บางครั้ง ผมค้นพบว่าเราสามารถลดเวลาในการเถียงกันลงได้ ถ้าคุณเอาเวลาที่ใช้เถียงกันบนโลกออนไลน์ ไปทำค้นหาและทำความเข้าใจในรายละเอียดของสิ่งต่างๆ

เมื่อคุณคิดว่าความเชื่อ มีความสำคัญมากกว่าความจริง คุณเชื่อในตัวคุณเองแล้วไปเถียงกับชาวบ้านชาวช่องมากมาย ก็เกิดดราม่า ซึ่งไอ้ดราม่านี่ บางครั้งมันทำตัวเหมือนฝุ่น PM 2.5 ในอากาศชะมัด มันไม่ให้อะไรคุณนอกจากความเป็นพิษ และบดบังคุณจากการมองเห็นความจริงบางข้อ ซึ่งถ้าคุณแค่ยอมทำความเข้าใจ โลกนี้อาจไม่ต้องการบทสนทนาประเภททะเลาะเบาะแว้งมากเท่าที่เป็นอยู่

ผมยังจำได้ว่ามีการเถียงล่อกันไปมาในโลกออนไลน์เมื่อช่วงวันเปิดตัว Honda City รุ่นใหม่ล่าสุด (ตัวถังรหัส GN) ไปเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2019 ว่าเราควรจัดรถคันนี้ให้อยู่ในประเภท อีโคคาร์ หรือเป็นรถ B-segment บางคนก็บอกว่ารุ่นเก่าเป็น B-car ทำไมจะต้องไปนับรถรุ่นใหม่เป็นอีโคคาร์ บางคนหลงประเด็นขนาดหนัก พอไปบอกว่า City ใหม่เป็นอีโคคาร์ ยอมไม่ได้ หาว่าไปดูถูกรถเขา หรือบางคนก็บอกว่าขนาดตัวรถใหญ่เกินกว่าจะเป็นอีโคคาร์ พลังม้าเยอะเกิน ไม่เกี่ยวครับ คำว่าอีโคคาร์ ไม่ใช่ความรู้สึกครับ มันคือเกณฑ์ที่มีความชัดเจน

ความจริงมันง่ายนิดเดียวครับ คุณไปเปิดเว็บ Ecosticker เขาก็จะแจ้งให้คุณทราบว่า Honda City รุ่นปัจจุบัน เสียภาษีสรรพสามิตอยู่ในอัตรา 12% ซึ่งมันคือเรตของอีโคคาร์ แล้วมันจะไม่ใช่อีโคคาร์ได้อย่างไรล่ะครับ? แล้วก็เลิกความคิดที่ว่าอีโคคาร์เป็นรถถูกๆของคนจน หรือมองอีโคคาร์เป็นการดูหมิ่นได้แล้ว อีโคคาร์ คือรถที่มีมาตรฐานตามเงื่อนไขของรัฐบาลให้รับภาษีสรรพสามิตในอัตราที่ถูกลง เช่น ต้องประกอบในประเทศ ต้องปล่อย CO2 ไม่เกิน 100 กรัมต่อกิโลเมตร เครื่องยนต์ ถ้าเป็นเบนซิน ขนาดความจุต้องไม่เกิน 1.3 ลิตร เป็นต้น ไม่เห็นมีตรงไหนเป็นข้อด้อยสักหน่อย มีแต่ประโยชน์ต่อสังคมในภาพรวมทั้งนั้น

แค่เข้าใจวิธีการตั้งภาษีสรรพสามิต เข้าใจเรื่องการสร้างโอกาสการขายของบริษัทรถ คุณก็จะไม่ประสาทกับคำว่าอีโคคาร์

สิ่งที่น่าจะเป็นประเด็นมากกว่าก็คือเรื่องพละกำลัง เพราะที่ผ่านมา พอได้ชื่อว่าเป็นอีโคคาร์ที่ต้องเน้นเรื่องการปล่อยมลภาวะน้อย ทำให้รถส่วนมากต้องใช้เครื่องยนต์ขนาดเล็ก มีพละกำลังต่ำ จนกลายเป็นที่มาของคำว่าอีโคคาร์ขึ้นเขาไหวมั้ย ..ก็อาจจะไม่ไหวในบางลูก แต่ด้วยเงินที่คุณเซฟจากค่าน้ำมันและค่าบำรุงรักษา คุณน่าจะเหลืองบพอไปใช้รถแบบที่ขึ้นเขาได้ในการเดินทางเฉพาะบางทริปที่จำเป็น ไม่ต้องแบกค่าบำรุงรักษาแบบรถใหญ่ด้วยการเป็นเจ้าของ

อย่างไรก็ตาม หากคุณเป็น Honda ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำของรถระดับ B-segment ขนาด 1.5 ลิตรในไทยมาหลายสิบปี การที่จะพยายามหาทางไปต่อในอนาคตด้วยการคบกับเครื่องยนต์บล็อคเล็ก พาตัวเองเข้าเงื่อนไขอีโคคาร์ อาจจะทำให้ลูกค้าจิตใจไหวสั่น เพราะมีลูกค้าจำนวนมาก ที่ไม่ซื้อรถ 1.2 ลิตร เพราะต้องการพลังความเร็วเอาไว้ใช้เดินทางไกล  ดังนั้นเมื่อมีการปล่อยข่าวว่า City ใหม่จะเลิกใช้เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร และไปเข้าร่วมเป็นอีโคคาร์ Phase 2 บางท่านก็เป็นกังวล ว่าท้ายที่สุด พวกเขาจะไม่มีทางเลือกรถเล็กที่มีพลังพอเดินทางต่างจังหวัดเหลืออีก

จนกระทั่งเมื่อรถเริ่มถูกส่งไปยังโชว์รูม และมีเซียนรถ หรือ Youtuber หลายท่านได้ลองไปทำอัตราเร่ง ประกอบกับการที่สื่อมวลชนระดับแนวหน้าของประเทศ ได้มีโอกาสไปทดสอบเบื้องต้นที่สนามทดสอบของทาง Honda ทำให้เราได้ทราบว่า City ใหม่ มีอัตราเร่งที่เหมือน Rexona (ไม่ทำให้คุณผิดหวัง) ผมจึงรอโอกาสที่จะได้ทดสอบด้วยตัวเอง จนกระทั่ง Honda เชิญให้มาลองขับกันที่เชียงราย ด้วยรถเวอร์ชั่นผลิตขายจริง บนถนนไทย แถมยังเลือกเส้นทางบนหุบเขาให้ลองกันด้วยว่า อีโคคาร์ขึ้นเขาไหวมั้ย

อ่านถึงตรงนี้ หลายท่านรู้แล้วล่ะว่าไหว แต่ไหวแบบสบายนั่งจิบชา หรือไหวแบบจับกังหลังอาทิตย์ตก รีวิวนี้ มีคำตอบให้

แนวคิดในการสร้าง Honda City ใหม่ (GN) ก็คือ “AMBITIOUS SEDAN”

อย่าไปแปลตรงตัวว่ารถสี่ประตูผู้ทะเยอทะยานนะครับ แท้จริงแล้วเขาหมายถึง รถที่ออกแบบมาเพื่อคนที่ต้องการเขยิบมาตรฐานชีวิตของตนเอง สู่ระดับที่สูงขึ้น รับสิ่งใหม่ที่ดีงามสู่ชีวิต ดังนั้นในเรื่องของการออกแบบ จะเห็นได้ว่า Honda พยายามปรับรูปทรงของรถให้ดูมีความหนาใหญ่เจ้าเนื้อขึ้น กว้างขึ้นและเตี้ยลง ความรู้สึกที่ได้จากรูปทรง ก็คือ ความแข็งแกร่งที่ดูแล้วสามารถปกป้องคนในรถได้ ตลอดจนเส้นสันด้านข้างแบบ Cutting Edge ซึ่งถ้าเป็นคน ก็เหมือนกับกล้ามเนื้อป่องๆของเทพเจ้าหมัดดาวเหนือ

ส่วนหน้าของรถ มีเพียงแค่เอกลักษณ์ดีไซน์ Solid Wing Face ที่ยังสืบทอดมาจากรุ่นเดิม แต่สิ่งอื่นล้วนถูกเปลี่ยนแปลงไปจนหมดสิ้น ไฟท้าย ซึ่งเป็นจุดที่มักดูขัดตา เหมือนถูกออกแบบมารีบๆลวกๆใน City หลายเจนเนอเรชั่นก่อนหน้านี้ ถูกขัดเกลาจนดูมีรสนิยม มีเส้น LED Tube คาดผ่าน ดูเผินๆแล้วเหมือนรถยุโรปบางรุ่นที่มาจากเมืองมิวนิค ชื่อยี่ห้อมีสามพยางค์ รหัสตัวถังขึ้นต้นด้วย G แต่ผมบอกไม่ได้จริ๊งๆเว่ย ว่ามันคือรถอะไร

แต่ในภาพรวม สิ่งที่วิศวกรและนักออกแบบต้องการจากรถคันนี้ ก็คือรูปทรงที่ดูสปอร์ตขึ้น ดูแข็งแกร่งขึ้น มีความเป็นผู้ใหญ่ ได้รูปทรงแบบที่เห็นแล้วสร้างความรู้สึกว่าเป็นรถที่น่าเชื่อถือ ดูแพงขึ้น

..อันนั้นคือสิ่งที่เขาคิดนะครับ ไม่ใช่สิ่งที่ผมคิด เดี๋ยวเข้าใจผิด ..

Honda City โฉมใหม่ มีความยาว 4,553 มิลลิเมตร กว้าง 1,748 มิลลิเมตร สูง 1,467 มิลลิเมตร ความยาวฐานล้อ 2,589 มิลลิเมตร ระยะความกว้างฐานล้อคู่หน้าและหลังอยู่ที่ 1,497 และ 1,483 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดถึงพื้น 135 มิลลิเมตร ความจุถังน้ำมัน 40 ลิตร น้ำหนักตัวรถ รุ่น S และ V เท่ากับ 1,150 กิโลกรัม รุ่น SV บวกเพิ่มอีก 4 กิโลกรัม และรุ่น RS หนักสุด คือ 1,165 กิโลกรัม

เราลองเทียบขนาดกับรถรุ่นเดิม จะเห็นได้ว่า รุ่นใหม่ยาวขึ้นมาก (113 มิลลิเมตร) กว้างขึ้นมาก (53 มิลลิเมตร) เตี้ยลงเพียงเล็กน้อย (10 มิลลิเมตร) ฐานล้อสั้นลงเล้กน้อย (11 มิลลิเมตร)

เมื่อเทียบกับรถพิกัดเดียวกัน มีข้อมูลดังนี้

  • Nissan Almera ยาว x กว้าง x สูง : 4,495 x 1,740 x 1,460 มิลลิเมตร
  • Mazda 2 Sedan ยาว x กว้าง x สูง : 4,340 x 1,695 x 1,470 มิลลิเมตร
  • Toyota Yaris ATIV ยาว x กว้าง x สูง : 4,425 x 1,730 x 1,475 มิลลิเมตร
  • Suzuki Ciaz ยาว x กว้าง x สูง : 4,505 x 1,730 x 1,475 มิลลิเมตร

สรุปได้ว่า Honda City ใหม่ ดูจะมีขนาดตัวโตกว่าเพื่อน ยาวกว่า กว้างกว่าคนอื่น เตี้ยเกือบสุด ตามมาด้วย Suzuki Ciaz ที่ใหญ่เกือบเท่ากันและตัวสูงกว่า แล้วค่อยเป็น Almera, ATIV และ Mazda ที่เล็กกว่าคนอื่นชัดเจน

รถทดลองขับของเราวันนี้เป็นรุ่น Turbo RS ราคา 739,000 บาท มีการตกแต่งภายนอกที่แตกต่างจากรุ่นย่อยอื่น

  • ชุดราหูสปอร์ตเซ็ต – กระจังหน้าตาข่าย กระจกมองข้าง สปอยเลอร์หลังขนาดเล็ก เป็นสีดำเงา
  • กันชนแบบสปอร์ต พร้อมลิ้นหน้า และดิฟฟิวเซอร์ท้าย ตกแต่งเป็นลายคาร์บอนไฟเบอร์
  • ล้ออัลลอยขนาด 16 นิ้ว ยาง 185/55R16 (รุ่นอื่นได้ขนาด 185/60R15)
  • ไฟหน้าแบบ LED (ผมชอบเรียกไฟตาแตก เพราะมันดูไกลๆแล้วเหมือนใครมาทุบแตก)
  • ไฟตัดหมอก

ส่วนตัวผมคิดว่า City ใหม่นี่ท้ายสวยถูกใจมาก ด้านข้างก็สวย เก็บรายละเอียดดีกว่ารุ่นเดิม แต่ผมรู้สึกว่าด้านหน้ารถมันดูป้านๆสูงๆ ถ้าคุณมองจากด้านหน้าแบบเฉียงข้างนิดๆ รถมันจะดูโย่งโก๊ะ มุมหน้าเฉียงนี่ Mazda 2, Nissan Almera และ Suzuki Ciaz หล่อกว่า ถ้าเหลาหน้าให้ดูแหลมเพรียวกว่านี้ รถจะดูดี และเมื่อใส่ล้อแต่ง 15 นิ้วกับยางเล็กแบบวัยรุ่นสนามแข่งนิยม รถก็จะยังดูมีสัดส่วนลงตัว ตอนนี้กลายเป็นว่าต้องใส่ล้อและยางที่ขนาดโตเพื่อให้สมส่วมกับตัวรถและขนาดซุ้มล้อ

ภายในของ Honda City ใหม่นี้ ทางวิศวกร คำนึงถึงการพยายามจัดพื้นที่เน้นประโยชน์ใช้สอยสูงสุด แม้ว่าระยะฐานล้อของรถจะสั้นลง แต่กลับได้พื้นที่ภายในสำหรับการโดยสารมากขึ้น วิธีง่ายๆก็คือพยายามออกแบบแดชบอร์ดให้ผลักไปข้างหน้า บริเวณรอบคันเกียร์จะไม่ได้ยกสูงขึ้นมากแบบ Civic ทำให้อาจดูไม่สปอร์ต แต่ก็ให้พื้นที่ทางสายตา และพื้นที่สำหรับแหกแข้งขาได้มากขึ้น

ตัวเบาะหน้า ถูกออกแบบให้เว้าด้านหลังของเบาะมากกว่าเดิม เพื่อให้ผู้โดยสารด้านหลังมีพื้นที่บริเวณเข่ามากขึ้น อีกทั้งยังปรับพื้นรถบริเวณใต้เบาะหน้าใหม่ เพื่อให้ผู้โดยสารด้านหลังสามารถสไลด์เท้าเข้ามาใต้เบาะได้มากกว่าเดิม 31 มิลลิเมตร

รุ่น Turbo RS นี้ เป็นรุ่นเดียวที่จะได้เบาะแบบหุ้มด้วยหนัง สลับกับหนังกลับ มีการเดินด้ายแดงตามจุดต่างๆ ภายในห้องโดยสาร มีเค้าของความเป็นสปอร์ต แต่ภาพรวมของห้องโดยสาร ยังไม่ได้ดูล้ำสมัยไฮคลาสแบบ Mazda 2 Minorchange นี่ก็คือเรื่องที่คุณอาจจะมองว่า “ทำไม Honda ไม่ทำให้มันล้ำยุคไปเลย?” ที Civic ยังทำได้ เรื่องนี้อาจต้องอธิบายว่า สำหรับรถที่มียอดขายมากขนาดที่เรียกได้ว่าเป็นกระดูกสันหลังแห่งชาติของ Honda ในไทย และเป็นรถที่มีกลุ่มเป้าหมายจริง (ไม่ใช่ในสไลด์อธิบายผลิตภัณฑ์) กว้างราวทะเลทรายซาฮาร่า

ถ้าคุณเป็นคนออกแบบ แล้วหน้าที่ของคุณคือ ต้องทำรถที่คนอายุ 18 ขับก็แฮปปี้ คนอายุ 80 ขับก็ต้องพอขับได้ รองรับคนทุกรสนิยม ทุกอาชีพ ผมว่างานนี้คิดหนัก ไม่เหมือน Mazda ที่รู้ตัวเองว่ากลุ่มเป้าหมายเขาคือวัยรุ่นไฮเทคชัดเจน

เบาะนั่ง เป็นแบบปรับด้วยมือ เฉพาะด้านคนขับเท่านั้นที่จะสามารถปรับความสูงได้ด้วยคันโยกด้านข้างเบาะ เวลาปรับ ก็จะยก หรือกดแบบไปทั้งตัว ไม่สามารถแยกปรับกระดกเฉพาะส่วนรองน่องได้ ซึ่งก็น่าเสียดาย แต่รถในราคาระดับนี้ส่วนมากก็ปรับกันได้แค่นี้แหละ

Honda อธิบายว่า พวกเขาออกแบบพนักพิงศีรษะให้เตี้ยลงกว่าเดิม 15 มิลลิเมตร และยังทำเบาะตอนบนให้ “Slim” ด้วยการบีบให้แคบลงอีก 60 มิลลิเมตร ..ก็น่าจะทำเพื่อให้คนนั่งหลังรู้สึกว่ามองไปข้างหน้าแล้วดูโปร่งมากขึ้น แต่ผมคิดว่าสำหรับรถระดับนี้ มักจะมีแต่คนขับ กับผู้โดยสารหน้าเป็นหลัก จึงน่าจะเน้นความสบายของเบาะนั่งตอนหน้ามากกว่านี้

ถ้าคุณเป็นคนตัวผอมพอดีเบาะ คุณอาจไม่มีปัญหาอะไรกับมัน แต่ถ้าคุณตัวล้นเบาะมาเยอะ ตัวเบาะที่แคบก็จะทำให้รู้สึกว่ารองรับร่างกายท่อนบนได้ไม่ดีพอ ยังดีที่ส่วนเบาะรองนั่งหนา แข็งกำลังเหมาะ และพนักพิงศีรษะยังมีความนุ่มให้สัมผัส เอนหัวลงไปพักพิงยามขับทางไกลแล้วไม่รู้สึกเหมือนโดนพ่อเอาปลายนิ้วทั้งสี่ ทิ่มหลังหัวเวลาเราพูดอะไรโง่ๆออกไป ผมรู้สึกว่าถ้ายกตัวเบาะออกมาทำเป็นเก้าอี้รับแขกนี่ เบาะของรุ่นเดิม, ของ Suzuki Ciaz หรือแม้แต่ของ Mazda 2 หลังไมเนอร์เชนจ์แล้ว สบายกว่าครับ แต่การที่ Honda มีพื้นที่ระหว่างไหล่ถึงแผงประตู กับเนื้อที่แหกขาเยอะ พวกมาลัยก็ปรับได้ 4 ทิศ และปรับได้เป็นระยะยาวทีเดียว เลยทำให้ภาพรวมออกมา เป็นรถที่คน 5XL แบบผม นั่งสบายที่สุดในบรรดารถระดับเดียวกัน

สิ่งหนึ่งที่น่าจะให้มาหน่อยก็คือ เข็มขัดนิรภัยที่ปรับระดับความสูงได้ เพื่อให้มีความปลอดภัยสูงสุดในการเหนี่ยวรั้งตัวอย่างถูกจุด แม้ว่า Almera ก็ไม่มีเข็มขัดปรับระดับได้ แต่ Mazda 2 มีครับ

ส่วนเบาะหลังนั้น พนักพิงศีรษะที่ออกแบบมาหลอกไก่ นึกว่าเป็นหมอนรองหัวแบบแยกยกชิ้นได้ แต่ที่จริงมันผนึกรวมเป็นชิ้นเดียวกับพนักพิงหลังไปเลย แต่พอนั่งจริงกลับรู้สึกไม่รำคาญ มันทำองศามารับหัวได้ค่อนข้างพอดี เนื้อที่ Headroom นั้น พอสำหรับคนตัวผอมที่สูง 180 เซนติเมตร แต่ถ้าเป็นผม (ก้นหนานุ่มสไตล์หมี) สูง 183 เซนติเมตร หากนั่งแบบตัวตรง หัวจะติดหลังคา ต้องไถลตรูดครูดมาข้างหน้าสัก 2 นิ้ว ก็จะสามารถนั่งได้

ที่ชอบมากคือ แม้ผมจะคาเบาะหน้าไว้ในตำแหน่งที่ตัวเองนั่งขับ แล้วย้ายมานั่งข้างหลัง แล้ว..ก็ต้องนั่งแบบไถลตรูดมาข้างหน้านิดๆ ก็ยังมีที่วางขาเหลือมากพอให้รู้สึกสบายจนน่าจะนั่งโดยสารทางไกลหลายๆชั่วโมงได้ ในภาพรวมทั้งตัวเบาะและพื้นที่จึงถือว่าดีมาก Suzuki Ciaz เป็นผู้นำเรื่องเบาะหลังมาโดยตลอด..แพ้ Honda ที่พนักรองศีรษะ ส่วน Almera ใหม่นั้น ผมลองนั่งแล้วรู้สึกว่าตัวเบาะยังไม่สบายเท่า จุดที่ควรแข็งก็นุ่มยู่ จุดที่ควรนุ่มก็ดันแข็งไม่สบาย แต่อาจจะสบายสำหรับคนตัวเล็กๆ

ที่สำคัญ ในขณะที่ Almera ไม่มีพนักเท้าแขนเบาะหลัง Honda City มีมาให้ (เฉพาะในรุ่น RS) แต่เวลากางออกมา มันจะตกแป้กลงไปบี้กับเบาะรองนั่ง น่าจะมีกลไกล็อคให้มันเด่ชี้ไปหาขอบฟ้ามากกว่านี้ ไม่ใช่หล่นเหมือนชายขาดสมรรถภาพ ซึ่งพอเท้าแขนลงไป ระนาบที่เท้าแขนก็เตี้ยกว่าพนักเท้าฝั่งประตู ทำให้ต้องนั่งเอียงแปลกๆ นอกจากนี้ มีช่อง Power Outlet มาให้ 2 ช่อง ซึ่งเมื่อถามวิศวกรเล่นๆว่าทำไมไม่ให้เป็นช่อง USB มาเลย เขาก็ตอบว่ามันทำได้สารพัดประโยชน์กว่า และ Adapter สำหรับแปลง Power Outlet ออกเป็น USB ก็หาได้ง่าย

อย่างไรก็ตาม หากต้องเลือกรถอีโคคาร์ 4 ประตูด้วยเรื่องความสบายบนเบาะหลัง ผมยังชูแขนให้ City ยกให้เป็นอันดับหนึ่งของคลาส ด้วยเหตุผลเรื่องพื้นที่ และการออกแบบตัวเบาะ #GrabCarถูกใจสิ่งนี้ ครับ

ฝากระโปรงท้าย สามารถเปิดได้ด้วยการกดปุ่มบน Smart Key คาไว้ 3 วินาที หรือใช้คันโยกจากในรถ หรือจะเปิดจากสวิตช์ที่ฝาท้ายเลยก็ได้ ท้ายรถเก็บงานได้ค่อนข้างดี ไม่ขี้เหนียววัสดุซับเสียง พื้นที่เก็บสัมภาระด้านท้ายกว้างพอประมาณ ไม่มีตัวเลขความจุว่ากี่ลิตร แต่กะด้วยสายตา ไม่น่าจะหนีรุ่นเก่ามากนัก ใส่กระเป๋าเดินทางใบใหญ่ได้สบาย แต่ถ้าอยากบรรทุกของยาวๆ งานนี้จะลำบากหน่อย เพราะเบาะหลังไม่สามารถพับได้

เหตุผล? ถ้าไม่นับเรื่องต้นทุน ก็คงเป็นเรื่องความง่ายในการออกแบบ สิ่งที่วิศวกรบอกก็คือคนใช้รถ Segment นี้ น้อยครั้งมากที่จะต้องขนของเยอะถึงขนาดต้องพับเบาะ และเมื่อพวกเขาไม่จำเป็นต้องออกแบบเบาะไว้เผื่อการพับราบ ก็สามารถออกแบบส่วนเบาะรองนั่ง และพนักพิงหลังเพื่อความสบายสูงสุดได้ง่ายกว่า

City ยังมียางอะไหล่ขนาดเล็กสำหรับกรณีฉุกเฉินมาให้ แม้จะเป็นยาง Compact ซึ่งเมื่อใส่แล้วจะวิ่งเร็วมากไม่ได้ แต่อย่างน้อย ผมก็เห็นด้วยกับการมียางอะไหล่มากกว่าการใช้ชุดปะยาง มันมีเหตุผลที่แตกต่างกันระหว่างค่ายผู้ผลิต บางค่ายอย่าง Suzuki จะให้ชุดปะยาง เพราะมองว่า รถผู้หญิงใช้ (และเป็นหญิงโสด ไม่มีใครจีบ) เวลายางแตก ถ้าต้องมาขึ้นแม่แรง ถอดน็อต แบกล้อ ขันล้อเอง จะลำบากมาก ส่วน Honda ยืนยันใช้ยางอะไหล่ เพราะรู้ว่าลูกค้า City หลายคนต้องขับรถไกลมาก และในบางกรณีที่ยางแตก อาจต้องวิ่งทับบดครูดจนโครงสร้างเสียหาย ชุดปะยางเทวดายังไงก็ซ่อมไม่ได้ ดังนั้น ให้ยางอะไหล่มาแหละดีกว่า

แผงแดชบอร์ด ดีไซน์ดูค่อนข้างล้าหลัง ถ้านับแค่เรื่องรูปร่าง ไม่นับเรื่องวัสดุ ผมกลับชอบแดชบอร์ดแบบเจนเนอเรชั่นที่แล้วมากกว่าด้วยซ้ำ รุ่นใหม่นี้ทำมาดูเหมือนแดชบอร์ดรถ MPV แถมดูแก่ๆอย่างบอกไม่ถูก วัสดุที่ใช้ก็ธรรมดามาก พลาสติกแข็งซะเยอะ โชคดีที่ยังแซมขลิบขอบช่องแอร์ด้วยสีเงิน มีวัสดุสีดำเงา และมีวัสดุบุนุ่มเย็บตะเข็บแดงมาให้ที่ฝั่งคนนั่ง Almera ก็มีแดชบอร์ดสไตล์ลดต้นทุนเหมือนกัน แต่ดีไซน์ดูแล้วทันสมัยกว่า ส่วน Mazda นั้นขนาดว่าออกขายมานานแล้ว ก็ยังดูสวยทันสมัย วัสดุดูดีกว่าใคร

แต่อย่างที่บอก..ว่า City ต้องออกแบบมาเอาใจกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายมาก ความน่ารักของมันคือทุกอย่างดูใช้ง่าย เข้าใจง่าย วางถูกตำแหน่ง ช่อง USB 2 ตำแหน่ง และ Power Outlet มองเห็นได้ง่าย เสียบใช้ง่าย มีที่วางโทรศัพท์ใกล้กับช่อง USB เลย สวิตช์ควบคุมระบบปรับอากาศแบบอัตโนมัติ (ไม่มีระบบ Heater) ก็มีขนาดใหญ่ กดสั่งการง่าย จอกลางอยู่ในตำแหน่งใกล้ระดับสายตา ไฟฉุกเฉินอยู่ถูกที่ กดใช้ได้เร็วไว ชุดแท่นเกียร์ ไม่ยกระดับสูงแบบ Almera แต่ข้อดีก็คือไม่เบียดบังที่วางขา

ปุ่มกดตั้งระยะ TRIP/RESET เปลี่ยนจากก้านไม้ตะพดยาวๆในรุ่นก่อน มาเป็นปุ่มอยู่ทางซ้ายของหน้าปัด ผมลองคำสั่งเทสต์เข็มและหลอดไฟทุกตัวบนหน้าปัดเล่นๆ ก็ยังทำได้เหมือนทุกรุ่นที่ผ่านมา เผื่อใครอยากลองทำกับ Honda ของตัวเอง จำง่ายๆครับ ขึ้นรถ ปิดประตู กดปุ่มสตาร์ท 1 ทีไม่ต้องเหยียบเบรกนะ แล้วก็เอานิ้วชี้มือซ้าย กดปุ่ม Trip คาไว้ห้ามปล่อย เอามือขวาบิดก้านจาก OFF ไปที่ไฟหรี่ เอามือกดปุ่มสตาร์ทอีก 1 ที ปิดไฟหรี่>เปิดไฟหรี่>ปิดไฟหรี่ แล้วเอานิ้วที่กด Trip ค้างไว้นั่นแหละ ปล่อย แล้วกด Trip 3 ทีติดกัน ที่เหลือก็ดูโชว์สวยๆจากหน้าปัด อยากเล่นซ้ำ ก็กดปุ่ม Trip จะเลิกเล่น ก็กดปุ่มสตาร์ท 1 ครั้ง แค่นั้น ไปลองกันได้ครับ

จอกลางขนาด 8 นิ้ว มีในรุ่น SV และ RS เป็นจอทัชสกรีน มีแต่ฟังก์ชั่นพื้นฐานและควบคุมระบบต่างๆเฉพาะชุดเครื่องเสียง ไม่ได้มีโปรแกรมที่สามารถไปตั้งค่าของตัวรถพวกเรื่องการทำงานของไฟ ระบบล็อค อย่างใน Civic หรือ Accord เฉพาะรุ่น RS เท่านั้นที่จะได้ชุดเครื่องเสียงที่มี 8 ลำโพง (รุ่นอื่นๆมี 4 ลำโพง) และระบบเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือแบบ Honda CONNECT (รุ่น SV เชื่อมต่อมือถือได้ แต่ไม่มีแอพฯ Honda CONNECT)

โดยแอพพลิเคชั่น Honda CONNECT นี้ ก็มีลักษณะคล้ายกับระบบสั่งการรถผ่านสมาร์ทโฟนที่ MG กับ Toyota เขามีมานานแล้ว โดยสามารถรองรับคำสั่งดังต่อไปนี้

  • MY SERVICE – เช็คประวัติ และเตือนการเข้ารับบริการที่ศูนย์
  • DRIVING BEHAVIOR – พฤติกรรมการขับขี่และบันทึกการเดินทาง (อันนี้วัยรุ่นพ่อแม่ดุไม่น่าจะปลื้ม)
  • WIFI – เชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตจากตัวรถ
  • AIRBAG DEPLOYMENT – เมื่อถุงลมนิรภัยกาง จะส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือโดยอัตโนมัติ
  • SECURITY ALARM – แจ้งเมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับรถ
  • GEO FENCE & SPEED ALERT – ระบบแจ้งเตือนเมื่อรถถูกขับออกจากขอบเขตบริเวณที่ User กำหนด และแจ้งเตือนความเร็ว (ระบบนี้ ภรรยาน่าจะชอบ สามีอาจจะไม่)
  • FIND MY CAR – แสดงพิกัดของรถบนสมาร์ทโฟน
  • REMOTE VEHICLE CONTROL – ตั้งค่าของรถ ล็อค/ปลดล็อครถ รวมถึงสั่งสตาร์ทรถเปิดแอร์รอ คุณสามารถสั่งได้เลยว่าจะเอาแอร์เย็นมากน้อย 3 ระดับ และสามารถตั้งเวลาให้รถดับเองได้ (เป็นหน่วย นาที)

นับว่าเป็นการใช้สมาร์ทโฟนให้เกิดประโยชน์ ทำให้รถเล็กราคาเท่านี้ มีฟังก์ชั่นการควบคุมต่างๆเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ REMOTE VEHICLE CONTROL นั้น ทำให้สามารถสตาร์ทรถเปิดแอร์รอได้ ตั้งค่าได้ละเอียดกว่า ดีกว่าระบบ Remote Engine Start ใน Civic Minorchange เสียอีก เพราะ Civic นี่ยังไม่มี Honda CONNECT นะครับเท่าที่ดูในโบรชัวร์

กล้องมองหลัง มีให้ในรุ่น SV และ RS ภาพคมชัดพอใช้ (ของจริงอาจจะดูไม่สวยเหมือนภาพจาก Honda ข้างบนนี้) สามารถปรับมุมมองได้ 3 แบบ เส้นกะระยะเป็นแบบตายตัว ไม่ได้บิดไปตามองศาการเลี้ยวของพวงมาลัย

แผงมาตรวัด รุ่น RS จะพิเศษกว่ารุ่นย่อยอื่นตรงที่ได้เข็มแดง วงมาตรวัดขลิบขอบแดง ซึ่งรุ่นอื่นๆจะเป็นสีขาว

ผมชอบมาตรวัดที่ดูง่ายในลักษณะนี้ ไม่ต้องมีลูกเล่นอะไรมากเลย แค่พื้นดำๆ Simple กับตัวเลขและเข็มที่สว่างชัดเจน ก็เพียงพอแล้ว แต่ในความเป็นจริง ลูกค้าอาจจะไม่ได้คำนึงถึงการขับแบบซิ่ง และมองไปที่ความหรูเริดแพรวพราว ซึ่งถ้าใครชอบแสงสีสวยๆ City นี่คือตายอนาถเลยครับ เพราะอย่างของ Mazda ก็มีลูกเล่นการจัดวางที่ดูสปอร์ต มีจอ HUD มาให้ ส่วน Nissan Almera นั้น ซีกหนึ่งจะเป็นจอ MID แบบสีขนาดใหญ่ โชว์ค่าได้หลายแนว แต่ของ City จะมีจอ MID ที่เหมือนหลุดมาจากปี 2010 เป็นดิจิตอล Matrix ธรรมดา เผลอๆหน้าปัดของเจนเนอเรชั่นที่แล้วอาจจะถูกใจวัยรุ่นมากกว่าเสียด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม คุณยังสามารถกดดู Trip A, Trip B, OIL LIFE และ RANGE (ระยะทางที่ยังวิ่งได้ด้วยน้ำมันที่เหลือในถัง) ไม่มีมาตรวัดอุณหภูมิน้ำมาให้

****รายละเอียดทางวิศวกรรม****

จุดเด่นของ Honda City ใหม่ อยู่ที่เครื่องยนต์ ซึ่งทิ้งพิกัด 1.5 ลิตร มาแนวทางใหม่ ลดความจุลงเหลือ 1.0 ลิตร แล้วเสริมกำลังด้วยเทอร์โบชาร์จเจอร์ ซึ่งเรียกเสียงซู้ดปากจาก Geek ยานยนต์ได้มาก เพราะ L15B7 1.5 Turbo ใน Civic สร้างชื่อเสียงเอาไว้ดีในหมู่วัยรุ่นขาประจำด่านประชาชื่นแล้ว รุ่น 1.0 ลิตรก็น่าจะเหมือนเวอร์ชั่นย่อส่วนที่เผ็ดร้ายน้องๆพี่มัน

แต่อย่าไปตื่นเต้นอะไรกับมันมากเลยครับ มันไม่ใช่ของใหม่สำหรับประเทศไทย Ford Fiesta มีรุ่น EcoBoost 1.0 ลิตรเทอร์โบ 125 ขายมานานจนเจ๊งกันไปแล้ว และ Almera ที่เปิดตัวช่วงปลายปี ก็เป็น 1.0 ลิตรเทอร์โบเช่นเดียวกัน ถ้าอยากจะตื่นเต้น ไว้รอตอนลองขับดีกว่า

สำหรับรายละเอียดเครื่องยนต์ของ Honda City นั้น เครื่องใหม่ มีรหัสว่า  P10A6 เบนซิน 3 สูบ DOHC 12 วาล์ว 988 ซีซี. ขนาดปากกระบอกสูบ x ช่วงชัก เท่ากับ 73.0 x 78.7 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.0 : 1 หัวฉีด Direct-Injection พร้อมระบบแปรผันวาล์ว ทั้งแบบ Dual VTC (แปรผันโดยหมุนแท่งเพลาแคมชาฟท์ ทั้งฝั่งไอดีและฝั่งไอเสีย) และระบบแปรผันระยะยกวาล์ว VTEC เฉพาะที่ฝั่งไอดี พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharger ของ Borg-Warner

P10A6 มีกำลังสูงสุด 122 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 173 นิวตันเมตร (17.6 กก.-เมตร) ที่ 2,000 – 4,500 รอบ/นาที รองรับเชื้อเพลิง E20 ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ CO2 ต่ำเพียง 99 กรัม/กิโลเมตร ผ่านมาตรฐานไอเสีย Euro 5

บางคนอาจสงสัยว่า อ้าว รุ่นที่แล้วรองรับ E85 แล้วทำไมรุ่นใหม่ถอยกลับไปใช้ E20 ..ลองมองในแง่นี้ครับ ในรถรุ่นเดิมที่กินภาษีสรรพสามิตในอัตรารถปกติ หากคุณทำรถให้เติม E85 ได้ คุณจะได้ส่วนลดสรรพสามิตอีก 5% ซึ่งมันจะทำให้สามารถขายรถได้ราคาถูกลงแล้วยัง Cover ต้นทุนอุปกรณ์ที่ต้องรองรับ E85 ได้อย่างสบาย แต่พอมาเป็นรุ่นใหม่ เมื่อกินสรรพสามิตอัตราอีโคคาร์อยู่แล้ว (12%) ถือว่า ได้ส่วนลดดีๆไปเยอะแล้ว ต่อให้ใช้ E85 ได้ ก็จะไม่ได้ลดเพิ่มอีก 5% เหมือนเก่า ทีนี้เข้าใจยังครับว่าทำไมอีโคคาร์ถึงไม่มีใครทำให้เติม E85 ได้กัน?

สำหรับรายละเอียดอื่นๆของเครื่องยนต์ P10A6 ที่น่าจำไว้ก็มีดังนี้ครับ

  • เครื่องยนต์บล็อคนี้ ใช้อินเตอร์คูลเลอร์ระบายความร้อนด้วยน้ำ ติดตั้งตัวอินเตอร์คูลเลอร์ไว้ข้างเครื่อง ต่อท่อและปั๊มน้ำมาระบายความร้อนที่หม้อน้ำแยก ขนาดเล็ก ด้านหน้า วิศวกรเลือกใช้อินเตอร์ฯน้ำเพราะถึงไม่มีลมตีหน้ารถก็ยังสามารถระบายความร้อนได้ เหมาะกับประเทศไทยซึ่งอากาศร้อนสะสมมาก และรถติด แต่ข้อเสียคือ มีต้นทุนสูงเพราะต้องมีปั๊มน้ำ มีท่อส่งน้ำ และหม้อระบายความร้อนแยก
  • วิศวกรเลือกใช้หัวฉีด Direct Injection เพราะสามารถกำหนดปริมาณน้ำมันในห้องเผาไหม้ได้แม่นยำกว่าหัวฉีดแบบ Port Injection ส่งผลให้ประหยัดเชื้อเพลิง ใช้น้ำมันคุ้มตามม้า แต่มีต้นทุนหัวฉีดสูงกว่า และโมดิฟายยากกว่า
  • ระบบแปรผันระยะยกของวาล์ว ทำงานที่ 1,000-3,500 รอบต่อนาที ซึ่งเป็นลักษณะคล้ายเครื่องยนต์ D17A2 ที่จะมีชุดลูกเบี้ยวสำหรับความเร็วรอบต่ำ พอเกิน 3,500 รอบไป ก็ใช้ลูกเบี้ยวที่มีองศาปกติ เพราะฉะนั้น ไม่มีคำว่า TEC เปิดโลกเปลี่ยนนะครับ แต่มันมีไว้เพื่อช่วยให้มีเรี่ยวแรงดีที่รอบต่ำ
  • ชุดเวสต์เกต ควบคุมการทำงานด้วยไฟฟ้า เหมือนกับของ Civic โดยแรงดันบูสท์ปกติจะอยู่แถวๆ 1 บาร์ แต่ในบางช่วงอาจมี Spike ขึ้นไปแตะ 2 บาร์ อันนี้ไม่แน่ใจว่าจริงแค่ไหน ต้องลองติดตั้งเกจ์วัดบูสท์ดูว่าช่วงกระทืบเร่งแซง บูสท์ดีดขึ้นไปขนาดนั้นจริงหรือไม่
  • เครื่องยนต์รุ่นนี้ ทางวิศวกรญี่ปุ่นบอกว่า ใช้น้ำมันเครื่องที่มีค่าความหนืด 0W-20 จะดีที่สุด จะเป็นน้ำมันแบบสังเคราะห์หรือกึ่งสังเคราะห์ก็ได้ แต่ถ้าตีนหนัก อย่างแรกดีกว่า

ระบบส่งกำลัง เป็นเกียร์อัตโนมัติ CVT ลูกใหม่ ส่งกำลังจากเครื่องมาเกียร์ด้วย Torque Converter สามารถล็อคอัตราทดพูลเลย์ได้ 7 จังหวะ ในรุ่น RS เท่านั้น ที่จะมีแป้น Paddle Shift หลังพวงมาลัยมาให้

  • อัตราทดพูลเลย์ ตั้งเอาไว้ที่ 2.544-0.402
  • อัตราทดเกียร์ถอยหลัง 2.726-1.543
  • เฟืองท้าย อัตราทด 4.992

Honda ปรับระบบส่งกำลังชุดนี้ให้รองรับกับเครื่องยนต์แบบเทอร์โบ ซึ่งเวลากดคันเร่ง จะมีการเปลี่ยนแปลงแรงบิดอย่างรุนแรงกว่าเครื่อง NA ดังนั้น จึงใช้ชุดสายพานเหล็กกับพูลเลย์ Multiple V-surface แบบใหม่ที่รองรับพลังได้มากขึ้น เพิ่มชุดปั๊มน้ำมันเกียร์ไฮดรอลิคใหม่ มีตัวอุ่นน้ำมันเกียร์ แต่ไม่มี Oil cooler ให้เห็น ซึ่งตรงนี้ยังน่าห่วงอยู่สำหรับพวกที่ชอบขับแช่คันเร่ง ว่าจะรอดไหม

นอกจากนี้ยังมีการตั้งโปรแกรมเกียร์ ให้มีการไล่รอบคล้ายรถเกียร์อัตโนมัติปกติ เมื่อกดคันเร่งเต็ม ซึ่งตรงนี้ทำมาเพื่อเอาใจวัยรุ่นโดยเฉพาะ

ช่วงล่าง ด้านหน้าเป็นแบบอิสระแม็คเฟอร์สัน สตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลัง เป็นแบบคานบิด ทอร์ชั่นบีมธรรมดา มีการนำเทคโนโลยีใหม่มาช่วยลดแรงเสียดทานในการทำงานของช่วงล่าง เพื่อลดเสียงรบกวนจากช่วงล่าง (ด้านหน้า) ลงจากเดิม 50% มีการใช้ยางแท่นเครื่อง Resin แบบใหม่ ที่ช่วยลดความสะเทือนจากการทำงานของเครื่องยนต์ลง

ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พิเนียน พร้อมระบบผ่อนแรงด้วยไฟฟ้า EPS อัตราทดเฟืองพวงมาลัย 13.55 : 1 ปรับตั้งวงเลี้ยวให้สามารถกลับรถโดยใช้รัศมี 5 เมตร (ลดจากรุ่นเดิม 0.3 เมตร) ซึ่งเป็นผลพลอยได้มาจากการปรับความกว้างช่วงล้อคู่หน้าให้เพิ่มขึ้น ทำให้ล้อสามารถเลี้ยวได้มากขึ้นโดยไม่ครูดซุ้ม

ระบบเบรก ด้านหน้าเป็นดิสก์เบรก มีร่องระบายความร้อนขอบจาน ส่วนด้านหลัง เป็นดรัมเบรกเหมือนรุ่นที่แล้ว ซึ่งผมมองว่าการใช้เบรกหลังแบบดรัม ก็ไม่ได้แย่เสมอไป เวลารถขับเคลื่อนล้อหน้ากระแทกเบรกเต็มตัว น้ำหนักรถแทบจะมาด้านหน้า 80% อยู่แล้ว เบรกหลังมีหน้าที่แค่ช่วยรับการกระจายแรง ลดภาระจากเบรกหน้า ดังนั้น ในรถระดับนี้ ผมว่าการทำเบรกหน้าให้ดี ใช้ผ้าเบรกดี สำคัญกว่าการมีดิสก์เบรก 4 ล้อ แต่เบรกของ City จะดีหรือไม่ เดี๋ยวค่อยว่ากัน

ใน Honda City ใหม่ ไม่ว่าจะรุ่นถูกหรือแพงแค่ไหน คุณก็ได้ระบบเบรก ABS/EBD ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัวและควบคุมการหมุนฟรีของล้อ (VSA) ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HSA และระบบกระพริบไฟฉุกเฉินเมื่อเบรกอย่างรุนแรง ไม่ต้องคิดมากครับ บางอย่าง มันเป็นสิ่งที่ถูกบังคับให้มี ถ้าต้องการจะเข้าเกณฑ์การเป็นอีโคคาร์ Phase 2 ผมถึงงงไง ว่าคุณจะไปตั้งประเด็นอะไรกับการเรียก City ว่าอีโคคาร์ ในเมื่อคุณไม่ได้เสียอะไร แถมได้เพิ่มด้วยซ้ำ!

โครงสร้างตัวถังของรถ เป็นโครงสร้างแบบปรับปรุงบางส่วน โดยมีพื้นฐานมาจาก City เจนเนอเรชั่นที่แล้ว เปลี่ยนบางส่วนใหม่ เพื่อให้รองรับเครื่องยนต์ใหม่ และโครงสร้างตอนบน รวมถึงมีการปรับให้ตัวถังรถตอนหน้า สามารถรับ Torsional Rigidity สูงขึ้น 20.4% ซึ่งแม้จะฟังดูไม่ว้าว แต่ทำใจซะเถอะ เพราะในรถรุ่นใหม่นี้ แค่ต้นทุนวิจัยพัฒนาเครื่องยนต์บล็อคใหม่ก็แพงชิบแล้ว ถ้าต้องสร้างแพลทฟอร์มใหม่หมดจดอีก คงจนตาย ดังนั้นเขาจึงเลือกเอาของเก่าที่มีอยู่มาทำให้ดีขึ้น เหมือนคนที่เขียนรายงานเสร็จ แล้วมีโอกาสตรวจทานดีๆ แก้ไขเฉพาะจุดที่พลาด ก็สามารถออกมาเป็นงานดีๆได้เหมือนกัน

เรื่องการเก็บเสียง Honda ก็เพิ่มวัสดุซับเสียงบริเวณตอนล่างของรถให้ โดยเฉพาะบริเวณระหว่างเสารถกับตัวถัง แผ่นปิดกั้นใต้ท้องรถ หนาขึ้น ออกแบบให้กันเสียงจากถนนได้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมา จุดอ่อนของรถจากค่ายนี้ มักเป็นเรื่องการเก็บเสียงที่ทำให้ดูเหมือนใต้ท้องรถกลวง ซึ่งทาง Honda เริ่มแก้ไขในรถรุ่นใหม่หลายรุ่น และให้ผลที่ค่อนข้างชัด

****การทดลองขับ****

ในทริปนี้ Honda เลือกเส้นทางจากโรงแรม Le Meridian จังหวัดเชียงราย ขับไปยังร้านกาแฟ Viewpoint ที่เชียงของ ซึ่งตลอดทางจะมีทั้งสภาพการจราจรแบบวิ่งเอื่อยๆ รถติดบางช่วง มี Open highway ตลอดจนทางโค้งแบบกว้างๆคล้ายทางด่วนในกรุงเทพ ไปจนถึงการขับแบบขึ้นลงเขา และโค้งหักศอก เป็นเส้นทางแบบที่วิ่งครั้งเดียว ได้รู้จักรถครบทุกแง่มุม ซึ่งผมชอบการขับแบบนี้มากกว่าให้ไปขับเมืองนอกเมืองนา ถนนที่ไม่คุ้นเสียอีก

ผมได้รถ Turbo RS สีเงิน หมายเลข 4 จับคู่กับพี่ ริชาร์ด ลอย จาก Bangkok Post สื่อมวลชนรุ่นอาวุโสฝีมือระดับเยี่ยม ผู้ซึ่งสามารถนั่งพิมพ์บทความจากเบาะหลังรถที่กำลังซิ่งอยู่ได้หน้าตาเฉย และไม่โปรดการปรากฏกายบนสื่อโซเชียลใดๆ

สำหรับอัตราเร่งนั้น บอกได้เลยว่า Fiesta EcoBoost 1.0 เจอคู่แข่งที่ร้ายกาจแล้ววันนี้ พลังเครื่องยนต์ P10A6 1.0 ลิตรนั้น มันร้ายกว่าที่ผมคิดไว้พอสมควร ในตอนแรก ผมกะเอาไว้ว่า ถ้าผม กับพี่ริชาร์ดนั่ง แล้วเราขับกันช่วงกลางวัน อัตราเร่ง 0-100 ได้ 12 วิก็เก๋แล้ว เพราะน้ำหนักบรรทุกมันเยอะกว่าโหมดทดสอบปกติของ J!MMY อยู่ แต่พอลองจับตัวเลขแล้วนั้น..

0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

เกียร์ D – 11.2-11.5 วินาที

เกียร์ S – 10.71-10.82 วินาที

80-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ได้ลองแค่เกียร์ D แต่ลองทำหลายครั้ง ได้ตัวเลขเร็วสุดคือ 6.91 วินาที ช้าสุดคือ 7.75 วินาที แต่ส่วนมากจะลอยแถวๆ 7.07-7.3 วินาที ซึ่งอาจจะเกี่ยวกับสภาพถนนที่ลาดชันไม่เท่ากัน ผมเชื่อในตัวเลข 7 วิต้นมากที่สุด เพราะทำได้หลายครั้งสุด

ความเร็วสูงสุดที่ทำได้ขณะผมขับ คือ 186 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งมาแบบไม่ต้องเค้น ไม่ต้องลุ้น พี่ๆท่านอื่นในทริปที่ใจแข็งแกร่งกว่าผม บินกันทะลุ 200 พี่บอย วรพล กดไป 207 และมีท่านอื่นอีก 2-3 ท่านที่คอนเฟิร์มว่าทะลุ 200 แน่นอน และหลายคลิปที่มีคนเอาไปอัดลองใน Youtube ก็ยืนยันว่าได้ บางท่านแตะจนถึงจุดล็อคที่ 210 ด้วยซ้ำ

ถ้าเราไม่เอารถโมดิฟายมาพูดกัน ว่ากันบนพื้นฐานของรถโรงงานล้วนๆ ผมไม่เคยเจอรถอีโคคาร์หรือ B-segment เกียร์อัตโนมัติรุ่นไหนดุเดือดขนาดนี้มาก่อน แม้แต่ Ford Fiesta EcoBoost ก็ไม่อาจทิ้งห่าง City ได้ โดย Ford อาจจะได้เปรียบช่วงออกตัวชิงไฟ ในขณะที่ City อมพลังถนอมเกียร์อยู่ แต่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป Honda สร้างอัตราเร่งได้ดี ช่วงเร่งแซง เพียงแค่ตอกคันเร่ง เข็มความเร็วก็ดีดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไหลแบบหวานชวนยิ้ม แม้เข็มจะเลย 140 ไป ก็ยังไหลต่อด้วยพิษสงของ CVT ที่เด้งรอบไปอยู่ในจุดที่รถมีพละกำลังดีอยู่เสมอ ต้องหลัง 160 นั่นล่ะ ถึงรู้สึกว่าเข็มเริ่มไต่ช้าลง แต่การเห็นเลข 180 ก็ไม่ได้ต้องการทางที่ยาวนัก เพื่อไปให้ถึง

ดังนั้น อีโคคาร์คันอื่น คุณไม่ต้องหวังจะแซง City นะครับถ้าไม่ไปโมเพิ่มพลังมาเสียก่อน Mazda 2 ดีเซลก็เหอะ คุณคงได้ Honda แค่ช่วงออกตัว แต่หลังจากนั้นไป Honda กินเรียบ ทิ้งหายแบบไม่ต้องสืบ ..คุณดูพละกำลังของมันที่เทียบได้กับรถ 1.8 ลิตร NA แล้วลองคิดสิครับว่ารถเล็กตัวเบาตันต้นๆอย่าง City เอาเครื่อง 1.8 มาวางจะเป็นยังไง City 1.0 ลิตร ก็ทำได้แบบนั้น

ที่ชอบมากคือ สมรรถนะที่รุนแรงเกินคาด มาพร้อมกับความเรียบง่าย ใช้ง่ายเวลาขับแบบปกติ ที่รอบเดินเบา ดูเหมือนเครื่องจะสั่นน้อยกว่า Almera 1.0 ด้วย ผมทดลองขับเส้นทางในเมือง และพบว่า มันก็ง่ายเหมือนเวลาคุณขับ City รุ่นก่อนๆ กดคันเร่งไป แรงก็มาตามสั่ง อาการรอรอบอาจจะมีบ้างในช่วงต่ำกว่า 2500 รอบต่อนาที แต่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการวิ่งบนทางราบแน่นอน การใช้งานในเมือง จะมีจังหวะคันเร่งที่กดไปแล้วแรงยังไม่มา แล้วจู่ๆเพิ่มคันเร่งนิดๆก็แรงมาเยอะเลย อาจยังต้องปรับหน่อย เกียร์มีอาการเย่อน้อยมากจนไม่ควรเอามาเป็นประเด็น พูดง่ายๆ มันทำตัวเหมือนเด็กน้อยที่นั่งดูพี่ชายอย่าง Civic Turbo มาตลอด แล้วพยายามทำตัวเลียนแบบ แล้วมันก็ทำได้เกือบเหมือนเด๊ะ แค่แรงไม่มากเท่า

อีโคคาร์ขึ้นเขาได้มั้ย? บอกได้เลยว่า City คันนี้ แทบจะ “บิน” ขึ้นไปเลยล่ะครับ ขุนเขาลูกไหนที่คุณกล้าเอา Civic หรือ Altis 1.8 ไป City ก็จะไล่กวดรถพวกนี้ได้สบาย ด้วยน้ำหนักตัวที่เบากว่า กับเครื่องยนต์เทอร์โบ ซึ่งแม้จะมีอาการรอรอบช่วงก่อน 2,500 แต่พอหลังจากนั้น แรงบิดก็มาให้ใช้แบบเต็มๆเนื้อๆทันที ไม่ต้องใช้รอบสูงช่วยแบบเครื่อง NA

ขอเพียงอย่างเดียวคือ คุณต้องกดคันเร่ง เพราะมันจะมีช่วงขึ้นเขาบางจังหวะที่เป็นทางชัน ผมพบว่าถ้าคุณกดคันเร่ง 50% รถจะตื้อ และใช้อัตราทดยาว รอบต่ำแค่ 2,000 ไต่ขึ้นเนินไป ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นจริง แรงจะหายหมด ผมก็งงว่า ระบบเกียร์ที่มีคอมพิวเตอร์มากมาย คำนวณได้หลายอย่าง กลับไม่รู้สภาพการขับและคาเกียร์ไว้แบบนั้น ..แต่ช่างมันเถอะครับ ก็กดคันเร่งเพิ่มเข้าไป รอบจะดีดขึ้นเป็น 4,000 แล้วคุณก็จะไปต่อได้สบาย

แต่ระวังไว้อย่างนึงนะครับ เพราะความจี๊ดของมัน อยู่บนตัวรถ ที่ปรับเซ็ตรายละเอียดจุดอื่นเอาไว้สำหรับ..คนขับแบบปกติล้วนๆ

ช่วงล่างของ City ใหม่ หากมองในมุมของคนที่ขับแบบมนุษย์ปกติ ถือว่าดีแล้วและไม่ต้องปรับอะไรเพิ่ม คุณได้ความนุ่มนวลที่สบายไม่แพ้รุ่นเก่า (ในเจนเนอเรชั่นที่แล้ว City จะนุ่มย้วยในขณะที่ Jazz แข็งกระด้าง) ในขณะที่การซับแรงกระแทกพวกกรวดหินต่างๆ ดูจะดีขึ้น ในขณะที่การทรงตัว ณ ความเร็วสูง กลับนิ่งและแน่นขึ้นกว่ารุ่นเดิมจนรู้สึกได้ ผมสามารถกดไป 130-140 แล้วยังรู้สึกผ่อนคลายบนทางตรงได้อยู่

แต่เมื่อคุณเริ่มพยายามจะเล่นบทบู๊กับมัน City จะแสดงความเป็นรถครอบครัวออกมาชัดเจน เวลาเข้าโค้งแรงๆ อาการหน้าดื้อจะมาชัดเจน เวลาโยกเปลี่ยนเลนไวๆ โช้คอัพกับสปริงจะปรับยืดยุบตามไม่ค่อยทัน มีความยวบและโคลงแบบรถบ้านทั่วไป ระบบเบรกที่ใช้การได้ดีในสภาวะปกติ เบรกนุ่ม หน้าไม่ทิ่ม คุมอาการง่าย พอเจอศึกหนัก ก็ไปไม่เป็น กระทืบหนักๆ จากความเร็วสูงสองดอก เฟดตามสไตล์เบรกโรงงาน Honda แป้นเบรกจะออกอาการหยุ่นๆ เบรกแล้วไม่ค่อยจับ

ดังนั้น สายซิ่งครับ ถ้าได้ City มาขับ ก่อนจะโมดิฟายเพิ่มพลัง ผมแนะนำเลยว่าจัดยางเกาะๆ กับเปลี่ยนผ้าเบรกหน้าก่อนเลย เพราะรถคันนี้สร้างสปีดได้เร็วกว่าอีโคคาร์รุ่นอื่นๆ แต่ระบบเบรกดูเหมือนจะด้อยกว่าเจ้าอื่นเสียด้วยซ้ำ มันสวนทางกันแบบนี้ ก็รีบปรับปรุงมันซะดีกว่า

ยังดีที่พวงมาลัยของ City ใหม่ เซ็ตน้ำหนักมาได้ดี สุภาพสตรีขับในเมืองอาจจะรู้สึกว่าที่ความเร็วต่ำ พวงมาลัยหน่วงมือหนักกว่าอีโคคาร์เจ้าอื่น แต่มันก็ไม่ได้หนักไปกว่า Civic ยุค 90s ที่ใช้พวงมาลัยเพาเวอร์ไฮดรอลิก น้ำหนักขนาดนี้ แก่ๆอย่างแม่ผมยังหมุนได้สบายแน่นอน และที่ความเร็วสูง พวงมาลัยก็เซ็ตมาให้มีการหน่วงช่วงถือพวงมาลัยตรงดีมาก ขับแล้วไม่เกร็งมือ แต่พอเปลี่ยนเลน ก็แม่นยำ จะมีเฉพาะในโค้งซ้ายขวาต่อเนื่องที่ผมรู้สึกว่าพวงมาลัย Mazda ดีกว่า แต่ใน 90% ของการขับ ผมรู้สึกชอบน้ำหนัก และการตอบสนองของ Honda นี่ล่ะ ดีไม่แพ้ Civic รุ่นพี่เลย

การเก็บเสียงของ City ใหม่ ก็ทำได้ดีกว่ารถรุ่นเดิม ความรู้สึกกลวงๆ ที่พื้นรถใน Honda ราคาประหยัดจากในอดีต ลดน้อยลงมาก แม้จะวิ่งทางไกล 110-120 เสียงรบกวนที่มากที่สุด ก็จะมีแค่เสียงลมกรีดมาตามขอบประตู ซึ่งแม้ในภาพรวมจะยังไม่เงียบเท่า Mazda กับ Suzuki Ciaz แต่ก็ใกล้เคียงมากขึ้น และอยู่ในระดับที่ไม่น่าเกลียดเมื่อเทียบกับคู่แข่ง อย่างไรก็ตาม เสียงรบกวนที่เข้าหูคนนั่งเบาะหลัง ยังมีอยู่ และค่อนข้างดังกว่าข้างหน้าพอสมควร

ส่วนเรื่องอัตราสิ้นเปลืองนั้น ตามสไตล์ของ First Impression แบบออกทริปต่างจังหวัด มันไม่มีโอกาสที่เราจะขับไปเติมน้ำมันแล้ววัดค่าอัตราสิ้นเปลืองอยู่แล้ว ต้องอาศัยการสังเกตตัวเลขบนหน้าปัดเอา ซึ่งในช่วงแรกของการขับที่เราซัดแบบหนักๆ มีขึ้นเขาลงเขา ใช้พลังกันสนุกสนาน ตัวเลขเฉลี่ยลงไปกองอยู่ 11.5-12.0 กิโลเมตรต่อลิตรเลยทีเดียว แต่ในช่วงขากลับ บนทางราบ ผมลองกด Reset คอมพิวเตอร์แล้วขับแบบใช้ความเร็ว 120 เป็นหลัก และใช้คันเร่งไม่เกิน 50% ยกเว้นตอนกลับรถ เพราะต้องเร่งความเร็วไม่ให้รถทางตรงมาบวกกับเรา ในโหมดนี้ ผมทำได้ 15.6 กิโลเมตรต่อลิตร

พูดง่ายๆคือ ถ้าขับแบบสันติชีวัน ไปเรื่อยๆ ดูนกดูไม้ แต่นกอาจจะบินเร็วหน่อย วิ่ง 110-120 แต่ไม่บ้าคันเร่ง คุณน่าจะเห็น 15-16 กิโลเมตรต่อลิตรได้ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะดีกว่ารถรุ่นเดิม แต่คงไม่ถึงขั้นไปแข่งกับ Mazda 2 เบนซิน..อย่างไรก็ตาม หากคุณเรียกใช้พลังที่เทียบเท่ารถ 1.8 ลิตรมากๆ มันก็จะกินจุขึ้น ยิ่งเค้นพลังเท่าไหร่ ยิ่งกินเหมือนรถ 1.8 มากขึ้นเท่านั้น เป็นไปตามกฎการใช้แรงม้าแหละครับ

****สรุปการทดลองขับ****

***ก็คือรถบ้านธรรมดาคันนึงนี่ล่ะ แต่ได้เครื่องยนต์ที่สุดยอด!***

Honda City ใหม่ พิสูจน์อีกครั้งว่า เทอร์โบ แก้ปัญหาชีวิตทั้งฝั่งผู้ใช้และฝั่งบริษัทรถยนต์ได้!

เครื่องยนต์แค่ 1.0 ลิตร พอมีเทอร์โบช่วยเรียกพลัง ผลลัพธ์ที่ได้คือพละกำลังที่เกินพอสำหรับคนส่วนมากที่ซื้อรถระดับนี้ใช้ ไม่ต้องไปโฟกัสที่ตัวเลข 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งไม่ได้ใช้อะไรบ่อยขนาดนั้น แต่ดูที่ความง่ายในการใช้งาน คุณขับ City 1.5 อย่างไร ก็จงขับ City 1.0 เทอร์โบแบบนั้น ช่วงรอบต่ำอาจจะมีอาการหน่วงพละกำลังบ้างแต่ไม่ถึงกับน่าอึดอัดใจ แค่กดคันเร่งลงไป ก็ได้ความแรงตามใจสั่ง ที่ชอบมากคือเวลาเดินทางต่างจังหวัด หรือวิ่งขึ้นเขา City 1.0 Turbo ทำอัตราเร่งในระดับที่เทียบเท่ารถขนาด C-Segment เครื่อง 1.8 ลิตรได้อย่างสบาย

อย่างไรก็ตาม ช่วงล่าง และเบรกของ City ยังสู้ผู้นำของคลาสอย่าง Mazda 2 ไม่ได้ มันเป็นรถที่มีหัวใจพลังเหนือชั้น แต่องค์ประกอบอื่นๆ ทำมาเหมือนเอาใจลูกค้าธรรมดาสายสันติธรรม คุณได้ความนุ่มสบาย แม่ยายชื่นชม หรือวิ่งทางไกลตรงๆ 120-130 ก็ยังรู้สึกดี แต่..ถ้าคิดจะขับเร็ว สมาธิต้องดี และห้ามประมาท การขับแบบตวัดพวงมาลัยเร็ว หรือมุดแบบไม่ระวัง ช่วงล่างจะออกอาการยวบ ให้เห็น และระบบช่วยเหลือต่างๆ ก็ไม่ได้ทำงานเร็วหรือฉลาดแบบของ Mazda 2 ซึ่งขานั้น ผมสามารถอัดรถเดิมเล่นบนสนามแข่งบุรีรัมย์แล้วรู้สึกมั่นใจ กล้าใส่เต็ม จัดยาวต่อเนื่องได้นานกว่าเบรกจะออกอาการ ช่วงล่างเอาอยู่ทุกโค้ง

แต่มองในโลกแห่งความจริง City เป็นรถที่ให้สิ่งต่างๆเริ่มต้นมาดี การปรับช่วงล่างหรือเบรก ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะในอนาคต ของแต่งดีๆมีให้คุณเลือกแน่ ..เพราะความ Hondaness ของมันที่ออกมากี่รุ่น วัยรุ่นก็ชอบ อะไรที่วัยรุ่นชอบ ผู้ค้าของแต่งยินดีทำมาขายอยู่แล้ว

สำหรับคนที่เป็นวัยดึก หรือคนทั่วไปที่คิดจะซื้อ City ใหม่มาใช้ คุณได้รถที่มีพละกำลังสำรองสำหรับการใช้งาน ดีกว่ารุ่น 1.5 ลิตรเดิม ได้ภายในที่จัดพื้นที่ลงตัว กว้างขวางนั่งสบาย ภายในอาจจะไม่หวือหวา ไม่ดูไฮคลาสแบบ Mazda แต่ทุกสิ่งทุกอย่าง จัดวางมาในลักษณะที่คุณจะใช้เวลาไม่นานในการสอนคุณพ่อวัย 75 ปีของคุณในการเรียนรู้การทำงานของปุ่มต่างๆ มันมีความ User Friendly ในแบบที่เราหลงรักจากยุค 90s อยู่เต็มขั้น บาลานซ์องค์ประกอบทุกอย่างมาอยู่ในระดับกลางถึงดี ไม่อินดี้ ไม่แหวกแนว เปรียบเสมือนข้าวไข่เจียว ที่ธรรมดาเหลือเกิน ไปนั่งร้านไหนใครสั่งก็โดนเพื่อนด่า แต่ท้ายสุดก็มาตักไข่แย่งเรากินทุกครั้งไป

และในเคสของ City คุณมีเครื่องยนต์นี่ล่ะ ที่ทำตัวเหมือนซอสพริกศรีราชาวางอยู่ข้างๆ อยากเติมความเผ็ดเมื่อไหร่ ก็แค่บีบ…

จุดที่ Honda ยังสามารถพัฒนา City รุ่นนี้ต่อ เพื่อให้ครองหัวใจผู้ใช้รถได้มากขึ้น น่าจะเป็นเรื่องของอุปกรณ์ความปลอดภัยในเชิงป้องกัน ซึ่งเมื่อเทียบกับคู่แข่งแล้ว อย่างดีก็เทียบได้แค่ Toyota Yaris ATIV แล้วถ้าคุณไปดู Nissan Almera คุณจะพบว่า รถของ Nissan ราคาถูกกว่ากันอยู่แสนบาท แต่ให้กล้องรอบคัน ให้ระบบเตือนชนรถคันหน้าพร้อมระบบเบรกอัตโนมัติ ให้ระบบเตือนรถในจุดบอดกระจกมองข้าง ซึ่งของพวกนี้ สำหรับบางคนที่ไม่ได้ซีเรียสเรื่องความแรง อาจมีค่าสำหรับพวกเขามากกว่าม้าในเครื่อง

ยางติดรถ ถ้าปรับสเป็คได้ก็อยากให้ปรับครับ เพราะ Yokohama BlueEarh A ที่ติดรถรุ่นนี้มา เข้าโค้งนิดเดียวก็ร้องแล้ว แต่ถ้าปรับเปลี่ยนสเป็คยางแล้วจะทำให้ค่า CO2 พุ่งเกิน 100 กรัม/กิโลเมตร หมดสิทธิ์รับภาษีอีโคคาร์ แบบนั้นก็ช่างมันเถอะ เดี๋ยวพวกเราไปหาเปลี่ยนกันเองได้

ในราคา 739,000 บาท นี้ สิ่งที่ผมหวังได้ และไม่น่ากระทบกับเรื่องอื่นมาก ก็คงจะเป็นระบบอย่าง Honda LaneWatch ซึ่งฉายภาพมุมอับกระจกมองข้างด้านซ้ายมาขึ้นที่เครื่องเสียงได้ (Honda ใช้ระบบนี้ และไม่มีระบบ Blind Spot Warning..มันก็ต้องมาอีท่านี้แหละ) และพยายามหาทางทำระบบ Honda SENSING เวอร์ชั่น Minimalist ไม่ต้องมีระบบ Radar Cruise Control หรือระบบ Lane Keeping ก็ได้ แต่ขอให้มีระบบเตือนก่อนชนคันหน้าที่ความเร็วต่ำ และเบรกอัตโนมัติ แค่นี้ ผมว่ามันจะป้องกันอุบัติเหตุไปได้เยอะ สมัยนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าลูกค้าจะวัยดึกวัยรุ่น ก็ชอบเล่นมือถือระหว่างขับรถ มีอุปกรณ์แบบนี้ไว้ จะช่วยป้องกันความซวยไปเกิดกับคนอื่นได้

เรายังไม่ทราบว่า Honda City ใหม่จะมีความทนทาน หรือจุกจิก มี Defect มากน้อยแค่ไหน เพราะรถส่งมอบไปแค่ไม่กี่พันคัน เพิ่งจำหน่ายมาได้ไม่นาน แต่ผมหวังว่าสิ่งต่างๆที่เป็นเหมือนเชื้อร้ายทำลายชื่อเสียงของ Honda ในด้านคุณภาพการประกอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สนิม ซึ่งเจอมาแล้วหลายรุ่น จะไม่มีในรถรุ่นใหม่ เพราะปัญหามันเห็นมาตั้งแต่รถปี 2012 และยังมีอยู่ในรถใหม่หลายรุ่นในปัจจุบัน มันเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดกับรถใหม่

รถทำมาดีแล้วครับ แต่ต้องมาลุ้นกันต่อว่า City ใหม่จะหลุดพ้นวงจรนี้ได้หรือเปล่า ผมห่วงเรื่องนี้มากกว่าอุปกรณ์อะไรที่ขาดไปเสียอีก ถ้าแก้ไขได้ Honda จะได้เป็นเพื่อนแท้ของคนทุกวัย โดยไม่ต้อง REIMAGINE ถึงวันเก่าๆที่ Honda คือรถที่ซื้อแล้วใช้ไม่ต้องกังวลจนวันขาย

—//////—

ขอขอบคุณ / Special Thanks to :

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท Honda Automobile (Thailand) จำกัด

สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน Pan Paitoonpong
ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายรถยนต์ เป็นผลงานของผู้เขียน/Honda ประเทศไทย/Honda of Japan ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com  23 มกราคม 2020

Copyright (c) 2019 Text and Pictures. Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited. First publish in www.Headlightmag.com  23 JAN 2020

แสดงความคิดเห็นบนเว็บบอร์ดของ Headlightmag ได้ คลิกที่นี่