สายการบิน Turkish Airline เที่ยวบินที่ TK069 นำผม พี่ๆสื่อมวลชนสายรถยนต์ อีก 3 ท่าน และ พี่ฝน ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ Mercedes-Benz (Thailand) เดินทางออกจากสนามบินสุวรรณภูมิ มาถึงสนามบิน Istanbul เพื่อเปลี่ยนเป็นเครื่องบิน Airbus 321-200 เที่ยวบิน TK1305 ของสายการบินเดียวกัน ฝ่าสายฝนและเมฆครื้ม รอนลงจอด ณ สนามบิน Malaga ที่ประเทศ Spain ตอนเที่ยงของวันที่ 22 พฤศจิกายน 2019 กันเสียที พร้อมกับผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง ได้อย่างรวดเร็วฉับไวที่สุด เท่าที่ผมเคยเดินทางเข้าหลายๆประเทศในยุโรป ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา….
สนามบินในประเทศ ผู้คนเข้า-ออก ปานกลาง ไม่ได้เยอะนัก ความเข้มงวดของเจ้าหน้าที่จึงไม่มากนัก เจ้าหน้าที่ ตรวจคนเข้าเมือง สาววัยรุ่น เค้าเห็นว่า คนเยอะ ก็เลย รับ Passport เราไป แล้วก็รีบประทับตรา ส่งคืนให้ โดยไม่ถงไม่ถามอะไรเลยซ้ากกกคำ!!
ถ้าทุกสนามบินในยุโรป เป็นอย่างนี้เหมือนกันหมดได้ ก็ดีสิ! แต่ในความเป็นจริง มันไม่ได้เป็นเช่นนั้นหรอก
Spain เป็นประเทศ ที่ผู้ผลิตรถยนต์ฝั่งยุโรป ส่วนใหญ่ นิยมใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมทดลองขับรถยนต์ที่เพิ่งเปิดตัวใหม่ล่าสุด ให้กับบรรดาสื่อมวลชนจากทั่วโลก ทั้ง Mercedes-Benz BMW Audi หรือแม้แต่ฝั่งญี่ปุ่น อย่าง Toyota / Lexus ก็เคยใช้บริการ Spain มาแล้ว ต่อให้ประเทศนี้ จะยังมีความคุกรุ่นทางการเมือง ในประเด็นการแบ่งแยกดินแดน Catalanya ของชาว Catalun แต่ในส่วนอื่นๆของประเทศ ก็ยังมีมนต์เสน่ห์ในค้นหา รอให้นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมบรรยากาศ และพักผ่อนหย่อนใจกันอยู่ดี
นี่เป็นครั้งที่ 3 ในชีวิตผม สำหรับการเดินทางมายังประเทศ Spain ดินแดนกระทิงดุ เพียงแต่ว่า คราวนี้ เรามุ่งหน้าลงมายังตอนใต้สุดของประเทศ ณ เมือง Malaga อันเป็นเมืองท่องเที่ยวตากอากาศริมชายหาดทะเล Mediteranian ของแคว้น Andalucia ซึ่งมีบรรยากาศแตกต่างไปจาก Barcelona หรือ Madrid โดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็น บรรยากาศอันน่าตื่นตาตื่นใจในความสวยงาม ของทั้งตึกรามบ้านช่อง ที่ตั้งอยู่ตามแนวภูเขา ไปจนถึงบรรยากาศจากแสงแดดที่สาดส่องเข้ามา ทั้งยามเช้าและยามบ่าย
แม้ว่าฝนฟ้าจะโปรยปราย ต้อนรับเรา กันตั้งแต่สนามบิน จนหมดสิทธิ์เดินทางออกไปเที่ยวเล่นในตัวเมือง ทำได้แค่เดินไปกินมื้อเที่ยง ที่ร้านอาหาร Beluga ใกล้ๆๅกับโรงแรมที่พัก (Vincci Hotel Posada) แล้วก็พักผ่อน เตรียมงาน รอทานมื้อเย็น ก่อนจะเข้านอน เพื่อรอทาง Mercedes-Benz ส่ง V-Class Shuttle Bus มารับเราในเช้าวันรุ่งขึ้น (24 พฤศจิกายน 2019) จากโรงแรม กลับไปยังสนามบิน Malaga อีกครั้ง เพื่อไปรวมตัวกัน ณ จุดปล่อยรถทดสอบ
เรามาที่นี่ เพื่อร่วมสัมผัสกับผลงานล่าสุดของผู้ผลิตรถยนต์ตราดาว จากเมือง Stuttgart สหพันธรัฐเยอรมนี อีกรุ่นหนึ่งที่กำลังจะถูกส่งเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ภายในปี 2020 นี้ ภายใต้เรือนร่างแบบ SUV ขนาด Compact 5 หรือ 7 ที่นั่ง ตระกูลใหม่ ที่ถูกเรียกว่า…
Mercedes-Benz GLB…
ทำไมต้องมี GLB ?
คำตอบง่ายมากครับ ตลาด SUV และ Crossover SUV ที่บูมต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1995 มันยังไม่มีทีท่าว่าจะชะลอตัวลงง่ายๆ มันจะเป็นอย่างนี้ไปอีกหลายปี และเหตุการณ์นี้ มันก็เกิดขึ้นกับ Mercedes-Benz ด้วย ทั่วโลก
Ms. Britta Seeger, Member of the Board of Management of Daimler AG ก็ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “รถยนต์ SUV และรถยนต์ขนาดเล็ก (Compact model) เป็นกลุ่มตลาดที่สำคัญของเรา ปัจจุบันนี้ ยอดขาย 3 ใน 10 คัน ของรถยนต์ Mercedes-Benz ที่ขายได้ทั่วโลก เป็น SUV ไม่เพียงเท่านั้น ทุกๆ 4 ใน 10 คัน ที่เราจำหน่ายออกไป เป็นรถยนต์กลุ่ม Compact”
ในอดีตที่ผ่านมา Mercedes-Benz ก็พยายามออกรถยนต์ SUV ให้ครอบคลุมทุกความต้องการ เริ่มต้นจาก G-Class ซึ่งเป็น SUV รุ่นบุกเบิกของค่ายตราดาว ที่ได้รับความนิยมในหมู่เศรษฐี และบรรดา Professional ในวิชาชีพต่างๆ มาตั้งแต่ปี 1979 มาจนถึงทุกวันนี้ ส่วน SUV ยุคใหม่รุ่นแรกของ ค่ายตราดาว รุ่นแรกคือ M-Class เปิดตัวมาตั้งแต่ 9 พฤษภาคม 1997 และเป็นต้นกำเนิดในการแต่หน่อขยายสายพันธ์ตระกูล SUV ของ Mercedes-Benz มาจนถึงปัจจุบัน ไล่กันตั้งแต่รุ่นเล็กสุด GLA (ซึ่งก็คือการเอา A-Class 5 ประตู มายกสูง และดัดแปลงหน้าตานิดหน่อย) GLC / GLC Coupe , GLE / GLE Coupe , GLS และ G-Class
สังเกตไหมครับ ว่ามันมีอะไรที่หายไป? อะไรที่ยังเป็นช่องว่างตรงกลางอยู่
GLB ยังไงละ!
อันที่จริง Mercedes-Benz เคยทำ SUV ในพิกัดขนาดตัวรถแบบเดียวกับ GLB มาก่อน นั่นคือ Mercedes-Benz GLK สร้างขึ้นบนโครงสร้างพื้นตัวถังและงานวิศวกรรมของ รถเก๋ง รุ่น C-Class W204 ออกสู่ตลาดครั้งแรก ในยุโรป เมื่อ 30 มิถุนายน 2008 ด้วยยอดขายที่มีแนวโน้มว่าจะเติบโตขึ้น Mercedes-Benz จึงตัดสินใจ ทำรุ่นเปลี่ยนโฉม Full Modelchange ออกมาเป็นเจเนอเรชันที่ 2 ในปี 2015 โดยยกระดับขนาดตัวถังให้ใหญ่โตขึ้น เพื่อฟัดเหวี่ยงกับ BMW X3 ได้ดีขึ้น และเปลี่ยนชื่อเป็น Mercedes-Benz GLC Class
อย่างไรก็ตาม ยังมีลูกค้ากลุ่มใหญ่ ที่มีงบไม่มาก แต่อยากได้ SUV ตราดาว ที่มีพื้นที่ใช้สอย และความอเนกประสงค์ ไม่แพ้ GLC Class ดังนั้น GLB จึงเป็นรถยนต์ ที่ค่ายตราดาว เขาคาดหวังว่าจะเข้ามาเสริมทัพ เติมเต็มความต้องการของลูกค้า กลุ่มครอบครัว ถึงขั้นตั้งสโลแกนว่า “For Family and Friends”
แล้ว GLB จะไม่ไปทับซ้อนกับ GLA และ GLC หรือ?
Ms. Britta Seeger ตอบว่า “ในอนาคต นับจากนี้ Mercedes-Benz จะทำตลาดรถยนต์ขนาดเล็ก (Compact) รวมทั้งหมดถึง 8 รุ่น โดย GLA (ซึ่งเพิ่งเปิดตัวรุ่นเปลี่ยนโฉมใหม่ Full Modelchange ไปหมดๆ เมื่อ 11 ธันวาคม 2019 ที่ผ่านมา) จะถูกวางตำแหน่งทางการตลาด เน้นไปหากลุ่มลูกค้าแนว “lifestyle-oriented” เหมือนเดิม ขณะที่ GLB จะเน้นทำตลาดกับกลุมลูกค้าที่ต้องการพื้นที่ใช้สอยอเนกประสงค์ จากรถยนต์ SUV ขนาดเล็ก”
ส่วน GLC / GLC Coupe นั้น นอกจากจะแตกต่างจาก GLB ด้วยความยาวตัวถังที่มากกว่าแล้ว ตำแหน่งการตลาดของ ทั้งคู่ ยังจัดอยู่ในกลุ่มสูงกว่า คือ Midsize SUV ซึ่งลูกค้า กลุ่มนี้ มองหาการขับขี่ที่นุ่มนวลกว่า และให้ความภูมิฐานสมฐานะมากขึ้น อีกทั้งในอีกไม่นานหลังจากนี้ GLC / GLC Coupe จะมีขุมพลัง V6 สูบ กลับมาให้เลือกอีกครั้ง!
พูดให้เข้าใจง่ายๆคือ
- GLB ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อขั้นกลางระหว่าง GLA กับ GLC
- ถ้า GLA คือ GLC Coupe (หรือ BMW X2) แล้ว GLB ก็คือ GLC ตัวถังปกติ (หรือ BMW X1) นั่นเอง
- คู่แข่งทางการตลาดโดยตรง ของ GLB คือ BMW X1
ก่อนการเปิดตัวเพียงไม่กี่เดือน Mercedes-Benz ก็เปิดเผยให้ชาวโลกได้รับรู้ถึงการมาของ GLB ด้วยการนำรถยนต์เวอร์ชันต้นแบบ Mercedes-Benz Concept GLB ออกอวดโฉมสู่สายตาชาวโลกเป็นครั้งแรก เมื่อ 15 เมษายน 2019 ที่ผ่านมา บนเวทีในงาน Auto Shanghai 2019
จากนั้น เวอร์ชันจำหน่ายจริง ก็เปิดตัวสู่สาธารณชนเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2019 ที่เมือง Wanship มลรัฐ Utah สหรัฐอเมริกา แต่กว่าจะพร้อมออกสู่ตลาด ก็ต้องรอกันอีกนานถึง 5 เดือน เพื่อทำการทดสอบและยื่นเรื่องอนุมัติด้านมาตรฐานมลพิษตามข้อกำหนดใหม่ WLTP ของสหภาพยุโรป เตรียมเอกสาร เตรียมการด้านต่างๆ รวมทั้งรอให้โรงงาน Aguascalientes ใน Mexico เตรียมสายการผลิตของ GLB ให้พร้อมสำหรับป้อนรถยนต์สู่โชว์รูมทั่วโลกให้เรียบร้อยเสียก่อน
นอกจากโรงงานใน Mexico แล้ว ฐานผลิตสำคัญของ GLB อีกแห่ง คือโรงงาน Beijing Benz Automotive Co., Ltd ใน Beijing ซึ่งจะผลิต GLB เวอร์ชันสำหรับตลาดเมืองจีน (Chinese market) โดยเฉพาะ ทั้ง 2 โรงงาน จะเริ่มผลิต GLB ออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2019 นี้ เป็นต้นไป
Photo :
– GLB 250d 4MATIC in White (Not Available in Thailand)
– GLC 220 d in Blue & Red (Not Available in Thailand)
– GLC 200 in Grey (Specification close to Thai version)
GLB มีขนาดตัวถังยาว 4,634 มิลลิเมตร กว้าง 1,843 มิลลิเมตร สูง 1,658 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,829 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหน้า 1,605 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหลัง 1,606 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดจากพื้น (Ground Clearance) 143 มิลลิเมตร มุมไต่ 18 องศา (องศาจากพื้นบริเวณหน้ายางเงยขึ้นไปหาส่วนยื่นที่สุดของหน้ารถ) มุมจาก 18.3 องศา (องศาจากพื้นบริเวณหน้ายางไปสู่จุดที่ยื่นมากที่สุดของตัวถังด้านหลัง) มุม Brake Over 13.9 องศา (องศาจากบริเวณหน้ายางขึ้นไปหาจุดกึ่งกลางของระยะฐานล้อ) และมุมเอียง 35 องศา น้ำหนักรถเปล่า มีตั้งแต่ 1,555 – 1,735 กิโลกรัม ตามแต่ละรุ่นย่อย แต่ถ้ารวมน้ำหนักบรรทุก จะอยู่ในช่วงไม่เกิน 2,000 กิโลกรัม
รูปลักษณ์ภายนอกถูกออกแบบมาในแนวรถยนต์ Off-Road เน้นความแข็งแกร่ง บึกบึน เส้นสายบนตัวถังที่ไม่จำเป็น ถูกตัดออกไป คงเหลือไว้แต่ความเรียบง่าย ไม่มีพิธีรีตรองอะไรมากนัก นอกจากนี้ ยังมีการปรับลดระยะ Overhang (มุมองศาระยะห่างระหว่างยางรถ จนถึงปลายมุมกันชน) ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เพื่อเพิ่มมุมองศาสำหรับปีนป่ายอุปสรรคให้มากขึ้น
ชุดโคมไฟหน้าเป็นแบบอัตโนมัติ MULTIBEAM LED และไฟ Daytime Running Light แบบ LED รวมอยู่ในชุดกรอบไฟหน้า พร้อมระบบ Adaptive High-beam Assist Plus ซึ่งจะตอบสนองต่อสภาพการจราจรอย่างรวดเร็ว และแม่นยำด้วยการทำงานแยกกันอย่างอิสระของหลอด LED ส่องสว่างได้ไกลถึง 500 เมตร นอกจากนั้นยังมีไฟตัดหมอกด้านหน้าแบบ LED ติดตั้งบริเวณกันชนหน้ามาให้ด้วย
ด้านท้ายมาพร้อมไฟท้าย LED ไฟตัดหมอกหลัง สปอยเลอร์หลัง พร้อมไฟเบรกดวงที่ 3 แบบ LED และติดตั้งฝาท้ายเปิด – ปิด ด้วยระบบไฟฟ้าแบบ EASY-PACK Tailgate มาให้
สำหรับรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ 4MATIC จะมาพร้อมกับ Off-Road Engineering Package ซึ่งประกอบไปด้วย ไฟหน้า MULTIBEAM LED ที่มีฟังก์ชันการทำงานพิเศษ สำหรับการขับขี่แบบ Off-Road เพื่อให้ง่ายต่อการมองเห็นอุปสรรค ในที่มืด พร้อมไฟส่องสว่างบริเวณมุมกันชนด้านหน้า ที่ความเร็วต่ำกว่า 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง รวมไปถึงจอแสดงผล จำลองภาพมุมเอียงของตัวรถ และการปรับตั้งค่าทางเทคนิคต่างๆ
Option ที่น่าสนใจ ได้แก่ หลังคา Panoramic Sunroof สามารถปรับความลาดเอียงได้ 3 ระดับ ให้สัมพันธ์กับความเร็วรถ พร้อมม่านบังแดดแบบไฟฟ้า และระบบปิดอัตโนมัติ ทำงานร่วมกับเซนเซอร์ปัดน้ำฝน (Automatic Rain Sensor) ส่วน ล้ออัลลอยขนาด 17 นิ้ว x 6.5 J พร้อมยาง 215/65 R17 มีมาให้เป็นมาตรฐานในทุกรุ่น มีให้เลือกหลากสีหลายลวดลาย รวมทั้ง สีดำ แบบ AMG
ส่วนรุ่นสูงสุด Top สุด แรงสุด และแพงสุด มาในชื่อ Mercedes-AMG GLB 35 AMG 4MATIC แน่นอนว่า นี่เป็นอีกวิธีการที่จะเพิ่มทางเลือกให้กับกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการเฉพาะเจาะจง ว่าอยากได้สมรรถนะและความแรงตามแบบฉบับของ AMG แต่มีศรีภรรยา ยืนท้าวสะเอวกำกับการเลือกซื้อรถคันใหม่เข้าบ้านอยู่ด้านหลัง ให้เสียวเล่น ดูเหมือนว่า วิศวกรชาวเยอรมัน เขาคงประสบปัญหาเดียวกัน ก็เลยตัดสินใจทำเวอร์ชันร้อนแรง ให้กับ SUV ซึ่งไม่ได้มีหน้าตาชวนให้เกิดความร้อนแรงในใจเท่าไหร่ อย่าง GLB คันนี้ เผื่อว่า คุณแม่ของลูกที่บ้าน เขาจะได้เห็นประโยชน์ ยอมอ่อนใจ อนุมติให้คุณถอย GLB ออกมาซิ่งไปรับไปส่งลูกหลานไปโรงเรียนได้นั่นเอง
Mercedes-AMG GLB 35 AMG 4MATIC จะได้รับการตกแต่งให้ ดูสปอร์ต และดุดันขึ้น จากรุ่นปกติ หลายจุด เริ่มจาก การเปลี่ยนชุดกระจังหน้ามาเป็นแนวตั้งแบบ Panamericana grill ลิ้นกันชนหน้าแบบ Silver chrome ระบบห้ามล้อประสิทธิภาพสูง พร้อมคาลิเปอร์เบรกคู่หน้าสีเงิน สลักสัญลักษณ์ AMG สีดำ สวมทับด้วย ล้ออัลลอยน้ำหนักเบา มีให้เลือกตั้งแต่ขนาด 19 – 21 นิ้ว แต่ละขนาดมีให้เลือก 2 สี เปลือกกันชนด้านหลังพร้อมปลายท่อไอเสียทรงกลม 2 ฝั่ง และสปอยเลอร์หลังสีเดียวกับตัวรถ คาดด้วยสีดำเงา
การเข้า – ออกจากบานประตูคู่หน้า กลายเป็นจุดเด่นของ GLB ที่ได้รับการปรับปรุงจาก GLA กันเสียที เพราะการออกแบบตัวรถให้มีลักษณะเป็นทรงกล่อง แบบ SUV แท้ๆ ทำให้กระจกบังลมหน้า ตั้งชันขึ้นมามากกว่า GLA ทำให้ช่องประตูคู่หน้า มีขนาดใหญ่กว่า GLA จึงช่วยให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร เข้า – ออกได้สะดวกสบายขึ้น ยิ่งเจอตำแหน่งของเบาะนั่งที่อยู่ในระดับเหมาะสม ไม่สูงไม่เตี้ยจนเกินไป ทำให้ยิ่งง่ายต่อการก้าวขาขึ้นรถ แล้วหย่อนก้นลงนั่งได้ทันที
ไม่เพียงเท่านั้น บานประตูทั้ง 4 ถูกออกแบบมาให้มีชายล่างซ่อนรูป คลุมไปจนถึงใต้ท้องรถ ช่วยลดปัญหาคราบฝุ่นโคลน ติดขากางเกงหรือกระโปรง ขณะก้าวขึ้นลงจากรถ และป้องกันไม่ให้ก้อนหินกระเด็นขึ้นมากระแทกด้านข้างตัวรถ นีคือสิ่งที่ผมอยากเห็นจากผู้ผลิตรถยนต์ Premium จากเยอรมนีเสียที และดีใจที่ Mercedes-Benz ยอมแก้ข้อด้อยของตนในประเด็นนี้กันเสียที
แผงประตูด้านข้าง มีพนักวางแขน บุด้วยหนังสังเคราะห์ หุ้มด้วยเพิ่มพื้นที่ฟองน้ำุนุ่มบางๆมาให้ สามารถวางท่อนแขนได้สบายจนถึงข้อศอก มองไปทางด้านล่าง ก็จะเห็น ช่องวางขวดน้ำดื่ม ขนาด 7 บาท มาให้ 1 ช่อง พร้อมทั้งยังมีช่องวางของจุกจิกอีกนิดหน่อย ออกแบบมาให้เชื่อมต่อกัน
เบาะนั่งด้านหน้า สามารถปรับตำแหน่งเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง ปรับพนักพิงหลังเอน-ตั้งขึ้น และปรับตัวดัานหลังได้ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า บริเวณแผงประตูด้านข้าง ใกล้มือจับเปิดประตู ซึ่งเป็นตำแหน่งปกติของ Mercedes-Benz ทุกรุ่น หรือเลือกปรับได้ผ่านทางหน้าจอ MBUX โดยรุ่น AMG 35 4 MATIC มีมาให้ครบทั้ง 2 ข้าง ขณะที่ รุ่น GLB 200 มีมาให้เฉพาะฝั่งคนขับเท่านั้น
แม้เบาะนั่งของทั้งรุ่นถูกสุด GLB 200 กับรุ่นแพงสุด AMG 35 อาจมีรูปทรงของพนักพิงไม่เหมือนกัน แต่เมื่อนั่งลงไปแล้ว จะพบว่า ให้สัมผัสที่คล้ายกันมาก พนักพิงหลัง ของเบาะนั่งทั้ง 2 แบบ มีลักษณะเว้าช่วงกลางหลังให้ลึก ราวกับจะเป็นเบาะรถแข่ง Ko-Cart นั่นหมายความว่า รองรับแผ่นหลังได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ ช่วงครึ่งท่อนบนของพนักพิงหลัง ยังแข็ง และไม่รองรับช่วงบ่าเอาเสียเลย ปีกข้างที่เสริมเข้ามา พอจะโอบสีข้างได้อยู่ในระดับหนึ่ง มีสวิตช์ปรับตำแหน่งตัวดันหลังด้วยไฟฟ้า ที่สามารถปรับสูง -ต่ำได้มาให้ในฝั่งคนขับ เฉพาะในบางรุ่น ในตลาดยุโรป เลือกสั่งติดตั้งได้เป็น Option พิเศษ ที่มากับเบาะนั่งแบบปรับด้วยไฟฟ้า
พนักศีรษะ ที่เคยดันกบาลจนผมต้องออกโรงด่าใน GLA กลับกลายเป็นว่า ลดการดันลงไป จนอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมกันเสียที แถมคราวนี้ ยังสามารถเลือกปรับตำแหน่งการดันได้ 4 ระดับด้วยการกดปุ่มด้านข้างพนักศีรษะ แบบเดียวกับรถยุโรปค่ายเพื่อนบ้านกันเสียที ขอชมเชยในประเด็นนี้ มา ณ โอกาสนี้!
เบาะรองนั่ง ในตำแหน่งปกติ ค่อนข้างสั้นไปนิด แถมตะเข็บขอบเบาะค่อนข้างแข็งไปหน่อย แต่ในรุ่น AMG ใต้เบาะรองนั่งจะมีคันโยก ดึงเพื่อเพิ่มความยาวเบาะรองนั่งออกมาให้สุดขาพับของคุณได้ ดังนั้น ประเด็นความยาวของเบาะรองนั่ง น่าจะไม่มีเรื่องให้ต้องบ่นมากนัก
เข็มขัดนิรภัยคู่หน้าเป็นแบบ ELR 3 จุด ปรับระดับสูง – ต่ำได้ พร้อมระบบ Pre tensioner & Load Limiter เชื่อมต่อกับระบบ PRE-SAFE (ทำงานร่วมกับสารพัดเซ็นเซอร์ ดึงรั้งทันที ที่ ตรวจเจอการเบรกกระทันหัน) เฉกเช่น Mercedes-Benz ทุกรุ่นในปัจจุบัน
ช่องทางเข้า – ออก จากบานประตูคู่หลัง มีขนาดกว้างใหญ่มากที่สุดในบรรดา Mercedes-Benz กลุ่ม Compact Class ด้วยกันทุกรุ่น ลามไปถึง C-Class เสียด้วยซ้ำ ก็แน่ละ ช่องกรอบประตู มันเป็นแบบสี่เหลี่ยมซะขนาดนั้น ถ้ายังเข้า – ออก ไม่สะดวก ก็ให้มันรู้ไป อาจมีบางจังหวะ ที่คุณเหวี่ยงขาออกจากพื้นรถ มายังพื้นถนน แล้วรองเท้าจะต้องกวาดไปโดนฝาครอบลำโพง ที่แผงประตูท่อนล่างอยู่บ้าง แต่ก็พอยอมรับได้
กระจกหน้าต่าง สามารถเลื่อนลงมาได้สุดขอบราง จนถึงขอบแผงประตู พนักวางแขน บนแผงประตูคู่หลัง ถูกออกแบบมา ให้วางท่อนแขนพอได้ แต่แอบเตี้ยไปนิด คาดว่าน่าจะเอาใจผู้โดยสารอายุน้อยๆ ต่ำกว่า 15 ปี ลงไปเป็นหลักมากกว่า ด้านล่งของแผงประตู มีช่องใส่ขวดน้ำดื่ม ขนาดพอเหมาะ มาให้ 1 ตำแหน่ง
GLB มีให้เลือกทั้งแบบ 5 ที่นั่ง และ 7 ที่นั่ง โดยทั้ง 2 แบบ จะมาพร้อมกับเบาะนั่งสำหรับผู้โดยสารด้านหน้าแบบพับได้ เบาะนั่งแถวที่ 2 แบบแยกปรับส่วนรองนั่ง 60 : 40 แยกปรับพนักพิงหลัง 40 : 20 : 40 ด้วยเชือกปลดล็อกสลัก บริเวณฐานพนักพิงหลัง และสามารถดังคันโยกใต้เบาะรองนั่ง เพื่อเลื่อนถอยหลัง เพิ่มพื้นที่ตำแหน่งวางขาอีก 140 มิลลิเมตร แถมยังสามารถพับราบลงกับพื้นได้ มีพนักวางแขนตรงกลาง พร้อมช่องวางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง เข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด และยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก ISOFIX มาให้
ตำแหน่งของเบาะหลัง สูงอยู่ในระดับพอเหมาะ สะดวกต่อการก้าวเข้า – ออกจากรถ พนักพิงหลังของรุ่นปกติ กับรุ่น AMG อาจมีงานออกแบบแตกต่างกันเล็กน้อย แต่เมื่อนั่งลงไป จะให้สัมผัสที่ไม่ต่างกันนัก คือ ตัวพนักพิงจะแน่น เกือบแข็ง แต่แอบนิ่มเฉพาะพื้นผิวด้านนอก กับบริเวณตรงกลางที่ใช้รองรับช่วงกลางหลัง ส่วนปีกข้างของเบาะหลังทั้ง 2 ฝั่ง แข็งมาก
พนักวางแขนแบบพับเก็บได้ สามารถวางท่อนแขนได้สบายพอดีๆ ไปจนถึงช่วงข้อศอก มาพร้อมช่องวางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง แยกอิสระในการดึงออกมาหรือเลื่อนพับเก็บได้ ส่วนพนักศีรษะนั้น เหมือนจะนิ่ม แต่แกนข้างใน แข็งหน่อยๆ พิงหัวไม่ถึงกับสบายนัก ส่วน เบาะรองนั่ง เหมือนจะยาว แต่จริงๆแล้ว สั้น มีความนิ่มมาให้แค่ท่อนบนบางๆ แต่พอนั่งลงไปเต็มๆบั้นท้าย จะพบว่าฟองน้ำของเบาะรองนั่ง แน่นแข็ง เอาเรื่อง
จุดเด่นสำคัญของ GLB คือพื้นที่เหนือศีรษะสำหรับผู้โดยสารด้านหลัง (Rear Headroom) ซึ่งมีเหลือเยอะเอาเรื่อง ในระดับ 4 นิ้วมือในแนวนอน (สำหรับคนตัวสูง 170 เซ็นติเมตร) ไม่เพียงเท่านั้น พื้นที่วางขา (Legroom) ซึ่งยังเหลือเยอะพอให้ผมสามารถนั่งไขว่ห้างได้ นี่คือสิ่งที่ บรรดา Mercedes-Benz ขนาด Compact Size รุ่นก่อนๆ ไม่เคยให้คุณได้เท่านี้มาก่อน
สำหรับรุ่น 7 ที่นั่ง สิ่งที่เพิ่มเข้ามาก็คือ เบาะนั่งแถวที่ 3 แบบแยกปรับ 50 : 50 พร้อมฟังก์ชัน EASY-ENTRY (เลื่อนเบาะนั่งแถว 2 ไปด้านหน้าได้ 90 มิลลิเมตร) พร้อมช่องวางแก้วน้ำตรงกลาง เข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด และจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก ISOFIX เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ปัญหาของมัน ก็คือ การเข้า – ออก ต้องใช้วิธีดึงเชือกปลดล็อกคันโยก บริเวณด้านข้างตอนล่างของพนักพิงเบาะแถว 2 เพื่อโน้มตัวพนักพิงมาข้างหน้า จากนั้น ใช้มือ คลำหาคันโยกแนวยาวที่ใต้เบาะรองนั่ง ดึงเพื่อเลื่อนชุดเบาะให้เลื่อนขึ้นมาข้างหน้า ซึ่งก็มีช่องวางเล็กมากสำหรับให้ปีนเข้าไป
ไม่เพียงเท่านั้น พื้นที่สำหรับโดยสาร ของเบาะแถว 3 นั้น Mercedes-Benz ระบุมาให้แล้วในเอกสาร Press Kit สำหรับสื่อวลชนว่า เบาะนั่งแถวที่ 3 เหมาะสำหรับผู้โดยสาร ความสูงไม่เกิน 168 เซนติเมตร เท่านั้น
พอดีว่า ในคณะสื่อมวลชนของเรา มีผู้อาสาลองนั่งให้ดู นั่นคือ พี่หน่อย ภูวนาท เผ่าจินดา จาก Website Auto Thailand นายกสมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย (TAJA) ซึ่งมีความสูง 168 เซ็นติเมตร พอดี เลยอยากลองเข้าไปนั่งดูให้พวกเราได้เห็น ผลลัพท์ก็คือ แม้ว่าพื้นที่เหนือศีรษะ จะเหลือบานตะเกียงมากๆอย่างที่เห็นในภาพข้างบน
แต่สำหรับพื้นที่วางขานั้น ขนาดผมปรับเลื่อนเบาะแถว 2 ขึ้นมา จนสุดราง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ผมยังสามารถวางขาได้อย่างไม่กระเบียดกระเสียดจนเกินไปนัก ผลก็คือ ขาของพี่หน่อย ชนและติดกับด้านหลังพนักพิงเบาะแถวกลาง พอดี! ตัวเบาะนั้น กดลงไปจังหวะแรกจะเข้าใจว่านิ่ม แต่เอาจริงๆแล้ว มันก็แข็งพอประมาณ เป็นแบบนี้เหมือนกันทั้งพนักพิงหลัง และเบาะรองนั่ง ไม่เพียงเท่านั้น พนักศีรษะ ยังปรับระดับได้แค่ตำแหน่งเสียงสูด เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถล็อกตำแหน่งอื่นใดได้อีก
เมื่อเห็นเช่นนี้ ผมจึงต้องขอยืนยันกับคุณผู้อ่านทุกท่านว่า “เบาะแถว 3 นั่งได้จริงอยู่ แต่ขอแนะนำว่า เก็บไว้ให้บุตรหลาน หรือพี่เลี้ยงเด็ก เท่านั้น! อย่าคิดจะไปนั่งเพื่อเดินทางไกลยาวๆ ให้กระดูกสันหลังมันพังเล่นเลย”!
ฝาท้าย ปลดล็อก และเปิดยกขึ้นได้จากทางกุญแจรีโมท สวิตช์ไฟฟ้าที่แผงหน้าปัด และสวิตช์ไฟฟ้าเหนือช่องใส่กรอบป้ายทะเบียน มาพร้อมช็อกอัพค้ำยัน ทั้ง 2 ฝั่ง กระจกบังลมด้านหลัง มีไล่ฝ้า แบบใบปัดน้ำฝนพร้อมหัวฉีดน้ำล้างกระจกมาให้ รวมทั้งยังมี ระบบฝาท้ายเปิด – ปิดได้เองโดยอัตโนมัติ ด้วย สวิตช์ไฟฟ้า บริเวณใต้แผงประตูห้องเก็บของด้านหลัง สามารถตั้งค่าให้ฝาท้ายเปิดยกสูงในระดับที่คุณต้องการได้ และมีสวิตช์สั่งให้ปิดฝาท้ายพร้อมกับล็อกรถไปเลยในคราวเดียวก็ได้ รวมทั้งยังมีมือจับมาให้ 2 ตำแหน่ง
พื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง ในยามปกติ มีขนาดใหญ่ถึง 570 ลิตร ตามมาตรฐาน VDA (German Association of the Automotive Industry) แต่ถ้าต้องพับเบาะหลังทั้งหมด ทุกคำแหน่ง ให้แบนราบเป็น Flat Floor พื้นที่ด้านหลัง จะเพิ่มมากขึ้นเป็น 1,805 ลิตร (VDA)
ถ้าคุณสงสัยว่า ขนาดพื้นที่มันกว้างใหญ่แค่ไหน ลองดูจากรูปล่างสุดนี่ดูได้ครับ ถ้าเดินทางไปกัน 5 คน โดยมีกระเป๋าเดินทางไซส์กลาง คนละ 1 ใบ มั่นใจได้เลยว่า ทั้งรุ่น 5 และ 7 ที่นั่ง สามารถเรียงกระเป๋าดังกล่าวไว้ 4 ใบ และซ้อนอีก 1 ใบ ขึ้นไปไว้ด้านบนสุดได้แน่ๆ แต่ถ้านั่งกัน 7 คน อาจจะมีพื้นที่เหลือพอให้ใส่กระเป๋าเดินทางได้แค่ 1 – 2 ใบ เท่านั้น ซึ่งก็เป็นปกติของรถยนต์ประเภท 7-Seater ทุกยี่ห้อ
การตกแต่งภายในห้องโดยสารเน้นใช้วัสดุอลูมิเนียม และออกแบบชิ้นส่วนต่าง ๆ ให้มีลักษณะเป็นทรงกระบอก เพื่อให้ผู้ใช้งานสัมผัสได้ถึงความแข็งแกร่ง มาพร้อมไฟเรืองแสงรอบห้องโดยสาร Ambient Light ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ถึง 64 เฉดสี เฉกเช่น Mercedes-Benz รุ่นใหม่ๆ คันอื่นๆ
ชุดมาตรวัดแบบ Digital ถูกออกแบบมาให้เป็นชิ้นเดียวกันกับจอกลาง Multi Information Display เหมือนกับตระกูล A-Class และ S-Class มีทั้งขนาด 2 x 10.25 นิ้ว และขนาดมาตรฐาน 2 x 7 นิ้ว แล้วแต่รุ่นย่อย โดยมีระบบยิงข้อมูลมาตรวัดขึ้นกระจกบังลมหน้ารถ HUD (Head Up Display) เป็นอุปกรณ์สั่งพิเศษ ในทุกรุ่น และเป็นอุปกรณ์มาตรฐานสำหรับ AMG GLB 35 4MATIC
นอกจากนี้ ทุกรุ่นยังมาพร้อมระบบอำนวยความสะดวกในการขับขี่ MBUX (Mercedes-Benz User Experience) สามารถควบคุมได้โดยการสัมผัสที่ Touchpad และระบบสั่งงานด้วยเสียง LINGUATRONIC ผู้ขับขี่สามารถเรียกใช้งานระบบ MBUX ทั้งแบบโดยตรง เพียงใช้คำสั่งเสียง “Hey Mercedes” เพื่อเริ่มต้น จากนั้นก็สามารถสั่งงานฟังก์ชันต่างๆ ต่อไปได้เลย เช่น การเลือกตำแหน่งเป้าหมาย การโทรศัพท์ หรือเลือกเล่นเพลง และอีกแบบคือ ใช้คำสั่งเสียงทางอ้อม เช่น พูดว่า “I feel Cold” ระบบก็จะทำการเพิ่มอุณหภูมิภายในห้องโดยสารให้โดยอัตโนมัติ
ความชาญฉลาดของระบบ MBUX ยังสามารถทำให้ผู้ขับขี่ รู้สึกได้รับความเป็นส่วนตัวมากยิ่งขึ้น เพราะสามารถปรับเปลี่ยนโปรไฟล์ของผู้ขับขี่ ได้ถึง 7 โปรไฟล์ โดยในแต่ละโปรไฟล์ ระบบจะตั้งค่าต่างๆ ให้สอดคล้องกับผู้ขับขี่ โดยอัตโนมัติ ทั้งในส่วนของโหมดการขับขี่ คลื่นวิทยุ แสงภายในห้องโดยสารที่เลือกใช้ และอื่นๆ อีกทั้งยังสามารถคาดเดาพฤติกรรมของผู้ขับขี่ล่วงหน้าได้ เช่น เส้นทางที่วิ่งเป็นประจำ หรือสถานีวิทยุคลื่นโปรด ในระหว่างขับรถจากบ้านไปที่ทำงาน เป็นต้น นอกจากนั้น MBUX ยังสามารถตอบคำถามผู้ขับขี่ได้ ว่าเมื่อไหร่จะถึงวันนัดหมายเข้าศูนย์บริการ หรือเมื่อไหร่ที่ควรจะแวะปั๊มเติมน้ำมันเชื้อเพลิงได้แล้ว
ชุดเครื่องเสียง Mercedes-Benz Advanced Sound System (225 วัตต์) มาพร้อมกับลำโพง 10 ตำแหน่ง ติดตั้งบริเวณคอนโซลหน้า 1 ตำแหน่ง ประตูคู่หน้า-หลัง 4 ตำแหน่ง ทวีตเตอร์ที่ประตูคู่หน้า-หลัง 4 ตำแหน่ง และ Sub-Woofer ด้านหลัง 1 ตำแหน่ง สามารถเชื่อมต่อสมาร์ทโฟนผ่าน Apple CarPlay และ Android Auto ได้ นอกจากนั้น ยังมีระบบชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ แบบไร้สาย Wireless Charging มาให้ด้วย
อีกหนึ่งจุดที่ทำให้ บรรยากาศภายในห้องโดยสารของ Mercedes-Benz GLB Class มีความโดดเด่น นั่นคือระบบ ENERGIZING COACH ที่ปรับการทำงานของระบบปรับอากาศ เบาะนวดไฟฟ้า แสงไฟภายในห้องโดยสาร และแนวดนตรี ให้เหมาะสม ช่วยเพิ่มความผ่อนคลาย ลดความตึงเครียดของผู้ขับขี่ โดยมีระยะเวลาการทำงานในแต่ละรอบ อยู่ที่ 10 นาที
ส่วนรุ่น AMG GLB 35 นั้น ภายในห้องโดยสาร จะมีการปรับรายละเอียด ตามแนวทางของรถยนต์ ตระกูล AMG เช่น พวงมาลัย 3 ก้าน ท้ายตัด แบบ AMG พร้อมสวิตช์ปรับโหมดการขับขี่ AMG DYNAMIC SELECT จอแสดงผลสำหรับผู้ขับขี่แบบ AMG ที่มีมาตรวัดรอบเครื่องยนต์แบบทรงกลมอยู่ตรงกลาง มีการแสดงค่าต่างๆ แบบตัวเลขดิจิตอล อาทิเช่น ตัวเลขความเร็ว แรงหนีศูนย์กลาง ตำแหน่งเกียร์ อุณหภูมิน้ำมันเครื่อง อุณหภูมิน้ำมันเกียร์ , G Meter สำหรับวัดแรง G (แรงดึง ขณะออกตัว แรงเหวี่ยงขณะเลี้ยวซ้าย – ขวา กับ แรงเหวี่ยง ขณะเบรก) และมาตรวัด Race time เป็นต้น
********** รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ **********
GLB-Class ใหม่ มีให้เลือกมากถึง 7 รุ่นย่อย โดยมีขุมพลังทั้งแบบเบนซิน และ Diesel ให้เลือก 3 บล็อก 7 ระดับความแรง ยกชุดมาจาก A-Class และ CLA ใหม่ รวมทั้ง GLA ใหม่ แต่โปรดสังเกตให้ดีๆ ว่า ในช่วงแรก เวอร์ชันพลังไฟฟ้า ใส่ถ่าน จำพวก Hybrid แบบเสียบปลั๊กชาร์จได้ PHEV (Plug-in Hybrid) หรือ EV (Electric Vehicle) ล้วนๆ ยังไม่มีให้เลือกในช่วงแรกที่เปิดตัว แต่อย่างใด
หนำซ้ำ ใครที่บอกว่า Mercedes-Benz จะเลิกทำเครื่องยนต์ Diesel นั้น บอกได้เลยว่า คุณกำลังเข้าใจผิด เพราะในความเป็นจริง ตลาดยุโรปโดยเฉพาะเยอรมนี นั้น ยังคงมีความต้องการรถยนต์นั่งขุมพลัง Diesel อยู่มาก และในฐานะผู้ผลิต Mercedes-Benz เอง ก็จะยังคงพัฒนาเครื่องยนต์สันดาป ไปอีกสักพักหนึ่ง ก่อนจะถูกยกเลิกการพัฒนาในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า และจะหันเข้าหาขุมพลังเสียบปลั๊กใส่ถ่านกันเต็มตัวกว่านี้ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดด้านมลพิษของสหภาพยุโรป (EU) ที่จะ “โคตรเข้มงวด” ตั้งแต่ Euro 7 และ Euro 8 ในอนาคต
รายละเอียดทางเลือกขุมพลังของ GLB ใหม่ มีดังนี้
Benzine / Gasoline Engine Lineup
GLB 200 : เครื่องยนต์ รหัส M282 DE 14 AL เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว ขนาด 1.3 ลิตร 1,332 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 72.2 x 81.4 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.6 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงแบบ Direct Injection พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharger พร้อมระบบตัดการทำงานของลูกสูบ Cylinder Shutoff กำลังสูงสุด 163 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 250 นิวตันเมตร (25.47 กก.-ม.) ที่ 1,620 – 4,000 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ 7G-DCT ตัวเลขจากโรงงาน อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 9.1 วินาที ความเร็วสูงสุด 207 กิโลเมตร/ชั่วโมง ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ CO2 ที่ 137 – 142 กรัม/กิโลเมตร
GLB 250 4MATIC : เครื่องยนต์ รหัส M260 DE 20 AL เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว ขนาด 2.0 ลิตร 1,991 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 83.0 x 92.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.5 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงแบบ Direct Injection พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharger พร้อมเทคโนโลยีใหม่ ห้องเผาไหม้แบบ CONICSHAPE® (honing of the cylinder walls) เพื่อช่วยลดแรงเสียดทาน และเพิ่มความประหยัดน้ำมัน เทคโนโลยี Intelligent Thermal Management เพิ่มอุณหภูมิให้ทั้งเครื่องยนต์ และน้ำมันเครื่อง ร้อนเร็วขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบฟอกมลพิษ ลดปริมาณมลพิษขณะเริ่มติดเครื่องยนต์ใหม่ๆ ลงไปได้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องยนต์ นอกจากนี้ ยังมีระบบปรับหัว Camshaft ฝั่งวาล์วไอดี แปรผัน CAMTRONIC (intake camshaft adjustment) เพื่อลดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงในย่านความเร็วต่ำ รวมทั้ง เทคโนโลยี Standard-fit Particulate Filter ติดตั้งมาให้ เพื่อช่วยเพิ่มกำลัง และลดมลพิษไปพร้อมๆกัน
กำลังสูงสุด 224 แรงม้า (PS) ที่ 5,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 350 นิวตันเมตร ที่ 1,800 – 4,000 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ 8G-DCT พร้อมระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ 4MATIC ตัวเลขจากโรงงาน อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 6.9 วินาที ความเร็วสูงสุด 236 กิโลเมตร/ชั่วโมง ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ CO2 165 – 169 กรัม/กิโลเมตร
Diesel Engine Lineup
ขุมพลังสำหรับตระกูล Diesel นั้น เป็นการนำเครื่องยนต์ OM654 ที่ผู้คนทั่วโลกเริ่มคุ้นเคยกันดี ในบรรดา Mercedes-Benz หลายรุ่นตลอด หลายปีที่ผ่านมา นำมาปรับปรุงใหม่ เป็น OM654 q โดยการปรับปรุงหลักๆมีทั้ง เสื้อสูบ และฝาสูบ ทำจาก Aluminium แต่ ลูกสูบ ยังคงทำจากเหล็กหล่อ เพื่อช่วยลดแรงเสียดทาน เพิ่มแรงอัดในการจุดระเบิด ระบบบำบัดไอเสีย ที่ช่วยให้ สาร AdBlue ระเหยได้เร็วขึ้น ช่วยลดก๊าซ Nitrogen Oxide (NOx) รวมทั้ง หม้อฟอกอากาศ Second SCR Catalytic Converter ซึ่งมีตัวเร่งปฏิกิริยา บำบัดกลิ่นแอมโมเนีย (Ammonia) ส่งผลให้ เครื่องยนต์ OM654 q ให้ประสิทธิภาพกมารทำงานดีขึ้น พร้อมกับลดมลพิษลงไปด้วยในเวลาเดียวกัน
GLB 180d : เครื่องยนต์ รหัส OM654 q DE 20 SCR Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว ขนาด 2.0 ลิตร 1,950 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 82.0 x 92.3 มิลลิเมตร กำลังอัด 15.5 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงแบบ Direct Injection ผ่านราง Common-Rail พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharger กำลังสูงสุด 116 แรงม้า (PS) ที่ 3,400 – 4,440 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 280 นิวตันเมตร (28.53 กก.-ม.) ที่ 1,300 – 2,600 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ 8G-DCT ตัวเลขจากโรงงาน อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 11.3 วินาที ความเร็วสูงสุด 188 กิโลเมตร/ชั่วโมง ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ CO2 ที่ 128 – 132 กรัม/กิโลเมตร
GLB 200 d : เครื่องยนต์ รหัส OM654 Q DE 20 SCR Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว ขนาด 2.0 ลิตร 1,950 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 82.0 x 92.3 มิลลิเมตร กำลังอัด 15.5 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงแบบ Direct Injection ผ่านราง Common-Rail พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharger ให้กำลังสูงสุด 150 แรงม้า (PS) ที่ 3,400 – 4,440 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 320 นิวตันเมตร (32.60 กก.-ม.) ที่ 1,400 – 2,600 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ 8G-DCT ตัวเลขจากโรงงาน อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 9.0 วินาที ความเร็วสูงสุด 204 กิโลเมตร/ชั่วโมง ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ CO2 129 – 133 กรัม/กิโลเมตร
GLB 200 d 4MATIC : เครื่องยนต์ รหัส OM654 Q DE 20 SCR Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว ขนาด 2.0 ลิตร 1,950 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 82.0 x 92.3 มิลลิเมตร กำลังอัด 15.5 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงแบบ Direct Injection ผ่านราง Common-Rail พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharger ให้กำลังสูงสุด 150 แรงม้า (PS) ที่ 3,400 – 4,440 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 320 นิวตันเมตร (32.60 กก.-ม.) ที่ 1,400 – 2,600 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ 8G-DCT พร้อมระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ 4MATIC ตัวเลขจากโรงงาน อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 9.3 วินาที ความเร็วสูงสุด 201 กิโลเมตร/ชั่วโมง ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ CO2 136 – 144 กรัม/กิโลเมตร
GLB 220 d 4MATIC : เครื่องยนต์ รหัส OM654 Q DE 20 SCR Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว ขนาด 2.0 ลิตร 1,950 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 82.0 x 92.3 มิลลิเมตร กำลังอัด 15.5 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงแบบ Direct Injection ผ่านราง Common-Rail พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharger ให้กำลังสูงสุด 190 แรงม้า (PS) ที่ 3,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 400 นิวตันเมตร (40.76 กก.-ม.) ที่ 1,600 – 2,400 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ 8G-DCT พร้อมระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ 4MATIC ตัวเลขจากโรงงาน อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 7.6 วินาที ความเร็วสูงสุด 217 กิโลเมตร/ชั่วโมง ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ CO2 138 – 146 กรัม/กิโลเมตร
ส่วนรุ่น AMG GLB 35 4 MATIC จะมาพร้อมกับ เครื่องยนต์รหัส M260 DE 20 AL เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว ขนาด 2.0 ลิตร 1,991 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 83.0 x 92.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.5 : 1 ห้องเผาไหม้แบบ CONICSHAPE® ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงแบบ Direct Injection พ่วงระบบอัดอากาศ Twin-scroll Turbocharger
สำหรับเครื่องยนต์ของ Mercedes-AMG GLB 35 4 MATIC มีจุดที่ได้รับการพัฒนา ปรับปรุง ยกระดับจากขุมพลังใน GLB 250 ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้แก่ การใช้ชิ้นส่วนข้อเหวี่ยงแบบ Die-cast aluminum ที่มีความแข็งแรง น้ำหนักเบา หัวฉีด Piezo ความแม่นยำสูง ปรับระบบปรับหัว Camshaft ฝั่งวาล์วไอดี แปรผัน CAMTRONIC รวมทั้ง เทคโนโลยี Intelligent Thermal Management ที่ช่วยเพิ่มความร้อนของเครื่องยนต์และน้ำมัน หลังเริ่มติดเครื่องยนต์หมาดๆ ให้ร้อนเร็วขึ้น ช่วยลดมลพิษลงได้ดียิ่งขึ้น
กำลังสูงสุด 306 แรงม้า (PS) ที่ 5,800 – 6,100 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 400 นิวตันเมตร (40.76 กก.-ม.) ที่ 3,000 – 4,000 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ AMG SPEEDSHIFT DCT 8G พร้อมระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ AMG Performance 4MATIC ตัวเลขจากโรงงาน อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 5.2 วินาที ความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ CO2 ที่ 171 – 173 กรัม/กิโลเมตร
ระบบส่งกำลังของทุกรุ่น เป็นเกียร์อัตโนมัติ Dual Clutch ซึ่งมีความแตกต่างกันไปตามขนาดเครื่องยนต์ พร้อมแป้นเปลี่ยนเกียร์ Paddle Shift ด้านหลังพวงมาลัย โดย GLB 200 เบนซิน จะเป็นรุ่นเดียวเท่านั้น ที่ติดตั้งเกียร์อัตโนมัติ Dual Clutch แบบ 7 จังหวะ 7G-DCT ซึ่งออกแบบและพัฒนาโดย Getrag เกียร์ลูกนี้ ถูกออกแบบมารองรับเครื่องยนต์เบนซิน M282 ขนาด 1,332 ซีซี. ของ Mercedes-Benz เอง และขุมพลัง Diesel 1.5 dCi ซึ่งพัฒนาขึ้นร่วมกับ Renault ฝรั่งเศส โดยมีอัตราทดเกียร์ดังนี้
เกียร์ 1…………………………..18.63
เกียร์ 2…………………………..11.05
เกียร์ 3……………………….…..6.80
เกียร์ 4……………………….…..4.62
เกียร์ 5……………………….…..3.57
เกียร์ 6……………………….…..2.85
เกียร์ 7……………………….…..2.29
เกียร์ถอยหลัง….………………17.17
อัตราทดเฟืองท้าย……..……..N/A
นอกนั้น ทุกรุ่นย่อยที่เหลือ ทั้งเบนซิน และ Diesel จะยกระดับขึ้นมาใช้เกียร์อัตโนมัติ Dual Clutch 8 จังหวะ 8G-DCT ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นโดย Mercedes-Benz เอง และติดตั้งอยู่แล้ว ในตระกูล A-Class ใหม่ CLA ใหม่ และ GLA ใหม่ เกียร์รุ่นนี้ เริ่มผลิตขึ้นครั้งแรกเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2019 โดย โรงงาน Star Transmission ในเมือง Sebeş ซึ่งตั้งอยู่ในเขต Transylvania ภูมิภาคประวัติศาสตร์ ตอนกลางของ Romania มีน้ำหนักเบากว่าเกียร์ 7G-DCT ประมาณ 3.6 กิโลกรัม แต่รองรับแรงบิดสูงสุดได้มากถึง 520 นิวตันเมตร มีอัตราทดเกียร์ ดังนี้
เกียร์ 1……………………….…..17.56
เกียร์ 2……………………….…..12.32
เกียร์ 3………………………..…..8.09
เกียร์ 4………………………..…..5.67
เกียร์ 5………………………..…..4.12
เกียร์ 6………………………..…..3.23
เกียร์ 7………………………..…..2.52
เกียร์ 8………………………..…..1.99
เกียร์ถอยหลัง….………………14.75
อัตราทดเฟืองท้าย……..……..N/A
ส่วน Mercedes-AMG GLB 35 4 MATIC จะเปลี่ยนไปใช้เกียร์อัตโนมัติ Dual Clutch 8 จังหวะ แบบ AMG SPEEDSHIFT DCT 8G ซึ่งเป็นเกียร์ลูกเดียวกับ AMG A45 และ A45 S รุ่นล่าสุด ทาง Mercedes-Benz ไม่ได้เปิดเผยอัตราทดเกียร์ มาให้ได้รับทราบกัน ความแตกต่างที่พบเห็นได้บนตัวรถก็คือ แป้น Paddle Shift จะเป็นแบบ พิเศษ ซึ่งต่างจากแป้น Paddle Shift ใน GLB รุ่นปกติ
สิ่งที่ผม ไม่โอเค อย่างแรงก็คือ เมื่อปีก่อนๆ ผมที่เคยบอกกับวิศวกรชาวเยอรมันไป 2-3 คนแล้วว่า คันเกียร์แบบกระดิกนี้ว ที่ติดตั้งบริเวณฝั่งขวาของคอพวงมาลัยแบบนี้ มันไม่ปลอดภัยสำหรับลูกค้าของพวกเขาจำนวนไม่น้อย ซึ่งมีรถยี่ห้ออื่นนอกเหนือจากแบนด์ตราดาวอยู่ในโรงรถ เพราะการสลับจากรถยี่ห้ออื่นในบ้าน ขึ้นมาขับ Mercedes-Benz อาจทำให้ลูกค้าบางคน เผลอไผล ลืมตั้งสติ เปิดไฟเลี้ยว…ถ้าเป็นการกระดกลงล่าง ด้วยเข้าใจว่า เปิดไฟเลี้ยวขวา นั่นยังไม่เท่าไหร่ เพราะเกียร์ ก็จะยังอยู่ที่ตำแหน่ง D หรือไม่ก็ M ในบางรุ่น แต่ถ้าคนขับ เผลอยกก้านสวิตช์เพราะคิดว่าจะเปิดไฟเลี้ยวซ้าย เกียร์จะเข้าไปอยู่ในตำแหน่ง N (เกียร์ว่าง) ซึ่งไม่ปลอดภัยในการขับขี่จริง
เข้าใจดีว่า ทีมออกแบบ เขาคำนึงถึงตลาดอเมริกาเหนือ ซึ่งต้องการพื้นที่วางของ และช่องวางแก้ว ขนาดใหญ่เป็นพิเศษ และการย้ายตำแหน่งคันเกียร์ไปไว้บนคอพวงมาลัย ก็ช่วยเพิ่มพื้นที่บริเวณคอนโซลกลางได้จริง แต่ดูเหมือนว่า วิศวกรค่ายตราดาว เขาไม่สนใจปัญหานี้ เพราะพวกเขาเคยบอกกับผมว่า “แต่ในเยอรมนีเอง ลูกค้าของเราก็ไม่เคยมีปัญหาดังกล่าวนี้เลยนะ” แถมคราวนี้ พวกเขาเปลี่ยนงานออกแบบคันเกียร์ แบบกระตกนิ้วที่คอพวงมาลัย ให้มีลักษณะเหมือนกับก้านไฟเลี้ยวในรถยนต์ทั่วไปมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ราวกับประชดประชันความคิดเห็นของผม ผู้ซึ่งทำได้เพียงแค่ กรอกลูกตามองไปข้างบน แล้วก็ต้องทนใช้งานคันเกียร์ ดีไซน์”น่าเป็นห่วง” แบบนี้ กันในรถหลายๆรุ่นของ Mercedes-Benz กันต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้
GLB ใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า เป็นพื้นฐาน แต่ในบางรุ่นย่อยของ GLB จะถูกติดตั้งระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ 4MATIC มาให้ ซึ่งในแต่ละโหมดการขับขี่ ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ จะมีสัดส่วนการกระจายกำลังไปยังล้อลู่หน้า-หลัง แตกต่างกันออกไป ในโหมด Eco และ Comfort อยู่ที่ 80 : 20 โหมด Sport อยู่ที่ 70 : 30 และในโหมด Off-Road จะเพิ่มการทำงานของชุดล็อคเพลากลาง ทำให้สามารถกระจายกำลังไปยังล้อคู่หน้า-หลัง ได้เท่ากันที่ 50 : 50 การเลือกโหมดการขับขี่ ทำได้โดยการปรับสวิตช์ DYNAMIC SELECT
ส่วนระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ เฉพาะใน Mercedes-AMG GLB 35 4 MATIC เป็นแบบ AMG Performance 4MATIC ที่สามารถแปรผันการกระจายแรงบิด ไปยังล้อคู่หน้าและล้อคู่หลัง ในอัตราส่วนตั้งแต่ 100 : 0 ไปจนถึง 50 : 50 พร้อมโปรแกรมปรับเปลี่ยนบุคลิกตัวรถ
โหมดการขับขี่ AMG DYNAMIC SELECTED
– Slippery โหมดการขับขี่บนพื้นลื่น ระบบจะช่วยลดทอนพละกำลังของเครื่องยนต์ลง เปลี่ยนเกียร์ขึ้นเกียร์สูงเร็วกว่าเดิม และนุ่มนวลมากขึ้น
– Comfort โหมดการขับขี่ที่เน้นความสะดวกสบาย ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง ใช้เกียร์สูงในการขับขี่ ช่วงล่าง น้ำหนักพวงมาลัย อยู่ในโหมด Comfort และเปิดใช้งานระบบ ECO Start/Stop
– Sport และ Sport+ โหมดการขับขี่ที่มุ่งเน้นความสนุกสนานเป็นหลัก โดยปรับการทำงานของเครื่องยนต์และระบบส่งกำลัง ระบบรักษาเสถียรภาพการทรงตัว และปิดการทำงานของระบบ ECO Start/Stop พวงมาลัยจะหนืดขึ้น ช่วงล่างจะตึงขึ้น
– Individual โหมดการขับขี่ที่สามารถปรับค่าส่วนต่างๆ แยกกัน ตามที่ผู้ขับขี่ต้องการ เช่นอยากให้ช่วงล่างตึงขึ้น แบบ Sport แต่โหมดเครื่องยนต์ ยังเป็น Comfort ก็เลือกปรับได้ตามใจชอบ
ระบบบังคับเลี้ยว
ระบบบังคับเลี้ยวเป็นแบบ Rack & Pinion ผ่อนแรงด้วยระบบเพาเวอร์ แบบใช้มอเตอร์ไฟฟ้า EPS (Electronics Power Steering) รัศมีวงเลี้ยว 5.85 เมตร
ขณะที่รุ่น Mercedes-AMG GLB 35 4MATIC นั้น เป็นระบบบังคับเลี้ยวแบบ Rack & Pinion ผ่อนแรงด้วยระบบเพาเวอร์ แบบใช้มอเตอร์ไฟฟ้า EPS (Electronics Power Steering) เช่นกัน แต่ทาง AMG ถูกเพิ่มระบบปรับน้ำหนักพวงมาลัยให้แปรผันตามความเร็ว (Speed-sensitive Power Steering) มาให้ด้วย
ระบบกันสะเทือนด้านหน้าเป็นแบบ McPherson struts ช็อกอัพแก๊สเป็นแบบ Twin-tube พร้อมเหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลังเป็นแบบ Multi-Link คอยล์ปสริง ช็อกอัพแก๊ส พร้อมเหล็กกันโคลง สามารถปรับความแข็ง/นุ่มของช่วงล่างได้ ด้วยการควบคุมผ่านสวิตช์ DYNAMIC SELECT
ส่วนรุ่น AMG GLB 35 4 MATIC นั้น เพื่อให้มีความปลอดภัย และสามารถคาดเดาอาการของตัวรถได้ตลอดเวลา ระบบกันสะเทือนจึงถูกนำมาพัฒนาต่อยอดโดย Mercedes-AMG ซึ่งมีการปรับปรุงชิ้นส่วนช่วงล่าง ได้แก่ ปีกนกคู่หน้าและห่วงสลักบังคับการหักเลี้ยว รวมถึงซับเฟรมและชุดคอม้า ของล้อคู่หลัง ขณะเดียวกัน โครงสร้างตัวถัง มีการเสริมชิ้นส่วนแผ่นอลูมิเนียม เพื่อลดการบิดตัวและเพิ่มความความแข็งแรง ส่งผลให้มีประสิทธิภาพการยึดเกาะถนนที่ดีมากยิ่งขึ้น
ระบบห้ามล้อ เป็นแบบ ดิสก์เบรก 4 ล้อ เสริมการทำงานด้วย ระบบป้องกันล้อล็อคขณะเบรกกระทันหัน ABS (Anti-lock braking System) ระบบกระจายแรงเบรกตามน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronics Brake Force Distribution) ระบบช่วยเบรก BAS (Brake Assist) ทำงานร่วมกับ ระบบควบคุมการทรงตัวอัตโนมัติ ESP (Electronic Stability Program) ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี ASR (Acceleration skid control)
ระบบ ABS ใน GLB ทุกรุ่น มีความพิเศษตรงที่ สามารถอนุญาตให้ล้อคู่หน้าเบรกจนล้อล็อคได้ ที่ความเร็วไม่เกิน 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพื่อเป็นการลดระยะเบรกให้สั้นลง ในกรณีที่กำลังวิ่งอยู่บนพื้นโคลน
ส่วนระบบห้ามล้อ ของ AMG GLB 35 4 MATIC นั้น ด้านหน้าเป็นแบบดิสก์เบรก ขนาด 350 มิลลิเมตร แบบมีครีบและเจาะรูระบายความร้อย พร้อมคาลิเปอร์ 4 Pot ด้านหลังเป็นแบบดิสก์เบรก ขนาด 330 มิลลิเมตร พร้อมคาลิเปอร์แบบ floating 1 Pot มาพร้อมกับตัวช่วยมาตรฐานต่างๆ ข้างบน เช่นเดียวกัน
ระบบความปลอดภัยและระบบช่วยเหลือการขับขี่
GLB ใหม่ ทุกรุ่น มาพร้อม – ถุงลมนิรภัยคู่หน้า ด้านข้าง ม่านลมนิรภัย และถุงลมหัวเข่า รวม 7 ตำแหน่ง เข็มขัดนิรภัยแบบ ELR 3 จุด ครบทั้ง 5 หรือ 7 ตำแหน่งเบาะ เข็มขัดคู่หน้า ปรับระดับสูง – ต่ำได้ พร้อมระบบดึงกลับอัตโฯมัติ และผ่อนแรงปะทะ Pre-tensioner & Load Limiter และจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก มาตรฐาน ISOFIX ที่บริเวณใต้พนักพิงหลังของ เบาะแถว 2 ทั้ง ฝั่งซ้าย และขวา
นอกจากนี้ GLB ใหม่ ยังถูกติดตั้ง กลุ่มเทคโนโลยีระบบ ADAS (Adaptive Driver Assist System) ที่ Mercedes-Benz เรียกว่า Driving Assistance package ดังนี้
– ระบบเตือนมุมอับสายตา (Active Blind Spot Assist)
– ระบบช่วยเบรกอัตโนมัติ (Active Braking Assist)
– ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน Active Distance Assist DISTRONIC ทำงานประสานกับแผนที่ และระบบนำทาง ทำให้รถสามารถขับถนนผ่านบางรูปแบบได้อย่างอัตโนมัติ เช่น ทางโค้ง และวงเวียน
– ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติขณะเลี้ยวโค้ง (Route-based speed adjustment with end of tailback function)
– ระบบช่วยรักษาระยะห่างจากรถที่อยู่ด้านหน้า (Active Distance Assist DISTRONIC)
– ระบบควบคุมรถไม่ให้ออกนอกเลน (Active Steering Assist)
– ระบบช่วยหลบหลีกการชนจากด้านหน้า (Evasive Steering Assist)
– ระบบป้องกันก่อนเกิดเหตุ รั้งเข็มขัด เลื่อนหน้าต่างและ SunRoof ปิดทุกบาน (PRE-SAFE PLUS)
– ระบบแจ้งเตือนป้ายจราจรบนมาตรวัด (Traffic Sign Assist)
– ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน (Hill-start Assistance System)
– ระบบช่วยควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน (Downhill Speed Regulation)
– ชุด Parking Package ช่วยเหลือผู้ขับขี่ขณะถอยจอด ประกอบไปด้วยกล้องมองภาพด้านหลัง 180 องศา ระบบช่วยจอด Active Parking Assist with PARKTRONIC พร้อม Sensor กะระยะทั้งด้านหน้า และด้านหลัง
ส่วน AMG GLB 35 4 MATIC ระบบความปลอดภัยและระบบช่วยเหลือการขับขี่ มีมาให้เหมือน Mercedes-Benz GLB Class รุ่นปกติ แต่มีสิ่งที่เพิ่มเข้ามาให้ นั่นคือ ระบบส่งสัญญาณเตือนผู้ขับขี่เมื่อมีอาการเหนื่อยล้า (ATTENTION ASSIST) ช่วยป้องกันการหลับใน และช่วยเพิ่มความปลอดภัยในขับขี่ ในช่วงความเร็ว 60 – 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยระบบจะประเมิณที่แปรที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจจับอาการเหนื่อยล้าของผู้ขับขี่ อย่างไรก็ตาม ระบบนี้จะไม่ทำงานในขณะอยู่ในโหมด Sport+
***** การทดลองขับ *****
เส้นทางที่ Mercedes-Benz และผู้จัดงาน เขาวางเอาไว้ มีให้เลือก หลายเส้นทาง ตามที่คุณเห็นในแผนที่ ทุกจุด จะเริ่มต้นที่ สนามบิน Malaga เหมือนกันทั้งหมด ในตอน 13.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) แต่เราเลือกเส้นที่ใช้เวลาสั้นที่สุด คือ 1b (สีม่วง) และ 2b (สีฟ้า) เนื่องจาก ระยะเวลาของเส้นที่ยาวสุดนั้น มันยาวนานมากเกินไป อีกทั้งกว่าจะไปถึงพื้นที่ทดลองขับ Off-Road ก็ปาเข้าไปบ่าย 2 โมง รวมเวลารับประทานมื้อเที่ยง และลองขับในสนาม Off-Road กว่าจะเสร็จ ก็ปาเข้าไป บ่าย 4 โมงกว่า ดูเหมือนว่าผู้ร่วมเส้นทางทุกคน อยากจะเข้าไปพักที่โรงแรม Nobu Hotels Marbella อันเป็นจุดหมายปลายทางของวันแรกโดยเร็ว คืนนั้น เราร่วมปาร์ตี้รับรอง ในบรรยากาศของห้องรับประทานอาหารซึ่งถูกจัดสร้างขึ้นเป็นพิเศษ เพื่องานนี้โดยเฉพาะ ริมชายหาดส่วนตัว
ส่วนเส้นทางของวันที่ 2 เรามีเวลาสัมผัสธรรมชาติริมอ่าว Marbella สั้นสุดๆ ก่อนต้องรีบออกจากโรงแรม Nobu Hotel Marbella ในเวลาค่อนข้างสาย คือราวๆ 9.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น ช้ากว่าไทยประมาณ 5 ชั่วโมง) จึงต้องเลือกเส้นทางที่สั้นที่สุด 1b (สีเขียวเข้ม) ระยะทางประมาณ 1 ชั่วโมง มีขึ้นทางด่วนด้วยในบางช่วง เพื่อมุ่งหน้ากลับมายังร้านอาหาร Trocadero บนถนนเลียบริมชายหาด Av. Del Sol อันป็นจุดสิ้นสุดของการทดลองขับ ภายในเวลา 11.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ก่อนจะรอรถตู้ Shuttle พาเรากลับไปส่งยังสนามบิน Malaga เพื่อขึ้นเครื่องบินของ Turkish Airline เดินทางกลับประเทศไทยในช่วง 17.25 น. เย็นวันนั้น (ตามเวลาท้องถิ่น) ทันที ตามสไตล์ของการจัดงานโดยผู้ผลิตรถยนต์ฝั่งยุโรป ทุกแบรนด์
GLB รุ่นที่เราทดลองขับกัน ในวันแรก คือรุ่นท็อป Mercedes-AMG GLB 35 4 Matic ซึ่งแม้จะมีความหวังน้อยมากที่จะถูกสั่งเข้ามาขายในบ้านเรา แต่ก็ยังพอลุ้นได้อยู่ในระยะยาว ส่วนอีกรุ่น เป็น GLB 200 ซึ่งจะใกล้เคียงกับรุ่นที่ถูกสั่งเข้ามาขายในเมืองไทยมากกว่า
ผมพอจะหาจังหวะจับเวลาอัตราเร่ง ของรถทั้ง 2 คัน ได้ในช่วงสั้นๆมากๆ โดยมีผมเป็นคนขับ และจับเวลา ส่วนผู้โดยสารนั่งข้างๆกัน เป็นผู้ร่วมเดินทาง และสักขีพยานไปด้วยในตัว คือ พี่หน่อย จาก Auto Life Thailand และ พี่ฝน PR ของ Mercedes-Benz (Thailand) รวม 3 คน พร้อมสัมภาระส่วนตัว นิดหน่อย รวมแล้วไม่น่าเกิน 15 กิโลกรัม รวม การทดลองนั้น เราปรับสวิตช์โปรแกรมการขับขี่ ไปอยู่ที่ Mode C (Comfort)
AMG GLB 35 4 MATIC
อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทำได้ 7.86 วินาที
อัตราเร่ง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทำได้ 5.40 วินาที
GLB 200
อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทำได้ 12.57 วินาที
อัตราเร่ง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทำได้ 8.77 วินาที
ย้ำกันอีกทีว่า ตัวเลขที่จับเวลามาให้นี้ มีจังหวะทดลองได้เพียงรายการละ 1 ครั้งเท่านั้น และไม่เหมือนกับมาตรฐานการจับเวลาตามปกติของเว็บไซต์เรา เนื่องจาก อุณหภูมิ อยู่ที่ 18 องศาเซลเซียส ไม่ทราบชนิดน้ำมัน ไม่ทราบความดันลมยาง แถมมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นมาอีก 1 คน รวมเป็น 3 คน น้ำหนักบรรทุกจึงมากกว่าปกติ ไว้รอให้รถเปิดตัวในเมืองไทย อาจมีการยืมรถมาจับเวลาใหม่ตามมาตรฐานของเราในภายหลัง ซึ่งยังไม่สามารถบอกได้ในตอนนี้ว่า เมื่อไหร่…
ในการขับขี่จริง เครื่องยนต์ของ AMG GLB 35 4 MATIC ก็มีบุคลิก ไม่ต่างจาก รถยนต์ AMG ที่ใช้เครื่องยนต์ 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2.0 ลิตร พ่วง Turbo คันอื่นๆ ที่ผมและคุณผู้อ่านเคยเจอมา ไม่ว่าจะเป็น เสียงคำรามใน Mode Sport+ ที่ ดุดันคมเข้มเกินบุคลิกตัวรถที่มองเห็นจากภายนอก ความต่อเนื่องของอัตราเร่ง ที่นำพารถพุ่งไปข้างหน้าในระดับที่ คนซึ่งคุ้นชินกับความแรง จะพอตื่นเต้นจนมีรอยยิ้มที่มุมปาก แต่ออกจะน่ากลัวมาก สำหรับคุณแม่บ้านขี้หวาดผวากับแรงกระชากขณะออกตัว เว้นเสียแต่ว่า ภรรยาของคุณ จะชอบความแรง และขับรถเร็วเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เชื่อว่า น่าจะชอบรถคันนี้แน่ๆ!
เพียงแต่ว่า แรงดึงที่คุณจะสัมผัสได้นั้น จะลดลงจากรถตระกูล AMG 43 หรือ 45 ทั้งหลาย ลงมานิดหน่อย ตามรหัสรุ่นรถเลยนั่นละครับ แม้จะมีแรงดึงขณะออกตัวจนหลังติดเบาะให้พอสาแก่ใจ แต่ก็ยังไม่ถึงขั้น “เปิดวาร์ป” แบบ A45 AMG แถมยังพอมีอาการรอรอบเครื่องยนต์อยู่นิดหน่อย ในช่วงแรกที่ออกตัว ต้องรอสักราวๆ 2,000 รอบ/นาที ขึ้นไป คุณจึงจะสัมผัสได้ถึงแรงบิดที่กำลังกระจายไปหมุนล้อขับเคลื่อน ตามต้องการ อย่างต่อเนื่อง
การเปลี่ยนเกียร์ใน Mode Comfort ปกติ ก็ราบรื่นดี แต่พอเข้าสู่ Mode Sport เกียร์จะเริ่มเปลี่ยนให้มีอาการกระตุกนิดๆพอให้คนชอบขับรถรื่นรมณ์ แต่ถ้าเปลี่ยนเป็น Mode Sport + เสียงเครื่องยนต์จะดุดันขึ้น พวงมาลัยจะหนืดขึ้นอีกหน่อย และช็อกอัพ ก็จะถูกปรับให้แข็งขึ้น (แต่ยังเหลือความนุ่มตืดปลายนวม) และเกียร์จะปล่อยให้ผู้ขับเลือกเปลี่ยนตำแหน่งจากแป้น Paddle Shift หลังพวงมาลัยเอาเอง ถ้าอยากกลับไปยังเกียร์ D ตามเดิม ก็ต้องใช้วิธี ตบแป้นฝั่งบวก แช่ไว้ 2 วินาที เหมือนเช่นเคย
ผมมองว่า พละกำลังที่ AMG GLB 35 4MATIC มีมาให้นั้น แรงเร้าใจเพียงพอที่คุณพ่อบ้าน จะอ้อนวอนขอคุณแม่บ้าน เปิดไฟเขียวอนุมัติ จัดมาใช้งานสักคัน เพราะ ในวันปกติ รถคันนี้บังคับควบคุมง่าย และไม่มีอะไรน่ากลัวเลย จนกว่าคุณจะเริ่มกดคันเร่ง เกินกว่า 35% เพื่อปลุกสัญชาตญาณที่แท้จริงของตัวรถออกมานั่นแหละ มันจะแปลงร่างจาก SUV คันเล็กสำหรับรับส่งลูกหลาน ให้กลายเป็นซาตานตัวน้อย สร้างความหรรษาให้กับคุณได้ทันที ตามสั่ง
Photo :
– Cockpit of GLC 200 in Grey (Specification close to Thai version)
– GLB 250d 4MATIC in White (Not Available in Thailand)
– GLC 220 d in Red (Not Available in Thailand)
ขณะเดียวกัน รุ่นล่างสุด GLB 200 ซึ่งมาพร้อมเครื่องยนต์ 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1.3 ลิตร นั้น อัตราเร่งที่ออกมา ก็พอกันกับรถเก๋งญี่ปุ่น คันเล็ก เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร อย่าง Toyota Vios ซึ่งก็จัดว่า ดีเพียงพอแล้วที่จะไม่ให้โดนปรามาสว่าไร้เรี่ยวแรง แค่ต้องถือว่า มีกำลังสมตัว เท่านั้น ไม่ได้ปรู๊ดปร๊าดอะไรมากมาย
พอกดคันเร่งเต็มตีนพุ่งออกไป ในโหมด Comfort ตัวรถก็ค่อยๆออกตัวช้าๆ ทะยานไปข้างหน้า อย่างต่อเนื่อง การเปลี่ยนเกียร์ Smooth ดี เพราะรถยังสดใหม่อยู่ อาจใช้เวลานิดหน่อย กว่าจะถึง 100 หรือ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่คุณก็ต้องเข้าใจว่า เครื่องยนต์ลูกเล็กๆแบบนี้ เมื่อมาแบกตัวถังแบบ SUV ซึ่งต้านลมกว่าปกติอยู่นิดนึงแล้ว แถมยังเป็นรถที่ใส่ Option มาเยอะพอสมควร เช่น เครื่องเสียง Burmester เบาะหนัง เบาะแถว 3 และ หลังคา Panoramic Glass Roof ยิ่งเพิ่มน้ำหนักรถเข้าไปอีก ฉะนั้น การตอบสนองที่ GLB 200 ทำได้ ผมมองว่า มันก็เพียงพอกับการใช้งานในชีวิตประจำวัน ของลูกค้าทั่วๆไป ที่ไม่ได้เป็นขาซิ่งประจำครอบครัว แล้วละ
การเก็บเสียง ทำได้ดีในระดับที่คุณคาดหวังได้จาก Mercedes-Benz ระดับ Compact อาจมีเสียงยางดังขึ้นมาบ้าง ขึ้นอยู่กับยี่ห้อและขนาดของยางติดรถ ถ้าเป็น GLB 200 พอจะมีเสียงให้ได้ยินไม่มากนัก แต่ถ้าเป็น AMG GLB 35 4MATIC ก็ต้องขึ้นอยู่กับพื้นผิวถนนด้วย เพราะบางที มันก็เงียบในช่วงคลานในเมือง และแอบมีเสียงดังนิดๆบ้าง ในช่วงความเร็วปกติบนทางด่วน
พวงมาลัย ของ GLB นั้น โดยบุคลิกพื้นฐาน ก็เซ็ตมาไม่ค่อยแตกต่างจาก C-Class หรือ GLC เท่าไหร่นัก คือในช่วงความเร็วต่ำ จะมีน้ำหนักเบาหวิว แต่ยังไม่ถึงขั้นเบาโหวง และมีระยะฟรีเหมาะสม หมุนเลี้ยวง่าย เอาใจคุณสุภาพสตรี แต่ในย่านความเร็วที่สูงขึ้น น้ำหนักพวงมาลัยจะหนืดขึ้นนิดนึง ไม่เยอะนัก ช่วยให้ขับขี่เดินทางไกล สบายในแบบ Mercedes-Benz ยุคใหม่ ถือพวงมาลัยตรงๆได้นิ่งๆ ไม่ว่อกแว่ก บังคับเลี้ยวเข้าโค้งได้แม่นยำในระดับที่ SUV รุ่นใหม่ทั่วไปควรเป็น
แต่สำหรับ AMG GLB 35 4MATIC พวงมาลัยในช่วงความเร็วต่ำ จะหนืดกว่า GLB 200 นิดนึงซึ่งเป็นผลมาจากขนาดของล้อและยาง ที่มีขนาดใหญ่โต (ล้ออัลลอย 21 นิ้ว) มากกว่าจะมาจากการปรับเซ็ต การบังคับเลี้ยว ในช่วงความเร็วต่ำ จะเหมือนๆกับบรรดา Mercedes-AMG รุ่นต่ำกว่า E-Class ลงมา คือเน้นความเฉียบคมเพิ่มขึ้น กระชับขึ้น ส่วนช่วงความเร็วเดินทางนั้น On-Center feeling ดีมาก ความหนืดและน้ำหนักถือว่ากำลังดีแล้ว แต่เกินจาก 120 กิโลเมตร/ขึ้นไป ไม่ได้ลอง จึงบอกไม่ได้แน่ชัดนัก
ช่วงล่าง ต้องแบ่งการตอบสนองออกเป็น 2 แบบ หากเป็นรุ่น GLB 200 ซึ่งเป็นช็อกอัพและสปริงมาตรฐาน แน่นอนว่า คุณจะได้การตอบสนองที่คล้ายคลึงกับญาติผู้พี่อย่าง GLC พอสมควรเลย เซ็ตมาให้เน้นนุ่มๆสบาย ซับแรงสะเทือนจากพื้นผิวไม่เรียบ หลุมบ่อ ฝาท่อ.และลูกระนาด ได้ดี พอๆกับ GLC แต่ย่อมลงมานิดๆ และให้การทรงตัว ขณะใช้ความเร็ว 100-130 กิโลเมตร/ชั่วโมง บนทางด่วนได้นุ่มหนึบ สบายๆ เพียงแต่ว่า ถ้าเจอกระแสลมปะทะด้านข้างแรงๆ มากๆ ตัวรถก็แอบออกอาการเป๋ตามลม ได้บ้างนิดหน่อย ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของรถทรงสูงอย่าง SUV อยู่แล้ว
แต่สำหรับช่วงล่างของ AMG GLB 35 4MATIC นั่น แม้จะมีแคแรคเตอร์หลัก คือ ให้ความนุ่มนวลเพิ่มขึ้นนิดๆจากบรรดาญาติพี่น้องร่วมตระกูล AMG จนสังเกตได้ชัด แต่ทั้งนี้ มันก็ขึ้นอยู่กับว่า คุณปรับ Mode การขับขี่เป็นแบบใด
ใน Mode Comfort นั้น ช่วงล่างจะมาในแนวนุ่มแต่กระชับ แต่ช็อกอัพไม่ได้ยุบตัวเยอะเท่า GLB 200 กระนั้น ก็ยังให้ความสบายในการเดินทางได้ดี ในช่วงความเร็วต่ำ และปานกลาง
พอปรับขึ้นเป็น Mode Sport แม้ว่าตามหลักการ ช่วงล่างจะต้องแข็งขึ้น แต่เอาเข้าจริง ก็ตึงกว่า Mode Comfort แค่นิดเดียวเท่านั้น แถมยังคงเหลือความนุ่มและซับแรงสะเทือนได้ดีงามกว่าที่คิด อันนี้ถือว่า ทีมวิศวกร ทำการบ้านด้วยการเสริมชิ้นส่วนต่างๆให้ช่วงล่างของรุ่น AMG มาได้ดี
ต่อให้เปลี่ยนเป็น Mode Sport + ช่วงล่างก็แข็งขึ้นในแบบ “พอเป็นพิธีให้รู้นะว่านี่คือ Sport +” เจอเนินสะดุดลูกระนาด ก็ตึงตังอย่างสมเหตุสมผล ไม่ได้แข็งเป็นม้าดีดกะโหลกแบบ MINI หรือ A45 AMG ดังนั้น ทุกคนในครอบครัว น่าจะใช้ชีวิตอยู่กับรถแรงประจำบ้านคันนี้ได้แน่ๆ
เห็นรูปลักษณ์ที่ทำออกมาเอาใจครอบครัวแบบนี้ หากต้องปีนป่ายบนเส้นทางแนว Off-Road GLB ใหม่ ก็พอจะลุยไปได้อยู่ ที่สำคัญคือ ลุยน้ำได้อย่างที่เห็นในภาพกันจริงๆ เพราะ GLB ใหม่ ยกเอาระบบ เพียงแต่ว่า จะให้ไปลุยสภาพเส้นทางทุระกันดาร โหดๆ แบบ พี่ใหญ่ตระกูล G-Class Gelandewagen มันก็คงทำได้ไม่ดีเท่า
การตอบสนองของระบบเบรก ก็เป็นไปตามเกรดของรุ่นรถ หากเป็น AMG GLB 35 4MATIC แน่นอนครับว่า Feeling ของแป้นเบรก ค่อนข้างดี ความหนืดเหมาะสมกับบุคลิกของรถ แตะนิดๆ รถก็หน่วงความเร็วลงมาได้เยอะ แต่รถจะไม่ถึงขั้นหน้าทิ่มจนเกินเหตุ ต่อให้เบรกแรงๆ ก็ยังให้ความมั่นใจได้ดีอยู่
ส่วน GLB 200 นั้น แป้นเบรก ก็มาในสไตล์”นุ่มแต่หนืดหน่อยๆ” แบบรถเก๋ง Mercedes-Benz Compact บ้านๆทั่วไปซึ่งมีแป้นเบรกที่มีระยะเหยียบเพิ่มขึ้นอีกนิดนึง คุมน้ำหนักเท้าให้ชะลอรถในความเร็วต่ำได้ง่าย
********** สรุป (เบื้องต้น) **********
คุณภาพการขับขี่คล้าย GLC แปลงเป็นขับหน้า แล้วย่อส่วน
แต่แก้ปัญหาเรื่องห้องโดยสาร ของ GLA จนจบ รอพบในไทย
ปี 2020 เฉพาะ เบนซิน รุ่นล่าง ก่อน
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา…พูดกันแบบไม่อ้อมค้อม…ผมไม่ค่อยโปรดปราน GLA รุ่นแรกดั้งเดิมที่เพิ่งจะตกรุ่นไปแล้วในต่างประเทศ เท่าไหร่นัก แม้ผมจะชอบเส้นสายที่สวยงาม ลงตัว แต่มันเป็นรถที่สร้างขึ้นมาเพื่อเอาใจลูกค้าวัยหนุ่มสาว หรือเพิ่งมีครอบครัว ที่อยากจะเริ่มใช้ Benz เป็นคันแรก พูดให้ง่ายคือ พวกเขานำ A-Class รุ่นที่แล้ว ซึ่งมีพื้นตัวถังสำหรับรถขับเคลื่อนล้อหน้ารุ่นแรก ที่ท้ายปัดออกง่ายเกินเหตุ มาดัดแปลงหน้าตาแล้วยกสูงขึ้นอีกนิด บุคลิกการขับขี่กลางๆ ไม่ได้โดดเด่น ต่อให้ใครก็ตามจะบอกว่า มันคือ Compact ขับหน้า แปะตราดาว ที่ขับดีที่สุดแล้วในบรรดาญาติพี่น้อง Generation เดียวกัน ณ วันที่เปิดตัว
ทว่า ความพยายามจะเปิดใจของผม ถูกทำลายลงด้วยบรรยากาศอันตีบตันคับแคบของห้องโดยสาร เบาะนั่งที่ไม่รู้จะดันกบาลหาสวรรค์วิมานไปไหน จนถึงทุกวันนี้ ผมอยากถามคนที่ซื้อ GLA ไปใช้ว่า จริงๆแล้ว พวกเขาต้องการรถแบบไหนกันแน่ ระหว่างแค่ Premium Hatchback ยกสูง Chicๆ ตามกระแส อยากได้ Benz คันแรกในชีวิต แต่ ยังไม่เจอรถเก๋ง 4 ประตู ที่ต้องการในใบราคา หรือว่า อยากได้ SUV แท้ๆ จาก Benz แต่ยังไม่มีมาขายตอนที่ตัดสินใจซื้อกันแน่
ผมเชื่อว่า อย่างหลังเนี่ย น่าจะมีจำนวนลูกค้าไม่น้อยที่คิดแบบนั้น
ครั้นจะมองไปหา B-Class ซึ่งขับดีเกินความคาดหมาย และมีห้องโดยสาร ที่พอไปวัดไปวาได้ แต่ Design ภายนอกมันก็ดูเป็นรถเฉพาะกลุ่มสำหรับลูกค้าชาวไทยไปหน่อย แม้ชาวยุโรป จะซื้อมาเป็น “รถกึ่งครอบครัวกึ่งคนโสด” ก็ตาม
ผมรอมานานแล้วว่า เมื่อไหร่ ค่ายตราดาวจะมี SUV ขนาดเล็ก พิกัดตัวถังพอๆกับ BMW X1 เข้ามาขายแข่งกับค่ายตราใบพัดกันเสียที
พอ GLB ออกมาปุ๊บ เห็นรูปโฉมคันต้นแบบครั้งแรก ขณะต้องยืนเบียดแทรกกับชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ในงาน Auto Shanghai 2019 ผมกลับไม่ค่อยชอบเส้นสายของมันมากนัก จริงอยู่ว่า มันเรียบง่าย แต่มันดูทื่อๆ แถมยังมีกลิ่นอายของ Volkswagen Tiguan รุ่นแรกที่ผมชอบ มาให้สัมผัสอยู่จางๆเสียด้วยซ้ำ (บริเวณเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar และบานประตูคู่หน้า)
ทว่า เมื่อเจอกับ GLB ใหม่ คันจริง ที่สร้างขึ้นบนพื้นตังถังสำหรับรถขับเคลื่อนล้อหน้า เจเนอเรชันใหม่กว่าเดิม เพิ่มเติมด้วยการเข้า - ออกจากรถที่สะดวกสบาย กว่า GLA ดุจสวรรค์กับนรก ความโปร่งโล่งกว่าของห้องโดยสาร ในแบบที่ผมคาดหวัง และการขับขี่ที่ดีเกินคาดหมาย แถมยังมีความนุ่มสบายติดปลายนวมมาให้ ทั้งที่เป็นรุ่นแรงสุดในตระกูล อย่าง AMG GLB 35 4MATIC แม้ว่าเบาะหน้าและหลัง อาจจะนั่งไม่ถึงกับสบายนักในภาพรวม แต่ทั้งหมดนั่น ทำให้ GLB กลายเป็น Compact SUV ที่น่าสนใจ สำหรับคนที่ใช้เหตุผลในการเลือกซื้อรถยนต์ Preimum Compact SUV สำหรับครอบครัว สักคัน มากกว่าจะใช้แค่ Passion มาเป็นตัวกำหนด
เพียงแต่ว่า รุ่น 5 ที่นั่ง เพียงพอต่อการใช้งานของทุกคนแล้ว หากจะเลือกรุ่น 7 ที่นั่ง ต้องทำใจว่า มันเหมาะสำหรับเด็ก หรือใครก็ตามที่ตัวสูงไม่เกิน 168 เซ็นติเมตร เท่านั้น เพราะพื้นที่เบาะหลังแถว 3 มันคับแคบไล่เลี่ยกันกับ Nissan X-Trail รุ่นปัจจุบัน เลยเถอะ!
คุณผู้อ่านที่มองหา SUV จากค่ายตราดาว คาดหวังให้คุณภาพการขับขี่เป็นแบบ GLC แต่คล่องแคล่วกว่านิดๆ และมีราคาย่อมเยาลงมาหน่อยๆ เตรียมตัวเตรียมเงินไว้ให้ดี เพราะ Mercedes-Benz เตรียมสั่งนำเข้า GLB มาให้ลูกค้าชาวไทยได้เป็นเจ้าของกัน น่าจะภายในช่วงไตรมาส 1-2 ของปีหน้า
เพียงแต่ว่า อาจต้องทำใจสักหน่อย เพราะช่วงแรก GLB เวอรํชันไทย จะถูกนำเข้าจากโรงงานต่างประเทศ ราคาก็จะสูงหน่อย และ ไม่ใช่แค่นั้น รุ่นย่อยที่จะเริ่มจำหน่ายในไทย ยังเป็นรุ่นพื้นฐาน เครื่องบนต์ เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว ซึ่ง ยังไม่ปล่อยออกมาในตลาดโลก ณ ขณะนี้ นั่นแปลว่า AMG GLB 35 4MATIC จะยังไม่มาเมืองไทย ณ ตอนนี้
แต่… ไม่แน่นะ ถ้ามีเสียงเรียกร้องกันเยอะ และพอหาทางทำราคาให้ดีๆได้ AMG GLB 35 4MATIC น่าจะสร้าง แรงกระเพื่อม จนคู่แข่งทั้งหลายน่าจะหวั่นใจกับรถในสต็อกของตนเองกันแน่ๆ เพราะเท่าที่เห็นตอนนี้ ตลาด Compact SUV ระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ยังมีช่องว่างเปิดกว้างอยู่ มันจะกลายเป็น Benz ที่ครอบครัวยุคใหม่ มีเงินพอเหลือใช้ อยากจะเอามาครอบครองสักคันแน่ๆ
ขณะเดียวกัน GLA รุ่นที่ 2 ก็เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2019 ที่ผ่านมาสดๆร้อนๆ โดยใช้ทั้ง Platform เครื่องยนต์กลไก และงานวิศวกรรม รวมทั้งระบบไฟฟ้าต่างๆ ร่วมกับ GLB , CLA ซึ่งล่วนแล้วแต่แตกหน่อมาจาก A-Class ใหม่ รุ่นที่ 4 กันทั้งนั้น พอเดาได้ว่า นอกเหนือจากงานออกแบบภายนอก ที่ปรับ Packaging ใหม่ให้ดูโค้งมนและสวยงามขึ้นแลืว บุคลิกการขับขี่ของ GLA ใหม่ น่าจะติดสปอร์ตเพิ่มขึ้นจาก GLB อีกนิดนึง อย่างที่คนทั่วไปน่าจะไม่ค่อยรู้สึกถึงความแตกต่างมากนัก
ถึงตอนนี้ เรารู้แค่ว่า GLB จะมาเมืองไทยอย่างแน่นอน ในปี 2020 นี้ แต่สำหรับการมาถึงของ GLA ใหม่ สำหรับบ้านเราแล้ว ยังคงเป็นปริศนาอยู่
รอลุ้นกันปี 2020 ครับ!!
——————–///——————–
ขอขอบคุณ / Special Thanks to :
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
Daimler AG.
Mercedes-Benz AG.
Mercedes-Benz Espana.
Mercedes-Benz (Thailand) Co.,Ltd.
เอื้อเฟื้อและอำนวยความสะดวกตลอดการเดินทาง ในครั้งนี้
เตรียมข้อมูลตัวรถในบทความนี้โดย : Yutthapichai Phantumas (AKA : “Q”)
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ และภาพถ่ายทั้งหมด
โดยผู้เขียน และผู้ไม่ประสงค์ออกนาม
ลิขวิทธิ์ภาพถ่ายจากผู้ผลิต ในบทความนี้ เป็นของ Daimler AG.
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
24 ธันวาคม 2019
J!MMY
Copyright (c) 2019
Text and Some Pictures
Some on-Location Pictures are Copyright of Daimler AG.
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
December 24th,2019
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!