สายการบิน THAI Airways เที่ยวบินที่ TG664 เดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิ มาถึงสนามบิน Shanghai PVG (ภู่ตง) เมื่อเวลา 16.00 น. ของวันที่ 14 เมษายน 2019 ตามเวลาท้องถิ่น ที่ Shanghai
การเดินทางมายังเมืองจีนแผ่นดินใหญ่ครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 3 ในชีวิตของผม แต่ละครั้งที่ได้มาเยือน ผมก็มักตื่นตาตื่นใจกับบรรดารถยนต์แปลกๆ บนท้องถนนของพวกเขา ในจำนวนนี้ ผมกะเก็งไว้เล่นๆว่า 8 ใน 10 คัน คุณจะไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ถ้าไม่ใช่เมืองจีน
ในช่วง 20 ปีให้หลังมานี้ ชาวจีน นิยมซื้อรถยนต์กันอย่างบ้าระห่ำ ซึ่งเปรียบได้กับยุคประชายนต์นิยม (Motorization) ซึ่งเคยเกิดขึ้นกับญี่ปุ่น เมื่อปี 1964 มาถึงตอนนี้ ชาวจีน ได้ก้าวเข้าสู่ยุค Motorization กับเขาบ้างแล้ว ท่ามกลางภาวะดังกล่าว บริษัทรถยนต์จากฝั่งยุโรป อเมริกาเหนือ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ต่างพากันเข้ามาจับมือกับบรรดา บริษัทท้องถิ่น ซึ่งมีผู้ถือหุ้นเป็นรัฐบาลประจำมณฑลต่างๆ มาแข่งขันกันผลิตรถยนต์ขายลูกค้าแดนมังกร กอบโกยยอดขายกันอย่างสนุกสนาน
ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตรถยนต์ท้องถิ่นเอง ก็เริ่มตั้งไข่อย่างจริงจังในช่วงไม่เกิน 15 ปีมานี้เอง ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตรายดั้งเดิมเก่าแก่สุด อย่าง Hongqi (อ่านว่า หงฉี) หรือแม้แต่ผู้ผลิตที่เข้าร่วมการลงทุนกับกลุ่มบริษัทจากต่างชาติ พวกเขาเติบโตอย่างรวดเร็วมาก จากการ Copy & Develop อย่างไม่ปิดบัง พวกเขาแสดงเจตจำนงค์อันแรงกล้าที่จะพาธุรกิจรถยนต์ ให้ก้าวขึ้นไปเทียบชั้น ทาบรัศมี ผู้ผลิตอันมีชื่อเสียงจากทั้งฝั่งยุโรป อเมริกาเหนือ ญี่ปุ่น แม้กระทั่งเกาหลีใต้
แน่นอนว่า ผลที่เกิดขึ้น ก็มักทำให้ชาวโลก มองรถยนต์จากจีน ว่ามีคุณภาพต่ำ พอๆกับเครื่องไฟฟ้าราคาถูกจากจีน นั่นแหละ ใช้งานได้ไม่นาน ก็พังง่าย เสียง่าย อะไหล่หาไม่ได้ ต้องทิ้งขยะอย่างเดียว ความทนทานก็ไม่มี quality ก็ต่ำตม
อย่างไรก็ตาม วันนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนนั้น เดินทางมาไกลมากๆ และพวกเขาก็กำลังเริ่มก้าวเข้าสู่ยุคที่มี Know How ของตัวเองมากขึ้นทุกที โดยเฉพาะยานยนต์พลังไฟฟ้า ซึ่งมีเทคโนโลยีก้าวล้ำนำหน้าชาวบ้านชาวช่องไปพอสมควรแล้ว กลายเป็นว่า ทุกวันนี้ ผมสามารถจำแนกรถยนต์จากจีน ได้เป็น 3 กลุ่ม
1.กลุ่มที่เลือกจะทุ่มพัฒนารถยนต์เพื่อออกไปต่อกรในตลาดโลก ทำรถยนต์ออกมาให้หรูหราระดับที่ Premium Brand จากยุโรป ต้องถึงกับอึ้งกิมกี่
2.กลุ่มที่ เลือกจะพัฒนารถยนต์ เพื่อเน้นทำตลาดในประเทศ โดยอาศัยเทคโนโลยีชั้นสูง มาช่วยยกระดับให้รถยนต์ของตนดีขึ้น แต่ในตอนนี้ คุณภาพของรถยนต์ที่พวกเขาทำ อาจยังไม่ถึงขั้นทัดเทียมกับรถยนต์จากต่างชาติ หรือแม้แต่ยังไม่ทัดเทียมกับรถยนต์ในกลุ่มที่ 1
3. กลุ่มที่ ไม่สนใจอะไรทั้งสbhน ลูกค้าของฉัน อยู่ในแว่นแคว้นแดนไกล ฉันจะทำรถยนต์ออกมาขาย เพื่อเอาใจลูกค้าที่เบี้ยน้อยหอยน้อย แต่อยากได้รถยนต์ที่มีหน้าตา เหมือนแบรนด์ระดับหรูจากยุโรป ฉันมีความสุขกับการลอกงานออกแบบเขามาทั้งดุ้น แม้ว่าจะต้องเสี่ยงต่อการโดนฟ้องร้องด้านลิขสิทธิ์งานออกแบบก็ตาม
SAIC หรือ Shanghai Auto Industry Corporation เป็นผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ อันดับ 1 ของเมืองจีนในเวลานี้ ผมจัดพวกเขาไว้อยู่ในกลุ่มที่ 1. เพราะ ผลจากการร่วมทุนกับ ทั้งกลุ่ม General Motors (ออกแบบ พัฒนา และผลิตรถยนต์ Chevrolet Buick และ Cadillac สำหรับขายในเมืองจีนและตลาดโลก) รวมทั้งกลุ่ม Volkswagen Group (ออกแบบ พัฒนา และผลิตรถยนต์ Volkswagen และ Skoda สำหรับตลาดเมืองจีน เป็นหลัก) ทำให้พวกเขา ได้เรียนรู้ เทคโนโลโลยีต่างๆมากมาย เพียงพอที่จะนำมาปรับประยุกต์ใช้กับ รถยนต์ที่พวกเขาทำขายเองในแบรนด์ของตัวเอง ทั้ง 3 แบรนด์ ได้แก่
ROEWE – เดิมคือ Rover แต่ต้องเปลี่ยนชื่อ เพื่อทำตลาดเมืองจีนอย่างเดียว เน้นทำรถยนต์หรู อย่างมีคุณภาพสูง
MG – นำแบรนด์จากอังกฤษ กลับมาบุกตลาดทั่วโลกใหม่ ชูจุดขายด้านบุคลิกสปอร์ต
MAXUS – เน้นทำรถตู้ Minivan รถกระบะ SUV และรถเพื่อการพาณิชย์ ทั้งในจีน และส่งออกสู่บางตลาด
นี่ยังไม่นับบริษัท ที่ SAIC และ GM ไปร่วมทุนกับ Wulling ผู้ผลิตรถเพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็ก รายใหญ่ของจีน จนเกิดเป็นบริษัท SGMW (SAIC-GM-Wulling) นั่นอีกต่างหากนะ รายนั้น เขาก็มีแบรนด์ท้องถิ่นอีก 2 แบรนด์ แยกออกไป คือ
Wulling – เน้นผลิตรถกระบะเล็ก ระดับรถกระป๊อ รวมทั้งรถตู้ขนาดเล็ก เพื่อการพาณิชย์เป็นหลัก
BAOJUN – เน้นทำตลาดแต่ SUV พวกเขากำลังจะกลายเป็นฐานการพัฒนาที่สำคัญแห่งใหม่ ให้ GM พึ่งพา ภายในปี 2019 นี้ คนไทยจะได้สัมผัสกับ SUV ของพวกเขา ภายใต้ชื่อ Chevrolet Captiva!
ไหนๆ ก็ไหนๆ ช่วงนี้ ก็มีงานแสดงรถยนต์งานใหญ่สุด อย่าง Auto Shanghai 2019 จัดขึ้นพอดี แล้ว SAIC เลยจัดพานักข่าวจากทั่วโลก มาเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ ศูนย์วิจัยและพัฒนา รวมทั้งสนามทดสอบ ของพวกเขา ภายใต้งานชื่อ Shaping a New Era แน่นอนว่า MG Sales Thailand ในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ MG ในเมืองไทย ก็ได้รับคำเชิญชวนมา ว่าให้ส่งสื่อมวลชนจากเมืองไทย ไปดูงานกับพวกเขาสักหน่อยก็ดี
MG เขาจึงตัดสินใจ พาผม และสื่อมวลชนอีก 10 ชีวิต บินไปถึง เซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อไปดูให้เห็นกับตา ว่า MG ที่หลายคนนั่งก่นด่าทุกเช้าเย็น กระแนะกระแหน เน็บแนมกันว่า คันละ “กี่ล้าน” หนะ ทุกวันนี้ เขามีเทคโนโลยีและองค์ความรู้ ที่ล้ำหน้ากันไปถึงไหนต่อไหนแล้ว…ด้วยเงินทุนที่มี…”มหาศาลหลักหลายหมื่นล้านหยวน” ด้วยนะ!
17 เมษายน 2019 เราเดินทางมาถึง สนามทดสอบรถยนต์ กว่างเต๋อ (Guangde Proving Ground) ซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลอานฮุย (Anhui) ห่างจากเซี่ยงไฮ้ ประมาณ 200 กิโลเมตร ถือเป็นสนามทดสอบรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุด และทันสมัยที่สุด ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ถูกสร้างขึ้นด้วยเงินลงทุนสูงถึง 1.6 พันล้านหยวน เปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการครั้งแรก เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2012
SAIC ใช้สนามแห่งนี้ เป็นสถานที่ทดสอบรถยนต์ทุกรุ่น ของ MG , Roewe , GM (พันธมิตรของ SAIC ทั้งแบรนด์ Buick , Cadillac และ Chevrolet) รวมทั้งรถยนต์จาก SGMW (SAIC – GM – Wuling) อย่าง Baojun Wuling ฯลฯ ก่อนนำไปผลิตออกสู่ตลาดจริง
สนามแห่งนี้ มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 5.67 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นขนาดสนามฟุตบอลมาตรฐาน มากถึง 795 สนาม !!! มีระยะทางของถนนในสนามทดสอบทุกจุดยาวรวมกันถึง 60 กิโลเมตร !! ประกอบด้วย สนาม Oval Course ยาวถึง 9.036 กิโลเมตร (ยาวกว่า สนามของ Honda ที่ Tochigi และสนาม Toyota ทั้งที่ Shibetsu และ Higashi-Fuji) มีพื้นสนามแบบ Dynamic Pad กว้าง 310 เมตร ยาว 300 เมตร สามารถจัดการทดสอบในรูปแบบต่างๆ ได้มากกว่า 70 แบบ ที่เด็ดสุดก็คือ มีสะพานความยาว 1,200 เมตร สูงในระดับที่ เรือยอร์ช แล่นลอดผ่านได้สบายๆ! พร้อมด้วยห้องทดสอบ ซึ่งมีอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมืออันทันสมัย และสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ถึงขนาดว่า สามารถทดสอบด้านระบบความปลอดภัย ช่วงล่าง และความทนทานของรถยนต์ ได้มากถึง 140 คัน ในเวลาเดียวกัน !!!
ทันทีที่นั่งรถเข้ามา ผมถึงกับตกใจเลยว่า โอ้โห สนามทดสอบบ้าอะไรจะใหญ่โตมโหฬารขนาดเน้!! มาถึง เราก็เจอบรรดารถยนต์ต้นแบบ จำนวนมาก ทั้งรุ่นที่ออกสู่ตลาดไปแล้ว และรุ่นที่ยังเก็บความลับอยู่ วิ่งกันไปมา ขวักไขว่ ราวกับอยู่ในสวนสัตว์ Night Safari!!
นอกจากจะมีพื้นที่สนามใหญ่โตมโหฬารแล้ว สนามแห่งนี้ ยังมีพื้นที่อำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ของบริษัทมากมาย แถมยังมีร้านค้าของชำขนาดเล็กๆ ร้านกาแฟตกแต่งสวยๆบรรยากาศดีๆ อีกด้วยมีแม้กระทั่ง สนาม Basketball และหอพักของ Staff ซึ่งมีหน้าตาไม่ต่างจากหอพักนักศึกษาย่านรังสิต เลย มองขึ้นไปข้างบน เห็นถุงเท้าสีแดงกับกางเกงในสีดำ แขวนลอยตระหง่านอยู่ แถม เห็นอาตี๋เปลือยท่อนบน แหวกม่านออกมาเช็คว่ากางเกงยีนส์ตัวเอง ว่าแห้งหรือยังอีกต่างหาก ช่างบันเทิงอะไรเช่นเน้!!
เรานั่งรถบัส มาถึง สนามราดยางมะตอยขนาดใหญ่โตมโหฬาร อาคารรับรองของพวกเรานั้น หน้าตาเหมือนบ้านเศรษฐีสะพานปลาเมืองสมุทรสาคร สังเกตได้จากเสาโรมันบริเวณระเบียงชั้น 2 ที่เหมือนในบ้านเราเป๊ะ
สถานีแรกที่เจอคือ สถานี Long Slope Bridge ขับขึ้นสะพาน ยาว 1,200 เมตร ชัน 12% ตอนขับขึ้นไปถึงปลายเนิน ต้องช้าหน่อย เพราะมองไม่เห็นทางข้างหน้า และเมื่อลงเนิน ก็ต้อง เบาๆหน่อย เพราะข้างล่าง มีทั้งผู้คนและรถทดสอบกันอยู่ รถยนต์ที่ทดลองขับมี MG 5 ,MG RX8, Maxus T60 และ Maxus D90
จากนั้น จึงไปลองขับ MG5 กับ MG6 ในสถานี Go Racing Track พักทานอาหารกลางวัน ด้วยการขึ้นรถบัส ไปกินข้าวเที่ยง ที่ ชั้น 2 ของ หอพัก Staff ในส่วน Canteen (อาหารที่นี่ มีพ่อครัวทำ อร่อยพอใช้ได้ แถมทำแกงกะทิแบบไทยๆได้ดีอีกด้วย!) จากนั้น ก็ค่อยเริ่มต้นภาคบ่าย ด้วยสนาม Simulated Ice ลองออกตัว MG6 ,MG HS และ Maxus G50 บนพื้นลื่นๆ แล้วเบรกบนพืนลื่นๆ (กระเบื้องโมเสก สีขาว ฉีดน้ำเลี้ยงตลอดเวลา)
ปิดท้าย ด้วย สนาม North & South Ring Track ซึ่งเป็นสนามที่วนลูป เป็น เลข 8 ใช้ความเร็วได้ปานกลาง แต่มีพื้นผิวของถนน High-way ในประเทศไทย ครบถ้วนทุกรูปแบบ! เราใช้สนามฝั่ง South เพียงอย่างเดียว ด้วยรถยนต์ 5 คัน ทั้ง MG eZS , MG HS , MG RX8 , Maxus T60 , Maxus D90 และ รถตู้ไฟฟ้าคันเล็กๆน่ารักๆ Maxus EV30 ก่อนจะเสร็จสิ้นกิจกรรมทั้งหมด ทานมื้อเย็นกันที่ Canteen ของ สนาม กันอีกครั้ง แล้วค่อยนั่งรถบัส กลับเข้า เซี่ยงไฮ้ ใช้เวลา 3 ชั่วโมงครึ่ง
มาถึงตรงนี้ หลายคนคงอยากรู้แล้วว่า ณ วันนี้ รถยนต์ MG Roewe และ Maxus รุ่นใหม่ๆ ที่เตรียมจะเข้า และมีแนวโน้มจะเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยนั้น จะมีสมรรถนะในการขับขี่เบื้องต้นเป็นอย่างไร เบื้องต้น ขอนำรถยนต์ทุกคันที่ พะแบรนด์ MG หรือ เป็น Roewe แต่มีแผนว่าจะใช้ชื่อ MG ในการบุกตลาดโลก ทุกรุ่น มาให้คุณผู้อ่านได้ ลิ้มรสกันก่อน เพื่อเตรียมพบกับตัวจริงของรถยนต์รุ่นใหม่ๆเหล่านี้ บนถนนในเมืองไทยกันในอีกไม่นานเกินรอ…
——————————
MG eZS (ชื่อสำหรับทำตลาดในเมืองไทยคือ “MG ZS EV”)
เวอร์ชั่นขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าล้วนๆ ซึ่งต่อยอดมาจาก MG ZS B-Segment Crossover SUV ที่ขายดีอย่างเหลือเชื่อในบ้านเราตอนนี้ SAIC เพิ่งเปิดตัว eZS ไปในงาน Guangzhou Auto Show เมื่อ 15 – 16 พฤศจิกายน 2018 ที่ผ่านมานี้เอง งานโฆษณาในเมืองจีน ซึ่งมีการพูดถึงภาษาไทยด้วย บ่งบอกว่า SAIC MG จะเอารถคันนี้ ส่งมาเปิดตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ในเมืองไทยอย่างแน่นอน ภายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ของปี 2019 นี้ !
รูปลักษณ์ภายนอก บนตัวถังที่มีความยาว 4,314 มิลลิเมตร กว้าง 1,809 มิลลิเมตร สูง 1,620 มิลลิเมตร มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,585 มิลลิเมตร ภายนอก มีความแตกต่างจาก ZS รุ่นปกติ เพียงแค่ กระจังหน้า เปลี่ยนมาเป็นแบบปิดทึบ ซ่อนจุดชาร์จไฟไว้ด้านหลังสัญลักษณ์ MG ซึ่งสามารถกดแล้วยกเลื่อนขึ้นมาเพื่อเสียบปลั๊กชาร์จไฟได้ ไฟหน้า Halogen พร้อมไฟตัดหมอกหน้า ไฟส่องสว่างขณะขับขี่เวลากลางวัน LED Daytime Running Lamps มีรางหลังคาสำหรับบรรทุกสิ่งของ กระจกมองข้างแบบปรับและพับเก็บได้ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า พร้อมใบปัดน้ำฝนแบบ Boneless wiper รวมทั้งการปรับ รายละเอียดเส้นสายบริเวณส่วนล่างของเปลือกกันชนหน้าใหม่, เพิ่มระบบประตู Smart Entry, กุญแจ Keyless ออกแบบขึ้นใหม่, ล้ออัลลอย ขนาด 17 นิ้ว ลวดลายใหม่ มาพร้อมกับยาง 215/50 R17 และ สีตัวถังใหม่
ส่วนภายใน ยังคงมีเบาะหลังพับได้ 60 : 40 มาให้ตามเดิม สิ่งที่แตกต่างจากรุ่นปกติ ได้แก่ ชุดคอนโซลกลางแบบ 2 ชั้น มีช่องเสียบ USB 2 จุด พร้อมปลั้กไฟ 12V บริเวณชั้นล่าง ส่วนด้านบน จะพบว่าคันเกียร์หายไป แต่ใช้การควบคุมด้วยสวิตช์มือหมุน แบบเดียวกับ Jaguar / Land Rover รุ่นใหม่ๆ พร้อมกันนี้ ยังติดตั้ง เบาะคนขับปรับด้วยสวิตช์ไฟฟ้า 6 ทิศทาง พร้อม Heater อุ่นเบาะ (สำหรับตลาดจีน) พวงมาลัย Multi-Function หุ้มหนัง หลังคา Panoramic Sunroof พร้อมระบบดีดกลับเมื่อมีสิ่งกีดขวาง เครื่องเสียง 6 ลำโพง ระบบปฏิบัติการณ์หลก SAIC 1.0 ควบคุมผ่านจอ Monitor สี Touch Screen ขนาด 8 นิ้ว พร้อมเชื่อมต่อ Bluetooth รวมทั้งระบบปฏิบัติการณ์ ทั้ง Apple Car Play และ Android Auto รวมทั้งแสดงผละระบบนำทางผ่านดาวเทียม GPS Navigation System กล้องมองภาพ สำหรับกะระยะขณะถอยเข้าจอด พร้อม Dynamic Guideline
นอกจากนี้ยังติดตั้งระบบควบคุมความเร็วคงที่และปรับระยะห่างจากรถคันข้างหน้าอัตโนมัติ Adaptive Cruise Control ถุงลมนิรภัย 6 ใบ (คู่หน้า ด้านข้าง และม่านลมนิรภัยทั้ง 2 ฝั่ง) จุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก มาตรฐาน ISOFIX ใบปัดน้ำฝนพร้อม Rain Sensor เพิ่มเบรกมือไฟฟ้า EPB (Electronic Parking Brake) พร้อมระบบ Auto Hold เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน รวมถึงมีที่พักแขนตรงกลางและช่องเก็บของ, ที่วางแก้วน้ำพร้อมฝาเลื่อนเปิด – ปิด และ ช่อง USB เพื่อเสียบชาร์จโทรศัพท์มือถือ สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง เพิ่มมาให้อีกด้วย ตั้งข้อสังเกตว่า งานประกอบจากโรงงานในจีนนั้น เห็นได้ชัดเลยว่า เนี้ยบกว่า ZS เวอร์ชันไทยอย่างชัดเจน!!!
eZS หรือ ZS EV ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า Permanent Magnet Sychronous Motor กำลังสูงสุด 150 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 350 นิวตันเมตร!! (35.66 กก.-ม.) ซึ่งเยอะพอกันกับรถกระบะสมัยใหม่ในบ้านเรา!
ติดตั้งแบตเตอรี่ Lithium-ion จำนวน 3 แผง พร้อมระบบจัดการอุณหภูมิแบตเตอรี ซึ่งพัฒนาโดย SAIC Era Power Battery System ไว้บนบริเวณพื้นตัวถังรถ มี ระบบควบคุมการใช้พลังงานอัจฉริยะ VCU โดยสามารถวิ่งได้เป็นระยะทาง 335 กิโลเมตร (ตามมาตรฐาน NEDC) แต่อย่างไรก็ดี ถ้าหากใช้การวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดไม่เกิน 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทาง MG ระบุว่า ระยะทางที่วิ่งได้จะถูกยืดออกไปเป็น 428 กิโลเมตร เลยทีเดียว
นี่ก็เรื่องปกติของรถยนต์ไฟฟ้าครับ ยิ่งวิ่งเร็วจะยิ่งสิ้นเปลืองแบตเตอรี่ รถสันดาปภายในวิ่งเร็วก็เปลืองกว่าแต่ผลกระทบจากความเร็วจะไม่ชัดเจนเท่ารถยนต์ไฟฟ้า
ปลั๊กชาร์จไฟ ติดตั้งซ่อนอยู่ด้านหลัง สัญลัษณ์ MG บนกระจังหน้ารถ ต้องกดลงไปบนโลโก้ แล้วดึงออกมา ก่อนจะยกขึ้น จะเห็นหัวหัวชาร์จแบบ Type-II และหัวชาร์จแบบ Quick Charge ซ่อนอยู่ สามารถเสียบปลั๊กชาร์จเข้าไปได้ทันที ชาร์จไฟด่วนแบบ Quick Charge 80% ใช้เวลา 30 นาที
พวงมาลัย Rack & Pinion พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงด้วยไฟฟ้า EPS (Electronic Power Steering) ระบบกันสะเทือนหน้า MacPherson Strut ด้านหลังแบบ Torsion Beam ระบบห้ามล้อ เป็นดิสก์เบรก 4 ล้อ คู่หน้า มีครีบระบายอากาศ พร้อมตัวช่วยมาตรฐาน ทั้ง ระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-Lock Braking System) ระบบควบคุมการทรงตัวและเสถียรภาพ ESP (Electronic Stability Program) ระบบเพิ่มแรงเหยียบเบรกในภาวะเฉุกเฉิน เมื่อเบรกกระทันหัน EBA (Electronic Brake Assist) ทำงานร่วมกับระบบควบคุมเสถียรภาพ ESP (Electronic Stability Program) ติดตั้งล้ออัลลอย ขนาด 17 นิ้ว สวมยางขนาด 215/50 R17
เราทดลองจับอัตราเร่ง กันโดยมีผู้เขียน และ Instructor ชาวจีนอีกท่าน น้ำหนักรวม น่าจะอยู่แถวๆ 170 – 180 กิโลกรัม ตามมาตรฐานปกติ ของเรา อุณหภูมิตอนจับเวลา อยู่ที่ 27 – 28 องศา เซลเซียส ลองจับมาทั้ง 2 Mode คือ Normal และ Sport ผลลัพธ์ มีดังนี้
0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
Normal Mode 8.89 วินาที
Sport Mode 8.90 วินาที
80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง
Normal Mode 6.37 วินาที
Sport Mode 6.20 วินาที
ชัดเจนเลยว่า การเปลี่ยนมาใช้มอเตอร์ไฟฟ้า เป็นตัวขับเคลื่อน ทำให้อัตราเร่ง ของ MG ZS เบนซิน 1.5 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะที่เคยอืดอาดถึง 17 วินาที ตามที่เราเคยจับเวลากันไว้ หายไปถึง 10 วินาที! แน่นอนว่า มอเตอร์ไฟฟ้า ก็ให้อัตราเร่งในลักษณะพุ่งแรงตอนออกตัว ข้นไปจนถึงช่วงกลาง แล้วจะเริ่มแผ่วหายเหี่ยวในช่วงปลาย ตามปกติ ของรถยนต์ไฟฟ้าทั่วๆไป เพียงแต่ว่า อัตราเร่งของ ZS EV นั้น ทำได้ดีตามความคาดหมายของผม การใช้ Sport Mode จะมีผลเพียงเล็กน้อย ก็ต่อเมื่อเป็นช่วงเร่งแซง แต่ถ้ากดออกตัวเต็มตีนเมื่อไหร่ ระบบส่งกำลังจะเข้าใจว่า ผู้ขับขี่ต้องการอัตราเร่งทันที จึงเปลี่ยนไปเร่งออกตัวให้เต็มที่ตั้งแต่แรก ดังนั้น ในช่วงออกตัว Normal Mode และ Sport Mode จึงทำผลงานออกมา ไม่แตกต่างกันเลย เต็มที่สุด ก็แค่ 0.01 วินาที
อย่างไรก็ตาม ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อยกเครื่องยนต์ออกไป เปลี่ยนเป็นชุดขุมพลังไฟฟ้า ซึ่งมีน้ำหนักเบากว่า ย่อมส่งผลให้ พวงมาลัย Rack & Pinion พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฟฟ้า EPS (Electronics Power Steering) ให้การตอบสนองที่เบาขึ้นกว่า ZS รุ่นเบนซิน ตามไปด้วยนิดหน่อย
นอกจากพวงมาลัยแล้ว แน่นอนว่า การติดตั้งแบ็ตเตอรีขนาดใหญ่ ทำให้ต้องมีการคำนวนน้ำหนัก และปรับจูนระบบกันสะเทือนเสียใหม่ ส่งผลให้ ช่วงล่างของ ZS EV จะนุ่มนวลกว่า ZS เบนซิน อย่างชัดเจน และให้ความนิ่งขณะขับขี่ในย่านความเร็ว 120 – 130 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยตามไปด้วย เพียงแต่ว่า เวลาเจอทางโค้ง ซึ่งพื้นผิวถนนมีแอ่งเว้าลงไปด้วยนั้น อาการของรถอาจจะมีแกว่งออกข้างบ้างนิดๆหน่อย (ในช่วงความเร็วเข้าโค้ง 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ส่วนการซับแรงสะเทือนในช่วงความเร็วต่ำ ทำได้ดีตามสมควร ตึงตังนิดเดียว แต่บนพื้นผิวแบบเดียวกัน ถ้าใช้ความเร็วสูงขึ้น อาการก็จะคล้ายกับ ZS รุ่นปกติ คืพอมีการสะเทือนเข้ามาให้เจออยู่นิดหน่อย
ส่วนระบบห้ามล้อ เป็นดิสก์เบรก 4 ล้อ พร้อมตัวช่วย ทั้งระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-Lock Braking System) ระบบควบคุมการทรงตัวและเสถียรภาพ ESP (Electronic Stability Program) แป้นเบรก ค่อนข้างเบา แต่ยังดีที่ว่า เซ็ตมาให้มีความต่อเนื่อง Linear ดีพอใช้ได้ เหยียบเท่าไหร่ก็ชะลอให้ตามนั่น ไม่มีระยะโหวง 30% แรก เมื่อ MG / Roewe / Maxus หลายๆรุ่น
กำหนดการเปิดตัวในไทย อาจเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุด ภายในตั้งแต่ช่วงกลางปี 2019 เป็นต้นไป ด้วยค่าตัวที่ทาง MG น่าจะพยายามกดลงมาให้ต่ำกว่า 1.5 ล้านบาท ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ถ้าทำได้ ZS EV จะกลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้า แบบ Passenger Vehicle 5 ที่นั่ง ขนาดมาตรฐาน ขุมพลังไฟฟ้า ที่มีราคาถูกสุดในตลาด ทันที!
– – – – – – – – – – – – – – – – – – – –
ROEWE i5 / MG 5
รถยนต์นั่งกลุ่ม Compact C-Segment ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นเพื่อทำตลาดแทน Roewe 360 (สร้างขึ้นจากโครงสร้างวิศวกรรมของ MG6 Sedan) ที่อยู่ในตลาดมานานตั้งแต่ปี 2015 โดยใช้โครงสร้างตัวถัง Platform และงานวิศวกรรมร่วมกับ Chevrolet Cavalier และ Buick Excelle แต่มีการปรับปรุงดีไซน์ภายนอกให้เหมาะสมกับความเป็นแบรนด์ Roewe เพื่อท้าชนเจ้าตลาดอย่าง Volkswagen Lavida ,Nissan Sylphy และ Toyota Corolla
อย่างไรก็ตาม SAIC มีแผนจะส่งออก Roewe i5 เข้าไปทำตลาดต่างประเทศ นอกเมืองจีนแผ่นดินใหญ่ ภายใต้ชื่อ MG5 นั่นหมายความว่า Sedan คันนี้ จะเข้ามารับหน้าที่บุกตลาดรถยนต์นั่ง Sedan พิกัด B-Segment + (B-C Segment) แทนที่ MG5 รุ่นปัจจุบันนั่นเอง
i5 / MG5 ใหม่ เปลี่ยนรูปแบบตัวถังจาก Fastback 5 ประตู มาเป็น ตัวถัง Sedan 4 ประตู มีความยาว 4,601 มิลลิเมตร กว้าง 1,818 มิลลิเมตร สูง 1,489 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาวถึง 2,680 มิลลิเมตร พื้นที่ห้องเก็บของด้านหลัง ขนาด 512 ลิตร ถังน้ำมัน 45 ลิตร น้ำหนักตัว 1,185 – 1,270 กิโลกรัม ตามแต่ละรุ่นย่อย
การเข้า – ออก จากบานประตูคู่หน้า และหลัง ทำได้ดีขึ้นกว่า MG5 รุ่นปัจจุบันชัดเจน พนักวางแขนบนแผงประตู สามารถวางแขนได้ในระดับพอดี ออกแบบเรียบง่าย
เบาะนั่งหุ้มหนัง ทุกตำแหน่ง เฉพาะเบาะนั่งคนขับ ปรับระดับด้วยสวิตช์ไฟฟ้า ได้ถึง 6 ทิศทาง พร้อมตัวดันหลัง และ Heater อุ่นเบาะคู่หน้า โครงสร้างเบาะ มาในสไตล์นุ่มแน่น แต่ดันช่วงหัวไหล่ทั้งสองฝั่ง คล้าย MG 6 รุ่นเก่า ยังดีที่พนักศีรษะ ไม่ค่อยดันกบาลมากนัก ส่วนเบาะรองนั่ง มีความยาวไม่มาก แต่เฟิร์มกำลังดี
เบาะหลัง มีพนักพิงหลังซึ่งทำมุมเอนเหมาะสม ทว่า แข็งไปหน่อย พนักศีรษะ ติดตั้งเยื้องไปทางข้างหลัง นุ่มแน่นแบบรถยุโรป ส่วนเบาะรองนั่ง นุ่มเกือบแน่นกำลังดี แบบเก้าอี้ผู้บริหาร พื้นที่วางขา เหมาะสม นังไขว่ห้างได้
แผงหน้าปัด ออกแบบในสไตล์ เรียบง่าย ไม่หวือหวา เพราะต้องให้เหมาะสมกับภาพลักษณ์แนวหรูของแบรนด์ Roewe เป็นหลัก ชุดมาตรวัด เป็นแบบ 2 วงกลม มีทั้งแบบเข็ม Analog ตรงกลางเป็นจอ Multi Information Display แสดงข้อมูลอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย และเป็น Trip Computer ขนาด 3.5 นิ้ว และแบบ Digital ซึ่งจะมีจอ MID ขนาดกว้างขึ้นเป็นพิเศษ
เรื่องตลกนิดหน่อย ของ รถคันนี้ ก็คือ ด้วยเหตุที่ แรกเริ่มเดิมที มันมีชื่อว่า Roewe i5 ปรากฎว่า SAIC เขาเปลี่ยนสัญลักษณ์บนกระจังหน้า และฝาท้ายเป็นโลโก้ MG ไปเรียบร้อยแล้ว ทว่า โลโก้บนพวงมาลัย 3 ก้าน หุ้มหนัง พร้อมสวิตช์ Mult Function ยังคงเป็นตรา Roewe อยู่เลย!!! เออ แบบนี้ก็มีแหะ!
อุปกรณ์อำนวยความสะดวก ได้แก่ ไฟหน้า Halogen พร้อมไฟส่องสว่างขณะขับขี่ช่วงกางวัน LED Daytime Running Light ชุดไฟท้ายเป็นแบบ LED รีโมทกุญแจ Keyless Entry พร้อมปุ่ม Push Start เครื่องปรับอากาศแบบ Single Zone Climate Control แต่มาพร้อม Filter กรองฝุ่นได้ถึงระดับ PM 2.5 !! (อย่าลืมว่า ปัญหาฝุ่นควันในจีน ก็รุนแรงไม่แพ้บ้านเราตอนนี้) Sunroof เปิด – ปิด ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า ระบควบคุมความเร็วคงที่อัตโนมัติ Cruise Control ชุดเครื่องเสียง พร้อมจอ Monitor สี Touch Screem ขนาด 10.1 นิ้ว พร้อมระบบ inKa Link แสดงภาพจากกล้องรอบคัน 360 องศา
เครื่องยนต์ มีให้เลือก 2 แบบ คือ รหัส NSE (New Small Engine) เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,498 ซีซี พร้อมระบบแปรผันวาล์ว DVVT (Dual Variable Valve Timing) 88 กิโลวัตต์ หรือ 119 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 150 นิวตันเมตร (15.28 กก.-ม.) ที่ 4,500 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหน้าด้วยเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ หรือ อัตโนมัติอัตราทดแปรผัน CVT วางในรุ่น 1.5 L 4G ทั้ง 6 รุ่นย่อย ตัวเลขจากโรงงาน ทำความเร็วสูงสุด (Top Speed) 185 และ 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง มาตรฐาน NEDC 5.5 ลิตร/100 กิโลเมตร
รุ่นแรงสุด 1.5 T วางเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,498 ซีซี พ่วง Turbocharger Gasoline Injection (TGI) 124 กิโลวัตต์ หรือ 168.64 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 250 นิวตันเมตร (25.47 กก.-ม.) ที่ 1,700 – 4,300 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยเกียร์อัตโนมัติ Dual Clutch TST 7 จังหวะ ตัวเลขจากโรงงาน ทำความเร็วสูงสุด (Top Speed) 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง มาตรฐาน NEDC 5.7 ลิตร/100 กิโลเมตร
ทกรุ่น ใช้พวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน ผ่อนแรงด้วยเพาเวอร์ไฟฟ้า EPS (Electronic Power Steering) ระบบกันสะเทือนหน้าแบบ MacPherson Strut ด้านหลังแบบ Multi-Link ระบบห้ามล้อ เป็นดิสก์เบรก ทั้ง 4 ล้อ เสริมด้วย ระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-Lock Braking System) ระบบควบคุมการทรงตัวและเสถียรภาพ ESP (Electronic Stability Program) ระบบเพิ่มแรงเหยียบเบรกในภาวะเฉุกเฉิน เมื่อเบรกกระทันหัน EBA (Electronic Brake Assist) ระบบช่วยเบรกในขณะเข้าโค้ง CBC (Cornering Brake Control) ทำงานร่วมกับระบบควบคุมเสถียรภาพ ESP (Electronic Stability Program) ระบบรั้งแรงเบรกขณะออกตัวบนทางลาดชัน HHA (Hill Hold Assist) ติดตั้งล้ออัลลอย ขนาด 16 นิ้ว สวมยางขนาด 205/55R16 ที่มาพร้อมกับระบบตรวจจับแรงดันลมยาง TPMS (Tyre Pressure Monitoring System)
MG5 เป็นรถยนต์เพียงรุ่นเดียว ในบรรดา 9 รุ่น ที่ผมไม่ได้จับอัตราเร่งมาให้ เนื่องจาก มีให้ทดลองขับ ในสถานีที่ไม่เหมาะกับการจับเวลาหาอัตราเร่งเลย อย่างไรก็ตาม ในสนาม Go-Racing Track ที่เราได้ลองขับกัน ผมพบว่า อัตราเร่งค่อนข้างเฉยๆ ไม่ถึงกับอืดอาดหรือหน่วงใดๆ ไล่เลี่ยกันกับคู่แข่งในพิกัดใกล้เคียวกัน เพียวแต่บางช่วงที่จะต้องเร่งออกไป Instructor บอกให้ผมเพิ่มคันเร่งอีกนิด ผมได้แต่บอกไปว่่า ผมเหยียบเต็มตีนแล้ว แต่รถมันไม่เร่งเพิ่มให้ มันทำได้แค่เนี้ย! เอาน่า อัตราเร่ง ไม่อืดอาดเท่า MG ZS 1.5 ลิตร ในบ้านเรา ก็แล้วกัน!
การทดลองขับด้วยความเร็วพอสมควร ในสนามที่มีการวางกรวย คล้ายๆ สนาม Gymkhana ทำให้ผมพบว่า พวงมาลัย ในความเร็วไม่เกิน 100 เบาขึ้นกว่า MG5 รุ่นัจจุบัน แต่ยังมีลักษณะในช่วงเริ่มหักเลี้ยวแรกๆ แบบไฟฟ้า เหมือนกัน เพียงแค่ว่า เบาโหวงๆ กว่า พอมีแรงขืนที่มือนิดๆ ทดพวงมาลัยมาใช่ได้ Linear ดี เป็นธรรมชาติคล้ายกับรุ่นเดิม แต่เบากว่า พอให้บังคับเลี้ยวซิกแซกไปมาได้ดี
ช่วงล่าง แตกต่างจากรุ่นเดิมชัดเจน เพราะ MG5 เดิม มีบุคลิกเป็นรถที่หนักแน่น และให้ความมั่นใจได้ดี แต่พอมาถึงรุ่นนี้ ช่วงล่างถูกเซ็ตมาในแนวแน่นและแข็ง ตึงตังเอาเรื่อง แม้จะคล่องแคล่วขึ้น แต่การซับแรงสะเทอนบนพื้นผิวขรุขระนั้น ถ้าขับขี่ไม่เร็วเกิน 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถือว่าโอเค พอจะมีอาการตึงตังโผล่มาบ้าง แต่ถ้าใช้ความเร็ว 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง รูปไปบนพื้นผิวขรุขระ จะไบอาการสะเทือนพอสมควร พูดกันตรงๆก็คือ ผมยังมองว่าช่วงล่างของ MG5 รุ่นปัจจุบัน น่าจะถูกใจคนไทย มากกว่า รุ่นใหม่ที่ผมเพิ่งลงจากรถมานี้แน่ๆ ส่วน แป้นเบรก มีน้ำหนักเบาพอสมควร เบากว่ารุ่นเดิม ระยะเหยียบยาวปานกลาง แต่คุณต้องเหยียบ 30% จึงจะเริ่มสัมผัสถึงแรงเบรกจริงจัง
ถ้า MG เมืองไทย คิดจะเอา MG5 ใหม่ เข้ามาจำหน่ายในบ้านเรา แทนรุ่นปัจจุบัน ซึ่งยอดขายไม่ค่อยดีเท่าที่ควร สิ่งที่ผมขอฝากไว้ก็คือ การเซ็ตช่วงล่าง ให้มีความนุ่มสบาย แน่นหนึ่บกว่านี้อีกสักหน่อย ลดอาการสะท้านของคอพวงมาลัย และช่วงล่างลงกว่านี้อีกหน่อย ไหนๆ ก็อุตส่าห์พยายามออกแบบ Sedan แบบพื้นฐาน ขับขี่ใช้งานในชีวิตประจำวันง่ายดาย และไม่มีปัญหาเรื่องพื้นที่เหนือศีรษะ อยางที่เคยมีใน MG5 รุ่นเดิม จนสำเร็จแล้ว กระนั้น การแข่งขันในตลาด B-Segment Sedan ที่เต็มไปด้วยคู่แข่งจากญีุ่่นยึดหัวหาดนั้น ค่อนข้างเป็นเรื่องยาก หาก MG จะเจาะตลาดโดยไม่มีนวัตกรรมอะไรแปลกใหม่ ใส่มาให้ในรถเลย ระบบ i-Smart ที่มี ก็ยังต้องมีการปรับปรุงทั้งความเสถียร ลูกเล่น การแสดงผล การใช้งาน ฯลฯ อีกพอสมควร
สรุปคือ จะเอาเข้ามาประกอบขาย หรือไม่เอาเข้ามาเลย หนะ ได้ทั้งสิ้น แต่ถ้าคิดจะเอาเข้ามา ก็เหนื่อยหน่อยนะ
– – – – – – – – – – – – – – – – – – – –
MG6
MG6 รุ่นเดิม เคยเป็นรถยนต์รุ่นแรกที่ พวกเขาใช้เปิดตัวเข้าสู่ตลาดประเทศไทย อย่างเป็นทางการ เมื่อ 19 มิถุนายน 2014 หลังจากเริ่มปูพรมโฆษณาประชาสัมพันธ์มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2013 แต่ก็ต้องยอมรับกันตรงๆว่า MG6 รุ่นแรก เต็มไปด้วยข้อเสียนานับประการ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากเครื่องยนต์และระบบส่งกำลัง ไปจนถึงปัญหาคุณภาพด้านการประกอบในยุคแรกๆ ที่พวกเขาเริ่มมาตั้งโรงงานในบ้านเรา
เวลาผ่านไป พวกเขาก็กลับไปปรับปรุง MG6 มาใหม่ และเริ่มเผยภาพถ่ายอย่างเป็นทางการชุดแรก เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2017 ก่อนจะนำไปเปิดผ้าคลุมอย่างเป็นทางการ ในงาน Guangzhou Auto Show 2017 เมื่อเดือน พฤศจิกายน 2017 ที่เมือง กวางโจว ประเทศจีน จากนั้น SAIC ก็เริ่มทะยอยส่ง MG6 เข้าไปจำหน่าย ในหลายประเทศที่พวกเขาเพิ่งเริ่มรุกเข้าไปเปิดตลาดใหม่ โดยล่าสุด ก็คือ Philippines
MG6 ใหม่ ลดจำนวนตัวถังให้เลือก จากเดิมซึ่งเคยมีทั้ง Sedan 4 ประตู และ Fastback 5 ประตู จนมีเหลือให้เลือกเพียงตัวถังเดียว คือ Fastback 5 ประตู มีขนาดตัวถัง ยาว 4,695 มิลลิเมตร กว้าง 1,848 มิลลิเมตร สูง 1,462 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,715 มิลลิเมตร
หากเปรียบเทียบกับ MG6 รุ่นเดิมซึ่งมีความยาว 4,653 มิลลิเมตร กว้าง 1,827 มิลลิเมตร สูง 1,467 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,705 มิลลิเมตร จะพบว่า MG6 ใหม่ ยาวขึ้น 42 มิลลิเมตร กว้างขึ้น 21 มิลลิเมตร เตี้ยลง 5 มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อ ยาวขึ้น 10 มิลลิเมตร
การเข้า – ออกจากห้องโดยสาร ด้านหน้า ต้องทำใจว่า หากไม่ปรับเบาะนั่งกดลงต่ำสุด หรือเลื่อนถอยหลังไป โอกาสที่ศีรษะจะโขกกับเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ยังพอมีเหลืออยู่ พนักวางแขนบนแผงประตูคู่หน้า สามารถวางแขนได้ดี
เบาะนั่งด้านหน้า เป็นแบบสปอร์ต ปรับตำแหน่งด้วยสวิตช์ไฟฟ้าได้ 6 ทิศทาง และมีก้านดันหลังมาให้ เฉพาะฝั่งผู้ขับขี่ พนักพิงหลังค่อนข้างแข็งเฉพาะบริเวณตรงกลาง ปีกข้างรองรับสรีระพอใช้ได้ พนักศีรษะ พอจะดันกบาลอยู่นิดหน่อย ในระดับที่พอรับได้ เบาะรองนั่ง สั้น แต่แน่นแอบนุ่มนิดๆ ข้อด้อยสำคัญก็คือ พื้นที่เหนือศีรษะรวมทั้งระยะห่างจาก สายตา จนถึงแผงบังแดดหน้า ค่อนข้างน้อยมาก หัวผมเกือบชนเพดานหลังคาเลยทีเดียว
การเข้าออกจากบานประตูคู่หลังทำได้ดีกว่ารุ่นเดิมชัดเจน ส่วนเบาะหลัง มาในแนวแข็ง แอบนุ่มนิดเดียว พนักพิงหลัง มีมุมเอนเยอะกว่า คันอื่นๆ รวมทั้ง MG5 คาดว่าน่าจะมาจากการออกแบบเผื่อให้มีพื้นที่เหนือศีรษะเยอะขึ้น พนักวางแขนทั้งแบบพับเก็บได้ กับบนแผงประตู วางแขนได้ดีในตำแหน่งเหมาะสม พนักศีรษะ ค่อนข้างแข็ง ส่วนเบาะรองนั่ง แน่น แต่ยาวมาก ยาวถึงขาพับเลยทีเดียวพื้นที่วางขา ยังไม่ถึงขั้น D Segment รุ่นใหม่ๆ อย่าง Camry หรือ Accord แต่ก็ มีพอให้นั่งไขว่ห้างได้ ส่วน พื้นที่้หนือศีรษะ แม้จะไม่เฉี่ยวชนเพดาน แต่ก็เหลือพื้นที่น้อยมากๆ
แผงหน้าปัดออกแบบขึ้นใหม่ น่าใช้กว่าเดิม ดูหรูและสปอร์ตไปพร้อมๆกัน มีวัสดุบุนุ่มหุ้มหนังสีเดียวกับเบาะ ติดตั้งมาให้ยาวตั้งแต่เหนือแผงควบคุมกลาง ไปจนถึงช่องแอร์ฝั่งผู้โดยสาร ด้านขวา ลากลงมาล้อมกรอบฐานรองคันเกียร์ พวงมาลัยแบบ 3 ก้าน หุ้มหนัง จับกระชับมือ มากขึ้นพร้อมสวิตช์ Multi Function บนก้านพวงมาลัยทั้ง 2 ฝั่ง
ชุดมาตรวัดแบบใหม่ Partial Visual Instrument มีหน้าจอ Infomation System ขนาดใหญ่ เข็มวัดความเร็วฝั่งซ้าย กับเข็มวัดรอบ ฝั่งขวา ยกขึ้นคนละฝั่งตรงกันข้าม ซึ่งงานออกแบบนี้ มีมาก่อนหน้า BMW แล้วอย่างน้อยก็ เกือบ 2 ปี!!
อุปกรณ์มาตรฐานที่ควรรู้ ก็คือ มีระบบกุญแจ Keyless Entry พร้อมปุ่ม Push Start เครื่องปรับอากาศแบบอัตโนมัติ แยกฝั่ง Dual Zone Climate Control จอ Monitor สี แบบ Touch Screen ขนาด 8 นิ้ว แสดงผลได้ทั้งเครื่องปรับอากาศ ชุดเครื่องเสียง และกล้องมองหลัง พร้อมกับ Dynamic Guideline และ Sunroof เปิด – ปิดได้ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า พร้อมแผงบังแดดแบบแข็ง
MG6 มีขุมพลังให้เลือก 2 แบบ ทั้งคู่ ถูกพัฒนาขึ้นใหม่ ให้แตกต่างจาก เครื่องยนต์ใน MG6 รุ่นเดิมที่เคยทำตลาดในบ้านเราทั้งสิ้น
เริ่มด้วย เครื่องยนต์เบนซิน รหัส 15E4E 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว ขนาด 1,498 ซีซี Direct Injection พ่วง Turbocharger (TGI) กำลังสูงสุด 169 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิด สูงสุด 250 นิวตันเมตร ที่ 1,700 – 4,400 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ และ เกียร์อัตโนมัติ Dual Clutch 7 จังหวะ TST คันเกียร์แบบมาตรฐาน
อีกรุ่นหนึ่ง เป็น eMG6 วางขุมพลังแบบ PHEV (Plug-in Hybrid) ประกอบด้วย เครื่องยนต์เบนซิน รหัส 10E4E 3 สูบ DOHC 12 วาล์ว ขนาด 1.0 ลิตร พ่วง Turbocharger 125 แรงม้า (PS) ที่ 5,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 170 นิวตันเมตร (17.32 กก.-ม.) ที่ 2,000 – 4,700 รอบ/นาที ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า EDU ของ SAIC ที่ให้กำลังสูงสุด 81 แรงม้า (PS) แรงบิด 380 นิวตันเมตร เมื่อรวมทั้งระบบแล้ว กำลังสูงสุดจะอยู่ที่ 228 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุดถึง 622 นิวตันเมตร ! (63.38 กก.-ม.) สามารถเสียบปลั๊กชาร์จไฟ Plug-in Hybrid ได้ คันเกียร์เป็นแบบ มือหมุน เหมือน Jaguar XF ตัวเลขจากโรงงาน อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 7.9 วินาที อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 1.5 ลิตร/100 กิโลเมตร
พวงมาลัยแบบ Rack & Pinion พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงด้วยไฟฟ้า EPS (Electric Power Steering) ระบบกันสะเทือนหน้า MacPherson Strut ด้านหลังเป็นแบบ Blade Type Multi-Link ระบบห้ามล้อ เป็นดิสก์เบรก 4 ล้อ ส่วนเบรกมือเป็นสวิตช์ไฟฟ้า EPBI (Electronic Parking Brake Intelligent) เสริมด้วยระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-Lock Braking System) ระบบควบคุมการทรงตัวและเสถียรภาพ ESP (Electronic Stability Program) พร้อมระบบตรวจจับแรงดันลมยาง TPMS (Tyre Pressure Monitoring System) รถคันที่เราทดลองขับ สวมล้ออัลลอย 18 นิ้ว พร้อมยาง Bridgestone Turanza T005A ขนาด 225/45R18
MG6 รุ่นที่เราได้ลองขับนั้น เป็นเครื่องยนต์ เบนซิน Turbo ธรรมดา ไม่ใช่รุ่น PHEV อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก MG6 มีจังหวะให้เราจับเวลา ได้แค่เฉพาะช่วงขากลับจาก Skid pad มายังเต๊นท์ที่พักของคณะสื่อมวลชน ดังนั้น เราจึงทดลองจับเวลาได้เพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น ภายใต้อุณหภูมิ 27 องศาเซลเซียส โดยมีผม (107 กิโลกรัม) และ Instructor ของเรา คือ คุณ Leslie น้ำหนักตัว 65 กิโลกรัม รวม 2 คน เปิดเครื่องปรับอากาศ ตัวเลขอัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทำได้ในเวลา 10.05 วินาที ซึ่งแน่นอนว่า ทำตัวเลขได้ดีกว่ารุ่นเดิม
การตอบสนองของเครื่องยนต์และระบบส่งกำลังในเบื้องต้น กระฉับกระเฉงกว่ารุ่นเดิมชัดเจนมาก แก้ไขปัญหาจากรุ่นเดิม ได้ดีขึ้น กระนั้น ยังมีอาการหน่วงช่วงออกตัวนิดนึง แต่ภาพรวม ผมมองว่า สมองกลเกียร์ ก็ยังคงเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การตอบสนองของเครื่องยนต์ ยังไปไม่สุด และยังสามารถรีดเค้นออกมาได้ดีกว่านี้อีก
พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า มีน้ำหนักค่อนข้างเบาในช่วงหักเลี้ยว 25% แรก จากนั้นจึงจะเริ่มมีแรงต้านที่มือเพิ่มเข้ามาให้สัมผัส แต่ภาพรวมแล้ว ยังตอบสนองไม่ถึงกับเป็นธรรมชาติมากนัก เมื่อเทียบกับ MG5 ซึ่งควบคุมบังคับเลี้ยวได้ง่าย ต่อเนื่อง และเป็นธรรมชาติกว่า
ช่วงล่าง เซ็ตมาให้เหมาะสม ในสไตล์ หนักแน่น แต่ด้วยโครงสร้างตัวถังที่เบาขึ้น แน่นหนาขึ้น ช่วยให้การควบคุมอาการทำได้ดีขึ้นกว่ารถรุ่นเดิม ส่งผลให้การเกาะถนนในขณะเข้าโค้งด้วยความเร็วสูง ทำได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับ MG6 รุ่นเดิม ส่วนแป้นเบรกมีระยะเหยียบปานกลาง น้ำหนักและความหนืดอยู่ในระดับพอใข้ได้
ยังไงๆ MG6 ใหม่ ก็จะถูกส่งเข้ามาทำตลาดในบ้านเราแน่ๆ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะมาในรูปแบบของเครื่องยนต์ เบนซิน Turbo หรือมาในฐานะ รถเก๋ง PHEV สิ่งที่ MG จะต้องทำใจล่วงหน้าก็คือ ตลาดกลุ่ม D-Segment ในตอนนี้ แม้จะเหลือผู้เล่นอยู่เพียงแค่ Toyota Camry , Honda Accord และ Nissan Teana (ซึ่งก็ใกล้จะยุติการจำหน่ายเต็มทีแล้ว) แต่ทั้ง 3 คัน ก็ถือเป็นเจ้าตลาด ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา MG 6 รุ่นแรก เอง ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากคุณภาพตัวรถ และเครื่องยนต์กับระบบส่งกำลัง ที่ยังไม่ได้เรื่องได้ราวในตอนนั้น
แม้ว่าในตอนนี้ MG6 ใหม่ จะถูกปรับปรุงให้ดีขึ้น มีเส้นสายครึ่งคันหน้า ที่สวยงามและมีเอกลักษณ์มากขึ้นกว่าเดิม ทว่า งานออกแบบด้านท้าย ที่มาในสไตล์ Fastback 5 ประตู รวมทั้งชื่อชั้นของแบรนด์ MG นั้น ก็ยังคงเป็นจุดที่ทำให้ผมเป็นห่วงว่า ยอดขายอาจจะไม่ได้เยอะมากมายเท่าที่ควร เพียงแต่ว่า ถ้ามาเพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เป็นสีสันให้กับตลาด และเติมเต็มโชว์รูม MG ให้มีรุ่นรถยนต์ที่หลากหลายขึ้น หวังยอดขาย หลัก 1,000 – 2,000 คัน/ปี ก็ยังพอไหว แต่ถ้าอยากจะขายมากกว่านี้ ก็คงต้องทำการบ้านกับการปรับเซ็ตตัวรถ เพิ่มมากกว่านี้อีกสักหน่อย จึงจะทำให้ MG6 ใหม่ สมบูรณ์พอที่จะฟัดเหวี่ยงกับคู่แข่งจากญี่ปุ่นได้
– – – – – – – – – – – – – – – – – – – –
MG HS
C-Segment Crossover SUV รุ่นใหม่ ที่ถูกส่งเข้ามาทำตลาดทั้งในจีน และทั่วโลก ในฐานะ รุ่นเปลี่ยนโฉม Full Model Change ของ MG GS ซึ่ง เปิดตัวในตลาดโลกไปได้ไม่นาน และมี ยอดขายที่ไม่ดีเท่าที่ควร โดยชื่อรุ่น HS ย่อมาจากคำว่า Hormones และ Sense สามารถตีความได้ว่า มันเป็นรถยนต์ Crossover SUV ขนาดกลาง ที่สะท้อนถึงพลังของความเยาว์วัย ความน่าหลงใหล มอบประสบการณ์การขับขี่จากประสาทสัมผัสหลายมิติ
HS มีขนาดตัวถัง ยาว 4,574 มิลลิเมตร กว้าง 1,876 มิลลิเมตร สูง 1,664 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,720 มิลลิเมตร ถ้าเปรียบเทียบกับ MG GS รุ่นเดิม ซึ่งมีความยาว 4,500 มิลลิเมตร กว้าง 1,855 มิลลิเมตร ความสูง ตั้งแต่ 1,665 และ 1,699 มิลลิเมตร ตามแต่ละรุ่นย่อย ระยะฐานล้อ 2,650 มิลลิเมตร จะพบว่า HS ใหม่ มีขนาดตัวถังไล่เลี่ยกับ GS รุ่นเดิมพอสมควร ทั้งความยาวเพิ่มขึ้นจาก GS แค่ 74 มิลลิเมตร กว้างขึ้น 21 มิลลิเมตร สูงเท่ากับรุ่นเดิม ต่างกันแค่ 1 มิลลิเมตร แต่ระยะฐานล้อ ยาวขึ้น 70 มิลลิเมตร
เส้นสายภายนอก ถูกปรับปรุงเสียจนสวยงาม และแทบจะหาข้อตำหนิใดๆไม่ได้เลย เพรามันดูลงตัวได้สัดส่วน ไปหมด ชุดไฟหน้า และไฟท้ายเป็นแบบ Full LED ล้ออัลลอยขนาด 18 นิ้ว สวมด้วยยาง 235/50 R18 ตกแต่งคาลิเปอร์เบรกด้วยสีแดงจากโรงงาน
การเข้า - ออกจากบานประตูคู่หน้า อาจต้องใช้ความระมัดระวังนิดนึง ขึ่นอยู่กับว่าคุณปรับตำแหน่งเบาะคู่หน้าถอยหลังไปมากน้อยแค่ไหน ตำแหน่งเบาะนั่งอยู่สูงกว่ารถเก๋งทั่วไปนิดหน่อย ตามประสา SUV พนักวางแขน ทั้งบนแผงประตู และกล่องคอนโซลกลาง วางได้พอดี แต่อาจจะมีปีกเบาะด้านข้าง ขัดข้อศอกนิดๆ
เบาะนั่งคู่หน้าออกแบบสไตล์รถสปอร์ต หุ้มด้วยหนัง ตัดสลับกับ สักกะหลาดสังเคราะห์ Alcantara สีดำ ปรับระดับได้ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า 6 ตำแหน่ง มีปีกเบาะที่โอบสรีระผู้ขับขี่ช่วงบริเวณสีข้างได้ดีมากๆ ส่วนช่วงหัวไหล่ ก็เสริมปีกข้าง เล็กๆ พอให้รู้สึกว่ามีอินทธนู เสริมมาให้ การรองรับช่วงกลางหลังทำได้ดี แน่นแอบนุ่มนิดๆ แต่พนักศีรษะ ที่ออกแบบมาเป็นชิ้นเดียวกับพนักพิงหลังนั้น แข็งมากและดันกบาลไปหน่อย เป็นสิ่งเดียวที่ผมมองว่าควรปรับปรุงใน HS คันนี้ ขณะที่ เบาะรองนั่ง มีความยาวเหมาะสม เพราะยาวถึงขาพับ แถมมีปีกเบาะด้านข้างเสริมขึ้นมานิดหน่อย พอจะให้สัมผัสคล้ายนั่งบนเบาะรถแข็งอยู่บ้าง
การเข้า ออกจากบานประตูคู่หลัง ทำได้ดี กระจกหน้าต่างไฟฟ้าเป็นแบบ อัตโนมัติทั้ง 4 บาน พนักวางแขนบนแผงประตู และพนักวางแขนแบบพับเก็บได้ อยู่ในตำแหน่งเหมาะสม วางได้สบายทั้งท่อนแขน
เบาะหลังมาในสไตล์ แน่น นุ่มกำลังดี พนักพิงหลังมีมุมเอนเหมาะสม ปรับเอนได้หลายระดับ เบาะรองนั่ง มาในสไตล์ แน่น นุ่ม มีความยาวในระดับพอๆกันกับ SUV ทั่วๆไป คือ ไม่สั้นไม่ยาวมากนัก และมีมุมเงยกำลังดี พื้นที่เหนือศีรษะเหลืออยู่ 4 นิ้วมือในแนวนอน แต่ พื้นที่วางขา มีเพียงพอให้วางขาได้สบาย แต่อาจจะไม่เยอะนัก การนั่งไขว่ห้าง อาจลำบากนิดนึง
แผงหน้าปัดออกแบบใหม่ จนดูแตกต่างไปจาก MG ทุกคันที่เคยผลิตออกจำหน่าย พร้อมมาตรวัดแบบ Partial Visual Instrument อุปกรณ์พิเศษ หลักๆ ของ HS ก็คือ มีระบบกุญแจ Keyless Entry พร้อมปุ่ม Push Start ฝาท้ายไฟฟ้า พร้อมระบบ “เตะใต้กันชนหลัง” เพื่อ เปิด-ปิดฝาท้าย เครื่องปรับอากาศแบบอัตโนมัติ แยกฝั่ง Dual Zone Climate Control จอ Monitor สี แบบ Touch Screen ขนาด 10.1 นิ้ว แสดงผลได้ทั้งเครื่องปรับอากาศ ชุดเครื่องเสียง เสริมด้วยระบบ Apple Car Play (คาดว่าถ้ามาถึงเมืองไทย คงหนีไม่พ้นว่าจะต้องติดตั้งระบบ i-Smart เวอร์ชันไทยด้วยแน่ๆ) พร้อมกล้องรอบคัน 360 องศา ระบบควบคุมความเร็วคงที่และเว้นระยะห่างจากรถคันข้างหน้าอัตโนมัติ Adaptive Cruise Control หลังคากระจก เปิด-ปิดได้ด้วสวิตช์ไฟฟ้า Panoramic Sunroof พร้อมระบบ Anti-Pinch แต่สำหรับลูกค้าชาวจีน จะพิเศษกว่า เพราะมีชุดเครื่องเสียงชั้นดี 6 ลำโพง จาก BOSE มาให้เลือกติดตั้งได้เป็นพิเศษอีกด้วย
ด้านขุมพลัง มีเครื่องยนต์ให้เลือก 2 ระดับความแรง ล้วนแล้วแต่ยกมาจาก MG GS ทั้งคู่ เพียงแต่อาจมีการปรับปรุงสมรรถนะเล็กน้อย ดังนี้
–รุ่น 20T เป็นขุมพลังเบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,490 ซีซี Direct Injection พ่วง Turbocharger กำลังสูงสุด 169 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 250 นิวตันเมตร (25.47 กก.-ม.) ที่ 1,700 – 4,400 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ Dual Clutch 7 จังหวะ และระบบขับเคลื่อนล้อหน้า
–รุ่น 30T วางขุมพลัง เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,995 ซีซี Direct Injection พ่วง Turbocharger กำลังสูงสุด 231แรงม้า (PS) ที่ 5,300 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 350 นิวตันเมตร (36.68 กก.-ม.) ที่ 2500 – 4,000 รอบ/นาที โดยจะมีระบบขับเคลื่อนสี่ล้อให้เลือก จับคู่เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ และ เกียร์อัตโนมัติ Dual Clutch 6 จังหวะ
พวงมาลัยแบบ Rack & Pinion พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงด้วยไฟฟ้า EPS (Electric Power Steering) ระบบกันสะเทือนหน้า MacPherson Strut ด้านหลังเป็นแบบ Multi-Link ระบบห้ามล้อ เป็นดิสก์เบรก 4 ล้อ ส่วนเบรกมือเป็นสวิตช์ไฟฟ้า EPBI (Electronic Parking Brake Intelligent) เสริมด้วยระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-Lock Braking System) ระบบควบคุมการทรงตัวและเสถียรภาพ ESP (Electronic Stability Program) พร้อมระบบ ADAS และ ระบบตรวจจับแรงดันลมยาง TPMS (Tyre Pressure Monitoring System)
เราลองจับเวลา หาอัตราเร่ง โดยมี ผู้เขียนเป็นผู้ขับ และ Instructor ชาวจีนนั่งไปด้วย น้ำหนักประมาณ 65 กิโลกรัม อุณหภูมิภายนกรถประมาณ 27 – 28 องศาเซลเซียส กดจับเวลาเพียงอย่างละครั้ง ตัวเลขที่ได้ มีดังนี้
0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทำได้ใน 10.22 วินาที
80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทำได้ใน 6.37 วินาที
การตอบสนองด้านอัตราเร่ง มีนิสัยเหมือน MG GS 2.0 Turbo แม้กระทั่งอาการ อมกำลัง ในจังหวะออกตัว แต่พอไต่ขึ้นไป.สัมผัสได้ว่าเกียร์ทำงานราบรื่นขึ้นกว่า GS 2.0 Turbo เดิม นิดหน่อย การไต่ความเร็ว เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และเริ่มแผ่วในช่วงหลังจาก 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง เราลองขึ้นไปได้ถึง 150 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก่อนจะสุดทางตรง และต้องเลี้ยวกลับเข้าจุดพักรถ
พวงมาลัย มีน้ำหนักเบาในความเร็วต่ำ แต่หนืดกำลังดีในความเร็วสูง อัตราทดกำลังดี ตอบสนองดีขึ่น ให้ความต่อเนื่องในการหมุนและเป็นธรรมชาติมากขึ้น เมื่อเทียบกับ GS เดิม
ช่วงล่าง เฟิร์มขึ้นตามความคาดหมาย นุ่มและแน่นในแบบที่หลายๆคนน่าจะชอบกันแน่ๆ ต่อให้เข้าโค้งด้วยความเร็วสูง ที่มีแอ่งอยู่กลางโค้ง การควบคุมอาการของ ตัวถังก็ยังทำได้ดีอยู่ อย่างไรก็ตาม ถ้าเจอพื้นถนนที่มีแนวขรุขระถี่ๆ ก็ยังพอมีอาการสะเทือนให้เจออยู่ และแกนพวงมาลัยก็บังมีอาการสะท้านเล็กๆขึ้นมาอยู่บ้าง
แป้นเบรกมีระยะเหยียบปานกลาง เหยียบลงไป 30% จึงจะเริ่มสัมผัสถึงแรงหน่วงที่ชัดเจน แต่เมื่อกระทืบเบรกลงไปเต็มตีนจน ABS จะทำงาน แป้นเบรกจะพยายามดันตัวขืนเท้าคนขับกลับขึ้นมาค่อนข้างเยอะกว่า MG / Roewe / Maxus คันอื่นๆ ที่ลองขับกันอยู่นิดหน่อย
ภาพรวม ผมมองว่า นี่คือ MG ที่น่าจะมีเรื่องให้ผมบ่นน้อยที่สุด ในรอบ 5-6 ปี ที่พวกเขาเริ่มเข้ามาผลิตรถยนต์ จำหน่ายในประเทศไทย ได้แต่หวังว่า การตั้งราคาอย่างเหมาะสม ในระดับ เท่ากันกับ MG GS 2.0 Turbo รุ่นปัจจุบัน ด้วยเส้นสายของรถคันจริง ที่สวยงาม และน่าใช้ยิ่งกว่า GS เดิม น่าจะช่วยให้ HS ได้รับความนิยมอย่างแน่นอน!
– – – – – – – – – – – – – – – – – – – –
ROEWE RX8 / MG RX8
แม้จะใช้ชื่อชวนให้นึกถึง รถสปอร์ตบานประตูตู้กับข้าวจาก Mazda แต่นี่คือ Mid-Size SUV ขนาดกลาง ของ SAIC สำหรับแบรนด์ Roewe ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนพื้นตัวถัง (Platform) เดียวกับ Maxus D90 เพื่อทำตลาดแทน Roewe W5 (Ssangyong Kyron เวอร์ชันเปลี่ยนตราใหม่ ขายเฉพาะเมืองจีน) SAIC เผยภาพถ่ายแรกของ RX8 เมื่อ 28 มกราคม 2018 ก่อนนำไปเปิดตัวในงาน Bejing Auto Show เมื่อ 27 มีนาคม 2018 และทำตลาดภายใต้แบรนด์ Roewe เป็นหลัก จนกระทั่ง ปี 2019 พวกเขาถึงเริ่มเตรียมการนำ Roewe RX8 ส่งไปจำหน่ายในตลาด ตะวันออกกลาง และ UAE โดยเปลี่ยนแบรนด์ และสัญลักษณ์รอบคัน เป็น MG RX8
ตัวถังยาว 4,923 มิลลิเมตร กว้าง 1,930 มิลลิเมตร ยาว 1,840 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,850 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นถนนจนถึงพื้นใต้ท้องรถ (Ground Clearance) 202 มิลลิเมตร ถังน้ำมัน 70 ลิตร รูปลักษณ์ภายนอก ดูเรียบหรู แต่มีบ่าข้าง ที่เสริมความบึกบึนเพิ่มขึ้นจากเส้นสายที่ เรียบง่าย ดูไปดูมา ถ้าเอาสัญลักษณ์ VW มาใส่ ผมก็เชื่อได้สนิทใจว่าเป็นผลงานของ Volkswagen ทั้งที่จริงๆแล้ว ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกันกับค่ายเยอรมันเขาเลย
การเข้า – ออกจากรถ ทั้งคู่หน้าละคู่หลัง ทำได้สะดวกสบายกว่า BMW X5 รุ่นล่าสุด! สมกับที่มีบานประตูและช่องทางเข้า -ออก ขนาดใหญ่ กระจกหน้าต่างเลื่อนขึ้น – ลงด้วยสวิตช์ไฟฟ้า พร้อมระบบ Auto One Touch (กดกระจกลงสุด หรือยกกระจกขึ้นสุด เพียงครั้งเดียว) ทั้ง 4 บาน
เบาะนั่งคู่หน้า หุ้มด้วยหนัง เกรดดีกว่าที่คิด ปรับตำแหน่งได้ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า พร้อมหน่วยความจำตำแหน่งเบาะและกระจกมองข้างปรับ/พับด้วยไฟฟ้า รวม 2 ตำแหน่ง แถมมีระบบอุ้นเบาะ และพัดลมระบายความร้อนของเบาะมาให้ พนักพิงหลัง ให้สัมผัสที่เทียบชั้นกับ SUV ระดับ Premium Brand ได้เลยทีเดียว ฟองน้ำในชุดโครงสร้างเบาะ มาในสไตล์ นุ่มแอบแน่น นั่งสบาย พอจะมีปีกข้างเสริมเข้ามาให้กระชับลำตัวนิดๆ ไม่มากนัก เบาะรองนั่งยาวกำลังดี และนุ่มแอบแน่นใช้ได้
เบาะหลังแถว 2 มีมุมองศาของพนักพิงลังที่เหมาะสม ฟองน้ำ แน่นแต่แอบนุ่มกำลังดี พนักวางแขนพับเก็บได้ อยู่ในตำแหน่งสูงไปนิด แต่พนักวางแขนที่แผงประตู เตี้ยไปนิดเดียว พนักศีรษะ นุ่มสบาย แบบรถหรูจากยุโรป เบาะรองนั่ง นุ่มสบาย แต่สั้นไปแค่นิดเดียว พื้นที่วางขา เยอะ นั่งไขว่ห้างได้ถึง 2 ห้าง ส่วนพื้นที่เหนือศีรษะ เหลือเยอะประมาณ 3 นิ้วมือแนวนอน
ภายในห้องโดยสารเต็มไปด้วยอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากมาย อาทิ กุญแจรีโมท Keyless Entry ทำงานร่วมกับ ปุ่ม Push Start และฝาท้าย เปิด – ปิด ด้วยระบบไฟฟ้า Power Tail Gate , พวงมาลัยทรง Premium จับกระชับมือ พร้อม Heater อุ่นวงพวงมาลัยในตัวิ แท่นชาร์จโทรศัพท์เคลื่อนที่ไร้สาย Wireless Charger เครื่องปรับอากาศ แยกฝั่งซ้าย – ขวา Dual Zone Climate Control พร้อมแผงสวิตช์ควบคุมอุณหภูมิ สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง ,ชุดเครื่องเสียงแบบ 8 ลำโพง ควบคุมผ่านหน้าจอมอนิเตอร์ ส Infotainment Touch Screen ขนาด 10.1 นิ้ว กระจกมองหลัง ECM Rear View Mirror ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังติดตั้งสารพัดระบบความปลอดภัยต่างๆ ทั้งถุงลมนิรภัย 6 ใบ ระบบควบคุมเสถียรภาพ ESP (Electronic Stability Programme) พร้อม Traction Control ระบบ เตือนยานพาหนะที่แล่นมาด้านข้างขณะเปลี่ยนเลน LDW (Lane Departure Warning) , ระบบควบคุมความเร็วคงที่ แปรผันตามระยะห่างรถคันข้างหน้าอัตโนมัติ Active Cruise Control , ระบบ Active Electronic Braking , ระบบเบรกเองอัตโนมัติ Forward Collision Warning กล้อง 8 ตัว รอบคัน 360 องศา ฯลฯ อีกมากมาย
เครื่องยนต์ รหัส NLE 2.0 T เป็นแบบ เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2.0 ลิตร Direct Injection พ่วง Turbocharger 165 กิโลวัตต์ หรือ 224 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 360 นิวตันเมตร (36.68 กก.-ม.) ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ เพียงแบบเดียว พร้อมแป้นเปลี่ยนเกียร์ หลังพวงมาลัย Paddle Shift มีให้เลือกทั้งระบบขับเคลื่อน 2 ล้อ และระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ อัตโนมัติ 4WD ตัวเลขจากโรงงาน ทำอัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ในเวลา 9.1 วินาที อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 9.1 ลิตร/100 กิโลเมตร
พวงมาลัย Rack & Pinion พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงด้วยไฟฟ้า EPS ระบบกันสะเทือนหน้าแบบปีกนกคู่ Double Wishbone ด้านหลังแบบ Multi-Link ระบบห้ามล้อ เป็นดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ คู่หน้ามีครีบระบายความร้อน พร้อมระบบเบรกมือไฟฟ้า Automatic Parking Brake พ่วงตัวช่วยมาตรฐาน ทั้งระบบ ป้องกันล้อล็อกขณะเบรกกระทันหัน ABS (Anti-lock Braking System) ระบบกระจายแรงเบรกตามน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronic Brakeforce Distribution) ระบบ เพิ่มแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน Brake Assist ระบบออกตัวบนทางลาดชัน Hill Start Assist ระบบคลานลงมาตามทางลาดชัน Hill Descent Control ระยะเบรกจาก 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง จนหยุดนิ่ง อยู่ที่ 38 เมตร
เราทดลองจับเวลา หาอัตราเร่งกัน โดยมีผม และ Instructor ชาวจีน รวม 2 คน อุณหภูมิตอนจับเวลา อยู่ที่ 27 – 28 องศาเซลเซียส กดจับเวลา หัวข้อละ 1 ครั้ง ตามเท่าที่เวลาและสภาพเส้นทางจะอำนวย ผลลัพธ์ที่ได้มีดังนี้
0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทำได้ใน 11.31 วินาที
80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทำได้ใน 7.83 วินาที
ตัวเลขออกมา ดีกว่าที่คิดไว้ แน่นอนว่า ในการขับขี่จริง เครื่องยนต์ เองก็ให้การตอบสนองที่ดีพอสมควร ช่วงอัตราเร่งที่มีพละกำลังเต็มที่ จะเริ่มตั้งแต่ราวๆ 2,300 รอบ/นาที ขึ้นไป เกียร์ทำงานราบรื่น เปลี่ยนเกียร์ได้นุ่มนวลกว่าที่คิด
พวงมาลัยกระชับ ในช่วงความเร็วต่ำ มีน้ำหนักหนืดกำลังดี ไม่เบาอย่างที่คิด แต่ช่วงหักเลี้ยวแรกๆ แอบไวอยู่เหมือนกัน พอใช้ความเร็วสูง On-Center feeling ถือว่า ทำได้ดี เซ็ตมากลางๆ ให้เหมาะสมกับ SUV คันใหญ่
ส่วนช่วงล่างในความเร็วต่ำ สะเทือนคล้าย SUV/PPV ที่เซ็ตช่วงล่างมาแข็งไปหน่อยในช่วงความเร็วต่ำ ถ้าใช้ความเร็วประมาณ 60 บนพื้นขรุขระ (บนสะพานสูงในสนามทดสอบ) ช่วงล่างจะทำให่รถมีอาการดิ้นออกข้าง ซึ่งไม่ควรมีอาการแบบนี้ แต่พอเข้าสู่สนามทดสอบที่แล่นด้วยความเร็วสูง ตัวรถกลับนิ่งสนิทใช้ได้ และให้ความไว้ใจได้ดีพอสมควร Body Control ทำได้กลางๆ ค่อนข้างดี
แป้นเบรก ระยะเหยียบค่อนข้างยาว พอเหยียบลงไปในช่วง 50% หรือ ครึ่งแรก แป้นเบรก เบามากกกกกก เบาจนตกใจว่า เบรกหายหรือเปล่า ต้องเหยียบลงไปถึงครึ่งหนึ่ง จึงจะสัมผัสได้ถึงแรงเบรกที่หน่วงรถเพิ่มขึ้น จุดนี้ เป็นประเด็นสำคัญที่ผมเห็นว่า “ควรปรับปรุง” อย่างน้อยๆ ก็เพิ่มแรงต้านเท้าที่เบรกขึ้นมาอีกสักหน่อย และอันที่จริง คุณควรเอาแป้นเบรก ของ Subaru Forester รุ่นล่าสุด เป็น Benchmark ในการปรับแต่งการตอบสนองของแป้นเบรก อีกทั้งระยะเบรกจากความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง จนถึงจุดหยุดนิ่ง ก็ควรจะสั้นลงกว่านี้ อย่างน้อยๆ ก็ควรลดลงมาอยู่แถวๆ 36 เมตร ให้พอจะไล่เลี่ยกับ Mitsubishi Pajero Sport หรือ Toyota Fortuner ก็ยังดี
สรุปแล้ว เท่าที่ลองขับมาในเบื้องต้น จุดที่ควรปรับปรุง มีเพียงแค่เรื่องระบบเบรก และการลดแรงสะเทือนของคอพวงมาลัย ขณะขับขี่ไปบนเส้นทางขรุขระ เพียงแค่ 2 ประเด็นนี้เท่านั้น MG RX8 ก็จะสมบูรณ์แบบและลงตัวกว่านี้ เพราะประสิทธิภาพและสมรรถนะในด้านอื่นๆ รวมทั้งคุณภาพในการประกอบ กับวัสดุที่เลือกใช้ ไปจนถึงสัมผัสด้าน Perceived Quality ที่ผมพบด้วยตัวเอง ช่วยยืนยันว่า MG RX8 เป็น SUV ขนาดใหญ่ ที่ก้าวขึ้นไปทาบรัศมีได้ ทัดเทียมกับ นานาอารยะ SUV ร่วมพิกัด จากชาติอื่นเขาได้สำเร็จเรียบร้อยแล้ว!
– – – – – – – – – – – – – – – – – – – –
********** สรุป (เบื้องต้น) **********
MG ZS EV รีบๆมาขาย จะได้เป็น EV นำเข้า ที่ถูกสุดในตลาด
MG HS แก้พนักศีรษะ แล้วรีบเอามาขายไวๆเลยเถอะ!
MG 5 จะเอาเข้ามา หรือไม่ ก็ได้ แต่ถ้าเอาเข้ามา ต้องหาจุดขายให้เจอ
MG 6 เสริมทัพเฉยๆ หนะ โอเค แต่อย่าคาดหวังยอดขายมากนัก
MG RX8 เอาเข้ามาเลยนะ ขายคันละ 1.7 ล้านบาท รับรอง ขายดีแน่ๆ
การได้มาลองขับ MG รุ่นใหม่ๆ ในคราวนี้ นอกจากจะไดมีโอกาสสัมผัสกับรถยนต์รุ่นใหม่ๆของพวกเขา ก่อนที่จะถูกส่งมาจำหน่ายในประเทศไทยแล้ว ยังถือเป็นการช่วยเปิดหูเปิดตาให้ผมค้นพบถึงความก้าวหน้าของ วงการอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศจีน ได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ณ วันนี้ SAIC กำลังพยายาม ปั้นแบรนด์ MG เพื่อให้ถึงพร้อมเพียงอที่จะส่งออกไปบุกตลาดอื่นๆทั่วโลก โดยเน้นไปที่ตลาดหลักทั้งในจีน อังกฤษ เยอรมนี สเปน บราซิล ไทย อินเดีย ฯลฯ จริงอยูว่า ในช่วงที่ผ่านมา รถยนต์ของพวกเขา ยังสู้ชาวบ้านชาวช่องไม่ค่อยจะได้ แต่ในวันนี้ บรรดารถยนต์รุ่นใหม่ๆ ของแบรนด์ MG เริ่มจะพัฒนามาถูกทางขึ้นเรื่อยๆ แล้ว
โดยเฉพาะ MG ZS EV ซึ่งจะกลายเป็นม้ามืดที่เชื่อว่า น่าจะช่วยให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าบ้านเรา คึกคักขึ้นมาได้ เพราะการตั้งราคา ที่คาดว่าจะถูกที่สุด ในกลุ่ม EV Passenger Vehicles 4 ล้อ 4 ที่นั่งขึ้นไป (คาดว่า ราคาน่าจะอยูในช่วง 1.5 ล้านบาท บวกลบนิดหน่อย) สมรรถนะที่ตัวรถให้มา แม้จะแพงกว่า ZS เบนซิน หลายแสนบาท แต่ถ้ามองว่านี่คือการเริ่มต้นเอาจริงเอาจังกับตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้า ก็ถือว่า เป็นการเริ่มต้นที่ “ถูกที่ ถูกเวลา” เลยทีเดียว
MG HS คือ Crossover SUV ขนาดกลาง อีกคัน ที่น่าจับตามอง เพราะนี่คือเครื่องยืนยันว่าถ้าวิศวกรชาวจีนจะเอาจริงเอาจังขึ้นมา พวกเขาก็ทำผลงานออกมาได้ไม่เลวเลยทีเดียว HS มีงานประกอบที่เนี้ยบสมราคา รูปลักษณ์สวยจบ ดูดีกว่า GS รุ่นเดิมชัดเจน แม้กระทั่งคุณภาพการขับขี่ ที่ให้ความแม่นยำขึ้น มั่นใจได้ดีขึ้น และแก้ปัญหาต่างๆออกไปได้มากขึ้น จนสามารถฟัดเหวียงกับคู่แข่งชาวญี่ปุ่นได้สมน้ำสมเนื้อยิ่งกว่าที่พวกเขาเคยทำมา ได้แต่ภาวนาว่า รีบเอาเข้ามาประกอบขายในบ้านเราภายในก่อนส้นปี 2019 นี้ จะยังถือว่า เป็นช่วงเวลาที่ดีอยู่
MG 5 ใหม่ แม้ว่าจะเบาขึ้น นั่งสบายขึ้น และขับคล่องแคล่วขึ้นกว่ารุ่นเดิม แต่ยังต้องปรับปรุงเรื่องช่วงล่าง บนถนนขรุขระ อีกสักหน่อย จึงจะเข้าที่กว่านี้ กระนั้น การต่อกรในกลุ่มตลาด B-Segment + ด้วยตัวรถที่มีคุณสมบัติเท่าที่เห็นนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย อาจทำได้แค่เพียงเสมอตัว หรือขายดีขึ้นกว่า MG 5 รุ่นปัจจุบันพอสมควร แต่ยังไม่อาจถึงขั้นสร้างยอดขายให้ทัดเทียมเท่า MG3 รุ่นปัจจุบัน หรือ Mazda 2 ได้ง่ายดายแน่ๆ ถ้าจะสั่งเข้ามาผลิตขาย ก็พอได้ แต่ถ้าอยากรอดูเชิงไปก่อนให้มั่นใจกว่านี้ ก็ดีเหมือนกัน
MG 6 ใหม่ อาจไม่เหลือที่ว่างในตลาดมากนัก เว้นเสียแต่ว่า จะต้องเอารุ่น eMG6 PHEV เข้ามาเลย จึงจะพอมีช่องว่างให้พอทำยอดขายได้บ้าง แต่สำหรับ MG RX8 นั้น ด้วยคุณภาพการประกอบ และวัสดุภายในที่ทำได้ดีงามมากจนเกินความคาดหมาย หากนำเข้ามาประกอบขาย แก้ปัญหาเรื่องแป้นเบรกเบาไป และตั้งราคาให้ดี ราวๆ 1.7 ล้านบาท น่าจะช่วยให้บรรดา SUV / PPV จากญี่ปุ่น พากันมองค้อนขวับ ได้ไม่ยากนัก
การลองขับรถยนต์รุ่นใหม่รวดเดียวถึง 5 รุ่น เป็นงานที่เหนื่อยและต้องแข่งกับเวลามาก แต่…ยังก่อนครับ ถ้าคุณคิดว่า นั่นยากแล้ว SAIC เขายังมีทีเด็ด ให้เราได้ลองขับกันอีกถึง 4 คัน และเป็นรถยนต์ซึ่งล้วนน่าสนใจทั้งสิ้น หลังจากนี้ ผมจะพาคุณไปพบกับแบรนด์ Maxus ซึ่งเน้นทำตลาดรถยนต์อเนกประสงค์ เจ้าของรถกระบะ Maxus T60 ที่จะถูกนำมาเปิดตัวเป็นรถกระบะ MG T60 ภายในสิ้นปีนี้ รวมทั้ง สุดยอดรถยนต์พลังไฟฟ้า Premium Crossover Mid-Size EV อย่าง Roewe Marvel-X ที่ทำให้ผม “เปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อรถยนต์จากเมืองจีนไปตลอดกาล….!!!”
โปรดติดตาม ตอนต่อไป!
– – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –
ขอขอบคุณ / Special Thanks to :
บริษัท Shanghai Auto Industry Corporation จำกัด (SAIC)
บริษัท MG Sales (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อการเดินทางในครั้งนี้ และอำนวยความสะดวกทุกสิ่ง อย่างดีเยี่ยม
—————————————–
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย เป็นผลงานของผู้เขียน
ยกเว้น ภาพถ่ายจากต่างประเทศ เป็นลิขสิทธิ์ของ SAIC – MG
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
23 เมษายน 2019
Copyright (c) 2019 Text and Pictures by J!MMY
Except some Studio Shot & Computer Graphic shots from SAIC-MG
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
April 23th,2019
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE