ในปี พ.ศ. 2550 คณะกรรมการบีโอไอ (BOI) มีนโยบายส่งเสริมให้เกิดโครงการ
ผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือที่เราทราบกันดีว่า
“อีโค่คาร์ (Eco Car)” เป็นครั้งแรก ท้ายที่สุดก็มีมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
ในรัฐบาลสมัยนั้นเป็นที่สำเร็จ เริ่มมีผลบังคับใช้ใน ปี 2552
การกำหนดคุณสมบัติของรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากลหรืออีโค่คาร์
ยังส่งผลให้ผู้บริโภค สามารถเข้าถึงรถยนต์ที่มีความโดดเด่นในด้านการประหยัด
พลังงานที่ ด้านการปล่อยมลพิษที่น้อยลง ซึ่งข้อกำหนดและปัจจัยเหล่านี้
ได้กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาในด้านคุณสมบัติ คุณภาพของตัวรถมากขึ้น
จนเวลาล่วงเลยมาถึงปี 2558 เพื่อเป็นการต่อยอดโครงการนี้จึงเป็นที่มา
ของเฟสต่อไป นั่นคือ อีโค่คาร์ เฟส2 นั่นเองครับ เริ่มพิจารณาเฟสที่ 2 นี้
ในเดือนสิงหาคม 2556 และมีผลบังคับใช้ได้ในปี 2558
เป้าหมายหลักๆของโครงการเฟสที่ 2 นี้ 3 หัวข้อใหญ่ๆ คือ
1. ก่อให้เกิดการลงทุนคลัสเตอร์ยานยนต์ขนาดใหญ่
เกิดการต่อยอดช่วยให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกรถ
2. ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงรถยนต์ที่มีมาตรฐานสูง
ทั้งด้านความปลอดภัยและการประหยัดพลังงาน และมีราคาที่เหมาะสมไม่สูงเกินไป
3. มีส่วนช่วยรองรับการขยายตัวของสังคมเมือง
และช่วยลดผลกระทบจากการใช้รถยนต์ ทั้งการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนได
ออกไซด์ (CO2) และช่วยลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุ
เพราะฉะนั้นแล้ว อีโค่คาร์ (Eco car) จึงเป็นรถที่เน้นในด้านประหยัดพลังงาน
และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือย่อมาจาก “Ecology Car” ไม่ใช่รถกระป๋อง
ประหยัดลดต้นทุน หรือราคาถูก Economy Car อย่างที่หลายคนเข้าใจผิดอยู่
หลายๆคนยังสงสัยในความต่างของ Eco car เฟสที่ 1 กับ เฟสที่ 2
ว่ามีความเหมือนหรือต่างกันตรงไหนบ้าง ? ข้อกำหนดเหมือนเดิมหรือเปล่า ?
เรามาดูกันทีละหัวข้อกันเลยครับ (ตามตารางด้านล่าง)
จะเห็นว่าข้อกำหนดของ Eco car เฟสที่ 2 นั้น จะมีความเข้มงวด และหินมากขึ้น
มีการขยายขนาดความจุเครื่องยนต์ ในส่วนของเฟสที่ 2 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 100 cc.
ในส่วนของเครื่องยนต์ดีเซล จากเดิม 1,400 cc. เป็น 1,500 cc.
นอกจากนั้นจะเป็นการเพิ่มความยากมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ทั้งในด้านมาตรฐานมลพิษ
ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
ที่จะต้องประหยัดกว่ารถใน อีโค่คาร์เฟสที่ 1 รวมถึงไฮไลต์เด็ดต่อไปนี้ นั่นก็คือ
“ความปลอดภัย Active Safety” หรือที่เข้าใจกันได้โดยง่ายคือ อุปกรณ์ป้องกัน
และลดความเสี่ยงก่อนการเกิดอุบัติเหตุ มีข้อกำหนดอยู่ 2 อย่างด้วยกัน ได้แก่
1. ระบบเบรกป้องกันล้อล็อค หรือ ABS ( Anti-lock Braking System) และ
2. ระบบควบคุมการทรงตัว หรือ ESC ( Electronic Stability Control) หรือ
อาจจะมีชื่อเรียกอื่นๆในแต่ละยี่ห้อเช่น ESP, VSC, VSA, VDC เป็นต้น
ซึ่งทั้งหมดนี้ในอีโค่คาร์เฟสที่ 1 นั้นไม่ได้มีข้อกำหนดในส่วนนี้ นี่จะทำให้รถทุกคัน
ทุกรุ่นย่อย ทุกราคา ที่เข้าโครงการอีโค่คาร์เฟสที่ 2 นั้น จะต้องมีให้ไม่ว่าจะรุ่นถูกสุด
หรือรุ่นท๊อปก็ตาม
นอกเหนือจากคุณสมบัติทางด้านตัวรถแล้ว เงื่อนไขในด้านการลงทุน
ก็เพิ่มข้อกำหนดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้น 1,500 ล้านบาท
จากเฟสที่ 1 กำหนดไว้เพียง 5,000 ล้านบาท ก็เพิ่มเป็น 6,500 ล้านบาท
ยกเว้นให้กับผู้ที่เคยร่วมโครงการแล้วในเฟสที่ 1 ให้สามารถลงทุนเท่าเดิมได้
ปริมาณการผลิตก็โหดมากขึ้น ร่นระยะเวลาเข้ามาอีก 1 ปี เพื่อผลิตให้ได้
อย่างน้อย 100,000 คันต่อปี ตั้งแต่ปีที่ 4 รวมทั้งขายในประเทศและส่งออก
โดยบริษัทรถยนต์ที่เข้าร่วมในเฟสที่ 2 นั้นมีด้วยกันอยู่ 10 บริษัท ได้แก่
5 รายเดิมที่เคยเข้าร่วมในเฟสที่ 1 คือ Nissan, Honda, Suzuki, Mitsubishi
และ Toyota และมีบริษัทรถยนต์เข้าร่วมเพิ่มอีกด้วยกันถึง 5 บริษัท ได้แก่
Ford, Mazda, MG, Volkswagen และ Chevrolet ซึ่ง Chevrolet พึ่งประกาศ
ถอนตัวไปก่อนหน้านี้ช่วงประมาณเดือนมีนาคม ด้วยสภาพทางการเงินของบริษัท
ที่ไม่ค่อยจะสู้ดีซักเท่าไหร่ในการดำเนินธุรกิจจากทั่วทั้งโลก
เพื่อให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้นว่า รถยนต์คันไหนบ้างที่เข้าร่วมโครงการอีโค่คาร์กันบ้าง
ไล่เรียงกันไปตามระยะเวลาที่เปิดตัวก่อนหลังของแต่ละคัน โดยที่เฟสที่ 1 รุ่นแรก
ในโครงการอีโค่คาร์ที่เปิดตัวคือ Nissan March
ส่วนในเฟสที่ 2 รุ่นแรกที่เปิดตัวคือ Mazda2 Diesel ทั้งตัวถัง 4 ประตู ซีดาน และ
ตัวถัง 5 ประตู แฮทซ์แบ็ค โดยจะเห็นความเป็นไปได้ว่าในอนาคต ค่ายรถยนต์ต่างๆ
จะนำเอารถ B-Segment ในค่ายของตน มาเข้าร่วมโครงการโดยการใส่เครื่องยนต์
ที่มีความจุเล็กลงกว่าเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนด และเป็นไปตามเทรนด์
ของตลาดโลกที่เรียกว่าการ Down Sizing
ซึ่งในอนาคตมีความน่าจะเป็นที่ว่า New Model ของตลาด B-Segment ในบ้านเรา
จะเข้าโครงการ Eco car เฟสที่ 2 ก็เป็นได้ เราอาจจะได้เห็น All new Honda Jazz
ใส่เครื่อง 1.0 ลิตร พ่วงเทอร์โบ แต่มาขายในราคาเดิมหรือถูกลงกว่าเดิมก็ได้
เนื่องจากมีผลประโยชน์ ของการลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถกลุ่มนี้
รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ในปีหน้า พ.ศ. 2559 นี้
ถึงแม้โครงการอีโค่คาร์เฟสที่ 2 นั้นจะเริ่มต้นขึ้นแล้วก็ตาม แต่ Suzuki Ciaz (ซูซูกิ เซียส)
ที่พึ่งเปิดตัวไปเมื่อ 8 กรกฎาคมนี้ ก็ยังคงเป็นรถจากโครงการ Eco Car เฟส 1 อยู่
———————————————————————————————————–
บทความอื่นๆที่เกี่ยวข้องและน่าสนใจ
+ สรุปรวมข้อมูลเบื้องต้น รวมรีวิวเบื้องต้น รถยนต์กลุ่ม ECO Car