“ถ้าพูดถึง MG คุณจะนึกถึงอะไร?”

นำประโยคข้างบนนี้ ไปถามเด็กวัยรุ่นที่เดินสยามสแควร์ ทุกวันนี้ หลายคนคงจะ
ทำหน้างุนงงสุดขีดในชีวิต แล้วถามกลับมาว่า “มันคืออะไรเหรอคะพี่? ชื่อย่อของ
วง Boyband เกาหลี หรือเปล่าค่ะ ถ้าหล่อ ล่ำ เต้นเก่งๆ หนูจะได้เตรียมกรี๊ด!”

อีหนู..อย่าเพิ่ง”แรด”นะลูก…ใจเย็นๆ!

แต่ถ้า ลองนำคำถามเดียวกันนี้ ไปถามผู้ใหญ่ สูงวัย ยุค Baby boomer ดู พวกเขา
อาจตอบว่า

“รู้จักสิ! รถสปอร์ต MG สมัยก่อนนี่ สวยเลยนะ  แต่มันเจ๊งไปจากเมืองไทยนานแล้วนี่?”

ครับ…มันเจ๊งไปนานแล้วละ จนกระทั่ง เมื่อ 2 ปีก่อน มีคนกลุ่มหนึ่ง พยายามปลุกชีพ
ให้ MG กลับมาโลดแล่นบนถนนเมืองไทยอีกครั้ง…

นับตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา ผมได้ยินความเคลื่อนไหวในการกลับมาบุกตลาดเมืองไทย
ด้วยตนเอง อย่างเป็นทางการ ของผู้ผลิตรถยนต์เชื้อชาติอังกฤษ สัญชาติ จีน อย่าง MG
มาโดยตลอด

เป็นความเคลื่อนไหว ที่ผมถึงกับตั้งคำถามกันเลย เมื่อได้ยินในครั้งแรกว่า…

“คิดดีแล้วเหรอ? แน่ใจแล้วเหรอ?”

พูดแบบไม่อ้อมค้อม แบรนด์ MG นั้น ถ้าพูดกันในตลาดโลก ต้องถือว่าเป็น “แบรนด์ดีๆ
ที่ตายไปแล้ว” ทุกวันนี้ เหลืออยู่แค่เพียงในเมืองจีน และอังกฤษ เท่านั้น ที่ยังพอจะมี
ความเคลื่อนไหวอยู่บ้าง

แต่นั่นก็เกิดขึ้น หลังจากกลุ่ม SAIC หรือ Shanghai Automotive Industry
Corporation กลุ่มบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่อันดับ 1 ของจีน เข้าซื้อกิจการ จาก
กลุ่มนักธุรกิจ Phoenix ที่บริหารงานต่อไปไม่ไหว พวกเขากำลังพยายามปลุกปั้นให้
MG ฟื้นชีพกลับมามีที่ยืนในตลาดโลก อีกครั้ง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การกลับเข้าสู่เมืองไทย เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในแผนการกลับมาของ
MG เพราะพวกเขา เล็งว่าจะใช้เมืองไทย เป็นฐานการผลิต รถยนต์ เพื่อการส่งออก
ไปพร้อมกับการจำหน่ายในหลายๆ ประเทศ

ยิ่งพอรู้ว่า งานนี้ กลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่สุดในเมืองไทย อย่าง เครือเจริญโภคภัณฑ์
หรือ CP เป็นหุ้นส่วนสำคัญ หลายๆคน ถึงขั้น พากันเอาไปแซวเล่นเละเทะ กันอย่าง
สนุกสนาน

“ซื้อ MG ได้แล้ววันนี้ ใน Seven Catalog ที่ร้านสะดวกซื้อ Seven-Eleven
ทั่วประเทศ ซื้อ 1 คัน แถมสแตมป์ Seven 5 แสนดวง สะสมสแตมป์ 8 แสนดวง
แลก MG 6 มาขับได้ฟรีทันที อีก 1 คัน สั่งจองและติดต่อรับสินค้าได้ ทุกสาขาของ
Seven Eleven ใกล้บ้านคุณ”

หรือบางคน ก็แซวเลยเถิดไปถึงขั้นว่า

“โอ้ย เอามาขายแค่ พนักงานในเครือ เป็นรถประจำตำแหน่ง ก็ขายได้หลายพันคันแล้ว”

ถึงจะโดนแซวกันขนาดไหน แต่ MG ก็ยังคงเดินหน้าต่อไป ตลอดการเตรียมตัวเพื่อ
กลับมาทำตลาดในเมืองไทย พวกเขา ระมัดระวังอย่างมาก ในการนำเสนอภาพลักษณ์
ของการกลับมาครั้งนี้ ให้ดูดี มีชาติตระกูลที่สุด ถึงขั้นโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยงเลย ถ้าหาก
ใครไปเรียกเขาว่า เป็นรถยนต์จากเมืองจีน…

“อั้ยหยา! ลื้อจะมาพูดจาซี้ซั้ว หยั่งงั้นม่ายล่ายนา รถของอั้ว เป็นรถอังกิด อั๊วเป็นคนอังกิด
รถของอั้ว ดูดี ขับดี มีชาติตระกูล อั้วก่อตั้งมาตั้ง 90 กว่าปี แล้วนา จำเอาไว้นะ รถของอั้ว
ม่ายช่ายรถจีงงงงง”

เชื่อครับเชื่อ เชื่อว่า อาแปะ เป็นคนอังกฤษ ผมโคตรเชื่อเลยครับ สำเนียงของอาแปะ ผม
ก็ฟังออกแล้ว ว่าอาแปะ เป็นคนอังกฤษแน่ๆ…

อังกฤษตรางู เลยด้วย!

แต่เมื่อพวกเขา พร้อมจัดกิจกรรมเชิญสื่อมวลชนสายรถยนต์ไปลองขับ พี่ๆน้องๆ บางคน
ก็เริ่มมาบ่นให้ผมได้ยิน ถึงสมรรถนะที่ไม่สมดังความคาดหมาย ผมเองก็ได้แต่คิดในใจว่า
มันคงจะไม่ได้แย่ไปถึงขนาดที่เขาบอกหรอกมั้ง

จนกระทั่ง บ่ายวันหนึ่ง ถึงเวลาที่ผมต้องไปรับ MG 6 มาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันราวๆ 1 สัปดาห์

แค่เพียงค่อยๆคลานลงมาจาก อาคารจอดรถของ สีลมคอมเพลกซ์ อันเป็นอาคารที่ MG
ใช้เป็นสำนักงานใหญ่ของพวกเขา ผมก็เริ่มพบว่า บางสิ่ง มันไม่เหมือนรถยนต์ทั่วไป
ที่ผมเคยเจอมา

พอออกจากอาคาร คล่อยๆคลานไปตามสภาพการจราจรของถนนสีลม ผมเริ่มเข้าใจแล้ว
ว่า หลายสิ่ง มันเป็นไปตามที่ พี่ๆน้องๆ เคยบอกกับผมไว้ จริงๆด้วย ทั้งข้อดีและข้อด้อย
นี่ยังไม่นับกับเรื่องราวต่างๆ ที่ผผมเจอเข้ากับตัวเองอีกต่างหากนะ

อยากรู้แล้วใช่ไหมครับว่า ผมเจออะไรมาบ้างจาก MG 6?

นับจากบรรทัดนี้ไป ผมขอยืนยันว่า ทุกสิ่งที่คุณจะได้อ่านจากย่อหน้าข้างล่างนี้ เขียนขึ้น
โดยปราศจากอคติ และเขียนตามประสบการณ์ที่ผม พบเจอมาจากรถคันนี้  จริงๆ ล้วนๆ
หาได้แต่งเสริมเติมสีไส่ไข่อย่างใดไม่

รีวิวรถยนต์นะครับ ไม่ใช่ ก๋วยเตี๋ยวราดหน้า จะได้ตอกไข่ใส่ลงไปได้เลย

ถือว่าเป็น ความเห็นหนึ่ง ของ คนอ้วนๆ คนหนึ่ง ที่มีต่อรถยนต์คันหนึ่ง เหมือนเช่น
ทุกค่าย ทุกยี่ห้อ เขาโดนกันมาตามปกติ นั่นแหละครับ

เพียงแต่ก่อนอื่น อยากชวนคุณผู้อ่าน มาทำความรู้จักกับแบรนด์ MG ซึ่งมีความเป็นมา
ยาวนาน และเก่าแก่ ไว้ในระดับพอสังเขป เพื่อให้รู้ว่า MG ไม่ใช่แบรนด์ใหม่

การประกาศ เข้าสู่ธุรกิจรถยนต์ในเมืองไทยอย่างเต็มตัวของ MG มีขึ้นในปี 2014
อันเป็นปีที่ พวกเขา ฉลองการก่อตั้ง กิจการและแบรนด์ MG ครบรอบ 90 ปี พอดี

เป็น 90 ปี ที่เต็มไปด้วย อุปสรรค ขวากหนาม และต้องล้มลุกคลุกคลาน นับครั้ง
ไม่ถ้วน เมื่อเทียบกับบริษัทรถยนต์ค่ายอื่นๆ ซึ่งมีอายุการก่อตั้งกิจการรถยนต์ ใน
ลำดับเวลาทางประวัติศาสตร์ ใกล้เคียงกัน (Nissan 80 ปี และ Toyota 75 ปี)

90 ปีก่อนหน้านี้ เกิดอะไรขึ้นบ้าง กับ MG?

เรื่องราวทั้งหมด เริ่มขึ้นเมื่อช่วงปี 1922 – 1924 เมื่อ ดีลเลอร์ ตัวแทนขายรถยนต์
Morris ในเมือง Oxford ตัดสินใจ จะนำรถยนต์ Morris มาดัดแปลงสมรรถนะ
ให้แรงขึ้น และมีตัวถังในสไตล์ของตนเอง

คนต้นคิดโครงการนี้ ชื่อ Cecil Kimber ผู้ซึ่งเข้ามาเป็นผ้จัดการฝ่ายขายของ
ดีลเลอร์รายนี้ เมื่อปี 1921 ก่อนถูกโปรโมทขึ้นเป็นผู้จัดการทั่วไปในปี 1922
เขาอยากจะทำรถยนต์ขนาดเล็ก ที่มีสมรรถนะดี ในราคาที่ใครๆก็ซื้อหาได้
บนพื้นฐานของรถยนต์ Morris ที่ตนขายอยู่นั่นละ

Kimber เลย ลงมือดัดแปลง Morris คันต้นแบบ ให้กลายเป็น MG คันแรก
เมื่อปี 1924 – 1925 และเขาก็ตั้งชื่อว่า MG The old Number 1 ใช้
ตัวถังจาก Carbodies ในเมือง Coventry เบื้องต้นเขาสร้างรถคันนี้ใน
โรงงานเล็กๆ ที่ Alfred Lane, Oxford. ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่โรงเรือนเล็กๆ
บนถนน Bainton ในเดือนกันยายน 1925 และย้ายมาอยู่ที่ โรงงานใหญ่ขึ้น
ใน Cowley ที่ Oxford เมื่อปี 1927 ก่อนจะเริ่มผลิตรถสปอร์ตเองในปี 1928

ถึงวันนี้ ตัวบริษัทเอง ใหญ่พอที่จะแยกตัวออกมาจาก ดีลเลอร์ Morris Garage
เดิมได้แล้ว Kimber จึงได้ก่อตั้งบริษัท M.G. Car Company Limited ใน
เดือนมีนาคม 1928 และพวกเขาก็เริ่มออกงานแสดงรถยนต์ London Motor
Show เป็นครั้งแรกในเดือนตุลาคม ปีเดียวกัน

จนกระทั่งปี 1935 เขาขายกิจการ MG ให้กับ บริษัท Morris Motors Limited.
โดยมี Lord Nuffield (หรือ William Morris เจ้าของกิจการรถยนต์ Morris)
เป็นผู้นำสูงสุด เขาจัดสรรองค์กรในแบบที่ได้รับการขนานนามจนถึงทุกวันนี้ว่าเป็น
Nuffield Organization แต่ Kimber ไม่ค่อยพอใจ เท่าไหร่นัก แต่เรื่องน่าเศร้า
ก็คือ Kimber เสียชีวิตในปี 1945 จากอุบัติเหตุรถไฟ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

หลังจากนั้น Lord Nuffield ในฐานะเจ้าของ Morris Motors Limited จึง
ได้เข้าซื้อหุ้น ผนวกควบรวมกิจการกับ Austin Motor Company Limited.
เจ้าของกิจการรถยนต์อังกฤษ ทั้ง Austin, MG, Austin-Healey, Riley
และ Wolseley รวมทั้ง รถเพื่อการพาณิชย์ และรถแทร็คเตอร์ เพื่อการเกษตร
แล้วก่อตั้งเป็น The British Motor Corporation Limited (BMC) ใน
ปี 1952 ถือเป็นบริษัทรถยนต์ที่ให่สุดบนเกาะอังกฤษ ในขณะนั้น เพราะมี
สัดส่วนการผลิตรถยนต์มากถึง 39% จากยอดผลิตรถยนต์ในอังกฤษทั้งหมด

ในช่วงนั้นถือเป็นช่วงบูมของ MG เพราะบรรดาทหารอเมริกัน ฝ่ายสัมพันธมิตร
จำนวนมาก พากันซื้อรถสปอร์ตเปิดประทุนของ MG กลับไปยังบ้านเกิด ยกใหญ่
พวกเขาเพียรสร้างรถสปอร์ตราคาถูกออกมาตีตลาดโลก และในสนามแข่งยุคนั้นได้ดี

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ BMC เข้าซื้อกิจการรถยนต์ Jaguar เมื่อ
เดือนกันยายน 1966 จนถึงเดือนธันวาคมปีเดียวกัน พวกเขาได้
เปลี่ยนชื่อเป็น British Motor Holdings. (BMH) ก่อนจะเข้าร่วม
กิจการกับ Leyland Motor Corporation ในปี 1968 เพื่อเป็นกลุ่ม
บริษัท British Leyland Motor Corporation (BLMC) ช่วงนั้น
อนาคต MG เริ่มไม่สู้ดีนัก เพราะรถสปอร์ต ของพวกเขานั้น เริ่ม
ขายไม่ออก

ปี 1975 เมื่อมีการปรับองค์กรครั้งใหญ่ BLMC จึงเปลี่ยนชื่ออีกครั้ง
เป็นกลุ่ม British Leyland (BL) 5 ปีต่อมา ยอดขาย MG ที่ไม่กระเตื้อง
ทำให้พวกเขาต้องตัดสินใจปิดโรงงาน Abingdon เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม
1980 เพื่อให้ BL ผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความปั่นป่วนด้านการเงินที่มี
ผลสืบเนื่องมาจากสารพัดความวุ่นวายในทศวรรษ 1970 ให้ได้ และ
การปิดโรงงานครั้งนี้ ทำให้ แบรนด์ MG ต้องถูกยุติบทบาทลงชั่วคราว

แบรนด์ MG กลับมาอีกครั้งในปี 1982 หลังจากที่กลุ่ม British Leyland
เปลี่ยนชื่อใหม่อีกรอบเป็น Austin Rover Group โดยพวกเขา นำแบรนด์
MG กลับมา ในฐานะแบรนด์ สำหรับการนำรถยนต์ Austin หรือ Rover
มาปรับปรุงสมรรถนะให้แรงขึ้น และดูสปอร์ตขึ้น

ในปี 1986 BMC ถูกเปลี่ยนมือ และเปลี่ยนชื่อมาเป็น ROVER Group
แต่สถานการณ์ด้านการเงิน ก็ยังคงดำดิ่งต่อไป

ปี 1987 บริษัทรถบรรทุก รถบัสและรถเพื่อการพาณิชย์ Leyland Truck
ถูกขายออกไป และตราของ Austin ก็ถูกแกะออกจาก รถเก๋งรุ่น Metro
Maestro รวมทั้ง Montego เป็นอันสิ้นสุดบทบาทของแบรนด์ Austin
เหลือไว้แต่ Rover และ MG

ปี 1988 British Aerospace ก็เข้ามาซื้อกิจการทั้งหมดของ Rover
Group ตามที่รัฐบาลอังกฤษหวังใจจะขาด ก่อนที่ BA จะพบว่า ไม่น่าซื้อ
Rover เข้ามาเลยปี 1992 ฝ่ายการเงินก็เตือนว่า ต้นทุนการพัฒนารถยนต์
รุ่นใหม่ๆ ให้กับ Rover จะก่อหนี้ให้กับ BA ไม่ใช่น้อย เลยไม่รู้จะทำไงดี
อยากจะขาย แต่ก็รู้ว่าคงไม่มีใครมาซื้อแน่ๆ

ในตอนนั้น MG เป็นได้เพียงแค่ แบรนด์รถยนต์ ธรรมดา ที่ต้องนำรถยนต์
จาก Austin ทั้งรุ่น Metro , Maestro และ Montego มาแปเะตรา
ของตน ขายไปเรื่อยๆ ราวกับไร้จุดหมาย แม้ว่าในปี 1992 จะมี RV8
รถสปอร์ต 2 ที่นั่ง ออกมากระตุ้นตลาดก็ตาม

1 กุมภาพันธ์ 1994 กลายเป็นวันช็อกโลกครั้งมโหฬาร เมื่อ BMW Group
จากเยอรมันี ประกาศซื้อกิจการ Rover Group จาก British Aerospace

ตำนานดีลเทคโอเวอร์บรรลือโลกครั้งนี้ เกิดขึ้นเพราะ BMW นั้น อยากได้
Mini มาไว้ครอบครอง ปรับปรุง และเก็บเกี่ยวดอกผล ขณะที่ Land Rover
อาจมีส่วนช่วยในด้านการพัฒนา SUV X5 รุ่นแรก ของ BMW ได้บ้าง ส่วน
Rover กับ MG นั้น พวกเยอรมัน เขาไม่เหลียวแล ไม่อยากได้

แต่ BA ก็กดดัน BMW ว่า ถ้าอยากได้ ต้องซื้อยกแพ็กเก็จ ถ้าแยกซื้อ BA จะ
ไม่ยอมขาย BMW ต้องยอมซื้อกิจการของ Rover Group รวมทั้ง MG ไป
ทั้งก้อน เพื่อที่จะได้พบว่า Rover Group นั้นเป็น “หลุมที่ไม่มีวันถมจนเต็ม”

หลังการ Take over ในปีแรก MGF รถสปอร์ตเปิดประทุนขนาดเล็กรุ่นสุดท้าย
ของพวกเขา ก็เปิดตัวสู่ตลาดโลก มันได้รับความนิยมอยู่พอสมควร แต่ยอดขาย
ไม่มากพอที่จะช่วยให้ MG ยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง

หลังจากทนขาดทุนมหาศาลมานาน 6 ปี วันอังคารที่ 9 พฤษภาคม 2000 BMW
ตัดสินใจขายกิจการของ Rover และ MG ทั้งหมด ให้ 4 นักลงทุนในชื่อ กลุ่ม
Phoenix Group ด้วยตัวเลข(เชิงสัญลักษณ์) แค่ 10 ปอนด์ฯ เท่านั้น และได้
เปลี่ยนชื่อเป็น MG Rover Group

ในช่วงปี 2000 – 2005 พวกเขายังคงออกรถยนต์รุ่นใหม่ ซึ่งใช้วิธีนำรถยนต์ของ
Rover รุ่นเดิมๆ มาตกแต่ง และดัดแปลงให้แรงขึ้น ออกขายในชื่อรุ่นต่างๆกัน ทั้ง
รุ่น ZT ZR ZS และ X Power SV หรือแม้แต่การนำ MGF มาดัดแปลงใหม่เป็น
รุ่น TF แต่ยอดขายก็ไม่กระเตื้อง เพราะความเชื่อมั่นที่หดหายทั้งในเรื่องบริการหลัง
การขาย และซ่อมบำรุง

สถานการณ์ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ ถึงขั้นสายการผลิตในโรงงาน Longbridge ที่เมือง
Birmingham ต้องยุติลง และในที่สุด MG Rover ก็ตกอยู่ในสภาพ “ล้มละลาย”
เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2005

นั่นจึงเปิดทางให้ NAC (Nanjing Automobile Corporation) ผู้ผลิตรถยนต์
ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดของสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็เข้าซื้อกิจการของ MG Rover
Group ทั้งหมด เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2005

และใน 2 ปี ให้หลัง NAC ได้ถูกควบรวมกิจการเข้ากับ กลุ่ม SAIC (Shanghai
Automotive Industry Corporation) กลุ่มบริษัทรถยนต์อันดับ 1 ของจีน
เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2007  MG จึงได้ย้ายเข้าไปอยูใต้ร่มไม้ชายคาของ SAIC

เมื่อ SAIC เข้าครอบครองกิจการของ MG อย่างเต็มรูปแบบ พวกเขาก็เริ่มทบทวน
สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต รวมทั้งมองหาหนทางที่จะพลิกฟื้นให้ MG กลับคืนสู่กระแส
ยานยนต์โลก จนสร้างรายได้และผลกำไรให้ทั้งตนเอง และชาวอังกฤษ อีกครั้ง
เพราะในช่วงที่ NAC ครอบครองอยู่นั้น พวกเขายังไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
เท่าที่ควร

ในบรรดาแผนมากมาย สิ่งที่พวกเขาต้องเร่งทำก็คือ ลงมือออกแบบรถยนต์นั่งรุ่น
ใหม่ในพิกัด Family Car กลุ่ม CD-Segment (คร่อมอยู่ตรงกลางระหว่าง
C-Segment Compact Class และ D-Segment ขนาดใหญ่) SAIC จึง
ก่อตั้ง Design Cnter และ Technical Center ที่เมือง Birmingham ซึ่ง
เป็นฐานประจำการดั้งเดิมของกลุ่ม MG Rover โดยมอบหมายให้ นักออกแบบ
ชื่อ Tony Williams-Kenny และหัวหน้าฝ่ายวิศวกร David Lindley กับทีม
ออกแบบและทีมวิศวกรระดับมืออาชีพกว่า 300 คน ร่วมกันพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่
โดย ในเบื้องต้น รถคันนี้ ถูกสร้างขึ้นภายใต้รหัสโครงการ MG Rover RDX60
โดยจะใช้ชื่อว่า ROEWE 550

เหตุผลที่ชาวจีน ต้องเปลี่ยนไปใช้ชื่อ Roewe นั้น เพราะว่า เจ้าของชื่อเดิมอย่าง
Ford ซึ่งซื้อสิทธิ์การใช้ชื่อ Rover มาด้วย เพื่อปกป้องแบรนด์ Land Rover ได้
ขายสิทธิ์ดังกล่าว ให้กับ Tata Motors ไปพร้อมกับกิจการ Land Rover และ
Jaguar ทั้งหมด เท่ากับว่า คนถือสิทธิ์ในแบรนด์ Rover คือ Tata Motors
ดังนั้น กลุ่ม SAIC จึงไม่อาจใช้ชื่อ Rover ได้อีกต่อไป และจำต้องเลี่ยงไป
ใช้ชื่อ Roewe ในตลาดจีนแทน

ส่วนแบรนด์ MG จะถูกนำมาใช้ในการบุกตลาดทั่วโลก โดย SAIC ได้นำรถยนต์
Roewe 550 ซึ่งเปิดตัวเมื่อเดือนเมษายน 2008 ในงาน Beijing Motor Show
มาปรับปรุงใหม่ ภายใต้รหัสโครงการ W261 ถือเป็นการร่วมงานกันระหว่าง
บรรดา อดีตวิศวกร Rover จากสำนักที่ปรึกษา Ricardo และทีมงานของ SAIC

เวอร์ชันจำหน่ายจริง เผยโฉมครั้งแรก ในงาน Shanghai Auto Show เมื่อ
เดือนเมษายน 2009 เริ่มต้นด้วยตัวถัง Fastback 5 ประตูก่อน จากนั้น ตัวถัง
Sedan 4 ประตู จึงคลอดตามมาในงาน Shanghai Expo เดือนตุลาคม 2010
และกว่าที่จะพร้อมขายจริง ในอังกฤษ ก็ต้องรอกันจนถึงเดือนพฤษภาคม
2011

สถานการณ์ยอดขาย ของ MG 6 ในอังกฤษ หลังการเปิดตัว เป็นอย่างไรบ้าง?

ในช่วงแรก  ตัวเลขค่อนข้างย่ำแย่ เพราะในเดือนตุลาคม 2011 พวกเขาขาย
MG 6 ไปได้แค่ 15 คันเท่านั้น!! พอเข้าเดือนพฤศจิกายน 2011 ตัวเลขยิ่งแย่
หดหายไป เหลือเพียง 7 คันเท่านั้น!! (แถม 3 คันใน 7 คัน ดันเป็น รถสปอร์ต
รุ่น TF เนี่ยสิ! หลายคนบอกว่า เพราะ MG ขาดการโฆษณา ประชาสัมพันธ์
คุณภาพของตัวรถ ในด้านที่มนุษย์สัมผัสและจับต้องได้ด้วยตนเอง หรือที่
เรียกว่า perceived quality นั้น ต่ำมากๆ ขณะเดียวกัน เครื่องยนต์ Diesel
Turbo และตัวถัง Estate 5 ประตู ยังอยู่ในรอช่วงรอดูสถานการณ์

มิน่าละครับ ผมไม่แปลกใจตัวเองเลยละว่า เมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2014
ผมได้มีโอกาสไปเยือนอังกฤษมา ผมถึงไม่เจอ MG 6 เลยแม้แต่คันเดียว เจอ
แต่ MGA กับ MGB และ MG TF ทั้งที่รถอยู่ในตลาดมาแล้วถึง 4 ปี และมี
ตัวเลขยอดขายคืบหน้าไปกว่านี้มาก คำถามคือ รถมันหายไปไหนจากถนน
ทางหลวงแผ่นดินของอังกฤษ? ขายมา 4 ปี แต่ผมไม่เห็นวิ่งเลยสักคันเดียว?

——————————–

หันกลับมาดูในเมืองไทย ถ้าพูดถึง MG คนรุ่นใหม่ๆ อาจไม่คุ้นเคย แต่ถ้า
ลองไปถม คุณปู่ หรือคุณพ่อของเราหลายๆคน อาจยังพอจะจำกันได้ว่า MG
เคยถูกสั่งนำเข้ามาจำหน่าย และวาดลวดลาย บนถนนเมืองไทย ในยุคสมัย
ที่เรียกกันว่า ยุค “บ้านดี เมืองดี” นั่นคือราวๆ 1950 – 1970

ในเวลาต่อมา กลุ่ม Thai Rung Union Car เจ้าพ่อรถดัดแปลงอเนกประสงค์
ในบ้านเรา ได้ก่อตั้งบริษัท Thai Ultimate Car จำกัด เพื่อเป็นผู้นำเข้า และ
จำหน่าย รวมทั้งให้บริการ รถยนต์ Rover , Land Rover Mini และ MG
เมื่อปี 1992 ทำให้ MG กลับมาเปิดตลาดเมืองไทยอีกครั้ง ด้วยรุ่น MGF
อันเป็นรถสปอร์ตเปิดประทุน ขนาดเล็ก 2 ที่นั่ง เครื่องยนต์ K-Series
บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,796 ซีซี หัวฉีดอีเล็กโทรนิกส์ พร้อมระบบ
แปรผันวาล์ว VVC 145 แรงม้า (PS) ที่ 7,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
174 นิวตันเมตร ( 17.73 กก.-ม.) ที่ 4,500 รอบ/นาที ติดตั้งเครื่องยนต์ไว้
กลางลำตัว ด้านหลังคนขับ ขับเคลื่อนล้อหล้ังด้วยเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ
พร้อมถุงลมนิรภัยคู่หน้า และระบบเบรก ABS ขายในราคา 1.8 ล้านบาท
และนั่น คือ MG รุ่นสุดท้ายที่ถูกสั่งนำเข้ามาจำหน่ายในบ้านเรา ก่อนที่
ไทยอัลติเมทคาร์ จะยุติบทบาทการเป็นตัวแทนจำหน่าย MG และ Rover
อย่างเป็นทางการ ในช่วงปี 2002 (ก่อนที่พวกเขาจะเลิกนำเข้า SUV หรู
อย่าง Land Rover เมื่อปลายปี 2008 และเลิกการเป็นผู้จำหน่ายในช่วง
ปลายปี 2009)

12 ปี หลังการห่างหายไปจากเมืองไทย ในที่สุด MG ก็กลับมาอีกครั้ง
และคราวนี้ พวกเขา ลงทุนขั้นมโหฬาร ยิ่งกว่าภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์
จาก Hollywood เสียอีก!

ช่วงก่อนหน้านี้ SAIC บริษัทรถยนต์ 1 ใน Big 4 ของอุตสาหกรรมยานยนต์แดน
มังกร (รองลงไปคือ  Chang’an Motors, FAW Group, Dongfeng Motor)
ผู้ซึ่งมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมรถยนต์มากว่า 50 ปี และทุกวันนี้ ก็เป็นพันธมิตร
สำคัญ ของ Volkswagen Group และ GM ในเมืองจีน วางแผนที่จะเข้ามาบุก
ตลาดรถยนต์ในบ้านเรามานานแล้ว เพียงแต่ ยังไม่สบโอกาสเสียที

จนกระทั่ง SAIC ได้มีโอกาส พูดคุยกับกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP-Group
ซึ่งมีประสบการณ์ในการผลิตรถจักรยานยนต์ เพื่อทำตลาดในประเทศจีน อยู่
ก่อนหน้านี้ แน่นอนครับ CP อยากจะสยายปีกเข้ามายังธุรกิจยานยนต์อยู่แล้ว

ดังนั้น ทั้ง 2 บริษัท จึงได้จับมือกันก่อตั้ง บริษัท SAIC Motor – CP  จำกัด โดย
มีสัดส่วนการถือหุ้น SAIC 51% และ CP 49% ด้วยความตั้งใจจะทำตลาดรถยนต์
ในบ้านเรา และส่งออกสู่ตลาดสากล พวกเขาจึงจับมือกันก่อตั้งโรงงานประกอบรถยนต์
พวงมาลัยขวา ณ นิคมอุตสาหกรรม เหมราช Eastern Seaboard ซึ่งอยู่ใกล้กับ
ท่าเรือแหลมฉบัง เมื่อปี 2012 เพื่อสะดวกในการส่งออกไปยังประเทศในกลุ่ม
ASEAN และประเทศที่ใช้รถยนต์พวงมาลัยขวาอื่นๆ ทั่วโลก

ส่วนการทำตลาดเมืองไทย SAIC Motor –  CP ร่วมกันก่อตั้งบริษัท MG Sales
(Thailand) จำกัด เพื่อดูแลด้านการขาย การตลาด บริการหลังการขาย และการ
จัดจำหน่าย รถยนต์ MG ทุกรุ่น

แผนการเปิดตัว MG 6 ในเมืองไทย ถูกกำหนดไว้ในระยะยาว เริ่มต้นจากการ
เช่าพื้นที่ จัดแสดงบูธ MG เป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี ที่หายไปจากบ้านเรา ณ
งาน Motor Expo ที่เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน – 10 ธันวาคม
2013 เพื่อแนะนำแบรนด์นี้ สู่สายตาของคนไทย เป็นการประกาศถึงการหวน
กลับมาทำตลาดของ MG ในบ้านเราอีกครั้ง โดยนำรถยนต์ต้นแบบ MG ICON
คันสีแดงหลังคาสีขาว มาอวดโฉม พร้อมกับรถยนต์พลังไฟฟ้า 2 ประตู รุ่น
E50 ที่มีใบหน้าคล้าย Nissan LEAF

ในระหว่างนั้น MG ขยันนำรถยนต์ต้นแบบ มาแล่นทดสอบตามถนนสายต่างๆ
ทั่วประเทศไทย และถูกบันทึกภาพจากผู้คนทั่วไป แล้วนำมาตั้งคำถามกันตาม
เว็บบอร์ดต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่ Headlightmag.com ของเราว่า มันคือรถยี่ห้อ
อะไร? ต้องตอบคำถามนี้กันจนเบื่อไปข้างหนึ่ง จากเดิมที่เห็นรถยนต์ทดสอบเหล่านี้
แล้วเกิดอาการตกใจ จนกลายเป็นความเคยชินว่า “อ๋อ MG รายวัน อีกแล้วละสิ!”

จากนั้น แผนการลำดับถัดมาก็คือ นำรถยนต์ MG 6 ล็อต Pre-Production
มาอวดโฉมสู่สายตาสาธารณชน ในงาน Bangkok International Motor
Show เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2014 เพื่อเก็บข้อมูลปฏิกิริยาจากลูกค้าคนไทย
และความคิดเห็นต่างๆ ในช่วงก่อนการเปิดตัว

เมื่อการเตรียมงาน เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว MG จึงจัดพิธี ปล่อยรถยนต์คันแรก
ออกจากสายพานการผลิตที่ โรงงาน เหมราช เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2014
โดยเจ้าสัว ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือ
เจริญโภคภัณฑ์ ร่วมในพิธีดังกล่าว จากนั่น ก็มีพิธีส่งมอบ MG 6 คันแรก แบบ
Fastback 1.8 Turbo สีเงิน ให้กับคุณธนินท์ ซึ่ง…ทาง MG ระบุว่า เป็น
เจ้าของรถยนต์ MG 6 ประกอบในประเทศไทย รายแรก (เอิ่ม…แหงสิ!)

เว้นช่วงไปเพียง 2 สัปดาห์ งานเปิดตัว MG 6 เวอร์ชันพร้อมจำหน่ายจริงใน
บ้านเรา อย่างเป็นทางการ ก็ถูกจัดขึ้นตามมาติดๆ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2014
ณ ลานอเนกประสงค์ ด้านหน้าห้างสรรพสินค้า Siam Paragon พร้อมกับการ
ประกาศราคาจำหน่ายที่ทำให้หลายๆคน ถึงขั้น ส่ายหัว ว่ามันแพงเกินเหตุ

MG 6 มีให้เลือกทั้งหมด  2 ตัวถัง คือ Sedan และ Hatchback 5 ประตู ซึ่ง
ถูกเรียกเสียใหม่ว่า “Fastback” ทั้งคู่ มีขนาดตัวถังเท่าๆ กัน ด้วยความยาว
4,648 มิลลิเมตร กว้าง 1,827 มิลลิเมตร สูง 1,467 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ
ยาว 2,705 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวรถทั้งคัน 1,535 – 1,548 กิโลกรัม

ถ้าเปรียบเทียบกับคู่แข่งพิกัด C-Segment ด้วยกันแล้ว MG 6 มีตัวถังยาวและ
กว้างมากที่สุดในตลาด (กว้างกว่า Ford Focus แค่ 4 มิลลิเมตร) สูงเป็นอันดับ
ที่ 3 ในกลุ่ม (เป็นรอง Honda Civic FB และ Toyota Corolla Altis ใหม่)
แต่ยังมีระยะฐานล้อ ยาวสุดในกลุ่ม เพราะยาวกว่าชาวบ้านออกมา 5 มิลลิเมตร

ที่แน่ๆ น้ำหนักตัวหนะ มีผลกับอัตราเร่งที่ตามมา อยู่มาก ค่อยๆอ่านไป เดี๋ยวก็รู้

รูปลักษณ์ภายนอกนั้น บอกได้เลยว่า ส่วนตัวผม ชอบในความเรียบง่าย ของ
เส้นสายตัวถังรถคันนี้ มีเส้นด้านข้าง ใต้แนวขอบกระจกหน้าต่าง ที่เพิ่มความ
สวยงาม โฉบเฉี่ยวและความทะมัดทะแมง แม้ว่าชุดไฟท้าย จะดูแล้วชวนให้
นึกถึง BMW 5-Series รุ่น E60 (2003 – 2010) อยู่บ้างก็ตาม

เพียงแต่ว่า รุ่น Sedan จะมีเส้นสายที่ ลงตัวกว่ารุ่น Fastback เล็กน้อย
ส่วนหนึงเป็นเพราะ บั้นท้ายแบบ 5 ประตูนั้น มีลักษณะท้ายลาด ทำให้ต้อง
ออกแบบเสาหลังคาคู่หลัง C-Pillar ให้ดูหนาขึ้นกว่ารุ่น Sedan นิดหน่อย

ด้านหน้าของรถ ยังดูไม่ค่อยลงตัวนัก อันเนื่องมาจากกรอบชุดไฟหน้า แบบ
Projector – Halogen พร้อมระบบปรับระดับสูง – ต่ำของไฟหน้าในตัว
และฝังชุดไฟเลี้ยวไว้ในโคมด้วยนั้น ยังดูขาดๆเกินๆไปนิดๆ แต่กระจังหน้า
แบบเรียบๆ ถือว่า ยอมรับได้ เฉพาะรุ่น X Turbo มีระบบเปิด – ปิดไฟหน้า
แบบอัตโนมัติ (ไฟหน้า Auto) มาให้

ทุกรุ่นมีไฟตัดหมอกหน้า และหลัง ส่วนกระจกมองข้าง แบบมีไฟเลี้ยวในตัว
ทุกรุ่น ปรับด้วยสวิตช์ไฟฟ้า แต่เฉพาะรุ่น X Turbo จะพับเก็บได้ด้วยสวิตช์
ไฟฟ้า เพิ่มเข้ามาให้

ไฟท้าย และไฟเบรกดวงที่ 3 ของทุกรุ่น ใช้หลอด LED มีปลอกท่อไอเสีย
สแตนเลส มือจับเปิดประตูสีเดียวกับตัวรถ และไล่ฝ้าหลังมาให้ แต่ถ้าดูดีๆ
จะพบว่า รุ่น Fastback 5 ประตู “ไม่มีใบปัดน้ำฝนด้านหลังมาให้!”

ล้ออัลลอยทุกรุ่น มีขนาด 17 นิ้ว สวมยาง GoodYear Efficiency Grip
ขนาด 215/50R17 จากโรงงาน

การเปิดประตู ใช้กุญแจรีโมทคอนโทรล แบบมาตรฐาน น้ำหนักเบาเสียจนต้อง
ตั้งคำถามว่า ข้างในนี้ ไม่ได้ใส่อะไรมาถ่วงน้ำหนักไว้เลยสักนิดใช่ไหม? นี่
เป็นกุญแจรีโมท ที่มีน้ำหนักเบาที่สุดเท่าที่ผมเคยเจอมา!! เบาจนไม่สมกับ
ราคาของตัวรถเอาเสียเลย! เป็นแค่พลาสติกขึ้นรูปแบบหยาบๆ และไม่ใช่
ระบบ Smart Keyless Entry เพราะคุณยังต้องกดปุ่มบนรีโมทกุญแจ เพื่อ
สั่งล้อก หรือปลดล็อคบานประตู และปลดล็อกฝากระโปรงหลัง

นั่นยังไม่น่าปวดกบาลเท่ากับ วิธีการติดเครื่องยนต์ ถ้าผมจะติดเครื่องยนต์
ผมต้อง เสียบ “แท่งพลาสติกที่ถูกอุปโลกน์ว่าเป็นกุญแจ” (ซึ่งเขาก็ฝังลูก
กุญแจเล็กๆไว้ในนั่นด้วยนั่นแหละ) เสียบเข้าไปในช่องที่เขียนไว้ว่า
Start / Stop บริเวณด้านข้างคอพวงมาลัยฝั่งซ้าย ติดกับสวิตช์เครื่องเสียง

ถ้าคุณต้องการแค่ให้ไฟบนหน้าปัดมันเช็คการทำงาน คุณสามารถกดช้าๆ
ทีละจังหวะ ย่อมได้ แต่ถ้าคุณต้องการจะติดเครื่องยนต์ นอกจากจะต้อง
เหยียบแป้นเบรก ตามมาตรฐานรถยนต์ชั้นดีทั่วไปแล้ว คุณจะต้องเสียบ
“แท่งหรรษามหาเบา” (ต่อไปนี้ขอเรียกย่อๆ ว่า “แท่งฯ”) อันนี้ เข้าไปในรู
แล้วกดมันลงไปอย่างรวดเร็ว

คราวนี้ คนที่ขึ้นมาขับ MG 6 ครั้งแรก อาจเหวอ ครับ ถ้าคุณมีทักษะในการ
ขับรถยนต์อื่นๆมาแล้ว คุณอาจจะรอจนกว่า เสียงของไดสตาร์ตจะหมุน
แต่บางครั้ง พอมันหมุนแล้ว เมื่อคุณถอนนิ้วออกจาก “แท่งฯ” ที่ถูกกดอยู่
คุณจะพบว่า เครื่องยนต์ จะไม่ยอมติดขึ้นมาให้! มันจะดับลงไปดื้อๆ

บอกเลยครับว่า ถ้าจะติดเครื่องยนต์ รถคันนี้ กด “แท่งฯ” ที่ว่าลงไป พร้อม
เหยียบเบรก แล้วปล่อยแม่ง..เอ้ย แท่งฯ ทันที เดี๋ยวได้สตาร์ต จะหมุน
แล้วเครื่องยนต์จะติดขึ้นมาเอง!!

สรุปง่ายๆ กดแช่ไว้ เครื่องอาจไม่ติด หรือติด ตามอารมณ์ของมัน แต่ถ้า
กดแล้วปล่อยทันที เครื่องยนต์จะติดขึ้นเอง ง่ายกว่า! แต่ถ้าจะดับเครื่อง
กดลงไปบน “แท่งฯ” อีกครั้ง เบาๆ จน “แท่งฯ” เด้งออกมา เครื่องยนต์
ก็จะดับลงไปเอง

ช่างเป็นนวัตกรรมกุญแจอันล้ำยุคล้ำสมัยสุดแสนจะไฮโซเลอค่าปาปริก้า
กันเสียนี่กะไร! มันเป็นสัญลักษณ์แห่งความเรืองรองทางวิศวกรรมจาก
มันสมองของวิศวกรชาวอังกฤษเลยนะเนี่ย! (ประชด)

เหตุที่บอกว่า ไฮโซ นั่นก็เพราะว่า..ลักษณะการติดเครื่องยนต์ของ MG 6
มันช่างเหมือนกันกับ รถสปอร์ต เมืองผู้ดี อย่าง Aston Martin ไม่มีผิด!!

เวร!

บานประตูมีน้ำหนักมาก และสามารถเปิดกางออกได้ถึง3 จังหวะ ก็จริง ทว่า
มันชอบดีดตัวกลับมาปิดอีกรอบดังปัง! เวลาที่ผมดันไปยังจังหวะที่ 2 เพื่อจะ
กางเปิดประตูแล้วลุกออกจากรถ เหมือนกับบานประตูของรถยุโรประดับ
Premium หลายๆคันที่ผ่านมือผมมา

ขอเตือนว่า ในกรณีที่คุณอารมณ์เสีย โกรธเคืองใครมา อย่าปิดประตูแรงๆ
ถึงขั้นกระแทก..เพราะคลิปข้างในแผงประตู อาจหัก และแผงประตู อาจ
ถึงขั้นแอบเผยอได้!

แผงประตู มีตำแหน่งวางแขน ซึ่งจะวางได้ในระดับกำลังดี ก็ต่อเมื่อ ปรับ
ตำแหน่งเบาะนั่งลงไปให้ต่ำสุด เพราะในตำแหน่งของผู้โดยสารฝั่งซ้าย
จะสูงไปนิดนึง จนทำให้ วางแขนบนแผงประตู ได้แค่ท่อนแขน แต่ยัง
ไม่อาจวางข้อศอกได้เต็มที่นัก

ช่องวางของ บริเวณแผงประตูด้านข้าง สามารถวาง สมุดจด หรือข้าวของ
จุกจิกได้ แต่ถ้าจะวางขวดน้ำขนาด 7 บาท ก็วางได้ แต่ต้องอยู่ในตำแหน่ง
เอียงโน้มไปข้างหน้านิดหน่อย

ภายในห้องโดยสารตกแต่งด้วยสีดำล้วนๆ ประดับด้วย Trim สีเงินอยู่บ้าง เล็กน้อย
ให้สัมผัสที่เหมือนกับนั่งอยู่ในรถยุโรปจริงๆ ไม่ใช่รถจีนกลวงๆ อย่างที่หลายคน
เตรียมตั้งป้อมถล่ม

เบาะนั่งคู่หน้า หุ้มด้วยหนังแท้และหนังสังเคราะห์ชั้นดี เทียบเท่ารถยนต์ Premium
จากยุโรป จากเบาะนั่งของรถยนต์กลุ่ม C-Segment Compact Class ในไทย
ทุกคันโดยสิ้นเชิง เย็บขึ้นรูปด้วยตะเข็บสีแดง แตกต่าง หนังหุ้มเบาะเนียน ลื่น และ
สัมผัสได้ว่า เป็นหนังอย่างดี เบาะนั่งฝั่งคนขับ ปรับระดับสูง – ต่ำ ปรับเอน และเลื่อน
ขึ้น หน้า – ถอยหลังได้ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า รวม 6 ทิศทาง

พนักพิงหลัง โอบรับสรีระของผู้ขับขี่ และผู้โดยสารด้านหน้าเอาไว้จนกระชับตามแนว
รูปตัว U คว่ำ จนหลายคนอาจรู้สึกว่า อึดอัด ขณะที่บริเวณไหล่นั้น ออกแบบเพื่อให้
รองรับได้แค่ระดับกำลังดี ไม่เต็มที่ พนักศีรษะ อยู่ในระดับดันศีรษะนิดหน่อย ส่วนเบาะ
รองนั่งมีปีกข้างที่กระชับ กับบั้นเอวมากๆ แต่ความยาว เบาะรองนั่งนั้น สั้นไปนิดเดียว

เข็มขัดนิรภัยคู่หน้า เป็นแบบ ELR 3 จุด ปรับระดับ สูง – ต่ำ ได้ พร้อมระบบ
Pre-tensioner & Load Limiter ดังรั้งกลับ และผ่อนตัวอัตโนมัติ

ถุงลมนิรภัย ทุกรุ่น ติดตั้งให้เฉพาะคู่หน้า ยกเว้นรุ่น X Turbo มีด้านข้างมาให้ รวมเป็น 4 ใบ

การเข้า – ออกจากบานประตูคู่หลัง ต้องก้มหัวเล็กน้อย จึงจะเข้าไปนั่งได้
อย่างสบายๆ โดยลดความเสี่ยงต่อการที่หัวจะไปชนขอบหลังคาลงได้บ้าง

พื้นที่วางแขนบนแผงประตู ออกแบบมาให้วางแขนได้สบายพอดี มือจับ
อยู่ในตำแหน่งแบบรถยุโรปทั่วไป แต่งานออกแบบ ยังดูแข็งทื่อ เหมือน
แผงประตูคู่หน้า ที่สำคัญ ไม่มีช่องวางแก้วใดๆมาให้ แถมช่องใส่ของ
ด้านข้างแผงประตู ก็มีขนาดเล็ก เสียจนใช้งานอะไรแทบไม่ได้เลย

เบาะนั่งด้านหลัง คือพื้นที่ สบายที่สุดของ MG 6 เพราะพนักพิงเบาะหลัง
ติดตั้งอยูในมุมองศาที่เหมาะสม ไม่เอียงเท และไม่ตั้งชันเกินไป แถมมี
ส่วนนูนขึ้นมาดันช่วงกลางแผ่นหลัง เล็กน้อย ไม่มากนัก ยอมรับได้
แต่เมื่อลองนั่งจริง อาจเข้าใจว่า เบาะหลัง ค่อนข้างแบน ทั้งที่จริงๆแล้ว
มันไม่ได้แบนถึงขนาดนั้น

พนักศีรษะ รูปตัว L คว่ำ ยังคงก่อปัญหาการดัดต้นคอของผมเหมือนเช่น
ที่เคยเจอมาแล้วในรถยนต์ Minivan รุ่นต่างๆ อยู่ดี พอยกขึ้นใช้งานให้
สูงขึ้น ปัญหานี้ ก็ทุเลาลงไป

พนักวางแขน แบบพับเก็บได้ พร้อมช่องวางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง ตรงกลาง
แบบมีฝาพับ มีความสูงมากไปนิดนึง แม้จะวางข้อศอกได้เต็มที่ วางแขน
ได้เต็มแขน แต่เมื่อต้องใช้ร่วมกับ พื้นที่วางแขน บนแผงประตู มันกลับ
วางแขนได้ไม่เท่ากันทั้ง 2 ข้าง ข้อนี้ เป็นประเด็นเล็กๆน้อย ที่น่าจะลอง
นำไปปรับปรุงเพิ่มเติม

เบาะรองนั่งด้านหลัง มีความยาวเหมาะสม คือยาวจนถึงข้อพับหัวเข่า
ของผมเลยทีเดียว กระนั้น การติดตั้งเบาะในตำแหน่งค่อนข้างเตี้ย จึง
ทำให้ผู้โดยสารด้านหลัง อาจต้องแอบนั่งชันขาบ้างเล็กน้อย หรือถ้า
ไม่เช่นนั้น ก็สามารถสอดปลายเท้า ลอดเข้าไปใต้เบาะนั่งคู่หน้า ใน
ลักษณะเหมือนการสอดขา เข้าไปใต้เก้าอี้เบาะนั่ง Economy Class
บนเครื่องบินโดยสาร ชั้นประหยัด ได้เลย

พื้นที่เหนือศีรษะ สำหรับผู้โดยสารด้านหลังนั้น หากคุณมีความสูง
ไม่เกิน 175 เซ็นติเมตร หรือมีช่วงลำตัวสั้น แต่ขายาว การนั่งบน
เบาะหลังของ MG จะไม่มีปัญหาเท่าใดนัก แต่ถ้าหัวโต ช่วงลำตัว
ยาว ความสูงแค่ 171 เซนติเมตร ก็อาจจะทำให้เส้นผมของคุณ ไป
เฉี่ยวเฉียดกับเพดานหลังคา ได้อย่างง่ายดาย อย่างไรก็ตาม ปัญหา
แบบนี้ จะเกิดขึ้นเฉพาะรุ่น Fastback 5 ประตู เท่านั้น ขณะที่รุ่น
Sedan 4 ประตู จะมีพ้นที่เหนืศีรษะโปร่งกว่ากันนิดนึง

มือจับยึดเหนี่ยวจิตใจ (ศาสดา) มีมาให้เหนือบานประตูคู่หลัง และ
ผู้โดยสารด้านหน้าฝั่งซ้าย รวม 3 ตำแหน่ง ไม่เพียงเท่านั้น บริเวณ
เสาหลังคาคู่กลาง B-Pillar มีตะขอแขวนเสื้อมาให้ ซึ่งบอกได้ว่า
มันใช้งานจริงไม่ดีเลย เพราะแขวนเสื้อแทบไม่ได้ จะแขวนด้วย
ไม้แขวนเสื้อ ก่อนจะไปแขวนกับตะขอดังกล่าว เสื้อสูท ก็ร่วงหล่น
ลงพื้นอยู่ดี ส่วนไฟอ่านแผนที่ด้านหลัง ก็มีมาให้

เข็มขัดนิรภัย มีมาให้ทั้งแบบ ELR 3 จุด 2 ตำแหน่ง ฝั่งซ้าย – ขวา
และแบบ 2 จุด คาดเอว ตรงกลาง

เบาะนั่งด้านหลัง สามารถแบ่งพับได้ ในอัตราส่วน 60 : 40 เพื่อเพิ่ม
พื้นที่วางสัมภาระด้านหลัง ได้มากขึ้น

ฝาประตูห้องเก็บของด้านหลัง เปิดยกขึ้น ในแบบ รถยนต์ท้ายลาดทั่วไป
มีแผงพลาสติกประดับไว้ ถ้าสังเกตดูดีๆ ชิ้นงานพลาสติก ยังไม่เรียบร้อย
มากนัก ซึ่งยังต้องแก้ไขกันต่อไป

แผงบังสัมภาระเป็นแบบแข็ง ห้องเกี่ยวยึดกับฝาประตูหลัง ด้วยเชือก 2 เส้น
เหมือนรถยนต์ ท้ายตัด ทั่วๆไป กระจกบังลมหลัง มีไล่ฝ้ามาให้ แต่กลับไม่มี
ใบปัดน้ำฝนพร้อมที่ฉีดน้ำล้างมาให้เลย!!!

ขอบกันชนค่อนข้างสูง ดังนั้น การขนถ่ายสัมภาระ เข้า – ออกจากบั้นท้าย
จึงต้องใช้ความระมัดระวัง  เพื่อไม่ให้เปลืกกันชนหลังมีร่องรอยจากการ
กระแทกกระทั้น

ห้องเก็บของในรุ่น Fastback มีขนาดใหญ่เอาเรื่อง หากวัดตามมาตรฐาน
ของสำนักงาน VDA เยอรมัน แล้ว ห้องเก็บสัมภาระของ MG 6 Fastback
จะมีด้วยความจุ 498 ลิตร แต่ถ้าพับเบาะหลัง ลงทั้ง 2 ฝั่ง ความจุจะเพิ่มขึ้น
มากถึง 924 ลิตร (แค่ระดับขอบหน้าต่าง) แต่ถ้าจุขึ้นไปถึงเพดานหลังคา
จะได้ถึง 1,379 ลิตร!!

เมื่อยกพื้นห้องเก็บของขึ้นมา จะพบยางอะไหล่ และเครื่องมือประจำรถ
ติดตั้งอยู่ในหลุม สี่เหลี่ยม ขนาดใหญ่

แผงหน้าปัด ออกแบบมาให้เน้นความเรียบง่าย ติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ให้สะดวก
ต่อการเอื้อมมือไปกดใช้งานมากที่สุด อย่างไรก็ตาม มันเป็นแผงหน้าปัดที่ชวน
ให้ผมนึกถึง Proton Preve ขึ้นมาตะหงิดๆ แม้ว่าแผงหน้าปัดของ MG จะสวย
และดูลงตัวกว่ากันนิดหน่อย ก็ตาม แต่ก็ต้องพูดกันตรงๆว่า มันดูเชย ทื่อๆ แข็งๆ
การประดับด้วยแถบโครเมียมสีเงิน และแถบ Trim สีดำเงา พอจะช่วยเสริมให้
แผงหน้าปัดของ MG 6 ยังพอดูดีได้บ้าง

ครึ่งท่อนล่างบริเวณแผงควบคุมช่องแอร์ ลากยาวไปจนถึงกล่องคอนโซลกลาง
ถูกออกแบบให้สวยงาม และสร้างบรรยากาศได้ดี จนใกล้เคียงกับ รถยนต์ กลุ่ม
Premium จากยุโรปเลยด้วยซ้ำ…ถ้าไม่กลับขึ้นไปมองแผงหน้าปัดส่วนที่เหลือ!

วัสดุที่ใช้ มีทั้งพลาสติกแข็ง หรือบุนิ่ม..(อันที่จริงก็ไม่ค่อยจะนิ่มนัก) คล้ายกับ
Ford Focus รุ่น TDCi ในบ้านเราเมื่อ 4 ปีก่อนหน้านี้

จากขวา ไปซ้าย

สวิต์กระจกหน้าต่างไฟฟ้าทั้ง 4 บาน เปิด – ปิด ได้ ด้วยระบบ One Touch ทั้งขึ้น
และลง เพียงการกด หรือยกสวิตช์ขึ้นเพียงครั้งเดียว นี่ถือเป็นจุดเด่นประการหนึ่ง
ของ MG 6 ที่เหนือกว่า คู่แข่งในกลุ่มเดียวกันคันอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม สวิตช์กระจกมองข้าง ปรับ และพับด้วยไฟฟ้า ทำงานค่อนข้างช้า
ไม่เร็วเพียงพอ คือต้องรอราวๆ 1 วินาที หลังจากกดปุ่ม กระจกมองข้างจึงจะเริ่ม
พับเข้ามา อย่างอืดๆเนือยๆ เหมือนแมวขี้เซา

ใต้ช่องแอร์ฝั่งขวาสุดด้านคนขับ เป็นสวิตช์ เปิด-ปิด ไฟหน้า และไฟตัดหมอก
ทั้งหน้า-หลัง ด้วยวิธีหมุน และดึงเข้าหาตัว 1-2 จังหวะ มีสวิตช์แบบ Toggle
ให้เลื่อนหมุน ปรับความสว่างทั้งชุดมาตรวัด และปรับระดับไฟหน้า สูง – ต่ำ

ก้านสวิตช์ฝั่งขวา เป็นก้านไฟเลี้ยว และไฟสูง ดันเข้าหาตัวเพื่อเปิดไฟสูงแบบ
กระพริบ และดันออกจนสุึด เพื่อเปิดไฟสูงค้างไว้ ขณะขับขี่ทางไกลตอนดึกๆ

ก้านสวิตช์ฝั่งซ้าย ควบคุมชุดใบปัดน้ำฝน ด้านหน้า ในรุ่น C และ D จะเป็นแบบ
ตั้งเวลาหน่วง แต่ในรุ่น X จะเป็นแบบอัตโนมัติ พร้อ Rain Sensor มาให้

พวงมาลัยเป็นแบบ 4 ก้าน ทรงอ้วนๆอูมๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของวงพวงมาลัย
เหมาะสมแล้ว กับบุคลิกของตัวยรถ Grip ของพวงมาลัยเอง ก็จับใช้ได้ หุ้มหนัง ซึ่ง
พอจะให้ความสบายมืออยู่บ้าง แต่แป้นแตรและก้านพวงมาลัยนั้น ออกแบบได้เชย
เฉิ่ม แข็งทื่อ เหมือนของราคาถูก และเป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้นึกถึง Proton Preve
ขึ้นมาตะหงิดๆ แม้จะมีมีแป้นเเปลี่ยนเกียร์ Paddle Shift บวก – ลบ มาให้ด้วยก็ตาม

สวิตช์บนก้านพวงมาลัยทั้ง 2 ฝั่งนั้น ตามหลักแล้ว ฝั่งขวา ไว้ใช้ควบคุมระบบล็อก
ความเร็วอัตโนมัติ Cruise Control โดย กดปุ่ม i/O เพื่อ เปิด-ปิดระบบ แล้วเลื่อน
สวิตช์หมุนเลื่อนฝั่งขวา เพื่อปรับความเร็วที่ต้องการ แล้วกดล็อกลงไป ถ้าต้องการ
ยกเลิกระบบ ก็กดปุ่ม I/O และถ้าต้องการจะย้อนกลับไปใช้ความเร็วเดิม ให้กด
ปุ่ม RES อีกตรั้ง

ขณะที่ฝั่งซ้ายนั้น ใช้ควบคุมชุดเครื่องเสียง ทั้งเร่งและลดเสียง หรือเปลี่ยนจาก
วิทยุ ไปเป็น CD/MP3 ฯลฯ แต่ Toggle Switch ที่มีมาให้ กลับไม่ได้ใช้เพื่อการ
เปลี่ยนเพลง หรือเปลี่ยนคลื่นวิทยุ ทว่า กลับถูกตั้งมาให้ใช้เปลี่ยนหน้าจอข้อมูล
MID (Multi Information Display บนมาตรวัดไปเสียอย่างนั้น!

ถ้าต้องการเปลี่ยนคลื่นวิทยุ หรือเปลี่ยนเพลง ต้องใช้มือ ย้ายลงไปกดสวิตช์
บนเครื่องเสียงแทน แม้จะใกล้มือ แต่มันชวนให้สับสนมากไปหรือเปล่า?

ชุดมาตรวัดความเร็ว และมาตรวัดรอบเครื่องยนต์ มีขนาดเล็กเกินไป จนทำให้นึกถึง
รถยนต์ Renault ของฝรั่งเศส ที่มักทำมาตรวัดเล็กๆแบบนี้ เป็นประจำ แถมตัวเลข
ก็ออกแบบมาให้อ้วน แบน กว้าง อีกทั้งฟอนท์ตัวเลขยังอยู่ชิดติดกัน อ่านข้อมูลใน
ช่วงกลางคืน ขณะใช้ความเร็วสูง ยากอยู่บ้าง ต้องเพ่งสายตากันเลยละ นี่ขนาดว่า
ผมยังไม่ได้มีสายตาสั้นจนต้องตัดแว่นนะ

เกจ์วัดความร้อน และเกจ์วัดน้ำมัน มาเป็นแถบ ชวนให้นึกถึงรถยนต์ฝรั่งเศส ในยุค
1980 อันที่จริงแล้ว ถ้าเพิ่มความละเอียดสำหรับเกจ์น้ำมันขึ้นมาอีกนิดนึงได้ จะดี
มากกว่านี้ ส่วนตำแหน่งไฟเตือนต่างๆนั้น ถือว่าเหมาะสมดีแล้ว

เครื่องปรับอากาศ เป็นแบบอัตโนมัติหน้าจอ Digital แยกฝั่งซ้าย – ขวา  พร้อมช่องแอร์
สำหรับผู้โดยสารแถวหลัง ซึ่งตั้งคำถามเลยว่า จะเย็นไปถึงขั้วโลกเหนือเลยใช่ไหม
เย็นมาก เย็นจับใจ เป็นแอร์แถวหลังที่เย็นเร็ว และเย็นแรงที่สุด เท่าที่เราเคยเจอมา
ในรถยนต์นั่งส่วนบุคคลแบบ Sedan – Hatchback

ชุดเครื่องเสียง เป็นวิทยุ AM/FM พร้อมเครื่องเล่น CD/MP3 1 แผ่น มีหน้าจอควบคุม
การทำงาน ติดตั้งอยู่เหนือช่องแอร์คู่กลาง แสดงผลด้วยสีแดง แบบ Dot Matrix ที่ดู
เหมือน ขุดมาจากรถยนต์ในยุค 1990 อย่าง Opel / Vauxhall Omega รุ่นสุดท้าย

มันเป็นเครื่องเสียงที่ต้องถามเลยว่า ทำไมใช้งานโคตรยากมหาประลัยอะไรนักหนา…
กว่าจะหาฟังก์ชัน ปรับเสียงเจอ ต้องไปหลงควานหาในเมนู Info หรือ Setup ตั้งนาน
กว่าจะมาพบว่า แค่กดปุ่มรูป โน้ตดนตรี แค่นั้น!! แถมจะเปลี่ยนโหมดฟังก์ชัน ต่างๆ
ก็ยากเย็น เพราะสวิตช์หมุนๆ กึ่งกลางช่องแอร์นั้น ทำประโยชน์อะไรแทบไม่ได้เลย
ต้องกดปุ่ม SEL (Select) ก่อน ถึงจะทำงานได้ ถ้าเซ็ตอะไรก็ตามเสร็จ ค่อยกด ESC
(อันแปลว่า Escape) ออกมา แถมยังมีโหมด GALA ซึ่งก็ต้องเปิด Dictionary ผสม
กับคู่มือผู้ใช้รถดู ถึงจะรู้ว่า มันคือ โหมด ปรับระดับเสียง ให้ดังขึ้นตามความเร็ว
ของรถ!!

ทำไมไม่เขียนไปเลยว่า ปรับ Sound Leveling หรืออะไรก็ตามที่เข้าใจง่ายกว่านี้
Gala นี่ มันทำให้ผมคิดถึงคำว่า Gala dinner หรือ ชื่อรถบัสของ Isuzu ในญี่ปุ่น!!

คุณภาพเสียง บอกเลยว่า แค่พอฟังข่าวได้ เพราะต่อให้ปรับเสียงใส Trebal จนสุด
เสียงที่ออกมา ก็ยังขุ่นมัว เหมือนมีตะกอน ลอยอยู่ในน้ำที่ใส่แก้วเต็มไปหมด

มีช่องเสียบ USB และ AUX ด้วย ผมลองค้นหาเบื้องต้นแล้ว ไม่เจอ จนต้องให้
พี่อ้อ PR ของ MG เฉลยให้ว่า..มันถูกซ่อนอยู่ใน ช่องเก็บของฝั่งคนขับ ใต้สวิชต์
เปิดไฟหน้า!

ห๊ะ!! ใคร อุตริ สั่งให้เอาช่องเสียบ USB กับ AUX ไปไว้ตรงนั้น!!! ใช้งานยาก
ชิบหาย แบบนี้ต้องจอดข้างทาง สถานเดียว ถ้าคิดจะถอดสลับเปลี่ยน USB
มันไม่สะดวกต่อการใช้งานอย่างรุนแรง ผู้เกี่ยวข้อง เอาไปปรับแก้ไขด่วน!!

มองไปด้านข้างลำตัวผู้ขับขี่ และผู้โดยสารด้านหน้า จะเห็น กล่องคอนโซลใส่ของ
พร้อมฝาปิด ออกแบบเป็นพนักวางแขนในตัว แม้จะเตี้ยไปหน่อย แต่ก็ยังวางแขน
รวมถึงข้อศอกได้อยู่

เปิดฝากล่องมาจะพบช่องวางของ ซึ่งมีช่องเปิดรับลมเย็น ที่ส่งผ่านไปยังช่องแอร์
ของผู้โดยสารด้านหลัง เปิดช่องให้ลมเย็นเข้ามาได้ เพื่อแปรสภาพกล่องเก็บของ
ธรรมดาๆ ให้กลายเป็น Cooler Box แช่เครื่องดื่มให้เย็นได้

อย่าเผลอเอากล้องถ่ายรูปไปวางไว้ในนั้นเด็ดขาด! มันเย็นราวกับแกะออกมาจาก
ช่องแช่แข็งในตู้เย็นที่บ้านคุณเลยละ!

ช่องวางแก้วน้ำพร้อมฝาปิดติดตั้งมาให้เพียงแค่ตำแหน่งเดียว เท่านั้น นั่นแปลว่า
คุณหรือคนที่นั่งข้างคุณ อาจต้องเปิดศึกชิงช่องวางแก้ว อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อยากจะถามคนออกแบบกันเลยว่า ทำไมไม่ทำมาเพิมให้อีกสัก 1 จุด ? เพราะ
ในเมื่อคุณไม่ยอม ออกแบบให้แผงประตูวางขวดหรือแก้วน้ำได้ บริเวณคอนโซล
กลาง คือพื้นที่ ซึ่งเหมาะสุดแล้ว ในการติดตั้งช่องวางแก้ว แต่คุณกลับให้มาแค่
ตำแหน่งเดียวเนี่ยนะ?

ด้านหลังกล่องคอนโซลกลาง เป็นช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง 2 ตำแหน่ง
ขอยืนยันว่า มันเป็นช่องแอร์ ที่เป่าลมออกมาแรงที่สุด เย็นจนหนาวไข่ มากสุด
ในบรรดารถยนต์นั่ง ประกอบในประเทศ ทุกรุ่น ทุกยี่ห้อ ณ บัดเดี๋ยวนี้เลยละ!

แถมยังมีช่องเขี่ยบุหรี่ ฝืดๆ ขนาดเล็ก พับเก็บได้ ติดตั้งมาให้ เอาใจเจ้าของโรงสี
(หมายถึง..เวลาสูบบุหรี่กันแต่ละที หลายคน ก่อควันบุหรี่ท่วม ดุจโรงสียุคเก่า)

มองขึ้นไปด้านบนเพดานหลังคา รุ่น 1.8 Turbo ตัวท็อป จะมีหลังคา SunRoof
ติดตั้งมาให้ พร้อมแผงบังแดดแบบแข็ง สวิชต์เปิด – ปิด SunRoof  เป็นแบบ
มือบิด One Touch ก็จริง แต่ใช้งานยาก ต้องมานั่งเรียนรู้ว่า ควรจะหมุนเปิด
หรือ ปิด ในจังหวะอย่างไร SunRoof จึงจะยอมเปิดหรือปิดให้เรา ด้วยการ
หมุนเพียงสั้นๆ ครั้งเดียว น่าเบื่อที่สุด

ที่แย่ไปกว่านั้น คือแผงบังแดด อันที่จริง การติดตั้ง กระจกแต่งหน้า มาให้พร้อม
ไฟส่องแต่งหน้า และฝาปิด ครบทั้งฝั่งซ้าย และขวา นั่นเป็นเรื่องดี แต่ปัญหาหนะ
อยู่ที่ ขนาดของแผงบังแดด มันเล็กเกินไป ใช้งานจริง แทบไม่ช่วยบังแสงแดดเลย
ตรงกันข้าม การปล่อยให้มันยังคงอยู่ในตำแหน่งของมัน จะช่วยลดการรบกวนทาง
สายตาขณะขับขี่ย้อนแสงแดด จะยังดีเสียกว่า!

ทัศนวิสัยด้านหน้า มองเห็นหนทางข้างหน้าชัดเจน ฝากระโปรงอยู่ในตำแหน่งสูง
แต่ยังไม่เท่ากับ ขอบโค้งบังแดด บริเวณชุดมาตรวัด ที่โค้งขึ้นไปได้สูง จนเหมาะ
กับคนตัวสูงเกินกว่า 170 เซ็นติเมตร ขึ้นไป ตามสไตล์รถยุโรป กระนั้น ยังไม่มี
ปัญหาในการมองเห็นเส้นทางข้างหน้าแต่อย่างใด

กระจกมองข้างมีขนาดใหญ่กำลังดี เพียงแต่ว่า จะโดนขอบด้านในของกรอบ
กระจกมองข้าง กินพื้นที่บัดบังเข้ามาเล็กน้อย

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งซ้าย มีขนาดใหญ่ และแอบบดบังพื้นที่การมอง
รถยนต์ที่แล่นสวนทางมา ในขณะจอดรอกลับรถ ส่วนกระจกมองข้างฝั่งซ้าย
มีขนาดใฟญ่ มองเห็นชัดเจน และถ้าปรับให้ดีๆ ก็จะไม่มีขอบด้านในของ
กรอบกระจกมองข้าง มาเบียดพื้นที่ไปง่ายๆ

ทัศนวิสัยด้านหลังนั้น เนื่องจาก เสาหลังคา C-Pillar คู่หลัง ค่อนข้างหนา
แถมบั้นท้ายยังเป็นแบบ Fastback ลาดลงไป ทำให้พื้นที่กระจกบังลมหลัง
มองเห็นได้น้อย จึงทำให้อาจต้องเพิมความระมัดระวังขณะเบี่ยงออกไป
ตามเส้นทางคู่ขนาน แต่ภาพรวม ยังถือว่า พอยอมรับได้

********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

เครื่องยนต์ของ MG 6 คันสีเงินนี้ มีรหัสรุ่นประหลาดๆว่า Kavachi เป็นขุมพลัง บล็อก
4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,796 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 80.0 x 89.3 มิลลิเมตร
อัตราส่วนกำลังอัด 9.2 : 1  ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วย เอ็มเอฟไอ (MFI : Multipoint
Fuel Injection) ผ่านการควบคุมของ กล่อง ECU จาก BOSCH เจเนอเรชันใหม่
EMS6204 เพิ่มระบบแปรผันวาล์วอัจฉริยะที่หัวแคามชาฟต์ DVVT (Double
Variable Valve Timing)

กำลังสูงสุด 161 แรงม้า (PS) /5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 215 นิวตันเมตร
(21.9 กก.-ม.) ที่ /2,000 – 4,500 รอบ/นาที

ส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยเกียร์อัตโนมัติแบบ Dual Clutch Transmission
6 จังหวะ ซึ่ง MG เคลมไว้ในเอกสารประชาสัมพันธ์ว่า ลดเวลาในการเปลี่ยนเกียร์ลง ให้
เหลือเพียง 0.2 วินาที

อัตราทดเกียร์ มีดังนี้

เกียร์ 1…………………………..3.5882
เกียร์ 2…………………………..2.1739
เกียร์ 3…………………………..1.4242
เกียร์ 4…………………………..1.0263
เกียร์ 5…………………………..1.2121
เกียร์ 6…………………………..0.9737
เกียร์ R…………………………..4.6438
อัตราทดเฟืองท้าย………4.1579/2.7241

ดูตัวเลขจากสเป็กแล้ว น่าจะแรง แต่ในการขับขี่จริง มันไม่เป็นเช่นนั้น
เราลองจับเวลากันในช่วงกลางดึก บนถนนที่โล่ง และปลอดภัยมากพอ
ที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ร่วมเส้นทางต่างๆ ภายใต้มาตรฐานดั้งเดิม
คือ เปิดแอร์ เปิดไฟหน้า นั่ง 2 คน น้ำหนักตัวคนขับ กับผู้ร่วมจับเวลา
รวมแล้ว ไม่เกิน 170 – 180 กิโลกรัม และผลลัพธ์ที่ได้ เมื่อเปรียบเทียบ
กับคู่แข่งในพิกัด C-Segment Compact Class เหมือนกัน มีดังนี้

พอดูตัวเลขแล้ว ต้องถามเลยว่า แน่ใจนะว่า มี Turbocharger ติดตั้งมาให้
กับเครื่องยนต์ของรถคันนี้?

ตัวเลขที่ได้ หล่นลงมาอยู่ในกลุ่มล่าง กระเดียดไปทาง ท้ายตารางชัดเจน
ไม่ต้องคิดไปเทียบชั้นกับ Nissan Pulsar Turbo เขาหรอก รายนั้น เขา
แรงกว่าชนิดไม่ต้องสืบอะไรกันอีก

เรื่องน่าเศร้าก็คือ MG 6 มี ระบบอัดอากาศ Turbocharger เข้ามาช่วย แต่
กลับทำตัวเลขออกมาได้ แพ้ให้กับรถยนต์บ้านๆ ยอดนิยม ขวัญใจชาว
Taxi อย่าง Toyota Corolla Altis 1.6 ลิตร เกียร์ CVT รุ่นใหม่ล่าสุด ทั้ง
เกม 0 – 100 และ 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง!!

อะไรกันเนี่ยยยยยย?

เมื่อเห็นตัวเลขอัตราเร่งที่เราจับเวลามาได้ คุณผู้อ่านบางท่านในเว็บไซต์
Headlightmag ของเรา ถึงขั้นตั้งคำถามเลยว่า..

“สาบานได้นะว่านี่ Turbocharger ไม่ใช่พัดลมระบายอากาศ แปะหลัง
เครื่องคอมพิวเตอร์ ที่ขายกันอยู่ในห้าง อมร?”

ส่วนความเร็วสูงสุดนั้น ช่วงปลาย ไหลขึ้นอย่างต่อเนื่องก็จริงอยู่ แต่ค่อนข้างช้า
รอไปเถอะ กว่าจะลากขึ้นมาได้ถึงท็อปสปีดนี่ นอกจากจะต้องเหยียบแช่กันยาวๆ
อย่างต่อเนื่องมานานพอสมควรแล้ว ยังต้องพึ่งพาเนินลาดชัน ช่วยส่งด้วย ถึงจะ
ทำตัวเลขออกมาได้อย่างที่เห็นข้างล่างนี้…

ขอย้ำเหมือนเช่นเคยว่า การทดลองความเร็วสูงสุดให้ดูนั้น แม้คราวนี้ จำเป็นต้อง
กดแช่ยาวๆ แต่เราทดลองในเวลากลางดึก เน้นคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเอง
รวมทั้งผู้ร่วมใช้เส้นทางอย่างเข้มงวด โปรดอย่าไปทำการทดลองด้วยคนเอง
โดยเด็ดขาด เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังอาจก่ออันตรายถึงชีวิต ทั้ง
ต่อตนเองและผู้บริสุทธิ์อื่นๆอีกด้วย! และหากเกิดอุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์ใดๆขึ้น
เราจะไม่รับผิดชอบในทุกกรณี! เพราะถือว่า นำไปทำกันเอง ทั้งที่เราก็ได้เตือน
และห้ามปรามกันแล้ว

ในการขับขี่จริง จุดที่ควรปรับปรุงมากที่สุดของ MG 6 อยู่ที่ เครื่องยนต์ และ
ระบบส่งกำลัง ทั้งหมด (Powertrain & Drivetrain) เพราะทำหน้าที่ได้
น่าผิดหวังมาก เมื่อเทียบกับตัวเลขสเป็ก จากแค็ตตาล็อก

ผมมั่นใจว่า ไม่ได้คาดหวังมากเกินไปแน่ๆ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล ขนาด
ตัวถังอยู่ในพิกัด CD-Segment คร่อมตรงกลาง เหมือนเช่นคู่แข่ง แถมยัง
ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนในโบรชัวร์ว่า ใช้ Turbocharger ช่วยเพิ่มพละกำลัง
กลายเป็นจุดขายอีกประการหนึ่ง ที่เรียกบรรดาลูกค้าให้เดินเข้าโชว์รูม เพื่อ
มาขอทดลองขับกัน

แต่ในกรณีของ MG 6 นั้น พูดกันอย่างตรงไปตรงมา การมี Turbocharger
แปะเข้ากับเครื่องยนต์ ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดแก่ปวงประชาชาวไทย
มากอย่างที่ควรจะเป็นเลย อัตราเร่งที่ได้ มันแทบไม่ต่างจาก รถยนต์นั่ง กลุ่ม
C-Segment ทั่วไป ที่ใช้เครื่องยนต์ราวๆ 1,600 – 1,800 ซีซี แบบไม่มี
Turbocharger หรือระบบอัดอากาศใดๆทั้งสิ้น

ทำไงได้ เครื่องยนต์เรี่ยวแรงเท่านี้ แต่ต้องแบกภาระน้ำหนักตัวรถที่หนักขนาดนี้

อัตราเร่งที่มีมาให้ แม้ว่าจะอยู่ในเกณ์ปกติ ของรถยนต์นั่งกลุ่ม C-Segment
ที่ใช้เกียร์อัตโนมัติ ทั่วไป เพราะ 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทำได้ 11 วินาที
ต้นๆ ก็ถือว่า อยู่ในเกณฑ์ปกติดี แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง สำหรับรถยนต์ที่โฆษณา
ว่า ติดตั้ง Turbocharger มาจากโรงงาน แต่กลับทำผลงานออกมาได้แค่นี้
ทีมวิศวกรของ MG ต้องกลับไปพิจรณาให้ดีได้แล้วว่า ไปพลาดที่ตรงไหน?

ตัวเลขสเป็กออกมาดี แต่เครื่องยนต์ มีเรี่ยวแรงให้ใช้งานจริง แค่ในระดับ
“พอประมาณ” การเร่งแซงในช่วงเกียร์ 1 และ 2 นั้น มันเกิดขึ้นแบบเดียวกับ
รถเก๋ง B-Segment เครื่องยนต์ 1,500 ซีซี ในบ้านเราเลยด้วยซ้ำ

แรงเสียดทานในระบบเครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง และน้ำหนักตัวถัง คือสาเหตุ
สำคัญ ที่ทำให้ตัวเลขของ MG 6 ออกมาเป็นเช่นนี้ ถ้าสามารถลดน้ำหนักของ
ชิ้นส่วนภายในเครื่องยนต์ ลดแรงเสียดทาน ออกแบบท่อทางเดินไอดี และ
ไอเสียกันซะใหม่ ก็น่าจะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวไปได้ระดับหนึ่ง

เรื่องที่ต้องตำหนิกันอย่างหนักมี 2 ประเด็น คือ การตอบสนองของคันเร่งที่
ล่าช้ามากๆ ถ้าคุณเหยียบคันเร่งในลักษณะ แตะลงไป เพื่อจะออกรถ ต้อง
หาจังหวะให้ดีๆ ถ้าเหยียบแบบ แตะเบาๆ รถก็ไม่มีเรี่ยวแรงที่จะพุ่งออกไป
ถ้าเหยียบเพิ่มขึ้นเป็น 20% จากระยะเหยียบทั้งหมดของแป้นคันเร่ง ต้อง
ดูด้วยว่า รถเพิ่งจอดมาได้สักพัก หรือจอดนานแล้ว เพราะบางครั้ง รถจะ
ตอบสนองหลังเหียบคันเร่งลงไปราวๆ 1 วินาที ด้วยการออกตัวอย่างเนิบๆ
หรือบางครั้ง พอชุดคลัชต์จับตัวกันปุ๊บ รถก็พุ่งพรวดพราดออกไปเลยก็มี

มันเป็นการพุ่งไปข้างหน้าแบบ “ทะเล่อทะล่า” เหมือนนักเรียนที่กำลังตื่น
ตระหนกตกใจ หลังจากงีบหลับในห้องเรียน แล้วครูประจำชั้น เดินมาทาง
ข้างหลัง เอาฝ่ามือพิฆาต ตบป้าบ! ลงไปบนแผ่นหลังของเจ้าหมอนั่น!

ถ้าเรียกขออัตราเร่งเพิ่มเติมอย่างปัจจุบันทันด่วน เพื่อแซงรถบรรทุกคันข้างหน้า
พอเหยียบคันเร่งลงไปจมมิดติดเหล็กรถ ก็ต้องรอกันต่อไปอีกเกือบ 2 วินาที หรือ
นานกว่านั้นนิดหน่อย เครื่องยนต์ จึงจะค่อยๆเริ่มส่งแรงบิดมาให้คุณ ด้วยอารมณ์
ที่สัมผัสได้ว่า คุณกำลังโดน เครื่องยนต์ มันแสดงกิริยา กวนส้นตีน กับคุณอยู่

มันเปรียบได้กับ ลุงชาวอังกฤษ วัย 60 กว่าปี เกือบ 70 ปี ที่กำลังพยายามกวนตีน
กับคุณ ปั่นหัวเล่นๆ เมื่อคุณร้องขอรบกวนให้เขาช่วยลุกจากเก้าอี้ เพื่อที่คุณจะ
เช็ดทำความสะอาดพื้นให้เขานั่นละ!

ขณะที่ตาแพน Commander CHEMG ของพวกเรา ถึงขั้นตั้งคำถามเลยว่า
“วิศวกร MG ครับ คุณเคยโทรสั่ง พิซซา แล้วนั่งรอ นอนรอ เป็นชั่วโมง
เขายังไม่มาส่งไหมครับ? นั่นละ อารมณ์เดียวกันกับที่ผมต้องรออัตราเร่ง
จาก คันเร่งของคุณนั่นแหละ!”

เรียกได้ว่า จับจังหวะแทบไม่ได้เลย เป็นคันเร่งที่เข้าใจยากมากๆ นั่นจึงทำให้
ตัวรถ ตอบสนองตามใจตัวมันเอง อยากจะพุ่งก็พุ่ง อยากจะเฉื่อยก็เฉื่อย ไร้ซึ่ง
ความพอดีในชีวิตของมัน

อีกประการต่อมา อยู่ที่การตอบสนองของเกียร์อัตโนมัติ DCT 6 จังหวะ ซึ่งต้อง
ถามไถ่กันเลยว่า เคยป่วยเป็นสันนิบาต มาหรือยังไง?

โอ้ย! คุณผู้อ่านครับ เกียร์ กระตุกได้อย่างบ้าบอคอแตกที่สุด ไหนบอกว่า เกียร์
Dual Clutch จะช่วยให้การเปลี่ยนเกียร์ ราบรื่น และต่อเนื่องกันไง? นี่อะไรกัน?
จากเกียร์ 1 ไป 2 ก็กระตุก จาก 3 ไป 4 ก็กระตุก บางครั้ง ก็เปลี่ยนนุ่มนวล เหมือน
ไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้นไปก่อน บางครั้ง ก็กระตุกตามอารมณ์และตามแรงดันน้ำมัน
เกียร์ในระบบ คาดเดาไม่ได้เลยว่าจะกระตุกตอนไหน

ใครก็ตามที่เคยคิดว่า เกียร์ Dual Clutch ของ Ford Fiesta หรือ Focus กระตุก
และน่ารำคาญมากแล้ว ขอให้ลองมาขับ MG 6 นี่เสียก่อน แล้วจะพบเลยว่า อาการ
กระตุกจากเกียร์ของ Ford นั้น มันกลายเป็นเรื่องเล็กๆ ไปเลยละ!

นอกจากนี้ เกียร์ยังถูกตั้งโปรแกรม มาให้ทำงานแบบ ช้าๆ ไม่ไว ออกจะโง่
เสีบยด้วยซ้ำ ไม่ว่ามันจอยู่ในเกียร์ D หรือโหมดบวกลบ ก็ตาม

ถ้าผลักไปที่เกียร์ S โหมดบวกลบ ก็ยังพอจะตอบสนองได้ดีขึ้นบ้างนิดหน่อย
เกียร์จะไม่ยอมรับคำสั่งซ้อนติดๆกัน ในช่วง 1-2 วินาที ทันที จะรับทีละคำสั่ง
สั่งเร็วๆ ไม่ได้ ต้องสั่งแบบตามจังหวะ ถ้าจะเปลี่ยนเกียร์ลงจาก 6 ลง 4 จะต้อง
เปลี่ยนเกียร์ทีละครั้ง เว้นช่วงกัน ไม่อาจสั่งติดๆกันเร็วๆ แบบรถสมัยใหม่ได้

การเก็บเสียง ในภาพรวม ถือว่าทำได้ในระดับดี ไม่ได้เลวร้าย เพียงแต่ว่า
เมื่พ้นจากความเร็ว 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป เสียงกระแสลม จะเริ่ม
ดังขึ้นเรือยๆ กระนั้น มันก็ยังเงียบกว่า คู่แข่งในพิกัดเดียวกันหลายคัน
เช่น Mazda 3 และ…Mitsubishi Lancer EX

ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรง
แบบ ไฮโดรลิก ไม่มีระบบไฟฟ้าใดๆ มาช่วยควบคุม!! สารภาพเลยว่า ตอนแรก
อ่านสเป็กแล้ว ดีใจ ที่ยังมีรถยนต์รุ่นใหม่ เลือกใช้พวงมาลัยเพาเวอร์ ไฮโดรลิก
แบบดั้งเดิมเหลืออยู่…

แต่ในตอนนี้ ผมชักไม่แน่ใจนัก…

ในช่วงความเร็วต่ำ ขณะคลานออกมาจากที่จอดรถ พวงมาลัย โคตรหนักและหนืดมากๆ
จนชวนให้นึกถึง พวงมาลัยของ Chevrolet Optra มันหนักขนาดที่ผมเองออกปาก
บ่นเลยว่า หนักไปหน่อย ถ้าเทียบกับบรรดารถยนต์นั่ง C-Segment ด้วยกันทั้งหมด
พวงมาลัยของ MG 6 ถือว่า หนักที่สุดในกลุ่มแล้ว!

การปรับตั้งพวงมาลัยให้หนัก ทำให้การบังคับเลี้ยว ขณะถอยหลังเข้าจอด หรือ
คลานไปตามสภาพการจราจรในเมือง ไม่คล่องตัวเอาเสียเลย ต้องออกแรงหมุน
พวงมาลัยมาก ชนิดที่ว่า ไม่อาจใช้นิ้วชี้เพียงนิ้วเดียว ช่วยหมุนพวงมาลัยได้ ถ้
คิดจะทำ คุณก็ต้องเกร็งนิ้วชี้อย่างหนักหน่วง จนเสียวว่า กระดูกนิ้วจะแตกกัน
เสียก่อน การหมุนพวงมาลัยในช่วงแรกๆ ก็ขาดความแม่นยำ พวงมาลัยเนือย
หนืด และหนัก ชวนให้มุดซอกแซกได้ลำบาก เพราะต้องเพิ่มเวลาในการคิด
และตัดสินใจ แถมบวกเพิ่มเวลาในการออกแรงหมุนพวงมาลัยอีกด้วย

คุณอาจจะบอกว่า แหม คุณจิมมี่ MG 6 ตัวถังมันก็ใหญ่สุดในกลุ่ม จะขับลัดเลาะ
ซอกแซก มันก็ลำบากหน่อยละนะ…

ขอโทษนะครับ รถอย่าง Ford Everest ผมก็ยังสามารถพามุดลัดเลาะไปตามสภาพ
การจราจรติดขัด ได้อย่างสบายๆ มาแล้ว แต่ MG 6 ผมไม่สามารถทำแบบนั้นได้เลย
แต่ C-Segment คันอื่น ผมทำได้ เกือบทั้งหมด ดังนั้น มิติตัวรถ มันไม่ใช่ข้ออ้างเลย!

ขณะขับขี่ด้วยความเร็วเดินทาง พวงมาลัยนิ่งพอประมาณ แต่ ความมั่นใจที่หดหาย
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ มีระยะฟรีของพวงมาลัย ขณะตั้งตรง มากไป แกว่งพวงมาลัย
เล่นๆ ซ้าย-ขวา ไปมา ได้ง่ายไป และไม่ต่อเนื่องกันกับจังหวะการหมุนพวงมาลัย
เพิ่ม ส่วนหนึ่งมีผลมาจากอัตราทดของเฟืองพวงมาลัย ในช่วงระยะแรกๆ แต่ถ้า
เลี้ยวเข้าโค้ง การตอบสนอง ก็ถือว่า หนักแน่น พอยอมรับได้ แอบคล้ายคลึงกับ
พวงมาลัยของ Proton Preve อยู่นิดๆ

ระบบกันสะเทือนหน้า เป็นแบบอิสระแมคเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง ส่วน
ด้านหลัง เป็นแบบ อิสระ Z-Type Multi-Link พร้อมเหล็กกันโคลง คือจุดเด่นสำคัญ
หนึ่งในไม่กี่ประการของ MG 6 ตอบสนองดีมาก ในสไตล์นุ่มและแน่นแบบรถยุโรป

ขณะขับขี่ในเมือง การดูดซับแรงสะเทือนเล็กๆน้อยๆ นั้น ทำได้ค่อนข้างดี ยิ่งเจอ
คอสะพาน ข้ามคลองทั้งหลายแล้ว MG 6 จะเก็บอาการได้ดีกว่ารถญี่ปุ่นทั่วไปอย่าง
ชัดเจน จุดนี้ขอชมเชยอย่างยิ่ง!

อย่างไรก็ตามการขับขี่ในย่านความเร็วเดินทาง จนถึงความเร็วสูงนั้น อาจยังไม่ถึง
ขั้นมั่นใจได้มากนัก แค่พอไว้ใจได้ เนื่องจาก Down Force หรือ การออกแบบให้
อากาศไหลผ่าน และกดตัวรถบริเวณด้านหน้าของรถ ยังทำได้ไม่ดีนัก จึงอาจมี
อาการแกว่ง ซ้าย – ขวาเล็กๆ หากมีกระแสลมปะทะด้านข้างพัดเข้ามาเยอะ คุณอาจ
ต้องใช้สมาธิในการถือพวงมาลัยเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

การเข้าโค้งนั้น MG 6 ทำได้ดีมาก จัดอูยู่ในกลุ่มต้นๆ ของตลาด เทียบเคียงได้กับทั้ง
Ford Focus และ Mitsubishi Lancer EX อาจจะไม่ได้สนุกเหมือน Mazda 3
แต่ก็ถือว่าให้ความมั่นใจได้ดีเลยทีเดียว นิ่ง เนียน แม้จะใช้ความเร็วสูงบนทางโค้ง
แบบยาวๆ ที่ผมสามารถใส่เข้าไปได้ที่ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถ้าคิดจะเข้าโค้ง
ให้นิ่งๆ เนียนๆ หนะ เข้าได้สบายๆ

แต่ ถ้าคุณจำเป็นเปลี่ยนเลนกระทันหัน หากใช้ความเร็วไม่เกิน100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
หักพวงมาลัยเปลี่ยนเลนเร็วๆ เมื่อไหร่ บั้นท้ายจะยังคุมได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณใช้
ความเร็วจนแตะระดับ 100 เมื่อไหร่ หากคืนพวงมาลัยเร็ว มาตั้งตรงเร็วๆ ยังพอได้
แต่ถ้าต้องหักหลบในจังหวะที่ 2 ขึ้นไป รถอาจเสียการทรงตัว บั้นท้ายอาจจะปัดออก
มันบอกให้คุณรู้อาการนี้ล่วงหน้า แต่จะไม่เอื้ออำนวยต่อการแก้อาการบั้นท้ายออก
ได้เลย กระนั้น กว่าจะถึงจุดที่ MG 6 บั้นท้ายออกแล้วหมุนตอนนั้น Corolla Altis
ใหม่ ก็คงลงไปนอนแอ้งแม้งข้างทาง รอล่วงหน้ากันนานแล้วละ

ส่วนหนึ่ง ของอาการนี้ น่าจะมีผลมาจาก ระยะฐานล้อที่ยาว ถึง 2,705 มิลลิเมตร
ซึ่งระยะหลังๆมานี้ ผมเริมสังเกตดูเล่นๆ แล้วพบว่า รถยนต์รุ่นใดที่มีระยะฐานล้อ
ยาวเกิน 2,700 มิลลิเมตร มันมักจะมีอาการบั้นท้ายสะบัดออกเกิดขึ้นได้ง่ายกว่า
รถยนต์ที่มีระยะฐานล้อสั้นกว่า ดังนั้น ข้อนี้ ผมยอมรับได้ เพราะรถยนต์ที่มีอาการ
บั้นท้ายออกจนน่ากลัวกว่า MG 6 นั่นคือ Mercedes-Benz CLA ใหม่ไงละ!

ระบบห้ามล้อ เป็นดิสก์เบรก แบบมีรูระบายความร้อนพร้อมระบบทำความสะอาด
จานเบรค BDC (Brake Disc Cleaning) มาให้ครบทั้ง 4 ล้อ ติดตั้งตัวช่วยมาตรฐาน
ทั้ง ระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti Lock Braking System) ระบบช่วยกระจาย
แรงเบรค EBD (Electronic Brake Distribution) ระบบเพิ่มแรงเบรกในภาวะ
ฉุกเฉิน Brake Assist

นอกจากนี้ยังติดตั้ง ระบบช่วยควบคุมแรงเบรกในแต่ละล้อ เพื่อรักษาเสถียรภาพขณะที่
ตัวรถกำลังลื่นไถล VSC (Vehicle Stability Control) ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีทิ้ง
ขณะออกตัว TCS (Traction Control System) ระบบป้องกันอาการลื่นเมื่อเร่ง
ความเร็ว MSR (Motor Control Slide Retainer) ระบบช่วยควบคุมแรงดันเบรก
ขณะเข้าโค้ง (CBC – Cornering Brake Control) ระบบช่วยการออกตัวบนทาง
ลาดชัน HAS (Hill Start Assist System) ระบบตรวจสอบแรงดันลมยาง ITPMS
(Indirect Monitor Tire System)

แป้นเบรกมีน้ำหนักเหมาะสม แต่ระยะเหยียบค่อนข้างยาวกว่ารถยนต์ปกติ
นิดนึง ขณะขับคลานๆ ไปตามสภาพการจราจรติดขัด เบรกจะค่อนข้างจิก
เพียงแต่คุณอาจต้องเพิ่มแรงเหยียบลงบนแป้นเบรกมากขึ้นอีกนิดหน่อย
ถ้าจะควบคุมให้รถเบรกแบบนุ่มๆ ทำได้แต่ค่อนข้างยากนิดหน่อย

การหน่วงความเร็วลงมาจากย่านความเร็วสูงระดับ 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง บอกเลย
ว่า ทำได้ดีพอใช้ได้ ต่อให้เบรกอย่างหนักหน่วง และเจอคอสะพานแบบไม่โหดนัก
รถก็ยังตั้งตรงแหน่วได้ โดยไม่เสียอาการ ถือว่า  ทำได้ดีมากกว่าที่คิด

ภาพรวมแล้ว ระบบเบรก ยังไม่ถึงกับโดดเด่น แต่ก็ไม่มีปัญหาอะไรร้ายแรง

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

ในช่วงที่ผมได้รับ MG 6 มาทำบทความ เป็นช่วงเวลาที่ ปั้มน้ำมัน Caltex พหลโยธิน
เยื้องสถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ มีกำหนดปิดปรับปรุง เป็นเวลานานถึง 2 เดือนกว่า
เพื่อจะต้องเปลี่ยนถังน้ำมันใต้ดิน ให้รองรับการนำน้ำมัน แก็สโซฮอลล์ E20 มาขาย

ทำให้ผมจำเป็นต้อง งัดแผน 2 ขึ้นมาใช้ คือ ปรับรูปแบบเส้นทางเล็กน้อย เปลี่ยนไป
เติมน้ำมันเบนซิน Techron 95 ที่สถานีบริการน้ำมัน Caltex ริมถนนประชานุกูล ใกล้
โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ แทน

และแม้ว่ารถยนต์คันนี้ จะเป็นรถยนต์ประกอบในประเทศ มีเครื่องยนต์ความจุต่ำกว่า
2,000 ซีซี แต่เนื่องจาก เด็กปั้ม ไม่ให้ความร่วมมือในการเขย่ารถ เราจึงทำได้แต่เพียง
แค่ เติมน้ำมันกันแบบ หัวจ่ายตัด เท่านั้น ไม่ได้เขย่ารถ ตามมาตรฐานของเรา อย่างที่
มันควรจะเป็น

สักขีพยานในการทดลองคราวนี้ น้อง Pao Dominic น้องฝึกงานของเราในช่วงนั้นครับ

เมื่อเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron จนเต็มถังน้ำมันขนาด 62 ลิตร เราก็เซ็ต 0 บน
Trip Meter (มีมาให้ 2 Trip ทั้ง A และ B) คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์
ออกรถ มุ่งหน้าออกจากปั้ม Caltex ไปตามเส้นทางเดิม และยังใช้มาตรฐานเดิม คือ
ความเร็วสูงสุด 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ เบอร์ 1 อุณหภูมิราวๆ 24-25 องศาฯ
และนั่ง 2 คน แต่คราวนี้ ที่มีการปรับแผน เปลี่ยนเส้นทางกันเล็กน้อย ในช่วงจุด
เริ่มต้นและจุดสิ้นสุด

เราใช้เส้นทางเดียวันกับการทดลองในรุ่น Mercedes-Benz SLK กับ GLA และ
Nissan Pulsar Turbo นั่นคือ พอออกจากปั้มปุ๊บเรามุ่งหน้าไปเลี้ยวกลับ ใต้สะพาน
ข้ามแยกรัชวิภา มุ่งหน้าย้อนกลับมาที่สี่แยกโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ประชาชื่น
เลี้ยวขวา จากนั้นเลี้ยวซ้ายขึ้นทางด่วน ที่ด่านประชาชื่น จ่าย 15 บาท แล้วมุ่งหน้า
ไปตามทางด่วนสายอุดรรัถยา หรือเส้นเชียงราก เส้นเดิมที่เราทำการทดลองอัตรา
สิ้นเปลืองมาโดยตลอด เพื่อไปจ่ายค่าผ่านทาง 55 บาท ณ ปลายทาง ด่านบางปะอิน

จากนั้น เลี้ยวกลับ จ่ายค่าทางด่วนอีก 55 บาท ย้อนกลับเข้ากรุงเทพ กลับมาจ่ายค่า
ผ่านทางที่ด่านประชาชื่น ขาเข้าเมือง อีก 55 บาท แล้วมุ่งหน้าไปลงยัง อนุเสาวรีย์
ชัยสมรภูมิ จากนั้น เลี้ยวกลับที่วินรถตู้ แล้ววนขึ้นทางด่วนเส้นเดิม อีก 50 บาท มา
ลงทางด่วนประชาชื่นอีกครั้ง (รวมค่าทางด่วนอย่างเดียว 235 บาท ในเวลาเพียงแค่
ชั่วโมงเศษๆ!)

ลงทางด่วนแล้ว ก็ต้องไปเลี้ยวกลับที่สี่แยก โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ เพื่อมุ่งหน้า
เลี้ยวกลับมาถึงสถานีบริการน้ำมัน Caltex ประชานุกูล อีกครั้ง เติมน้ำมัน เบนซิน
95 Techron ที่หัวจ่ายเดิม เหมือนเช่นตอนเริ่มต้น โดยเติมน้ำมันแบบ หัวจ่ายตัด
เช่นเดียวกัน กับตอนเริ่มต้นทดลอง

และต่อจากนี้ คือ ตัวเลขที่ MG 6 ทำได้…

ระยะทางบนมาตรวัด Trip Meter A อยู่ที่ 92.0 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเบนซิน 95 Techron เติมกลับ 6.11 ลิตร
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย ที่ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง
เปิดแอร์ และนั่ง 2 คน….. 15.05 กิโลเมตร/ลิตร

ถือว่าตัวเลขที่ออกมา จัดอยู่ในเกณฑ์ ผ่านเส้น 15 กิโลเมตร/ลิตร ไปได้อย่าง
หวุดหวิด ถือว่า อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงในภาพรวม อยู่ในเกณฑ์ ดีพอใช้ได้
เพียงแต่ อาจยังไม่ถึงกับพูดได้เต็มปากนัก เนื่องจาก การทดลองครั้งนี้ของ
MG เราไม่สะดวกในการเขย่ารถ ตัวเลขที่ออกมาได้ จึงเป็นไปตามการ
ทดลองแบบปกติทั่วไป

คำถามต่อมา..น้ำมัน 1 ถัง จะแล่นได้ไกลแค่ไหน?

หลังจากเติมน้ำมัน เบนซิน 95 Techron เสร็จ เรานำรถไปทดลองจับเวลา
จับอัตราเร่ง (ซึ่งกว่าจะได้ค่ากลางออกมา เราต้องจับเวลากันไปมากถึง 22 ครั้ง!)
ทำตัวเลข Top Speed และการขับขี่ใช้งานในชีวิตประจำวัน ด้วยน้ำมัน 1 ถัง
คุณจะพา MG 6 แล่นไปไหนต่อไหนได้ ราวๆ 343.9 กิโลเมตร กว่าที่ไฟเตือน
น้ำมันใกล้หมด จะติดสว่างขึ้น และคุณยังสามารถจะแล่นได้ต่อไปอีกราวๆ
85 กิโลเมตร ตามสัญญาณเตือน

นั่นเท่ากับว่า น้ำมัน 1 ถัง น่าจะแล่นได้ราวๆ 428 กิโลเมตร หรือถ้าขับแบบ
ประหยัดๆ ไม่เร่งแซงพร่ำเพรื่อ คาดว่าน่าจะทำได้ราวๆ 450 – 470 กิโลเมตร
ต่อน้ำมัน 1 ถัง

ถ้าเทียบกับมาตรฐานของรถยนต์ทุกวันนี้ ที่ทำได้ราวๆ 450 – 500 กิโลเมตร
ต่อน้ำมัน 1 ถัง ก็อาจถือว่าใกล้เคียงกันอยู่ แต่ถ้านำประเด็นความจุถังน้ำมัน
ของ MG 6 ซึ่งอย่ที่ 62 ลิตร มานั่งคิดรวมเข้าไปด้วยจะพบว่า มีแนวโน้มการ
กินน้ำมันอยู่ในเกณฑ์ มากกว่าปกติอยู่เหมือนกัน

********** สรุป **********
ไปเซ็ตคันเร่ง กับสมองกลเกียร์ และราคา มาใหม่ แล้วค่อยกลับมาคุยกัน!

วันที่ส่งกุญแจรถคันนี้คืนทาง MG ไป ขอสารภาพเลยว่า เหมือนเพิ่งยกภูเขาออกจากอก
ส่งมอบให้กับทาง MG รับไปแบกไว้บนบ่าของเขาต่อ

นับเป็นอีกครั้งหนึ่งในการทำบทความรีวิว ที่ผมต้องเอาเท้าก่ายหน้าผาก ว่าจะเขียน
บทความอย่างไร เพื่อให้คุณผู้อ่าน ได้เห็น ได้สัมผัสครบทุกแง่มุม ทั้งข้อดี และข้อด้อย
ของยนตรกรรม เชื้อชาติอังกฤษ สัญชาติจีน แต่ผลิตขึ้นในเมืองไทย คันนี้ ในขณะที่
ผู้บริหาร พนักงาน และผู้เกี่ยวข้องกับบริษัทรถยนต์ จะยินดียอมรับฟัง นำคำแนะนำ
จากผม และ The Coup Team ของเรา ไปปรับปรุงแก้ไขรถยนต์ของพวกเขา

เหตุที่ผมบอกว่า มันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผมไม่ต้องการให้ทุกคนเข้าใจผิดว่า ทำไม
ผมถึงต้องตั้งป้อมโจมตี รถยนต์ยี่ห้อใหม่ ที่มาเปิดตลาดในบ้านเรา กันด้วยอคติ

แท้จริงแล้ว ผมไม่มีอคติอะไรกับ MG และผมก็ยังคงออกความเห็นในรถยนต์ทุกยี่ห้อ
ทุกรุ่น ไปตามที่มันถูกสร้างมาให้เป็นเช่นนั้น อย่างนั้น แค่นั้น! ถ้าอยากเห็นผมเขียนถึง
รถยนต์ของคุณ ออกมาดีๆ ก็ให้ทำรถยนต์ออกมา ในแบบที่ผู้บริโภคเขาขับแล้วแฮปปี
ชอบใจในตัวของมัน ก็พอครับ ไม่เห็นจะยาก!

เพียงแต่ คราวนี้ ผมเชื่อว่า ทาง MG เอง ก็หวั่นใจกับบทความนี้เหมือนกันว่าจะ
ออกมาเป็นอย่างไร? จะสับรถคันแรกของพวกเขาที่ผลิตในบ้านเรา เละไหม?

ถ้าคุณคิดว่า พวกเขาหนักใจแล้ว…ผมเอง ก็หนักใจไม่แพ้กันครับ หนักใจว่า
จะเลือกถ้อยคำอย่างไร ออกมาให้พวกเขาได้รับรู้ว่า ผมเองก็ยังคงเป็นเพื่อน
เป็นมิตรที่ดีกับพวกเขาอยู่ เหมือนเช่นที่เคยเป็นมาตลอดก่อนหน้านี้

แต่ถ้าผมไม่แสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา และเลือกที่จะสงวนถ้อยคำไว้
ผมกลับมองว่า นั่นต่างหากคือสิ่งที่จะฆ่า MG ไปจากตลาดเมืองไทย เพราะ
หลายคนไม่กล้า คอมเมนท์กันตรงๆ มัวแต่ถนอมน้ำใจกันอยู่นั่น มัวแต่ห่วง
โฆษณา และผลประโยชน์ที่สื่อของตัวเองควรจะได้กันอยู่นั่น แล้วถ้า MG
ยังไม่รู้ว่ารถยนต์ของตน มันมีดีมีด้อยตรงไหนแล้วละก็ เขาจะรู้ไหมละว่า
ควรจะปรับปรุงรถยนต์ของตนเอง ตรงไหน แล้วถ้าเดินกันผิดๆถูก อนาคต
MG จะเป็นอย่างไร แล้วลูกค้ากับพนักงานของพวกเขาละ? คนไทยทั้งนั้น!

ดังนั้น ผมตัดสินใจแล้วครับว่า จะขอเลือก ที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้องเหมือน
เช่นเคย ขอเลือก ที่จะแจกแจงข้อดี และข้อที่ควรนำไปปรับปรุง ของ MG
อย่างตรงไปตรงมา จากประสบการณ์จริง จากความรู้สึกจริง และความ
หวังดี ห่วงใย และไม่อยากเห็น MG ต้องหลงเดินทางผิด จนถึงแก่การ
อวสาน ในตลาดรถยนต์บ้านเรา…

ผมไม่ต้องการเห็นภาพอย่างนั้น ผมถึงขอเลือกจะ พูดกันตรงๆ ณ ที่นี่
ไปเลยดีกว่า

ถ้าจะถามผมว่า MG 6 มันไม่เหลือคุณงามความดีบ้างเลยเหรอ?

มีสิครับ ยังเหลืออยู่นะ ไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณ์ภายนอก ร่วมสมัย พื้นที่ภายใน
ห้องโดยสาร โดยเฉพาะเบาะหลัง ที่นั่งสบาย เป็นอันดับต้นๆ ในบรรดารถยนต์
กลุ่ม C-Segment เลยเชียวนะ พื้นที่ Leg Room กว้างใช้ได้ เป็นผลมาจากการเพิ่ม
ความยาวระยะฐานล้อเป็น 2,705 มิลลิเมตร ซึ่งยาวที่สุดในกลุ่ม เมื่อรวมเข้ากับ
ขนาดตัวถังด้านต่างๆแล้ว MG 6 จะกลายเป็น รถยนต์นั่ง C-Segment ที่มีขนาด
ตัวถัง ใหญ่สุดในบ้านเราตอนนี้

แน่ละครับ แท้จริงแล้ว มันคือรถยนต์นั่งกลุ่ม CD-Segment ซึ่งคร่อม และคาบเกี่ยว
กันกับรถยนต์นั่ง ทั้งกลุ่ม C-Segment และ D-Segment นี่นา

นอกจากนี้ เครื่องปรับอากาศยังเย็นสบาย ยิ่งถ้าคุณได้นั่งบนเบาะหลังด้วยแล้ว
อย่าได้นั่งตรงกลางเชียวนะ ช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง ทำงานได้ดีมาก
ลมแรง เป่าจนไข่ของคุณให้เย็นในระดับแช่แข็งส่งตรงจากขั้วโลกเหนือเลยละ!

ช่วงล่าง คือ อีกจุดเด่นหนึ่ง ที่ต้องพูดถึงกันเลย ว่า การซับแรงสะเทือนในย่าน
ความเร็วต่ำ อาจจะยังธรรมดาๆ แต่พอใช้ความเร็วเดินทางขึ้นไป MG 6 นิ่ง
ใช้ได้ การเลี้ยวเข้าโค้ง มั่นใจในระดับทัดเทียมกับคู่แข่งระดับแถวหน้าอย่าง
Focus , Cruze , และ Mazda 3 เพียงแต่ บุคลิกช่วงล่าง จะกระเดียดไปในแนว
ของ Lancer EX คือ หนักและแน่น จนมั่นใจได้มากกว่า แต่ถ้าใช้ความเร็วสูง
ก็อาจต้องประคองพวงมาลัยช่วยกันสักหน่อย

สรุปข้อดีของ MG 6 ได้ว่า…

1. ขนาดตัวถังใหญ่กว่าชาวบ้านเขาแทบทั้งหมด
2. เบาะหลัง นั่งสบายใช้ได้ Headroom รุ่น Sedan เหลืเยอะกว่า Fastback
3. พื้นที่ห้องโดยสารด้านหลัง กว้างขวาง สบายๆ
4. แอร์แถว 2 เย็นที่สุดในปฐพี
5. ช่วงล่าง เซ็ตมาดีมาก นุ่ม แน่น ไว้ใจได้อยู่

สารภาพครับ ว่า ผมมองหาคุณงามความดีของ MG 6 เจอได้เพียงแค่นี้จริงๆ!!!

ที่เหลือ…ต่อจากนี้ จะเป็นรายการหัวยข้อที่ ทีมวิศวกรของ MG และ SAIC
ควรจะนำไปปรับปรุง…”อย่างเร่งด่วน” สำหรับการปรับโฉม Minorchange
ของ MG 6 ที่จะเกิดขึ้นช่วงปีหน้า

ข้อที่ควรปรับปรุงของ MG 6…มีดังนี้

1. เกิดมาไม่เคยบ่นเรื่องกุญแจของรถคันไหน ได้มากขนาดนี้มาก่อนเลยจริงๆ!
ต่อให้เป็นกุญแจสหกรณ์ หน้าตาอัปลักษณ์มู่ทู่ด้วยไร้ราคา ไร้รสนิยมขนาดไหน
ก็ยังไม่สับสนในวิธีการใช้งานจนปวดกบาลมากมายขนาดนี้เลย ไปปรับปรุง
รูปแบบกุญแจ ให้มันดูดีมีชาติตระกูลกว่านี้ ถ่วงน้ำหนักให้ดูแน่นหนากว่านี้
และออกแบบกลวิธีการติดเครื่องยนต์ หรือเปิด – ปิดการทำงานอุปกรณ์ไฟฟ้า
จากกุญแจ ให้มันมี Logic ที่เข้าใจง่าย และใช้งานง่ายกว่านี้ด้วยเถิด

2. เครื่องยนต์ 1,800 ซีซี Turbocharger แต่ให้สมรรถนะออกมาได้ไม่ดีเท่า
Toyota Corolla Altis 1.6 CVT รุ่นประชานิยม เฉือนกันไปเพียงปลายจมูก
ทั้งที่ Toyota ไม่ต้องใช้ระบบอัดอากาศใดๆมาช่วยเลย แถมความจุกระบอกสูบ
ก็ยังน้อยกว่า MG 6 ด้วยซ้ำ

ขอแนะนำว่า ไปปรับแก้สมรรถนะ ของเครื่องยนต์เสียใหม่ ลดแรงเสียดทาน
ในระบบ ลดน้ำหนักชิ้นส่วนลง รวมทั้งออกแบบชิ้นส่วนภายในเครื่องยนต์
กันใหม่โดยใช้บล็อกเครื่องยนต์เดิมที่มีอยู่นี่แหละ ก็น่าจะช่วยเรียกพละกำลัง
ที่สูญเสียไปในระบบขับเคลื่อน กลับคืนมาได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยขึ้น

3. ใครเซ็ตกล่องสมองกลเกียร์? คุณทำให้เกียร์ที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงอย่าง
Dual Clutch ทำตัวโง่ๆ ทำงานโง่ๆ เปลี่ยนเกียร์ก็ช้า กระตุกไม่เลือกเวลา
เดาใจไม่ถูก ไม่ต่างกับเกียร์อัตโนมัติ ของ Mercedes-Benz W124 ปี
1987 ที่ใช้งานมาหลายแสนกิโลเมตรโดย ยังไม่ได้เปลี่ยนน้ำมันเกียร์
เลยสักครั้ง!

ทางแก้ก็คือ ไหนๆ คนของ MG บ้านเรา ก็ย้ายมาจาก Ford เยอะ ลองไป
เรียนรู้ดูหน่อยไหม ว่าเขาเจอปัญหาเกียร์กระตุก ใน Fiesta และ Focus
ใหม่ กันอย่างไร สาเหตุอยู่ที่ไหน และทางแก้ ทำอย่างไร นอกจากนี้
การเซ็ตสมองกลเกียร์ใหม่ แก้โปรแกรม Software เสียใหม่ ให้สอดคล้อง
กับพฤติกรรมการขับขี่ของลูกค้าชาวไทย คือสิ่งที่ MG ควรทำอย่างเร่งด่วน!

ผมเชื่อว่า ตัวเกียร์เองนั้น Hardware ไม่ได้แย่ แต่ถ้าได้ Software ห่วยๆ
เกียร์ก็อาจจะโง่ และทำตัวเป็นสันนิบาต ได้แบบนี้หนะแหละ!

4. เป็นประเด็นต่อเนื่องจากข้อ 3 คือ ใครเป็นคนเซ็ตคันเร่ง? ขอแนะนำว่า
ไล่ให้มันผู้นั้น ไปเข้าคอร์สอบรมการขับรถแข่ง หรือหารถญี่ปุ่น รุ่นเจ้าตลาด
ให้มาขับบนถนนเมืองไทย สักเดือนหนึ่ง เดี๋ยวก็จะรู้เองแหละว่า คนไทย
ต้องการคันเร่งแบบไหน

ข้อ 2 3 และ 4 ผมขอให้เป็นปัญหาเร่งด่วน ที่สมควรนำไปปรับปรุงแก้ไข
กันอย่างจริงจังเสียทีครับ

อุตส่าห์ทำหนังโฆษณาออกฉายในโทรทัศน์ ซะหวือหวา ให้รถคันสีแดง
วิ่งปรู๊ดปร๊าด ไปมา บนสนามแข่ง โชว์ภาพลักษณ์ ว่าแรงสะใจ เร้าอารมณ์
กระตุ้นต่อม อะดรินารีน หลั่ง

พอมาขับจริง เครื่องยนต์ห่วยๆ คันเร่ง เหียกๆ กับเกียร์โง่ๆ มันช่วยกัน
ทำลายทุกสิ่งที่ฝ่ายการตลาดพยายามจะปลุกปั้นกันมา จนพังพินาศหมดสิ้น!

MG 6 กลายเป็นรถยนต์รุ่นหนึ่ง ที่ผมขับไปแล้ว โคตรจะอึดอัดในวิธีการ
ตอบสนอง ของเครื่องยนต์และระบบส่งกำลังมากที่สุดรุ่นหนึ่ง เท่าที่เจอมา

ยังไม่จบ…ยังมีต่อ!

5. ปรับปรุงการตอบสนองของพวงมาลัย ให้เบาขึ้นในย่านความเร็วต่ำ แต่
On Center feeling ในย่านความเร็วสูง ต้องดีขึ้นกว่านี้ โดยที่คงน้ำหนัก
ของพวงมาลัย ในย่านความเร็วสูงเอาไว้แบบนี้

6. เปลี่ยนงานออกแบบแผงหน้าปัด ให้มันดูดีมีชาติตะกูลกว่านี้

7. เปลี่ยนตำแหน่งอุปกรณ์อย่าง ช่องเสียบ USB ให้ย้ายไปอยู่ในตำแหน่ง
ที่มันควรจะอยู่ ไม่ใช่ติดตั้ง ในลิ้นชักใต้ช่องแอร์ฝั่งขวาด้านคนขับแบบนี้!

8. อัพเกรดชุดเครื่องเสียง เสียที นำระบบ Bluetooth มาใช้ได้แล้ว อย่าปล่อย
ให้รถของตัวเอง เชยอยู่อย่างนี้ และใบช้งานง่ายกว่านี้ คุณภาพเสียงดีกว่านี้

ผมมองว่า ข้อ 5 6 7 และ 8 นั้น MG เอง มีคำตอบในเรื่องนี้กันอยู่แล้วว่าพวกเขา
กำลังเตรียมตัวปรับปรุง MG 6 รุ่นปรับโฉม Minorchange ไปในทิศทางใด ผม
อยากให้รอดูการเปลี่ยนแปลงในข้อ 6 7 และ 8 ให้ดีครับ น่าจะถูกใจหลายๆคน
มากกว่านี้

แต่เหนือสิ่งอื่นใด…ข้อ 9 ประเด็นสุดท้ายที่อยากให้ปรับปรุง เพราะมันถึงขั้น
ทำให้หลายๆคน พากันส่ายหัวแล้วเลิกมอง MG 6 ไปเลย นั่นคือ…ราคาขาย…

แรกเริ่มเดิมที ช่วงก่อนเปิดตัว ผมยังแอบประเมิณราคาขายคร่าวๆ ไว้ในใจว่า
MG 6 น่าจะมีค่าตัวอยู่แถวๆ 750,000 – 920,000 บาท นั่นน่าจะเป็นราคา
ที่ทำให้หลายๆคน สนใจรถคันนี้

แต่พอเอาเข้าจริง ไม่รู้ว่า ใครเป็นคนเซ็นอนุมัติให้ใช้ราคาขายปลีกในปัจจุบันนี้?

มาดูค่าตัวกันเถอะครับ

รุ่น Sedan มี 5 รุ่นย่อย 3 ระดับการตกแต่ง โดย รุ่น C และ D ไม่มี Turbocharger
และรุ่น X เป็นรุ่นมี Turbocharger

1.8C DCT 848,000 บาท
1.8D DCT 898,000 บาท
1.8D Sunroof DCT 918,000 บาท
1.8X Turbo DCT 1,098,000 บาท
1.8X Turbo Sunroof DCT 1,118,000 บาท

รุ่น Fastback มี 4 รุ่นย่อย 2 ระดับการตกแต่ง และมี Turbocharger ทุกรุ่น

1.8D Turbo DCT ราคา 968,000 บาท
1.8D Turbo Sunroof DCT ราคา 988,000 บาท
1.8X Turbo DCT ราคา 1,108,000 บาท
1.8X Turbo Sunroof DCT ราคา 1,128,000 บาท

ครั้งแรกที่ผมเห็นราคาขายปลีก ผมร้องออกมาแบบเดียวกับครั้งที่เห็น
ราคาขายปลีกของ Suzuki Celerio ไม่มีผิด..

“แพง!! จบๆๆ เจ๊งๆ หมดกัน เลิกๆๆๆๆ ใครตั้งราคาวะ มั่นหนังหน้ามาก!”

ไม่ต้องให้ผู้ผลิตชาวญี่ปุ่นอย่าง Toyota หรือ Honda เขาหัวเราะเยาะ
หรอกครับ

เจอ Hyundai Elantra Sport Minorchange ใหม่ เขาสอนมวย ด้วยการ
ตั้งราคาแนะนำช่วงเปิดตัว เข้าไป 749,000 – 898,000 บาท แค่นี้ ก็หงายเงิบ
ไปแล้ว!

ยิ่งพอหลังจากลองขับมาแล้ว ผมก็ยังมองว่า ราคาที่ผมจะยอมรับได้กับ
ตัวรถทั้งคันแบบนี้ คือช่วงราคาตั้งแต่ 750,000 – 920,000 บาท อยู่ดี! นั่นคือ
ราคาที่เหมาะสมมากที่สุด สำหรับการเริ่มต้นเข้าสู่ตลาดเมืองไทย ของ MG

ตอนนี้ อาจจะแก้ไขอะไรไม่ทันแล้ว คงต้องหาทาง ให้โชว์รูมผู้จำหน่าย
ทำโปรโมชัน แคมเปญต่างๆ กันภายใต้การดูแลของบริษัทแม่ อย่าปล่อย
ให้มีการตัดราคากันเกิดขึ้น

แล้วถ้าเป็นไปได้ ปรับราคา ให้ถูกลงกว่านี้ “โดยห้ามลด ตัด ถอด ออพชันใดๆ
ที่แปะมาในตัวรถ กันอยู่แล้ว ออกไปทั้งสิ้น!”

สรุปกันอย่างตรงไปตรงมา MG 6 คันนี้ ข้อดี มันมีอยู่ มันไม่ได้แย่ มีหลายด้าน
ที่ดีใช้ได้เลย เพียงแต่ว่า ข้อดีของมัน ยังไม่เด่นไปกว่าคู่แข่ง (ยกเว้นราคาค่าตัว
ที่เด่นกว่าชาวบ้านเขาจริงๆ) ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ข้อด้อยของมัน เด่นเด้งกว่ามาก
เด่นจนกระทั่งมันไปกลบคุณงามความดีด้านอื่นๆเสียจนมิดไปหมด!

ต้องขอย้ำกันอย่างหนักหน่วง ณ จุดนี้ว่า ทุกบรรทัดที่คุณเพิ่งจะได้อ่านข้างบนนี้
ถูกเขียนขึ้นจากประสบการณ์ที่ผม และ The Coup Team ของเว็บเราทุกคน
พบเจอกันมาจาก MG 6 คันนี้ ล้วนๆ

เราได้ถอดอคติออกไปเมื่อขึ้นขับ เราได้ละทิ้งความคิดที่ว่า มันเป็นรถยนต์อังกฤษ
รถยนต์จากจีน หรือรถยนต์ประกอบในเมืองไทย ทิ้งไปจนหมดสิ้น แล้วตัดสิน
รถยนต์คันนี้ ด้วยความเป็นธรรม จากสิ่งที่มันเป็น เหมือนเช่นรถยนต์ทุกคัน ที่
เราได้รับมาทำบทความรีวิว

ไม่ได้เขียนขึ้นด้วยความแค้นเคืองจิต หากแต่ยืนยันว่า เขียนขึ้น ด้วยเจตนาอัน
บริสุทธิ์ใจ เพียงเพื่อหวังเห็นการปรับปรุงรถยนต์คันนี้ ให้ดีขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภค
ชาวไทย ได้เป็นเจ้าของรถยนต์ที่มีคุณภาพดี ตอบสนองดีสมดังคำโฆษณา ใน
ราคาที่เหมาะสม

เพราะผมยังเชื่ออยู่ว่า MG ยังมีอนาคตอยู่ในตลาดเมืองไทยได้ต่อไป ขอเพียงแค่
ผู้บริหารชาวจีน และชาวอังกฤษ จะเปิดใจรับฟังคนไทย ให้มากกว่านี้ แล้วนำไป
ปฏิบัติจริง อย่าคิดแค่ว่า จะเอาประสบการณ์แบบเดิมๆ ที่เคยใช้ในต่างประเทศ
มาใช้กับเมืองไทย และอย่าคิดแค่จะเอาผลกำไรกันเพียงอย่างเดียว โดยไม่สน
ไม่ฟังคำทัดทานของคนไทย ทั้งในองค์กร หรือลูกค้าในอนาคตของคุณเลย

เพราะที่นี่ ไม่เหมือนกับประเทศแห่งใดในโลกที่คุณเคยเจอมา ใครที่ว่าเซียน
มาเจอตลาดรถยนต์เมืองไทย ก็หงายเก๋งเงิบแดกกันไปหลายต่อหลายรายแล้ว
แต่ละค่าย ก็เจอบทเรียนแตกต่างกันไป ตามแต่ละ Case Study

ถ้าผู้เกี่ยวข้องใน MG ทุกคน (ที่ยังไม่ตัดสินใจยื่นใบลาออก) จะนำทุกสิ่งทุกอย่าง
ที่ผมเขียนไว้ข้างบนนี้ ไปปรับปรุง ทั้งใน MG 6 รุ่นปัจจุบัน รวมถึงบรรดารถยนต์
รุ่นใหม่ๆ เช่น MG 6 Minorchange MG 3 Cross , MG 5 และ MG SUV
ที่เตรียมจะบุกตลาดในเมืองไทย นับจากนี้ต่อไปตลอด 2-3 ปีข้างหน้า

นั่นจะทำให้ MG มีที่ยืน และค่อยๆเติบโตในเมืองไทย ต่อไปได้ แม้จะช้า แต่มั่นคง
และนั่นจักเป็นความขอบพระคุณอย่างยิ่งใหญ่จากผม และคนไทย

ผมคนหนึ่งละ ที่หวังจะเห็น MG เติบโตในบ้านเราต่อไปอย่างยั่งยืน!

—————————-///—————————–

ขอขอบคุณ / Special Thanks to :
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท MG Sales (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ

—————————————–

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย เป็นผลงานของผู้เขียน
ยกเว้น ภาพถ่ายจากต่างประเทศ เป็นลิขสิทธิ์ของ MG
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
11 กันยายน 2014

Copyright (c) 2014 Text and Pictures Except some historic pictures from MG
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
September 11th,2014

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!