ทดลองขับ Mitsubishi XPANDER (1.5 L 4AT FWD) : Omotenashi Minivan อืด แต่ช่วงล่างดี จากคนที่เคยออกแบบ Skyline และ Juke !
ครับ…อ่านไม่ผิดหรอก…
รถยนต์ Mitsubishi จากปลายปากกา ของคนที่เคยออกแบบรถยนต์รุ่นดังระดับโลก อย่าง Nissan Skyline R32 และ Nissan Juke !
สำหรับใครที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวในวงการรถยนต์ระดับโลก มันอาจเป็นเรื่องที่ดูน่างุนงงอยู่สักหน่อย…แต่สำหรับคนที่เสพติดข่าวธุรกิจยานยนต์ จนขาดไม่ได้ ถึงขั้นอาจลงแดง จนมีสภาพไม่ต่างจาก เด็กชายตัวน้อยที่กำลังชักดิ้นชักงอหน้าตู้ขายของเล่นตามห้างสรรพสินค้า คุณอาจเดาได้ว่า
“ก็แหงละสิ Nissan เขาซื้อกิจการ Mitsubishi Motors ไปแล้วนี่หว่า ไม่เห็นแปลกตรงไหนเลย…”
อาจจะใช่ครับ…แต่นั่นเป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวหนึ่งของสิ่งที่เกิดขึ้นจริง…
แล้วเรื่องราวมันเป็นมาอย่างไรกันละ?
ปกติแล้ว บทความ Full Review ของ J!MMY มักจะต้องเกริ่นนำด้วยประวัติศาสตร์ความเป็นมากันก่อน หลังจากที่คุณเลื่อนภาพถ่ายลงไปแล้วสัก 2 รูป…ผ่านอารัมภบทไปแล้ว ประมาณ 6 ย่อหน้า…
แต่คราวนี้ เราจะเริ่มกันตรงนี้เลย!
ย้อนกลับไปในช่วง 3 ปี ก่อนหน้านี้ Mitsubishi Motors ต้องเผชิญกับมรสุมลูกโต ในการออกมายอมรับกับสาธารณชน เมื่อ 20 เมษายน 2016 ว่า พวกเขาปรับแต่งตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของรถยนต์ K-Car 4 รุ่น ที่พัฒนาร่วมกับ Nissan Motor จริง ทำให้ตัวเลขของ Mitsubishi eK Wagon, eK Space ที่มียอดขายนับตั้งแต่เปิดตัวในปี 2013 จนถึงวันเกิดเรื่อง 157,000 คัน และ คู่แฝดอย่าง Nissan Dayz และ Dayz Roox ที่มียอดผลิต 468,000 คันในช่วงเวลาเดียวกัน ด้วยความจงใจ มีผลทำให้ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง (Fuel Consumption) ผิดเพี้ยน ดีขึ้นกว่าความเป็นจริง (รายละเอียดต่างๆ คลิกอ่านได้ที่นี่ Click Here) จนกระทั่งพวกเขาถูกจับได้ว่า ได้ทำแบบนี้มานานแล้วถึง 25 ปีก่อนหน้านั้น!! (รายละเอียดเนื้อข่าว จาก เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ The Guardians ของอังกฤษ Click Here)
อันที่จริง ก่อนหน้านั้น 16 ปี พวกเขาก็เคยก่อเรื่องอื้อฉาว ด้วยข้อหา พยายามปกปิดข้อบกพร่องของระบบเบรกที่ล้มเหลว และปัญหา Defect ของตัวรถยนต์หลายๆรุ่น ด้วยด้วยการเพิกเฉย ไม่ยอม Recall จนทำให้ กระทรวง ร่วมมือกับกรมตำรวจญี่ปุ่น บุกเข้าไปค้นในสำนักงานใหญ่ของ Mitsubishi Motors กลางกรุง Tokyo และที่โรงงานในเมือง Okazaki เกิดเป็นข่าวใหญ่โตขึ้นมา เมื่อ 22 สิงหาคม 2000 หรือเมื่อ 18 ปีที่แล้ว ส่งผลให้ต้องเรียกรถยนต์กลับมาซ่อมแซมปรับปรุงใหม่ หรือ Recall มากถึงหลายล้านคันทั่วโลก เรื่องราวครั้งนั้น สั่นสะท้านไปทั่ววงการรถยนต์ จนกลายเป็น “เรื่องราวอื้อฉาว ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของแวดวงอุตสาหกรรมญี่ปุ่น” มาแล้ว (รายละเอียดเนื้อข่าว จาก หนังสือพิมพ์ The Guardians อีกเช่นกัน Click Here)
ทว่า เหตุการณ์เมื่อ 3 ปีก่อน ทำให้ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2016 Renault Nissan Alliance โดย ลุง Carolos Ghosn ประกาศสายฟ้าแลบ ทุ่มเงิน 2.18 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เข้าซื้อหุ้น 34% ของ Mitsubishi Motors และกลายเป็น ผู้ถือหุ้นรายสำคัญที่มีอำนาจในการออกเสียงได้ในบอร์ดบริหาร และเข้าควบรวมกิจการกัน เพื่อจะใช้ประโยชน์ร่วมกันจากทรัพยากรต่างๆที่ทุกฝ่ายมีอยู่ ทั้งการวิจัยและพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ บน Platform ร่วมกัน การแชร์เทคโนโลยีร่วมกัน การจัดซื้อ และความร่วมมือต่างๆ อีกมากมาย
นักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อย มองว่า Renault – Nissan เอง อยากจะก้าวขึ้นแท่นเป็นผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์อันดับ 1 ของโลก แซงหน้า Volkswagen Group และ Toyota ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีพันธมิตรรายที่ 3 เข้ามาร่วมวงศ์ เพื่อที่จะนำตัวเลขต่างๆมารวมเข้าด้วยกัน ต่อยอดให้ฝันเป็นจริง
ขณะเดียวกัน Mitsubishi Corporation บริษัท Multi-Bussiness & Trading Company และ Holding Company รายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ในฐานผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือเจ้าของหลัก ของ Mitsubishi Motors เอง ก็คงเพลียและเหนื่อยเต็มที กับการที่ต้องอุ้มชูกิจการผลิตรถยนต์ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดกำไรมากมายนัก (หลังจากหย่าขาด และยุติความสัมพันธ์กับ อดีตพันธมิตร DaimlerChrysler มาตั้งแต่ 23 เมษายน 2004) จึงเกิดการเจรจาซื้อหุ้นในลักษณะฉับไวราวกับสายฟ้าแลบแสนประหลาดแบบนี้ขึ้นมา
Renault-Nissan คาดหวังจะใช้ประโยชน์จาก Mitsubishi Motors เพื่อเข้าถึงตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะตลาดประเทศไทย ที่มีแนวโน้มว่าตลาดรถยนต์ ยังคงเติบโตได้ดีกว่าตลาดญี่ปุ่นเองด้วยซ้ำ แม้กระทั่ง Carlos Ghosn ยังต้องยอมรับว่า Mitsubishi Motors ทำยอดขายรถกระบะ และ SUV/PPV ในตลาด ASEAN ได้ดีกว่า Nissan
ช่วงเวลาเดียวกัน หาใช่เพียงแค่ฝั่งญี่ปุ่นเท่านั้นที่ประสบปัญหา เพราะ Mitsubishi Motors (Thailand) บริษัทลูกในประเทศไทยเอง ก็ต้องประสบกับเรื่องราวดราม่ามากมายต่างๆนาๆที่ถาโถมเข้ามา อันเกิดจากแรงกดดันที่อยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในทุกๆด้านๆ นำมาซึ่งการว่าจ้าง “อดีตผู้บริหารหญิงคนหนึ่ง” เข้ามา ในเดือนธันวาคม 2015 ก่อให้เกิดความปั่นป่วนและระส่ำระส่ายภายใน ผู้คนข้างในองค์กรเองจำนวนไม่น้อย ที่ร่วมงานกับบริษัทฯ มานานหลายสิบปี ตั้งแต่สมัย ยังเป็นบริษัท MMC Sitthipol จำกัด ก็ปรับตัวไม่ทัน บางรายถึงขั้นต้องลาออกไปเพราะทนแรงกดดันต่างๆนาๆไม่ไหว แถมผลกระทบในช่วงแรกๆ ยังลามไปถึงหน่วยงานองค์กรภายนอกอีกจำนวนมาก
แม้ในวันนี้ Mitsubishi Motors (Thailand) ได้ย้ายสำนักงานใหญ่ ของฝ่ายขาย การตลาด ประชาสัมพันธ์ และบริการหลังการขาย จากทุ่งรังสิต มาอยู่ที่ อาคาร FYI สี่แยกคลองเตย รวมทั้ง”อดีตผู้บริหารหญิงคนหนึ่ง” นั้น ได้ออกจากบริษัทไปตั้งแต่ปี 2017 แล้ว แต่หลังจากนั้น ผู้คนจำนวนไม่น้อย ที่มีฝีมือดี มีความสามารถ และหลายคน อยู่เบื้องหลังรถยนต์ Mitsubishi หลายๆรุ่นที่เคยได้รับความนิยมในบ้านเรา ก็ยังคงทะยอยลาออกตามกันไป เรื่อยๆ เป็นเรื่องน่าเสียดาย ที่ Mitsubishi Motors (Thailand) เอง ไม่สามารถรักษาคนเก่งๆ เอาไว้ในบริษัทได้อย่างที่ควรเป็น
บรรยากาศมันเปลี่ยนไปจนไม่เหลือภาพเก่าๆ ไม่เหลือแม้กระทั่งความรู้สึกอบอุ่น ที่คนเก่าๆแก่ๆ ยุคก่อนปี 2016 เขาใช้ขีวิตร่วมกัน…ถึงแม้ว่าในหน้าที่การงาน จะตบตีกันยังไงก็ตาม แต่สุดท้ายแล้ว ทุกคนคือ เพื่อน คือพี่ คือน้อง ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา
ทุกสิ่งทุกอย่าง มันเปลี่ยนไปจากสิ่งที่ผมคุ้นเคย สมัยที่สำนักงานใหญ่ยังอยู่ที่ทุ่งรังสิต…จนในตอนนั้น ผมเคยแทบไม่เหลือความหวังว่า รถยนต์ Mitsubishi จะกลับมาฟื้นตัวได้ในเมืองไทยอีกต่อไปแล้ว..
(ทั้งหมดข้างต้นนั้น เป็นเรื่องราวในอดีต ที่ผมตัดสินใจบันทึกไว้ “สั้นๆ” ด้วยเหตุผลเพียงเพื่อต้องการให้คนรุ่นหลังได้มาอ่าน และเข้าใจเรื่องราวประวัติความเป็นไปที่เกิดขึ้น “คร่าวๆ” ของ Mitsubishi Motors ในประเทศไทย ช่วง 2015 – 2017 เท่านั้น ไม่ได้เพื่อจะกล่าวโทษใคร ไม่ต้องการเอ่ยชื่อใคร ไม่ต้องการประจานใครให้เสียหาย แต่เพียงเพื่อให้ได้รับรู้กันไว้ว่าเคยมีเรื่องราวแบบนี้เกิดขึ้นมาก่อน และได้แต่หวังว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก เพราะหลังจากนี้ ผมก็จะไม่ขอเขียนถึงเรื่องราวเหล่านี้อีกต่อไป)
ท่ามกลางความรู้สึกที่ย่ำแย่ในใจของผมนั้น จู่ๆ ผมก็ได้ยินเรื่องราวมาจากผู้คนรอบข้าง ที่เริ่มเล่าเรื่องราวการมาถึงของชายคนนี้…และเริ่มมองเห็นอนาคตของแบรนด์ Mitsubishi Motors ทั้งในระดับโลก และในบ้านเรา…อีกครั้ง…
ย้อนกลับไปเมื่อปี 1975 อันเป็นปีที่ Mitsubishi Motors เพิ่งเปิดตัว Lancer Celeste 2 ประตู ในญี่ปุ่น Mr.Tsunehiro Kunimoto เพิ่งจบการศึกษาจาก Musashino Art University และเริ่มเข้าทำงานกับ Nissan Motor อีก 20 ปีต่อมา เขาถูกส่งไปเป็น Vice President ที่ Nissan Design America ใน San Diego สหรัฐอเมริกา
หลังการเข้าควบรวมกิจการเป็น Renault – Nissan Alliance ในปี 1999 และ Carlos Ghosn ได้ดึงตัว Shiro Nakamura จาก Isuzu มาเป็น Chief Designer ที่ Nissan ในปี 2000 Kunimoto-san ก็ได้รับโปรโมทให้เป็น Design Director ดูแลงานออกแบบของรถยนต์ Nissan และ Infiniti ทั้งหมด
ผลงานที่ผ่านมา? Kunimoto-san เคยเป็น Chief Designer ของ Nissan Skyline R32 (1989) รุ่นที่ทำให้ชื่อ GT-R กลับมาโด่งดังอีกครั้งในหมู่คนรุ่นเราตอนนี้นั่นแหละ! นอกจากนี้ ยังเคยทำรถสปอร์ตต้นแบบ Concept Z (2000) Crossover SUV ร่างโต Infiniti FX และผลงานที่โด่งดังสุดคือ Nissan JUKE!!! และนี่แค่เบื้องต้นเท่านั้น….!!
40 ปี ในการทำงานกับ Nissan มันนานพอที่จะทำให้เขาตัดสินใจเกษียณ ออกมา แต่ด้วย Connection ที่เชื่อมโยงกันในหมู่คนทำงานสายนักออกแบบรถยนต์ ชักชวนกันไปมา ทำให้เข้าตัดสินใจ มารับบทบาทใหม่ที่ Mitsubishi Motors เมื่อเดือน เมษายน 2014 ในตำแหน่ง Corporate Vice President ,Design Division
ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆก็คือ สมัยก่อน Chris Bangle เคยเป็น Chief Designer ของ BMW , Shiro Nakamura เคยเป็น Chief Designer ที่ Nissan หรือ Peter Schreyer เคยเป็น Chief Designer ของ Kia Motors กันมาอย่างไร
คุณลุง Kunimoto ก็เข้ามารับตำแหน่ง Chief Designer ของ Mitsubishi Motors นั่นแหละ!!!!!
การลาออก หรือเกษียณ จากงานเดิม แล้วย้ายค่ายมาอยู่กับคู่แข่ง (ในตอนนั้น) ของ Kunimoto-san อาจเป็นเรื่องปกติในสายตาของคนไทย หรือชาวโลก แต่สำหรับประเทศที่มีวัฒนธรรมการทำงานให้กับองค์กรเดียวตลอดชีวิต ของคนญี่ปุ่น ยุค Baby Boomer (เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วง 1948 – 1970) ถือเป็นเรื่องแปลกในระดับไม่ธรรมดาอย่างมาก แน่นอนว่า Mitsubishi Motors กำลังเผชิญกับช่วงเวลายากลำบาก และพวกเขาต้องการทางออกที่ดีกว่า
คุณลุงเคยให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ Automotive News ว่า “การเข้าร่วมงานกับ Mitsubishi Motors เป็นเรื่องที่สนุกมาก เพราะทั้ง 2 บริษัท มีวัฒนธรรมองค์กร แตกต่างกัน ผม Enjoy กับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้” เข้ากล่าวต่อว่า “จุดเด่นอย่างหนึ่งของ Mitsubishi Motors คือ ผมสามารถพูดคุยกับ CEO (Masuko-san) ได้ง่ายมาก CEO โทรศัพท์ถึงผมเพื่อถามว่า “คุณสะดวกจะพูดคุยกันตอนนี้ไหม?” นั่นคือสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประสบการณ์ของผม รูปแบบของการสื่อสาร ระยะห่างลำดับชั้นในการทำงาน และวัฒนธรรมองค์กรนั้น แตกต่างกันมาก”
เป้าหมายหลักของเขา คือ…การ Rebuild brand Mitsubishi Motors ขึ้นมาใหม่ สร้างความเป็น “Mitsubishi-ness” ให้คนจดจำ
ในอดีต นักออกแบบยุคก่อนๆของ Mitsubishi Motors พยายามสร้างเอกลักษณ์ดังกล่าว ด้วยกระจังหน้าทรงสามเหลี่ยมปิระมิด ที่เริ่มใช้กันมาตั้งแต่ Mitsubishi Triton (สิงหาคม 2005) ก่อนจะกระจายไปยัง รถเก๋งรุ่น Lancer Cedia Minorchange และ SUV รุ่นใหญ่อย่าง Pajero กับ Pajero Sport หรือแม้แต่ Crossover SUV รุ่นเล็กอย่าง RVR / ASX ทว่า พูดกันตามตรงคือ มันแปลกตา แต่ไม่ได้น่าจดจำ หรือทำให้เกิดความรู้สึกอยากเป็นเจ้าของรถยนต์ Mitsubishi ในยุคนั้น มากเท่าใดนัก แถมมมันยังดูน่าเบื่อในสายตาของผู้คนทั่วไปอีกด้วย การที่เส้นสายของรถยนต์แต่ละรุ่นมีความแตกต่างกระจัดกระจายกันไปคนละทิศทาง บางคันก็ดูเรียบๆเกินไป (Lancer Cedia JT 2000 – 2007) บางคันก็ดูสุดโต่งเกินไป (Triton 2005) ทำให้มันยากต่อการจดจำของผู้คนว่า บุคลิกที่แท้จริงของ รถยนต์ Mitsubishi คืออะไร?
Kunimoto-san เล่าผ่านบทสัมภาษณ์ในเว็บไซต์ Carmagazine.co.uk ว่า “หลังจากเริ่มงาน ผมอยากรู้ว่า “อะไรคือ Mitsubishi Motors” ผมได้ไปเยือนประเทศที่ แบรนด์ของเราแข็งแกร่งมากๆ ทั้งทางตะวันออก รวมทั้งบางส่วนของ Europe ไปจนถึง Russia เพื่อสัมภาษณ์ลูกค้า และผลที่ได้นั้นน่าสนใจมาก เช่น เมื่อครั้งที่ผมมาเยือนประเทศไทย ซึ่งผู้คนจำนวนมาก ใช้รถกระบะ ของเรา เพื่อประกอบธุรกิจในวันธรรมดา และพาครอบครัวไปพักผ่อนในวันหยุด บนถนนที่ขรุขระเป็นหลุมบ่อ ผู้คนชื่นชอบรถกระบะของเรา เพราะความแข็งแกร่ง ทนทาน และบางคน ก็ใช้รถกระบะของเรานานถึง 20 ปี โดยที่ไม่ค่อยมีปัญหาอะไรมากนัก อีกทั้งยังง่ายต่อการบำรุงรักษา ตัวถังและเฟรมแชสซีส์ก็ทนทรหด ดังนั้น ในประเทศไทยและ Indonesia ผู้คนส่วนใหญ่จะมองว่า รถยนต์ Mitsubishi ยังมีความได้เปรียบอยู่ นอกจากนี้ ผมยังสัมภาษณ์ลูกค้าในเยอรมนี และอังกฤษ อีกด้วย พวกเขาพูดถึงแบรนด์ของเราในทิศทางเดียวกัน คือ แข็งแกร่ง ไว้ใจได้ และ ซื่อสัตย์เชื่อถือได้”
ดังนั้น ทิศทางการออกแบบของ Mitsubishi Motors ในมือของ Kunimoto-san นับจากนี้ คือการเน้นไปที่แนวคิด Form follow Function (รูปทรง ตามหลัง ประโยชน์ใช้สอย หรือ..การใช้งาน ต้องมาก่อน รูปทรง) วลีนี้ คนที่ใช้เป็นครั้งแรกคือ Louis Sullivan สถาปนิกชื่อดังในปี 1896 ก่อนที่ Frank Lloyd Wright สถาปนิกชื่อก้องโลก จะนำมายึดถือในการออกแบบอาคารชื่อดังมากมายทั่วโลกในเวลาต่อมา
Kunimoto-san วางเป้าหมาย การออกแบบรถยนต์ Mitsubishi ในยุคต่อไป ดังนี้
1.พัฒนางานออกแบบรถยนต์แต่ละรุ่นใน Line-up ให้มีแนวทางเดียวกัน และง่ายต่อการจดจำมากขึ้น
2.สร้างสไตล์เพื่อบ่งบอกว่า Mitsubishi Motors มีรากฐานการเติบโตจาก SUV
ไฮไลต์สำคัญของการเปลี่ยนแปลงด้านงานออกแบบบนรถยนต์ Mitsubishi ก็คือ การออกแบบด้านหน้ารถ รูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า Dynamic Shield ที่เคยเกิดขึ้นในช่วง ปี 2013 ก่อนการมาถึงของ Kunimoto-san ได้ถูกยกระดับขึ้นเป็น Advance Dynamic Shield ซึ่งเป็นการผสมผสานกันระหว่างความดุดันจากการไขว้กันของเส้นสายเป็นเกราะรูปตัว X เป็นโล่ห์กำบังด้านหน้ารถ โดยมีพื้นที่สีดำไว้ ให้ติดตั้งอะไรก็ได้เข้าไปบนพื้นที่ว่างนั้น ทั้งป้ายทะเบียน หรือจะเป็น ตัว Radar ซึ่งวิศวกรจะชอบมาก เพราะสีดำจะไม่มีผลกระทบต่อการรับ-ส่งสัญญาณ Radar ส่วนชุดไฟจะแบ่งเป็น 2 ชั้น ด้านบนจะเป็นไฟหรี่ หรือไฟ LED ส่วนไฟหน้า จะย้ายลงมาอยู่ที่บริเวณด้านข้าง ของช่องรับอากาศที่เปลือกกันชนหน้า ทั้งหมดนี้ จะกลายมาเป็นเอกลักษณ์ใหม่ของรถยนต์ Mitsubishi ที่เราจะพบเห็นได้ นับจากนี้เป็นต้นไป
ผลงานแรกของเขาคือการปรับโฉม Minorchange ให้กับ Mitsubishi Outlander Generation ที่ 3 จากเดิม ซึ่งมีหน้าตา เรียบๆแก่ๆ โคตรเชย ให้พลิกโฉมจนเกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น และออกเผยโฉมครั้งแรกเมื่อปี 2015 ที่ผ่านมา จากนั้น ก็ตามด้วยรถยนต์ต้นแบบ GT-PHEV และ Mitsubishi Eclipse Cross ในงาน Geneva Motor Show เมื่อเดือน มีนาคม 2017 ที่พัฒนาต่อเนื่องมาจาก รถต้นแบบ XR-PHEV (Tokyo Motor Show 2013) และล่าสุดกับ XM-Concept (GAIIS 2016) ซึ่งกลายมาเป็น Xpander ที่เห็นอยู่นี้
ผมมีโอกาสได้พบเจอกับ Kunimoto-san เป็นครั้งแรก เมื่อเขาบินมาเมืองไทย เพื่อร่วมงานเปิดตัว “ผลงานชิ้นล่าสุด” ของเขา ในงาน Big Motor Sales เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2018 ที่ผ่านมา ณ BiTEC สี่แยกบางนา การพูดคุยกันเพียงสั้นๆ ทำให้ผมเข้าใจเลยว่า ทำไมหลายๆคนจึงพูดถึงเขาให้ผมฟังในทางที่ดี เพราะ เมื่อเทียบกับ Chief Engineer หรือ Chief Designer หลายๆคนที่ผมเคยเจอมาจากค่ายอื่น ถึงแม้เขาจะมีบุคลิกคนละแบบกับ Shiro Nakamura อดีต Chief Designer ของ Nissan แต่ทั้ง 2 คนนี้ มี 3 สิ่งที่เหมือนกัน คือ เป็นคน Nice อัธยาศัยดีมากๆ แถมยังเป็นคนที่มี Attitude ดีมากๆ และเปิดกว้างกับสิ่งใหม่ๆรอบๆตัว ตลอดเวลา (หลังจากเสร็จกิจกรรมที่ต้องทำในบูธของบริษัทตัวเอง คุณลุง ก็เริ่มออกเดินสำรวจรถยนต์ค่ายอื่นที่จัดแสดงในงานทันที ผมยังเห็นคุณลุงเดินไปเปิดดู Honda CR-V ใหม่ ด้วยความสนใจ…(เพราะวันที่ปิดต้นฉบับนี้ CR-V ยังไม่เปิดตัวในญี่ปุ่น ต้องรอหลัง 30 สิงหาคม 2018 ไปแล้ว) สรุปง่ายๆคือ เป็นคนที่ น่าพูดคุยด้วยเป็นอย่างยิ่ง!
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่ Kunimoto-san มาเยือนเมืองไทย ก่อนหน้านี้ เขาเคยบินมาลงวิจัยสำรวจความคิดเห็นของลูกค้า เพื่อเตรียมวางแผนการพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ๆ ทั้ง Mirage กับ Attrage รุ่นต่อไป (ซึ่ง Headlightmag คาดว่าจะออกจำหน่ายในปี 2019 – 2020) รวมทั้ง Sub-Compact Minivan รุ่นใหม่ เพื่อตลาด Indonesia และ ASEAN ที่เห็นอยู่นี้ โดยเฉพาะ มาแล้ว…
แล้วทำไม Mitsubishi Motors ถึงขั้นต้องกระโจนเข้าร่วมศึก Sub-Compact Minivan ด้วยการทำรถยนต์ขึ้นมาเพื่อเอาใจลูกค้าใน Indonesia เป็นพิเศษ? ประเทศนี้มีดีอะไรขนาดนั้นกันเชียวเหรอ?
สำหรับคนที่ไม่เคยสนใจดินแดนอิเหนามาก่อน ผมคงต้องท้าวความกันต่ออีกนิดนึง…
ตลาดรถยนต์ใน Indonesia นั้น ถูกจับตามองจากบริษัทรถยนต์ทั่วโลก มานานแล้ว เนื่องจากจำนวนประชากรทั้งหมด ที่กระจายตามเกาะแก่งต่างๆ มากถึง 267,102,980 ล้านคน! (ข้อมูล ณ วันที่ 10 สิงหาคม 2018) เริ่มมีสภาพเศรษฐกิจครัวเรือนดีขึ้น รายได้มากขึ้น คุณภาพชีวิตเริ่มดีขึ้น แต่การคมนาคมสัญจร ยังเปลี่ยนแปลงช้า ถนนหนทางพัฒนาไม่ทันกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ผู้คนจึงมองหารถยนต์ส่วนตัวมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ความต้องการของลูกค้าชาวอิเหนา จะ Unique แตกต่าง ไม่เหมือนกับชาวโลก พวกเขา ต้องการแค่รถยนต์นั่งอเนกประสงค์ 7 ที่นั่ง สมรรถนะไม่เน้น ขอแค่ครอบครัวนั่งไปพร้อมกันได้ทั้ง 7 คน คุ้มแดดคุ้มฝนได้ ลุยน้ำท่วม และถนนหนทางซึ่งไม่ค่อยจะดีนักในภาพรวมได้ ที่สำคัญ ต้องมีราคาถูก
รสนิยมแบบนี้ ทำให้ผู้ผลิตส่วนใหญ่ พยายามสร้างรถยนต์ ที่มุ่งเอาใจลูกค้าใน Indonesia โดยเน้นไปที่การลดต้นทุน ไม่ให้มีราคาขายปลีกแพงเกินไป ส่งผลให้คุณภาพของตัวรถยังไม่ถึงกับดีนักเมื่อเทียบกับ รถยนต์ที่จำหน่ายในอารยะประเทศที่เจริญแล้ว
นั่นคือเหตุผลที่ว่า ถึงแม้ตลาดรถยนต์ Indonesia ในปี 2017 ที่ผ่านมา จะมียอดขายสูงถึง 1,079,308 คัน (เฉลี่ย เดือนละประมาณ 90,000 คัน) แซงหน้าประเทศไทยไปแล้ว แต่การส่งออกรถยนต์ของ Indonesia ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าแดนอิเหนาด้วยกันเองเป็นหลัก ไปยังตลาดอื่นๆทั่วโลก จะทำได้ยาก
ต้องยอมรับว่า จุดเปลี่ยนสำคัญของตลาดรถยนต์ Indonesia คือการที่ PT Toyota Astra Motor จับมือกับ บริษัทแม่ในญี่ปุ่น อย่าง Toyota Motor Corporation ยกระดับ รถยนต์อเนกประสงค์ประจำท้องถิ่นอย่าง Toyota Kijang ให้ขึ้นไปเป็นรถยนต์ขนาดใหญ่อย่าง Toyota Innova แล้วก็พัฒนารถยนต์ 7 ที่นั่งขนาดเล็กกว่า บนพื้นตัวถังขับเคลื่อนล้อหลังของ Daihatsu Terios รุ่นเก่า ออกมาในชื่อ Toyota Avanza / Daihatsu Xenia ที่เผยโฉมครั้งแรกในงาน Gaikindo Auto Expo เดือนกรกฎาคม 2003 และเริ่มออกจำหน่ายในเดือนพฤศจิกายน 2003
Avanza / Xenia ได้สร้างตลาดรถยนต์กลุ่มใหม่ให้เกิดขึ้น ในชื่อที่ยาวหน่อย แต่ผมขอเรียกให้เข้าใจง่ายๆว่า ASEAN B-Segment (Sub-Compact) 7-Seater Minivan (MPV : Multi Purpose Vehicle) ลูกค้าพากันอุดหนุนเป็นจำนวนมาก เพราะในที่สุด ตลาดรถยนต์ 7 ที่นั่ง ราคาประหยัด อย่างที่พวกเขาต้องการ ก็เกิดขึ้นเสียที ทำให้ผู้ผลิตชาวญี่ปุ่นทุกค่าย ต้องรีบทำรถยนต์ประเภทนี้ ออกมาขายแข่งกับ Toyota และ Daihatsu กันบ้าง ไม่ว่าจะเป็น Honda ที่สร้าง Minivan รุ่น Mobilio และเวอร์ชันยกสูง BR-V บนพื้นฐานโครงสร้างวิศวกรรมร่วมกับ Honda Brio รุ่นแรก , Nissan เองก็นำ Note รุ่นแรก มาเปลี่ยนหน้า เติมความยาวบั้นท้าย ออกขายเป็น Nissan Livina Genis ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น Grand Livina รวมทั้งออกรถราคาประหยัด Datsun Go Wagon มารองรับตลาดล่างด้วย ด้าน Suzuki เอง ก็พัฒนา Minivan รุ่น Ertiga บนพื้นฐานตัวถัง Swift และ Ciaz มาจำหน่าย และขายดีอยู่พักหนึ่ง
แม้กระทั่ง Toyota / Daihatsu เอง ก็ยังต้อง ทำรถยนต์ 7 ที่นั่ง เพิ่มเติมอีก 2 รุ่น เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกัน ทั้ง Toyota Calya / Daihatsu Sigra สำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีงบไม่มากนัก เอื้อมไม่ถึง Avanza / Xenia แต่ต้องการ Minivan 7 ที่นั่ง รวมทั้ง Toyota Rush / Daihatsu Terios (Indo version) สำหรับลูกค้าที่อยากได้ Minivan ยกสูง 7 ที่นั่ง ดูลุย แต่โฉบเฉี่ยว และพร้อมจะจ่ายแพงกว่า Avanza / Xenia
อย่างไรก็ตาม ตลาดกลุ่มนี้ ค่อนข้างหินมาก ไม่ใช่ใครก็จะเข้ามาแย่งชิงก้อนเค้กส่วนแบ่งการตลาดได้ ขนาด ยักษ์ใหญ่ General Motors (GM) ที่เคย ให้ทีมพัฒนารถยนต์ของตนใน Brazil สร้าง Chevrolet Spin ออกมาขาย ก็ยังล้มเหลวไม่เป็นท่า ถอนตัวออกจากตลาดภายในเวลาแค่ 3 ปี เท่านั้น ถึงขั้น ปิดโรงงานที่ Bekasi ชานกรุง Jarkata ไปเรียบร้อย!
Mitsubishi Motors เฝ้ามองความเปลี่ยนแปลงในตลาดกลุ่มนี้มาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา พวกเขามองว่า บัดนี้ ถึงเวลาแล้ว ที่ควรจะเข้าไปร่วมแย่งชิงส่วนแบ่งก้อนเค้กการตลาดของรถยนต์ 7 ที่นั่งกลุ่มนี้ กับเขาบ้าง งานนี้ พวกเขาถึงขั้น พัฒนา พื้นตัวถัง (Platform) ใหม่ ขึ้นมาเพื่อ Minivan รุ่นนี้โดยเฉพาะ ไม่ได้ทำมาเพื่อรองรับขุมพลัง Hybrid,EV,PHEV หรืออื่นใด แต่เพื่อรองรับแค่เครื่องยนต์เบนซินธรรมดา เท่านั้น โดย Platform นี้ อาจจะถูกนำไปใช้กับรถยนต์คันอื่นๆในอนาคตอันใกล้ก็ทำได้ และสิ่งที่พวกเขาจะใช้เป็นจุดเด่น ในการดึงดูดใจลูกค้านั้น คือ เรื่องของ “DESIGN”…!!
ช่วงแรกเริ่มต้นโครงการพัฒนา Kunimoto-san ถึงขั้น บินมาเริ่มสำรวจและวิจัยตลาด และความต้องการของลูกค้าในประเทศไทยก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงเดินทางไปสำรวจต่อที่ Indonesia และประเทศเพื่อนบ้านในย่าน ASEAN เพื่อนำข้อมูลที่ได้ ไปสรุปรวม และสร้างรถยนต์ขึ้นมาตามความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง
การเดินทางครั้งนั้น ทำให้เขาค้นพบว่า ลูกค้าในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะใน Indonesia มักใช้รถยนต์ในการเดินทางไปไหนมาไหนร่วมกัน 5-7 คน ท่ามกลางสภาพอากาศหลากรูปแบบ ทั้งร้อน ฝนตกจนน้ำท่วม ตัวรถควรมีพื้นใต้ท้องค่อนข้างสูงจากพื้นถนนพอสมควร เพื่อให้สามารถลุยน้ำที่ท่วมขังเจิ่งนองไปได้สบายๆ ขณะเดียวกัน ก็ยังสามารถขับขี่ผ่านถนนที่มีสภาพย่ำแย่ (ในระดับที่ต้องให้องค์การ NASA มาออกใบ Certificate ยืนยันว่า นี่คือพื้นถนนโลกจริงๆ ไม่ใช่พื้นผิวดาวอังคาร) ได้อย่างสบายๆ
ไม่เพียงเท่านั้น ผลวิจัยตลาดยังระบุด้วยว่า ลูกค้าผู้ชายส่วนใหญ่ อยากได้รูปลักษณ์ภายนอก ที่ดูโฉบเฉี่ยว แต่บึกบึน ดูมีมัดกล้าม ขณะที่ลูกค้าสุภาพสตรี ส่วนใหญ่ อยากได้ห้องโดยสารที่ดูหรูหรา โปร่ง โล่ง นั่งสบาย
ทีมออกแบบของ Mitsubishi Motors จึงเริ่มมีแนวคิดใหม่ ที่จะพัฒนา MPV 7 ที่นั่ง ให้มีบุคลิกแตกต่างจากคู่แข่งทุกคันในตลาด ซึ่งนอกจากจะต้องมีตัวถังขนาดใหญ่ที่สุด นั่งสบายที่สุด มีพื้นที่ใช้สอยมากสุดแล้ว ยังต้องนำบุคลิกรถยกสูงแบบ SUV มาผสมผสานเข้ากับ Minivan 7 ที่นั่ง อีกด้วย! (อย่าลืมว่า ตอนนั้น ช่วงปี 2012 – 2013 ขณะที่โครงการพัฒนา Xpander เริ่มต้นขึ้นได้ไม่นานนัก คู่แข่งอย่าง Honda เอง ก็ซุ่มทำ BR-V อยู่ ยังไม่ได้เปิดตัวแต่อย่างใด)
Kunimoto-san เล่าว่า “การออกแบบรถยนต์ของ Mitsubishi Motors อยู่บนพื้นฐานแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับเอกลักษณ์การออกแบบ ด้วยการถ่ายทอดความสำเร็จของรถยนต์ระดับตำนานที่หลายคนประทับใจ สู่ยานยนต์ยุคใหม่ที่ทำลายข้อจำกัดต่างๆในอดีต เพื่อให้พร้อมดึงดูดทุกสายตา และ เป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าทั่วโลก”
“Xpander ใหม่ ถูกออกแบบขึ้นภายใต้แนวความคิด ‘ความแข็งแกร่ง และการสร้างสรรค์อย่างชาญฉลาด’ (Robust & Ingenious) โดยนำงานออกแบบด้านหน้ารถยุคใหม่ของ Mitsubishi Motors ที่เรียกว่า Advanced ‘Dynamic Shield’ ซึ่งถูกนำมาใช้ครั้งแรก ทั้งใน SUV รุ่น Outlander , Outlander PHEV และ Pajero Sport รุ่นล่าสุด มาผสานความแข็งแกร่งของเส้นสายด้านข้างที่ถูกเสริมความบึกบึนด้วยโป่งซุ้มล้อทั้ง 4 ให้ดูคล้ายกับ SUV ที่พร้อมพาทุกคนลุยไปข้างหน้า”
“ขณะเดียวกัน ภายในห้องโดยสาร ถูกสร้างขึ้นภายใต้แนวคิด ‘Horizontal Axis’ ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่ การออกแบบแผงหน้าปัด และคอนโซลหน้า เป็นแบบเส้นตรงแนวนอน แต่มีรายละเอียดโค้งมนด้านบน เพื่อให้รู้สึกถึงความกว้างขวาง เพิ่มความสะดวกสบายในการใช้งานแก่ผู้ขับขี่ ผสานเข้ากับความประณีตและพิถีพิถันในทุกรายละเอียด ด้วย “ความใส่ใจในการดูแลแบบญี่ปุ่น” (‘Omotenashi’ or ‘Hospitality’) เพื่อให้ภายในห้องโดยสารมีบรรยากาศผ่อนคลาย พร้อมรองรับทุกความต้องการของผู้โดยสาร”
“ถ้าให้กล่าวโดยสรุป Xpander ถูกออกแบบขึ้นโดยลูกค้าของเรา ผมเพียงแค่เปลี่ยนสิ่งที่พวกเขาคาดหวัง ความต้องการ และความปราถนา ให้กลายเป็นรูปเป็นร่าง”
แนวคิดในการพัฒนารถยนต์นั่ง Compact Minivan 7 ที่นั่ง รุ่นใหม่ ถูกเผยสู่สาธารณชนเป็นครั้งแรก ในฐานะ รถยนต์ต้นแบบ Mitsubishi Concept AR จัดแสดง บนแท่นหมุน ในงาน Tokyo Motor Show เมื่อ 20 พฤศจิกายน 2013 ร่วมกับรถยนต์ต้นแบบอีก 3 คัน (ซึ่ง 1 ในนั้น คือ Concept XR ที่กลายมาเป็น Eclipse Cross ในเวลาต่อมา) โดยชื่อ AR มาจากคำว่า Active Runabout สื่อถึง ความตั้งใจที่จะพัฒนาให้รถคันนี้ สร้างความเพลิดเพลินในการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นในเมือง หรือนอกเมือง ด้วยเส้นสายที่ เรียบง่าย สะอาดตา ผสมผสานรูปแบบของ รถยนต์ Minivan MPV เข้ากับ บุคลิกลุยๆของ SUV ได้อย่างลงตัว
ภายใต้ตัวรถซึ่งมีความยาว 4,350 มิลลิเมตร กว้าง 1,780 มิลลิเมตร สูง 1,690 มิลลิเมตร Concept AR วางขุมพลังแบบ Mild Hybrid ประกอบไปด้วย เครื่องยนต์ เบนซิน 3 สูบ DOHC 1.1 ลิตร ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงตรงสู่ห้องเผาไหม้ Direct-Injection พร้อมระบบแปรผันวาล์ว MIVEC และระบบอัดอากาศ Turbocharger กำลังสูงสุด 100 แรงม้า (PS) พ่วงด้วย Generator แบบ Belt-Start 10 kW (กิโลวัตต์) ทำงานร่วมกับแบ็ตเตอรี Lithium-ion ขนาด 0.25 kWh (กิโลวัตต์/ชั่วโมง) ด้วยกระแสไฟ 48 V ขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยเกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผัน CVT
ภายในห้องโดยสาร สามารถปรับรูปแบบการใช้งานได้ ทั้งแบบ 6 ที่นั่ง หรือ 4 ที่นั่ง พร้อมห้องเก็บสัมภาระ โดยเบาะคู่หน้า สามารถหมุนหันหลังกลับมา หันหน้าชนกันกับผู้โดยสารเบาะแถวกลาง เหมือนชุดรับแขกในบ้านได้ มี Tablet ส่วนตัวให้ คอยโซลกลางคู่หน้า เลื่อนถอยหลังลงมายังแถวกลางได้ นอกจากนี้ยังติดตั้งเทคโนโลยี e-Assist: ซึ่งถือว่าเป็นของเล่นใหม่ ในยุคปี 2013 (แต่ถูกตัดออกเกือบทั้งหมด เมื่อถึงขั้นตอนการเตรียมผลิต เวอร์ชันจำหน่ายจริง) ดังนี้
• ระบบเตือนรถที่แล่นมาทางด้านหลัง Rearward Blind Spot Vehicle Warning
• ระบบ Driving Safety Support System (DSSS)
• ระบบไฟหน้า พร้อมไฟสูงแบบอัตโนมัติ Auto Hi-beam
• ระบบ Unintentional Vehicle Move Off Control
• ระบบเบรกเองอัตโนมัติ เมื่อมีวัตถุหรือคนตัดหน้า Forward Collision Mitigation Braking (FCM)
• ระบบเตือนเปลี่ยนเลน Lane Departure Warning (LDW)
• ระบบล็อกและควบคุมความเร็วอัตโนมัติ Adaptive Cruise Control (ACC)
หลังจากเงียบหายไป 2 ปี 4 สิงหาคม Mitsubishi Motors ก็พร้อม Update ความเคลื่อนไหวของการพัฒนา Sub-Compact Minivan 7 ที่นั่ง ด้วยการเปิดผ้าคลุมรถยนต์ต้นแบบ Mitsubisi XM Concept กลางงาน Gaikindo Indonesia International Motor Show เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2017 โดยชื่อรุ่น มีที่มาจาก ตัวอักษร X ซึ่งมาจากคำว่า Crossover และ M ซึ่งยกมาจาก MPV บ่งบอกถึงความพยายามในการผสมผสาน บุคลิกของรถยนต์แบบยกสูง เข้ากับ Minivan 7 ที่นั่ง อันเป็นแนวคิดหลักในการพัฒนารถคันนี้ มาตั้งแต่แรก
แม้ว่าเอกสารสำหรับสื่อมวลชน ในงานดังกล่าว ไม่มีข้อมูลเครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ต้นแบบคันนี้ ทั้งสิ้น มีเพียง การเล่าถึงแนวคิดการออกแบบรูปลักษณ์ภายนอก บนพื้นฐานการนำบหน้าแบบ Dynamic Shield มาปรับประยุกต์ใช้ใน Minivan คันนี้ รวมทั้งการนำแผงหน้าปัดแบบ Horizontal Dashboard มาใช้ภายในห้องโดยสาร เพื่อเพิ่มความกว้างขวางทางสายตา เท่านั้น ทว่า นั่นไม่ใช่สาระสำคัญเลย
เพราะเป้าหมายที่แท้จริงในการปรากฎโฉมของ XM Concept คือ เพื่อเป็นการยืนยันว่า Minivan 7 ที่นั่งของค่ายสามเพชร จะมีรูปลักษณ์ภายนอก และภายใน ที่ใกล้เคียงกับรถคันนี้ ถึง 85% และนอกเหนือจากเผยโฉมเวอร์ชันต้นแบบแล้ว Mitsubishi Motors ยังประกาศว่า จะเริ่มนำ XM Concept ขึ้นสายการผลิตจริงได้ ในเดือนตุลาคม 2017 ณ โรงงาน แห่งใหม่ บนพื้นที่กว่า 30 Hectares ในเมือง Bekasi ประเทศ Indonesia ตั้งอยู่ห่างจากกรุง Jakarta ไปราวๆ 37 กิโลเมตร โรงงานแห่งนี้มีกำลังการผลิตสูงสุด 80,000 คัน/ปี และก่อให้เกิดการจ้างงานมากถึง 12,000 ตำแหน่ง ทั้งในตัวโรงงานเอง และบรรดาผู้ผลิตชิ้นส่วน Supplier ต่างๆ นั่นหมายความว่า MPV คันนี้ จะกลายเป็นรถยนต์นั่งคันแรกในประวัติศาสตร์ของ Mitsubishi Motors ที่ถูกผลิตและส่งออกจาก Indonesia ไปยังตลาดอื่นๆ
หลังจากนั้น Mitsubishi Motors ก็ส่ง XM Concept เข้ามาจัดแสดงในงาน Motor Expo ปลายเดือนพฤศจิกายน 2016 เพื่อสำรวจปฏิกิริยาของผู้บริโภคชาวไทย อีกทั้งยังเป็การเกริ่นให้สาธารณชนได้รับรู้ว่า เวอร์ชันจำหน่ายจริงของ Minivan คันนี้ จะถูกส่งมาเปิดตัวในประเทศไทยอย่างแน่นอน
1 ปี ให้หลังจากการเผยโฉม เวอร์ชันต้นแบบ เมื่อการพัฒนา และการเตรียมงานด้านต่างๆ เสร็จสิ้นลง Mitsubishi Motors ก็เริ่มปล่อยภาพถ่าย “เวอร์ชันจำหน่ายจริง” ชุดแรก ของ Minivan คันใหม่ ทางเว็บไซต์ เมื่อ 24 กรกฎาคม 2017 ก่อนจะนำขึ้นไปอวดโฉมคันจริง เป็นครั้งแรกในโลก ช่วงอีกไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น บนแท่นหมุนในบูธของตน ณ งาน Gaikindo Indonesia International Auto Show (GIIAS) เมื่อวันที่ 10 – 20 สิงหาคม 2017 โดยพวกเขาตั้งชื่อรถคันนี้ว่า “XPANDER” แปลว่า “ผู้ขยาย” เหตุที่ตั้งชื่อเช่นนี้ เพราะรถคันนี้ ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อ…
- Xpanded market presence : ขยายตลาดของ Mitsubishi Motors ให้เพิ่มมากขึ้น
- Xpanded design : ขยายงานออกแบบตัวรถ ไปสู่ทิศทางใหม่ ที่ฉีกแนวจากคู่แข่ง
- Xpanded comfort : ขยายความสบายด้วยห้องโดยสาร ขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มเดียวกัน
- Xpanded e-convenience : เพิ่มความสะดวกด้วยเทคโนโลยียานยนต์ร่วมสมัย
- Xpanded performance : เพิ่มสมรรถนะการทรงตัว และการขับขี่ที่เหนือกว่าคู่แข่ง
ด้วยรูปทรงที่โฉบเฉี่ยว ฉีกแนวไปจากคู่แข่งในตลาดทุกราย ทำให้ Xpander สร้างปรากฎการณ์ใหม่ให้กับตลาดรถยนต์ Indonesia ได้ตกตะลึงกันถ้วนหน้า เล่นเอาบรรลังก์ของเจ้าตลาดอย่าง PT Astra Toyota ถึงกับสั่นคลอน เพราะแค่ในงาน Gaikindo Auto Show เพียงแห่งเดียว ชาว Indonesia ต่างพากันรุมแย่งกันอุดหนุน จนมียอดสั่งจอง สูงถึง 12,000 คัน !! เล่นเอา Mitsubishi Motors Indonesia ถึงกับรับมือแทบไม่ทัน พวกเขาถึงกับตกตะลึงจนตั้งตัวแทบไม่ทัน และต้องเพิ่มกำลังการผลิตที่โรงงานใน Bekasi จาก 5,000 เป็น 10,000 คัน/เดือน อย่างเร่งด่วน
จนกระทั่ง วันที่ 3 ตุลาคม 2017 Mitsubishi Motors จัดงานเปิดสายการผลิต Roll out ceremony รวมทั้งออกมาเปิดเผยว่า มีลูกค้าแดนอิเหนา ให้ความสนใจ สั่งจอง Xpander กันล้นหลามรวมแล้วถึง 23,000 คัน!!! ทะลุจากเป้าหมายยอดขาย 5,000 คัน/เดือน ไปถึง 4 เท่า!!!
ผลจากการสั่งจองอย่างถล่มทะลาย ของลูกค้าใน Indonesia ทำให้แผนการส่งออกและเปิดตัวในประเทศอื่นๆ ย่าน ASEAN รวมทั้ง ประเทศไทย ต้องเจอโรคเลื่อนมาถึง 2 รอบ โดยเฉพาะในบ้านเรา ตอนแรก Mitsubishi Motors (Thailand) วางแผนไว้ว่า จะเปิดตัวช่วงต้นปี ในงาน Bangkok International Motor Show ปลายเดือนมีนาคม 2018 แต่ทำไปทำมา นอกจากจะติดเรื่อง Back order ของลูกค้าแดนอิเหนาแล้ว ยังต้องรอขั้นตอนการขอ ECO Sticker และนำรถเข้าตรวจสอบให้ผ่านมาตรฐานของหน่วยงานภาครัฐบ้านเราอีกด้วย จึงทำให้ทุกอย่างล่าช้าลากเลท กันมาจนถึงเดือนสิงหาคม ท้ายที่สุด Mitsubishi Xpander ก็ถูกส่งขึ้นอวดโฉมในงาน Big Motor Sale 2018 : 17 – 26 สิงหาคม 2561 ที่ BITEC บางนา ได้เสียที
อย่างไรก็ตาม Mitsubishi Motors (Thailand) เขาตัดสินใจไม่รอช้า จัดให้กลุ่มสื่อมวลชนชาวไทยได้ร่วมทริปทดลองขับ จากเชียงราย มาจบลงที่สุโขทัย ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2018 ล่วงหน้าไปก่อน ซึ่ง คุณ Pan Paitoonpong ของเรา ก็ได้เข้าร่วมงานดังกล่าว และเขียนเล่าเป็นบทความ First Impression แล้ว Click อ่านต่อได้ที่นี่
เนื่องจาก Xpander เป็นรถยนต์นำเข้าจากประเทศ Indonesia ซึ่งอยู่ในเขต ASEAN ซึ่งมีข้อตกลงร่วมกัน ในการให้สิทธิพิเศษทางภาษีนำเข้า AFTA (ASEAN Free Trade Area) เหลือ 0% ทำให้ สามารถตั้งราคาขายได้ ใกล้เคียงกับประเทศผู้ผลิตต้นทาง โดยที่ค่าตัวไม่ทะลุไปเกินหลักล้านบาท แต่อย่างใด
Xpander มีขนาดตัวถังยาว 4,475 มิลลิเมตร กว้าง 1,750 มิลลิเมตร สูง 1,700 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,775 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อซ้ายขวา (Track width) คู่หน้า 1,520 มิลลิเมตร คู่หลัง 1,510 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นถนนจนถึงพื้นใต้ท้องรถ (Ground Clearance) สูงถึง 205 มิลลิเมตร (เมื่อไม่มีผู้โดยสาร) น้ำหนักตัวรถ 1,290 กิโลกรัม ถังน้ำมันมีความจุ 45 ลิตร (ไม่รวมคอถัง อีกประมาณ 14 ลิตร)
หากเปรียบเทียบกับคู่แข่งแต่ละรุ่นแล้ว จะพบว่า Xpander มีขนาดตัวถังใหญ่โตที่สุดในกลุ่ม ASEAN B-Segment (Sub-Compact) Minivan 7 ที่นั่ง แบบไม่ต้องสืบต่อ
ถ้าไม่เชื่อ เราก็จะเริ่มต้นด้วยคู่แข่งที่ตรงรุ่นมากสุดอย่าง Honda BR-V ซึ่งมีความยาว 4,455 มิลลิเมตร กว้าง 1,735 มิลลิเมตร สูง 1,650 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,660 มิลลิเมตร Ground Clearance 201 มิลลิเมตร หนัก 1,241 กิโลกรัม เมื่อเทียบกันแล้วจะพบว่า Xpander ยาวกว่า 20 มิลลิเมตร กว้างกว่า 15 มิลลิเมตร สูงกว่า 50 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาวกว่าถึง 115 มิลลิเมตร Ground Clearance สูงกว่า แค่ 4 มิลลิเมตร แต่ก็หนักกว่า 49 กิโลกรัม
หรือถ้าเปรียบเทียบกับแฝดผู้น้องร่วมตระกูลอย่าง Honda Mobilio ซึ่งมีความยาว 4,398 มิลลิเมตร กว้าง 1,683 มิลลิเมตร สูง 1,603 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,652 มิลลิเมตร Ground Clearance 189 มิลลิเมตร หนัก 1,173 กิโลกรัม จะพบว่า Xpander ยาวกว่า 77 มิลลิเมตร กว้างกว่า 67 มิลลิเมตร สูงกว่าถึง 97 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อก็ยาวกว่าถึง 123 มิลลิเมตร Ground Clearance สูงกว่า 16 มิลลิเมตร แต่ก็หนักกว่าถึง 117 กิโลกรัม
ถ้าลองข้ามค่าย ขยับไปเปรียบเทียบกับ Suzuki Ertiga รุ่นล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวในตลาดโลก (และกำลังจะมาถึงเมืองไทย ในปีหน้า) ซึ่งมีความยาว 4,395 มิลลิเมตร กว้าง 1,735 มิลลิเมตร สูง 1,690 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,740 มิลลิเมตร Ground Clearance 180 มิลลิเมตร จะพบว่า Xpander ใหม่ ยาวกว่า 80 มิลลิเมตร กว้างกว่า 15 มิลลิเมตร สูงกว่า 10 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ ยาวกว่า 35 มิลลิเมตร Ground Clearance สูงว่า 25 มิลลิเมตร แต่น่าเสียดายที่ Suzuki Indonesia ไม่เปิดเผยน้ำหนักตัวรถของ Ertiga ใหม่
หรือถ้าจะเปรียบเทียบกับ Toyota Sienta ที่มีความยาว 4,235 มิลลิเมตร กว้าง 1,695 มิลลิเมตร สูง 1,695 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,750 มิลลิเมตร Ground Clearance 170 มิลลิเมตร หนัก 1,350 กิโลกรัม จะพบว่า Xpander ยาวกว่าถึง 240 มิลลิเมตร กว้างกว่า 55 มิลลิเมตร สูงกว่า แค่ 5 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาวกว่า 25 มิลลิเมตร Ground Clearance สูงกว่า 35 มิลลิเมตร แต่กลับเบากว่า Sientaถึง 60 กิโลกรัม
รูปลักษณ์ภายนอก ของ Xpander นั้น เป็นความสำเร็จ ที่สามารถ แปลงเวอร์ชันต้นแบบ อย่าง XM Concept ให้เข้าสู่สายการผลิตจริงได้ โดยลดทอนเส้นสายจากเดิมลงไปน้อยมาก นี่คืออีกปรัชญาการทำงานของ Kunimoto-san จนผมมองว่า นี่เป็นรถยนต์อีกรุ่นหนึ่งที่เหมาะสมกับการใช้คำว่า “โฉบเฉี่ยว” ในงานโฆษณา ได้อย่างไม่กระดากจิต เพราะเส้นสายตัวถังนั้น เฉียบคม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ชนิดที่ว่า สะดุดตาผู้คนจำนวนมาก ตลอดช่วงเวลาที่ผมนำรถคันนี้มาใช้ชีวิตด้วยกัน
ด้านหน้ารถ ออกแบบภายใต้แนวทาง Advanced ‘Dynamic Shield’ ซึ่งถูกนำมาใช้กับรถยนต์ Mitsubihi รุ่นใหม่ๆ นับตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา แต่คราวนี้ พวกเขาเล่นแยกไฟหรี่ LED ไปไว้ด้านบน เชื่อมต่อด้วยกระจังหน้าพลาสติกชุบโครเมียม แบบ 3 แถบเข้าไว้ด้วยกัน ส่วนชุดไฟหน้าแบบ Multi-Reflector พร้อมหลอด Halogen และไฟเลี้ยว แยกมาติดตั้งไว้ที่เปลือกกันชนด้านล่าง ในตำแหน่งที่ใกล้เคียงกับ ไฟหน้าของรถสปอร์ตหลายๆรุ่น คือค่อนข้างเตี้ย และอาจทำให้ถูกมองเข้าใจผิดได้ว่า ไฟหน้าไม่สว่าง ทั้งที่เมื่อเปิดไฟสูงแล้ว มันก็พอๆกันกับรถเก๋งทั่วไปที่ใช้ไฟหน้าฮาโลเจน นั่นแหละ คือไม่สว่างนัก แต่ไม่มืดมาก
เหตุผลที่ต้องออกแบบไฟหน้าไว้ในตำแหน่งนี้ ก็เพื่อลดการแยงสายตาในยามค่ำคืน ทว่า อาจมีโอกาสถูกเข้าใจผิดว่า คุณกำลังเปิดไฟตัดหมอกแยงตารถคันข้างหน้า มีสูงเหมือนกัน เสริมความปลอดภัยด้วย ระบบไฟหน้านำทางหลังดับเครื่องยนต์ Coming Home Light System นอกจากนี้ ทุกรุ่นย่อย ยังติดตั้งกระจกยังลมหน้าแบบ ลดเสียงรบกวน กระจกมองข้างพร้อมไฟเลี้ยว LED ในตัว มาให้เหมือนกันหมด
สิ่งที่รุ่น GT จะได้เพิ่มขึ้นมาจากรุ่น GLS Ltd. ก็คือ แผงกันกระแทกใต้เปลือกกันชนหน้า จากเดิมสีดำ จะเปลี่ยนเป็นสีเงิน พร้อมทั้งเพิ่มไฟตัดหมอกมาให้ด้วย มือจับเปิดประตู จากสีเดียวกับตัวถัง Upgrade เป็นพลาสติกชุบโครเมียม คิ้วประดับบริเวณชายล่างของประตูรถด้านข้าง เปลี่ยนจากสีดำ มาเป็น สีเงิน รวมทั้งคิ้วประดับบริเวณขอบหน้าต่างด้านล่าง จากสีดำ จะเปลี่ยนเป็นคิ้วโครเมียม
บั้นท้าย มีความละม้ายคล้ายคลึงกับ Mitsubishi COLT Plus (Colt ตัวถัง Mini-Wagon 5 ประตู) ที่ออกสู่ตลาดญี่ปุ่นช่วงปี 2005 แต่มองไปมองมา เส้นสายกรอบไฟท้าย ที่เหมือนได้แรงบันดาลใจมาจาก Volvo SUV รุ่น XC60 โฉมแรก (2010) ถึงกระนั้นก็เถอะ มันทำให้ผมเกิดสงสัยขึ้นมานิดๆว่า “ทำไม ทีมออกแบบ ไม่นำบั้นท้ายแบบนี้ มาเกลาและปรับใช้กับ Pajero Sport รุ่นล่าสุด ตั้งแต่แรก?”
ทุกรุ่น จะได้ชุดไฟหรี่ไฟท้ายแบบ LED L-Shape illumination Light Guiding พร้อมไฟเบรกดวงที่ 3 ฝังมาให้ในสปอยเลอร์ด้านหลัง ที่ติดตั้งอยู่เหนือฝาประตูท้าย มีชุดไล่ฝ้าและใบปัดน้ำฝนด้านหลังพร้อมหัวฉีดน้ำล้างกระจก แต่รุ่น GT จะถูกเปลี่ยนแผงกันกระแทกใต้เปลือกกันชนหลัง จากสีดำ มาเป็นสีเงิน
ล้อและยาง
- รุ่น GLS Ltd. ใช้ล้ออัลลอย ใบพัด 10 ก้าน สีธรรมดา ขนาด 15 นิ้ว สวมยางขนาด 185/65R15
- รุ่น GT ใช้ล้ออัลลอย ใบพัด 5 ก้านคู่ ปัดเงาตามสมัยนิยม 16 นิ้ว สวมยางขนาด 205/55R16
สีตัวถัง น่าเสียดายว่า ไม่มีสีแดงเข้ม มาให้เลือกเหมือนอย่างเวอร์ชัน Indonesia ดังนั้น ลุกค้าชาวไทย จึงเลือกได้เพียงแค่ 4 สี เท่านั้น ดังนี้
- สีขาวมุก Quartz White Pearl
- สีเงิน Sterling Silver (สีที่ใช้ในการโปรโมท)
- สีเทา Titanium Grey
- สีดำ Jet Black Mica
การเข้า – ออกจากรถนั้น รุ่น GLS-LTD จะได้ กุญแจ แบบมี Remote Control ในตัว กดปุ่มสั่งล็อกหรือปลดล็อกบานประตูกันไป แต่ในรุ่น GT จะถูกอัพเกรดเป็นกุญแจ Remote Control แบบ KOS (Keyless Operation System) แค่พกรีโมทกุญแจนี้ไว้กับตัว ถ้าต้องการจะขึ้นรถ ก็ให้เดินเข้าใกล้บานประตูคนขับ หรือ ฝาประตูของห้องเก็บของด้านหลังรถ ในระยะรัศมี 70 เซนติเมตร แล้วกดปุ่มสีดำเพื่อสั่งปลดล็อก แล้วดึงมือจับเปิดประตูบานใดก็ตาม ขึ้นรถได้เลย หรือถ้าจะล็อกรถ เมื่อปิดประตูแล้ว ก็กดปุ่มล็อก ที่บานประตูทั้งคู่ บานใด บานหนึ่ง ได้เช่นเดียวกัน
ในกรณีที่แบ็ตเตอรีของรีโมทหมด ยังสามารถ ถอดลูกกุญแจในตัวรีโมท ออกมาไขเปิดประตูฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย ได้ หมุนซ้ายครั้งขวาครั้ง เป็นอันปลดล็อก เมื่อเข้าไปนั่งในรถได้แล้ว ก็ควรจะเอารีโมท KOS เสียบไว้ในช่องเสียบ ใค้แผงหน้าปัด เหนือช่องวางแก้วตรงกลาง และถ้าลืมกุญแจในรถ เมื่อปิดประตู รถจะส่งเสียงเตือนออกมาเอง
การเข้า – ออกจากบานประตูคู่หน้า นั้น ได้เปรียบคู่แข่งอีกหลายคัน เนื่องจาก การออกแบบให้ระยะห่างจากพื้นถนนจนถึงใต้ท้องรถ (Ground Clearance) สูงถึง 205 มิลลิเมตร ทำให้จุด Hippoint หรือบั้นเอวของคนขับและผู้โดยสารด้านหน้า สูงขึ้นอยู่ในระดับที่เหมาะสมตามไปด้วย (ระดับความสูงของตำแหน่งเบาะคู่หน้า อยู่กึ่งกลางระหว่าง รถเก๋งทั่วไป และรถกระบะ 4×4) ดังนั้น การหย่อนก้นลงนั่ง หรือลุกออกจากรถ จึงทำได้ง่ายดาย และไม่ต้องออกแรงยกตัวมากนัก เหมาะกับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ
อย่างไรก็ตาม เสาหลังคาคู่หน้าที่เทลาดอย่างที่เห็น อาจเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับคนที่มีสรีระร่าง สูงเกินกว่า 170 เซ็นติเมตร คุณจำเป็นต้องก้มหัวลงเพิ่มมากขึ้น ขณะหย่อนก้นลงนั่บนเบาะคู่หน้า มิเช่นนั้น หัวของคุณอาจจะโขกดัง “โป๊กก”เข้ากับ เสาหลังคาได้ง่ายๆ (ผมโดนมาแล้วครับ โคตรเจ็บหัวเลย!)
นอกจากนี้ คิ้วประดับบริเวณชายล่าง ยังค่อนข้างยื่นออกมาพอสมควร ดังนั้น เวลาก้าวขึ้นรถ อาจต้องใช้ความระมัดระวัง เนื่องจากขากางเกงหรือกระโปรง อาจไปเปื้อนถูกคราบฝุ่นโคลน ที่มาติดอยู่กับคิ้วดังกล่าวได้
แผงประตูคู่หน้า เป็นพลาสติกสีดำ ไม่มีการใช้วัสดุบุนุ่มใดๆมาให้ทั้งสิ้น แต่กัดขึ้นรูปด้วยลวดลายที่ดูคล้ายกับเบาะหนังในรถยนต์ราคาแพงกว่านี้ เดินตะเข็บปลอม แถมยังประดับด้วยลาย Graphic Aluminium มือจับเปิดประตูเป็นพลาสติกชุบโครเมียม มีพนักวางแขนด้านข้าง สามารถวางแขนได้ทั้งท่อนในระดับ “เกือบสบายสมบูรณ์” เพราะในตำแหน่งเบาะคนขับ ข้อศอกของผม ยังแค่เฉียดจากพนักวางแขนไปเพียง “เศษเสี้ยวของขนแขน” นิดเดียวเท่านั้น ด้านล่างของแผงประตู มีช่องใส่ของอเนกประสงค์ สามารถวางขวดน้ำดื่มขนาดใหญ่ 7 บาท ได้ถึง 2 ขวด และยังมีพ้นที่เหลือพอสำหรับเอกสารและข้าวของจุกจิกต่างๆอีกนิดหน่อย
ภายในรถจะตกแต่งด้วยโทนสีดำ เพียงแบบเดียว ซึ่งน่าเสียดายมากว่า น่าจะมีโทนสีเบจ แบบเวอร์ชัน Indonesia มาให้ด้วย เพื่อช่วยสร้างบรยากาศให้ห้องโดยสารดูโปร่งสบายตากว่านี้ แต่ก็พอเข้าใจได้ว่า ปัจจุบันนี้ ลูกค้าคนไทยส่วนมาก อยากได้ภายในรถสีดำ ด้วยเหตุผลเดียวคือ ดูแลรักษาง่าย เหมาะกับคนที่ไม่ค่อยชอบทำความสะอาดหรือดูดฝุ่นภายในรถ จะได้ไม่ดูเก่าหรือเจอคราบไม่พึงประสงค์จนเกินไปนัก
เพดานหลังคา บุด้วยวัสดุ Recycle สีครีม สว่างๆ มีการติดตั้งมือจับ ศาสดา สำหรับยึดเหนี่ยวจิตใจมาให้ 5 ตำแหน่ง พร้อมขอเกี่ยวไม่แขวนเสื้อ เฉพาะมือจับ เหนือบานประตูบริเวณเบาะแถวกลาง หลังฝั่งซ้าย
เบาะนั่งในรุ่น GLS Ltd. จะหุ้มด้วยผ้า ส่วนรุ่น GT ที่เห็นอยู่นี้ จะหุ้มด้วยหนังสังเคราะห์ สีดำ เกรดเดียวกับ Mitsubishi Lancer EX รุ่นปี 2010 ซึ่งก็ให้ผิวสัมผัสที่ เรียบลื่น ทนต่อการใช้งานและแสงแดดประมาณหนึ่ง แต่ถ้าได้ผิวสัมผัสของหนังสังเคราะห์ที่ดีกว่านี้ น่าจะช่วยเพิ่มความรู้สึกดีๆให้เกิดขึ้นกับลูกค้าได้อีกไม่น้อย แต่ช่วยไม่ได้ครับ ต้นทุนของหนังที่แพงกว่านี้ ก็อาจทำให้ค่าตัวรถต้องแพงขึ้นกว่านี้
เบาะนั่งคู่หน้า มีพนักพิงหลังที่ ให้สัมผัสคล้ายกับเบาะนั่งของ รถกระบะรุ่น Triton ก็จริงอยู่ แต่ รูปทรงของเบาะนั้น ไม่เหมือนกันไปเสียทีเดียว โดยเฉพาะปีกด้านข้างที่มีรายละเอียดต่างกันเล็กน้อย (ปีกของเบาะ Triton ยื่นออกมามากกว่ากันกระจึ๋งเดียว) แต่การรองรับแผ่นหลังทำได้ดีไม่แพ้กัน โดยเฉพาะช่วงไหล่ที่ ตัวเบาะ ซัพพอร์ตได้ดี การออกแบบพื้นที่รองรับด้านหลัง ทำได้ดีพอสมควร กระนั้น ผมก็แอบรู้สึกเมื่อยขณะนั่งขับขี่ในระยะทางไกลๆ เมื่อเวลาผ่านไปเป็นชั่วโมงอยู่เล็กน้อย ถ้าได้ตัวดันหลังมาช่วยเพิ่มอีกนิดก็คงจะดี
อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องพูดถึงสักหน่อยนั่นคือ เป็นเรื่องน่าเสียดายว่า เบาะคนขับ กลับไม่มีพนักวางแขนตรงกลาง แบบพับเก็บได้ ติดตั้งไว้ด้านข้างพนักพิงหลังมาให้เลย ทั้งที่รถยนต์ประเภทนี้ ควรจะมีมาให้ได้แล้ว
พนักศีรษะ ออกแบบให้มีฟองน้ำเสริมข้างใน แบบ “แน่นเกือบแข็ง” แต่ไม่ดันกบาล ยังเป็นเรื่องดีที่รถยนต์ Mitsubishi เกือบทุกรุ่น ที่ยังจำหน่ายในเมืองไทย ไม่ค่อยมีปัญหาพนักศีรษะดันกบาลมากนัก ยกเว้น Pajero Sport ที่พอจะมีอยู่บ้างนิดๆ ส่วนพื้นที่เหนือศีรษะ โปร่งสบายตามสไตล์ตัวรถ ที่มีหลังคาค่อนข้างสูง หากใครยังบ่นว่า หลังคา Xpander ยังเตี้ยอยู่อีก ก็คงต้องเช็คให้ดีๆว่า ตกลงแล้ว คุณเป็นยีราฟ ใช่หรือไม่
เบาะรองนั่งคอนข้างหนา ติดตั้งมาให้สูงจากพื้นตัวถังรถพอสมควร มีความยาว ปานกลาง รองรับท้องน่องพอใช้ได้ แต่ยาวไม่ถึงขาพับ ตัวฟองน้ำด้านใน ให้สัมผัส แน่นแต่นุ่ม Firm กำลังดี ไม่แข็งหรือนิ่มเกินไป ขับขี่ทางไกลไม่ค่อยเมื่อยบั้นท้ายมากนัก ทว่า เบาะนั่งฝั่งคนขับนั้น แม้จะมีมือหมุนปรับระดับเบาะรองนั่งสูง – ต่ำ มาให้ แต่ระยะการปรับก็น้อยมากๆ และเป็นเพียงการเลื่อน + ยกเบาะรองนั่งขึ้นไปข้างหน้าเพียงนิดหน่อยเท่านั้น ไม่ได้ยกเบาะทั้งตัวขึ้นไปแต่อย่างใด ดังนั้น ใครที่มีสรีระร่างค่อนข้างเตี้ย อาจต้องหาเบาะมาเสริมเอาเองแล้วละ
จุดเด่นอีกประการหนึ่งอยู่ที่การออกแบบให้มีถาด วางรองเท้า ใต้เบาะนั่งด้านหน้าฝั่งซ้าย ซึ่งเป็นอีกฟังก์ชันหนึ่งที่ถูกออกแบบขึ้นตามความต้องการของลูกค้า ผ่านผลวิจัยตลาด เนื่องจาก สมาชิกในครอบครัวส่วนใหญ่ โดยเฉพาะสุภาพสตรี อยากได้พื้นที่สำหรับใส่รองเท้า เผื่อนำมาเปลี่ยนให้เข้ากับชุดและกิจกรรมที่ต้องทำในแต่ละวัน
ในทางตรงกันข้าม อีกเรื่องที่น่าตำหนิมากๆ ก็คือ เข็มขัดนิรภัยคู่หน้า แบบ ELR 3 จุด กลับไม่สามารถปรับระดับสูง – ต่ำได้ มีบางจังหวะเหมือนกันที่สายเข็มขัด พาดและเกือบบาดเข้ากับโคนต้นคอของผมอยู่บ้างเหมือนกัน ต้องคอยขยับกันเป็นระยะๆ อยากบอกว่า อย่าลดต้นทุนกันจนเกินเหตุในประเด็นเรื่อง Ergonomic & Safety นักเลย ผู้ผลิตรถยนต์ทั้งหลาย
การเข้า – ออกจากบานประตูคู่หลัง สำหรับผู้โดยสารเบาะแถวกลาง (แถว 2) ทำได้สะดวกสบายมากๆ ในแบบที่ต้องขอชมเชย สะดวกต่อการก้าวขึ้น – ลง ไม่ต่างจากคู่แข่งอย่าง Honda BR-V และ Suzuki Ertiga เลย แถมยังไม่ต้องก้มหัวมากเท่าการเข้า – ออก จากบานประตูคู่หน้า อีกด้วย
จุดเด่นที่แตกต่าง ไม่เหมือนใคร และน่าชมเชยจนถึงขั้นให้เครดิตกับคนคิดไอเดียก็คือ ด้านหลังของพนักพิงเบาะคู่หน้า นอกจากจะถูกออกแบบให้มีช่องใส่หนังสือ ทั้ง 2 ฝั่ง ตามปกติแล้ว เฉพาะเบาะหน้าฝั่งซ้าย ยังเพิ่มซองใส่โทรศัพท์มือถือ และซองใส่ของจุกจิกมาให้อีก รวม 2 ตำแหน่งด้วย! แทนที่คุณจะต้องไปหาซื้อแผงใส่ของอเนกประสงค์ตามตลาดนัดมาใส่ ทีมออกแบบเขาก็ทำมาไว้ให้คุณเสร็จสรรพ! นี่คือสิ่งที่ Unique มาก และไม่อาจหาได้จากรถยนต์นั่ง หรือรถกระบะ รุ่นใดในประเทศไทย ต่อให้เป็น รถยุโรปราคาแพงๆก็ไม่มีมาให้นะ!
แผงประตูด้านข้าง ของบานประตูคู่หลัง ตกแต่งในแนวทางเดียวกับ แผงประตูด้านข้างคู่หน้า คือใช้พลาสติกสีดำ ขึ้นรูปให้ดูคล้ายบุด้วยหนัง ขึ้นรูปตะเข็บปลอม ประดับด้วยแถบ Graphic สีเงิน และ มือจับเปิดประตู พลาสติกชุบโครเมียม พนักวางแขน สามารถวางท่อนแขนได้สบาย จนถึงข้อศอก ด้านล่าง มีช่องวางของจุกจิกขนาดใหญ่พอๆกับแผงประตูคู่หน้า ใส่ขวดนำดื่ม 7 บาท มาให้ ฝั่งละ 2 ตำแหน่ง เหมือนกัน แต่น่าเสียดายว่า กระจกหน้าต่างไฟฟ้า ไม่สามารถเลื่อนลงมาได้สุดขอบราง
เบาะนั่งด้านหลัง แบ่งออกเป็น 2 ฝัง ซ้าย – ขวา สามารถแบ่งปรับเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลังได้ 10 ตำแหน่งล็อก ปรับพนักพิงหลังเอนลงได้ไม่มากนัก เพียง 9 ตำแหน่งล็อก รวมทั้งแบ่งพับพนักพิงหลังได้ในอัตราส่วน 60 : 40 เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บของด้านหลัง
พนักศีรษะ มาในสไตล์ แน่นเกือบแข็ง เหมือนกับคู่หน้า แต่ เป็นรูปตัว L คว่ำ ซึ่งต้องออกแรงอย่างมหาศาลในการยกขึ้นใช้งาน ดุจยกเหล็กใน Fitness เลยทีเดียว แค่เพียงเพื่อไม่ให้ขอบด้านล่าง ทิ่มตำบริเวณช่วงต้นคอและกางแผ่นหลังเท่านั้นเลย แถมยังล็อกไว้ได้แค่ ตำแหน่งเดียวเท่านั้นอีกต่างหาก
พนักพิงหลัง ออกแบบให้มีฟองน้ำในลักษณะ “แน่นแต่แอบนุ่มนิดๆ” รองรับแผ่นหลังใช้ได้ แต่ตรงกลางจะบุ๋มลงไปนิดนึง ตัวพนักพิงหลัง ปรับเอนลงได้ประมาณหนึ่ง พอสบาย แต่ถ้าต้องการปรับให้เอนนอนได้ราบกว่านี้ คงต้องหันไปหา Honda BR-V ซึ่งน่าจะให้คุณประโยชน์ประเด็นนี้ เหนือกว่า Xpander ชัดเจน ส่วน เบาะรองนั่ง มีขนาดสั้น แต่บุฟองน้ำมาให้ค่อนข้าง “แน่นแต่แอบนุ่มพอสมควร” เหมือนกับเบาะรองนั่งฝั่งคนขับ นั่งพอให้สบายได้อยู่
พนักวางแขน ซ่อนรูปกลืนไปกับพนักพิงเบาะหลังไปเลย ดึงเชือกเพื่อปลดลงมาใช้งาน พอวางแขนได้ แต่ไม่อาจวางข้อศอกได้
พื้นที่เหนือศีรษะในตำแหน่งนั่งหลังค่อนข้างชันสูงสุด สำหรับคนตัวสูง 170 เซ็นติเมตรอย่างผู้เขียน จะเหลือพื้นที่มากถึง 2 ฝ่ามือในแนวนอน พอดีๆ ส่วนพื้นที่วางขานั้น ถ้าปรับถอยหลังจนสุด คุณจะเหลือพื้นที่มากถึง 2 ฝ่ามือ กับอีก 3 นิ้วมือในแนวนอน และต่อให้คุณปรับเลื่อนเบาะขึ้นไปข้างหน้าจนสุด คุณก็จะยังเหลือพื้นที่ว่าง ระหว่างหัวเข่ากับด้านหลังของเบาะคนขับอีก 1 ฝ่ามือพอดีๆ
เข็มขัดนิรภัย เป็นแบบ ELR 3 จุด ทั้ง 3 ตำแหน่ง แต่สำหรับผู้โดยสารตรงกลาง สายเข็มขัดจะถูกมัดเก็บซ่อนไว้ที่ช่องเก็บบริเวณเพดานข้างบน (ดูได้จากภาพข้างล่าง) หากผู้โดยสารเป็นเด็กน้อยตัวเล็ก สายเข็มขัดอาจต้องพาดผ่านบริเวณคอเล็กน้อย
การลุกเข้า – ออกจากเบาะแถวที่ 3 ใช้วิธีการเดียวกับบรรดา B-Segment Minivan หลายๆรุ่นในตลาด คือต้องดึงคันโยกด้านข้างเบาะแถว 2 (บริเวณใกล้ๆสะโพก) ชุดเบาะนั่ง จะพับพนักพิงให้แบนราบ และจะปลดล็อกขายึดเบาะกับพื้นรถ เพื่อให้ตัวเบาะดีดตัวโน้มขึ้นมาข้างหน้าอย่างรวดเร็วแบบ One Motion
การก้าวขึ้น – ลงจากเบาะแถว 3 แม้ว่าคุณจะตัวใหญ่ระดับเดียวกับผม แต่ก็ยังสามารถมุดตัวเข้าไปนั่ง และ ลุกออกมาจากเบาะแถว 3 ได้สบายๆ มากๆ ผมว่า ทำได้ดีกว่า BR-V เล็กน้อย ทั้งที่บานประตูและช่องทางเข้า – ออกของ Xpander มีขนาดใกล้เคียงกันมากๆ ชิดทองด้วยตัวเปล่า ยังยากจะตัดสินเลยว่า ใครกว้างกว่ากัน
เบาะนั่งแถว 3 มาพร้อมพนักศีรษะรูปตัว L คว่ำ ซึ่งต้องออกแรงยกขึ้นจนสุดเพื่อใช้งาน ด้วยตัวล็อกเพียงตำแหน่งเดียว (เหมือนพนักศีรษะคู่กลางเปี๊ยบ) มิเช่นนั้น ขอบล่างของพนักศีรษะ จะทิ่มตำต้นคอด้านหลังจนไม่สบายเอาเสียเลย ตัวพนักศีรษะเองก็ค่อนข้างแข็ง เมื่อเจอกับพนักพิงหลังที่ไม่ได้หนามากนัก บุด้วยฟองน้ำค่อนข้างบาง จึงทำให้รู้สึกเหมือนนั่งพิงแผ่นกระดาน ที่มีฟองน้ำค่อนข้างแน่นซัพพอร์ตแผ่นหลังเราไว้อย่างไม่ค่อยเต็มใจนัก
พนักพิงเบาะแถว 3 สามารถแบ่งพับได้ในอัตราส่วน 50 : 50 แถมยังปรับตั้ง-เอนลงไปได้ 10 ตำแหน่ง หากตั้งไว้ในตำแหน่งชันสุด คนตัวสูง 170 เซ็นติเมตร อย่างผม หรือต่ำกว่านั้น อย่างน้องเติ้ง Kantapong Somchana สมาชิก The Coup Team ของเราที่คุณเห็นอยู่ในภาพนี้ จะยังมีพื้นที่เหนือศีรษะเหลืออยู่อย่างน้อย 1 นิ้วชี้ในแนวนอน แต่ถ้าปรับพนักพิงหลังเอนลงไปจนสุด หัวของคุณจะชนเข้ากับขอบด้านบนของฝาประตูท้ายพอดี
ส่วนเบาะรองนั่งนั้น มีขนาดสั้น และนั่งไม่สบายเท่า Suzuki Ertiga แต่อย่างน้อย มุมองศาการเอียง ก็ทำได้เหมาะสมกับความตั้งใจที่จะทำให้เบาะแถว 3 รองรับเฉพาะผู้โดยสาร ซึ่งมีสรีระร่างสูงไม่เกิน 170 เซ็นติเมตร อยู่แล้ว ขณะที่พื้นที่วางขานั้น ขึ้นอยู่กับความกรุณาของผู้โดยสารแถวกลาง ว่าจะปรับเลื่อนขึ้นหน้าไปให้คุณมากน้อยแค่ไหน เพราะถ้าเลื่อนเบาะแถว 2 ลงมาจนสุด คุณจะแทบไม่เหลือพื้นที่วางขาให้ผู้โดยสารแถว 3 เลย
เข็มขัดนิรภัยด้านหลังเป็นแบบ ELR 3 จุด ผนังด้านข้างทั้ง 2 ฝั่ง ตกแต่งด้วยแผงพลาสติก ตีขึ้นรูปเป็นพนักวางแขน (ซึ่งสามารถวางแขนได้สบายพอดีเป๊ะ) พร้อมช่องใส่ของจุกจิกเล็กๆน้อยๆ 2 ตำแหน่ง และกิ๊ปหนีบยึดสายเข็มขัดนิรภัยของผู้โดยสารแถวกลาง แต่เฉพาะฝั่งขวาเท่านั้น ที่จะเพิ่มปลั๊กไฟ 12V มาให้เพียง 1 ตำแหน่ง
ฝาประตูห้องเก็บของด้านหลัง เปิด – ปิดได้ ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า เหนือช่องใส่ป้ายทะเบียนหลัง ค้ำยันด้วยช็อกอัพ 2 ต้น การประกอบถือว่าทำได้ดีประมาณหนึ่ง กระจกบังลมหลัง มีไล่ฝ้าไฟฟ้า และใบปัดน้ำฝนหลังพร้อมหัวฉีดน้ำล้างกระจกมาให้
พื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง มีความกว้าง 0.9 เมตร ยาว 1.7 เมตร ออกจะเป็นเรื่องแปลกที่ Mitsubishi Motors ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลตัวเลขมิติห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง ทั้งที่ตามปกติแล้ว รถยนต์ทั่วไป มักจะชูเรื่องนี้เป็นจุดขายเสียด้วยซ้ำ กระนั้นก็เถอะ ที่แน่ๆ มันใหญ่พอให้สามารถแบกจักรยาน Mountain Bike ใส่เข้าไปในห้องโดยสาร ได้สบายๆ
พื้นห้องเก็บสัมภาระ เป็นแบบฝาปิด เมื่อยกขึ้นแล้ว จะเจอกล่องเก็บของแบบ 3 ช่องในตัว สำหรับเก็บซ่อนข้าวของไม่พึงประสงค์จากสายตาบุคคลภายนอกได้
ฝาผนังด้านข้างฝั่งขวา เป็นช่องพร้อมฝาปิด ไว้เก็บเครื่องมือประจำรถ พร้อมแม่แรง สำหรับถอดล้อ ถ้าคุณหายางอะไหล่ไม่เจอ ลองก้มดูใต้ท้องรถครับ ยางอะไหล่ติดตั้งมาอย่างที่เห็นอยู่นี้ เหมือนรถกระบะนั่นแหละ
แผงหน้าปัด ถอดรูปลักษณ์มาจาก แผงหน้าปัดของรถยนต์ต้นแบบ XM-Concept มาทั้งยวง! แต่ถูกดัดแปลงให้เหมาะสมกับการผลิตออกจำหน่ายจริง ใช้โทนสีดำ ประดับด้วยแผงพลาสติกลาย Graphic สีเงิน บริเวณผู้โดยสารด้านซ้าย ส่วนกรอบนอก บริเวณช่องติดตั้งชุดเครื่องเสียง และแผงคอนโซลกลาง ประดับด้วยพลาสติกสีดำเงา Piano Black ขลิบด้านข้างด้วย Trim พลาสติกสีเงินเงางาม เช่นเดียวกับช่องแอร์ ทั้ง 4 ตำแหน่ง
สิ่งที่น่าตำหนิที่สุดก็คือ ไม่ใช่แค่แผงประตู…หากแต่ยังรวมถึงแผงหน้าปัด ที่ไม่มีวัสดุบุนุ่มใดๆมาให้เลยทั้งสิ้น!!! มีเพียงแค่พลาสติกสีดำ กับการขึ้นรูปตะเข็บปลอม หลอกให้เข้าใจว่าหรู จนกว่ามือคุณจะสัมผัสลูบไปบนลายตะเข็บนั่น ถึงจะพบความจริง ยังดีว่า ตะเข็บไม่แหลมคมบาดมือเท่า Toyota Vios รุ่นปัจจุบัน มิเช่นนั้น ผมคงหงุดหงิดกว่านี้
มองขึ้นไปด้านบน แผงหลังคา เป็นสีเทาอ่อน ทำจากวัสดุ Recycle เหมือนรถยนต์รุ่นใหม่ๆทั่วไป แผงบังแดดทั้ง 2 ฝั่ง มีกระจกแต่งหน้าพร้อมฝาปิดมาให้ แต่ไม่มีรุ่นใดที่แถมไฟแต่งหน้ามาเลย ส่วนไฟส่องสว่างกลางเก๋ง มี 2 ตำแหน่ง คือ กลางเพดาน เหนือผู้โดยสารแถวกลาง และ ไฟอ่านแผ่นที่ เหนือกระจกมองหลัง ซึ่งไม่สามารถแยกฝั่งเปิด-ปิด ซ้าย-ขวา ได้เลย
จากขวา ไปซ้าย
กระจกหน้าต่างทั้ง 4 บาน เลื่อนขึ้น – ลง ได้ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า และเช่นเดียวกับรถยนต์ทั่วไป เฉพาะฝั่งคนขับ จะมาพร้อมกับระบบ One-Touch เลื่อนหน้าต่างขึ้น – ลง ได้ด้วยการกดปุ่มเพียงครั้งเดียว รวมทั้งระบบ Jam Protection ดีดกลับอัตโนมัติ เมื่อมีสิ่งกีดขวาง
ใต้ช่องแอร์ฝั่งคนขับ ด้านขวาของชุดมาตรวัด ติดตั้งทั้ง สวิตช์ปรับและพับกระจกหน้ามองข้างแบบไฟฟ้า (ให้มาทุกรุ่น) รวมทั้งปุ่มติดเครื่องยนต์ Push Start (ให้มาเฉพาะรุ่น GT) ถัดลงไปข้างล่าง ยังมีสวิตช์ เปิด – ปิด ระบบควบคุมเสถียรภาพ ASC และ Traction Control และเมื่อมองลงไปข้างล่างสุด บริเวณซุ้มล้อหน้าฝั่งขวา จะพบคันโยก เพื่อเปิดฝากระโปรงหน้า
พวงมาลัย เป็นแบบ 3 ก้าน หน้าตานี่เหมือนกับยกมาจากพวงมาลัยของ Mirage / Attrage แต่รุ่น GT จะหุ้มวงพวงมาลัยด้วยหนังสังเคราะห์ ประดับครึ่งท่อนล่าง ช่วงก้านพวงมาลัยทั้ง 3 ด้วยพลาสติกเงาสีดำ Piano Black คอพวงมาลัย สามารถ ปรับระดับสูง – ต่ำ และระยะใกล้ – ห่าง จากตัวผู้ขับขี่ (Telescopic) ได้ในระดับหนึ่ง สำหรับคนตัวสูง ขอแนะนำว่า ปรับพวงมาลัยไว้ในตำแหน่งสูงสด และดึงออกมามากที่สุด จะลดการเมื่อยล้าขณะขับขี่ทางไกลได้
แผงสวิตช์บนก้านพวงมาลัยฝั่งซ้าย ใช้ควบคุม หน้าจอชุดเครื่องเสียง และระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบไร้สาย ส่วนแผงสวิตช์บนด้านพวงมาลัยฝั่งขวา เป็นชุดสวิตช์ของระบบล็อกความเร็วคงที่อัตโนมัติ Cruise Control (มีเฉพาะรุ่น GT)
ก้านสวิตช์บนคอพวงมาลัยฝั่งซ้าย ใช้ควบคุมใบปัดน้ำฝนคู่หน้า ละด้านหลัง พร้อมหัวฉีดน้ำล้างกระจกทั้งด้านหน้า และด้านหลัง ส่วนก้านสวิตช์บนคอพวงมาลัยฝั่งขวา ใช้ควบคุมไฟเลี้ยว ไฟหน้า ไฟหรี่ ไฟสูง ไฟตัดหมอก ไฟกระพริบ (ซึ่งเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของรถยนต์ Mitsubishi ทุกรุ่น นั่นคือ ไฟกระพริบและไฟสูง มีวิธีเปิดใช้เหมือนกัน คือจะต้องดึงก้านสวิตช์ฝั่งขวาเข้าหาตัว 1 ครั้ง เพื่อเปิด และเมื่อปล่อยก้านสวิตช์คืนกลับตำแหน่งเดิมแล้ว ไฟสูงมักจะค้าง หลายๆคน มักจะลืมปิดมัน ทำให้คนขับรถที่อยู่ข้างหน้า บรรดา รถยนต์ Mitsubishi ทุกคัน อาจเข้าใจผิดได้ว่า คุณกำลังเปิดไฟสูงด่าเขา ทั้งที่จริงๆแล้ว คุณลืมปิดไฟสูงนันเอง!)
ชุดมาตรวัด เป็นแบบ 2 วงกลม เรืองแสง ด้วยตัวเลขสีขาว บนพื้นสีดำ มีลาย Carbonfibre ตรงกลาง ทั้งมาตรวัดความเร็วฝั่งขวา และมาตรวัดรอบเครื่องยนต์ฝั่งซ้าย แต่สำหรับหน้าจอแสดงข้อมูลตรงกลาง มี 2 แบบ หากเป็นรุ่น GLS Ltd. จะเป็นจอ ขนาดเล็ก แสดงผลด้วยตัวอักษรสีขาว มีแค่แสดงข้อมูล มาตรวัดอุณหภูมิน้ำหล่อเย็น มาตรวัดปริมาณน้ำมันในถัง ไฟบอกตำแหน่งเกียร์ และ Odo Meter กับ Trip Meter รวมทั้ง Eco Indicator แสดงอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย
ส่วนรุ่น GT หน้าจอตรงกลาง จะ Upgrade เป็นจอแสดงผล Color LCD แบบ Contrast ขนาด 4.2 นิ้ว พร้อมภาพ Animation 3 มิติ ขณะติดเครื่องยนต์ เป็นรูปรถแล่นออกมา หันด้านข้าง มีมาตรวัดอุณหภูมิน้ำหล่อเย็น มาตรวัดน้ำมัน และแสดงข้อมูลอัตราสิ้นปลืองเชื้อเพลิง รวมทั้ง แสดงระยะทางในระดับที่ปริมาณน้ำมันในถังจะพาให้รถแล่นต่อไปได้ มี Odo Meter , Trip Meter ทั้ง A กับ B รวมทั้งใชเป็นจอตั้งค่าอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆในตัวรถ ที่สำคัญคือ มีเมนูภาษาไทย ให้เลือกด้วย!!
กล่องเก็บของ Glove Compartment มีขนาดใหญ่กำลังดี แม้จะใส่ซองเอกสารคู่มือประจำรถและประกันภัยแล้ว ยังเหลือพื้นที่ให้วางข้าวของต่างๆอีกมากพอสมควร ช่องด้านซ้ายที่เว้าลงมา หากมองเข้าไป จะพบตำแหน่งของแผง Fuse ระบบไฟฟ้าสำหรับอุปกรณ์ต่างๆในตัวรถ ติดตั้งซ่อนอยู่ ลึกๆ แถมด้านบน ยังมีช่องวางของอเนกประสงค์ ตามแนวยาว สำหรับผู้โดยสารใช้วางโทรศัพท์มือถือได้สบายๆ
ด้านความบันเทิงในรถ หากเป็นรุ่น GLS Ltd. จะถูกติดตั้ง วิทยุ AM/FM พร้อมเครื่องเล่น CD / MP3 ช่อต่อ USB และ AUX แบบฝังมาให้เสร็จสรรพ ขนาดตัวเครื่องเป็นแบบ 2 DIN หน้าตา สวยงาม ไม่ขี้เหร่ แต่ให้ลำโพงมาแค่ 4 ชิ้น
ส่วนรุ่น GT จะยกระดับเป็นชุดเครื่องเสียง OEM (Original Equipment Manufacturing) จาก SONY ประกอบไปด้วย วิทยุ AM/FM พร้อม เครื่องเล่น CD / DVD / MP3 มีช่องเสียบ USB เชื่อมการทำงานกับโทรศัพท์มือถือผ่านระบบ Bluetooth และระบบ NFC ควบคุมการทำงานผ่านหน้าจอมอนิเตอร์ สี แบบ Touch Screen ขนาด 6.2 นิ้ว และ Remote Control พร้อมลำโพง 6 ชิ้น
คุณภาพเสียงนั้น…ขนาดพยายามปรับให้ตายยังไง เสียงที่ออกมา ก็ยังค่อนข้าง แย่ครับ อีกนิดก็จะเข้าขั้น ห่วยแตก แล้วละ ยังดีที่ว่า พอจะฟังเพลงแบบ Easy Listening ได้อยู่บ้าง ถ้าคุณซีเรียสกับการฟังเพลงในรถ ขอแนะนำว่า เปลี่ยนเครื่องเสียงยกชุด ไปเลยจะดีกว่า
ถัดจากสวิตช์แอร์ลงมา เป็นช่องเก็บของจุกจิกขนาดเล็ก แบ่งเป็น 2 ชั้น ทั้งช่องเล็ก และช่องใหญ่ แบบมีฝาเลื่อนปิดได้ เอาไว้ใส่ยาดม ลูกอม ไฟแช็ค ปากกา รวมทั้งโทรศัพท์มือถือ ฯลฯ ไม่เพียงเท่านั้น ด้านข้างของแผงคอนโซลกลาง ทั้งฝั่งซ้ายและขวา ยังแอบมีช่อ สามเหลี่ยมเล็กๆ สำหรับซ่อนของจุกจิกเอาไว้ได้อีกด้วย
เครื่องปรับอากาศ เป็นสวิตช์แบบมือหมุน ยกมาจาก Lancer EX ทั้งยวง ประดับรอบข้างด้วย Trim พลาสติก สีดำ Piano Black ตามสมัยนิยม เพียงแต่ว่า ไม่มีระบบอัตโนมัติ มาให้ กระนั้น ก็เย็นเร็วทันใจ ส่วนผู้โดยสารแถว 2 และ 3 นั้น บนเพดาน จะมีพัดลม Blower ช่วยกระจายความเย็นเพิ่มขึ้นไปอีก ทว่า คุณสามารถเลือกได้แค่ระดับความแรงของพัดลม 1-4 ตำแหน่งเท่านั้น ส่วนสวิตช์ปรับน้ำยาแอร์ มีเฉพาะด้านหน้ารถเพียงอย่างเดียว
พื้นที่ตรงกลาง ระหว่างผู้ขับขี่ กับผู้โดยสารด้านหน้า ถูกคั่นกลาง ด้วยกล่องคอนโซล เก็บของ ขนาดใหญ่เบ้อเร่อ สามารถวางกล้องถ่ายรูป DSLR รุ่นเล็กๆ (แบบถอดเลนส์ออกแล้ว) ได้ 1 ตัว อย่างแน่นอน มาพร้อมถาดวางของจุกจิก ถอดยกออกไปเก็บได้ และฝาเลื่อนเปิด – ปิด และมีช่องวางแก้วมาให้ 2 ตำแหน่ง หากเป็นกระป๋องน้ำอัดลมหรือขวดน้ำดื่มขนาด 7 บาท ก็สามารถใช้งานได้จริง ข้างๆกันนั้น คือเบรกมือ แบบมาตรฐาน
น่าเสียดายว่า ไม่มีพนักวางแขนแบบพับเก็บได้ มาให้ผู้ขับขี่เลย ต่อให้พอเข้าใจได้ว่า รุ่นเกียร์ธรรมดา นั้น การมีพนักวางแขน อาจเป็นอุปสรรคขณะคนขับจะเปลี่ยนเกียร์ แต่ในรถรุ่นเกียร์อัตโนมัติอย่างนี้ ควรติดตั้งมาให้สักหน่อยก็จะดีมาก ตำแหน่งของพนักวางแขนที่เหมาะสม สามารถติดตั้งได้ข้างๆพนักพิงเบาะคนขับ คล้ายๆกับ เบาะแถว 2 ของ Mitsubishi Grandis/Space Wagon รุ่นปี 2005 นั่นแหละ
ด้านทัศนวิสัย ทีมออกแบบของ Mitsubishi Motors พยายามอย่างยิ่งที่จะสร้างความโปร่งสบายตาให้กับผู้ขับขี่และผู้โดยสารมากที่สุด ด้วยเหตุที่พวกเขารู้ดีอยู่แล้วว่า รถยนต์ 7 ที่นั่ง ทั้งหลาย ซึ่งมีบั้นท้ายยาวๆ นั้น ผู้ขับขี่ ต้องการมองเห็นสรรพสิ่งรอบตัวให้มากที่สุด เพื่อการตัดสินใจขณะขับขี่ จะได้ไม่ผิดพลาด
ทัศนวิสัยด้านหน้า ค่อนข้างโปร่ง ส่วนหนึ่งมาจากตำแหน่งเบาะนั่งที่ค่อนข้างสูงกว่ารถเก๋งทั่วไป และใกล้เคียงกับรถกระบะ 4×4 ขณะเดียวกัน เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ทั้งฝั่งซ้ายและขวา ก็ไม่บดบังรถที่แล่นสวนทางมาขณะเลี้ยวกลับรถอย่างที่คิด การตัดสินใจ ติดตั้งกระจกมองข้างไว้ที่บานประตู แทนที่จะเชื่อมไว้กับเสากรอบหน้าต่าง แม้ว่าทำให้ต้องติดตั้งกระจก Opera หูช้าง เพิ่มเข้ามา และเพิ่มเสียงกระแสลมไหลผ่าน ขณะใช้ความเร็วสูงมากขึ้น แต่ก็เพิ่มทัศนวิสัยการมองเห็นที่ดีขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน
กระจกมองข้าง มีขนาดใหญ่โต แต่เมื่อปรับตำแหน่งให้เอนออกไปด้านข้าง ชนิดที่ว่า เห็นตัวถังรถน้อยที่สุดแล้ว ขอบกระจกด้านนอก ถูกชิ้นฝาครอบกระจกที่ทำจากพลาสติก Recycle เบียดบังกินพื้นที่เข้ามาทางด้านข้าง น้อยมาก
ส่วนทัศนวิสัยด้านหลัง บอกเลยว่า โปร่งกว่าที่คาดไว้เยอะพอสมควร เนื่องจากพื้นที่กระจกหน้าต่างค่อนข้างเยอะ แม้จะไม่เท่ากับ Suzuki Ertiga ก็ตามที กระนั้น เสาหลังคาคู่หลังสุด D-Pillar ยังแอบหนาไปนิดนึง ทำให้พื้นที่การทองเห็น ถูกบดบังพอสมควร การเปลี่ยนเลนจากขวาไปซ้ายหรือขับเบี่ยงเข้าช่องทางคู่ขนาน อาจต้องใช้ความระมัดระวังด้วยการหันไปเหลือบมองด้วยตาคุณเองกันนิดนึง จะปลอดภัยยิ่งขึ้น
********** รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ **********
******* Technical Information & Test Drive Session *******
ไม่ว่าจะเป็นเวอร์ชัน Indonesia Philipines หรือ ประเทศไทย Mitsubishi Xpander ทุกคัน จะถูกติดตั้งขุมพลัง มาให้เหมือนกันหมดเพียงแบบเดียว เป็นเครื่องยนต์เบนซิน รหัสรุ่น 4A91 บล็อก 4 สูบเรียง DOHC 16 วาล์ว ขนาด 1.5 ลิตร 1,499 ซีซี. กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก เท่ากับ 75.0 x 84.8 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.0 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วย หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ พร้อมระบบแปรผันวาล์ว MIVEC (Mitsubishi Innovative Valve timing Electronic Control system)
พูดกันตามตรง ก็คือ เครื่องยนต์ลูกนี้ ไม่มีอะไรให้ชวนตื่นเต้นเลย เพราะมันเคยถูกนำมาใช้ใน Mitsubishi COLT ตั้งแต่รุ่นปี 2003 รวมทั้ง Mitsubishi Lancer 2007 (เวอร์ชันตลาดโลก) มาแล้ว!!! ไม่เพียงเท่านั้น Mitsubishi Motors ยังขายเครื่องยนต์รุ่นนี้ให้กับผู้ผลิตจากประเทศจีน เอาไปใส่ในรถยนต์ของตน หลายรุ่น เช่น 2004 – 2006 Smart For – Four , 2011 Haima 2 , 2010 Brilliance FSV , 2014 Soueast V3 , 2014 Senova D50 , 2016 Yema T70 SUV (รถบ้าอะไรวะ ยี่ห้อ “เยมา”), 2017 Soueast DX3 , 2014 Zotye Z200 และ 2014 Zotye SR7 เป็นต้น
แต่ละชื่อที่เอ่ยมาข้างต้น ไม่คุ้นเลยใช่ไหมครับ? งั้นช่างมันเถอะ!
กำลังสูงสุด 105 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 141 นิวตัน-เมตร (14.36 กก.-ม.) ที่ 4,000 รอบ/นาที รองรับน้ำมันสูงสุดได้ถึงระดับ Gasohol E20 ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ (CO2) ที่ระดับ 161 กรัม/กิโลเมตร
ข้อมูลการบำรุงรักษา
– น้ำมันเครื่อง ใช้ SAE 0W-20 , 0W-30 , 5W-30 ,5W-40 ตามมาตรฐาน ACEA A3/B3 , A4/B4 ,A5/B5 หรือ API SG หรือสูงกว่า
– ปริมาณ น้ำมันเครื่องที่ต้องใช้ 3.8 ลิตร แต่ถ้าเปลี่ยนกรองน้ำมันเครื่องด้วย บวกเพิ่มอีก 0.2 ลิตร
– น้ำหล่อเย็น 5 ลิตร (เพิ่มอีก 0.65 ลิตร ในถังพักสำรอง)
– หัวเทียน NGK LZFR5B1-11
– แบ็ตเตอรี 34B19L แรงดันไฟฟ้า 12 V ความจุกระแสไฟฟ้าสลับ 95 A
ถ้าใครอยากเพิ่มความสนุกในการขับขี่ คงต้องขอแสดงความเสียใจด้วย เพราะแม้ว่าเวอร์ชัน Indonesia จะมีเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ มาให้เลือก แต่เวอร์ชันไทยของ XPANDER จะส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหน้าด้วยเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ แบบ Torque Converter ปกติ เพียงอย่างเดียว แถมไม่มีโหมด +/- หรือแป้นเปลี่ยนเกียร์ Paddle Shift มาให้แต่อย่างใดทั้งสิ้น ใช้น้ำมันเกียร์ “ATF-MA1 เท่านั้น” ปริมาณที่ใช้ 4.9 ลิตร
อัตราทดเกียร์ลูกนี้ มีดังนี้
- เกียร์ 1 …………………2.875
- เกียร์ 2 …………………1.568
- เกียร์ 3 …………………1.000
- เกียร์ 4 …………………0.697
- เกียร์ถอยหลัง ………..2.300
- อัตราทดเฟืองท้าย ….4.375
ถ้าจะถามว่า ทำไมไม่ยอมเอาเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ มาใส่ให้เลยละ? เกียร์ 4 จังหวะ เชยแหลกลาญ เหมือนรถที่ขายเมื่อปี 1995 เลย ประเด็นนี้ Mitsubishi Motors เค้าตอบมาว่า “ผลวิจัยตลาดนั้น ชาว Indonesia ต้องการรถที่ มีเครื่องยนต์กลไกไม่สลับซับซ่้อน แต่ต้องทนถึก และสามารถซ่อมแซมบำรุงรักษาเองได้สะดวกง่ายดาย”…..เฮ้อ…ถ้าเช่นนั้น เราก็คงต้องโทษผลวิจัยตลาดจากชาว Indonesia เลยก็แล้วกันครับ โทษฐานที่ ทำให้เราไม่ได้ใช้ของซึ่งทันยุคสมัย กว่านี้
สมรรถนะจะเป็นอย่างไรนั้น เราทำการทดลองจับอัตราเร่ง ภายใต้มาตรฐานดั้งเดิมตลอดหลายปีที่ผ่านมา คือ ใช้เวลากลางดึก เปิดแอร์ นั่ง 2 คน น้ำหนักตัวผู้ขับขี่และผู้โดยสาร รวมกันไม่เกิน 170 กิโลกรัม ผู้ร่วมทดลองคราวนี้ เป็น จาก The Coup Team ของเราเหมือนเช่นเคย และผลลัพธ์ที่ได้ มีดังนี้
เห็นตัวเลขแล้ว ปาดเหงื่อกันเลยทีเดียว
ตอนแรกที่เห็นสเป็กตัวรถ ผมคาดว่า อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง น่าจะป้วนเปี้ยนแถวๆ 15 วินาที กลางๆ ขณะที่ช่วงเร่งแซง ผมมองว่า ถ้าได้ 11 วินาที กลางๆ ก็หรูแล้วละ พอทำตัวเลขออกมาจริงๆ มันก็ไม่ได้ย่ำแย่เลวร้ายนัก…
ถ้าเปรียบเทียบกับบรรดาเพื่อนพ้องร่วมกลุมตลาดเดียวกัน (Sub-Compact Minivan 7 ที่นั่ง จะยกสูงด้วยหรือไม่ก็ตาม) Xpander ทำตัวเลขออกมาได้ ช้าที่สุด หรือให้พูดกันตรงๆก็คือ อืดดดดดด สุดในกลุ่ม!
แต่ถ้าเปรียบเทียบกับบรรดารถยนต์นั่งส่วนบุคคล ทุกรูปแบบตัวถัง ทุกขนาดเครื่องยนต์ ในระดับราคา ไม่เกิน 1 ล้านบาท ที่เราทำการจับเวลา ในช่วงตั้งแต่เปิด Website มารวม 9 ปี ก็พอจะถือว่า Xpander มีเรี่ยวแรง พอๆกันกับบรรดา รถเก๋ง ECO Car พิกัด เบนซิน 1.2 ลิตร ที่วางจำหน่ายกันอยู่ในบ้านเราตอนนี้นั่นแหละ ถ้าคุณยอมรับได้ในอัตราเร่งของ ECO Car ผมว่า คุณก็คงใช้ชีวิตกับ Xpander ได้อย่างไม่น่ามีปัญหาอะไรนัก
อย่างน้อยๆ Xpander ก็ยังทำตัวเลขออกมาได้ดีกว่า Nissan Note และ MG ZS ก็แล้วกันละวะ!
การไต่ความเร็วขึ้นไปยัง Top Speed นั้น ช่วงเกียร์ 1 ค่อนข้างกระฉับกระเฉง ด้วยอัตราทดที่จัดมาพอประมาณ แต่พอเข้าสู่ช่วงเกียร์ 2 เรี่ยวแรงในช่วงหลัง 5,000 รอบ/นาที แทบไม่เหลืออยู่เลย ต้องใช้เวลาในการเค้นกันเล็กน้อย กว่าที่เกียร์จะถูกตัดเปลี่ยนเข้าเกียร์ 3 ในช่วงหลังจาก 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไปแล้ว แรงก็จะเหี่ยวอยู่แป๊บนึง ในช่วงที่ไต่ขึ้นไป จาก 100 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก่อนจะเริ่มไหลดีขึ้น เมื่อลากรอบสูงขึ้นไปอยู่แถวๆ 4,000 – 5,000 รอบ/นาที หรือช่วงไต่จาก 120 ไปถึง 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง
หลังจากนั้น การพา Xpander ไล่ขึ้นไปถึงความเร็วสูงสุด ไม่ใช่เรื่องยากเย็นนัก แค่อาจต้องใช้ทางโล่งๆสักนิด และใช้เวลาสักหน่อย ในการลากเกียร์ 3 ขึ้นไปให้ถึง 168 กิโลเมตร/ชั่วโมง รอให้เกียร์ ตัดเปลี่ยนขึ้นเกียร์ 4 ที่ 6,100 รอบ/นาที ก็พอจะแตะระดับ 170 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 4,250 รอบ/นาที แล้วก็สุดเข็มวัดเพียงแค่นั้น ไม่ต้องไปพยายามเค้นกว่านี้ ยังไงก็ไปต่อจากนี้ไม่ได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่มีเนินส่งช่วย หรือกระแสลมส่งด้านท้ายรถ ต่อให้คุณกดคันเร่งแช่ให้จมมิดจนตีนจะทะลุไปยังกันชนหน้ารถแล้วก็ตามเถอะ Xpander จะทำความเร็วสูงสุดได้แค่ 165 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 4,100 รอบ/นาที ณ เกียร์ 4 แถมหลังจากนั้น ต่อให้แช่คันเร่งยาวกว่านั้น รอบเครื่องยนต์จะเริ่มลดลง พร้อมๆกับความเร็วของรถที่จะเหลือเพียงแค่ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งคาดว่ามาจากคำสั่งของสมองกลให้หรี่ลิ้นปีกผีเสื้อ (ลิ้นคันเร่ง) ลงมา นั่นเอง ตัวเลข 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง นี้ ก็ตรงกับ ความเร็วสูงสุดที่ Mitsubishi Motors แจ้งเอาไว้ในคู่มือผู้ใช้รถของ Xpander ไม่มีผิด
ย้ำกันอีกสักทีว่า เราไม่สนับสนุนให้ทำการทดลองความเร็วสูงสุดด้วยตัวคุณเองเด็ดขาด เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังอาจก่ออันตรายต่อชีวิต ของคุณผู้อ่าน และเพื่อนร่วมทางอีกด้วย เราทำการทดลองเพื่อให้ได้รู้ข้อเท็จจริง สำหรับการใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อการศึกษา ในด้านวิศวกรรม ของผู้คนทั่วไปเท่านั้น มันไม่ใช่เรื่องสนุกที่จะทำความเร็วสูงขนาดนี้ กับรถครอบครัวบ้านๆ แบบนี้ หากเกิดอุบัติเหตุใดๆขึ้นมา เราไม่ขอรับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น ในทุกกรณี
ในการขับขี่จริง อัตราเร่งที่มีมาให้ ถึงจะอืดสุดในกลุ่ม แต่ก็แอบดีกว่าที่คิดไว้นิดนึง ในช่วงการจราจรติดขัด ถ้าคุณต้องการจะเปลี่ยนเลน เบี่ยงออกซ้าย หรือขวา ก็แค่เปิดไฟเลี้ยว ดูรถคันข้างหลังให้มั่นใจว่าปลอดภัย แล้วก็หมุนพวงมาลัยพร้อมกับแตะคันเร่งออกไปได้เลย ถ้าลงน้ำหนักคันเร่งพอประมาณ ไม่ต้องมากเกินไป ก็ตอบสนองทันต่อเท้าประมาณหนึ่ง
เพียงแต่ว่า อาการที่ทำให้คุณอาจเผลอเข้าใจผิดว่า รถมันแรงนั้น มีทั้งช่วงออกตัวเกียร์ 1 ที่คุณกดคันเร่งลงไป ครึ่งหนึ่งหรือเต็มตีน เครื่องยนต์จะแผดร้องออกมาดังลั่น เหมือนเด็กทารกหิวนม จนเกิดแรงดึงทำให้รถทะยานขึ้นไปข้างหน้า หรือในอีกกรณีหนึ่งคือ หากคุณเหยียบคันเร่งลึกไปเพียงนิดเดียว สมองกลก็จะเข้าใจผิดว่า คุณอยากเร่งไวๆ มันก็จะสั่งเปลี่ยนลงมาเป็นเกียร์ 2 ให้เลย ซึ่งทำให้รอบเครื่องยนต์กวาดขึ้นไป และเครื่องยนต์ก็แผดร้องเรียกหาปั้มติ๊กว่า เอาน้ำมัน มาให้หนูดูดไวๆ นั่นแหละครับ คือ 2 อาการที่อาจทำให้บางคนเข้าใจผิดได้
อัตราเร่งในการใช้งานจริง มันไม่ได้อืดถึงขั้นปาเข้าไป 17 – 18 วินาที อย่างที่ผมเคยกังวลไว้ก่อนหน้านี้ เรี่ยวแรงเพียงพอให้ใช้งานในเมืองได้สบายๆอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า ในช่วงที่ต้องขับขี่บนทางหลวงข้ามจังหวัด หากคิดจะเร่งแซง อาจต้องเผื่อจังหวะไว้มากหน่อย ต้องแน่ใจว่า ไม่มีรถพ่วง 18 ล้อ วิ่งสวนเลนเข้ามาในระยะอันใกล้ ถ้าตัดสินใจจะแซง ให้กระทืบคันเร่งลงไปเต็มตีนเลย ไม่ต้องถอน จนกว่าจะแซงพ้น จึงจะตบไฟเลี้ยวกลับเข้าเลนซ้าย แล้วถอนเท้าขวาจากคันเร่ง แค่นั้น เพราะถ้าคุณกดแค่ครึ่งคันเร่ง เกียร์จะลดลงมาแค่ เกียร์ 3 และความเร็วจาก 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะเพิ่มขึ้นช้าๆ อย่างมากสุดก็ไปจบที่ 115 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งอาจทำให้คุณแซงรถบรรทุก 10 ล้อ ไม่พ้นได้ในบางกรณี
ในภาพรวม ถ้าคุณยอมรับได้กับอัตราเร่งของ รถเก๋ง ECO Car เครื่องยนต์ เบนซิน 1.2 ลิตร ผมว่า คุณก็สามารถใช้ชีวิตอยู่กับ Xpander ได้อย่างไม่มีปัญหาในเรื่องความอืดของรถ แต่ต้องยอมรับว่า ถ้าอยากได้อัตราเร่งที่ฉับไวกว่านี้ เดินเข้าโชว์รูม Honda เลยครับ Mobilio และ BR-V จอดส่งยิ้มโบกมือเป็นนางกวัก รอคุณอยู่
การเก็บเสียง ถือเป็นข้อดีอีกประการหนึ่งของ Xpander เนื่องจาก ทีมวิศวกร พยายามแก้ไขปัญหาเสียงรบกวนรอบคัน ด้วยการเพิ่มวัสดุซับเสียง บริเวณใต้ท้องรถ และผนังห้องเครื่องยนต์ รวมทั้งซุ้มล้อหลัง เยอะขึ้นมาก ทำให้เสียงกระแสลม ตามจุดต่างๆของตัวรถ ขณะใช้ความเร็ว 120 – 130 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถือว่าเงียบกว่าคู่แข่งทุกคันในตลาด จะมีก็แต่เพียง เสียงกระแสลม ที่ไหลผ่านช่องว่าง ระหว่าง กระจกมองข้าง และหน้าต่าง Opera หูช้างคู่หน้าเท่านั้น ที่ยังดังไปหน่อย ซึ่งเป็นปัญหาปกติที่มักพบได้กับรถยนต์ที่ถูกย้ายตำแหน่งกระจกมองข้างไปแปะไว้ข้างประตูเช่นนี้ (Honda Civic FD 2005 กับ FB 2012 อาการหนักกว่านี้อีก)
ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัย Rack & Pinion พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฟฟ้า EPS (Electronic Power Steering) รัศมีวงเลี้ยว 5.2 เมตร ข้อดีก็คือ วงเลี้ยว โคตรแคบใช้ได้เลย โดยเฉพาะตอนเลี้ยวกลับรถ หรือเลี้ยวออกมาจากปากซอย คุณจะเห็นข้อดีของการมีวงเลี้ยวแคบ เกินคาด ของ Xpander ได้ชัดเจน แคบจนน่าตกใจเลยว่า มันแคบได้ขนาดนี้จริงๆเหรอ!?
อย่างไรก็ตาม Xpander ยังคงมีบุคลิกของพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า จากรถยนต์ในยุคปี 2010 มาให้ได้สัมผัสกันอยู่ คือในช่วงความเร็วต่ำ จะเบามากๆ (ถ้าเบากว่านี้อีกนิดเดียวก็จะถึงขั้น เบาโหวงแบบ Toyota Corolla Altis 2008 และ Nissan Sylphy ละ) แต่แรงขืนมือน้อย สัมผัสได้ว่า เป็นการหมุนโดยใช้มอเตอร์ เลี้ยวไว้แค่ไหน ก็จะค้างตัวไว้ที่ตำแหน่งเดิมตรงนั้นเลย ไม่คืนกลับมาตั้งตรง การตอบสนองยังไม่ค่อยเป็นธรรมชาติมากนัก เซ็ตพวงมาลัยมาไวในช่วงแรกๆ และแอบเนือยในช่วงเลี้ยวกลางๆ ทำให้หลายคนอาจรู้สึกแปลกๆ
พอใช้ความเร็วเดินทาง พวงมาลัยก็จะหนืดหนักขึ้นนิดหน่อย ตามความเร็วที่เพิ่มขึ้น ตั้งตรงใช้ได้ On-Center Feeling ยังไม่ถึงกับดีนัก แต่ก็ไม่ต้องแต่งเพลงมาลัยซ้าย-ขวา เหมือน Toyota Vios 2008 หรือ Toyota Sienta รุ่นล่าสุด รักษาทิศทางในระดับใช้ได้ ผู้ขับขี่ไม่ค่อยเครียดมากนัก
ถึงกระนั้นก็เถอะ พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้าของ Xpander ก็ยังเซ็ตมาดีกว่า Mitsubishi Mirage กับ Attrage , Nissan March กับ Almera และ Suzuki Ciaz ก็แล้วกัน
ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบแม็คเฟอร์สันสตรัต (MacPherson Strut) ด้านหลังเป็นแบบทอร์ชันบีม (Torsion Beam) ไม่มีอะไรแปลกใหม่ ยกเว้น วาล์วน้ำมันในช็อกอัพ ยกมาจาก Mitsubishi Lancer Evolution X รุ่นสุดท้าย แต่ก็แค่นั้น ไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นใดๆทั้งสิ้น
ทว่า ทีมวิศวกรเขาก็ทำการบ้านกับการเซ็ตระบบกันสะเทือนมาพอสมควร ถึงขั้น ออกแบบ เหล็กค้ำช็อกอัพคู่หน้า แบบ Built-in ฝังอยู่กับชิ้นส่วนของห้องเครื่องยนต์มาให้จากโรงงาน ซึ่งมีส่วนช่วยยึดรั้งตรึงตัวถังเอาไว้ในขณะเข้าโค้งเป็นหลัก รวมทั้งเสริมความแข็งแรงของจุดเชื่อมต่อโลหะ (Body Welding) บริเวณซุ้มล้อคู่หลัง เพิมจุดเชื่อมเข้าไปให้มากขึ้น เพื่อช่วยลดการบิดตัวของพื้นตัวถังบริเวณล้อคู่หลัง ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
ในช่วงความเร็วต่ำ ช่วงล่างของ Xpander ถูกเซ็ตมาในแนวทางของ รถยนต์ที่มีตัวถังค่อนข้างหนัก รองรับด้วยช่วงล่างที่มีน้ำหนักเหมาะสม และ Firm ประมาณหนึ่ง ไม่เบาไป ดังนั้น การขับขี่ผ่านหลุมบ่อเล็กๆ และลูกระนาดในตรอกซอกซอยต่างๆ คุณจะพบความนุ่มสบาย และการซับแรงสะเทือนได้ดีพอประมาณ (ขึ้นอยู่กับลมยางที่คุณเติมเข้าไป)
ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อคุณขับผ่านลูกระนาด จะพบว่า ช่วงล่างด้านหน้าถูกเซ็ตมาให้แข็งกว่าด้านหลังนิดหน่อย แบบ “หน้าแข็ง หลังนุ่ม” ซึ่งแตกต่างจากรถยนต์ทั่วไป ที่เซ็ตมาให้ “บาลานซ์พอดี” หรือ”หน้านุ่มกว่าหลังนิดนึง” ซึ่งอาจมีผลทำให้ผู้ขับขี่รู้สึกได้ถึงอาการ Rebound ของช็อกอัพคู่หลังอยู่บ้าง หากขับขี่และนั่งโดยสารตามลำพังหรือแค่ 2 คน
ในย่านความเร็วสูง Xpander ให้การทรงตัวที่ดีใช้ได้เลยทีเดียว แม้จะใช้ความเร็วถึง 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตัวรถก็จะพุ่งไปข้างหน้าอย่างนิ่งๆ ไว้ใจให้พอจะลองปล่อยมือจากพวงมาลัยได้ราวๆ 3-4 วินาที แต่ถ้ามีกระแสลมมาปะทะด้านข้าง โดยเฉพาะเมื่อใช้ความเร็วอยู่บนทางยกระดับบูรพาวิถี ตัวรถก็จะมีอาการเป๋ ไปตามลม เกิดขึ้นอยู่บ้าง แต่พอจะคุมพวงมาลัยได้อยู่ อาการดังกล่าว เกิดขึ้นน้อยกว่าคู่แข่งทุกคัน กระนั้น หลัง 140 กิโลเมตร/ชั่วโมงไปแล้ว ขอแนะนำว่า หากเจอกระแสลมปะทะ ก็ควรลดความเร็วลงมา อยู่ที่ไม่เกิน 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพื่อความปลอดภัย
แม้ว่าจะเป็นรถที่มีจุดศูนย์ถ่วงสูง และตำแหน่งเบาะนั่งก็สูง แถมระยะ Ground Clearance ก็ยังสูงกว่าเพื่อน แต่การพา Xpander เข้าโค้งนั้น ก็เป็นเรื่องเกินความคาดหมายไปพอสมควร บนโค้งขวารูปเคียว เหนือระบบทางด่วนกรุงเทพมหานคร ย่านมักกะสัน รถยนต์ทั่วไป ทำได้ในช่วง 80 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ Xpander ทำได้ที่ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง พอดี! (บนมาตรวัด) ต่อเนื่องไปยัง โค้งซ้าย ฝั่งตรงข้ามโรงแรม Eastin ก็ยังรักษาความเร็วไว้ได้ที่ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งเป็นช่วงที่ รถยังไปได้ต่อ แต่ยาง Bridgestone Ecopia EP 150 จะเริ่มบิดตัวและร้องครวญครางขึ้นมาให้ได้ยินบ้างแล้ว ตัวรถจะมีอาการหน้าดื้อเป็นหลัก แต่บั้นท้ายจะค่อยๆเริ่มออกเบาๆ ให้พอเดาอาการได้ว่า หากท้ายปัดถึงขั้นกวาดออกข้างขึ้นมา ก็แทบไม่ต้องคิดไปแก้ไขอาการของตัวรถกันเลย คงต้องปล่อยให้หมุนไปตามยถากรรม
ส่วนทางโค้งรูปตัว S จากทางด่วนขั้นที่ 1 ช่วงสุขุมวิท 62 ขึ้นไปยังทางด่วนยกระดับบูรพาวิถี ผมสามารถพา Xpander เข้าโค้งขวาแรกด้วยความเร็วถึง 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ตัวรถเอียงออกทางซ้ายค่อนข้างเยอะ ตามปกติของรถที่มีระยะ Ground Clearance ค่อนข้างสูง ส่วนโค้งซ้ายยาวๆ ผมไต่ขึ้นไปได้ถึง 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ซึ่งนั่นก็เกือบจะถึง Limit ที่ยางติดรถจะรับมือไหวแล้ว ก่อนจะปิดท้ายด้วยโค้งขวายกระดับ Xpander เข้าโค้งดังกล่าวได้ที่ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด)
ส่วนทางโค้งซ้ายและขวารูปเคียวจาก Motorway เข้าสนามบินสุวรรณภูมิ Xpander พาเข้าโค้งซ้ายได้ที่ 95 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก่อนที่ยางจะเริ่มไถลออก อันเป็นผลมาจาก สีทาถนนกันลื่น ได้เสื่อมสภาพไปหมดแล้ว พอเข้าโค้งขวา ก็สามารถจิกโค้งได้ถึง 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็ถึง Limit ที่ยางจะรับได้แล้ว แม้ในความเป็นจริง ตัวรถยังสามารถเข้าโค้งด้วยความเร็วเพิ่มขึ้นได้จากนี้อีกราวๆ 5 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ได้ ดังนั้น วิธีแก้ ก็ทำได้ด้วยการเปลี่ยนยางติดรถให้ดีกว่านี้
ภาพรวมแล้ว ช่วงล่าง คือจุดเด่นอีกประการสำคัญที่ Xpander ทำได้ดีมาก การรักษาสมดุล ทั้งในช่วงความเร็วต่ำ ย่านความเร็วสูง การเข้าโค้ง การดูดซับแรงสะเทือน แถมยังเข้าโค้งด้วยความเร็วสูงได้ดีเกินความคาดหมายอีกด้วย หากต้องการ Minivan คันเล็ก 7 ที่นิ่ง และมั่นใจแล้ว เหนือกว่าคู่แข่งอีกหลายๆคัน จะมีก็เพียง Suzuki Ertiga เท่านั้น ที่ทำได้ใกล้เคียง และเน้นไปในแนวขับสนุกมากว่านิดนึงด้วยผลจากความเบากว่าของตัวรถ แต่ก็ยังดีไม่เท่า Xpander
ระบบห้ามล้อ ด้านหน้าเป็นแบบ ดิสก์เบรก ด้านหลังเป็นแบบดรัมเบรก น้ำมันเบรก ใช้ได้ทั้ง DOT3 หรือ DOT4 มาพร้อมระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-Lock Braking System) และระบบกระจายแรงเบรกตามน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronic Brake Force Distribution) เสริมด้วยระบบควคุมเสถียรภาพและการทรงตัว ASC (Active Stability Control…ซึ่งยี่ห้ออื่นอย่าง Toyota เขาเรียกว่า VSC : Vehicle Stability Control นั่นเอง) ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี TCL (Traction Control) ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HSA และระบบกระพริบไฟฉุกเฉินเมื่อผู้ขับขี่ เหยียบเบรกกระทันหัน ESS (Emergency Stop Signal) ทั้งหมดนี้ มีทั้งในรุ่น GLS-LTD และ GT ตัวท้อป
แป้นเบรกเซ็ตมาในสไตล์นิ่มๆ ระยะเหยียบแป้นยาวปานกลาง แรงต้านเท้าไม่เยอะ เหมาะกับคุณสุภาพสตรี ในการบังคับควบคุมแรงเบรจากเท้าขวาได้ตามใจชอบ เบรกให้รถชะลอหยุ่ดนุ่มๆในขณะขับคลานๆไปตามการจราจรติดขัดในเมืองได้ง่ายอยู่ ไม่ยากเย็น ส่วนการหน่วงรถลงมาจากย่านความเร็วสูง ทำได้ดีในระดับสอบผ่าน แต่ยังไม่ถึงขั้นน่าประทับใจนัก เพราะเมื่อต้องเบรกด้วยความเร็วสูง การเหยียบครั้งแรกสุด ยังไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าต้องเหยียบซ้ำลงไปอีกครั้ง โอกาสที่เบรกจะ Fade ค่อนข้างง่ายอยู่
ด้านความปลอดภัย โครงสร้างตัวถังของ Xpander ถูกพัฒนาขึ้นโดยใช้เทคโนโลยี RISE (Reinforced Impact Safety Evolution) ที่ถูกเสริมความแข็งแกร่งบริเวณคานหน้า ใกล้ผนังห้องเครื่องยนต์ และช่วงคานขวาง เหนือซุ้มล้อคู่หลัง โดยใช้เหล็กรีดร้อนแบบทนแรงอัดสูง High Tensile Steel ตามจุดต่างๆ เริ่มจากเหล็กแบบทนแรงอัด 440 Mpa (เมกกะปาสคาล) ที่บริเวณ พืนที่สีเขียว อันประกอบไปด้วย เฟรมห้องเครื่องยนต์ด้านหน้า เสากรอบประตูห้องเก็บของด้านหลัง และโครงสร้างแนวยาวบริเวณพื้นรถด้านข้างกับ แผ่นเหล็กบริเวณกรอบหน้าต่างคู่หลัง รวมทั้ง เหล็กรีดร้อนทนแรงอัด 590 Mpa บริเวณพื้นที่สีน้ำเงิน เช่น เสากรอบประตู เสาหลังคา คู่หน้า A-Pllar กับคู่กลาง B-Pillar โครงสร้างห้องเครื่องยนต์ครึ่งท่อนบน และโครงพื้นตัวถังด้านล่าง รวมทั้ใช้เหล็กรีดร้อน ทนแรงอัด 980 Mpa กับแผ่นเหล็กสำหรับด้านในของเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar และธรณีประตูทั้ง 4 ตำแหน่ง
รวมทั้ง ติดตั้งอุปกรณ์ตัวช่วยมาให้ ตามสมควร ไม่ว่าจะเป็น ถุงลมนิรภัย SRS-Airbag ที่ให้มาเพียงแค่ 2 ใบ เท่านั้น (คนขับ และผู้โดยสารด้านหน้าฝั่งซ้าย) เข็มขัดนิรภัยแบบ ELR 3 จุด ทุกตำแหน่ง (แต่น่าเสี่ยดายว่า คู่หน้า ปรับระดับสูง – ต่ำไม่ได้เลย)
เนื่องจาก ยังไม่มีหน่วยงาน NCAP แห่งอื่นในโลก นำ Xpander ไปทดสอบการชน เราจึงจำเป็นต้องใช้ผลทดสอบของทาง ASEAN NCAP ซึ่งผ่านมาตรฐานในระดับ 4 ดาว โดยทำคะแนนในการปกป้องคนขับและผู้โดยสารที่เป็นผู้ใหญ่ได้ 39.08 ผู้โดยสารเด็กบนเบาะนิรภัย 18.69 และ คะแนนอุปกรณ์ตัวช่วย 13.89 รายละเอียดเพิ่มเติม สามารถคลิกเข้าไปดูได้ในเว็บไซต์ของ ASEAN NCAP
********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********
*********** Fuel Consumption Test (High-way) ***********
แม้ว่าตัวเลขสมรรถนะจะออกมาอย่างที่เห็น แต่หลายๆคน คงอยากจะรู้ว่า Xpander จะให้ความประหยัดน้ำมันในระดับใด ดังนั้น เราจึงทำการทดลองตามมาตรฐานดั้งเดิมของเว็บเรา ด้วยการนำรถไปเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron ณ สถานีบริการน้ำมัน Caltex ริมถนนพหลโยธิน ใกล้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ ในช่วงกลางคืน
เนื่องจาก Xpander เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ที่มีความจุกระบอกสูบเครื่องยนต์ไม่เกิน 2,000 ซีซี ราคาไม่เกิน 1.3 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มที่คุณผู้อ่านจะซีเรียสกับอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ดังนั้น ตามธรรมเนียมของ Headlightmag แล้ว เราจะต้องเขย่ารถและอัดกรอกน้ำมันลงถังให้ได้มากที่สุด จนกระทั่งน้ำมันเอ่อออกมาถึงคอถัง เพื่อลดความเพี้ยนของตัวเลขการทดลองให้น้อยที่สุด
ถังน้ำมันของ Xpander ทั้งเวอร์ชันไทย และตลาดโลก มีขนาดเท่ากันคือ 45 ลิตร ส่วนผู้ร่วมทดลอง ในคราวนี้ เป็นน้อง Joke V10ThLnD จาก The Coup Team ของเว็บเรา น้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม
เมื่อเติมน้ำมัน จนเอ่อขึ้นมาถึงปากคอถังเรียบร้อยแล้ว เราเริ่มต้นทดลองขับ ด้วยการกดปุ่ม Trip เลือกระหว่างมาตรวัดระยะทางจากแรกเริ่มใช้รถ Odo Meter กับ Trip Meter A และ B เพื่อ Set Trip Meter A ไว้ที่ 0.0 กิโลเมตร (โดยกดปุ่ม Trip แช่ไว้จนตัวเลขใต้จอ MID เปลี่ยนเป็น 0.0) และกดปุ่มบนก้านพวงมาลัยฝั่งขวา เพื่อเลื่อนหน้าจอ ไปตั่งค่ามาตรวัดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ควบคู่กันไปด้วย จากนั้น ติดเครื่องยนต์ เปิดเครื่องปรับอากาศไว้ที่ 25.0 องศาเซลเซียส พัดลมเบอร์ 1 หรือ 2
เราขับออกจากปั้มน้ำมัน เลี้ยวกลับที่ถนนพหลโยธิน เข้าซอยอารีย์ เลี้ยวขวาลัดเลาะไปออกซอยโรงเรียนเรวดี ถนนพระราม 6 ขึ้นทางด่วนที่ด่านพระราม 6 แล้วก็ ขับรถกันไปยาวๆ จนถึงปลายสุดของระบบทางด่วน สายอุดรรัถยา เลี้ยวกลับมาขึ้นทางด่วนสายเดิม มุ่งหน้าย้อนกลับเข้ากรุงเทพฯ โดยใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ และนั่ง 2 คน ตามมาตรฐานเดิม
เมื่อเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ มาถึง ทางลง ของทางด่วน ที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย เข้าสู่ถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับที่ใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex พหลโยธิน กันอีกครั้งเพื่อเติมน้ำมัน เบนซิน 95 Techron ให้เต็มถัง รวมทั้งยังต้องเขย่ารถเพื่ออัดกรอกน้ำมันขึ้นมาจนเอ่อถึงปากคอถัง เหมือนครั้งแรกที่เราเริ่มต้นทดลอง ณ ตู้หัวจ่ายเดียวกัน ทั้งหมด
การเขย่ารถในกรณีนี้ ช่วงเติมน้ำมันครั้งแรก เราใช้เวลาขย่มรถกันนานถึงเกือบ 2 ชั่วโมง กว่าจะเริ่มออกรถกันได้ ก็ปาเข้าไปเที่ยงคืนของวันใหม่พอดี แต่ในการเติมน้ำมันอีกครั้ง หลังกลับมาถึงจุดเริ่มต้นและปลายทางแล้ว เราก็ต้องขย่มกันต่ออีกราวๆ เกือบๆ 1 ชั่วโมง เพียงเพื่อจะอัดกรอกน้ำมันลงไปแค่เพียงไม่กี่ลิตร
เราค้นพบว่า คอถังของ Xpander นั้น โคตรรรรยาววววว แม้ว่า ตัวเลขความจุถังน้ำมันจะอยู่ที่ 45 ลิตร แต่เอาเข้าจริงๆแล้ว คุณยังสามารถค่อยๆเติมอัดกรอกต่อไปได้อีก มากถึง 15 ลิตร!!! จนน้อง Napat Channual คุณผู้อ่านของเว็บเราที่มาช่วยเขย่ารถกันนั้น ถึงขั้นออกปากเลยว่า “นี่คอถังน้ำมัน หรือถ้ำหลวง ทำไมมันยาว มันลึกหยั่งเง้!? ส่องกล้องเข้าไป จะเจอน้องๆหมูป่าอะคาเดมี่ ไหมเนี่ย?”
ชวนให้นึกถึงบรรยากาศตอนทำตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของ Mitsubishi Mirage และ Attrage ได้เลยว่า เริ่มต้นตอน 4 ทุ่ม กว่าจะเลิก ล่อเข้าไปตี 4 ครึ่ง! คราวนี้ ก็ไม่แพ้กันนักหรอก เริ่มต้น 4 ทุ่ม เสร็จงานตอน ตี 2 ครึ่ง!
มาดูตัวเลขที่ Xpander ทำได้กันเถอะ…
ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด 93.4 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับเฉลี่ย 6.19 ลิตร
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 15.08 กิโลเมตร/ลิตร
สำหรับการขับขี่ทางไกลแล้ว หากมีผู้โดยสาร 2-3 คน Xpander ก็ทำตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ได้ตามมาตรฐานของรถยนต์ยุคใหม่ ซึ่งมักป้วนเปี้ยนกันเกินกว่า 15 กิโลเมตร/ลิตร ไปแล้ว แต่ถ้าคุณกดหนักกว่านี้ ตัวเลขก็มีหล่นลงไปแถวๆ 13-14 กิโลเมตร/ลิตร แน่ๆ และถ้าวิ่งในเมืองเป็นหลัก เจอแต่รถติด ตัวเลขดีที่สุดเท่าที่เห็นจากมาตรวัด จะอยู่ที่ 10.5 กิโลเมตร/ลิตร
แล้วถ้าน้ำมัน 1 ถังละ Xpander จะแล่นใช้งานได้ระยะทางประมาณกี่กิโลเมตร?
จากการใช้งานจริง ในระยะเวลา 10 วัน ค้นพบว่า ถ้าคุณเป็นพวกตีนผีบ้าพลัง เหยียบกระจุยกระจาย คันเร่งแทบจะติดพื้นรถเกือบตลอดเวลา น้ำมันในถังจะหล่นหายวูบๆ ราวกับถูกสูบเข้าเครื่องยนต์ และน้ำมัน 1 ถัง จะแล่นได้เพียงราวๆ 250 กิโลเมตร เท่านั้น!
แต่ถ้าคุณขับแบบที่ กลุ่มลูกค้ารถยนต์ประเภทนี้เขาทำกัน คือ ขับช้าๆ อีเรื่อยเฉื่อยแฉะ กลัวดอกพิกุลในถังน้ำมันจะร่วง ไปพร้อมๆกับดอกเบี้ยค่าผ่อนรถ หรือขับด้วยความเร็วช้าๆ เดินทางไกล เน้นประหยัด ไม่เร่งแซงใครเขาเท่าไหร่ น้ำมัน 1 ถัง คุณจะแล่นได้ในระยะทางราวๆ 500 กิโลเมตร ได้อยู่
********** สรุป **********
Stylish & Firm Affordable Minivan
เด่นที่การตั้งใจทำรถ ช่วงล่างดี ห้องโดยสารใหญ่สุด
ด้อยที่ เรี่ยวแรง และวัสดุในห้องโดยสาร
10 วันเต็ม ที่ใช้ชีวิตอยู่กับ Xpander ในช่วงสัปดาห์ท้ายๆ ก่อนที่รถจะเปิดตัว และเปิดราคา ทำให้ผมค้นพบทั้งข้อด้อยและข้อดีของรถมากพอที่จะลบความรู้สึกในใจ ว่ารถคันนี้ ถูกสร้างมาเพื่อเอาใจตลาด Indonesia เป็นหลัก ลงไปได้เยอะพอสมควร
ใครจะไปเชื่อละ ตอนแรก ผมตั้งใจว่า ในเมื่อบทความ First Impression ของ พี่ Pan Paitoonpong (Click Here) มันยาวเฟื้อยจนแทบไม่เหลืออะไรให้ผมเขียน Full Review แล้ว ผมกะไว้ว่า แค่สรุปตัวเลขผลการทดลอง และเติมความเห็นของผมเพิ่มเติมไปในบทความใหม่ สั้นๆก็พอ เพราะ ตามปกติ Minivan เพื่อตลาด Indonesia มันก็ไม่มีเรื่องราวให้พูดถึงมากนัก หนำซ้ำ จะมีแต่เรื่องให้น่าตำหนิติเตียนเต็มไปหมด อันเป็นผลมาจาก ผู้ผลิตชาวญี่ปุ่นหลายราย มักมองลูกค้าในประเทศเหล่านี้ไว้ เชิงเหยียดๆ เล็กๆเสียด้วยซ้ำ ทำให้แนวคิดในการทำรถยนต์เพื่อตลาดประเทศกำลังพัฒนา มักทำออกมาแค่ ขอไปที เอาชนะคู่แข่งได้ก็พอแล้ว ไม่ต้องไปทำรถให้มันดีเด่มากนักหรอก นั่นคือสิ่งที่ค่ายอื่นๆ เขาคิดกัน…อยู่ลึกๆ
ที่ไหนได้ ผมก็ไม่คิดว่า ท้ายที่สุด Xpander จะมีเรืองราวให้ผมเขียนถึงเยอะมากมายขนาดนี้ ยิ่งขุดยิ่งเจอเรื่องที่จะต้องพูดถึงอีกมาก นี่ขนาดว่า ตัดเอาเรื่อง อดีต ที่ Mitsubishi เคยเอา Minivan อย่าง Space Wagon และ Space Runner มาขายในเมืองไทย เมื่อปี 1992 ทิ้งไปทั้งยวง ประมาณ 3 ย่อหน้า แล้วนะ บทความนี้ มันก็ยังมีเรื่องราวให้ต้องพูดถึง เยอะมากตามเดิมอยู่ดี!
ตอนแรก ผมมอง Xpander ไว้แค่ Minivan เพื่อตลาด Indonesia คันหนึ่ง มันไม่มีอะไรมากมายไปกว่านั้นหรอก แต่ในความเป็นจริง คุณลองคิดดูว่า เมื่อ 4 ปีที่แล้ว คนวัย 64 ปี อย่าง Kunimoto-san ซึ่งเพิ่งเกษียณจากการทำงานใน Nissan มานานถึง 40 ปี ควรจะเกษียณอยู่บ้าน เล่นกอล์ฟไปวันๆ อย่างมีความสุข กลับตัดสินใจ ลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่เขาเคยทำในสมัยยังอยู้ที่ Nissan คือ เข้ามารับหน้าที่กำหนดทิศทางงานออกแบบในอนาคต ของอดีตคู่แข่งอย่าง Mitsubishi Motors แถมยัง นั่งเครื่องบินข้ามประเทศ ออกไปสำรวจความคิดเห็นของลูกค้าด้วยตัวเอง ถึงบ้านเรือนของพวกเขา แม้จะอยู่ห่างไกล ทุระกันดานขนาดไหน…ทำให้รู้เลยว่า รถคันนี้ เขาและทีมงาน ตั้งใจทำมันออกมา มากกว่าที่เราเห็นเยอะเหลือเกิน
ตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เราเห็นได้จากเรื่องนี้ นั่นคือ Xpander เป็นรถยนต์นั่งประกอบจาก Indonesia ได้เนี้ยบมากสุดตั้งแต่ผมเคยเจอมา ผมแทบจะหาข้อบกพร่องจาการประกอบของรถคันนี้ ไม่เจอ ส่วนหนึ่งต้องยกคุณงามความดีให้กับทีมงานของ Mitsubishi Motors (Thailand) ที่ให้ความใส่ใจเรื่องคุณภาพการผลิตและประกอบ ถึงขั้นส่งวิศวกร บินไปดูแลกันถึงโรงงานที่ Bekasi เลยทีเดียว!
ผลจากการทำการบ้านมาอย่างหนัก ทำให้ Xpander มีขนาดตัวถังใหญ่โต ส่งผลให้ห้องโดยสาร ใหญ่สุดในตลาดตามมา เหมือนชื่อรุ่นที่แปลว่า “ผู้ขยายออกไป” ไม่เพียงเท่านั้น การเซ็ตช่วงล่าง การเก็บเสียง และตัวรถในภาพรวม ทำได้เกินกว่าคู่แข่ง และเกินกว่าความคาดหมายของผมไปพอสมควร
CEO ใหญ่ Masuko-san ควรจะขอบคุณ Kunimoto-san ให้มากๆ กับโครงการ XM นี้ เพราะอดีต Design Director ของ Nissan คนนี้ ได้เข้ามาเริ่มต้นวางรากฐานของ Mitsubishi Motors ในอนาคต จากบริษัทที่เคยดูมีอนาคตมืดมน ไม่รู้ชะตากรรมว่าจะรอดแหล่ ไม่รอดแหล่ ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกอันเชี่ยวกราก ให้ดูมีความหวัง มีภาพวันข้างหน้าที่ชัดเจนขึ้น ทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นจริง อย่างเป็นรูปธรรมได้เป็นผลสำเร็จเสียที และเราไม่นึกมาก่อนว่า มันจะเริ่มจาก Minivan สำหรับลูกค้าชาว ASEAN คันนี้นี่เอง! เราได้แต่หวังว่า Momentum นี้ จะยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่สิ้นสุดง่ายๆแค่ ใน 5 ปีข้างหน้า
และทั้งหมดข้างบนนั้น คือข้อดีของรถรุ่นนี้ มันเป็นไปไม่ได้หรอก ที่ Xpander จะมีแต่ข้อดี โดยไม่มีข้อเสีย ขนาด Rolls Royce หรือ Bentley บางรุ่น ก็ยังมีข้อที่ควรปรับปรุงเลย นับประสาอะไรกับรถยนต์ Mitsubishi กันละ จริงไหม?
จุดที่ควรปรับปรุง ของ Xpander?
1.อัตราเร่ง ควรจะแรงกว่านี้ และควรเปลี่ยนมาใช้เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะเสียทีเถอะ
ถึงแม้ว่าตัวเลขอัตราเร่ง ของ Xpander จะทำได้ในระดับเทียบเท่ากับ Suzuki Ciaz CVT ซึ่งถือว่าเร็วสุดแล้วในกลุ่ม ECO Car Sedan 1.2 ลิตร และความจริง ก็ไม่ควรจะเอา Xpander ไปเปรียบเทียบกับเขา เนื่องจากเป็นรถยนต์คนละประเภท แต่ช่วยไม่ได้จริงๆ ที่จะต้องเปรียบเทียบให้เห็นว่า มันแรงเท่ากับรถคันไหน เพราะตัวเลขอัตราเร่งของ Xpander จะออกมาเป็นที่โหล่สุด อืดสุด ในบรรดา ASEAN Sub-Compact Minivan ด้วยกัน (กระนั้น Xpander ยังคงทำอัตราเร่งทุกหัวข้อ ชนะ Nissan Note และ MG ZS)
เหตุผลที่พอจะบอกได้คือ การที่เครื่องยนต์ดั้งเดิม สมัยที่ยังติดตั้งอยู่ใน Mitsubishi Colt เท่าที่ผมเคยลองขับมาในปี 2004 มันก็มีกำลังแค่เพียงพอให้ใช้งานในชีวิตประจำวันได้ ไม่เหมาะจะคาดหวังความแรงใดๆทั้งสิ้น ยิ่งต้องเซ็ตมาเพื่อให้ผ่านมาตรฐานมลพิษในบ้านเราอีกต่างหาก แถมยังต้องมาแบกน้ำหนักตัวรถเปล่าๆซึ่งปาเข้าไปตั้ง 1.2 ตัน แทบจะเรียกได้ว่า หนักสุดในกลุ่มด้วยแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจ ที่ผลลัพธ์จะออกมาเป็นแบบนี้
ผมคงจะไม่รู้สึกรู้สาอะไร กับตัวเลขอัตราเร่ง ถ้าคู่แข่งรุ่นอื่น ทำตัวเลขออกมาได้ราวๆ 13 วินาทีปลายๆ หรือ 14 วินาที ต้นๆ เหมือนๆกัน แต่ความจริงก็คือ คู่แข่งทั้งหมดต่างทำตัวเลขได้ดีกว่า Xpander ทั้งสิ้น ดังนั้น ถ้าคุณจะซื้อ Xpander คุณควรจะยอมรับในข้อด้อยตรงนี้ให้ได้เสียก่อน ด้วยการไปทดลองขับที่โชว์รูม ว่ายอมรับได้ไหม? ถ้ายอมรับได้ และเป็นคนขับรถไม่เร็ว เรื่อยๆ เร่งแซงบ้าง ไม่บ่อยนัก ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าอัตราเร่งแซง คือเรื่องสำคัญ เรียนเชิญเดินเข้าโชว์รูม Honda ไปหา Mobilio และ BR-V เถอะครับ
อ้อ เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะหนะ อย่าอ้างเลยว่า ชาว Indonesia เขาต้องการ ความจริงก็อยากจะลดต้นทุน เพื่อให้ทำราคาขายปลีกได้ถูกๆ ก็บอกมาเถอะ ของแบบนั้น จะเก็บไว้ขายชาวอินโด ก็เชิญตามสบาย แต่สำหรับตลาดส่งออก ช่วยหาเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ ถูกๆดีๆ ทนๆ มาให้คนไทยและชาวต่างชาติเขาได้ใช้กันบ้างเสียทีจะได้หรือเปล่า?
2.การตอบสนองของพวงมาลัย
ถึงแม้จะมีความพยายามในการปรับเซ็ตพวงมาลัยไฟฟ้า ให้ดีขึ้นกว่า Mirage และ Attrage หมุนเลี้ยวได้เนียนขึ้น ลดเสียงการทำงานของมอเตอร์ลงไป ทว่า ความไม่เป็นธรรมชาติ มันยังคงมีอยู่ ถ้าคุณแสร้งเบี่ยงพวงมาลัยไปทางซ้าย หรือขวา นิดเดียว พวงมาลัยจะยังไม่ยอมคืนกลับมาตั้งตรง ค้างไว้ตำแหน่งไหน ก็ค้างไว้อยู่อย่างนั้น ไม่มีชีวิตชีวา ยังดีว่า ไม่ต้องแต่งพวงมาลัยซ้าย-ขวา ไปในขณะขัขบขี่เดินทางไกล
ถ้าไม่รู้ว่าจะเซ็ตพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า อย่างไรให้ลงตัวสำหรับรถยนต์ระดับนี้ ขอแนะนำให้ไปหารถยนต์ ที่อยู่”คนละกลุ่มตลาด” อย่าง Toyota C-HR มาลองขับดู นั่นละครับ น้ำหนักเบาไล่เลี่ยกัน แต่การตอบสนองเป็นธรรมชาติกว่าพวงมาลัยของ Xpander ชัดเจน ผมขอแบบนั้นจาก Mitsubishi Motors จะได้ไหม?
3.การเลือกใช้วัสดุภายในห้องโดยสาร และการติดตั้งพนักวางแขนสำหรับคนขับ
หลายคนคงอยากให้ มีการใช้วัสดุบุนุ่มในห้องโดยสารมากกว่านี้ แต่ Kunimoto-san ก็ยอมรับกันตรงๆว่า ค่อนข้างยาก เพราะมันเป็นความพยายามในการบริหารจัดการต้นทุน เพื่อให้สามารถทำราคาขายปลีกได้ ไม่เกินไปกว่าที่เห็นอยู่นี้ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของลูกค้าชาวไทย ที่อยากได้พื้นผิวสัมผัส Soft Touch ในห้องโดยสาร ของรถยนต์ที่มีระดับราคา ต่ำกว่า 1 ล้านบาท เริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ควรจะติดตั้งมาให้สักหน่อย เพื่อที่จะลดเสียงบ่นของลูกค้าลงไปบ้าง
ไม่เพียงเท่านั้น ในรถยนต์กลุ่มนี้ ยังมีความคาดหวังจากลูกค้า ว่าอยากเห็นพนักวางแขนแบบยกพับเก็บได้ ติดตั้งด้านข้างพนักพิงเบาะคนขับ เพื่อใช้วางแขน ระหว่างนั่งรอการจราจรที่ติดขัดไปเรื่อยๆ หากเป็นไปได้ ก็ควรพิจารณาปรับปรุงเพิ่มมาให้ในการปรับโฉมคราวต่อไปด้วย จะดีมาก
4. การติดตั้งอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยเพื่อเอาใจลูกค้าชาวไทยให้มากกว่านี้
เข้าใจดีว่า รถคันนี้ ถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าชาว Indonesia เป็นหลัก แต่อย่างไรก็ตาม ถึงเวลาหรือยัง ที่มาตรฐานคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค ทั้งชาวไทย และ Indonesia จะถูกยกระดับด้านอุปกรณ์ความปลอดภัยบางอย่างซึ่งสมควรจะมี อย่างเช่น ระบบ RMS ตัดกำลังเครื่องยนต์ชั่วขณะ เมื่อคนขับเผลอเหยียบคันเร่งอย่างรุนแรงและรวดเร็ว (ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง) รวมทั้งระบบ FCM – LS เตือนการชน้านหน้าตรง พร้อมช่วยชะลอความเร็ว ในช่วงไม่เกิน 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งทั้งหมดนี้ ญาติผู้น้องอย่าง Mitsubishi Mirage Minorchange มีมาให้แล้ว แต่ Xpander กลับไม่ติดตั้งในรุ่น GT มาให้เลย อย่างน้อยๆ ถ้าติดตั้ง ระบบ Blind Spot Monitoring เตือนรถที่แล่นมาจากด้านข้างทั้ง 2 ฝั่ง ที่กระจกมองข้าง มาให้เป็นรายแรกของกลุ่มตลาดนี้ได้ ก็น่าจะช่วยเพิ่มจุดขาย และเพิ่มความปลอดภัยให้กับลูกค้าขึ้นไปได้อีก
5.เครื่องเสียงติดรถยนต์
ตรงๆนะ ไม่อยากจะเชื่อเลยว่า เครื่องเสียงของ Xpander รุ่น GT จะเป็นผลงาน OEM (Original Equipment Manufacturing) โดยเจ้าพ่อ AV (ที่ย่อมาจาก Audio Video Visual…ไม่ใช่เจ้าพ่อหนังโป๊ญี่ปุ่น) อย่าง SONY เพราะคุณภาพเสียงที่ออกมา ห่วยแตกมาก อู้อี้ ใช้งานเหมือนจะง่าย แต่กว่าจะปรับเสียง Equalizer ตามต้องการ ต้องออกจากเพลงที่กลังเล่นอยู่เสียก่อน ซึ่งมัน ไม่ Make Sense เอาเสียเลย หาทางรับปรุงให้ดีขึ้นกว่านี้ อย่างน้อย คุณภาพเสียงที่ปรับออกมาได้แล้ว จะต้องดีในระดับเดียวกับ Suzuki Ciaz หรือ Honda City รุ่นปี 2009
6.ระบบห้ามล้อ
น้ำหนักแป้นเบรกที่นุ่ม การตอบสนองของเบรก และระยะเหยียบลึกปานกลาง ไม่ลึกไม่ตื่นเกินไป นั้นดีอยู่แล้ว เหมาะกับกลุ่มลูกค้าของ Xpander ก็จริง แต่ดูเหมือนว่า ผ้าเบรกที่เลือกใช้ อาจจะไทนต่อความร้อนได้ไมดีเท่าไหร่นัก เพราะอาการ Fade เกิดขึ้นได้ง่ายพอสมควร พอๆกันกับ Honda ทั้ง BR-V และ Mobilio ดังนั้น ถ้าได้ผ้าเบรกที่ดีกว่านี้สักชุด ก็น่าจะช่วยให้คนขับ มั่นใจได้มากกว่านี้
********** คู่แข่งในตลาดกลุ่มเดียวกัน? **********
ต้องยอมรับว่า ตลาดกลุ่ม ASEAN Sub-Compact (B-Segment) Minivan 7 ที่นั่ง นั้น มีคู่แข่งเยอะขึ้นมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งนั่เป็นเพราะตลาดหลัก ในฐานะผู้ผลิตและผู้ส่งออก อย่าง Indonesia กำลังขยายตัวดีขึ้น แม้ว่าผู้เล่นอย่าง General Motors จะถอด Chevrolet Spin ออกจากตลาดไปแล้ว อย่างน่าเสียดาย แต่ผู้เล่นน้องใหม่อย่าง Xpander ก็ต้องเผชิญหน้ากับ เจ้าตลาดผู้มาก่อนอีกหลายรุ่น ดังนี้
– Honda BR-V
สำหรับ Mitsubishi Motors แล้ว BR-V (หรือ Mobilio ในเวอร์ชันยกสูงขึ้น 1 เซ็นติเมตร) คือ เป้าหมายหลักที่ทำให้พวกเขา พัฒนา Xpander ขึ้นมาต่อกร แม้ว่า ณ วันนี้ ค่าตัวของ BR-V ทั้ง 2 รุ่นย่อย (755,000 และ 820,000 บาท) จะถูกกว่า Xpander ประมาณ 24,000 และ 29,000 บาท แต่สิ่งที่ BR-V เหนือกว่า Xpander มีเพียงพละกำลังจากเครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตร ที่มีเรี่ยวแรงเยอะกว่า กินน้ำมันด้อยกว่านิดนึง นอกนั้น ไม่ว่าจะเป็นขนาดตัวถัง และภายในห้องโดยสาร Xpander เหนือกว่า BR-V ไปหมดแล้ว กระนั้น ถ้าคุณเป็นคนที่จัดอยู่ในพวก “Price Sensitive” หรือกลุ่มที่ “ราคามีผลต่อการตัดสินใจมากๆ” การเลือก BR-V ซึ่งมีแนวโน้มว่า ราคาขายต่ออาจจะดีกว่ากันนิดนึง ก็น่าจะช่วยสร้างความอุ่นใจให้คุณได้อยู่ แต่ถ้าไม่ได้ต้องการรถยกสูงมากขนาดนั้นแล้ว มองหาแฝดผู้พี่อย่าง Mobilio จะดีกว่า
– Honda MOBILIO
Minivan รุ่นพื้นฐาน ที่ถูกนำไปใช้พัฒนาต่อยอดเป็น BR-V ยังคงมีจุดเด่นด้านราคา ซึ่งถูกกว่า Xpander ชัดเจน (ุ659,000 – 763,000 บาท) และความคุ้มค่าจากสิ่งที่คุณได้รับ รวมทั้งช่วงล่าง ที่ถูกปรับเซ็ตมาให้เหมาะสมกับการขับขี่บนถนนในเมืองไทย “เท่าที่ผู้ผลิตซึ่งไม่ค่อยมีชื่อเสียงด้านบวก ในเรื่องช่วงล่างอย่าง Honda พอจะเซ็ตให้ผู้บริโภคชาวไทย ขับใช้งานได้” แม้ว่าตัวรถจะเตี้ย Ground Clearance จะน้อย แต่ความคล่องแคล่วในการลัดเลาะไปตามสภาพการจราจรติดขัด ยังเป็นอีกเสน่ห์หนึ่งของ Mobilio ถ้าไม่นับจุดเด่นด้านเครื่องยนต์ ที่มาในสไตล์เดียวกับ BR-V เป๊ะ แถมยังประหยัดน้ำมันพอกันกับ Xpander ด้วยซ้ำ มันยังคงเป็นอีกตัวเลือกที่ผมไม่อยากให้คุณตัดทิ้งไป แม้ว่าตัวรถและขนาดห้องโดยสารของ Xpander จะใหญ่กว่าก็ตาม
– Suzuki ERTIGA
ออกสู่ตลาดบ้านเรามาตั้งแต่ปี 2013 และมียอดขายเรื่อยๆ ไม่หวือหวา หลังการปรับโฉม Minorchange เมื่อเดือนมีนาคม 2016 (655,000 – 735,000 บาท) พอเห็นหน้าตาของรุ่น Dreza ลูกค้าต่างพากันเบือนหน้าหนี เพราะมันไม่สวย ทำให้ยอดขายหล่นหายวูบไป เหลือเพียงแค่เดือนละไม่กี่สิบคัน ทั้งที่คุณงามความดีหลักๆ ยังคงอยู่ที่การเซ็ตช่วงล่าง ซึ่งให้ความมั่นใจใช้ได้ แถมมีการปรับปรุงพวงมาลัยให้ตอบสนองดีขึ้นแล้ว และบรรยากาศในห้องโดยสาร ที่ใช้โทนสีซึ่งทำให้ดูโปร่งน่านั่ง อัตราเร่งในช่วงตีนปลาย ที่ไหลอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่เครื่องยนต์ก็แค่ 1.4 ลิตร แต่หากเป็นรุ่น CVT ทำใจกับอัตราเร่งที่อืดกว่าชาวบ้านและการกินน้ำมันที่ด้อยสุดในกลุ่ม Minivan 7 ที่นั่งไซส์เล็ก ได้เลยและดูเหมือนว่าจะมีแค่นั้น กระนั้น ด้วยความสดใหม่ที่แทบไม่เหลือแล้ว แล้ว ถ้าไม่รีบจนเกินไป ขอแนะนำว่า รอดู Ertiga รุ่น เปลี่ยนโฉมใหม่ทั้งคัน Full Model Change ที่จะมีกำหนดเปิดตัวในประเทศไทย ต้นปี 2019 จะดีกว่า เพราะมีแนวโน้มว่า จะแรงขึ้น ขับดีขึ้น คล่องขึ้น และน่าใช้ขึ้นเยอะ!
– Toyota AVANZA
ใช่ครับ ต้นตำรับ Low-Cost Minivan รุ่นแรกจากพี่เบิ้มของวงการรถยนต์ ยังคงมีขายอยู่ แม้เพียงจำนวนน้อยนิด และความต้องการจะลดลงไปมากแล้วก็ตาม ข้อดีของ Avanza นั้น มีเพียง 2 ข้อ นั่นคือ ถ้าคุณมีงบประมาณจำกัด เป็นคนไม่ได้สนใจเรื่องรถยนต์ แต่จำเป็นต้องซื้อรถยนต์ ไว้รับส่ง อากงอาม่า เข้าโรงพยาบาล นี่คือตัวเลือกที่มีราคาถูกสุดในตลาด (609,000 – 729,000 บาท) และมาพร้อมเบาะแถว 2 ที่นั่งสบายเกินความคาดหมาย และง่ายต่อการบังคับควบคุม สำหรับคนที่ “ซื้อรถยนต์เป็นคันแรกในครอบครัวด้วยความจำเป็นจริงๆ” แต่นอกนั้นแล้ว…คุณงามความดีอื่นๆอันน้อยนิด ก็โดนคู่แข่ง…และแม้แต่ญาติร่วมยี่ห้อ อย่าง Sienta ถล่มยับไปหมดแล้ว
– Toyota SIENTA
Minivan ทรงรองเท้า Trekking ติดล้อ อีกทางเลือกหนึ่งจากยักษ์อันดับ 1 สำหรับคนที่รับไม่ได้กับ Avanza และคิดว่าตัวเอง Upgrade งบขึ้นไป ผ่อนส่งไหว ติดตั้งประตูบานเลื่อนคู่หลังแบบไฟฟ้า และถุงลมนิรภัยมากถึง 3 ใบ (คู่หน้า และหัวเข่า) รายเดียวในตลาดตอนนี้ การตั้งราคาที่จงใจวางตัวรถให้อยู่สูงกว่าคู่แข่งทุกคันในตลาด (750,000 – 865,000 บาท) ก็ไม่ได้ทำให้ยอดขายของ Sienta ลดลงมากนัก การออกแบบหลังคาให้สูงกว่าเพื่อน ช่วยให้ตัวรถยังพอจะดูโปร่ง ไม่อึดอัด แต่ก็ต้องแลกกับการทรงตัวในย่านความเร็วสูงบนทางด่วนที่มีกระแสลมปะทะด้านข้างที่ด้อยลงไปบ้าง พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า ที่มีน้ำหนักดี แต่ยังไม่แม่นยำพอในบางจังหวะ พูดกันตรงๆ มันเหมาะกับ ใครก็ตามที่เคยอกหักจากการรอ Honda Freed รุ่นต่อไป ซึ่งจะไม่มาขายบ้านเราแน่นอน มากกว่าที่จะเหมาะกับลูกค้า ซึ่งมองหาห้องโดยสารขนาดใหญ่กว่า อย่าง Xpander เพราะในความเป็นจริง ลูกค้าที่มอง Toyota ส่วนใหญ่ จะไม่มีแบรนด์รองๆ อยู่ในสายตาควบคู่กันไปเลยแม้แต่น้อย
*****แล้วถ้าคุณตกลงปลงใจกับ Xpander จะเลือกรุ่นย่อยไหนดี?*****
ขณะที่ตลาด Indonesia บ้านเกิดของ Xpander มีรุ่นย่อยให้ลูกค้าเลือกกันมากมาย แต่สำหรับประเทศไทย Mitsubishi Motors (Thailand) นำเข้า Xpander จากโรงงานแห่งใหม่ ใน Bekasi มาเปิดตลาดบ้านเราเพียง 2 รุ่นย่อยเท่านั้น
รุ่น GLS Ltd. 779,000 บาท
รุ่น GT 849,000 บาท
มาพร้อม Diamond Warranty
- รับประกันตัวรถนาน 5 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร
- ฟรี ค่าแรงเช็คระยะนาน 5 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร
- ฟรี ประกันภัยชั้น 1
- ฟรี บริการช่วยเหลือฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง
รายละเอียดอุปกรณ์มาตรฐานของแต่ละรุ่น Click อ่านต่อได้จากบทความ เจาะสเป็ค ของน้อง Moo Cnoe CLICK HERE!
ถ้าคุณเป็นคนไม่ได้บ้า Option มากนัก รุ่น GLS Ltd. ก็ให้อุปกรณ์มาตรฐานมาเพียงพอต่อการใช้งานอย่างคุ้มค่าแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มเงินอีก 70,000 บาท ปีนขึ้นไปเล่นรุ่น GT แต่อย่างใด อีกทั้งเบาะนั่งก็ยังหุ้มด้วยผ้าเกรดเดียวกับ รถยนต์รุ่นอื่นๆ ที่ขายในประเทศญี่ปุ่น เลยด้วยซ้ำ! นั่งสบายเพิ่มขึ้นกว่ารุ่น GT ซึ่งให้เบาะหนัง กันเห็นๆ
แต่ถ้าคิดว่า เพิ่มค่าผ่อนส่งต่อเดือนขึ้นไปอีกนิดพอไหว ก็ควรยกระดับขึ้นมาเล่นรุ่น GT ไปเลย จะได้ การประดับตกแต่งที่ครบถ้วนกว่า ได้ล้ออัลลอย 16 นิ้ว ที่ดูเหมาะสมเข้ากับเส้นสายของตัวรถมากกว่า เพียงแต่ว่า ถ้าคุณเป็นนักฟังเพลงหูทองขั้นเทพ ก็ควรจะถอดเครื่องเสียง SONY ที่แถมมาให้จากโรงงาน ทิ้งไปซะ หาของใหม่ใส่แทนเข้าไป จะช่วยให้คุณมีความสุขมากกว่า แค่ต้องหาตัววิทยุ 2 DIN ที่มีหน้าจอมอนิเตอร์สี Touch Screen เหมือนกัน และต้องต่อเชื่อมกับกล้องมองหลังให้ได้ด้วย ก็พอ หรือถ้าไม่อยากไปยุ่งกับตัว Front เครื่องเสียง ก็อาจจะเปลี่ยนลำโพงพร้อมสายสัญญาณใหม่ ที่ดีกว่านี้ ก็ย่อมสะดวกกว่า และอาจได้คุณภาพเสียงที่ดีกว่า
สำหรับผมแล้ว Xpander อาจไม่ใช่รถยนต์ที่ทำยอดขายให้กับ Mitsubishi Motors (Thailand) มากมายนัก เพราะตลาดกลุ่ม Sub-Compact Minivan 7 ที่นั่งในประเทศไทย มันไม่ได้มียอดขายรวม บานสะพรั่งดั่ง Indonesia เขา อีกทั้งรสนิยมของคนไทย ก็เทใจไปให้รถกระบะมากกว่ามาแต่ไหนแต่ไรแล้ว
ทว่า Xpander ถือเป็นจุดเริ่มต้น ในการเปลี่ยนแปลง และยกระดับทัศนคติของผู้บริโภคชาวไทย และ ASEAN ยุคใหม่ ที่มีต่อแบรนด์ Mitsubishi Motors ให้ดีขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา และเสียงตอบรับของลูกค้าชาวไทย ในงาน Big Motor Sales เท่าที่ได้ยินมาก็คือ คนส่วนใหญ่ มาดูตัวรถคันจริงแล้วบอกว่า สวย และเมื่อได้รู้ราคาขาย มีจำนวนไม่น้อย ที่พูดออกปากมาเลยว่า “ไม่แพงอย่างที่คิด ตอนแรก นึกว่าราคาน่าจะอยู่แถวๆ 1 ล้านบาท !! ”
เห็นไหมครับ ถ้า Design ของคุณดู “แพง” แต่คุณทำรถออกมาขายได้ในราคาที่ “เหมาะสม” เดี๋ยวลูกค้าก็จะเริ่มหันกลับมามองคุณเองนั่นแหละ
ผมพอจะนึกภาพออกว่า Kunimoto-san และทีมออกแบบของเขา ต้องรับบทหนักพอสมควร ในการ กำหนดแนวทางเส้นสายตัวรถ ที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับรถยนต์ Mitsubishi รุ่นใหม่ๆ หลังจากนี้ ไม่ว่าจะเป็น Triton Minorchange ซึ่งคาดว่าจะพบกันได้บ้านเรา ภายในปลายปี 2018 ตามด้วย Pajero Sport Minorchange ปรับอุปกรณ์เล็กๆน้อยๆ ในปี 2019 รวมทั้งเรายังต้องจับตาดู การมาถึงของ Mirage และ Attrage ใหม่ ในช่วงปลายปี 2019 – ต้นปี 2020 ซึ่งจะมาพร้อมกับด้านหน้ารถแบบ Advance Dynamic Shield และเส้นสายในสไตล์คล้ายคลึงกับ Xpander และจะต้องมาพร้อมกับสารพัดความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นจาก รถรุ่นปัจจุบัน ในระดับ “พลิกผืนปฐพี”
Carlos Ghosn : Chairman คนปัจจุบันของ Mitsubishi Motors ซึ่งยอมสละตำแหน่งของตนที่ Nissan มากุมบังเหียนที่นี่ เคยพูดไว้ในหนังสือ Turn Around อันเป็นอัตชีวประวัติของตน ว่า “Good Product can solve any problem” หรือ ถ้าสินค้าดี มันก็จะช่วยแก้ปัญหาต่างๆได้” ครับ..มันเป็นความจริง..แต่สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์แล้ว นั่นเป็นแค่ส่วนหนึ่ง
สิ่งสำคัญไม่แพ้กันหลังจากนี้ คือ บริการหลังการขาย ทุกวันนี้ ดีลเลอร์ Mitsubishi Motors รายเก่าๆ ก็ทะยอยถูกปลด ถอดถอนออกไปเยอะอยู่ ผู้จำหน่ายหน้าใหม่ ซึ่งมีใจรักในการทำตลาดรถยนต์ ก็เริ่มเข้ามาเยอะขึ้น ถึงเสียงบ่นและก่นด่าศูนย์บริการ Mitsubishi จะมีมาให้ได้ยินอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มากเท่าสมัยก่อน และยังถือว่าน้อย เมื่อเทียบกับ Mazda Ford และล่าสุด…Mercedes-Benz อดีตพันธมิตรเก่า ของค่ายสามเพชรนั่นเอง! ณ วันนี้ สถานการณ์ เสียงก่นด่า จากลูกค้าของ Mitsubishi Motors ผมจัดให้อยู่ในระดับ “กลางๆ” พอๆกับ Honda (ซึ่งหล่นลงมาจากเดิมที่เคยดีมาก) และ Nissan แต่ยังไม่ดีเลิศ เมื่อเทียบกับ Isuzu หรือ Toyota
กระนั้น…อย่าชะล่าใจ สิ่งที่ผมอยากจะเห็นก็คือ ความจริงใจในการแก้ไขปัญหา ให้กับลูกค้า รวมทั้งการสื่อสารเรื่องเหล่านี้ สู่โลกภายนอกอย่างเหมาะสม ในสมัยก่อน ไม่ต้องอื่นไกล เอาง่ายๆ แค่เรื่อง แร็คพวงมาลัยของ Pajero Sport ที่เคยมีปัญหาสั่นคลอน หรืออาการเครื่องยนต์ 2.4 ลิตร กินน้ำมันเครื่อง กับ เกียร์ธรรมดาของ Triton ชอบหลุดที่เกียร์ 5 นั้น ทั้งหมดนี้ ผมเคยทวงถามผู้บริหารคนไทย ไปแล้ว แต่กลับไม่มีใครให้คำตอบถึงการแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภคอย่างจริงจังเลย คนที่เคยทำหน้าที่นี้ได้ดีมากๆ อย่างพี่ จั๊ด ก็ย้ายไปดูแล After Sales ให้กับ Nissan มาหลายปีแล้ว
สิ่งที่ Mitsubishi Motors Thailand จะต้องทำหลังจากนี้ เริ่มจาก…การปรับ Attitude ของทุกๆคนในบริษัท ตั้งแต่ระดับบริหาร ไปจนถึงภารโรง ทำอย่างไรให้ HR ดูแลพนักงานในองค์กรให้ดี มัดใจให้อยู่ได้นานๆ เพราะถ้าทีมงาน มีความสุขที่จะทำงาน ความรู้สึกดีๆ ในองค์กรที่เคยหายไป ก็จะก่อตัวขึ้นใหม่ในหมู่พนักงานรุ่นใหม่ๆ จะไม่มีใครอยากลาออกอีก ยอด Turnover ก็จะลดลง ทุกคนจะมีกำลังใจ ร่วมแรงร่วมใจกันจนบรรลุเป้าหมาย คลื่นความรู้สึกดีๆ จะถูกส่งต่อไปยัง ดีลเลอร์ ทั่วประเทศ เมื่อเขาเห็นว่า สำนักงานใหญ่ มีทัศนคติที่ดีขึ้น พวกเขาจะมีกำลังใจผลักดันยอดขายมากขึ้น บริการลูกค้าดีขึ้น สิ่งที่ตามมาคือ ลูกค้าก็จะมีความสุขขึ้น และแนะนำ รถยนต์ Mitsubishi ให้เพื่อนฝูงรอบข้างมากขึ้น อย่างเต็มใจ ยอดขายก็จะเพิ่มมากขึ้น ทุกอย่างก็จะ Return เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่ายอย่างสวยงาม
มองดูโลกสวยไปหน่อย แต่มันเกิดขึ้นจริงได้ ถ้าทุกคนบนชั้น 9 ตึก FYI ศูนย์เทคนิค ที่ รังสิต คลอง 4 และโรงงานที่แหลมฉบัง จะร่วมมือร่วมใจกัน เพื่อให้ Mitsubishi Motors กลับคืนสู่วันที่เคยมียอดขาย Mitsubishi Lancer เอาชนะ Toyota Corolla มาได้ในบางเดือน ของช่วงราวๆ ปี 1992 – 1994 มาแล้ว…มันเคยเกิดขึ้นมาแล้ว และมันเกิดขึ้นอีกได้แน่ๆ แค่ เปิดใจร่วมมือกันให้มากขึ้นระหว่างทุกแผนกในองค์กรกว่านี้
ชี้โพรงให้กระรอกแล้วขนาดนี้ ไม่ลองทำดูสักหน่อยหรือ?
——————///——————-
ขอขอบคุณ / Special Thanks to:
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Mitsubishi Motors (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
21 สิงหาคม 2018
Copyright (c) 2018 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
August 21th, 2018
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE !