนี้ ที่ไหนได้ ชาวญี่ปุ่น เขากลับเลือกที่จะปรับโฉม Big Minorchange ให้กับสองศรีพี่น้อง กันไปพลางๆก่อน

หลายคนอาจไม่เข้าใจ ว่าทำไมถึงทำเช่นนี้ ไม่รีบกอบโกย ทั้งที่ชาวบ้านเขากระหน่ำส่งรถยนต์รุ่นใหม่ ลงสู่ตลาดกันหมดแล้ว แม้แต่ผมเองก็สงสัย เพราะการตัดสินใจปรับโฉมครั้งนี้ มุมหนึ่งก็เป็นเรื่องดี เพราะไหนๆก็ไหนๆ มันไม่มีประโยชน์ที่จะต้องเข็นรถยนต์รุ่นใหม่ เข้าไปปะทะ ในเวลาที่ คู่แข่งเขาก็ปล่อยรถยนต์รุ่นเปลี่ยนโฉมใหม่พร้อมกันถึง 2 รุ่น แบบนี้ สู้เก็บข้อมูลคู่แข่งรุ่นใหม่ ไปพัฒนายกระดับ รถยนต์รุ่นต่อไปของตนให้เหนือคู่แข่งไปเลยดีกว่า

แต่อีกมุมหนึ่ง มันเป็นความน่ากังวลอยู่ไม่น้อย เพราะ ถ้าจะต้องเปิดตัวรุ่นต่อไปในปี 2022 – 2023 ในช่วงเวลานั้น พี่ใหญ่ของวงการอย่าง Toyota ก็มีกำหนดจะเปิดตัว B-Segment ECO Car รุ่นใหม่ของตน ในช่วงปี 2022 ซึ่งคาบเกี่ยวกันกับเวลาที่ Mitsubishi Motors จะต้องปล่อยรุ่นเปลี่ยนโฉมของ 2 ศรีพี่น้องนี่ออกมาพอดีๆ ถ้าทีม Product Planning ของ Mitsubishi Motors ในญี่ปุ่น วางแผนกันไม่ดี ประเมินสถานการณ์ไม่รอบคอบพอ โอกาสเพลี่ยงพล้ำในตอนนั้น ก็มีสูง

เรื่องราวที่จะเกิดขึ้นในย่อหน้าข้างบนนี้ เป็นเรื่องของอนาคต อาจยังดูอีกยาวไกล แต่ถ้าถามว่า การปรับโฉมในครั้งนี้ จะช่วยให้ ทั้ง 2 ศรีพี่น้อง ยังคงแท็คทีมกัน รับมือกับคมดาบของคู่แข่งไหวหรือเปล่า?

หลังจากลองขับ และใช้ชีวิตกับทั้ง 2 คัน นาน 1 สัปดาห์ ผมก็ได้คำตอบว่า…

การได้ชิ้นส่วนตัวถังด้านหน้าที่สดใหม่ขึ้น การปรับปรุงให้ตัวรถมีการขับขี่ที่ดีขึ้น บังคับเลี้ยวได้คล่องแคล่ว แม่นยำ และเป็นธรรมชาติขึ้น รวมทั้งช่วงล่าง ที่ซับแรงสะเทือนในช่วงความเร็วต่ำได้เนียนขึ้น ไปพร้อมกับให้การทรงตัวในย่านความเร็วสูง ได้ดีขึ้น คือ จุดเด่นที่สำคัญของ Mirage และ Attrage Big Minorchange ที่ถูกปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิม อย่างไม่มีข้อสงสัย

แม้ว่าตัวรถจะเล็กกว่าชาวบ้าน แต่พื้นที่ห้องโดยสาร ก็ไม่ถึงกับขี้เหร่นัก ยิ่งถ้าเป็น Attrage ด้วยแล้ว การนั่งโดยสารบนเบาะหลัง ผมว่า เดินทางไกลพอได้ในระดับปานกลางของกลุ่มเลยนะ แน่นอนว่า สบายกว่า เบาะหลังของ Mazda 2 แน่ๆ

ขณะเดียวกัน ระบบตัวช่วยด้านความปลอดภัย อย่างระบบเตือนการชนด้านหน้าตรง พร้อมระบบช่วยชะลอความเร็ว ในย่านความเร็วต่ำ (FCM-LS : Forward Collision Mitigation System-Low Speed Range) และ ระบบตัดกำลังเครื่องยนต์ชั่วขณะ เมื่อเหยียบคันเร่งอย่างรุนแรงและรวดเร็ว เฉพาะด้านหน้ารถ (RMS-FORWARD : Radar Sensing Misacceleration Mitigation System-Forward) ก็ยังคงติดตั้งมาให้โดยไม่ถอดออก ยืนหยัดการเป็นรถยนต์รุ่นแรกในพิกัด B-Segment ECO Car ที่ติดตั้ง 2 ระบบนี้มาให้ ถือว่าล้ำหน้าก่อนชาวบ้านเขามาหลายปี

แต่แน่นอนว่า ท่ามกลางข้อดีที่มีเยอะกว่าที่คิด ด้วยเวลาที่ผ่านเลยไป ทำให้อายุตลาดของ Mirage กับ Attrage เริ่มจะอยู่บนโชว์รูมนานเกินไป ทำให้ข้อด้อยหลายอย่าง เริ่มปรากฎขึ้นมา ชัดเจนขึ้น

รู้กันดีว่า ลูกค้าที่ซื้อรถยนต์ประเภทนี้ในเมืองไทย ส่วนใหญ่ เพิ่งเริ่มซื้อรถยนต์คันแรก ดังนั้น พวกเขามองเห็นมันเป็นทั้งรถกระบะและ Ferrari !! เขาจึงอยากได้คุณค่าที่มากมายเกินกว่าคาดคิด จากเงินที่เขาผ่อนจ่ายไปในแต่ละเดือน ดังนั้น จุดที่ควรปรับปรุง ในรุ่นเปลี่ยนโฉม Full Modelchange นั้น มีหลายเรื่องด้วยกัน

1. ได้เวลา Upsize เพิ่มขนาดตัวถัง และขนาดห้องโดยสาร ให้ใหญ่ขึ้นกว่านี้อีกหน่อยเถอะ

ณ วันนี้ คู่แข่งทั้งหลาย พากันยกระดับขนาดตัวถัง และห้องโดยสาร ให้กับ B-Segment ECO-Car ของตนเองกันไปหมดแล้ว ดูเหมือนว่า จะเหลือก็แค่ Mirage กับ Attrage ที่ยังคงปักหลักอยู่กับตัวถังพิกัด Sub B-Segment กันตามเดิม ดังนั้น รุ่นต่อไป จำเป็นอย่างยิ่งที่ ทีมออกแบบจะต้องเพิ่มขนาดของห้องโดยสาร ให้ใหญ่โตขึ้น พร้อมกับขนาดของรถที่ต้องใหญ่โตขึ้น เพื่อให้ดูภูมิฐาน และ “ดูแพงเกินราคาจริง”

2. เส้นสายโฉบเฉี่ยว ดูมีพลัง แต่ต้อง Timeless Design

มันคงจะดีถ้าเส้นสายด้านหน้าอันโฉบเฉี่ยว Advanced Synamic Shield จะมาผนวกกับงานออกแบบที่ดูมีพลัง แต่สวยงามไร้กาลเวลา ข้อดีของ Timeless Design คือ ออกแบบครั้งเดียว อยู่ได้นานหลายปี ขอให้ดู Mitsubishi Lancer 1983 – 1988 (บ้านเรารู้จักในชื่อ Lancer Champ) เป็นตัวอย่าง ต่อให้ลากขายมาหลายปี เส้นสายที่ดู Futuristic ก็ยังไม่ทำให้ดูเชย แม้ว่าจะถึงปีสุดท้ายในอายุตลาด ก็ยังพอมียอดขายเข้ามาได้อยู่ รู้ว่าทำไม่ง่าย แต่ถ้าทำได้ นั่นคือความสำเร็จด้านการออกแบบเลยทีเดียว

สิ่งที่สำคัญ อีกประการหนึ่งคือ อย่าดูคู่แข่งในตลาดกลุ่มเดียวกันเป็นแรงบันดาลใจ แต่ให้ดูรถยนต์ที่มีขนาดใหญ่กว่า หรือหรูกว่า มาเป็นตัวอย่างไปเลย Suzuki ใช้วิธีนี้ ประสบความสำเร็จมาแล้วกับ Ciaz และมันคงจะดีถ้า Mitsubishi Motors จะมีตัวอย่างแบบเดียวกันนี้บ้าง เพราะเส้นสายของ รถยนต์รุ่นเก่าๆ ในอดีตของพวกเขา มีหลายรุ่นที่น่าสนใจ และดึงมาใช้เป็น Reference ได้ดี

3. ขอเครื่องยนต์ ที่แรงกว่านี้ และประหยัดน้ำมันกว่านี้ อ้อ ขอถังน้ำมันที่ใหญ่ขึ้นกว่านี้อีกนิดด้วยนะ

สำหรับคนไทยแล้ว ถ้าให้เลือกระหว่าง ความแรง และความประหยัด พวกเราจะไม่เลือก แต่พวกเรา “ต้องการทั้ง 2 อย่าง ในเวลาเดียวกัน! ตอนนี้ชาวบ้านชาวช่องเขาทำเครื่องยนต์ที่ประหยัดเท่าๆเดิม แต่แรงขึ้นเห็นๆ กันไปแล้ว Mitsubishi Motors มัวแต่เน้นแค่ความประหยัดน้ำมันอย่างเดียว คงจะไม่ดีแน่ๆ ที่สำคัญก็คือ ถังน้ำมัน ควรมีขนาด 42 ลิตร เพื่อผลทางจิตวิทยา ว่า เครื่องยนต์ประหยัด เพราะเติมน้ำมันไม่บ่อย ควรศึกษาดูกรณีของ Honda CR-V Gen 2 เมื่อปี 2001 – 2002 เป็นตัวอย่าง ลูกค้าด่ายับ เข้าใจว่าไม่ประหยัดน้ำมัน เพราะถังน้ำมันเล็ก เลยต้องเติมกันบ่อย กรณีของ Mirage และ Attrage รุ่นปัจจุบันนี่ก็เช่นเดียวกัน อย่าให้มีปัญหาแบบนี้อีกในรุ่นต่อไป

4.ยึดถือจุดเด่น ด้านการบังคับควบคุมรถ และการทรงตัวของช่วงล่าง ในอดีต เพื่อนำมาพัฒนาให้ดีทีสุดในกลุ่มให้ได้

ในอดีต จุดเด่นสำคัญของรถยนต์ Mitsubushi คือ การเซ็ตช่วงล่าง และพวงมาลัย ที่ก้าวล้ำนำหน้าไปกว่าคู่แข่งในยุคสมัยเดียวกันเสมอ Heritage เหล่านี้ เริ่มหายไปตั้งแต่การมาถึงของ Mirage และ Attrage รุ่นนี้ ดังนั้น ในรุ่นต่อไป จึงอยากฝากให้ คำนึงถึงประเด็นนี้มากๆ ทั้งการควบคุมบังคับพวงมาลัย การตอบสนองต้องแม่ยำแบบเดียวกับรถยุโรป แต่ใช้ต้นทุนที่ถูกกว่า ซ่อมบำรุงง่าย ไม่แพง ไม่เพียงแค่นั้น ช่วงล่าง ก็ต้องแน่นหนากว่านี้ ไม่รู้สึกว่ารถกลวง เหมือนอย่างทุกวันนี้ อีกทั้ง การทดสอบการทรงตัวในย่านความเร็วสูง เป็นสิ่งจำเป็น เพราะอย่างที่พวกคุณก็รู้ว่า คนไทย จำนวนไม่น้อย ขับ ECO-Car กันเร็วดุจ Ferrari ! ดังนั้น ต่อให้เป็น ECO Car ช่วงล่าง ก็ต้อง Firm! พวงมาลัยก็ต้องดี! เบรกแล้วต้องมั่นใจ

5. ยึดถือจุดยืนในการนำเทคโนโลยีความปลอดภัย มาใส่ในรถยนต์กลุ่มนี้ เป็นรายแรกต่อไป

ลำดับต่อไป ที่รถยนต์ทั้งโลกจะต้องติดตั้งเหมือนๆกัน คือระบบในกลุ่ม ADAS (Adaptive Driver Assist System) ไม่ว่าจะเป็น ระบบ Blind Spot Monitoring กับระบบ RCTA (Rear Cross Traffic Alert) นี่ยังไม่นับระบบ Adaptive Redar Cruise Control ระบบ Lane Keeping Assist หรือระบบอื่นๆใดในกลุ่มนี้ ถึงเวลาที่ Mitsubishi Motors จะต้องรักษาภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำในด้านนี้ กับรถยนต์ขนาดเล็กรุ่นต่อไป ยังไงๆก็ต้องใส่มาให้ได้ แต่อย่าไปบีบต้นทุนด้านวิศวกรรมอื่นๆ ให้มากจนเกินไปละ!

6. สิ่งละอันพันละน้อย อย่ามองข้าม!

รายละเอียดการตกแต่งเล็กๆน้อยๆ เช่น ดิสก์เบรก 4 ล้อ การบุนุ่มให้กับแผงหน้าปัด การใช้ตะเข็บด้ายจริง กับแผงประตูด้านข้าง มือจับประตูแบบ Grip Type ระบบ KOS ที่สามารถดึงมือจับประตูเปิดได้ทันทีโดยไม่ต้องกดปุ่มสีดำนั่นอีก เบาะหลังของ Attrage ควรพับลงมาได้เสียที โทนสี วัสดุตกแต่งภายใน งานออกแบบพวงมาลัยให้ดูดีกว่านี้ การออกแบบเบาะนั่ง ให้สบาย พนักศีรษะต้องไม่ดันกบาล ฯลฯ คือรายละเอียดปลีกย่อย ที่ผมอยากให้ ทีมออกแบบ ใส่ใจกับ รุ่นต่อไปของ Mirage และ Attrage ให้มากกว่านี้เยอะๆ

***** คู่แข่งในตลาด *****
***** Competitors *****

ตลาดกลุ่ม B-Segment และ B-Segment ECO Car กำลังจะถูกกลืนรวมตัวเข้าด้วยกัน อันเป็นผลมาจากการที่ผู้ผลิตจำนวนมาก อยากจะใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี นำเครื่องยนต์บล็อกเล็ก มาใช้เทคโนโลยีอย่าง Downsizing Engine และ Turbocharger เข้ามาช่วย ดังนั้น ในปี 2019 – 2020 ตัวเลือกประกอบการตัดสินใจของลูกค้า จึงเพิ่มมากขึ้น จนไม่ง่าย ถ้าคิดจะจิ้มนิ้วเลือกรถยนต์ในกลุ่มนี้สักคัน เพราะต่างก็มีข้อดีและข้อด้อยแตกต่างกันไป

Honda BRIO / BRIO AMAZE

สามเหลี่ยมเบอร์มิวดา ติดล้อ ผู้น่าสงสาร ยังคงขายกันอยู่ ควบคู่ไปทั้งตัวถัง Hatchback 5 ประตู และ Sedan ในชื่อ Brio AMAZE ซึ่งก็มีตัวถังสั้นจน Amaze สมชื่อจริงๆ ต่อให้ พวงมาลัย กับขุมพลัง จะเซ็ตมาดีสมตัว และ Packaging ของตัวรถ จะเหมาะกับการใช้งานของคนโสด แต่ดูเหมือนว่า Honda ไม่อยากใส่ใจใยดีกับรถคันนี้เสียแล้ว เพราะเข็นยังไงก็เข็นไม่ขึ้น เป็นเรื่องน่าเสียดายมาก เพียงเพราะงานออกแบบภายนอกของรถทั้งคันที่ดู Look Cheap ไม่โดนใจลูกค้า จนขายไม่ออกตลอดอายุตลาด ขนาดจับเปลี่ยนโฉม Minorchange กันไปแล้ว สถานการณ์ยอดขายก็ยังไม่กระเตื้องขึ้นเลย นี่คือตัวอย่างของการโดนจำกัดงบในการพัฒนา รวมทั้งยังศึกษาลูกค้าชาวไทยมาไม่ดีพอ เพราะมัวแต่ไปเอาใจลูกค้าชาวอินเดียจนขายดีที่นั่น ข่าวล่าสุดก็คือ รุ่นใหม่ ที่เพิ่งเปิดตัวไปในตลาดแดนโรตี เมื่อปี 2018 ไม่เข้ามาขายในไทยอย่างแน่นอน เท่ากับว่า Honda คงจะปล่อยให้ Brio ล้มตายจากตลาดไปเงียบๆ ซึ่งนั่นคือทางออกที่ดีที่สุดแล้วจริงๆ

Honda City

น้องใหม่ จากกลุ่ม Downsizing เปลี่ยนโฉมใหม่ ใหญ่ขึ้นทั้งคัน ลดความจุเครื่องยนต์ แต่ทำแรงม้าสูงสุดถึง 122 ตัว (PS) มีแนวโน้มจะก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าตลาดในกลุ่มแทน Toyota อย่างไม่ยากเย็น เพียงแต่ว่า ศูนย์บริการในตอนนี้ เริ่มมีเสียงบ่นจากลูกค้าในหลายๆด้านเยอะอยู่ ต้องปรับปรุงกันต่อไป แต่ถ้จะถามว่า ขับขี่เป็นอย่างไร คงต้องรออีกสักพักหนึ่ง เพราะรถเพิ่งเปิดตัวสดๆหมาดๆ พร้อมๆ Mirage กับ Attrage นี่แหละ!

Mazda 2

รุ่นปรับโฉม Minorchange เปิดตัวพร้อมกันในงาน Motor Expo 2019 เปลี่ยนกระจังหน้าใหม่ให้หรูขึ้น พร้อมไฟท้าย และล้ออัลลอยลายใหม่ ยังคงมีจุดเด่นหลัก 3 ประการหลัก นั่นคือ ความสวย ที่ชนะใจวัยรุ่นทั้งประเทศไทย ความประหยัดน้ำมันที่บ้าระห่ำมากสุดในบรรดารถเก๋งเครื่องยนต์เบนซินที่เราเคยทำรีวิวกันมา ถึง 24.65 กิโลเมตร/ลิตร จากการทดสอบของเรา แถมยังเซ็ตพวงมาลัย กับช่วงล่างมา เอาใจคนชอบขับรถชัดเจน แต่ด้วยเหตุที่ Mazda 2 ถูกเซ็ตมาเพื่อรองรับเครื่องยนต์ Diesel 1.5 ลิตร ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่า เป็นหลัก พอยกออกแล้ววางเครื่องยนต์เบนซินที่เบากว่า ลงไป จึงกลายเป็นว่า ช่วงล่างให้สัมผัสเบากว่ารุ่น Diesel แถมอัตราเร่ง ก็ยังพอกันกับ Mirage / Attrage อีกทั้ง ห้องโดยสารยังมีขนาดเล็กและคับแคบกว่าเพื่อน (แต่ยังไม่เท่า Brio) ด้านศูนย์บริการ ภาพรวม อยู่ในระหว่างการกอบกู้ชื่อเสียงที่ย่ำแย่ ให้ฟื้นคืนกลับมาดีให้ได้

MG3

Hatchback คันไม่ค่อยเล็ก ออกแบบโดยคนอังกฤษ และจีน (มันคือผลงานช่วงท้ายๆของทีมคนอังกฤษ จริงๆนะ) แต่ประกอบที่เมืองไทย อันที่จริง การปรับโฉม Minorchange งวดล่าสุด ทำให้ได้เกียร์อัตโนมัติจาก Toyota Vios มาแปะใส่กับเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร ที่ออกแบบจากฝั่งอังกฤษ เมื่อทศวรรษก่อน อย่างน้อย ปัญหาด้านเกียร์ก็ลดลงไป ทำให้ตัวรถยังมีข้อดี ด้าน Option ที่สัมพันธ์กับราคา โดยเฉพาะหลังคา Panoramic Sunroof รายแรกในตลาด แถมด้วยระบบ i-Smart ที่มักจะรวนๆ ไม่ค่อย Smart สมชื่อเท่าไหร่ แต่นั่นยังไม่เท่าเรื่องคาใจ ทั้งปัญหาด้านการประกอบ ระบบไฟฟ้า ไปจนถึงการดูแลของศูนย์บริการ ที่ยังทำให้แบรนด์ MG น่าเป็นห่วงในสายตาของผู้บริโภคที่รู้เรื่องรถยนต์มาในระดับหนึ่ง อยู่ดี

Nissan March

ตัวเลือกราคาประหยัด สำหรับกลุ่มลูกค้าที่งบน้อย แต่คิดจะยกระดับคุณภาพชีวิต จากมอเตอร์ไซค์ มาเป็นรถเก๋งคันแรกในครัวเรือน นั่นละคือเหตุผลที่ทำให้รุ่นเกียร์ธรรมดา ขายดีสุดในตอนนี้ ขณะที่รุ่น CVT ขายน้อยมาก จุดขายอยู่ที่ความโปร่งของห้องโดยสาร และการทำราคา กระนั้น เรื่องการขับขี่ เป็นหนังคนละม้วนกับ Swift ไปเลย พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า ก็เซ็ตมาไม่เป็นธรรมชาติ ช่วงล่างก็เบาๆลอยๆ ดีกว่า Mirage นิดเดียว กระนั้น อัตราเร่งก็ยังดีกว่า Note น้องใหม่รุ่นล่าสุด นี่คือคู่แข่งที่น่ากลัว สำหรับ Mirage รุ่น GLX CVT เพราะตัวรถใหญ่กว่า ราคาถูกกว่า ลูกค้าต่างจังหวัด ออกรถง่ายไม่แพ้กัน

Nissan NOTE

ต่อให้มีจุดขายสำคัญอยู่ที่ ห้องโดยสารยาวสุดในกลุ่ม นั่งสบายพอใช้ได้ แถมพวงมาลัยกับช่วงล่าง ก็เซ็ตมาได้เฟิร์มจนดีงามเป็นอันดับต้นๆ ในตลาด ทว่า การเลือกวางเครื่องยนต์ HR12DE 3 สูบ DOHC 12 วาล์ว 1.2 ลิตร ลูกเดิมจาก March / Almera เพื่อหวังตั้งราคาขายให้พอมีกำไร กลับกลายเป็นหนามยอกอกทิ่มแทง ลูกค้าเมิน ขายไม่ดีอย่างที่ตั้งใจ แม้จะมีเรื่องให้ด่าเยอะ แต่ยังมีข้อดีว่า ทำเรื่องเคลมเปลี่ยนชิ้นส่วนได้ง่าย ไม่วุ่นวายนัก ทางเดียวที่ทำได้คือ ปล่อยให้ตายไปกับกาลเวลา แล้วรอรุ่นเปลี่ยนโฉมใหม่มาประกอบขายในบ้านเรา ราวๆ ปี 2021 ซึ่งจนถึงป่านนี้ ก็ยังลูกผีลูกคน ว่าจะมาจริงหรือเปล่า และยังไม่แน่ใจว่า จะมีขุมพลังตัวไหนบ้าง หรือจะมีเพียงแค่ Hybrid E-Power อย่างเดียว?

Nissan ALMERA

ในที่สุด Nissan ก็มีรถสวยๆ ขายแข่งกับชาวบ้านเขาเสียที ความหวังของชาวโรงงานบางเสาธง พร้อมชักธงรบกันแล้ว ข้อดีคือ ขุมพลังใหม่ เบนซิน 1.0 Turbo ไม่อืด แต่ก็ไม่ถึงกับแรงนัก ต้องกดปุ่ม Sport จึงจะแรงขึ้นนิดนึง ภายในมาพร้อมลูกเล่น Hi-Tech การตกแต่งที่ดีงามขึ้น พวงมาลัยเซ็ตมาดี อัตราทดพอกับ Note ตอบสนองเหมือน Note แต่เบาไปหน่อย ต้องหนืดกว่านี้อีกนิด ช่วงล่าง คล้าย Suzuki Ciaz คือ แนวนุ่ม แต่ทรงตัวถือว่าใช้ได้ เบรกเซ็ตมาเหมือน Mirage Attrage คือ แป้นเบรกเบา นุ่ม ระยะเหยียบยาวปานกลาง แรงต้านเท้าน้อย และยังคงรักษาจุดเด่นด้านความกว้างขวางของพื้นที่วางขาด้านหลังตามเดิม ส่วนพื้นที่เหนือศีรษะ ทำใจ นั่งแล้วหัวติดเหมือนเดิมเช่นกัน ทีนี้ก็เหลือแต่ ดีลเลอร์จะดูแลลูกค้าดีแค่ไหน เพราะโอกาสทองแบบนี้ มันมีมาโผล่แค่ไม่กี่ครั้ง

Suzuki Ciaz

คันใหญ่สุดในตลาด ห้องโดยสารโอ่โถงมากสุดในตลาด แถมยังแรงที่สุด..ไม่สิ อันที่จริง ควรใช้คำว่า อืดน้อยที่สุด และประหยัดน้ำมันที่สุดในกลุ่ม ECO Car ที่ใช้เครื่องยนต์ 1.2 ลิตร เดิมๆ (ยังไม่นับพวก Downsizing 1.0 Turbo)  เพียงแต่ว่า เกียร์ CVT แอบมีอาการเย่อ เหมือน Attrage และ Almera การเซ็ตพวงมาลัย ยังไม่เป็นธรรมชาติมากพอ อีกทั้งบรรดา อุปกรณ์ด้านความปลอดภัย ก็ไม่เยอะเท่า คู่แข่ง มีเพียงแค่ ถุงลมนิรภัยคู่หน้า กับระบบเบรก ABS + EBD ตามมาตรฐานเท่านั้น แถมอะไหล่แท้ ราคาถูกกว่าค่ายอื่น ศูนย์บริการ ควรเลือกดีลเลอร์หน้าใหม่ๆ ที่เน้นดูแลลูกค้าดีๆ เพราะพวกรายเก่าๆ หรือกลุ่มที่เคยทำธุรกิจรถยนต์ค่ายอื่นมาก่อน มีเสียงก่นด่าเยอะเอาเรื่อง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

Suzuki Swift

ก้าวขึ้นมาแซงหน้าบรรดา เพื่อนพ้อง ECO-Car ตัวถัง Hatchback ด้วยกันทั้งหมด ด้วยจุดเด่นด้านการบังคับควบคุม คล่องแคล่วได้ดังใจ สไตล์ยุโรป แต่ยังนุ่มสบายแบบญี่ปุ่น แถมเครื่องยนต์ยังแรงกว่าเดิม และประหยัดกว่าเดิม ทั้งที่ตัวเลขแรงม้าแรงบิด น้อยกว่ารุ่นเดิมด้วยซ้ำ กลายเป็นตัวเลือกที่ดีงาม ถ้าไม่ติดในเรื่อง Option ด้านความปลอดภัย ที่เริ่มน้อยกว่าคู่แข่งนิดๆ ราคาอะไหล่แท้ ยังถูกกว่าค่ายอื่น ส่วนเรื่องศูนย์บริการ ก็เหมือนกับ Ciaz นั่นละครับ ดีลเลอร์แถวภาคอีสาน ได้ใจลูกค้าไปเต็มๆ ขณะที่ดีลเลอร์ทางปักษ์ใต้ จะโดนเสียงด่าเยอะหน่อย

Toyota Yaris (ATIV Sedan & Hatchback)

การปรับโฉม Minorchange งวดล่าสุด เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2019 นี่เอง Upgrade ความแรง ด้วยเครื่องยนต์ใหม่ เบนซิน 1.2 ลิตร 92 แรงม้า (PS) และเพิ่มชุดแต่ง GT Package ให้กับรุ่น ATIV Sedan และ ชุดแต่งกึ่ง Offroad เป็น Yaris Cross ไปในช่วงเดียวกัน จุดแข็งของ Yaris อยู่ที่ ขนาดห้องโดยสาร ใหญ่โต เมื่อเทียบกับรถคันอื่น (แต่ยังแพ้ Note) ช่วงล่างที่ปรับปรุงให้นุ่มดีขึ้น (แม้จะยังติดแข็งหน่อยๆอยู่ก็ตาม) และความเป็น Toyota ที่คนส่วนมากในประเทศไทย ยังคงไว้วางใจอยู่ ว่าศูนย์บริการเยอะ ยังไงๆ ขายต่อ ก็ได้ราคามือสอง ดีกว่าแบรนด์อื่น จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมยังคงครองแชมป์ยอดขายในกลุ่ม B-Segment ECO Car กันต่อไป แต่ดูเหมือนว่า Toyota เองก็ยังต้องหาทางกระตุ้นยอดขายตลอดเวลา เพราะดูเหมือนว่า ยอดขายจะยังไม่สูงพอเท่าที่ประเมินไว้ในตอนแรก

** ถ้าตัดสินใจจะเลือก Mirage กับ Attrage รุ่นย่อยไหนคุ้มสุด? **
********************* Best buy variation ********************

Mirage และ Attrage Minorchange มีให้เลือก ตัวถังละ 4 รุ่นย่อย พร้อมราคาขายใหม่ ที่ปรับเพิ่มขึ้นรุ่นละ 7,000 – 19,000 บาท ดังนี้

  • Mirage 1.2 GLX 5MT         474,000 บาท
  • Mirage 1.2 GLX CVT          509,000 บาท
  • Mirage 1.2 GLS CVT           574,000 บาท
  • Mirage 1.2 GLS-Ltd. CVT  619,000 บาท
  • Attrage 1.2 GLX 5MT         494,000 บาท
  • Attrage 1.2 GLX CVT          536,000 บาท
  • Attrage 1.2 GLS CVT           579,000 บาท
  • Attrage 1.2 GLS-Ltd. CVT  624,000 บาท

ถ้าเงิน ไม่ใช่ปัญหา การอุดหนุนรุ่น Top GLS Ltd. ไปเลย ผมว่าค่อสนข้างจะคุ้มค่ามากสุด เพราะอุปกรณ์ที่ให้มา ก็ถือว่า จัดเต็มมากสุด ในราคาที่ไม่ถูกไม่แพงจนเกินไป พอยอมรับได้ อีกทั้ง เมื่อมองค่าผ่อนส่งต่อเดือน ที่เพิ่มจากรุ่น GLS ธรรมดา อีกไม่เท่าไหร่ แตคุณได้ข้าวของครบถ้วนกว่า น่าจะเหมาะสมกว่า

แต่สำหรับคนทั่วไป ที่ไม่แคร์ว่าจะต้องซื้อรุ่น Top แล้วนั้น รุ่นย่อยที่ผมมองว่า คุ้มค่ามากสุดก็คือ GLS CVT เพราะคุณได้ข้าวของมาใกล้เคียงกับรุ่น Top GLS Ltd. เพียงแต่ไม่จำเป็นต้องจ่ายแพงกว่ากันมากนัก ขณะที่รุ่น GLX CVT นั้น Mirage ดูจะคุ้มกว่า Attrage สำหรับคนโสด คุณจ่ายถูกกว่ากันเกือบ 30,000 บาท แต่ได้อุปกรณ์เท่ากัน ทว่า หากเป็นครอบครัวเริ่มต้น พ่อแม่ลูก การจ่ายเพิ่มอีก 30,000 บาท เพื่อเล่น Mirage GLX ไปเลย อย่างน้อย ได้พื้นที่ห้องเก็บของด้านหลังรถเพิ่ม และได้ความอุ่นใจเวลาขับไปไหนต่อไหน เพราะถ้าถูกเฉี่ยวชนเล็กๆน้อยๆ ระดับแค่กันชนแหก ก็จะไม่กระเทือนถึงห้องโดยสารมากนัก ยังพอใช้งานรถต่อได้ระหว่างรอเข้าอู่ซ่อมตัวถัง

ส่วนใครที่อยากได้รุ่นเกียร์ธรรมดานั้น แต่ละตัวถัง มีทางเลือกให้คุณแค่รุ่นเดียวเท่านั้น ก็คงได้แต่ทำใจ ว่า ยังดีวะ ที่ Mitsubishi Motors ยังเหลือรุ่นเกียร์ธรรมดาไว้ทำตลาดอยู่ต่อไปอีกสักพักใหญ่ๆ

—————————————

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2012 Mirage ออกสู่ตลาด โดยแบกความหวังของคนทั้งสำนักงานใหญ่ทุ่งรังสิตและแหลมฉบัง ไว้ ว่าถ้าไม่ประสบความสำเร็จ อนาคตของ รถเก๋ง Mitsubishi ในเมืองไทย น่าจะถึงคราวต้องยุติ ยังดีที่ว่า Mirage ใหม่ประสบความสำเร็จไม่เลว ด้วยยอดจองกว่า 20,000 คัน ในเดือนแรกที่เปิดตัว ผู้คนทั่วไปเริ่มเห็น Mirage ออกแล่นบนถนน หนาตา และส่วนหนึ่งก็คงต้องยกความดีให้กับ “นิชคุณ” ในฐานะ Presenter ใหญ่ของรถรุ่นนี้ ณ ขณะนั้น

ปีถัดมา Attrage เวอร์ชัน Sedan ก็คลานตามออกมา และทำยอดขายไปได้พอสมควร ดึงลูกค้าที่กำลังจะตัดสินใจซื้อ Nissan Almera ให้หันมามองและจับจองเป็นเจ้าของได้ไม่น้อยเลยทีเดียว จนในภายหลัง ยอดขายของ Attrage ก็เริ่มแซง Mirage ตามความคาดหมาย สำหรับประเทศที่ ยังคงตัดสินใจเลือกรถเก๋ง Sedan มากกว่ารูปแบบตัวถังอื่นใด

อดีตอันสวยงาม มันไม่จีรัง ธุรกิจยานยนต์ ก็เช่นเดียวกัน วันนี้ ท่ามกลางคู่แข่งทีมีจุดขายเหนือกว่ามากมาย พากันเปิดตัวออกมาเต็มตลาดไปหมด Mitsubishi Motors เองก็รู้ตัวดีว่า ตอนนี้ พวกเขา “อยู่ยาก” ขึ้นทุกที ปัญหาสำคัญของการทำ Mirage และ Attrage รุ่นที่ผ่านมา คือ การตีค่า ความต้องการรถยนต์ราคาประหยัดของลูกค้าชาวไทย และชาวโลก ผิดเพี้ยนไปหมด เข้าใจว่า รถยนต์ราคาประหยัด ก็คือ รถยนต์ราคาประหยัด ไม่ต้องทำออกมาให้มันดีเด่นัก แค่ใส่ Option ให้สอบผ่านมาตรฐานสากล ก็เพียงพอแล้ว

สมัยก่อนหนะ มันอาจจะพอ แต่สมัยนี้ นั่นมันไม่พอเหมือนสมัยก่อนแล้วครับพี่!

สิ่งที่อยากจะฝากถึงทีมพัฒนา Mirage และ Attrage รุ่นต่อไป คือ การ “เปลี่ยนมุมมองใหม่ ต่อลูกค้าของรถยนต์กลุ่ม B-Segment ทั่วโลก กันเสียที” การทำรถนั้น ไม่ใช่แค่ตั้งโจทย์มาให้เลือก ว่าคุณจะเอาความประหยัดน้ำมัน หรือเอาความแรง ไม่ใช่ความคิดแค่ 1 + 1 แล้วต้องเป็นแค่ 2 เพราะในโลกปัจจุบันนี้ 1 + 1 = Infinity Opportunity ไปแล้ว  ลูกค้ายุคนี้ ต้องการรถยนต์สำหรับการเริ่มต้นชีวิตวัยรุ่น หรือวัยผู้ใหญ่ ที่จะไม่โดนพ่อแม่หรือคนรอบข้างตั้งข้อสงสัยในสิ่งที่พวกเขาเลือก พวกเขาต้องการอุปกรณ์ต่างๆที่สะดวกต่อการใช้ชีวิต ปลอดภัย อย่างมั่นใจ ในแบบที่ Beyond Imagination ดังนั้น ในฐานะผู้ผลิตรถยนต์ คุณต้องวางแผน และก้าวตามให้ทัน อย่าทิ้งแผนกรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไว้ให้ตามหลัง รถกระบะ Triton กับ Pajero Sport อยู่อย่างนี้…

ไม่เพียงเท่านั้น การดูแลลูกค้ผ่าตัวแทนจำหน่าย และศูนย์บริการ คือสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้แบรนด์ อยู่ได้ในระยะยาว ทุกวันนี้ ศูนย์ฐริการ Mitsubishi Motors ที่ยังได้รับคำชมเชยอยู่นั้น ส่วนใหญ่ อยู่ตามต่างจังหวัด ในกรุงเทพฯ มีไม่ค่อยเยอะ การจัดการในปัญหานี้ ตลอดช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ก็ส่งผลให้ ศูนย์บริการ ของ Mitsubishi Motors ยังคงเกาะกลุ่มอยู่ในระดับกลางๆของตลาด คือ ดีกว่า Mazda Ford MG Mercedes-Benz (เมื่อดูคร่าวๆจากเสียงร้องเรียนของลูกค้า)

ถ้าทำได้ อนาคตของรถเก๋ง Mitsubishi ในเมืองไทย น่าจะยังคงอยู่ในตลาดได้อย่างสบายๆ เฉกเช่นเดียวกับตลาดรถกระบะ และ SUV/PPV ที่ฟื้นกลับมาลงหลักปักฐาน ไปเรียบร้อยแล้ว

หวังว่าจะไม่กลับไปเป็นเหมือนวันเก่าๆอีกนะ

————————///———————–

ขอขอบคุณ / Special Thanks to :
บริษัท Mitsubishi Motors (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ และการประสานงานในด้านต่างๆ อย่างดียิ่ง  

คุณ Sirapluke Porntharukcharoen
เอื้อเฟื้อสถานที่บันทึกภาพนิ่ง

———————————-

บทความที่ควรอ่านเพิ่มเติม
Full Review ทดลองขับ Mitsubishi MIRAGE รุ่นแรก Model Year 2012
Full Review ทดลองขับ Mitsubishi Attrage รุ่นแรก Model Year 2013

———————————-

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพ Illustration ทั้งหมด เป็นของ
Mitsubishi Motors (Thailand) Co.,ltd.
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
28 พฤศจิกายน 2019

Copyright (c) 2019 Text and Pictures
Use of such content either in part
or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
November 28th,2019

แสดงความคิดเห็นเชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!